วันที่ 15 กรกฎาคม 2025

ไทย–กัมพูชา บรรลุข้อตกลงจ้างแรงงาน ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

People Unity News : 5 พฤษภาคม 2566 โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ยินดี ไทย – กัมพูชา บรรลุข้อตกลงการจ้างแรงงาน ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ พร้อมแก้ไขปัญหาแรงงานและการค้ามนุษย์

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบความคืบหน้าประเด็นการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยการจ้างแรงงานระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ณ โรงแรมอังกอร์พาราไดซ์ จังหวัดเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา เมื่อวันที่ 19 – 21 เมษายน 2566 เชื่อมั่นจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ แก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน รวมถึงการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานอีกด้วย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้เข้าร่วมการประชุมระดับวิชาการกัมพูชา – ไทย ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยเรื่องการจ้างแรงงานระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา โดยมีผลประชุมที่สำคัญ ดังนี้

การออกเอกสารประจำตัวให้แก่แรงงานกัมพูชาในประเทศไทย แรงงานกัมพูชาสามารถเดินทางไปทำเอกสารเดินทาง (TD) ณ ศูนย์ One Stop Services ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงพนมเปญ พระตะบอง และบันเตียเมียนเจย

กรณีแรงงานกัมพูชาไม่มีเอกสารเดินทาง สามารถขอเอกสารข้ามแดนได้ที่สถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำราชอาณาจักรไทยเพื่อเดินทางไปกัมพูชาและขอบัตรแรงงานกัมพูชาในต่างแดน (Overseas Cambodia Worker Card : OCWC) และเอกสารเดินทาง (TD) ณ ศูนย์ One Stop Services โดยฝ่ายไทยจะแจ้งข้อมูลของแรงงานกัมพูชาที่จำเป็นต้องจัดทำเอกสาร เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการตรวจสอบและยืนยันข้อมูล เพื่อพิจารณาออกเอกสารเดินทาง (TD) ฉบับใหม่

การปรับปรุงแก้ไขบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงาน (Agreement) ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันเรื่องการตรวจสุขภาพในประเทศต้นทาง ต้องกำหนดโดยหน่วยงานที่มีอำนาจของประเทศผู้รับ โดยแรงงานจะต้องตรวจสุขภาพจากประเทศต้นทางก่อนเดินทางเข้ามาในประเทศไทย

“นายกรัฐมนตรีรับทราบ และขอบคุณการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง จนสามารถลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยเรื่องการจ้างแรงงานจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อการจ้างแรงงานที่มีประสิทธิภาพได้สำเร็จ เชื่อมั่นว่าจะเป็นการอำนวยความสะดวก ลดขั้นตอนแก่แรงงานกัมพูชาที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยให้เข้าสู่ระบบการจ้างงานที่ถูกต้อง ได้รับการดูแลคุ้มครองตามมาตรฐานสากล จะเป็นการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของนายจ้าง และผู้ประกอบการ รวมไปถึงแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน รวมถึงจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ” นายอนุชา กล่าว

Advertisement

 

ไทยย้ำจุดยืนช่วยเหลือตัวประกันในกาซา

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 20 มิถุนายน 2567 ทำเนียบ – “รัดเกล้า” เผย ถ้อยแถลงร่วมเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวประกันในกาซา เพิ่มชื่อประเทศที่ร่วมสนับสนุนรวมเป็นจำนวน 18 ประเทศ

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 ครม. ได้มีมติเห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวประกันในกาซา (Joint Statement Calling for the Release of the Hostages Held in Gaza) ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวประกันทุกคนที่เหลืออยู่ในกาซาซึ่งถูกควบคุมตัวมาแล้ว 200 วัน การอำนวยความสะดวกในการส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่จำเป็นเพิ่มเติมในกาซาอย่างทั่วถึง และการสนับสนุนความพยายามในการไกล่เกลี่ยที่ดำเนินอยู่เพื่อนำพลเมืองกลับสู่มาตุภูมิ ตลอดจนนำสันติภาพและเสถียรภาพมาสู่ภูมิภาค โดยกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ได้เผยแพร่ถ้อยแถลงร่วมฯ พร้อมกับประเทศอื่นๆ ที่ร่วมสนับสนุนแล้วเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567

