วันที่ 15 พฤษภาคม 2024

ธอส.ช่วยชาวใต้น้ำท่วมด้วย 7 มาตรการทั้งพักหนี้ ลดดอกเบี้ย ให้กู้ซ่อม/สร้าง จ่ายค่าสินไหมด่วน

People Unity News : ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ประกาศ 7 มาตรการช่วยเหลือชาวใต้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก “โครงการเงินกู้ที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติปี 2563” ประกอบด้วย 1) ลดดอกเบี้ยเหลือ 0% ต่อปี นาน 4 เดือนแรก 2) ให้กู้เพิ่มหรือกู้ใหม่ดอกเบี้ย 3.00% ต่อปี คงที่ 3 ปีแรก 3) ประนอมหนี้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 4 เดือน ดอกเบี้ย 0% ต่อปี 4 เดือน ไม่ต้องชำระเงินงวด 4) ประนอมหนี้ไม่เกิน 1 ปี ดอกเบี้ย 1% ต่อปี 5) เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรให้ผ่อนชำระดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี 6) ที่อยู่อาศัยเสียหายทั้งหลังซ่อมแซมไม่ได้ให้ปลอดหนี้ในส่วนของอาคาร และ 7) พิจารณาสินไหมเร่งด่วน (Fast Track) สำหรับลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติ จ่ายค่าสินไหมเร่งด่วน และกรณีกรมธรรม์เริ่มคุ้มครองตั้งแต่ 1 พ.ย. 2562 เพิ่มความคุ้มครองตามความเสียหายจริงแต่ไม่เกินภัยละ 30,000 บาทต่อปี ติดต่อขอใช้มาตรการถึง 30 ธันวาคม 2563

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ในบริเวณพื้นที่ภาคใต้ ได้เกิดเหตุน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก หลังจากเกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องจนมีผลให้ที่อยู่อาศัยเกิดความเสียหายและประชาชนได้รับผลกระทบในด้านการประกอบอาชีพ ธอส. ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่มีพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” จึงพร้อมบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกค้าประชาชนด้วย “โครงการเงินกู้ที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติปี 2563” (กรอบวงเงินรวมของโครงการ 100 ล้านบาท) โดยพิจารณาตามระดับความเสียหาย ซึ่งมีรายละเอียดประกอบด้วย

มาตรการที่ 1 สำหรับลูกค้าเดิมของ ธอส. กรณีหลักประกัน (ที่อยู่อาศัยที่จดจำนองกับธนาคาร) ของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบอุทกภัยสามารถขอลดอัตราดอกเบี้ยและเงินงวดผ่อนชำระ เดือนที่ 1-4 อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี เดือนที่ 5-16 อัตราดอกเบี้ย 3.65% ต่อปี เดือนที่ 17-24 อัตราดอกเบี้ย 4.15% ต่อปี ปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ย 5.15% ต่อปี และปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญาเงินกู้กรณีลูกค้าสวัสดิการ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR -1.00% ต่อปี กรณีลูกค้ารายย่อยทั่วไป ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR – 0.50% ต่อปี กรณีกู้เพื่อชำระหนี้หรือซื้ออุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกฯ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR ธอส. อยู่ที่ 6.150% ต่อปี)

มาตรการที่ 2 สำหรับลูกค้าใหม่ หรือลูกค้าเดิมของ ธอส. ที่หลักประกันของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบอุทกภัย สามารถขอกู้เพิ่ม หรือกู้ใหม่ เพื่อปลูกสร้างอาคารทดแทนหลังเดิม หรือกู้ซ่อมแซมอาคาร ที่ได้รับความเสียหาย คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ 3.00% ต่อปี นาน 3 ปี หลังจากนั้นกรณีลูกค้าสวัสดิการ คิดอัตราดอกเบี้ย MRR-1.00% ต่อปี ส่วนลูกค้ารายย่อย คิดอัตราดอกเบี้ย MRR-0.50% ต่อปี

สำหรับลูกค้าผู้ที่ต้องการยื่นกู้ตามมาตรการที่ 2 ธนาคารกำหนดวงเงินให้กู้ต่อรายไม่เกิน 1 ล้านบาท ต่อ 1 หลักประกัน และยังยกเว้นค่าธรรมเนียมในรายการที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ค่าตรวจสอบหลักประกันค่าประเมินราคาหลักประกัน ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ ค่าธรรมเนียมการขอเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าธรรมเนียมการขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการกู้

มาตรการที่ 3 ลูกหนี้ที่หลักประกันได้รับความเสียหาย ให้ลูกหนี้ประนอมหนี้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 4 เดือน อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 4 เดือนแรกโดยไม่ต้องชำระเงินงวด จากนั้นเดือนที่ 5-16 อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ให้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้

มาตรการที่ 4 ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ ให้ประนอมหนี้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ ให้ลูกหนี้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้

มาตรการที่ 5 ลูกหนี้ที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร ให้ผ่อนชำระโดยใช้อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ตลอดระยะเวลาที่คงเหลือตามสัญญากู้

มาตรการที่ 6 กรณีที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลังและไม่สามารถซ่อมแซมได้ ให้ปลอดหนี้ในส่วนของราคาอาคาร และให้ผ่อนชำระต่อเฉพาะในส่วนของที่ดินที่คงเหลือเท่านั้น

มาตรการที่ 7 พิจารณาสินไหมเร่งด่วน (Fast Track) สำหรับลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติ รวมถึงกรณีน้ำท่วม หรือ ลมพายุ พิจารณาจ่ายค่าสินไหมให้กับลูกค้าที่เป็นผู้ประสบภัยทุกรายอย่างเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ โดยผู้เอาประกันยื่นเอกสารแจ้งความเสียหาย จ่ายตามความ เสียหายจริงตามภาพถ่าย รวมทุกภัยธรรมชาติไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี และสำหรับลูกค้าที่มีกรมธรรม์เริ่มความคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 เพิ่มความคุ้มครองภัยธรรมชาติตามความเสียหายจริงจากหลักฐานภาพถ่าย แต่ไม่เกินภัยละ 30,000 บาทต่อปี

ทั้งนี้ ลูกค้าที่ประสงค์ขอรับบริการของ “โครงการเงินกู้ที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติธรรมชาติ ปี 2563” สามารถติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ถึงภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2563 หรือภายใต้กรอบวงเงินที่ธนาคารกำหนด สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธอส. ทุกสาขาทั่วประเทศหรือศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์(Call Center) โทร 0-2645-9000 หรือ www.ghbank.co.th และ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์

