วันที่ 18 พฤษภาคม 2024

อย่าเชื่อ! เฟคนิวส์ ข่าวลือ พายุเนสาท จ่อเคลื่อนเข้าไทย 12 ต.ค.นี้

People Unity News : 7 ตุลาคม 2565 จากกรณีการแชร์ภาพและข้อความต่อๆกันในโลกออนไลน์ ระบุว่าพายุลูกถัดไปจะก่อตัวในวันที่ 12 ต.ค.นี้ คาดว่าน่าจะใช้ชื่อว่า “เนสาท” ซึ่งจะกระทบทุกภาคของประเทศ โดยภาคอีสานจะได้รับผลกระทบหนักสุด

กรมอุตุนิยมวิทยา ชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง และไม่ได้มีที่มาจากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา หากมีแนวโน้มว่าจะเกิดสภาพอากาศร้ายแรง หรือมีพายุหมุนเขตร้อนเกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิก หรือทะเลจีนใต้ และมีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย จะประกาศเตือนล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน

พร้อมคาดการณ์ว่าช่วงวันที่ 9 -12 ต.ค. 65 มวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้มีฝนตกหนัก กับมีลมกระโชกแรงบางแห่งเกิดขึ้นได้

จากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 1 – 3 องศาเซลเซียส กับมีลมแรงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งอากาศเย็นดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาตัวของพายุ หรือหากมีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุ อาจจะอ่อนกำลังลงและสลายตัวก่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนาม โอกาสที่จะเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยและมีผลกระทบนั้นมีน้อยมาก

Advertisement

ทบ.เร่งช่วย ปชช.รับมือพายุโนรู ช่วยชาวนาเก็บเกี่ยวผลผลิตหนีน้ำ เปิดค่ายทหารให้ตากข้าว

People Unity News : 27 กันยายน 2565 ทบ.เร่งช่วยประชาชนรับมือพายุโนรู เปิดค่ายทหารตากข้าวช่วยชาวนา พร้อมช่วยเก็บเกี่ยวผลผลิตหนีน้ำ

พ.อ. หญิง ศิริจันทร์ งาทอง  รองโฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก  ได้ขอบคุณกำลังพลในทุกพื้นที่ที่เข้าช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์อุทกภัยอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ปัจจุบันยังคงต้องเฝ้าระวังอิทธิพลของพายุโนรู ที่จะส่งผลกระทบกับพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ทำให้มีฝนตกหนักในสัปดาห์นี้ โดยกำชับให้เน้นเรื่องการลดผลกระทบ และรักษาทรัพย์สินของประชาชนมิให้เสียหายจากอุทกภัย พร้อมดูแลช่วยเหลือให้อยู่บนพื้นฐานเกี่ยวกับปัจจัย 4  คือ ที่อยู่อาศัย อาหาร การแพทย์ รวมทั้งเครื่องมือในการประกอบอาชีพ เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างปกติ

ส่วนเกษตรกรโดยเฉพาะชาวนาที่เดือดร้อนจากอุทกภัย ให้หน่วยทหารทุกพื้นที่เข้าดูแลช่วยเหลือตามแนวทางที่กองทัพบกเคยดำเนินการ ได้แก่ การช่วยเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนเกิดอุทกภัย หรือการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ถูกน้ำท่วมเพื่อลดความเสียหาย รวมทั้ง “เปิดค่ายตากข้าวช่วยชาวนา” โดยใช้พื้นที่ว่าง อาคาร โรงรถ ถนนในค่ายทหารเป็นพื้นที่ตากข้าวลดความชื้นรักษาคุณภาพข้าวให้กับเกษตรกร

Advertisement

“ชัชชาติ” สั่งเพิ่มกระสอบทราย 2.5 ล้านกระสอบ รับมือพายุโนรู

People Unity News : 27 กันยายน 2565 กทม.เตรียมพร้อมรับพายุโนรู ซึ่ง กทม.ก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ ในช่วงวันที่ 28-29 ก.ย.นี้ จึงสั่งการให้เพิ่มการจัดวางแนวกระสอบทรายเพื่อป้องกันน้ำท่วม 2.5 ล้านกระสอบ

