วันที่ 8 พฤษภาคม 2024

ครม. ไฟเขียว 2 มาตรการภาษี ดึงต่างชาติศักยภาพสูงเข้าประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

People Unity News : ครม. ไฟเขียว 2 มาตรการภาษี ดึงต่างชาติศักยภาพสูงเข้าประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

23 ก.พ. 2565 ที่ประชุม ครม. เมื่อวาน (22 ก.พ. 65) อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร โดยเป็นมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงทางด้านเศรษฐกิจ/ความรู้ความเชี่ยวชาญสู่ประเทศไทย กระตุ้นการบริโภค การลงทุน และขีดความสามารถในการแข่งขันในประเทศเพิ่มขึ้น ดังนี้

1.การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับชาวต่างชาติผู้ถือวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาว (LTR Visa) 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ และกลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย

2.การลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเหลือ 17% สำหรับผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ปี ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หรือมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ปี หากจบการศึกษาปริญญาโทขึ้นไป และมีประสบการณ์ทำงาน 5 ปีในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

Advertising

ประยุทธ์ พอใจเศรษฐกิจไทยปี 64 เติบโต 1.6% สูงกว่าคาด

People Unity News : ประยุทธ์ พอใจเศรษฐกิจไทยปี 2564 เติบโต 1.6% สูงกว่าคาด ย้ำเดินหน้าฟื้นฟูประเทศในภาคท่องเที่ยว เร่งการลงทุนภาครัฐ ผลักดันการส่งออก ดูแลปัญหาหนี้สินครัวเรือน พร้อมจำกัดวงการแพร่ระบาดโควิด-19

22 ก.พ. 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้รับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจไตรมาสที่ 4/64 และทั้งปี 2564 จากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ว่าทั้งปี 2564 เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ 1.6% ซึ่งสูงกว่าที่ สศช. ได้ประมาณการไว้ 1.2%

ทั้งนี้ การเติบโตในหลายส่วนก็เป็นผลจากมาตรการต่างๆของรัฐบาล เช่น การบริโภคของประชาชนที่ดีขึ้นจากที่รัฐบาลมีมาตรการเยียวยา แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย การบริโภคและลงทุนของรัฐที่เติบโตจากการเร่งรัดการเบิกจ่าย ภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวจากการทยอยเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวภายใต้มาตรการที่ปลอดภัย ควบคู่ไปกับการดูแลประชาชนทั้งด้านการป้องกันและรักษาจากโรคโควิด-19

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีพอใจกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยเผชิญกับแรงกดดันจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงเช่นเดียวกับทุกประเทศทั่วโลก โดยรัฐบาลได้พยายามทุกวิถีทางอย่างเต็มที่ในการดูแลชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในช่วงเวลาที่ยากลำบาก

สำหรับปี 2565 ที่สภาพัฒน์ได้ประเมินว่าแนวโน้มเศรษฐกิจจะดีกว่าปีที่ผ่านมา ด้วยปัจจัยสนับสนุนหลายด้านแต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำว่าในปี 2565 นี้รัฐบาลจะเดินหน้าอย่างเต็มที่ในการฟื้นฟูประเทศจากผลกระทบของโควิด-19 ควบคู่ไปกับการดูแลการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัด

โดยรัฐบาลจะรักษาแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวมาได้แล้วตั้งแต่ปลายปี 2564 ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายในครัวเรือน ที่จะมีการดูแลกลไกต่างๆ เพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาสินค้าและค่าครองชีพของประชาชน แก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนให้ต่อเนื่อง  ฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว เร่งรัดการเบิกจ่ายภาครัฐทั้งส่วนของรายจ่ายประจำและการลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมาย ขณะที่การลงทุนเอกชนจะดำเนินนโยบายสนับสนุนทั้งการฟื้นตัวและลงทุนของนักลงทุนไทย และการดึงดูดลงทุนของต่างชาติ ตลอดจนการขับเคลื่อนการส่งออกที่ปีนี้จะยังคงได้รับผลบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่างประเทศ

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้มอบหมายกระทรวงการคลังและ สศช. ในการเฝ้าติดตามประเด็นความผันผวนของเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกที่อาจเกิดขึ้นได้จากปัจจัยต่างๆ  เช่น กรณีที่เกิดไวรัสกลายพันธุ์  นโยบายเศรษฐกิจของประเทศขนาดใหญ่ การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารประเทศต่างๆ ที่เริ่มปรับตัวตามแนวโน้มเงินเฟ้อทั่วโลก ตลอดจนความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดในบางพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อเป็นข้อมูลให้รัฐบาลมีนโยบายที่สอดคล้องกับสถานการณ์ต่อไป

