วันที่ 26 เมษายน 2024

ดันท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ผ่านแคมเปญ “Discover the New You”

People Unity News : 8 กรกฎาคม 2566 โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ส่งเสริมการผลักดันการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ผ่านแคมเปญ “Discover the New You” กระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวและการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการสินค้า คาดการณ์ยอดไม่น้อยกว่า 18 ล้านบาท ภายในกันยายน 2566 นี้

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ส่งเสริมความร่วมมือในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ผ่านแคมเปญ “Discover the New You!” เพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ ส่งเสริมสินค้าและบริการ Health and Wellness ในรูปแบบใหม่ที่สร้างสรรค์ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่มีความหลากหลายอย่างยั่งยืน ตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวในยุคปัจจุบัน เชื่อมั่นแคมเปญนี้จะกระตุ้นการใช้จ่ายได้ตามคาดการณ์

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ในแคมเปญ “Discover the New You!” ร่วมกับผู้ประกอบการ Health and Wellness ชั้นนำทั่วประเทศ ทั้งโรงแรม รีสอร์ตสุขภาพ สปา ตลอดจนโรงพยาบาล คลินิกเฉพาะทางต่าง ๆ จำนวนกว่า 130 ราย โดยเป็นการดำเนินงานภายใต้โครงการ Amazing Thailand Health and Wellness New Chapters New Experience เพื่อร่วมกันออกแบบผลิตภัณฑ์สินค้าบริการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ ภายใต้แนวคิด Meaningful Wellness นอกจากนี้ ททท. ยังได้เชิญชวนผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว และ Blogger Influencer เข้าร่วมกิจกรรม สร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพที่แตกต่างและหลากหลาย ดึงดูดความสนใจกลุ่มนักเดินทางสายสุขภาพที่กำลังเติบโตเป็นอย่างมาก โดยมีเส้นทางที่จะได้รับคัดเลือกให้ทำการส่งเสริมการขายในสื่อประชาสัมพันธ์ของพันธมิตร ผู้ประกอบการ และสื่อของโครงการฯ จำนวน 15 เส้นทาง ทั้งนี้ ททท. เชื่อมั่นและคาดการณ์ว่า กิจกรรมดังกล่าวจะกระตุ้นให้เกิดการเดินทางทั่วประเทศ ไม่น้อยกว่า 3,000 ราย และเกิดการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการท่องเที่ยวที่ร่วมโครงการฯ ไม่น้อยกว่า 18 ล้านบาท ภายในเดือนกันยายน 2566 นี้

ทั้งนี้ สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.discoverthenewyou.travel/

Facebook: www.facebook.com/thailanddiscoverthenewyou

Line Official Account: @tat-wellness.th และสามารถเลือกซื้อสินค้าและบริการเพื่อสุขภาพภายใต้โครงการได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป

“นายกรัฐมนตรีขอบคุณทุกความร่วมมือในการจัดกิจกรรมดังกล่าว นอกจากจะขานรับนโยบายของรัฐบาลในการผลักดันการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนแล้ว ยังตอบโจทย์การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่เป็นกระแส และกำลังเติบโตอย่างมากในปัจจุบัน โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า กิจกรรมนี้ จะช่วยดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสประสบการณ์การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ผลักดันตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทยให้เติบโต เพิ่มตัวเลขมูลค่าทางเศรษฐกิจ จากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพและกำลังซื้อ” นายอนุชา กล่าว

Advertisement

ธปท.แจงหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่เคยเร่งตัวสูงในช่วงโควิดทยอยปรับลดลง

People Unity News : 3 กรกฎาคม 2566 ธปท. ชี้ไตรมาส 1 /2566 หนี้ครัวเรือน 16 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.6% ต่อ GDP เพิ่มขึ้นจากปรับข้อมูลให้ครอบคลุมผู้ให้กู้ ไม่ใช่หนี้ใหม่  แจงหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่เคยเร่งตัวสูงในช่วงโควิดทยอยปรับลดลง เร่งออกแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ติดตามสถานการณ์หนี้ครัวเรือนใกล้ชิดและผลักดันการดำเนินการตามมาตรการแก้หนี้ระยะยาวกับเจ้าหนี้อย่างต่อเนื่องทุกเดือน เพื่อให้เจ้าหนี้ยังให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ให้กลับมาฟื้นตัวได้ โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ทยอยลดลงจากที่เร่งตัวสูงในช่วงโควิด โดย ณ ไตรมาส 1 ปี 2566 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.6% ต่อ GDP เพิ่มขึ้นจากการปรับข้อมูลให้ครอบคลุมผู้ให้กู้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่หนี้ที่เพิ่งเกิดใหม่โดยจากข้อมูลชุดใหม่ หนี้ครัวเรือนในไตรมาส 4 ปี 2565 อยู่ที่ 91.4% ขณะที่จำนวนบัญชีและยอดหนี้ของสินเชื่อที่ค้างชำระเกิน 90 วัน จากผลกระทบของโควิด (ลูกหนี้รหัส 21) ล่าสุดได้ทยอยปรับลดลงจากจุดสูงสุดเมื่อเดือน ต.ค.2565 แล้ว จากการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

