วันที่ 28 เมษายน 2024

“ปานปรีย์” เตือนเมียนมาอย่ารุกล้ำ หลังกระสุนปืนหนักข้ามมาฝั่งไทย

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 21 เมษายน 2567 “ปานปรีย์” เตือนเมียนมาอย่ารุกล้ำ หลังกระสุนปืนหนักข้ามมาฝั่งไทย เผย คกก. ติดตามสถานการณ์พรุ่งนี้ (22 เม.ย.) ก่อนนายกฯ บินแม่สอด

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงสถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งมีผู้อพยพหนีภัยสงครามมายังแม่สอดเป็นจำนวนมากว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาข้ามมาฝั่งไทย ก่อนหน้านี้เราเคยมีกรณีผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาข้ามฝั่งมาไทย จำนวน 10,000 คน พอเหตุการณ์สงบ ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาก็ข้ามฝั่งกลับไป

นายปานปรีย์ กล่าวต่อว่า กรณีดังกล่าวก็เช่นเดียวกัน คาดว่า หากเหตุการณ์ในเมียนมาเริ่มสงบ ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาที่ข้ามมาฝั่งไทยก็จะทยอยกลับไป ซึ่งตอนนี้ได้รับรายงานว่า มีผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาข้ามมาฝั่งไทย จำนวน 3,000 คน ซึ่งในจำนวน 3,000 คนนี้ อยู่ในการดูแลของกระทรวงมหาดไทย

ส่วนกรณีที่มีกระสุนปืนหนักตกมายังบริเวณกลางแม่น้ำเมย ใกล้กับฝั่งประเทศไทย จนส่งผลให้เกิดกลุ่มควัน และมีกระสุนปืนจากฝั่งเมียนมายิงเข้ามายังฝั่งไทย กระสุนถูกยิงทะลุหน้าต่างมุ้งลวดบ้านหลังหนึ่ง ในพื้นที่บ้านวังตะเคียนใต้ หมู่ 7 ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด ทั้งสองกรณีนี้จะมีการตักเตือนทางการเมียนมา หรือป้องกันอย่างไร นายปานปรีย์ ตอบว่า เป็นกระสุนจากฝั่งเมียนมา หลุดมาทางฝั่งไทย แต่ก็ไม่ได้สร้างความเสียหาย และไม่ได้รับรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ และเราได้ทำการเตือนทางฝั่งเมียนมาว่า ให้ระมัดระวัง เราไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์รุกล้ำข้ามเขตแดน ไม่ว่าจะทางบก หรือทางอากาศ รวมถึงการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ อย่าให้เข้ามาในประเทศไทย รวมถึงห้ามให้ประชาชนไทยได้รับอันตราย

สำหรับความคืบหน้าหลังจากนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ตั้งคณะกรรมการติดตามสถานการณ์เมียนมา มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง นายปานปรีย์ กล่าวว่า จะประชุมติดตามความคืบหน้า ในวันพรุ่งนี้ (22 เม.ย.) ก่อนที่นายกฯ จะบินไป อ.แม่สอด จ.ตาก คงจะได้คำตอบ และข้อสรุปในวันพรุ่งนี้ ว่ามีความคืบหน้าอย่างไร

เมื่อถามถึงความพร้อมในการเป็น Peace broker นายปานปรีย์ กล่าวว่า เบื้องต้นเราได้เรียกร้องผ่านทางอาเซียน กดดันให้ทางเมียนมากลับสู่ความสงบโดยเร็ว ส่วนเรื่องของการที่ไทยจะเป็นตัวกลางในการเจรจานั้น ตอนนี้กำลังเร่งทำงานกันอยู่ เพราะยังไม่ทราบว่าต้องเจรจาผ่านกลุ่มใด และการสู้รบยังเกิดขึ้นตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ก็มีการพูดคุยในระดับหนึ่ง

Advertisement

นายกฯไทย-ผู้นำอาเซียน หารือผู้นำสหรัฐฯ ร่วมสร้างภูมิภาคที่สงบสุข ดันเศรษฐกิจควบคู่รักษาสิ่งแวดล้อม

People Unity News : วันนี้ (13 พฤษภาคม 2565) เวลา 16.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นประเทศสหรัฐอเมริกา ณ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับ นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมฯ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณประธานาธิบดีสหรัฐฯ สำหรับการต้อนรับอย่างอบอุ่นที่ทำเนียบขาวเมื่อคืนนี้ พร้อมกล่าวว่าการที่ผู้นำอาเซียนเดินทางมาสหรัฐฯ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดฯ สมัยพิเศษ นับเป็นโอกาสในความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ ที่ดำเนินมายาวนานถึง 45 ปี จึงควรใช้โอกาสนี้เฉลิมฉลองวาระพิเศษและร่วมกันกำหนดทิศทางการดำเนินความสัมพันธ์ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น โดยท่ามกลางสถานการณ์โลกที่เปราะบาง มีปัจจัยความท้าทายที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นทั้งด้านสาธารณสุข ห่วงโซ่อุปทาน ภาวะเงินเฟ้อ วิกฤตพลังงาน และความตึงเครียดระหว่างประเทศ ล้วนส่งผลกระทบต่อความพยายามในการฟื้นตัวจากโควิด-19 โดยเฉพาะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ที่ประชุมฯ ควรร่วมกัน “มองไปข้างหน้า” และเดินหน้าไปสู่ “ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” โดยเป้าหมายสำคัญที่สุด คือการพัฒนาภูมิภาคที่มีสันติภาพ ความเข้มแข็ง พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อก้าวต่อไปสู่ยุค Next Normal ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน พร้อมเสนอให้อาเซียนกับสหรัฐฯ มุ่งสร้าง “ภูมิทัศน์ใหม่” ให้ภูมิภาคและโลกใน 3 เรื่อง ดังนี้

