วันที่ 10 พฤษภาคม 2024

สาธารณสุขเตือนเล่นมือถือตลอดเวลาเสี่ยงเป็น “โนโมโฟเบีย”

People unity news online : เมื่อวานนี้ (1 เมษายน 2561) แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในยุคที่โทรศัพท์สมาร์ทโฟน กลายเป็นสิ่งจำเป็นในการติดต่อสื่อสาร แต่บางกลุ่มมีพฤติกรรมติดอยู่กับการเล่นโทรศัพท์มือถือตลอดเวลา เช่น พกติดตัว ต้องวางไว้ใกล้ตัวเสมอ รู้สึกกังวลเมื่อมือถือไม่ได้อยู่กับตัวหรือแบตเตอรี่หมด คอยเช็กข้อความจากโซเชียลมีเดีย หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดูบ่อยแม้ไม่มีเรื่องด่วน ตื่นนอนจะเช็กโทรศัพท์ก่อนและยังคงเล่นโทรศัพท์ก่อนนอน ติดเกม หรือในแต่ละวันใช้เวลาพูดคุยกับผู้คนผ่านโทรศัพท์ในโลกออนไลน์มากกว่าพูดคุยกับคนรอบข้าง ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ จะถูกวินิจฉัยว่าเป็นอาการติดโทรศัพท์มือถือ (Nomophobia) และบางรายอาจมีอาการเครียด ตัวสั่น เหงื่อออก คลื่นไส้ หากไม่มีโทรศัพท์มือถืออยู่กับตัว โทรศัพท์เเบตหมด หรือว่าอยู่ในที่ไร้สัญญาณ อาการติดโทรศัพท์มือถือจะส่งผลต่อการปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างและสังคม โดยเฉพาะด้านสุขภาพร่างกาย เช่น 1.นิ้วล็อก เกิดจากการใช้นิ้วกด จิ้ม สไลด์ หน้าจอเป็นระยะเวลานาน 2.อาการทางสายตา เช่น ตาล้า ตาพร่า ตาแห้ง เกิดจากเพ่งสายตาจ้องหน้าจอเล็กๆ ที่มีแสงจ้านานเกินไป อาจส่งผลให้วุ้นในตาเสื่อม จอประสาทตาเสื่อม 3.ปวดเมื่อยคอ บ่า ไหล่ จากการก้มหน้า ค้อมตัวลง ส่งผล เลือดไหลเวียนไม่สะดวก หากเล่นนานๆ อาจมีอาการปวดศีรษะตามมา รวมไปถึงหมอนรองกระดูกเสื่อมสภาพก่อนวัยอันควร  4.โรคอ้วน แม้พฤติกรรมจะไม่ส่งผลโดยตรง แต่การนั่งทั้งวันโดยไม่ลุกเดินไปไหน เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคอ้วนและโรคเรื่อรังอื่นๆได้

ด้าน แพทย์หญิงทิพาวรรณ บูรณสิน สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โนโมโฟเบีย (Nomophobia) มาจากคำว่า “no mobile phone phobia” เป็นศัพท์ที่หน่วยงายวิจัยทางการตลาดขนาดใหญ่ (YouGov) บัญญัติขึ้นเมื่อปี 2010 ที่ใช้เรียกอาการที่เกิดจากความหวาดกลัว วิตกกังวลเมื่อขาดโทรศัพท์มือถือ ซึ่งพบมากที่สุดกว่าร้อยละ 70 ในกลุ่มเยาวชน 18-24 ปี  รองลงมาคือ กลุ่มคนวัยทำงานช่วงอายุ 25–34 ปี และกลุ่มวัยใกล้เกษียณ 55 ปีขึ้นไป ตามลำดับ ในปัจจุบัน ยังไม่ถึงขั้นกำหนดเกณฑ์การวินิจฉัยโรคหลักทางจิตเวช (DSM 5) เนื่องจากการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรค พยาธิสภาพทางจิตใจ และ ผลกระทบต่อสุขภาพจิตในระยะยาวยังมีไม่มากพอ

อย่างไรก็ตาม แนวทางการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟนด้วยตนเอง มีหลายวิธี เช่น กำหนดช่วงเวลาในการใช้โซเชียลมีเดียในแต่ละวัน, กำหนดสถานการณ์ที่จะไม่เล่นสมาร์ทโฟน เช่น ขณะเดิน กิน ก่อนนอน ตื่นนอนใหม่ๆ ขับรถ อยู่บนรถโดยสาร เรียน ทำงาน หรือแม้แต่อยู่ในห้องน้ำ ควรหากิจกรรม งานอดิเรก เล่นกีฬากิจกรรมผ่อนคลายในครอบครัวทดแทนเวลาในการใช้อุปกรณ์สื่อสารทุกชนิด

People unity news online : post 2 เมษายน 2561 เวลา 08.30 น.

อันตราย! สธ.เตือนคนไทยเผชิญภาวะ “กินเค็ม-เสี่ยงโรค” แนะ 8 วิธีลดเกลือในอาหาร

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2561 แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจผิดว่า สิ่งที่ให้ความเค็มหรือเกลือโซเดียมมีอยู่ในเกลือหรือน้ำปลาเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันมีเครื่องปรุงรส เช่น ซีอิ๊ว ซอส ผงปรุงรส ผงชูรส รวมไปถึงอาหารกึ่งสำเร็จรูปต่างๆ เช่น บะหมี่-โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง ขนมกรุบกรอบ ล้วนมีสารให้ความเค็ม (เกลือโซเดียม) เป็นส่วนประกอบ ล่าสุดพบคนไทยบริโภคเกลือโซเดียมเฉลี่ย 4,351.7 มิลลิกรัมต่อวันหรือกว่า 2 ช้อนชา เกินกว่าที่องค์การอนามัยโลกคือ 2,000 มิลลิกรัมหรือ 1 ช้อนชาต่อวัน โดยการบริโภคอาหารที่มีรสเค็มอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับ 2 ที่ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง นำไปสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคไตเรื้อรัง  โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งโรคดังกล่าวป้องกันได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ลดหวาน มัน เค็ม

