วันที่ 29 เมษายน 2024

ประยุทธ์ ประชุม IMT-GT เสนอพลิกโฉมท่องเที่ยว-เกษตร-ฮาลาล เชื่อมการค้าการลงทุนอนุภูมิภาค

People Unity News : นายกฯ เข้าร่วมการประชุมผู้นำแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย (IMT-GT) ครั้งที่ 13 มุ่งพลิกโฉมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว-เกษตร-ฮาลาล เชื่อมโยงการค้าการลงทุนในอนุภูมิภาค

วันนี้ (28 ตุลาคม 2564) เวลา 10.15 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย ครั้งที่ 13 (IMT-GT Summit) ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมี นายอิซมาอิล ซับรี ยักกบ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นายโจโค วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย นายดาโต๊ะ ปาดูกา ลิม จ๊อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน และนายอาเหม็ด เอ็ม ซาอีด รองประธาน ADB เข้าร่วม โดยนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญของการประชุม ดังนี้

นายกรัฐมนตรีมาเลเซียในฐานะประธานการประชุมเชื่อมั่นว่าประเทศสมาชิกจะสามารถพัฒนาผ่านดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของ IMT-GT ได้อย่างมีศักยภาพภายใต้สถานการณ์โควิด-19 และเชื่อมั่นว่าจากความคืบหน้าในการจัดหาวัคซีนจะทำให้ฟื้นฟูเศรษฐกิจและมิติอื่นๆ ได้รวดเร็วขึ้นและแข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิม ขณะเดียวกันปัจจัยอื่นๆที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคนี้จะเป็นประโยชน์

ประธานาธิบดีอินโดนีเซียได้กล่าวว่า แม้สถานการณ์โควิดอาจทำให้กระทบต่อการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ฯบ้าง อินโดนีเซียมีข้อเสนอว่าควร 1. เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การพัฒนาถนนและท่าเรือ 2. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระดับสูงและยั่งยืน เช่น ดิจิทัลทางการเกษตร และ 3. เร่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

นายกรัฐมนตรีของไทยได้กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ในเวทีนี้ว่า ยินดีที่ได้เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำแผนงาน IMT-GT ในครั้งนี้ ซึ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อทั่วโลก รวมถึงอนุภูมิภาค IMT-GT เป็นอย่างมาก แต่การดำเนินการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในเชิงรุก ควบคู่กับการเร่งฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน ส่งผลให้ยอดผู้เสียชีวิตในทั้ง 3 ประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การให้ความช่วยเหลือประชาชนในหลายรูปแบบ ล้วนมีส่วนประคับประคองสถานการณ์เศรษฐกิจของทุกประเทศให้ผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤตมาได้ ทั้งนี้ในส่วนของไทย ได้ดำเนินมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม และได้เตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ผ่านโครงการ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” และโครงการ “สมุย พลัส โมเดล” ซึ่งความสำเร็จของโครงการถือเป็นเครื่องยืนยันว่า ไทยมีความพร้อมที่จะเปิดประเทศ

นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ทั้งสามประเทศจะสามารถร่วมมือกันในลักษณะที่สร้างสรรค์เพื่อพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินโครงการในลักษณะเช่นเดียวกันนี้ให้ดียิ่งขึ้น และนำไปสู่การร่วมกำหนดมาตรฐานด้านการท่องเที่ยววิถีใหม่ ภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยอย่างรัดกุม

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอแนวทางความร่วมมือของ IMT-GT เพื่อพลิกโฉมอุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็งใน 3 อุตสาหกรรม ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เร่งพัฒนาและต่อยอดการดำเนินโครงการเพื่อสนับสนุนการเป็นจุดหมายปลายทางเดียวกันด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะโครงการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงแนวคิด รวมถึงโครงการความร่วมมือระหว่างอุทยานธรณีโลก 3 ประเทศ เน้นการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ 2.อุตสาหกรรมการเกษตร ส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพทางการเกษตร และมุ่งเน้นการผลิตสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูงที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และความต้องการของตลาด 3.อุตสาหกรรมฮาลาล ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการรับรองมาตรฐานฮาลาลให้มีประสิทธิภาพ เป็นที่ยอมรับของตลาดโลก พร้อมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอปัจจัยสนับสนุนอุตสาหกรรมหลักของ IMT-GT ที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่

1.ความเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมที่ไร้รอยต่อ สนับสนุนให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนร่วมกันเร่งรัดโครงการที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ รวมทั้งพิจารณาโครงการใหม่ๆที่เกิดขึ้น เข้ามาบรรจุไว้ในโครงการความเชื่อมโยงทางกายภาพ (PCPs)

