วันที่ 28 เมษายน 2024

สุริยะสั่งกรมโรงงานฯเข้มงวดตรวจวัดคุณภาพอากาศพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม

People Unity News : รมว.อุตสาหกรรม สั่งการกรมโรงงานฯเข้มงวดตรวจวัดคุณภาพอากาศ โดยรอบพื้นที่เขตประกอบการและพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม ต้องไม่สร้างปัญหา PM2.5 ให้ชุมชนและประชาชน

24 ธ.ค.64 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม เข้มงวดตรวจสอบและกำกับดูแลโรงงานที่มีกระบวนการเผาไหม้ โรงงานที่มีการใช้หม้อน้ำ โรงงานหลอมเหล็กหรือโลหะ โรงงานผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ และโรงงานผลิตแอสฟัสติก ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 2,570 โรงงาน แบ่งเป็นโรงงานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 268 โรงงาน โรงงานในเขตปริมณฑล (นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร) จำนวน 2,245 โรงงาน โรงงานที่ตั้งในเขตประกอบการ จำนวน 6 เขต รวม 35 โรงงาน และโรงงานรีไซเคิล กากอุตสาหกรรมและเตาเผากากของเสีย จำนวน 32 โรงงาน ตั้งเป้าตรวจเสร็จก่อนสิ้นปี 2564 พร้อมกำชับผู้ประกอบการวางแผนการผลิต และควบคุมดูแลการประกอบกิจการ ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ย้ำต้องดูแลรักษาระบบบำบัดมลพิษอากาศให้มีประสิทธิภาพตลอดเวลา หากพบการกระทำผิด จะให้สั่งหยุดประกอบกิจการทันที

ด้าน นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือ กรอ. กล่าวว่า ในช่วงฤดูหนาว ทำให้มีฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) สะสมจำนวนมาก กรอ. จึงดำเนินการเชิงรุก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่า การประกอบกิจการโรงงานจะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ด้วยการนำรถตรวจวัดคุณภาพอากาศเคลื่อนที่ เร่งตรวจวัดคุณภาพอากาศทั่วไป โดยรอบพื้นที่เขตประกอบการและพื้นที่โรงงานหนาแน่น จำนวน 12 พื้นที่ รวม 130 จุด ซึ่งจะดำเนินการต่อเนื่องทั้งปี รวมทั้งสิ้น 516 จุด รวมถึงจะทำการตรวจวัดฝุ่นละอองจากปล่องระบายของโรงงานเพิ่มอีก 104 โรงงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้โรงงานสร้างความเดือดร้อน หรือก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน นอกจากนี้ กรอ. ได้เร่งปรับปรุงระบบตรวจสอบมลพิษระยะไกล และปรับปรุงกฎหมาย ให้โรงงานที่มีความเสี่ยงด้านมลพิษอากาศ ต้องติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดมลพิษทางอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติ หรือ CEMS ที่รายงานข้อมูลแบบเรียลไทม์มายัง กรอ. คาดว่าจะมีโรงงานทั่วประเทศเข้าข่ายต้องติดตั้งเครื่องมือเพิ่มทั้งหมด 600 โรงงาน รวม 1,300 ปล่อง จากเดิมที่มีการติดตั้งอยู่แล้วจำนวน 855 ปล่อง เพื่อให้การกำกับดูแลการระบายมลพิษจากโรงงาน มีประสิทธิภาพ และครอบคลุมปัญหาด้านฝุ่นละอองอย่างทั่วถึง

Advertising

ธอส.มอบของขวัญปีใหม่ ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนลูกหนี้ของ  ธอส.ต่อเนื่อง