ในระยะต่อไป NPL อาจทยอยปรับขึ้นบ้าง จากกลุ่มเปราะบางที่รายได้น้อย หรือรายได้ยังไม่ฟื้นตัว แต่จะไม่เห็น NPL cliff และเป็นระดับที่สถาบันการเงินบริหารจัดการได้ สอดคล้องกับมุมมองของ Rating agencies ต่อภาคธนาคารไทยที่ยังมั่นคง อีกทั้งการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยจะทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ปรับดีขึ้น โดยหนี้กลุ่มเปราะบางที่อาจเสื่อมคุณภาพลง ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย มีภาระหนี้สูง และกลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำซึ่งเคยได้รับความช่วยเหลือแล้ว แต่ยังกลับมาชำระหนี้ไม่ได้ สำหรับสินเชื่อรถยนต์ ที่จัดชั้น stage 2 (SM) ที่เพิ่มขึ้นหลังช่วงโควิด ไม่จำเป็นว่าจะกลายเป็นหนี้เสียทั้งหมด ดูได้จากพฤติกรรมของลูกหนี้ในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่าอาจเว้นงวดผ่อนรถเพื่อนำเงินไปหมุนจ่ายภาระอื่น ทำให้โดยทั่วไป SM ของสินเชื่อรถยนต์จะอยู่ในระดับสูงกว่าสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่น ซึ่ง ธปท. ได้กำชับ เจ้าหนี้ ลูกหนี้ ให้เร่งเจรจาปรับโครงสร้างหนี้แล้ว นอกจากนี้ ลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันและเป็นหนี้เสียค้างชำระเกินกว่า 120 วัน ก็สามารถเข้าร่วมคลินิกแก้หนี้ เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ให้ภาระรายเดือนอยู่ในระดับที่สามารถชำระคืนได้

ธปท. จะเร่งออกแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ซึ่งต้องทำอย่างครบวงจร ถูกหลักการ และร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยจะครอบคลุมตลอดวงจรหนี้ ตั้งแต่การก่อหนี้ใหม่ที่มีคุณภาพ การดูแลหนี้เดิมโดยเฉพาะ NPL และหนี้เรื้อรัง รวมถึงช่วยให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อในระบบ โดยแนวทางที่ ธปท. จะดำเนินการตามลำดับคือ (1) เกณฑ์ Responsible Lending (RL) ที่กำหนดให้เจ้าหนี้ให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมตลอดวงจรหนี้ ตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ หนี้มีปัญหา จนถึงการขายหนี้ โดยลูกหนี้ต้องได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสม ทันเวลา มีคุณภาพ และเพียงพอ มีแนวทางการดูแลลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรัง ให้เห็นทางปิดจบหนี้ได้ (2) กลไก Risk-based pricing (RBP) เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ และช่วยให้ลูกหนี้จ่ายอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงและได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม โดยหลักการสำคัญคือลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำควรได้รับดอกเบี้ยที่ต่ำลง และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อในระบบสำหรับลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง และ (3) มาตรการ Macroprudential policy (MAPP) ให้เจ้าหนี้ให้สินเชื่อสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ และลูกหนี้มีเงินเหลือพอดำรงชีพ ไม่นำไปสู่การก่อหนี้สินเกินตัว เช่น การคุมหนี้ไม่ให้อยู่ในระดับสูงเกินไปเมื่อเทียบกับรายได้ในแต่ละเดือน (DSR) ซึ่งจะต้องพิจารณาให้เหมาะกับบริบทของเศรษฐกิจ โดย ธปท. จะชี้แจงรายละเอียดช่วงปลายเดือน ก.ค.นี้

“การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนอื่น เพื่อขยายผลไปยังอีก 30% ของหนี้ครัวเรือนที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. ด้วย เช่น การปลูกฝังให้ลูกหนี้มีความรู้และวินัยทางการเงิน การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบของเจ้าหนี้ทั้งระบบ การพัฒนาฐานข้อมูลที่ใช้ประเมินและติดตามหนี้และการแก้จน สร้างรายได้ เป็นต้น” นางสาวสุวรรณี กล่าว

Advertisement

 

นายกฯ ยินดี Ericsson ยกไทยเป็นตลาดผู้นำด้าน 5G ในภูมิภาค

People Unity News : 2 กรกฎาคม 2566 โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ยินดี Ericsson ยกไทยเป็นตลาดผู้นำด้าน 5G ในภูมิภาค รายงานระบุ ไทยมีความพร้อมของบริการ 5G ครอบคลุมประชากรกว่า 80% และมีแนวโน้มเติบโตอย่างแข็งแกร่ง สะท้อนผลสำเร็จตามนโยบายรัฐบาล เพื่อพัฒนาระบบนิเวศดิจิทัลของประเทศ

