วันที่ 28 เมษายน 2024

ประยุทธ์ เสนอ “วัคซีน – ยารักษาโควิด-19” เป็นสินค้าสาธารณะของโลก

People Unity News : ประยุทธ์ เสนอ “วัคซีน – ยารักษาโควิด-19” เป็นสินค้าสาธารณะของโลก บนเวที Paris Peace Forum ครั้งที่ 4

วันนี้ (11 พ.ย.64) ในพิธีเปิดการประชุม Paris Peace Forum ครั้งที่ 4 ภายใต้หัวข้อ “Mind the gaps: Improving global governance after COVID-19” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงผ่านการบันทึกเทป สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีเสนอให้วัคซีน – ยารักษาโควิด-19 เป็นสินค้าสาธารณะของโลก พร้อมสนับสนุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และโมเดลเศรษฐกิจ BCG รวมถึงการเตรียมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

การประชุม Paris Peace Forum มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและภาคส่วนต่าง ๆ ในการเสริมสร้างสันติภาพโลกและระบอบพหุภาคีนิยม โดยปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 – 13 พ.ย. 64 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส

Advertising

รัสเซียยินดีผลักดันการจัดทำ FTA ไทยกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย

People Unity : ไทยและรัสเซียยินดีผลักดันการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทยกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 เวลา 15.00 น. ณ ห้องรับรองรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ชั้น 1 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายเยฟเกนี โตมีฮิน เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในโอกาสเข้ารับหน้าที่ สรุปสาระสำคัญการหารือ ดังนี้

รองนายกรัฐมนตรียินดีที่ได้พบเอกอัครราชทูตฯ ชื่นชมบทบาทของเอกอัครราชทูตฯตั้งแต่เข้ารับหน้าที่ ซึ่งได้กระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทยกับรัสเซียเป็นอย่างดี มีการเยือนระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยหวังว่าไทยจะได้มีโอกาสต้อนรับผู้แทนระดับสูงของรัสเซียในปีนี้

เอกอัครราชทูตฯชื่นชมรองนายกรัฐมนตรีที่เป็นบุคคลสำคัญในรัฐบาล รับผิดชอบต่อนโยบายของไทยในหลายด้าน และยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ความสัมพันธ์ไทย-รัสเซียมีพลวัตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ รัสเซียในฐานะที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี และมีทรัพยากรด้านพลังงาน เชื่อว่ายังมีช่องทางที่เป็นโอกาสอีกหลากหลายในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ โดยพร้อมส่งเสริมกลไกที่ให้ผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

ทั้งสองฝ่ายยินดีที่มีมูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น โดยทั้งสองฝ่ายมุ่งหวังว่าจะร่วมมือผลักดันให้การค้าขยายตัวเพิ่มมากขึ้นตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ต่อไป ฝ่ายรัสเซียยืนยันว่าพร้อมผลักดันการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทยกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย โดยฝ่ายไทยขอบคุณที่รัสเซียนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้ากลุ่มเกษตรกรรม และขอบคุณที่รัสเซียดูแลนักลงทุนไทยเป็นอย่างดี ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีขอให้ฝ่ายรัสเซียพิจารณาเพิ่มการลงทุนในไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC และสนับสนุนความร่วมมือผ่านอุตสาหกรรม S-Curves ในสาขาต่างๆที่รัสเซียเชี่ยวชาญ ทั้งนี้ ยินดีจัดการหารือระหว่างรัสเซียและฝ่ายไทยที่เกี่ยวข้องเพื่อหาช่องทางลดข้อจำกัด เพื่อเพิ่มการลงทุนระหว่างกัน

ในโอกาสนี้ ฝ่ายรัสเซียได้ชื่นชมไทยด้านการจัดการท่องเที่ยวโดยมีชาวรัสเซียที่เดินทางมาเที่ยวไทยจำนวนมาก จึงขอให้ไทยพิจารณาสนับสนุนการเงินสกุลท้องถิ่นเพื่อเป็นส่วนในการส่งเสริมการท่องเที่ยว และขอให้ไทยพิจารณาความร่วมมือระหว่างระดับจังหวัดของไทยกับภูมิภาคของรัสเซียเป็นอีกช่องทางความร่วมมือด้วย

ความสัมพันธ์ต่างประเทศ : รัสเซียยินดีผลักดันการจัดทำ FTA ไทยกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย

People Unity : post 21 สิงหาคม 2562 เวลา 11.30 น.

