วันที่ 29 เมษายน 2024

“ประยุทธ์” เสนอแนวทางพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย–มาเลเซีย–ไทย

People unity news online : เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2560 เวลาประมาณ 19.20 น. ตามเวลาท้องถิ่น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย (Indonesia – Malaysia – Thailand Growth Triangle : IMT – GT) ณ ห้อง Summit Hall C, PICC กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้น ประเทศสมาชิก IMT-GT ได้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการพัฒนาอนุภูมิภาคนี้ด้วยความมุ่งมั่นเพื่อสร้าง IMT-GT ให้เป็นอนุภูมิภาคที่มีความเชื่อมโยงถึงกันตามแนวระเบียงที่ครอบคลุมทั้งสามพื้นที่อย่างทั่วถึง สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและปัจจัยเอื้ออำนวยให้ IMT-GT มีความเจริญเติบโตก้าวหน้า เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน มีสันติภาพและความมั่นคง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและลดช่องว่างระหว่างกัน นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมต่อความสำเร็จในการขับเคลื่อนแผนระยะห้าปีที่ผ่านมา (แผนที่ 2 ปี 2555-2559)

แต่อย่างไรก็ดีก็ยังมีเรื่องที่ต้องเร่งรัดดำเนินการให้สำเร็จในช่วงแผนห้าปีระยะต่อไปอีกหลายเรื่อง ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าความร่วมมือในระยะยาวจำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่จะเกิดขึ้นในโลกอนาคต ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่าควรให้ความสำคัญกับการเร่งรัดการดำเนินการให้เป็นรูปธรรมใน 4 เรื่อง ที่มีกำหนดระยะเวลาการขับเคลื่อนให้แล้วเสร็จที่ชัดเจน ดังนี้

ประการแรก การพัฒนาด้านความเชื่อมโยงโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ นายกรัฐมนตรีเสนอให้ดำเนินการเชื่อมโยงตามแนวระเบียงต่างๆให้มีความครอบคลุมทั่วถึง ทั้งระเบียงเศรษฐกิจระนอง-ภูเก็ต-ปีนัง- อาเจห์ เร่งพัฒนาความเชื่อมโยงทางทะเลจากแผ่นดินใหญ่ไปยังสุมาตรา ทั้งด้านเรือสินค้าและเรือสำราญ เร่งก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโกลกเชื่อมโยงเศรษฐกิจชายแดนไทย-มาเลเซียด้านตะวันออก และโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ของประเทศไทยในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยมีรถไฟทางคู่มาเลเซีย-ไทยและทางหลวงสตูล-ปะลิส เชื่อมโยงทางตะวันตก ไปยังปีนังและเชื่อมโยงทางทะเลไปยังสุมาตรา

สำหรับการเชื่อมโยงทางอากาศ นายกรัฐมนตรีแนะทุกประเทศพัฒนาท่าอากาศยานใหม่หรือขยายท่าอากาศยานนานาชาติเดิมให้เพียงพอรองรับประชาคมอาเซียนและการเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวระดับโลกสู่ IMT-GT ต่อไป ด้านการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ พัฒนาศูนย์กระจายสินค้าอย่างต่อเนื่องและเป็นเครือข่ายซึ่งกันและกัน พร้อมทั้งพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เป็นโครงข่ายห่วงโซ่คุณค่าเชื่อมโยงข้ามแดน เช่น ระหว่างเขตเศรษฐกิจสงขลา นราธิวาส ปาเสมัส ชูปิงวัลลี ซาบัง บาตัม บินตัน คาริมุน เป็นต้น ด้านการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน และโครงข่ายสารสนเทศและการสื่อสาร ควรเร่งวางยุทธศาสตร์ร่วมเพื่อเป็นฐานรองรับการพัฒนาที่มั่นคงในอนาคต

ประการที่สอง การพัฒนาด้านการอำนวยความสะดวกให้บรรลุความสำเร็จ เพื่อให้การใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และเกิดประโยชน์ต่อภาคธุรกิจและประชาชนอย่างแท้จริง โดยเร่งสร้างความตกลงด้านการขนส่งทางบกข้ามแดนและผ่านแดน ที่มีความเท่าเทียมในทุกวิธีการขนส่ง ทั้งทางถนนและราง ขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ รถบริการนักท่องเที่ยว ทุกฝ่ายควรเร่งรัดด้านการอำนวยความสะดวกให้ก้าวหน้าทุกด้าน เพื่อเสนอต่อการประชุมระดับผู้นำครั้งต่อไป โดยหารือระดับทวิภาคีได้ด้วย

