วันที่ 18 พฤษภาคม 2024

แจกประกันภัยอุบัติเหตุฟรีแก่สมาชิกกองทุนหมู่บ้าน ช่วงสงกรานต์

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 10 เมษายน 2567 “สมศักดิ์” แจ้งข่าวดี “กองทุนหมู่บ้าน” จับมือ “ทิพยประกันภัย” แจกประกันภัยอุบัติเหตุฟรี ช่วงสงกรานต์ ให้กับสมาชิกกองทุนฯ คุ้มครองสูงสุด 100,000 บาท นาน 30 วัน

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ จะเดินทางกลับภูมิลำเนา โดยจะมีการเดินทางกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนมากขึ้นตามไปด้วย โดยจากข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนน ช่วงวันที่ 11-17 เมษายน 2566 พบว่า เกิดอุบัติเหตุรวม 2,203 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 264 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 2,208 ราย ซึ่งจะเห็นได้ว่า มีทั้งผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงให้กับพี่น้องประชาชน สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ  จึงได้จัดโครงการประกันภัยฟรี ให้กับสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯทั่วประเทศ

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า กองทุนหมู่บ้านฯ ได้ร่วมมือกับ ทิพยประกันภัย ทำประกันภัยอุบัติเหตุฟรี ให้แก่สมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ ที่มีอายุ 20-70 ปี ช่วงสงกรานต์  โดยคุ้มครองสูงสุด 100,000 บาท ซึ่งมีระยะเวลาคุ้มครองนานถึง 30 วัน โดยสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ ที่สนใจ สามารถลงทะเบียนรับสิทธิได้ที่คิวอาร์โค๊ด ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 15 เมษายน นี้ โดยระยะเวลาคุ้มครอง 30 วัน จะเริ่มนับจากวันที่ลงทะเบียนรับสิทธิ ซึ่งการจัดทำโครงการประกันภัยฟรี ของกองทุนหมู่บ้านฯ กับ ทิพยประกันภัย เป็นครั้งที่ 2 แล้ว เพื่อเป็นการตอบแทนสังคม

“โครงการประกันภัยอุบัติเหตุฟรี ถือเป็นโครงการที่ดี และมีประโยชน์กับประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะจะช่วยลดความเสี่ยงให้กับพี่น้องประชาชนได้ หากเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทั้งจากการเดินทาง หรือ อุบัติเหตุระหว่างการเล่นน้ำสงกรานต์ ก็จะมีประกันภัยนี้ คอยช่วยดูแลพี่น้องประชาชนได้ เพราะต้องยอมรับว่า บางคนไม่มีประกันภัย เวลาเกิดอุบัติเหตุ ก็จะเดือดร้อนในเรื่องค่ารักษา หรือ ค่าใช้จ่ายต่างๆ แต่ประกันภัยฟรีให้กับสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน ที่มีทั่วประเทศกว่า 13 ล้านคน จะเข้าไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้ในยามจำเป็น ผมจึงขอเชิญชวนสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ ลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ์ จะได้เดินทางและเล่นน้ำสงกรานต์กันได้อย่างอุ่นใจ และเต็มไปด้วยความสุข” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

Advertisement

จับกุม “บุหรี่ไฟฟ้า” ใกล้สถานศึกษา กว่า 12,000 ชิ้น เผยทำแพ็คเกจเป็นขนม ปากกา กล่องนม ตบตา

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 10 เมษายน 2567 ทำเนียบรัฐบาล ”พวงเพ็ชร“ แถลงจับกุมผู้ลักลอบขาย “บุหรี่ไฟฟ้า” ใกล้สถานศึกษา โซน กทม. ยึดของกลางกว่า 12,000 ชิ้น มูลค่า 3.6 ล้านบาท หวั่นทำลายสมองเด็ก-เยาวชน

นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ นายธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และ พ.ต.อ.เจษฎา ยางนอก ผู้กำกับ สน.วังทองหลาง แถลงข่าว ผลการจับกุมบุหรี่ไฟฟ้าใกล้สถานศึกษา หลังเมื่อช่วงค่ำของวันที่ 9 เม.ย. ที่ผ่านมา ได้สนธิกำลังลงพื้นที่ 3 จุด จำนวน 5 ร้านค้า ประกอบด้วยบริเวณซอยรัชดาภิเษก 36 (ซอยเสือใหญ่) เขตจตุจักร จำนวน 3 ร้าน, ซอยลาดพร้าว 122 (ซอยมหาดไทย) เขตวังทองกลาง จำนวน 1 ร้าน และซอยรามคำแหง 65 ถนนศรีวรา เขตวังทองหลาง จำนวน 1 ร้าน ยึดของกลางได้ 20 กระสอบ กว่า 12,000 ชิ้น เป็นเงินกว่า 3.6 ล้านบาท

สืบเนื่องจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันปราบปราม จับกุมผู้ลักลอบนำเข้าและจำหน่าย “บุหรี่ไฟฟ้า” อย่างจริงจังและเด็ดขาด โดยเฉพาะร้านที่อยู่ใกล้สถานศึกษา ให้มีการออกมาตรการป้องกันและรณรงค์โทษของบุหรี่ไฟฟ้า สร้างความตระหนักรู้ รวมถึงให้มีการตรวจตราอย่างเข้มงวด ทั้งที่สถานศึกษาและการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชน

นางพวงเพ็ชร กล่าวว่า แพ็คเกจของบุหรี่ไฟฟ้าที่ขายใกล้สถานศึกษา เป็นแพ็คเกจที่ออกแบบมาล่อเด็กและเยาวชน เช่นออกแบบมาในรูปแบบที่เป็นเหมือนขนม ปากกา หรือกล่องนม ทำให้อาจารย์ในสถานศึกษา ไม่ทราบ อีกทั้งสารนิโคติน ในบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสารอันตรายทำลายสมอง ในการพัฒนาของวัยรุ่นไปจนถึงอายุ 25 ปี การรับนิโคตินในช่วงวัยรุ่นจะส่งผลต่อการเรียนรู้ อารมณ์ และจะเพิ่มความเสี่ยงในการติดยาชนิดอื่น

“เราต้องเร่งให้ความรู้เด็กและเยาวชน รวมถึงผู้ปกครอง ให้เฝ้าระวังการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า และรู้ถึงโทษที่ส่งผลต่อร่างกายและพัฒนาการของเด็ก ที่ผ่านมาได้พูดคุยกับคณะผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 437 แห่ง ให้เร่งสร้างความตระหนักรู้เรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ขณะเดียวกัน ขอความร่วมมือผู้ปกครองและผู้ใกล้ชิดเด็กและเยาวชน คอยสังเกตุและตรวจสอบสิ่งที่คาดว่าจะเป็นบุหรี่ไฟฟ้า และคอยตักเตือนและให้ความรู้ ป้องกันไม่ให้เด็กตกเป็นเหยื่อของมหันตภัยร้ายที่จะทำลายอนาคตของชาติ” นางพวงเพ็ชร กล่าว

ด้าน นายธสรณ์อัฑฒ์ ระบุว่า การจับกุม สคบ.ใช้กฎหมายตามประกาศคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 หากฝ่าฝืนต้องโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 แสนบาท อีกทั้งยังผิดกฎหมาย พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2546 คือ ห้ามนำเข้า หากฝ่าฝืนจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับอีก 4 เท่าของมูลค่า โดยหลังจากนี้ของกลางทั้งหมด จะส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดี และหลังมีคำพิพากษาจากศาล ก็จะมีมาตรการในการทำลายสินค้าดังกล่าว เพื่อไม่ให้หมุนเวียนกลับเข้ามาอยู่ในระบบ และทำร้ายเด็กและเยาวชน โดยจะให้สื่อมวลชนเป็นสักขีพยานในการทำลายด้วย

ทั้งนี้ผู้ต้องหาที่จับได้ ล้วนเป็นผู้รับจ้างขาย ซึ่งเป็นคนประเทศเพื่อนบ้าน โดยจะต้องมีการขยายผลสืบสวน และสอบสวนเพื่อจับกลุ่มผู้ว่าจ้างต่อไป ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างการตรวจสอบของกลางที่ยึดมาได้นั้น นางพวงเพ็ชร ได้หยิบบุหรี่ไฟฟ้าที่แพ็คเกจมีสีส้ม และมีโลโก้ลักษณะคล้ายโลโก้ของพรรคก้าวไกล จึงอยากให้เจ้าของพรรคได้ตรวจสอบและดำเนินการในการนำโลโก้ของพรรคมาใช้ ในบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งเป็นสินค้าผิดกฏหมาย

