วันที่ 12 พฤษภาคม 2024

“บิ๊กตู่” กล่าวต่อที่ประชุม UN มุ่งการพัฒนายั่งยืนผ่านระบบสาธารณสุข โมเดลเศรษฐกิจ BCG และ Digital

People Unity News : ประยุทธ์กล่าวถ้อยแถลงผ่านกิจกรรม SDG Moment มุ่งขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านระบบสาธารณสุข โมเดลเศรษฐกิจ BCG และการพัฒนาด้าน Digital ในการประชุม UNGA สมัยที่ 76

20 กันยายน 2564 เวลา 21.41 น. (ซึ่งตรงกับเวลา 10.41 น. ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวถ้อยแถลงในกิจกรรม “Sustainable Development Goals (SDG Moment)” ครั้งที่ 2 ในห้วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 76 (76th Session of the United Nations General Assembly: UNGA76) ผ่านระบบประชุมทางไกล โดยสรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรียินดีที่มีส่วนร่วมในกิจกรรม SDG Moment รัฐบาลไทยร่วมกับทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างต่อเนื่อง และได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อดำเนินนโยบายและใช้งบประมาณให้ตอบโจทย์กับการพัฒนาประเทศและนำไปสู่การบรรลุ SDGs ตลอดจนได้นำเสนอรายงานผลการทบทวนการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติ โดยสมัครใจ (VNR: Voluntary National Review) ต่อสหประชาชาติ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีระบุถึงหมุดหมายที่สำคัญ 3 ประการ เพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs ดังนี้

1.ส่งเสริมสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดีให้คนทุกช่วงอายุ โควิด-19 ได้ตอกย้ำความสำคัญของการมีระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ครอบคลุมและทั่วถึง รวมทั้งการจัดสรรงบประมาณสำหรับการประกันสุขภาพ ยกระดับอุตสาหกรรมทางการแพทย์และการบริการสาธารณสุขอย่างพอเพียง เร่งด่วน  เพื่อให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุสามารถพึ่งพาตนเองในยามวิกฤตได้

2.สร้าง “ความสมดุลของสรรพสิ่ง” ผ่านการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG มุ่งสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมบนพื้นฐานของความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เช่น เพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ต่อยอดอุตสาหกรรมชีวภาพและพลังงานทดแทน และปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ให้เป็นหนึ่งในฐานการผลิตขนาดใหญ่ของโลก ตั้งเป้าที่จะเพิ่มการผลิตรถไฟฟ้าพลังงานสะอาดให้ได้ร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ไทยทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2030

3.ขจัดความเหลื่อมล้ำและการพัฒนาด้าน digital literacy เพื่อปลดล็อคศักยภาพให้แก่ประชาชนในประเทศ ใช้ประโยชน์จากระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า หรือ TPMAP ที่เกิดจาก Big Data เพื่อตอบโจทย์ความท้าทาย รวมถึงปัญหาความยากจนอื่นๆต่อไป

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจะสำเร็จจากการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งนายกรัฐมนตรียืนยันเจตนารมณ์ของไทยที่จะก้าวไปข้างหน้า โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และพร้อมร่วมมือกับนานาประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปด้วยกัน

อนึ่ง กิจกรรม SDG Moment จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ 2563 ในรูปแบบการอภิปรายทั่วไปตามข้อมติของสมัชชาสหประชาชาติที่ต้องการย้ำความสำคัญและสร้างแรงบันดาลใจในการดำเนินการตามเป้าหมาย SDGs ภายในปี ค.ศ.2030 เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งการกล่าวถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีไทยเป็นโอกาสประชาสัมพันธ์แผนการขับเคลื่อน SDGs ของไทย โดยเฉพาะการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นมาตรการฟื้นฟูจากโควิด – 19 ที่สร้างสมดุล

Advertising

ประธานสภาที่ปรึกษาซาอุฯ พบนายกรัฐมนตรี

People Unity News : 20 กรกฎาคม 2566 ประธานสภาที่ปรึกษาแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย และคณะ เข้าเยี่ยมคารวะ “พล.อ.ประยุทธ์” พร้อมส่งเสริมการค้าการลงทุนโดยเฉพาะในเขตอีอีซี

ดร.อับดุลเลาะห์ โมฮัมเหม็ด อิบราฮิม อัล-ชีค ประธานสภาที่ปรึกษาแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย และคณะ เข้าเยี่ยมคารวะพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการ โดยทั้งสองฝ่ายยินดีจะสานต่อความสัมพันธ์ระหว่างกัน พร้อมส่งเสริมการค้าการลงทุนโดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ขณะที่ซาอุดีอาระเบีย มีแนวทางที่จะยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับหนังสือเดินทางพิเศษ และสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไป เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างทั้งสองประเทศ