เผยผลสำรวจคอรัปชั่นเอเชียล่าสุด กัมพูชา-อินโดนีเซีย-เวียดนามน่าเป็นห่วง ไทยเป็นบวก

People unity news online : รายงานสำรวจด้านปัญหาการคอรัปชั่นในเอเชีย ระบุว่า การฉ้อราษฎร์บังหลวงยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาของหลายประเทศในเอเชีย แม้ว่าโครงการต่อต้านการคอรัปชั่นในบางประเทศ เช่น ประเทศจีน จะสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดความตื่นตัวในเรื่องนี้มากขึ้นก็ตาม

รายงานสำรวจที่จัดทำโดยองค์กร Transparency International และศูนย์ Political and Economic Risk (PERC) ในฮ่องกง ซึ่งเปิดเผยออกมาเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560 ชี้ว่า “การรับรู้และความตื่นตัวในปัญหาคอรัปชั่นเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในหมู่ชาวเอเชียในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา”

ถึงกระนั้นรายงานชิ้นนี้ระบุว่า ปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวงยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของหลายประเทศในเอเชีย

ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น คือประเทศที่ประสบปัญหาคอรัปชั่นในระดับต่ำ ขณะที่ กัมพูชา อินโดนีเซีย และเวียดนาม มีปัญหาคอรัปชั่นที่น่าเป็นห่วง

ในส่วนของจีน รายงานชี้ว่าดูเหมือนปัญหาการคอรัปชั่นเริ่มลดลงหลังจากประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ใช้นโยบายปราบปรามคอรัปชั่นในทุกระดับ แต่ PERC ก็ระบุว่ายังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมาก เนื่องจากการคอรัปชั่นได้ครอบคลุมไปทั่วทั้งสังคมจีน

ขณะที่ Transparency International บอกว่า ชาวจีนเกือบ 3 ใน 4 เชื่อว่าระดับการฉ้อราษฎร์บังหลวงได้เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ซึ่งรัฐบาลปักกิ่งก็ได้พยายามใช้มาตรการหลายอย่างในการปราบปราม เช่น การเพิ่มบทลงโทษสำหรับคดีฉ้อราษฎร์บังหลวงและรับสินบน และปรับแก้กฎหมายเกี่ยวกับการต่อต้านการแข่งขันอย่างไม่ยุติธรรม เป็นต้น

สำหรับอินเดียซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีปัญหาการคอรัปชั่นมากที่สุดจากการสำรวจครั้งนี้ รายงานชี้ว่าแม้ชาวอินเดียส่วนใหญ่ต่างเชื่อว่าไม่มีความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาคอรัปชั่นมากนัก แต่ก็ได้ยกย่องแนวทางใหม่ๆในการแก้ปัญหาคอรัปชั่นของรัฐบาล นายนเรนธรา โมดี เช่น การยกเลิกใช้ธนบัตรมูลค่าสูงในอินเดีย

ทางด้านประเทศในเอเชียที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัวรวดเร็ว เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และกัมพูชา รายงานบอกว่าประชาชนยังมีความตื่นตัวน้อยเกี่ยวกับปัญหาคอรัปชั่น

รศ.ดร.ภวิดา ปานะนนท์ แห่งคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “บรรดานักลงทุนในประเทศเหล่านี้ต่างยอมรับการคอรัปชั่นในระดับหนึ่ง ว่าเป็นต้นทุนหรือความเสี่ยงในการลงทุนในประเทศที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตนี้”

