วันที่ 10 พฤษภาคม 2024

ก.คลังรายงานเศรษฐกิจไทยขยายตัวดีทุกภาค เหนือ อีสาน ใต้ ออก ตก กทม. ปริมณฑล

People unity news online : เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนกันยายน และไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ในหลายภูมิภาค นำโดย ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคเหนือ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนรวมถึงการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี

29 ตุลาคม 2561 นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลังพร้อมด้วย นายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง และ นายศรพล ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนกันยายน ปี 2561 ว่า “เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนกันยายน และไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ในหลายภูมิภาค นำโดย ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคเหนือ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนรวมถึงการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว  สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี” โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

ภาคกลาง เศรษฐกิจส่งสัญญาณขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงอุตสาหกรรมเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 3.9 ต่อปี จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดชัยนาท ลพบุรี และอ่างทอง เป็นต้น ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 5.6 เช่นเดียวกันกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 28.8 และ 3.1 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 15.5 และ 3.3 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในจังหวัดสระบุรี และสิงห์บุรี เป็นต้น นอกจากนี้เม็ดเงินลงทุนที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 อยู่ที่ 8,976 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 75.2 ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสระบุรี เป็นสำคัญ สำหรับด้านอุปทาน ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคกลางที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 96.5 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมพลาสติก เป็นต้น สอดคล้องกับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี จากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 7.6 และ 11.3 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกันยายนเบื้องต้น 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันออก เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคอุตสาหกรรมช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 14.7 ต่อปี ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 19.8 ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัวที่ร้อยละ 9.9 และ 4.2 ต่อปี ตามลำดับ จากขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัด ระยอง และสระแก้วเป็นต้น ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 7.2 และ 11.4 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับเม็ดเงินลงทุนที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ อยู่ที่ 8,244 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 64.9 ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดระยอง และปราจีนบุรี สำหรับด้านอุปทาน การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออกในเดือนกันยายน ปรับเพิ่มขึ้นอยู่เหนือระดับ 100 เป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกันมาอยู่ที่ 109.4 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ อุตสาหกรรมโลหะการ และอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น สอดคล้องกับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 5.2 และ 8.2 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคเหนือ เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.3 ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดตาก นครสวรรค์ และเชียงใหม่ เป็นต้น ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อปี เช่นเดียวกันกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 11.7 ต่อปี สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 6.7 และ 7.8 ต่อปี ตามลำดับ นอกจากนี้เม็ดเงินลงทุนที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 27.8 ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดตาก และเชียงใหม่ เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 3.6 และ 8.4 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันตก เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวเร่งร้อยละ 28.3 ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดราชบุรี เพชรบุรี  และกาญจนบุรี เป็นต้น ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 21.3 ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 9.8 ต่อปี ขณะที่ยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่หดตัว สำหรับการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.9 ต่อปี สอดคล้องกับเงินทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการในเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ 679 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 78.9 ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และสุพรรณบุรี เป็นต้น  สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.0 และ 7.9 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือนกันยายน 2561 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคและการผลิตภายในภูมิภาคที่ร้อยละ 1.4 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคใต้ เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 5.9 ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นในจังหวัดนครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี เป็นต้น ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 5.7 ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง จากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ที่ขยายตัวร้อยละ 6.6 ต่อปี ในขณะที่ยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 หดตัว อย่างไรก็ดีการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 12.8 ต่อปี สอดคล้องกับเงินทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ 818 ล้านบาท จากการลงทุนในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและตรัง เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดีแม้จะขยายตัวในอัตราชะลอลงจากเดือนก่อน ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 2.9 และ 6.6 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนกันยายน 2561 อยู่ในระดับเอื้อต่อการบริโภคที่ร้อยละ 1.3 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจทรงตัว แต่มีการลงทุนภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 1.6 และ 6.2 ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดขอนแก่น สกลนคร และสุรินทร์  ตามลำดับ ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนหดตัวลงจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และยอดรถจักรยานยนต์หดตัวที่ร้อยละ -0.03 และ -6.3 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดีการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง จากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ยังคงขยายตัวร้อยละ 13.6 ต่อปี จากการขยายตัวในทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ และอุบลราชธานี สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 3.9 และ 9.2 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในเดือนกันยายน 2561 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 89.4 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นต้น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกันยายนเบื้องต้น ยังคงอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคภายในภูมิภาคที่ร้อยละ  1.0 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

กทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจทรงตัว แต่มีการลงทุนภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 13.2 และ 9.3 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในจังหวัดสมุทรปราการและกรุงเทพมหานคร ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนหดตัวลง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -4.9 และ -2.3 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าทั่วไปยังคงขยายตัว สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 2.4 ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดนครปฐม กรุงเทพมหานคร และนนทบุรี เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดี สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 6.1 ต่อปี ตามลำดับ ตามการขยายตัวทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ  ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือนกันยายนเบื้องต้น 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.7 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

People unity news online : post 30 ตุลาคม 2561 เวลา 08.40 น.