Advertising

ก.คลังเพิ่มทุนโครงการเหมืองแร่โพแทชอาเซียน 90 ล้าน

People Unity News : 1 มีนาคม 2566 คลังงัดงบกลางเพิ่มทุนโครงการเหมืองแร่โพแทชอาเซียน 90 ล้านบาท  คงสัดส่วนผู้ถือหุ้นตามข้อตกลงโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ว่า ครม.เห็นชอบการเพิ่มทุนในโครงการเหมืองแร่โพแทชของอาเซียน โดยเพิ่มทุนเพื่อชำระค่าหุ้นสามัญเพิ่มทุนส่วนแรกในสัดส่วนของกระทรวงการคลัง จำนวน 90 ล้านบาท สำหรับบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) เพื่อคงสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐบาลเจ้าของโครงการเป็นไปตามข้อตกลงพื้นฐานว่าด้วยโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน (Basic Agreement) และให้โครงการสามารถดำเนินงานต่อไปได้ มอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณาใช้จ่ายงบกลาง ปีงบประมาณ 2566  ชำระค่าหุ้นสามัญเพิ่มทุนในส่วนแรกตามขั้นตอนของกฎหมาย

โครงการเหมืองแร่โพแทชของอาเซียน เป็นโครงการภายใต้ข้อตกลงพื้นฐานว่าด้วยโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน (Basic Agreement) โดยไทยเป็นสมาชิกร่วมกับประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และบูรไน ซึ่งข้อตกลงกำหนดให้ประเทศเจ้าของโครงการต้องร่วมลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของยอดลงทุนทั้งหมด และรัฐบาลเจ้าของโครงการต้องลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของยอดเงินลงทุนนั้น โดยอีกร้อยละ 40 ประเทศสมาชิกอาเซียนจะเป็นผู้ลงทุน โครงการนี้ มีบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินโครงการ มีทุนจดทะเบียน 2,805.8 ล้านบาท และกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ร้อยละ 20 เป็นเงิน 516.16 ล้านบาท ลักษณะของโครงการ เป็นการทำเหมืองใต้ดิน  มีแร่โพแทชและเกลือหินเป็นผลผลิตสำคัญ ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ มีมูลค่าแหล่งแร่รวม 200,000 ล้านบาท และได้เริ่มพัฒนาเหมืองขั้นต้นเพื่อการผลิตแร่โพแทชไว้แล้ว เช่น การขุดเจาะอุโมงค์เข้าสู่เหมืองใต้ดินเพื่อการขนส่ง การสร้างห้องใต้ดินเพื่อทดลองผลิตแร่โพแทช ซึ่งไม่พบปัญหาด้านวิศวกรรม

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา บริษัทไม่สามารถหาทุนเพื่อดำเนินธุรกิจได้ แม้ภาครัฐโดยกระทรวงการคลังได้พยายามเพิ่มทุนแก่บริษัทหลายครั้ง เช่น ขยายนิยามผู้ถือหุ้นในสัดส่วนของรัฐบาลไทยให้ครอบคลุมรัฐวิสาหกิจไทย รวมถึงบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจไทย แต่ไม่มีหน่วยงานใดให้ความสนใจ  จึงไม่สามารถผลิตแร่ได้ตามเป้าหมาย  อีกทั้ง มีภาคเอกชนรายใหม่ให้ความสนใจ เข้ามาลงทุนในโครงการ  อาจจะส่งผลต่อสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทเปลี่ยนแปลง กระทรวงการคลังจึงต้องเพิ่มทุนในครั้งนี้ ให้เป็นไปตามข้อตกลงพื้นฐานว่าด้วยโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน (Basic Agreement)

Advertisement

“ศักดิ์สยาม”ร่วมประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 25 ที่เวียดนาม

People Unity News : “ศักดิ์สยาม”ร่วมประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 25 ที่เวียดนาม ส่งเสริมการเป็นประชาคมอาเซียนอย่างไร้รอยต่อรวมถึงประเทศคู่เจรจา

วันที่ 14 พฤศจิกายน 2562 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 25 (ASEAN Transport Ministers Meeting: ATM) ครั้งที่ 25 ในวันที่ 14 และ 15 พฤศจิกายน 2562 ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐเวียดนาม ซึ่งมี นายเหวียน หว่าน เถ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเวียดนาม เป็นประธานการประชุม และดาโต๊ะ อับดุล มูตาหลิบ ยูซอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและการสื่อสารสารสนเทศบรูไนดารุสซาลาม ทำหน้าที่รองประธาน โดยมีรัฐมนตรีขนส่งของประเทศกัมพูชา อินโดนีเซีย สปป.ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทยและรองเลขาธิการอาเซียน เข้าร่วมการประชุมฯ ในส่วนของคณะผู้แทนไทย ประกอบด้วย นางสาวกอบกุล โมทนา หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม นายธานี แสงรัตน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย นายสมชาย สุมนัสขจรกุล รองอธิบดีกรมเจ้าท่า นายปรีดา ยังสุขสถาพร รองผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรือเอก รุจน์ สุขปรีดี รองผู้อำนวยการท่าเรือกรุงเทพ นายสุทธิพงษ์ คงพูล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ผู้แทนกองการการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม กรมเจ้าท่า กรมการขนส่งทางบก กรมท่าอากาศยาน กรมทางหลวง สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร การท่าเรือแห่งประเทศไทย สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด และกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมด้วย

ในพิธีเปิดการประชุมซี่งมีนายตริน ดิน ดึง รองนายกรัฐมนตรีเวียดนามเป็นประธาน ได้กล่าวถึงความสำคัญของความร่วมมือของอาเซียนด้านการขนส่ง ทั้งการขนส่งทางอากาศ ทางบก ทางน้ำ และการอำนวยความสะดวกในการขนส่ง เพื่อส่งเสริมการเป็นประชาคมอาเซียนอย่างไร้รอยต่อ (Seamless ASEAN) และเป็นประโยชน์ต่อการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน

การประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 25 เป็นการติดตามผลการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ ด้านการขนส่งของอาเซียนหรือ Kuala Lumpur Transport Strategic Plan (KLTSP) ปี 2559-2568 ของเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการขนส่งของอาเซียน คณะกรรมการประสานการขนส่งผ่านแดนของอาเซียน รวมถึงการดำเนินความร่วมมือด้านการขนส่งระหว่างอาเซียนและประเทศคู่เจรจา (จีน ญี่ปุ่นและสาธารณรัฐเกาหลี) เพื่อส่งเสริมการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปลอดภัย การขนส่งที่ยั่งยืน และความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อระหว่างกันในภูมิภาคอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา พร้อมนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาและให้การรับรองและลงนามเอกสาร จำนวน 6 ฉบับ ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่สำคัญของการประชุมในการเร่งรัดและส่งเสริมการดำเนินการของอาเซียนด้านการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ การดำเนินการด้านการขนส่งทางน้ำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการเชื่อมโยงด้านการบินในภูมิภาคอาเซียนและระหว่างอาเซียนกับภูมิภาคอื่นๆ เพื่อไปสู่เป้าหมายการเป็นตลาดการบินเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Market) และตลาดการขนส่งทางทะเลร่วมอาเซียน (ASEAN Single Shipping Market) ดังนี้

เอกสารที่รับรอง จำนวน 4 ฉบับ ประกอบด้วย (1) กรอบการดำเนินการตามกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Implementation Framework of the ASEAN Framework Agreement on Multimodal Transport) (2) ปฏิญญาว่าด้วยการรับรองกรอบการดำเนินการตามกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Declaration on the Adoption of the Implementation Framework of the ASEAN Framework Agreement on Multimodal Transport) (3) แผนยุทธศาสตร์อาเซียนว่าด้วยเรือที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ASEAN Green Ship Strategy) และ (4) พิธีสาร 1 ว่าด้วยเครื่องช่วยฝึกบิน (Protocol 1 on Flight Simulation Training Devices)

เอกสารที่รับรองและลงนาม จำนวน 2 ฉบับ ประกอบด้วย (1) พิธีสารเพื่ออนุวัติข้อผูกพันชุดที่ 11 ของบริการขนส่งทางอากาศ ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียน (Protocol to Implement the Eleventh Package of Commitments on Air Transport Services under the ASEAN Framework Agreement on Services) และ (2) พิธีสาร 3 ว่าด้วยการขยายสิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 5 ระหว่างภาคีคู่สัญญา (Protocol 3 on the Expansion of Fifth Freedom Traffic Rights between Contracting Parties)

รัฐบาลเปิดแผนโครงการรถไฟ “ไทย-ลาว-จีน” รองรับการเดินทางและขนส่งระหว่างประเทศ

People Unity News : รัฐบาลเปิดแผนโครงการรถไฟ “ไทย – ลาว – จีน” รองรับการเดินทางและขนส่งระหว่างประเทศ

14 ก.พ. 65 จากโครงการรถไฟลาว – จีน ที่เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2564 ที่ผ่านมา รัฐบาลพร้อมเดินหน้าเชื่อมโยงโครงข่ายทางรถไฟไทย ลาว และจีน เพื่อรองรับการเดินทางและขนส่งระหว่างประเทศ ด้วยแผนดำเนินการเชื่อมโยงรถไฟระหว่าง 3 ประเทศ ดังนี้

✔️แผนการก่อสร้างของ รฟท.

🚝โครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา มีระยะทาง 250 กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมด 6 สถานี ประกอบด้วย สถานีกลางบางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา สระบุรี ปากช่อง และนครราชสีมา  ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง คาดว่าจะเปิดให้บริการ ปี 2569

🚝โครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 2 นครราชสีมา – หนองคาย เป็นส่วนต่อขยายของโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 รวมระยะทางโดยประมาณ 356 กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมด 5 สถานี ได้แก่ บัวใหญ่ บ้านไผ่ ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำรายงาน EIA คาดว่าจะเปิดให้บริการ 2571

🚝โครงการรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น – หนองคาย มีระยะทางโดยประมาณ 167 กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมด 15 สถานี ปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในเดือน ก.พ. 2565

✔️การบริหารจัดการใช้ทางรถไฟและการใช้สะพาน

🚝เพิ่มขบวนรถขาไป 7 ขบวนและขากลับ 7 ขบวน รวม 14 ขบวน รองรับขบวนละ 25 แคร่ โดยกรมทางหลวงทำการทดสอบการรับน้ำหนักรถไฟ ในระดับ U-20 เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของสะพานต่อไป

🚝ก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ใกล้กับสะพานเดิมที่มีอยู่แล้ว ห่างประมาณ 30 เมตร ที่มีทั้งทางรถไฟขนาดมาตรฐาน และทางขนาด 1 เมตร ปัจจุบันได้ข้อตกลงว่าฝ่ายไทยและลาวจะร่วมลงทุนค่าใช้จ่ายร่วมกันในอาณาเขตของแต่ละฝ่าย (อยู่ระหว่างหาข้อสรุปของผู้รับผิดชอบด้านการออกแบบ)

✔️ การพัฒนาย่านขนถ่ายสินค้า

พื้นที่ด่านศุลกากรหนองคายคาดว่ามีความสามารถในการรองรับรถบรรทุกได้สูงสุด 650 คันต่อวัน แนวทางพัฒนาย่านขนถ่ายสินค้าของฝั่งไทย – ลาว ที่ใช้ขนส่งสินค้าข้ามแดนผ่านทางรถไฟช่วงหนองคาย – เวียงจันทน์ แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ

ระยะเร่งด่วน : การพัฒนาย่านสถานีหนองคายเป็นพื้นที่เปลี่ยนถ่ายสินค้า

ระยะยาว : การพัฒนาพื้นที่นาทาเพื่อเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้า (เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าในอนาคต)

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้จัดการประชุมสร้างความเข้าใจร่วมกับภาคเอกชนต่อการดำเนินการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดการบูรณาการอย่างรอบด้าน จึงจำเป็นต้องมีการรับฟังความเห็นของภาคเอกชน เพื่อเป็น Team Thailand ร่วมกับภาครัฐของไทย ในการจัดทำแผนเชื่อมโยงระหว่างสามประเทศทั้ง ไทย ลาว และจีนให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทย

Advertising

“จุรินทร์”เคาะประกันรายได้มันสำปะหลัง กก.ละ 2.50 บาท

People Unity News : “จุรินทร์” นำกรรมการนโยบายมันสำปะหลังเคาะ “1 ธันวาคม ” จ่ายส่วนต่างประกันรายได้มันสำปะหลัง กก.ละ 2.50บาท ครัวละไม่เกิน100ตัน อนุมัติวันนี้ และพรุ่งนี้นำเข้าครม.ด่วน

วันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 เวลา 10.30 น. -13.20 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง ที่ศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรี ภายหลังหลังการประชุม นายจุรินทร์สรุปแถลงว่า ที่ประชุมอนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังปี 2562/2563 วงเงิน 9,671 ล้านบาท โดยจะประกันรายได้ผลผลิตหัวมันสำปะหลังสด เชื้อแป้ง 25% ในพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศ กก.ละ 2.50 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 100 ตัน

โดยเกษตรกรที่สามารถเข้าร่วมโครงการต้องขึ้นทะเบียนผู้ปลูกมันสำปะหลังกับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2561 – 30 พฤศจิกายน 2562 ที่มีจำนวนประมาณ 540,000 ราย และจะเปิดโอกาสให้เกษตรกรขึ้นทะเบียนได้ต่อเนื่อง โดยเกษตรกรสามารถใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยวเป็นต้นไป และโดยรัฐบาลจะโอนเงินงวดแรกในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 สำหรับเกษตรกรที่ได้รับสิทธิที่เก็บเกี่ยวตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 62 – 30 พฤศจิกายน 2562 (ประมาณร้อยละ 20 ของเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน) และจะโอนเงินทุกวันทำการแรกของเดือนให้กับเกษตรกรที่เหลือ ที่เก็บเกี่ยวตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม ถึง 31 เม ย 63 (ประมาณร้อยละ 80) และจะโอนเงินครั้งสุดท้ายวันที่ 1 พค 63 รวมทั้งมีการเก็บเกษตรกรที่ตกหล่นจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 63

โดยเกษตรกรหนึ่งรายสามารถใช้สิทธิได้เพียงครั้งเดียว และเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวหลังจากนั้น สามารถขึ้นทะเบียนใหม่สำหรับโครงการระยะที่ 2 และธกส จะโอนเงินชดเชยส่วนต่างเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง ตามช่วงระยะเวลาที่กำหนดภายใน 3 วัน นับตั้งแต่วันที่ประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงในแต่ละรอบ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดภาระในการเข้าร่วม โครงการฯ เกษตรกรไม่ต้องทำสัญญาประกันรายได้กับ ธ.ก.ส. โดยภายใต้โครงการนี้ รัฐบาลจะจ่ายเงินทุกวันที่หนึ่งของเดือน จำนวน 12 ครั้งต่อปี

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบมาตรการคู่ขนานเพื่อรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลัง ในการสร้างมาตรฐานของมันสำปะหลังและเข้มงวดการกำกับดูแลการนำเข้าและส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังให้เป็นไปตามมาตรฐานอย่างเคร่งครัด รวมทั้งสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการลานมัน โรงแป้ง รายละไม่เกิน 350,000 บาท นำไปใช้ เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการจัดหาเครื่องร่อนดิน และสนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกรที่มีการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับมันสำปะหลัง นำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการรวบรวมหรือรับซื้อหัวมันสำปะหลังสด มันสำปะหลังเส้น เพื่อจำหน่ายต่อ และหรือแปรรูปเพื่อ สร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์

และที่ประชุมเรับทราบกับแนวทางการขยายตลาดมันสำปะหลังต่างประเทศ ตามกลยุทธ์รักษาตลาดเดิม ฟื้นฟูตลาดเก่า และขยายไปยังตลาดใหม่ การรักษาตลาดเดิม ได้แก่จีน โดยการเร่งรัดการจัดกิจกรรมในมณฑลสำคัญ เพื่อเพิ่มยอดส่งออก และการขยายตลาดใหม่ใน ตุรกี นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ และอินเดีย และฟื้นฟูตลาดเก่า คือ EU โดยการเจรจากับสหภาพยุโรปให้เพิ่มการจัดสรรปริมาณโควตาภาษีสินค้าแป้งดิบ จากปัจจุบันไม่เกินปีละ 10,000 ตัน ให้ไทยได้รับโควตาสินค้าแป้งมันสำปะหลังในปริมาณเป้าหมายที่ 20000 ตัน ซึ่งน่าจะเจรจาเสร็จสิ้นกลางปีหน้า

“และยังให้จัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจในการศึกษาแนวทางการจัดการกับโรคใบด่าง ให้มีประสิทธิภาพ และรวดเร็ว ให้ กระทรวงเกษตรรับไปดำเนินการ ภายใน 1 สัปดาห์ และการกำจัดโรคใบด่างทั้งในที่ดินที่มีและไม่มีเอกสารสิทธิ์ด้วย ” นายจุรินทร์ กล่าว

รายงานข่าวกรมการค้าภายในแจ้งด้วยว่า ที่ประชุมยัง มีมาตรการอื่นเพิ่มเติม เช่น เห็นชอบที่จะส่งเสริมการใช้เอทานอลให้เป็นไปตามแผนพลังงานทดแทนฯ ที่กำหนดการใช้เป็น 11.3 ล้านลิตร ต่อวัน ในปี 2579 (ปัจจุบันมีการใช้อยู่ที่ 4.5 ล้านลิตรต่อวัน) และแก้ไขพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 ให้โรงงานสุรากลั่นแห่งอื่น นอกเหนือจากองค์การสุราฯ ผลิตสุราสามทับออกจำหน่ายภายในประเทศได้ และลดการนำเข้าเอทานอลเกรดอุตสาหกรรม โดยให้โรงงานเอทานอลในประเทศไทย สามารถผลิตและจำหน่ายให้แก่อุตสาหกรรมอื่นได้ หรือเป็นผู้รับจ้างผลิต (Outsource) ให้แก่องค์การสุราได้ด้วยการใช้เอทานอลที่ผลิตในประเทศ

ตัวเลขส่งออกเดือน พ.ค. +41.59% สูงสุดในรอบ 11 ปี สินค้าเกษตร-อาหารดีต่อเนื่อง

People Unity News : “จุรินทร์“ ประกาศตัวเลขส่งออก พ.ค. +41.59% สูงสุดในรอบ 11 ปี สินค้าเกษตร-อาหาร ดีต่อเนื่อง “สั่งพาณิชย์ลุยต่อ 5 แผนบุกตลาด”