People Unity News : 23 ธ.ค.64 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ประกาศมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน เพื่อช่วยเหลือลูกค้าของ ธอส. ที่ยังได้รับผลกระทบด้านรายได้จาก COVID-19 และความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ได้ตามสัญญายังไม่กลับมาเหมือนเดิม ประกอบด้วย การขยายความช่วยเหลือให้ลูกค้าเดิมที่อยู่ระหว่างการใช้ 9 มาตรการปัจจุบันของธนาคาร ซึ่งจะสิ้นสุดความช่วยเหลือในวันที่ 31 ธันวาคม 2565 สามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เพื่อขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ผ่านมาตรการที่ 18 [M18]  : สำหรับลูกค้ารายย่อยที่มีสถานะบัญชีปกติ สามารถเลือกแบ่งจ่ายเงินงวดผ่อนชำระ [ตัดต้น และดอกเบี้ย] และลดอัตราดอกเบี้ย 0.25-0.50% ต่อปี และมาตรการที่ 19 [M19] : สำหรับลูกค้าผู้ประกอบการสินเชื่อแฟลต สามารถเลือกแบ่งจ่ายเงินงวดผ่อนชำระ [ตัดต้น และดอกเบี้ย] และลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ผ่าน Application : GHB ALL หรือ GHB Buddy บน Application Line หรือ www.ghbank.co.th หรือ สาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2564 เวลา 9.00 น. เป็นต้นไป ขณะที่ลูกค้ารายย่อยสถานะ NPL และลูกค้ารายย่อย NPL ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ และไม่ได้อยู่ในมาตรการ สามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้ามาตรการที่ 17[M17] : ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เดือนที่ 1-3 เหลือ 0% ต่อปี เดือนที่ 4-6 เท่ากับ 1.99% ต่อปี และเดือนที่ 7-12 เท่ากับ 3.90% ต่อปี ช่วยเหลือนานสูงสุด 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ตามที่ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จาก COVID-19 ตามนโยบายรัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบันผ่านมาตรการต่าง ๆ รวม 20 มาตรการ ภายใต้ “โครงการ ธอส. ช่วยคนไทย ร่วมสร้างชาติ” และ “โครงการ ธอส. รวมไทย สร้างชาติ” โดย ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 มีจำนวนลูกค้าได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการของธนาคารรวมสูงสุดถึง 972,978 บัญชี เงินต้นคงเหลือ 846,911 ล้านบาท ซึ่งลูกค้าที่เข้ามาตรการส่วนใหญ่สามารถปรับตัวและกลับมาผ่อนชำระได้ตามปกติ ยังคงเหลือลูกค้าที่ยังอยู่ระหว่างการได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการ รวมจำนวน 109,094 บัญชี เงินต้นคงเหลือ 113,281 ล้านบาท ประกอบด้วย มาตรการที่ 2 [M2], มาตรการที่ 9[M9], มาตรการที่ 10[M10], มาตรการที่ 11[M11], มาตรการที่ 12[M12],มาตรการที่ 13[M13], มาตรการที่ 14[M14], มาตรการที่ 15[M15] และ มาตรการที่ 16 [M16] ซึ่งกำลังจะสิ้นสุดความช่วยเหลือในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้าที่ยังคงได้รับผลกระทบด้านรายได้จาก COVID-19 และดำเนินการตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรื่องแนวทางการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย (มาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน) ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคาร เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 จึงได้มีมติให้ ธอส. จัดทำ “มาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน” เพื่อขยายความช่วยเหลือให้กับลูกค้าเดิมที่ยังอยู่ระหว่างการใช้มาตรการความช่วยเหลือของ ธอส. จำนวน 9 มาตรการ(M2, M9, M10, M11, M12, M13, M14, M15 และ M16) ที่ความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ยังไม่กลับมาเป็นปกติได้ตามสัญญา ซึ่งถือเป็นกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จาก COVID-19 มาอย่างต่อเนื่อง และยาวนาน จึงจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือลดภาระค่าใช้จ่ายในระยะยาว โดยจะได้รับความช่วยเหลือในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ดังนี้