“ประยุทธ์” ระบุการก่อสร้างสุวรรณภูมิเฟส 2 ต้องทันเวลาที่กำหนด

People unity news online : นายกรัฐมนตรีระบุการก่อสร้างสุวรรณภูมิเฟส 2 ต้องทันเวลาที่กำหนด เป็นไปตามกฎหมาย โปร่งใส ตรวจสอบได้

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2561 เวลา 14.40 น. ณ บริเวณห้องโถงชั้น 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงความคืบหน้าการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 จะสามารถเปิดใช้ได้ทันตามกำหนดหรือไม่ว่า ความคืบหน้าขณะนี้เป็นการทำงานของกระทรวงคมนาคม และการท่าอากาศยาน โดยดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย เน้นความโปร่งใส ถูกต้อง และเป็นธรรม ให้มีการตรวจสอบ เร่งรัด รายงานผล เพื่อให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว เพราะจะเสียเวลามากไม่ได้ ทุกอย่างมีกติกาหมด ถ้าพิสูจน์ได้ว่าไม่ดี ไม่ถูกต้อง ก็มีวิธีการอยู่แล้ว ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีไม่ต้องไปสั่งทุกเรื่องว่าใช่หรือไม่ใช่  ได้หรือไม่ได้ เพราะไม่ใช่อำนาจของนายกรัฐมนตรีทั้งหมด

People unity news online : post 26 ตุลาคม 2561 เวลา 08.10 น.

 

ประธาน JETRO และ Mitsui เข้าพบ “ประยุทธ์” โปรยยาหอมยืนยันลงทุนในไทย

People unity news online : เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2561 เวลา 17.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น นายฮิโรยูกิ อิชิเกะ (Mr. Hiroyuki Ishige) ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ โรงแรมนิว โอตานิ (Hotel New Otani) กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณ JETRO ที่ช่วยผลักดันเอกชนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนใน EEC อย่างต่อเนื่อง และขอให้ช่วยสนับสนุนให้เอกชน สถาบันการศึกษา ตลอดจนสถาบันวิจัยและพัฒนาของญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนใน EEC เพิ่มขึ้น รวมทั้งเชิญชวนเอกชนญี่ปุ่นเข้าร่วมประมูลในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่างๆที่จะเปิดประมูลในปีนี้ โดยเฉพาะการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุด โดยขอให้เชื่อมั่นว่ารัฐบาลไทยจะเดินหน้าโครงการ EEC อย่างต่อเนื่อง และพร้อมดูแลเอกชนญี่ปุ่นเป้นอย่างดี

ด้านประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) กล่าวชื่นชมนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล ซึ่งช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับ SMEs และ Start-ups ไทยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเป็นนโยบายที่ช่วยยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมในไทย พร้อมกันนี้ JETRO ยังยินดีที่ญี่ปุ่นเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยตามนโยบายดังกล่าว และ JETRO ยังพร้อมสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านเทคนิคเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายและอุตสาหกรรมใหม่ๆของไทยต่อไป

หลังจากนั้น เวลา 17.40 น. ตามเวลาท้องถิ่น นายทัตสึโอะ ยาสุนากะ ประธานและ CEO บริษัท Mitsui & Co. เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยใน EEC ความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาใน EEC และการลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตน้ำมันดิบในไทยของบริษัท Mitsui Oil Exploration (MOECO) บริษัทในเครือ ซึ่งร่วมทุนกับบริษัทเชฟรอน ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวให้ความเชื่อมั่นว่า กระบวนการประมูลเพื่อขอสิทธิในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยรอบใหม่จะเป็นไปด้วยความโปร่งใส โดยคาดว่าจะประกาศชื่อผู้ชนะประมูลดังกล่าวภายในสิ้นปีนี้ และลงนามสัญญาแบ่งปันผลผลิตประมาณต้นปี 2562

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงการลงทุนในธุรกิจผลิตน้ำตาลในไทยของบริษัท Mitsui & Co. ซึ่งมีมากว่า 40 ปี และความสนใจของบริษัท Mitsui & Co. ในการพัฒนาระบบรางของไทย โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลทั้งสองฝ่ายกำลังตกลงเรื่องรูปแบบในด้านการเงินในโครงการฯ

People unity news online : post 10 ตุลาคม 2561 เวลา 10.30 น.