ทั้งนี้ ได้มีการปรับถ้อยคำในส่วนชื่อของถ้อยแถลงร่วมฯ เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าเป็นถ้อยแถลงในระดับผู้นำ และเพิ่มชื่อประเทศที่ร่วมสนับสนุนรวมจำนวน 18 ประเทศ (จากเดิมที่มี 15 ประเทศ) ได้แก่ บราซิล โคลอมเบีย และโปรตุเกส รวมทั้งปรับเพิ่มถ้อยคำในเนื้อหาถ้อยแถลงร่วมฯ ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ได้มีการจับตัวประกันในกาซาเป็นเวลายาวนานกว่า 200 วัน และให้ครอบคลุมถึงความห่วงกังวลของประชาคมระหว่างประเทศเกี่ยวกับความปลอดภัยของพลเรือนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ซึ่งการปรับเปลี่ยนถ้อยแถลงร่วมฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบไว้

กระทรวงการต่างประเทศ ภายใต้การนำของนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แจ้งว่า การสนับสนุนถ้อยแถลงร่วมฯ ร่วมกับผู้นำอีก 17 ประเทศ เป็นการย้ำจุดยืนของประเทศไทยที่ให้ความสำคัญสูงสุดกับการช่วยเหลือตัวประกันในฉนวนกาซา โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวประกันชาวไทย โดยรัฐบาลจะดำเนินการอย่างเต็มที่และทุกวิถีทาง รวมทั้งการดำเนินการร่วมกับมิตรประเทศเพื่อให้มีการปล่อยตัวประกันโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ กต. จะติดตามสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับตัวประกันอย่างใกล้ชิดต่อไป

Advertisment

ไทยโชว์เทคโนโลยีดิจิทัลประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว-สินค้าไทยในงาน World Expo 2020 Dubai

People Unity News : ไทยโชว์ศักยภาพเทคโนโลยีดิจิทัล ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวและสินค้าไทย ในงาน World Expo 2020 Dubai

3 ตุลาคม 2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชื่นชมผลสำเร็จจากการเปิดต้อนรับผู้เข้าชมทั่วโลกอย่างเป็นทางการของอาคารแสดงประเทศไทย (Thailand Pavilion) ที่สร้างขึ้นภายใต้แนวคิด “การขับเคลื่อนสู่อนาคต” (Mobility for the Future) ในงาน World Expo 2020 Dubai ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2564 – 31 มีนาคม 2565

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นโอกาสดีที่ไทยจะได้สร้างความเชื่อมั่นผ่านศักยภาพและความพร้อมด้านเทคโนโลยีดิจิทัล การขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรมผ่านนโยบาย Digital Thailand 4.0 รวมถึงวิสัยทัศน์ในการมุ่งเป็น “ศูนย์กลางดิจิทัลในภูมิภาค” ควบคู่กับการเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การค้า การลงทุน การเดินทาง การขนส่งและจุดหมายการเดินทางของประชาชนทั่วโลก ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะเป็นโอกาสต่อยอดตามนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทย โอกาสนี้นายกรัฐมนตรียังได้ชื่นชมโครงการที่เปิดโอกาสให้ตัวแทนเยาวชนอาสาสมัครไทยมีส่วนร่วมและเป็นตัวแทนประเทศประจำอาคารแสดงประเทศไทย เพื่อให้เยาวชนมีส่วนร่วมกับรัฐบาล “พลิกโฉมประเทศไทย” ให้มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เพื่อวันนี้และวันข้างหน้าสำหรับคนไทยทุกคน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรี มั่นใจว่าการแสดงศักยภาพของไทยในงาน World Expo 2020 Dubai จะสามารถดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติได้ ตลอดจนจะช่วยส่งเสริมและประชาสัมพันธ์แผนการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทย ทั้งที่เริ่มดำเนินการแล้วและกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ได้แก่ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ โครงการสมุยพลัส โครงการส่วนขยายของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ 7+7 และแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่กักตัวระยะที่ 2 ที่จะเริ่มในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ใน 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี เชียงใหม่ เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งคาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ พยุงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง กระจายรายได้สู่ชุมชน และรักษาการจ้างงาน ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศจากสถานการณ์โควิด-19

สำหรับ งาน World Expo ถือเป็น 1 ใน 3 ของงานยิ่งใหญ่ระดับโลก จัดขึ้นทุกๆ 5 ปี ภายใต้การกำกับดูแลขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยงานมหกรรมโลก โดยอาคารแสดงประเทศไทย ประกอบด้วย 3 พื้นที่หลัก ได้แก่ นิทรรศการ บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ แนวทางการพัฒนาประเทศในอนาคต พื้นที่เชิงพาณิชย์ ที่ประกอบไปด้วย ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก และ Showcase Thailand 4.0 การประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวไทย และเวทีการแสดงวัฒนธรรมประเพณีไทย