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กำชับให้เร่งระบายน้ำในคลองต่างๆ ให้มากที่สุด และเสริมคันกั้นน้ำบริเวณจุดอ่อนน้ำท่วม ซึ่งขณะนี้ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อซื้อกระสอบทราย 2.5 ล้านกระสอบแล้ว โดยจะกระจายให้ชุมชนช่วยกัน วางป้องกันกันเองในเบื้องต้นเพราะชุมชนจะรู้ว่าพื้นที่ไหนเสี่ยงน้ำท่วม โดย กทม.จะสนับสนุนอุปกรณ์ ช่วยบรรเทาความเสียหาย วางแนวกระสอบทรายกั้นพื้นที่ต่างๆ ให้ครอบคลุมทุกจุดฟันหลอและเพิ่มแนวป้องกันให้สูงขึ้นจากเดิม และให้เจ้าหน้าที่ทำฉากทัศน์ ถึงความเป็นไปได้ของเส้นทางพายุว่าจะกระทบกับพื้นที่ส่วนใดบ้าง โดยเฉพาะการระบายน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และการระบายน้ำมาทางเจ้าพระยา ส่วนจำนวนกระสอบทรายขณะนี้มีความพร้อมแล้ว 200,000 กระสอบ และเพิ่มอีก 2.5 ล้านกระสอบ ที่จัดสรรงบฯล่าสุด ซึ่งจะร่วมกับหลายหน่วยงานเรียงกระสอบทรายริมแม่น้ำเจ้าพระยา และตั้งวางเครื่องสูบน้ำ และเตรียมจุดพักฉุกเฉินไว้รองรับด้วย

นอกจากนี้ กทม.ยังเตรียมระบบป้องกัน แจ้งเตือนฝนไปยังเขตก่อน 2 ชั่วโมง ให้เขตเตรียมพร้อมและลงพื้นที่ตรวจตราความพร้อม และเมื่อเกิดเหตุฝนตก จะจัดเตรียมหน่วยช่วยเหลือประชาชน รถรับ-ส่ง ศูนย์ซ่อม รถลาก เพื่ออำนวยความสะดวกในเส้นทางต่างๆได้อย่างรวดเร็ว

Advertisement

อุตุฯ ออกประกาศเตือนฉบับที่ 8 “พายุโนรู” จ่อแผลงฤทธิ์ 30 จังหวัด ฝนตกหนัก

People Unity News : 27 กันยายน 2565 กรมอุตุฯ ประกาศฉบับที่ 8 “พายุโนรู” จ่อเคลื่อนขึ้นฝั่งเวียดนาม พรุ่งนี้ (28 ก.ย.) เตือน 30 จังหวัด มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งและลมแรง ช่วงวันที่ 28 ก.ย.-1 ต.ค.นี้

กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศ เรื่อง “พายุโนรู” ฉบับที่ 8 ลงวันที่ 27 กันยายน 2565 ระบุว่า เมื่อเวลา 04.00 น. วันนี้ (27 ก.ย.65) พายุไต้ฝุ่น “โนรู” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีศูนย์กลางออกไปทางทิศตะวันออกประมาณ 490 กิโลเมตร จากเมืองดานัง ประเทศเวียดนาม หรือที่ละติจูด 15.6 องศาเหนือ ลองจิจูด 112.8 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 150 กิโลเมตร/ชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 35 กิโลเมตร/ชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง ในวันที่ 28 กันยายน 2565 และจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนและพายุดีเปรสชัน ตามลำดับ โดยจะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางของประเทศไทย ในวันที่ 29 กันยายน 2565 ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลทำให้ในช่วงวันที่ 28 กันยายน – 1 ตุลาคม 2565 มีฝนตกหนักหลายพื้นที่ และมีฝนตกหนักมากบางแห่งกับมีลมแรง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม สำหรับประชาชนที่อาศัยบริเวณชายฝั่งให้ระวังอันตรายจากคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่งไว้ด้วย

จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง มีดังนี้

วันที่ 28 กันยายน 2565

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดสกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง : กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก : จังหวัดฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้ : จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

วันที่ 29 กันยายน 2565

ภาคเหนือ : จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก : จังหวัดฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้ : จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

วันที่ 30 กันยายน 2565

ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย ชัยภูมิ ขอนแก่น และนครราชสีมา

ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก : จังหวัดฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้ : จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา และภูเก็ต

ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร อ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน ควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 27 กันยายน – 1 ตุลาคม 2565

สำหรับกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส

Advertisement

รัฐบาลตั้งวอร์รูม รับมือพายุไต้ฝุ่น “โนรู”

People Unity News : 26 กันยายน 2565 รัฐบาลตั้งวอร์รูม รับมือพายุไต้ฝุ่น “โนรู” เปิดศูนย์ติดตามสถานการณ์ ประเมิน ตรวจสอบสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

รัฐบาลเปิดศูนย์อำนวยการติดตามสถานการณ์ พายุไต้ฝุ่น “โนรู (NORU)” ติดตาม ประเมิน รายงานสถานการณ์พายุ ร่วมกับศูนย์อุตุนิยมวิทยาภูมิภาค ทั้ง 5 ศูนย์ ประกอบด้วย ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จ.ขอนแก่น ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จ.อุบลราชธานี ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก จ.สงขลา และศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันตก จ.ภูเก็ต

ซึ่งศูนย์อำนวยการฯ จะ Conference ประเมินสถานการณ์สถานีอุตุนิยมวิทยาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ หรือบริเวณที่พายุจะเคลื่อนผ่านอย่างแม่นยำ ร่วมกันประเมินสถานการณ์ของพายุ ซึ่งหากมีความรุนแรงจะตรวจวัดสภาพอากาศและปริมาณฝนให้ถี่ขึ้น รวมทั้งสั่งการดำเนินการในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ

ขณะเดียวกันได้บูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบ ประเมินสถานการณ์ และให้ทุกฝ่ายได้ให้ความช่วยเหลือ บรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดแก่ประชาชนให้ได้มากที่สุด

ล่าสุด กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตเส้นทางพายุไต้ฝุ่น ”โนรู” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 130 กม./ชม. คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลางในวันที่ 28 ก.ย. 65 และจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนและพายุดีเปรสชันตามลำดับ โดยจะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางของประเทศไทยในวันที่ 29 ก.ย. 65

Advertisement

รัฐบาลเตือนฝนตกหนักทั่วประเทศ 28 ก.ย.-1 ต.ค.65

People Unity News : 26 กันยายน 2565 รัฐบาลเตือนประชาชน ฝนตกหนักทั่วประเทศ ช่วง 28 ก.ย.-1 ต.ค. 2565 ขอให้ระวังอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุไต้ฝุ่น “โนรู” โดยคาดว่าจะขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลางในวันที่ 28 กันยายน 2565 ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนตกหนักหลายพื้นที่ และมีฝนตกหนักมากบางแห่งกับมีลมแรงในช่วงวันที่ 28 กันยายน – 1 ตุลาคม 2565

นายอนุชา กล่าวว่า ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าว ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย รวมทั้งคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น จึงขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 27 กันยายน – 1 ตุลาคม 2565 เพื่อความปลอดภัย ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา หรือสอบถามที่ 02-399-4012 ถึง 13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

Advertisement

30 ก.ย. ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยุบ ศบค.