หนึ่ง “ภูมิทัศน์ด้านความมั่นคงที่เอื้อต่อการฟื้นตัวและการเติบโตอย่างยั่งยืน” โดยสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีสถาปัตยกรรมในภูมิภาคที่เข้มแข็ง และบรรยากาศของความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน นายกรัฐมนตรียินดีที่ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ฉบับใหม่ของสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับอาเซียน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การดำเนินยุทธศาสตร์ดังกล่าว ตลอดจนข้อริเริ่มอื่นๆ อาทิ AUKUS และกลุ่มภาคี Quad จะเป็นไปในทิศทางที่สร้างสรรค์ สนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียน และมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก

นายกรัฐมนตรีหวังว่า ผู้เล่นสำคัญต่างๆ รวมถึงประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมิตรประเทศและหุ้นส่วนที่สำคัญของอาเซียนมาอย่างยาวนาน จะทำงานร่วมกันเพื่อหาทางออกต่อความท้าทายที่เปราะบางและซับซ้อนได้อย่างเหมาะสมและสร้างสรรค์ให้แก่ประชาคมโลก โดยอาเซียนพร้อมจะมีบทบาทในฐานะเวทีหลักของภูมิภาคที่จะเชื่อมโยงผู้เล่นทุกคนเข้าด้วยกันเพื่อสร้างภูมิรัฐศาสตร์ที่สงบสุข

สอง “ภูมิทัศน์ด้านเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลและห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็ง” นับตั้งแต่การระบาดของโรคโควิด-19 อาเซียนมีผู้บริโภคดิจิทัลรายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 60 ล้านคน ซึ่งบ่งชี้ว่าอาเซียนจะเติบโตสู่การเป็นตลาดดิจิทัลที่สำคัญของโลกในอีกไม่ช้า ไทยสนับสนุนการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างอาเซียน-สหรัฐฯ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในภูมิภาคผ่านกลไกของ USDFC โดยมุ่งเน้นให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ ตลอดจนร่วมกันเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลให้แก่แรงงานและผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่ม MSMEs และสตาร์ทอัพ เพื่อให้สามารถแข่งขันในเศรษฐกิจดิจิทัลได้

นอกจากนี้ โรคโควิด-19 ได้ตอกย้ำถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็ง โดยในระยะเร่งด่วน นายกรัฐมนตรีเสนอให้อาเซียนและสหรัฐฯ เร่งหารือช่องทางในการเชื่อมโยงระบบ ASEAN Single Window เข้ากับระบบนำเข้า-ส่งออกของสหรัฐฯ เพื่อให้การเคลื่อนย้ายสินค้าเป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าจำเป็น และในระยะยาว เชื่อมั่นว่าอาเซียนมีศักยภาพในการเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯได้ โดยเฉพาะสาขายานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมการแพทย์และเวชภัณฑ์ และเทคโนโลยีชีวภาพ ทั้งนี้ ไทยมีเขต EEC ซึ่งมีการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล่านี้ และโลจิสติกส์ที่ทันสมัย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างขีดความสามารถให้กับภูมิภาคด้วย

สาม “ภูมิทัศน์เพื่อการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีพลังมากขึ้น” โดยไทยเห็นว่าทุกประเทศต้องร่วมกันขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ ในส่วนของไทยใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นแนวทาง และผลักดันให้เป็นแนวคิดพื้นฐานในการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปีนี้ ภายใต้หัวข้อหลัก “OPEN.CONNECT.BALANCE.” ซึ่งสอดคล้องกับสหรัฐฯที่ให้ความสำคัญและสามารถสนับสนุนข้อริเริ่ม Build Back Better World ได้เป็นอย่างดี

สำหรับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทยได้แสดงความมุ่งมั่นที่ COP26 ว่าจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2065 หรือก่อนหน้านั้น ซึ่งหากอาเซียนกับสหรัฐฯ เพิ่มพูนความร่วมมือในการลงทุน และแบ่งปันเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ  โครงสร้างพื้นฐานสีเขียว และพลังงานสะอาด ตลอดจนการสนับสนุนทางการเงินที่ยั่งยืน ประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงไทยก็จะสามารถบรรลุเป้าหมายได้เร็วยิ่งขึ้น

นายกรัฐมนตรีเชื่อว่า แนวทางที่ได้เสนอมาทั้งหมดนี้จะช่วยผลักดันให้ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ ก้าวไปสู่บทใหม่ และเป็นการพิสูจน์ว่าความร่วมมือของอาเซียนและสหรัฐฯ จะยังมีความสำคัญ และมีส่วนในการส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคต่อไป พร้อมยังยินดีที่จะให้การต้อนรับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการเข้าร่วมการประชุมผู้นาเขตเศรษฐกิจเอเปคที่กรุงเทพฯ ในช่วงปลายปีนี้

ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ เวลา 18.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ นายกรัฐมนตรีและคณะ เดินทางออกจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ไปยังท่าอากาศนานาชาติอินชอน กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี เพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศไทย โดยจะเดินทางถึงประเทศไทยในช่วงเช้าของวันที่ 15 พ.ค. 2565

อนึ่ง ในการประชุมสุดยอดอาเซียน สหรัฐฯ สมัยพิเศษครั้งนี้ ผู้นำอาเซียนและสหรัฐฯ ได้รับรองแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วม (Joint Vision Statement) แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันขับเคลื่อนความสัมพันธ์ และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน โดยเน้นย้ำความสำคัญของการทำงานร่วมกัน เพื่อมุ่งไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้านระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ การเสริมสร้างสภาพแวดล้อมแห่งสันติภาพในภูมิภาค และการสนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียน โดยมีแนวทางการดำเนินความร่วมมือที่สำคัญ ดังนี้

