People Unity News : 5 พฤษภาคม 2566 โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ยินดี ไทย – กัมพูชา บรรลุข้อตกลงการจ้างแรงงาน ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ พร้อมแก้ไขปัญหาแรงงานและการค้ามนุษย์

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบความคืบหน้าประเด็นการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยการจ้างแรงงานระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ณ โรงแรมอังกอร์พาราไดซ์ จังหวัดเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา เมื่อวันที่ 19 – 21 เมษายน 2566 เชื่อมั่นจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ แก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน รวมถึงการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานอีกด้วย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้เข้าร่วมการประชุมระดับวิชาการกัมพูชา – ไทย ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยเรื่องการจ้างแรงงานระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา โดยมีผลประชุมที่สำคัญ ดังนี้

การออกเอกสารประจำตัวให้แก่แรงงานกัมพูชาในประเทศไทย แรงงานกัมพูชาสามารถเดินทางไปทำเอกสารเดินทาง (TD) ณ ศูนย์ One Stop Services ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงพนมเปญ พระตะบอง และบันเตียเมียนเจย

กรณีแรงงานกัมพูชาไม่มีเอกสารเดินทาง สามารถขอเอกสารข้ามแดนได้ที่สถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำราชอาณาจักรไทยเพื่อเดินทางไปกัมพูชาและขอบัตรแรงงานกัมพูชาในต่างแดน (Overseas Cambodia Worker Card : OCWC) และเอกสารเดินทาง (TD) ณ ศูนย์ One Stop Services โดยฝ่ายไทยจะแจ้งข้อมูลของแรงงานกัมพูชาที่จำเป็นต้องจัดทำเอกสาร เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการตรวจสอบและยืนยันข้อมูล เพื่อพิจารณาออกเอกสารเดินทาง (TD) ฉบับใหม่

การปรับปรุงแก้ไขบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงาน (Agreement) ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันเรื่องการตรวจสุขภาพในประเทศต้นทาง ต้องกำหนดโดยหน่วยงานที่มีอำนาจของประเทศผู้รับ โดยแรงงานจะต้องตรวจสุขภาพจากประเทศต้นทางก่อนเดินทางเข้ามาในประเทศไทย

“นายกรัฐมนตรีรับทราบ และขอบคุณการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง จนสามารถลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยเรื่องการจ้างแรงงานจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อการจ้างแรงงานที่มีประสิทธิภาพได้สำเร็จ เชื่อมั่นว่าจะเป็นการอำนวยความสะดวก ลดขั้นตอนแก่แรงงานกัมพูชาที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยให้เข้าสู่ระบบการจ้างงานที่ถูกต้อง ได้รับการดูแลคุ้มครองตามมาตรฐานสากล จะเป็นการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของนายจ้าง และผู้ประกอบการ รวมไปถึงแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน รวมถึงจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ” นายอนุชา กล่าว

Advertisement