2.ความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ เร่งรัดการลงนามกรอบความร่วมมือด้านพิธีการศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง และการกักกันโรคพืชและสัตว์ (CIQ) ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีภายในต้นปีหน้า เพื่อให้การข้ามพรมแดนและการเคลื่อนย้ายสินค้าระหว่าง 3 ประเทศมีความสะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น นำไปสู่การขยายตัวด้านการค้าการลงทุนในอนุภูมิภาค

3.การเสริมสร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม พัฒนาโครงการภายใต้ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการดำเนินโครงการเมืองสีเขียว และโครงการตามแผนการลงทุนกรอบการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน ซึ่งสอดรับกับ “โมเดลเศรษฐกิจ BCG” ของไทย ผ่านการระดมทุนจากภาคเอกชน ซึ่งประเทศไทยได้ดำเนินการแล้ว

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า การขับเคลื่อน IMT-GT ในระยะต่อไป ไม่เพียงแต่จะต้องตอบโจทย์วิสัยทัศน์ปี 2036 และเป้าหมายการพัฒนาของประเทศสมาชิกเท่านั้น แต่จะต้องสอดรับกับเป้าหมาย SDGs ของสหประชาชาติ ซึ่งครอบคลุมทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังด้วย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผลการประชุมในวันนี้จะนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมและประสบความสำเร็จ

Advertising

ประยุทธ์ หารือทางโทรศัพท์กับ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนใหม่

People Unity News : ประยุทธ์ หารือทางโทรศัพท์กับ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนใหม่

วันนี้ 22 พ.ย.64 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้หารือทางโทรศัพท์กับ นายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ณ ทำเนียบรัฐบาล

รัฐบาลไทยพร้อมร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไทย – ญี่ปุ่นรอบด้าน พร้อมเชิญ นายคิชิดะ เดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อขับเคลื่อนความสัมพันธ์ไทย – ญี่ปุ่นต่อไป

นายคิชิดะ ชื่นชมและเชื่อมั่นวิสัยทัศน์ในการดำเนินนโยบายของนายกรัฐมนตรี และยินดีในความสัมพันธ์ไทย – ญี่ปุ่นที่เป็นไปอย่างแนบแน่น ราบรื่น พร้อมชื่นชมบทบาทไทยในการเป็นประเทศผู้ประสานงานอาเซียน – ญี่ปุ่น

โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือในประเด็นต่างๆ เพื่อโอกาสในการกระชับความสัมพันธ์ เช่น การควบคุมโรคโควิด-19 การค้าการลงทุน เป็นต้น

Advertising

ไทยรับมอบวัคซีน Moderna จากสหรัฐฯ 1 ล้านโดส ให้คนไทยฉีดวัคซีนได้อย่างครอบคลุม

People Unity News : ไทยรับมอบวัคซีน Moderna จากสหรัฐฯ 1 ล้านโดส ให้คนไทยฉีดวัคซีนได้อย่างครอบคลุม

23 พฤศจิกายน 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีรับมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัท Moderna จากรัฐบาลสหรัฐฯ โดยมี นายไมเคิล ฮีต อุปทูตรักษาราชการชั่วคราว สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย เป็นผู้แทนรัฐบาลสหรัฐฯ เข้าร่วมพิธี

นายกรัฐมนตรีขอบคุณรัฐบาลสหรัฐฯ ประธานาธิบดีไบเดน และอุปทูตฯ ผ่านการสนับสนุนวัคซีนโควิด-19 เป็นครั้งที่ 2 ของบริษัท Moderna จำนวน 1,000,000 โดส สะท้อนถึงความเป็นมิตรแท้ ช่วยสนับสนุนให้ไทยรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนสถานการณ์ดีขึ้น และสามารถเปิดประเทศได้อีกครั้ง โดยไทยจะนำวัคซีนที่ได้รับครั้งนี้ไปกระจายฉีดอย่างทั่วถึง เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันและเพื่อความปลอดภัยของคนไทย

ด้านนายไมเคิล ฮีต กล่าวยินดีที่มีส่วนสำคัญและภูมิใจที่ได้ร่วมสนับสนุนการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้ไทยกลับมาเปิดประเทศ และดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากการสนับสนุนวัคซีนแล้ว สหรัฐฯจะพิจารณาให้การสนับสนุนด้านการรักษาต่อไปด้วย