Advertising

กต. ย้ำไทยใช้กลไกทวิภาคี ยึดประโยชน์ประเทศ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 12 มิถุนายน 2568 โฆษก กต. ย้ำไทยมุ่งมั่นใช้กลไกทวิภาคีแก้ปัญหาความขัดแย้ง วางแนวทาง 3 เรื่องหลักเจรจา JBC ยึดประโยชน์ของประเทศและคนไทยเป็นที่ตั้ง

นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงประจำสัปดาห์ ว่า เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2568 ฝ่ายไทยได้จัดการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (Joint Boundary Commission: JBC) (ฝ่ายไทย) ครั้งที่ 2 (สืบต่อจากการประชุมฯ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2568) เพื่อเตรียมการสำหรับการเข้าร่วมการประชุม JBC ซึ่งรัฐมนตรีฯ ได้แถลงข่าวในเรื่องนี้แล้ว

ก่อนจะมีการประชุมฯ รัฐมนตรีฯ ได้มอบนโยบายในการเจรจา โดยย้ำแนวทาง 3 เรื่องที่จะเป็นหลักการสำหรับทีมงานของฝ่ายไทย ดังนี้

1.การลดความตึงเครียดและทำให้ประชาชนในพื้นที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติ

2.การทำให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้นในเรื่องของเส้นเขตแดน ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

3.การยืนหยัดที่จะปกป้องอธิปไตยของไทย โดยไม่ยอมให้ไทยเสียดินแดนโดยเด็ดขาด

ขอย้ำว่า ฝ่ายไทยมุ่งมั่นที่จะใช้กลไกทวิภาคีในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งซึ่งเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมที่สุด และเป็นที่ยอมรับตามธรรมเนียมปฏิบัติสากลที่เมื่อสองประเทศมีความเห็นไม่ตรงกัน นานาประเทศก็จะสนับสนุนให้ใช้กลไกทวิภาคี และความตกลงที่ทั้งสองประเทศมีอยู่แล้วในการแก้ไขปัญหา เพราะเป็นวิธีหาทางออกระหว่างผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง

โดยกลไกทวิภาคีระหว่างไทยกับกัมพูชาที่มีอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่

1.คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC)

2.คณะกรรมการชายแดนทั่วไป (General Border Committee: GBC) และ

3.คณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (Regional Border Committee: RBC)

ซึ่งไทยจะใช้ทั้ง 3 กลไกนี้ ควบคู่กันไปในการเจรจากับฝ่ายกัมพูชา

นอกจากนี้ ไทยและกัมพูชายังมีความตกลงระหว่างกันคือ บันทึกความเข้าใจ หรือ Memorandum of Understanding (MoU) ปี 2543 ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกซึ่งเป็นสนธิสัญญา ซึ่งหมายความว่า สองฝ่ายได้เจรจาตกลงกันแล้ว จึงมีผลบังคับทางกฎหมายกับทั้งสองฝ่ายที่ต้องปฏิบัติตาม

กลไกคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) เป็นกลไกที่เป็นผลลัพธ์สำคัญของ MOU 2543 ที่ทั้งสองประเทศได้ลงนามร่วมกัน และจะมีการประชุม JBC ในวันที่ 14 มิถุนายน 2568 โดยกลไกดังกล่าว คือ กลไกทวิภาคีหลักในการเจรจาประเด็นทางเทคนิคและข้อกฎหมายด้านเขตแดนกับฝ่ายกัมพูชา เพื่อให้เกิดการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนระหว่างกัน จึงถือได้ว่าเป็นเวทีหารือเรื่องเขตแดนไทยกับกัมพูชาโดยเฉพาะ

ดังนั้น JBC จึงมีองค์ประกอบคณะที่ประกอบไปด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศและความเชี่ยวชาญทางเทคนิคด้านเขตแดน และมีการประชุมมาแล้วทั้งหมด 10 ครั้ง ครั้งล่าสุด จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2555 และจะมีการประชุมครั้งต่อไปในอีก 2 วันข้างหน้านี้ ที่กรุงพนมเปญ ซึ่งปีนี้เป็นโอกาสครบรอบ 25 ปีของ MOU

หนึ่งในข้อกำหนดสำคัญของ MOU 2543 คือ การอำนวยความสะดวกให้การสำรวจตลอดแนวเขตแดนทางบกร่วมกันเป็นไปอย่างมีประสิทธิผล และให้ทั้งสองฝ่ายงดเว้นการดำเนินการใด ๆ ที่มีผลเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของพื้นที่ชายแดน โดยขณะนี้ การดำเนินการของ JBC ภายใต้ MOU ดังกล่าว ยังอยู่ในกระบวนการพิสูจน์ทราบ ซ่อมแซม และจัดทำหลักเขตแดน 73 หลัก และยังมีภารกิจอีกมากรออยู่ข้างหน้า