“สนธิรัตน์” พอใจ 1 ปีร้านค้าธงฟ้าประชารัฐเกิดเงินหมุนเวียนในท้องถิ่นกว่า 1 แสนล้านบาท

People unity news online : “พาณิชย์” เป็นปลื้มขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากผ่านร้านค้าธงฟ้าประชารัฐสำเร็จเกินคาด เกิดกระแสเงินหมุนเวียนในท้องถิ่นกว่า 1 แสนล้านบาท และตั้งเป้าเพื่อการหมุนเวียนเงิน 2 แสนล้านบาทในปี 62 เตรียมลุยเชื่อมโยงนำสินค้าชุมชนเข้าไปขายเพิ่ม ระบุสินค้าชุมชนที่ฮอตฮิตขายดี “ข้าวสาร ผักและผลไม้ตามฤดูกาล เช่น แตงโม ทุเรียน มะนาว สับปะรด กระเทียม หอมแดง ขนมเปี๊ยะเต้าส้อ เค้ก กล้วยตาก กล้วยฉาบ ข้าวแต๋น น้ำพริกต่างๆ”

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า โครงการสวัสดิการแห่งรัฐที่ผู้ถือบัตร 11.4 ล้านคน ใช้จ่ายกับร้านค้าธงฟ้าประชารัฐจำนวนกว่า 5 หมื่นราย ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2560 ถึง 20 ก.ย.2561 มียอดซื้อสินค้ารวม 4.1 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการใช้เพื่อซื้อสินค้าชุมชนและสินค้าจากเกษตรกรกว่า 2 หมื่นล้านบาท ในจำนวน 2 หมื่นล้านบาทนี้  คาดว่ามีการหมุนเวียนในภูมิภาค 5 รอบ ประมาณ 1 แสนล้านบาทในปี 61

“เงินจากผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ได้ใช้จ่ายซื้อสินค้าในร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ได้มีส่วนช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับร้านค้า ทำให้ร้านค้ามีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งกระทรวงฯกำลังเร่งผลักดันให้ร้านค้ารายย่อยเข้าร่วมโครงการให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานรากลงสู่ร้านค้ารายเล็กรายน้อย โดยได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้ที่ 1 แสนราย โดยเงินที่ผู้ถือบัตรนำไปใช้ซื้อสินค้าจากร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ไม่เพียงแต่ช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับผู้ถือบัตร แต่ยังช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับร้านค้า และมีผลต่อเนื่องในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก โดยเฉพาะผู้ผลิตสินค้าชุมชน เกษตรกร เพราะวงเงินที่ผู้ถือบัตรได้รับ ได้กระจายไปซื้อสินค้าชุมชน สินค้าเกษตรกรด้วย ซึ่งจากที่สำรวจมีประมาณกว่า 2 หมื่นล้านบาท และในวงเงินนี้ ได้ก่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจแล้วประมาณ 1 แสนล้านบาท ทำให้ผู้ผลิตสินค้าชุมชน เกษตรกร มีรายได้เพิ่มขึ้น มีเงินจับจ่ายใช้สอย และทำให้เศรษฐกิจฐานรากขยายตัวดีขึ้น”

นายสนธิรัตน์กล่าวว่า กระทรวงได้ดำเนินการเชื่อมโยงเครือข่ายและส่งเสริมช่องทางการตลาดสินค้าชุมชน ให้กับร้านค้าธงฟ้าประชารัฐและผู้ผลิตสินค้าชุมชน ในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา ณ จังหวัดอุดรธานี ประสบความสำเร็จอย่างสูง มีร้านค้า และผู้ผลิตเข้าร่วมประมาณ 500 ราย ให้การตอบรับที่ดีมาก มีการจับคู่ซื้อขายกว่า 90 ราย จำนวนเงินที่ตกลงซื้อขายกันภายในงานประมาณ 5 ล้านบาท และจะมีการซื้อขายกันต่อเนื่องต่อไป ซึ่งกระทรวงได้จัดการเชื่อมโยงเครือข่ายร้านค้าธงฟ้ากับผู้ผลิตสินค้าชุมชนในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือและภาคใต้อีกเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2561 ณ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้รับการตอบรับอยู่ในระดับเดียวกัน และกระทรวงมีแผนที่จะจัดให้มีการพบปะเชื่อมโยงระหว่างร้านค้าธงฟ้ากับผู้ผลิตอย่างต่อเนื่อง ขอเชิญชวนให้ไปพบปะกันที่จังหวัดเชียงใหม่ และรัฐบาลจะเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ถือบัตร เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจหมุนเวียนในท้องถิ่นเพิ่มเติมในปี 62 โดยมีเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนให้มีเงินหมุนไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นรูปธรรม และเห็นได้อย่างชัดเจนที่สุด

People unity news online : post 2 ตุลาคม 2561 เวลา 10.40 น.