ประการที่สาม การพัฒนาด้านนวัตกรรม และการใช้ความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบเพื่อนำ IMT-GT สู่โลกอนาคต เพื่อเป็นปัจจัยปรับเปลี่ยนในทุกมิติ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ประเทศไทยได้ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับปัจจุบันโดยใช้นโยบาย Thailand 4.0 จุดกระแสการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา การพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่ เทคโนโลยีไอทีและดิจิทัล รวมทั้งสนับสนุนธุรกิจสตาร์ตอัพรูปแบบใหม่ๆ นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าทุกประเทศต่างก็เล็งเห็นโอกาสจากการพัฒนาด้านดิจิทัล จึงควรสนับสนุนให้เกิดการต่อยอดศักยภาพด้านการค้าอิเล็กทรอนิกส์ใน IMT-GT โดยเชื่อมโยงโครงข่ายที่มีศักยภาพ เช่น เขตการค้าเสรีดิจิทัลข้ามแดน ฮาลาล อี-คอมเมอร์ส ไอทีเพื่อความมั่นคง และแลกเปลี่ยนการพัฒนาบุคลากรทุกระดับในการใช้นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ในภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว บริการ และการแปรรูปเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าระดับสูง

ประการสุดท้าย ได้แก่ การพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ผ่านมาทั้งสามประเทศได้ร่วมมือในการพัฒนาเมืองสีเขียวในเมืองต้นแบบในทั้งสามประเทศ ณ เมืองมะละกา บาตัม เมดาน สงขลา และหาดใหญ่ ประเทศไทยเองได้จัดทำและขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการเมืองสีเขียวจังหวัดสงขลาเป็นพื้นที่นำร่อง ซึ่งไทยหวังที่จะเห็นเมืองสีเขียวเติบโตเชื่อมโยงอย่างกว้างขวางใน IMT-GT เพื่อให้ทุกภาคส่วนอยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุก ร่วมกันดูแลสภาพแวดล้อม มีการประหยัดและทดแทนพลังงานที่เหมาะสม พร้อมทั้งมีการถ่ายทอดแนวคิดไปสู่เยาวชนรุ่นหลัง โดยมี SDGs เป็นเป้าหมายสำคัญ

People unity news online : post 30 เมษายน 2560 เวลา 14.10 น.

ภาพประวัติศาสตร์ เที่ยวบินปฐมฤกษ์ Saudia Airlines จากซาอุดีอาระเบีย – กรุงเทพ ในรอบ 32 ปี

People Unity News : ภาพประวัติศาสตร์ เที่ยวบินปฐมฤกษ์ สายการบิน Saudia Airlines จากกรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย – กรุงเทพฯ ในรอบ 32 ปี

1 มี.ค. 2565 เมื่อวาน 28 ก.พ. เที่ยวบินปฐมฤกษ์ SV846 ของสายการบิน Saudia Airlines ได้บินตรงจากเมืองเจดดาห์ – กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในเวลา 18.05 น. โดยเป็นคณะนักท่องเที่ยวชาวซาอุฯ จำนวน 71 คน นับเป็นการเปิดเส้นทางบินครั้งแรกในรอบ 32 ปี และเป็นสัญญาณที่ดีในการเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวชาวซาอุฯ เดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น

รวมถึงเป็นโอกาสต่อยอดในการขยายตลาดนักท่องเที่ยวขนาดใหญ่ เช่น ยุโรปและตะวันออกกลาง โดยไทยจะขยายกลุ่มเป้าหมายเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวคนรุ่นใหม่ กลุ่มนักท่องเที่ยวเดินทางครั้งแรก กลุ่มรักษาพยาบาลและดูแลสุขภาพ กลุ่มครอบครัว ฯลฯ ซึ่งจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวของไทยที่ได้รับความนิยม ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต พัทยา พังงา กระบี่ เกาะสมุย และเชียงใหม่

