วันที่ 5 พฤษภาคม 2024

นายกฯเผยกำลังหามาตรการให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในไทยเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจทรุดหนัก

People Unity News : นายกรัฐมนตรี เผยกำลังหารือถึงมาตรการที่เหมาะสมในการเปิดการท่องเที่ยวให้ชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทย โดยมีการเตรียมระบบมาตรการทางด้านสาธารณสุขรองรับให้ประชาชนเกิดความมั่นใจศักยภาพด้านสาธารณสุขในการป้องกันการแพร่ระบาดของ Covid-19

วันนี้ (26 ส.ค.63) เวลา 11.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงการเปิดการท่องเที่ยวให้ชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยว่า ขณะนี้กำลังมีการหารือและพิจารณาถึงมาตรการที่เหมาะสมที่จะสามารถดำเนินการได้ว่าเป็นพื้นที่ใด โดยเฉพาะจังหวัดที่ได้รับผลกระทบที่เป็นพื้นที่ท่องเที่ยว โดยระยะแรกอาจดำเนินการในจำนวนน้อยก่อนเพื่อทดสอบระบบที่มีการเตรียมมาตรการต่างๆรองรับ ทั้งการตรวจคัดกรอง การสวมหน้ากากผ้าและหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างที่เหมาะสม หรือ Social Distancing การใช้แอพพลิเคชั่นติดตามตัว และแอพพลิเคชั่นและเว็บไซต์ไทยชนะ เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจศักยภาพด้านสาธารณสุขในการป้องกันการแพร่ระบาดของ Covid-19 ของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันก็ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ สิ่งสำคัญคนในพื้นที่ต้องมีส่วนร่วมด้วย ทั้งนี้หากไม่ทำอะไรเลยสถานการณ์เศรษฐกิจจะหนักกว่านี้เรื่อยๆ โดยเฉพาะสถานประกอบการต่างๆต้องปิดลงส่งผลให้ลูกจ้างตกงาน ซึ่งอะไรที่สามารถผ่อนคลายได้รัฐบาลก็พยายามอย่างมากที่จะดำเนินการมาตรการที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ

Advertising

ศบศ.ทำแพลตฟอร์ม “ไทยมีงานทำ” ให้นายจ้างและลูกจ้างได้พบปะกันหวังกระตุ้นการจ้างงาน

People Unity News : ศบศ. รับนโยบายนายกฯ เน้นการจ้างงาน สนับสนุนภาคธุรกิจ และรักษาเสถียรภาพทางการเงิน แพลนจัดทำแพลตฟอร์ม “ไทยมีงานทำ” หวังนายจ้างและลูกจ้างได้พบปะกัน

19 ส.ค. 63 เวลา 11.40 น. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ นายสมิทธิ์ พนมยงค์ โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ แถลงผลการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ครั้งที่ 1/2563 สาระสำคัญ ดังนี้

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยต่อความเดือดร้อนของประชาชนในทุกภาคส่วนทั้งด้านธุรกิจ ผู้ประกอบการและอาชีพอิสระ จึงจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าหลังจากการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจแล้ว ไทยยังคงมีเสถียรภาพอย่างต่อเนื่อง โดยมีแนวทางการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจทั้งระดับ Micro (ระดับพื้นที่) ซึ่งมอบหมายให้รัฐมนตรีรายกระทรวง ลงไปดูแลในระดับพื้นที่ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ดูแลแก้ไขปัญหาที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 รวมทั้งปัญหาเดิมที่มีอยู่แล้ว เช่น ภัยแล้ง สำหรับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระดับ Macro (ระดับประเทศ) นั้น ศบศ. จะเป็นศูนย์ใหญ่ที่รับผิดชอบ โดยอาศัยความร่วมมือในทุกภาคส่วน ตามแนวทาง “รวมไทยสร้างชาติ” ซึ่งภายใต้ศูนย์นี้ ยังมีการทำงานของคณะอนุกรรมการอีก 3 ชุด เพื่อให้ครอบคลุมการดำเนินการทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพราะปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นผลพวงจากวิกฤตโควิด-19 ยังไม่มีวิธีการแก้ไขปัญหาที่แน่นอน การดำเนินการจึงต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง รอบคอบ ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์