  1. การส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุข ผ่านความร่วมมือต่างๆ
  2. การส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เท่าเทียม เข้มแข็ง และยั่งยืน
  3. การส่งเสริมความร่วมมือทางทะเล
  4. การพัฒนาทุนมนุษย์ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและครอบคลุม
  5. การส่งเสริมการพัฒนาในอนุภูมิภาค
  6. การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและการส่งเสริมนวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียน
  7. การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  8. ความร่วมมือในประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศ

Advertisement

ความสัมพันธ์ทางทหารไทย-รัสเซีย อย่าผลีผลาม!! โดย พูลเดช กรรณิการ์

People unity news online : ผมเคยเสนอแนวความคิดและสนับสนุนให้ คสช. และรัฐบาล ดำเนินนโยบายต่างประเทศกับชาติมหาอำนาจแบบ “balance of power” หรือการถ่วงดุลอำนาจระหว่างชาติมหาอำนาจ โดยผมเสนอตั้งแต่ คสช.เข้ายึดอำนาจการปกครองใหม่ๆ ซึ่งขณะนั้น คสช.กำลังโดนแรงกดดันจากสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรตะวันตกอย่างหนัก

มหาอำนาจที่ผมเสนอให้ คสช. และรัฐบาล เข้าไปกระชับความสัมพันธ์และนำมาถ่วงดุลกับสหรัฐฯและพันธมิตรตะวันตก ก็ไม่ใช่ใคร คือ จีน และรัสเซียนั่นเอง  ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน คสช. ก็ส่งบุคคลสำคัญของ คสช.ไปเยือนจีน และตามมาด้วยการกระชับความสัมพันธ์กับรัสเซีย

จากนโยบายถ่วงดุลดังกล่าว ทำให้สหรัฐฯต้องประเมินไทยใหม่ จากที่เคยอาจคิดว่าไทยเป็นหมูในอวย ไม่มีทางไปไหน ก็คงรู้แล้วว่าไทยไม่ใช่หมู สหรัฐฯจึงเริ่มเปลี่ยนท่าทีแข็งกร้าวที่มีต่อไทยลงเป็นลำดับ

นั่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคที่โอบาม่าเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทว่า ในขณะนี้ทรัมป์ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ดังนั้น จำเป็นที่ไทยจะต้องประเมินและทบทวนนโยบายถ่วงดุลมหาอำนาจสักครั้ง เพราะนโยบายของสหรัฐฯในยุคทรัมป์มีความแตกต่างจากยุคโอบาม่าอย่างมาก รวมทั้งบุคลิกและความคิดของทรัมป์นั้นมีลักษณะ “บ้าดีเดือด” แตกต่างจากโอบาม่าที่สุขุมนุ่มลึกกว่า นอกจากนี้ ทรัมป์เองก็มีปัญหาในการบริหารงานภายในประเทศที่ถูกต่อต้านจากรัฐสภาและประชาชนอเมริกันหลายเรื่อง ทรัมป์จึงต้องเบี่ยงเบนความสนใจจากปัญหาของตนในประเทศออกมา “อาละวาด” นอกประเทศ ดังเช่นที่โจมตีซีเรีย ทิ้งระเบิดอัฟกานิสถาน และจ่อทำสงครามกับเกาหลีเหนือ รวมทั้งยังมีนโยบายด้านต่างๆที่แข็งกร้าวต่อประเทศต่างๆ เช่น นโยบายต่อคนเข้าเมืองสหรัฐฯ นโยบายการขึ้นบัญชีประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯ เป็นต้น

ล่าสุด กับการที่รัฐบาลไทย จะเดินหน้ากระชับความสัมพันธ์กับรัสเซียยิ่งขึ้น โดยจะมีการประชุมอนุกรรมการการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ครั้งที่ 3 ระหว่างไทย-รัสเซีย ในวันที่ 20-21 เมษายน 2560 ที่กรุงเทพฯ โดยการประชุมในครั้งนี้จะเร่งส่งเสริมการค้าการลงทุนและให้มีการจัดกิจกรรมร่วมกัน แลกเปลี่ยนคณะผู้แทนภาคธุรกิจ-ลงทุน ส่งเสริมการลงทุนในสาขาที่รัสเซียและไทยมีประโยชน์ร่วมกัน นอกจากนี้จะมีการหารือเรื่องการลดอุปสรรคด้านการค้าที่ไม่ใช่ภาษี การพัฒนาความร่วมมือด้านต่างๆ ที่เกิดประโยชน์ต่อการขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการท่องเที่ยว พลังงาน วิทยาศาสตร์ SMEs และการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

และที่สำคัญ จะมีความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลรัสเซีย ว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคนิคทางทหาร เพื่อให้มีการสนับสนุนการส่งกำลังบำรุง อาวุธยุทโธปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ด้านการป้องกันประเทศ การซ่อมบำรุง อะไหล่ชิ้นส่วน หน่วยฝึกเครื่องมืออุปกรณ์พิเศษการฝึก ผลิตภัณฑ์ทางทหาร การแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญ

ผมเห็นว่า ในนาทีนี้ รัฐบาลควรจะต้องชะลอความตกลงด้านการทหารกับรัสเซียเอาไว้ระยะหนึ่งก่อน หรือไม่ก็ลดความร่วมมือทางทหารในบางเรื่องลงไปก่อน เช่น ความร่วมมือด้านการฝึกทางทหาร การรบร่วม ส่วนเรื่องการซื้ออาวุธนั้นสามารถทำได้ เราจะซื้อจากใครก็เป็นสิทธิของเรา เพราะท่าทีของทรัมป์ในตอนนี้ “บ้าดีเดือด” จนไม่น่าวางใจ และอาจกลับมาเล่นงานไทยหนักขึ้นอีกครั้ง หากไม่สบอารมณ์กับการกระชับความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างไทย-รัสเซีย ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจในขณะนี้ก็ไม่สู้ดีและตึงเครียด ทั้งจากกรณีซีเรีย และเกาหลีเหนือ