Advertising

นายกฯ ปลื้มผลสำเร็จ เวทีอาเซียน – อียู

People Unity News : 15 ธันวาคม 2565 บน. 6 ดอนเมือง – “พล.อ.ประยุทธ์” ปลื้มผลสำเร็จเวทีอาเซียน-อียู ชี้หลายภูมิภาคหันมาให้ความสนใจไทยเนื้อหอม ลั่นเมื่อใดประเทศชาติยากลำบากต้องร่วมมือกันสู้ข้าศึก ไม่ใช่คนไทยมาสู้กันเอง โต้อย่าบอกรัฐบาลนี้ไม่ทำอะไร โวเจรจา FTA คืบหน้า ถ้าง่ายคงเสร็จมาหลายรัฐบาลแล้ว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังกลับจากเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรป สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 45 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-สหภาพยุโรป ที่ราชอาณาจักรเบลเยียม ว่า การไปประชุมในครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยเป็นการประชุมครั้งพิเศษ ได้พบปะกับอียู 27 ประเทศในเวลาเดียวกัน นอกจากมีการประชุมตามวาระแล้ว มีโอกาสพบภาคธุรกิจและภาคธุรกิจของอียู ซึ่งต่างพร้อมร่วมมือกับไทย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังหารือถึงปัญหาอุปสรรต่างๆ ซึ่งการเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ต้องเตรียมความพร้อมของเรา บางครั้งการเดินหน้าทางธุรกิจไปได้ยาก จึงต้องพยายามปรับเปลี่ยนพอสมควร แต่เราต้องไม่เสียเปรียบและต้องได้ประโยชน์ต่างตอบแทนเท่าๆกัน ขอให้ช่วยกันติดตามด้วย นอกจากนี้ยังหารือทวิภาคีกับผู้บริหารอียูหลายประเทศที่ต่างให้ความสนใจ ซึ่งวันนี้หลายภูมิภาคกลับมาให้ความสนใจอาเซียน เนื่องจากเราเป็นภูมิภาคที่มีความพร้อม มีความสงบสุข โลกกำลังเปิดกว้างเราต้องเตรียมการอาเซียนให้พร้อม ซึ่งในครั้งนี้ได้ย้ำนโยบายเศรษฐกิจของไทยเจริญเติบโตควบคู่กับความยั่งยืน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า วันนี้เราหวังพึ่งใครฝ่ายเดียวโดยไม่สนับสนุนไม่ร่วมมือก็ไม่สำเร็จ จึงขอให้ทุกคนมีส่วนร่วมโดยให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับความยั่งยืน โดยไม่ผลีผลามว่าจะให้เท่านั้นเท่านี้ เราต้องให้ทั้งปลาและเบ็ดตกปลา ฝากประชาชนด้วย ยืนยันรัฐบาลสนุบสนุนทุกวิถีทางให้ประชาชนอยู่ดีกินดียิ่งขึ้น ถ้าเปิดใจให้กว้างจะเห็นหลายอย่างเกิดขึ้นในประเทศไทย ถ้าเปิดตาให้กว้างจะเห็นว่าหลายอย่างเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นหลายอย่างอาจไม่ทันใจแต่เมื่อถึงเวลาไม่มีอะไรสำเร็จเริ่มได้วันเดียว ตนพยายามทำเต็มที่ให้สำเร็จลงได้

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ยังมีการหารือเกี่ยวกับเรื่องพลังงาน ที่จากการติดตามสถานการณ์ถือว่าดีขึ้น แต่ที่ผ่านมาเราได้เอาเงินส่วนหนึ่งมาชดเชยไว้เป็นจำนวนมากที่จะต้องทำอย่างไรเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนชดเชยในส่วนที่ลดลงและส่วนที่ขาดทุนเนื่องจากใช้เงินกู้มาเติมเต็มในส่วนนี้ทั้งสิ้น ส่วนราคาก๊าซวันนี้มีราคาสูงขึ้นในขณะที่ราคาน้ำมันลดลง ซึ่งมีความเกี่ยวพันกันทั้งคู่ เพราะเป็นแหล่งผลิตพลังงานซึ่งในยุโรปและหลายๆประเทศก็มีความเดือดร้อนทั้งหมดจากราคา 10 กว่าเหรียญก็ขึ้นเป็น 30 เหรียญ 50 เหรียญ 100 เหรียญ ซึ่งมีปัญหามากกว่าประเทศไทยพอสมควรจากอากาศพื้นที่อากาศหนาว แต่ประเทศไทยไม่เคยเจอสภาพนี้เราได้แต่ให้ความเห็นใจ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องก๊าซยังคงมีปัญหาอยู่เยอะเนื่องจากเป็นพลังงานที่จะนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าฉะนั้นไฟฟ้าจะราคาสูงขึ้น แต่รัฐบาลจะพยายามทำให้ค่า FT ต่ำที่สุดซึ่งก็ต้องใช้การหาเงินมาทดแทนไม่มีอะไรที่ได้มาเปล่าๆ จึงขอให้พยายามใช้จ่ายอย่างประหยัดวันนี้พยายามจะปรับเรื่องการจ่ายพลังงานให้ถูกวัตถุประสงค์ เช่น พลังงานสีเขียวจะให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อย ส่วนพลังงานที่มีต้นทุนแพงจะมีไว้สำหรับผู้ที่มีผลประกอบการสูง ถ้าเราร่วมมือกันทุกอย่างจะไปได้จะไม่ทะเลาะเบาะแว้งกันขอให้เสียสละกันบ้าง

