วันที่ 29 มีนาคม 2024

ประธานสภาที่ปรึกษาซาอุฯ พบนายกรัฐมนตรี

People Unity News : 20 กรกฎาคม 2566 ประธานสภาที่ปรึกษาแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย และคณะ เข้าเยี่ยมคารวะ “พล.อ.ประยุทธ์” พร้อมส่งเสริมการค้าการลงทุนโดยเฉพาะในเขตอีอีซี

ดร.อับดุลเลาะห์ โมฮัมเหม็ด อิบราฮิม อัล-ชีค ประธานสภาที่ปรึกษาแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย และคณะ เข้าเยี่ยมคารวะพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการ โดยทั้งสองฝ่ายยินดีจะสานต่อความสัมพันธ์ระหว่างกัน พร้อมส่งเสริมการค้าการลงทุนโดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ขณะที่ซาอุดีอาระเบีย มีแนวทางที่จะยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับหนังสือเดินทางพิเศษ และสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไป เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างทั้งสองประเทศ

Advertisement

เผยกำหนดการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีไทย-ลาว ครั้งที่ 3 13-14 ธ.ค.

People unity news online : นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการไทย – ลาว ครั้งที่ 3

พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเข้าประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ (Joint Cabinet Retreat : JCR) ไทย – ลาว ครั้งที่ 3 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ระหว่างวันที่ 13-14 ธันวาคม 2561

โดยรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เข้าร่วมการประชุมฯอาทิ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

การประชุม JCR ไทย-ลาว เป็นกลไกการหารือทวิภาคีระหว่างนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีสองฝ่าย มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้นำร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศและแสวงหาแนวทางความร่วมมือในการรับมือกับความท้าทายในอนุภูมิภาค/ภูมิภาคร่วมกัน โดยประเด็นสำคัญที่นายกรัฐมนตรีจะหยิบยกในการประชุมฯ ได้แก่ ย้ำการยกระดับความสัมพันธ์เป็น “หุ้นส่วนเพื่อความเจริญและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” เน้นการร่วมส่งเสริมพลวัตการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสองประเทศ การเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ ประกอบด้วย 3 เสาความร่วมมือ ได้แก่

1.ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง ไม่ให้ผู้ไม่หวังดีใช้ไทยและลาวเป็นฐานบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยของอีกประเทศ การป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และการยกระดับจุดผ่านแดนระหว่างสองฝ่ายให้เท่าเทียมกัน

2.ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ เสริมสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจร่วมกันผ่านการเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อตามแผนแม่บท ACMECS ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกันเพื่อรับมือความท้าทายในภูมิภาค เสริมสร้างความเชื่อมโยงทางกายภาพ (ถนน/ สะพาน) ควบคู่กับความเชื่อมโยงทางกฎระเบียบ สนับสนุนนักลงทุนไทยไปลงทุนในลาว โดยตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าเป็น 2 เท่า (11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2564

3.ความร่วมมือด้านสังคมและการพัฒนา สนับสนุนให้ลาวหลุดพ้นจากการเป็นประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ให้ลาวใช้ประโยชน์จากโครงการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในลาวมากขึ้น จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาการเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยวข้ามแดนไทย – ลาว ยืนยันการดูแลแรงงานลาวอย่างเต็มที่ตามกฎหมายไทย

โอกาสนี้นายกรัฐมนตรีจะได้พบหารือกับนายบุนยัง วอละจิด ประธานประเทศของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  โดยจะได้หารือเกี่ยวกับการฉลองครบรอบ 70 ปี ความสัมพันธ์ไทย – ลาว ในปี 2563 การส่งเสริมความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อไทย – ลาว (เปลี่ยนลาวจาก Land-locked เป็น Land-linked) และการร่วมจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาการเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยวข้ามแดนไทย – ลาว (ไม่ให้เขตแดนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา

กำหนดการที่สำคัญของนายกรัฐมนตรีมีดังนี้

วันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม 2561

16.25 น. –  นายกรัฐมนตรีและภริยา พร้อมด้วยคณะ เดินทางออกจากท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี  จังหวัด อุดรธานี โดยเครื่องบินของกองทัพอากาศ ไปยังนครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

จากนั้นนายกรัฐมนตรีจะเข้าเยี่ยมคารวะนายบุนยัง วอละจิด (H.E. Mr. Bounnhang Vorachit) ประธานประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยในช่วงค่ำนายทองลุน สีสุลิด (H.E. Mr. Thongloun Sisoulith) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนลาว และภริยา เป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงอาหารค่ำ เพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีและภริยา พร้อมด้วยคณะ

วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม 2561

09.00 น. – การหารือทวิภาคีกลุ่มเล็กระหว่างนายกรัฐมนตรีกับนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

09.45 น. – การประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ (Joint Cabinet Retreat – JCR) ไทย – ลาว ครั้งที่ 3