24 มิถุนายน 2564 เวลา 9.30 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูษิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และนายนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และคณะ แถลงข่าวภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย ประจําเดือนพฤษภาคม 2564 ณ ห้องกิติยากรวรลักษณ์ ชั้น 4 สํานักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตัวเลขการส่งออกเดือนพฤษภาคมปีนี้ มีมูลค่า 23,057.91 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 714,885.27 ล้านบาท ขยายตัว 41.59% ซึ่งถือเป็นการขยายตัวที่สูงที่สุดในรอบ 11 ปี หากหักน้ำมัน ทองคำ ยุทธปัจจัยออกจะบวกถึง 45.87% คิดเป็นมูลค่ารวม 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.64) ขยายตัวรวมกัน 10.78% หากหักน้ำมัน ทองคำ ยุทธปัจจัยออกจะบวกถึง 17.13% เหตุผลสำคัญมี 2 ข้อ คือ 1.เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวโดยเฉพาะตลาดสำคัญ เช่น สหรัฐฯ จีน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เป็นต้น และ 2.เพราะแผนการส่งออกและภาคปฏิบัติจริงที่กระทรวงพาณิชย์ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชนมาโดยต่อเนื่องและใกล้ชิดในช่วงที่ผ่านมาในรูป กรอ.พาณิชย์ ทำให้สามารถแก้ปัญหาอุปสรรคต่างๆได้รวดเร็วทันท่วงทีและมีการจัดทำแผนเชิงรุกร่วมกันในปี 2564 ที่มีเป้าหมายและรายละเอียดชัดเจนแต่ต้นทำให้ตัวเลขการส่งออกปีนี้ค่อยๆเป็นบวกตามลำดับ สำหรับตลาดสำคัญนั้นประกอบด้วย จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน เอเชียใต้ อาเซียน เป็นต้น สินค้าที่สำคัญประกอบด้วยสินค้าเกษตรและอาหาร สำหรับอาหารเฉพาะผักผลไม้แช่เย็นแช่แข็งซึ่งกระทรวงพาณิชย์เร่งรัดแก้ไขปัญหาอุปสรรคบริเวณด่านชายแดนและด่านข้ามแดนเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกผักผลไม้แช่เย็นแช่แข็งเป็นบวกถึง 31.9% โดยเฉพาะทุเรียนบวกถึง 95% และสินค้า Work from Home ผลิตภัณฑ์ป้องกันโควิด เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก อาหารสัตว์เลี้ยงและรถยนต์ เป็นต้น

“สำหรับรถยนต์หลังจากที่ผมและกระทรวงพาณิชย์พยายามเจรจากับเวียดนามมาหลายครั้งตั้งแต่การประชุม RCEP และส่งผลให้ต่อมาเวียดนามปรับปรุงกฎระเบียบในการนำเข้ารถยนต์จากที่ต้องตรวจรถยนต์ที่นำเข้าจากไทยทุกล็อตที่ตรวจทั้งสองฝั่งเวียดนามยอมเปลี่ยนเป็นตรวจฝั่งใดฝั่งหนึ่งและสุ่มตรวจเท่านั้น ส่งผลให้การส่งออกรถยนต์ของไทยไปเวียดนามขยายตัวถึง  922% และส่งออกไปทั่วโลกขยายตัวถึง 170%” นายจุรินทร์ กล่าว

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวต่อว่า แผนงานที่กระทรวงพาณิชย์เดินหน้าต่อไปประกอบด้วย 1.เร่งรัดการเปิดตลาดใหม่ให้มีผลทางภาคปฏิบัติเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ทั้งตลาดตะวันออกกลาง ตลาดกลุ่มประเทศรัสเซีย ตลาดกลุ่มประเทศเอเชียใต้ ตลาดกลุ่มประเทศแอฟริกา 2.รุกการค้าชายแดนและการค้าข้ามแดนต่อเนื่องต่อไปโดยจะเร่งเปิดด่านซึ่งมีอยู่ 97 ด่านที่ปัจจุบันเปิดได้แค่ 45 ด่านให้เปิดด่านเพิ่มขึ้นเป้าหมายระยะสั้นเร่งเปิดให้ได้อย่างน้อยเพิ่มอีก 11 ด่าน วันที่ 9-11 กรกฎาคมนี้ตนจะเดินทางไปดูด่านบริเวณชายแดนลาวซึ่งถือเป็นด่านสำคัญที่จะทะลุไปเวียดนามและไปจีน เช่น ด่านปากแซง นาตาล ท่าเทียบเรือมุกดาหาร ท่าเทียบเรือนครพนม และท่าเทียบเรือหนองคาย เป็นต้น ที่จะเร่งรัดให้เปิดด่านเร็วขึ้น 3.เร่งส่งเสริมการส่งออกและการเจรจาการค้ารวมทั้งการทำสัญญาส่งสินค้าออกด้วยระบบออนไลน์ต่อไป และเมื่อไหร่ที่ทำระบบออฟไลน์เพิ่มขึ้นได้จะเร่งดำเนินการให้ผสมผสานในรูปแบบไฮบริด 4.เร่งรัดดำเนินการ MINI-FTA ทั้งกับไห่หนาน หรือมณฑลไหหลำของจีน รัฐเตลังคานาของอินเดีย เมืองคยองกีของเกาหลี หรือโคฟุของญี่ปุ่น ซึ่งขณะนี้สัญญาณล่าสุดอาจลงนามได้ในช่วงสิงหาคม 5.เร่งสร้างแม่ทัพการค้าและแม่ทัพการส่งออกรุ่นใหม่ของไทยเพื่อเป็นอนาคตสำหรับการนำเงินเข้าประเทศต่อไปในเรื่องโครงการปั้น Gen Z เป็น CEO ซึ่งปีนี้มั่นใจว่าสร้างได้ครบ 12,000 คนทั่วประเทศแน่นอน

