วันที่ 13 พฤษภาคม 2024

ไฟฟ้านครหลวง-ไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ประสานเสียง ลดค่า Ft ตามนโยบายรัฐบาล

People Unity News : 8 ตุลาคม 2566 PEA-MEA ย้ำคืนเงิน ก.ย. หลังลดค่า Ft รอบ 3/66 (ก.ย.-ธ.ค.) ราว 46 สต./หน่วย ตามนโยบายรัฐบาล เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าให้แก่ประชาชน

การไฟฟ้านครหลวง (MEA)​ แจ้งว่า จากการประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ครั้งที่ 45/2566 วันที่ 5 ตุลาคม 2566 มีมติเห็นชอบค่าเอฟทีเรียกเก็บในงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 ตามที่ผู้รับใบอนุญาตซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจเสนอมาในอัตรา 20.48 สตางค์/หน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมทั้งประเทศอยู่ที่ประมาณ 3.99 บาท/หน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ทั้งนี้ ผู้ใช้ไฟฟ้าที่จ่ายค่าไฟฟ้าในรอบเดือนกันยายน 2566 ไปแล้ว จะได้รับการหักส่วนลดค่าไฟฟ้าดังกล่าวในรอบบิลเดือนตุลาคมนี้ต่อไป

ด้านการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) บรรเทาภาระค่าไฟฟ้าให้แก่ประชาชน ตามมติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เห็นชอบปรับลดค่า Ft ในช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 จาก 0.6689 บาท/หน่วย เป็น 0.2048 บาท/หน่วย ตามนโยบายรัฐบาล เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าให้แก่ประชาชน โดยผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้รับใบแจ้งค่าไฟฟ้าประจำเดือนกันยายน 2566 ที่แสดงค่า Ft เดิม (0.6689 บาท/หน่วย) PEA มีมาตรการดำเนินการ ดังนี้

กรณีที่ยังไม่ได้ชำระค่าไฟฟ้า

PEA จะปรับยอดชำระด้วยค่า Ft ใหม่ โดยสามารถใช้ใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดิมชำระเงินผ่านทางช่องทางต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป

กรณีที่ได้ชำระค่าไฟฟ้าด้วยค่า Ft เดิมไปแล้ว

PEA จะคืนเงินส่วนต่างค่า Ft โดยนำไปหักลดจากค่าไฟฟ้าประจำเดือนถัดไป

กรณีหักบัญชีธนาคาร/บัตรเครดิต

PEA จะหักเงินค่าไฟฟ้าด้วยค่า Ft 0.2048 บาท/หน่วย เฉพาะรอบวันที่ 19 ตุลาคม 2566 สำหรับรอบอื่นๆ PEA จะคืนเงินส่วนต่างค่า Ft โดยนำไปหักลดค่าไฟฟ้าเดือนถัดไป

สามารถตรวจสอบยอดค่าไฟฟ้าผ่านทาง www.pea.co.th / PEA Smart Plus / 1129 PEA Contact Center / สำนักงานการไฟฟ้าในพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ถือบัตรสวัสดิการของรัฐและลงทะเบียนลดค่าไฟกับ PEA- MEAก่อนหน้านี้ จะได้ส่วนลดค่าไฟฟ้า จำนวน 315 บาท/ครัวเรือน/เดือน แยกเป็น

ครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วย/เดือน ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 3 เดือน จะได้รับสิทธิค่าไฟฟ้าฟรีตามมาตรการที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 50 หน่วย/เดือน แต่ไม่เกิน 315 บาท จะได้รับการสนับสนุนค่าไฟฟ้าในวงเงินไม่เกิน 315 บาท/ครัวเรือน/เดือน

สำหรับการลดค่าไฟฟ้ารอบนี้ได้ประโยชน์ทุกกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าของประเทศไทย โดยในส่วนกลุ่มใช้ไฟฟ้าบ้านของไทยนั้น โครงสร้างครัวเรือนที่อยู่อาศัย ประกอบไปด้วย กลุ่มเปราะบาง 0-150 หน่วย/เดือน 14.7 ล้านครัวเรือน, กลุ่มใช้ 151-300 หน่วย/เดือน จำนวน 4.9 ล้านครัวเรือน และกลุ่มที่ใช้ตั้งแต่ 301-500 หน่วย จำนวน 2.1 ล้านครัวเรือน

Advertisement

นายกฯ ไม่สบายใจตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำ ระบุ เป็นนโยบายหลักรัฐบาลต้องถูกยกระดับขึ้น

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 12 ธันวาคม 2566 นายกฯ ไม่สบายใจตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำ ระบุ เป็นนโยบายหลักรัฐบาลต้องถูกยกระดับขึ้น

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางไปตรวจราชการจังหวัดกาญจนบุรี พบปะพี่น้องประชาชน โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม รอ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม ในฐานะอดีตนายก อบจ. กาญจนบุรี ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่เก่า และมี สส.กาญจนบุรี ให้การต้อนรับ ได้แก่ นายอัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ สส.เขต 1 พรรคเพื่อไทย นายชูศักดิ์ แม้นทิม สส.เขต 2 พรรคเพื่อไทย นายยศวัฒน์ มาไพศาลสิน สส.เขต 3 พรรคภูมิใจไทย นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ สส.เขต 4 พรรคเพื่อไทย และ นายพนม โพธิ์แก้ว สส. เขต 5 พรรคเพื่อไทย

ขณะเดียวกันยังมีประชาชนถือป้ายต้อนรับนายกรัฐมนตรี และถือป้ายสนับสนุนเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยนายกรัฐมนตรี เดินทักทายประชาชนที่มาให้กำลังใจ และกล่าวว่า ยินดีที่ได้กลับมาจังหวัดกาญจนบุรีอีกครั้ง หลังจากการเลือกตั้งผ่านไปแล้ว ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาประมาณ 3 เดือน พบว่าบ้านเมืองเรามีปัญหาเยอะ แต่มีรัฐมนตรีและทีมงานที่พร้อมจะรับใช้ประชาชนอย่างเต็มที่ เสียงสะท้อน เสียงเรียกร้อง ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนที่มาที่นี่เหมือนกันหมด คือ เรื่องของปากท้อง ปัญหาหนี้สิน ปัญหายาเสพติด พื้นที่ทำกิน ราคาเกษตร การค้าขายระหว่างพรมแดน รัฐบาลนี้ไม่ได้นิ่งนอนใจ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องของหนี้สิน รัฐบาลประกาศเป็นวาระแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา หนี้นอกระบบต้องหมดไป จะเป็นการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ มีการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน ระหว่างนายอำเภอกับผู้กำกับการตำรวจทุกจังหวัด เมื่อมีเสียงเรียกร้อง หรือมีปัญหากับการถูกเรียกทวงหนี้อย่างไม่เป็นธรรม หรือการข่มขู่เจ้าหน้าที่ ทุกคนพร้อมที่จะให้บริการกับประชาชน ดังนั้นอย่ากลัว ให้เดินออกมาพูดคุยกัน รัฐบาลให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองเจ้าหนี้และลูกหนี้ให้เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ยอมรับการรีดไถที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม

ส่วนเรื่องปัญหายาเสพติด นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นปัญหาที่กัดก่อนสังคมไทยมานานมาก เรื่องของวงจรการค้ายาเสพติด ไม่ว่าจะจากชายแดน ได้มีการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงเข้ามาจัดการประสานงานกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ฝ่ายความมั่นคง ตำรวจ และพื้นที่ โดยจะเร่งรัดตัดวงจรยาเสพติด หากจับได้พิสูจน์ทราบแล้ว จะทำลายทันที เพื่อไม่ให้เป็นที่สงสัยของสังคม

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า เรื่องการค้าการลงทุน ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน รัฐบาล ยืนยัน ทำงานอย่างเข้มแข็ง ดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่พี่น้องประชาชน ทำให้ภาคอุตสาหกรรมไทยเข้มแข็งขึ้น แต่ก็มีเรื่องที่ทำให้ไม่สบายใจ คือ เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ เชื่อว่า พี่น้องหลายคนเป็นห่วง ซึ่งถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล ที่จะยกระดับค่าแรงขั้นต่ำ โดยจะต้องมีการพูดคุยกันในเวทีที่เหมาะสม เพราะเป็นเรื่องที่เรายอมรับไม่ได้และต้องแก้ไขกันต่อไป

นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า วันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่หลังจากการเลือกตั้งยังไม่มีรัฐมนตรี หรือ นายกรัฐมนตรีมาเยี่ยมเยียนที่จังหวัดกาญจนบุรีเลย จึงถือเป็นมิติใหม่หลังจากได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องให้เข้ามาบริหาร และเดินทางมารับฟังพูดคุยปัญหาที่พี่น้องทุกคนมีอยู่วันนี้ พร้อมมีรัฐมนตรีมาหลายคน ฝากการสื่อสารเข้ามาด้วยว่า อยากให้ทำอะไรบ้าง ขอให้ความมั่นใจว่า รัฐบาลนี้พร้อมและทำงานอย่างเต็มที่

Advertisement

คลังรายงานการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบประจำเดือนธันวาคม 63

People Unity News : คลังรายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบประจำเดือนธันวาคม 2563

นายพรชัย  ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 ภาพรวมการประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) มีผู้ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์และเปิดดำเนินการแล้วสะสมสุทธิ 917 ราย ใน 74 จังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบธุรกิจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (543 ราย) รองลงมา ได้แก่ ภาคกลาง (147 ราย) ภาคเหนือ (115 ราย) ภาคตะวันออก (64 ราย) และภาคใต้ (48 ราย) ตามลำดับ ทั้งนี้ นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 ที่กระทรวงการคลังได้เปิดให้มีการประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์จนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2563 ได้มีการอนุมัติสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ให้กับประชาชนรายย่อยไปแล้วจำนวนทั้งสิ้น 387,706 บัญชี รวมเป็นวงเงิน 9,538.59 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 24,602.64 บาทต่อบัญชี ซึ่งมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

(1) สินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์  ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 มีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์สะสมสุทธิทั้งสิ้น 870 ราย ใน 74 จังหวัด และมีจำนวนผู้เปิดดำเนินการแล้ว 807 ราย ใน 74 จังหวัด (เพิ่มขึ้น 1 จังหวัด คือ จังหวัดปัตตานี) โดยจังหวัดที่มีผู้เปิดดำเนินการมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา (71 ราย) กรุงเทพมหานคร (61 ราย) และขอนแก่น (49 ราย)

(2) สินเชื่อประเภทพิโกพลัส  ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 มีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกพลัสสะสมสุทธิทั้งสิ้น 136 ราย ใน 45 จังหวัด และมีจำนวนผู้เปิดดำเนินการแล้ว 110 ราย ใน 36 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีผู้เปิดดำเนินการมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา (18 ราย) อุดรธานี (8 ราย) อุบลราชธานี (7 ราย) และกรุงเทพมหานคร (7 ราย)

(3) ภาพรวมสถานะสินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2563 มียอดสินเชื่อคงค้างจำนวนทั้งสิ้น 172,974 บัญชี คิดเป็นจำนวนเงิน 3,878.96 ล้านบาท โดยมีสินเชื่อค้างชำระ 1 – 3 เดือน สะสมรวมทั้งสิ้น 24,745 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงินสะสมรวม 576.94 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 14.87 ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม และมีสินเชื่อค้างชำระที่เกินกว่า 3 เดือน (NPL) สะสมรวมจำนวน 28,092 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงินสะสมรวม 645.94 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 16.65 ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังคงดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภาคีแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย ซึ่งนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2563 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมายจำนวนสะสม 8,289 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2563 จำนวน 542 ราย ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารและรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ที่เปิดดำเนินการได้ทางเว็บไซต์ www.1359.go.th และสามารถร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับเงินกู้นอกระบบที่ผิดกฎหมายได้โดยตรงที่

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน 1599

ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โทร. 0 2255 1898

ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์การกู้ยืมเงินโดยสัญญาที่ไม่เป็นธรรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน 1155

ศูนย์ดำรงธรรม สายด่วน 1567

ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สายด่วน 1359

ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม (ศนธ.ยธ.) โทร. 0 2575 3344

สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน โทร. สายด่วน 1359

Advertising

“ประยุทธ์” ชูเศรษฐกิจ BCG โมเดล เน้น “ไทยลงทุนไทย” ลดความเหลื่อมล้ำ

People Unity News : นายกรัฐมนตรีย้ำเศรษฐกิจ BCG โมเดล เน้น ไทยลงทุนไทยลดความเหลื่อมล้ำ พาไทยหลุดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

วันนี้ (9 ก.พ. 64) เวลา 08.30 น. ณ บริเวณตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เยี่ยมชมนิทรรศการ “ผลงาน BCG : พลังเศรษฐกิจใหม่ พัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน” ประกอบด้วย “ผลิตภัณฑ์น้ำตาลไอโซโมทูโลส นวัตกรรมช่วยควบคุมระดับน้ำตาลให้สมดุล” “ผลิตภัณฑ์ไบโอเมทานอลจากวัตถุดิบเหลือทิ้ง” และ“ผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากสารสกัดตรีผลา” โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ร่วมในครั้งนี้ด้วย

นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมช่วยกันขับเคลื่อน BCG Model ทำให้เกิดการพัฒนาวิจัยผลงานต่างๆ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถขยับสถานะเป็นประเทศที่มีรายได้สูง หลุดพ้นจากประเทศกับดักรายได้ปานกลาง ที่สำคัญคือ มุ่งลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ กระจายรายได้ ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก  อาทิ การส่งเสริมเกษตรกรด้วยการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ มาทำให้เกิดคุณค่าแทนการเผาทิ้ง ซึ่งจะช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 และการปล่อยก๊าซ CO2 ซึ่งเป็นวิกฤตระดับโลกอีกด้วย  ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังเสนอให้ดึงทรัพยากรทางชีวภาพที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ทั้ง 6 ภาค มาใช้ประโยชน์เพื่อให้ประชาชนในชุมชนได้ใช้ประโยชน์จาก BCG Model ให้มากที่สุด ทั้งนี้ ต้องเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาล ส่วนราชการและภาคเอกชนด้วย นายกรัฐมนตรียังย้ำในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า ได้ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเดินหน้าปรับหลักเกณฑ์การลงทุนเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ส่งเสริม “ไทยลงทุนไทย” พร้อมทั้งปรับแก้กฎหมายต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงโอกาสมากยิ่งขึ้น หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายลงไทยจะเป็นประเทศที่ “ล้มแล้วลุกไว”

นายกรัฐมนตรียังกล่าวเชิญชวนให้ทุกคนช่วยกันใช้ผลิตภัณฑ์จาก BCG Model อาทิ น้ำตาลพาลาทีนสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ผลิตภัณฑ์สมุนไพรในรูปแบบยาสีฟันและแชมพูสระผม พร้อมยินดีร่วมประชาสัมพันธ์ด้วยนำมาใช้เองด้วย

Advertising

ครม.เห็นชอบแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงปี 2562 ระยะเร่งด่วน

People Unity : ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ (30 กรกฎาคม 2562) มีมติรับทราบสถานการณ์และแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงปี 2562 ระยะเร่งด่วน ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ดังนี้ ตามที่ได้เกิดสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง (มิถุนายน 2562 ถึงปัจจุบัน) ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตร ดังนั้น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการให้ทุกส่วนราชการและเหล่าทัพสนับสนุนอากาศยานและกำลังพลร่วมการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ที่ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง และร่วมแก้ไขปัญหาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนโดยเร็ว

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ติดตามสถานการณ์ และดำเนินการแก้ไขปัญหาฝนทิ้งช่วง ที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร สรุปได้ดังนี้

1.สถานการณ์และแนวโน้ม

สภาพฝน กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดหมายปริมาณฝนในช่วงฤดูฝนปี 2562 จะมีปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศน้อยกว่าปี 2561 และน้อยกว่าค่าปกติประมาณ 5-10 % (ปีที่แล้วต่ำกว่าค่าปกติ 3%) โดยช่วงต้นเดือนกรกฎาคม บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีปริมาณและการกระจายของฝนลดลง และมีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติ ก่อให้เกิดการขาดแคลนน้ำด้านการเกษตร

สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 35 แห่ง ณ วันที่ 23 กรกฎาคม 2562 มีปริมาณน้ำใช้การได้ทั้งประเทศ 10,729 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 23 ของความจุ (น้อยกว่าปริมาณน้ำปี 2561 อยู่ 11,484 ล้านลูกบาศก์เมตร) โดยมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรต่ำกว่าร้อยละ 30 ของความจุ รวม 19 แห่ง ปริมาตรระหว่างร้อยละ 30 – 50 รวม 10 แห่ง และปริมาตรมากกว่าร้อยละ 50 รวม 6 แห่ง ซึ่งถือว่าขณะนี้มีปริมาณน้ำน้อย

สถานการณ์การเพาะปลูกข้าวปี 2562/63 จากข้อมูลการสำรวจของกรมส่งเสริมการเกษตร  ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2562 จำนวน 47.88 ล้านไร่ ยังไม่ปลูกอีก 12.45 ล้านไร่ ประเมินความเสี่ยงและผลกระทบ พบว่า ฝนทิ้งช่วงจะส่งผลต่อปริมาณ คุณภาพ ผลผลิตของเกษตรกรจะลดลงหรือเสียหาย และผลกระทบต่อรายได้ของครัวเรือนเกษตรกร ปัจจุบันยังไม่มีรายงานความเสียหายและไม่มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือฯตามระเบียบกระทรวงการคลัง

2.แนวทางบริหารจัดการความเสี่ยงและบรรเทาผลกระทบ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการทันที และเตรียมการแก้ไขในระยะยาว โดยบูรณาการกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพื่อให้ปฏิบัติงานได้ทันที และมีแผนปฏิบัติที่ครอบคลุมการแก้ไขปัญหาในระยะต่อไป

การเผชิญเหตุระยะเร่งด่วน

1.ปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง กรมฝนหลวงและการบินเกษตร บูรณาการการปฏิบัติร่วมกับกองทัพ โดยกองทัพสนับสนุนอากาศยานเพิ่ม จำนวน 7 ลำ จากกองทัพบก 1 ลำ กองทัพอากาศ 5 ลำ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1 ลำ พร้อมกำลังพล 88 นาย

2.สำรวจพื้นที่ขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค พร้อมสนับสนุนเครื่องจักรเครื่องมือ เช่น รถบรรทุกน้ำ เครื่องสูบน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้ทันที และสร้างการรับรู้ ร่วมรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัด ดำเนินการ ดังนี้

2.1 ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บูรณาการสำรวจข้อมูลพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภาวะฝนทิ้งช่วง รวมทั้งจัดทำชุดข้อมูลแนวโน้ม/สถานการณ์น้ำในอนาคต วิเคราะห์ความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น วิธีการบริหารจัดการความเสี่ยง เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในไร่นา การสะสมน้ำต้นทุน และความชื้นในดิน เป็นต้น เพื่อสื่อสารสร้างการรับรู้ให้แก่เกษตรกร และผู้ใช้น้ำได้ตระหนักและเข้าใจสถานการณ์ความเสี่ยง และให้ความร่วมมือในระดับที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูล แนวโน้ม เรียนรู้ที่จะปรับตัวและบรรเทาผลกระทบให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด เช่น วิธีการดูแลรักษาพืชในภาวะแห้งแล้งฝนทิ้งช่วง ปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชอายุสั้นใช้น้ำน้อยทดแทนการเพาะปลูกข้าวในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน 2562

