วันที่ 6 พฤษภาคม 2024

ธ.ก.ส.ปล่อยกู้ 10,000 ล้าน ให้ อบจ. อบต. เทศบาล พัทยา กทม. กู้ทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ

People Unity News : ธ.ก.ส. หนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมฟื้นเศรษฐกิจ จัดสินเชื่อวงเงิน 10,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย MLR – 2.25% ต่อปี  ให้ อบจ. อบต. เทศบาล เมืองพัทยาและ กทม. ไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและโครงการพัฒนาต่างๆ  เพื่อกระตุ้นให้เกิดเงินทุนหมุนเวียน สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพและรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ และหนุนแรงงานคืนถิ่นให้มีอาชีพเลี้ยงตนเองได้ สนใจติดต่อสอบถามได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ

27 กันยายน 2564 นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19  ที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง ประกอบกับการคาดการณ์แนวโน้มอัตราการเติบโตของ GDP ภายในประเทศที่ลดต่ำลง อันเนื่องจากการลงทุนในภาคเอกชนชะลอตัว  ดังนั้น เพื่อให้องค์กรภาครัฐทั่วประเทศ ซึ่งมีบทบาทในการดูแลประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพและรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ รวมถึงลดปัญหาการว่างงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานคืนถิ่น ให้มีอาชีพเลี้ยงตนเองได้และยังเป็นการป้องกันปัญหาทางสังคม ธ.ก.ส. จึงได้จัดทำโครงการสนับสนุนสินเชื่อแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท เพื่อนำไปลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการพัฒนาต่างๆ อัตราดอกเบี้ย MLR – ไม่เกิน 2.25% ต่อปี (ปัจจุบัน MLR เท่ากับ ร้อยละ 4.875 ต่อปี) ทั้งนี้ เงื่อนไขอื่นๆตามที่ธนาคารกำหนด

สำหรับคุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล เมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร โดยนำสินเชื่อดังกล่าวไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนหรือค่าลงทุน อาทิ   การสร้างโรงงานผลิตปุ๋ยหรืออาหารสัตว์ โรงสีข้าวชุมชน ตลาดจำหน่ายสินค้า การส่งเสริมพัฒนากลุ่มอาชีพต่างๆ ปรับปรุงพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวของชุมชน การศึกษา อบรม สัมมนา ดูงานหรือฝึกงานในด้านการส่งเสริมอาชีพ หรือเพื่อการศึกษาของบุคคลในครอบครัวของประชาชนในพื้นที่ การสร้างสนามกีฬา สวนสาธารณะ ศูนย์การแพทย์ชุมชน การเสริมสร้างการเข้าถึงระบบสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน รวมไปถึงความต้องการทางด้านการแพทย์ การจัดหาเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น เป็นต้น

ทั้งนี้ อปท. จะต้องดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งโครงการที่เสนอขอรับการสนับสนุนสินเชื่อต้องได้รับความเห็นชอบจากสภา อปท. และมีการตั้งงบประมาณเพื่อชำระหนี้คืนแก่ธนาคาร วงเงินกู้ขึ้นอยู่กับความจำเป็นในการใช้เงินกู้ โดยวิเคราะห์จากแผนการดำเนินงาน งบการเงิน ระดับขีดความสามารถในการก่อหนี้ของ อปท. แต่ละแห่ง ซึ่งกำหนดจากความสามารถในการจัดเก็บรายได้ และรายได้จากงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรจากส่วนกลาง ในส่วนของการชำระคืน กรณีเป็นทุนหมุนเวียนหรือเป็นค่าใช้จ่าย ชำระคืนไม่เกิน 12 เดือน กรณีพิเศษ ไม่เกิน 18 เดือน กรณีเป็นค่าลงทุน ชำระคืนรายงวด ไม่เกิน 10 ปี (ตามระเบียบและหลักเกณฑ์ของกระทรวงมหาดไทย เรื่องการจัดทำงบประมาณรายจ่ายผูกพันของ อปท.) ทั้งนี้ อปท. ที่มีความสนใจและต้องการขอรับการสนับสนุนสินเชื่อตามโครงการดังกล่าว สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ

Advertising

รมว.คลังลงพื้นที่เยี่ยมชมงานกลุ่มเกษตรกรทำนาแปลงใหญ่แบบอินทรีย์ จ.ขอนแก่น

People Unity News : รมว.คลังเยี่ยมชมงานกลุ่มเกษตรกรทำนาแปลงใหญ่แบบอินทรีย์ จ.ขอนแก่น

25 กันยายน 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เดินทางลงพื้นที่เยี่ยมชมงาน “กลุ่มเกษตรกรทำนาเศรษฐกิจพอเพียงบ้านกุดน้ำใส” ตำบลกุดน้ำใส อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของเกษตรกรในการทำนาแปลงใหญ่แบบอินทรีย์ โดยได้มาตรฐานสินค้าเกษตร (มกษ.) แบบปลอดภัย ได้มาตรฐาน Good Agricultural Practices (GAP) และแบบดั้งเดิม รวมถึงมีการแปรรูปเป็นข้าวสารเพื่อส่งจำหน่ายในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น มีการเพาะเมล็ดพันธุ์  เพื่อส่งศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวและให้เกษตรกรในตำบลกุดน้ำใส อีกทั้งมีการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิต อาทิ การตรวจวิเคราะห์ดิน เครื่องหยอดเมล็ด การใช้โดรน การใช้เครื่องอบเครื่องเป่าในการบรรจุสินค้า โดยมีสมาชิกกลุ่มจำนวน 133 ราย พื้นที่การผลิตจำนวน 3,500 ไร่ สร้างผลผลิตได้กว่า 1,600 ตันต่อปี ซึ่ง ธ.ก.ส. ให้การสนับสนุนเงินทุนจากควบคู่กับให้คำแนะนำเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินกิจการของกลุ่มฯ โดยมี นายสุรชัย รัศมี และ นายเสกสรรค์  จันทร์ขวาง รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. นายพงษ์พันธ์ จงรักษ์ ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. นายฉัตรนพวัฒน์ วีระศักดิ์ ประธานกลุ่มฯ และผู้บริหารในพื้นที่ให้การต้อนรับ

Advertising

 

ชาวบัตรคนจน เฮ! ครม.ช่วยค่าน้ำค่าไฟ ค่าซื้อสินค้า ค่าเดินทาง คงเบี้ยผู้พิการ ตั้งแต่ ต.ค 64-ก.ย. 65

People Unity News : บัตรคนจน เฮ! ครม. เคาะงบกลาง 27,005.66 ล้านบาท ขยายเวลาลดค่าน้ำ/ค่าไฟ อุดหนุนค่าซื้อสินค้าอุปโภค/บริโภค และค่าเดินทาง คงเบี้ยผู้พิการ 1,000 บาท ตั้งแต่ ต.ค 64-ก.ย. 65 พร้อมเตรียมเปิดลงทะเบียน “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” รอบใหม่

21 กันยายน 2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการและขยายมาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา อนุมัติงบกลางปี 64 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นจำนวน 27,005.66 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ดังนี้

1) วงเงิน 2,018 ล้านบาท เพื่อขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาภาระค่าน้ำ/ค่าไฟ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 – กันยายน 2565 (12 เดือน) -กรณีใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วย/เดือน ติดต่อกัน 3 เดือน ให้สิทธิค่าไฟฟ้าฟรี ตามมาตรการที่มีอยู่ในปัจจุบัน กรณี ใช้ไฟฟ้าเกิน 50 หน่วย/เดือน ให้ใช้สิทธิตามมาตรการนี้ในวงเงิน 315 บาท/ครัวเรือน/เดือน กรณีใช้เกินวงเงินที่กำหนด ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นผู้รับภาระค่าไฟฟ้าทั้งหมด ครอบคลุม 1.9 ล้านครัวเรือน โดยประมาณ

-สนับสนุนค่าน้ำประปา วงเงิน 100 บาท /ครัวเรือน /เดือน ในกรณีใช้น้ำประปาเกิน 100 บาท แต่ไม่เกิน 315 บาท ยังคงได้รับการสนับสนุนในวงเงิน 100 บาท โดยส่วนเกินต้องชำระด้วยตนเอง และกรณีการใช้น้ำประปาเกิน 315 บาท ผู้มีบัตรฯ รับภาระในการชำระค่าน้ำประปาเองทั้งหมด ครอบคลุมประมาณ 186,625 ครัวเรือน

