วันที่ 6 พฤษภาคม 2024

“1 ปีธนาคารเพื่อสังคม” ออมสินช่วยประชาชนเสริมสภาพคล่อง-พักชำระหนี้-ลดโครงสร้างดอกเบี้ยสินเชื่อ 9.5 ล้านราย

People Unity News : ออมสิน โชว์ผลงาน “1 ปี ธนาคารเพื่อสังคม” เน้นช่วยประชาชน 3 ด้าน เสริมสภาพคล่อง-พักชำระหนี้-ลดโครงสร้างดอกเบี้ยสินเชื่อ ผลงานที่โดดเด่น 3 ด้าน คือ (1) ด้านการเสริมสภาพคล่องแก่ผู้มีรายได้น้อยและ SMEs ขนาดเล็กผ่านมาตรการสินเชื่อ (2) ด้านการผ่อนปรนการชำระหนี้ด้วยการปรับลด/พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย และ (3) ด้านการเข้าแข่งขันในตลาดสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ที่ธนาคารออมสินได้ปรับจุดยืนทางยุทธศาสตร์ เป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา  ธนาคารได้ทำภารกิจช่วยเหลือสังคมที่เป็นรูปธรรมในหลายมิติ ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งธนาคารเป็นหน่วยงานหลักในการส่งต่อความช่วยเหลือให้ประชาชนและภาคธุรกิจตามนโยบายรัฐบาล ผ่านโครงการต่างๆมากกว่า 30 โครงการ สามารถช่วยเหลือประชาชนได้แล้วกว่า 9 ล้านคน โดยธนาคารยึดหลักการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างกำไรในระดับที่เหมาะสม และนำกำไรส่วนหนึ่งจากการประกอบธุรกิจปกติ มาสนับสนุนการดำเนินธุรกิจเชิงสังคม จนเกิดเป็นผลงานที่โดดเด่น 3 ด้าน คือ (1) ด้านการเสริมสภาพคล่องแก่ผู้มีรายได้น้อยและ SMEs ขนาดเล็กผ่านมาตรการสินเชื่อ (2) ด้านการผ่อนปรนการชำระหนี้ด้วยการปรับลด/พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย และ (3) ด้านการเข้าแข่งขันในตลาดสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง เพื่อเป้าหมายในการปรับลดโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลง ซึ่งจะช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยมีโอกาสใช้สินเชื่อที่มีต้นทุนถูกลงและเป็นธรรมมากขึ้น

ทั้งนี้ ในรอบปีที่ผ่านมา ธนาคารได้สร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินแก่ลูกค้ารายย่อย เป็นจำนวนมากกว่า 3.2 ล้านคน ผ่านมาตรการสินเชื่อ อาทิ สินเชื่อเสริมพลังฐานราก สินเชื่อฉุกเฉินสำหรับผู้มีอาชีพอิสระ และสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 เป็นต้น โดยในจำนวนนี้ธนาคารได้สร้างโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อในระบบให้กับประชาชนมากกว่า 2.5 ล้านคน ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่เคยมีประวัติเครดิตทางการเงิน หรือมีเครดิตต่ำกว่าเกณฑ์อนุมัติปกติของสถาบันการเงิน สำหรับผู้ประกอบการ SMEs รายเล็กนั้น ธนาคารได้ช่วย SMEs ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อเป็นมูลค่าสูงถึงกว่า 162,000 ล้านบาท ผ่านมาตรการสินเชื่อ อาทิ สินเชื่อ Soft Loan ธนาคารออมสิน สินเชื่อฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยว และสินเชื่ออิ่มใจ (ธุรกิจร้านอาหาร) เป็นต้น รวมถึงออกผลิตภัณฑ์ใหม่ “สินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน” ที่ช่วยให้ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น โดยธนาคารไม่พิจารณาข้อมูลรายได้ระยะสั้น เนื่องจากขณะนี้เป็นช่วงวิกฤติที่ลูกค้ามีรายได้ไม่แน่นอน และไม่วิเคราะห์ข้อมูลเครดิต แต่เน้นที่การพิจารณาหลักประกันเป็นหลัก (Collateral Based Lending)

สำหรับด้านการผ่อนปรนการชำระหนี้ให้กับลูกค้า เพื่อป้องกันไม่ให้กลายเป็นหนี้เสีย (NPLs) และเสียประวัติเครดิตในอนาคต ธนาคารสามารถช่วยเหลือลดภาระให้ลูกค้าแล้วเป็นจำนวนกว่า 3 ล้านคน ผ่านมาตรการพักชำระหนี้ลูกค้ากลุ่มต่างๆ อาทิ (1) มาตรการพักชำระหนี้ 6 เดือนแก่ร้านอาหารและโรงแรม (2) มหกรรมแก้หนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษา (3) มาตรการแก้หนี้สำหรับลูกค้าทั่วไปที่ประสบปัญหาการชำระเงินงวด อันเนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาด COVID-19 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 730,000 ราย และ (4) มาตรการล่าสุดให้ลูกค้ารายย่อยที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 2 แสนบาท จำนวนกว่า 750,000 ราย สามารถพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ได้สูงสุด 6 เดือน

นอกจากนี้ ธนาคารได้เข้าไปแข่งขันในตลาดสินเชื่อที่มีโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยสูง โดยการเปิดตัวธุรกิจจำนำทะเบียนรถ ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนใน บจ. เงินสดทันใจ ปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนมอเตอร์ไซค์และรถยนต์ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งสร้างแรงกระเพื่อมในตลาดการแข่งขันของธุรกิจจำนำทะเบียน จากเดิมที่เคยอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 24% – 28% ปัจจุบันลดลงเหลือ 16% – 18% ทำให้กลุ่มเป้าหมายผู้ใช้สินเชื่อนี้จำนวนกว่า 3.5 ล้านคน ได้รับประโยชน์ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยต้นทุนที่ถูกลงและเป็นธรรมมากขึ้น

สำหรับผลการดำเนินงานในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา สิ้นสุด ณ 30 มิถุนายน 2564 ธนาคารออมสินมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งมากขึ้น โดยมีสินทรัพย์รวม 2,860,000 ล้านบาท มีเงินฝาก 2,450,000 ล้านบาท และสินเชื่อรวม 2,190,000 ล้านบาท โดยจัดเป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่ใน 5 อันดับแรกของธนาคารทั้งระบบในทุกด้านที่กล่าวมา นอกจากนั้น ในท่ามกลางวิกฤติที่สถาบันการเงินต่างระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อเพื่อควบคุมความเสี่ยง ในขณะที่ประชาชนและภาคธุรกิจต่างประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ธนาคารออมสินได้เข้ามามีบทบาทในการปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบอย่างเต็มที่ โดยช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาได้อัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแล้วมากกว่า 270,000 ล้านบาท และสามารถบริหารจัดการหนี้เสียอยู่ในระดับไม่เกิน 2% รวมถึงเพิ่มการกันสำรองส่วนเกิน (General Provision) เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งอีกกว่า 32,000 ล้านบาท ส่งผลให้ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) แข็งแรงถึง 205.15%

Advertising

สสว. เดินหน้า SME คนละครึ่ง สนับสนุนเงินแบบร่วมจ่าย ตั้งแต่ร้อยละ 50-80

People Unity News : บอร์ด สสว. เดินหน้า SME คนละครึ่ง สร้างทางเลือกให้เอสเอ็มอีพัฒนาธุรกิจตนเอง ให้ตรงตามความต้องการมากขึ้น นายกฯย้ำเพิ่มประสิทธิภาพเอสเอ็มอี หาแนวทางช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้เข้าสู่ระบบ

วันนี้ (5 ก.ค.64) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (บอร์ด สสว.) ครั้งที่ 2/2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ณ ห้อง PMOC ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดย นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของการประชุมดังนี้

นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายต่อที่ประชุมว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลต้องการให้ สสว. ปรับรูปแบบการทำงานให้ดีขึ้นให้มากที่สุด ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และให้มีผลสัมฤทธิ์ตามห้วงระยะเวลา โดยวันนี้ต้องพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย พร้อมกับจะต้องปรับปรุงระบบ ระเบียบราชการต่างๆตามยุทธศาสตร์ชาติ บทบาทหน้าที่ของ สสว. ต้องมีงานบูรณาการเปิดช่องทางต่างๆให้คนเข้าถึงได้ทุกกลุ่ม ให้สอดประสานการทำงานกับหน่วยงานต่างๆ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ทั้งนี้ ระดับของ SME ในวันนี้มี 4 ระดับที่แตกต่างกัน คือ 1. SME ที่ดีที่สามารถส่งเสริมไปต่างประเทศ 2. SME ระดับปานกลาง ที่ต้องส่งเสริมให้ดีขึ้น 3. SME ส่วนที่กำลังจะล้ม ที่หากมีศักยภาพต้องพิจารณาให้ความช่วยเหลือ 4. SME ที่ล้มเหลว ซึ่งต้องรวบรวมข้อมูลของ SME ในส่วนนี้จากสภาหอการค้าไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อนำมาพิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือต่อไป

นายกฯ ย้ำว่า เศรษฐกิจของประเทศไทย ส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนได้ก็เพราะจาก SME จึงขอให้เน้นช่วยผู้ประกอบการรายเล็ก ที่ถึงแม้ว่าจะมีคนที่อยู่ในระบบภาษีจำนวนน้อยก็ตาม แต่ผู้มีรายได้น้อย แรงงาน คนตัวเล็กทั้งหมดที่อยู่ในระบบนี้ จะต้องได้รับการดูแล มีอาชีพและมีรายได้ประจำวัน  ดังนั้น จะต้องหาแนวทางช่วยเหลือ SME ให้เข้าสู่ระบบ โดยหาเป้าหมายให้เจอว่า SME ที่จะช่วยเหลือนั้นอยู่ในกลุ่มใดบ้าง  ต้องหาช่องทางการได้ข้อมูลของ SME ในแต่ละกลุ่ม ต้องนำข้อมูล SME ของแต่ละกระทรวงมาพิจารณา เพื่อนำไปสู่การสนับสนุนงานในแต่ละกระทรวง เพื่อเตรียมความพร้อมของ SME ในระดับปฏิบัติให้มีความพร้อม เพิ่มประสิทธิภาพของ SME และส่งเสริมสนับสนุนให้มีการพัฒนาต่อไปในอนาคต  หากทำได้ดีและเข้มแข็ง SME จะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยที่สุด

สำหรับการประชุมในวันนี้ สสว. ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบถึงการดำเนินที่สำคัญของ สสว. ดังนี้

สสว. เสนอแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยจะดำเนินโครงการให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีผ่านระบบผู้ให้บริการสนับสนุนด้านการพัฒนาธุรกิจ (Business Development Service : BDS) หรือการจ่ายคนละครึ่งภาคเอสเอ็มอี เพื่อสร้างทางเลือกให้กับเอสเอ็มอีในการพัฒนาธุรกิจของตนเองให้ตรงตามความต้องการมากขึ้น โดย สสว. จะให้การเงินสนับสนุนแบบร่วมจ่าย (co-payment) มีสัดส่วนตั้งแต่ร้อยละ 50-80