Advertisement

เดือนเดียว ศุลกากรจับบุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้าลักลอบนำเข้ากว่า 34.11 ล้านบาท

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 8 เมษายน 2567 ภายในเดือนเดียว กรมศุลกากรจับบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าลักลอบนำเข้าราชอาณาจักร มูลค่ากว่า 34.11 ล้านบาท

นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีนโยบายให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มงวดเพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน นั้น นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร จึงกำชับให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรเข้มงวดกวดขันในการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำความผิด เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและเพื่อปกป้องประชาชนและเยาวชนที่อาจได้รับสารพิษจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า

โดยให้เจ้าหน้าที่ตามด่านศุลกากรในพื้นที่ต่าง ๆ ตรวจเข้มกับสินค้าทุกประเภทที่อาจมีการซุกซ่อนบุหรี่ หรือบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาในราชอาณาจักร รวมถึงบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องที่เพื่อสืบสวนหาข่าวการลักลอบนำเข้า นอกจากนี้ ยังให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรลงพื้นที่ตรวจเข้มร้านค้าที่มีการข่าวแจ้งว่าอาจมีการลักลอบจำหน่ายบุหรี่ที่ไม่เสียภาษีและบุหรี่ไฟฟ้าอีกด้วย

โดยตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567  – 5 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา กรมศุลกากรจับกุมผู้กระทำความผิดในการลักลอบนำบุหรี่เข้ามาในราชอาณาจักร จำนวน 176 ราย ปริมาณ 3,064,810 มวน มูลค่า 28,912,821 บาท และบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า และอุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 35 ราย ปริมาณ 37,244 ชิ้น มูลค่า 5,193,590 บาท รวมทั้งสิ้น 211 ราย มูลค่า 34.11 ล้านบาท ซึ่งการกระทำดังกล่าว ถือเป็นความผิดตามมาตรา 242 และมาตรา 246 ประกอบมาตรา 166 และมาตรา 167  แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

Advertisement

ก.สาธารณสุขพบสถิติคนไทยป่วยจิตเวชเกือบ 3 ล้านคน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 2 เมษายน 2567 สาธารณสุขพบสถิติคนไทยป่วยจิตเวชเกือบ 3 ล้านคน จิตแพทย์ชี้สถานการณ์สุขภาพจิตเชื่อมโยงกับเหตุรุนแรง ขณะสถิติพบไทยมีผู้ป่วยจิตเวชที่เข้ารับบริการเกือบ 3 ล้านคน คาดในจำนวนนี้ 1 ใน 5 เกิดจากปัจจัยใช้ยาเสพติด

นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีมีเหตุการณ์คนคลั่งจากอาการทางจิตเวช และมีการใช้ยาเสพติด ก่อเหตุรุนแรงถึงขั้นทำร้ายผู้อื่นและคนในครอบครัวจนเสียชีวิต ระบุว่า อาการผู้ป่วยที่มีลักษณะอาการคลั่งนั้นมักมีอาการรับรู้ความเป็นจริงที่ผิดเพี้ยนไป เช่น หูแว่ว เห็นภาพหลอน หวาดระแวง

ลักษณะอาการทางจิตเวชแบบนี้หากเกิดจากโรคทางจิตเวชทั่วไปมักเป็นโรคทางจิตเวชที่เป็นมานานแล้ว และไม่ได้รับการรักษา หรือเป็นในกลุ่มที่มีอาการรุนแรง แต่บ่อยครั้งพบว่าปัจจัยมาจากเรื่องยาเสพติดที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสมอง ทำให้เกิดการรับรู้ที่ผิดเพี้ยนไป พอไม่รับรู้ความเป็นจริงก็จะแสดงออกพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง พฤติกรรมแปลกๆ นำไปสู่การก่อความรุนแรงได้