ส่วนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ วิชาการ วัฒนธรรม นั้นเดินหน้ากระชับกันต่อไปได้

ก็ขอเสนอความเห็นไว้ ณ ที่นี้ครับ

บ้านเมืองก็ของเรา : ความสัมพันธ์ทางทหารไทย-รัสเซีย อย่าผลีผลาม!! โดย พูลเดช กรรณิการ์

People unity news online : post 19 เมษายน 2560 เวลา 12.03 น.

ภาพ – ผู้จัดการ

นายกฯ พบหารือ “ปูติน” พร้อมส่งเสริมความร่วมมือทุกมิติ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว

People Unity News : 17 ตุลาคม 2566 สาธารณรัฐประชาชนจีน – นายกฯ หารือ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ย้ำ เจตจำนงร่วมกันยกระดับความสัมพันธ์ไทย-รัสเซีย พร้อมส่งเสริม ความร่วมมือทุกมิติ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว

เมื่อเวลา 18.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงปักกิ่ง ซึ่งเร็วกว่าไทย 1 ชม.) ณ เรือนรับรองเตี้ยวหยูไถ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หารือทวิภาคีกับนายวลาดิมีร์ ปูติน (Mr. Vladimir Putin) ประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย

โดยนายกรัฐมนตรี ยินดีที่ได้พบหารือกับประธานาธิบดีปูตินในวันนี้ (17 ต.ค.) เป็นโอกาสอันดีในการแสดงเจตจำนงร่วมกัน เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น โดยรัสเซียถือเป็นมิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์กับไทยมายาวนาน ทั้งสองฝ่ายเพิ่งฉลองครบรอบ 125 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างเมื่อปี 2565 ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่าทั้งสองฝ่ายควรร่วมมือกันเพิ่มพูนความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นและเป็นรูปธรรม

ด้านประธานาธิบดีปูติน ชื่นชมความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยาวนานระหว่างไทยกับรัสเซีย พร้อมทั้งเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายควรเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคีมากขึ้น โดยเฉพาะด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีความสัมพันธ์ในระดับประชาชนที่แน่นแฟ้นอย่างมาก โดยปี 2567 (ค.ศ. 2024) จะเป็นปีแห่งการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวไทย-รัสเซีย นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวรัสเซียมาท่องเที่ยวยังประเทศไทยมากกว่า 1 ล้านคน และนายกรัฐมนตรีได้แจ้งว่า ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่16 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมามีมติเพิ่มวันพำนักให้ชาวรัสเซียจาก 30 วันเป็น 90 วัน ด้วย

สำหรับประเด็นการหารือที่ทั้งสองฝ่ายเห็นควรร่วมมือกัน ด้านการเมือง ทั้งสองฝ่ายมีการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาระหว่างบุคลากรสภาความมั่นคงของทั้งสองประเทศอย่างต่อเนื่อง

ด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายเห็นควรเพิ่มการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกันมากขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีขอให้ฝ่ายรัสเซียส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกัน พร้อมทั้งเชิญชวนให้รัสเซียพิจารณาเพิ่มการลงทุนในไทย

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้เชิญประธานาธิบดีรัสเซีย เดินทางเยือนไทยซึ่งประธานาธิบดีรัสเซีย ตอบรับ โดยจะได้ร่วมกำหนดวันที่ทั้งสองฝ่ายสะดวกต่อไป

จากนั้นในเวลา 18.30 น. นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมงานเลี้ยงรับรองอาหารค่ำโดยนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนและภริยาเป็นเจ้าภาพ ณ มหาศาลาประชาชน

Advertisement

ออสเตรเลียปรับท่าที ส่ง รมว.กลาโหมจูบปากไทย

People unity news online : 23 สิงหาคม 2560 พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษก กห. เปิดเผยว่า วันนี้ 23 ส.ค.60 เวลา 10.00 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นรม. และ รมว.กห. ให้การต้อนรับ นางสาว Marise Payne รมว.กห.เครือรัฐออสเตรเลีย และคณะ ณ ศาลาว่าการกลาโหม ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของ กห. ระหว่าง 22 – 24 ส.ค.60

นางสาว Marise ได้กล่าวแสดงความอาลัยอย่างสุดซึ้ง ต่อการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมทั้งได้แสดงความยินดีกับประชาชนไทย ในการเสด็จขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียและไทย ที่มีพัฒนาการอย่างแน่นแฟ้น โดยเฉพาะ กห.ของทั้งสองประเทศ ที่คงความต่อเนื่องในการสานต่อความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนความร่วมมือทางทหารระหว่างกันอย่างใกล้ชิด ทั้งด้านการฝึก ศึกษา การรักษาสันติภาพ การลาดตระเวนทางทะเล และการแลกเปลี่ยนข่าวสาร พร้อมทั้งเสนอให้มีการฝึกการลาดตระเวนทางทะเลร่วมกันในต้นปี 61 เพื่อพัฒนาศักยภาพความร่วมมือทางทะเล  ขณะเดียวกัน ก็ขอขอบคุณไทยที่ให้การสนับสนุนออสเตรเลียในเวทีการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ( ADMM Plus )  เพื่อร่วมกันรักษาความมั่นคงของภูมิภาค