คณะกรรมาธิการฯ ฝ่ายไทยได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลายหน่วยงานที่มีความรู้ความสามารถอย่างมาก โดยมีนายประศาสน์ ประศาสน์วินิจฉัย เป็นประธาน ซึ่งเป็นอดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ และที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศด้านเขตแดน ขณะที่กรรมธิการทรงคุณวุฒิคนอื่น มีทั้งมาจากกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กองทัพไทย และหน่วยงานด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเข้าร่วมการประชุม JBC ในครั้งนี้ด้วย ในส่วนของกัมพูชา มีประธานคณะกรรมาธิการฯ คือ นายฬำ เจีย (Lam Chea) รัฐมนตรีรับผิดชอบกิจการชายแดน หัวหน้าสำนักงานเลขาธิการกิจการชายแดนแห่งกัมพูชา

สำหรับความตั้งใจของฝ่ายกัมพูชาที่จะใช้กลไกของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ(International Court of Justice: ICJ) ประเทศไทยประกาศไม่ยอมรับเขตอำนาจของ ICJ มาตั้งแต่ปี 2503 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งทั่วโลกมีอีก 118 ประเทศ รวมประเทศไทยอีก 1 ประเทศ เป็น 119 ประเทศ (จากประเทศสมาชิก UN ทั้งหมด 193 ประเทศ) ที่ไม่ยอมรับเขตอำนาจของ ICJ นั่นคือมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศสมาชิก UN ที่ไม่ยอมรับเขตอำนาจของ ICJ จึงขอย้ำว่า ไทยจะยึดมั่นแก้ไขปัญหาผ่านกลไกทวิภาคี ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้ตกลงกันตั้งแต่แรกกับกัมพูชา

คณะผู้แทนไทยที่จะเดินทางไปประชุมกับฝ่ายกัมพูชาครั้งนี้ หรือไม่ว่าจะครั้งไหนหรือกลไกทวิภาคีใด ผู้แทนไทยพร้อมจะปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ด้วยความรู้ความสามารถที่มีอยู่

กระทรวงการต่างประเทศยืนยันในหลักการการทำงานอย่างเป็นมืออาชีพ และยึดผลประโยชน์ของประเทศและคนไทยเป็นที่ตั้ง โดยจะรายงานความคืบหน้าและผลการประชุม JBC ให้ทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องและเพื่อเป็นโอกาสไขข้อสงสัยเกี่ยวกับกระแสข่าวต่าง ๆ ที่เผยแพร่อย่างกว้างขวางในโซเซียลมีเดียในขณะนี้ เพื่อให้ช่วยกันเผยแพร่ให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องต่อไป

Advertisement

“แพทองธาร” ขอบคุณออสเตรเลียดูแลคนไทยกว่า 100,000 คน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 12 ตุลาคม 2567 แพทองธาร ขอบคุณออสเตรเลียดูแลคนไทยกว่า 100,000 คน โดยนายกรัฐมนตรีเครือรัฐออสเตรเลีย ปลื้ม “หมูเด้ง” ช่วยสร้างความโดดเด่นให้กับการท่องเที่ยว ชื่นชม พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมของไทย

วานนี้ (11 ตุลาคม 2567) เวลา 12.15 น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับนายแอนโทนี อัลบาเนซี  (The Honourable Anthony Albanese MP) นายกรัฐมนตรีเครือรัฐออสเตรเลีย ปลื้ม “หมูเด้ง”  ช่วยสร้างความโดดเด่นให้กับการท่องเที่ยว ชื่นชมไทยมี พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ขณะที่นายกรัฐมนตรีขอบคุณที่ดูแลคนไทยกว่า 100,000 คน รวมถึงนักเรียนกว่า 25,000 คน ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการศึกษาในทุกระดับ

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยประเด็นการหารือ ดังนี้  ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ไทยจะสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ตามแนวทางการทูตทางเศรษฐกิจเชิงรุกของไทยและยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลีย 2583 เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนสองทาง รวมทั้งยังให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะการปราบปรามยาเสพติด และความปลอดภัยของมนุษย์

ไทย-ออสเตรเลีย สนใจแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการเกษตรระหว่างกัน รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านอาหาร อาหารทางเลือกและฮาลาล เพื่อเจาะตลาดใหม่ๆ