“การทำอะไรก็ตามไม่ได้ง่ายมากนัก แต่ถ้าเราร่วมมือกัน ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกันก็ไปได้ หลายคนชื่นชมประเทศไทยแล้วเราภูมิใจกันบ้างหรือไม่ หลายอย่างดีขึ้น โรงแรมเต็ม หากินดีขึ้น แต่เรายังไม่พอใจ ตนจำเป็นต้องเล่าให้ฟังว่าไปต่างประเทศมามันเป็นอย่างไร หลายประเทศไม่มีคนเดินถนนเพราะอากาศหนาว แต่ประเทศไทยไปไหนได้ทั้งวันทั้งคืน ขอให้เข้าใจเมื่อไหร่ที่ประเทศชาติมีความยากลำบากเราต้องร่วมมือกัน เหมือนสมัยโบราณมีข้าศึกมาตีเราต้องร่วมมือต้องสู้กัน ไม่ใช่มาสู้กันเอง ขณะเดียวกันวันนี้โลกใหม่แล้วใม่อย่ามัวขัดแย้งเรื่องไม่เป็นเรื่องคิดเรื่องใหม่ๆ มาร่วมแก้ปัญหาไปด้วยกัน ผมจะโทษใครไม่ได้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกัน เรามุ่งเน้นไปสู่การเจรจาเพื่อนำไปสู่ FTA ซึ่งหลายคนก็พูดว่ารัฐบาลนี้ไม่ให้ความสนใจ FTA เราเจรจามากว่า 10 ปีแล้วที่ไม่มีความก้าวหน้า ซึ่งตนก็ถามว่าทำไมไม่ก้าวหน้าก็เพราะกติกาละเอียดมากจนเราปฏิบัติไม่ได้ แต่วันนี้ได้ไปพูดคุยกันว่าบางอย่างลดระดับลงได้หรือไม่ มันต้องเจรจาแบบนี้ไม่ใช่ว่ารัฐบาลนี้ไม่เคยไปเดินหน้า FTA เลย ตั้งแต่มาเจรจาไป 5 รอบแล้ว ทั้งนี้รอบที่ 6 และมีแนวโน้มที่จะดีขึ้นจนวันนี้สามารถลงนาม PCA เพื่อเดินหน้าไปสู่ FTA ต่อไปในอนาคต ไม่ใช่ใครจะไปพูดอะไรก็ได้ทุกอย่างที่ไปคุยเป็นมติคณะรัฐมนตรีจำไว้ ไม่เช่นนั้นใครพูดกันคนละทางสองทางก็หาทางลงไม่เจอ เราใช้เวลาเดือนหน้าแค่เฉพาะ PCA ใช้เวลาเดินหน้ามาถึง 18 ปี แต่เพิ่งสำเร็จเมื่อเช้านี้ ดังนั้นอย่าพูดว่ารัฐบาลไม่ทำอะไรเลย 18 ปี ไม่เคยเจรจา FTA ถ้ามันง่ายนะคงสำเร็จมาหลายรัฐบาลแล้ว

Advertisement

สื่อไทย-ต่างชาติแห่จองคิวนวดไทย

People Unity News : 16 พฤศจิกายน ศูนย์การประชุมสิริกิติ์ กระทรวงแรงงาน ออกบูธนวดไทยที่ศูนย์การประชุมสิริกิติ์ ชูเป็น Soft Power สื่อทั้งในทั้งนอกแห่จองคิวจำนวนมาก

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเยี่ยมชมบูธของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานกระทรวงแรงงาน ที่จัดบริการนวดแผนไทย คอ บ่า ไหล่ ให้กับสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศในการประชุมเอเปคครั้งนี้  ว่า การนวดแผนไทยถือเป็น Soft Power อย่างหนึ่งที่จะช่วยประชาสัมพันธ์ประเทศ ซึ่งตั้งแต่เริ่มการประชุมตั้งแต่วันที่ 14 -15 พฤศจิกายนเป็นต้นมา มีสื่อลงทะเบียนขอรับบริการนวดแผนไทยจำนวนทั้งสิ้น 700 คนต่อวัน เป็นสื่อต่างชาติถึง 200 คน ซึ่งภายในบูธของกระทรวงแรงงาน มีการเปิดให้สื่อมวลชนลงทะเบียนรับบริการนวด ตั้งแต่ นวด คอ บ่า ไหล่ ตอกเส้นนวดประคบ และดื่มน้ำสมุนไพรด้วย

“คาดหวังว่าบริการนวดนี้จะถูกใจสื่อต่างชาติ และทำให้เกิดการบอกต่อ ขยายเป็นวงกว้างในต่างประเทศ เพราะนอกจากบริการนวดแล้ว ยังรวมไปถึงบริการเครื่องดื่มสมุนไพรที่ช่วยผ่อนคลาย ทั้งนี้ นายกรัฐมตรีมีความตั้งใจจัดการประชุมเอเปค ครั้งนี้ โดยหวังให้คนไทยทุกคนร่วมภาคภูมิใจที่เป็นเจ้าภาพการประชุมฯ ไม่ได้มองเรื่องของมุมมองทางการเมือง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

Advertisement

เตรียมรับคืนวัตถุโบราณจากสหรัฐอีก 3 รายการ

People Unity News : 29 สิงหาคม 65 รัฐบาลโชว์ผลงานติดตามวัตถุโบราณไทยในต่างประเทศ 5 ปี 611 รายการ เตรียมรับคืนจากสหรัฐอีก 3 รายการ

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากความมุ่งมั่นของรัฐบาล และคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ได้ร่วมทำงานอย่างบูรณาการประสานกับส่วนราชการประเทศต่างๆ เพื่อติดตามโบราณวัตถุของไทยฯ ความคืบหน้าล่าสุด กระทรวงวัฒนธรรมรายงานว่า สำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐอเมริกา (Homeland Security Investigations: HSI) ได้เจรจาให้พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งเดนเวอร์  (The Denver Art Museum) เตรียมการส่งคืนโบราณวัตถุกลับไทยโดยเร็ว จำนวน 3 รายการ ได้แก่ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ศิลปะเขมรสมัยก่อนเมืองพระนคร และพระพุทธรูปยืนศิลปะทวารวดี 2 องค์