นายสมิทธิ์ พนมยงค์  โฆษก ศบศ. ได้แถลงเพิ่มเติมเป้าหมายการทำงานของ ศบศ. คือ ลดการถดถอยทางเศรษฐกิจ ที่มีการประเมินในปีนี้ทั้งปีจะติดลบลดลงอยู่ที่ร้อยละ 7 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้มีการดำเนินการแล้วอย่างเช่น โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” จะมีการปรับปรุงขอบเขตการใช้สิทธิ เช่น จากเดิม 5 คืน ต่อ 1 สิทธิ เป็น 10 คืน ต่อ 1 สิทธิ และปรับเพิ่มค่าโดยสารเครื่องบิน จากเดิม 1,000 บาท ปรับเป็น 2,000 บาท รวมทั้งขยายฐานการใช้สิทธิสำหรับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีการจัดอบรม สัมมนา ท่องเที่ยวอยู่แล้ว ใช้ในโครงการฯนี้ได้ นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ได้มีขยายคุณสมบัติของผู้ประกอบการในการขอสินเชื่อ (Soft Loan) เพื่อขยายขอบเขตทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่เข้าถึงสินเชื่อนั้นได้ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำเป้าหมายหลักแก่ ศบศ. คือ 1.การจ้างงาน 2.การสนับสนุนภาคธุรกิจ และ 3.การรักษาเสถียรภาพทางการเงิน

จากนั้น  รองเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมได้มีการเห็นชอบในหลักการ 4 เรื่องสำคัญ  ได้แก่ 1.สนับสนุนการท่องเที่ยว ในโครงการ เราเที่ยวด้วยกัน โดยมีการปรับปรุงขยายสิทธิ และการช่วยเหลือค่าเครื่องบินเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเดินทางได้ไกลขึ้น และขยายวงกลุ่มเป้าหมายโดยเน้นให้ธุรกิจขนาดใหญ่สามารถใช้สิทธิในการจัดประชุมสัมมนา 2.สนับสนุนการดูแลภาคธุรกิจ SME ให้เข้าถึงได้มากขึ้น เพื่อให้มีสภาพคล่องและธุรกิจยังคงดำเนินต่อไปได้ 3.มาตรการจ้างงาน โดยเฉพาะบัณฑิตจบใหม่และผู้ที่กำลังตกงานโดยมีการทำแพลตฟอร์ม “ไทยมีงานทำ” โดยเน้นให้มีข้อมูลในรูปแบบ Big Data รวมศูนย์ข้อมูลเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้จ้างงานและผู้รับจ้างได้มีโอกาสเจอกันง่ายขึ้น และ 4. มาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย

Advertising

รมว.สุชาติ เร่งแก้ปัญหาการว่างงาน ประเดิมจ้างงานในพื้นที่ EEC 3 จังหวัด 40,951 อัตรา

สุชาติ ชมกลิ่น

People Unity News : รมว.แรงงาน เร่งขับเคลื่อนนโยบายแก้ปัญหาว่างงาน มุ่งเป้าฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 เดินหน้าจ้างงานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) หลังสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด 19 คลี่คลาย กว่า 40,951 อัตรา มุ่งเป้าฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังโรงงานปิดตัวเป็นจำนวนมาก แนะเด็กไทยเลือกเรียนสายอาชีพ เพื่อให้สอดคล้องตลาดแรงงาน

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เผยว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับปัญหาการว่างงานที่เกิดกับพี่น้องแรงงานในทุกภาคส่วนของประเทศไทย ซึ่งวิกฤตการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานของไทยเป็นอย่างมาก รวมทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ แม้กระทั่งในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ต้องเผชิญกับสภาวะดังกล่าว ซึ่งกรมการจัดหางานไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้เร่งหามาตรการเพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมให้ประชาชนได้เกิดการจ้างงาน โดยเฉพาะในส่วนพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ใน 3 จังหวัด คือ ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในการขับเคลื่อนด้านแรงงานเศรษฐกิจและสังคม  โดยเร่งเตรียมตำแหน่งงานว่าง พร้อมร่วมมือกับหน่วยที่เกี่ยวข้อง อบรมยกระดับฝีมือแรงงานเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เนื่องจากเป็นพื้นที่ส่งเสริมการลงทุน ประกอบกับรัฐบาลมีมาตรการในการจูงใจนักลงทุนให้มาลงทุนในพื้นที่ EEC  โดยเฉพาะการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมใหม่

