วันที่ 15 พฤษภาคม 2024

ประยุทธ์ พอใจส่งออกยางพารา ครองแชมป์โลก

People Unity News : 13 สิงหาคม 65 นายกฯ พอใจผลงานส่งออกยางพารา ครองแชมป์โลก ก.เกษตร ออก 6 มาตรการเสริม เจาะตลาดใหม่ ดันราคายางเพิ่ม

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภายใต้แนวทาง “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ของรัฐบาล ทำให้ยอดการส่งออกยางพาราครึ่งปีแรกปี 2565 ของไทย ครองตำแหน่งผู้ส่งออกยางอันดับ 1 ของโลก โดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) รายงานว่า ช่วง ม.ค.-มิ.ย. ปีนี้ มีปริมาณการส่งออกยางธรรมชาติและผลิตภัณฑ์ยาง 2.19 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ารวม 2.4 แสนล้านบาท จีนนำเข้ายางไทยเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็น 49% ของการส่งออกทั้งหมด รองลงมาได้แก่ มาเลเซีย 10% สหรัฐอเมริกา 7% ญี่ปุ่น 6% เกาหลีใต้ 4%

สำหรับแผนการขยายตลาดสู่ตลาดใหม่ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รายงานต่อนายกรัฐมนตรี ว่า ได้สั่งการให้คณะกรรมการติดตามและเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางและรักษาเสถียรภาพราคายาง ทำการระดมสมองจากทูตเกษตรทุกภูมิภาคทั่วโลก เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลและออกมาตรการเชิงรุก ซึ่งได้ข้อสรุป 6 มาตรการ ดังนี้

1.มาตรการสื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงรุก เช่น การผลิตสื่อดิจิทัลเผยแพร่ในตลาดต่างประเทศ

2.มาตรการการตลาดเชิงรุก เน้นความต้องการผลิตภัณฑ์ยางรายตัวสินค้าและรายประเทศคู่ค้า (product based &country based) เช่น ความต้องการยางจักรยานและยางรถบัสเพิ่มขึ้นในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปและผลิตภัณฑ์ยางที่อียูแบนสินค้าจากรัสเซีย หรือผลิตภัณฑ์ยางที่รัสเซียระงับการนำเข้าจากอียู

3.มาตรการเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ใช้แนวทางเกษตรกรรมยั่งยืน สวนยางยั่งยืนและระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) เพื่อตอบโจทย์ ประเด็นสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะเป็นเรื่องที่หลายประเทศในยุโรปให้ความสำคัญ

4.มาตรการระยะสั้นรายไตรมาส เพื่อการบริหารจัดการตามปฏิทินฤดูการผลิตประจำปี โดยมอบ กยท. ภาคเอกชน และภาคเกษตรกรหารือกันเพื่อกำหนดมาตรการร่วมกัน

5.มาตรการพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่ยางมูลค่าสูง เน้นการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เช่น วัสดุภัณฑ์ก่อสร้างบ้านและอาคาร ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์ด้านคมนาคมขนส่ง เพื่อเพิ่มรายได้ชาวสวนยาง สถาบันยางและผู้ประกอบการ ผ่านการทำงานร่วมระหว่าง กยท. และศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (ศูนย์AIC) นำงานวิจัยมาประยุกต์ใช้จริง

6.มาตรการเชิงกลไกการตลาด เช่น การบริหารซัพพลายและดีมานด์ กลไกตลาดซื้อขายล่วงหน้าส่งมอบจริง และระบบการประมูลยางออนไลน์เป็นระบบที่เปิดกว้างเพิ่มผู้ซื้อทั้งลูกค้าในประเทศและต่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาการกำหนดราคาโดยผู้ซื้อน้อยราย หรือการฮั้วหรือการผูกขาด

นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรีให้ความมั่นใจต่อเกษตรกรชาวสวนยาง ในแนวทางการรักษาเสถียรภาพราคายาง และพอใจผลงานกระทรวงเกษตรฯ ที่สามารถผลักดันให้ประเทศไทยครองแชมป์ส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งหมายถึงรายได้ที่จะมาสู่เกษตรกรเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ นายกฯได้เน้นย้ำเรื่องการใช้นวัตกรรมพัฒนาสินค้ายางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่า และเจาะตลาดประเทศใหม่ๆ

Advertisement

SME D Bank ประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยให้นานที่สุดช่วยเอสเอ็มอี

People Unity News : 12 สิงหาคม 65 ธพว. ขานรับนโยบายภาครัฐ ประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยให้นานที่สุด ช่วยเอสเอ็มอีไทยบริหารต้นทุนการเงิน เพื่อเดินหน้าธุรกิจเต็มกำลัง