Advertisement

ประยุทธ์ ลงนามกฎบัตร BIMSTEC เสนอความเชื่องโยง 5 ด้าน บก-ทะเล-พลังงาน-ดิจิทัล-คน

People Unity News : ประยุทธ์ ลงนามกฎบัตรบิมสเทค พร้อมเสนอความเชื่องโยง 5 ด้าน “บก – ทะเล – พลังงาน – ดิจิทัล – คน” เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจและเสริมสร้างเครือข่ายความใกล้ชิดระหว่างประชาชนและภาคธุรกิจ พร้อมเดินหน้าสู่ความมั่งคั่ง (Prosperous) ความยั่งยืน (Resilient and Robust) และการเปิดกว้าง (Open)

วันนี้ (30 มีนาคม 2565) เวลาประมาณ 10.35 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมการประชุมผู้นำความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (The Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation : BIMSTEC) ครั้งที่ 5 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจัดขึ้นโดยศรีลังกา ผ่านระบบการประชุมทางไกล พร้อมผู้นำและผู้แทนสมาชิก BIMSTEC โดยในการประชุมครั้งนี้ทุกประเทศจะร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการประชุม

นายโคฐาภยะ ราชปักษะ ประธานาธิบดีศรีลังกา ประธานจัดการประชุม กล่าวเปิดการประชุมระบุว่า เชื่อมั่นในความแข็งแกร่งของบิมสเทค จะสามารถผ่านพ้นอุปสรรค และความท้าทายในโลกร่วมกัน บิมสเทคซึ่งมี ขนาดประชากร 1 ใน 5 ของประชากรโลก ได้ขยายความร่วมมืออย่างสำคัญ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อให้มีเศรษฐกิจ และสาธารณสุข ที่เข้มแข็งมากขึ้น สะท้อนได้จากหัวข้อหลักของการประชุมในครั้งนี้ “BIMSTEC- Towards a Resilient Region, Prosperous Economies, Healthy Peoples” หรือ “บิมสเทค มุ่งหน้าสู่อนุภูมิภาคที่ยืดหยุ่น มั่งคั่ง และประชาชนมีสุขภาพดี” โดยในวันนี้ จะมีการลงนามกฎบัตร ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญ ในการเสริมสร้างบทบาทขับเคลื่อนภูมิภาค

การเดินเรือชายฝั่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคจึงต้องร่วมมือกัน ต่อต้านการค้ามนุษย์ รวมทั้งศรีลังกายินดีส่งเสริม และเชื่อมั่นว่าบิมสเทคสามารถขับเคลื่อนการค้าการลงทุนในภูมิภาคได้ นอกจากนี้ ยินดีร่วมมือด้านการพัฒนาเทคโนโลยี และทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้ง เห็นควรส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่งเสริมมาตรการทางเศรษฐกิจในระยะสั้นและระยะยาว ส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างประชาชน อีกทั้งต้องร่วมมือกันจัดการภัยพิบัติเพื่อเตรียมรับมือในอนาคต โดยศรีลังกามีกรอบแนวทางที่เน้นย้ำความยั่งยืน การลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การใช้พลังงานหมุนเวียน ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่า บิมสเทคจะบรรลุเป้าหมายสะท้อนเสียงของสมาชิกในเวทีโลก จึงขอให้ร่วมมือกันเพื่อประชาชนและประเทศของพวกเรา

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมว่า บิมสเทค ถือเป็นกรอบอนุภูมิภาคเดียวที่เชื่อมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับเอเชียใต้ ซึ่งช่วงเวลาจากการประชุมครั้งที่ 4 ที่ผ่านมา สถานการณ์โลกมีความผันผวนทำให้การดำเนินงานยังไม่คืบหน้ามากนัก นายกรัฐมนตรีจึงได้ย้ำถึงความสำคัญในการประชุมครั้งที่ 5 ในวันนี้ เพื่อทบทวนการทำงานร่วมกันอีกครั้ง ทั้งนี้ ไทยในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง ขับเคลื่อนและเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มประเทศกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ โดยในช่วงที่ไทยจะทำหน้าที่เป็นประธานบิมสเทค ตรงกับช่วงเวลาที่ไทยเป็นประธานเอเปค วาระปี ค.ศ. 2022 ไทยพร้อมส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มีคุณภาพ โดยนำแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศของทุกประเทศมาเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ทั้งสองภูมิภาค ตามความต้องการ และบริบทของแต่ละกรอบความร่วมมือด้วย