Advertising

ประยุทธ์ เสนอ “วัคซีน – ยารักษาโควิด-19” เป็นสินค้าสาธารณะของโลก

People Unity News : ประยุทธ์ เสนอ “วัคซีน – ยารักษาโควิด-19” เป็นสินค้าสาธารณะของโลก บนเวที Paris Peace Forum ครั้งที่ 4

วันนี้ (11 พ.ย.64) ในพิธีเปิดการประชุม Paris Peace Forum ครั้งที่ 4 ภายใต้หัวข้อ “Mind the gaps: Improving global governance after COVID-19” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงผ่านการบันทึกเทป สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีเสนอให้วัคซีน – ยารักษาโควิด-19 เป็นสินค้าสาธารณะของโลก พร้อมสนับสนุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และโมเดลเศรษฐกิจ BCG รวมถึงการเตรียมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

การประชุม Paris Peace Forum มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและภาคส่วนต่าง ๆ ในการเสริมสร้างสันติภาพโลกและระบอบพหุภาคีนิยม โดยปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 – 13 พ.ย. 64 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส

Advertising

ศอ.บต.เตรียมจัดเวทีระดมสมองทุกภาคส่วน ต่อยอดไทย-ซาอุฯ ฟื้นความสัมพันธ์

People Unity News : ศอ.บต.เตรียมจัดเวทีระดมสมองจากทุกภาคส่วน “โอกาสและศักยภาพของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายหลังไทย-ซาอุฯ ฟื้นความสัมพันธ์” ก.พ.นี้ ข้อมูลเสนอต่อรัฐบาลเพื่อจัดทำนโยบายและแนวทางการพัฒนาร่วมกับซาอุดีอาระเบีย

31 ม.ค. 65 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการเดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 25 ม.ค. ที่ผ่านมา นำไปสู่การเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบียอย่างสมบูรณ์ และการส่งเสริมความร่วมมือในมิติต่างๆ อันจะเป็นประโยชน์ร่วมกัน ในการนี้ พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) รายงานต่อนายกรัฐมนตรีว่า ได้กำหนดแนวทางต่อยอดโอกาสจากการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ดังกล่าว เพื่อเร่งขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้อย่างเป็นรูปธรรม และผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยจะมีการจัดประชุมสัมมนา หัวข้อ “โอกาสและศักยภาพของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายหลังไทย-ซาอุฯ ฟื้นความสัมพันธ์” ประมาณกลางเดือน ก.พ.นี้ เพื่อระดมความคิดเห็นและรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น-ท้องที่ ข้าราชการ แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานที่ซาอุฯ และประชาชนทุกสาขาอาชีพ กว่า 500 คนที่มีประสบการณ์ทั้งการเรียน การทำงานและการใช้ชีวิตในราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ซึ่ง ศอ.บต. จะรวบรวมข้อมูลที่ได้เสนอต่อรัฐบาล เพื่อใช้ประกอบการจัดทำนโยบายและแนวทางการพัฒนาร่วมกับซาอุดีอาระเบียต่อไป อีกทั้ง จะได้นำเสนอต่อการประชุมเอกอัครราชทูตและทูตานุทูตโลกอิสลามประจำประเทศไทยและเครือข่ายองค์กรนานาชาติด้านโลกอิสลาม ที่จะมีขึ้นในช่วงเดือน มี.ค.ด้วย

นางสาวรัชดา กล่าวต่อว่า การจัดประชุมเอกอัครราชทูตโลกอิสลามและเครือข่ายองค์กรนานาชาติด้านโลกอิสลามดังกล่าว เป็นการดำเนินการตามแผนการทำงานของ ศอ.บต ปี 2565 ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยฟาตอนี และสมาคม ชมรมและกลุ่มนักเรียน นักศึกษาเก่าจากโลกมุสลิม ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยจะมีการนำเสนอและแลกเปลี่ยนข้อมูลการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในทุกมิติ ครอบคุลมด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สาธารณสุข การมีส่วนร่วมของประชาชนและอื่นๆ รวมทั้ง การเปิดโอกาสให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปในพื้นที่ทั้งที่สำเร็จการศึกษาจากโลกมุสลิมแล้ว ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยและสานสัมพันธ์กับผู้นำประเทศที่ตนเองสำเร็จการศึกษา การนำชมพื้นที่การทำงานที่ประสบความสำเร็จจากการสร้างทรัพยากรบุคคลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