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยผลสำเร็จการดำเนินนโยบายของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่สนับสนุนให้รัฐบาลพัฒนาระบบนิเวศดิจิทัลของประเทศ พร้อมวางแนวทางการส่งเสริมการลงทุนและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G มาอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากรายงาน Ericsson Mobility Report ที่ชื่นชมความพร้อมของบริการ 5G ของไทย ครอบคลุมประชากรแล้วกว่าร้อยละ 80 ในปี 2565 ด้าน Ericsson Thailand ยกประเทศไทยเป็นตลาดผู้นำด้าน 5G ในภูมิภาค พร้อมคาดการณ์การบริโภคข้อมูลในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า Ericsson Mobility Report ฉบับเดือนมิถุนายน 2566 รายงานจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือ 5G มีแนวโน้มเติบโตในทุกภูมิภาคทั่วโลกและคาดว่าจะมีจำนวนมากถึง 1.5 พันล้านราย ภายในสิ้นปี 2566 ขณะที่ปริมาณการใช้ Data ผ่านเครือข่ายมือถือทั่วโลก คาดว่าจะเกินกว่า 20 GB/เดือน ภายในสิ้นปี 2566 โดยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนีย คาดว่าจะมีปริมาณสูงถึง 54 GB/เดือน ภายในปี 2571 หรือเติบโตที่ร้อยละ 24 ต่อปี โดยในปี 2565 ประชากรในไทยมากกว่าร้อยละ 80 สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีนี้แล้ว นอกจากนี้ Ericsson Thailand ยังระบุว่า ประเทศไทยเป็นผู้นำด้าน 5G ในภูมิภาค พร้อมคาดการณ์ ปี 2568 การบริโภคข้อมูลในไทยจะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง เกือบ 80 GB/เดือน

“นายกรัฐมนตรียินดีผลการรายงานดังกล่าว สะท้อนความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมจากการดำเนินนโยบายอย่างต่อเนื่องของรัฐบาล พร้อมทั้งขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ และเอกชน ที่ขานรับดำเนินการตามแนวนโยบายของรัฐบาล ทำให้ประเทศไทยมีอัตราการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ที่สูง เป็นปัจจัยที่เพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันของประเทศ รวมทั้ง เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมอย่างเต็มประสิทธิภาพ” นายอนุชา กล่าว

Advertisement

นายกฯ ชื่นชมการแปรรูปพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าสินค้าข้าว

People Unity News : 2 กรกฎาคม 2566 โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ชื่นชมการแปรรูปพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าสินค้าข้าว “สาโท ข้าวเหนียวดำลืมผัว และข้าวเจ้า กข41” โดยศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก เตรียมศึกษาเชิงลึก เพื่อสร้างนวัตกรรมระดับชุมชน เป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์ให้กลุ่มเกษตรกรใช้ต่อยอดขยายผลทางธุรกิจ

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า สืบเนื่องจากเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้นำชาวนา องค์กรชาวนาที่ได้รับรางวัลเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2566 เข้าเยี่ยมคารวะพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เนื่องในโอกาสวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ ณ ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบโอวาทและนโยบาย ย้ำถึงการขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลคำนึงถึงประโยชน์ที่เกษตรกรและประชาชนจะได้รับ โดยเฉพาะการพยายามหาแนวทางที่จะทำให้เกษตรกรและประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับมากขึ้น สำหรับผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น การขับเคลื่อนสินค้า GI ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดี นั้น

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขานรับนโยบายของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี โดยนายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว มอบหมายให้นายสานิตย์ จิตต์นุพงศ์ ที่ปรึกษาอธิบดีฯ นำนายสมควร รุ่งเรือง ประธานศูนย์ข้าวชุมชนตำบลท่าช้าง อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสุราพื้นบ้าน พร้อมคณะ เข้าศึกษาดูงานวิจัยด้านการแปรรูปข้าวที่ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา โดยนางสาวชวนชม ดีรัศมี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก พร้อมทีมนักวิจัย ได้นำชมงานวิจัยด้านการแปรรูปข้าวและการทดสอบรสชาติเครื่องดื่ม “สาโท” ที่ผลิตจากข้าวหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งทีมวิจัยได้คัดเลือกสายพันธุ์ข้าวที่โดดเด่นของจังหวัดพิษณุโลก ได้แก่ ข้าวเหนียวดำลืมผัว และข้าวเจ้า กข41 มาแปรรูปเพิ่มมูลค่า ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาวิจัย โดยศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลกจะได้ทำการวิจัยและพัฒนาเพิ่มเติมเริ่มจากข้าวหมากไปจนถึงคราฟเบียร์ต่อไป