มาตรการที่ 18 [M18]  : สำหรับลูกค้ารายย่อยที่มีสถานะบัญชีปกติ รองรับลูกค้าเดิมใน  M2, M9, M 11, M13 และ M15 เลือกแบ่งจ่ายเงินงวดผ่อนชำระ (ตัดเงินต้น ตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 75% ของเงินงวดผ่อนชำระปกติ และลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่ใช้อยู่ลงอีก 0.25-0.50% ต่อปี ระยะเวลาความช่วยเหลือตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2565 โดยสามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการผ่าน Application : GHB ALL หรือ GHB Buddy บน Application Line หรือ www.ghbank.co.th หรือ สาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2564 เวลา 9.00 น. เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 25 มกราคม 2565

มาตรการที่ 19 [M19] : สำหรับลูกค้าผู้ประกอบการสินเชื่อแฟลต รองรับลูกค้าเดิมใน M12 เลือกแบ่งจ่ายเงินงวดผ่อนชำระ (ตัดเงินต้น ตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 70% ของเงินงวดผ่อนชำระปกติ และลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่ใช้อยู่ลงอีก 0.25% ต่อปี ระยะเวลาความช่วยเหลือตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2565 โดยสามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการได้ที่สำนักงานใหญ่และสาขาทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2564 เวลา 9.00 น. เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 25 มกราคม 2565

มาตรการที่ 17 [M17] : สำหรับลูกค้ารายย่อยสถานะ NPL และลูกค้ารายย่อย NPL ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้และไม่ได้อยู่ในมาตรการ หรือรองรับลูกค้าเดิมใน M10, M14 และ M16 จะได้ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0% ต่อปี ในเดือนที่ 1-3 เดือนที่ 4-6 เท่ากับ 1.99% ต่อปี และเดือนที่ 7-12 เท่ากับ 3.90% ต่อปี ระยะเวลาความช่วยเหลือสูงสุดนาน 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้น โดยสามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการผ่าน Application : GHB ALL หรือ GHB Buddy บน Application Line หรือ www.ghbank.co.th ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม  2565 เวลา 9.00 น. เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565

ทั้งนี้ ลูกค้าตามมาตรการข้างต้นที่ต้องการขยายระยะเวลาความช่วยเหลือจะต้อง Upload แสดงหลักฐานยืนยันว่าได้รับผลกระทบทางรายได้ให้ธนาคารพิจารณาผ่าน Application : GHB ALL หรือ GHB Buddy บน Application Line ส่วนกรณีที่ลูกค้าไม่มีสมาร์ทโฟนสามารถกรอกข้อมูลเพื่อแจ้งความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือตามมาตรการได้ที่ www.ghbank.co.th สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือติดตามข้อมูลข่าวสารของธนาคารได้ที่ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) โทร 0-2645-9000 หรือ www.ghbank.co.th, Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และ  Application : GHB ALL

Advertising

ประยุทธ์ สั่งเร่งผลักดันท่องเที่ยว “Wellness Tourism – Medical Tourism” รองรับท่องเที่ยวยุคโควิด

People Unity News : ประยุทธ์ สั่งเร่งผลักดันการท่องเที่ยว “Wellness Tourism – Medical Tourism” รองรับการท่องเที่ยวยุคโควิด-19

30 พ.ย.64 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย นโยบายของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น

มุ่งเน้นการส่งเสริมภาคการท่องเที่ยว และต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการปรับกลยุทธ์ของภาคการท่องเที่ยวที่สอดรับกับมาตรการสาธารณสุข

จากข้อสั่งการดังกล่าว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้เตรียมแนวทางส่งเสริมและการขยายการท่องเที่ยวในรูปแบบ Medical Tourism (การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์) และ Wellness Tourism (การท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ)

จากเดิมที่ให้ความสำคัญกับปริมาณนักท่องเที่ยวเป็นหลัก ปรับเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวที่สร้างมูลค่าสูง หรือมีค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวที่สูงแทน (ค่าใช้จ่ายต่อหัว 80,000 – 120,000 บาท) เพื่อรองรับการท่องเที่ยวในปี 2565