สำหรับค่าใช้จ่ายที่สามารถขอรับการสนับสนุน 5 ด้าน ได้แก่ ค่าใช้จ่ายด้านการเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพธุรกิจ ด้านการพัฒนาและบริหารจัดการธุรกิจ ด้านการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าและบริการ ด้านการพัฒนาช่องทางการจำหน่ายและการตลาด ด้านการพัฒนาตลาดต่างประเทศ โดยคุณสมบัติของเอสเอ็มอีต้องเป็นธุรกิจที่มีการยื่นชำระภาษีและขึ้นทะเบียนสมาชิกกับ สสว. ซึ่งคาดว่า จะเริ่มใช้ได้ในต้นปีงบประมาณ 2565 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ สสว. ยังได้ดำเนินการพัฒนาระบบการให้บริการผู้ประกอบการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (SME Access) ซึ่ง SME Access จะเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากจะเป็นการบูรณาการและอำนวยความสะดวกให้เอสเอ็มอีในการเข้าถึงงานบริการของ สสว. และหน่วยงานภาคีทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าไว้ในที่เดียว เข้าถึงได้ทุกเวลา จากทุกสถานที่ ผ่านเครื่องมือสื่อสารทุกชนิด โดยในปี 2564 สสว. เริ่มบูรณาการเชื่อมต่อระบบการให้บริการผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการเอสเอ็มอีที่ดีขึ้น รวมถึงการพัฒนาเว็บไซต์ ASEAN Access ซึ่งจะเป็นเว็บไซต์กลางของอาเซียน เพื่อส่งเสริมให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการรูปแบบต่างๆ ผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การใช้ประโยชน์จากข้อมูลการค้าการลงทุน เทรนด์ของอุตสาหกรรม กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และพฤติกรรมผู้บริโภค เป็น “รายประเทศ” การขยายช่องทางการค้าการลงทุนผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจกับผู้ประกอบการทั้งภายในและภายนอกภูมิภาคอาเซียน รวมถึง การดำเนินโครงการนำร่อง ONE ID และพัฒนาระบบ Single Sign On ฐานข้อมูลสมาชิกของ สสว. เพื่อขอรับบริการจากภาครัฐ (One Identification One SME – Phase I) โดย สสว. ได้หารือร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ในประเด็นรหัสของเอสเอ็มอี ซึ่งที่ผ่านมา สสว. ได้มีการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการบนฐานข้อมูลสมาชิก สสว. โดยปัจจุบันมีจำนวนข้อมูลประมาณ 1.2 ล้านรายที่ได้ลงทะเบียนในระบบฐานข้อมูลสมาชิกของ สสว. แล้ว โดยเป้าหมายของโครงการนำร่อง ONE ID และพัฒนาระบบ Single Sign On จะมุ่งเน้นการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการให้บริการของภาครัฐและเอกชนในทุกภาคส่วนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

Advertising

ศุลกากรดีเดย์เปิดลงทะเบียนออนไลน์ให้ผู้นำเข้า-ส่งออกด้วยระบบ Customs Trader Portal

พชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร

People Unity News : วันนี้ (1 กรกฎาคม 2564) กรมศุลกากรได้เปิดระบบ Customs Trader Portal ให้ผู้นำเข้า- ส่งออก และยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังได้ทันที สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย

นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า กรมศุลกากรและธนาคารกรุงไทยได้ร่วมมือกันพัฒนาระบบลงทะเบียนออนไลน์ Customs Trader Portal และยืนยันตัวตนผ่านธนาคารกรุงไทยทุกสาขา ตู้เอทีเอ็มและแอปพลิเคชันเป๋าตัง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้นำเข้าบุคคลธรรมดาที่สั่งของมาใช้เอง หรือนำมาจำหน่าย หรือเป็นสินค้าที่ต้องมีใบอนุญาตจากหน่วยงานอื่นๆ ไม่ต้องเดินทางมาที่จุดบริการศุลกากรหรือไม่ต้องให้ตัวแทนนำบัตรประชาชนหรือหนังสือเดินทางตัวจริงมาแสดงที่จุดบริการศุลกากร ทำให้สะดวก ปลอดภัย และรวดเร็ว ทั้งนี้ กรมศุลกากรได้ออกประกาศฯ ที่ 94/2564 เรื่อง การลงทะเบียนผู้ปฏิบัติพิธีการศุลกากรหรือดำเนินการในกระบวนการทางศุลกากร เพื่อรองรับระบบดังกล่าว

โฆษกกรมศุลกากร กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ลงทะเบียนออนไลน์ในระบบ Customs Trader Portal สามารถเข้าไปลงทะเบียนได้ที่ https://www.customstraderportal.com และเมื่อลงทะเบียนในระบบเรียบร้อย ท่านสามารถยืนยันตัวตนผ่านธนาคารกรุงไทยได้  3 ช่องทาง ได้แก่ 1. แอปพลิเคชันเป๋าตัง สามารถยืนยันตัวตนได้ทันที โดยเข้าไปที่เมนูยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ 2. ตู้ ATM สีเทาของกรุงไทย 3,300 เครื่องทั่วประเทศ 3. สาขาของธนาคารทั่วประเทศกว่า 1,000 แห่ง โดยเปิดให้บริการวันนี้ (1 กรกฎาคม 2564) เป็นต้นไป สอบถามข้อมูลการใช้งานระบบ Customs Trader Portal ได้ที่ฝ่ายทะเบียนผู้นำเข้าและส่งออก กรมศุลกากร โทร. 02-667-6488 หรือ 02-667-7802 หรือที่ www.customstraderportal.com และสอบถามข้อมูลการยืนยันตัวตนได้ที่ Krungthai Contact Center 02-111-1111

Advertising

 

ตัวเลขส่งออกเดือน พ.ค. +41.59% สูงสุดในรอบ 11 ปี สินค้าเกษตร-อาหารดีต่อเนื่อง

People Unity News : “จุรินทร์“ ประกาศตัวเลขส่งออก พ.ค. +41.59% สูงสุดในรอบ 11 ปี สินค้าเกษตร-อาหาร ดีต่อเนื่อง “สั่งพาณิชย์ลุยต่อ 5 แผนบุกตลาด”

