วันที่ 5 พฤษภาคม 2024

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะแจงมีหนี้สาธารณะ 7.8 ล้านล้านบาท ไม่ใช่ 78 ล้านล้านบาท

People Unity News : หนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 ที่ระดับ 78 ล้านล้านบาท ไม่เป็นความจริง

ตามที่ได้มีการแชร์รูปภาพและเนื้อข่าวว่า หนี้สาธารณะของประเทศไทย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 สูงถึง 78 ล้านล้านบาท นั้น นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ขอชี้แจงว่า เนื้อหาข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง  โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 หนี้สาธารณะมีจำนวนทั้งสิ้น 7.8 ล้านล้านบาท โดยมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เท่ากับร้อยละ 49.34 ประกอบด้วย หนี้รัฐบาล จำนวน 6.73 ล้านล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจ จำนวน 795,980 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) จำนวน 309,472 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานของรัฐ 7,821 ล้านบาท ทั้งนี้ หนี้ที่เป็นภาระต่องบประมาณโดยตรง จำนวน 6.3 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 39.40 ของ GDP สำหรับหนี้ของรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานของรัฐ จำนวน 1.5 ล้านล้านบาท ใช้แหล่งเงินอื่นมาชำระหนี้ จึงไม่เป็นภาระต่องบประมาณ

ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะขอให้ประชาชนมั่นใจว่า กระทรวงการคลังได้บริหารจัดการหนี้สาธารณะอย่างรอบคอบและระมัดระวัง ภายใต้กรอบวินัยทางการคลังอย่างเคร่งครัด โดยประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ปี 2564 ยังคงอยู่ภายใต้กรอบวินัยทางการคลังซึ่งกำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ทั้งนี้ การเจตนานำเข้า เผยแพร่ หรือส่งต่อข้อมูลที่บิดเบือน ปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ อาจเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

Advertising

ธอส. รับรางวัล ITA Awards จาก ป.ป.ช. อันดับที่ 1 ประจำปี 2563 เป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน

People Unity News : ธอส. รับรางวัล ITA Awards ในฐานะที่ได้รับคะแนนการประเมินสูงสุด อันดับที่ 1 ประจำปี 2563 เป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เป็นผู้แทนธนาคารรับรางวัลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 (ITA Awards) ในฐานะหน่วยงานที่ได้รับคะแนนสูงสุด เป็นอันดับ 1 ที่ 99.60 คะแนน อยู่ในระดับ AA จากจำนวนหน่วยงานภาครัฐที่เข้ารับการประเมินทั้งสิ้น 8,303 หน่วยงาน และถือเป็นคะแนนประเมินสูงสุดอันดับ 1 เป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน โดยมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และมีจำนวนผู้มีส่วนร่วมประเมินหรือแสดงความคิดเห็นผ่านการประเมิน ITA จำนวน 1,301,665 คน โดยมีคณะผู้บริหารธนาคาร นำโดย คุณธิดาพร มีกิ่งทอง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานสนับสนุน และรักษาการรองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มงานปฏิบัติการ และพนักงานธนาคาร เข้าร่วมงานดังกล่าวด้วย

ซึ่งคะแนนที่ ธอส. ได้รับในครั้งนี้เป็นผลจากการดำเนินงานภายใต้หลักการ “ผลลัพธ์ที่ดีเกิดจากกระบวนการที่ดี” โดยใช้ 6 Key Success Factors มาใช้ในการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง ประกอบไปด้วย 1.Leadership ผู้นำกำหนดนโยบายที่ชัดเจน บริหารงานอย่างมีธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ และต่อต้านการทุจริต 2.Employee Awareness & Engagement สร้างการรับรู้ให้พนักงานเกิดความตระหนักถึงการปฏิบัติงานด้วยความรักและผูกพันต่อองค์กร 3.Digitized Communication สื่อสารแบบดิจิทัลที่รวดเร็ว 4.Paticipation ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มมีส่วนร่วมในการดำเนินงานด้านต่างๆของธนาคาร  5.Technology พนักงานทั้งองค์กรปรับตัวเองในการนำเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนการทำงาน และ 6.Learning เรียนรู้จากผลการประเมินในปีที่ผ่านมา พร้อมนำหลักการ 3 Lines of Defense มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน ที่ทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อผลการปฏิบัติงาน มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้