Advertising

ประยุทธ์ หารือ หอการค้าร่วมต่างประเทศ แสวงหาความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน

People Unity News : ประยุทธ์ หารือ หอการค้าร่วมต่างประเทศ ยืนยันพร้อมร่วมมือทุกมิติ มุ่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ Upskill – Reskill

วันนี้ (17 ก.พ. 65) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้การต้อนรับ นายสแตนลีย์ คัง ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) และคณะ เข้าเยี่ยมคารวะ เพื่อหารือด้านความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และแก้ไขปัญหาที่ยังเป็นอุปสรรคระหว่างกันจากสถานการณ์โควิด-19

ด้านประธาน JFCCT ขอบคุณรัฐบาลสำหรับการสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนทางการค้าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และแสดงความเชื่อมั่นนโยบายการเปิดประเทศของไทย และพร้อมสนับสนุนการพัฒนาทักษะของทรัพยากรบุคคล (Upskill – Reskill) ผ่านการอบรม และใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมต่างๆ ซึ่งจะถ่ายทอด แลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน

ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องถึงความสำคัญของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล ซึ่งไทยกำหนดให้ “ประเทศไทย 4.0” เป็นแนวนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ไปสู่เศรษฐกิจฐานความรู้ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

นโยบายสีเขียว BCG Model และการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี 2565 และให้ความสำคัญกับภาคธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และมีธรรมาภิบาล (ESG) ซึ่งการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG และการดำเนินธุรกิจของ ภาคเอกชนบนพื้นฐานของ ESG จะช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกันเพื่อบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนได้

Advertising

ออมสิน ผลักดันปี 65 ปีแห่งการแก้หนี้สินภาคครัวเรือน วาระแห่งชาติตามนโยบายรัฐ

People Unity News : ออมสิน ผลักดัน ปี 65 ปีแห่งการแก้หนี้สินภาคครัวเรือน วาระแห่งชาติตามนโยบายรัฐ

15 ก.พ. 65 นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามนโยบายของรัฐบาล โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เร่งดำเนินการแก้ไขหนี้สินให้กับประชาชน ให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้ไขหนี้สินภาคครัวเรือน ธนาคารออมสินตระหนักถึงสภาพปัญหาที่ลูกหนี้หรือประชาชนต้องเผชิญกับความยากลำบากที่เกิดขึ้น  จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้ต้องขาดรายได้ ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ธนาคารจึงได้ออกมาตรการ “ชะลอการดำเนินการทางกฎหมายต่อลูกหนี้ NPLs” จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565 เพื่อช่วยไม่ให้ลูกหนี้ต้องกังวลเรื่องคดีความ และขับเคลื่อนนโยบายรัฐในการช่วยเหลือประชาชน

ทั้งนี้ มาตรการชะลอหรือผ่อนปรนการดำเนินการทางกฎหมายต่อลูกหนี้ NPLs ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุโควิด 19 ครั้งนี้ จัดทำขึ้นเพื่อช่วยลดภาระลูกหนี้ที่กลายเป็น NPLs ก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ประกอบด้วยสินเชื่อ 4 ประเภท ได้แก่ สินเชื่อบุคคล-รายย่อย สินเชื่อประชาชนผู้มีรายได้น้อย สินเชื่อครูและบุคลากรทางการศึกษา และ สินเชื่อธุรกิจ SMEs ที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 20 ล้านบาท โดยธนาคารจะชะลอการฟ้องคดีต่อศาลไว้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ซึ่งรวมถึงลูกหนี้ที่มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความในชั้นศาล และมีการผ่อนชำระดีมาอย่างต่อเนื่อง แต่มาเริ่มค้างชำระในช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 – 31 ธันวาคม 2564 ธนาคารจะชะลอการดำเนินการทางกฎหมาย โดยชะลอไม่ฟ้อง ไม่ยึดทรัพย์ ไม่ขายทอดตลาด และไม่ฟ้องล้มละลาย แล้วแต่กรณีตามสถานะของลูกหนี้แต่ละราย