“จากการเปิดศักราชใหม่ความสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ ครั้งนี้ นำไปสู่ความร่วมมือและประโยชน์ในด้านต่างๆ อาทิ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและพลังงานหมุนเวียน การศึกษาและวิจัย ความมั่นคง การท่องเที่ยวและกีฬา และยังส่งผลบวกต่อความรู้สึกของชุมชนมุสลิมในประเทศที่มองซาอุดีอาระเบียเป็นศูนย์กลางศาสนาอิสลาม ขณะเดียวกันจะทำให้การประสานงานและการขับเคลื่อนงานพัฒนาระหว่างจังหวัดชายแดนใต้กับซาอุดีอาระเบียที่มีมาอย่างต่อเนื่อง สามารถขยายขอบเขตและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำถึงการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ เพราะจะเป็นรากฐานสำคัญสำหรับความร่วมมือในทุกๆด้าน” นางสาวรัชดา กล่าว

Advertising

ประยุทธ์ ลงนามกฎบัตร BIMSTEC เสนอความเชื่องโยง 5 ด้าน บก-ทะเล-พลังงาน-ดิจิทัล-คน

People Unity News : ประยุทธ์ ลงนามกฎบัตรบิมสเทค พร้อมเสนอความเชื่องโยง 5 ด้าน “บก – ทะเล – พลังงาน – ดิจิทัล – คน” เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจและเสริมสร้างเครือข่ายความใกล้ชิดระหว่างประชาชนและภาคธุรกิจ พร้อมเดินหน้าสู่ความมั่งคั่ง (Prosperous) ความยั่งยืน (Resilient and Robust) และการเปิดกว้าง (Open)

วันนี้ (30 มีนาคม 2565) เวลาประมาณ 10.35 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมการประชุมผู้นำความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (The Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation : BIMSTEC) ครั้งที่ 5 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจัดขึ้นโดยศรีลังกา ผ่านระบบการประชุมทางไกล พร้อมผู้นำและผู้แทนสมาชิก BIMSTEC โดยในการประชุมครั้งนี้ทุกประเทศจะร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการประชุม

นายโคฐาภยะ ราชปักษะ ประธานาธิบดีศรีลังกา ประธานจัดการประชุม กล่าวเปิดการประชุมระบุว่า เชื่อมั่นในความแข็งแกร่งของบิมสเทค จะสามารถผ่านพ้นอุปสรรค และความท้าทายในโลกร่วมกัน บิมสเทคซึ่งมี ขนาดประชากร 1 ใน 5 ของประชากรโลก ได้ขยายความร่วมมืออย่างสำคัญ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อให้มีเศรษฐกิจ และสาธารณสุข ที่เข้มแข็งมากขึ้น สะท้อนได้จากหัวข้อหลักของการประชุมในครั้งนี้ “BIMSTEC- Towards a Resilient Region, Prosperous Economies, Healthy Peoples” หรือ “บิมสเทค มุ่งหน้าสู่อนุภูมิภาคที่ยืดหยุ่น มั่งคั่ง และประชาชนมีสุขภาพดี” โดยในวันนี้ จะมีการลงนามกฎบัตร ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญ ในการเสริมสร้างบทบาทขับเคลื่อนภูมิภาค

การเดินเรือชายฝั่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคจึงต้องร่วมมือกัน ต่อต้านการค้ามนุษย์ รวมทั้งศรีลังกายินดีส่งเสริม และเชื่อมั่นว่าบิมสเทคสามารถขับเคลื่อนการค้าการลงทุนในภูมิภาคได้ นอกจากนี้ ยินดีร่วมมือด้านการพัฒนาเทคโนโลยี และทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้ง เห็นควรส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่งเสริมมาตรการทางเศรษฐกิจในระยะสั้นและระยะยาว ส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างประชาชน อีกทั้งต้องร่วมมือกันจัดการภัยพิบัติเพื่อเตรียมรับมือในอนาคต โดยศรีลังกามีกรอบแนวทางที่เน้นย้ำความยั่งยืน การลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การใช้พลังงานหมุนเวียน ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่า บิมสเทคจะบรรลุเป้าหมายสะท้อนเสียงของสมาชิกในเวทีโลก จึงขอให้ร่วมมือกันเพื่อประชาชนและประเทศของพวกเรา