2) วงเงิน 18,815 ล้านบาท สนับสนุน ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และการเพิ่มเบี้ยความพิการ

-ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน สำหรับค่าซื้อสินค้าอุปโภค/บริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษา และวัตถุดิบเพื่อการเกษตร จากร้านธงฟ้าประชารัฐและร้านอื่นๆ โดยผู้มีสิทธิที่มีรายได้เกินกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี ได้รับ 200 บาท/คน/เดือน ในส่วนผู้มีสิทธิที่มีรายได้ ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี ได้รับ 300 บาท/คน/เดือน และได้รับส่วนลดค่าก๊าซหุงต้ม 45 บาท/คน/3 เดือน

-ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง อาทิ ค่าโดยสาร ขสมก. ระบบ e-Ticket /รถไฟฟ้า บขส. รถไฟ อย่างละ 500 บาท/คน/เดือน

-เบี้ยความพิการ จำนวน 1,000 บาท/คน/เดือน อีกด้วย

3) วงเงิน 1,642 ล้านบาท ดำเนินโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (รอบใหม่) เพื่อรองรับกระบวนการลงทะเบียนรอบใหม่ โดยจะเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการรับลงทะเบียนของหน่วยรับลงทะเบียน และค่าใช้จ่ายในการผลิตและบริหารจัดการบัตรฯ

4) วงเงิน 4,530.66 ล้านบาท สำหรับจัดสรรสวัสดิการแบบไม่มีกำหนดระยะเวลาสำหรับผู้มีรายได้น้อย ภายใต้โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (รอบใหม่) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีบัตรฯ และเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาจทำให้ผู้สมัครรอบใหม่มีจำนวนเพิ่มขึ้น

“การช่วยเหลือลดอัตราค่าน้ำ/ค่าไฟ ตลอดจนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นส่วนหนึ่งของกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โดยมุ่งให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่รัฐบาลห่วงใยเพื่อให้สามารถเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและกระจายรายได้ รวมทั้งการยกระดับและพัฒนา คุณภาพชีวิตแก่ประชาชนให้เป็นไปอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นตามนโยบายของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี” นายธนกร กล่าว

Advertising

แจกต้นฟ้าทะลายโจร พืชสุขภาพและเศรษฐกิจ แก่สถาบันเกษตรกรในจังหวัดขอนแก่น

People Unity News : แจกต้นฟ้าทะลายโจร พืชสุขภาพและเศรษฐกิจ แก่สถาบันเกษตรกรในจังหวัดขอนแก่น

18 กันยายน 2564 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดงาน Kick off โครงการส่งเสริมการผลิตฟ้าทะลายโจร ในสถาบันเกษตรกรในจังหวัดขอนแก่นและร่วมปลูกฟ้าทะลายโจรในแปลงปลูกฟ้าทะลายโจร พร้อมเปิดเผยว่า การจัดทำโครงการส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพร ฟ้าทะลายโจร สู้ภัยโควิด-19 ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายการขยายพื้นที่ปลูกฟ้าทะลายโจร เพื่อป้อนเป็นวัตถุดิบในกระบวนการแปรรูปเข้าสู่ตลาดสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและสมาชิกของสหกรณ์

อย่างไรก็ตาม ยังเป็นโอกาสให้กับสหกรณ์ในการต่อยอด ขยายการส่งเสริมและเพิ่มพื้นที่ปลูกให้กับสมาชิกสหกรณ์รายอื่นๆ รวมทั้งเป็นการรักษาเสถียรภาพด้านปริมาณและราคาให้เกิดความสมดุล ส่งเสริมให้ประชาชนใช้พืชสมุนไพรไทยเป็นทางเลือกในการรักษาโรคเพิ่มขึ้น

ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมสหกรณ์ ดำเนินโครงการส่งเสริมการปลูกฟ้าทะลายโจรในสถาบันเกษตรกร ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นและอนาคตอาจจะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ต่อไป

Advertising

ประยุทธ์ ชมความก้าวหน้าสถานีดาวเทียม นำพาประเทศเดินหน้า พัฒนาสู่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

People Unity News : ประยุทธ์ ชมความก้าวหน้าสถานีดาวเทียม นำพาประเทศเดินหน้า พัฒนาสู่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