การประชุมวันนี้เป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์สำคัญของบิมสเทค ทุกประเทศสมาชิกเห็นชอบและลงนามในกฎบัตรบิมสเทค และเอกสารสำคัญอื่นๆ เพื่อเดินหน้าความร่วมมือต่อไปอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม ไทยเห็นว่าการค้าการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิกยังมีศักยภาพอีกมาก ความเชื่อมโยงระหว่างกันจึงเป็นสิ่งสำคัญเร่งด่วน ซึ่งไทยในฐานะประเทศผู้นำสาขาความเชื่อมโยงมุ่งมั่นจะผลักดันปความเชื่อมโยงในสาขาต่อไปนี้

  1. ความเชื่อมโยงทางบก ขอบคุณประเทศสมาชิกที่สนับสนุนข้อเสนอของไทย ในการจัดทำแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงด้านคมนาคม (BIMSTEC Master Plan on Transport Connectivity) จนบรรลุผลสำเร็จ พร้อมหวังว่าจะร่วมกันผลักดันให้โครงการสำคัญต่างๆ (Flagship projects) ภายใต้แผนแม่บทฯนี้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมต่อไป
  2. ความเชื่อมโยงทางทะเล นายกรัฐมนตรีเสนอให้เร่งรัดกระบวนการเพื่อให้สามารถลงนามร่างความตกลงการเดินเรือตามชายฝั่ง (BIMSTEC Coastal Shipping Agreement) ให้แล้วเสร็จ เพื่อความเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือของประเทศรอบอ่าวเบงกอลอย่างมีประสิทธิภาพ
  3. ความเชื่อมโยงด้านพลังงาน นายกรัฐมนตรีเสนอให้เร่งรัดการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบไฟฟ้าภายใต้บิมสเทค (Memorandum of Understanding for Establishment of the BIMSTEC Grid Interconnection)
  4. ความเชื่อมโยงด้านดิจิทัล นายกรัฐมนตรีเห็นควรส่งเสริมความเชื่อมโยงผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่อำนวยความสะดวกด้านเทคโนโลยี และ
  5. ความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน “คน” เป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินนโยบายต่างๆ ให้ยั่งยืนและสมดุล ปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชนจะเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนสาขาความร่วมมือ และทำให้บิมสเทคเป็นประชาคมของทุกคนอย่างแท้จริง “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

นายกรัฐมนตรีย้ำถึงความพร้อมของไทยที่จะสานต่อความสำเร็จของศรีลังกา โดยได้เสนอวิสัยทัศน์ในช่วงที่ไทยเป็นประธาน ภายใต้หัวข้อหลัก (theme) “Prosperous, Resilient and Robust, and Open BIMSTEC” หรือ โปรบิมสเทค (PRO BIMSTEC) ดังนี้

ประการแรก “ความมั่งคั่ง (Prosperous)” มิติด้านเศรษฐกิจ สนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งเสริมธุรกิจแบบใหม่ที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น มุ่งเน้นการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็กและขนาดย่อม

ประการที่สอง “ความยั่งยืน (Resilient and Robust)” มิติด้านความมั่นคง สนับสนุนความพร้อมในการเผชิญหน้ากับความท้าทายและวิกฤตในทุกรูปแบบ และสนับสนุนนโยบายในด้านการฟื้นตัว ซึ่งไทยพร้อมที่จะแบ่งปันโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่ไทยใช้เป็นยุทธศาสตร์ชาติในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด

ประการที่สาม “การเปิดกว้าง (Open)” มิติการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ เน้นให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง และเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งไทยมีแผนที่จะจัดทำเวทีพัฒนาความรู้กรอบบิมสเทค (BIMSTEC Knowledge Platform) เพื่อเป็นแพลตฟอร์มให้ประชาชนเข้าถึง และตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของความร่วมมือบิมสเทค โดยนายกรัฐมนตรีแสดงความพร้อมในการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในบิมสเทคที่ยั่งยืน มีคุณภาพ และเป็นมิตร กับสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย

โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวยืนยันถึงความมุ่งมั่นของไทยที่จะขับเคลื่อนบิมสเทคไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็งในทุกด้าน วาระการเป็นประธานบิมสเทคของไทยจะสอดคล้องกับแนวคิด “โปรบิมสเทค” เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน สมดุล และครอบคลุม

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีได้ร่วมลงนามในกฎบัตรบิมสเทค (BIMSTEC Charter) ที่ถือเป็นเครื่องมือหลักในการดำเนินการภายใต้กรอบบิมสเทค โดยกำหนดวัตถุประสงค์ หลักการ กลไกการดำเนินงาน สิทธิและหน้าที่ของรัฐสมาชิก การบริหารจัดการ งบประมาณ และประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และเมื่อประเทศสมาชิกลงนามและให้สัตยาบันแล้วจะส่งผลให้กรอบบิมสเทคกลายเป็นองค์การระหว่างประเทศในระดับรัฐบาล (inter-governmental organization)