ในปี 2561 กระทรวงสาธารณสุขได้นำร่อง  “ชุมชนลดเค็ม ลดโรคต้นแบบ”  ใน 3 ตำบล  ได้แก่  ตำบลกุมภวาปี  อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี ตำบลห้วยยอด อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง และตำบลคูบัว อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี เพื่อลดปริมาณเกลือในอาหารลงร้อยละ 20 ลดระดับความดันโลหิตตัวบนลง 10 และตัวล่าง 5 มิลลิเมตรปรอท โดยให้ความรู้เกี่ยวกับการบริโภคเกลือ สร้างค่านิยมกินจืดยืดชีวิต มีการใช้เครื่องวัดความเค็ม หรือ Salt meter เพื่อแสดงให้เห็นปริมาณเกลือในอาหาร และมีการปรับสูตรลดความเค็มของอาหาร พร้อมขยายผลทั่วประเทศต่อไป พร้อมแนะนำ 8 วิธีในการลดปริมาณเกลือที่บริโภค ได้แก่ 1.ชิมก่อนปรุงทุกครั้ง 2.ลดการเติมเครื่องปรุงรส ไม่ควรมีขวดน้ำปลา ซีอิ้ว ซอส เกลือ บนโต๊ะอาหาร 3.ลดการกินอาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก เบคอน  ผัก–ผลไม้ดอง ปลาเค็ม ไข่เค็ม เต้าหู้ยี้ 4.ลดการกินอาหารกึ่งสำเร็จรูป เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง และไม่ใส่เครื่องปรุงหมดซอง 5.ลดความถี่และปริมาณน้ำจิ้มของการกินอาหารที่มีน้ำจิ้ม 6.หลีกเลี่ยงอาหารจานด่วน 7.ลดการกินขนมกรุบกรอบ และ 8.เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากระบุโซเดียมไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค

People unity news online : post 2 เมษายน 2561 เวลา 08.20 น.

“บิ๊กอู๋” เอาจริง! จับแน่ ต่างด้าวแย่งอาชีพคนไทย จำคุก 5 ปีปรับสูงสุด 1 แสนบาท

People unity news online : รมว.แรงงาน สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบกิจการกลุ่มเสี่ยงที่จะมีนายจ้างและแรงงานต่างด้าวฝ่าฝืนกฎหมาย แรงงานต่างด้าวที่ทำอาชีพสงวนสำหรับคนไทยและทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับตั้งแต่ 2,000 – 100,000 บาท และส่งกลับ

วันนี้ (19 มกราคม 2561) นางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงแรงงาน (ศปก.รง.) ว่า จากกรณีที่ปัจจุบันสถานการณ์แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวสัญชาติเวียดนาม อินเดีย จีน และลาว ซึ่งจะเข้ามาประกอบอาชีพในลักษณะเป็นเจ้าของร้านขายอาหาร เจ้าของร้านในตลาดสด เจ้าของร้านในตลาดนัด โดยการจ้างคนไทยให้ทำสัญญาการเช่าหรือการจ้างเป็นนายจ้างและแรงงานต่างด้าว จะดำเนินกิจการเองทั้งหมด ตั้งแต่ซื้อและจำหน่าย โดยเริ่มจากการเป็นลูกจ้างเมื่อมีทุนจะดำเนินการเซ้งร้าน เซ้งแผงขายของ แต่ยังคงถือใบอนุญาตทำงานโดยมีคนไทยสมยอม รับเป็นนายจ้างให้ และพบว่าแรงงานต่างด้าวสัญชาติจีนและเวียดนามส่วนใหญ่ลักลอบทำงานในร้านอาหาร ธุรกิจการท่องเที่ยว การเป็นมัคคุเทศก์นำเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ และการให้บริการบีบนวดตามห้องน้ำ แรงงานต่างด้าวสัญชาติอินเดียส่วนใหญ่ลักลอบทำงานประเภทเร่ขายของทั่วไป ขายผลไม้ ขายถั่ว ขายโรตี ซึ่งการลักลอบทำงานดังกล่าวเป็นงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามแรงงานต่างด้าวทำตามพระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ.2522 นั้น

ในเรื่องนี้ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้ กรมการจัดหางาน ร่วมบูรณาการกับกับเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบนายจ้างสถานประกอบการและแรงงานต่างด้าว โดยลงพื้นที่ตรวจสอบในกิจการที่มีอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะมีนายจ้างและแรงงานต่างด้าวฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งแรงงานต่างด้าวที่มาทำอาชีพสงวนสำหรับคนไทยและทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 8 มีอัตราโทษตาม ม.101 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับตั้งแต่ 2,000 – 100,000 บาท แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และได้ดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวแย่งอาชีพคนไทย จำนวน 1,609 คน แบ่งเป็น กรุงเทพฯ 738 คน และภูมิภาค 871 คน โดยดำเนินคดีกับแรงงานสัญชาติเมียนมามากที่สุด จำนวน 600 คน รองลงมาคือ สัญชาติกัมพูชา 430 คน สัญชาติอื่นๆอีก 344 คน และสัญชาติลาว 235 คน  ส่วนใหญ่กระทำความผิดจากการประกอบอาชีพค้าขาย หาบเร่ แผงลอย ทั้งนี้ งานที่ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ เมียนมา ลาว และกัมพูชา สามารถทำงานได้ 2 ประเภท คือ งานกรรมกร และงานบ้าน ส่วนงานขายของหน้าร้านหรือการเป็นเจ้าของกิจการยังคงเป็นอาชีพที่ห้ามแรงงานต่างด้าวทำ ตามที่กำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามแรงงานต่างด้าวทำ บัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ.2522 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาแก้ไข ปรับปรุง การกำหนดอาชีพห้ามสำหรับคนต่างด้าว และยังไม่ได้ข้อสรุปว่า งานขายของหน้าร้านจะเป็นงานที่อนุญาตให้คนต่างด้าวทำได้หรือไม่

หากพบแรงงานต่างด้าวทำงานผิดกฎหมายหรือพบการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทำงานของแรงงานต่างด้าว สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วนกรมการจัดหางาน 1506 กด 2 หรือร้องเรียนได้ที่ กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน หมายเลขโทรศัพท์ 0 2354 1386 หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครที่มีอยู่ 10 พื้นที่ทั่วกรุงเทพมหานคร และสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ หรือหากพบคนไทยที่เป็นนอมินีให้แรงงานต่างด้าวเปิดกิจการที่เป็นอาชีพสงวนสำหรับคนไทย สามารถโทรศัพท์สอบถามข้อมูลได้ที่หมายเลข 1570 Call Center กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

People unity news online : post 19 มกราคม 2561 เวลา 21.00 น.