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.ภวิดา ปานะนนท์ ให้ความเห็นว่า “ความมั่นใจของภาคธุรกิจนั้นจะลดลง หากไม่สามารถคาดเดาได้ว่าการฉ้อฉลหรือติดสินบนนั้นจะบานปลายไปถึงขั้นไหน”

ในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทย รายงานสำรวจของ Transparency International และศูนย์ Political and Economic Risk (PERC) ชี้ว่า คนไทยส่วนใหญ่มองโครงการต่อต้านคอรัปชั่นของรัฐบาลชุดปัจจุบันในแง่บวก โดย 72% ของกลุ่มตัวอย่างเชื่อว่าปัญหาการคอรัปชั่นได้ลดลงภายใต้รัฐบาลชุดนี้ ขณะที่ 14% มองว่ามีการคอรัปชั่นเพิ่มขึ้น

โดย PERC ระบุว่า งานวิจัยของมหาวิทยาลัยหอการค้าได้สรุปไว้ว่า มูลค่าเงินสินบนที่องค์กรต่างๆ ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐในประเทศไทย ได้ลดลงอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี

ด้าน ดร.บัณฑิต นิจถาวร แห่งสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือ IOD และอดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ขณะนี้โครงการต่างๆในการต่อต้านการคอรัปชั่นมีความก้าวหน้าไปมาก ด้วยความร่วมมือของรัฐบาล ภาคธุรกิจและประชาชน”

ดร.บัณฑิต ระบุด้วยว่าปัญหาคอรัปชั่นในไทยเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกและทำกันอย่างเป็นระบบ จึงต้องอาศัยทุกฝ่ายในการช่วยกันแก้ไขจัดการ

เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว รัฐบาลไทยได้จัดตั้งศาลพิเศษขึ้นมาดูแลคดีคอรัปชั่นโดยเฉพาะ และได้ตัดสินคดีใหญ่ๆไปแล้วหลายคดี รวมถึงคดีของอดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จุฑามาศ ศิริวรรณ ที่ถูกตัดสินจำคุก 50 ปี และคดีผู้บริหารการบินไทยรับสินบนจากบริษัทผลิตเครื่องยนต์โรลล์สรอยซ์ของอังกฤษ ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีในขณะนี้ (ข่าวจากเว็บไซต์ voathai.com 4 เมษายน 2560 ผู้สื่อข่าว Ron Corben รายงานจากกรุงเทพฯ / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)

People unity news online : post 5 เมษายน 2560 เวลา 00.33 น.

ภาพประวัติศาสตร์ เที่ยวบินปฐมฤกษ์ Saudia Airlines จากซาอุดีอาระเบีย – กรุงเทพ ในรอบ 32 ปี

People Unity News : ภาพประวัติศาสตร์ เที่ยวบินปฐมฤกษ์ สายการบิน Saudia Airlines จากกรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย – กรุงเทพฯ ในรอบ 32 ปี

1 มี.ค. 2565 เมื่อวาน 28 ก.พ. เที่ยวบินปฐมฤกษ์ SV846 ของสายการบิน Saudia Airlines ได้บินตรงจากเมืองเจดดาห์ – กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในเวลา 18.05 น. โดยเป็นคณะนักท่องเที่ยวชาวซาอุฯ จำนวน 71 คน นับเป็นการเปิดเส้นทางบินครั้งแรกในรอบ 32 ปี และเป็นสัญญาณที่ดีในการเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวชาวซาอุฯ เดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น

รวมถึงเป็นโอกาสต่อยอดในการขยายตลาดนักท่องเที่ยวขนาดใหญ่ เช่น ยุโรปและตะวันออกกลาง โดยไทยจะขยายกลุ่มเป้าหมายเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวคนรุ่นใหม่ กลุ่มนักท่องเที่ยวเดินทางครั้งแรก กลุ่มรักษาพยาบาลและดูแลสุขภาพ กลุ่มครอบครัว ฯลฯ ซึ่งจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวของไทยที่ได้รับความนิยม ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต พัทยา พังงา กระบี่ เกาะสมุย และเชียงใหม่