Advertisement

จีนเปิดด่านรถไฟผิงเสียง นำเข้าทุเรียน ลำไย ผลไม้ไทย 4 มกราคมนี้

People Unity News : จีนเปิดด่านรถไฟผิงเสียง นำเข้าทุเรียน ลำไย ผลไม้ไทย 4 มกราคมนี้

2 ม.ค. 65 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) เปิดเผยว่า จากมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่เข้มงวดของด่านนำเข้าจีน ส่งผลต่อการส่งออกผลไม้ของไทยในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก ตนได้สั่งการทูตเกษตรเร่งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและตนได้หารือเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยเพื่อแก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกการขนส่งผลไม้ไทย

ล่าสุดได้รับรายงานจากกงสุล (ฝ่ายเกษตร) ของไทยประจำนครกว่างโจว ว่า ด่านรถไฟผิงเสียง (เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง) ประเทศจีนได้เปิดด่านแล้ว โดยกำหนดเปิดนำเข้าผลไม้ไทยตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 17 มกราคม 2565 เพื่อคลี่คลายปัญหากรณีด่านตงซิง (เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ประเทศจีน) ปิดด่าน ทําให้ทุเรียนและลําไยสดของประเทศไทยที่มีปริมาณมากต้องติดค้างอยู่ที่ด่านตงซิงซึ่งไม่สามารถยื่นคําร้องขอผ่านพิธีการศุลกากรเข้าประเทศจีนได้ ทางการจีนจึงประสานเป็นหนังสือขอความอนุเคราะห์ฝ่ายเกษตรฯกว่างโจวแจ้งมายังหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อํานวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการผลไม้ทําการเปลี่ยนแปลงใบรับรองสุขอนามัยพืชในช่วงวันที่ 1 – 3 มกราคม 2565 สินค้าผลไม้ไทยจะได้ยื่นคําร้องขอผ่านพิธีการศุลกากรผ่านด่านรถไฟผิงเสียงเพื่อขนส่งเข้าประเทศจีนได้

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะทำงานจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาผลไม้เศรษฐกิจล่วงหน้าทั้งระบบ กล่าวว่า ผู้ส่งออกต้องรีบยื่นขอเปลี่ยนแปลงใบรับรองสุขอนามัยพืชจากด่านตงชิงเป็นด่านรถไฟผิงเสียงและต้องระมัดระวังอย่าให้มีการปนเปื้อนโควิด-19 ทั้งคนขับ รถและสินค้า เพราะถ้าพบทางการจีนจะปิดด่านทันที จึงขอความร่วมมือทุกฝ่ายให้ช่วยกันเข้มงวดกวดขันอย่างเต็มที่

Advertising

ประธานาธิบดีเยอรมนี เยือนไทย เป็นครั้งแรกในรอบ 22 ปี 24 – 26 มกราคม

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 23 มกราคม 2567 โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ พร้อมให้การต้อนรับ หารือทวิภาคีประธานาธิบดีเยอรมนี เดินหน้ากระชับความสัมพันธ์สองประเทศ พร้อมผลักดันความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันในทุกมิติ

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมให้การต้อนรับและหารือทวิภาคีกับ ดร. ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ (H.E. Dr. Frank-Walter Steinmeier) ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในห้วงการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล (Official Visit) ระหว่างวันที่ 24 – 26 มกราคม 2567 ตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีจะให้การต้อนรับประธานาธิบดีเยอรมนี ภริยาและคณะอย่างเป็นทางการ วันพฤหัสบดีที่ 25 มกราคม 2567 ณ ทำเนียบรัฐบาล

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีกำหนดพบหารือทวิภาคีกับประธานาธิบดีเยอรมนี พร้อมด้วยรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือแนวทางส่งเสริมความร่วมมือในสาขาที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน พร้อมทั้งร่วมหารือร่วมกับภาคเอกชนของเยอรมนี หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีเยอรมนี จะร่วมแถลงข่าว และภายหลังเสร็จสิ้น นายกรัฐมนตรีจะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่ประธานาธิบดีเยอรมนี และภริยา พร้อมด้วยคณะผู้แทนเยอรมนี

นายชัย กล่าวว่า การเยือนครั้งนี้จะเป็นโอกาสการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับเยอรมนีให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยประธานาธิบดีเยอรมนี พร้อมคณะ จะเดินทางไปศึกษาดูงานในหลายภาคส่วนที่มีศักยภาพของไทย อาทิ โรงงานผลิตรถยนต์และยานยนต์ไฟฟ้า โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำไฮบริด โครงการผลิตข้าวที่ยั่งยืนแบบครบวงจร อุทยานแห่งชาติผาแต้ม และพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย ซึ่งจะสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งในด้านการค้า การลงทุน พลังงาน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอาชีวศึกษา

“นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า การเยือนในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสที่สำคัญของไทยและเยอรมนี ในการเสริมสร้างความเป็นพันธมิตร ขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างกันในทุกมิติให้มีความก้าวหน้า บนพื้นฐานของค่านิยมและผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การยกระดับความสัมพันธ์สู่ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ตลอดจนส่งเสริมภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของไทยในเวทีระหว่างประเทศ” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

สำหรับการเยือนในครั้งนี้ ถือเป็นการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกของประธานาธิบดีฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง และเป็นการเยือนประเทศไทยในระดับประธานาธิบดีของเยอรมนีเป็นครั้งแรกในรอบ 22 ปี นับตั้งแต่การเยือนของประธานาธิบดีโยฮันเนส เรา เมื่อปี 2545 นอกจากนี้การเยือนในครั้งนี้ ยังถือเป็นการต้อนรับผู้นำรัฐจากต่างประเทศอย่างเป็นทางการครั้งแรกของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน

รัสเซียยินดีผลักดันการจัดทำ FTA ไทยกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย

People Unity : ไทยและรัสเซียยินดีผลักดันการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทยกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 เวลา 15.00 น. ณ ห้องรับรองรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ชั้น 1 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายเยฟเกนี โตมีฮิน เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในโอกาสเข้ารับหน้าที่ สรุปสาระสำคัญการหารือ ดังนี้

รองนายกรัฐมนตรียินดีที่ได้พบเอกอัครราชทูตฯ ชื่นชมบทบาทของเอกอัครราชทูตฯตั้งแต่เข้ารับหน้าที่ ซึ่งได้กระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทยกับรัสเซียเป็นอย่างดี มีการเยือนระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยหวังว่าไทยจะได้มีโอกาสต้อนรับผู้แทนระดับสูงของรัสเซียในปีนี้

เอกอัครราชทูตฯชื่นชมรองนายกรัฐมนตรีที่เป็นบุคคลสำคัญในรัฐบาล รับผิดชอบต่อนโยบายของไทยในหลายด้าน และยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ความสัมพันธ์ไทย-รัสเซียมีพลวัตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ รัสเซียในฐานะที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี และมีทรัพยากรด้านพลังงาน เชื่อว่ายังมีช่องทางที่เป็นโอกาสอีกหลากหลายในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ โดยพร้อมส่งเสริมกลไกที่ให้ผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

ทั้งสองฝ่ายยินดีที่มีมูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น โดยทั้งสองฝ่ายมุ่งหวังว่าจะร่วมมือผลักดันให้การค้าขยายตัวเพิ่มมากขึ้นตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ต่อไป ฝ่ายรัสเซียยืนยันว่าพร้อมผลักดันการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทยกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย โดยฝ่ายไทยขอบคุณที่รัสเซียนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้ากลุ่มเกษตรกรรม และขอบคุณที่รัสเซียดูแลนักลงทุนไทยเป็นอย่างดี ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีขอให้ฝ่ายรัสเซียพิจารณาเพิ่มการลงทุนในไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC และสนับสนุนความร่วมมือผ่านอุตสาหกรรม S-Curves ในสาขาต่างๆที่รัสเซียเชี่ยวชาญ ทั้งนี้ ยินดีจัดการหารือระหว่างรัสเซียและฝ่ายไทยที่เกี่ยวข้องเพื่อหาช่องทางลดข้อจำกัด เพื่อเพิ่มการลงทุนระหว่างกัน

ในโอกาสนี้ ฝ่ายรัสเซียได้ชื่นชมไทยด้านการจัดการท่องเที่ยวโดยมีชาวรัสเซียที่เดินทางมาเที่ยวไทยจำนวนมาก จึงขอให้ไทยพิจารณาสนับสนุนการเงินสกุลท้องถิ่นเพื่อเป็นส่วนในการส่งเสริมการท่องเที่ยว และขอให้ไทยพิจารณาความร่วมมือระหว่างระดับจังหวัดของไทยกับภูมิภาคของรัสเซียเป็นอีกช่องทางความร่วมมือด้วย

ความสัมพันธ์ต่างประเทศ : รัสเซียยินดีผลักดันการจัดทำ FTA ไทยกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย

People Unity : post 21 สิงหาคม 2562 เวลา 11.30 น.