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวว่า จากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 0.50% เป็น 0.75% ต่อปี เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา แม้ ธพว. จะได้รับผลกระทบจากต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้น แต่เนื่องจาก ธพว. เป็นสถาบันการเงินของรัฐเพื่อการพัฒนาเอสเอ็มอีไทย ที่มีความใกล้ชิดและเข้าใจสถานการณ์ของเอสเอ็มอีเป็นอย่างดี รวมถึงเป็นการขานรับนโยบายรัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง ที่มอบหมายให้สถาบันการเงินช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจ ดังนั้น ธพว. พร้อมจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ให้นานที่สุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และสามารถบริหารต้นทุนการเงินได้

โดยก่อนหน้านี้ ธพว. ได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้ามาแล้วอย่างต่อเนื่อง ผ่านกระบวนการแก้ไขหนี้อย่างยั่งยืนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้ลูกค้าได้รับผลกระทบไม่มาก ขณะเดียวกัน ยังมีผลิตภัณฑ์สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำและคงที่ ช่วยเสริมสภาพคล่องและบริหารจัดต้นทุนทางการเงิน เช่น “สินเชื่อ 3D” อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 4.5% ต่อปี ครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจ และ “สินเชื่อธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” (BCG Loan) อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 3.99% ต่อปี เป็นต้น ประกอบกับสนับสนุนด้าน “การพัฒนา” ควบคู่ไปด้วย ภายใต้โครงการ “SME D Coach” ที่ปรึกษาธุรกิจครบวงจร ช่วยประคับประคองให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีปรับตัวและเดินหน้าธุรกิจได้ต่อเนื่อง

Advertisement

ธ.ก.ส. ชวนเกษตรกรร่วมโครงการประกันภัยข้าวนาปี – ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 65

People Unity News : 7 สิงหาคม 2565 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เผยความคืบหน้าการจ่ายค่าสินไหมทดแทนในโครงการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2564 แล้วกว่า 1.5 พันล้านบาท ช่วยบรรเทาความเสียหายและลดความเสี่ยงด้านการผลิตแก่เกษตรกร 1.1 แสนราย คิดเป็นพื้นที่การเกษตรกว่า 1.2 ล้านไร่ (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิ.ย. 65)

เป็นการสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการผลิตและได้รับความคุ้มครองความเสียหายจากภัยธรรมชาติ (น้ำท่วม/ฝนตกหนัก ภัยแล้ง/ฝนแล้ง/ฝนทิ้งช่วง ลมพายุ/พายุไต้ฝุ่น อากาศหนาว/น้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ ช้างป่า ศัตรูพืช/โรคระบาด) ประกอบด้วย

🌾โครงการประกันภัยข้าวนาปี วงเงินคุ้มครอง 1,260 บ./ไร่ (กรณีภัยศัตรูพืช/โรคระบาด คุ้มครอง 630 บ./ไร่)

🌽โครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ วงเงินคุ้มครอง 1,500 บ./ไร่ (กรณีเกิดภัยศัตรูพืช/โรคระบาด คุ้มครอง 750 บ./ไร่)

จึงขอเชิญชวนเกษตรกรเข้าร่วมโครงการประกันภัยฯ ปีการผลิต 2565 เพื่อลดความเสี่ยงด้านการผลิตในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศโลกที่มีแนวโน้มรุนแรงและมีความถี่มากขึ้น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขา หรือ โทร. 02 555 0555

Advertisement

มาแล้ว! พาณิชย์ลดราคา! คาราวานสินค้าราคาถูก ลดสูงสุด 62% กว่า 700 จุดทั่วประเทศ วันนี้ถึง 5 ต.ค.

People Unity News : 6 สิงหาคม 2565 กระทรวงพาณิชย์ คิกออฟโครงการ “พาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน Lot 20” ซึ่งครั้งนี้เป็นการจัดคาราวานสินค้าราคาถูก 80 – 100 รายการ ออกจำหน่ายในทุกจังหวัดทั่วประเทศรวมกว่า 700 จุด/วัน ครบครันทั้งอาหาร – สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ลดสูงสุดถึง 62% เริ่มแล้ววันนี้ – 5 ต.ค. 65

ตัวอย่างสินค้าลดราคา ได้แก่ หมูเนื้อแดง ขายเฉลี่ย 160 บ./กก. น่องไก่ติดสะโพก 65 บ./กก. ไข่ไก่ 95 บ./แผง ซอสปรุงรส ลดสูงสุด 36% ผลิตภัณฑ์ชำระร่างกาย ลดสูงสุด 62% ผลิตภัณฑ์ซักล้าง ลดสูงสุด 55% หมวดรักษาโรค ยาแก้ไข้ หน้ากากอนามัย ลดสูงสุด 60% ฯลฯ

ที่ผ่านมา โครงการฯ ได้ดำเนินการมาแล้วถึง 19 Lot ช่วยลดภาระค่าครองชีพประชาชนรวมกว่า 11,728 ล้านบาท โดยประชาชนสามารถติดตามจุดจำหน่าย (มีการแจ้งล่วงหน้า) ได้ที่ www.dit.go.th หรือ LINE @mobilepanich หรือเว็บไซต์พาณิชย์จังหวัด

Advertisement

เปิดช่องทาง “ขึ้นทะเบียนเกษตรกร” ผ่านระบบออนไลน์ e-Form เริ่มแล้ววันนี้!

