วันที่ 14 พฤษภาคม 2024

สหรัฐคงสถานะไทย Watch List ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 6 พฤษภาคม 2567 อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เผยสหรัฐคงสถานะไทยในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List) ย้ำชื่นชมประเทศไทยพัฒนาการและความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐของไทยได้ดีเยี่ยม แต่สหรัฐมีข้อห่วงกังวลปัญหามีการลักลอบบันทึกภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ การแอบอ้างสิทธิในการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ และอื่นๆ ขอให้ไทยแก้ไข

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (United States Trade Representative : USTR) ประกาศสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้ารายสำคัญ ภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐ มาตรา 301 พิเศษ (Special 301) ประจำปี 2567 เมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา โดยคงสถานะไทยอยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List : WL) ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ดำเนินการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของไทยมาอย่างต่อเนื่อง และพร้อมเดินหน้าชี้แจงสหรัฐ ถึงพัฒนาการ และเร่งขับเคลื่อนการเจรจาแผนงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP Work Plan) เพื่อผลักดันให้ไทยหลุดจากบัญชี WL

ทั้งนี้ จากการประกาศสถานะดังกล่าว สหรัฐตระหนักถึงพัฒนาการด้านการคุ้มครองและป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของไทย โดยเฉพาะการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ กฎหมายลิขสิทธิ์ และกฎหมายสิทธิบัตร รวมทั้งชื่นชมความพยายามของหน่วยงานไทยในการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและการบูรณาการภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าของสิทธิ ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ศุลกากร การจัดทำระบบฐานข้อมูลเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ของกรมศุลกากร (Thai Customs IPR Recordation System : TCIRs) การจัดทำแผนปฏิบัติการเร่งด่วนในการดำเนินการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างกรมทรัพย์สินทางปัญญา กับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อกำหนดพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังพิเศษ

อย่างไรก็ดี สหรัฐยังคงมีข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับปัญหาบางประการ อาทิ ยังคงมีการลักลอบบันทึกภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ การแอบอ้างสิทธิในการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ การละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ผ่านอุปกรณ์หรือแอปพลิเคชันสำหรับการสตรีมและดาวน์โหลด content โดยไม่ได้รับอนุญาต และความล่าช้าในการดำเนินคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา

ทั้งนี้ กรมฯ มองว่าทรัพย์สินทางปัญญาถือเป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในด้านการส่งเสริม การคุ้มครอง และการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ที่ผ่านมากรมฯ ได้เร่งพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศอย่างต่อเนื่องและมีพัฒนาการที่ชัดเจน โดยไทยมุ่งมั่นดำเนินทุกภารกิจเพื่อที่จะหลุดจากบัญชี WL และทุกบัญชีให้ได้ ซึ่งเห็นได้จากการดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อทุกข้อกังวลของสหรัฐ หลายเรื่องได้ดำเนินการสำเร็จไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการ Smart DIP ซึ่งอำนวยความสะดวกรวดเร็วให้กับประชาชนในการให้บริการด้านทรัพย์สินทางปัญญา มีเพียงบางเรื่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ เพื่อรองรับการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยการแสดงและสิ่งบันทึกเสียงขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO Performances and Phonograms Treaty : WPPT) และการแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร เพื่อรองรับการเข้าเป็นภาคีความตกลงกรุงเฮกว่าด้วยการจดทะเบียนการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระหว่างประเทศ (Hague Agreement Concerning International Registration of Industrial Designs : Hague Agreement)

อย่างไรก็ตาม กรมฯ มั่นใจว่าสหรัฐจะพิจารณาให้ไทยหลุดจากบัญชี WL และทุกบัญชีในไม่ช้านี้ ทั้งนี้ กรมฯ ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่เห็นถึงความสำคัญของการคุ้มครองและการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี จึงขอเน้นย้ำว่ากรมฯ จะเร่งผลักดันให้ไทยหลุดจากบัญชี WL ให้สำเร็จโดยเร็ว โดยเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 กรมฯ หารือกับ USTR เพื่อเร่งจัดทำแผนงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP Work Plan) ร่วมกับสหรัฐ ซึ่งจะเป็นกรอบในการดำเนินการเพื่อให้ไทยหลุดจากบัญชีดังกล่าวได้ต่อไป

Advertisement

ธ.ก.ส. ยกระดับ SME สู่แกนกลางเกษตรไทย เติมความรู้ฟื้นฟูเกษตรกรรายย่อย การตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 9 กุมภาพันธ์ 2567 ธ.ก.ส. พร้อมมุ่งสู่แกนกลางการเกษตร ยกระดับ SME และเกษตรกรหัวขบวน โดยเติมองค์ความรู้ด้านการผลิตสู่เกษตรมูลค่าสูง และการบริหารจัดการที่เป็นมาตรฐาน พร้อมเชื่อมโยงการเข้าไปสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ ภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ในการฟื้นฟูการประกอบอาชีพ พัฒนาศักยภาพการผลิตและเชื่อมโยงการตลาด อันนำไปสู่การสร้างรายได้และช่วยให้เกษตรกรสามารถหลุดพ้นกับดักหนี้อย่างยั่งยืน

นายณรงค์ ขันติวิริยะกุล รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นประธานในการเปิดงานเสวนาโครงการ “การยกระดับ SME เกษตรหัวขบวน สู่แกนกลางเกษตรไทย เพื่อการฟื้นฟูเกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้” ภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” โดยนำเกษตรกรหัวขบวน และผู้ประกอบการ SME เกษตรในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ มาร่วมสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ ให้สามารถฟื้นฟูการประกอบอาชีพ มีศักยภาพในการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและมีรายได้เพิ่มขึ้น อันนำไปสู่การหลุดพ้นกับดักหนี้อย่างยั่งยืน โดยมีคณะผู้บริหาร เกษตรกรหัวขบวน ผู้ประกอบการ SME เกษตรและพนักงาน ธ.ก.ส. เข้าร่วมกิจกรรม ณ อาคารทาวเวอร์ ธ.ก.ส. สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ

นายณรงค์ ขันติวิริยะกุล รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ดำเนินมาตรการพักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรรายย่อยในช่วงปี 2567 – 2569 พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์ให้เกษตรกรที่เข้าร่วมมาตรการจะต้องเข้าร่วมการเสริมความรู้ฟื้นฟูทักษะในการประกอบอาชีพภายใต้แนวทาง “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ใหม่” เป้าหมายเกษตรกร จำนวน 900,000 ราย เพื่อขยายการลงทุนในการประกอบอาชีพ การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้ดียิ่งขึ้น และเพิ่มสภาพคล่องให้เกษตรกรรายย่อยให้สามารถมีรายได้เหลือเพียงพอต่อรายจ่ายที่จำเป็นในครัวเรือน อันนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้นและเป็นการเพิ่มกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งในส่วนของ ธ.ก.ส. ได้จับมือกับเครือข่าย ทั้งภาครัฐ เอกชนและสถาบันการศึกษาในการเสริมสร้างองค์ความรู้ในการพัฒนาอาชีพ การเพิ่มศักยภาพในการผลิต การแปรรูปสู่เกษตรมูลค่าสูง ทั้งการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการแปรรูปและพัฒนาผลผลิต ให้กับเกษตรกรหัวขบวนและผู้ประกอบการ SME เพื่อนำไปถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ โดยเริ่มจากการปรับวิธีคิด เช่น ก่อนลงมือผลิต ตั้งคำถาม ขายอะไร? ขายใคร? ขายเมื่อไหร่? ขายที่ไหน? ขายปริมาณ? ขายราคา? รวมถึงสามารถเชื่อมโยงตลาด ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ระหว่างผู้ประกอบการและเกษตรกรรายย่อย เช่น การรับซื้อผลผลิต การจ้างแรงงานในพื้นที่ หรือการเป็นพี่เลี้ยงให้กับเกษตรกรรายย่อยในการพัฒนาศักยภาพในการผลิต เป็นต้น พร้อมจัดเสวนา “การยกระดับ SME เกษตรหัวขบวน สู่แกนกลางเกษตรไทย เพื่อการฟื้นฟูเกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้” โดยนำเครือข่ายส่วนราชการ ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เครือข่ายผู้ประกอบการ SME และเกษตรกร  หัวขบวน กลุ่ม New Gen และ Young Smart Farmer ที่อยู่ในโครงการ Design & Manage by Area (D&MBA) ของ ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ จำนวน 10 ราย มาร่วมระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนมุมมองในการเข้าไปสนับสนุนเกษตรกรในการประกอบอาชีพ สู่การสร้างงานสร้างรายได้และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรอย่างตรงจุดและยั่งยืน

นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังพร้อมสนับสนุนเงินทุนอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนให้กับเกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้รายย่อยผ่านผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่เหมาะสมในการฟื้นฟูการประกอบอาชีพ วงเงินสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท เพื่อใช้ในการจัดหาปัจจัยการผลิตและเทคโนโลยีการผลิต ช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพในการผลิตอันนำไปสู่การสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

Advertisement

ก.คลัง แจง ทำไมต้องแจกเงิน 10,000 บาท เป็นสกุลเงินดิจิทัล Token ยันบริษัทไม่ได้ประโยชน์

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 8 เมษายน 2567 คลังเตือนอย่าเชื่อ อย่าแชร์ ข่าว Digital wallet

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะ application “LINE” ว่ารัฐบาลจะดำเนินการโครงการเติมเงิน 10000 บาท ผ่าน Digital wallet ให้ประชาชนด้วยเงินดิจิทัล สกุลเงิน Token  โดยตนขอให้ข้อมูลข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังนี้

ประเด็นที่ 1  ทำไมไม่โอนเงินเข้าบัญชีของทุกคนโดยตรงเลย ? เพื่อให้ง่าย และไม่โดนกล่าวหาว่ามีวาระซ้อนเร้น

ข้อเท็จจริง  : วัตถุประสงค์หลักของโครงการคือการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้น แม้การแจกเงินสดจะสะดวก และง่ายต่อการดำเนินการ แต่ก็มีข้อเสียที่ไม่อาจมองข้ามได้ คือ การแจกเป็นเงินสดจะสุ่มเสี่ยงที่จะมีประชาชนบางส่วนนำไปเก็บออม โดยไม่ได้เอาไปจับจ่ายใช้สอย ซึ่งไม่ทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ และผิดวัตถุประสงค์ของโครงการ

ประเด็นที่ 2  หากมีการแจกจ่ายผ่านสกุลเงินดิจิทัล Token ใครเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์

ข้อเท็จจริง  : โครงการดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ ซึ่งเป็นการดำเนินงานจัดทำโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทที่มีการจัดทำ Token แต่อย่างใด

ประเด็นที่ 3  มีการตั้งคำถามว่า เหตุใดต้องแจกเงินในโครงการเติมเงิน 10000 บาทผ่าน Digital wallet ด้วยเงินดิจิทัล

ข้อเท็จจริง  : ประเด็นดังกล่าวน่าจะเกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากการเติมเงินในโครงการดังกล่าวไม่สามารถอยู่ในรูปเงินดิจิทัลตามที่อ้างได้ เพราะขัดต่อกฏหมายว่าด้วยเงินตรา