“ขณะนี้ สถานการณ์ COVID-19 ในประเทศได้คลี่คลายลง กรมการจัดหางานมีแนวคิดจะกระตุ้น การจ้างงานในพื้นที่ EEC ทันที ซึ่งจะสอดรับการเป็นพื้นที่การลงทุนของรัฐบาล ที่ดึงให้นักลงทุนมาประกอบกิจการเพื่อพลิกฟื้นสถานการณ์ในพื้นที่ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว โดยประเภทงานที่ EEC มีความต้องการแรงงานมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.แรงงานด้านการผลิตอื่นๆ แรงงานทั่วไป 12,706  อัตรา 2.พนักงานรักษาความปลอดภัย 11,437 อัตรา  3.พนักงานบริการอื่นๆ 1,807 อัตรา 4.ช่างอัญมณีและช่างประดิษฐ์เครื่องประดับอื่นๆ 1,186 อัตรา 5.ผู้ตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ 872 อัตรา 6.ช่างเทคนิควิศวกรรมไฟฟ้า 826 อัตรา  7.ช่างเทคนิควิศวกรรมโยธา (ก่อสร้าง) 618 อัตรา 8.พนักงานขาย และผู้นำเสนอสินค้าอื่นๆ 609 อัตรา 9.เจ้าหน้าที่เทคนิคเคมี ช่างเทคนิค (อินทรีย์เคมี ยาง พลาสติก โพลิเมอร์ สี กระดาษ น้ำมัน เส้นใย อาหารและเครื่องดื่ม) 604 อัตรา 10.เจ้าหน้าที่การตลาด 516 อัตรา และอื่นๆ (ช่างเทคนิควิศวกรรมเครื่องกลอื่นๆ แม่บ้านและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ช่างเชื่อมโลหะด้วยไฟฟ้า ฯลฯ) 9,770 อัตรา โดยแรงงานที่ต้องการในพื้นที่ EEC มีทุกระดับตั้งแต่แรงงานฝีมือ กึ่งฝีมือ และไร้ฝีมือ ซึ่งมีความต้องการครอบคลุมตั้งแต่ระดับประถมศึกษา จนถึงปริญญาตรี ขึ้นไป” นายสุชาติ กล่าว

Advertising

นายกฯพอใจบริษัทจัดอับดับเรตติ้งญี่ปุ่น (JCR) มีมุมมองเศรษฐกิจไทย “มีเสถียรภาพ”

People Unity News : นายกฯ พอใจบริษัทการจัดอับดับเรตติ้งของญี่ปุ่น (JCR) มุมมองภาพรวมเศรษฐกิจไทย “มีเสถียรภาพ” แนวโน้มการลงทุนต่างชาติเพิ่ม ยืนยันไทยมีแผนบริหารจัดการหนี้สาธารณะที่รัดกุม

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับทราบผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดยบริษัท Japan Credit Rating Agency, Ltd. (JCR) ยืนยันมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ (Stable outlook) และความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้รัฐบาลระยะยาวสกุลเงินตราต่างประเทศที่ระดับ A- และสกุลเงินบาทที่ระดับ A เนื่องจากประเทศไทยมีมาตรการรับมือกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างมีประสิทธิภาพ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล และทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง

ในส่วนของการลงทุนจากต่างประเทศ ก็มีข้อมูลที่น่ายินดี เมื่อบีโอไอได้เปิดเผยยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 6 เดือนของปี 2563 (มกราคม-มิถุนายน) รวม 754 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7  มูลค่าเงินลงทุน 158,890 ล้านบาท และเป็นนักลงทุนหน้าใหม่ที่ยื่นขอรับการส่งเสริมในโครงการใหม่ถึง 366 โครงการ หรือร้อยละ 49 โดยมียอดเงินลงทุนรวม 42,520 ล้านบาท ขณะที่เป็นการลงทุนในพื้นที่อีอีซีถึง 225 โครงการมูลค่าเงินลงทุนรวม 85,480 ล้านบาท  ซึ่งนายกรัฐมนตรีย้ำว่ารัฐบาลทำงานแบบ “New Normal” เดินหน้าสู่อนาคต โดยมีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการเฝ้าระวังโควิด-19 แต่ยังคงยึดวินัยการเงินการคลัง รักษาระดับหนี้สาธารณะ ซึ่งนายกฯมอบแนวทางให้สำนักบริการหนี้สาธารณะที่ดูแลเรื่องการกลั่นกรองแผนความต้องการกู้เงินระยะปานกลาง 5 ปี (พ.ศ.2564-2568) และแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2564 ยึดเหตุผลความจำเป็นและความต้องการเงินกู้อย่างรอบคอบโดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้แก่กฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐและกฎหมายการบริหารหนี้สาธารณะทั้งนี้เพื่อให้การลงทุน การดำเนินโครงการ/แผนงาน นำไปสู่การกระตุ้นและพัฒนาเศรษฐกิจและรองรับสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังย้ำว่า การจัดเรทติ้งของญี่ปุ่นเป็นสัญญาณที่ดีสร้างความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทย แม้ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ยากลำบาก แต่รัฐบาลพร้อมขับเคลื่อนโครงการการลงทุนขนาดใหญ่ และการใช้เงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก เน้นการจ้างงาน สร้างรายได้ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งได้ทำมาแล้วหลายโครงการมากและยังคงจัดสรรงบประมาณให้เดินหน้าต่อ

