พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 2 มีนาคม 2567 นครราชสีมา – ชาวบ้านเสียดาย “ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร” ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ จะเกษียณในอีก 7 เดือน อยากให้ต่ออายุราชการอีก 1 ปี ด้านเจ้าตัวฝากขอบคุณ แต่ขอเดินหน้าทำงานในบทบาทภาคประชาชน

กลุ่มเพื่อนชาวจังหวัดมหาสารคาม และขอนแก่น ที่นำรถจักรยานมาปั่นออกกำลังกายบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และพื้นที่โดยรอบ เกาะติดข่าวสารเกี่ยวกับพื้นที่พิพาทระหว่างอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และ ส.ป.ก. จนมีอารมณ์ร่วม ได้แสดงความคิดเห็นหลังทราบข่าว นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ จะเกษียณอายุราชการในอีก 7 เดือนว่า รู้สึกเสียดายข้าราชการที่มีความกล้าหาญ ปกป้องผืนป่า โดยไม่หวั่นเกรงอิทธิพลใดๆ จึงอยากให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ต่ออายุราชการให้อีกสัก 1 ปี เหมือนที่กรมอุทยานฯ ทำให้กับนายสุทธิพร สินค้า ผู้พิทักษ์ช้างป่าเขาใหญ่ ในปีที่ผ่านมา ซึ่ง ผอ.ชัยวัฒน์ ก็มีคุณสมบัติพิเศษของข้าราชการที่หาได้ยากเช่นกัน

ด้าน ผอ.ชัยวัฒน์ เปิดใจทางโทรศัพท์กับผู้สื่อข่าวว่า ฝากขอบคุณกำลังใจจากพี่น้องประชาชน ทั้งที่มีให้ตนและเจ้าหน้าที่ทุกคนของกรมอุทยานฯ ตั้งแต่ตนได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการตั้งแต่ปี 2533 ก็ทำงานอนุรักษ์ป่ามาอย่างเต็มที่ ไม่เฉพาะความต้องการของประชาชน แต่อธิบดีกรมอุทยานฯเอง ก็เห็นความตั้งใจของตน บอกว่า จะตั้งเป็นที่ปรึกษาหลังเกษียณอายุราชการ แต่ตนปฏิเสธ เพราะถือว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้ทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่แล้ว บทบาทในภาคประชาชนน่าจะทำงานคล่องตัวกว่า

นายสาโรจน์ ประพันธ์ อดีตผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ ซึ่งทำงานปกป้องป่า ในช่วงปี 2535 – 2551 รวม 16 ปีเต็ม กำลังร่างจดหมายเปิดผนึกถึงประชาชน ในชื่อ “ส.ป.ก.รุกป่าเขาใหญ่ อะไรเท็จ อะไรจริง ความเป็นไป อนาคตที่สุ่มเสี่ยงของป่าผืนนี้ โดยราคาที่ดินเขาใหญ่ จากไร่ละไม่ถึงหมื่น มาเป็นไร่ละไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท จึงเป็นต้นตอให้กลุ่มทุนการเมืองอยู่เบื้องหลังการรุกป่าเขาใหญ่

โดยบริเวณเขาใหญ่ เกิดความทับซ้อนกันของหน่วยงานราชการถึง 5 พื้นที่ ได้แก่

เป็นพื้นที่ของป่าเขาใหญ่ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองและสงวนป่า พ.ศ.2481

เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2505

เป็นพื้นที่สวนป่าของหน่วยจัดการต้นน้ำลำตะคอง

เป็นพื้นที่นิคมสร้างตนเองลำตะคอง พ.ศ.2515

เป็นพื้นที่ ส.ป.ก. พ.ศ.2530

สำหรับข้อเสนอบางส่วน ระบุว่า ต้องผลักดันให้มีการออกพระราชกฤษฎีกาผนวกพื้นที่สวนป่า และพื้นที่อื่นๆ ที่เหมาะสมเข้าเป็นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่โดยเร็ว ส่วนความเห็นที่เสนอให้ทำเป็นพื้นที่กันชน กำหนดให้เป็นป่าชุมชนนั้น นายสาโรจน์ มองว่า ยังมีความสุ่มเสี่ยงสูงที่จะถูกบุกรุกทำลาย แล้วถ่ายโอนไปสู่กลุ่มทุนการเมืองได้ในที่สุด เนื่องจากการจัดการป่าชุมชนส่วนใหญ่ มักจะล้มเหลว มีน้อยมากที่ประสบความสำเร็จ โดยพื้นที่สำเร็จมักเป็นชุมชนดั้งเดิมที่มีวิถีชีวิตผูกพัน พึ่งพิงป่าอย่างใกล้ชิด ทำให้เกิดความรัก ความหวงแหน ช่วยกันดูแลรักษาป่าโดยชุมชน ผิดกับป่าชุมชนที่เกิดจากการจัดตั้งโดยหน่วยงานราชการ

Advertisement