อนึ่ง ในปี 2564 มีลูกหนี้ที่เป็น NPLs ที่ได้รับประโยชน์ หรือความช่วยเหลือจากมาตรการชะลอการดำเนินการทางกฎหมายจำนวนมาก และปัจจุบันลูกหนี้ดังกล่าวมีสถานะปกติแล้ว ดังนั้น ธนาคารจึงขอแนะนำให้ลูกหนี้ที่ประสบปัญหา โปรดติดต่อธนาคารออมสินสาขาเจ้าของบัญชีเงินกู้ ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 นี้.  https://www.gsb.or.th/news/gsbpr3-65/

Advertising

รัฐบาลเปิดแผนโครงการรถไฟ “ไทย-ลาว-จีน” รองรับการเดินทางและขนส่งระหว่างประเทศ

People Unity News : รัฐบาลเปิดแผนโครงการรถไฟ “ไทย – ลาว – จีน” รองรับการเดินทางและขนส่งระหว่างประเทศ

14 ก.พ. 65 จากโครงการรถไฟลาว – จีน ที่เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2564 ที่ผ่านมา รัฐบาลพร้อมเดินหน้าเชื่อมโยงโครงข่ายทางรถไฟไทย ลาว และจีน เพื่อรองรับการเดินทางและขนส่งระหว่างประเทศ ด้วยแผนดำเนินการเชื่อมโยงรถไฟระหว่าง 3 ประเทศ ดังนี้

✔️แผนการก่อสร้างของ รฟท.

🚝โครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา มีระยะทาง 250 กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมด 6 สถานี ประกอบด้วย สถานีกลางบางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา สระบุรี ปากช่อง และนครราชสีมา  ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง คาดว่าจะเปิดให้บริการ ปี 2569

🚝โครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 2 นครราชสีมา – หนองคาย เป็นส่วนต่อขยายของโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 รวมระยะทางโดยประมาณ 356 กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมด 5 สถานี ได้แก่ บัวใหญ่ บ้านไผ่ ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำรายงาน EIA คาดว่าจะเปิดให้บริการ 2571

🚝โครงการรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น – หนองคาย มีระยะทางโดยประมาณ 167 กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมด 15 สถานี ปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในเดือน ก.พ. 2565

✔️การบริหารจัดการใช้ทางรถไฟและการใช้สะพาน

🚝เพิ่มขบวนรถขาไป 7 ขบวนและขากลับ 7 ขบวน รวม 14 ขบวน รองรับขบวนละ 25 แคร่ โดยกรมทางหลวงทำการทดสอบการรับน้ำหนักรถไฟ ในระดับ U-20 เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของสะพานต่อไป

🚝ก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ใกล้กับสะพานเดิมที่มีอยู่แล้ว ห่างประมาณ 30 เมตร ที่มีทั้งทางรถไฟขนาดมาตรฐาน และทางขนาด 1 เมตร ปัจจุบันได้ข้อตกลงว่าฝ่ายไทยและลาวจะร่วมลงทุนค่าใช้จ่ายร่วมกันในอาณาเขตของแต่ละฝ่าย (อยู่ระหว่างหาข้อสรุปของผู้รับผิดชอบด้านการออกแบบ)

✔️ การพัฒนาย่านขนถ่ายสินค้า

พื้นที่ด่านศุลกากรหนองคายคาดว่ามีความสามารถในการรองรับรถบรรทุกได้สูงสุด 650 คันต่อวัน แนวทางพัฒนาย่านขนถ่ายสินค้าของฝั่งไทย – ลาว ที่ใช้ขนส่งสินค้าข้ามแดนผ่านทางรถไฟช่วงหนองคาย – เวียงจันทน์ แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ

ระยะเร่งด่วน : การพัฒนาย่านสถานีหนองคายเป็นพื้นที่เปลี่ยนถ่ายสินค้า

ระยะยาว : การพัฒนาพื้นที่นาทาเพื่อเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้า (เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าในอนาคต)

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้จัดการประชุมสร้างความเข้าใจร่วมกับภาคเอกชนต่อการดำเนินการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดการบูรณาการอย่างรอบด้าน จึงจำเป็นต้องมีการรับฟังความเห็นของภาคเอกชน เพื่อเป็น Team Thailand ร่วมกับภาครัฐของไทย ในการจัดทำแผนเชื่อมโยงระหว่างสามประเทศทั้ง ไทย ลาว และจีนให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทย

Advertising

รัฐบาลชวนสายเที่ยว-บริษัททัวร์ ร่วมโครงการทัวร์เที่ยวไทย เผยเหลือสิทธิ์กว่า 168,000 สิทธิ์