ด้านนายภูษิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า  นโยบายกระทรวงพาณิชย์ผลักดันในทุกทางช่องทางสำคัญทำให้ตัวเลขการส่งออกเป็นรูปธรรมและจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและภาพรวมตลาดสำคัญมีการขยายตัวในหลายประเทศ ภาพรวมการส่งออกไปกลุ่มตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 39.9 โดยการส่งออกไปสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น ขยายตัวดีต่อเนื่องร้อยละ 44.9 ร้อยละ 25.5 ร้อยละ 27.4 ตามลำดับ ตลาดสหภาพยุโรปและ CLMV ขยายตัวเร่งขึ้น ร้อยละ 54.9 และร้อยละ 46.8 ตามลำดับ ส่วนตลาดอาเซียนกลับมาขยายตัวร้อยละ 51.0 ส่วนปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกนั้นคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าสำคัญจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่หลายประเทศเริ่มมีอัตราลดลงราคาน้ำมันดิบยังคงปรับตัวสูงขึ้น สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว เช่น ยางพารา ผัก ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง สิ่งปรุงอาหาร อาหารสัตว์เลี้ยง ไก่สดแช่เย็น-แช่แข็งและแปรรูป รถยนต์อุปกรณ์กับส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เป็นต้น

อย่างไรก็ตามกระทรวงพาณิชย์และทีม กรอ.พณ.จะได้กำหนดวันประชุมหารือร่วมภาครัฐกับเอกชน หอการค้า สภาอุตสาหกรรม สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป เนื่องจากต้องเดินหน้าผลักดันการส่งออกโดยแก้ไขปัญหาตามนโยบายรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมทั้งเร่งรัดการเปิดด่านชายแดนเพิ่มเติมและผลักดันการลงนามความตกลงยอมรับร่วมสินค้ายานยนต์ MRA ของอาเซียนตามนโยบายต่อไป

Advertising

เผยแบงก์รัฐระดม 21 มาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยปี 65

People Unity News : 18 ตุลาคม 2565 ครม. รับทราบมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยปี 2565 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จำนวน 7 แห่ง รวม 21 มาตรการ

วันที่ 18 ตุลาคม 2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฎิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยปี 2565 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จำนวน 7 แห่ง  ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) รวม 21 มาตรการ ประกอบด้วย มาตรการพักชำระหนี้ ลดเงินต้นและดอกเบี้ยและปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จำนวน 9 มาตรการ  มาตรการสนับสนุนด้านสินเชื่อ จำนวน 10 มาตรการ มาตรการสินไหมเร่งด่วน จำนวน 1 มาตรการ และมาตรการพักชำระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันและค่าจัดการค้ำประกันจำนวน 1 มาตรการ  รายละเอียด ดังนี้

1.ธนาคารออมสิน จำนวน 5 มาตรการ ได้แก่ มาตรการพักชำระหนี้/ มาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ /มาตรการสินเชื่อเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) ที่ประสบภัยพิบัติ / มาตรการสินเชื่อเคหะแก่ผู้ประสบภัยพิบัติ /มาตรการสินเชื่อบุคคลแก่ผู้ประสบภัยพิบัติ

2.ธ.ก.ส. จำนวน 3 มาตรการ ได้แก่ มาตรการขยายระยะเวลาชำระหนี้ /  มาตรการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน ปี 2565-2566 / มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต

3.ธอส. จำนวน 4 มาตรการ ได้แก่ มาตรการลดเงินงวดและลดอัตราดอกเบี้ย สำหรับลูกค้าปัจจุบัน /มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับลูกค้าปัจจุบันและลูกค้าใหม่ / มาตรการประนอมหนี้ สำหรับลูกค้าที่ค้างชำระเงินงวดติดต่อกันมากกว่า 3 เดือน หรือมีสถานะอยู่ระหว่างประนอมหนี้ / มาตรการสินไหมเร่งด่วน สำหรับผู้มีกรมธรรม์ประกันภัย

4.ธพว. จำนวน 2 มาตรการ ได้แก่ มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ และมาตรการสินเชื่อ SMEs Re-Start

5.ธอท. จำนวน 1 มาตรการ คือ มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากอุทกภัย 2565

6.ธสน. จำนวน 4 มาตรการ ได้แก่ มาตรการเพิ่มวงเงินหมุนเวียนชั่วคราว / มาตรการเพิ่มวงเงินกู้/ มาตรการลดเงินต้นและดอกเบี้ย / มาตรการขยายระยะเวลาตั๋วสัญญาใช้เงิน

7.บสย. จำนวน 2 มาตรการ ได้แก่ มาตรการพักชำระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อและค่าจัดการค้ำประกัน และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ บสย.

ทั้งนี้ มาตรการต่าง ๆ จะมีผลตั้งแต่วันที่ธนาคาร/สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ได้ออกประกาศเป็นต้นไป

รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฎิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำชับทุกส่วนราชการ ต้องสร้างการรับรู้ว่าประชาชนจะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอะไรบ้าง และเร่งดูแลเยียวยาโดยเร็วที่สุด พร้อมเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีมาตรการที่ขัดเจน ที่สามารถดำเนินการได้ทันทีโดยไม่ขัดต่อกรอบนโยบายหรือกฎหมายด้วย

Advertisement

แรงงานไทยเนื้อหอม ต่างชาติต้องการ ผลจากการบริหารจัดการโควิด-19 ที่ดีของไทย

สุชาติ ชมกลิ่น

People Unity News : แรงงานไทยช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศ ลดการว่างงาน หลังเป็นที่ต้องการของต่างประเทศ สาเหตุจากการบริหารจัดการโควิด-19 ที่ดีของไทย

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในช่วงการประชุม ครม.ครั้งล่าสุด รมว.แรงงาน (นายสุชาติ ชมกลิ่น) ได้รายงานให้ที่ประชุมซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมเป็นประธาน ได้รับทราบถึงการจัดส่งแรงงานไทยไปเก็บผลไม้ป่าในประเทศสวีเดนและประเทศฟินแลนด์ ฤดูกาล 2020 ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2563 ว่ามีแรงงานไทยที่ได้รับการอนุญาตให้เดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในทั้งสองประเทศจำนวนทั้งสิ้น 5,254 คนโดยแยกเป็นประเทศฟินแลนด์ 2,014 คน และประเทศสวีเดน จำนวน 3,210 คน ก่อให้เกิดรายได้เข้าประเทศโดยประมาณขั้นต่ำ 618,341,720 บาท แบ่งเป็นประเทศฟินแลนด์จำนวน 182,655,000 บาท และประเทศสวีเดน จำนวน 435,686,720 บาท โดยในการเดินทางไปในครั้งนี้ กรมการจัดหางานได้วางมาตรการเพื่อคุ้มครองแรงงานไทยภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 โดยดำเนินการตามนโยบายของ ศบค. ทุกประการ ซึ่งแรงงานไทยทั้งหมดได้ผ่านการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ก่อนเดินทางไป และหลังจากเดินทางกลับ และจะต้องผ่านการกักตัวเป็นระยะเวลาจำนวน 14 วัน ซึ่งในฤดูกาลนี้แรงงานทั้งหมดได้เดินทางกลับถึงประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1-22 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา และได้เข้ารับการกักกันตัวในสถานที่กักกันที่กระทรวงแรงงาน ,กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงกลาโหมได้ร่วมกันจัดขึ้น