ทั้งหมดนี้ คือสิ่งที่ทำให้ ธอส. ยังคงรักษาอันดับ 1 เป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน และมีผลคะแนน ITA สูงที่สุดตั้งแต่ได้เข้าร่วมการประเมิน ITA กับสำนักงาน ปปช. ตลอดมาอย่างต่อเนื่อง  ความสำเร็จที่ภาคภูมิใจในครั้งนี้เพราะเป็น “ธอส. หนึ่งเดียว หรือ GHB 1 Team เพื่อบรรลุพันธกิจทำให้ คนไทยมีบ้าน” ทั้งนี้ พิธีมอบรางวัลดังกล่าวจัดขึ้น ณ ตึกบัญชาการ 1 ชั้น 3 ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563

Advertising

แรงงานไทยเนื้อหอม ต่างชาติต้องการ ผลจากการบริหารจัดการโควิด-19 ที่ดีของไทย

สุชาติ ชมกลิ่น

People Unity News : แรงงานไทยช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศ ลดการว่างงาน หลังเป็นที่ต้องการของต่างประเทศ สาเหตุจากการบริหารจัดการโควิด-19 ที่ดีของไทย

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในช่วงการประชุม ครม.ครั้งล่าสุด รมว.แรงงาน (นายสุชาติ ชมกลิ่น) ได้รายงานให้ที่ประชุมซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมเป็นประธาน ได้รับทราบถึงการจัดส่งแรงงานไทยไปเก็บผลไม้ป่าในประเทศสวีเดนและประเทศฟินแลนด์ ฤดูกาล 2020 ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2563 ว่ามีแรงงานไทยที่ได้รับการอนุญาตให้เดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในทั้งสองประเทศจำนวนทั้งสิ้น 5,254 คนโดยแยกเป็นประเทศฟินแลนด์ 2,014 คน และประเทศสวีเดน จำนวน 3,210 คน ก่อให้เกิดรายได้เข้าประเทศโดยประมาณขั้นต่ำ 618,341,720 บาท แบ่งเป็นประเทศฟินแลนด์จำนวน 182,655,000 บาท และประเทศสวีเดน จำนวน 435,686,720 บาท โดยในการเดินทางไปในครั้งนี้ กรมการจัดหางานได้วางมาตรการเพื่อคุ้มครองแรงงานไทยภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 โดยดำเนินการตามนโยบายของ ศบค. ทุกประการ ซึ่งแรงงานไทยทั้งหมดได้ผ่านการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ก่อนเดินทางไป และหลังจากเดินทางกลับ และจะต้องผ่านการกักตัวเป็นระยะเวลาจำนวน 14 วัน ซึ่งในฤดูกาลนี้แรงงานทั้งหมดได้เดินทางกลับถึงประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1-22 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา และได้เข้ารับการกักกันตัวในสถานที่กักกันที่กระทรวงแรงงาน ,กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงกลาโหมได้ร่วมกันจัดขึ้น

สำหรับรายได้ของคนงานไทยที่ไปเก็บผลไม้ป่าในประเทศฟินแลนด์และประเทศสวีเดน ฤดูกาลปี 2020 พบว่า แรงงานที่เดินทางไปประเทศสวีเดน จะมีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายประมาณคนละ 150,000 – 180,000 บาท โดยมีระยะเวลาเก็บผลไม้ประมาณ 2 เดือน ส่วนคนงานที่เดินทางไปเก็บผลไม้ที่ประเทศฟินแลนด์ มีระยะเวลาการเก็บผลไม้ประมาณ 55 วัน และมีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายประมาณคนละ 90,000 – 150,000 บาท นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการกักตัวของคนงานทั้งหมดที่กลับมานั้น ไม่ได้ใช้งบประมาณของประเทศแต่อย่างใด แต่ใช้เงินของบริษัทต่างประเทศนั้นๆที่พาคนงานไทยไปทำงาน ซึ่งคนงานเหล่านี้ บริษัทต่างประเทศได้ออกค่าใช้จ่ายในการกักตัวโดยมีแบงค์การันตี คนละ 32,000 บาทต่อคน แต่หากค่าใช้จ่ายจริงไม่ถึงจำนวนนี้ กระทรวงแรงงานก็จะคืนให้บริษัทที่ออกค่าใช้จ่ายให้คนงานไทยที่ไปเก็บผลไม้ป่าต่อไป