Advertising

รัฐบาลยืนยันโครงการอีอีซีไม่สะดุด แม้ปรับ ครม.ใหม่

People Unity News : รัฐบาลยืนยันโครงการอีอีซี ไม่สะดุด ปรับ ครม. ไม่กระทบ เดินหน้าตามแผน รอลงนามเอกชนสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมแหลมฉบังระยะ 3 เร็วๆนี้

สืบเนื่องจากมีข้อกังวลว่าการปรับคณะรัฐมนตรีอาจมีผลต่อความต่อเนื่องของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงว่า การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสําคัญในอีอีซี มีความคืบหน้าไปมาก โดยมีสํานักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เป็นผู้ติดตามความก้าวหน้าการดําเนินงาน โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสําคัญได้ลงนามกับคู่สัญญาไปเรียบร้อยแล้ว ทุกอย่างเดินหน้าต่ออย่างเดียวไม่ต้องมีข้อกังวลใดๆ ซึ่งรายละเอียด มีดังนี้

1.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินลงนามสัญญาร่วมลงทุนวันที่ 24 ต.ค.2562 ปัจจุบันการประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นหน่วยงานเจ้าของสาธารณูปโภค อยู่ระหว่างเตรียมดําเนินการรื้อย้าย โดยรถไฟความเร็วสูงสายนี้ เข้าเชื่อมโยง 3 สนามบิน ยกระดับสนามบินอู่ตะเภา มาเป็นสนามบินนานาชาติแห่งที่ 3 อีกท้ังเป็นการสร้างพื้นที่ต่อขยายของเมืองให้กับกรุงเทพ และพื้นที่อีอีซี (ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง)

2.โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะ 3 ช่วงที่ 1 ลงนามสัญญาร่วมลงทุน วันที่ 1 ต.ค.2562 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดําเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการกํากับดูแล และคณะกรรมการบริหารสัญญา โดย สกพอ. และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อสนับสนุนคณะกรรมการบริหารสัญญาและหน่วยงานเจ้าของโครงการ ในการควบคุมและกํากับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของเอกชนคู่สัญญาตามที่กําหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุน เพื่อดําเนินการก่อสร้าง

3.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับภาคเอกชนเมื่อ 19 มิ.ย.2563 ถือเป็นหนึ่งในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลักของอีอีซี เพื่อยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเป็น “สนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 ของกรุงเทพ” เชื่อมสนามบินดอนเมือง และสุวรรณภูมิ ด้วยรถไฟความเร็วสูง ทําให้ 3 สนามบินสามารถรองรับผู้โดยสารรวมกันได้มากถึง 200 ล้านคนต่อปี เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation รวมทั้งเป็น “มหานครการบินภาคตะวันออก” ที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการบินและประตูเศรษฐกิจสู่เอเชีย

4.โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F ปัจจุบันคณะกรรมการคัดเลือก ได้เร่งเจรจาผลตอบแทน และร่างสัญญากับกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC (ประกอบด้วยบริษัท พีทีที แทงค์เทอร์มินัล จํากัด ในกลุ่ม บมจ.ปตท (PTT) บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวล ลอปเมนท์ (GULF) บริษัท China Harbour Engineering Commpany Limited) ที่เป็นเอกชนผู้รับการคัดเลือก คาดว่าจะได้ผลการคัดเลือกเอกชน และลงนามสัญญาได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้

ทั้งนี้ ยังมีโครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทําร่างเอกสารคัดเลือกเอกชนเพื่อรับฟังความเห็นอีกครั้ง ก่อนสรุปผลการดําเนินงานต่อคณะกรรมการคัดเลือก เพื่อพิจารณาแนวทางการดําเนินงานโครงการต่อไป

นางสาวรัชดา ยังกล่าวด้วยว่า แม้จะมีการยื่นขอการลงทุนในอีอีซีลดลงในช่วง เม.ย.-มิ.ย. เนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด 19 แต่คาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นจากนี้เป็นต้นไป เพราะยังมีนักลงทุนที่ต้องการย้ายการลงทุนสืบเนื่องจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐ และ 3 อันดับแรกของประเทศที่เข้ามาลงทุนประกอบด้วย จีน ญี่ปุ่น และสิงคโปร์