นายอนุชา กล่าวถึงข้อมูลของศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก ระบุว่า เครื่องดื่มสาโทจากข้าวเหนียวดำลืมผัว และข้าวเจ้า กข41 เป็นผลิตภัณฑ์ส่วนหนึ่งของการดำเนินงานแผนงานวิจัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีการแปรรูปพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าสินค้าข้าว โดยนายพูลเศรษฐ์ พรโสภณ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ สังกัดศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก กองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว ในฐานะหัวหน้าแผนงานวิจัยฯ ได้นำข้าวทั้ง 2 พันธุ์ ซึ่งเป็นข้าวที่เกษตรกรภาคเหนือตอนล่างนิยมปลูกกันโดยทั่วไปมาใช้ในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ โดยข้าวเหนียวดำลืมผัวเป็นข้าวที่มีเยื่อหุ้มเมล็ดข้าวกล้องสีดำ มีคุณค่าทางโภชนาการสูงและอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เมื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตสาโทตามกระบวนการวิจัย สามารถปรับอัตราส่วนผสมให้ได้สาโทที่มีโทนสีชมพูจนถึงสีแดงคล้ายไวน์โรเซ หรือไวน์แดงจากองุ่น ส่วนข้าวพันธุ์ กข41 เป็นข้าวเจ้าพื้นแข็งที่มีปริมาณอมิโลสสูง ค่อนข้างต้านทานต่อโรคและแมลงในเขตภาคเหนือตอนล่าง และให้ผลผลิตต่อไร่สูง เป็นพันธุ์ข้าวที่เกษตรกรในจังหวัดพิษณุโลก พิจิตร สุโขทัย นิยมปลูกเป็นอย่างมาก แต่ตามปกติแล้ว เกษตรกรจะขายผลผลิตเป็นข้าวเปลือกให้กับโรงสีในราคาตามกลไกของท้องตลาดซึ่งในบางช่วงเวลาอาจได้มูลค่าไม่สูงนัก ข้าวพันธุ์นี้เมื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตสาโท จะได้สาโทที่มีลักษณะใสและมีสีออกโทนสีเหลืองเล็กน้อยคล้ายไวน์ขาว

นายอนุชา กล่าวต่อไปว่า ในการวิจัยขั้นต่อไป หัวหน้าแผนงานวิจัยฯ ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก เผยว่าจะเป็นการศึกษาในเชิงลึกเกี่ยวกับสภาวะกระบวนการผลิต เชื้อจุลินทรีย์จากลูกแป้ง สารประกอบสำคัญและสารให้กลิ่นรสต่าง ๆ การผลิตเป็นสุรากลั่นคุณภาพ และการใช้ข้าวไทยเป็นวัตถุดิบในการผลิตคราฟเบียร์ รวมไปถึงการใช้ประโยชน์จาก by-product ของกระบวนการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และนอกจากผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ได้กล่าวมาแล้ว ทีมนักวิจัยของกรมการข้าว ยังมีเป้าหมายในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทอื่น ๆ เพื่อเป็นการใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าว เช่น ผลิตภัณฑ์ประเภท functional food ผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกจากข้าว และผลิตภัณฑ์จากรำข้าว เป็นต้น โดยมีเป้าหมายเมื่องานวิจัยสำเร็จ จะสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ต่อยอดสู่กลุ่มเกษตรกรเป้าหมาย เพื่อสร้างนวัตกรรมระดับชุมชนในเรื่องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าข้าว กลุ่มเกษตรกรมีองค์ความรู้ และทักษะการคิดวิเคราะห์ รวมถึงทักษะการปฏิบัติในกระบวนการแปรรูปผลผลิตข้าวของชุมชน ได้เป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่กลุ่มเกษตรกรสามารถใช้ต่อยอดขยายผลทางธุรกิจได้ต่อไป

“นายกรัฐมนตรีชื่นชมการดำเนินงานแผนงานวิจัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีการแปรรูปพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าสินค้าข้าว ของศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก กรมการข้าว ที่เป็นการส่งเสริมสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าข้าว เป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่กลุ่มเกษตรกรสามารถใช้ต่อยอดขยายผลทางธุรกิจ ซึ่งจะส่งผลให้ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งตอบสนองการบริโภคในยุคปัจจุบัน สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยนายกรัฐมนตรีสนับสนุนให้กรมการข้าวและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทอื่น ๆ เพื่อเป็นการใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าว ให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับสำหรับผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศมากขึ้น และให้มีมูลค่าสูงตามความต้องการของตลาด เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืนต่อไปด้วย” นายอนุชา กล่าว

ทั้งนี้ “สาโท” เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประเภทที่ไม่ผ่านกระบวนการกลั่น เช่นเดียวกับเครื่องดื่มสาเกของญี่ปุ่น เกิดจากกระบวนการหมักให้เกิดแอลกอฮอล์ (alcoholic fermentation) โดยจุลินทรีย์ในกลุ่มยีสต์ ซึ่งทำหน้าที่เปลี่ยนน้ำตาลในวัตถุดิบได้เป็นแอลกอฮอล์ เป็นเครื่องดื่มจากภูมิปัญญาที่คงอยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนาน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาการผลิตให้ได้คุณภาพ และสร้างสรรค์เอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ เป็นแนวทางหนึ่งของการสร้างมูลค่าให้แก่ข้าวไทย

Advertisement

กรมการค้าภายในลุยปราบปรามโกงเครื่องชั่งไม่ได้มาตรฐานดำเนินคดีเพียบ

People Unity News : 30 มิถุนายน 2566 รองอธิบดีกรมการค้าภายในเผยช่วงครึ่งปีแรก 66 ลุยปราบปรามโกงเครื่องชั่งสินค้าเกษตรและตลาดสด ล้ง ลานเท มาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซ LPG ก๊าซ NGV และการตรวจสอบสินค้าหีบห่อไม่ได้มาตรฐานสูงถึง 2,532 เครื่อง/หีบห่อ และได้ดำเนินการตามกฎหมาย 173 รายแล้วเพื่อปกป้องสิทธิเกษตรกรและผู้บริโภค

