วันที่ 19 พฤษภาคม 2024

แนะแก้ปัญหา “หยก” ด้วยเมตตาธรรม

People Unity News : 16 มิถุนายน 2566 “สมชัย” แนะ รร.แก้ปัญหา “หยก” ด้วยเมตตาธรรม จัดให้เข้าเรียนปกติ ใช้ระบบการเรียนวัดผลตามขั้นตอน ขณะที่คนเป็นผู้ปกครองต้องชอบด้วยกฎหมาย

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต  โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กกรณีน้องหยก เยาวชนนักเคลื่อนไหววัย 15 ปี ว่า หากเป็นผู้อำนวยโรงเรียน จะแก้ปัญหาแบบมีเมตตาธรรม ด้วยการเปิดประตูไว้ทั้งวัน อยากมาเรียนตอนไหนก็เดินเข้าได้ ไม่ต้องปีนรั้ว พอไม่ปีนรั้วก็ไม่เป็นข่าว นักข่าวก็คงไม่อยากมาทำข่าวเด็กเดินเข้าโรงเรียนทุกวัน

“โรงเรียนก็จัดโต๊ะเก้าอี้ให้นั่งเรียน ให้เด็กได้เรียนวิชาการ ดีกว่าไปอยู่นอกห้องเรียน จัดการเรียน การสอน การวัดผลเป็นปกติ และแจ้งให้เด็กทราบเรื่องความจำเป็นต้องมีผู้ปกครองที่ได้รับมอบอำนาจมาลงทะเบียนให้ถูกต้อง เพื่อให้ได้ใบรับรองผลการศึกษาเพื่อไปเรียนต่อหรือประกอบอาชีพ ถ้าหากให้เรียนแล้ว เด็กขาดเรียน วัดผลแล้วสอบตกก็ให้เป็นไปตามระบบ หรือเรียนครบปียังไม่มีผู้ปกครองมาลงทะเบียน ก็ออกใบรับรองให้ไม่ได้ ดังนั้น คนเป็นผู้ปกครองปัจจุบันให้ไปหาทางทางกฎหมายให้เป็นผู้ปกครองโดยชอบด้วยกฎหมายด้วย” นายสมชัย กล่าว

Advertisement

เพิ่มจำนวนคลินิกกายภาพบำบัด เป็นเครือข่ายหน่วยบริการหลักประกันสุขภาพ

People Unity News : 11 มิถุนายน 2566 เชิญชวนคลินิกกายภาพบำบัดทั่วประเทศเข้าร่วมเป็นเครือข่ายหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพ รับผู้ป่วยบัตรทอง 4 กลุ่มโรคเข้าฟื้นฟูสมรรถภาพ เพิ่มความสะดวกและโอกาสการเข้าถึงลดความแออัดในโรงพยาบาล

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อยู่ระหว่างการดำเนินแนวทางต่างๆ เพื่อสนับสนุนการลดความแออัดของผู้ใช้บริการในโรงพยาบาล ซึ่งรวมถึงการขยายเครือข่ายคลินิกกายภาพบำบัดที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) เพื่อรับผู้ป่วยสิทธิบัตรทองใน 4 กลุ่มโรค เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการกายภาพ ณ คลินิกใกล้บ้าน ไม่ต้องรอคิวนาน และลดความแออัดในโรงพยาบาล

ทั้งนี้ สปสช. ได้เริ่มอำนวยความสะดวกในการเข้ารับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพฯ แก่ผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง 4 กลุ่มโรค ได้แก่ 1.ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) 2.ผู้ป่วยสมองได้รับบาดเจ็บ (Traumatic brain injury) 3.ผู้ป่วยไขสันหลังได้รับบาดเจ็บที่ได้รับการรักษาจนเข้าสู่ภาวะคงที่ และ 4.ผู้ป่วยภาวะกระดูกสะโพกหักจากภยันตรายชนิดไม่รุนแรง (Fragility fracture hip ) มาตั้งแต่ปี 64 โดยระยะแรกมีคลินิกที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการนำร่อง 24 แห่ง และปัจจุบันมีคลินิกในเครือข่ายรับส่งต่อจากโรงพยาบาล 58 แห่ง