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมฯนายกรัฐมนตรีกับนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นสักขีพยานการลงนามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

-พิธีมอบความช่วยเหลือเหตุอุทกภัยในแขวงอัตตะปือเพิ่มเติมในระยะฟื้นฟู

-พิธีมอบโครงการพัฒนาวิทยาลัยพลศึกษานครหลวงเวียงจันทน์

11.00 น. – นายกรัฐมนตรีกับนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวแถลงข่าวร่วม

11.45 น. – นายกรัฐมนตรีกับนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวรับฟังการบรรยายสรุปและเยี่ยมชมห้องแสดงผลงานความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าครบรอบ 50 ปี

15.00 น. – นายกรัฐมนตรีและภริยา พร้อมด้วยคณะ เดินทางออกจากท่าอากาศยานนานาชาติวัดไต กลับประเทศไทย โดยจะเดินทางถึงท่าอากาศยานทหาร 2 (กองบิน 6) เวลา 16.05 น.

People unity news online : post 13 ธันวาคม 2561 เวลา 08.24 น.

GBC ไทย-ลาว ม่วนซื่น ร่วมมือจัดการบุคคลเป็นภัยต่อความมั่นคงไทย-ลาว

People unity news online : GBC ไทย – ลาว ม่วนซื่น เห็นชอบเพิ่มความร่วมมือด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดร่วมกันอย่างจริงจัง โดยให้กองทัพเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2561 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นรม.และ รมว.กห. ได้ให้การต้อนรับ พล.ท.จันสะหมอน จันยาลาด รมว.กระทรวงการป้องกันประเทศ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และคณะ ในโอกาสเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ณ ศาลาว่าการกลาโหม

โดย พล.ท.จันสะหมอน ได้แสดงความขอบคุณอย่างสุดซึ้ง ที่ไทยได้ให้ความช่วยเหลือกรณีเหตุอุทกภัย จากเขื่อนแตกในลาวอย่างทันท่วงที ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ได้แสดงความขอบคุณ สปป.ลาวเช่นกัน ที่ส่งเจ้าหน้าที่กู้ภัยมาร่วมภารกิจช่วยเหลือทีมหมูป่าไทย ทั้งสองฝ่ายต่างตระหนักถึงภัยความมั่นคงที่สำคัญและหารือร่วมกันในการแก้ปัญหาภัยจากยาเสพติดและกลุ่มบุคคลที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของทั้งสองประเทศ โดยเห็นชอบร่วมกันที่จะดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจังและตรงไปตรงมาให้เกิดผลเป็นที่ประจักษ์กับสังคมโลก

ต่อจากนั้น พล.อ.ประวิตร และ พล.ท.จันสะหมอน ได้ทำหน้าที่ ประธานร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยตามชายแดนทั่วไป ไทย – ลาว ( GBC ครั้งที่ 25 ) ซึ่งฝ่ายไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ณ โรงแรมเชอราตัน กทม. ด้วยบรรยากาศแห่งไมตรีจิตและมีมิตรไมตรี โดยมีสาระสำคัญดังนี้

ทั้งสองฝ่ายได้ปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทบทวนและประเมินผลการปฏิบัติร่วมที่ผ่านมา โดยแสดงความยินดีต่อผลสำเร็จและความคืบหน้าของการปฏิบัติงานในรอบปี ทั้งการแลกเปลี่ยนข่าวสาร การเยือน การศึกษาทางทหาร รวมทั้งวัฒนธรรมและกีฬาระหว่างกันที่ผ่านมา โดยร่วมแก้ปัญหาพื้นที่ชายแดนที่เกิดขึ้นให้ยุติลงโดยเร็วและจำกัดอยู่ในระดับท้องถิ่น พร้อมทั้งเห็นพ้องกันว่า ความสัมพันธ์ ไทย – ลาว นับวันจะมีความผูกพันใกล้ชิดกันมากขึ้น

ที่ประชุมเห็นชอบ ความร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยตามชายแดนทั่วไป ไทย – ลาว โดยสนับสนุนให้ทุกกลไกที่เกี่ยวข้อง เพิ่มพูนความร่วมมือและปฏิบัติตามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคงชายแดนที่ได้ลงนามร่วมกัน, แนวทางการวางกำลังและการลาดตระเวนของกองกำลังติดอาวุธตามแนวชายแดน เพื่อมิให้เกิดการกระทบกระทั่งตามแนวชายแดน, ความร่วมมือกรณีบุคคลของแต่ละฝ่ายถูกจับกุมคุมขัง, ความร่วมมือกันจัดระเบียบชายแดน เพื่อป้องกัน สกัดกั้นและปราบปราม การลักลอบเข้าเมือง แรงงานผิดกฎหมาย การต่อต้านการค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติดและสินค้าผิดกฎหมาย, ความร่วมมือกันแก้ปัญหาบุคคลสองสัญชาติ รวมทั้งบุคคลที่เป็นภัยต่อความมั่นคงไทย – ลาว, ความร่วมมือในการรักษาเส้นเขตแดน และที่สำคัญที่สุด ที่ประชุมเห็นชอบร่วมกันที่จะเพิ่มความร่วมมือด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยจัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อให้กองทัพเข้ามามีบทบาทแก้ปัญหามากขึ้น