“ขอให้ประชาชนและภาคเอกชนสบายใจและมั่นใจได้ว่า ท่านนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ให้ความสำคัญขับเคลื่อนการลงทุนในไทยและในพื้นที่ อีอีซี ผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม โดยมี สกพอ. ที่เป็นหน่วยงานหลักในการติดตามดูแลการดำเนินงานโครงการอีอีซี  การปรับครม.จึงไม่กระทบต่อความต่อเนื่องของโครงการแต่อย่างใด และนอกจากความก้าวหน้าของโครงการก่อสร้างพื้นฐาน สกพอ.ได้เดินหน้าควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากรร่วมกับสถาบันการศึกษาและเอกชน เพื่อรองรับการจ้างงานในอีอีซี เป้าหมายจำนวนหลักแสนอัตรา ระยะเวลา 2562-2566” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว

Advertising

ก.อุตสาหกรรมรับรองคุณภาพสินค้า “เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ” จากผู้ผลิตชุมชน 2 รายแรก

People Unity News : กระทรวงอุตสาหกรรม การันตี “เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ” สินค้าจากชุมชน สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้ 100% หลัง สมอ. ให้การรับรองคุณภาพสินค้าแก่ผู้ผลิตชุมชน 2 รายแรกของไทย ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ที่ปรับแก้ไขใหม่ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เมื่อเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ชวนประชาชนอุดหนุนสินค้าไทย รับวิถีปกติใหม่ (New normal)

นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. ได้แก้ไขมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน  มผช.907/2563 ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือ ซึ่งรวมถึงเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ เพื่อให้สอดคล้องตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข โดยแก้ไขเกณฑ์กำหนดส่วนผสมของแอลกอฮอล์ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ70 เพื่อให้สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2563 นั้น เป็นที่น่ายินดีว่า มีผู้ผลิตชุมชน 2 รายแรกของไทย ได้รับการรับรองคุณภาพสินค้าตามมาตรฐานดังกล่าวจาก สมอ. แล้ว ได้แก่ ดีดีดี แอลกอฮอล์เจล ของนางสาวเรณู แก้วตา ผู้ผลิตชุมชนจังหวัดลำพูน ได้รับการรับรองเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563 และนางสาววรรณภัสสร สันติธรรมสุททิ์ ผู้ผลิตชุมชนจังหวัดชุมพร ได้รับการรับรองเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา

“การได้รับการรับรองในครั้งนี้ เป็นเครื่องการันตีว่า สินค้ามีคุณภาพตามมาตรฐาน สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้ 100 % ซึ่งจะช่วยเพิ่มยอดขายและสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เป็นหนึ่งในมาตรการและแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการของกระทรวงอุตสาหกรรม ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบ ให้สามารถพัฒนาสินค้าได้ตามมาตรฐาน สร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจ ตลอดจนเพิ่มยอดขายสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น และเพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจภายใต้สถานการณ์โควิด 19″ โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า “แม้ว่าสถานการณ์โควิด 19 จะคลี่คลาย แต่ประชาชนก็ยังต้องป้องกันตนเอง ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย การใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ และฉีดพ่นแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ เพื่อให้ปลอดภัยจากเชื้อไวรัสดังกล่าว เจลแอลกอฮอล์ล้างมือจึงเป็นอีกหนึ่งสินค้าที่จำเป็นสำหรับประชาชนที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวันตามวิถีปกติใหม่ หรือ New normal จึงขอฝากถึงประชาชนให้อุดหนุนสินค้าของไทย โดยเฉพาะสินค้าจากผู้ผลิตชุมชน และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ได้มาตรฐาน ผ่านการรับรองจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ เพื่อสร้างงานและสร้างรายได้สู่ชุมชน และที่สำคัญเพื่อความปลอดภัยและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 สำหรับผู้ผลิตชุมชน และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สามารถนำมาตรฐาน มผช.907/2563 ไปเป็นแนวทางในการผลิตเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ที่ได้มาตรฐาน โดยขอให้ท่านยื่นจดแจ้งกับกระทรวงสาธารณสุขตามกฎหมายก่อน หลังจากนั้นให้มายื่นขอการรับรองที่ สมอ. หรือสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น ทั้งนี้ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.tisi.go.th หรือสอบถามได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 2202 3345-46 กองบริหารมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน

Advertising

“พิพัฒน์” ชูท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ “ประเทศไทยเป็นเมืองหลวงของโลกด้านการดูแลสุขภาพ”

People Unity News : คณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (นโยบาย Medical Hub) เตรียมความพร้อม 3 ด้าน รับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หากได้รับการผ่อนปรนหลังสถานการณ์โควิด 19 คลี่คลาย

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (นโยบาย Medical Hub) ครั้งที่ 1/2563 โดยมีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธาน พร้อมด้วยคณะกรรมการจากภาครัฐและภาคเอกชนร่วมประชุม พิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเมื่อสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) คลี่คลาย