People Unity News : รัฐบาลเชิญชวนสายเที่ยว-บริษัททัวร์ ร่วมโครงการทัวร์เที่ยวไทย เผยเหลือสิทธิ์กว่า 168,000 สิทธิ์ นายกรัฐมนตรีกำชับปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคเข้มงวด

11 ก.พ. 65 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากที่รัฐบาลได้ขยายระยะเวลาโครงการทัวร์เที่ยวไทยจากเดิมสิ้นสุดเดือน ก.พ. 2565 ไปสิ้นสุด พ.ค. 2565 ขณะนี้ระบบได้เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนซื้อรายการนำเที่ยว บริษัทนำเที่ยวรายเดิมเริ่มส่งรายการนำเที่ยว และบริษัทนำเที่ยวรายใหม่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้แล้ว จึงขอเชิญชวนทั้งประชาชนที่สนใจ และผู้ประกอบการนำเที่ยวเข้าร่วมโครงการ

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถดำเนินการขอรับสิทธิตามโครงการผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังค์ โดยสามารถตรวจสอบแพ็คเกจท่องเที่ยวของบริษัทนำเที่ยวที่เข้าร่วมโครงการได้ที่เว็บไซต์ www.ทัวร์เที่ยวไทย.ไทย ซึ่งมีการจัดแบ่งกลุ่มให้เลือก 3 กลุ่ม  ประกอบด้วยกลุ่ม silver เป็นแพ็คเกจทัวร์ราคาถูก กลุ่ม Gold แพ็คเกจทัวร์ราคาปานกลาง และกลุ่ม Platinum แพ็คเกจทัวร์ราคาสูง

ขณะที่ผู้ประกอบการนำเที่ยวรายเดิมสามารถยื่นรายการนำเที่ยวส่วนผู้ประกอบการรายใหม่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการและศึกษารายละเอียดขั้นตอนและหลักเกณฑ์ตามโครงการได้ที่เว็บไซต์ www.ทัวร์เที่ยวไทย.ไทย  ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 9 ก.พ. 2565 เหลือสิทธิตามโครงการกว่า 168,000 สิทธิ จากที่รัฐบาลให้สิทธิ 2 แสนสิทธิ

สำหรับสิทธิตามโครงการนี้ รัฐบาลจะสนับสนุนส่วนลดค่าแพ็คเกจท่องเที่ยวในประเทศให้ประชาชนผู้ร่วมโครงการ 40% แต่ไม่เกิน 5,000 บาท/สิทธิ โดยให้ 1 สิทธิต่อคน  รวมทั้งหมด 2 แสนสิทธิ  โดยผู้จะเข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย อายุ 18 ปีขึ้นไป และจะไม่สามารถใช้แพ็คเกจท่องเที่ยวของโครงการทัวร์เที่ยวไทยในช่วงเวลาเดียวกับการเข้าพักโรงแรม/ที่พักของโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 4 ได้

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม  ได้กำชับว่าเนื่องจากขณะยังคงมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงขอให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เข้มงวดในเรื่องของการกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการเพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดที่อาจเกิดขึ้นจากการเดินทางท่องเที่ยวภายใต้โครงการฯ และกำกับให้ผู้ประกอบการนำเที่ยวดูแลนักท่องเที่ยวตามมาตรการป้องกันโรคโดยเคร่งครัด

Advertising

ก.เกษตร-ก.พาณิชย์ ทำโครงการ “ข้าวแกง 20 บาท” บรรเทาภาระค่าครองชีพประชาชน

People Unity News : กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ นำร่อง “ร้านข้าวแกง 20 บาท” บางพลัด – บางกอกน้อย บรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน ตั้งเป้าขยายทั่ว กทม. ร้านที่สนใจ ติดต่อ สายด่วนธงฟ้า 1569

7 ก.พ. 65 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับเครือข่ายภาคเอกชน จัดโครงการ “ข้าวแกง 20 บาท ถูกใจชุมชน” นำร่อง 10 ร้านค้า ในชุมชนเขตบางพลัดและบางกอกน้อย เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน โดยโครงการฯ สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ ปัจจัยการผลิต และวัตถุดิบต่างๆ เช่น เนื้อไก่ ไข่ไก่ ให้พ่อค้าแม่ค้าที่เข้าร่วมโครงการนำไปปรุงเป็นข้าวแกง จำหน่ายแก่ประชาชนในราคา 20 บาท