24 มิถุนายน 2564 เวลา 9.30 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูษิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และนายนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และคณะ แถลงข่าวภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย ประจําเดือนพฤษภาคม 2564 ณ ห้องกิติยากรวรลักษณ์ ชั้น 4 สํานักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตัวเลขการส่งออกเดือนพฤษภาคมปีนี้ มีมูลค่า 23,057.91 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 714,885.27 ล้านบาท ขยายตัว 41.59% ซึ่งถือเป็นการขยายตัวที่สูงที่สุดในรอบ 11 ปี หากหักน้ำมัน ทองคำ ยุทธปัจจัยออกจะบวกถึง 45.87% คิดเป็นมูลค่ารวม 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.64) ขยายตัวรวมกัน 10.78% หากหักน้ำมัน ทองคำ ยุทธปัจจัยออกจะบวกถึง 17.13% เหตุผลสำคัญมี 2 ข้อ คือ 1.เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวโดยเฉพาะตลาดสำคัญ เช่น สหรัฐฯ จีน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เป็นต้น และ 2.เพราะแผนการส่งออกและภาคปฏิบัติจริงที่กระทรวงพาณิชย์ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชนมาโดยต่อเนื่องและใกล้ชิดในช่วงที่ผ่านมาในรูป กรอ.พาณิชย์ ทำให้สามารถแก้ปัญหาอุปสรรคต่างๆได้รวดเร็วทันท่วงทีและมีการจัดทำแผนเชิงรุกร่วมกันในปี 2564 ที่มีเป้าหมายและรายละเอียดชัดเจนแต่ต้นทำให้ตัวเลขการส่งออกปีนี้ค่อยๆเป็นบวกตามลำดับ สำหรับตลาดสำคัญนั้นประกอบด้วย จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน เอเชียใต้ อาเซียน เป็นต้น สินค้าที่สำคัญประกอบด้วยสินค้าเกษตรและอาหาร สำหรับอาหารเฉพาะผักผลไม้แช่เย็นแช่แข็งซึ่งกระทรวงพาณิชย์เร่งรัดแก้ไขปัญหาอุปสรรคบริเวณด่านชายแดนและด่านข้ามแดนเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกผักผลไม้แช่เย็นแช่แข็งเป็นบวกถึง 31.9% โดยเฉพาะทุเรียนบวกถึง 95% และสินค้า Work from Home ผลิตภัณฑ์ป้องกันโควิด เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก อาหารสัตว์เลี้ยงและรถยนต์ เป็นต้น

“สำหรับรถยนต์หลังจากที่ผมและกระทรวงพาณิชย์พยายามเจรจากับเวียดนามมาหลายครั้งตั้งแต่การประชุม RCEP และส่งผลให้ต่อมาเวียดนามปรับปรุงกฎระเบียบในการนำเข้ารถยนต์จากที่ต้องตรวจรถยนต์ที่นำเข้าจากไทยทุกล็อตที่ตรวจทั้งสองฝั่งเวียดนามยอมเปลี่ยนเป็นตรวจฝั่งใดฝั่งหนึ่งและสุ่มตรวจเท่านั้น ส่งผลให้การส่งออกรถยนต์ของไทยไปเวียดนามขยายตัวถึง  922% และส่งออกไปทั่วโลกขยายตัวถึง 170%” นายจุรินทร์ กล่าว

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวต่อว่า แผนงานที่กระทรวงพาณิชย์เดินหน้าต่อไปประกอบด้วย 1.เร่งรัดการเปิดตลาดใหม่ให้มีผลทางภาคปฏิบัติเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ทั้งตลาดตะวันออกกลาง ตลาดกลุ่มประเทศรัสเซีย ตลาดกลุ่มประเทศเอเชียใต้ ตลาดกลุ่มประเทศแอฟริกา 2.รุกการค้าชายแดนและการค้าข้ามแดนต่อเนื่องต่อไปโดยจะเร่งเปิดด่านซึ่งมีอยู่ 97 ด่านที่ปัจจุบันเปิดได้แค่ 45 ด่านให้เปิดด่านเพิ่มขึ้นเป้าหมายระยะสั้นเร่งเปิดให้ได้อย่างน้อยเพิ่มอีก 11 ด่าน วันที่ 9-11 กรกฎาคมนี้ตนจะเดินทางไปดูด่านบริเวณชายแดนลาวซึ่งถือเป็นด่านสำคัญที่จะทะลุไปเวียดนามและไปจีน เช่น ด่านปากแซง นาตาล ท่าเทียบเรือมุกดาหาร ท่าเทียบเรือนครพนม และท่าเทียบเรือหนองคาย เป็นต้น ที่จะเร่งรัดให้เปิดด่านเร็วขึ้น 3.เร่งส่งเสริมการส่งออกและการเจรจาการค้ารวมทั้งการทำสัญญาส่งสินค้าออกด้วยระบบออนไลน์ต่อไป และเมื่อไหร่ที่ทำระบบออฟไลน์เพิ่มขึ้นได้จะเร่งดำเนินการให้ผสมผสานในรูปแบบไฮบริด 4.เร่งรัดดำเนินการ MINI-FTA ทั้งกับไห่หนาน หรือมณฑลไหหลำของจีน รัฐเตลังคานาของอินเดีย เมืองคยองกีของเกาหลี หรือโคฟุของญี่ปุ่น ซึ่งขณะนี้สัญญาณล่าสุดอาจลงนามได้ในช่วงสิงหาคม 5.เร่งสร้างแม่ทัพการค้าและแม่ทัพการส่งออกรุ่นใหม่ของไทยเพื่อเป็นอนาคตสำหรับการนำเงินเข้าประเทศต่อไปในเรื่องโครงการปั้น Gen Z เป็น CEO ซึ่งปีนี้มั่นใจว่าสร้างได้ครบ 12,000 คนทั่วประเทศแน่นอน

ด้านนายภูษิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า  นโยบายกระทรวงพาณิชย์ผลักดันในทุกทางช่องทางสำคัญทำให้ตัวเลขการส่งออกเป็นรูปธรรมและจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและภาพรวมตลาดสำคัญมีการขยายตัวในหลายประเทศ ภาพรวมการส่งออกไปกลุ่มตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 39.9 โดยการส่งออกไปสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น ขยายตัวดีต่อเนื่องร้อยละ 44.9 ร้อยละ 25.5 ร้อยละ 27.4 ตามลำดับ ตลาดสหภาพยุโรปและ CLMV ขยายตัวเร่งขึ้น ร้อยละ 54.9 และร้อยละ 46.8 ตามลำดับ ส่วนตลาดอาเซียนกลับมาขยายตัวร้อยละ 51.0 ส่วนปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกนั้นคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าสำคัญจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่หลายประเทศเริ่มมีอัตราลดลงราคาน้ำมันดิบยังคงปรับตัวสูงขึ้น สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว เช่น ยางพารา ผัก ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง สิ่งปรุงอาหาร อาหารสัตว์เลี้ยง ไก่สดแช่เย็น-แช่แข็งและแปรรูป รถยนต์อุปกรณ์กับส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เป็นต้น