ส่วนนโยบายด้านสาธารณสุขนั้น จะดำเนินการตาม “ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) พ.ศ. 2560 – 2569” โดยสนับสนุนการใช้สมุนไพรไทย เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมสุขภาพให้กับนักท่องเที่ยว แนวนโยบายของรัฐบาลดังกล่าว จะช่วยบรรเทาผลกระทบของประชาชนที่ทำงานในภาคการท่องเที่ยว ยืนยัน รัฐบาลพร้อมแก้ไขปัญหาและวางแผนเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆที่อาจเกิดขึ้นอย่างเต็มที่

Advertising

กรมชลประทานจ้างแรงงาน 75,000 คนปี 65 สร้างรายได้ทดแทนให้แก่เกษตรกรและประชาชน

People Unity News : กรมชลประทานเดินหน้าจ้างแรงงานปี 65 หวังสร้างรายได้ทดแทนให้แก่เกษตรกรและประชาชน สอบถามเพิ่มเติม สายด่วน 1460

28 พ.ย.64 กรมชลประทานเปิดรับสมัครแรงงานทั่วประเทศ ตามโครงการจ้างแรงงานชลประทาน ปี 65 ในตำแหน่งงานซ่อมแซม บำรุงรักษา ขุดลอก ปรับปรุงงานชลประทาน ก่อสร้างแหล่งน้ำ ระบบส่งน้ำ แก้มลิง โครงการป้องกันและบรรเทาภัยจากน้ำ ฯลฯ เพื่อให้เกษตรกร มีรายได้ทดแทนจากการว่างเว้นการทำการเกษตร โดยได้รับค่าจ้างประมาณเดือนละ 7,800 บาท ระยะเวลาการจ้างงาน 1 – 10 เดือน

ขณะนี้ ทั่วประเทศมีผู้สนใจเข้าร่วมจ้างแรงงานแล้ว 2,155 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 2.87 ของแผน ยังสามารถจ้างแรงงานได้อีกประมาณ 72,845 คน ให้ครบตามเป้าที่กำหนดไว้ 75,000 คน

สำหรับคุณสมบัติของผู้ร่วมโครงการที่จะได้รับการจ้างแรงงาน มีดังนี้

✅ เกษตรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรหรือเกษตรกรในพื้นที่

✅ สมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำของกรมชลประทานในพื้นที่

✅ ประชาชน และผู้ใช้แรงงานทั่วไป

✅ หากแรงงานที่ต้องการในพื้นที่เป้าหมายมีไม่เพียงพอ จะพิจารณาจ้างแรงงานในพื้นที่ใกล้เคียงจากหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และลุ่มน้ำ ตามลำดับ

เกษตรกรหรือประชาชนที่สนใจ สามารถติดต่อสอบถามหรือสมัครได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือสายด่วนกรมชลประทาน โทร.1460

Advertising

ชัยวุฒิ เผย Thailand pass พร้อมใช้งาน 100% แล้ว รับนักท่องเที่ยวลงทะเบียนผ่านดิจิทัล

People Unity News : ชัยวุฒิ เผย Thailand pass พร้อมใช้งาน 100% แล้ว รับนักท่องเที่ยวลงทะเบียนผ่านดิจิทัล

18 พฤศจิกายน 2564 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว. ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ยืนยัน Thailand pass หรือระบบลงทะเบียนล่วงหน้า เพื่อขอรับเอกสารรับรองก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย ขณะนี้พร้อมใช้งานอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยระบบดิจิทัล 100% ต้อนรับการเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ

เรื่องนี้เป็นไปตามข้อห่วงใยของนายกรัฐมนตรี ต่อการดูแลนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าประเทศ เพื่อประสิทธิภาพและความชัดเจนของข้อมูล และลดปัญหาการรอคอย ไม่เป็นภาระของนักท่องเที่ยว