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมว่า บิมสเทค ถือเป็นกรอบอนุภูมิภาคเดียวที่เชื่อมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับเอเชียใต้ ซึ่งช่วงเวลาจากการประชุมครั้งที่ 4 ที่ผ่านมา สถานการณ์โลกมีความผันผวนทำให้การดำเนินงานยังไม่คืบหน้ามากนัก นายกรัฐมนตรีจึงได้ย้ำถึงความสำคัญในการประชุมครั้งที่ 5 ในวันนี้ เพื่อทบทวนการทำงานร่วมกันอีกครั้ง ทั้งนี้ ไทยในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง ขับเคลื่อนและเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มประเทศกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ โดยในช่วงที่ไทยจะทำหน้าที่เป็นประธานบิมสเทค ตรงกับช่วงเวลาที่ไทยเป็นประธานเอเปค วาระปี ค.ศ. 2022 ไทยพร้อมส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มีคุณภาพ โดยนำแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศของทุกประเทศมาเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ทั้งสองภูมิภาค ตามความต้องการ และบริบทของแต่ละกรอบความร่วมมือด้วย

การประชุมวันนี้เป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์สำคัญของบิมสเทค ทุกประเทศสมาชิกเห็นชอบและลงนามในกฎบัตรบิมสเทค และเอกสารสำคัญอื่นๆ เพื่อเดินหน้าความร่วมมือต่อไปอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม ไทยเห็นว่าการค้าการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิกยังมีศักยภาพอีกมาก ความเชื่อมโยงระหว่างกันจึงเป็นสิ่งสำคัญเร่งด่วน ซึ่งไทยในฐานะประเทศผู้นำสาขาความเชื่อมโยงมุ่งมั่นจะผลักดันปความเชื่อมโยงในสาขาต่อไปนี้

  1. ความเชื่อมโยงทางบก ขอบคุณประเทศสมาชิกที่สนับสนุนข้อเสนอของไทย ในการจัดทำแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงด้านคมนาคม (BIMSTEC Master Plan on Transport Connectivity) จนบรรลุผลสำเร็จ พร้อมหวังว่าจะร่วมกันผลักดันให้โครงการสำคัญต่างๆ (Flagship projects) ภายใต้แผนแม่บทฯนี้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมต่อไป
  2. ความเชื่อมโยงทางทะเล นายกรัฐมนตรีเสนอให้เร่งรัดกระบวนการเพื่อให้สามารถลงนามร่างความตกลงการเดินเรือตามชายฝั่ง (BIMSTEC Coastal Shipping Agreement) ให้แล้วเสร็จ เพื่อความเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือของประเทศรอบอ่าวเบงกอลอย่างมีประสิทธิภาพ
  3. ความเชื่อมโยงด้านพลังงาน นายกรัฐมนตรีเสนอให้เร่งรัดการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบไฟฟ้าภายใต้บิมสเทค (Memorandum of Understanding for Establishment of the BIMSTEC Grid Interconnection)
  4. ความเชื่อมโยงด้านดิจิทัล นายกรัฐมนตรีเห็นควรส่งเสริมความเชื่อมโยงผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่อำนวยความสะดวกด้านเทคโนโลยี และ
  5. ความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน “คน” เป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินนโยบายต่างๆ ให้ยั่งยืนและสมดุล ปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชนจะเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนสาขาความร่วมมือ และทำให้บิมสเทคเป็นประชาคมของทุกคนอย่างแท้จริง “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

นายกรัฐมนตรีย้ำถึงความพร้อมของไทยที่จะสานต่อความสำเร็จของศรีลังกา โดยได้เสนอวิสัยทัศน์ในช่วงที่ไทยเป็นประธาน ภายใต้หัวข้อหลัก (theme) “Prosperous, Resilient and Robust, and Open BIMSTEC” หรือ โปรบิมสเทค (PRO BIMSTEC) ดังนี้

ประการแรก “ความมั่งคั่ง (Prosperous)” มิติด้านเศรษฐกิจ สนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งเสริมธุรกิจแบบใหม่ที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น มุ่งเน้นการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็กและขนาดย่อม

ประการที่สอง “ความยั่งยืน (Resilient and Robust)” มิติด้านความมั่นคง สนับสนุนความพร้อมในการเผชิญหน้ากับความท้าทายและวิกฤตในทุกรูปแบบ และสนับสนุนนโยบายในด้านการฟื้นตัว ซึ่งไทยพร้อมที่จะแบ่งปันโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่ไทยใช้เป็นยุทธศาสตร์ชาติในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด

ประการที่สาม “การเปิดกว้าง (Open)” มิติการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ เน้นให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง และเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งไทยมีแผนที่จะจัดทำเวทีพัฒนาความรู้กรอบบิมสเทค (BIMSTEC Knowledge Platform) เพื่อเป็นแพลตฟอร์มให้ประชาชนเข้าถึง และตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของความร่วมมือบิมสเทค โดยนายกรัฐมนตรีแสดงความพร้อมในการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในบิมสเทคที่ยั่งยืน มีคุณภาพ และเป็นมิตร กับสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย

โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวยืนยันถึงความมุ่งมั่นของไทยที่จะขับเคลื่อนบิมสเทคไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็งในทุกด้าน วาระการเป็นประธานบิมสเทคของไทยจะสอดคล้องกับแนวคิด “โปรบิมสเทค” เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน สมดุล และครอบคลุม

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีได้ร่วมลงนามในกฎบัตรบิมสเทค (BIMSTEC Charter) ที่ถือเป็นเครื่องมือหลักในการดำเนินการภายใต้กรอบบิมสเทค โดยกำหนดวัตถุประสงค์ หลักการ กลไกการดำเนินงาน สิทธิและหน้าที่ของรัฐสมาชิก การบริหารจัดการ งบประมาณ และประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และเมื่อประเทศสมาชิกลงนามและให้สัตยาบันแล้วจะส่งผลให้กรอบบิมสเทคกลายเป็นองค์การระหว่างประเทศในระดับรัฐบาล (inter-governmental organization)

Advertisement

เตรียมรับคืนวัตถุโบราณจากสหรัฐอีก 3 รายการ

People Unity News : 29 สิงหาคม 65 รัฐบาลโชว์ผลงานติดตามวัตถุโบราณไทยในต่างประเทศ 5 ปี 611 รายการ เตรียมรับคืนจากสหรัฐอีก 3 รายการ

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากความมุ่งมั่นของรัฐบาล และคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ได้ร่วมทำงานอย่างบูรณาการประสานกับส่วนราชการประเทศต่างๆ เพื่อติดตามโบราณวัตถุของไทยฯ ความคืบหน้าล่าสุด กระทรวงวัฒนธรรมรายงานว่า สำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐอเมริกา (Homeland Security Investigations: HSI) ได้เจรจาให้พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งเดนเวอร์  (The Denver Art Museum) เตรียมการส่งคืนโบราณวัตถุกลับไทยโดยเร็ว จำนวน 3 รายการ ได้แก่ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ศิลปะเขมรสมัยก่อนเมืองพระนคร และพระพุทธรูปยืนศิลปะทวารวดี 2 องค์

นางสาวรัชดา กล่าวต่อว่า สำหรับทับหลังปราสาทหนองหงส์และทับหลังจากปราสาทเขาโล้น ที่ได้รับคืนจากพิพิธภัณฑ์ Asean Art ในสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ.2564 ขณะนี้ทับหลังปราสาทหนองหงส์ ได้จัดแสดง ณ ศูนย์ข้อมูลอุทยานประวัติศาสตร์ พนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ และทับหลังปราสาทเขาโล้น จัดแสดงที่ศูนย์ข้อมูลอุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม จังหวัดสระแก้ว และเปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ทั้งสองแห่ง ส่วนการติดตามโบราณวัตถุคืนไทยในลำดับถัดไป ทางคณะกรรมการฯ แจ้งว่ามีจำนวน 2 รายการ คือ 1.พระพุทธรูปประทับเหนือพนัสบดีสมัยทวารวดี จากเมืองโบราณซับจำปา จังหวัดลพบุรี อยู่ในความครอบครองของสถาบันเอเชียโซไซตี้ นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และ 2.ใบเสมาหินสลักภาพพุทธประวัติสมัยทวารวดี จากเมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ ปรากฏข้อมูลใน Collection online ของ The British Museum

“ถือเป็นผลงานที่เป็นรูปธรรมของรัฐบาล ภายใต้การทำงานของคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ซึ่งตลอดระยะเวลา 5 ปีของการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ ได้ประสานความร่วมมือกับรัฐบาลประเทศต่างๆ สามารถติดตามและรับมอบโบราณวัตถุได้รวม 9 ครั้ง จำนวน 611 รายการ สร้างความยินดีแก่คนไทย รวมถึงความเข้าใจแก่บุคคลทั่วไปทั้งในและนอกประเทศถึงคุณค่าของโบราณวัตถุเมื่อได้กลับคืนสู่ประเทศต้นกำเนิด และสืบเนื่องจากการดำเนินการอย่างจริงจังดังกล่าว มีผู้ครอบครองโบราณวัตถุทั้งชาวไทยและต่างชาติ แจ้งความประสงค์ที่จะมอบโบราณวัตถุให้เป็นสมบัติชาติ เช่น ล่าสุดกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้แทนรับมอบครอบพระเศียรทองคำ สมัยล้านนา จากชาวอเมริกัน และนายโยธิน ธาราหิรัญโชติ มอบโบราณวัตถุชิ้นเอกและหนังสือบัญชีโบราณวัตถุ เครื่องปั้นดินเผาสมัยลพบุรีจากแหล่งเตาโบราณในจังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 164 รายการ” นางสาวรัชดา กล่าว