คนไทยอยู่กับมลพิษอะไรบ้าง? เผยสถานการณ์มลพิษในประเทศไทยปี 60

People unity news online : 12 มกราคม 2561 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ เผยสถานการณ์มลพิษประเทศไทยปี 2560 ในภาพรวมมีคุณภาพสิ่งแวดล้อมดีขึ้นจากปี 2559 ดังนี้

1.คุณภาพน้ำแม่น้ำสายหลัก 59 แม่น้ำของประเทศในปี 2560 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยคุณภาพน้ำที่อยู่ในเกณฑ์พอใช้ถึงดีเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 80 เป็นร้อยละ 86 และอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมลดลงจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 14 โดยไม่มีแหล่งน้ำที่มีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก เมื่อเปรียบเทียบคุณภาพน้ำเป็นรายภาค ภาคใต้มีแหล่งน้ำที่มีคุณภาพดีมากกว่าภาคอื่น รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางมีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมมากกว่าภาคอื่นเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา โดยแหล่งน้ำที่มีคุณภาพดีสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ แม่น้ำตาปีตอนบน ลำตะคองตอนบน ลำชี สงคราม และสายบุรี

ส่วนแหล่งน้ำที่มีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ท่าจีนตอนล่าง พังราดตอนบน ระยองตอนล่าง และกวง ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นช่วงที่แม่น้ำไหลผ่านพื้นที่ชุมชนเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น แหล่งที่ตั้งของอุตสาหกรรม พื้นที่ทำการเกษตรและการเพาะเลี้ยงสัตว์ ซึ่งไม่มีระบบบำบัดน้ำเสียและระบบที่ดำเนินการอยู่ยังดูแลจัดการน้ำเสียไม่เต็มประสิทธิภาพ

สำหรับเกิดเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลกระทบคุณภาพน้ำในปี 2560 เกิดความเสียหายต่อบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรของประชาชน คือ กรณีบ่อกักเก็บน้ำกากส่าของโรงงานบริษัท ไทยอะโกร เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) จังหวัดสุพรรณบุรี พังทลาย เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2560 ประกอบกับเป็นช่วงฝนตกหนักติดต่อกัน ทำให้เกิดน้ำไหลบ่าที่ปนเปื้อนน้ำเสียท่วมบ้านเรือนประชาชนและไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีน ซึ่งจากการตรวจสอบพื้นที่และเก็บตัวอย่างน้ำเสีย ณ จุดเกิดเหตุ คุณภาพน้ำจากบ่อกักเก็บน้ำกากส่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้ลำห้วยขจี ลำห้วยกระเสียว และแม่น้ำท่าจีน มีคุณภาพน้ำ ณ ขณะนั้นอยู่ในระดับเสื่อมโทรมมาก จังหวัดสุพรรณบุรีได้สั่งการให้บริษัทหยุดประกอบกิจการทั้งหมดและให้ปรับปรุงแก้ไขบ่อบำบัดน้ำเสียให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน มีการเยียวยาผลกระทบของประชาชนโดยตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือ และโรงงานเป็นผู้รับผิดชอบในการจ่ายเงินชดเชยความเสียหายทั้งหมด

2.คุณภาพน้ำทะเล มีแนวโน้มดีขึ้น โดยคุณภาพน้ำทะเลที่อยู่ในเกณฑ์พอใช้ถึงดีมากเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 91 เป็นร้อยละ 96 และเกณฑ์เสื่อมโทรมถึงเสื่อมโทรมมากลดลงจากร้อยละ 9 เป็นร้อยละ 4 คุณภาพน้ำทะเลบริเวณอ่าวไทยฝั่งตะวันออก อ่าวไทยฝั่งตะวันตก และชายฝั่งอันดามันส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดี ยกเว้นบริเวณอ่าวไทยตอนในคุณภาพน้ำส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์พอใช้ ปัจจัยที่ส่งผลให้คุณภาพน้ำทะเลดีขึ้น เป็นเพราะมีการบริหารจัดการกิจกรรมต่างๆบริเวณชายฝั่งทะเล และการป้องกันและลดมลพิษจากแหล่งกำเนิดมลพิษจากบนฝั่ง โดยแหล่งน้ำทะเลที่มีคุณภาพดีสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อ่าวสะพลี และอ่าวทุ่งวัวแล่น จังหวัดชุมพร ทะเลแหวก และหาดต้นไทร เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ และช่องแสมสาร จังหวัดชลบุรี ส่วนแหล่งน้ำทะเลที่มีคุณภาพเสื่อมโทรมสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ปากคลอง 12 ธันวา และหน้าโรงฟอกย้อม กม.35 จังหวัดสมุทรปราการ ปากคลองท่าเคย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปากแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดสมุทรปราการ และปากแม่น้ำท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร เนื่องจากเป็นพื้นที่รองรับน้ำเสียที่มาจากแหล่งชุมชน แหล่งอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

3.สถานการณ์คุณภาพอากาศ จากการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ โดยสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศอัตโนมัติทั่วประเทศทั้งหมด 63 สถานี ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ 33 จังหวัดที่ต้องมีการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมืองขนาดใหญ่ เขตอุตสาหกรรม พื้นที่เสี่ยงต่อการเผาในที่โล่ง คุณภาพอากาศในปี 2560 มีแนวโน้มดีขึ้น สารมลพิษที่ยังเป็นปัญหา คือ ฝุ่นละออง ( TSP PM10 PM2.5 ) ก๊าซโอโซน (O3) และสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) โดยฝุ่นละออง PM10 ตรวจวัดได้ในช่วง 3 -268 มคก./ลบ.ม. ค่าสูงสุดเฉลี่ย 114 มคก./ลบ.ม. (ค่ามาตรฐาน 120) เกินมาตรฐาน 20 จังหวัด แต่มีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี 2555 ฝุ่นละออง PM2.5 ตรวจวัดได้ในช่วง 2 – 116 มคก./ลบ.ม. ค่าเฉลี่ยทั่วประเทศ 21 มคก./ลบ.ม. (ค่ามาตรฐาน 25) เกินมาตรฐาน 13 จังหวัด จาก 18 จังหวัดที่มีการตรวจวัด ก๊าซโอโซน ค่าเฉลี่ย 1 ชั่วโมงสูงสุดของแต่ละสถานีตรวจวัดเฉลี่ย เท่ากับ 121 พีพีบี (มาตรฐาน 100) เกินมาตรฐาน 24 จังหวัด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนสาร VOCs ประเภทเบนซีน พบเกินมาตรฐาน 3 จังหวัด จาก 7 จังหวัดที่มีการตรวจวัด แต่มีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง คือ กรุงเทพมหานคร จังหวัดเชียงใหม่ และระยอง