ซึ่งวันนี้สามารถเชื่อมโยงระบบต่างๆ โดยไม่ต้องถือกระดาษ เอกสารใดๆมา เพียงแค่ผู้เดินทางกรอกข้อมูลใน Thailand pass ที่ต้นทาง เมื่อมาถึงเมืองไทย เพียงสแกนคิวอาร์โค้ด หรือให้หมายเลขหนังสือเดินทาง การตรวจสอบก็จะรวดเร็วมากขึ้น มั่นใจว่าจะสามารถรองรับนักท่องเที่ยว ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาคาดการณ์ในเดือนมีนาคม ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน

Advertising

ไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ “3 เมกะอีเว้นท์” หนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รองรับนักท่องเที่ยวทั่วโลก

People Unity News : ครม.เห็นชอบ ไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ “3 เมกะอีเว้นท์” หนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รองรับนักท่องเที่ยวทั่วโลก

17 พฤศจิกายน 2564 ที่ประชุม ครม. เมื่อวาน (16 พ.ย.) เห็นชอบในหลักการให้ประเทศไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานเมกะอีเว้นท์ 3 รายการ ได้แก่ งาน Expo 2028 Phuket – Thailand ปี 2571, มหกรรมพืชสวนโลกอุดรธานี ปี 2569 และพืชสวนโลกนครราชสีมา (ระดับ A1) ปี 2572

ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการเป็นเจ้าภาพจัดงานเมกะอีเวนท์ดังกล่าว คือ การพัฒนาและต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่างๆ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เกิดการจ้างงานที่จะส่งผลให้จีดีพีเติบโตขึ้น รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ประเมินว่าจะทำให้มีเงินสะพัดในประเทศไทยรวม 100,173 ล้านบาท จีดีพีเติบโตขึ้นราว 68,520 ล้านบาท สร้างรายรับภาษีให้ภาครัฐ 20,641ล้านบาท และเกิดการจ้างงาน 230,442 คน

Advertising

“ประยุทธ์” สั่งดูแลค่าครองชีพ ให้ ก.พาณิชย์คุยผู้ประกอบการศูนย์อาหาร ลดต้นทุนอาหารจานด่วน

People Unity News : “ประยุทธ์” สั่งดูแลค่าครองชีพประชาชน ให้ ก.พาณิชย์เร่งพูดคุยผู้ประกอบการศูนย์อาหาร ช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายอาหารจานด่วน เพิ่มรายการอาหารทางเลือกใหม่ๆ

15 พฤศจิกายน 2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามสถานการณ์ประจำวัน ทราบถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ขณะนี้ร้านอาหารตามสั่ง/อาหารจานด่วน มีการปรับราคาขึ้นหลายรายการ เนื่องจากช่วงนี้ วัตถุดิบที่ใช้ประกอบอาหารมีราคาสูง อาทิ น้ำมันปาล์ม ไข่ไก่ ผักสด จึงสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปตรวจสอบดูแลในเรื่องดังกล่าว ซึ่งกรมการค้าภายในแจ้งว่า จะมีการหารือกับห้างสรรพสินค้าที่ให้บริหารศูนย์อาหาร Food court เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการในแง่ต้นทุนการผลิต ค่าเช่า ส่วนแบ่งการขาย รวมถึงหารือกับผู้ประกอบการตลาดสด เร่งติดตามราคาสินค้า อาหารสด เครื่องปรุงต่างๆ ช่วยลดภาระต้นทุนให้กับผู้ประกอบการที่ขายอาหารจานด่วนไม่ให้ขาดทุน และยังสามารถจัดจำหน่ายรายการอาหารทางเลือกอื่นๆในราคาที่เหมาะสม ลดภาระค่าครองชีพของประชาชนผู้บริโภคในขณะนี้

“ทั้งนี้ รัฐบาลยังมีโครงการคนละครึ่ง และร้านอาหารธงฟ้าราคาประหยัด ที่จะสามารถช่วยลดค่าครองชีพให้กับประชาชนในการซื้อของอุปโภคบริโภคในราคาที่ถูกลง และยังได้วางแผนการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนให้ทั่วถึง” นายธนกร กล่าว