ต่อจากนั้น ทั้งสองฝ่าย ได้ลงนามในบันทึกการประชุมร่วมกัน ซึ่งการเดินทางเยือนไทยและเข้าร่วมประชุมของ รมว.กระทรวงการป้องกันประเทศ สปป.ลาว ครั้งนี้ แสดงถึงความเข้าใจ ความเชื่อมั่นและความไว้วางใจระหว่าง กห.และคณะกรรมการความร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยทั้งสองประเทศ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างและกระชับความร่วมมือระหว่างกันให้แน่นแฟ้นและขยายตัวยิ่งขึ้น ส่งผลให้ชายแดนทั้งสองประเทศ เป็นชายแดนแห่งสันติภาพ มิตรภาพและความร่วมมืออย่างแท้จริงตลอดไป

People unity news online : post 11 ธันวาคม 2561 เวลา 23.24 น.

ผบ.ทร.ลงเรือตรวจพื้นที่ทางยุทธวิธีสามเหลี่ยมทองคำ

People Unity News : 5 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้บัญชาการทหารเรือ ตรวจเยี่ยมหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง เขตเชียงราย

พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ พร้อมคณะนายทหารระดับสูงของกองทัพเรือ เดินทางไปตรวจเยี่ยมหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง ณ กองบังคับการหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง เขตเชียงราย อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย โดยมี พลเรือตรี สมาน ขันธพงษ์ ผู้บัญชาการหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง และ นาวาเอก ศราวุธ เถื่อนบุญ ผู้บังคับหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง เขตเชียงราย ให้การต้อนรับ

โอกาสนี้ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้มอบโอวาทแก่กำลังพล รวมทั้งกล่าวชื่นชมหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง เขตเชียงราย ว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้สร้างผลงานให้เป็นที่ปรากฏสร้างชื่อเสียงให้แก่กองทัพเรือและประเทศชาติเป็นอย่างมาก ทั้งยังขอให้กำลังพลทุกนายเตรียมพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง โดยยึดถือผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง และให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งเสริมสร้างและรักษาความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้การรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพเรือเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ต่อมาในเวลา 10.50 น. ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้เดินทางต่อไปยังสถานีเรือเชียงแสน หน่วยเรือรักษาความสงบตามลำแม่น้ำโขง เขตเชียงราย อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย โดยผู้บัญชาการทหารเรือได้ลงเรือตรวจการณ์ลำน้ำ เพื่อตรวจพื้นที่ทางยุทธวิธี บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ

สำหรับ หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง หรือ นรข. มีภารกิจในการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมาย คุ้มครองและช่วยเหลือประชาชนจากภัยพิบัติต่าง ๆ ตามหลักมนุษยธรรมในพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง รวมทั้งสนับสนุนกำลังทางบก ในการรักษาความมั่นคงและป้องกันประเทศ มีพื้นที่ปฏิบัติการตามริมฝั่งแม่น้ำโขงครอบคลุม 8 จังหวัด คือ เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และ อุบลราชธานี เป็นระยะทางรวมทั้งสิ้น 928 กิโลเมตร และแบ่งความรับผิดชอบเป็น นรข.เขต 4 เขต ได้แก่ 1.นรข.เขตเชียงราย 2.นรข.เขตหนองคาย 3.นรข.เขตนครพนม 4.นรข.เขตอุบลราชธานี รวมทั้ง 4 เขตมีสถานีเรือทั้งสิ้น 14 สถานีเรือ และ 1 หน่วยเรือ โดย นรข.เขตเชียงราย มีพื้นที่รับผิดชอบตามลำแม่น้ำโขงตั้งแต่สามเหลี่ยมทองคำ ที่บ้านสบรวก ต.เวียง อ.เชียงแสน ไปสิ้นสุดที่แก่งผาได บ้านห้วยลึก ต.ม่วงยาย อ.เวียงแก่น รวมระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร ผ่านพื้นที่ 3 อำเภอ 8 ตำบล 39 หมู่บ้านมีหน่วยในบังคับบัญชา 2 สถานีเรือ คือ 1.สถานีเรือเชียงแสน และ 2.สถานีเรือเชียงของ โดยผลการดำเนินการที่ผ่านมามีผลการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมอาทิ การจับกุมผู้กระทำความผิด รวมถึงการจัดตั้งศูนย์บรรเทาสาธารณภัย หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง เพื่อพร้อมให้การช่วยเหลือประชาชนในกรณีเกิดสาธารณภัยในพื้นที่รับผิดชอบ อาทิ ภัยหนาว ภัยแล้ง อัคคีภัย และอุทกภัย