ร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่าในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา กองชั่งตวงวัด กรมการค้าภายในได้ตรวจสอบเครื่องชั่งตวงวัดประเภทต่างๆ เช่น เครื่องชั่งสปริง เครื่องชั่งดิจิทัล เครื่องชั่งรถยนต์ โดยเฉพาะที่ใช้ในการรับซื้อสินค้าเกษตรตามล้ง ลานเท มาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซ LPG ก๊าซ NGV และ การตรวจสอบสินค้าหีบห่อ รวมทั้ง ถังก๊าซหุงต้ม โดยพบการกระทำความผิดทั้งหมด 173 ราย จำนวน 2,532 เครื่อง/หีบห่อ ซึ่งได้ดำเนินการตามกฎหมายแล้ว ดังนี้

– เปรียบเทียบปรับ จำนวน 161 ราย

– ยึดเครื่องชั่งและผูกบัตรห้ามใช้ รวม 8 ราย แบ่งเป็นกรณีเครื่องชั่งสปริง ยึดเพื่อทำลาย เนื่องจากเสื่อมสภาพไม่สามารถแก้ไขให้ตรงได้ และกรณีผูกบัตรห้ามใช้ สำหรับเครื่องชั่งตวงวัดที่มีอายุคำรับรองแต่ขาดการต่ออายุและอยู่ระหว่างรอให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ

– อยู่ระหว่างดำเนินคดี 4 ราย ซึ่งได้มีการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการด้วย

นอกจากนี้ กรมฯ ได้สั่งการให้เพิ่มความถี่ในการตรวจสอบเครื่องชั่ง ตั้งแต่ช่วงก่อนที่ผลไม้จะออกมาก เช่น ทุเรียน มังคุด ในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ เป็นต้น ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบซ้ำด้วย ซึ่งการโกงเครื่องชั่ง โดยดัดแปลงหรือใช้เครื่องชั่งที่ดัดแปลง มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 280,000 บาทและการกระทำการใดๆ ทำให้เครื่องชั่งแสดงค่าผิดไป เช่น ใช้มือกด ใช้แม่เหล็กถ่วงน้ำหนัก มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 120,000 บาท

ทั้งนี้ หากประชาชนถูกเอาเปรียบหรือพบการกระทำความผิดเกี่ยวกับเครื่องชั่งตวงวัด สามารถร้องเรียนได้ทางสายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือทางแอพลิเคชั่นไลน์ @MR.DIT หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดหรือสำนักงานสาขาชั่งตวงวัดทั่วประเทศได้

Advertisement

เตือน ปชช. 1.15 ล้านคน รีบยืนยันตัวตนใช้สิทธิบัตรสวัสดิการรัฐ

People Unity News : 27 มิถุนายน 2566 รัฐบาลแจงความคืบหน้าโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อุทธรณ์สำเร็จ 4.16 แสนคน เตือน 1.15 ล้านคน รีบยืนยันตัวตน เริ่มใช้สิทธิ 1 ส.ค.นี้

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุม ครม. รับทราบรายงานความก้าวหน้าโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 และการใช้สิทธิภายใต้โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้

ความก้าวหน้าโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการะทั้งสิ้น 19,647,241 ราย เมื่อพิจารณาคุณสมบัติของลงทะเบียนแล้วพบว่ามีผู้ผ่านเกณฑ์ จำนวน 14,596,820 ราย ไม่ผ่านเกณฑ์จำนวน 5,050,421 ราย โดยผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ได้ยื่นอุทธรณ์ จำนวน 1,266,682 ราย (คิดเป็นร้อยละ 25.08 ของผู้ไม่ผ่านเกณฑ์) และมีผู้ผ่านการตรวจสอบเพิ่มเติม (เกษตรกร) จำนวน 416,153 ราย

“ทำให้มีผู้ผ่านเกณฑ์โครงการ ปี 65 รวมทั้งสิ้น 15,012,973 ราย โดยมีผู้ที่ยืนยันตัวตนสำเร็จ จำนวน 13,444,534 ราย คิดเป็นร้อยละ 92.11 ของจำนวนผู้ผ่านเกณฑ์ทั้งหมด และยังไม่ได้ยืนยันตัวตนหรือยืนยันตัวตนไม่สำเร็จอีก จำนวน  1,152,286 ราย คิดเป็นร้อยละ 7.89 ของจำนวนผู้ผ่านเกณฑ์ทั้งหมด สำหรับผู้ที่ไม่ได้ยืนยันตัวตนหรือยืนยันตัวตนไม่สำเร็จ ยังคงยืนยันตัวตนได้ และจะเริ่มใช้สิทธิในวันที่ 1 สิงหาคม 2566 โดยจะได้รับสิทธิเฉพาะเดือนที่กระทรวงการคลังดำเนินการตั้งวงเงินให้ แต่ไม่ได้รับสิทธิย้อนหลัง” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