Advertisement

สธ. เผย EU รับรอง Thailand Digital Health Pass ใช้เดินทางเข้าได้ 60 ประเทศ

People Unity News : สธ. เผย EU รับรอง Thailand Digital Health Pass ใช้เดินทางเข้าได้ 60 ประเทศ

12 ก.พ. 65 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยถึงการใช้ Digital Health Pass บนระบบหมอพร้อม ที่สามารถใช้เดินทางในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (EU) ได้กว่า 60 ประเทศ/ดินแดน หลังประเทศไทยได้พัฒนาเอกสารรับรองเกี่ยวกับโควิด-19 ให้เท่าเทียมกับเอกสารของ EU (EU Digital COVID Certificate) ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเอกสารรับรองฯ เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 64 ที่ผ่านมา

ส่งผลให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยสามารถใช้ Thailand Digital Health Pass แสดงสถานะสุขภาพเกี่ยวกับโควิด-19 ก่อนเดินทางสู่กลุ่มประเทศ EU รวมถึงใช้แสดงข้อมูลก่อนเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆในประเทศเหล่านั้น เป็นการอำนวยความสะดวกประชาชนโดยไม่มีค่าใช้จ่ายและไม่ต้องขอเอกสารรับรองอื่นๆอีก ขณะที่ สธ. สามารถติดตามและตรวจสอบสถานะสุขภาพของนักเดินทางจากประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปที่เดินทางเข้ามาในไทยได้เช่นกัน

Thailand Digital Health Pass จะแสดงข้อมูลสำคัญ 2 ส่วน คือ

1.ข้อมูลจำเป็นในการยืนยันตัวตน ได้แก่ ชื่อ – นามสกุล เลขประจำตัวประชาชน อายุ สัญชาติ หมายเลขหนังสือเดินทาง (ถ้ามี)

2.ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 ได้แก่ ข้อมูลการฉีดวัคซีน ข้อมูลการตรวจหาเชื้อโควิด ข้อมูลการหายป่วยจากโควิด ในรูปแบบ QR Code ที่มีลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์กำกับ

Advertising

“จุรินทร์” รุกตลาดกลุ่มประเทศยูเรเซีย เพิ่มการค้า-การลงทุน ผลักดันการเจรจา FTA

People Unity News : รัฐบาลกระชับสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับกลุ่มประเทศยูเรเซีย เพิ่มการค้า-การลงทุน ผลักดันสู่เจรจา FTA

23 กันยายน 2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า รัฐบาลเดินหน้าขยายตลาดการค้า การลงทุนกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Union) ประกอบด้วย ประเทศรัสเซีย คาซัคสถาน เบลารุส อาเมเนีย และคีกีซสถาน โดยจะมีการประชุมคณะทำงานร่วมระหว่างไทยกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Commission: EEC) ครั้งที่ 2 แบบทางไกล ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ในวันที่ 27 ก.ย.นี้  โดยฝ่ายไทยมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย

ที่ผ่านมาไทยและกลุ่มประเทศยูเรเซีย ได้มีข้อตกลงความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายสนใจ รวมถึงการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน ผ่านกลไกคณะทำงานร่วม โดยในปี 2563 มูลค่าการค้ารวมประมาณกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกหลักของประเทศไทย คือ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เครื่องปรับอากาศ สินค้าหลักที่ไทยนำเข้า คือ น้ำมันดิบ เหล็กและผลิตภัณฑ์ ปุ๋ย ยาจำกัดศัตรูพืช สินแร่โลหะ เป็นต้น

นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการประชุมครั้งนี้ ท่าทีของประเทศไทย จะมุ่งเน้นไปที่ 1) การหาแนวทางเพื่อขยายการค้าและการลงทุนภายใต้สถานการณ์โควิด-19 2) การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านนโยบาย กฏระเบียบด้านการค้าและการลงทุน เช่น การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในประเทศที่เกี่ยวข้องของแต่ละฝ่าย มาตรการเยียวยาทางการค้า กฎระเบียบด้านศุลกากรและกฎระเบียบทางเทคนิคและมาตรการสุขอนามัย จะผลักดันความร่วมมือในสาขา อาทิ นวัตกรรมและการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิตอล เกษตรอัจฉริยะ เศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว (BCG โมเดล) และความร่วมมือด้านยางพารา และ 3) ติดตามความคืบหน้าเรื่องการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) และกระบวนการจัดทำ FTA ของแต่ละฝ่าย