Advertisement

เผยรายละเอียดผลการหารือนายกรัฐมนตรีไทยกับประธานาธิบดีฟิลิปปินส์

People unity news online : วันนี้ (21 มีนาคม 2560) เวลา 16.30 น. นายโรดรีโก โรอา ดูแตร์เต (H.E. Mr. Rodrigo Roa Duterte) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เดินทางถึงทำเนียบรัฐบาล โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รอให้การต้อนรับ จากนั้นทั้งสองฝ่ายร่วมกันหารือข้าราชการ ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญการหารือดังนี้

ผู้นำทั้งสองได้ร่วมหารือข้อราชการ พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีของทั้งสองฝ่าย อาทิ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ฝ่ายสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ อาทิ นายเอนริเก เอ. มานาโล รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายคาร์ลอส จี. โดมิงเกส ที่สาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายเอ็มมานูเอล ปินยอล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และนายเดลฟิน เอ็ม. ลอเรนซานา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นต้น

นายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีที่ได้ต้อนรับท่านประธานาธิบดีดูแตร์เต และคณะในการเดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการ โดยเป็นการเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนมิถุนายน 2559 และเป็นการเยือนไทยโดยผู้นำของฟิลิปปินส์ในรอบ 6 ปี จึงมีความหมายอย่างยิ่งต่อการกระชับและการกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างไทยและฟิลิปปินส์

ความสัมพันธ์ทวิภาคีทั้งสองฝ่ายยืนยันความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน โดยไทยและฟิลิปปินส์เป็นมิตรเก่าแก่ซึ่งมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดและยาวนานมากว่า 68 ปี รวมทั้งการเป็นประเทศผู้ร่วมก่อตั้งอาเซียน ผู้นำทั้งสองเห็นพ้องที่จะกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมืออย่างรอบด้านและเป็นรูปธรรม ในโอกาสที่ทั้งสองประเทศจะย่างก้าวสู่ทศวรรษที่เจ็ดของความสัมพันธ์ การเยือนครั้งนี้มีความสำคัญยิ่งในการกระชับความสัมพันธ์และหารือแนวทางความร่วมมือในเชิงลึกเพื่อยกระดับความเป็นหุ้นส่วนความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นรวมถึงเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับอาเซียน

ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรียินดีที่ฟิลิปปินส์มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยทั้งสองฝ่ายเห็นว่าไทยและฟิลิปปินส์มีศักยภาพที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างกันในอนาคต ผ่านคณะกรรมการร่วมด้านการค้า (Joint Trade Committee – JTC) ในเรื่องของการบริการ ดิจิทัล การเกษตร วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษของทั้งสองประเทศ

ทั้งสองฝ่ายยินดีสนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกันอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดพลวัตทางความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์แสดงความพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนแก่ภาคเอกชนไทยที่สนใจไปลงทุนในฟิลิปปินส์ด้วย

โอกาสนี้ทั้งสองฝ่ายยินดีกับการต่ออายุบันทึกความตกลงว่าด้วยการซื้อขายข้าวระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลฟิลิปปินส์ออกไปอีก 2 ปี (2560–2561) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหารระหว่างทั้งสองประเทศ

ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรียินดีที่ชาวฟิลิปปินส์นิยมเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้น โดยพร้อมสนับสนุนให้ชาวไทยไปท่องเที่ยวในฟิลิปปินส์มากขึ้นเช่นกัน เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับประชาชนของทั้งสองประเทศและการเป็นประชาคมอาเซียน

ความร่วมมือด้านการเกษตร ไทยและฟิลิปปินส์สามารถเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน รวมทั้งหารือแนวทางเพื่อการพัฒนาภาคเกษตรกรรมของทั้งสองประเทศได้ โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยมีนโยบายการพัฒนาและสร้างเกษตรกรสู่ smart farmer เพื่อพัฒนาและยกระดับการผลิตสินค้าเกษตร เพิ่มมูลค่าและราคาสินค้าเกษตร และอาหาร รวมทั้งให้สามารถเกิดการจัดพื้นที่การผลิตด้านการเกษตรกรรมและป่าไม้ที่ถูกต้องและเหมาะสม โดยเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร

ความร่วมมือด้านพลังงาน ทั้งสองฝ่ายยินดีกับความคืบหน้าด้านความร่วมมือทางพลังงานระหว่างกัน โดยไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2558 ที่กรุงเทพฯ ซึ่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์กล่าวว่ายินดีเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ครั้งที่ 2 ที่กรุงมะนิลาในปีนี้