นายอนุชา กล่าวว่า “แรงงานไทยเป็นที่ต้องการของต่างประเทศเป็นจำนวนมากในขณะนี้ ซึ่งส่วนสำคัญมาจากการบริหารจัดการโรคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดีของไทย ทำให้ประเทศที่ต้องการนำเข้าแรงงาน มีความมั่นใจแรงงานจากไทยเป็นลำดับต้นๆ ซึ่งเป็นโอกาสดีในการเพิ่มช่องทางให้แรงงานไทยได้มีตลาดทำงานในต่างประเทศมากขึ้น เพื่อให้แรงงานไทยมีอาชีพ มีรายได้ ลดปัญหาการว่างงานภายในประเทศไทย อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และนำเงินกลับเข้าประเทศไทย ซึ่งการเดินทางไปทำงานต่างประเทศของแรงงานไทย สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้เป็นจำนวนมาก”

Advertising

ธอส.ขยายเวลาช่วยเหลือลูกค้าเดิมที่ยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไปจนถึง 31 ม.ค.64

People Unity News : ธอส.เปิดให้ลูกค้าเดิมที่รายได้ยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ยื่นคำขอลงทะเบียนเข้ามาตรการระยะที่ 2 ผ่าน APP GHB ALL ระหว่าง 2 – 29 ต.ค. 63

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ประกาศให้ลูกค้าเดิมที่อยู่ระหว่างการใช้มาตรการ และยังคงได้รับผลกระทบด้านรายได้จากโควิด-19 สามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้ามาตรการระยะที่ 2 โดยขยายระยะเวลาความช่วยเหลือไปจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2564 รวม 4 มาตรการ ประกอบด้วย มาตรการที่ 1 พักชำระเงินต้น 3 เดือน จ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน สำหรับลูกค้าที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 3 ล้านบาท มาตรการที่ 3 พักชำระเงินต้น 3 เดือน จ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน โดยลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เท่ากับ 3.90% ต่อปี มาตรการที่ 8 และมาตรการที่ 8.5 พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน เปิดให้ลงทะเบียนผ่าน APP GHB ALL ในวันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 15.00น. เป็นต้นไป จนถึงวันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม 2563 เวลา 20.00 น.

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ยังคงส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าธนาคาร ทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 ได้มีมติตามที่ฝ่ายจัดการเสนออนุมัติให้ ธอส. ขยายระยะเวลาความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระยะที่ 2 เฉพาะลูกค้าเดิมที่อยู่ระหว่างการใช้มาตรการที่ 1, มาตรการที่ 3, มาตรการที่ 8 และมาตรการที่ 8.5 และรายได้ยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ทั้งนี้ ลูกค้าเดิมที่รายได้ยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สามารถแจ้งความประสงค์ขอใช้มาตรการขยายความช่วยเหลือ ระยะที่ 2 ได้ผ่านทาง Application : GHB ALL ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม 2563 เริ่มตั้งแต่เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป จนถึงวันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม 2563 เวลา 20.00 น. พร้อมแสดงหลักฐานเพื่อยืนยันว่ายังมีผลกระทบทางรายได้จริงให้ธนาคารพิจารณา อาทิ สลิปเงินเดือน หนังสือรับรองจากหน่วยงานต้นสังกัด ภาพถ่าย และ Statement เป็นต้น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธอส. ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือ ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) โทร 0-2645-9000 และ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์

Advertising

“ประวิตร” เห็นชอบแผนพัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve ปี 2564 – 2565

People Unity News : “ประวิตร” เห็นชอบแผนพัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve ปี พ.ศ.2564 – 2565

วันนี้ (1 ตุลาคม 2563) เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม 109 ชั้น 1 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) ครั้งที่ 1/2563 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ที่ประชุมรับทราบการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการที่อยู่ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช) ช่วงที่ผ่านมา ประกอบไปด้วย 1) การดำเนินงานของสถาบันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ (Automotive Human Resource Development Academy: AHRDA) ภายใต้วิสัยทัศน์ “พัฒนากำลังแรงงานด้านยานยนต์ไทยให้มีมาตรฐานสมรรถนะในระดับสากล” 2) การดำเนินงานของสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (Manufacturing Automation and Robotics Academy: MARA) เพื่อสอดรับนโยบายของรัฐบาลใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) 3) การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการบูรณาการระบบข้อมูลด้านแรงงานเพื่อรองรับการพัฒนากำลังคนในระดับชาติ ในการรวบรวมข้อมูลและจัดทำระบบเชื่อมโยงข้อมูลความต้องการกำลังแรงงาน แผนพัฒนากำลังแรงงาน และการฝึกอาชีพ ระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน และ 4) การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพจังหวัด (กพร.ปจ.) เพื่อพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานในภาพรวมของจังหวัด เพิ่มโอกาสในการทำงานในพื้นที่

นอกจากนี้ที่ประชุมได้พิจารณาวาระสำคัญ ได้แก่ แนวทางการจัดทำแผนพัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve ปี พ.ศ.2564 – 2565 ของหน่วยงานที่มีภารกิจด้านการจัดการศึกษาและการฝึกอบรมของส่วนราชการ โดยอาศัยความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนให้สามารถผลิตและพัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพและตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงพิจารณาแนวทางการพัฒนาอาชีพคนพิการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2556 และกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และการปรับปรุงองค์ประกอบและหน้าที่ของคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.)

โอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวความห่วงใยต่อสถานการณ์การว่างงานของภาคอุตสาหกรรม จากผลกระทบของ covid-19 และจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ได้กำชับให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เร่งขับเคลื่อนมาตรการพัฒนากำลังคนทุกระดับของประเทศ โดยจะต้องบูรณาการร่วมกันอย่างแน่นแฟ้น โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลิตแรงงานไทย รวมถึงส่งเสริมอาชีพคนพิการอย่างเป็นระบบให้สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิต เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมไทยในภาวะวิถีชีวิตใหม่ หรือ New Normal ต่อไป

Advertising

“บิ๊กป้อม” สั่งผลักดันกิจกรรมทางกีฬา เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจประเทศ

People Unity News : “บิ๊กป้อม” สั่งผลักดันกิจกรรมทางกีฬา เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจประเทศ

วันนี้ (30 ก.ย. 63) เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ชั้น 2 สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 10/2563 โดยมี นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เข้าร่วมด้วย โดยที่ประชุมพิจารณาประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจได้แก่ ประกาศกำหนดชนิดกีฬาเพิ่มเติม คือ คิกบ็อกซิ่ง (Kickboxing) แนวทางแก้ปัญหาอุปสรรคการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนอินดอร์และมาเชียลอาร์ทเกมส์ ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2564 (ค.ศ. 2021) แผนการบริหารความเสี่ยงและควบคุมภายใน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 เป็นต้น

ที่ประชุมได้รับรองแผนงานของผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (นายก้องศักด ยอดมณี) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 จำนวน 10 แผนงาน ดังนี้ 1. แผนยกระดับการให้บริการของการกีฬาแห่งประเทศไทย SMART NATIONAL SPORTS PARK 2. แผนยกระดับหน่วยงานด้านกฎหมายของการกีฬาแห่งประเทศไทย (SPORTS LAW) 3. แผนการยกระดับการบริหารจัดการองค์กรทั้งระบบตามเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ 4. แผนการพัฒนาข้อมูลดิจิทัลด้านการกีฬา (SPORTS DIGITAL PLATFORM) 5. แผนการยกระดับกิจกรรมและการแข่งขันกีฬา เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ 6. แผนการจัดตั้งเมืองกีฬา (SPORTS CITY) 7. แผนการพัฒนานักกีฬาคนพิการอย่างครบวงจร 8. แผนการส่งเสริมกิจกรรมกีฬา 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 9. แผนการยกระดับการบริการทางการแพทย์ ศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาของการกีฬาแห่งประเทศไทย (SPORT MEDICAL SERVICES) และ 10. แผนยกระดับการจัดสวัสดิการบุคลากรการกีฬาแห่งประเทศไทย

โอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายโดยถึงการบริหารงบประมาณประจำปี 2564 ซึ่งเป็นการเริ่มปีงบประมาณใหม่ ให้ดำเนินการไปตามเป้าหมายที่ได้วางแผนไว้อย่างถูกต้อง โปร่งใส ตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญที่สุดคือต้องติดตามการใช้จ่ายให้ทันระยะเวลาที่รัฐบาลกำหนด รวมทั้งให้การกีฬาแห่งประเทศไทยได้เร่งพัฒนาบุคลากร และการบริหารจัดการภายในให้สามารถส่งเสริมสนับสนุนด้านการกีฬาของประเทศ โดยเฉพาะในส่วนของสมาคมกีฬาต่างๆ ให้เกิดความรวดเร็ว เป็นระบบอย่างชัดเจน ให้เห็นเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา การเตรียมพร้อมนักกีฬาก่อนการเข้าแข่งขัน  นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้การกีฬาแห่งประเทศไทยพิจารณาจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อสนับสนุนฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ได้แก่ กิจกรรมเดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน การออกกำลังกาย และการจัดการแข่งขันกีฬาภายในให้มากขึ้น เพื่อสนับสนุนและกระตุ้นเศรษฐกิจให้แต่ละภูมิภาคมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ในส่วนของสมาคมกีฬาให้พิจารณาสนับสนุนส่งเสริมให้มีการจัดการแข่งขันกีฬาชิงแชมป์ประเทศไทยเพื่อเปิดกว้างให้มีการพิจารณานักกีฬาที่มีศักยภาพตามความต้องการของแต่ละสมาคมกีฬาอย่างแท้จริงด้วย