“ขณะนี้ สปสช. อยู่ระหว่างการขยายเครือข่ายคลินิกกายภาพบำบัดที่เข้ามาร่วมหน่วยบริการในระบบบัตรทอง โดยได้เชิญชวนคลินิกกายภาพฯ ที่ปัจจุบันมีอยู่กว่า 800 แห่งทั่วประเทศสมัครเข้าร่วมที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 1-13  และให้โรงพยาบาลในระบบ สปสช. ประสานคลินิกกายภาพฯ ในพื้นที่มาเข้าร่วมเป็นเครือข่ายของโรงพยาบาลด้วย” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การสนับสนุนให้ผู้ป่วย 4 กลุ่มโรคเข้าถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพฯ มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงระยะ 3-6 เดือน หลังจากอาการของผู้ป่วยพ้นระยะวิกฤต หรือแพทย์ประเมินให้พ้นการเป็นผู้ป่วยใน ที่เป็นช่วงเวลาทองของการบำบัดรักษา (golden period) เนื่องจากเป็นระยะสมองและระบบประสาทต่างๆ ของร่างกายมีความพร้อมที่จะรับการฟื้นฟูสภาพ หากได้รับการบำบัดที่ถูกต้องและต่อเนื่อง ก็จะมีโอกาสทำให้ผู้ป่วยกลับสู่ภาวะปกติ และสามารถลดความพิการได้

สำหรับรูปแบบการให้บริการของคลินิกกายภาพบำบัดแก่ผู้มีสิทธิบัตรทองนั้น จะมีโรงพยาบาลทำหน้าที่เป็นแม่ข่ายประสานส่งต่อผู้ป่วยที่อาการพ้นระยะวิกฤตหรือที่แพทย์ประเมินจำหน่ายจากผู้ป่วยใน ให้มารับทำการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายต่อเนื่องที่คลินิกกายภาพบำบัด โดยมีหลักเกณฑ์การบริการกายภาพบำบัดแบบเข้มข้นร่วมกับหน่วยบริการไม่เกิน 20 ครั้ง ในช่วง golden period

Advertisement

แฉส่วยสติกเกอร์มีมานาน ทำเป็นขบวนการใหญ่

People Unity News : 30 พฤษภาคม 2566 นายกสมาคมขนส่งสินค้าภาคอีสาน เผยสติกเกอร์ส่วยทางหลวงมีมานานแล้ว เชื่อทำเป็นขบวนการใหญ่ ลั่นไม่มีใครอยากทำผิดกฎหมาย ชี้ต้องแก้ไขทั้งระบบ

นายวิชัย สว่างขจร นายกสมาคมขนส่งสินค้าภาคอีสาน เผยสติกเกอร์ส่วยทางหลวงมีมานานแล้ว เชื่อทำเป็นขบวนการใหญ่ มีผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่นักการเมืองระดับชาติ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ จนถึงตำรวจชั้นผู้น้อย ทั้งนี้ ผู้ประกอบอาชีพรถขนส่งสินค้าทุกคนไม่มีใครอยากทำผิดกฎหมาย และไม่มีใครอยากบรรทุกเกินมาตรฐาน เพราะจะทำให้รถเสื่อมโทรมง่าย แต่ค่าขนส่งที่ต่ำ ผู้ประกอบการหลายคนอยู่ไม่ได้ ถ้าจะแก้ปัญหา ก็ต้องแก้ไขทั้งระบบ ซึ่งจะต้องอาศัยอำนาจของรัฐบาลเท่านั้น จึงจะทำได้สำเร็จ เร็วๆนี้จะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดส่งให้ว่าที่รัฐบาลชุดใหม่ช่วยกวาดล้างขบวนการนี้ให้หมดไปจากประเทศ เพื่อไม่ให้มีการทุจริตคอร์รัปชัน

Advertisement

ป.ป.ช. เปิด 6 ช่องทาง แจ้งเบาะแสทุจริต

People Unity News : 25 พฤษภาคม 2566 ป.ป.ช. เปิด 6 ช่องทางการร้องเรียนแจ้งเบาะแสทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับ เผยสถิติ 6 เดือนที่ผ่านมา รับเรื่องการตรวจรับคำกล่าวหามาแล้วกว่า 4,000 เรื่อง