ความร่วมมือด้านการศึกษา นายกรัฐมนตรีแสดงความขอบคุณครูชาวฟิลิปปินส์ที่ได้มีบทบาทในการส่งเสริมการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษในสถาบันการศึกษาไทย ซึ่งมีส่วนช่วยพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษให้แก่เยาวชนไทย และยินดีที่ทั้งสองประเทศมีการแลกเปลี่ยนนักศึกษา บุคลากรครู การศึกษาดูงานและฝึกอบรมในระดับอุดมศึกษาระหว่างกัน

ความร่วมมือทางวิชาการ ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ความร่วมมือทางวิชาการมีความคืบหน้า ทั้งในระดับทวิภาคีและไตรภาคีจากผลการประชุมความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างไทยและฟิลิปปินส์สองครั้งที่ผ่านมา ทั้งนี้ไทยพร้อมสนับสนุนการสานต่อความร่วมมือในระดับทวิภาคีในด้านการเกษตร และในระดับไตรภาคี ในหลักสูตรด้านการพัฒนาสตรีและสตรีกับการเป็นผู้ประกอบการ

ความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายกรัฐมนตรียินดีที่ไทยและฟิลิปปินส์มีการกระชับความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เนื่องจากด้านนี้ถือเป็นหนึ่งในสาขาสำคัญต่อการพัฒนาประเทศไทยตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมนวัตกรรมของฟิลิปปินส์

ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือข้อราชการ นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ร่วมกันเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ 3 ฉบับ ได้แก่ 1. ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2.การดำเนินงานตามโครงการความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ปี 2017 – 2022 ระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาแห่งราชอาณาจักรไทย 3. ข้อปฏิบัติว่าด้วยความร่วมมือในสาขาเฉพาะระหว่างศูนย์กระบือนม ประเทศฟิลิปปินส์ และกรมปศุสัตว์ เกี่ยวกับการเลี้ยงกระบือปลักและกระบือนม

จากนั้นทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันแถลงข่าว ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยในช่วงค่ำวันเดียวกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำแด่นายโรดรีโก โรอา ดูแตร์เต ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ในโอกาสเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ด้วย

People unity news online : post 21 มีนาคม 2560 เวลา 23.23 น.

ทำเนียบขาวออกแถลงการณ์ว่า “ปธน.ทรัมป์ได้โทรศัพท์มาพูดคุยกับพลเอกประยุทธ์”

People unity news online : ทำเนียบขาวออกแถลงการณ์เรื่อง “ปธน.ทรัมป์โทรศัพท์เชิญพลเอกประยุทธ์เยือนทำเนียบขาว” โดย “ทรัมป์” บอกกับ “พลเอกประยุทธ์” ว่าความสัมพันธ์ไทย – สหรัฐฯสำคัญต่อเอเชียแปซิฟิก

สำนักงานโฆษกทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีแถลงการณ์ออกมาเมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 เมษายน 2560 ระบุว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้โทรศัพท์พูดคุยหารือกับนายกรัฐมนตรีไทย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันอาทิตย์

แถลงการณ์ของทำเนียบขาว ชี้แจงว่า ผู้นำทั้งสองประเทศได้เน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์ที่ยาวนานระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศไทย ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญต่อสันติภาพและความมั่นคงในแถบเอเชียแปซิฟิก

ประธานาธิบดีทรัมป์ และพลเอกประยุทธ์ ยังได้แสดงความสนใจร่วมกันอย่างแข็งขัน ให้มีการกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ

ประธานาธิบดีทรัมป์ยังได้ยืนยันถึงภารกิจของสหรัฐฯ ในการมีส่วนร่วมและมีบทบาทนำในเอเชีย ด้วยความร่วมมือกับประเทศพันธมิตร อย่างเช่น ประเทศไทย

นอกจากนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ยังได้กล่าวเชิญนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เดินทางมาเยี่ยมเยือนที่ทำเนียบขาวด้วย

THE WHITE HOUSE

Office of the Press Secretary

FOR IMMEDIATE RELEASE

April 30, 2017

Readout of President Donald J. Trump’s Call with Prime Minister Prayut Chan-ocha‎ of Thailand

President Donald J. Trump spoke today with Prime Minister Prayut Chan-ocha‎ of Thailand. The two leaders underscored their commitment to the longstanding alliance between the United States and Thailand, which actively contributes to peace and stability in the Asia-Pacific region. President Trump and Prime Minister Prayut expressed a strong shared interest in strengthening the trade and economic ties between the two countries. President Trump affirmed the commitment of the United States to playing an active and leading role in Asia, in close cooperation with partners and allies like Thailand, and invited Prime Minister Prayut to the White House. (ข่าวจาก voathai.com)

People unity news online : post 1 พฤษภาคม 2560 เวลา 14.43 น.