ส่วนการดูแลผู้ป่วยจิตเวช ความสำคัญคือต้องได้รับการรักษาสม่ำเสมอ เพราะหลายกรณีผู้ป่วยจิตเวชไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังป่วย ดังนั้น ครอบครัวหรือคนที่อยู่ใกล้ชิดต้องสังเกตและช่วยเหลือ พาเข้าสู่การรักษาต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้มีโอกาสก่อความรุนแรงจากอาการที่หนักขึ้น โดยผู้ป่วยจิตเวชที่มาจากการเสพยาเสพติดมีอยู่สองกรณีคือ กรณีใช้ยาครั้งแรกและเกิดผลกระทบทางจิตทันที กับอีกกรณีคือเป็นกลุ่มที่ใช้ยาเสพติดมาเป็นระยะเวลานาน พอวันหนึ่งเมื่อหยุดใช้สมองอาจจะไม่กลับไปอยู่ในสภาพได้เดิมก็จะมีอาการทางจิตได้ ซึ่งการดูแลรักษาต้องดูเป็นรายกรณีไป

ขณะที่ข้อมูลผู้ป่วยจิตเวชทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในจากระบบคลังข้อมูลการแพทย์และสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าอยู่ที่ประมาณเกือบ 3 ล้านคน ซึ่งเชื่อว่าในจำนวนนี้ประมาณ 1 ใน 4 ถึง 1 ใน 5 ที่มาจากเรื่องยาเสพติด โดยอาการคลั่งนั้นบางครั้งมีโอกาสเกิดจากโรคทางอารมณ์ได้ เช่น ไบโพลาร์ หรือโรคจิตเภท ก็มีโอกาสคลั่งได้ แต่มีโอกาสเกิดน้อย นอกจากจะมีอาการที่รุนแรงมาก และไม่ได้รับการรักษาต่อเนื่อง ก็มีโอกาสเกิดได้ แต่ว่าน้อยกว่าเรื่องยาเสพติดเยอะ เพราะยาเสพติดแม้ใช้ครั้งหรือสองครั้งก็อาจเกิดอาการคลั่งได้

ส่วนการรักษาผู้ป่วยจิตเวชนั้น หากเป็นกรณีที่รับการรักษา และแพทย์ประเมินว่าสามารถรักษาเป็นผู้ป่วยนอกได้ เท่ากับว่าสามารถกลับมาอยู่ที่บ้าน อยู่ในชุมชนได้ ซึ่งจะต้องมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือ

โฆษกกรมสุขภาพจิต ย้ำว่า อยากให้ทุกความรุนแรงที่เกิดขึ้นย่อมเคยมีการบ่งบอกสัญญาณมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงจากคำพูด ความคิด พฤติกรรมเล็กน้อย เช่น ความรุนแรงต่อสิ่งของ ต่อสัตว์ ก่อนที่จะไปก่อความรุนแรงต่อคนรอบข้างหรือกับสังคม ต้องใส่ใจ ซึ่งหลายครั้งที่พบว่ามีการส่งสัญญาณ แต่คนรอบข้างและสังคมไม่ได้สนใจหรือไม่อยากเข้าไปยุ่ง แต่พระราชบัญญัติสุขภาพจิต ปี 51 ระบุไว้ว่า หากเจอบุคคลที่สงสัยว่าจะป่วยทางจิตเวช และสมควรที่ต้องได้รับการรักษา ซึ่งกฎหมายให้อำนาจหน้าที่กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ สามารถใช้กฎหมายดังกล่าวในการพาตัวคนนั้นเข้าสู่กระบวนการรักษาได้

Advertisement

รุกจัดการเว็บพนันเด็ดขาด ตัดวงจรอาชญากรรมออนไลน์

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 31 มีนาคม 2567 “เกณิกา” เผย ผลงานรัฐบาล โดยกระทรวงดีอี รุกจัดการเว็บพนันเด็ดขาด 5 เดือน ปิดไปกว่า 60,000 เดินหน้าต่อเนื่องตามนโยบาย รบ. ชี้ เป็นอาญชากรรมทางเศรษฐกิจต้องตัดวงจรให้เด็ดขาด