อย่างไรก็ตามกระทรวงพาณิชย์และทีม กรอ.พณ.จะได้กำหนดวันประชุมหารือร่วมภาครัฐกับเอกชน หอการค้า สภาอุตสาหกรรม สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป เนื่องจากต้องเดินหน้าผลักดันการส่งออกโดยแก้ไขปัญหาตามนโยบายรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมทั้งเร่งรัดการเปิดด่านชายแดนเพิ่มเติมและผลักดันการลงนามความตกลงยอมรับร่วมสินค้ายานยนต์ MRA ของอาเซียนตามนโยบายต่อไป

Advertising

ออมสินจัดใหญ่ ช่วยครูไม่ให้เป็น NPLs ออกมาตรการผ่อนปรนการชำระหนี้ครู

People Unity News : ออมสินจัดใหญ่ “มหกรรมผ่อนปรนการชำระหนี้ครู” ปูพรมช่วยครูและบุคลากรทางการศึกษา ยับยั้งสถานะลูกหนี้ไม่ให้เป็น NPLs

14 มิ.ย.64 นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ในช่วงเวลากว่า 12 ปีที่ผ่านมา ธนาคารออมสิน และกระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดทำโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยลดภาระในชีวิตประจำวันแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษามาอย่างต่อเนื่องหลายโครงการ แต่จากสถานการณ์ปัจจุบันพบว่าครูและบุคลากรทางการศึกษาจำนวนหนึ่งไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่การแพร่ระบาดของ COVID-19 อาจส่งผลทางอ้อมต่อรายได้ครอบครัว

ธนาคารจึงเร่งจัดทำมาตรการแก้ไขหนี้ภายใต้แนวคิด มหกรรมผ่อนปรนการชำระหนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อช่วยยับยั้งไม่ให้ต้องกลายเป็นหนี้เสีย (NPLs) จนเป็นเหตุให้อาจถูกดำเนินคดี ส่งผลเสียทางเครดิตและกระทบต่อหน้าที่ราชการได้ในอนาคต ทั้งนี้ ข้าราชการครู ลูกจ้างและบุคลากรทางการศึกษาที่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง สามารถเข้าร่วมมาตรการพักชำระเงินต้น และเลือกจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน ตามแผนการชำระหนี้ที่ธนาคารกำหนด เป็นระยะเวลา 12 เดือน หรือนานที่สุดไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2566 โดยการเลือกแผนการชำระหนี้ตามความสามารถในการผ่อนชำระของตนเอง ผ่านแอป MyMo หรือที่เว็บไซต์ธนาคารออมสิน www.gsb.or.th ซึ่งเปิดให้แจ้งความประสงค์จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 นี้เท่านั้น

สำหรับข้าราชการครูที่เกษียณอายุแล้ว และยังไม่เคยใช้สิทธิบำเหน็จตกทอดมาเป็นหลักประกันการกู้เงิน สามารถขอกู้สินเชื่อสวัสดิการสำหรับข้าราชการบำนาญฯ ที่ผ่อนปรนให้ใช้บำเหน็จตกทอดเป็นหลักประกันในการกู้ และนำเงินกู้ไม่ต่ำกว่า 50% ไปชำระหนี้เดิมกับธนาคารได้ ด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษคงที่ 2.00% ต่อปี นานถึง 10 ปี หลังจากนั้นคิดดอกเบี้ย MRR-2.50% ต่อปี ให้วงเงินกู้ 100% ของเงินบำเหน็จตกทอด ผ่อนชำระนาน 30 ปี โดยสอบถามรายละเอียดได้ที่ธนาคารออมสินทุกสาขา หรือติดต่อสาขาที่ใช้บริการสินเชื่ออยู่

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 เป็นต้นมา ธนาคารได้เน้นดำเนินการแก้ไขหนี้แก่ลูกหนี้ที่ประสบปัญหาการผ่อนชำระเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 มาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน มีผู้เข้ามาตรการแก้ไขหนี้กับธนาคารแล้วกว่า 6 แสนบัญชี วงเงินรวมกว่า 370,000 ล้านบาท โดยเป็นครูและบุคลากรทางการศึกษากว่า 1 แสนบัญชี วงเงินรวมกว่า 120,000 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2564) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ GSB Contact Center โทร. 1115 และที่ facebook : GSB Society

Advertising

ออมสินเปิดให้ผู้ใช้ MyMo รายใหม่ยื่นกู้สินเชื่อสู้ภัย COVID-19 ได้ 6 มิ.ย.นี้

People Unity News : ผู้อำนวยการธนาคารออมสินเผยยอดผู้กู้สินเชื่อสู้ภัย COVID-19 ช่วยรายย่อย อนุมัติสินเชื่อแล้วกว่า 430,000 ราย เตรียมขยายให้ผู้ใช้ MyMo รายใหม่ยื่นกู้ได้ 6 มิ.ย.นี้

2 มิ.ย.64 นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยความคืบหน้าการปล่อยสินเชื่อตามมาตรการ “สินเชื่อสู้ภัย COVID-19” วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท ที่ผ่านมามีประชาชนให้ความสนใจยื่นกู้เป็นจำนวนมาก โดยธนาคารฯ ได้อนุมัติสินเชื่อแก่ลูกค้าแล้วเป็นจำนวนกว่า 430,000 ราย ทั้งนี้ ร้อยละ 95 ของจำนวนที่อนุมัติดังกล่าว เป็นการอนุมัติโดยเกณฑ์ผ่อนปรน ซึ่งไม่สามารถอนุมัติสินเชื่อได้ในกรณีปกติ จึงต้องขอขอบคุณรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนธนาคารในการจัดทำมาตรการครั้งนี้