นายกรัฐมนตรี หารือเอกอัครราชทูตศรีลังกาฯ เพิ่มมูลค่าทางการค้าระหว่างกัน

People Unity News : นายกรัฐมนตรี หารือเอกอัครราชทูตศรีลังกาฯ เพิ่มมูลค่าทางการค้าระหว่างกัน

6 กันยายน 2564 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้การต้อนรับนางโกโลนเน อัปปุหามิลาเค จมินทะ อิโนกา โกโลนเน (H.E. Mrs. Colonne Appuhamillage Chaminda Inoka Colonne) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกาประจำประเทศไทย เนื่องในโอกาสเข้ารับหน้าที่

นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ไทยและศรีลังกา มีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจต่อกัน ขอให้ทั้งสองประเทศเร่งการเจรจาการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี(FTA) ไทย – ศรีลังกา เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันในอนาคต

พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรี ยังได้แสดงความยินดีต่อศรีลังกาในการดำรงตำแหน่งประธานกรอบความร่วมมือความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation: BIMSTEC) ซึ่งไทยพร้อมจะเข้าร่วมการประชุมฯ ที่ศรีลังกาจะเป็นเจ้าภาพในปลายปีนี้ โดยไทยจะรับตำแหน่งประธาน BIMSTEC ต่อจากศรีลังกา หวังว่าศรีลังกาจะสนับสนุนไทยในการเป็นประธาน BIMSTEC โดยเฉพาะด้านความเชื่อมโยงและความร่วมมือระหว่างท่าเรือ

ด้านเอกอัครราชทูตศรีลังกาฯ กล่าวว่า ยินดีที่จะหารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ของไทย เพื่อแสวงหาความร่วมมือในการเสริมสร้างการค้าและการลงทุนระหว่างทั้งสองฝ่ายในสาขาที่มีผลประโยชน์ร่วมกันโดยเฉพาะด้านการเกษตรและประมง

Advertising

“บิ๊กตู่”เปิดประชุมผู้นำธุรกิจอาเซียนครั้งที่ 5 ชูการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 3 ด้านของไทย

People Unity : นายกรัฐมนตรีเป็นประธานและกล่าวปาฐกถาในโอกาสการประชุมผู้นำธุรกิจอาเซียน ครั้งที่ 5 “The Future of Thailand and ASEAN”

วันนี้ (21 มิถุนายน 2562) เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานและกล่าวปาฐกถาในโอกาสการประชุมผู้นำธุรกิจอาเซียน ครั้งที่ 5 “The Future of Thailand and ASEAN” ณ ห้อง Magnolia ballroom ชั้น 10 โรงแรม Waldorf Astoria กรุงเทพมหานคร โดยในการประชุมครั้งนี้มี นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พร้อมด้วยผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูต ผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชนกว่า 400 คน เข้าร่วมงาน

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติได้มาร่วมงานการประชุมผู้นำธุรกิจอาเซียน ครั้งที่ 5 และกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “The Future of Thailand and ASEAN” ที่สำนักข่าว Bloomberg จัดขึ้น ในช่วงเวลานี้ที่มีความสำคัญกับประเทศไทยเพราะจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ในช่วงสุดสัปดาห์นี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงวิสัยทัศน์ของไทยว่ามีศักยภาพและความพร้อมในหลายด้านที่จะเดินหน้าไปสู่การพัฒนาพร้อมกับภูมิภาค ไทยได้ก้าวพ้นสถานการณ์ความไม่สงบ มีความปรองดอง และสามารถแก้ปัญหาคั่งค้างที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศหลายประการ ไทยได้ผ่านพ้นการเลือกตั้งทั่วไปตามกระบวนการประชาธิปไตยด้วยความเรียบร้อย เป็นไปตาม roadmap ที่กำหนด และนายกรัฐมนตรีมุ่งมั่นตั้งใจที่จะปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ เพื่อสืบสานนโยบาย และการพัฒนาประเทศให้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้ระบุถึงดัชนีทางเศรษฐกิจต่างๆที่เป็นตัวบ่งชี้ว่า สถานการณ์ในประเทศดีขึ้นมาก เศรษฐกิจขยายตัวได้ร้อยละ 4.1 การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 3.8 ซึ่งทั้งสองตัวชี้วัดนี้ถือเป็นอัตราที่สูงที่สูดในรอบ 6 ปี และมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ระดับ 2.53 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ รัฐบาลไทยก็ให้ความสำคัญในการดูแลขั้นตอนกระบวนการในการทำธุรกิจ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งประเทศไทยได้ลำดับที่ดีขึ้นในการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจในปี 2561 ของธนาคารโลก

ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 27 จากทั้งหมด 190 ประเทศ สูงขึ้นจากปีก่อนถึง 19 อันดับ และเป็นอันดับที่ 3 ในอาเซียน สำหรับภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นส่วนที่มีความสำคัญกับประเทศก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเยือนประเทศไทยถึง 38 ล้านคน ในปี 2561 เพิ่มขึ้น 2.9 ล้านคนจากปีก่อนหน้า และปีนี้คาดว่าเราจะได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวถึง 40 ล้านคน นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีนโยบายพัฒนาด้านเทคโนโลยี พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศให้เอื้อต่อการต่อยอดอุตสาหกรรมเดิม และรองรับอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการเป็นระเบียงเศรษฐกิจแห่งเอเชีย

อย่างไรก็ดี รัฐบาลส่งเสริมให้ประเทศไทยเข้มแข็งจากภายใน มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจมั่นคงกระจายลงไปถึงระดับรากหญ้า โดยให้ภาคเอกชนไทย และอาเซียนเป็นจุดแข็งที่จะลดช่องว่าง สร้างการเติบโตไปสู่รากหญ้า ทั้งนี้ ผู้มีรายได้น้อย และ SMEs และช่วยให้สามารถเชื่อมโยงเข้ากับห่วงโซ่มูลค่าของโลกได้ ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน และช่วยสร้างภูมิคุ้มกันผลกระทบจากความท้าทายภายนอก ได้แก่ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจการค้า ความขัดแย้งทางการค้า รวมทั้งความท้าทายจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งรัฐบาลไทยเชื่อว่าเป็นหลักการที่สามารถนำไปปรับใช้ในบริบทการพัฒนาของอาเซียนได้ด้วย

ในส่วนของอาเซียนซึ่งมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง เพราะตลาดขนาดใหญ่อันดับ 6 ของโลก มีประชากรกว่า 650 ล้านคน และอยู่ในตำแหน่งยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศที่สำคัญ จึงช่วยเพิ่มศักยภาพของอาเซียนในการที่จะพัฒนาไปเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นลำดับที่ 4 ของโลกภายในปี 2573 รวมถึงจะเพิ่มอำนาจการต่อรองของภูมิภาคด้วย แม้ว่า ปัจจุบันโลกเผชิญกับความท้าทาย และการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและนวัตกรรม นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยและอาเซียนมีศักยภาพสูงที่จะรับมือ และเป็นสนามการค้าการลงทุนที่มีเสถียรภาพ ตอบโจทย์นักลงทุนทั่วโลก

ไทยนำเสนอแนวคิดหลักของการเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ คือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” และมีเป้าหมายที่จะบรรลุความสำเร็จในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 3 ด้าน ที่ไทยต้องการผลักดันให้เป็นรูปธรรมภายในปี 2562 ได้แก่ 1) การมุ่งสู่อนาคต คือ ความพร้อมในการเข้าสู่ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 2) การส่งเสริมความเชื่อมโยงทางการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน และ 3) การสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจรากหญ้าให้ประชาชนอยู่ดีกินดี

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีขอให้ภาคเอกชนมั่นใจและใช้ประโยชน์จากความพร้อมของไทย และอาเซียนทั้งทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพทางการเมืองที่นำไปสู่ความต่อเนื่องทางนโยบาย โดยนายกรัฐมนตรีได้อวยพรให้การจัดงานในวันนี้ประสบความสำเร็จตามที่หวังไว้ทุกประการ

ความสัมพันธ์ต่างประเทศ : “บิ๊กตู่” เปิดประชุมผู้นำธุรกิจอาเซียนครั้งที่ 5 ชูการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 3 ด้านของไทย

People Unity : post 21 มิถุนายน 2562 เวลา 11.40 น.

“เศรษฐา” เตรียมคุยนายกฯ กัมพูชา แก้ปัญหาฝุ่น

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 3 กุมภาพันธ์ 2567 นายกฯ ย้ำจะหารือนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ช่วงเยือนไทย 7 ก.พ.นี้ แก้ปัญหาฝุ่น พร้อมสนับสนุนเครื่องมือ ชี้เป็นเพื่อนบ้านกันต้องช่วยเหลือกัน เตรียมสั่งการใน ครม. ใช้มาตรการหนัก ใครฝ่าฝืนเผาถูกลงโทษ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการหารือกับ นายฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ถึงความคืบหน้าปัญหาฝุ่น หมอกควัน ว่า เรื่องนี้คุยกันตลอด และช่วงเช้าวันนี้ได้คุยกับ ผู้ช่วยของนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ซึ่งต้องยอมรับว่า กระทรวงเกษตรและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติของกัมพูชา ไม่มีอุปกรณ์ ไม่มีปัจจัยที่เทียบเท่าเรา แต่เขาใส่ใจเหมือนกับเรา และในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่นายกรัฐมนตรีกัมพูชาจะเดินทางเยือนไทย จะมีการพูดคุยว่ามีเรื่องใดที่เราต้องช่วยเหลือ ยืนยันว่า ประเทศไทยพร้อมสนับสนุน เพราะหากเราเป็นเพื่อนบ้านกันไม่ช่วยเหลือกัน เราก็เดือดร้อนด้วย เราเป็นเพื่อนบ้านที่ดีมาโดยตลอด ก็ต้องช่วยเหลือกัน