Advertising 

อนุชา หวัง กทบ. เป็นที่พึ่งชุมชน ช่วยยกระดับภาคการเกษตร

People Unity News : อนุชา หวัง กทบ. เป็นที่พึ่งชุมชน ช่วยยกระดับภาคการเกษตรซึ่งเป็นเสาหลักของประเทศสู่ภาคธุรกิจ เสริมความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจ เพื่อความยั่งยืนของประเทศ

28 กันยายน 2563 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มอบนโยบาย เรื่อง “ทิศทางการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ” แก่คณะผู้บริหารสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.)

สำหรับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองปัจจุบันมีจำนวน 79,604 แห่งทั่วประเทศ เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนของชุมชนเพื่อการลงทุน สร้างอาชีพ สร้างงาน และสร้างรายได้ของประชาชนในชุมชน มีเงินทุนหมุนเวียนในกองทุนกว่า 3 แสนล้านบาท ส่วนการขับเคลื่อนกองทุนคนในชุมชนจะเป็นผู้บริหารจัดการ รวมถึงเป็นผู้กำหนดทิศทางและบริหารจัดการภายใต้ปรัชญา 5 ประการ คือ 1) เสริมสร้างสำนึกความเป็นชุมชนและท้องถิ่น 2) ชุมชนเป็นผู้กำหนดอนาคตและจัดการหมู่บ้านและชุมชนด้วยคุณค่าและภูมิปัญหาของตนเอง 3) เกื้อกูลประโยชน์ต่อผู้ด้อยโอกาส 4) เชื่อมโยงกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน ราชการ เอกชน และประชาสังคม และ 5) กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น และพัฒนาประชาธิปไตยพื้นฐาน

โอกาสนี้ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวมอบนโยบายว่า ชุมชนเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ โดยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมีภาคเกษตรกรรมเป็นส่วนสำคัญ และเป็นเสาหลักของประเทศ จากผลสำรวจพบว่าเฉลี่ยร้อยละ 74% ในหมู่บ้านทำอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งภาครัฐต้องสนับสนุน คอยผลักดันให้ความช่วยเหลือทั้งด้านวิชาการและด้านการตลาด รวมถึงเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาในด้านต่างๆ ดังนั้น กทบ. จึงเป็นหน่วยงานสำคัญในการเสริมสร้างระบบเศรษฐกิจฐานราก และเป็นกลไกสนองนโยบายของรัฐบาล รวมถึงสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล ต้องทำให้ภาคเกษตรเข้มแข็งขยับขึ้นมาสู่ภาคธุรกิจ เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของคนในชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถยืนหยัดด้วยตนเองอย่างยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกกองทุนฯทั่วประเทศกว่า 13 ล้านคน แสดงให้เห็นถึงพลังสำคัญที่จะช่วยรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ กำลังซื้อของเกษตรกรและชาวบ้านจะเป็นกำลังสำคัญในการทำให้เศรษฐกิจชุมชนฟื้นตัว และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในระดับประเทศต่อไป

Advertising 

กระทรวงท่องเที่ยว-สาธารณสุขพร้อมแล้วเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวแบบพิเศษ

People Unity News : กระทรวงท่องเที่ยว-สาธารณสุข พร้อมแล้ว เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวแบบพิเศษ ย้ำ มาตรการรัดกุม ไม่เสี่ยงโควิด-19 ระบาดระลอก 2

เมื่อวันที่ 26 ก.ย.63 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สำหรับมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศเริ่มคลี่คลาย ในการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV)  ขณะนี้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เตรียมความพร้อมไว้หมดแล้ว คาดว่าเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ก็จะสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้ โดยมีมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างรัดกุม มีข้อปฏิบัติก่อนการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง, ทำประกันสุขภาพประกันโควิด-19 ตามข้อกำหนดของรัฐบาล , แจ้งข้อมูลกับบริษัทผู้ประสานงานก่อนการเดินทาง ทั้งโปรแกรมการเดินทางและกำหนดการที่อยู่ในประเทศไทย ผลการตรวจว่าไม่พบเชื้อ ตั๋วเครื่องบินทั้งมาและกลับ ลงนามในหนังสือยินยอมยืนยันการปฏิบัติตามระเบียบที่รัฐบาลไทยกำหนด ฯลฯ โดยเมื่อเดินทางถึงไทยแล้ว จะต้องมีการกักตัว 14 วัน