17 กันยายน 2564 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตรวจติดตามความก้าวหน้าสถานีดาวเทียมและศูนย์กลางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอวกาศ สํานักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) โครงการอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ ในพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อติดตามการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง ได้แก่ ความคืบหน้าโครงการและการพัฒนาดาวเทียม โดยวิศวกรไทย ณ ศูนย์ทดสอบประกอบดาวเทียมแห่งชาติ ,การพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศ จากเครือข่ายดาวเทียมวงโคจรต่ำ และการนําเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ไปใช้ประโยชน์ด้านการบริหารจัดการน้ำ

นายกรัฐมนตรี ชื่นชมการดำเนินงานและขอให้พัฒนาต่อไป เพราะการใช้เทคโนโลยีมาช่วยประมวลผล ช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงก้าวเข้าสู่สังคมดิจิทัล นำพาประเทศเดินหน้าพัฒนาสู่ประเทศที่มั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืนตลอดไป

Advertising

เดินหน้าโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ช่วยเกษตรกรสร้างพื้นที่เกษตรแบบครบวงจร

Communication chat icon above cityscape in the night light of the city.

People Unity News : เดินหน้าโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ช่วยเหลือเกษตรกรสร้างพื้นที่เกษตรแบบครบวงจร

15 กันยายน 2564 นายสำราญ สาราบรรณ์ รองปลัดกระทรวงกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังชมความคืบหน้าของโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่จังหวัดปราจีนบุรี ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินโครงการดังกล่าวมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ใด้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 บรรเทาปัญหาว่างงาน ลดปัญหาเคลื่อนย้ายแรงงานภาคเกษตรกรรมไปสู่ภาคอื่นๆ และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนในท้องถิ่นเป็นแหล่งผลิตอาหาร โดยน้อมนำหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่มาเป็นแนวทาง ตั้งแต่รูปแบบของเกษตรทฤษฎีใหม่ในการ บริหารจัดการน้ำ เรียนรู้การจัดทำแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยคำนึงถึงการทำการเกษตร ทฤษฎีใหม่ที่สามารถสร้างแหล่งอาหารของครัวเรือน ผลผลิตที่สามารถจำหน่ายสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ดำเนินงานผลสำเร็จในพื้นที่ เกษตรกรหลายแห่งทั่วประเทศ ที่มีเกษตรกรเข้าร่วมกว่า 28,000 ราย โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากกว่า 20,016 ราย นอกจากนี้ยังมีส่งเสริมการจ้างงานในโครงการแล้ว 13,649 ราย อย่างไรก็ตาม กระทรวงงเกษตรและสหกรณ์ จะเร่งเดินหน้าโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ต่อเนื่องเพื่อให้เกษตรสามารถพึ่งพาตนเองได้

Advertising

คนแห่ลงทะเบียนขอสินเชื่อบ้านล้านหลังระยะที่ 2 แค่ 3 วัน 34,926 ราย วงเงินกว่า 41,911 ล้านบาท

People Unity News : ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เผยว่าหลังเปิดให้ลูกค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 2 ผ่าน Mobile Application : GHB ALL เพื่อนำรหัสมายื่นประกอบการขอสินเชื่อตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน 2564 ล่าสุด ณ เวลา 9.00 น. ของวันที่ 13 กันยายน 2564 มีลูกค้าทั่วประเทศลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้ว 34,926 ราย วงเงินสินเชื่อรวมกว่า 41,911 ล้านบาท ได้รับอนุมัติสินเชื่อและทยอยเข้าทำนิติกรรมสัญญากู้เพื่อมีบ้านเป็นของตนเองที่ทุกสาขาทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง

13 กันยายน 64 นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ ธอส.เปิดให้ลูกค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 2 อัตราดอกเบี้ยต่ำ 1.99% ต่อปี นาน 4 ปีแรก เงินงวดคงที่ 84 งวดแรก ( 7 ปี ) ให้กู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ บ้านมือสอง และทรัพย์ NPA หรือเพื่อปลูกสร้าง ในระดับราคาซื้อ-ขายไม่เกิน 1,200,000 บาท โดยลงทะเบียนผ่าน Mobile Application : GHB ALL เพื่อรับรหัสสำหรับเข้าร่วมโครงการทาง GHB Buddy บน Application Line ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 10 กันยายน 2564 เป็นต้นมา ล่าสุดในวันนี้ (จันทร์ที่ 13 กันยายน 2564) เวลา 9.00 น. มีลูกค้าลงทะเบียนเพื่อรับรหัสเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 34,926 ราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อ 41,911 ล้านบาท โดยมีลูกค้าที่เตรียมเอกสารพร้อมยื่นกู้ที่สาขาทั่วประเทศคิดเป็นวงเงินสินเชื่อรวมแล้วมากกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งในวันนี้ที่ ธอส. สำนักงานใหญ่ รวมถึงที่ทำการสาขาทุกแห่งทั่วประเทศมีลูกค้ากลุ่มแรกที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อเดินทางเข้ามาทำนิติกรรมสัญญาเงินกู้อย่างต่อเนื่อง

“โครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 2 เป็นโอกาสดีในการมีบ้านที่รัฐบาลมอบให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย คนวัยทำงานหรือผู้ที่กำลังเริ่มต้นสร้างครอบครัว และผู้สูงอายุ ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำที่สุดในตลาดที่ 1.99% ต่อปี กรณีกู้ 1.2 ล้านบาท (ผ่อนนานสูงสุด 40 ปี) เงินงวด 5,000 บาทคงที่ 7 ปีแรก ซึ่งธนาคารจะคิดเงินงวดผ่อนชำระรายเดือนที่ 1 ใน 2 ของรายได้สุทธิต่อเดือน จากปกติ 1 ใน 3 ของรายได้สุทธิต่อเดือน ดังนั้น กรณีผู้กู้มีรายได้สุทธิต่อเดือน 10,000 บาท ก็จะมีโอกาสได้รับวงเงินกู้สูงสุด 1.2 ล้านบาทแล้ว” นายฉัตรชัย กล่าว

ทั้งนี้ แม้ปัจจุบันจะมีจำนวนลูกค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 41,911 ล้านบาท [กรอบวงเงินโครงการซึ่งกำหนดไว้ที่ 20,000 ล้านบาท] แต่ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการยังสามารถลงทะเบียนผ่าน Mobile Application : GHB ALL เข้าร่วมโครงการได้อย่างต่อเนื่อง เพราะโครงการจะสิ้นสุดยื่นคำขอกู้และทำนิติกรรมในวันที่ 30 ธันวาคม 2566 หรือ เมื่อมีลูกค้าได้รับอนุมัติสินเชื่อและทำนิติกรรมเต็มกรอบวงเงิน 20,000 ล้านบาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธอส. ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือ ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) โทร 0-2645-9000 หรือ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และติดตามข้อมูลข่าวสารของธนาคารได้ที่ Mobile Application : GHB ALL และ www.ghbank.co.th

Advertising

ททท. เร่งเปิดพื้นที่รับชาวต่างชาติท่องเที่ยวไทย ช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้

People Unity News : ททท. เร่งเปิดพื้นที่รับชาวต่างชาติท่องเที่ยวไทย ช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ พร้อมเตรียมมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวของคนไทย

1 กันยายน 2564 นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ท่องเที่ยวไทย ขณะนี้ ททท. ยังคงเดินหน้าตามแผนการเปิดพื้นที่นำร่อง เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เนื่องจากใกล้เข้าสู่ไฮซีซั่นในการท่องเที่ยวช่วงปลายปีแล้ว ทำให้ต้องเร่งตามแผนในการเปิดพื้นที่นำร่อง เพราะขณะนี้เริ่มเห็นความต้องการในส่วนของยอดการจองท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น เนื่องจากใกล้เข้าสู่ฤดูหนาวของชาวต่างชาติ นักท่องเที่ยวจึงเริ่มมองหาประเทศในการท่องเที่ยว ว่ามีที่ใดเปิดในเงื่อนไขแบบใดบ้าง ซึ่งหากประเทศไทยมีความพร้อมเรื่องการฉีดวัคซีนโควิด-19 จนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้และผลของการทำแซนด์บ็อกซ์ สะท้อนความปลอดภัยของชาวต่างชาติที่เข้ามาอย่างชัดเจน ททท. จะขอให้ ศบค. พิจารณาลดวันพักในภูเก็ตลงเหลือ 7 วัน ตามมติเดิมของ ศบค. ช่วงวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันของท่องเที่ยวไทยมากขึ้น หากประเทศไทยไม่เร่งเดินหน้าเปิดพื้นที่ที่มีความพร้อมในการท่องเที่ยว เพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติก่อน โอกาสในการดึงดูดชาวต่างชาติ เพื่อสร้างรายได้ในภาคการท่องเที่ยวกลับมาอาจหลุดไปและไม่ทันช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ได้