2.2 การจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ และเครื่องจักรเครื่องมือสนับสนุนอื่นๆทั้งประเทศ จำนวน 4,850 หน่วย เพื่อสนับสนุนและพร้อมให้การช่วยเหลือทันท่วงที กระจายอยู่ตามโครงการชลประทานทุกจังหวัด และเตรียมพร้อมแหล่งน้ำต้นทุนในพื้นที่ใกล้เคียงระบบชลประทาน สำหรับการแจกจ่ายน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค

2.3 แจ้งเตือนให้เกษตรกรที่ยังไม่ได้เริ่มทำการปลูกข้าว ให้ชะลอการปลูกไปจนกว่าจะสิ้นสุดภาวะฝนทิ้งช่วง หรือจนกว่าปริมาณและการกระจายของฝนมีความสม่ำเสมอ และหากมีภาวะการขาดแคลนน้ำให้ดำเนินการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนเพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด รวมทั้ง สร้างการรับรู้ ร่วมรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ ให้มีการใช้น้ำประหยัดอย่างต่อเนื่อง

2.4 วางแผนการเพาะปลูกพืชและปฏิทินการเพาะปลูกเป็นการล่วงหน้า โดยเฉพาะในฤดูแล้งปี 2562/63 ให้สอดคล้องกับการคาดการณ์สถานการณ์น้ำ

2.5 จัดตั้ง War room ทุกจังหวัด เร่งสำรวจพื้นที่ประสบฝนทิ้งช่วงทุกจังหวัดพร้อมช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบฝนทิ้งช่วง และแนะนำให้เกษตรกรมาขึ้นทะเบียนเกษตรกรหรือปรับปรุงทะเบียนก่อนเกิดความเสียหาย

3.ปรับแผนการระบายน้ำจากแหล่งน้ำต่างๆ โดยเฉพาะแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุ และเพิ่มความเข้มงวดติดตาม กำกับ การจัดสรรน้ำในระดับพื้นที่เพื่อให้ใช้น้ำอย่างประหยัด และมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศเพียงพอถึงฤดูแล้งปี 2562/63 ดำเนินการ ดังนี้

3.1 เก็บน้ำในอ่างเก็บน้ำไว้ให้มากที่สุด ไม่ระบายน้ำจากเขื่อนจนกว่าปริมาณน้ำจะมากกว่าเส้นควบคุมตอนล่าง และบริหารปริมาณน้ำฝนที่ไหลลงสู่ระบบคลองชลประทาน แทนการบริหารน้ำที่ระบายจากเขื่อน

3.2 พื้นที่ดอนที่ยังไม่ได้ปลูก ให้ประชาสัมพันธ์แนะนำให้เกษตรกรชะลอการเพาะปลูกตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ หรือสนับสนุนการปลูกพืชใช้น้ำน้อย เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดความเสียหายของผลผลิต สำหรับพื้นที่เพาะปลูกแล้ว จะดำเนินมาตรการส่งน้ำแบบประณีตด้วยวิธีเปียกสลับแห้ง ส่งน้ำแบบรอบเวรหมุนเวียนในแต่ละพื้นที่

3.3 จัดแผนหมุนเวียน/จัดรอบเวรการใช้น้ำในระบบลุ่มน้ำ และบริหารจัดการน้ำที่จัดสรรอย่างเข้มงวด และสอดคล้องกับสถานการณ์

3.4 พิจารณาการใช้น้ำจากแก้มลิงธรรมชาติ และเสริมแหล่งน้ำด้วยบ่อน้ำบาดาล ในพื้นที่ที่เป็นที่ดอน

3.5 การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา เมื่อประเมินน้ำฝนที่ตกลงมาแล้ว พบว่ามีความจำเป็นต้องปรับลดแผนการระบายน้ำ เพื่อประหยัดการใช้น้ำตลอดฤดูฝน และให้มีปริมาณน้ำเพียงพอ สำหรับการอุปบริโภค บริโภค ในปี 2563 เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำเป็นไปได้ตามแผนที่วางไว้ จึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรการควบคุมการบริหารจัดการน้ำ ดังนี้

1) ประตูระบายน้ำที่รับน้ำจากแม่น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา จะเปิดรับน้ำเฉพาะการอุปโภคบริโภคเป็นครั้งคราว ทั้งนี้ อาคารเชื่อมต่อที่ดูแลโดยองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ให้จัดทำปฏิทินการรับน้ำส่งให้กรมชลประทาน

2) ลำน้ำหรือคลองส่งน้ำที่มีความจำเป็นต้องรับน้ำเข้าเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลิ่งลำน้ำ ให้รับน้ำเข้าในเกณฑ์ต่ำสุด ซึ่งกรมชลประทานจะกำหนดอัตราการรับน้ำที่เหมาะสมให้

3) ขอความร่วมมือ ไม่ให้เกษตรกร ทำการปิดกั้นลำน้ำหรือสูบน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูกเช่นกัน ทั้งนี้ หากพื้นที่ใดมีความจำเป็นจะต้องสูบน้ำเพื่อใช้สำหรับการอุปโภคบริโภค ให้จัดทำปฏิทินการสูบน้ำ ส่งให้กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ

4) สถานีสูบน้ำของการประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค และการประปาส่วนท้องถิ่นสามารถทำการสูบน้ำได้ตามปกติ ทั้งนี้ให้จัดทำปฏิทินการสูบน้ำ ส่งให้กรมชลประทาน

5) ลดการเพาะเลี้ยงปลาในกระชังในแม่น้ำปิง แม่น้ำน่าน แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย แม่น้ำท่าจีนและในระบบชลประทาน

6) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและควบคุมไม่ให้มีการปล่อยน้ำเสียลงในแม่น้ำ คูคลอง และแหล่งน้ำต่างๆ เนื่องจากทำให้ต้องระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้นเพื่อเจือจางน้ำเสีย

การช่วยเหลือเยียวยาระยะสั้น

1.การบรรเทาความเดือดร้อนด้านรายได้เพื่อเสริมสภาพคล่องของเศรษฐกิจครัวเรือนเกษตรกรที่ประสบภัยฝนทิ้งช่วง โดยการสนับสนุนเงินทุนแก่สมาชิกสหกรณ์ สนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ให้สหกรณ์วงเงิน 1,600 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 เป็นระยะเวลา 3 – 5 ปี โดยมีวงเงินกู้ให้สมาชิกรายละไม่เกิน 30,000 – 50,000บาท ผ่านการดำเนินโครงการ 3 โครงการ ได้แก่

1.1 โครงการส่งเสริมอาชีพสมาชิกสหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง วงเงิน 600 ล้านบาท มี 2 กิจกรรม ได้แก่ ให้สมาชิกกู้ยืมเพื่อพัฒนาอาชีพ และเพื่อจัดหาแหล่งน้ำทำการเกษตร