รวมถึงมอบเมล็ดพันธุ์พืชผักสวนครัวแก่ตัวแทนชุมชนเพื่อไปปลูกใช้ในครัวเรือน และหากเหลือใช้สามารถนำส่งขายแก่ร้านข้าวแกงในโครงการฯได้ ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายให้มีร้านข้าวแกง 20 บาททั่ว กทม. ชุมชนละอย่างน้อย 1 ร้าน ร้านข้าวแกงที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ ติดต่อได้ที่ ไลน์แอด @khowgang20baht หรือ โทร. 025075682 หรือสายด่วนธงฟ้า 1569

Advertising

เริ่มแล้ว!โครงการ “บอกดิน 3” 1 ก.พ.-30 มิ.ย. 65 รับแจ้งข้อมูลตำแหน่งที่ดินที่ยังไม่เป็นโฉนด

People Unity News : 6 ก.พ. 65 เริ่มแล้ว! โครงการ “บอกดิน 3”  สำหรับการแจ้งข้อมูลตำแหน่งที่ดินทุกประเภทที่ยังไม่เป็นโฉนดที่ดิน เริ่ม 1 ก.พ. – 30 มิ.ย. 65 โดยจะนำตำแหน่งที่ดินที่แจ้งไปตรวจสอบเบื้องต้นสำหรับใช้ในการจัดทำแผนงานด้านการบริหารจัดการที่ดินของรัฐบาลต่อไป

ทั้งนี้ ผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแปลงใดและยังไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน ขอให้ดำเนินการดังนี้

> นำโทรศัพท์มือถือที่มีอินเทอร์เน็ตไปยืนบริเวณกลางแปลงที่ดิน

> กดลิงค์ https://bokdin3.dol.go.th หรือท่านที่ดาวน์โหลดแอปฯ “SmartLands” ไว้แล้ว ให้คลิกเลือกเมนู “บอกดิน” แล้วทำการกดแจ้งตำแหน่งที่ดิน

> รอค่าพิกัดขึ้น จากนั้นกรอกข้อมูลเจ้าของที่ดิน ชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ เลือกหลักฐานในที่ดินที่มี เช่น น.ส. 3 น.ส. 3 ก.

> หากไม่มีหลักฐานอะไรเลย ให้เลือกอื่นๆ แล้วกดส่ง เป็นเสร็จสิ้น แล้วให้รอการแจ้งกลับจากกรมที่ดิน (ส่วนที่เป็นโฉนดที่ดินแล้ว ไม่ต้องกดแจ้งตำแหน่งที่ดิน)

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ DOL Call Center : 0 2141 5555 (ตลอด 24 ชั่วโมง)

Advertising

ธอส. สุดยอด คว้า 6 รางวัล รัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2564

People Unity News : วันนี้ (31 มกราคม 2565) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2564 ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้มอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น (SOE Award) ประจำปี 2564 ให้แก่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จำนวน 6 รางวัล ประกอบด้วย 1.รางวัลการบริหารจัดการองค์กรดีเด่น (ดีเด่น) 2.รางวัลการเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใสดีเด่น 3.รางวัลความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมดีเด่น ด้านความคิดสร้างสรรค์ ประเภทดีเด่น 4.รางวัลความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาดีเด่น ประเภทเชิดชูเกียรติ 5.รางวัลบริการดีเด่น และ 6.รางวัลความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมดีเด่น ด้านนวัตกรรม ประเภทชมเชย

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2564 ทั้ง 6 รางวัล เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความมีประสิทธิภาพสูงของธนาคารอาคารสงเคราะห์ในการดำเนินงานของคณะกรรมการ ผู้บริหารระดับสูง และผู้ปฏิบัติงานของ ธอส. ทั้ง 5 พันชีวิต ที่มุ่งมั่นในการดำเนินงานตามพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน”  ถึงแม้ว่าในปี 2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จะยังคงรุนแรง แต่ ธอส. ก็สามารถปรับตัวและสนับสนุนนโยบายรัฐบาล และกระทรวงการคลัง ในการดูแลประชาชนให้มีที่อยู่อาศัย ด้วยการปล่อยสินเชื่อใหม่ได้รวม 246,875 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 14.48% เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 9.65% ขณะเดียวกันยังสามารถดูแลช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จาก COVID-19 อย่างต่อเนื่องผ่าน 20 มาตรการ ที่มีจำนวนลูกค้าได้รับความช่วยเหลือรวมกว่า 975,000 บัญชี เงินต้นคงเหลือ 847,000 ล้านบาท