People Unity News : 30 กรกฎาคม 2565 กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดช่องทางการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผ่านระบบออนไลน์ด้วยเครื่องมือ e-Form สำหรับเกษตรกรรายใหม่ที่ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น ในพื้นที่มีเอกสารสิทธิ์ประเภทโฉนด น.ส.4 เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนการส่งเสริมการเกษตรและให้ความช่วยเหลือเกษตรกรตามมาตรการต่างๆของภาครัฐ เช่น กรณีประสบภัยพิบัติด้านการเกษตรโครงการประกันรายได้เกษตรกร เป็นต้น

สามารถลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ได้ที่ เว็บไซต์ทะเบียนเกษตรกร efarmer.doae.go.th หลังจากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลบุคคลภายใน 5 วันแล้ว เกษตรกรสามารถขึ้นและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรผ่านช่องทางออนไลน์ได้ทันที โดยระบบ e-Form จะเริ่มให้ใช้งานได้ตั้งแต่ 25 ก.ค. 65 เป็นต้นไป

ส่วนช่องทางการขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรเดิม ที่ให้บริการ คือ สำนักงานเกษตรอำเภอ และแอปพลิเคชั่น Farmbook ยังใช้งานได้เช่นเดิม สามารถตรวจสอบสถานะความเป็นเกษตรกรและสมาชิกครัวเรือนได้ที่ http://farmer.doae.go.th/ หากมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติม โทร. 0-2579-5519

Advertisement

ครม. หนุนการใช้รถ EV เคาะ 2 มาตรการ “ลดภาษีประจำปี – เว้นอากรศุลกากร”

People Unity News : 28 กรกฎาคม 2565 ที่ประชุม ครม. (26 ก.ค. 65) เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ที่ประกอบหรือผลิตในเขตปลอดอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร หรือเขตประกอบการเสรีตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นการสนับสนุนแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า โดยส่งเสริมการผลิตหรือประกอบรถยนต์ไฟฟ้า (ประเภท Battery Electric Vehicle หรือ BEV) ในเขตปลอดอากรหรือเขตประกอบการเสรีในปี 65 – 68

สาระสำคัญ คือ ยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับ (1) รถยนต์นั่ง (2) รถยนต์โดยสาร ที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน และ (3) รถยนต์กระบะ แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (BEV) ที่ประกอบหรือผลิตในเขตปลอดอากร ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรหรือเขตประกอบการเสรีตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ร่างประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 68

โดยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ที่กำหนด เช่น ให้นับมูลค่าของเซลล์แบตเตอรี่จากต่างประเทศ สำหรับการนำมาผลิตเป็นแบตเตอรี่ และนำไปผลิตหรือประกอบเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ในเขตปลอดอากร (Free Zone) หรือเขตประกอบการเสรี รวมเป็นต้นทุนการผลิตที่เกิดขึ้นในประเทศสำหรับการคำนวณมูลค่าเพิ่ม ในประเทศได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของราคายานยนต์ไฟฟ้า (BEV) หน้าโรงงาน และการยกเว้นอากรสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ดังกล่าว ต้องมีผลรวมของมูลค่าวัตถุดิบ ที่ได้ถิ่นกำเนิดในประเทศไทย มูลค่าวัตถุดิบที่ได้ถิ่นกำเนิดจากประเทศสมาชิก ASEAN มูลค่าของเซลล์แบตเตอรี่ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ต้นทุนค่าแรง ต้นทุนการผลิตอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทยเพื่อให้ได้มาซึ่งของนั้น และกำไรไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของราคาหน้าโรงงาน โดยผู้ขอใช้สิทธิต้องเป็นผู้ประกอบการในเขตปลอดอากร ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรหรือเขตประกอบการเสรีตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ การยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (BEV) ที่ประกอบหรือผลิตในเขตปลอดอากรหรือในเขตประกอบการเสรี ในปี พ.ศ. 65 – 68 คาดว่าจะมีการสูญเสียรายได้ประมาณ 36,128 ล้านบาท และอาจจะเพิ่มสูงขึ้นตามปริมาณความต้องการภายในประเทศ แต่จะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ในประเทศ และช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (BEV)