รัฐบาลยันแก้ปัญหา IUU ถูกทางแล้ว แนะ “ธนาธร” ตรวจสอบข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้อง

People Unity : รัฐบาลยืนยันแก้ไขปัญหา IUU ถูกทางแล้ว แนะ หน.พรรคอนาคตใหม่ตรวจสอบข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้อง

เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2562 พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ร่วมเสวนารับฟังปัญหาชาวประมงที่ตลาดมหาชัยมั่นคง อ.เมือง จ.สมุทรสาคร โดยมีการกล่าวโจมตีว่านโยบายการแก้ไขปัญหา IUU หรือการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ของรัฐบาล ทำให้ชาวประมงเดือดร้อนและสูญเสียรายได้ ว่า “ขอตั้งข้อสังเกตว่า จากภาพและคลิปที่เจ้าหน้าที่รวบรวมมาพบว่ากลุ่มคนที่มาให้ข้อมูลกับนายธนาธรนั้นส่วนใหญ่เข้าข่ายทำผิดกฎหมาย บางคนถูกศาลสั่งลงโทษปรับกว่า 500 ล้านบาท หลายคนถูกสั่งยึดเรือเพราะไปทำความผิดในน่านน้ำสากล ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาการค้ามนุษย์ ฟอกปลา ขโมยปลา ดังนั้นจึงเป็นการรับฟังข้อมูลด้านเดียว และดูเหมือนจะจงใจลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาล ตามที่นายธนาธรเคยพูดไว้ว่าจะทำงานนอกสภา แต่กลับฟังข้อมูลไม่ครบถ้วน”

รองโฆษกฯ กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้วและยืนยันว่า หากรัฐบาลไม่แก้ไขปัญหา IUU อย่างจริงจัง ประเทศไทยจะเจอวิกฤตด้านการประมงอย่างใหญ่หลวง ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงใครจะรับผิดชอบ ในทางตรงกันข้าม ปี 2561 เราจับปลาได้เพิ่มขึ้นถึง 2 แสนตัน ในจำนวนนี้ปลาที่ชาวประมงพื้นบ้านรายย่อยจับได้มีถึง 15,000 ตัน ส่วนเรือประมงพาณิชย์ ได้เพิ่มวันจับปลาให้กว่า 100 วัน สะท้อนว่าจำนวนสัตว์น้ำของไทยเริ่มกลับมาอุดมสมบูรณ์ ไม่มีปัญหาเรื่องเรือเถื่อน ชาวประมงมีโอกาสทางอาชีพเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ความร่วมมือของทุกภาคส่วนโดยเฉพาะพี่น้องขาวประมงที่ทำถูกกฎหมาย ทำให้อันดับการค้ามนุษย์ของไทยเลื่อนจากเทียร์ 3 มาเป็นเทียร์ 2 แล้ว ดังนั้น การออกมาคัดค้านต่อต้านของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขปัญหาหรืออยากให้แก้ไขกฎหมายเพื่อกลับไปทำผิดเหมือนเดิมนั้น เท่ากับเป็นการส่งเสริมให้เกิดปัญหาการค้ามนุษย์ขึ้นอีกหรือไม่ จึงอยากให้สังคมตรึกตรองในเรื่องนี้

ความสัมพันธ์ต่างประเทศ : รัฐบาลยันแก้ปัญหา IUU ถูกทางแล้ว แนะ “ธนาธร” ตรวจสอบข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้อง

People Unity : post 4 มิถุนายน 2562 เวลา 10.30 น.

พรุ่งนี้ “บิ๊กตู่” ไปประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 2 ที่กัมพูชา

People unity news online : นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 2

วันนี้ (9 มกราคม 2561) พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยภารกิจด้านต่างประเทศของนายกรัฐมนตรีว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดเข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 2 (2nd Mekong-Lancang Leaders’ Meeting) ในวันที่ 10 มกราคม 2561 ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 2 (2nd Mekong-Lancang Leaders’ Meeting) จะจัดขึ้นในวันที่ 10 มกราคม 2561 ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยฝ่ายกัมพูชาจะเป็นประธานร่วมกับจีน ภายใต้หัวข้อ แม่น้ำแห่งสันติภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืนของเรา (Our River of Peace and Sustainable Development) ซึ่งการประชุมครั้งนี้จะทบทวนการดำเนินงานของประเทศสมาชิกจากการประชุมผู้นำฯ ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนมีนาคม 2559 พร้อมทั้งจะกำหนดทิศทางและกิจกรรมของกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ในอนาคต โดยสมาชิกทั้งหมด 6 ประเทศ ประกอบด้วย จีน กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม จะหารือร่วมกันเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงบนพื้นฐานของความเท่าเทียม ภายใต้หลักการการมีส่วนร่วม ความสมัครใจ และหลักฉันทามติ