“รัฐบาลอยู่ระหว่างการศึกษา และเจรจาทำข้อตกลงการค้าเสรีกับหลายประเทศ เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุน โดยทุกเรื่องได้ดำเนินการอย่างรอบคอบและรับฟังข้อเสนอจากทุกภาคส่วน สำหรับการประชุมกับกลุ่มประเทศยูเรเซียในครั้งนี้ ผลลัพธ์จะนำไปสู่การยกระดับและกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง เป็นช่องทางสำคัญในการผลักดันการนำไปสู่การเริ่มต้นเจรจาจัดทำ FTA ระหว่างกันในอนาคต” นางสาวรัชดากล่าว

Advertising

ประยุทธ์ หารือคณะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯตอกย้ำความเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดระหว่างกัน

People Unity News : โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ หารือ คณะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ยืนยัน ไทย-สหรัฐฯ พร้อมตอกย้ำความเป็นหุ้นส่วน เดินหน้าความร่วมมือในทุกมิติ

วันนี้ (8 พฤศจิกายน 2564) 11.00 น. ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นาย Amerish “Ami” Bera ประธานคณะอนุกรรมาธิการ ด้านเอเชีย แปซิฟิก เอเชียกลาง และการไม่แพร่ขยายอาวุธ คณะกรรมาธิการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ หัวหน้าคณะ นำคณะสภาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสเดินทางเยือนไทย นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงสาระสำคัญของการหารือ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับคณะสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ สู่ประเทศไทย โดยถือเป็นคณะแรกที่เยือนไทยนับตั้งแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สะท้อนถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น และยาวนานระหว่างกัน ทั้งนี้ ไทยยินดีที่ความสัมพันธ์ การแลกเปลี่ยนการเยือน และความร่วมมือในมิติต่างๆ ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลไทยพร้อมสนับสนุนการทำงานร่วมกับสหรัฐฯอย่างเต็มที่ เพื่อประโยชน์ร่วมกันอย่างรอบด้าน

ด้านประธานคณะอนุกรรมาธิการ ยินดีที่ได้เดินทางมาเยือนไทยในครั้งนี้ ไทย และสหรัฐฯมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด และมีความร่วมมือในทุกมิติ ทั้งนี้ ด้วยสถานการณ์และความท้าทายในปัจจุบัน ความเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดระหว่างกันจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยคณะ ส.ส. สหรัฐฯพร้อมสนับสนุนรัฐบาลไทย และส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย

ทั้งสองฝ่ายพร้อมกระชับความร่วมมือระหว่างกัน และยินดีที่รัฐบาลไทยและสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีไบเดน มีนโยบายสำคัญที่สอดคล้อง และมีท่าทีร่วมกันในประเด็นที่เป็นที่สนใจในเวทีโลกหลายประเด็น อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งรวมถึงการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด- 19 ทั้งในมิติด้านมาตรการทางสาธารณสุขและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

โอกาสนี้ นายกฯ กล่าวยินดีที่การค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ยังคงขยายตัว แม้ในช่วงโควิด-19 พร้อมย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสนับสนุนภาคเอกชนสหรัฐฯ ที่ลงทุนในประเทศไทย นายกรัฐมนตรีได้พบหารือกับภาคเอกชนสหรัฐฯ เป็นประจำทุกปี ในขณะที่ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า ความร่วมมือด้านความมั่นคงและการทหาร ก็ยังคงเป็นอีกส่วนสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐฯ ทั้งนี้ ไทยมุ่งมั่นจะเสริมสร้างความเป็นพันธมิตรและความร่วมมือกับสหรัฐฯอย่างใกล้ชิดต่อไป

นอกจากนี้ ไทยมุ่งหวังที่จะเห็นภูมิภาคนี้มีความมั่งคั่ง มั่นคง และธำรงไว้ซึ่งสันติภาพเช่นเดียวกับสหรัฐฯ โดยท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ และความท้าทายต่างๆ ไทยพร้อมร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินบทบาทที่สร้างสรรค์ของสหรัฐฯ ในภูมิภาคและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะผ่านกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค เช่น อาเซียน ACMECS และ US-Mekong Partnership

Advertising

Verified by ExactMetrics