Advertisement

ก.เกษตร เร่งแก้ “ปุ๋ยแพง” พัฒนาศูนย์ดินปุ๋ยชุมชน พร้อมผลักดันธนาคารปุ๋ยอินทรีย์

People Unity News : 23 กรกฎาคม 2565 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งแก้ปัญหาราคาปุ๋ยแพงและขาดแคลน ซึ่งเป็นผลกระทบจากการชะลอการส่งออกปุ๋ยของจีนและรัสเซียทำให้ราคาปุ๋ยในตลาดโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยระยะเร่งด่วน ทำโครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน ชดเชยราคาปุ๋ยแก่เกษตรกร ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ร้อยละ 0.01 เพื่อเสริมสภาพคล่องสถาบันเกษตรกร สนับสนุนงานวิจัยการใช้ปุ๋ยตามการวิเคราะห์ค่าดิน และเจรจาขอซื้อปุ๋ยไนโตรเจนราคาพิเศษจากมาเลเซียตามข้อตกลงว่าด้วยการแบ่งผลิตอุตสาหกรรมอาเซียน

ในระยะกลางและระยะยาว ได้ส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตปุ๋ยภายในประเทศ ตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคา และเจรจากับประเทศอื่น ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนแม่ปุ๋ย หรือกำหนดราคาแม่ปุ๋ยให้เกิดเสถียรภาพทั้งด้านปริมาณและราคา นอกจากนี้ ยังได้ขับเคลื่อนการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนปุ๋ยเคมี โดยมีหมอดินอาสาถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกร เช่น การใช้ปุ๋ยและพัฒนาดินตามผลวิเคราะห์ค่าดินรายแปลง ส่งเสริมการไถกลบตอซัง ใช้น้ำหมักชีวภาพและปุ๋ยอินทรีย์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร รวมถึงผลักดันการตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้ ให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง

Advertisement

ธอส.ประกาศตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ให้นานที่สุด ช่วยลูกค้าให้มีเวลาปรับตัว ไม่ต้องแบกค่าครองชีพ

People Unity News : 22 กรกฎาคม 2565 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เผยผลการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 ปล่อยสินเชื่อใหม่ทำให้คนไทยได้มีบ้านจำนวนถึง 134,998 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 27.08% จากช่วงเดียวกันของปี 2564 ดันยอดสินเชื่อคงค้างรวม 1,526,414 ล้านบาท สินทรัพย์รวม 1,581,652 ล้านบาท มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) 4.41% ของยอดสินเชื่อรวม ตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพื่อความมั่นคงและเตรียมพร้อมรับผลกระทบจาก COVID-19 จำนวน 121,066 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อ NPL ที่ระดับ 180.02% คาดสิ้นปีสินเชื่อใหม่ปล่อยได้ไม่น้อยกว่า 2.8 แสนล้านบาท มุ่งสู่ Digital Bank เต็มรูปแบบ ชูเทคโนโลยี-นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ และบริการทางด้านสินเชื่อ เงินฝาก และสลากออมทรัพย์ ขึ้นบนอากาศ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ลูกค้าประชาชนเข้าถึงบริการของธนาคาร พร้อมประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยให้นานที่สุด เพื่อให้ลูกค้ามีเวลาปรับตัวรับกับอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคต

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงาน ณ ไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 ว่า หลังจากที่ภาครัฐได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ รายได้ของประชาชนปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น ซึ่งมีส่วนสำคัญให้ประชาชนที่มีการปรับตัวจากผลกระทบด้านรายได้ตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยก่อนที่อัตราดอกเบี้ยจะปรับเพิ่มขึ้นในอนาคต ทำให้ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้จำนวน 134,998 ล้านบาท 106,067 บัญชี เพิ่มขึ้น 27.08% จากช่วงเดียวกันของปี 2564 คิดเป็น 59.62% ของเป้าหมายปล่อยสินเชื่อใหม่ปี 2565 ที่ 226,423 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาท สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลางจำนวน 58,448 ราย ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 เทียบกับ ณ สิ้นปี 2564 ธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 1,526,414 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.65% มีสินทรัพย์รวม 1,581,652 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.00% เงินฝากรวม 1,345,830 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.57% หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จำนวน  67,251 ล้านบาท คิดเป็น 4.41% ของยอดสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2564 ที่มี NPL อยู่ที่ 4.00% ของสินเชื่อรวม ซึ่งธนาคารได้มีการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่ 121,066 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อ NPL สูงถึง 180.02% สะท้อนความมั่นคงและพร้อมรองรับผลกระทบจาก COVID-19 ในอนาคต โดยมีกำไรสุทธิ 6,069 ล้านบาท และมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ยังอยู่ที่ระดับแข็งแกร่งที่ 14.73% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด

ทั้งนี้ การที่ธนาคารยังคงปล่อยสินเชื่อใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง เป็นเพราะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายรัฐบาลจากการผ่อนคลายมาตรการสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย การลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือประเภทละ 0.01% สำหรับการซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับตัวลดลงจากการแข่งขันของผู้ประกอบอสังหาริมทรัพย์ทำให้มีการจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับผลิตภัณฑ์สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำของธนาคาร ทำให้กลุ่มลูกค้าที่มีการปรับตัวจากผลกระทบด้านรายได้จาก COVID-19 ตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยเร็วขึ้น โดยสินเชื่อปล่อยใหม่ที่มีลูกค้าเลือกใช้บริการสูงสุดได้แก่ โครงการบ้าน ธอส. เพื่อคุณ อัตราดอกเบี้ยปีแรกเพียง 3.15% ต่อปี มียอดอนุมัติสะสมสูงถึง 34,658 ล้านบาท ส่วนโครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 2 ของรัฐบาล อัตราดอกเบี้ยต่ำคงที่เพียง 1.99% ต่อปี นานถึง 4 ปีแรก ล่าสุด ณ วันที่ 18 กรกฎาคม 2565 มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้ว 99,760 ราย ยื่นขอสินเชื่อแล้ว 20,311 ราย วงเงินสินเชื่อ 18,358 ล้านบาท และได้รับอนุมัติสินเชื่อแล้ว 18,707 ราย วงเงินสินเชื่อ 16,322 ล้านบาท

ขณะที่ด้านดูแลลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จาก COVID-19 ปัจจุบัน  ธอส. ยังขยายระยะเวลาความช่วยเหลือ ผ่านมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน ปี 2565 ด้วยการแบ่งเบาภาระให้กับลูกค้า ทั้งการลดอัตราดอกเบี้ยและเลือกแบ่งจ่ายเงินงวดผ่อนชำระ เพื่อลดเงินงวดให้กับลูกค้า และมุ่งรักษาบ้านให้ยังเป็นของลูกค้าได้ต่อไป โดย ณ วันที่ 12 กรกฎาคม 2565 มีลูกค้าอยู่ระหว่างใช้มาตรการช่วยเหลือรวมทั้งสิ้น 72,496 บัญชี วงเงินต้นคงเหลือ 74,176 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้พบว่ามีลูกค้าที่ชำระเงินงวดได้ตามเงื่อนไขของมาตรการหรือชำระบางส่วนคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 96%

“จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในช่วงปลายปี 2565 เช่นเดียวกับธนาคารกลางหลายประเทศที่ปรับขึ้นตามธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ไปแล้ว ทำให้ประชาชนเร่งตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ จึงมั่นใจว่า ณ สิ้นปี 2565 ธนาคารจะสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้สูงกว่า 280,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันในฐานะสถาบันการเงินของรัฐ ธอส. พร้อมตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารไว้ให้ได้นานที่สุด เพื่อช่วยให้ลูกค้ามีเวลาในการปรับตัวและไม่ต้องรับภาระด้านค่าครองชีพ แต่พร้อมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากตามตลาดเพื่อป้องกันการไหลออกของเงินฝากและให้มีเงินทุนเพียงพอต่อการปล่อยสินเชื่อให้กับประชาชนที่ต้องการมีบ้าน และด้วยต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น ทำให้คาดว่าธนาคารจะได้รับผลกระทบในปี 2565 ไม่น้อยกว่า 2 พันล้านบาท” นายฉัตรชัยกล่าว

นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งปีหลัง ธอส. เตรียมนำเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ มายกระดับการให้บริการลูกค้าตามเป้าหมายสู่การเป็น Digital Bank เต็มรูปแบบ (Fully Digitized) อาทิ การจัดตั้งศูนย์บริการดิจิทัล (DSC) เพื่อรองรับลูกค้าที่ต้องการเข้าถึงบริการทางด้านสินเชื่อและเงินฝากผ่านช่องทาง Digital Channel เป็นการเฉพาะ อาทิ Mobile Application GHB ALL รวมถึงสื่อ Social Media ต่างๆของธนาคาร โดยมีพนักงานสินเชื่อ Virtual Branch ทำหน้าที่ติดต่อลูกค้าเพื่อรองรับการให้บริการได้ทันทีโดยไม่ต้องมีสาขา โครงการจัดเก็บ Electronic File แทนเอกสารสิทธิ์ต้นฉบับ (ไม่เก็บโฉนด) โดยธนาคารจะจัดเก็บในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์แทนการจัดเก็บโฉนดตัวจริง ทำให้ลูกค้าจะได้รับโฉนดฉบับจริงกลับบ้านในวันทำนิติกรรมได้ทันที ซึ่งปัจจุบันเริ่มให้บริการกับลูกค้ากลุ่มสวัสดิการแล้วและจะขยายสู่ลูกค้ากลุ่มกู้ใหม่ได้ทั้งหมดภายในไตรมาสที่ 3 โครงการลงนามสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Contract) การทำสัญญาเงินกู้ระหว่างธนาคารกับลูกค้าในรูปแบบอีเล็กทรอนิกส์ โดยเริ่มให้บริการลูกค้าแล้วตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2565 โดยหลังลงนามสัญญาลูกค้าจะได้รับเอกสารสัญญาเงินกู้รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่าน Email