Advertising

ลาวตอบรับแผนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจร่วมสองประเทศ 5 ปีที่ไทยเสนอ

People unity news online : นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ อุตสาหกรรม คมนาคม พลังงาน ท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งด้านการค้าชายแดน การเงิน การลงทุน และท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังมีภาคเอกชน 3 สถาบัน คณะนักธุรกิจรายใหญ่กว่า 30 ราย  และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ร่วมเดินทางเยือน สปป.ลาว อย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 23 – 25 พฤษภาคม 2560

โอกาสนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของไทย ได้หารือเต็มคณะเพื่อกระชับความสัมพันธ์และเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับ นายสมดี ดวงดี รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจและรัฐมนตรีกระทรวงการเงิน สปป.ลาว พร้อมกับทีมเศรษฐกิจ สปป.ลาว โดยประกาศสนับสนุนการก้าวไปสู่การเป็น Battery of Asia ของ สปป.ลาว และเป็น Land Bridge เชื่อมโยงภายในอาเซียน และอาเซียนสู่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ขณะที่ฝ่ายไทยพร้อมใช้ศักยภาพสนับสนุนความร่วมมือด้านพลังงาน คมนาคม โลจิสติกส์ การท่องเที่ยว เกษตร อุตสาหกรรม และการพัฒนา SMEs ซึ่ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับถึงนโยบายสำคัญในการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือกลุ่มสมาชิก CLMVT เพื่อยกระดับการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวในภูมิภาคอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

ซึ่งในเวทีการประชุมทีมเศรษฐกิจระหว่าง สปป.ลาวและไทยในครั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีไทยได้เสนอแนวทางจัดทำมาสเตอร์แพลนหรือแผนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจสองประเทศระยะ 5 ปี เพื่อให้เกิดการพัฒนา สร้างโอกาส นำไปสู่การช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทุกด้าน ทั้งการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ทั้งนี้มั่นใจว่าแผนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจระยะ 5 ปี จะเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือครั้งสำคัญ เอื้อประโยชน์ให้ CLMVT และเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างไทยและ สปป.ลาว ขึ้นอีกเท่าตัวหรือประมาณ 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในระยะ 5 ปีด้วย

นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้นำคณะเข้าเยี่ยมคารวะ นายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว โดยได้กล่าวถึงแนวคิดยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทย -สปป.ลาว ระยะ 5 ปี ที่ได้เสนอต่อที่ประชุมทีมเศรษฐกิจสองฝ่าย  ซึ่งนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว  กล่าวเห็นด้วยและพร้อมสนับสนุนความร่วมมือกับไทยจัดทำยุทธศาสตร์การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวดังกล่าว

สำหรับแผนการขับเคลื่อนได้มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศประสานกับกระทรวงวางแผนการและการลงทุนของ สปป.ลาว เมื่อได้ข้อสรุปร่วมกันแล้ว จะเสนอ Master Plan ต่อการประชุม ครม.ไทย-สปป.ลาว เพื่อพิจารณาในโอกาสต่อไป

ทั้งนี้ ไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของ สปป.ลาว ที่มีความใกล้ชิดกันแบบมิตรสหายที่แน่นแฟ้น ตลอดจนภูมิประเทศ ที่มีความยาวของเส้นเขตแดนประมาณ 1,810 กิโลเมตร มีพื้นที่ติดต่อกับไทย 12 จังหวัด มีขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรม วิถีชีวิตและภาษาพูดที่คล้ายคลึงกัน สามารถเข้าใจกันได้อย่างง่ายดาย โดยไม่ต้องใช้ล่ามแปล ปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับไทยและ สปป.ลาว ในการต่อยอดความร่วมมือกันในทุกมิติ

People unity news online : post 27 พฤษภาคม 2560 เวลา 23.23 น.