People Unity News : 23 กันยายน 2565 ศบค. มีมติยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร มีผล 30 ก.ย. 2565 เป็นต้นไป และถือเป็นที่สิ้นสุดของ ศบค. จะใช้ พ.ร.ก.แก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 แทน

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาการนายกรัฐมนตรี  เป็นประธานในการประชุม โดยที่ประชุม พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้รายงานภาพรวมการแพร่ระบาดของโรคดีขึ้น ผู้ติดเชื้อรายใหม่ และผู้เสียชีวิตลดลง และกระทรวงสาธารณสุขได้ปรับให้โควิด-19 จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง

ที่ประชุมจึงได้มีมติยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ลงวันที่ 24 มีนาคม 2563 และการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 19) ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 รวมทั้งบรรดาข้อกำหนด และคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีและ ครม. ใช้อำนาจแห่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งหมด โดยให้มีผล 30 กันยายน 2565 เป็นต้นไป และถือเป็นที่สิ้นสุดของ ศบค. และจะให้ใช้ พ.ร.ก.แก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 แทน ซึ่งคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเรียบร้อยแล้วเมื่อปี 2564 โดยที่ประชุมมีการคาดการณ์ว่า หลังจากนี้อาจจะมีการติดเชื้อแบบเป็น Wave เล็กๆ ผู้เสียชีวิตจะต่ำลงมาเป็นหลัก 10

Advertisement

เตือนประชาชนระวังโรค “ไข้ฉี่หนู – เมลิออยด์” มากับน้ำท่วม พบป่วยแล้วกว่า 3,300 ราย!!

People Unity News : 21 กันยายน 2565 ในช่วงฤดูฝนนี้มีฝนตกหนัก ส่งผลให้หลายพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ประชาชนอาจเจ็บป่วยด้วยโรคที่ต้องเฝ้าระวังที่มากับน้ำท่วม คือ โรคไข้ฉี่หนู และโรคเมลิออยด์ (Melioidosis) หรือโรคไข้ดิน ซึ่งในช่วง 8 เดือนแรกของปี 65 นี้ พบผู้ป่วยทั้งสองโรครวมแล้วกว่า 3,300 ราย

โรคไข้ฉี่หนู เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่เข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล ผิวหนังที่อ่อนนุ่มจากการแช่น้ำนาน หรือการรับประทานอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อจากฉี่หนู หรือสัตว์อื่นๆ ที่ติดเชื้อ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว จะปวดมากบริเวณน่องและโคนขา อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียและตาแดงด้วย

ส่วนโรคเมลิออยด์ หรือโรคไข้ดิน เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Burkholderia pseudomallei ที่พบได้ทั่วไปในดิน น้ำ เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายได้จากการสัมผัสน้ำหรือดินที่มีเชื้อปนเปื้อน ดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ และการสูดหายใจเอาฝุ่นจากดินที่มีเชื้อเจือปนอยู่เข้าไป หลังติดเชื้อ 1 – 21 วัน จะมีอาการป่วย แต่บางรายอาจนานเป็นปี ขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อที่ได้รับและภูมิต้านทานของแต่ละคน อาการของโรคนี้ไม่มีลักษณะเฉพาะ จะมีความคล้ายโรคติดเชื้ออื่นๆ เช่น มีไข้สูง มีฝีที่ผิวหนัง ปวดท้อง ปวดข้อปวดกระดูก มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ บางรายพบอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย ส่วนใหญ่มักจะเริ่มจากอาการไข้ทำให้วินิจฉัยโรคได้ยาก ต้องตรวจเพาะเชื้อทางห้องปฏิบัติการ เพื่อใช้ตรวจวินิจฉัยและรักษา

การป้องกันทั้ง 2 โรคนี้ ให้หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลน หรือแช่น้ำเป็นเวลานาน หากจำเป็นควรสวมรองเท้าบูท หรือถุงพลาสติกหุ้มรองเท้าไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำโดยตรง กรณีมีบาดแผลควรปิดด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ หมั่นล้างมือ ล้างเท้าด้วยน้ำสบู่บ่อยๆ และอาบน้ำทันทีหลังจากลุยน้ำ หากมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีและแจ้งประวัติการเดินลุยน้ำให้แพทย์ทราบด้วย

Advertisement

สธ.ยกเลิก “โควิด-19” จากโรคติดต่ออันตราย เป็น “โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง” เริ่ม 1 ต.ค. 65