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ระบุว่า จากสถิติคำกล่าวหาที่ร้องเรียนมายัง สำนักงาน ป.ป.ช. ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 รอบ 6 เดือน (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 – 29 มีนาคม 2566) จำนวน 4,099 เรื่อง  เป็นเรื่องที่ดำเนินการตรวจรับคำกล่าวหาแล้วเสร็จ จำนวน 3,486 เรื่อง (ร้อยละ 85.05), อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 613 เรื่อง (ร้อยละ 14.95) โดยจำแนกตามประเภทคำกล่าวหาพบว่า ร้อยละ 50.30 เป็นคำกล่าวหาประเภทหนังสือร้องเรียน จำนวน 2,062 เรื่อง รองลงมาเป็นคำกล่าวหาประเภทหนังสือราชการ จำนวน 931 เรื่อง (ร้อยละ 22.7) และบัตรสนเท่ห์ จำนวน 832 เรื่อง (ร้อยละ 20.30) ส่วนคำกล่าวหาอื่นๆ ที่มีจำนวนรองลงมา คือ ร้องเรียนผ่านเว็บไซต์ การแจ้งเบาะแสผ่านสื่อสังคมออนไลน์  การร้องเรียนด้วยตนเองที่สำนักงาน ป.ป.ช. ทั่วประเทศ  เรื่องที่มีเหตุอันควรสงสัยที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หยิบยกขึ้นมาพิจารณา และคำกล่าวหาที่ไม่ปรากฏชื่อและตำแหน่งของผู้ร้อง

สำนักงาน ป.ป.ช. ยังขอความร่วมมือภาคประชาชนในการร่วมเป็นพลังในการต่อต้านการทุจริต หากพบเห็นเจ้าพนักงานของรัฐกระทำการทุจริต ขอให้แจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนมายังสำนักงาน ป.ป.ช. ผ่าน 6 ช่องทาง ได้แก่

1.เป็นหนังสือร้องเรียน ส่งถึง “เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.” สำนักงาน ป.ป.ช. เลขที่ 361 ถ.นนทบุรี ต.ท่าทราย อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี 11000 หรือ ส่งที่ สำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนภูมิภาค

2.ร้องเรียนด้วยตนเอง ต่อสำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลาง หรือสำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนภูมิภาค โดยพนักงานเจ้าหน้าที่จะทำการบันทึกคำกล่าวหาไว้เป็นพยานหลักฐาน

3.แจ้งเบาะแส/ร้องเรียนผ่านเว็บไซต์สำนักงาน ป.ป.ช. www.nacc.go.th โดยเลือกคลิกที่หัวข้อ “ศูนย์ร้องเรียน” จากนั้นไปที่หัวข้อ “ร้องเรียน Online”

4.ร้องเรียนหรือขอคำแนะนำทางโทรศัพท์ ผ่านหมายเลขโทรศัพท์ 1205 หรือโทรติดต่อสำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนภูมิภาค

5.ร้องเรียนผ่านเครือข่ายเฝ้าระวัง www.nacc.go.th/we

และช่องทางที่ 6.กล่องรับเรื่องร้องเรียน ที่สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด

นายนิวัติไชย ย้ำว่าประชาชนทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตได้ โดยร่วมกัน จับตา สอดส่อง ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดแนวร่วมต้านทุจริตคอร์รัปชันในภาคประชาชนอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น โดยสำนักงาน ป.ป.ช. จะตรวจสอบเรื่องกล่าวหาร้องเรียนการทุจริตต่างๆ และดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายต่อไป รักษาผลประโยชน์ของประเทศไม่ให้ตกไปเป็นของบุคคลใดโดยมิชอบ

Advertisement

นายกฯ กำชับดูแลรถรับส่งนักเรียนปฏิบัติตามกฎหมายเคร่งครัด

People Unity News : 21 พฤษภาคม 2566 โฆษกรัฐบาล เผยนายกฯ ห่วงใยความปลอดภัยนักเรียนเดินทางช่วงเปิดเทอม กำชับโรงเรียน สถานศึกษา กรมการขนส่งทางบก กำกับดูแลรถที่ให้บริการรับส่งนักเรียน ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยความปลอดภัยของนักเรียนในช่วงเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566 ภายหลังกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้นกับรถรับส่งนักเรียน ในช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ปี 2563-2565 เกิดอุบัติเหตุทั้งสิ้น 27 ครั้ง บาดเจ็บและต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 485 ราย เสียชีวิต 2 ราย โดยนายกรัฐมนตรีกำชับให้โรงเรียน สถานศึกษา กรมการขนส่งทางบก กำกับดูแลรถที่ให้บริการรับส่งนักเรียน ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถรับส่งนักเรียน