“ขณะนี้ ประเด็นข้อทักทวงดังกล่าวตามที่อ้าง คณะกรรมการนโยบายเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital wallet รับทราบและได้นำประเด็นต่าง ๆ มาพิจารณาแล้ว โดยจะมีการประชุมเพื่อสรุปรูปแบบของโครงการ ในวันพุธที่ 10 เมษายน 2567 ต่อไป ดังนั้นจึงอยากเตือนประชาชนอย่าได้หลงเชื่อ หรือ แชร์  ซึ่งทางกระทรวงการคลังจะได้เร่งเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในโครงการดังกล่าวทันทีที่ได้ข้อสรุป เพื่อป้องกันความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อประชาชนได้”

Advertisement

ปลัดแรงงานระบุ ขึ้นค่าแรง 400 บาท ต้องรอลุ้นผลประชุม 14 พ.ค.

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 9 พฤษภาคม 2567 ปลัดกระทรวงแรงงาน เผยความคืบหน้าค่าแรง 400 บาท ยังต้องรอลุ้นผลประชุมวันที่ 14 พ.ค.นี้ ยืนยันพยายามให้ทุกฝ่ายได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความกังวลใจของหลายฝ่ายต่อการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 400 บาทนั้นว่า ขั้นตอนของการปรับค่าจ้างขณะนี้อยู่ในระหว่างการสำรวจและศึกษาข้อมูล ซึ่งผมได้สั่งการให้แรงงานจังหวัดในแต่ละพื้นที่ประชุมหารือกับผู้ประกอบการเพื่อนำข้อมูลมาพิจารณาความเหมาะสมในแต่ละจังหวัด ซึ่งทั้งหมดจะอยู่ในหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดอย่างมีหลักวิชาการและเป็นมาตรฐาน ภายใต้อำนาจของไตรภาคี คือ ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และผู้แทนฝ่ายรัฐบาล

นายไพโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้แรงงานได้รับความเดือดร้อน ประกอบกับนโยบายรัฐบาลที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนและทำให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ซึ่งกระทรวงแรงงานได้นำนโยบายรัฐบาลมาศึกษาและขยายผลในการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ผ่านกลไกระบบไตรภาคี โดยจะพิจารณาการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อนายจ้างและลูกจ้าง ในส่วนของความกังวลใจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนั้น กระทรวงแรงงานจะมีการรับฟังปัญหาของผู้ประกอบการว่ากิจการประเภทไหนได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งชี้แจงถึงความจำเป็นในการปรับขึ้นค่าจ้าง 400 บาท เนื่องจากแรงงานได้รับความเดือดร้อนจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น รวมทั้งจะรับฟังข้อเสนอมาตรการความช่วยเหลือจากภาคเอกชน เพื่อนำข้อเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อออกเป็นมาตรการช่วยเหลือดังกล่าวต่อไป อย่างไรก็ดี จะพยายามให้ทุกฝ่ายได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปี 2567 ครั้งที่ 1 มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2567 ต่อมา คณะกรรมการค่าจ้างได้มีมติกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท นำร่องพื้นที่ 10 จังหวัด ในกิจการประเภทโรงแรม ระดับ 4 ดาว และมีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2567 โดยจังหวัดภูเก็ตขึ้นทั้งจังหวัด ส่วนอีก 9 จังหวัดขึ้นบางพื้นที่ คือ 1.กรุงเทพมหานคร เฉพาะเขตปทุมวัน และเขตวัฒนา 2.จังหวัดกระบี่ เขตองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง 3.จังหวัดชลบุรี เขตเมืองพัทยา 4.จังหวัดเชียงใหม่ เขตเทศบาลนครเชียงใหม่ 5.จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เขตเทศบาลหัวหิน 6.จังหวัดพังงา เขตเทศบาลตำบลคึกคัก 7.จังหวัดระยอง เขตตำบลบ้านเพ 8.จังหวัดสงขลา เขตเทศบาลนครหาดใหญ่ และ 9.จังหวัดสุราษฎร์ธานี เขตอำเภอเกาะสมุย

Advertisement

รมว.พาณิชย์ ปลื้มกล้วยหอมไทยขึ้นห้างญี่ปุ่นสำเร็จ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 13 พฤษภาคม 2567 ญี่ปุ่น – รมว.พาณิชย์ ปลื้มสำรวจห้างค้าปลีกใหญ่ญี่ปุ่น เบเชีย (Beisia) พร้อมช่วยโปรโมท ”กล้วยหอมไทย“ หลังทูตพาณิชย์โตเกียว จับมือพาณิชย์จังหวัดโคราชสามารถทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้ถึง 5,000 ตัน ส่งตรงผลไม้ไทยคุณภาพขึ้นห้างญี่ปุ่นสำเร็จ

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเข้าสำรวจสินค้าไทยในซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น เบเชีย (Beisia) ที่สาขาโทมิซาโตะ จังหวัดชิบะ ประเทศญี่ปุ่น ช่วงเย็นวานนี้ (12 พ.ค.67) โดยห้างฯมีผลไม้และสินค้าไทยหลายชนิดไปวางจำหน่าย อาทิ กล้วยหอม มังคุด มะม่วง มะขาม ข้าวโพดหวาน มะพร้าว ไก่และปลากระป๋อง เป็นต้น และที่เป็นไฮไลต์คือ กล้วยหอมของไทยที่นำมาจำหน่าย เป็นผลสำเร็จจากการทำงานเชิงรุกร่วมกันระหว่างพาณิชย์จังหวัดและทูตพาณิชย์ จนสามารถทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้ถึง 5,000 ตัน ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก และจะมีการผลักดันให้นำเข้าสินค้าและผลิตภัณฑ์ไทยไปวางจำหน่ายเพิ่มขึ้นหลังจากนี้