พล.อ.ประวิตร ได้กล่าวขอบคุณ นางสาว Marise ที่แสดงความอาลัยต่อการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ 9 พร้อมทั้งขอบคุณออสเตรเลียที่ให้การสนับสนุนความร่วมมือทางทหารกับไทยมาโดยตลอด โดยเฉพาะได้ส่งเรือรบเข้าร่วมพิธีสวนสนามทางเรือที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในโอกาสครบรอบ 50 ปีอาเซียนในเดือน พ.ย.60  และกล่าวว่า การเดินทางเยือนไทยของ รมว.กระทรวงต่างประเทศ และ รมว.กระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย ในระยะเวลาที่ใกล้กันที่ผ่านมา สะท้อนถึงความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศที่แน่นแฟ้นมาโดยตลอด ทั้งนี้ ความร่วมมือทางทหารที่ใกล้ชิดและแน่นแฟ้นระหว่างกัน จะเป็นส่วนสำคัญให้เราสามารถรับมือกับความท้าทายของภูมิภาคและของโลกร่วมกัน

People unity news online : post 23 สิงหาคม 2560 เวลา 21.20 น.

นายกฯ โพสต์ พร้อมแสดงบทบาทใหม่ของไทยในเวทียูเอ็น

People Unity News : 18 กันยายน 2566 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ – นายกฯ โพสต์ข้อความ ก่อนเดินทางร่วมประชุมยูเอ็น ที่สหรัฐ 18-24 ก.ย.นี้ ระบุ เป็นภารกิจต่างประเทศอย่างเป็นทางการแรกของรัฐบาลใหม่ พร้อมแสดงบทบาทใหม่ของไทยที่จะเปลี่ยนไปบนเวทีโลก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อออกเดินทางไปร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 ระหว่างวันที่ 18  – 24 กันยายน 2566  ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้โพสต์ข้อความและภาพถ่ายผ่านเอ็กซ์โดยระบุว่า  #UNGA78 จะเป็นภารกิจต่างประเทศอย่างเป็นทางการแรกของรัฐบาลใหม่ เพื่อแสดงบทบาทใหม่ของไทยที่จะเปลี่ยนไปให้กับเวทีโลกเห็น ผมตั้งใจจะขับเคลื่อนการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อบรรลุ #SDGs ความสำคัญในการยึดมั่นระบบพหุภาคี และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อตอบสนองต่อความท้าทายและความต้องการของประชาคมโลกในปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การระดมทุนเพื่อการพัฒนา และสิ่งแวดล้อมสีเขียว และด้านอื่น ๆ อย่างครอบคลุม

เดินหน้าเต็มที่เพื่อประสานความร่วมมือกับทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐและเอกชน และกระชับความสัมพันธ์กับผู้นำจากนานาประเทศ เพื่อเสริมสร้างสันติภาพและความมั่งคั่ง รวมทั้งความก้าวหน้าอย่างยั่งยืนสำหรับทุกคนครับ “ขณะเดินทางออกจากสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อไปร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 ระหว่างวันที่ 18  – 24 กันยายน 2566  ว่า

“#UNGA78 will be my Government’s first official mission abroad, presenting a new face for Thailand’s role on the world stage. I intend to drive action to achieve the #SDGs, commit to upholding multilateralism and promoting international cooperation to respond to today’s challenges and needs of the global community > this includes climate change, financing for development, green growth and more. Eager to explore collaboration with all stakeholders, both public and private, and to strengthen ties with other leaders, in fostering peace, prosperity & sustainability for all.

Advertisement

นายกฯ ปลื้มผลสำเร็จ เวทีอาเซียน – อียู

People Unity News : 15 ธันวาคม 2565 บน. 6 ดอนเมือง – “พล.อ.ประยุทธ์” ปลื้มผลสำเร็จเวทีอาเซียน-อียู ชี้หลายภูมิภาคหันมาให้ความสนใจไทยเนื้อหอม ลั่นเมื่อใดประเทศชาติยากลำบากต้องร่วมมือกันสู้ข้าศึก ไม่ใช่คนไทยมาสู้กันเอง โต้อย่าบอกรัฐบาลนี้ไม่ทำอะไร โวเจรจา FTA คืบหน้า ถ้าง่ายคงเสร็จมาหลายรัฐบาลแล้ว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังกลับจากเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรป สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 45 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-สหภาพยุโรป ที่ราชอาณาจักรเบลเยียม ว่า การไปประชุมในครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยเป็นการประชุมครั้งพิเศษ ได้พบปะกับอียู 27 ประเทศในเวลาเดียวกัน นอกจากมีการประชุมตามวาระแล้ว มีโอกาสพบภาคธุรกิจและภาคธุรกิจของอียู ซึ่งต่างพร้อมร่วมมือกับไทย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังหารือถึงปัญหาอุปสรรต่างๆ ซึ่งการเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ต้องเตรียมความพร้อมของเรา บางครั้งการเดินหน้าทางธุรกิจไปได้ยาก จึงต้องพยายามปรับเปลี่ยนพอสมควร แต่เราต้องไม่เสียเปรียบและต้องได้ประโยชน์ต่างตอบแทนเท่าๆกัน ขอให้ช่วยกันติดตามด้วย นอกจากนี้ยังหารือทวิภาคีกับผู้บริหารอียูหลายประเทศที่ต่างให้ความสนใจ ซึ่งวันนี้หลายภูมิภาคกลับมาให้ความสนใจอาเซียน เนื่องจากเราเป็นภูมิภาคที่มีความพร้อม มีความสงบสุข โลกกำลังเปิดกว้างเราต้องเตรียมการอาเซียนให้พร้อม ซึ่งในครั้งนี้ได้ย้ำนโยบายเศรษฐกิจของไทยเจริญเติบโตควบคู่กับความยั่งยืน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า วันนี้เราหวังพึ่งใครฝ่ายเดียวโดยไม่สนับสนุนไม่ร่วมมือก็ไม่สำเร็จ จึงขอให้ทุกคนมีส่วนร่วมโดยให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับความยั่งยืน โดยไม่ผลีผลามว่าจะให้เท่านั้นเท่านี้ เราต้องให้ทั้งปลาและเบ็ดตกปลา ฝากประชาชนด้วย ยืนยันรัฐบาลสนุบสนุนทุกวิถีทางให้ประชาชนอยู่ดีกินดียิ่งขึ้น ถ้าเปิดใจให้กว้างจะเห็นหลายอย่างเกิดขึ้นในประเทศไทย ถ้าเปิดตาให้กว้างจะเห็นว่าหลายอย่างเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นหลายอย่างอาจไม่ทันใจแต่เมื่อถึงเวลาไม่มีอะไรสำเร็จเริ่มได้วันเดียว ตนพยายามทำเต็มที่ให้สำเร็จลงได้