นางสาวรัชดา กล่าวต่อว่า สำหรับทับหลังปราสาทหนองหงส์และทับหลังจากปราสาทเขาโล้น ที่ได้รับคืนจากพิพิธภัณฑ์ Asean Art ในสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ.2564 ขณะนี้ทับหลังปราสาทหนองหงส์ ได้จัดแสดง ณ ศูนย์ข้อมูลอุทยานประวัติศาสตร์ พนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ และทับหลังปราสาทเขาโล้น จัดแสดงที่ศูนย์ข้อมูลอุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม จังหวัดสระแก้ว และเปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ทั้งสองแห่ง ส่วนการติดตามโบราณวัตถุคืนไทยในลำดับถัดไป ทางคณะกรรมการฯ แจ้งว่ามีจำนวน 2 รายการ คือ 1.พระพุทธรูปประทับเหนือพนัสบดีสมัยทวารวดี จากเมืองโบราณซับจำปา จังหวัดลพบุรี อยู่ในความครอบครองของสถาบันเอเชียโซไซตี้ นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และ 2.ใบเสมาหินสลักภาพพุทธประวัติสมัยทวารวดี จากเมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ ปรากฏข้อมูลใน Collection online ของ The British Museum

“ถือเป็นผลงานที่เป็นรูปธรรมของรัฐบาล ภายใต้การทำงานของคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ซึ่งตลอดระยะเวลา 5 ปีของการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ ได้ประสานความร่วมมือกับรัฐบาลประเทศต่างๆ สามารถติดตามและรับมอบโบราณวัตถุได้รวม 9 ครั้ง จำนวน 611 รายการ สร้างความยินดีแก่คนไทย รวมถึงความเข้าใจแก่บุคคลทั่วไปทั้งในและนอกประเทศถึงคุณค่าของโบราณวัตถุเมื่อได้กลับคืนสู่ประเทศต้นกำเนิด และสืบเนื่องจากการดำเนินการอย่างจริงจังดังกล่าว มีผู้ครอบครองโบราณวัตถุทั้งชาวไทยและต่างชาติ แจ้งความประสงค์ที่จะมอบโบราณวัตถุให้เป็นสมบัติชาติ เช่น ล่าสุดกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้แทนรับมอบครอบพระเศียรทองคำ สมัยล้านนา จากชาวอเมริกัน และนายโยธิน ธาราหิรัญโชติ มอบโบราณวัตถุชิ้นเอกและหนังสือบัญชีโบราณวัตถุ เครื่องปั้นดินเผาสมัยลพบุรีจากแหล่งเตาโบราณในจังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 164 รายการ” นางสาวรัชดา กล่าว

Advertisement

จีนส่งผู้นำทางทหารมากระชับความสัมพันธ์ด้านการทหารกับไทย

People unity news online : เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 เวลา 15.30 น. พลเอก ฝาง เฟิงฮุย ประธานกรมเสนาธิการร่วม คณะกรรมาธิการทหารกลาง สาธารณรัฐประชาชนจีน เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยมีสาระสำคัญของการหารือดังนี้

นายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีที่ได้พบกับประธานกรมเสนาธิการร่วมฯ ในโอกาสเยือนไทยในฐานะแขกของกองทัพไทย เชื่อมั่นว่าทั้งสองประเทศจะมีช่องทางในการเสริมสร้างและพัฒนาความร่วมมือทางทหารระหว่างกัน ทั้งในระดับสูงและกองทัพอย่างดีในอนาคตต่อไป

ประธานกรมเสนาธิการร่วมฯ แสดงความขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ให้เข้าพบ และแสดงความชื่นชมการบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรีที่ทำให้ประเทศไทยเติบโตอย่างมีเสถียรภาพในทุกด้าน พร้อมกล่าวว่าประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง และ นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อ เฉียง ได้ฝากความระลึกถึงมายังนายกรัฐมนตรีด้วย

ทั้งสองฝ่ายยืนยันความสัมพันธ์ใกล้ชิดในทุกมิติมาเป็นเวลานาน ทั้งนี้ความสัมพันธ์ทางการทูตของสองประเทศจะครบรอบ 42 ปีในปีนี้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าปัจจุบันไทยและจีนกำลังเดินหน้าแผนพัฒนาเศรษฐกิจในทิศทางเดียวกันที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและยั่งยืน

ในด้านความสัมพันธ์และความร่วมมือทางทหารนั้น ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่าจีนและไทยมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและพิเศษ มีการแลกเปลี่ยนการเยือนอย่างสม่ำเสมอทั้งในระดับสูง ระดับผู้นำและระดับกองทัพ ความร่วมมือทางทหารระหว่างไทยและจีนมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าความร่วมมือทางการทหารจะพัฒนาต่อไปทุกมิติ ได้แก่ ด้านการศึกษา การแลกเปลี่ยนข่าวกรอง การฝึก การต่อต้านการก่อการร้ายและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

People unity news online : post 31 พฤษภาคม 2560 เวลา 23.23 น.