ส่วนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่าปัญหาฝุ่นมีความรุนแรงมากขึ้นได้สั่งการอย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันอังคารที่ 6 กุมภาพันธ์ นี้ จะมีการสั่งการหลายเรื่อง โดยเฉพาะมาตรการ หากใครไม่ปฏิบัติตามก็จะถูกลงโทษ สินค้าต่างๆ หากพิสูจน์ทราบได้ว่า ผลิตผลออกมามีการเผาเกิดขึ้นก็จะไม่ได้รับมาตรการการช่วยเหลือ

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ดีใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทุกคนพยายามอย่างเต็มที่ แต่ปัญหานี้ ไม่ใช่ปัญหาจากธรรมชาติเพียงอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาจากเศรษฐกิจ บางคนมีรายจ่ายเพิ่มมากขึ้น หากไม่เผา ไม้ขีดก้านเดียวมันง่ายต่อการกำจัดซากวัชพืช แต่ให้องค์ความรู้ไปแล้วในสิ่งที่เขาทำไม่ถูก และตนได้ขอความร่วมมือไปยังกองทัพไปเยอะ ในการช่วยลำเลียงซากวัชพืชออกมา โรงงานทำไบโอดีเซล การทำถ่านอัด หรือทำปุ๋ย

Advertisement

ความร่วมมือการค้าไทย-อินเดียก้าวหน้า จัดประชุม JTC ครั้งแรกในรอบ 20 ปี

People Unity News : 4 พฤษภาคม 2566 โฆษกรัฐบาล เผยนายกฯ ยินดีความร่วมมือด้านการค้าไทย-อินเดีย ก้าวหน้า รื้อฟื้นการจัดประชุม JTC ร่วมกันในรอบ 20 ปี ผลักดันการแก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้า เปิดตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ และส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลักดันความร่วมมือด้านการค้าระหว่างไทยกับอินเดีย จนมีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม โดยเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา คณะผู้แทนไทยได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC) ไทย-อินเดีย ครั้งที่ 13 ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย ซึ่งถือเป็นการประชุมครั้งแรกในรอบ 20 ปี นับจากการประชุมเมื่อปี 2546

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุม JTC ถือเป็นกลไกสำคัญในการหารือแนวทางการส่งเสริมการค้าและการลงทุน และแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า รวมทั้งผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ซึ่งในปี 2563 ไทยและอินเดียตกลงรื้อฟื้นการประชุม JTC ขึ้นใหม่ ภายหลังว่างเว้นมานานเกือบ 2 ทศวรรษ เนื่องจากทั้งสองประเทศเข้าสู่การเจรจา FTA ไทย-อินเดีย และ FTA อาเซียน-อินเดีย โดยการประชุม JTC ในครั้งนี้ มีวาระการหารือที่สำคัญเกี่ยวกับการลดอุปสรรคทางการค้า และส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับอินเดีย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผลลัพธ์การประชุมในครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องในหลักการที่จะใช้การลงนามและตราประทับอิเล็กทรอนิกส์ในหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า รวมทั้งผลักดันการใช้ QR Code ผ่านการเชื่อมโยงระบบ Unified Payments Interface (UPI) ของอินเดีย กับระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ของไทย เพื่อรองรับการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือด้านการถ่ายทำภาพยนตร์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

นอกจากนี้ไทยได้ขอให้อินเดียพิจารณาคำขอเปิดตลาดสินค้ามะพร้าวอ่อนของไทย พร้อมทั้งพิจารณายกเลิกมาตรการจำกัดการนำเข้ายางล้อและโทรทัศน์สี มาตรการห้ามนำเข้าเครื่องปรับอากาศที่มีสารทำความเย็น และการจำกัดด่านนำเข้ายางพาราและไม้ตัดดอก ซึ่งอินเดียพร้อมพิจารณา

ทั้งนี้ ไทยและอินเดียถือเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่สำคัญของกันและกัน มีมูลค่าการค้าระหว่างกันในปี 2565 รวมกว่า 17,702.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอินเดียถือเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ และถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกันได้อีกมาก

“นายกรัฐมนตรีขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ผลักดันให้มีการประชุม JTC จนเห็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรมได้อีกครั้ง มุ่งหวังว่าการประชุมนี้จะสามารถหารือเพื่อทางออกสู่แนวทางแก้ไขอุปสรรคทางการค้า และเปิดตลาดในส่วนที่มีศักยภาพร่วมกันได้ และมั่นใจว่าการประชุมนี้จะเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญเพื่อผลักดันความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับอินเดียให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น จะช่วยต่อยอดเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและเศรษฐกิจโดยรวมของทั้งสองประเทศ” นายอนุชา กล่าว

Advertisement

Verified by ExactMetrics