“ส่วนที่นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา มีแนวคิดจะให้นักท่องเที่ยวกักตัว 7 วันนั้น ขณะนี้ยังไม่เริ่ม โดยจะเริ่มจากการกักตัว 14 วันก่อน แล้วค่อยพิจารณาคลายมาตรการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ คาดว่าแนวทางเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV) จะเข้าการหารือในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 อีกครั้งในวันที่ 28 ก.ย.นี้ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับรูปแบบการเดินทางนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV) จะเดินทางด้วยเครื่องบินเช่าเหมาลำขนาดเล็ก หรือ เครื่องบินส่วนตัว ทุกเที่ยวบินจะต้องผ่านความเห็นชอบจาก ศปก.กต. หรือ ศปก.ศบค. ทั้งนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาประมาณการรายได้จากจำนวนนักท่องเที่ยว คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 1,200 คนต่อเดือน รายได้อยู่ที่ 1,030,732,800 บาท และคาดว่า 1 ปีจะมีนักท่องเที่ยว 14,400 คน โดยประมาณการรายได้ 12,368,793,600 บาท

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ขอให้ประชาชนมั่นใจในระบบป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของไทย ว่าไม่เสี่ยงต่อการระบาดระลอก 2 ที่ผ่านมารัฐบาลสามารถป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไทยไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศมาเป็นระยะเวลาต่อเนื่องกันมากกว่า 100 วัน ทำให้ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยเป็นอันดับต้นๆของโลก นอกจากนี้ ชาวต่างประเทศที่อยู่ในประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ และยังไม่ได้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีความประสงค์ที่จะเดินทางมาท่องเที่ยว และใช้ชีวิตพร้อมครอบครัว แบบพำนักระยะยาว (Long Stay) ภายในประเทศไทย เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดในประเทศต่างๆทั่วโลก ดังนั้น ไทยจึงจะใช้โอกาสนี้ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากได้ผลกระทบตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

Advertising  

รัฐบาลทุ่มงบ 1.9 พันล้านบาท ตั้งเป้าเป็นผู้นำเกษตรอินทรีย์ในอาเซียน

People Unity News : รัฐบาลทุ่มงบ 1.9 พันล้านบาท ตั้งเป้าเป็นผู้นำเกษตรอินทรีย์ในอาเซียน ขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 1.3 ล้านไร่ เกษตรกร 8 หมื่นราย ในปี 2565

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563 ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการทำเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มที่ เพราะจะเป็นประโยชน์กับตัวเกษตรกรและผู้บริโภคในประเทศ รวมถึงเป็นสินค้าเกษตรที่มีโอกาสเติบโตในตลาดโลกอย่างมาก ซึ่งมีมูลค่าสูงถึงแสนกว่าล้านเหรียญสหรัฐ อัตราเติบโตปีละ 20% ตลาดที่สำคัญของโลกคือยุโรปและอเมริกาเหนือ และที่มีแนวโน้มสูงขึ้นมากคือ จีน ออสเตรเลีย และอาเซียน สำหรับในประเทศไทย มีมูลค่าตลาด 3,000 ล้านบาท และส่งออก 2,000 ล้านบาท

โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบ แผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ.2560 – 2565 ด้วยการบูรณาการทำงานร่วมกัน 7 กระทรวง ประกอบไปด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นการมุ่งเป้าภายใต้ 3 ยุทธศาสตร์ คือ  1) ส่งเสริมการวิจัย การสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้ และนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ 2) พัฒนาการผลิตผลิตภัณฑ์และบริการเกษตรอินทรีย์ และ 3) พัฒนาการตลาดสินค้าและบริการ และการรองรับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในระดับชุมชน ประเทศ และภูมิภาคอาเซียน ซึ่งขณะนี้กลุ่มประเทศอาเซียนได้ตกลงที่จะจัดทำมาตรฐานกลางของอาเซียน หรือชื่อทางการว่า Mutual Recognition Arrangement for Organic Agriculture โดยในปีงบประมาณ 2564 จะมีโครงการ รวมทั้งสิ้น 209 โครงการ งบประมาณรวม 1.9 พันล้านบาท

นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ส่งเสริมการบริโภคเกษตรอินทรีย์ ในกลุ่มโรงเรียน โรงพยาบาล โรงแรม และร้านอาหาร และสนับสนุนการปลูกในที่ดินเกษตรกร ที่ดินภายใต้การจัดสรรที่ดินแห่งชาติ และ ส.ป.ก. ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากคือโครงการข้าวอินทรีย์ ที่ขยายพื้นที่ได้ปีละประมาณ 3 แสนไร่ ทั้งนี้ เกษตรกรที่สนใจจะได้รับการสนับสนุนในเรื่องการผลิต องค์ความรู้ และการตลาด โดยสามารถหาข้อมูลได้ที่เกษตรอำเภอใกล้บ้าน

“รัฐบาลขอเชิญชวนให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชเกษตรอินทรีย์เพราะนอกจากจะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพแล้ว ยังจะเป็นช่องทางการเพิ่มรายได้อย่างมาก โดยภาครัฐมีแผนให้การสนับสนุนสินค้าเกษตรอินทรีย์ ตั้งแต่ระดับต้นทาง เช่น การพัฒนาสารชีวภัณฑ์ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การเพิ่มห้องปฏิบัติการตรวจรับรองผลผลิตให้ได้ตามมาตรฐาน ระดับกลางทาง เช่น การแปรรูปผลผลิต ปรับระบบโลจิสติกส์สินค้า และระดับปลายทาง เชื่อมโยงตลาดตามนโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ส่งเสริมผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้มีการบริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เน้นการขายทางออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์มสากล และแพลตฟอร์มกลางให้ผู้ซื้อมั่นใจในมาตรฐาน การขายออฟไลน์ผ่านการจัดงานแสดงสินค้าระดับจังหวัด และเอ็กซ์โประดับภูมิภาคและระดับโลก รวมถึงการจับคู่ผู้ผลิตและผู้ซื้อ” รองโฆษกฯ กล่าว

Advertising

คปภ. ขานรับนโยบาย รมว.คลัง เดินหน้าประกันภัยพืชผลการเกษตร

People Unity News : คปภ. ขานรับนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินหน้าพัฒนากลไกด้านประกันภัยพืชผลการเกษตร เพื่อมุ่งคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านประกันภัยให้กับเกษตรกรไทย

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากสภาวการณ์ของสภาพภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ทำให้เกิดภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรง และเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เช่น น้ำท่วม ลมพายุ ภัยแล้ง แผ่นดินไหว ฯลฯ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายและผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยที่มีประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก  ดังนั้น การลดความเสี่ยงภัยด้วยระบบประกันภัย จึงมีความสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ และที่สำคัญเกษตรกรสามารถนำเงินที่ได้รับจากการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปดำเนินการเพาะปลูกในฤดูการผลิตต่อไป

ที่ผ่านมาการเกิดภัยธรรมชาติ และการเกิดโรคระบาดที่ส่งผลกระทบทำให้เกิดความเสียหายของผลผลิตทางการเกษตรยังคงเกิดขึ้นทุกปี และแม้ว่าปัจจุบัน ได้มีการนำระบบประกันภัยเข้ามาช่วยรับภาระความเสี่ยงภัยที่เกิดขึ้น เช่น การประกันภัยข้าวนาปี การประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่รัฐบาลร่วมสนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัย ซึ่งเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง การดำเนินงานดังกล่าว เป็นการเสนอโครงการช่วยเหลือแบบปีต่อปี โดยขึ้นกับนโยบายของรัฐบาลในแต่ละปี ดังนั้น เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรทางด้านประกันภัยมีความต่อเนื่องและยั่งยืน สำนักงาน คปภ. จึงได้ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารความเสี่ยงทางการเกษตร ปศุสัตว์ และประมง ด้วยการประกันภัย เพื่อศึกษาและเสนอแนวทางการจัดทำร่างกฎหมายการประกันภัยทางด้านเกษตรกรรม ได้แก่ พืชผล ปศุสัตว์ และประมง โดยได้มีการศึกษากฎหมายประกันภัยทางด้านเกษตรกรรมจากหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และ สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นต้น โดยกลุ่มที่มีกฎหมายประกันภัยพืชผลเป็นการเฉพาะ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี

สำหรับร่างกฎหมายการประกันภัยทางด้านเกษตรกรรมที่กำลังศึกษา นอกจากศึกษากฎหมายดังกล่าวจากหลายประเทศแล้ว ยังเน้นไปที่กฎหมายของสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งมีความน่าสนใจ เนื่องจากโครงสร้างของกฎหมายมีบทบัญญัติที่ชัดเจนและครอบคลุมเนื้อหาการประกันภัยด้านเกษตรกรรม มีสาระสำคัญ อาทิเช่น การกำหนดประเภทของผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้ครอบคลุมทั้งประเภทพืชผล ปศุสัตว์ และประมง  การกำหนดรูปแบบการประกันภัย ที่เหมาะสมในแต่ละผลิตภัณฑ์ การกำหนดประเภทความเสี่ยงภัย อัตราเบี้ยประกันภัยและวิธีการประเมินความเสียหาย การกำหนดบทบาทภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัทประกันภัย และระบบการประกันภัยต่อ จึงน่าจะเป็นประโยชน์ที่จะนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานตามโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารความเสี่ยงทางการเกษตร ปศุสัตว์ และประมง ด้วยการประกันภัย เริ่มดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 และจะสิ้นสุดโครงการฯ ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 อย่างไรก็ดี เพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะแนวทางที่สามารถขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรมสำหรับรูปแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยด้านเกษตรกรรมประเภทต่างๆ จึงได้จัดให้มีการลงพื้นที่ในการจัดประชุมกลุ่มย่อย ระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะร่วมกันเกี่ยวกับประเด็นสำคัญในการวิจัยและประเด็นสำคัญของร่างกฎหมาย ระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลได้แก่ สำนักงาน คปภ. ผู้มีส่วนได้เสีย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ โดยได้จัดประชุมกลุ่มย่อยไปแล้ว จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดสระบุรี จังหวัดสกลนคร และจังหวัดราชบุรี

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา ตนและคณะที่ปรึกษาโครงการฯ ได้ลงพื้นที่ ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อจัดประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 5 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของเกษตรกร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ เพื่อรวบรวมข้อเสนอแนะแนวทางหรือมาตรการในการนำระบบประกันภัยเข้าไปรองรับความเสี่ยงภัยด้านการประมง โดยมีการแบ่งกลุ่มย่อย จำนวน 5 กลุ่ม เพื่อระดมสมองและเป็นเวทีในการแสดงความคิดเห็น โดยมุ่งเน้นเรื่องการเลี้ยงกุ้งในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำให้ได้รับทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อการศึกษาและวิจัยตามโครงการฯ เช่น ปัจจัยที่มีความเสี่ยง ต้นทุนในการเลี้ยงกุ้ง ความเสี่ยงที่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งต้องการให้ระบบประกันภัยเข้ามารองรับความเสียหาย ความสามารถในการจ่ายเบี้ยประกันภัยของเกษตรกร เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้ลงพื้นที่เพื่อศึกษาข้อมูลการเลี้ยงกุ้ง ณ ศรีวิชัยฟาร์ม ตำบลลีเล็ด อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำให้รับทราบปัญหาอุปสรรคและความเสี่ยงภัยในการเลี้ยงกุ้ง เช่น การเกิดโรคระบาดในกุ้ง การเกิดภัยธรรมชาติ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่สำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้เหมาะสมตรงกับความต้องการของเกษตรกรมากยิ่งขึ้น รวมถึงรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะการประมงในรูปแบบอื่นๆ เพื่อให้การพัฒนากรอบแนวทางการจัดทำร่างกฎหมายการประกันภัยทางด้านเกษตรกรรม มีความสมบูรณ์ครบถ้วนที่สุด

“การศึกษาวิจัยเพื่อยกร่างกฎหมายการประกันภัยทางด้านเกษตรกรรมให้มีรูปแบบที่ชัดเจน มีความยืดหยุ่น เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรมีเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์โรคระบาด หรือภัยธรรมชาติ ได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนจะเป็นการส่งเสริมให้มีผลิตภัณฑ์ประกันภัยพืชผลที่มีความหลากหลาย ซึ่งเป็นการน้อมรับนโยบายของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ได้มอบหมายให้สำนักงาน คปภ. พัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยทางการเกษตรอย่างเป็นระบบ เพื่อใช้ระบบประกันภัยไปช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. พร้อมที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้มีกลไกทางด้านประกันภัยในการบริหารความเสี่ยงด้านเกษตรกรรม เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับการคุ้มครองด้านประกันภัย และได้รับประโยชน์จากระบบประกันภัยอย่างเต็มที่” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

Advertising

Verified by ExactMetrics