1.2 โครงการจัดหาแหล่งน้ำให้สมาชิกสหกรณ์ วงเงิน 400 ล้านบาท

1.3  โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ วงเงิน 600 ล้านบาท

2. การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือฯ เกษตรกรจะได้รับการช่วยเหลือ ข้าว ไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ ไร่ละ 1,148 บาท พืชสวนและอื่นๆ ไร่ละ 1,690 บาท รายละไม่เกิน 30 ไร่ โดยเร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือภายใน 90 วัน

3.โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2562 เกษตรกรที่ได้รับความเสียหายสิ้นเชิงที่ซื้อประกันภัยกับ ธ.ก.ส. จะได้รับการช่วยเหลือ ไร่ละ 1,260 บาท และโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2562 เกษตรกรที่ได้รับความเสียหายสิ้นเชิงที่ซื้อประกันภัยกับ ธ.ก.ส. จะได้รับการช่วยเหลือ ไร่ละ 1,500 บาท

4.เตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อแจกจ่ายให้กับเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง (มิถุนายน – สิงหาคม 2562) ตามความต้องการพันธุ์ข้าวของเกษตร โดยต้องคำนึงปริมาณน้ำและความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่

การดำเนินการในระยะต่อไป

1.ประเมินความเสี่ยงต่อปริมาณน้ำต้นทุนในอนาคต เพื่อนำไปสู่การบริหารความต้องการน้ำภาคเกษตรและวางแผนการเพาะปลูกพืชที่สอดคล้องกับปริมาณน้ำ โดยกำหนดปฏิทินการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับสถานการณ์น้ำ

2.ประเมินความเสี่ยงต่อระดับความมั่นคงด้านอาหาร และผลกระทบต่อการผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร การดำรงชีวิต และสภาพคล่องทางการเงินของครัวเรือนเกษตรกร รวมทั้งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง

3.ประเมินความเสี่ยง ต่อการปฏิบัติงานเพื่อการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน โดยวิเคราะห์มาตรการ งบประมาณที่จะช่วยเหลือเยียวยา และสนับสนุนเกษตรกรให้สามารถประกอบอาชีพการเกษตรได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ หากพบความเสี่ยงที่จะสร้างความเสียหายต่อผลผลิต เกษตรกรเสียโอกาสในการผลิต และกระทบต่อรายได้ในครัวเรือนจนอาจทำให้ขาดสภาพคล่องทางการเงิน และไม่สามารถดำรงชีพขั้นพื้นฐาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจชุมชน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเตรียมนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา มาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ให้สามารถปรับตัวและมีความพร้อมที่จะเผชิญเหตุ และสามารถบริหารความเสี่ยงได้ด้วยตนเองในระดับหนึ่ง เช่น มาตรการเสริมสภาพคล่องทางการเงิน มาตรการเพิ่มขีดความสามารถการผลิตและการตลาด โดยยึดหลักที่จะไม่สร้างภาระงบประมาณภาครัฐ รวมทั้งเป็นมาตรการที่ส่งเสริมให้เกษตรกรมีศักยภาพ และความพร้อมที่จะรับมือกับภาวะฝนทิ้งช่วง ในอนาคตได้ดีกว่าปัจจุบัน รวมทั้ง เป็นมาตรการที่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบได้ในห้วงเวลาที่เหมาะสมหรือทันต่อสถานการณ์ต่อไป

เศรษฐกิจ : ครม.เห็นชอบแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงปี 2562 ระยะเร่งด่วน

People Unity : post 31 กรกฎาคม 2562 เวลา 12.30 น.

เตือน ปชช. 1.15 ล้านคน รีบยืนยันตัวตนใช้สิทธิบัตรสวัสดิการรัฐ

People Unity News : 27 มิถุนายน 2566 รัฐบาลแจงความคืบหน้าโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อุทธรณ์สำเร็จ 4.16 แสนคน เตือน 1.15 ล้านคน รีบยืนยันตัวตน เริ่มใช้สิทธิ 1 ส.ค.นี้

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุม ครม. รับทราบรายงานความก้าวหน้าโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 และการใช้สิทธิภายใต้โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้

ความก้าวหน้าโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการะทั้งสิ้น 19,647,241 ราย เมื่อพิจารณาคุณสมบัติของลงทะเบียนแล้วพบว่ามีผู้ผ่านเกณฑ์ จำนวน 14,596,820 ราย ไม่ผ่านเกณฑ์จำนวน 5,050,421 ราย โดยผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ได้ยื่นอุทธรณ์ จำนวน 1,266,682 ราย (คิดเป็นร้อยละ 25.08 ของผู้ไม่ผ่านเกณฑ์) และมีผู้ผ่านการตรวจสอบเพิ่มเติม (เกษตรกร) จำนวน 416,153 ราย

“ทำให้มีผู้ผ่านเกณฑ์โครงการ ปี 65 รวมทั้งสิ้น 15,012,973 ราย โดยมีผู้ที่ยืนยันตัวตนสำเร็จ จำนวน 13,444,534 ราย คิดเป็นร้อยละ 92.11 ของจำนวนผู้ผ่านเกณฑ์ทั้งหมด และยังไม่ได้ยืนยันตัวตนหรือยืนยันตัวตนไม่สำเร็จอีก จำนวน  1,152,286 ราย คิดเป็นร้อยละ 7.89 ของจำนวนผู้ผ่านเกณฑ์ทั้งหมด สำหรับผู้ที่ไม่ได้ยืนยันตัวตนหรือยืนยันตัวตนไม่สำเร็จ ยังคงยืนยันตัวตนได้ และจะเริ่มใช้สิทธิในวันที่ 1 สิงหาคม 2566 โดยจะได้รับสิทธิเฉพาะเดือนที่กระทรวงการคลังดำเนินการตั้งวงเงินให้ แต่ไม่ได้รับสิทธิย้อนหลัง” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

น.ส.รัชดา กล่าวว่า สำหรับการใช้สิทธิภายใต้โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2566 มีดังนี้ เดือนเมษายน 2566 มีผู้ใช้สิทธิจำนวน 12.31 ล้านราย มูลค่าการใช้สิทธิรวม 4,005.65 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค 3,682.35 ล้านบาท ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม 259.41 ล้านบาท ค่าเดินทางระบบขนส่งสาธารณะ 63.88 ล้านบาท สำหรับมาตรการบรรเทาค่าไฟฟ้า/ค่าน้ำประปา ผู้ขอใช้สิทธิต้องลงทะเบียนขอรับสิทธิ ส่วนการจ่ายเงินเพิ่มเติมเบี้ยคนพิการ เดือนละ 200 บาท เฉพาะผู้พิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการและผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติตามโครงการปี 65 มีจำนวน 794,189 ราย รวมเป็นเงิน 158.84 ล้านบาท