People Unity News : 21 กันยายน 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข 2 ฉบับ ประกอบด้วย 1) ประกาศฯ ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 พ.ศ. 2565 และ 2) ประกาศฯ เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2565 สาระสำคัญ คือ เป็นการยกเลิกโรคโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตราย เป็น “โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง” ตั้งแต่ 1 ต.ค. 65 เป็นต้นไป

เนื่องจากขณะนี้จำนวนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง – เสียชีวิต การแพร่ระบาดและความรุนแรงของโรคในทั่วโลกมีแนวโน้มลดลง ประกอบกับจำนวนวัคซีนป้องกันโรคในประเทศมีเพียงพอ โดยประชาชนได้รับวัคซีนในระดับความครอบคลุมสูง มีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น จึงสมควรปรับมาตรการทางกฎหมายให้สอดคล้องกับการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ

สำหรับแนวปฏิบัติเมื่อเข้าสู่ภาวะหลังการระบาดใหญ่ (Post-pandemic) และโรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ที่ประชุม ศบค. ในวันที่ 23 ก.ย. นี้ จะมีการพิจารณาอนุมัติแนวทางดำเนินการต่างๆ ทั้งด้านกฎหมาย การจัดการในภาพรวม ด้านสาธารณสุข – การแพทย์ การสื่อสารสร้างความเข้าใจ ฯลฯ โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัยและดำเนินชีวิตได้เป็นปกติ

Advertisement

คปภ. ตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยที่ได้รับผลกระทบกรณีน้ำท่วม

People Unity News : 13 กันยายน 2565 ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากสภาพอากาศในประเทศไทยที่มีฝนตกหนักถึงหนักมากและในหลายพื้นที่มีน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน และพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก สำนักงาน คปภ. มีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเป็นอย่างมากและได้ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆอย่างใกล้ชิด โดยได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์บูรณาการร่วมกับสายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาคกำหนดมาตรการในการดูแลช่วยเหลือประชาชนด้านการประกันภัยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม พร้อมดำเนินการจัดตั้งศูนย์อำนวยการและประสานงานด้านประกันภัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากสถานการณ์น้ำท่วม ณ สำนักงาน คปภ. ส่วนกลาง สำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ สำนักงาน คปภ. เขตบางนา สำนักงาน คปภ. ภาค และสำนักงาน คปภ. จังหวัดทั่วประเทศ โดยศูนย์ดังกล่าวมีหน้าที่อำนวยการและประสานงานด้านประกันภัยในการรับแจ้ง ตรวจสอบข้อมูลและเอกสารการจัดทำประกันภัย รวมทั้งติดตามการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ประชาชนผู้เอาประกันภัย และบูรณาการการทำงานร่วมกับส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมประกันชีวิตไทย เพื่ออำนวยความสะดวกและเพื่อช่วยเหลือประชาชนด้านประกันภัยอย่างเต็มที่

อีกทั้งยังได้กำหนดช่องทางในการอำนวยความสะดวกและช่วยเหลือประชาชนผู้ประกันภัยในการแจ้งข้อมูลด้านการประกันภัย โดยเพิ่มช่องทางในการแจ้งข้อมูลการช่วยเหลือประชาชนด้านการประกันภัยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม โดยผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหายสามารถแจ้งข้อมูลและขอรับการช่วยเหลือด้านการประกันภัย ผ่านช่องทาง E-mail : floodppd@oic.or.th มายังสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ หลังจากนั้นสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์จะรวบรวมตรวจสอบ และประสานไปยังบริษัทประกันภัยเพื่อให้การดูแลด้านประกันภัยแก่ผู้เอาประกันภัยต่อไป ทั้งนี้ ได้มอบหมายผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายคุ้มครองสิทธิประโยชน์เป็นผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการและประสานงานด้านประกันภัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากสถานการณ์น้ำท่วม