สำหรับรายได้ของคนงานไทยที่ไปเก็บผลไม้ป่าในประเทศฟินแลนด์และประเทศสวีเดน ฤดูกาลปี 2020 พบว่า แรงงานที่เดินทางไปประเทศสวีเดน จะมีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายประมาณคนละ 150,000 – 180,000 บาท โดยมีระยะเวลาเก็บผลไม้ประมาณ 2 เดือน ส่วนคนงานที่เดินทางไปเก็บผลไม้ที่ประเทศฟินแลนด์ มีระยะเวลาการเก็บผลไม้ประมาณ 55 วัน และมีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายประมาณคนละ 90,000 – 150,000 บาท นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการกักตัวของคนงานทั้งหมดที่กลับมานั้น ไม่ได้ใช้งบประมาณของประเทศแต่อย่างใด แต่ใช้เงินของบริษัทต่างประเทศนั้นๆที่พาคนงานไทยไปทำงาน ซึ่งคนงานเหล่านี้ บริษัทต่างประเทศได้ออกค่าใช้จ่ายในการกักตัวโดยมีแบงค์การันตี คนละ 32,000 บาทต่อคน แต่หากค่าใช้จ่ายจริงไม่ถึงจำนวนนี้ กระทรวงแรงงานก็จะคืนให้บริษัทที่ออกค่าใช้จ่ายให้คนงานไทยที่ไปเก็บผลไม้ป่าต่อไป

นายอนุชา กล่าวว่า “แรงงานไทยเป็นที่ต้องการของต่างประเทศเป็นจำนวนมากในขณะนี้ ซึ่งส่วนสำคัญมาจากการบริหารจัดการโรคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดีของไทย ทำให้ประเทศที่ต้องการนำเข้าแรงงาน มีความมั่นใจแรงงานจากไทยเป็นลำดับต้นๆ ซึ่งเป็นโอกาสดีในการเพิ่มช่องทางให้แรงงานไทยได้มีตลาดทำงานในต่างประเทศมากขึ้น เพื่อให้แรงงานไทยมีอาชีพ มีรายได้ ลดปัญหาการว่างงานภายในประเทศไทย อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และนำเงินกลับเข้าประเทศไทย ซึ่งการเดินทางไปทำงานต่างประเทศของแรงงานไทย สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้เป็นจำนวนมาก”

Advertising

ชาวบัตรคนจน เฮ! ครม.ช่วยค่าน้ำค่าไฟ ค่าซื้อสินค้า ค่าเดินทาง คงเบี้ยผู้พิการ ตั้งแต่ ต.ค 64-ก.ย. 65

People Unity News : บัตรคนจน เฮ! ครม. เคาะงบกลาง 27,005.66 ล้านบาท ขยายเวลาลดค่าน้ำ/ค่าไฟ อุดหนุนค่าซื้อสินค้าอุปโภค/บริโภค และค่าเดินทาง คงเบี้ยผู้พิการ 1,000 บาท ตั้งแต่ ต.ค 64-ก.ย. 65 พร้อมเตรียมเปิดลงทะเบียน “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” รอบใหม่

21 กันยายน 2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการและขยายมาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา อนุมัติงบกลางปี 64 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นจำนวน 27,005.66 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ดังนี้

1) วงเงิน 2,018 ล้านบาท เพื่อขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาภาระค่าน้ำ/ค่าไฟ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 – กันยายน 2565 (12 เดือน) -กรณีใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วย/เดือน ติดต่อกัน 3 เดือน ให้สิทธิค่าไฟฟ้าฟรี ตามมาตรการที่มีอยู่ในปัจจุบัน กรณี ใช้ไฟฟ้าเกิน 50 หน่วย/เดือน ให้ใช้สิทธิตามมาตรการนี้ในวงเงิน 315 บาท/ครัวเรือน/เดือน กรณีใช้เกินวงเงินที่กำหนด ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นผู้รับภาระค่าไฟฟ้าทั้งหมด ครอบคลุม 1.9 ล้านครัวเรือน โดยประมาณ

-สนับสนุนค่าน้ำประปา วงเงิน 100 บาท /ครัวเรือน /เดือน ในกรณีใช้น้ำประปาเกิน 100 บาท แต่ไม่เกิน 315 บาท ยังคงได้รับการสนับสนุนในวงเงิน 100 บาท โดยส่วนเกินต้องชำระด้วยตนเอง และกรณีการใช้น้ำประปาเกิน 315 บาท ผู้มีบัตรฯ รับภาระในการชำระค่าน้ำประปาเองทั้งหมด ครอบคลุมประมาณ 186,625 ครัวเรือน

2) วงเงิน 18,815 ล้านบาท สนับสนุน ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และการเพิ่มเบี้ยความพิการ

-ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน สำหรับค่าซื้อสินค้าอุปโภค/บริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษา และวัตถุดิบเพื่อการเกษตร จากร้านธงฟ้าประชารัฐและร้านอื่นๆ โดยผู้มีสิทธิที่มีรายได้เกินกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี ได้รับ 200 บาท/คน/เดือน ในส่วนผู้มีสิทธิที่มีรายได้ ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี ได้รับ 300 บาท/คน/เดือน และได้รับส่วนลดค่าก๊าซหุงต้ม 45 บาท/คน/3 เดือน

-ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง อาทิ ค่าโดยสาร ขสมก. ระบบ e-Ticket /รถไฟฟ้า บขส. รถไฟ อย่างละ 500 บาท/คน/เดือน

-เบี้ยความพิการ จำนวน 1,000 บาท/คน/เดือน อีกด้วย

3) วงเงิน 1,642 ล้านบาท ดำเนินโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (รอบใหม่) เพื่อรองรับกระบวนการลงทะเบียนรอบใหม่ โดยจะเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการรับลงทะเบียนของหน่วยรับลงทะเบียน และค่าใช้จ่ายในการผลิตและบริหารจัดการบัตรฯ