Advertising

นายกฯประชุมบอร์ด SME สนใจการแก้ปัญหาหนี้ของจีนนำมาปรับใช้กับไทยแก้หนี้ครัวเรือน

People Unity News : นายกฯประชุมบอร์ด  SME เห็นชอบจัดสรรเงินกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมปี 2565 จำนวน 1,224.8801 ล้านบาท มุ่งเป้าให้ MSME อยู่รอดหลังการแพร่ระบาดไวรัส Covid-19

เมื่อวาน 25 สิงหาคม 2564 เวลา 09.30 น.  ณ ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล  พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ครั้งที่ 3/2564 (ผ่านระบบ Video Conference) โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  โดยนายกรัฐมนตรีสั่งการให้เร่งพัฒนา Single sign on (SSO) ระบบฐานข้อมูลสมาชิก สสว. เพื่อเชื่อมโยงการบริการและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ ย้ำการใช้เงินกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ เกิดความคุ้มค่า และประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ SME โดยตรง ทั้งนี้ นายธนกร  วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรี ได้เสนอแนะในที่ประชุมให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ยังล้าสมัยให้ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยให้คำนึงถึงการประกอบธุรกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 และผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนที่จะได้รับ ซึ่งสามารถหารือร่วมกับสำนักงาน ป.ย.ป. และคณะทำงานด้านการปฏิรูปเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการต่อยอดเศรษฐกิจ ยกระดับ SME รวมถึงการส่งเสริมให้มีพี่เลี้ยงสนับสนุนพัฒนาผู้ประกอบการ เพื่อพัฒนาขึ้นเป็น SME รายใหม่ ด้วยการบูรณาการทำงานร่วมกันกับศูนย์บ่มเพาะต่างๆที่มีอยู่ทั่วประเทศ เช่น ศูนย์ดิจิทัล ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้การทำงานเชื่อมโยงกันเป็นระบบและไปสู่เป้าหมายเดียวกัน

นายกรัฐมนตรียังกำชับให้เร่งแก้อุปสรรคและข้อจำกัดการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SME โดยจัดทำข้อมูลของ SME ให้ชัดเจนเพื่อใช้พิจารณาช่วยเหลือผู้ประกอบการแต่ละกลุ่มเข้าถึงสินเชื่อและแหล่งเงินทุนแต่ละประเภทได้อย่างเหมาะสม  รวมทั้งใช้ข้อมูลการบริหารงบประมาณของในส่วนของการพัฒนาจังหวัด กลุ่มจังหวัดประกอบด้วย เพื่อเร่งสร้างงานและรายได้ให้กับประชาชนได้มากขึ้นส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วย นายกรัฐมนตรียังยืนยันว่า รัฐบาลพร้อมส่งเสริม SME ที่มีศักยภาพและมีนวัตกรรม  ส่วน SME ที่มีศักยภาพยังน้อย ก็ต้องหาแนวทางควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ส่งเสริมการค้าขายออนไลน์เพื่อให้ SME ขนาดเล็กสามารถขยายกิจการเป็นขนาดย่อมและขนาดใหญ่ สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ด้วย ซึ่งทุกส่วนราชการช่วยกันดำเนินการไปสู่เป้าหมายที่กำหนด รวมทั้งมอบหมาย สสว. หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมการขายสินค้าเกษตรออนไลน์และการขนส่งสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสนับสนุนคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพและความรู้ด้านเทคโนโลยีเข้ามาสู่ภาคเกษตรให้ได้มากที่สุด เพื่อพัฒนาภาคการเกษตรของไทยให้เกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน มีความมั่นคงทางอาชีพและรายได้