นอกจากนี้ ธนาคารยังอำนวยความสะดวกให้กับผู้ขายที่อยู่อาศัยหรือผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่ขายที่อยู่อาศัยให้กับลูกค้า ธอส. จะได้รับการโอนเงินกู้ค่าซื้อที่อยู่อาศัยเข้าบัญชีเงินฝากของผู้ขาย/ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์แทนการจัดทำแคชเชียร์เช็ค ทำให้ผู้ขายไม่ต้องเสียเวลาและขั้นตอนนำแคชเชียร์เช็คที่ได้รับจากผู้ซื้อไปขึ้นเงินเหมือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ บริการใหม่ดังกล่าวจะเริ่มให้บริการอย่างเป็นทางการได้ภายในปี 2565 และพร้อมเดินหน้าจัดทำโครงการ GHB AI Virtual Agent เพื่อเสริมทัพความแข็งแกร่งและยกระดับการบริหารจัดการ Call Center ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยนำเทคโนโลยี AI Voice Bot มาช่วยให้บริการเปรียบเสมือนผู้ช่วยบริการทางการเงินให้ลูกค้า ธอส.  ซึ่ง AI จะช่วยรับสายตอบคำถามลูกค้าที่ติดต่อเข้ามาได้ทันทีโดยไม่ต้องรอสายนาน หรือโทรแจ้งเตือนบริการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์กับลูกค้า เช่น ครบกำหนดมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 หรือโทรแจ้งการเปลี่ยนแปลงเงินงวดสินเชื่อบ้าน เป็นต้น

Advertisement

“สมาคมธนาคารไทย” หนุน “กทม.” ขับเคลื่อนสู่เมืองเศรษฐกิจสีเขียว สร้างการเติบโตยั่งยืน

People Unity News : 18 กรกฎาคม 65 สมาคมธนาคารไทย พร้อมขับเคลื่อน “กรุงเทพมหานคร” สู่เมืองเศรษฐกิจสีเขียว ชูนโยบายสนับสนุน BCG สินเชื่อที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นำโครงสร้างพื้นฐานด้าน “ดิจิทัล” ส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพ ยกระดับการให้บริการของ กทม. เสริมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน สอดคล้องยุทธศาสตร์ 3 ปีของสมาคมฯ

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังประชุมหารือร่วมกับผู้บริหารสมาคมธนาคารไทย เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 ว่า การประชุมในวันนี้ มีหลายประเด็นที่เน้นแนวทางความร่วมมือในหลายด้าน ซึ่งสมาคมธนาคารไทย เป็นหน่วยงานที่ 3 ที่ร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร หลังจากเข้าพบสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งทั้งหมดเป็น 3 เสาหลักเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยในอนาคตจะรีบผลักดันให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมฯ เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนหารือความคิดเห็นและความร่วมมือร่วมกันทุกเดือนระหว่าง กทม.กับภาคธุรกิจ อาทิ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ซึ่งวันนี้ทางสมาคมธนาคารไทยได้รับทราบเป้าประสงค์ แนวคิดของ กทม.แล้ว และอยากร่วมผลักดันกรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองน่าอยู่ เป็นเมืองหลักของการสร้างงาน สามารถดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก สร้างความสุขให้คนไทยและเป็นเมืองหลักสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ โดยการตั้งคณะกรรมการฯ คาดว่าจะสำเร็จภายใน 1 เดือน เนื่องจากการพัฒนาเมืองต้องมีความร่วมมือกันเพราะเมืองคือแหล่งงาน แหล่งอาชีพ เมืองจะอยู่ได้ต้องมีการสร้างงานสร้างเศรษฐกิจที่มีคุณภาพขึ้น

โดย กทม.จะอำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจเอกชน ด้วยการลดขั้นตอนต่างๆ ส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ ส่งเสริมการลงทุนในประเทศ โดยทำควบคู่กับเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมถึงการใช้เทคโนโลยีนำมาปรับปรุงคุณภาพชีวิต โดยในปัจจุบันธนาคารก้าวหน้ามากในเรื่องของ Application การให้บริการ เทคโนโลยีการพิสูจน์ตัวตน ซึ่ง กทม.อาจจะนำบางส่วนมาใช้งานกับ Application ของ กทม.ด้วย เช่น การให้ความรู้กับประชาชนในชุมชนเรื่องการใช้ Application รวมถึงการให้ข้อมูลให้ชุมชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน สำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย โดยจัดทำฐานข้อมูลและ Open Data