นายกฯระบุรัฐบาลนี้แก้ปัญหาค้ามนุษย์จริงจัง อันดับไทยจึงดีขึ้น

People unity news online : นายกฯระบุรัฐบาลแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์จริงจัง ดึงอันดับไทยดีขึ้นเมื่อเทียบกับ 10 ปีก่อน ยืนยันเดินหน้าทำงานต่อเนื่อง คุ้มครองความเป็นมนุษย์ให้เสมอภาคเท่าเทียมกัน

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2561 (TIP Report 2018) โดยประเทศไทยได้รับการจัดอันดับดีขึ้นอยู่ที่ Tier 2 จากเดิมอยู่ที่ Tier 2 Watch List เมื่อปีที่แล้ว ว่า

“ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทยมีแนวโน้มแย่ลงและถูกละเลย โดยในปี 2551 อันดับของไทยอยู่ที่ Tier 2 และตกลงมาอยู่ที่ Tier 2 Watch List ในปี 2553 จนถึงปี 2556 และตกลงอีกไปอยู่ที่ Tier 3 ในปี 2557 เมื่อรัฐบาลนี้เข้ามาจึงได้แก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยประกาศให้ปัญหาการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติที่ต้องเร่งแก้ไข ทำให้อันดับของไทยดีขึ้นเป็นลำดับ”

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลและทุกภาคส่วนทำงานกันอย่างหนักแม้จะเป็นเรื่องที่ยาก เพราะมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง จนทำให้สหรัฐฯเห็นถึงความจริงจัง ความพยายาม และความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา ทั้งในด้านการบังคับใช้กฎหมายและการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด การคุ้มครองดูแลผู้เสียหาย และการป้องกันการตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ พร้อมทั้งยืนยันว่าไทยพร้อมประสานความร่วมมือทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างใกล้ชิดต่อไป เพื่อผลักดันให้การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์เกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นในอนาคต

“แม้ไทยมีอันดับดีขึ้นแต่รัฐบาลจะยังคงมุ่งมั่นทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อปกป้องคุ้มครองคนไทยและชาวต่างชาติในไทย ให้เสมอกันด้วยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักมนุษยธรรมที่เรายึดถือตลอดมา” นายกรัฐมนตรี กล่าว

People unity news online : post 2 กรกฎาคม 2561 เวลา 12.50 น.

ประธานาธิบดีเยอรมนี เยือนไทย เป็นครั้งแรกในรอบ 22 ปี 24 – 26 มกราคม

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 23 มกราคม 2567 โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ พร้อมให้การต้อนรับ หารือทวิภาคีประธานาธิบดีเยอรมนี เดินหน้ากระชับความสัมพันธ์สองประเทศ พร้อมผลักดันความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันในทุกมิติ

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมให้การต้อนรับและหารือทวิภาคีกับ ดร. ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ (H.E. Dr. Frank-Walter Steinmeier) ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในห้วงการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล (Official Visit) ระหว่างวันที่ 24 – 26 มกราคม 2567 ตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีจะให้การต้อนรับประธานาธิบดีเยอรมนี ภริยาและคณะอย่างเป็นทางการ วันพฤหัสบดีที่ 25 มกราคม 2567 ณ ทำเนียบรัฐบาล

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีกำหนดพบหารือทวิภาคีกับประธานาธิบดีเยอรมนี พร้อมด้วยรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือแนวทางส่งเสริมความร่วมมือในสาขาที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน พร้อมทั้งร่วมหารือร่วมกับภาคเอกชนของเยอรมนี หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีเยอรมนี จะร่วมแถลงข่าว และภายหลังเสร็จสิ้น นายกรัฐมนตรีจะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่ประธานาธิบดีเยอรมนี และภริยา พร้อมด้วยคณะผู้แทนเยอรมนี

นายชัย กล่าวว่า การเยือนครั้งนี้จะเป็นโอกาสการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับเยอรมนีให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยประธานาธิบดีเยอรมนี พร้อมคณะ จะเดินทางไปศึกษาดูงานในหลายภาคส่วนที่มีศักยภาพของไทย อาทิ โรงงานผลิตรถยนต์และยานยนต์ไฟฟ้า โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำไฮบริด โครงการผลิตข้าวที่ยั่งยืนแบบครบวงจร อุทยานแห่งชาติผาแต้ม และพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย ซึ่งจะสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งในด้านการค้า การลงทุน พลังงาน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอาชีวศึกษา

“นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า การเยือนในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสที่สำคัญของไทยและเยอรมนี ในการเสริมสร้างความเป็นพันธมิตร ขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างกันในทุกมิติให้มีความก้าวหน้า บนพื้นฐานของค่านิยมและผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การยกระดับความสัมพันธ์สู่ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ตลอดจนส่งเสริมภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของไทยในเวทีระหว่างประเทศ” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

สำหรับการเยือนในครั้งนี้ ถือเป็นการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกของประธานาธิบดีฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง และเป็นการเยือนประเทศไทยในระดับประธานาธิบดีของเยอรมนีเป็นครั้งแรกในรอบ 22 ปี นับตั้งแต่การเยือนของประธานาธิบดีโยฮันเนส เรา เมื่อปี 2545 นอกจากนี้การเยือนในครั้งนี้ ยังถือเป็นการต้อนรับผู้นำรัฐจากต่างประเทศอย่างเป็นทางการครั้งแรกของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน

ความสัมพันธ์ทางทหารไทย-รัสเซีย อย่าผลีผลาม!! โดย พูลเดช กรรณิการ์

People unity news online : ผมเคยเสนอแนวความคิดและสนับสนุนให้ คสช. และรัฐบาล ดำเนินนโยบายต่างประเทศกับชาติมหาอำนาจแบบ “balance of power” หรือการถ่วงดุลอำนาจระหว่างชาติมหาอำนาจ โดยผมเสนอตั้งแต่ คสช.เข้ายึดอำนาจการปกครองใหม่ๆ ซึ่งขณะนั้น คสช.กำลังโดนแรงกดดันจากสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรตะวันตกอย่างหนัก

มหาอำนาจที่ผมเสนอให้ คสช. และรัฐบาล เข้าไปกระชับความสัมพันธ์และนำมาถ่วงดุลกับสหรัฐฯและพันธมิตรตะวันตก ก็ไม่ใช่ใคร คือ จีน และรัสเซียนั่นเอง  ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน คสช. ก็ส่งบุคคลสำคัญของ คสช.ไปเยือนจีน และตามมาด้วยการกระชับความสัมพันธ์กับรัสเซีย

จากนโยบายถ่วงดุลดังกล่าว ทำให้สหรัฐฯต้องประเมินไทยใหม่ จากที่เคยอาจคิดว่าไทยเป็นหมูในอวย ไม่มีทางไปไหน ก็คงรู้แล้วว่าไทยไม่ใช่หมู สหรัฐฯจึงเริ่มเปลี่ยนท่าทีแข็งกร้าวที่มีต่อไทยลงเป็นลำดับ

นั่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคที่โอบาม่าเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทว่า ในขณะนี้ทรัมป์ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ดังนั้น จำเป็นที่ไทยจะต้องประเมินและทบทวนนโยบายถ่วงดุลมหาอำนาจสักครั้ง เพราะนโยบายของสหรัฐฯในยุคทรัมป์มีความแตกต่างจากยุคโอบาม่าอย่างมาก รวมทั้งบุคลิกและความคิดของทรัมป์นั้นมีลักษณะ “บ้าดีเดือด” แตกต่างจากโอบาม่าที่สุขุมนุ่มลึกกว่า นอกจากนี้ ทรัมป์เองก็มีปัญหาในการบริหารงานภายในประเทศที่ถูกต่อต้านจากรัฐสภาและประชาชนอเมริกันหลายเรื่อง ทรัมป์จึงต้องเบี่ยงเบนความสนใจจากปัญหาของตนในประเทศออกมา “อาละวาด” นอกประเทศ ดังเช่นที่โจมตีซีเรีย ทิ้งระเบิดอัฟกานิสถาน และจ่อทำสงครามกับเกาหลีเหนือ รวมทั้งยังมีนโยบายด้านต่างๆที่แข็งกร้าวต่อประเทศต่างๆ เช่น นโยบายต่อคนเข้าเมืองสหรัฐฯ นโยบายการขึ้นบัญชีประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯ เป็นต้น

ล่าสุด กับการที่รัฐบาลไทย จะเดินหน้ากระชับความสัมพันธ์กับรัสเซียยิ่งขึ้น โดยจะมีการประชุมอนุกรรมการการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ครั้งที่ 3 ระหว่างไทย-รัสเซีย ในวันที่ 20-21 เมษายน 2560 ที่กรุงเทพฯ โดยการประชุมในครั้งนี้จะเร่งส่งเสริมการค้าการลงทุนและให้มีการจัดกิจกรรมร่วมกัน แลกเปลี่ยนคณะผู้แทนภาคธุรกิจ-ลงทุน ส่งเสริมการลงทุนในสาขาที่รัสเซียและไทยมีประโยชน์ร่วมกัน นอกจากนี้จะมีการหารือเรื่องการลดอุปสรรคด้านการค้าที่ไม่ใช่ภาษี การพัฒนาความร่วมมือด้านต่างๆ ที่เกิดประโยชน์ต่อการขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการท่องเที่ยว พลังงาน วิทยาศาสตร์ SMEs และการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

และที่สำคัญ จะมีความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลรัสเซีย ว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคนิคทางทหาร เพื่อให้มีการสนับสนุนการส่งกำลังบำรุง อาวุธยุทโธปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ด้านการป้องกันประเทศ การซ่อมบำรุง อะไหล่ชิ้นส่วน หน่วยฝึกเครื่องมืออุปกรณ์พิเศษการฝึก ผลิตภัณฑ์ทางทหาร การแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญ

ผมเห็นว่า ในนาทีนี้ รัฐบาลควรจะต้องชะลอความตกลงด้านการทหารกับรัสเซียเอาไว้ระยะหนึ่งก่อน หรือไม่ก็ลดความร่วมมือทางทหารในบางเรื่องลงไปก่อน เช่น ความร่วมมือด้านการฝึกทางทหาร การรบร่วม ส่วนเรื่องการซื้ออาวุธนั้นสามารถทำได้ เราจะซื้อจากใครก็เป็นสิทธิของเรา เพราะท่าทีของทรัมป์ในตอนนี้ “บ้าดีเดือด” จนไม่น่าวางใจ และอาจกลับมาเล่นงานไทยหนักขึ้นอีกครั้ง หากไม่สบอารมณ์กับการกระชับความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างไทย-รัสเซีย ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจในขณะนี้ก็ไม่สู้ดีและตึงเครียด ทั้งจากกรณีซีเรีย และเกาหลีเหนือ

ส่วนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ วิชาการ วัฒนธรรม นั้นเดินหน้ากระชับกันต่อไปได้

ก็ขอเสนอความเห็นไว้ ณ ที่นี้ครับ

บ้านเมืองก็ของเรา : ความสัมพันธ์ทางทหารไทย-รัสเซีย อย่าผลีผลาม!! โดย พูลเดช กรรณิการ์

People unity news online : post 19 เมษายน 2560 เวลา 12.03 น.

ภาพ – ผู้จัดการ

“ปานปรีย์” เตือนเมียนมาอย่ารุกล้ำ หลังกระสุนปืนหนักข้ามมาฝั่งไทย

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 21 เมษายน 2567 “ปานปรีย์” เตือนเมียนมาอย่ารุกล้ำ หลังกระสุนปืนหนักข้ามมาฝั่งไทย เผย คกก. ติดตามสถานการณ์พรุ่งนี้ (22 เม.ย.) ก่อนนายกฯ บินแม่สอด

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงสถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งมีผู้อพยพหนีภัยสงครามมายังแม่สอดเป็นจำนวนมากว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาข้ามมาฝั่งไทย ก่อนหน้านี้เราเคยมีกรณีผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาข้ามฝั่งมาไทย จำนวน 10,000 คน พอเหตุการณ์สงบ ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาก็ข้ามฝั่งกลับไป

นายปานปรีย์ กล่าวต่อว่า กรณีดังกล่าวก็เช่นเดียวกัน คาดว่า หากเหตุการณ์ในเมียนมาเริ่มสงบ ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาที่ข้ามมาฝั่งไทยก็จะทยอยกลับไป ซึ่งตอนนี้ได้รับรายงานว่า มีผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาข้ามมาฝั่งไทย จำนวน 3,000 คน ซึ่งในจำนวน 3,000 คนนี้ อยู่ในการดูแลของกระทรวงมหาดไทย

ส่วนกรณีที่มีกระสุนปืนหนักตกมายังบริเวณกลางแม่น้ำเมย ใกล้กับฝั่งประเทศไทย จนส่งผลให้เกิดกลุ่มควัน และมีกระสุนปืนจากฝั่งเมียนมายิงเข้ามายังฝั่งไทย กระสุนถูกยิงทะลุหน้าต่างมุ้งลวดบ้านหลังหนึ่ง ในพื้นที่บ้านวังตะเคียนใต้ หมู่ 7 ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด ทั้งสองกรณีนี้จะมีการตักเตือนทางการเมียนมา หรือป้องกันอย่างไร นายปานปรีย์ ตอบว่า เป็นกระสุนจากฝั่งเมียนมา หลุดมาทางฝั่งไทย แต่ก็ไม่ได้สร้างความเสียหาย และไม่ได้รับรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ และเราได้ทำการเตือนทางฝั่งเมียนมาว่า ให้ระมัดระวัง เราไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์รุกล้ำข้ามเขตแดน ไม่ว่าจะทางบก หรือทางอากาศ รวมถึงการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ อย่าให้เข้ามาในประเทศไทย รวมถึงห้ามให้ประชาชนไทยได้รับอันตราย

สำหรับความคืบหน้าหลังจากนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ตั้งคณะกรรมการติดตามสถานการณ์เมียนมา มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง นายปานปรีย์ กล่าวว่า จะประชุมติดตามความคืบหน้า ในวันพรุ่งนี้ (22 เม.ย.) ก่อนที่นายกฯ จะบินไป อ.แม่สอด จ.ตาก คงจะได้คำตอบ และข้อสรุปในวันพรุ่งนี้ ว่ามีความคืบหน้าอย่างไร

เมื่อถามถึงความพร้อมในการเป็น Peace broker นายปานปรีย์ กล่าวว่า เบื้องต้นเราได้เรียกร้องผ่านทางอาเซียน กดดันให้ทางเมียนมากลับสู่ความสงบโดยเร็ว ส่วนเรื่องของการที่ไทยจะเป็นตัวกลางในการเจรจานั้น ตอนนี้กำลังเร่งทำงานกันอยู่ เพราะยังไม่ทราบว่าต้องเจรจาผ่านกลุ่มใด และการสู้รบยังเกิดขึ้นตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ก็มีการพูดคุยในระดับหนึ่ง

Advertisement

Verified by ExactMetrics