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เดือนพฤษภาคม 2566 มีผู้ใช้สิทธิจำนวน 12.79 ล้านราย มูลค่าการใช้สิทธิรวม 4,252.15 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค 4,028.97 ล้านบาท ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม 45.45 ล้านบาท ค่าเดินทางระบบขนส่งสาธารณะ 62.62 ล้านบาท สำหรับมาตรการบรรเทาค่าไฟฟ้า/ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า มูลค่าการใช้สิทธิ 105.09 ล้านบาท ค่าน้ำประปา มูลค่าการใช้สิทธิ 9.93 ล้านบาท ส่วนการจ่ายเงินเพิ่มเติมเบี้ยคนพิการ เดือนละ 200 บาท เฉพาะผู้พิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการและผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติตามโครงการปี 65 มีจำนวน 1,016,008 ราย รวมเป็นเงิน 203.20 ล้านบาท

“สถานะปัจจุบันของกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคมในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กองทุนมีงบประมาณรวม 51,644.51 ล้านบาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับจัดสรรสวัสดิการแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (1 ต.ค. 65-24 พ.ค. 66) จำนวน 35,923.45 ล้านบาท ส่งผลให้งบประมาณคงเหลือ ณ วันที่ 24 พ.ค. 66 รวมทั้งสิ้น 15,721.06 ล้านบาท” น.ส.รัชดา กล่าว

Advertisement

“สหรัฐฯ”จี้ไทยแจงแบน 3 สารพิษ! “มนัญญา”หนักใจ-“วราวุธ”ไม่ตื่นแค่รองปธ.หอการค้า

People Unity : “มนัญญา”หนักใจในฐานะผู้บริหาร “สหรัฐฯ”จี้ไทยแจงแบน 3 สารพิษการเกษตร ลั่นพร้อมแจงเชื่อทุกประเทศมีเหตุผลของตัวเอง เปิดช่องเจรจาเซลล์ขายยา ขณะ “วราวุธ”เผยหนังสือจากสหรัฐฯ เป็นเพียงของรองประธานหอการค้า ไม่ใช่หน่วยงานรัฐบาลที่จะแทรกแซงได้

วันที่ 25 ต.ค.2562 น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์กรณีสถานทูตสหรัฐอเมริกา ส่งหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ยังไม่ได้กำชับอะไร ส่วนเจตนาของสหรัฐฯ ตนไม่ทราบว่าเขามีเหตุผลอะไร แต่จริงๆแล้วเรื่องสุขภาพ สารพิษตกค้างในผัก และผลไม้ เราก็ต้องดูแลไม่ให้คนไทยใช้บริโภคสิ่งเหล่านั้นอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องปกติ บางครั้งก็ต้องขอให้แยกส่วนกัน ยืนยัน หากสหรัฐฯถามมาเราก็พร้อมชี้แจง เพราะนานาประเทศที่แบนสารเหล่านี้ก็มีเหตุผลของแต่ละประเทศอยู่แล้ว ส่วนหนักใจหรือไม่เพราะว่าถูกกดดันทั้งภายใน และภายนอกประเทศ น.ส.มนัญญา ย้ำว่า การทำอะไรก็แล้วแต่ไม่มีอะไรที่ทำไปแล้ว เราจะไม่คิดไม่หนักใจเลย การที่เราเป็นผู้บริหารที่ต้องดูแลทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งเกษตรกร และภาคเอกชน ไม่มีคำว่าแพ้หรือชนะ แต่เราจะต้องเดินไปด้วยกัน ด้วยการพูดคุย และสร้างความเข้าใจกัน

“การขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ใช่การขัดแย้งกับผู้บริโภค น่าจะเหมือนขัดแย้งกับเซลล์ขายยาแล้วในตอนนี้ แต่ก็ไม่รู้จะไปไกล่เกลี่ยหรือเจรจากับใคร เพราะได้ทำในเส้นทางของตัวเองอยู่แล้ว แต่ถ้าใคนต้องการที่จะพูดคุยด้วย ก็พร้อมเปิดห้องเจรจากัน” น.ส.มนัญญา กล่าว

ขณะที่ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยอมรับว่า ได้เห็นสำเนาหนังสือที่ของทางสหรัฐอเมริกาที่ส่งตรงมาถึงนายกฯแล้ว ซึ่งเป็นในส่วนของหอการค้าสหรัฐฯ ที่เนื้อหาในหนังสือ ระบุถึงข้อห่วงใจต่อการนำเข้าสินค้าเกษตรที่อาจปนเปื้อนสารพิษ โดยหนังสือดังกล่าวมีผู้ลงนามเป็นรองประธานหอการค้าประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ซึ่งกรณีดังกล่าวตนมองว่าไม่ใช่เป็นหน่วยงานระดับรัฐบาลที่จะเข้ามาแทรกแซง ตามที่มีประเด็นข่าวนำเสนอไปก่อนหน้านั้น ส่วนกังวลหรือไม่ว่าจะกลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศ นายวราวุธ ย้ำว่า ไม่กังวลเพราะมีปัญหาอีกหลายอย่าง และเชื่อว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นใหญ่

ขณะที่กรณีดังกล่าวจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายหรือไม่นั้น นายวราวุธ กล่าวว่า ต้องรอการพิจารณาของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายอีกครั้ง แต่ในส่วนของหน่วยงานภายใต้กำกับของกระทรวงทรัพยากรฯ คือกรมควบคุมมลพิษ ยังยืนยัน ต่อการแบนสารพิษ เพราะต้องดูผลประโยชน์ของเกษตรกรเป็นอันดับแรก เมื่อเกิดสารตกค้างสะสมกับเกษตรกรไทย เราจึงแสดงความไม่เห็นด้วย ซึ่งเชื่อว่าวิธีการใช้ของแต่ละประเทศก็แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ไม่รู้สึกหนักใจที่การกดดันทั้งภายใน และภายนอกประเทศ เพราะกระทรวงทรัพยากรฯ ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม ส่วนเรื่องสารเคมีภาคการเกษตร ก็ต้องให้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ชี้แจง แต่ส่วนตัวเชื่อว่าน่าจะมีสารทดแทนอยู่แล้ว

“1 ปีธนาคารเพื่อสังคม” ออมสินช่วยประชาชนเสริมสภาพคล่อง-พักชำระหนี้-ลดโครงสร้างดอกเบี้ยสินเชื่อ 9.5 ล้านราย