อย่างไรก็ตาม ได้มาติดตามความสำเร็จ จากการบูรณาการเชิงรุกระหว่างทูตพาณิชย์โตเกียว กับพาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา ที่ได้ร่วมกันผลักดันกล้วยหอมไทยสู่ตลาดญี่ปุ่น ตามนโยบายการเร่งผลักดันการใช้ประโยชน์จาก FTA ของไทย โดยไทยกับญี่ปุ่นได้มีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2550 โดยญี่ปุ่นให้สิทธิพิเศษยกเว้นภาษีนำเข้ากล้วยจากไทยเป็นจำนวน 8,000 ตัน แต่ที่ผ่านมายังใช้สิทธิ์ไม่ครบ คนญี่ปุ่นนิยมบริโภคกล้วยมาก แต่ปลูกได้เองน้อย ต้องนำเข้าเฉลี่ยถึงปีละ 1 ล้านตัน ที่ผ่านมาไทยได้ใช้สิทธิพิเศษดังกล่าวเพียงปีละไม่ถึง 3,000 ตัน จึงตั้งเป้าเร่งส่งออกสินค้ากล้วยของไทยอีก 5,000 ตัน ให้ครบโควต้าที่ไม่เสียภาษี ซึ่งขณะนี้ สามารถทำการส่งออกกล้วยหอมของไทยมาได้เพิ่มขึ้นจากการบูรณาการทำงานในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมสั่งซื้อสินค้าผลไม้ล่วงหน้าก่อนผลผลิตออกของกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ทูตพาณิชย์ และพาณิชย์จังหวัด

ทั้งนี้ การผลักดันกล้วยหอมไทยสู่ตลาดญี่ปุ่นในครั้งนี้ ทูตพาณิชย์โตเกียว ได้นำผู้เชี่ยวชาญด้านกล้วยชาวญี่ปุ่นลงพื้นที่พัฒนาเทคนิคการปลูกให้ได้คุณภาพและปริมาณตามมาตรฐานญี่ปุ่น และนำนวัตกรรม “ไมโคร นาโน บับเบิ้ลส์” ของมหาวิทยาลัยล้านนา มาช่วยยืดระยะเวลาการสุกของกล้วยที่จะส่งมาขาย ขณะที่พาณิชย์จังหวัดโคราชประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ อาทิ เกษตรจังหวัด อบจ. อบต. สร้างความพร้อมในการส่งออกให้เกษตรกร อาทิ การทำห้องเย็น โรงคัดแยกที่ได้มาตรฐาน ทำให้เมื่อวันที่ 28 พ.ย.2566 ได้นำคณะผู้นำเข้าญี่ปุ่น รวมถึงฝ่ายจัดซื้อของซุปเปอร์มาร์เก็ตเบเชีย (Beisia) ลงนามทำสัญญาซื้อขายที่จังหวัดนครราชสีมา รวมทั้งสิ้น 5,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 100 ล้านบาท โดยวางจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ตเบเชีย (Beisia) 125 สาขา ร้าน Co-op สหกรณ์ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ และแพลตฟอร์ม OISIX ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มจำหน่ายอาหารพร้อมทานที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น และห้างฯมีกำหนดจัด Thai Festival ในเดือน มิ.ย.นี้ ใน 133 สาขาทั่วประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะมีทุเรียนของไทยจำหน่ายด้วย

“จะเห็นว่ากล้วยหอมที่นี่มีความชุ่มฉ่ำอยู่ตลอดเวลา เกิดจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ทางมหาวิทยาลัยล้านนาร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ ยืดอายุผลไม้ให้ยาวนานขึ้น จากนี้กระทรวงพาณิชย์จะเชิญผู้เชี่ยวชาญมาคุยกัน เพื่อนำไปใช้กับผลไม้ไทยอื่นๆ ให้สามารถส่งสินค้าได้สดน่ารับประทาน จากการผลักดันขายกล้วยหอมไทยมาญี่ปุ่นครั้งนี้ประสบความสำเร็จ จากนี้เราจะทำเพิ่มขึ้นอีกกับผลไม้อื่นๆ เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีช่องทางจำหน่ายมากขึ้น อยากพัฒนาเกษตรกรให้ขึ้นมาเป็นเกษตรสมัยใหม่เอาวิทยาการมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น“ นายภูมิธรรมกล่าว

ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ แจ้งว่า บริษัท Beisia จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1996 ด้วยเงินทุนจดทะเบียนประมาณ 750 ล้านบาท ปัจจุบันมีพนักงานกว่า 11,200 คน ประกอบธุรกิจห้างจำหน่ายสินค้าขนาดใหญ่ โดยมีห้างในเครือ เช่น Beisia (133 สาขา) มียอดขายประมาณ 100,000 ล้านบาทต่อปี โดยบริษัทฯได้ร่วมกิจกรรมส่งเสริมการขายกับทูตพาณิชย์โตเกียวมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันได้นำเข้า ผลไม้สด ไก่สดแช่แข็ง อาหารทะเลแช่แข็ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และขนมขบเคี้ยวจากไทย รวมกว่า 60 รายการ สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169 ได้

Advertisement

“เศรษฐา” กำชับ ทุกหน่วยงานดูแลการเพาะปลูก-พัฒนาทุเรียน เพิ่มการส่งออก

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 27 เมษายน 2567 จันทบุรี – “เศรษฐา” กำชับ ทุกหน่วยงานดูแลการเพาะปลูกพัฒนาทุเรียน เพิ่มการส่งออก เชื่อเติบโตได้อีกมาก พร้อมสั่งเยียวยาเหตุไฟไหม้ โรงงาน จ.ระยอง