Advertising

รัฐบาลปลื้มดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมสูงสุดในรอบ 5 เดือน เพิ่มขึ้นต่อเนื่องติดต่อ 2 เดือน

People Unity News : รัฐบาลปลื้ม ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัว สูงสุดในรอบ 5 เดือน เพิ่มขึ้นต่อเนื่องติดต่อกัน 2 เดือนซ้อน สะท้อนผู้ประกอบการขานรับนโยบายเปิดประเทศ

วันนี้ 9 พ.ย. 64 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2564 ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 82.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และสูงสุดในรอบ 5 เดือน ที่สำคัญเป็นการปรับตัวในทุกขนาดอุตสาหกรรมและทุกภูมิภาค สะท้อนความเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรม โดยองค์ประกอบของดัชนีฯ เพิ่มขึ้นเกือบทุกหมวด ทั้งยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ ยกเว้นต้นทุนประกอบการ ประกอบกับมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ที่มีแนวโน้มดีขึ้น สัดส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดลง จำนวนผู้ได้รับวัคซีนเพิ่มมากขึ้น มาตรการคลายมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว ความต้องการสินค้าในประเทศและต่างประเทศขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งสินค้าประเภทคงทน อาทิ ยานยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกลและโลหะการ เป็นต้น และสินค้าประแภทไม่คงทน เช่น อาหารและยา นอกจากนี้ยังมีคำสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าในกลุ่มสินค้าอาหารและสินค้าแฟชั่นสำหรับเทศกาลปีใหม่ด้วย ผลักดันให้ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่ มาตรการภาครัฐยังช่วยพยุงกำลังซื้อในประเทศ สอดคล้องกับรายงานดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมล่าสุดประจำเดือนกันยายน 2564 ของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยภาพรวมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ขยายตัวดีขึ้น อยู่ที่ระดับ 93.72 เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.49 เมื่อเทียบกันกับเดือนก่อน โดย 9 เดือนแรกขยายตัวร้อยละ 6.10 โดยเฉพาะชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.12  เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน การผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.61 เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 20.24 ผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ การผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.32 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน บุหรี่ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 71.29 จากการเร่งผลิตเพื่อรองรับคำสั่งซื้อจากตัวแทนจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นมาก หลังรับข่าวการปรับโครงสร้างภาษียาสูบใหม่ที่บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1ตุลาคม ที่ผ่านมา

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พอใจภาพรวมความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมไทยหลังรัฐบาลประกาศเปิดประเทศ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญของไทย อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกลและโลหะการ ที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นายกรัฐมนตรียังสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน เน้นสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมอบหมายกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จัดทำโครงการพัฒนาและยกระดับเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสู่เมืองสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน โดยตั้งเป้าภายในปี 2579 ประเทศไทยจะมีต้นแบบ “เมืองน่าอยู่ คู่อุตสาหกรรม” ไม่น้อยกว่า 40 พื้นที่ ใน 37 จังหวัดด้วย ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรียังได้รับทราบปัญหาและข้อห่วงใยของผู้ประกอบการ ทั้งปัญหาต้นทุนแพงจาก ราคาวัตถุดิบและพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น การขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ทำให้มีการลักลอบนำแรงงานเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย ได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม บูรณาการงานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งช่วยเหลือแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการ พร้อมกำชับให้ฝ่ายความมั่นคงเฝ้าระวังพื้นที่ชายแดนอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19  ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของไทยที่กำลังเดินหน้าไปด้วยดีขณะนี้

Advertising

รัฐบาลชวนผู้ประกอบการเข้าเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม รับสิทธิประโยชน์ภาษี-จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 

People Unity News : รัฐบาลชวนผู้ประกอบการเข้าเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม รับสิทธิประโยชน์ภาษีและจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ผู้สนับสนุนได้ลดหย่อนภาษีด้วย