น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงนโยบายเดินหน้าปราบเว็บพนันออนไลน์ โดย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตระหนักว่า เว็บพนันในปัจจุบันเข้าข่ายเป็นอาญชากรรมทางเศรษฐกิจมีความผิดตามกฎหมาย หลอกลวง มีการโกง หลอกเอาข้อมูลไปขาย โดยเฉพาะมีเยาวชนจำนวนมากหลงเชื่อ เข้าไปเล่นเว็บพนันเหล่านี้ สร้างความเสียหายทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นวงกว้าง รัฐบาลจึงเดินหน้าปราบปรามเว็บพนันอย่างต่อเนื่อง เพื่อตัดวงจรอาชญากรรมออนไลน์ไม่ให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง

น.ส.เกณิกา กล่าวต่อว่า กระทรวงดีอีได้ให้ความสำคัญในการตรวจสอบ ระงับ ยับยั้ง และปิดกั้นเว็บพนันออนไลน์อย่างจริงจัง และต่อเนื่อง โดยมุ่งระงับข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ไม่เหมาะสม ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 – 5 มีนาคม 2567 ทำการระงับข้อมูลที่ไม่เหมาะสมทุกประเภทไปแล้วจำนวน 60,681 รายการ โดยปิดกั้นเว็บไซต์เกี่ยวกับพนันออนไลน์ จำนวน 25,571 รายการ เพิ่มขึ้น 13 เท่าตัวจาก 2,059 เว็บ ในช่วงเวลาเดียวกันปี 2566 ทั้งนี้ความผิด พ.ร.บ.การพนัน มีดังนี้– ผู้จัดให้เล่น – มาตรา 5 จำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ– ผู้เล่น/ประกาศชักชวน – มาตรา 12 จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลห่วงใยพี่น้องประชาชน ขออย่าหลงเชื่อคำโฆษณาชวนเชื่อให้เข้าลงทุนหรีอทำเงินจากเว็บไซต์พนันออนไลน์ เพราะจะตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ และอาจถูกหลอกให้โหลดแอปดูดเงินมาติดตั้งในเครื่อง หรือหลอกลวงขโมยข้อมูลสำคัญไปใช้ทำผิดกฎหมาย สร้างความเสียหายให้กับตนเองและครอบครัว

Advertisement

ค่า PM 2.5 พุ่งจากเพื่อนบ้าน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 21 มีนาคม 2567 “พล.ต.อ.พัชรวาท” เผยค่าฝุ่น PM 2.5 พุ่งคืนวานนี้ เหตุจากประเทศเพื่อนบ้าน กางแผนที่ให้สื่อดูจุดความร้อนจำนวนมาก

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานประชุมคณะอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ​พระ​บาท​สมเด็จ​พระเจ้าอยู่หัว​ เรื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนม์พรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล โดยให้สัมภาษณ์กรณีปริมาณฝุ่น PM 2.5 ที่หนาแน่น คืนวานนี้ (20 มี.ค.) จนหลายพื้นที่รู้สึกได้ถึงกลิ่นเหม็นไหม้ ว่า มันเกิดขึ้นนอกประเทศเรา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทีมงานของรัฐมนตรีได้เปิดแผนที่ให้สื่อดูจุดความร้อน ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมากและพัดเข้ามาปกคลุมในประเทศ

Advertisement

เล็งเปิดอบรมนักเรียน กทม. เรื่องบุหรี่ไฟฟ้า

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 18 มีนาคม 2567 “พวงเพ็ชร” เตรียมเปิดอบรมนักเรียน กทม.ทราบถึงโทษของบุหรี่ไฟฟ้า ขอเจ้าหน้าที่ตำรวจคุมเข้มชุมชน-โรงเรียน

นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเดินหน้ากวาดล้างบุหรี่ไฟฟ้า ว่า วันนี้มีการประชุมบูรณาการ ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร และหลายหน่วยงาน เรื่องการให้ความรู้ กับประชาชน เยาวชน เรื่องโทษบุหรี่ไฟฟ้า และวิธีการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นชุมชน หรือโรงเรียน และ และเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ยืนยันว่า ต้องประชาสัมพันธ์ให้เยาวชนรู้ถึงโทษที่ร้ายแรง ทำลายหลอดเลือด หัวใจ มะเร็งปอด จึงอยากฝากว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตราย ขอให้ทุกคนช่วยกันทำให้สังคมดีขึ้น ปลอดจากยาเสพติด ปลอดจากบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชนตามโรงเรียนต่างๆ ที่ผู้ปกครองร้องเรียนกันมาเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งจะประสานไปยังกระทรวงศึกษาธิการ และโรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยในช่วงสิ้นเดือนจะไปอบรมให้กับโรงเรียน ได้ทราบถึงโทษของบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมฝากให้ผู้ปกครองช่วยกันสอดส่องดูแลบุตรหลานอีกทางหนึ่งด้วย

Advertisement

เชิญชวนลูกหนี้ กยศ.แจ้งขอรับเงินชำระเกินคืน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 8 มีนาคม 2567 ทำเนียบ – “คารม“ เชิญชวนลูกหนี้ กยศ.ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เพื่อขอรับเงินคืนในส่วนที่ชำระเกิน ทาง www.studentloan.or.th

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) คำนวณยอดหนี้คงเหลือใหม่ตาม พ.ร.บ. กยศ. (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ให้แก่ผู้กู้ยืมกลุ่มเร่งด่วนที่ถูกบังคับคดีหรือถูกอายัดเงินเสร็จเรียบร้อยแล้ว จำนวน 50,614 ราย ทำให้ผู้กู้ยืมบางรายมีสถานะปิดบัญชีได้ทันทีและมีผู้กู้ยืมที่จะได้รับเงินคืนในส่วนที่ชำระเกินจำนวน 3,494 รายนั้น กองทุนฯ ได้มีการออกหนังสือแจ้งผู้กู้ยืมแต่ละรายให้ลงทะเบียนรับเงินคืน และเริ่มดำเนินการจ่ายเงินคืนแล้วผ่านระบบโอนเงินแบบพร้อมเพย์ที่ผูกบัญชีธนาคารด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชนของผู้กู้ยืมเท่านั้น  ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป

“ขอเชิญชวนลูกหนี้ กยศ.ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เพื่อขอรับเงินคืนทางเว็บไซด์ “กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา” โดย กศย.จะเร่งคืนเงินให้ตามลำดับต่อไป” นายคารม กล่าว

Advertisement

 

สศช.จับตา Influencer อวดรวย สร้างผลกระทบเชิงลบต่อสังคม

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 5 มีนาคม 2567 สศช.จับตา Influencer อวดร่ำรวย หวั่นสร้างกระแสสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสังคม เสี่ยงพนันออนไลน์กลุ่มคนรุ่นใหม่ คาดทั่วโลกเพิ่มขึ้น 7.4 เท่าตัว

นายดนุชา พิชยนันท์  เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ประเทศในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) มีจำนวน Influencer มากถึง 13.5 ล้านคน โดยคนไทยกว่า 2 ล้านคน เป็นอันดับสองรองจากอินโดนีเซีย นับว่าการขยายตัวของ Influencer ส่วนหนึ่งมาจากการเป็นช่องทางสร้างรายได้ ทั้งโฆษณา รีวิวสินค้า ในปี 2566 สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจทั่วโลกถึง 19.01 พันล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 140.33 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2573  หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 7.4 เท่า ภายใน 7 ปี

สำหรับไทย Influencer ได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะสร้างรายได้ได้ค่อนข้างสูง เฉลี่ยตั้งแต่ 800-700,000 บาทขึ้นไปต่อโพสต์ มีการแข่งขันผลิต Content และการให้ความสำคัญกับ Engagement ของ Influencer มักมีการสร้าง Content ให้เป็นกระแสโดยไม่ได้คำนึงถึงความถูกต้องเหมาะสมก่อนเผยแพร่ อาจสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสังคมหลายประการ อาทิ การนำเสนอข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง ตัวอย่างเช่น การเผยแพร่ข่าวปลอมหรือข้อมูลที่ไม่ได้รับการตรวจสอบ