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีขอบคุณการสนับสนุนของออสเตรเลียในการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย พร้อมอวยพรนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียให้ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้าด้วย

Advertisement

รัสเซียยินดีผลักดันการจัดทำ FTA ไทยกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย

People Unity : ไทยและรัสเซียยินดีผลักดันการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทยกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 เวลา 15.00 น. ณ ห้องรับรองรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ชั้น 1 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายเยฟเกนี โตมีฮิน เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในโอกาสเข้ารับหน้าที่ สรุปสาระสำคัญการหารือ ดังนี้

รองนายกรัฐมนตรียินดีที่ได้พบเอกอัครราชทูตฯ ชื่นชมบทบาทของเอกอัครราชทูตฯตั้งแต่เข้ารับหน้าที่ ซึ่งได้กระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทยกับรัสเซียเป็นอย่างดี มีการเยือนระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยหวังว่าไทยจะได้มีโอกาสต้อนรับผู้แทนระดับสูงของรัสเซียในปีนี้

เอกอัครราชทูตฯชื่นชมรองนายกรัฐมนตรีที่เป็นบุคคลสำคัญในรัฐบาล รับผิดชอบต่อนโยบายของไทยในหลายด้าน และยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ความสัมพันธ์ไทย-รัสเซียมีพลวัตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ รัสเซียในฐานะที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี และมีทรัพยากรด้านพลังงาน เชื่อว่ายังมีช่องทางที่เป็นโอกาสอีกหลากหลายในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ โดยพร้อมส่งเสริมกลไกที่ให้ผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

ทั้งสองฝ่ายยินดีที่มีมูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น โดยทั้งสองฝ่ายมุ่งหวังว่าจะร่วมมือผลักดันให้การค้าขยายตัวเพิ่มมากขึ้นตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ต่อไป ฝ่ายรัสเซียยืนยันว่าพร้อมผลักดันการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทยกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย โดยฝ่ายไทยขอบคุณที่รัสเซียนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้ากลุ่มเกษตรกรรม และขอบคุณที่รัสเซียดูแลนักลงทุนไทยเป็นอย่างดี ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีขอให้ฝ่ายรัสเซียพิจารณาเพิ่มการลงทุนในไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC และสนับสนุนความร่วมมือผ่านอุตสาหกรรม S-Curves ในสาขาต่างๆที่รัสเซียเชี่ยวชาญ ทั้งนี้ ยินดีจัดการหารือระหว่างรัสเซียและฝ่ายไทยที่เกี่ยวข้องเพื่อหาช่องทางลดข้อจำกัด เพื่อเพิ่มการลงทุนระหว่างกัน

ในโอกาสนี้ ฝ่ายรัสเซียได้ชื่นชมไทยด้านการจัดการท่องเที่ยวโดยมีชาวรัสเซียที่เดินทางมาเที่ยวไทยจำนวนมาก จึงขอให้ไทยพิจารณาสนับสนุนการเงินสกุลท้องถิ่นเพื่อเป็นส่วนในการส่งเสริมการท่องเที่ยว และขอให้ไทยพิจารณาความร่วมมือระหว่างระดับจังหวัดของไทยกับภูมิภาคของรัสเซียเป็นอีกช่องทางความร่วมมือด้วย

ความสัมพันธ์ต่างประเทศ : รัสเซียยินดีผลักดันการจัดทำ FTA ไทยกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย

People Unity : post 21 สิงหาคม 2562 เวลา 11.30 น.

ประธานาธิบดีเยอรมนี เยือนไทย เป็นครั้งแรกในรอบ 22 ปี 24 – 26 มกราคม

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 23 มกราคม 2567 โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ พร้อมให้การต้อนรับ หารือทวิภาคีประธานาธิบดีเยอรมนี เดินหน้ากระชับความสัมพันธ์สองประเทศ พร้อมผลักดันความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันในทุกมิติ

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมให้การต้อนรับและหารือทวิภาคีกับ ดร. ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ (H.E. Dr. Frank-Walter Steinmeier) ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในห้วงการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล (Official Visit) ระหว่างวันที่ 24 – 26 มกราคม 2567 ตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีจะให้การต้อนรับประธานาธิบดีเยอรมนี ภริยาและคณะอย่างเป็นทางการ วันพฤหัสบดีที่ 25 มกราคม 2567 ณ ทำเนียบรัฐบาล