นายแพทย์ธเรศกล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาและเห็นชอบในหลักการ 3 ด้าน ได้แก่ 1.จัดทำแนวทางการรักษาพยาบาลพร้อมเป็นสถานกักกันในโรงพยาบาล สำหรับผู้ป่วยชาวไทยและชาวต่างชาติที่ต้องการเข้ารับการรักษาพยาบาลต่อเนื่องในประเทศไทย ซึ่งรวมผู้ติดตาม โดยแบ่งเป็นสถานกักกันในโรงพยาบาล (Hospital Quarantine) กักกันตัวผู้ป่วยชาวไทยที่เดินทางกลับเข้ามาในไทย และสถานกักกันในโรงพยาบาลทางเลือก (Alternative Hospital Quarantine) สำหรับผู้ป่วยชาวต่างชาติและผู้ติดตาม ต้องมีการนัดหมายไว้ล่วงหน้า โดยรักษาและกักกันเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน ต้องมีผลการตรวจโควิด 19 ก่อนเข้าประเทศไม่เกิน 72 ชั่วโมง เมื่อเข้ามารักษาต้องมีการตรวจอีก 3 ครั้ง (ก่อนรักษา ระหว่างรักษา และหลังการรักษา) เพื่อความปลอดภัยและเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่นำเชื้อมาแพร่ระบาดในไทย โดยค่าใช้จ่ายในการรักษากรณี Hospital Quarantine หากเป็นคนไทยเป็นไปตามสิทธิการรักษา หากเกินสิทธิ์ต้องจ่ายเองโดยสมัครใจ กรณี Alternative Hospital Quarantine ผู้ป่วยต่างชาติและคนไทยที่สมัครใจต้องชำระค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด

2.เห็นชอบให้ “ประเทศไทยเป็นเมืองหลวงของโลกด้านการดูแลสุขภาพ” โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์ตราสัญลักษณ์ Medical Hub ภายใต้แนวคิด “Healthcare Capital of the World” และกำหนดข้อความสำคัญในการสื่อสารว่า “Beyond Healthcare, Trust Thailand” เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการกลับเข้ามาใช้บริการรักษาพยาบาลในประเทศไทย และ 3.มาตรการพัฒนาชุดเครื่องมือแพทย์รองรับการระบาดของโรคโควิด 19 เพื่อรับมือและลดโอกาสติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ และผู้เข้ารับการตรวจหาเชื้อวิด 19 โดยเน้นการผลิตในประเทศไทย แบ่งเป็น 4 กลุ่มคือ เครื่องมือแพทย์สำหรับการคัดกรองและตรวจสอบโรค เครื่องมือแพทย์สำหรับการป้องกันและควบคุมโรค เครื่องมือแพทย์สำหรับการคัดแยกและการฆ่าเชื้อ และเครื่องมือแพทย์สำหรับการบำบัดรักษาโรค โดยเน้นการผลิตในประเทศไทย

Advertising

“สมคิด” มอบนโยบาย “พลังงานสร้างไทย” กระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19

People Unity News : รองนายกฯ สมคิด มอบนโยบาย พลังงานสร้างไทยจับมือกระทรวงพลังงานกระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19 คลี่คลายคืนความสุขคนไทยลดรายจ่ายสร้างรายได้

25 มิ.ย.2563 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางมาประชุมมอบนโยบาย “พลังงานสร้างไทย” ณ ห้องประชุม 9 ชั้น15 อาคารเอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ กระทรวงพลังงาน โดยมี นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ผู้บริหารและข้าราชการระดับสูงให้การต้อนรับ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานชี้แจงว่า “การประชุมดังกล่าวเป็นการเตรียมแผนงานด้านพลังงานเพื่อลดค่าครองชีพและสร้างรายได้ให้กับประชาชนหลังสถานการณ์เชื้อโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย โดยมีสาระสำคัญที่จะดำเนินการ 3 ด้านในช่วงปี 2563-2565 คือ

1.ลดรายจ่ายแก่ประชาชนช่วงโควิด-19 รวมกว่า 40,500 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ดำเนินการในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาและดำเนินการต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี ผ่านมาตรการช่วยเหลือสำคัญ เช่น ลดค่าไฟฟ้าครัวเรือนและภาคธุรกิจด้วยการบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้าจากการนำเข้า Spot LNG การยกเว้นเก็บอัตราค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ (Minimum charge) ถึง กันยายน 2563 การตรึงราคาแก๊สหุงต้มถึง กันยายน 2563 และจะพิจารณาขยายไปถึงธันวาคม 2563 การช่วยเหลือส่วนต่างราคา NGV สำหรับรถสาธารณะ โดย ปตท. ช่วยเหลือส่วนต่างราคาจนถึง กรกฎาคม 2563 การจัดโครงการพลังงานร่วมใจสู้ภัยโควิด-19 แจกแอลกอฮอล์โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั่วประเทศกว่า 2 ล้านลิตร การลดเงินเก็บเข้ากองทุนน้ำมันลง 50 สต.ต่อลิตร และลดราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นลง 50 สต.ต่อลิตร