 

ประยุทธ์ แถลงข่าวร่วมนายกฯมาเลเซีย การหารือประเด็นสำคัญร่วมกัน 4 ด้าน

People Unity News : ประยุทธ์ แถลงข่าวร่วมนายกฯมาเลเซีย พร้อมขับเคลื่อนความร่วมมือรอบด้าน ยึดประโยชน์ประชาชนของทั้งสองประเทศ

25 ก.พ. 65 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวถ้อยแถลงในการแถลงข่าวร่วมกับ ดาโตะ ซรี อิซมาอิล ซาบรี ยาคบ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล โดยนายกฯ มาเลเซีย ถือเป็นผู้นำรัฐบาลต่างประเทศคนแรกที่เยือนประเทศไทย หลังสถานการณ์โรคโควิด-19 สะท้อนความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างสองประเทศ

นายกฯ ไทย ชื่นชมความมุ่งมั่นและวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของนายกฯ มาเลเซีย ในการขับเคลื่อนประเทศท่ามกลางความท้าทายต่างๆ พร้อมยืนยันความตั้งใจเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและมั่งคั่งแก่ประชาชนทั้งสองประเทศ บนพื้นฐานความไว้เนื้อเชื่อใจ เสมือน “ครอบครัวเดียวกัน”

ทั้งสองฝ่ายได้หารือประเด็นสำคัญร่วมกันใน 4 ประเด็น ดังนี้

1.การฟื้นฟูความเชื่อมโยงในทุกมิติ การเดินทางระหว่างประชาชนของสองประเทศ โดยเฉพาะการเดินทางของผู้ที่ฉีดวัคซีนครบแล้วโดยไม่ต้องกักกันโรค ทั้ง Vaccinated Travel Lane (VTL) ของมาเลเซีย และระบบ Test and Go ของไทย รวมถึงการเดินทางผ่านพรมแดนทางบกเพิ่มเติม

2.การกระตุ้นเศรษฐกิจและแสวงหาความร่วมมือสาขาใหม่ๆ ซึ่งที่ผ่านมามีปริมาณการค้าชายแดนและผ่านแดนเพิ่มสูงขึ้น และคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อีก โดยตั้งเป้ามูลค่าการค้าระหว่างกันที่ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2568 รวมถึงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล และการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG

3.การพัฒนาพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้และความมั่นคงชายแดน โดยนายกฯ เชิญชวนให้มาเลเซียร่วมลงทุนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงอุตสาหกรรมยางพาราและฮาลาล พร้อมชี้แจงสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งฝ่ายมาเลเซียสนับสนุนท่าทีของไทยในการแสวงหาทางออกด้วยสันติวิธี

4.การรื้อฟื้นกลไกหารือทวิภาคี ที่ครั้งนี้จะเป็นการปูทางสู่การแลกเปลี่ยนการเยือนและการประชุมหารือฯระหว่างกันต่อไป โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย – มาเลเซีย ครั้งที่ 14 ในเดือน มี.ค. นี้

Advertising

ทำเนียบขาวออกแถลงการณ์ว่า “ปธน.ทรัมป์ได้โทรศัพท์มาพูดคุยกับพลเอกประยุทธ์”

People unity news online : ทำเนียบขาวออกแถลงการณ์เรื่อง “ปธน.ทรัมป์โทรศัพท์เชิญพลเอกประยุทธ์เยือนทำเนียบขาว” โดย “ทรัมป์” บอกกับ “พลเอกประยุทธ์” ว่าความสัมพันธ์ไทย – สหรัฐฯสำคัญต่อเอเชียแปซิฟิก

สำนักงานโฆษกทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีแถลงการณ์ออกมาเมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 เมษายน 2560 ระบุว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้โทรศัพท์พูดคุยหารือกับนายกรัฐมนตรีไทย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันอาทิตย์