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีกำหนดพบหารือทวิภาคีกับประธานาธิบดีเยอรมนี พร้อมด้วยรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือแนวทางส่งเสริมความร่วมมือในสาขาที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน พร้อมทั้งร่วมหารือร่วมกับภาคเอกชนของเยอรมนี หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีเยอรมนี จะร่วมแถลงข่าว และภายหลังเสร็จสิ้น นายกรัฐมนตรีจะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่ประธานาธิบดีเยอรมนี และภริยา พร้อมด้วยคณะผู้แทนเยอรมนี

นายชัย กล่าวว่า การเยือนครั้งนี้จะเป็นโอกาสการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับเยอรมนีให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยประธานาธิบดีเยอรมนี พร้อมคณะ จะเดินทางไปศึกษาดูงานในหลายภาคส่วนที่มีศักยภาพของไทย อาทิ โรงงานผลิตรถยนต์และยานยนต์ไฟฟ้า โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำไฮบริด โครงการผลิตข้าวที่ยั่งยืนแบบครบวงจร อุทยานแห่งชาติผาแต้ม และพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย ซึ่งจะสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งในด้านการค้า การลงทุน พลังงาน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอาชีวศึกษา

“นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า การเยือนในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสที่สำคัญของไทยและเยอรมนี ในการเสริมสร้างความเป็นพันธมิตร ขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างกันในทุกมิติให้มีความก้าวหน้า บนพื้นฐานของค่านิยมและผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การยกระดับความสัมพันธ์สู่ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ตลอดจนส่งเสริมภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของไทยในเวทีระหว่างประเทศ” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

สำหรับการเยือนในครั้งนี้ ถือเป็นการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกของประธานาธิบดีฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง และเป็นการเยือนประเทศไทยในระดับประธานาธิบดีของเยอรมนีเป็นครั้งแรกในรอบ 22 ปี นับตั้งแต่การเยือนของประธานาธิบดีโยฮันเนส เรา เมื่อปี 2545 นอกจากนี้การเยือนในครั้งนี้ ยังถือเป็นการต้อนรับผู้นำรัฐจากต่างประเทศอย่างเป็นทางการครั้งแรกของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน

นายกฯ ภูมิใจความสำเร็จหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 16 พฤศจิกายน 2567 เปรู – นายกฯ ประชุม APEC CEO Summit ภูมิใจความสำเร็จหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้คนไทยเข้าถึงบริการราคาถูก-เท่าเทียม ย้ำ ระบบสาธารณสุขเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เดินหน้าใช้ประโยชน์นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมขอความร่วมมือเอเปคสนับสนุนการสร้างระบบที่ยั่งยืน ยืดหยุ่น และครอบคลุมทุกช่วงวัย

เวลา 15.40 น. ของวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 ตามเวลาท้องถิ่นของกรุงลิมา ซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 12 ชั่วโมง ณ เดอะ แกรนด์ เนชั่นนอล เทียร์เตอร์ ออฟ เปรู กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดผู้นำภาคเอกชนของเอเปค (the APEC CEO Summit) ว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ เพราะสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีถือเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ และเกี่ยวพันโดยตรงกับความท้าทายและโอกาสทางเศรษฐกิจในทุกด้านที่ต้องเผชิญ

ประเทศไทยจึงเชื่อว่า ระบบสาธารณสุขถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เพราะสุขภาพที่ดีจะเป็นรากฐานสำคัญของความมั่นคงของมนุษย์ และเป็นความมั่งคั่งที่แท้จริงทางเศรษฐกิจของไทย ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ที่บรรลุเป้าหมายระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage) หรือ UHC ตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่ราคาไม่แพงและเท่าเทียมกันมายาวนานกว่า 22 ปี จึงสามารถพูดได้ว่า ปัจจุบันคนไทยมากกว่า 99% มีประกันสุขภาพแล้ว จึงเชื่อมั่นว่าเรื่องนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระค่ารักษาพยาบาลสำหรับครอบครัวที่ประสบปัญหาได้อย่างแน่นอน

พร้อมย้ำว่า ปัจจุบันไทยและเขตเศรษฐกิจอื่นๆ กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร ส่งผลให้ประชากรมากกว่า 20% มีอายุมากกว่า 60 ปี และไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดภายในทศวรรษหน้า อันจะส่งผลให้กำลังแรงงานและประสิทธิภาพการผลิตลดลง ไทยจึงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาระบบ UHC เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายที่เกิดขึ้นใหม่ในลักษณะที่ครอบคลุมและมีส่วนร่วม