2.เร่งรัดการลงทุนด้านพลังงาน รวมกว่า 200,000 ล้านบาท ในปี 2563 สร้างการจ้างงานกว่า 10,000 คน โดยในปี 2563 จะมีการเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ เริ่มดำเนินการ LNG Hub เริ่มการลงทุนพัฒนา Grid Modernization และศึกษาความเป็นไปได้ของ Grid Connectivity กับประเทศเพื่อนบ้าน การรื้อถอนแท่นปิโตรเลียม และเร่ง LNG receiving Terminal

3.กระตุ้นเศรษฐกิจ ฟื้นฟูหลังโควิด-19 รวมกว่า 30,000 ล้านบาท สร้างรายได้ให้ชุมชน เกิดการจ้างงานกว่า 8,000 คน ซึ่งต่อจากนี้ กฟผ. จะกระตุ้นให้เกิดการค้าผ่านตลาดนัดออนไลน์ชุมชนโรงไฟฟ้าและท่องเที่ยวเขื่อนทั่วไทย และ ปตท. จะจัด Living Community Market Place และเที่ยวทั่วทิศกระตุ้นเศรษฐกิจกับ Blue card พร้อมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มีแผนที่จะขยายสายส่งไฟฟ้าเพื่อผันแม่น้ำยวมสู่อ่างเก็บน้ำภูมิพลเพื่อชลประทาน และยังช่วยลดปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นได้ด้วย รวมไปถึงการพิจารณาหาแนวทางการนำไฟฟ้าส่วนเกินมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ

“ส่วนโรงไฟฟ้าชุมชนจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน เกิดการลงทุนและสร้างรายได้กว่า 2,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงานกว่า 10,000 คน เมื่อครบเป้าหมาย 700 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ การใช้ระบบ Blockchain เข้ามาช่วยในการซื้อขายปาล์มภาคพลังงานทั้งระบบ จะเกิดการหมุนเวียนรายได้กว่า 14,000 ล้านบาท และการลงทุนเพื่อช่วยประกอบการ Start up โดย ปตท. สนับสนุนทุนไปแล้วกว่า 17 ราย และ กฟผ. จะมี Innovation Holding Company เข้ามาช่วยสนับสนุนการพัฒนาไฟฟ้าในยุค Disruptive technology นอกจากนี้ ยังมีแนวทางที่จะบูรณาการทำงานกับหน่วยงานอื่น เพื่อผลักดันการพัฒนา E-Transportation ให้ครบวงจร ซึ่งกระทรวงพลังงานและหน่วยงานในสังกัดทุกหน่วยจะเร่งเดินหน้าตามแผนงานดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนมีรายได้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยให้เดินหน้าอย่างเข้มแข็งต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว

Advertising

นายกฯหารือผู้บริหารสภาอุตสาหกรรมทำงานแบบ New Normal ร่วมรัฐ-เอกชน-ประชาชน

People Unity News : นายกฯพบหารือผู้บริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เน้นการทำงานในรูปแบบ New Normal ร่วมรัฐ-เอกชน-ประชาชน

19  มิถุนายน 2563 เวลา 11.00 น. ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี  ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นำคณะผู้บริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เข้าพบเพื่อหารือและรับฟังข้อเสนอแนะแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ด้วยการประสานเพื่อขับเคลื่อนการทำงานในรูปแบบ New Normal โอกาสนี้ นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและนายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมหารือด้วย

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยการแก้ปัญหาระยะยาว ลดผลกระทบจากปัญหาไวรัสโควิด-19 โดยดำเนินมาตรการต่างๆครอบคลุมทั้ง “เยียวยา” และ “ฟื้นฟู” เช่น การลดภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้วให้มีการขยายการปรับลดค่าไฟฟ้าจากร้อยละ 3 เป็นร้อยละ 5  การลดค่าจดจำนองและค่าโอนที่ดินเหลือร้อยละ 0.01 ในปี 2563  การลดเงินสมทบประกันสังคมของนายจ้างจากร้อยละ 4 ให้เหลือเพียงร้อยละ 1 และขยายระยะเวลาลดเงินสมทบประกันสังคมของลูกจ้าง ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 63  เพื่อส่งเสริมการจ้างงานและรักษาตำแหน่งงานในระบบ รวมทั้งการสนับสนุนผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนจากธนาคารและสถานบันการเงินของรัฐต่างๆ รวมทั้ง พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทของธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย มาตรการที่ออกมาเพราะรัฐบาลตั้งใจดูแลประชาชนทุกกลุ่มทั้งผู้ประกอบการ SMEs  แรงงานและเกษตรกร ล้วนเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยทั้งสิ้น