นายกรัฐมนตรียืนยันรัฐบาลได้มีการดูแลหนี้ของประชาชนทุกกลุ่มโดยไม่เคยทิ้งใครไว้ข้างหลัง หลักการคือการแก้ปัญหาหนี้ให้ได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งให้ความสนใจถึงการแก้ปัญหาหนี้ของจีนที่จะนำมาปรับใช้กับประเทศไทยในการแก้ปัญหา “หนี้รายครัวเรือน” ให้สอดคล้องและเหมาะสมกับประเทศไทยต่อไป

ที่ประชุมเห็นชอบมติสำคัญ  อาทิ ร่างระเบียบคณะกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการให้ความช่วยเหลือ อุดหนุน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จากเงินกองทุนสานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม ผ่านผู้ให้บริการทางธุรกิจ พ.ศ. ….   รวมทั้งมีมติเห็นชอบจัดสรรเงินกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและ ขนาดย่อม ประจาปี 2565 จำนวน 1,224.8801 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายให้ผู้ประกอบการได้รับการส่งเสริมและพัฒนาให้ MSME อยู่รอด หลังการแพร่ระบาดไวรัส Covid-19 บรรเทาปัญหาและฟื้นฟูธุรกิจที่ได้รับ ผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 รวมทั้งให้อยู่เป็นโดยการสร้างความพร้อมให้ SME ในการเข้าสู่ การแข่งขันในบริบทใหม่ทางเศรษฐกิจ และอยู่อย่างยั่งยืนคือ การปรับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้เกิดความสะดวกแก่ SME

Advertising

“1 ปีธนาคารเพื่อสังคม” ออมสินช่วยประชาชนเสริมสภาพคล่อง-พักชำระหนี้-ลดโครงสร้างดอกเบี้ยสินเชื่อ 9.5 ล้านราย

People Unity News : ออมสิน โชว์ผลงาน “1 ปี ธนาคารเพื่อสังคม” เน้นช่วยประชาชน 3 ด้าน เสริมสภาพคล่อง-พักชำระหนี้-ลดโครงสร้างดอกเบี้ยสินเชื่อ ผลงานที่โดดเด่น 3 ด้าน คือ (1) ด้านการเสริมสภาพคล่องแก่ผู้มีรายได้น้อยและ SMEs ขนาดเล็กผ่านมาตรการสินเชื่อ (2) ด้านการผ่อนปรนการชำระหนี้ด้วยการปรับลด/พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย และ (3) ด้านการเข้าแข่งขันในตลาดสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ที่ธนาคารออมสินได้ปรับจุดยืนทางยุทธศาสตร์ เป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา  ธนาคารได้ทำภารกิจช่วยเหลือสังคมที่เป็นรูปธรรมในหลายมิติ ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งธนาคารเป็นหน่วยงานหลักในการส่งต่อความช่วยเหลือให้ประชาชนและภาคธุรกิจตามนโยบายรัฐบาล ผ่านโครงการต่างๆมากกว่า 30 โครงการ สามารถช่วยเหลือประชาชนได้แล้วกว่า 9 ล้านคน โดยธนาคารยึดหลักการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างกำไรในระดับที่เหมาะสม และนำกำไรส่วนหนึ่งจากการประกอบธุรกิจปกติ มาสนับสนุนการดำเนินธุรกิจเชิงสังคม จนเกิดเป็นผลงานที่โดดเด่น 3 ด้าน คือ (1) ด้านการเสริมสภาพคล่องแก่ผู้มีรายได้น้อยและ SMEs ขนาดเล็กผ่านมาตรการสินเชื่อ (2) ด้านการผ่อนปรนการชำระหนี้ด้วยการปรับลด/พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย และ (3) ด้านการเข้าแข่งขันในตลาดสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง เพื่อเป้าหมายในการปรับลดโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลง ซึ่งจะช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยมีโอกาสใช้สินเชื่อที่มีต้นทุนถูกลงและเป็นธรรมมากขึ้น