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประจำปี 2566 ของกระทรวงดิจิทัลฯ พบยอดสะสมผู้โพสต์เข้าข่ายเป็นข่าวปลอม 7,394 บัญชี โดยเป็นจำนวนข่าวปลอมและข่าวบิดเบือนรวมกันกว่า 5,061 เรื่อง การชักจูงหรือชวนเชื่อที่ผิดกฎหมาย อาทิ การโฆษณาเว็บพนันออนไลน์ผ่าน Influencer ข้อมูลจากผลการสำรวจพฤติกรรมการเล่นพนันออนไลน์ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ในปี 2566 พบว่าคนรุ่นใหม่เล่นพนันออนไลน์ประมาณ 3 ล้านคน โดย 1 ใน 4 เป็นนักพนันฯ หน้าใหม่ หรือคิดเป็นจำนวนกว่า 7.4 แสนคน โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 87.7 พบเห็นการโฆษณาหรือได้รับการชักชวนทางออนไลน์ ซึ่งมีผู้ได้รับผลกระทบแล้วกว่า 1 ล้านคน

การละเมิดสิทธิ พบว่า Influencer บางรายมีการเสนอข่าวอาชญากรรมราวกับละคร เพื่อสร้างความตื่นเต้นเร้าใจ และไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้เสียหาย ครอบครัว หรือบุคคลใกล้ชิด นอกจากนี้ ยังพบการทำข่าวโดยใช้ภาพผู้คนหรือวิดีโอของผู้อื่นมาตัดต่อลง Content ของตน โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่มีการอ้างอิงแหล่งที่มา นอกจากนี้ ยังมีเนื้อหาบางประเภทที่ไม่ได้กระทำผิดกฎหมาย แต่อาจนำไปสู่การสร้างค่านิยมที่ผิดต่อสังคม อาทิ Content  “การอวดความร่ำรวย” จากการศึกษาของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า กลุ่ม Gen Z ร้อยละ 74.8 เป็นผู้ที่ชอบแสดงตัวตนในรูปแบบนี้มากที่สุด หรือการนำเสนอภาพบุคคลที่ได้รับการปรับแต่งให้ดูดี จนกลายเป็นมาตรฐานความงามที่ไม่แท้จริง ซึ่งอาจสร้างค่านิยมที่ผิดให้กับเด็กและเยาวชนในสังคม และอาจกระทบต่อการก่อหนี้เพื่อนำมาซื้อสินค้าและบริการ

ตัวอย่างข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลเชิงลบของ Influencer ต่อสังคมหลายแง่มุม ซึ่งในต่างประเทศ เริ่มมีการออกกฎหมายเฉพาะ Influencer อย่างชัดเจน เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ออกระเบียบห้ามเผยแพร่เนื้อหาในลักษณะอวดความร่ำรวย และการใช้ชีวิตแบบกินหรูอยู่สบายเกินจริง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กำหนดให้ Influencer ต้องจดทะเบียนและได้รับใบอนุญาตจากสภาสื่อแห่งชาติ (NMC) เพื่อป้องกันการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย นอร์เวย์ และสหราชอาณาจักร กำหนดให้ Influencer แจ้งรายละเอียดภาพบุคคลที่ใช้สำหรับการขายและโฆษณาบนโซเชียลมีเดีย พร้อมแสดงเครื่องหมายกำกับ เพื่อลดปัญหาความกดดันทางสังคมต่อมาตรฐานความงามที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน

Advertisement

ชาวบ้านเรียกร้องต่ออายุราชการ “ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร” แต่เจ้าตัวขอเดินหน้าทำงานภาคประชาชน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 2 มีนาคม 2567 นครราชสีมา – ชาวบ้านเสียดาย “ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร” ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ จะเกษียณในอีก 7 เดือน อยากให้ต่ออายุราชการอีก 1 ปี ด้านเจ้าตัวฝากขอบคุณ แต่ขอเดินหน้าทำงานในบทบาทภาคประชาชน