ทั้งนี้ พื้นที่ที่มีสถานการณ์มลพิษทางอากาศที่มีปริมาณเข้มข้นมากสุด ได้แก่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ปี 2560 พบค่าฝุ่นละอองสูงสุดอยู่ที่จังหวัดลำปาง เท่ากับ 237 มคก./ลบ.ม. ลดลงจากปี 2559 ที่ตรวจวัดได้ 317 มคก./ลบ.ม. ที่จังหวัดเชียงราย จำนวนวันที่ปริมาณฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานลดลงจากปี 2559 จาก 61 วัน เป็น 38 วัน (ลดลงร้อยละ 38) และจุดความร้อนสะสมรายจังหวัดลดลงจากปี 2559 จาก 10,115 จุด เป็น 5,409 จุด (ลดลงร้อยละ 47)

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์หมอกควันดีขึ้นเป็นผลมาจากการบูรณาการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยกระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพหลักในการแก้ไขปัญหาหมอกควันภายใต้กลไกของพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 และมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการแบบ Single Command

สำหรับตำบลพระลาน จังหวัดสระบุรี มีปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานมากที่สุดปี 2560 จำนวนวันที่ฝุ่นเกินมาตรฐานมากกว่าปี 2559 จาก 89 วัน เป็น 107 วัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 20) ค่าที่วัดได้อยู่ระหว่าง 19 – 257 มคก./ลบ.ม. สาเหตุของปัญหาเกิดจากการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองจากกิจการเหมืองหิน โรงโม่ บดหรือย่อยหิน โรงปูนซิเมนต์และการคมนาคมขนส่งในพื้นที่

4.สถานการณ์การจัดการขยะมูลฝอย ปี ปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นทั่วประเทศประมาณ 27.40 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.26 จากปี 2559 ที่เกิดขึ้น 27.06 ล้านตัน เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากรและการขยายตัวของชุมชนเมือง แต่อัตราการเกิดขยะมูลฝอยต่อคนลดลงจาก 1.14 กิโลกรัม/คน/วัน ในปี2559 เป็น 1.13 กิโลกรัม/คน/วัน โดยเป็นผลมาจากความร่วมมือของหน่วยงานท้องถิ่น ประชาชน และภาคเอกชนในการลดและใช้ประโยชน์จากขยะมูลฝอยและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค

การจัดการขยะมูลฝอยใน 2560 เปรียบเทียบกับปี 2559 ปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกนำไปกำจัดอย่างถูกต้องเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 จาก 9.57 ล้านตัน เป็น 11.70 ล้านตัน มีปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้นร้อยละ 47 จาก 5.80 ล้านตัน เป็น 8.52 ล้านตัน ส่งผลให้ปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกนำไปกำจัดอย่างไม่ถูกต้องลดลงร้อยละ 39 จาก 11.69 ล้านตัน เป็น 7.18 ล้านตัน อย่างไรก็ตามปัจจัยที่ส่งผลให้การจัดการขยะมูลฝอยยังดำเนินการได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ อาทิ อัตราค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากประชาชนยังไม่สอดคล้องกับต้นทุนการดำเนินงาน การคัดแยกขยะมูลฝอยจากต้นทางยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องโดยบางแห่งยังมีการเก็บขนขยะมูลฝอยที่คัดแยกไว้แล้วรวมกับขยะที่จะต้องกำจัด ความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการให้บริการเก็บขนขยะมูลฝอย การกำจัดขยะมูลฝอยในบางพื้นที่ยังดำเนินการไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ บางพื้นที่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากประชาชนต่อต้าน การขาดความร่วมมือและความตระหนักจากประชาชน นักท่องเที่ยว และผู้ประกอบการในการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง รวมถึงยังมีการใช้สินค้าและ/หรือบรรจุภัณฑ์ที่กำจัดยากและย่อยสลายตามธรรมชาติได้ยากโดยเฉพาะถุงพลาสติกและโฟม

สำหรับเทศบาลนครและเทศบาลเมืองที่มีการจัดการขยะมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพดีในลำดับต้นจำนวน 23 แห่ง อาทิ เทศบาลนครเชียงราย เทศบาลนครนครสวรรค์ เทศบาลนครพิษณุโลก และที่ยังต้องปรับปรุงและพัฒนาเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการจัดการขยะมูลฝอยให้ดีขึ้น จำนวน 26 แห่ง อาทิ เทศบาลนครนครศรีธรรมราช เทศบาลนครนครราชสีมา เทศบาลเมืองนครพนม เทศบาลนครแหลมฉบัง (ชลบุรี) ฯลฯ

5.ของเสียอันตรายจากชุมชน จากการสำรวจและคาดการณ์ปริมาณของเสียอันตรายจากชุมชนที่เกิดขึ้นในปี 2560 มีทั้งหมด 618,749 ตัน ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง 60,619 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 9.80) เป็นผลจากการวางระบบการจัดการของเสียอันตรายจากชุมชน โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดให้มีจุดรวบรวมของเสียอันตรายในหมู่บ้านหรือชุมชน ความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในกรุงเทพมหานครเพื่อเก็บรวบรวมของเสียอันตรายจากชุมชน ซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีจุดทิ้งของเสียอันตรายจากชุมชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครถึง 2,718 แห่ง อย่างไรก็ตามยังพบของเสียอันตรายจากชุมชนถูกทิ้งปนกับขยะมูลฝอยทั่วไป เนื่องจากยังมีระบบคัดแยก เก็บ รวบรวม และขนส่งไปกำจัดยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ขาดกฎระเบียบในการคัดแยกของเสียอันตรายจากชุมชนออกจากขยะมูลฝอยทั่วไป ศูนย์รวบรวมของเสียอันตรายจากชุมชนเพื่อรอส่งไปกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการส่วนใหญ่อยู่ในเขตภาคกลางและไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ สถานที่บำบัด/กำจัดมีไม่เพียงพอ มีซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์บางประเภทถูกนำไปรีไซเคิลไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และไม่มีการคัดแยกของเสียอันตรายจากบ้านเรือน

แนวทางการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม มีดังนี้

1.การจัดการน้ำเสีย

ควบคุมปริมาณและลดความสกปรกของน้ำเสียที่ต้นทาง อาทิ การผลิตและการบริโภคสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี และการห้ามระบายมลพิษสู่ภายนอก

คำนึงถึงการจัดการน้ำเสียตั้งแต่ก่อตั้งสถานประกอบการ การต่อใบอนุญาต และระหว่างประกอบกิจการ

การสั่งอนุญาตหรือต่ออายุใบอนุญาตต้องนำมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดไปกำหนดเป็นเงื่อนไขหรือข้อบังคับให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามและควบคุมการระบายน้ำเสียด้วยระบบการอนุญาตระบายมลพิษ (Permit System)

ต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียรวมในทุกชุมชนเมืองที่มีประชากรหนาแน่นโดยเฉพาะที่ตั้งอยู่ริมน้ำ

ปรับรูปแบบการบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนในพื้นที่ที่ขาดความพร้อม เช่น ให้องค์การจัดการน้ำเสียหรือเอกชนเข้าไปดำเนินการแทน

ปฏิรูปให้ระบบบำบัดน้ำเสียรวมเป็นหนึ่งในระบบสาธารณูปโภคของภาครัฐเหมือนไฟฟ้า น้ำประปา

2.การจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ

ยกระดับมาตรฐานเพื่อลดการระบายมลพิษจากยานยนต์และน้ำมันเชื้อเพลิงให้เทียบเท่าระดับสากล (EURO 5)

สนับสนุนให้มีการใช้ยานยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ รถยนต์ Eco Car รถยนต์ไฟฟ้า (EV)

สร้างระบบขนส่งมวลชนเชื่อมต่อกับเส้นทางหลักเพื่อให้ประชาชนสะดวกในการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล

ป้องกันและแก้ไขหมอกควันภาคเหนือตามระบบและกลไกที่วางไว้ เพิ่มมาตรการทางสังคมกดดันคนที่จุดไฟแทนการกดดันผู้ที่ทำหน้าที่ดับไฟ

จัดระเบียบการอนุญาตประกอบกิจการเหมืองหิน เข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายกับกิจการเหมืองหิน โรงโม่ บดหรือย่อยหินและโรงปูนซิเมนต์ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย และให้ผู้ประกอบการเหมืองหินและโรงปูนซิเมนต์ประกาศเจตนารมณ์ต่อสาธารณชนในการประกอบกิจการที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคม

3.การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายชุมชน

รณรงค์ให้ประชาชนคัดแยกขยะก่อนทิ้งลงถัง โดยเฉพาะขยะเศษอาหาร ขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ ของเสียอันตรายรวมถึงซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

มีการวางระบบการจัดการของเสียอันตรายจากชุมชนให้มีจุดทิ้งของเสียอันตราย (Drop-off)ิ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวบรวมนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง

ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีระบบการคัดแยก รวบรวม และเก็บขนขยะมูลฝอย และมีศูนย์กลางการคัดแยกขยะรีไซเคิล

ให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายอย่างครบวงจร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการขยะมูลฝอย

การแถลงข่าวสรุปสถานการณ์มลพิษประเทศไทยปี 2560 ในครั้งนี้ มี นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เป็นประธานแถลงข่าว เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2561 ณ ห้องประชุม 301 อาคารกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

People unity news online : post 12 มกราคม 2561 เวลา 20.30 น.

เชิญเที่ยวงานวันเด็กแห่งชาติที่ทำเนียบรัฐบาล กิจกรรมเพียบ

People unity news online : ทำเนียบรัฐบาลเชิญชวนเด็กและเยาวชนร่วมกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติปี 2561 ภายใต้แนวคิด เด็กไทยก้าวไกล ด้วยเทคโนโลยี

วันนี้ (8 มกราคม 2561) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานฉลองวันเด็กแห่งชาติ ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีรัฐมนตรี คณะผู้บริหาร คณะกรรมการจัดงานฯ ร่วมในพิธีเปิดงาน ด้วยการตัดริบบิ้นปล่อยป้ายผ้าแพร และการแสดงของนักเรียนโรงเรียนวัดนวลนรดิศ บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า

ต่อจากนั้น นายกรัฐมนตรีนำเด็กและเยาวชนที่นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศ และเด็กจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีความซื่อสัตย์หรือเด็กกตัญญู รวมถึงเด็กพิเศษหรือเด็กด้อยโอกาส จำนวน 20 คน ไปเยี่ยมชมห้องทำงานของนายกรัฐมนตรีเพื่อถ่ายภาพหมู่ร่วม ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะให้โอวาทและถ่ายภาพร่วมกับเด็กและเยาวชน ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) และร่วมรับชมการแสดงประเภทเต้น Classical Troupe การชมวิดีทัศน์นำเสนอผลงานเด็กไทยที่ได้รับรางวัล ฯลฯ และจะเดินเยี่ยมชมกิจกรรมรอบๆบริเวณภายในและบริเวณสนามด้านหน้าของตึกสันติไมตรี ซึ่งกระทรวงและหน่วยงานต่างๆได้จัดเตรียมไว้ให้เด็กและเยาวชนได้รับความรู้และความสนุกสนาน เป็นจำนวนมาก

วันเด็กปีนี้ นอกจากเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้นั่งถ่ายภาพที่โต๊ะทำงานของนายกรัฐมนตรีบนตึกไทยคู่ฟ้าเหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมานั้น จะมีการเปิดตึกภักดีบดินทร์ (ตึกรับรอง/ประชุมหลังใหม่)  ให้เด็กและเยาวชนได้เข้าเยี่ยมชมเป็นครั้งแรกอีกด้วย