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงาน คปภ. ยังได้มีหนังสือถึงนายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย และนายกสมาคมประกันชีวิตไทย ให้แจ้งบริษัทสมาชิก ได้ติดตามสถานการณ์และกำหนดมาตรการเพื่อช่วยเหลือประชาชนด้านประกันภัย พร้อมทั้งเข้าตรวจสอบความเสียหายเพื่อเตรียมพร้อมในการพิจารณาชดใช้เงินหรือค่าสินไหมทดแทนให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม นอกจากนี้ ได้สั่งการให้สำนักงาน คปภ.ภาค/จังหวัด เร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประสบภัยรีบสำรวจความเสียหายของบ้านเรือนและทรัพย์สิน โดยเฉพาะรถยนต์ที่มักจะได้รับความเสียหายเป็นอันดับต้นๆ เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม โดยให้ยึดถือแนวปฏิบัติตามมาตรฐานการซ่อมรถยนต์ที่ถูกน้ำท่วม ซึ่งแบ่งเป็น 5 ระดับ คือ ระดับ A น้ำท่วมถึงพื้นรถยนต์ ประเมินค่าซ่อม 8,000-10,000 บาท ระดับ B น้ำท่วมถึงเบาะนั่ง ประเมินค่าซ่อม 15,000-20,000 บาท ระดับ C น้ำท่วมถึงส่วนล่างของคอนโซลหน้า ประเมินค่าซ่อม 25,000-30,000 บาท ระดับ D น้ำท่วมถึงส่วนบนของคอนโซลหน้า ประเมินค่าซ่อมเริ่มต้นที่ 30,000 บาทขึ้นไป และระดับ E รถยนต์จมน้ำทั้งคัน ซึ่งในกรณีนี้บริษัทจะคืนทุนประกันภัยให้กับผู้เอาประกันภัย

ทั้งนี้ ขอให้ผู้เอาประกันภัยแสดงรายละเอียดของความสูญเสียและมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นของทรัพย์สิน ส่วนกรณีเสียชีวิตให้ทายาทแสดงหลักฐานสำเนาใบมรณบัตร และสำเนาบันทึกประจำวันตำรวจ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นขอให้ตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยที่ได้ซื้อไว้ว่าให้ความคุ้มครองภัยน้ำท่วมหรือไม่อย่างไร โดยกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองถึงภัยน้ำท่วม อาทิ เช่น การประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 การประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินและการประกันอัคคีภัยที่ซื้อความคุ้มครองน้ำท่วมเพิ่มเติม การประกันภัยพืชผลทางการเกษตร เช่น การประกันภัยข้าวนาปี การประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น การประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย ซึ่งให้ความคุ้มครองกลุ่มภัยธรรมชาติอีก 4 ภัย (น้ำท่วม ลมพายุ แผ่นดินไหวและลูกเห็บ) รวม 20,000 บาทต่อปี และการประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัยสำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) ซึ่งให้ความคุ้มครองกลุ่มภัยธรรมชาติ 4 ภัย (น้ำท่วม ลมพายุ แผ่นดินไหวและลูกเห็บ) รวม 10,000 บาทต่อปี

“สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความห่วงใยและขอส่งกำลังใจไปยังผู้ประสบภัยน้ำท่วมในทุกพื้นที่ และขอให้พี่น้องประชาชนได้ตระหนักว่าปัจจุบันภัยธรรมชาติได้สร้างความสูญเสียหรือความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอยู่บ่อยครั้ง และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น หากประชาชนทำประกันภัยไว้ก็จะเป็นการช่วยบรรเทา เยียวยาความเดือดร้อนและความเสียหายทางการเงินที่จะเกิดขึ้นภายหลังได้ ไม่ว่าจะเป็นการประกันชีวิต หรือการประกันภัยทรัพย์สินต่างๆ โดยสำนักงาน คปภ. พร้อมจะดูแลเพื่อให้ระบบประกันภัยเยียวยาความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนี้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยหรือมีปัญหาไม่ได้รับความเป็นธรรมด้านประกันภัย สามารถติดต่อได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186 หรือติดต่อได้โดยตรง ณ สำนักงาน คปภ. ภาค/จังหวัด ทั่วประเทศ” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

Advertisement

Verified by ExactMetrics