แถลงการณ์ของทำเนียบขาว ชี้แจงว่า ผู้นำทั้งสองประเทศได้เน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์ที่ยาวนานระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศไทย ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญต่อสันติภาพและความมั่นคงในแถบเอเชียแปซิฟิก

ประธานาธิบดีทรัมป์ และพลเอกประยุทธ์ ยังได้แสดงความสนใจร่วมกันอย่างแข็งขัน ให้มีการกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ

ประธานาธิบดีทรัมป์ยังได้ยืนยันถึงภารกิจของสหรัฐฯ ในการมีส่วนร่วมและมีบทบาทนำในเอเชีย ด้วยความร่วมมือกับประเทศพันธมิตร อย่างเช่น ประเทศไทย

นอกจากนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ยังได้กล่าวเชิญนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เดินทางมาเยี่ยมเยือนที่ทำเนียบขาวด้วย

THE WHITE HOUSE

Office of the Press Secretary

FOR IMMEDIATE RELEASE

April 30, 2017

Readout of President Donald J. Trump’s Call with Prime Minister Prayut Chan-ocha‎ of Thailand

President Donald J. Trump spoke today with Prime Minister Prayut Chan-ocha‎ of Thailand. The two leaders underscored their commitment to the longstanding alliance between the United States and Thailand, which actively contributes to peace and stability in the Asia-Pacific region. President Trump and Prime Minister Prayut expressed a strong shared interest in strengthening the trade and economic ties between the two countries. President Trump affirmed the commitment of the United States to playing an active and leading role in Asia, in close cooperation with partners and allies like Thailand, and invited Prime Minister Prayut to the White House. (ข่าวจาก voathai.com)

People unity news online : post 1 พฤษภาคม 2560 เวลา 14.43 น.

“เตีย บันห์” หวานใส่ “บิ๊กตู่” ระบุสัมพันธ์ไทย-กัมพูชายุคนี้ใกล้ชิดกันมากที่สุด

People unity news online : วันนี้ (21 มีนาคม 2561) เวลา 13.30 น. ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล สมเด็จพิชัยเสนา เตีย บันห์ (Somdech Pichey Sena Tea Banh ) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชา เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในโอกาสเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (General Border Committee – GBC) ไทย – กัมพูชา ครั้งที่ 13 ระหว่างวันที่ 19 – 21 มีนาคม 2561 โดยสรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีโอกาสได้พบกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชาอีกครั้ง หลังจากที่เยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการและเข้าร่วมการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ (JCR) ไทย – กัมพูชา ครั้งที่ 3 และกล่าวว่ารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชานับเป็นเพื่อนคนสำคัญและรู้จักกันมาอย่างยาวนาน พร้อมชื่นชมกับบทบาทของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชาที่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและกัมพูชา ส่งผลให้ความสัมพันธ์ทวิภาคีและความร่วมมือระหว่างกันมีความใกล้ชิดแน่นแฟ้น

ในโอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชากล่าวอวยพรวันเกิดนายกรัฐมนตรี ขอให้นายกรัฐมนตรีมีสุขภาพแข็งแรงและประสบความสำเร็จในภารกิจทุกประการ สำหรับการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย – กัมพูชา ครั้งที่ 13 เป็นไปด้วยความราบรื่นและประสบผลสำเร็จ ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศนับว่าเป็นช่วงที่ไทยและกัมพูชาใกล้ชิดกันมากที่สุด ความร่วมมือระหว่างกันมีประสิทธิภาพและสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกัน

นอกจากนี้ ได้มีการหารือถึงความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้พะยูง ซึ่งปัจจุบันสถิติการลักลอบตัดไม้พะยูงบริเวณชายแดนไทย – กัมพูชาลดน้อยลง แต่ยังคงพบว่ามีการลักลอบตัดไม้พะยูงบริเวณชายแดนไทย – กัมพูชาอยู่ ทั้งสองประเทศจึงควรร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการสกัดกั้นการลักลอบกระทำผิด นอกจากนั้น ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นร่วมกันที่จะติดตามบุคคลที่กระทำกฎหมายและหลบหนีคดีเข้าไปอยู่ในทั้งสองประเทศ เพื่อไม่ให้กลุ่มบุคคลใดใช้ประเทศไทยและกัมพูชาเป็นฐานในการก่อความไม่สงบและทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกัน

ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องกันว่า แม้ไทยและกัมพูชายังมีพื้นที่บริเวณชายแดนที่ทับซ้อนและยังหาข้อสรุปไม่ได้ ทั้งสองประเทศควรร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสค้าขายระหว่างกันอย่างสะดวก ตลอดจนพัฒนาพื้นที่ชายแดนให้มีความสงบสุขและมั่นคง นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายหวังว่าความเชื่อมโยงด้วยเส้นทางรถไฟในอนาคต จะทำให้ทั้งสองประเทศมีการติดต่ออย่างสะดวกและเพิ่มมูลค่าการค้าขายระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้น

ทั้งสองฝ่ายยังแสดงความพร้อมที่จะสนับสนุนความร่วมมือระหว่างกันในทุกมิติ ทั้งทางด้านความมั่นคง การค้าและการลงทุน รวมถึงยินดีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่องสินค้าเกษตรระหว่างกัน ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องว่า ไทยและกัมพูชาควรจะดำรงความสัมพันธ์อันดี เพื่อมุ่งสร้างผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศในทุกระดับ ทั้งระดับรัฐบาลและประชาชน

People unity news online : post 21 มีนาคม 2561 เวลา 19.20 น.

“จุรินทร์” รุกตลาดกลุ่มประเทศยูเรเซีย เพิ่มการค้า-การลงทุน ผลักดันการเจรจา FTA

People Unity News : รัฐบาลกระชับสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับกลุ่มประเทศยูเรเซีย เพิ่มการค้า-การลงทุน ผลักดันสู่เจรจา FTA

23 กันยายน 2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า รัฐบาลเดินหน้าขยายตลาดการค้า การลงทุนกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Union) ประกอบด้วย ประเทศรัสเซีย คาซัคสถาน เบลารุส อาเมเนีย และคีกีซสถาน โดยจะมีการประชุมคณะทำงานร่วมระหว่างไทยกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Commission: EEC) ครั้งที่ 2 แบบทางไกล ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ในวันที่ 27 ก.ย.นี้  โดยฝ่ายไทยมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย

ที่ผ่านมาไทยและกลุ่มประเทศยูเรเซีย ได้มีข้อตกลงความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายสนใจ รวมถึงการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน ผ่านกลไกคณะทำงานร่วม โดยในปี 2563 มูลค่าการค้ารวมประมาณกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกหลักของประเทศไทย คือ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เครื่องปรับอากาศ สินค้าหลักที่ไทยนำเข้า คือ น้ำมันดิบ เหล็กและผลิตภัณฑ์ ปุ๋ย ยาจำกัดศัตรูพืช สินแร่โลหะ เป็นต้น

นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการประชุมครั้งนี้ ท่าทีของประเทศไทย จะมุ่งเน้นไปที่ 1) การหาแนวทางเพื่อขยายการค้าและการลงทุนภายใต้สถานการณ์โควิด-19 2) การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านนโยบาย กฏระเบียบด้านการค้าและการลงทุน เช่น การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในประเทศที่เกี่ยวข้องของแต่ละฝ่าย มาตรการเยียวยาทางการค้า กฎระเบียบด้านศุลกากรและกฎระเบียบทางเทคนิคและมาตรการสุขอนามัย จะผลักดันความร่วมมือในสาขา อาทิ นวัตกรรมและการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิตอล เกษตรอัจฉริยะ เศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว (BCG โมเดล) และความร่วมมือด้านยางพารา และ 3) ติดตามความคืบหน้าเรื่องการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) และกระบวนการจัดทำ FTA ของแต่ละฝ่าย