กลุ่มเพื่อนชาวจังหวัดมหาสารคาม และขอนแก่น ที่นำรถจักรยานมาปั่นออกกำลังกายบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และพื้นที่โดยรอบ เกาะติดข่าวสารเกี่ยวกับพื้นที่พิพาทระหว่างอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และ ส.ป.ก. จนมีอารมณ์ร่วม ได้แสดงความคิดเห็นหลังทราบข่าว นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ จะเกษียณอายุราชการในอีก 7 เดือนว่า รู้สึกเสียดายข้าราชการที่มีความกล้าหาญ ปกป้องผืนป่า โดยไม่หวั่นเกรงอิทธิพลใดๆ จึงอยากให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ต่ออายุราชการให้อีกสัก 1 ปี เหมือนที่กรมอุทยานฯ ทำให้กับนายสุทธิพร สินค้า ผู้พิทักษ์ช้างป่าเขาใหญ่ ในปีที่ผ่านมา ซึ่ง ผอ.ชัยวัฒน์ ก็มีคุณสมบัติพิเศษของข้าราชการที่หาได้ยากเช่นกัน

ด้าน ผอ.ชัยวัฒน์ เปิดใจทางโทรศัพท์กับผู้สื่อข่าวว่า ฝากขอบคุณกำลังใจจากพี่น้องประชาชน ทั้งที่มีให้ตนและเจ้าหน้าที่ทุกคนของกรมอุทยานฯ ตั้งแต่ตนได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการตั้งแต่ปี 2533 ก็ทำงานอนุรักษ์ป่ามาอย่างเต็มที่ ไม่เฉพาะความต้องการของประชาชน แต่อธิบดีกรมอุทยานฯเอง ก็เห็นความตั้งใจของตน บอกว่า จะตั้งเป็นที่ปรึกษาหลังเกษียณอายุราชการ แต่ตนปฏิเสธ เพราะถือว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้ทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่แล้ว บทบาทในภาคประชาชนน่าจะทำงานคล่องตัวกว่า

นายสาโรจน์ ประพันธ์ อดีตผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ ซึ่งทำงานปกป้องป่า ในช่วงปี 2535 – 2551 รวม 16 ปีเต็ม กำลังร่างจดหมายเปิดผนึกถึงประชาชน ในชื่อ “ส.ป.ก.รุกป่าเขาใหญ่ อะไรเท็จ อะไรจริง ความเป็นไป อนาคตที่สุ่มเสี่ยงของป่าผืนนี้ โดยราคาที่ดินเขาใหญ่ จากไร่ละไม่ถึงหมื่น มาเป็นไร่ละไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท จึงเป็นต้นตอให้กลุ่มทุนการเมืองอยู่เบื้องหลังการรุกป่าเขาใหญ่

โดยบริเวณเขาใหญ่ เกิดความทับซ้อนกันของหน่วยงานราชการถึง 5 พื้นที่ ได้แก่

เป็นพื้นที่ของป่าเขาใหญ่ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองและสงวนป่า พ.ศ.2481

เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2505

เป็นพื้นที่สวนป่าของหน่วยจัดการต้นน้ำลำตะคอง

เป็นพื้นที่นิคมสร้างตนเองลำตะคอง พ.ศ.2515

เป็นพื้นที่ ส.ป.ก. พ.ศ.2530

สำหรับข้อเสนอบางส่วน ระบุว่า ต้องผลักดันให้มีการออกพระราชกฤษฎีกาผนวกพื้นที่สวนป่า และพื้นที่อื่นๆ ที่เหมาะสมเข้าเป็นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่โดยเร็ว ส่วนความเห็นที่เสนอให้ทำเป็นพื้นที่กันชน กำหนดให้เป็นป่าชุมชนนั้น นายสาโรจน์ มองว่า ยังมีความสุ่มเสี่ยงสูงที่จะถูกบุกรุกทำลาย แล้วถ่ายโอนไปสู่กลุ่มทุนการเมืองได้ในที่สุด เนื่องจากการจัดการป่าชุมชนส่วนใหญ่ มักจะล้มเหลว มีน้อยมากที่ประสบความสำเร็จ โดยพื้นที่สำเร็จมักเป็นชุมชนดั้งเดิมที่มีวิถีชีวิตผูกพัน พึ่งพิงป่าอย่างใกล้ชิด ทำให้เกิดความรัก ความหวงแหน ช่วยกันดูแลรักษาป่าโดยชุมชน ผิดกับป่าชุมชนที่เกิดจากการจัดตั้งโดยหน่วยงานราชการ

Advertisement

Verified by ExactMetrics