น.ส.รัชดา กล่าวว่า สำหรับการใช้สิทธิภายใต้โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2566 มีดังนี้ เดือนเมษายน 2566 มีผู้ใช้สิทธิจำนวน 12.31 ล้านราย มูลค่าการใช้สิทธิรวม 4,005.65 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค 3,682.35 ล้านบาท ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม 259.41 ล้านบาท ค่าเดินทางระบบขนส่งสาธารณะ 63.88 ล้านบาท สำหรับมาตรการบรรเทาค่าไฟฟ้า/ค่าน้ำประปา ผู้ขอใช้สิทธิต้องลงทะเบียนขอรับสิทธิ ส่วนการจ่ายเงินเพิ่มเติมเบี้ยคนพิการ เดือนละ 200 บาท เฉพาะผู้พิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการและผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติตามโครงการปี 65 มีจำนวน 794,189 ราย รวมเป็นเงิน 158.84 ล้านบาท

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เดือนพฤษภาคม 2566 มีผู้ใช้สิทธิจำนวน 12.79 ล้านราย มูลค่าการใช้สิทธิรวม 4,252.15 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค 4,028.97 ล้านบาท ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม 45.45 ล้านบาท ค่าเดินทางระบบขนส่งสาธารณะ 62.62 ล้านบาท สำหรับมาตรการบรรเทาค่าไฟฟ้า/ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า มูลค่าการใช้สิทธิ 105.09 ล้านบาท ค่าน้ำประปา มูลค่าการใช้สิทธิ 9.93 ล้านบาท ส่วนการจ่ายเงินเพิ่มเติมเบี้ยคนพิการ เดือนละ 200 บาท เฉพาะผู้พิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการและผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติตามโครงการปี 65 มีจำนวน 1,016,008 ราย รวมเป็นเงิน 203.20 ล้านบาท

“สถานะปัจจุบันของกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคมในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กองทุนมีงบประมาณรวม 51,644.51 ล้านบาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับจัดสรรสวัสดิการแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (1 ต.ค. 65-24 พ.ค. 66) จำนวน 35,923.45 ล้านบาท ส่งผลให้งบประมาณคงเหลือ ณ วันที่ 24 พ.ค. 66 รวมทั้งสิ้น 15,721.06 ล้านบาท” น.ส.รัชดา กล่าว

Advertisement

Expo 2028 Phuket Thailand นำเสนอครั้งสุดท้าย 21 มิ.ย.นี้ ที่กรุงปารีส

People Unity News : 17 มิถุนายน 2566 นายกฯ ติดตามการเตรียมความพร้อมการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน Expo 2028 Phuket Thailand ของไทย เชิญชวนคนไทยร่วมส่งกำลังใจให้ทีมไทยแลนด์ในการนำเสนอครั้งสุดท้าย 21 มิ.ย. นี้ ที่กรุงปารีส

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด ถึงความพร้อมของทีมไทยแลนด์ ในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน Specialised Expo 2028 ที่จังหวัดภูเก็ต ในชื่องาน “Expo 2028 Phuket Thailand ชีวิตแห่งอนาคต: แบ่งปันความรุ่งเรือง อยู่ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว (Future of Life: Living in Harmony, Sharing Prosperity)” ซึ่งจะมีการนำเสนอในขั้นตอนสุดท้ายในวันพุธที่ 21 มิถุนายน นี้ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในขณะนี้ประเทศไทย เป็นหนึ่งในประเทศผู้ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมเสนอชื่อในการเป็นเจ้าภาพจัดงาน Specialised Expo 2028 จากผู้เข้าร่วมการเสนอเป็นเจ้าภาพทั้งหมด 5 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เซอร์เบียร์ สเปน อาร์เจนตินา และไทย ซึ่งจะมีการคัดเลือกโดยประเทศสมาชิกองค์การนิทรรศการนานาชาติ (Bureau International des Expositions: BIE) 171 ประเทศ และจะมีการประกาศผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 21 มิถุนายน 2566 นี้ โดยประเทศไทยได้มีการเตรียมความพร้อมในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน Expo 2028 Phuket Thailand มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากไทยได้รับเลือกจะมีกำหนดการจัดงานในวันที่ 20 มีนาคม – 17 มิถุนายน พ.ศ. 2571 อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต

จังหวัดภูเก็ต ถือเป็นหนึ่งในจังหวัดของประเทศไทยที่มีศักยภาพด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่สำคัญ พร้อมทั้งยังมีความเป็นเอกลักษณ์ โครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย มีเสน่ห์ทางประวัติศาสตร์ รวมถึงการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ มีศูนย์วิจัยและพัฒนาระดับนานาชาติ ระบบนิเวศสวนสาธารณะที่ยั่งยืน และมีสถานที่อำนวยความสะดวกในการจัดงานต่างๆ โดยสิ่งเหล่านี้คือจุดแข็งของจังหวัดภูเก็ต ประเทศไทยในการแข่งขันครั้งนี้

โดยการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานในครั้งนี้คาดว่า จะมีผู้เข้าร่วมงาน 4.9 ล้านคนตลอด 3 เดือนของการจัดงาน เงินสะพัดกว่า 49,000 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานเพิ่มกว่า 1.1 แสนตำแหน่ง ,เกิดการพัฒนาเมืองของจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดในกลุ่มอันดามันคลัสเตอร์ ได้แก่ กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสุราษฎร์ธานี ,ยกระดับสู่การเป็นจุดหมายปลายทางด้านศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ของภูมิภาคอาเซียน และก้าวสู่การเป็นศูนย์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก ,หลังจากการจัดงานจะสามารถพัฒนาเป็นศูนย์บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขระดับนานาชาติครบวงจร รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นศูนย์ประชุมนานาชาติ และ Ecological Park

“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญติดตามความพร้อม สั่งการ และสนับสนุนการประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ตให้ได้เป็นเจ้าภาพการจัดงานในครั้งนี้ โดยรัฐบาลสนับสนุนการเตรียมความพร้อมมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ระยะแรกในปี 2564 และในช่วงนี้ถือเป็นช่วงสุดท้ายก่อนการประกาศผลอย่างเป็นทางการ โดยนายกรัฐมนตรีขอส่งกำลังใจให้ทีมไทยแลนด์ นำโดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ในการนำเสนอประเทศไทยในเวทีการประชุมสมัชชาใหญ่ BIE ณ กรุงปารีส วันที่ 21 มิถุนายนนี้ และขอให้ความตั้งใจอันดี และความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน ที่ได้ทำงานอย่างหนักร่วมกันมากว่า 3 ปี ส่งผลให้ประเทศของเราประสบความสำเร็จในการชิงชัยครั้งนี้ และขอเชิญชวนประชาชนชาวไทยทุกคน ร่วมส่งกำลังใจ แสดงความพร้อมในการสนับสนุนให้ประเทศไทยได้รับเลือกในการเป็นเจ้าภาพการจัดงานครั้งนี้ด้วยกัน” นายอนุชา กล่าว

Advertisement

อพท. กางโรดแมป ยกศักยภาพพื้นที่ เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว

People Unity News : 12 มิถุนายน 2566 อพท.เปิดโรดแมปฯ พัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 5 ปี (2566-2570) เพิ่มมาตรฐานตามหลักเกณฑ์สากล GSTC STMS ยูเนสโก และ CBT Thailand ผ่าน 249 โครงการ ใน 6 พื้นที่พิเศษ ทุ่มงบร่วม 2 หมื่นล้านบาท กระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่นกว่า 262,393 ล้านบาท

นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) ได้เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในระยะ 5 ปี (พ.ศ.2566 – 2570) ครอบคลุมการดำเนินงานใน 6 พื้นที่พิเศษของ อพท. โดยเริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปีงบประมาณ 2566 ภายใต้ 249 โครงการ รวมงบประมาณกว่า 1.96 หมื่นล้านบาท กระจายลงไปยังหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันบูรณาการส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่ที่มีศักยภาพทางด้านการท่องเที่ยวให้มีการบริหารจัดการการท่องเที่ยวในเชิงคุณภาพและเกิดความยั่งยืน พร้อมนำความรู้ด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่มาใช้ให้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ตามกลไกลการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ฯ ไปสู่การปฏิบัติตามแนวทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัดและขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง โดยขับเคลื่อนร่วมกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวและสร้างรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่นและเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เป้าหมาย คือ การเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว และผู้มาเยือน รวมถึงรายได้ให้เกิดขึ้นในพื้นที่พิเศษ โดยคาดว่าในปี 2566 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวและผู้เยี่ยมเยือน 23.91 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 182,130 ล้านบาท และตั้งเป้าหมายในปี 2570 ซึ่งเป็นปีที่สิ้นสุดแผน จะมีนักท่องเที่ยวและผู้เยี่ยมเยือนในพื้นที่พิเศษฯ สะสมเพิ่มขึ้นเป็น 31.27 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.78 จากปี 2566 ในขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยว คาดการณ์ว่าจะมีรายได้ 262,393 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.07 จากปี 2566

อพท. จะนำหลักเกณฑ์ตามมาตรฐานสากลมาใช้เพื่อยกระดับ ได้แก่ 1) การใช้เกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria: GSTC) ขึ้นสู่แหล่งท่องเที่ยวเป้าหมาย TOP100 ของโลก 2) การพัฒนาเมืองท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษไปสู่การเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UCCN) 3) การใช้มาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (STMS) ที่อพท. พัฒนาขึ้น ได้รับการรับรองในระดับสากล และ 4) เกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย (CBT Thailand) รวมถึงเครื่องมือการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism by DASTA) ซึ่งสอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต ความอยู่ดีมีสุขของประชาชน สร้างสมดุลทางสังคมระหว่างประชาชนในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยว

Advertisement

แนวโน้มตลาดเครื่องมือแพทย์ไทยปี 70 มูลค่ากว่าแสนล้าน

People Unity News : 12 มิถุนายน 2566 โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ยินดีแนวโน้มตลาดเครื่องมือแพทย์ของไทยเติบโตต่อเนื่อง คาดการณ์ในปี 2570 มีมูลค่ากว่าแสนล้านบาท อัตราการเติบโตเฉลี่ย 8.1% ระหว่างปี 2562-2570