“รัฐบาลอยู่ระหว่างการศึกษา และเจรจาทำข้อตกลงการค้าเสรีกับหลายประเทศ เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุน โดยทุกเรื่องได้ดำเนินการอย่างรอบคอบและรับฟังข้อเสนอจากทุกภาคส่วน สำหรับการประชุมกับกลุ่มประเทศยูเรเซียในครั้งนี้ ผลลัพธ์จะนำไปสู่การยกระดับและกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง เป็นช่องทางสำคัญในการผลักดันการนำไปสู่การเริ่มต้นเจรจาจัดทำ FTA ระหว่างกันในอนาคต” นางสาวรัชดากล่าว

Advertising

พรุ่งนี้ “บิ๊กตู่” ไปประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 2 ที่กัมพูชา

People unity news online : นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 2

วันนี้ (9 มกราคม 2561) พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยภารกิจด้านต่างประเทศของนายกรัฐมนตรีว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดเข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 2 (2nd Mekong-Lancang Leaders’ Meeting) ในวันที่ 10 มกราคม 2561 ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 2 (2nd Mekong-Lancang Leaders’ Meeting) จะจัดขึ้นในวันที่ 10 มกราคม 2561 ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยฝ่ายกัมพูชาจะเป็นประธานร่วมกับจีน ภายใต้หัวข้อ แม่น้ำแห่งสันติภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืนของเรา (Our River of Peace and Sustainable Development) ซึ่งการประชุมครั้งนี้จะทบทวนการดำเนินงานของประเทศสมาชิกจากการประชุมผู้นำฯ ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนมีนาคม 2559 พร้อมทั้งจะกำหนดทิศทางและกิจกรรมของกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ในอนาคต โดยสมาชิกทั้งหมด 6 ประเทศ ประกอบด้วย จีน กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม จะหารือร่วมกันเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงบนพื้นฐานของความเท่าเทียม ภายใต้หลักการการมีส่วนร่วม ความสมัครใจ และหลักฉันทามติ

ในการประชุมครั้งนี้ ไทยมุ่งมั่นที่จะ (1) พัฒนากรอบความร่วมมือดังกล่าวให้ทันสมัยมากขึ้น (2) ส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกรอบแม่โขง – ล้านช้างกับแนวคิดหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (Belt Road Initiative – BRI) เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของอนุภูมิภาค (3) ไทยยังสนับสนุนให้กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง เป็นกลไกสำคัญในการผลักดันให้อนุภูมิภาคเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแบบยั่งยืนผ่านการใช้เครื่องมือที่ทันสมัย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและโครงการสำคัญของประเทศไทย อาทิ นโยบายประเทศไทย 4.0 ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และนโยบายประเทศไทย+1 (4) การยกระดับความร่วมมือด้านน้ำระหว่างประเทศสมาชิก ให้ได้รับประโยชน์ร่วมกัน บนพื้นฐานของความรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งจะช่วยให้ภาคการเกษตรของแต่ละประเทศมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไป

เอกสารผลลัพธ์การประชุม 2 ฉบับ ได้แก่ (1) แผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี แม่โขง – ล้านช้าง พ.ศ. 2561 – 2565  (5 – Year Plan of Action 2018 – 2022) เป็นเอกสารที่จะกำหนดแนวทางการดำเนินงานของกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ในระยะ 5 ปีข้างหน้า และ (2) ปฏิญญาพนมเปญ (Phnom Penh Declaration) เป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของผู้นำจะมุ่งสนับสนุนกรอบความร่วมมือดังกล่าวให้บรรลุเป้าประสงค์ของการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประชาชนในประเทศลุ่มน้ำโขงขอเพิ่มค่า โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีมีกำหนดจะพบหารือทวิภาคีกับสมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และนายหลี่ เค่อ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีนด้วย

People unity news online : post 9 มกราคม 2561 เวลา 13.50 น.

Verified by ExactMetrics