รวมถึงพัฒนาบริการดิจิทัลอย่างต่อเนื่องเพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการลูกค้าตามวิถีชีวิตปกติใหม่ (New Normal) และความสำเร็จในด้านต่างๆ นำมาซึ่งรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2564 ทั้ง 6 รางวัล โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1.รางวัลการบริหารจัดการองค์กรดีเด่น (ดีเด่น) เป็นรางวัลที่มอบให้แก่รัฐวิสาหกิจที่ให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการองค์กรในเรื่อง การกำกับดูแลที่ดีและการนำองค์กร การวางแผนเชิงกลยุทธ์ การบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายใน การมุ่งเน้นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและลูกค้า การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลการบริหารทุนมนุษย์ การจัดการความรู้และนวัตกรรม และการตรวจสอบภายใน รวมทั้งนำนโยบาย Thailand 4.0  มาเพิ่มประสิทธิภาพให้องค์กรมีขีดความสามารถในการบริหารจัดการ และปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี

2.รางวัลการเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใสดีเด่น เป็นรางวัลที่มอบให้กับรัฐวิสาหกิจที่มีผลการดำเนินงานด้านการเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส โดยพิจารณาจากรายงานความยั่งยืน รายงานประจำปี และรายงานผลการดำเนินงานทั้งการเงินและไม่ใช่การเงินของธนาคาร

3.รางวัลความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมดีเด่น ด้านความคิดสร้างสรรค์ ประเภทดีเด่น มอบให้แก่รัฐวิสาหกิจที่มีผลงานความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์สอดคล้องกับความต้องการขององค์กร ทั้งลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ โดย ธอส.ได้รับรางวัลจาก “โครงการ GHB Appraisal Valued Model by AI” ซึ่งเป็นการยกระดับกระบวนการประเมินราคาหลักประกันในการขอสินเชื่อของธนาคาร โดยการพัฒนาแบบจำลอง (Model) ในการประเมินราคาหลักประกัน ซึ่งนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) หรือระบบประมวลผลที่มีการวิเคราะห์เชิงลึกมาใช้ในการสร้างแบบจำลองการวิเคราะห์แบบอัตโนมัติ

4.รางวัลความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาดีเด่น ประเภทเชิดชูเกียรติ เป็นรางวัลที่มอบให้รัฐวิสาหกิจที่มีความร่วมมือในเชิงยุทธศาสตร์ร่วมกันตามพันธกิจของรัฐวิสาหกิจ  โดย ธอส.และองค์การสะพานปลา (อสป.) ได้จับมือกันจัดทำ “โครงการโรงเรียนการเงิน ธอส. – อสป.เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต” โดยมีกลุ่มเป้าหมายได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจประมง  เพื่อให้เกิดการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

5.รางวัลบริการดีเด่น  โดย ธอส. มีนโยบายที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ ที่มุ่งตอบสนองความต้องการของลูกค้า ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมมายกระดับการให้บริการกับลูกค้าและประชาชนให้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว และเข้าถึงง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19

6.รางวัลความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมดีเด่น ด้านนวัตกรรม ประเภทชมเชย มอบให้แก่รัฐวิสาหกิจที่มีผลงานนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ บริการ หรือกระบวนการดำเนินงาน เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและใช้ประโยชน์ในองค์กรได้จริง โดย ธอส.ได้รับรางวัลจาก “โครงการ GHBank Smart  NPA Mobile Application” ซึ่งเป็นการพัฒนา Application สำหรับการประมูลบ้านที่ครอบคลุมตั้งแต่การแสดงทรัพย์ที่จะมีการประมูล เสนอราคาและแสดงผลการประมูล และสามารถบันทึกทรัพย์ที่สนใจ โดยได้นำมาใช้ช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19  ที่มีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตปกติใหม่ (New Normal) ของประชาชน

ทั้งนี้ สคร. ได้จัดให้มีงานมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่นตั้งแต่ปี 2548 เพื่อประกาศให้สาธารณชนได้ทราบถึงผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจที่ดีเด่นในด้านต่างๆ พร้อมกับเป็นกำลังใจให้กับรัฐวิสาหกิจทุกแห่งที่ทำภารกิจสนับสนุนการพัฒนาประเทศ และส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจมีความมุ่งมั่นในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป โดยงานมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2564 จัดขึ้น ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