People Unity News : ออมสิน โชว์ผลงาน “1 ปี ธนาคารเพื่อสังคม” เน้นช่วยประชาชน 3 ด้าน เสริมสภาพคล่อง-พักชำระหนี้-ลดโครงสร้างดอกเบี้ยสินเชื่อ ผลงานที่โดดเด่น 3 ด้าน คือ (1) ด้านการเสริมสภาพคล่องแก่ผู้มีรายได้น้อยและ SMEs ขนาดเล็กผ่านมาตรการสินเชื่อ (2) ด้านการผ่อนปรนการชำระหนี้ด้วยการปรับลด/พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย และ (3) ด้านการเข้าแข่งขันในตลาดสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ที่ธนาคารออมสินได้ปรับจุดยืนทางยุทธศาสตร์ เป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา  ธนาคารได้ทำภารกิจช่วยเหลือสังคมที่เป็นรูปธรรมในหลายมิติ ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งธนาคารเป็นหน่วยงานหลักในการส่งต่อความช่วยเหลือให้ประชาชนและภาคธุรกิจตามนโยบายรัฐบาล ผ่านโครงการต่างๆมากกว่า 30 โครงการ สามารถช่วยเหลือประชาชนได้แล้วกว่า 9 ล้านคน โดยธนาคารยึดหลักการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างกำไรในระดับที่เหมาะสม และนำกำไรส่วนหนึ่งจากการประกอบธุรกิจปกติ มาสนับสนุนการดำเนินธุรกิจเชิงสังคม จนเกิดเป็นผลงานที่โดดเด่น 3 ด้าน คือ (1) ด้านการเสริมสภาพคล่องแก่ผู้มีรายได้น้อยและ SMEs ขนาดเล็กผ่านมาตรการสินเชื่อ (2) ด้านการผ่อนปรนการชำระหนี้ด้วยการปรับลด/พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย และ (3) ด้านการเข้าแข่งขันในตลาดสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง เพื่อเป้าหมายในการปรับลดโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลง ซึ่งจะช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยมีโอกาสใช้สินเชื่อที่มีต้นทุนถูกลงและเป็นธรรมมากขึ้น

ทั้งนี้ ในรอบปีที่ผ่านมา ธนาคารได้สร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินแก่ลูกค้ารายย่อย เป็นจำนวนมากกว่า 3.2 ล้านคน ผ่านมาตรการสินเชื่อ อาทิ สินเชื่อเสริมพลังฐานราก สินเชื่อฉุกเฉินสำหรับผู้มีอาชีพอิสระ และสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 เป็นต้น โดยในจำนวนนี้ธนาคารได้สร้างโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อในระบบให้กับประชาชนมากกว่า 2.5 ล้านคน ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่เคยมีประวัติเครดิตทางการเงิน หรือมีเครดิตต่ำกว่าเกณฑ์อนุมัติปกติของสถาบันการเงิน สำหรับผู้ประกอบการ SMEs รายเล็กนั้น ธนาคารได้ช่วย SMEs ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อเป็นมูลค่าสูงถึงกว่า 162,000 ล้านบาท ผ่านมาตรการสินเชื่อ อาทิ สินเชื่อ Soft Loan ธนาคารออมสิน สินเชื่อฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยว และสินเชื่ออิ่มใจ (ธุรกิจร้านอาหาร) เป็นต้น รวมถึงออกผลิตภัณฑ์ใหม่ “สินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน” ที่ช่วยให้ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น โดยธนาคารไม่พิจารณาข้อมูลรายได้ระยะสั้น เนื่องจากขณะนี้เป็นช่วงวิกฤติที่ลูกค้ามีรายได้ไม่แน่นอน และไม่วิเคราะห์ข้อมูลเครดิต แต่เน้นที่การพิจารณาหลักประกันเป็นหลัก (Collateral Based Lending)

สำหรับด้านการผ่อนปรนการชำระหนี้ให้กับลูกค้า เพื่อป้องกันไม่ให้กลายเป็นหนี้เสีย (NPLs) และเสียประวัติเครดิตในอนาคต ธนาคารสามารถช่วยเหลือลดภาระให้ลูกค้าแล้วเป็นจำนวนกว่า 3 ล้านคน ผ่านมาตรการพักชำระหนี้ลูกค้ากลุ่มต่างๆ อาทิ (1) มาตรการพักชำระหนี้ 6 เดือนแก่ร้านอาหารและโรงแรม (2) มหกรรมแก้หนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษา (3) มาตรการแก้หนี้สำหรับลูกค้าทั่วไปที่ประสบปัญหาการชำระเงินงวด อันเนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาด COVID-19 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 730,000 ราย และ (4) มาตรการล่าสุดให้ลูกค้ารายย่อยที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 2 แสนบาท จำนวนกว่า 750,000 ราย สามารถพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ได้สูงสุด 6 เดือน

นอกจากนี้ ธนาคารได้เข้าไปแข่งขันในตลาดสินเชื่อที่มีโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยสูง โดยการเปิดตัวธุรกิจจำนำทะเบียนรถ ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนใน บจ. เงินสดทันใจ ปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนมอเตอร์ไซค์และรถยนต์ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งสร้างแรงกระเพื่อมในตลาดการแข่งขันของธุรกิจจำนำทะเบียน จากเดิมที่เคยอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 24% – 28% ปัจจุบันลดลงเหลือ 16% – 18% ทำให้กลุ่มเป้าหมายผู้ใช้สินเชื่อนี้จำนวนกว่า 3.5 ล้านคน ได้รับประโยชน์ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยต้นทุนที่ถูกลงและเป็นธรรมมากขึ้น

สำหรับผลการดำเนินงานในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา สิ้นสุด ณ 30 มิถุนายน 2564 ธนาคารออมสินมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งมากขึ้น โดยมีสินทรัพย์รวม 2,860,000 ล้านบาท มีเงินฝาก 2,450,000 ล้านบาท และสินเชื่อรวม 2,190,000 ล้านบาท โดยจัดเป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่ใน 5 อันดับแรกของธนาคารทั้งระบบในทุกด้านที่กล่าวมา นอกจากนั้น ในท่ามกลางวิกฤติที่สถาบันการเงินต่างระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อเพื่อควบคุมความเสี่ยง ในขณะที่ประชาชนและภาคธุรกิจต่างประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ธนาคารออมสินได้เข้ามามีบทบาทในการปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบอย่างเต็มที่ โดยช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาได้อัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแล้วมากกว่า 270,000 ล้านบาท และสามารถบริหารจัดการหนี้เสียอยู่ในระดับไม่เกิน 2% รวมถึงเพิ่มการกันสำรองส่วนเกิน (General Provision) เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งอีกกว่า 32,000 ล้านบาท ส่งผลให้ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) แข็งแรงถึง 205.15%