8 พ.ย.64 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยถึงการขับเคลื่อนการประกอบกิจการเพื่อสังคม เพื่อส่งเสริมให้องค์กรธุรกิจ และภาคประชาชนมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนและประเทศสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม มี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ได้ดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 ซึ่งในช่วงเวลาสองปีของการเริ่มใช้กฎหมายฉบับนี้ คณะกรรมการฯได้ผลักดันให้มีการออกสิทธิประโยชน์หลายอย่าง เพื่อเป็นแต้มต่อให้วิสาหกิจเพื่อสังคมได้ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และนำผลกำไรคืนสู่สังคมต่อไป ขณะนี้มีจำนวนวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise:SE )  ที่จดทะเบียนกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.) จำนวน 162 กิจการ

การดำเนินงานที่ผ่านมาหลายหน่วยงานภาครัฐได้ออกมาตรการในการสนับสนุนการดำเนินงานของวิสาหกิจเพื่อสังคม อาทิ กรมสรรพาการมีประกาศให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้รับการจดทะเบียนกับ สวส. กล่าวคือ 1) ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่นิติบุคคลที่จดทะเบียนวิสาหกิจเพื่อสังคมประเภทที่ไม่ประสงค์จะแบ่งปันกำไร 2) ผู้สนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคมสามารถหักลดหย่อนเงินลงทุนในหุ้นของนิติบุคคลที่ได้รับการจดทะเบียนวิสาหกิจเพื่อสังคมและได้จดแจ้งการเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมได้ 3) ผู้บริจาคให้แก่กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกประกาศให้กิจการ SE ที่ผ่านการจดทะเบียนรับรอง สามารถระดมทุนเสนอขายหุ้นต่อประชาชนได้ โดยไม่ต้องยื่นขออนุญาตจาก ก.ล.ต.ตามปกติ เป็นต้น และล่าสุดที่เพิ่งมีผลบังคับใช้ คือ กำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างผลิตผลชิ้นงาน หรือบริการที่ผลิตหรือจัดทำขึ้นจะวิสาหกิจเพื่อสังคมที่จดทะเบียนโดยวิธีเฉพาะเจาะจงได้ ทำให้วิสาหกิจฯมีโอกาสเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้มากขึ้น

นอกจากสิทธิประโยชน์ที่ได้กล่าวมาแล้ว คณะกรรมการฯยังผลักดันให้มีการเสริมแกร่งแก่วิสาหกิจเพื่อสังคม เช่น การสร้างเครือข่ายกับ 18 หน่วยงานรัฐและเอกชน เพื่อเป็นพี่เลี้ยงด้านการตลาด การลงทุน การระดมทุน การส่งเสริมศักยภาพกลุ่มกิจการเพื่อสังคมสำหรับคนพิการ และที่สำคัญ กระทรวงพาณิชย์ได้ริเริ่มการจัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจ (Online Business Matching) นำกลุ่มวิสาหกิจเพื่อสังคม 13 ราย พบผู้ซื้อและผู้นำเข้าจากต่างประเทศ กว่า 34 รายจาก 13 ประเทศ เช่น ประเทศเวียดนาม เยอรมัน สเปน ซาอุดิอาระเบียและประเทศกลุ่มยุโรป นำไปสู่มูลค่าการค้าประมาณ 15 ล้านบาท  โดยสินค้าส่วนใหญ่ที่เจรจาทางธุรกิจเป็นสินค้ากลุ่มอาหาร เครื่องสำอางค์ สินค้าเพื่อสุขภาพและในระยะต่อไปก็จะดำเนินการให้เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการส่งออกร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการอื่นๆ รวมถึงจัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้ในการดำเนินธุรกิจวิสาหกิจเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง

นางสาวรัชดา กล่าวต่อว่า สำหรับปีหน้า สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม เล็งเห็นโอกาสที่จะเพื่มจำนวนผู้จดทะเบียนวิสาหกิจเพื่อสังคม เพราะมีผู้ประกอบการจำนวนมากให้ความสนใจ รวมถึงวิสาหกิจชุมชนหลายแห่งก็มีศักยภาพที่จะจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมได้ด้วย ซึ่งผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิประโยชน์และการสนับสนุนหลายอย่าง มีโอกาสต่อยอดธุรกิจให้มีรากฐานที่แข็งแรง มั่นคง และยั่งยืนตามเป้าหมายของรัฐบาล ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนนโยบายการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจ แก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน สังคมหรือสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศให้ยั่งยืนต่อไป ผู้สนใจ สามารถติดต่อ สวส. ได้ที่ https://www.osep.or.th/ โทร 02 246 2344

Advertising

พาณิชย์-เกษตร จัดโครงการประกวดข้าวพันธุ์ใหม่ หวังกู้วิกฤติข้าวไทยสู่ตลาดโลก

People Unity News : พาณิชย์-เกษตรฯ เดินหน้าขับเคลื่อนประกวดข้าวพันธุ์ใหม่ หวังกู้วิกฤติข้าวไทยสู่ตลาดโลก

เมื่อวาน (5 พฤศจิกายน 2564) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการประกวดข้าวพันธุ์ใหม่เพื่อการพาณิชย์ ภายใต้ยุทธศาสตร์ข้าวไทย โดยมี นายชาตรี บุญนาค ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการข้าว นางสาวนนทิชา วรรณสว่าง รองอธิบดีกรมการข้าว คณะผู้บริหาร ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเกษตรกรจากจังหวัดชัยนาทและจังหวัดใกล้เคียง ร่วมพิธีเปิดในครั้งนี้ ณ ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท พร้อมคณะทูตพาณิชย์จาก 25 ประเทศ และพาณิชย์จังหวัดใน 27 แหล่งเพาะปลูกของประเทศ ร่วมกิจกรรมผ่านระบบออนไลน์

นายชาตรี กล่าวว่า สำหรับการประกวดข้าวในครั้งนี้ เปิดโอกาสให้นักวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าว ส่งผลงานเข้าประกวดในข้าว 3 ประเภท ได้แก่ ข้าวหอมไทย ข้าวขาวพื้นนุ่ม และข้าวขาวพื้นแข็ง ซึ่งมีพันธุ์ข้าวที่ส่งประกวดทั้งสิ้นจำนวน 48 พันธุ์ แบ่งเป็นพันธุ์ข้าวของกรมการข้าวจำนวน 31 พันธุ์ โดยไดันำพันธุ์ข้าวที่ส่งเข้าประกวด มาทดลองปลูกในแปลงปลูกของศูนย์วิจัยข้าว 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก และศูนย์วิจัยข้าวขอนแก่น ซึ่งจะดำเนินการตัดสินผลการประกวดในช่วงเดือนธันวาคม

ด้าน นางสาวนนทิชา เปิดเผยถึงหลักเกณฑ์ในการพิจารณาการตัดสิน คณะกรรมการจะเปรียบเทียบพันธุ์ข้าวที่ส่งเข้าประกวดกับข้าวพันธุ์เดิมที่โดดเด่นในแต่ละประเภท ทั้งด้านการเพาะปลูกในแปลง การขัดสี คุณภาพทางกายภาพของเมล็ด คุณภาพทางเคมี และคุณภาพการหุงต้ม ซึ่งเชื่อมั่นว่าการประกวดดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ตอกย้ำความเชื่อมั่นต่ออนาคตข้าวไทยให้กับชาวนา ผู้ประกอบการค้าข้าว ตลอดจนผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ภายหลังได้นำประธานและคณะ เยี่ยมชมแปลงนาพันธุ์ข้าวจากการประกวดในพื้นที่ของศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท ตลอดจนการนำเสนอความคืบหน้าของโครงการดังกล่าว

Advertising

Verified by ExactMetrics