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า กทม. ดูแลชุมชนกว่า 2,000 ชุมชน ซึ่งเป็นฐานข้อมูลมหาศาล คนจำนวนมากในชุมชนต้องการแหล่งเงินทุน แหล่งเงินกู้ หากสามารถทำการเชื่อมฐานข้อมูลให้รู้หลักแหล่งที่อยู่อาศัยและตัวตนของผู้กู้ รวมถึงการใช้เทคโนโลยี Application ต่างๆ เพื่อทำให้ธนาคารเข้าถึงลูกค้า และลูกค้าก็เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ดีขึ้น ก็จะแก้ปัญหาในปัจจุบันที่ประชาชนต้องไปกู้หนี้นอกระบบได้ เนื่องจาก กทม.มีข้อมูลชุมชนมากมายหากพัฒนาเป็นฐานข้อมูล และธนาคารสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ก็จะทำให้คนเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ดีขึ้น เพราะหัวใจของการพัฒนาคุณภาพชีวิต คือการเข้าถึงแหล่งเงิน หากประชาชนประกอบธุรกิจได้ดีขึ้น ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำ เพราะแหล่งเงินทุนเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้หลุดพ้นจากกับดักความยากจนได้ เบื้องต้นอาจจะเริ่มพัฒนาจาก 1 ชุมชน หรือ 1 อาชีพก่อน เช่น ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยเนื่องจากมีหลักแหล่งตัวตนชัดเจนเพื่อให้สามารถเข้าถึงระบบแหล่งเงินทุนได้ หากประสบความสำเร็จ ก็จะเป็นต้นแบบที่จะขยายความสำเร็จนี้ต่อไป

“ปัจจุบันหลายชุมชน ยังไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ แนวคิดที่จะตั้งอาสาสมัครเทคโนโลยีประจำชุมชน ซึ่งอาจเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่เข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อจะแนะนำเทคโนโลยีต่างๆนี้ให้คนในชุมชน รวมถึงรวบรวมฐานข้อมูลของชุมชน ซึ่งส่วนหนึ่งเราเริ่มอบรมอาสาสมัครเทคโนโลยีไปบางส่วนบ้างแล้วก็คือคนกวาดถนนของ กทม.ที่สามารถใช้เทคโนโลยี Traffy Fondue ได้ ประมาณ 10,000 คน เนื่องจากอาศัยอยู่ในทุกเขตและทุกชุมชน ซึ่งอนาคตอาจจะเป็นผู้แนะนำเทคโนโลยีทางธนาคารเพื่อให้คนในชุมชนเข้าถึงแหล่งเงินทุน จะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของกทม.ได้ ซึ่งคาดว่าจะเห็นผลในรูปธรรมได้ ภายใน 6 เดือน” นายชัชชาติกล่าว

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯ และธนาคารสมาชิกพร้อมสนับสนุนการพัฒนากรุงเทพมหานคร ทั้งในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของ กทม. สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ 3 ปีของสมาคมฯที่มุ่งยกระดับขีดความสามารถการแข่งขัน และเสริมสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนให้กับสังคมและประเทศ

ทั้งนี้ สมาคมฯ จะร่วมผลักดันภาคธุรกิจปรับตัวสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) และ BCG Economy หรือโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านการสนับสนุนสินเชื่อที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มุ่งเดินหน้าให้ความรู้ทางการเงินและดิจิทัล สร้างกลไกในการเพิ่มวินัยทางการเงินและส่งเสริมการออมเงิน โดยเฉพาะการออมเพื่อการเกษียณอายุ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมให้ประชาชนและภาคธุรกิจเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินมากขึ้น รวมถึงการสนับสนุนกลุ่มผู้ด้อยโอกาสให้เข้าถึงบริการการเงินขั้นพื้นฐานของภาคธนาคาร

นอกจากนี้ จะนำเทคโนโลยีทางการเงินเข้ามาช่วยในการพัฒนา กทม. และผลักดันให้เกิด Digital Transformation โดยส่งเสริมการนำระบบ Digital มาใช้ในกระบวนการทำงาน ทั้งการชำระเงิน การเก็บค่าธรรมเนียม การชำระค่าปรับ การออกใบเสร็จแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยสนับสนุนให้นำระบบ Digital Payment มาใช้ทุกเขตและทุกหน่วยงานของกทม. และสนับสนุนให้นำระบบ Digital Supply Chain Finance Platform มาใช้การจัดซื้อจัดจ้างของกทม.และบริษัทในเครือข่ายของ กทม. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างความโปร่งใส สามารถเชื่อมโยงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน และยังช่วยให้ SMEs ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานการจัดซื้อจัดจ้างของกทม.สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น อีกทั้ง พร้อมร่วมมือพัฒนาทรัพยากรบุคคลในรูปแบบ Knowledge Sharing หรือ Capacity Building เพื่อให้เกิดการประสานประโยชน์ (Synergy) ร่วมกัน