4) วงเงิน 4,530.66 ล้านบาท สำหรับจัดสรรสวัสดิการแบบไม่มีกำหนดระยะเวลาสำหรับผู้มีรายได้น้อย ภายใต้โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (รอบใหม่) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีบัตรฯ และเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาจทำให้ผู้สมัครรอบใหม่มีจำนวนเพิ่มขึ้น

“การช่วยเหลือลดอัตราค่าน้ำ/ค่าไฟ ตลอดจนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นส่วนหนึ่งของกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โดยมุ่งให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่รัฐบาลห่วงใยเพื่อให้สามารถเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและกระจายรายได้ รวมทั้งการยกระดับและพัฒนา คุณภาพชีวิตแก่ประชาชนให้เป็นไปอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นตามนโยบายของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี” นายธนกร กล่าว

Advertising

ครม. เพิ่มมาตรการดึงต่างชาติถ่ายหนังในไทย คืนเงินให้กองถ่าย 150 ล้านบาท

People Unity News : 7 กุมภาพันธ์ 2566 ครม. ทบทวนมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ คืนเงินเป็นร้อยละ 20-30 เพิ่มเพดานการคืนเงิน 150 ล้านบาท หวังดึงดูดกองถ่ายต่างชาติ

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบทบทวนมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย โดยการปรับเกณฑ์ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ ได้แก่ ส่วนที่ 1 ปรับอัตราการคืนเงิน (Cash Rebate) จากเดิม ร้อยละ 15-20 เพิ่มเป็นร้อยละ 20-30 ระยะเวลา 2 ปี โดยมีสิทธิประโยชน์ร้อยละ 20 เมื่อลงทุนในประเทศไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท ส่วนสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมรวมแล้วไม่เกินร้อยละ 10 หลังจากนี้ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปรับปรุงประกาศกรมการท่องเที่ยว หวังฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย เช่น การกระจายรายได้สู่เมืองรอง การเพิ่มการจ้างงานคนไทย การเพิ่มมูลค่าค่าใช้จ่ายในประเทศ ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและประชาชนโดยตรง

ส่วนที่ 2 การปรับเพิ่มเพดานการคืนเงินจากเดิม 75 ล้านบาทต่อเรื่องเป็น 150 ล้านบาทต่อเรื่อง ทำให้เพดานเงินลงทุนสร้างภาพยนต์ต่อเรื่องเพิ่มเป็น 750 ล้านบาท จากเดิม 375 ล้านบาท เพื่อเป็นการรับกับแนวโน้มคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศที่เข้ามาในไทยเป็นผู้สร้างรายใหญ่ เงินทุนสูง โดยเฉพาะภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์ โดยเรื่องที่เข้ามาถ่ายทำในไทยสูงสุดขณะนี้คือภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์เรื่อง Thai Cave Rescue

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับความจำเป็นที่ต้องมีการทบทวนมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำาภาพยนตร์ต่างประเทศเนื่องมาจากปัจจุบันประเทศต่างๆ เห็นประโยชน์จากธุรกิจถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศจึงได้ออกมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำในรูปแบบการคืนเงิน (Cash Rebate) หรือคืนภาษี (Tax Rebate/Tax Credit) เพื่อดึงดูดผู้สร้างภาพยนตร์ให้เข้าไปถ่ายทำในประเทศตนอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องปรับเกณฑ์และเงื่อนไขให้สอดคล้องกับสภาพการณ์และการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป

ทั้งนี้ การปรับหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข สำหรับมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทยทั้ง 2 ส่วน จะส่งผลต่อภาระงบประมาณในปี 2567-68 (มาตรการมีผลในปี 66 แต่การคืนเงินจะเกิดขึ้นในปี 67-68) รวม 2 ปี เพิ่มขึ้นจาก 821.82 ล้านบาท เป็น 1,845 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.54

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทยจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมในภาพกว้าง มีเงินจากการลงทุนของบริษัทภาพยนตร์หมุนเวียนในเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น 900-1,200 บาทต่อปี กระจายรายได้ไปสู่ภาคส่วนต่างๆ และการที่ชาวไทยได้ร่วมงานกับคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศนอกจากจะให้คนไทยได้รับการจ้างงานเพิ่มกว่า 800 อัตราต่อปี ขณะเดียวกันก็ได้เพิ่มทักษะและประสบการณ์ เป็นโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยสู่ระดับสากลด้วย

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ประเทศไทยได้เริ่มมีมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างชาติมาตั้งแต่ปี 60 ซึ่งได้มีคณะถ่ายทำได้เข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปี 2562 ก่อนเกิดโควิด19  ประเทศไทยมีรายได้จากการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ 4,463 ล้านบาท ส่วนปี 64 ที่ยังมีโควิด19 ผู้สร้างภาพยนตร์ก็ยังคงเข้ามาถ่ายทำในไทยสร้างรายได้ 5,007 ล้านบาท

โดยนับแต่มีมาตรการส่งเสริม ได้มีภาพยนตร์ 43 เรื่องที่ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์  ทั้งหมดนี้สร้างรายได้ให้เกิดขึ้นในไทย 8,560 ล้านบาท มีภาพยนตร์ที่ได้รับอนุมัติสิทธิประโยชน์ 34 เรื่อง เงินลงทุน 6,283 ล้านบาท โดยเงินเหล่านี้กระจายไปยังภาคส่วนต่างๆ ในประเทศไทย เช่น ค่าจ้างทีมงานชาวไทย ค่าเช่าเครื่องมืออุปกรณ์ ค่าเช่าที่พัก ค่าเช่าสถานที่ ค่าเช่ารถ ค่าใช้จ่ายตามมาตรการป้องกันโควิด ค่าอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น

โดย ณ สิ้นเดือน ต.ค. 65 รัฐบาลได้จ่ายเงินคืนภายใต้มาตรการดังกล่าว  29 เรื่อง เป็นเงิน 772 ล้านบาท เบิกจ่ายจากเงินงบประมาณกระทรวงการท่องเที่ยวฯ 560 ล้านบาท และจากการจัดสรรงบกลางเพิ่มเติม 212 ล้านบาท

Advertisement

Verified by ExactMetrics