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวถึงการประกาศนโยบาย “30 บาท รักษาทุกที่” ซึ่งจะทำให้ระบบสาธารณสุขทั้งหมดเป็นระบบระเบียบ โดยใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีดิจิทัลในการให้บริการอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่การเข้าคิว การส่งต่อ การวินิจฉัยโรค การสั่งยา การบริการสุขภาพ เข้าถึงผู้คนทุกวัย รวมถึงประชากรสูงวัย ด้วยค่าใช้จ่ายประมาณ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ จึงขอใช้โอกาสนี้ขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ของไทยทุกคนสำหรับการบริการและความทุ่มเท เนื่องจากระบบการแพทย์ทางไกลช่วยให้เข้าถึงการดูแลสุขภาพจากที่บ้านได้ และเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของไทยกับฐานข้อมูลของโรงพยาบาลมากกว่า 500 แห่ง ได้อย่างอย่างไร้รอยต่อ

ประเทศไทยจึงให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมสุขภาพและการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน ผ่าน“แอปพลิเคชันสมุดบันทึกสุขภาพผู้สูงอายุ (Blue Book Application)” ซึ่งให้คำแนะนำด้านการดูแลสุขภาพกับผู้สูงอายุ และสนับสนุนให้ผู้สูงอายุติดตามสุขภาพและความเป็นอยู่อย่างจริงจัง เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งสุขภาพที่ดี ตลอดจนสร้างระบบสุขภาพที่ยั่งยืน ยืดหยุ่น และครอบคลุมทุกมิติ

ด้วยเหตุนี้ อยากให้เอเปคสนับสนุนคนในทุกช่วงวัยใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี มีเป้าหมาย และเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เนื่องจากประชากรผู้สูงอายุมีเพิ่มขึ้น เอเปคจึงควรมีบทบาทสำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุในการพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ เพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงประชากรศาสตร์ทั่วโลก โดยใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลในการดูแลสุขภาพ เข้ามาช่วยสนับสนุนระบบให้มีความยืดหยุ่นและครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาค เพื่อให้ประชากรสูงวัยมีชีวิตที่ดีและยืนยาวขึ้น ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ยังสนับสนุนให้สภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค หารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับการส่งเสริมการจ้างงานสำหรับแรงงานสูงอายุ ซึ่งรวมถึงการฝึกอบรมทักษะใหม่และยกระดับทักษะด้วย

เนื่องจากเห็นว่า ความรู้ที่มีเกี่ยวกับสุขภาพ วิทยาศาสตร์อาหาร เทคโนโลยีชีวภาพ และนวัตกรรมการดูแลสุขภาพ เป็นเครื่องมือสำคัญในการชี้แนะให้ดูแลสุขภาพและความสมบูรณ์ของร่างกายได้ดีขึ้น และสามารถลดโอกาสการเกิดโรคร้ายแรงได้ ซึ่งจากแนวคิด the Care and Wellness Economy ที่ผสมผสานสุขภาพ การท่องเที่ยว และนวัตกรรม โดยเพิ่มการให้การบริการดูแลอย่างจริงใจนั้น เชื่อว่าจะสามารถมอบโอกาสมากมายที่สามารถส่งเสริมสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาวได้

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าประเทศไทยจะส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และบริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพอย่างแข็งขัน และเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ ด้วยโครงสร้างพื้นฐานด้านการดูแลสุขภาพที่แข็งแกร่ง สิ่งอำนวยความสะดวกทางการแพทย์ที่มีคุณภาพสูง มีผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะ และมีต้นทุนที่เอื้อมถึง ทั้งนี้รัฐบาลได้ให้นโยบาย กับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ของไทย ให้มีมาตรการทางภาษีและมาตรการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ บริการด้านสาธารณสุข และการวิจัยทางคลินิก ให้กับนักลงทุนจากต่างประเทศอีกด้วย โดยที่ไทยพร้อมจะเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ เดินหน้าทำงานเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนระหว่างประเทศ และ มีส่วนร่วมกับเขตเศรษฐกิจเอเปค รวมถึงชุมชนธุรกิจเอเปคต่อไป เพื่อสร้างระบบนิเวศทางการแพทย์ที่สมบูรณ์ และเพื่อความเป็นอยู่ที่ดี ของประชาชนในภูมิภาคและพื้นที่อื่นๆ

Advertisement

นายกรัฐมนตรีเนปาลเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ครั้งแรกในรอบกว่า 60 ปี

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 27 มีนาคม 2568 นายกรัฐมนตรีแพทองธาร เตรียมให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรีเนปาลเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ครั้งแรกในรอบกว่า 60 ปี นับตั้งแต่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต พร้อมร่วมยกระดับความร่วมมือในหลากหลายมิติ อย่างรอบด้าน