Advertising

 

ปตท.คว้ารัฐวิสาหกิจยอดเยี่ยมปี 64 ออมสินคว้าบริหารจัดการองค์กรดีเด่น-บริการดีเด่น ธอส.กวาด 6 รางวัล

People Unity News : สคร. จัดงานมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ปี 2564 “ก้าวสู่ยุควิถีใหม่ด้วยพลังรัฐวิสาหกิจไทยอย่างยั่งยืน”

วันนี้ (31 มกราคม 2565) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จัดงานมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่นประจำปี 2564 ภายใต้แนวคิด “ก้าวสู่ยุควิถีใหม่ด้วยพลังรัฐวิสาหกิจไทยอย่างยั่งยืน Sustainable Moving Towards The Next Normal” โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมาย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในงาน พร้อมทั้งมอบรางวัลและมอบนโยบายให้แก่รัฐวิสาหกิจ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยการจัดงานในปีนี้มีการมอบรางวัลทั้งสิ้น 11 ประเภทรางวัล

นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการ สคร. เปิดเผยว่า สคร. ได้มีการจัดงานมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น หรือ SOE Award อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานของรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจมีความมุ่งมั่นในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพและนำองค์กรสู่ความเป็นเลิศ ซึ่งได้รับการตอบรับในการเข้าร่วมงานจากรัฐวิสาหกิจและผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดีตลอดมา โดยการจัดงานในปีนี้ ภายใต้แนวคิด “ก้าวสู่ยุควิถีใหม่ด้วยพลังรัฐวิสาหกิจไทยอย่างยั่งยืน Sustainable Moving Towards The Next Normal” มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสนับสนุนรัฐวิสาหกิจที่มีความสามารถในการปรับตัว และบริหารจัดการผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ของรัฐวิสาหกิจได้เป็นอย่างดี

สำหรับผลรางวัล SOE Award ประจำปี 2564 ทั้ง 11 ประเภทรางวัล มีดังนี้

1.รางวัลคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจดีเด่น

(1) ประเภทเกียรติยศ ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

(2) ประเภทดีเด่น ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

2.รางวัลการบริหารจัดการองค์กรดีเด่น

(1) ประเภทเกียรติยศ ได้แก่ ธนาคารออมสิน

(2) ประเภทดีเด่น ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และธนาคารอาคารสงเคราะห์

3.รางวัลการพัฒนาองค์กรดีเด่น ได้แก่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย

การยาสูบแห่งประเทศไทย องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย และองค์การเภสัชกรรม

4.รางวัลผู้นำองค์กรดีเด่น ได้แก่ นายสมพงษ์ ปรีเปรม อดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

5.รางวัลการเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใสดีเด่น ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

6.รางวัลการดำเนินงานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมดีเด่น

(1) ประเภทดีเด่น ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

(2) ประเภทชมเชย ได้แก่ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และการยาง

แห่งประเทศไทย

7.รางวัลความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมดีเด่น แบ่งรางวัลเป็น 2 ด้าน ประกอบด้วย

7.1 ด้านความคิดสร้างสรรค์

(1) ประเภทดีเด่น ได้แก่ การประปานครหลวง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และธนาคารอาคารสงเคราะห์

(2) ประเภทชมเชย – ไม่มีรัฐวิสาหกิจที่ได้รับรางวัล

7.2 ด้านนวัตกรรม

(1) ประเภทดีเด่น ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

(2) ประเภทชมเชย ได้แก่ การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง และธนาคารอาคารสงเคราะห์

8.รางวัลความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาดีเด่น

(1) ประเภทดีเด่น จำนวน 2 คู่ความร่วมมือ ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและการเคหะแห่งชาติ และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

(2) ประเภทเชิดชูเกียรติ จำนวน 2 คู่ความร่วมมือ ได้แก่ การประปานครหลวงและองค์การจัดการ

น้ำเสีย และ ธนาคารอาคารสงเคราะห์และองค์การสะพานปลา

9.รางวัลการพัฒนาสู่รัฐวิสาหกิจดิจิทัล ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

10.รางวัลบริการดีเด่น ได้แก่ ธนาคารออมสิน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และธนาคารอาคารสงเคราะห์

11.รางวัลรัฐวิสาหกิจยอดเยี่ยมประจำปี 2564 ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

Advertising

Verified by ExactMetrics