สำหรับลูกค้าที่ไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อ กล่าวคือไม่ผ่านเกณฑ์ผ่อนปรนนั้น สาเหตุหลักเกิดจากผลการประเมินความเสี่ยงโดยหน่วยงานภายนอก ได้คะแนนไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณา ทั้งนี้ หากลูกค้ายังมีความจำเป็นที่ต้องการสินเชื่อ อาจเลือกใช้บริการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ที่ปัจจุบันธนาคารออมสิน ร่วมกับบริษัท เงินสดทันใจ จำกัด ลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ เหลือเพียง 0.49% ต่อเดือนตลอดอายุสัญญา ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าโครงการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 ไม่มากนัก ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อขอสินเชื่อนี้ได้ ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ที่ธนาคารออมสิน 550 สาขา

อนึ่ง ธนาคารฯ ได้ปรับหลักเกณฑ์ของมาตรการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 โดยให้ผู้ที่เปิดใช้ MyMo ก่อนวันที่ 1 มิถุนายน 2564 สามารถกดลงทะเบียนยื่นขอกู้ได้ ตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป (ปรับจากเดิมที่กำหนดไว้เป็นก่อนวันที่ 1 พฤษภาคม 2564) เพื่อขยายขอบเขตความช่วยเหลือครอบคลุมประชาชนที่ต้องการเข้าถึงสินเชื่อนี้ให้มากขึ้น ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิ์ขอกู้จะต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้นคือ มีสัญชาติไทย อายุ 20 ปี – 70 ปี และไม่เป็นเกษตรกร หรือข้าราชการ / พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือลูกจ้างในหน่วยงานของรัฐ โดยธนาคารฯเปิดให้ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ขอสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 ได้ทางแอป MyMo จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 หรือจนกว่าจะครบจำนวนวงเงินโครงการ

Advertising

คลังแถลงโครงการเราชนะเงินหมุนในระบบเศรษฐกิจ 255,516 ลบ. เอื้อผู้ประกอบการร้านค้า 1.3 ล้านกิจการ

People Unity News : 31 พ.ค.64 นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงผลการดำเนินงานของโครงการเราชนะ ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ดังนี้

1) ประชาชนกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 13.7 ล้านคน ได้มีการใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา จำนวน 96,377 ล้านบาท

2) ประชาชนกลุ่มที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลของแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ในโครงการเราเที่ยวด้วยกันและคนละครึ่ง และกลุ่มประชาชนทั่วไปที่ลงทะเบียนทางเว็บไซต์ www.เราชนะ .com ที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติแล้ว จำนวน 17.0 ล้านคน และมีการใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์สะสมตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา จำนวน 139,974 ล้านบาท

3) ประชาชนกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติแล้ว จำนวน 2.4 ล้านคน มียอดใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์สะสมตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2564 เป็นต้นมา จำนวน 19,165 ล้านบาท

ทำให้มีมูลค่าการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยแล้วกว่า 255,516 ล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้จ่ายผ่านผู้ประกอบการร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นที่มีแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ร้านค้าคนละครึ่งที่ตกลงยินยอมเข้าร่วมโครงการฯ รวมถึงผู้ประกอบการร้านค้าและผู้ให้บริการที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ จำนวนทั้งสิ้นมากกว่า 1.3 ล้านกิจการ

Advertising

ธอส.คว้า 4.8908 คะแนนผลประเมินการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจปี 63 สูงสุดในรัฐวิสาหกิจทั้ง 51 แห่ง

People Unity News : ธนาคารอาคารสงเคราะห์ คว้าคะแนนประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจปี 2563 ที่ 4.8908 คะแนน สูงสุดใน 9 สาขา ของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจทั้ง 51 แห่ง ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ประกาศผลคะแนนประเมินผลล่าสุดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2564

29 พ.ค.64 นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้ประกาศคะแนนประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ ปี 2563 ตามระบบประเมินผลรัฐวิสาหกิจ State Enterprise Assessment Model : SE-AM ซึ่งผลปรากฏว่า ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ได้รับผลการประเมินที่ 4.8908 คะแนน สูงสุดในทุกสาขาของรัฐวิสาหกิจทั้ง 51 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 19 พฤษภาคม 2564) สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นเลิศของระบบการบริหารจัดการองค์กรของธนาคารที่สามารถตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายรัฐบาล และแผนยุทธศาสตร์ธนาคารตามพันธกิจ “ทำให้  คนไทยมีบ้าน” ภายใต้แนวคิดหลัก “Be Simple, Make it Simple” หรือทำให้คนไทยมีบ้านได้ง่ายๆ ด้วยการทำงานที่ทุ่มเทของผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานของธนาคารทั้ง 5,000 คน แม้อยู่ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) แต่ธนาคารยังคงช่วยให้ประชาชนมีบ้านได้อย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้จากสินเชื่อปล่อยใหม่สูงที่สุดในรอบ 67 ปี จำนวน 225,151 ล้านบาท 140,386 บัญชี ในปี 2563 เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 4.57% และสูงกว่าเป้าหมายถึง 15,791 ล้านบาท พร้อมกับช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากปัญหา COVID-19 ผ่าน 10 มาตรการ ลดค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้า ซึ่งมีจำนวนผู้ที่เข้ามาตรการสูงสุด 687,489 บัญชี เงินต้นคงเหลือ 576,139 ล้านบาท