โอกาสนี้  ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกล่าวประทับใจต่อคำแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรีถึงรูปแบบการทำงานของ “วิธีการทำงานแบบ New Normal ของนายกรัฐมนตรี” ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน โดยวันนี้นายกรัฐมนตรีสร้างโอกาสและเวทีให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศและหน่วยงานภาครัฐ ร่วมพูดคุยหารือถึงข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนอย่างตรงไปตรง รวมทั้งการที่รัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือ เยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่ม ต่อเนื่องจนถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากมาตรการต่างๆ ประเทศไทยสามารถเปลี่ยนวิกฤต “โควิด-19” ให้กลายเป็น “โอกาส” หลังจากไทยประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้อย่างดี จนได้รับการยอมรับและชื่นชมจากนานาประเทศ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยยังแสดงความความมั่นใจด้วยว่า ประเทศไทยจะกลายเป็นเป้าหมายปลายทางที่น่าสนใจทั้งสำหรับนักลงทุนและนักท่องเที่ยวสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง

นายกรัฐมนตรียังย้ำว่าวันนี้คือการทำงานแนวใหม่ “New Normal” ด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน ประชาชน ลดปัญหา อุปสรรคและเน้นให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินงานให้เป็นมิติใหม่ของการทำงานเพื่อประเทศไทยอย่างแท้จริง

Advertising

สรรพากรขยายเครือข่ายแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีระหว่างประเทศ ต่อต้านการเลี่ยงภาษีข้ามชาติ

People Unity News : ประเทศไทยได้ลงนามเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงแบบพหุภาคี Multilateral Convention on Mutual Administrative Assistance in Tax Matters หรือ MAC กับกว่า 130 ประเทศ เพื่อส่งเสริมความโปร่งใสทางภาษี สร้างความเป็นธรรมในการบริหารจัดเก็บภาษี และต่อต้านการหลีกเลี่ยงภาษีข้ามชาติ  ซึ่งเป็นไปตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นสมาชิก โดยเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2563 นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ เอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ในฐานะผู้รับมอบอำนาจเต็มเป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมพิธีลงนาม

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า “MAC นับเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้หน่วยจัดเก็บภาษีทั่วโลกบูรณาการความร่วมมือกันตามกรอบความร่วมมือขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD) และกลุ่ม G20 เรื่อง Inclusive Framework on Base Erosion and Profit Shifting (Inclusive Framework on BEPS) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการโยกย้ายฐานภาษีของกลุ่มบริษัทข้ามชาติ และกรอบความร่วมมือ Global Forum on Transparency and Exchange of Information for Tax Purposes (Global Forum) ที่กำหนดมาตรฐานในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีระหว่างประเทศทุกรูปแบบ เพื่อให้หน่วยจัดเก็บภาษีได้ใช้ประโยชน์สูงสุด จากข้อมูลที่ผ่านช่องทางการแลกเปลี่ยนภายใต้ความตกลง MAC ทั้งนี้ การเข้าร่วม MAC ของประเทศไทยเป็นการขยายเครือข่ายคู่สัญญาในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษี จากเดิม 60  คู่สัญญาภายใต้ความตกลงแบบทวิภาคี เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน (Double Tax Agreement : DTA) เป็นกว่า 130 ประเทศภายใต้ความตกลง MAC และแสดงถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการร่วมมือกับนานาประเทศ”

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมสรรพากรอยู่ระหว่างนำร่างความตกลง MAC ที่ได้ลงนามแล้วเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาและดำเนินการให้มีผลใช้บังคับต่อไป โดยการแลกเปลี่ยนข้อมูลภายใต้ความตกลง MAC จะส่งผลให้กรมสรรพากรมีข้อมูลในการวิเคราะห์พฤติกรรมและความเสี่ยงทางภาษีของผู้ประกอบการข้ามชาติ สนับสนุนการใช้บังคับกฎหมายของกรมสรรพากรในการส่งเสริมความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี เช่น กฎหมาย e-Service ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในประเทศ และขยายฐานภาษีที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ

Advertising

Verified by ExactMetrics