สำหรับกิจกรรมที่จะจัดขึ้นในทำเนียบรัฐบาลนั้นมีความหลากหลาย อาทิ การจำลองห้องรายงานข่าวของสถานีโทรทัศน์ให้เด็กและเยาวชนได้ทดลองอ่านข่าว การแสดงดนตรีของโรงเรียน music for Fun การแสดงระบำกรับ การแสดงเต้น Modern Troupe ของศิลปินไทยทีวีสีช่อง 3 มายากล และคณะตลกที่จะมาให้ความบันเทิง  ตลอดจนกิจกรรมซุ้มเกมเสริมสร้างความรู้ภายใต้แนวคิด “เด็กไทย โตไปไม่โกง” การร่วมสนุกกับศิลปิน AF และ The Voice กิจกรรมต่างๆของไปรษณีย์ เช่น เกมจับคู่ภาพ จับผิดภาพ ต่อจิ๊กซอว์ภาพแสตมป์น่ารู้  เกมส์ออนไลน์  เน็ตประชารัฐ เป็นต้นนอกจากนี้  จะมีกิจกรรมเกี่ยวกับหุ่นยนต์ให้เด็กและเยาวชนได้มีการประกอบหุ่นยนต์ ออกแบบรถยนต์และพิมพ์  กิจกรรมหุ่นยนต์อัตโนมัติ หุ่นยนต์ฮิวแมนนอย  พิพิธภัณฑ์เสมือนจริง ระบบคลังข้อมูลดิจิทัล  เกมรามเกียรติ์  กิจกรรมชวนเล่น ชวนลอง สมองหุ่นยนต์  กิจกรรมเครื่องฝึกจำลองการเดินเรือแบบเคลื่อนย้ายได้

พร้อมกันนี้ จะมีการให้บริการตัดผมฟรี  ตรวจสุขภาพช่องปาก/ทันตบริการ การสอนปฐมพยาบาลและช่วยชีวิตเบื้องต้น  กิจกรรมแป้งปั้นเสริมสร้างพัฒนาเด็ก กิจกรรมการเรียน การสอน เล่านิทาน วาดภาพ ระบายสี  กิจกรรมจิตอาสา เล่นเกมส์ ตอบคำถาม ตลอดจนการแจกของขวัญ ของรางวัล อาหาร ขนม และเครื่องดื่มจากหน่วยงานต่างๆด้วย

People unity news online : post 8 มกราคม 2561 เวลา 22.50 น.

เผยรายละเอียดมติ ครม. โครงการบ้านฅนไทย เพื่อผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

People unity news online : ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการบ้านฅนไทย เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองบนที่ดินราชพัสดุ

เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2561 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งที่ประชุม ครม. ได้มีการพิจารณา “โครงการบ้านฅนไทย” โดยมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้

  1. กรอบการดำเนินโครงการบ้านฅนไทย
  2. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารออมสิน แยกบัญชีโครงการบ้านฅนไทย เป็นบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account : PSA) โดยไม่ขอรับการชดเชยจากรัฐบาลและขอนำผลกระทบรายได้และค่าใช้จ่ายในการจัดทำโครงการบ้านฅนไทยมาปรับตัวชี้วัดทางการเงินที่เกี่ยวข้องตามบันทึกข้อตกลงการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ และขอไม่นับรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loans : NPLs) ที่เกิดจากการดำเนินโครงการฯ เป็นตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารออมสิน (กรณี % NPLs ที่เกิดขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ย NPLs  ของธนาคารในภาพรวม) และขอนำผลกระทบต่อรายได้และค่าใช้จ่ายในการจัดทำโครงการบวกกลับกำไรสุทธิเพื่อการคำนวณโบนัสพนักงาน (การคำนวณต้นทุนค่าใช้จ่ายของธนาคาร คือ ต้นทุนเงินฝากบวก 0.25% (เงินนำส่งกองทุนฯ) บวกต้นทุนดำเนินงาน)

สาระสำคัญของเรื่อง

โครงการบ้านประชารัฐบนที่ดินราชพัสดุระยะที่ 2 (บ้านฅนไทย)

กระทรวงการคลังได้สำรวจที่ดินราชพัสดุทั่วประเทศเพื่อนำมารองรับการดำเนินโครงการ “บ้านฅนไทย” โดยในเบื้องต้น กระทรวงการคลังได้คัดเลือกที่ดินราชพัสดุที่มีความเหมาะสม และไม่เป็นที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืน จำนวน 8 แปลง ครอบคลุม 4 ภาค เพื่อนำมาดำเนินโครงการฯ  โดยมีวัตถุประสงค์  เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองบนที่ดินราชพัสดุ

ประเภทที่อยู่อาศัย : กระทรวงการคลังได้กำหนดรูปแบบการก่อสร้างโครงการบ้านฅนไทยเป็นประเภทที่อยู่อาศัย 3 รูปแบบ ประกอบด้วย (1) บ้านแฝด พื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 28 ตารางเมตร (2) บ้านแถว พื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 28 ตารางเมตร  และ (3) อาคารชุดพักอาศัย พื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 28 ตารางเมตร ในระดับราคา 350,000 – 700,000 บาทต่อหน่วย

กลุ่มเป้าหมาย : 1) ประชาชนที่อยู่ในทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐกับกระทรวงการคลัง 2) ประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 35,000 บาทต่อคนต่อเดือน 3) ประชาชนทั่วไป (ธนาคารไม่ต้องสนับสนุนดอกเบี้ย) โดยพิจารณากลุ่มเป้าหมายลำดับที่ 1 ก่อน เมื่อ Supply เหลือจึงพิจารณากลุ่มเป้าหมายที่ 2 และ 3 ตามลำดับต่อไป

คุณสมบัติผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการ : ผู้มีสัญชาติไทย

มาตรการสินเชื่อ : กรอบวงเงินโครงการประมาณ 4,000 ล้านบาท

(1) สินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย  (Pre Finance) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารออมสิน โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนปีที่ 1 ถึงปีที่ 3 ร้อยละ 3 ต่อไป หลังจากนั้น MLR – ไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปี ระยะเวลาการกู้ไม่เกิน 5 ปี  เพื่อสนับสนุนสินเชื่อให้ผู้ประกอบการและหรือบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด  ที่เข้าร่วมพัฒนาโครงการ