นายอนุชา กล่าวต่อไปว่า กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ได้กำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียน โดยอนุญาตให้นำรถที่จดทะเบียนเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน แต่ไม่เกิน 12 คน ทั้งรถสองแถวและรถตู้ มาใช้เป็นรถรับส่งนักเรียนได้ โดยต้องมีการรับรองการใช้รถดังกล่าวจากโรงเรียนหรือสถานศึกษา ซึ่งต้องได้มาตรฐานตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด อาทิ ห้ามติดฟิล์มกรองแสงที่กระจกรอบคัน ที่นั่งผู้โดยสารต้องยึดแน่นอย่างมั่นคงแข็งแรง และต้องไม่มีพื้นที่สำหรับนักเรียนยืนในห้องโดยสารเด็ดขาด กรณีเป็นรถสองแถว ต้องมีประตูและที่กั้นป้องกันนักเรียนตก ส่วนรถตู้ต้องจัดวางที่นั่งเป็นแถวตอนตามความกว้างของตัวรถเท่านั้น โดยต้องนำรถเข้าตรวจสอบ ณ สำนักงานขนส่งจังหวัดที่โรงเรียนหรือสถานศึกษาตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ ซึ่งจะได้รับอนุญาตเป็นครั้งคราว คือ ครั้งละ 1 ภาคการศึกษาเท่านั้น

นอกจากนี้ รถรับส่งนักเรียนทุกคันที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก ต้องติดแผ่นป้ายพื้นสีส้ม มีข้อความตัวอักษรสีดำว่า “รถโรงเรียน” ติดอยู่ด้านหน้าและด้านท้ายของรถให้เห็นชัดเจน มีไฟสัญญาณสีเหลืองอำพันหรือสีแดงเปิดปิดเป็นระยะติดไว้ที่ด้านหน้าและด้านท้ายของรถ เพื่อให้รถคันอื่นมองเห็นได้อย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน พร้อมมีอุปกรณ์ส่วนควบตามที่กำหนด ต้องมีเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นกรณีฉุกเฉิน เช่น เครื่องดับเพลิง ค้อนทุบกระจก วัสดุภายในรถส่วนของผู้โดยสารต้องไม่มีส่วนแหลมคม ทางประตูทางขึ้นลงหรือเป็นช่องเปิดต้องมีความปลอดภัย ห้ามมีที่ยืนบนรถ โครงสร้างหลังคามั่นคงแข็งแรง และที่สำคัญผู้ขับรถโรงเรียนต้องได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ หรือเป็นผู้ขับรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ซึ่งต้องไม่เคยมีประวัติเสียหายอันเกิดจากการขับรถมาก่อน รวมถึงต้องมีผู้ควบคุมดูแลนักเรียน ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ประจำอยู่ในรถตลอดเวลาที่ใช้รับส่งนักเรียน เพื่อดูแลความปลอดภัยให้นักเรียนตลอดการรับส่ง หากพบการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด สั่งเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้ใช้รถทันที และไม่สามารถขออนุญาตได้อีก จนกว่าจะพ้น 1 ปีไปแล้ว

“นายกฯ เป็นห่วงความปลอดภัยของนักเรียนที่โดยสารรถรับส่งนักเรียน กำชับให้กรมการขนส่งทางบก สำนักงานขนส่งจังหวัดทั่วประเทศ ประสานความร่วมมือกับสถานศึกษาในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำกับดูแลรถโรงเรียนและรถรับส่งนักเรียนร่วมกันอย่างเข้มงวด คุมเข้มมาตรการควบคุมดูแลคนขับรถและสภาพรถ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุให้ได้มากที่สุด รวมทั้งขอให้พ่อแม่ผู้ปกครองที่ให้บุตรหลานขึ้นรถรับส่งนักเรียน ช่วยกันสังเกตตรวจดูรถทุกคันว่าได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ หากพบไม่ได้มาตรฐานให้แจ้งกับทางโรงเรียน หรือกรมการขนส่งทางบก เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น