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเตรียมให้การต้อนรับ นายเค พี ศรรมะ โอลี นายกรัฐมนตรีเนปาล และภริยา โดยมีกำหนดการเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล (Official Visit) ระหว่างวันที่ 1-5 เมษายน 2568 นี้ ตามคำเชิญของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถือเป็นการเยือนอย่างเป็นทางการครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีเนปาลนับตั้งแต่ไทยกับเนปาล สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันปี 2502

โดยในวันพุธที่ 2 เมษายน 2568 นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร พร้อมคณะรัฐมนตรี จะให้การต้อนรับนายกรัฐมนตร เนปาล ที่ทำเนียบรัฐบาล ในพิธีการต้อนรับอย่างเป็นทางการ  รวมทั้งการหารือข้อราชการ การร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ การแถลงข่าวร่วม และนายกรัฐมนตรีแพทองธาร จะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีเนปาล และภริยา

นายจิรายุ กล่าวว่า การเยือนอย่างเป็นทางการในครั้งนี้จะเป็นโอกาสอันดีที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมหารือกัน เพื่อยกระดับความร่วมมืออย่างรอบด้านในหลายสาขา โดยเฉพาะด้านการค้าและการลงทุน เกษตรกรรม สาธารณสุข การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมบริการ รวมถึงแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับความท้าทายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความร่วมมือภายใต้กรอบพหุภาคี

นอกจากนี้ ในวันศุกร์ที่ 4 เมษายน 2568 นายกรัฐมนตรีเนปาลจะเข้าร่วมการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ

 

นายกฯ หารือทวิภาคีเวียดนาม มั่นใจบรรลุเป้าหมายการค้าระหว่างกันกว่า 850,000 ล้านบาท

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 9 ตุลาคม 2567 ไทยแลนด์ เนื้อหอม นายกฯ อิ้งค์ หารือทวิภาคีเวียดนามมั่นใจบรรลุเป้าหมายการค้าระหว่างกัน กว่า 850,000 ล้านบาทพร้อมขอเปิดเที่ยวบินตรง ระหว่างจังหวัดอุดรธานี กับเมืองต่าง ๆ ที่น่าสนใจในเวียดนาม

วันนี้ (9 ตุลาคม 2567) เวลา 19.00 น. ณ หอประชุมแห่งชาติลาว นครหลวงเวียงจันทน์ สปป. ลาว นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับ นายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ (H.E. Mr. Pham Minh Chinh) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยย้ำว่า เวียดนามเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่สำคัญของไทย พร้อมทั้งแสดงความเสียใจต่อเวียดนามที่ได้รับผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่น “ยางิ ” โดยไทยได้มอบเงินจำนวน 2 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนรัฐบาลเวียดนามในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ผู้นำทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องจะเร่งอำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายมูลค่าการค้า 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  หรือประมาณ 850,000 ล้านบาท โดยขอให้เวียดนามสนับสนุนการลงทุนของไทยในเวียดนาม โดยเฉพาะด้านปิโตรเคมี พลังงานและธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งไทยและเวียดนามจะส่งเสริมความร่วมมือตามยุทธศาสตร์ Three Connects เพื่อเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน เศรษฐกิจท้องถิ่น และยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยทั้งสองฝ่ายจะสนับสนุนการเพิ่มเที่ยวบินระหว่างกันมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเปิดเที่ยวบินตรงระหว่างจังหวัดของไทยกับเมืองต่าง ๆ ในเวียดนาม โดยการท่องเที่ยว  ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางอันดับ 1 ของนักท่องเที่ยวชาวเวียดนาม ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปเที่ยวเวียดนามเป็นอันดับ 6 ทั้งนี้ เวียดนามสนับสนุนแนวคิด 6 สถานที่ท่องเที่ยวร่วมกันหรือ Six Countries, One Destination ของไทยเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาค

ในโอกาสนี้ ไทยและเวียดนามเร่งผลักดันให้มีการพบหารือและแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงระหว่างไทยกับเวียดนามอย่างสม่ำเสมอ ไทยรับคำเชิญการเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการพร้อมเป็นประธานการประชุม Joint Cabinet Retreat ครั้งที่ 4 ร่วมกับเวียดนาม เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเวียดนามเป็น Comprehensive Strategic Partnership โดยฝ่ายไทยได้เชิญเวียดนามมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการในโอกาสต่อไป

Advertisement

Verified by ExactMetrics