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ยังมีการหารือเกี่ยวกับเรื่องพลังงาน ที่จากการติดตามสถานการณ์ถือว่าดีขึ้น แต่ที่ผ่านมาเราได้เอาเงินส่วนหนึ่งมาชดเชยไว้เป็นจำนวนมากที่จะต้องทำอย่างไรเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนชดเชยในส่วนที่ลดลงและส่วนที่ขาดทุนเนื่องจากใช้เงินกู้มาเติมเต็มในส่วนนี้ทั้งสิ้น ส่วนราคาก๊าซวันนี้มีราคาสูงขึ้นในขณะที่ราคาน้ำมันลดลง ซึ่งมีความเกี่ยวพันกันทั้งคู่ เพราะเป็นแหล่งผลิตพลังงานซึ่งในยุโรปและหลายๆประเทศก็มีความเดือดร้อนทั้งหมดจากราคา 10 กว่าเหรียญก็ขึ้นเป็น 30 เหรียญ 50 เหรียญ 100 เหรียญ ซึ่งมีปัญหามากกว่าประเทศไทยพอสมควรจากอากาศพื้นที่อากาศหนาว แต่ประเทศไทยไม่เคยเจอสภาพนี้เราได้แต่ให้ความเห็นใจ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องก๊าซยังคงมีปัญหาอยู่เยอะเนื่องจากเป็นพลังงานที่จะนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าฉะนั้นไฟฟ้าจะราคาสูงขึ้น แต่รัฐบาลจะพยายามทำให้ค่า FT ต่ำที่สุดซึ่งก็ต้องใช้การหาเงินมาทดแทนไม่มีอะไรที่ได้มาเปล่าๆ จึงขอให้พยายามใช้จ่ายอย่างประหยัดวันนี้พยายามจะปรับเรื่องการจ่ายพลังงานให้ถูกวัตถุประสงค์ เช่น พลังงานสีเขียวจะให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อย ส่วนพลังงานที่มีต้นทุนแพงจะมีไว้สำหรับผู้ที่มีผลประกอบการสูง ถ้าเราร่วมมือกันทุกอย่างจะไปได้จะไม่ทะเลาะเบาะแว้งกันขอให้เสียสละกันบ้าง

“การทำอะไรก็ตามไม่ได้ง่ายมากนัก แต่ถ้าเราร่วมมือกัน ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกันก็ไปได้ หลายคนชื่นชมประเทศไทยแล้วเราภูมิใจกันบ้างหรือไม่ หลายอย่างดีขึ้น โรงแรมเต็ม หากินดีขึ้น แต่เรายังไม่พอใจ ตนจำเป็นต้องเล่าให้ฟังว่าไปต่างประเทศมามันเป็นอย่างไร หลายประเทศไม่มีคนเดินถนนเพราะอากาศหนาว แต่ประเทศไทยไปไหนได้ทั้งวันทั้งคืน ขอให้เข้าใจเมื่อไหร่ที่ประเทศชาติมีความยากลำบากเราต้องร่วมมือกัน เหมือนสมัยโบราณมีข้าศึกมาตีเราต้องร่วมมือต้องสู้กัน ไม่ใช่มาสู้กันเอง ขณะเดียวกันวันนี้โลกใหม่แล้วใม่อย่ามัวขัดแย้งเรื่องไม่เป็นเรื่องคิดเรื่องใหม่ๆ มาร่วมแก้ปัญหาไปด้วยกัน ผมจะโทษใครไม่ได้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกัน เรามุ่งเน้นไปสู่การเจรจาเพื่อนำไปสู่ FTA ซึ่งหลายคนก็พูดว่ารัฐบาลนี้ไม่ให้ความสนใจ FTA เราเจรจามากว่า 10 ปีแล้วที่ไม่มีความก้าวหน้า ซึ่งตนก็ถามว่าทำไมไม่ก้าวหน้าก็เพราะกติกาละเอียดมากจนเราปฏิบัติไม่ได้ แต่วันนี้ได้ไปพูดคุยกันว่าบางอย่างลดระดับลงได้หรือไม่ มันต้องเจรจาแบบนี้ไม่ใช่ว่ารัฐบาลนี้ไม่เคยไปเดินหน้า FTA เลย ตั้งแต่มาเจรจาไป 5 รอบแล้ว ทั้งนี้รอบที่ 6 และมีแนวโน้มที่จะดีขึ้นจนวันนี้สามารถลงนาม PCA เพื่อเดินหน้าไปสู่ FTA ต่อไปในอนาคต ไม่ใช่ใครจะไปพูดอะไรก็ได้ทุกอย่างที่ไปคุยเป็นมติคณะรัฐมนตรีจำไว้ ไม่เช่นนั้นใครพูดกันคนละทางสองทางก็หาทางลงไม่เจอ เราใช้เวลาเดือนหน้าแค่เฉพาะ PCA ใช้เวลาเดินหน้ามาถึง 18 ปี แต่เพิ่งสำเร็จเมื่อเช้านี้ ดังนั้นอย่าพูดว่ารัฐบาลไม่ทำอะไรเลย 18 ปี ไม่เคยเจรจา FTA ถ้ามันง่ายนะคงสำเร็จมาหลายรัฐบาลแล้ว