ทั้งนี้ นอกจากการตรวจสอบความปลอดภัยของตัวรถและพนักงานขับรถแล้ว ขอเน้นย้ำให้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 สำหรับรถรับส่งนักเรียนอย่างต่อเนื่อง พนักงานขับรถ ผู้ควบคุมนักเรียน และนักเรียน ควรสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดการเดินทาง จัดให้มีแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือไว้ประจำรถ ทำความสะอาดรถรับส่งนักเรียนก่อนและหลังการให้บริการ โดยเฉพาะจุดที่มีการสัมผัสบ่อย ๆ เช่น ราวจับ ที่เปิดประตู เบาะนั่ง ที่วางแขน เป็นต้น เปิดหน้าต่างและประตูเพื่อถ่ายเทระบายอากาศภายในตัวรถ เพื่อความปลอดภัยและความมั่นใจในการใช้บริการรถรับส่งนักเรียนของนักเรียนและผู้ปกครอง” นายอนุชา กล่าว

Advertisement

รับทราบการพัฒนาพื้นที่เก็บกักน้ำทดแทนบึงเสือดำ

People Unity News : 16 พฤษภาคม 2566 “ทิพานัน” เผย ครม. รับทราบแนวทางการพัฒนาพื้นที่เก็บกักน้ำทดแทนบึงเสือดำ ในพื้นที่บริเวณสถานีแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มักกะสัน

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบแนวทางการพัฒนาพื้นที่เก็บกักน้ำทดแทนบึงเสือดำในพื้นที่บริเวณสถานีแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มักกะสัน (พื้นที่ TOD มักกะสัน) เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบิน (มักกะสัน) ตามที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เสนอ โดยเป็นไปตามหลักการให้ปรับปรุงความจุของบึงข้างโรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากร จากเดิม 12,800 ลูกบาศก์เมตร เพิ่มอีก 17,250 ลูกบาศก์เมตร รวมทั้งสิ้น 30,050 ลูกบาศก์เมตร

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า การดำเนินงานเพื่อพัฒนาพื้นที่เก็บกักน้ำทดแทนบึงเสือดำจะขุดเพิ่มความลึกของบึงให้สามารถรองรับความจุน้ำที่เพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนพื้นที่กักเก็บน้ำของบึงเสือดำ และพัฒนาระบบระบายน้ำเพิ่มเติมในพื้นที่ของ รฟท. เพื่อเพิ่มปริมาตรกักเก็บน้ำของบึงของโรงพยาบาลฯ และระบบระบายน้ำเพิ่มเติม การขุดลอกคลองและการก่อสร้างแนวคลองระบายน้ำใหม่เชื่อมบึงมักกะสัน ขนาด 3.50×4.00 เมตร ความยาวประมาณ 250 เมตร ซึ่งทำให้มีปริมาตรกักเก็บน้ำและระบบระบายน้ำไม่น้อยกว่าเดิม ทั้งนี้ ในการปรับปรุงความจุของบึงข้างโรงพยาบาลฯ เอกชนคู่สัญญาจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และ กทม. จะเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อขยายความจุของบึงข้างโรงพยาบาลฯ โดยไม่กระทบต่องบฯ และเงินร่วมลงทุนของรัฐ

“นอกจากนี้การดำเนินการดังกล่าวจะเป็นไปตามความเห็นของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ที่คำนึงถึงความมั่นคงของลาดตลิ่ง และการบริหารจัดการน้ำเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการระบายน้ำของบึงในอนาคต และขอให้ รฟท. ประสานการดำเนินงานร่วมกับ กทม. อย่างใกล้ชิด เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์ของการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว” น.ส.ทิพานัน กล่าว

Advertisement

นายกฯ ห่วงสถานการณ์โควิด แม้องค์การอนามัยโลกยุติภาวะฉุกเฉิน

People Unity News : 8 พฤษภาคม 2566 โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ติดตามสถานการณ์โควิด– 19 ต่อเนื่อง ห่วงใยประชาชนทุกกลุ่ม แม้องค์การอนามัยโลกได้ประกาศยุติภาวะฉุกเฉินแล้ว แต่ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกรับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพิ่มภูมิคุ้มกันเพื่อร่วมกันดูแลกลุ่มเปราะบาง