สำหรับในปี 2563 สคร. ได้นำระบบ SE-AM ซึ่งเป็นระบบการประเมินรูปแบบใหม่มาใช้กับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจรวมถึง ธอส. เป็นปีแรก เพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจตอบสนองกับสภาพแวดล้อมในการดำเนินภารกิจ/ธุรกิจ การแข่งขัน ความต้องการของผู้ใช้บริการ และบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป โดยคะแนนประเมินผลรวมของธนาคารที่ 4.8908 คะแนนนั้น มาจากการประเมินผลการดำเนินงาน 3 ด้านหลัก ประกอบด้วย 1.การดำเนินงานตามนโยบายหรือยุทธศาสตร์ ผลประเมิน 5 คะแนนเต็ม 2.ผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ ผลประเมิน 4.7578 คะแนน และ 3.การบริหารจัดการองค์กร 8 ด้าน (Core Business Enablers) ได้แก่ ด้านการกำกับดูแลที่ดีและการนำองค์กร ด้านการวางแผนเชิงกลยุทธ์ ด้านการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายใน ด้านการมุ่งเน้นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและลูกค้า ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ด้านการบริหารทุนมนุษย์ ด้านการจัดการความรู้และนวัตกรรม และด้านการตรวจสอบภายใน ผลประเมิน 4.9873 คะแนน ซึ่งถือเป็นการยกระดับคะแนน Core Business Enablers ทั้ง 8 ด้าน ได้สูงสุดถึง 0.5094 จากคะแนนประเมิน Base Line

ทั้งนี้ สคร. นำระบบประเมินผลและจัดทำตัวชี้วัดผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจเป็นประจำทุกปี เพื่อติดตามและกำกับดูแลประสิทธิภาพการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ โดยแบ่งกลุ่มรัฐวิสาหกิจในการกำกับดูแลแยกออกเป็น 9 สาขา ได้แก่ สาขาขนส่ง สาขาอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม สาขาสาธารณูปการ สาขาสังคมและเทคโนโลยี สาขาสถาบันการเงิน สาขาเกษตร สาขาทรัพยากรธรรมชาติ สาขาสื่อสาร และสาขาพลังงาน

Advertising

พักชำระเงินต้นยาวถึงสิ้นปี!! ด่วนออมสินอัดมาตรการใหม่ล่าสุดช่วยธุรกิจ SMEs ลดภาระค่าใช้จ่าย

People Unity News : พักชำระเงินต้นยาวถึงสิ้นปี!! ออมสินออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ SMEs ลดภาระค่าใช้จ่าย โดยให้พักชำระเงินต้นจนถึง 31 ธันวาคม 2564

12 พ.ค.64 นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้มอบหมายให้ธนาคารออมสินดำเนินการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ธนาคารฯจึงกำหนดมาตรการพักชำระเงินต้น – ชำระเฉพาะดอกเบี้ย ให้ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ SMEs ทั้งที่กู้ในนามบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล สามารถแจ้งความประสงค์ขอเข้าร่วมมาตรการได้ตามความสมัครใจ เช่นเดียวกับลูกค้ารายย่อย ทั้งนี้ เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายรายเดือนของผู้ที่ต้องขาดรายได้หรือรายได้ลดลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19

สำหรับผู้ที่เป็นลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ SMEs และสมัครใจเข้าร่วมมาตรการ สามารถพักชำระเงินต้นเป็นการชั่วคราว และชำระเฉพาะดอกเบี้ย ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 โดยลูกค้าสามารถแจ้งความประสงค์ได้แล้ว ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 วิธีการคือ

1.ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ SMEs ที่เป็นบุคคลธรรมดา มีวงเงินกู้คงเหลือไม่เกิน 10 ล้านบาท ให้แจ้งความประสงค์ขอเข้ามาตรการและเลือกแผนชำระหนี้ด้วยตนเองผ่านแอปพลิเคชัน MyMo

2.ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ SMEs ที่เป็นบุคคลธรรมดา มีวงเงินกู้คงเหลือมากกว่า 10 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท และนิติบุคคลที่มีวงเงินกู้คงเหลือไม่เกิน 100 ล้านบาท ให้ติดต่อแจ้งความประสงค์ขอเข้ามาตรการได้ที่ธนาคารออมสินทุกสาขา

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าว เป็นมาตรการเสริมจากการแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระ ที่ธนาคารฯได้ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 จนไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามงวดชำระเดิม โดยที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมโครงการแล้วมากกว่า 5 แสนราย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center ธนาคารออมสิน โทร. 1115  facebook : GSB Society และขอย้ำว่าธนาคารฯ ให้บริการทางการเงินรูปแบบดิจิทัลทางแอปพลิเคชัน MyMo เท่านั้น

Advertising

จัดเต็ม!ครม.ออกมาตรการทั้งเร่งด่วนและระยะที่ 2 เยียวยาประชาชน พร้อมกับกระตุ้นเศรษฐกิจ

People Unity News : ครม. ไฟเขียว มาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน ลดค่าประปา-ไฟฟ้า พร้อมเพิ่มวงเงินโครงการ “เราชนะ” และ “ม.33 เรารักกัน” เพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมทั้งออกมาตรการทางการเงิน และมาตรการทางภาษี

5 พฤษภาคม 2564 เวลา 15.00 น. ณ ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงถึงการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจควบคู่ไปกับการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากพี่น้องประชาชนทั่วประเทศได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จึงจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) เพื่อพิจารณาความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ที่ผ่านมาได้ออกมาตรการจำนวนมาก อาทิ โครงการเราชนะ โครงการ ม.33 เรารักกัน และมาตรการทางการเงิน อาทิ มาตรการสินเชื่อ พักทรัพย์ พักหนี้ และมาตรการทางภาษี การลดภาษี และมาตรการอื่นๆ อย่างไรก็ตาม สำหรับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการปิดสถานที่ต่างๆ ซึ่งเกิดผลกระทบกับพี่น้องประชาชนจำนวนมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงได้หารือร่วมกับกระทรวงการคลังและสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเร่งพิจารณาออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องประชาชนเพิ่มเติมโดยเร่งด่วน โดยสรุปได้เป็นมาตรการ ดังต่อไปนี้