ในการประชุมครั้งนี้ ไทยมุ่งมั่นที่จะ (1) พัฒนากรอบความร่วมมือดังกล่าวให้ทันสมัยมากขึ้น (2) ส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกรอบแม่โขง – ล้านช้างกับแนวคิดหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (Belt Road Initiative – BRI) เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของอนุภูมิภาค (3) ไทยยังสนับสนุนให้กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง เป็นกลไกสำคัญในการผลักดันให้อนุภูมิภาคเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแบบยั่งยืนผ่านการใช้เครื่องมือที่ทันสมัย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและโครงการสำคัญของประเทศไทย อาทิ นโยบายประเทศไทย 4.0 ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และนโยบายประเทศไทย+1 (4) การยกระดับความร่วมมือด้านน้ำระหว่างประเทศสมาชิก ให้ได้รับประโยชน์ร่วมกัน บนพื้นฐานของความรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งจะช่วยให้ภาคการเกษตรของแต่ละประเทศมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไป

เอกสารผลลัพธ์การประชุม 2 ฉบับ ได้แก่ (1) แผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี แม่โขง – ล้านช้าง พ.ศ. 2561 – 2565  (5 – Year Plan of Action 2018 – 2022) เป็นเอกสารที่จะกำหนดแนวทางการดำเนินงานของกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ในระยะ 5 ปีข้างหน้า และ (2) ปฏิญญาพนมเปญ (Phnom Penh Declaration) เป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของผู้นำจะมุ่งสนับสนุนกรอบความร่วมมือดังกล่าวให้บรรลุเป้าประสงค์ของการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประชาชนในประเทศลุ่มน้ำโขงขอเพิ่มค่า โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีมีกำหนดจะพบหารือทวิภาคีกับสมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และนายหลี่ เค่อ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีนด้วย

People unity news online : post 9 มกราคม 2561 เวลา 13.50 น.

ครม.ไฟเขียว เสนออุทยานแห่งชาติภูกระดึง – ภูเขียว – น้ำหนาว เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน

People Unity News : ครม. ไฟเขียว เสนออุทยานแห่งชาติภูกระดึง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว – อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน

3 เมษายน 2565 ที่ประชุม ครม. เมื่อ 29 มี.ค. 65 เห็นชอบการเสนออุทยานแห่งชาติภูกระดึง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว – อุทยานแห่งชาติน้ำหนาวเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะจัดส่งเอกสารให้ศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพตามขั้นตอน ก่อนนำเข้าที่ประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อรับรองการขึ้นทะเบียนต่อไป

จุดเด่นของอุทยานแห่งชาติภูกระดึง จ.เลย คือ เป็นภูเขาหินทรายยอดตัดหนึ่งเดียวในอาเซียน เป็นแหล่งพืชพันธุ์หายาก สัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง มีประเพณีท้องถิ่น คือ กิจกรรมสรงน้ำพระพุทธเมตตา สำหรับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว – อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ มีความหลากหลายทางธรณีวิทยาและถ้ำ เป็นแหล่งพืชพันธุ์หายาก สัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง และมีประเพณีท้องถิ่น เช่น ประเพณีการแขวนทุง (แขวนธง) ประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นต้น

ขณะนี้ ประเทศไทยมีพื้นที่อุทยานมรดกแห่งอาเซียนทั้งหมด 7 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่, อุทยานแห่งชาติตะรุเตา, กลุ่มอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน และอ่าวพังงา, กลุ่มป่าแก่งกระจาน (อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน – อุทยานแห่งชาติกุยบุรี – เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี), อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม – เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง, อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง และอุทยานแห่งชาติเขาสก

Advertisement

ความสัมพันธ์ทางทหารไทย-รัสเซีย อย่าผลีผลาม!! โดย พูลเดช กรรณิการ์

People unity news online : ผมเคยเสนอแนวความคิดและสนับสนุนให้ คสช. และรัฐบาล ดำเนินนโยบายต่างประเทศกับชาติมหาอำนาจแบบ “balance of power” หรือการถ่วงดุลอำนาจระหว่างชาติมหาอำนาจ โดยผมเสนอตั้งแต่ คสช.เข้ายึดอำนาจการปกครองใหม่ๆ ซึ่งขณะนั้น คสช.กำลังโดนแรงกดดันจากสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรตะวันตกอย่างหนัก

มหาอำนาจที่ผมเสนอให้ คสช. และรัฐบาล เข้าไปกระชับความสัมพันธ์และนำมาถ่วงดุลกับสหรัฐฯและพันธมิตรตะวันตก ก็ไม่ใช่ใคร คือ จีน และรัสเซียนั่นเอง  ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน คสช. ก็ส่งบุคคลสำคัญของ คสช.ไปเยือนจีน และตามมาด้วยการกระชับความสัมพันธ์กับรัสเซีย