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยประชาชนต่อกรณีโควิด – 19 ที่แม้องค์การอนามัยโลกได้ประกาศยุติภาวะฉุกเฉินในวิกฤตโควิด-19 ไปเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2566 แต่ยังไม่ได้ประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่น ยังแนะนำให้ประชาชนระมัดระวังการปฏิบัติตัวและรับวัคซีนป้องกันเพิ่มภูมิคุ้มกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบางตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากข้อมูลศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า มีข้อมูลที่ผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลก ดร.ไมค์ ไรอัน กรรมการบริหารโครงการฉุกเฉินด้านสุขภาพขององค์การอนามัยโลก และ ดร.มาเรีย ฟาน เคอร์โคฟ หัวหน้าด้านเทคนิคสำหรับการตอบสนองของโควิด-19 ประจำองค์การอนามัยโลก ชี้แจงภายหลังองค์การอนามัยโลกได้ประกาศยุติภาวะฉุกเฉินในวิกฤตโควิด-19 ไปเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2566 โดยอธิบายไว้ ดังนี้

1.ยังไม่สามารถกำจัดไวรัสโคโรนา 2019 ให้หมดไปจากโลก (eradication) หรือหมดไปจากท้องถิ่น (elimination) ได้เพราะโคโรนา 2019 สามารถติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน และจากคนกลับสู่สัตว์ (zoonotic infection) จึงยากมากที่จะกำจัดไวรัสที่แพร่ระบาดในสัตว์และข้ามไปมาในคน

2.องค์การอนามัยโลกยังถือว่าโควิด-19 ระบาดทั่วโลก (Pandemic) ยังไม่ใช่โรคประจำถิ่น (Endemic)

3.การระบาดของโควิด-19 ยังไม่ใช่โรคที่ระบาดตามฤดูกาล (Seasonal infectious disease) เหมือนไข้หวัดใหญ่ เพราะองค์การอนามัยโลกยังไม่พบรูปแบบการระบาดในแต่ละช่วงของปี ดังนั้น หากไวรัสโคโรนา 2019 กลายพันธุ์เมื่อใด ก็สามารถเกิดการระบาดได้เมื่อนั้นในทุกช่วงของปี

4.องค์การอนามัยโลกยังไม่มีข้อมูลพอเพียงในขณะนี้ที่จะกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสม หรือความถี่ห่างในการฉีดวัคซีนและเข็มกระตุ้น แต่ยังคงสนับสนุนให้มีการฉีดวัคซีนในกลุ่มเปราะบางเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเมื่อมีการระบาดของโควิด-19

ทั้งนี้ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯ ระบุว่า องค์การอนามัยโลกประกาศภาวะฉุกเฉินสาธารณสุขโลกเกี่ยวกับโควิด-19 เมื่อเดือนมกราคม 2563 และสิ้นสุดเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2566 จึงถือว่าได้ประกาศภาวะฉุกเฉินสาธารณสุขโลกเป็นระยะเวลาประมาณ 3 ปี

“นายกรัฐมนตรีห่วงใยต่อสถานการณ์โควิด – 19 ติดตามสั่งการ ประเมิน คาดการณ์สถานการณ์ และปรับการทำงาน ให้คำแนะนำ อย่างต่อเนื่อง ด้วยความห่วงใยประชาชน ทั้งนี้ แม้ว่าสถานการณ์ในประเทศไทยและในโลกจะดีขึ้นมากแล้วตามลำดับ แต่รัฐบาลไม่ได้ลดความเข้มข้นของการทำงาน เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบต่อวิถีชีวิต ภาวะเศรษฐกิจน้อยที่สุด เพื่อความสุข และความมั่นคงของประชาชนไทยทุกคน อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีขอให้ประชาชนปฏิบัติตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกเข้ารับวัคซีนเพื่อร่วมกันดูแลกลุ่มเปราะบางในประเทศ” นายอนุชา กล่าว

Advertisement

กสม. ชี้แรงงานทุกกลุ่มต้องเข้าถึงระบบประกันสังคม

People Unity News : 1 พฤษภาคม 2566 กสม. ชี้แรงงานทุกกลุ่มต้องเข้าถึงระบบประกันสังคม และมีมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอและเหมาะสม

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติส่งสาร เนื่องในวันแรงงานสากล ว่าสิทธิแรงงานเป็นหนึ่งในสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงาน เพื่อให้ได้รับสิทธิการเข้าถึงการจ้างงานโดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ สิทธิในการได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม เพียงพอต่อการดำรงชีพ มีคุณภาพชีวิตที่ดี สิทธิที่จะมีหลักประกันสังคมอย่างทั่วถึง ครอบคลุมแรงงานทุกคน ทุกประเภท ทั้งแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ แรงงานภาคบริการ รวมทั้งได้รับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ก่อตั้งสหภาพแรงงานหรือองค์กรของแรงงาน เพื่อให้สามารถเจรจาต่อรองกับนายจ้างและรัฐ จึงเป็นเรื่องที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง

สังคมปัจจุบันได้พัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นำไปสู่การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนในสังคม โดยมีการจ้างงานในรูปแบบใหม่ ๆ เช่น อาชีพรับส่งสินค้าหรืออาหาร (ไรเดอร์) ซึ่งเป็นอาชีพอิสระ และมีข้อถกเถียงกันว่ารูปแบบการจ้างงานเช่นนี้ถือว่าเป็นนิติสัมพันธ์ที่เข้าข่ายเป็นลูกจ้าง-นายจ้างหรือไม่ และแรงงานเหล่านี้ควรได้รับการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิแค่ไหน อย่างไร ซึ่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เห็นว่ารัฐต้องดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่าระบบประกันสังคมจะครอบคลุมแรงงานที่ไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างเพียงพอโดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานอิสระ

เนื่องในวันแรงงานสากล 1 พฤษภาคม ประจำปี 2566 กสม. ขอเน้นย้ำความสำคัญของสิทธิแรงงาน โดยจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคีเครือข่ายด้านแรงงาน ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ ในการขับเคลื่อนให้เกิดการยกระดับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงานให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน และมาตรฐานสากล ส่งเสริมการมีงานทำของแรงงานที่ว่างงาน รวมทั้งผลักดันให้รัฐบาลให้การรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 เพื่อให้แรงงานทุกกลุ่มเข้าถึงระบบประกันสังคมและมีมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอและเหมาะสมต่อไป

Advertisement

 

ชำระหนี้ กยศ.ใช้สิทธิลดหย่อน 2 เดือนสุดท้าย

People Unity News : 26 เมษายน 2566 รัฐบาลเชิญชวนผู้อยู่ระหว่างชำระคืนหนี้ กยศ. ใช้สิทธิตามมาตรการลดหย่อน 2 เดือนสุดท้าย ลดดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 0.01 ลดเงินต้น เบี้ยปรับสำหรับผู้ปิดบัญชีถึง 30 มิ.ย.นี้

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)  ได้มีมาตรการลดหย่อนหนี้ เพื่อช่วยเหลือผู้กู้ยืมที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมาตรการดังกล่าวจะสิ้นในวันที่ 30 มิ.ย.ที่จะถึงนี้แล้ว จึงขอเชิญชวนผู้กู้ยืมกองทุน กยศ. ที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ ใช้สิทธิเพื่อรับประโยชน์จากมาตรการตามกรอบเวลาดังกล่าว

ทั้งนี้ มาตรการลดหย่อนการชำระหนี้ กยศ. ประกอบด้วย การลดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากเดิมร้อยละ 1 ต่อปี เหลือร้อยละ 0.01 ต่อปี สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืนกองทุนและไม่เคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้, ลดเงินต้นร้อยละ 5 สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ไม่เคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้และต้องการปิดบัญชีในคราวเดียว

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า พร้อมกันนี้ มีการลดเบี้ยปรับร้อยละ 100 สำหรับผู้กู้ยืมเงินทุกกลุ่มที่ชำระหนี้ปิดบัญชี โดยแยกเป็น ผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี สามารถชำระได้ที่ธนาคารกรุงไทยและธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยทุกสาขา ส่วนผู้กู้ยืมเงินที่ถูกดำเนินคดีแล้ว ต้องลงทะเบียนขอรับสิทธิและนัดหมายวันที่ประสงค์จะชำระหนี้ปิดบัญชีได้ที่ https://www.studentloan.or.th/promotion เนื่องจากมีขั้นตอนที่ผู้กู้ยืมต้องชำระค่าทนายความและค่าฤชาธรรมเนียมศาลให้เสร็จสิ้นก่อนปิดบัญชี และลดเบี้ยปรับร้อยละ 80 สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีที่ชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้มีสถานะปกติ