มาตรการระยะที่ 1 ประกอบด้วย  3 มาตรการหลักที่สามารถดำเนินการได้ทันที ได้แก่

1) มาตรการด้านการเงิน มี 2 มาตรการ คือ  (1.1) มาตรการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ทั้งประชาชน ผู้ประกอบการ และเกษตรกร โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ให้สินเชื่อแก่ประชาชนรายละ 10,000 บาท ด้วยหลักเกณฑ์ที่ผ่อนปรนกว่าสินเชื่อปกติ ดอกเบี้ยร้อยละ 0.35 ต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 ปี ปลอดชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก และ (1.2) มาตรการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจหรือ SFIs โดยให้ SFIs ขยายระยะเวลาพักชำระเงินต้นให้แก่ลูกหนี้ออกไปจนถึงสิ้นปีนี้ เพื่อลดภาระ และสามารถนำเงินที่จะต้องชำระหนี้ไปเป็นเสริมสภาพคล่อง ซึ่งจะจากผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อดูแลลูกหนี้ได้อย่างเหมาะสม

2) มาตรการด้านการบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย โดยภาครัฐจะลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้า และน้ำประปาของประชาชน และกิจการขนาดเล็กทั่วประเทศ ในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2564 เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและกิจการที่ถูกปิด

3) มาตรการต่อเนื่องด้านการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน ประกอบด้วย 2 โครงการ วงเงินรวมประมาณ 85,500 ล้านบาท ได้แก่การเพิ่มวงเงินโครงการเราชนะ อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ โดยให้สิ้นสุดเวลาการใช้จ่ายในเดือนมิถุนายน 2564 วงเงินรวมประมาณ 67,000 ล้านบาท และ การเพิ่มเงินช่วยเหลือผู้ประกันตนโครงการ ม.33 เรารักกัน อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ โดยให้สิ้นสุดเวลาการใช้จ่ายในเดือนมิถุนายน 2564 วงเงินรวมประมาณ 18,500 ล้านบาท

มาตรการระยะที่ 1 นั้น ในวันนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการในส่วนของมาตรการด้านการเงินทั้ง 2 เรื่องตามที่กระทรวงการคลังเสนอ พร้อมเห็นชอบให้ดำเนินมาตรการลดค่าใช้จ่ายน้ำประปา และไฟฟ้า ในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2564 สำหรับการเพิ่มเงินในโครงการเราชนะ และโครงการ ม.33 เรารักกัน ได้สั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งนำเสนอโครงการให้พิจารณาตามขั้นตอนเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า นอกจากนี้ยังจะมีมาตรการต่อเนื่องอื่นๆ อาทิ การช่วยเหลือลูกหนี้ กยศ. โดยการขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมสู้ภัยโควิดออกไปจนสิ้นปี 2564 และลดอัตราดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 0.01 ซึ่งจะมีผู้ได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้ประมาณ 3 ล้านคน รวมทั้งการชดเชยผู้ประกันตนตาม ม.33 ที่ต้องกักตัวหรือต้องหยุดทำงาน

นายกรัฐมนตรีเผยว่านอกจากโครงการระยะสั้นแล้ว  รัฐบาลยังได้วางแผนช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่องไปอีกถึงอย่างน้อยสิ้นปีนี้ ด้วยมาตรการระยะที่ 2 ในช่วงเดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2564 ซึ่งคาดว่าถ้าทุกคนร่วมมือกันเพื่อจำกัดการระบาดอย่างเต็มที่ สถานการณ์การระบาดน่าจะคลี่คลายลงจนอยู่ในระดับที่สามารถดำเนินมาตรการในระยะที่ 2 ได้ โดยมาตรการในระยะที่ 2 ประกอบด้วย 2 มาตรการหลัก กรอบวงเงินประมาณ 140,000 ล้านบาท ได้แก่

1.มาตรการลดภาระค่าครองชีพ ประกอบด้วย 2 โครงการ ได้แก่ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 โดยให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่กรกฎาคม – ธันวาคม 2564 ครอบคลุมประชาชนประมาณ 13.6 ล้านคน และ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ โดยให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่กรกฎาคม – ธันวาคม 2564 ครอบคลุมประชาชนประมาณ 2.5 ล้านคน

2.มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนกลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง และรายได้สูง ประกอบด้วย 2 โครงการ ได้แก่ โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 ซึ่งโครงการที่ประชาชนมีความคุ้นเคยอยู่แล้ว และเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานรากได้โดยตรง และโครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” เป็นโครงการใหม่ โดยภาครัฐจะสนับสนุนบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Voucher) ให้แก่ผู้ที่ได้รับสิทธิโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ เมื่อชำระเงินผ่าน g-Wallet บนแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” กับผู้ประกอบการร้านค้าและบริการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งติดตั้งแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ที่เข้าร่วมโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ โครงการนี้จะช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศผ่านผู้มีกำลังซื้อสูงให้นำเงินออกมาใช้จ่ายและสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม

ทั้งนี้ มาตรการในระยะที่ 2 ทั้ง 4 โครงการ จะครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายกว่า 51 ล้านคน และคาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 473,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการ SME ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมีโอกาสในการขายสินค้า และบริการได้มากยิ่งขึ้น โดยมาตรการในระยะที่ 2 นี้ คณะรัฐมนตรีได้รับทราบในหลักการ พร้อมให้หน่วยงานที่รับผิดชอบจะเร่งดำเนินการเพื่อขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีต่อไป

นายกรัฐมนตรีย้ำว่าทั้งหมดนี้คือการดำเนินการอย่างเต็มที่ของรัฐบาลและ ศบค. ในการบริหารจัดการแก้ปัญหาวิกฤตโควิด ทั้งด้านการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด และการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีและในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ไม่มีวันท้อถอยหรือท้อแท้ ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับปัญหาใดๆ และจะไม่หยุดในการคิดและทำเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนทุกคนให้ปลอดภัย และให้ประเทศไทยที่รักของเราทุกคน ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง แข็งแรงและยั่งยืน

Advertising

Verified by ExactMetrics