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึง การเดินทางลงพื้นที่ จ.จันทบุรี ว่า วันนี้ที่มาจันทบุรี เพราะเป็นช่วงต้นฤดูของทุเรียน และปฏิเสธไม่ได้ว่าทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดพันธุ์หนึ่งของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันเราได้ส่งออกทุเรียนไปประเทศจีน คนจีนกินทุเรียนต่อคนต่อปี ประมาณ 0.7 กิโลกรัม คนไทยกิน 5 กิโลกรัม คนมาเลเซีย กิน 11 กิโลกรัม ต่อปี เพราะฉะนั้น ศักยภาพการเติบโตของตลาดยังไปได้อีกไกลมาก ในปัจจุบันนี้มีการพัฒนาการปลูกทุเรียนไปเยอะมาก รวมถึงการจัดเก็บ เป็นมืออาชีพมาก แต่ปัญหาก็มีอยู่บ้าง เรื่องการเก็บทุเรียนอ่อน ซึ่งวันนี้ทาง ปตท. มีนวัตกรรม มาเพื่อวัดให้รู้ว่า เป็นทุเรียนอ่อนหรือแก่ แล้วได้จดลิขสิทธิ์ทางปัญญา ไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งทุเรียนอ่อนเป็นสิ่งหนึ่งที่เราต้องระมัดระวัง ต้องทำให้ดี เพราะอาจจะทำให้เสียชื่อเสียงของประเทศ ทุกวันนี้เราเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ให้กับจีน คู่แข่งของเราคือเวียดนาม รวมถึงพบปัญหาการลักลอบ นำเข้ามาจากต่างประเทศ จึงได้สั่งการไปยังอธิบดีกรมศุลกากร ว่าต้องอย่าให้มีการทำเรื่องนี้เกิดขึ้น

ส่วนเรื่องแหล่งน้ำของทุเรียน เพราะทุเรียนปีแรกต้องมีแหล่งน้ำ มีการสั่งงานให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้จัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอ นอกเหนือจากนั้นจะมีเรื่องการขนส่ง พบว่ารถตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งไม่พอ ต้องมีการหมุนเวียนกันมา ปัจจุบันทุเรียนมีเยอะตู้ขนจึงไม่เพียงพอ ซึ่งพบรายได้ของประชาชนก็ดี คนที่มาช่วยตัดเก็บทุเรียน ในโรงงานมีการแกะและแช่แข็ง คนที่มาแกะและรับจ้างแกะ มีรายได้ต่อวัน วันละ 1,500 บาท ก็ถือเป็นแรงงานที่สำคัญ และผู้ประกอบการก็ให้ความเป็นธรรมแก่แรงงาน

ทั้งนี้เรื่องการพัฒนาพันธุ์ทุเรียน เริ่มต้นแล้ว จังหวัด จันทบุรี ถือเป็นหัวมังกร ก็สามารถส่งก่อนจำหน่ายได้ก่อน และต้องไล่ไปที่ภาคใต้ ค่อยตามมา ซึ่งจากการลงพื้นที่ภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ทราบปัญหาว่าปัญหาเดียวกันคือเรื่องแหล่งน้ำ และการขนส่ง เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาตรงนี้ จึงต้องแก้ปัญหาที่ จันทบุรีก่อน เป็นจุดเริ่มต้น เป็นจังหวัดที่ใหญ่ที่สุด ถือเหมือนเป็นเมืองหลวงของผลไม้ฤดูร้อนของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นมังคุด เงาะ ซึ่งภาคใต้ก็มีเหมือนกัน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ก็มาดูเรื่องราคาว่าต้องห้ามตกต่ำ ซึ่งเรามีแนวทางแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนแล้ว ก็นำไปพัฒนาต่อในจังหวัดภาคใต้ เพราะตอนนี้ยังไม่ถึงฤดูผลไม้ของภาคใต้

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การลงพื้นที่ไปดูโรงงานเก็บสารเคมี อ.บ้านค่าย จ.ระยองในช่วงบ่ายนี้ โดยชาวบ้านอยากให้ดู พื้นที่โดยรอบโรงงานด้วย ว่าได้รับผลกระทบทำการเกษตรไม่ได้เลย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ไปดูปัญหาเรื่องสภาพดินและสภาพน้ำ ซึ่งก็ต้องมาให้องค์ความรู้แก่เกษตรกรด้วย ยืนยันดูแลเยียวยาให้กับประชาชนในพื้นที่ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

Advertisement

ผู้ว่า กทม. เร่งหาแนวทางช่วยบรรเทาแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้ประชาชน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 4 ธันวาคม 2566 ผู้ว่า กทม. เร่งหาแนวทางช่วยบรรเทาแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้ประชาชน

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยหลังการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 25/2566 ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ว่า หลังจากที่มีการเปิดบริการ ให้ประชาชนลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ตามนโยบายรัฐบาล ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา มีผู้ลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือฯ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครแล้วรวม 3,043 โดยแบ่งเป็นการลงทะเบียนในระบบ Online จำนวน 2,971 ราย และลงทะเบียนด้วยตนเอง ที่ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ ณ สำนักงานเขต จำนวน72 ราย เจ้าหนี้ 1,809 ราย มูลหนี้รวมกว่า 169.7 ล้านบาท ( ข้อมูลจากวันที่ 3 ธ.ค. 66 เวลา 19.00 น. ) ซึ่งถือว่าผู้ลงทะเบียนยังมีจำนวนไม่มาก แต่กรุงเทพมหานครไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้สั่งการเพิ่มเติมไปอีก 2 ส่วน โดยให้แต่ละชุมชนทำการสำรวจ หาข้อมูลเจ้าหนี้ด้วยเพื่อประกอบกับข้อมูลลูกหนี้ให้ครอบคลุมมากขึ้น และส่วนต่อมาคือกำชับให้สถานธนานุบาล (โรงรับจำนำของกรุงเทพมหานคร) ให้เร่งหาแนวทางช่วยเหลือเพื่อที่จะสนองนโยบายของรัฐบาลให้เกิดผลสำเร็จให้ได้มากที่สุดเพิ่มเติมด้วย

นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เน้นย้ำว่า กรุงเทพมหานครไม่มีอำนาจในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบโดยตรง แต่ในเบื้องต้นกรุงเทพมหานครจะช่วยโดยการไม่ให้เกิดรายจ่ายที่เพิ่มมากขึ้นของประชาชนในทางอ้อมแทน เช่น การส่งเสริมให้สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลฟรีตามสิทธิ์ การเรียนฟรี เพื่อช่วยลดแบ่งเบาค่าใช้จ่ายไม่ให้เกิดการกู้ยืมในเรื่องดังกล่าวอีก และหลังจากนี้จะมีการประชุมมอบนโยบายให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังใน เป็นประธานผู้มอบนโยบาย ในวันที่ 8 ธันวาคมนี้ ที่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งสำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาจะต้องรอติดตามกันต่อไป

ทั้งนี้ หากประชาชนท่านใดยังได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้นอกระบบ ยังคงสามารถลงทะเบียนเพื่อขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ผ่านระบบออนไลน์ ได้ที่ Website : debt.dopa.go.th หรือลงทะเบียนด้วยตนเองที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ ณ สำนักงานเขตของกรุงเทพมหานครทุกแห่ง และสำหรับจังหวัดอื่น ๆ สามารถลงทะเบียนได้ที่ ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ ทั่วประเทศ ซึ่งข้อมูลของผู้ลงทะเบียนจะถูกรักษาไว้เป็นความลับ และหากมีข้อสงสัยสามารถขอรับคำปรึกษาและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

Advertisement

รัฐบาลปลื้มส่งออกมันสำปะหลังครึ่งปีแรก 6.7 ล้านตัน 8.2 หมื่นล้านบาท ลุ้นทั้งปีทำสถิติสูงสุดใหม่

People Unity News : วันนี้ (28 สิงหาคม 2565) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลชื่นชมผลสำเร็จ ตามที่ผลการส่งออกมันสำปะหลังไทยในช่วงครึ่งปีแรก 2565 มีจำนวนกว่า 6.7 ล้านตัน รวมมูลค่า 8.2 หมื่นล้านบาท พร้อมกำชับทุกฝ่ายร่วมพิจารณามาตรการเพิ่มการส่งออกให้บรรลุเป้าหมาย 1.3 แสนล้านบาท

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมุ่งดำเนินมาตรการประกันราคาผลผลิต และรายได้เกษตรกรมันสำปะหลังอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งแสวงหาตลาดแก่ผู้ประกอบการค้ามันสำปะหลังทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) รายงานการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ได้แก่ มันเส้น มันอัดเม็ด แป้งดิบ แป้งแปรรูป และอื่นๆ (กากมัน และสาคู) ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 นี้ มีอัตราการส่งออกแล้วกว่า 6.7 ล้านตัน รวมมูลค่ากว่า 8.2 หมื่นล้านบาท โดยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ถือว่ามีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 35.16% ทั้งนี้ เกิดจากปัจจัยด้านสงครามที่ส่งผลต่อวัตถุดิบทางการเกษตรและอาหารทั่วโลก โรงงานอาหารสัตว์ฟื้นตัวจากผลกระทบโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever : ASF) และโดยเฉพาะความต้องการมันเส้นเพื่อผลิตแอลกอฮอล์ของจีนสูง ทำให้ตลาดมันสำปะหลังไทยขยายตัว

โดยเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา กรมการค้าต่างประเทศได้ร่วมประชุมหารือ 4 สมาคมมันสำปะหลัง ได้แก่ สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย สมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย สมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย และสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยคาดว่าการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในช่วงครึ่งปีหลังจะเพิ่มขึ้นในปริมาณ 4.25 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 4.7 หมื่นล้านบาท ขณะที่ตลอดทั้งปี 2565 จะมีปริมาณการส่งออกรวม 11 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับปี 2564 ซึ่งหากยอดการส่งออกตรงตามที่คาดการณ์ไว้จริง มูลค่าการส่งออกมันสำปะหลังจะถือเป็นยอดสูงสุดในรอบ 15 ปี

“รัฐบาลโดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้การบูรณาการความร่วมมือร่วมกับภาคเกษตรกร ผู้ประกอบการ และคู่ค้ามันสำปะหลังต่างประเทศ ในการร่วมส่งเสริม และผลักดันการส่งออกสินค้าไทยอย่างมีประสิทธิภาพ โดยขอให้ทุกฝ่ายเร่งดำเนินการอย่างเต็มศักยภาพเพื่อบรรลุเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ พร้อมหาแนวทางการต่อยอดส่งออกสินค้าการเกษตรอื่น ๆ ขยายตลาดผลผลิตไทยให้เป็นที่รู้จักในต่างประเทศมากยิ่งขึ้น” นายอนุชา กล่าว

Advertisement

“คลัง” เผย “นายกฯ” สั่งเร่งรัดงบปี 67 เต็มสูบมาโดยตลอด

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 2 พฤษภาคม 2567 “คลัง” เผย “นายกฯ” สั่งเร่งรัดงบปี 67 เต็มพิกัดมาโดยตลอด กรมบัญชีกลางชู 8 มาตรการ เร่งงบค้างท่อ

วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีสื่อสารมวลชนบางรายเขียนลงในคอลัมน์เผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ โดยเห็นว่า รัฐบาลโดยท่านนายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) ไม่ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2567 นั้น กระทรวงการคลังขอเรียนว่า ข้อมูลที่ปรากฏในสื่อดังกล่าวเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในปัจจุบัน ซึ่งรัฐบาลโดยท่านนายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด โดยที่ผ่านมาได้สั่งการและมอบหมายให้กระทรวงการคลังดำเนินการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ดังนี้

1.มาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ

กระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางได้ออกแนวทางการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ โดยให้หน่วยรับงบประมาณดำเนินการ ดังนี้

    1.1 เมื่อได้รับอนุมัติเงินจัดสรรแล้ว กรณีเป็นรายการที่จะต้องดำเนินการหรือเบิกจ่ายโดยสำนักงานในส่วนภูมิภาค ให้เร่งดำเนินการส่งเงินจัดสรรต่อไปยังสำนักงานในส่วนภูมิภาคภายใน 5 วัน นับแต่วันที่ได้รับอนุมัติเงินจัดสรร เพื่อให้สำนักงานในส่วนภูมิภาคดำเนินการใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันต่อไป

    1.2 รายการปีเดียว ให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณากำหนดระยะเวลาการส่งมอบงานให้รวดเร็วขึ้น เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายได้ทันภายในเดือนกันยายน 2567

    1.3 รายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณที่เป็นรายจ่ายลงทุนรายการใหม่ ให้ดำเนินการก่อหนี้ผูกพันให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2567

    1.4 ให้หัวหน้าหน่วยรับงบประมาณรวมทั้งทุนหมุนเวียนภายใต้สังกัด กำกับดูแลเร่งรัดการดำเนินการเพื่อให้สามารถก่อหนี้ และเบิกจ่ายเงินงบประมาณให้แล้วเสร็จโดยเร็ว พร้อมทั้งรายงานผลให้กรมบัญชีกลาง ทุกวันที่ 5 ของเดือนถัดไป

    1.5 ดำเนินการเบิกหักผลักส่ง เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ชดใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อนภายในเดือนกรกฎาคม 2567

    1.6 สำหรับหน่วยงานของรัฐที่ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จากสำนักงบประมาณ และได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างจนถึงขั้นตอนได้ตัวผู้รับจ้างไว้แล้ว ให้เร่งลงนามในสัญญาหรือข้อตกลงเป็นหนังสือโดยเร็ว

2.มาตรการลดระยะเวลาการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง

      2.1 การเผยแพร่ร่างประกาศและร่างเอกสารซื้อหรือจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ กำหนดให้วงเงินเกิน 500,000 บาท แต่ไม่เกิน 10,000,000 บาท ให้อยู่ในดุลพินิจของหัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่จะให้มีการเผยแพร่ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการหรือไม่ก็ได้ จากเดิมที่กำหนดเพดานไว้ที่ 5,000,000 บาท

      2.2 การเผยแพร่ประกาศและเอกสารซื้อหรือจ้างโดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป

     (1) การซื้อหรือการจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการเผยแพร่ประกาศและเอกสารซื้อหรือจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการซื้อหรือจ้างครั้งหนึ่งซึ่งมีวงเงินเกิน 500,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000,000 บาท ไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ ทั้งนี้ สำหรับการซื้อหรือจ้างครั้งหนึ่ง ซึ่งมีวงเงินเกิน 100,000,000 บาท ไม่น้อยกว่า 20 วันทำการ ซึ่งเป็นการลดระยะเวลาจากที่กำหนดไว้ในระเบียบฯ

     (2) การจ้างที่ปรึกษา และการจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง โดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป ให้หน่วยงานของรัฐเผยแพร่ประกาศและเอกสารการจ้าง เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ โดยระยะเวลาการดำเนินการดังกล่าว ให้ใช้กับปีงบประมาณ 2567 เท่านั้น ซึ่งเป็นการลดระยะเวลาจากที่กำหนดไว้ในระเบียบฯ

ทั้งนี้ เพื่อให้การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นไปตามเป้าหมาย กระทรวงการคลังและคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ จึงได้มีมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนหลายประการ เช่น การกำหนดเป้าหมายการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของกรอบงบลงทุนเป็นตัวชี้วัดของผู้บริหารสูงสุด การกำหนดให้รัฐวิสาหกิจเร่งลงนามในสัญญาให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2567 โดยให้รัฐวิสาหกิจที่ใช้เงินงบประมาณในการลงทุน เตรียมความพร้อมเพื่อให้สามารถลงนามในสัญญาได้ทันทีเมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณ เป็นต้น

Advertisement

เริ่มขายพรุ่งนี้ (6 มี.ค.) พันธบัตรออมทรัพย์ ผ่านแอปเป๋าตัง 1 หมื่นล้านบาท

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 5 มีนาคม 2567 คลัง ขายพันธบัตรออมทรัพย์ ผ่านแอปเป๋าตัง 1 หมื่นล้านบาท  6 มี.ค. นี้  อายุ 5 ปี ดอกเบี้ย 3 % ต่อปี อายุ 10 ปี ดอกเบี้ย 3.4 %

นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กล่าวว่า วันที่ 6 มี.ค. กระทรวงการคลัง ได้เริ่มเปิดจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์  ประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 40,000 ล้านบาท งวดแรก จากเป้าหมาย  1 แสนล้านบาท เพื่อชดเชยขาดดุลงบประมาณปี 67 ส่วนที่เหลืออีก 6 หมื่นล้านบาท จะดูสภาพตลาดตามความเหมาะสม