Advertising

รัฐบาลเผยให้ความสำคัญ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

People Unity News : 5 กันยายน 65 โฆษกรัฐบาล เผย รัฐบาลให้ความสำคัญ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ครึ่งปีแรก 2565 ส่งเสริมแล้ว 309 โครงการ มูลค่ารวม 131,580 ล้านบาท

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในประเทศ โดยเน้นการสนับสนุนการลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-Curve) รวมทั้งสร้างแรงจูงใจดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศให้มากขึ้นนั้น ในเดือนมกราคม-มิถุนายน 2565 มีการขอรับการส่งเสริมในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยอุตสาหกรรมการเกษตรและแปรรูปอาหารมีจำนวนโครงการสูงสุด และอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนมีมูลค่าเงินลงทุนสูงที่สุด

นายอนุชากล่าวว่า ในเดือนมกราคม-มิถุนายน 2565 มีโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริม จำนวน 750 โครงการ และมีมูลค่าเงินลงทุนรวม 375,670 ล้านบาท โดยเป็นการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 309 โครงการ จาก 5 อุตสาหกรรมเดิมที่เป็นเป้าหมาย (ยานยนต์และชิ้นส่วน, เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, การเกษตรและแปรรูปอาหาร, ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์, การท่องเที่ยว) และ 7 อุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นเป้าหมาย (ดิจิทัล, การแพทย์, เทคโนโลยีชีวภาพ, ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์, อากาศยาน, พัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการศึกษา, ป้องกันประเทศ) คิดเป็นร้อยละ 41 ของจำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมทั้งสิ้น มีมูลค่ารวม 131,580 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 35 ของมูลค่าการอนุมัติให้การส่งเสริมทั้งหมด โดยจำนวนโครงการส่วนใหญ่ เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมการเกษตรและแปรรูปอาหาร มีจำนวนโครงการสูงที่สุด (80 โครงการ) รองลงมาคือ อุตสาหกรรมดิจิทัล (72 โครงการ) ส่วนมูลค่าการลงทุนจะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนมีมูลค่าเงินลงทุนสูงที่สุด (40,260 ล้านบาท) รองลงมาคือ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (34,080 ล้านบาท)

สำหรับอุตสาหกรรมการเกษตรและแปรรูปอาหาร ที่มีการอนุมัติให้การส่งเสริมเป็นจำนวนโครงการสูงที่สุด 80 โครงการ เงินลงทุนรวม 24,620 ล้านบาท เช่น กิจการผลิตอาหารสัตว์หรือส่วนผสมอาหารสัตว์ 14 โครงการ เงินลงทุน 10,995 ล้านบาท เป็นต้น ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ที่มีการอนุมัติให้การส่งเสริม 43 โครงการ เงินลงทุนรวมสูงที่สุดคือ 40,260 ล้านบาท เช่น กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า Battery Electric Vehicle (BEV), Plug-in Hybrid Electric Vehicle (PHEV) และ Hybrid Electric Vehicle (HEV) 1 โครงการ เงินลงทุน 36,100 ล้านบาท เป็นต้น

“รัฐบาลให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็ง นำไปสู่การพัฒนาประเทศในอนาคต ส่งผลให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถแข่งขันได้กับต่างประเทศ ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะเร่งขับเคลื่อนให้ไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมในเดือนมกราคม-มิถุนายน 2565 คาดว่าจะทำให้มูลค่าส่งออกของประเทศเพิ่มขึ้นประมาณ 384,430 ล้านบาทต่อปี สร้างการเติบโตและความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้ไทยในอนาคตอย่างต่อเนื่อง” นายอนุชา กล่าว

Advertisement

ก.คลัง แจง ทำไมต้องแจกเงิน 10,000 บาท เป็นสกุลเงินดิจิทัล Token ยันบริษัทไม่ได้ประโยชน์

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 8 เมษายน 2567 คลังเตือนอย่าเชื่อ อย่าแชร์ ข่าว Digital wallet

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะ application “LINE” ว่ารัฐบาลจะดำเนินการโครงการเติมเงิน 10000 บาท ผ่าน Digital wallet ให้ประชาชนด้วยเงินดิจิทัล สกุลเงิน Token  โดยตนขอให้ข้อมูลข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังนี้

ประเด็นที่ 1  ทำไมไม่โอนเงินเข้าบัญชีของทุกคนโดยตรงเลย ? เพื่อให้ง่าย และไม่โดนกล่าวหาว่ามีวาระซ้อนเร้น

ข้อเท็จจริง  : วัตถุประสงค์หลักของโครงการคือการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้น แม้การแจกเงินสดจะสะดวก และง่ายต่อการดำเนินการ แต่ก็มีข้อเสียที่ไม่อาจมองข้ามได้ คือ การแจกเป็นเงินสดจะสุ่มเสี่ยงที่จะมีประชาชนบางส่วนนำไปเก็บออม โดยไม่ได้เอาไปจับจ่ายใช้สอย ซึ่งไม่ทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ และผิดวัตถุประสงค์ของโครงการ

ประเด็นที่ 2  หากมีการแจกจ่ายผ่านสกุลเงินดิจิทัล Token ใครเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์

ข้อเท็จจริง  : โครงการดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ ซึ่งเป็นการดำเนินงานจัดทำโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทที่มีการจัดทำ Token แต่อย่างใด

ประเด็นที่ 3  มีการตั้งคำถามว่า เหตุใดต้องแจกเงินในโครงการเติมเงิน 10000 บาทผ่าน Digital wallet ด้วยเงินดิจิทัล

ข้อเท็จจริง  : ประเด็นดังกล่าวน่าจะเกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากการเติมเงินในโครงการดังกล่าวไม่สามารถอยู่ในรูปเงินดิจิทัลตามที่อ้างได้ เพราะขัดต่อกฏหมายว่าด้วยเงินตรา

“ขณะนี้ ประเด็นข้อทักทวงดังกล่าวตามที่อ้าง คณะกรรมการนโยบายเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital wallet รับทราบและได้นำประเด็นต่าง ๆ มาพิจารณาแล้ว โดยจะมีการประชุมเพื่อสรุปรูปแบบของโครงการ ในวันพุธที่ 10 เมษายน 2567 ต่อไป ดังนั้นจึงอยากเตือนประชาชนอย่าได้หลงเชื่อ หรือ แชร์  ซึ่งทางกระทรวงการคลังจะได้เร่งเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในโครงการดังกล่าวทันทีที่ได้ข้อสรุป เพื่อป้องกันความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อประชาชนได้”

Advertisement

Verified by ExactMetrics