Advertisement

พรุ่งนี้ “บิ๊กตู่” ไปประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 2 ที่กัมพูชา

People unity news online : นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 2

วันนี้ (9 มกราคม 2561) พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยภารกิจด้านต่างประเทศของนายกรัฐมนตรีว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดเข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 2 (2nd Mekong-Lancang Leaders’ Meeting) ในวันที่ 10 มกราคม 2561 ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 2 (2nd Mekong-Lancang Leaders’ Meeting) จะจัดขึ้นในวันที่ 10 มกราคม 2561 ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยฝ่ายกัมพูชาจะเป็นประธานร่วมกับจีน ภายใต้หัวข้อ แม่น้ำแห่งสันติภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืนของเรา (Our River of Peace and Sustainable Development) ซึ่งการประชุมครั้งนี้จะทบทวนการดำเนินงานของประเทศสมาชิกจากการประชุมผู้นำฯ ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนมีนาคม 2559 พร้อมทั้งจะกำหนดทิศทางและกิจกรรมของกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ในอนาคต โดยสมาชิกทั้งหมด 6 ประเทศ ประกอบด้วย จีน กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม จะหารือร่วมกันเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงบนพื้นฐานของความเท่าเทียม ภายใต้หลักการการมีส่วนร่วม ความสมัครใจ และหลักฉันทามติ

ในการประชุมครั้งนี้ ไทยมุ่งมั่นที่จะ (1) พัฒนากรอบความร่วมมือดังกล่าวให้ทันสมัยมากขึ้น (2) ส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกรอบแม่โขง – ล้านช้างกับแนวคิดหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (Belt Road Initiative – BRI) เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของอนุภูมิภาค (3) ไทยยังสนับสนุนให้กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง เป็นกลไกสำคัญในการผลักดันให้อนุภูมิภาคเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแบบยั่งยืนผ่านการใช้เครื่องมือที่ทันสมัย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและโครงการสำคัญของประเทศไทย อาทิ นโยบายประเทศไทย 4.0 ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และนโยบายประเทศไทย+1 (4) การยกระดับความร่วมมือด้านน้ำระหว่างประเทศสมาชิก ให้ได้รับประโยชน์ร่วมกัน บนพื้นฐานของความรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งจะช่วยให้ภาคการเกษตรของแต่ละประเทศมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไป

เอกสารผลลัพธ์การประชุม 2 ฉบับ ได้แก่ (1) แผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี แม่โขง – ล้านช้าง พ.ศ. 2561 – 2565  (5 – Year Plan of Action 2018 – 2022) เป็นเอกสารที่จะกำหนดแนวทางการดำเนินงานของกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ในระยะ 5 ปีข้างหน้า และ (2) ปฏิญญาพนมเปญ (Phnom Penh Declaration) เป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของผู้นำจะมุ่งสนับสนุนกรอบความร่วมมือดังกล่าวให้บรรลุเป้าประสงค์ของการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประชาชนในประเทศลุ่มน้ำโขงขอเพิ่มค่า โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีมีกำหนดจะพบหารือทวิภาคีกับสมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และนายหลี่ เค่อ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีนด้วย

People unity news online : post 9 มกราคม 2561 เวลา 13.50 น.

ผบ.ทร.เยือนญี่ปุ่นกระชับสัมพันธ์ยาวนาน

People Unity News : 15 กุมภาพันธ์ 2566 ผบ.ทร.เยือนญี่ปุ่น ในฐานะแขกของกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลญี่ปุ่น ย้ำสัมพันธ์ทหารเรือสองประเทศที่มีมาอย่างยาวนาน

พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์  ผู้บัญชาการทหารเรือ เยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 12 – 16 กุมภาพันธ์ 2566 โดยผู้บัญชาการทหารเรือและคณะได้เยี่ยมชมฐานทัพเรือโยโกสุกะและฐานทัพเรือฟูนาโกชิ พร้อมทั้งเยี่ยมชมเรือเตรุสึกิ (JS Teruzuki  DD-116) ซึ่งเป็นเรือรบชั้น Destroyer ของญี่ปุ่น

ทั้งนี้ กองทัพเรือไทยและกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น มีความสัมพันธ์อันดีมาอย่างต่อเนื่อง มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและความร่วมมือ การแลกเปลี่ยนการเยือนของผู้บังคับบัญชาเพื่อสร้างความร่วมมือและความเข้าใจอันดีอยู่เสมอ ล่าสุด ระหว่างวันที่ 5-10 พฤศจิกายน 2565 กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Western Pacific Naval Symposium (WPNS) ครั้งที่ 18 โดยจัดให้มีพิธีสวนสนามทางเรือ เนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปี กองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลญี่ปุ่น ณ อ่าวซากามิ จังหวัดคานางาว่า ซึ่งผู้บัญชาการทหารเรือได้ไปร่วมประชุมและชมการสวนสนามทางเรือ รวมทั้งกองทัพเรือได้จัดเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เข้าร่วมการสวนสนามทางเรือด้วย

Advertisement

ไทย-รัสเซียทำสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน

People Unity News : 15 มีนาคม 2566 รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.วานนี้อนุมัติให้ลงนามร่างสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน ไทย-รัสเซีย ต้องเป็นผู้กระทำผิดที่มีโทษจำคุกเกินกว่า 1 ปี ถึงจะส่งตัวได้