ทั้งนี้ ในรอบปีที่ผ่านมา ธนาคารได้สร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินแก่ลูกค้ารายย่อย เป็นจำนวนมากกว่า 3.2 ล้านคน ผ่านมาตรการสินเชื่อ อาทิ สินเชื่อเสริมพลังฐานราก สินเชื่อฉุกเฉินสำหรับผู้มีอาชีพอิสระ และสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 เป็นต้น โดยในจำนวนนี้ธนาคารได้สร้างโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อในระบบให้กับประชาชนมากกว่า 2.5 ล้านคน ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่เคยมีประวัติเครดิตทางการเงิน หรือมีเครดิตต่ำกว่าเกณฑ์อนุมัติปกติของสถาบันการเงิน สำหรับผู้ประกอบการ SMEs รายเล็กนั้น ธนาคารได้ช่วย SMEs ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อเป็นมูลค่าสูงถึงกว่า 162,000 ล้านบาท ผ่านมาตรการสินเชื่อ อาทิ สินเชื่อ Soft Loan ธนาคารออมสิน สินเชื่อฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยว และสินเชื่ออิ่มใจ (ธุรกิจร้านอาหาร) เป็นต้น รวมถึงออกผลิตภัณฑ์ใหม่ “สินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน” ที่ช่วยให้ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น โดยธนาคารไม่พิจารณาข้อมูลรายได้ระยะสั้น เนื่องจากขณะนี้เป็นช่วงวิกฤติที่ลูกค้ามีรายได้ไม่แน่นอน และไม่วิเคราะห์ข้อมูลเครดิต แต่เน้นที่การพิจารณาหลักประกันเป็นหลัก (Collateral Based Lending)

สำหรับด้านการผ่อนปรนการชำระหนี้ให้กับลูกค้า เพื่อป้องกันไม่ให้กลายเป็นหนี้เสีย (NPLs) และเสียประวัติเครดิตในอนาคต ธนาคารสามารถช่วยเหลือลดภาระให้ลูกค้าแล้วเป็นจำนวนกว่า 3 ล้านคน ผ่านมาตรการพักชำระหนี้ลูกค้ากลุ่มต่างๆ อาทิ (1) มาตรการพักชำระหนี้ 6 เดือนแก่ร้านอาหารและโรงแรม (2) มหกรรมแก้หนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษา (3) มาตรการแก้หนี้สำหรับลูกค้าทั่วไปที่ประสบปัญหาการชำระเงินงวด อันเนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาด COVID-19 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 730,000 ราย และ (4) มาตรการล่าสุดให้ลูกค้ารายย่อยที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 2 แสนบาท จำนวนกว่า 750,000 ราย สามารถพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ได้สูงสุด 6 เดือน

นอกจากนี้ ธนาคารได้เข้าไปแข่งขันในตลาดสินเชื่อที่มีโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยสูง โดยการเปิดตัวธุรกิจจำนำทะเบียนรถ ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนใน บจ. เงินสดทันใจ ปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนมอเตอร์ไซค์และรถยนต์ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งสร้างแรงกระเพื่อมในตลาดการแข่งขันของธุรกิจจำนำทะเบียน จากเดิมที่เคยอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 24% – 28% ปัจจุบันลดลงเหลือ 16% – 18% ทำให้กลุ่มเป้าหมายผู้ใช้สินเชื่อนี้จำนวนกว่า 3.5 ล้านคน ได้รับประโยชน์ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยต้นทุนที่ถูกลงและเป็นธรรมมากขึ้น

สำหรับผลการดำเนินงานในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา สิ้นสุด ณ 30 มิถุนายน 2564 ธนาคารออมสินมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งมากขึ้น โดยมีสินทรัพย์รวม 2,860,000 ล้านบาท มีเงินฝาก 2,450,000 ล้านบาท และสินเชื่อรวม 2,190,000 ล้านบาท โดยจัดเป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่ใน 5 อันดับแรกของธนาคารทั้งระบบในทุกด้านที่กล่าวมา นอกจากนั้น ในท่ามกลางวิกฤติที่สถาบันการเงินต่างระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อเพื่อควบคุมความเสี่ยง ในขณะที่ประชาชนและภาคธุรกิจต่างประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ธนาคารออมสินได้เข้ามามีบทบาทในการปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบอย่างเต็มที่ โดยช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาได้อัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแล้วมากกว่า 270,000 ล้านบาท และสามารถบริหารจัดการหนี้เสียอยู่ในระดับไม่เกิน 2% รวมถึงเพิ่มการกันสำรองส่วนเกิน (General Provision) เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งอีกกว่า 32,000 ล้านบาท ส่งผลให้ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) แข็งแรงถึง 205.15%

Advertising

Verified by ExactMetrics