(2) สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Post Finance) โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนปีที่ 1 ถึงปีที่ 4      ร้อยละ 2.75 ต่อปี หลังจากนั้น กรณีรายย่อย MRR – ร้อยละ 0.75 ต่อปี หรือกรณีสวัสดิการหักเงินเดือน MRR – ร้อยละ1.00 ต่อปี ระยะเวลาการกู้ไม่เกิน 30 ปี และผ่อนปรนการกำหนดอัตราส่วนรายจ่ายในการชำระหนี้ต่อรายได้ต่อเดือน (Debt Service Ratio : DSR) หรืออัตราส่วนภาระผ่อนชำระหนี้รวมต่อรายได้สุทธิรวม (Debt to Income Ratio : DTI) ตามที่ธนาคารกำหนด โดยมีวงเงินสินเชื่อที่อยู่อาศัยบนที่ดินราชพัสดุในระดับราคา 350,000-700,000 บาทต่อหน่วย

ทั้งนี้  ให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารออมสินพิจารณาขยายวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสม

รูปแบบ : โครงการการผ่อนชำระสู่การเช่าระยะยาว (Rent to Lease) กรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยเป็นของผู้ได้รับสิทธิอยู่อาศัย และผู้ได้รับสิทธิพัฒนาโครงการ โดยมีรายละเอียดดังนี้

1) พื้นที่โครงการ ที่ราชพัสดุครอบคลุมทุกภาคทั่วประเทศ

2) ราคาที่อยู่อาศัยในระดับราคา 350,000 – 700,000 บาท ต่อหน่วย

3) บ้านแฝด/บ้านแถว/อาคารชุดพักอาศัยมีพื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 28 ตารางเมตรต่อหน่วย

4) กำหนดให้มีการจัดสรรพื้นที่ส่วนกลางไม่เกินร้อยละ 30 ของพื้นที่โครงการฯ เพื่อรองรับกิจกรรมต่างๆที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของท้องถิ่น  และ/หรือเป็นประโยชน์ต่อโครงการฯ

5) การคัดเลือกผู้ได้รับสิทธิพัฒนาโครงการจะพิจารณาผู้ที่เสนอเงื่อนไขที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อทางราชการมากที่สุด

ทั้งนี้  การดำเนินโครงการในแต่ละพื้นที่จะมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมพัฒนาโครงการฯ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี และจัดทำแผนบริหารโครงการฯตลอดอายุโครงการ  ส่วนกระทรวงการคลังจะพิจารณาผ่อนปรนอัตราค่าเช่า ค่าธรรมเนียมและเงื่อนไขต่างๆในการดำเนินโครงการ “บ้านฅนไทย” โดยพิจารณาความเป็นไปได้ภายใต้หลักกฎหมายและระเบียบกระทรวงการคลังที่กำหนด

People unity news online : post 5 มกราคม 2561 เวลา 10.40 น.

 

สธ.ห่วง “ตูน” ส่งทีมแพทย์ รถพยาบาลติดตามตลอดเส้นทาง

People unity news online : เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2560 ที่กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกรณีที่สังคมออนไลน์สงสัยว่า เงินที่ร่วมบริจาคโครงการก้าวคนละก้าว เพื่อ 11 รพ.ทั่วประเทศ ให้กับ คุณอาทิวราห์ คงมาลัย หรือ ตูน บอดี้สแลม เป็นเงินงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขนั้น ขอเรียนว่า เงินทั้งหมดเป็นเงินที่มาจากการบริจาคเงินส่วนตัวของบุคลากรชาวสาธารณสุขที่ชื่นชมและขอบคุณคุณตูน ต้องการมีส่วนร่วมในโครงการนี้ด้วย เช่นเดียวกับประชาชนทั้งประเทศ และจากกิจกรรมที่หน่วยงานสาธารณสุขจัดขึ้น เช่น การประมูลเสื้อ หมวก รวมกันนำไปมอบให้คุณตูน

แพทย์หญิงพรรณพิมลกล่าวต่อว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขขอส่งกำลังใจให้คุณตูนมีสุขภาพแข็งแรง และทำตามปณิธานที่ตั้งไว้ให้สำเร็จ ในส่วนกระทรวงสาธารณสุขนั้นได้จัดทีมแพทย์ เจ้าหน้าที่ และรถพยาบาล ตามไปกับขบวนวิ่งคุณตูนตลอดเส้นทาง แม้ว่าทีมงานจะมีการเตรียมพร้อมมาอย่างดีแล้วก็ตาม ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขยังคงมีความห่วงใยสุขภาพคุณตูน ที่วิ่งหนักมากและหาวันพักได้ยาก ต้องดูแลตัวเองให้ดี รู้สภาพร่างกายของตัวเอง อย่าฝืน เพราะคุณตูนยังมีชีวิตที่สามารถทำสิ่งดีๆ เพื่อประเทศและประชาชนได้อีกมาก การดูแลสุขภาพตนเองเป็นเรื่องที่สำคัญ

People unity news online : post 8 ธันวาคม 2560 เวลา 02.20 น.

กองทุนพัฒนาสื่อฯร่วมหนุน ททท.ใช้โซเชียลมีเดียส่งเสริมการท่องเที่ยว

People unity news online : กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ หนุนเสริมภาคีเครือข่ายผู้ผลิตสื่อโซเชียลมีเดีย และสื่อมวลชน 20 จังหวัดภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในงานการประชุมแลกเปลี่ยนสร้างเครือข่าย “เสริมสร้างศักยภาพตลาดการท่องเที่ยวสมัยใหม่ (Modern Marketing) และสร้างพันธมิตรทางธุรกิจการท่องเที่ยวผ่านโซเชียลมีเดีย โดยใช้โทรศัพท์มือถือ”