สมาคมฯ ยังสนับสนุนการพัฒนา กทม. เป็นเมืองนำร่องในการเชื่อมโยงระบบชำระเงินของนักท่องเที่ยวในภูมิภาค เมื่อเดินทางมาท่องเที่ยว ซึ่งเป็นไปตามแผนงาน Regional Championing ของสมาคมฯในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ นักลงทุนและประชาชน สามารถทำกิจกรรมการค้า การลงทุนระหว่างประเทศ และการชำระเงินของนักท่องเที่ยวในภูมิภาคได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย ต้นทุนต่ำ

“สมาคมธนาคารไทย พร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการพัฒนา กทม.ให้แข็งแกร่งในทุกด้าน เป็นเมืองที่น่าอยู่ และเป็นศูนย์กลางในการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน” นายผยง กล่าว

Advertisement

เริ่มวันนี้! น้ำมันปาล์มขวด ลด 4-5 บาท ซูเปอร์/ค้าปลีกขนาดใหญ่นำร่อง อาทิตย์หน้าลดอีก

People Unity News : 14 กรกฎาคม 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ติดตามการปรับระดับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคมาอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้เกิดการเอาเปรียบผู้บริโภคหรือการค้ากำไรเกินควร ในช่วงที่คนไทยเช่นเดียวกับคนทั่วโลกที่กำลังเผชิญปัญหาภาวะเงินเฟ้อ โดยมีการติดตามต้นทุนการผลิต ปริมาณสต๊อกสินค้า เพื่อให้การกำหนดราคาเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ส่งผลให้สินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวันหลายชนิดชะลอการปรับเพิ่มราคา และล่าสุด นายจุรินทร์ ได้สั่งการให้เร่งรัดการปรับลดราคาน้ำมันปาล์มขวดตามต้นทุนการผลิตที่ปรับลดลง โดยร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ห้างสรรพสินค้า จะเริ่มปรับลดราคาน้ำมันปาล์มขวดลง 4-5 บาท จากราคาขายปัจจุบันที่ขวดละ 69-70 บาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 14 ก.ค. 2565 เป็นต้นไป เพื่อให้มีราคาสะท้อนตามต้นทุนที่แท้จริง

นางสาวรัชดา กล่าวว่า กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้รายงานผลการประชุมร่วมกับห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ซูเปอร์มาร์เกต ซึ่งทุกฝ่ายพร้อมให้ความร่วมมือ แต่การลดราคาอาจจะไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับต้นทุนและสต๊อกเก่าที่มีค้างอยู่ของแต่ละผู้ประกอบการ แต่ยืนยันได้ว่าน้ำมันปาล์มขวดจะต้องขายตามต้นทุนที่แท้จริง หากผลปาล์มดิบลดราคา น้ำมันปาล์มขวดก็ต้องปรับลดด้วยเป็นไปตามโครงสร้างการคำนวณราคาประมาณการของผลปาล์มน้ำมัน น้ำมันปาล์มดิบ และน้ำมันปาล์มขวด ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดไว้เป็นราคาแนะนำให้ปฏิบัติ ซึ่งสัปดาห์นี้ผูประกอบการรายใหญ่จะเริ่มต้นลดราคา 4-5 บาทก่อน และสัปดาห์หน้าจะทยอยลดอีก ซึ่งการคำนวณราคาจะต้องดูต้นทุนสต๊อกช่วงก่อนหน้าที่สั่งสินค้าเข้ามาประกอบด้วย โดยกรมการค้าภายในจะติดตามการปรับลดราคาอย่างใกล้ชิดให้เป็นไปตามต้นทุนที่แท้จริง เพื่อไม่ให้เกิดการเอาเปรียบผู้บริโภค ตามข้อสั่งการรองนายกฯ จุรินทร์

“สำหรับสินค้าทั่วไป สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ยังได้ติดตามกำกับดูแลสินค้าอุปโภคบริโภคให้มีการปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 โดยให้ร้านค้าต้องปิดป้ายแสดงราคาจำหน่ายสินค้าให้ชัดเจน ห้ามฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาหรือจำหน่ายสินค้าราคาสูงเกินสมควร ตัวเลข ณ วันที่ 12 ก.ค. มีการสำรวจรวม 299 แห่ง จากห้างสรรพสินค้า 105 แห่ง ร้านค้าปลีก – ส่ง 129 แห่ง และตลาดสด 65 แห่ง โดยยอดสะสมตั้งแต่วันที่ 27 มิ.ย.65 รวมทั้งสิ้น 4,635 แห่ง จากห้างสรรพสินค้า 1,613 แห่ง ร้านค้าปลีก – ส่ง 2,139 แห่ง และตลาดสด 883 แห่ง พบว่าขณะนี้สินค้ามีเพียงพอกับความต้องการในแต่ละพื้นที่ หากประชาชนพบการทำผิดกฎหมาย รวมทั้งการกระทำผิดในร้านค้าออนไลน์ สามารถโทรแจ้งข้อมูลได้ที่ สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือทางอีเมล์ 1569@dit.go.th.” นางสาวรัชดา กล่าว

Advertisement

Verified by ExactMetrics