“กยศ.ได้ออกมาตรการลดหย่อนเพื่อช่วยเหลือผู้กู้ยืมมาตลอดช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งในวันที่ 30 มิ.ย. 66 มาตรการต่างๆจะสิ้นสุดลง เหลือเวลาตามมาตรการอีกประมาณ 2 เดือน จึงขอเชิญชวนผู้กู้ กยศ. เลือกชำระหนี้เพื่อรับสิทธิตามมาตรการทั้งได้ลดดอกเบี้ย เงินต้น หรือเบี้ยปรับเมื่อดำเนินการตามเงื่อนไข” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

Advertisement

ตรวจสอบสิทธิรักษาพยาบาลเท่าเทียม 7 ขั้นตอน

People Unity News : 19 เมษายน 2566 รัฐบาลมุ่งแก้ไขปัญหาระบบหลักประกันสุขภาพ ผลักดันเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาล แนะคนไทยที่ยังไร้สิทธิ ตรวจสอบสิทธิอย่างเท่าเทียม ด้วย 7 ขั้นตอน

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ปัญหา “คนไทยไร้สิทธิ” เป็นความเลื่อมล้ำที่มีอยู่ในสังคมไทยมาช้านาน ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตเป็นอย่างมาก  เพราะการไม่มีสิทธิสถานะทางทะเบียนทำให้ไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิพลเมืองที่บุคคลคนหนึ่งๆ ควรจะได้รับ โดยเฉพาะระบบหลักประกันสุขภาพ เนื่องจากไม่มีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนราษฎรอย่างถูกต้อง เวลาเจ็บป่วยก็ไม่สามารถเข้าสู่ระบบรักษาได้ รัฐบาลมุ่งแก้ไขให้ปัญหา ให้ความสำคัญต่อระบบหลักประกันสุขภาพ ผลักดันการเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลของคนไทยทุกคนจะต้องได้รับการรักษาพยาบาลตามสิทธิ

น.ส.รัชดา กล่าวว่า สำหรับคนไทยที่ยังไร้สิทธิ์สามารถตรวจสอบสิทธิ์ เพื่อให้ได้สิทธิอย่างเท่าเทียม ด้วย 7 ขั้นตอน ดังนี้ 1. ตรวจสอบสถานะทางทะเบียน  2. รวบรวมเอกสารทางทะเบียน ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้งบัตรประจำตัวประชาชนของบิดามารดา  สูติบัตร  ทะเบียนบ้านที่เคยมีชื่อ  ใบแจ้งการย้ายที่อยู่  เอกสารอื่นๆ ที่ราชการออกให้  กรณีที่ไม่มีเอกสารใด ๆ ที่ใช้อ้างอิงก็สามารถยื่นคำร้องได้ 3. ยื่นคำร้องต่อเจ้าหน้าที่ฯ สำนักทะเบียนอำเภอ หรือ สำนักทะเบียนท้องถิ่น (ที่มีภูมิลำเนาอาศัยอยู่ปัจจุบัน) 4. ตรวจสอบเอกสารส่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารเบื้องต้น  5.เจ้าหน้าที่พิจารณาตรวจสอบหลักฐาน  สอบสวนพยานบุคคล

6.แจ้งผลฯให้ผู้ร้องทราบ และ 7. ถ้าไม่อาจพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติได้จะได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติเป็นบุคคลประเภท 0 (มาตรา 19/2)

“สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง 0-2791-7312-6 กรณีที่มีหมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก แต่ติดทะเบียนบ้านกลางหรือถูกจำหน่ายรายการต้องการใช้สิทธิ์ในการรักษาพยาบาล โทร.สายด่วน สปสช. 1330 สำหรับบุคคลทะเบียนประวัติประเภท 0 มาตรา (19/2) สอบถามสิทธิรักษาพยาบาล ติดต่อ กองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ เบอร์ 02-590-1577 ในวันและเวลาราชการ” นางสาวรัชดา กล่าว

Advertisement

Verified by ExactMetrics