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ รับเชิญเป็นวิทยากรให้ความรู้ความเข้าใจในหัวข้อ “ภารกิจขององค์กร กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” มีสื่อมวลชน เน็ตไอดอล ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงาน ททท. ในภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ความสนใจและเข้าร่วมฟังจำนวนกว่า 150 คน ในงานการประชุมแลกเปลี่ยนสร้างเครือข่าย “เสริมสร้างศักยภาพตลาดการท่องเที่ยวสมัยใหม่ (Modern Marketing) และสร้างพันธมิตรทางธุรกิจการท่องเที่ยวผ่านโซเชียลมีเดีย โดยใช้โทรศัพท์มือถือ” และการทำโซเชียลมีเดียเพื่อการประชาสัมพันธ์ โดยมี นายสมชาย ชมพูน้อย ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นผู้ริเริ่มจัดกิจกรรม และได้รับเกียรติจาก นายชีพธรรม (ไตร) คำวิเศษณ์ เป็นผู้จัดหลักสูตรการอบรม ณ โรงแรม เดอะ พรรณราย จังหวัดอุดรธานี เมื่อเร็วๆนี้

People unity news online : post 27 พฤศจิกายน 2560 เวลา 23.20 น.

คลอดแล้ว!งบกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัย-สร้างสรรค์ปี 61 เปิดรับขอทุนรอบแรก ม.ค.61

People unity news online : พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ครั้งที่ 7/2560 ณ ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ชั้น 2 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนงบประมาณประจำปี 2561 ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

แผนงบประมาณประจำปี 2561 จำนวน 1,048,738,000 บาท ได้กำหนดกรอบการจัดสรรเพื่อการขับเคลื่อนการทำงานของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 การสนับสนุนและการให้ทุนจากกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของกองทุน จำนวน 917,440,000 บาท ส่วนที่ 2 การดำเนินโครงการเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ โดยสำนักงานกองทุน (ภายใต้แผนงาน/โครงการ ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก กสทช. ในปี พ.ศ.2560 จำนวน 3 แผนงาน 7 โครงการ) จำนวน 26,500,000 บาท และส่วนที่ 3 การดำเนินงานตามภารกิจปกติ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ของกองทุน สร้างระบบและความเข้มแข็งขององค์กร (การสื่อสารเพื่อขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์สู่สังคม และการสนับสนุนดำเนินตามภารกิจปกติของกองทุน) จำนวน 104,798,000 บาท

พล.อ.ธนะศักดิ์ กล่าวว่า การสนับสนุนและการให้ทุนประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 จะดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนกองทุนฯทั้งสามด้าน ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การส่งเสริมและสนับสนุนภาคีเครือข่ายในการผลิต พัฒนาและเผยแพร่สื่อปลอดภัยและและสร้างสรรค์ ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างองค์ความรู้ให้ประชาชนใช้สื่ออย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ และยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาและส่งเสริมกลไกให้เกิดการรู้เท่าทัน และเฝ้าระวังสื่อไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ รวมจำนวน 885,000,000 บาท

ในปีงบประมาณ พ.ศ.2561 จำแนกการให้ทุนเป็น 2 ประเภทคือ แบบเปิดทั่วไป (Open Grant) และแบบให้ทุนสนับสนุนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Grant) โดยจะมีการเปิดให้ทุนจำนวน 2 รอบ รอบที่ 1 จะเปิดให้ทุนประมาณเดือนมกราคม 2561 ส่วนรอบที่ 2 จะเปิดให้ทุนประมาณเดือนมิถุนายน 2561

People unity news online : post 22 พฤศจิกายน 2560 เวลา 17.15 น.

“ศรีสะเกษ” ไปให้แรงบันดาลใจนักมวยนักเรียนจากจังหวัดชายแดนใต้

People unity news online : พล.ต.พงษ์ศักดิ์ มาอินทร์ ฝ่ายอำนวยการ รองหัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล (รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์) ได้นำนักเรียนกีฬามวย ซึ่งเป็นเยาวชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามโครงการสานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษา “โครงการสานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนใต้” ซึ่งเป็นนักเรียนในโครงการประเภทกีฬามวย 20 คน เข้าโครงการคลินิกมวยไทย-สากล หวังพัฒนาต่อยอดสู่ความเป็นเลิศทางด้านกีฬามวย เรียนรู้ทักษะชีวิต สร้างความรักความสามัคคี และใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ระหว่างวันที่ 28 กันยายน-18 ตุลาคม 2560 ณ สนามฝึกซ้อมกีฬามวย กรมสวัสดิการทหารบก กรุงเทพมหานคร โดยได้รับเกียรติจากแชมป์โลก WBC ชื่อดังของโลก “ศรีสะเกษ นครหลวงโปรโมชั่น” มาให้กำลังใจและสร้างแรงบันดาลใจให้มุ่งมั่นพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นเลิศ พร้อมทั้งมอบผลไม้ให้แก่นักเรียนในโครงการ เมื่อวันที่14 ตุลาคม 2560 เวลา 14.00 น.

“ศรีสะเกษ นครหลวงโปรโมชั่น” กล่าวว่า จากการที่ได้มาพูดคุยกับนักเรียนในวันนี้ น้องๆมีความมุ่งมั่นตั้งใจ และขยันฝึกซ้อมมากๆ เชื่อมั่นว่านักเรียนในโครงการจะเติบโตเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ และขอเป็นกำลังใจให้กับน้องๆนักเรียนในโครงการสานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกคนด้วย

ทั้งนี้ โครงการสานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนใต้ เป็นโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อสร้างโอกาสให้แก่เด็กและเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีความสามารถด้านกีฬา ให้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพในโรงเรียนของรัฐ จำนวน 8 โรงเรียน มีนักเรียนในโครงการทั้งหมด 908 คน ใน 10 ชนิดกีฬา ได้แก่ ฟุตบอล วอลเลย์บอล ฟุตซอล ตะกร้อ มวยไทย ปันจักสีลัต ฮอกกี้ กรีฑา เทควันโด และบาสเกตบอล

ทั้งนี้ นักเรียนสามารถเลือกเรียนในแผนการเรียนวิทย์-กีฬา หรือศิลป์-กีฬา โดยนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษาจากรัฐบาลปีละ 40,000 บาท ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จนถึงปริญญาตรี และปีละ 55,000 บาท ในระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา

People unity news online : post 16 ตุลาคม 2560 เวลา 10.50 น.

Verified by ExactMetrics