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (14 มี.ค.) ว่า ที่ประชุมอนุมัติลงนามร่างสนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหพันธรัฐรัสเซียว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนและการดำเนินการให้สนธิสัญญามีผลใช้บังคับ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสองประเทศในการปราบปรามอาชญากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยร่างสนธิสัญญาฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ เนื้อหาสาระและหลักเกณฑ์การส่งผู้ร้ายข้ามแดนคล้ายคลึงกับสนธิสัญญาลักษณะเดียวกันกับที่ประเทศไทยได้จัดทำกับประเทศต่าง ๆ และสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551

“สำหรับข้อกำหนดเงื่อนไขและขั้นตอนในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน อาทิ 1.ความผิดที่จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่กันได้ ต้องเป็นความผิดที่ลงโทษได้ตามกฎหมายของทั้งสองประเทศ (Double Criminality) และเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกเกินกว่า 1 ปี 2.ผู้ประสานงานกลางของฝ่ายไทยตามสนธิสัญญานี้ คือ อัยการสูงสุด และฝ่ายสหพันธรัฐรัสเซีย คือ สำนักงานอัยการสูงสุด 3.ภาคีที่ได้รับการร้องขอ ไม่ต้องส่งผู้ร้ายข้ามแดนบุคคลซึ่งกระทำความผิดทางการเมืองและความผิดทางทหาร ทั้งนี้ ความผิดต่อประมุขของรัฐ หรือหัวหน้ารัฐบาล หรือสมาชิกในครอบครัวของบุคคลดังกล่าว และการกระทำหรือการละเว้นการกระทำซึ่งเป็นความผิดอาญาตามพันธกรณีภายใต้สนธิสัญญาพหุภาคีที่ทั้งสองฝ่ายเป็นภาคี ไม่ถือว่าเป็นความผิดทางการเมือง” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

น.ส.รัชดา กล่าวว่า 4.ภาคีที่ได้รับการร้องขอจะต้องปฏิเสธไม่ส่งผู้ร้ายข้ามแดน เมื่อมีเหตุต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ตามกฎหมายของภาคีแต่ละฝ่าย อาทิ ความผิดที่มีลักษณะทางการเมือง หรือเป็นความผิดทางทหาร ซึ่งรวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวกับอายุความ 5.ภาคีที่ได้รับการร้องขอ สามารถปฏิเสธไม่ส่งผู้ร้ายข้ามแดน เมื่อภาคีที่ได้รับการร้องขอมีเขตอำนาจเหนือความผิดที่มีการร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน หรือการส่งบุคคลนั้นเป็นผู้ร้ายข้ามแดนจะกระทบต่ออำนาจอธิปไตย ความมั่นคง ความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ หรือภาคีที่ได้รับการร้องขอกำลังดำเนินคดีอาญากับบุคคลที่ถูกขอให้ส่งตัวในความผิดนั้นอยู่ 6.สนธิสัญญานี้ไม่กำหนดให้คู่ภาคีมีพันธกรณีใด ๆ ที่จะต้องส่งคนชาติของคนข้ามแดน อย่างไรก็ดี กรณีที่มีการปฏิเสธการส่งคนชาติข้ามแดน ภาคีที่ได้รับการร้องขอจะต้องเสนอคดีนั้น ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของตนเพื่อฟ้องคดีต่อไป เว้นแต่ว่าภาคีที่ได้รับการร้องขอไม่มีอำนาจเหนือความผิดนั้น ก็จะไม่ต้องเสนอคดีนั้นต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจเพื่อฟ้องคดี

“7.กรณีเร่งด่วน ภาคีคู่สัญญาแต่ละฝ่ายสามารถร้องขอให้มีการจับกุมตัวชั่วคราว (Provisional Arrest) บุคคลที่ต้องการ เพื่อให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนต่อไปได้ 8.ให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนโดยวิธีการแบบย่อ (Simplified procedure) ในกรณีที่บุคคลที่ถูกขอให้ส่งตัวยินยอมต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหรือศาลแห่งภาคีที่ได้รับการร้องขอ 9.กรณีที่ได้รับคำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากประเทศผู้ร้องขอตั้งแต่สองประเทศขึ้นไป ให้ภาคีที่ได้รับการร้องขอพิจารณาว่าจะส่งบุคคลนั้นข้ามแดนให้แก่ประเทศใด โดยนำเหตุผลดังต่อไปนี้มาพิจารณาทั้งหมด 1)ประเทศผู้ร้องขอมีหรือไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศไทย 2)สัญชาติของบุคคลที่ถูกขอให้ส่งตัว 3)เวลาและสถานที่กระทำความผิด 4)ความร้ายแรงของความผิด 5) ลำดับคำร้องขอที่ได้รับจากประเทศผู้ร้องขอ” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

น.ส.รัชดา กล่าวว่า 10.กำหนดหลักการว่าบุคคลที่ถูกส่งตัวไป จะไม่ถูกลงโทษในความผิดอื่น นอกเหนือจากในความผิดที่ขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน 11.กำหนดขั้นตอนการวินิจฉัยคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนและการส่งมอบตัวบุคคลในความผิดที่ขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน 12.ภาคีที่ได้รับการร้องขอจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการส่งผู้ร้ายข้ามแดนจนกระทั่งถึงเวลาส่งมอบตัว

“ร่างสนธิสัญญาฉบับนี้ ถือเป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนการลงนามและการดำเนินการให้มีผลผูกพัน แต่ไม่เข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา เนื่องจากร่างสนธิสัญญาไม่ได้มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตประเทศไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขต หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้าหรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

Advertisement

Verified by ExactMetrics