กระทรวงการคลังได้แบ่งการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ครั้งนี้ คือ 1.การจำหน่ายให้กับประชาชน วงเงิน 35,000 ล้านบาท ผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่ วอลเล็ต สบม. (สะสมบอนด์มั่งคั่ง) บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง วงเงิน 10,000 ล้านบาท และช่องทางต่างๆ ของธนาคารตัวแทนจำหน่าย วงเงิน 25,000 ล้านบาท และ 2. การจำหน่ายให้กับนิติบุคคลไม่แสวงหากำไรตามที่กระทรวงการคลังกำหนด วงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดช่องทางการจำหน่าย ดังนี้

1.การจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านวอลเล็ต สบม. บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง พันธบัตรออมทรัพย์บนวอลเล็ต สบม. ของกระทรวงการคลัง ในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ครั้งที่ 1 วงเงิน 10,000 ล้านบาท รุ่นอายุและผลตอบแทน (จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน) 5 ปี 3.00% ต่อปี, 10 ปี 3.40% ต่อปี วันจำหน่าย 6 – 19 มีนาคม 2567 ผู้มีสิทธิ์ซื้อ บุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทย ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป วงเงินขั้นต่ำ-ขั้นสูง 100 บาท – 50,000,000 บาท (หน่วยละ 100 บาท) ช่องทางการจำหน่าย วอลเล็ต สบม. บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเป๋าตังได้ตั้งแต่วันนี้ เพื่อลงทะเบียน ยืนยันตัวตน และเติมเงินเข้าวอลเล็ต สบม. ผ่าน Mobile Banking หรือผูกบัญชีธนาคารกรุงไทย รวมถึงเติมเงินด้วย Wallet ID ที่เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา

2.การจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านธนาคารตัวแทนจำหน่าย ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) พันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลัง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 1 ช่วงที่ 1 จองซื้อได้วันที่ 11-13 มีนาคม 2567 วงเงิน 25,000 ล้านบาท ผู้มีสิทธิ์ซื้อบุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทย หรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย รุ่นอายุและผลตอบแทน (จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน) 5 ปี 3.00% ต่อปี, 10 ปี 3.40% ต่อปี วงเงินขั้นต่ำ-ขั้นสูง 1,000 บาท-ไม่จำกัดวงเงินขั้นสูง (หน่วยละ 1,000 บาท)

ช่องทางการจำหน่าย Internet Banking Mobile Banking และเคาน์เตอร์ของธนาคารตัวแทนจำหน่ายทั้ง 4 แห่ง

พันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลัง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 1 ช่วงที่ 2 จำหน่ายวันที่ 18-19 มีนาคม 2567 วงเงิน 5,000 ล้านบาท

ผู้มีสิทธิ์ซื้อ สภากาชาดไทย มูลนิธิ สมาคม สหกรณ์ วัด สถานศึกษาของรัฐ โรงพยาบาลของรัฐ นิติบุคคลอาคารชุด นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร และนิติบุคคลอื่นที่ไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไร รุ่นอายุและผลตอบแทน (จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน) 10 ปี 3.00% ต่อปี วงเงินขั้นต่ำ-ขั้นสูง 1,000 บาท – ไม่จำกัดวงเงินขั้นสูง (หน่วยละ 1,000 บาท) ช่องทางการจำหน่าย เคาน์เตอร์ของธนาคารตัวแทนจำหน่ายทั้ง 4 แห่ง

การจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ให้กับประชาชนในช่วงที่ 1 (วันที่ 11 – 13 มีนาคม 2567) จะใช้วิธีการจัดสรรพันธบัตรแบบ Small Lot First (ทยอยจัดสรรพันธบัตรเป็นรอบๆ เวียนจนครบผู้ซื้อทุกราย) โดยทวีคูณรอบละ 1,000 บาท ซึ่งลำดับในการจองซื้อก่อน-หลัง ไม่มีผลต่อการจัดสรร

ในกรณีที่วงเงินพันธบัตรที่จะจัดสรรในรอบสุดท้ายไม่เพียงพอที่จะจัดสรรให้ผู้ซื้อทุกราย ระบบคอมพิวเตอร์จะจัดสรรพันธบัตรในรอบสุดท้ายด้วยวิธีการสุ่ม (Random) จนครบวงเงินจำหน่าย ทั้งนี้ ผู้จองซื้อจะทราบผลการจัดสรรพันธบัตรและได้รับเงินคืน กรณีที่ไม่ได้รับจัดสรรพันธบัตร หรือได้รับจัดสรรไม่ครบตามวงเงินจองซื้อ ในวันที่ 14 มีนาคม 2567 (รายละเอียดและเงื่อนไขการจำหน่ายเป็นไปตามเอกสารการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลัง) วงเงินที่จำหน่ายบนวอลเล็ต สบม. และผ่านธนาคารตัวแทนจำหน่ายจะแยกจากกัน โดยผู้ลงทุนสามารถลงทุนได้ทั้ง 2 ช่องทาง โดยประชาชนที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ในหนังสือชี้ชวนและเอกสารสรุปเงื่อนไขการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ หรือสอบถามได้กับธนาคารตัวแทนจำหน่ายทั้ง 4 แห่ง สบน. หวังว่าการจำหน่ายพันธบัตรในครั้งนี้จะได้รับการตอบรับที่ดี ในการลงทุนกับพันธบัตรออมทรัพย์ของรัฐบาล

Advertisement

Verified by ExactMetrics