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่ตลาดเครื่องมือแพทย์ในไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่าในปี 2570 ตลาดเครื่องมือแพทย์ของประเทศไทยจะมีมูลค่ากว่าแสนล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 8.1% (2562-2570) สืบเนื่องมาจากความต้องการนวัตกรรมทางการแพทย์ที่เพิ่มมากขึ้น โดยเชื่อมั่นว่าไทยพร้อมตอบรับกระแสความต้องการ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกตระหนักถึงประเด็นทางด้านสุขภาพมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดเครื่องมือแพทย์เติบโต จากข้อมูลของสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ไทย พบว่าตลาดเครื่องมือแพทย์ของโลกเติบโตเฉลี่ยปีละ 6.1% คาดการณ์ว่าในปี 2570 จะมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 7.44 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ตลาดเครื่องมือแพทย์ของไทย คาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 3.38 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่าแสนล้านบาทในปี 2570 มีอัตราเติบโตเฉลี่ย 8.1% ต่อปี (ปี 2562-2570)

นายอนุชา กล่าวว่า งานวิจัยของธนาคารกรุงศรีอยุธยา พบว่าในปี 2565-2566 มูลค่าจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ในประเทศจะเติบโตเฉลี่ย 5.0-7.0 % ต่อปี ความต้องการอุปกรณ์การแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัยและการดูแลสุขภาพ ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ เป็นผลมาจาก 1. อัตราการเจ็บป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 2. จำนวนผู้ป่วยต่างชาติที่มีแนวโน้มกลับมาใช้บริการในไทยเพิ่มขึ้นในปี 2565-2566 3. ผู้ประกอบการโรงพยาบาลมีแผนขยายการลงทุนต่อเนื่อง 4. กระแสการใส่ใจสุขภาพและการดูแลสุขภาพแบบครบวงจรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลก 5. ประเทศคู่ค้าหลักของไทยยังมีความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่อเนื่อง 6. นโยบายสนับสนุนจากรัฐบาลในการพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) และ 7. การพัฒนาผลิตภัณฑ์/นวัตกรรมการแพทย์ใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น

“นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ติดตามแนวโน้มการเติบโตของตลาดเครื่องมือแพทย์ของประเทศไทย วางแผนทางการตลาด ตั้งรับความต้องการ ทั้งการผลิตเพื่อบริโภคในประเทศ และการผลิตเพื่อส่งออก รวมทั้งคาดการณ์มูลค่าตลาด การเติบโตของอุตสาหกรรมชีวเภสัชภัณฑ์ รวมทั้งแนวทางการสนับสนุนไทยในภาคธุรกิจการแพทย์” นายอนุชา กล่าว

Advertisement

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ค.66 ดีขึ้นเป็นเดือนที่ 12 สูงสุดในรอบ 39 เดือน

People Unity News : 8 มิถุนายน 2566 ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ระบุผู้บริโภครู้สึกเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่การท่องเที่ยวฟื้น มีเม็ดเงินการหาเสียงเลือกตั้งหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือน พ.ค.66 ดีขึ้นเป็นเดือนที่ 12 และสูงสุดรอบ 39 เดือน นับตั้งแต่เดือน มี.ค.63

รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ประจำเดือนพฤษภาคม 2566 โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 39 เดือน นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่การท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน ตลอดจนบรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งที่คึกคักทั่วประเทศ ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ทำให้ประชาชนรู้สึกผ่อนคลายเรื่องค่าครองชีพลง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวดีขึ้นทุกรายการอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการจัดตั้งและเสถียรภาพทางการเมืองรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ค่าครองชีพที่ยังทรงตัวสูง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์สถาบันการเงินของโลก เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ตลอดจนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งส่งผลลบต่อการส่งออกของไทย ทำให้การส่งออกในช่วงนี้หดตัวลง และมีผลกระทบในเชิงลบต่อกำลังซื้อของประชาชนในทุกภูมิภาค

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ระดับ 50.2 52.8 และ 64.2 ตามลำดับ ปรับตัวดีขึ้นทุกรายการเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนเมษายน ที่อยู่ในระดับ 49.4 52.0 และ 63.6 ตามลำดับ แสดงว่าผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคต เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันและค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ปัญหาเศรษฐกิจโลกและสถาบันการเงินของโลกที่มีความเสี่ยงมากขึ้น ตลอดจนยังคงกังวลสถานการณ์โควิดในประเทศไทยและทั่วโลกที่ยังคงมีอยู่ แม้ว่าจะคลายตัวลงก็ตาม ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง

ทั้งนี้ การปรับตัวดีขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ที่ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 55.0 เป็น 55.7 เป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 39 เดือน นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้าจากวิกฤติ COVID-19 อัตราเงินเฟ้อสูงและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยและทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีปัญหาสถาบันการเงินสหรัฐที่ไม่มั่นคงเข้ามาซ้ำเติม ยิ่งส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้

ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้น จากระดับ 39.5 เป็น 40.5 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 39 เดือน นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 39 เดือน นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมาเช่นเดียวกัน โดยปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 62.5 มาอยู่ที่ระดับ 63.1 การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องทุกรายการ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มกลับมาเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้น

Advertisement

Verified by ExactMetrics