จากนโยบายถ่วงดุลดังกล่าว ทำให้สหรัฐฯต้องประเมินไทยใหม่ จากที่เคยอาจคิดว่าไทยเป็นหมูในอวย ไม่มีทางไปไหน ก็คงรู้แล้วว่าไทยไม่ใช่หมู สหรัฐฯจึงเริ่มเปลี่ยนท่าทีแข็งกร้าวที่มีต่อไทยลงเป็นลำดับ

นั่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคที่โอบาม่าเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทว่า ในขณะนี้ทรัมป์ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ดังนั้น จำเป็นที่ไทยจะต้องประเมินและทบทวนนโยบายถ่วงดุลมหาอำนาจสักครั้ง เพราะนโยบายของสหรัฐฯในยุคทรัมป์มีความแตกต่างจากยุคโอบาม่าอย่างมาก รวมทั้งบุคลิกและความคิดของทรัมป์นั้นมีลักษณะ “บ้าดีเดือด” แตกต่างจากโอบาม่าที่สุขุมนุ่มลึกกว่า นอกจากนี้ ทรัมป์เองก็มีปัญหาในการบริหารงานภายในประเทศที่ถูกต่อต้านจากรัฐสภาและประชาชนอเมริกันหลายเรื่อง ทรัมป์จึงต้องเบี่ยงเบนความสนใจจากปัญหาของตนในประเทศออกมา “อาละวาด” นอกประเทศ ดังเช่นที่โจมตีซีเรีย ทิ้งระเบิดอัฟกานิสถาน และจ่อทำสงครามกับเกาหลีเหนือ รวมทั้งยังมีนโยบายด้านต่างๆที่แข็งกร้าวต่อประเทศต่างๆ เช่น นโยบายต่อคนเข้าเมืองสหรัฐฯ นโยบายการขึ้นบัญชีประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯ เป็นต้น

ล่าสุด กับการที่รัฐบาลไทย จะเดินหน้ากระชับความสัมพันธ์กับรัสเซียยิ่งขึ้น โดยจะมีการประชุมอนุกรรมการการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ครั้งที่ 3 ระหว่างไทย-รัสเซีย ในวันที่ 20-21 เมษายน 2560 ที่กรุงเทพฯ โดยการประชุมในครั้งนี้จะเร่งส่งเสริมการค้าการลงทุนและให้มีการจัดกิจกรรมร่วมกัน แลกเปลี่ยนคณะผู้แทนภาคธุรกิจ-ลงทุน ส่งเสริมการลงทุนในสาขาที่รัสเซียและไทยมีประโยชน์ร่วมกัน นอกจากนี้จะมีการหารือเรื่องการลดอุปสรรคด้านการค้าที่ไม่ใช่ภาษี การพัฒนาความร่วมมือด้านต่างๆ ที่เกิดประโยชน์ต่อการขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการท่องเที่ยว พลังงาน วิทยาศาสตร์ SMEs และการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

และที่สำคัญ จะมีความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลรัสเซีย ว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคนิคทางทหาร เพื่อให้มีการสนับสนุนการส่งกำลังบำรุง อาวุธยุทโธปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ด้านการป้องกันประเทศ การซ่อมบำรุง อะไหล่ชิ้นส่วน หน่วยฝึกเครื่องมืออุปกรณ์พิเศษการฝึก ผลิตภัณฑ์ทางทหาร การแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญ

ผมเห็นว่า ในนาทีนี้ รัฐบาลควรจะต้องชะลอความตกลงด้านการทหารกับรัสเซียเอาไว้ระยะหนึ่งก่อน หรือไม่ก็ลดความร่วมมือทางทหารในบางเรื่องลงไปก่อน เช่น ความร่วมมือด้านการฝึกทางทหาร การรบร่วม ส่วนเรื่องการซื้ออาวุธนั้นสามารถทำได้ เราจะซื้อจากใครก็เป็นสิทธิของเรา เพราะท่าทีของทรัมป์ในตอนนี้ “บ้าดีเดือด” จนไม่น่าวางใจ และอาจกลับมาเล่นงานไทยหนักขึ้นอีกครั้ง หากไม่สบอารมณ์กับการกระชับความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างไทย-รัสเซีย ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจในขณะนี้ก็ไม่สู้ดีและตึงเครียด ทั้งจากกรณีซีเรีย และเกาหลีเหนือ

ส่วนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ วิชาการ วัฒนธรรม นั้นเดินหน้ากระชับกันต่อไปได้

ก็ขอเสนอความเห็นไว้ ณ ที่นี้ครับ

บ้านเมืองก็ของเรา : ความสัมพันธ์ทางทหารไทย-รัสเซีย อย่าผลีผลาม!! โดย พูลเดช กรรณิการ์

People unity news online : post 19 เมษายน 2560 เวลา 12.03 น.

ภาพ – ผู้จัดการ

Verified by ExactMetrics