คนจนเฮ! รัฐคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ใช้บัตรสวัสดิการอีก 500 บาทต่อเดือน

People unity news online : รัฐบาลเพิ่มเงินชดเชยจากภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้มีรายได้น้อยที่ได้ชำระเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ วงเงินไม่เกิน 500 บาทต่อคนต่อเดือน ทำให้ผู้มีสิทธิมีรายได้เพิ่มขึ้น ช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ และส่งเสริมการออมเงินผ่าน กอช. ซึ่งจะช่วยให้มีเงินเก็บไว้ใช้ในการเลี้ยงชีพในอนาคต

วันที่ 19 กันยายน 2561 นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า จากข้อมูลการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐของผู้มีสิทธิในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษา และวัตถุดิบเพื่อการเกษตร จากร้านธงฟ้าประชารัฐ 11 เดือนที่ผ่านมา (ตุลาคม 2560 – สิงหาคม 2561) พบว่า มีการใช้สิทธิ จำนวน 128 ล้านครั้ง เป็นเงิน 38,185 ล้านบาท หรือร้อยละ 99 ของจำนวนเงินการใช้สิทธิทั้งสิ้น 38,535 ล้านบาท ซึ่งสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และแบ่งเบาค่าครองชีพของผู้มีรายได้น้อยได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ ในปัจจุบันหากผู้มีสิทธิใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งจะต้องรับภาระจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 รวมอยู่ในราคาสินค้าดังกล่าวด้วย

อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวต่อว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการชดเชยเงินให้แก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐโดยใช้ข้อมูลจากจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้มีรายได้น้อยได้ชำระ โดยจะคงเงินที่จ่ายเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้มีรายได้น้อยได้ชำระผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไว้ร้อยละ 1 ก่อน ส่วนที่เหลือร้อยละ 6 จะนำมาจำแนกข้อมูลเป็น 2 ส่วน  คือ ส่วนที่ 1 ร้อยละ 5 เพื่อการใช้จ่าย เงินในส่วนนี้จะโอนเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป หากตรงกับวันหยุดจะเลื่อนเป็นวันทำการก่อนวันหยุด ส่วนที่ 2 ร้อยละ 1 เพื่อการออม ของวงเงินชดเชยทั้งหมด และเงินจะโอนเข้าบัญชีของผู้มีรายได้น้อยที่ได้สมัครเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) แต่ละราย หากผู้มีสิทธิมีคุณสมบัติครบถ้วนในการสมัครสมาชิก กอช. แต่ยังไม่ได้สมัครสามารถสมัครได้ทันที เพื่อให้รองรับการโอนเงินเข้าบัญชี สำหรับผู้ที่ขาดคุณสมบัติการเป็นสมาชิก กอช. กระทรวงการคลังจะหารือกับธนาคารต่างๆ เพื่อเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารระยะยาว โดยให้ธนาคารพิจารณาผลตอบแทน ที่เหมาะสม รวมทั้งยกเว้นค่าธรรมเนียมการรักษาบัญชีต่อไป

อย่างไรก็ตาม เงินชดเชยที่ผู้มีรายได้น้อยจะได้รับทั้ง 2 ส่วน รวมกันแล้วไม่เกิน 500 บาทต่อคนต่อเดือน โดยใช้ข้อมูลจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้มีสิทธิชำระผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 – 30 เมษายน 2562 มาคำนวณเพื่อจ่ายเงินชดเชย โดยใช้เงินจากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคมจำนวน 5,000 ล้านบาท

การดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และต้องการส่งเสริมให้เกิดการออมเงินในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยให้มีเงินสำรองเก็บไว้ใช้เลี้ยงชีพในอนาคต และยังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมและจูงใจให้ร้านค้าเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น อันจะเป็นการสร้างความโปร่งใสในการประกอบธุรกิจและสร้างฐานภาษีที่ยั่งยืนให้กับประเทศ

People unity news online : post 19 กันยายน 2561 เวลา 12.40 น.

มหาดไทยเผย “ตลาดประชารัฐ” กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากแล้วกว่า 1.2 พันล้านบาท

People unity news online : กระทรวงมหาดไทยเผย “ตลาดประชารัฐ” กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากแล้วกว่า 1.2 พันล้านบาท เดินหน้าพัฒนาก้าวต่อไปตลาดประชารัฐสู่ตลาดกลางพืชผลทางการเกษตร

เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2561 ที่กระทรวงมหาดไทย นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะโฆษกกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการตลาดประชารัฐจำนวน 10 ประเภท ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 9 เดือน โครงการตลาดประชารัฐ สามารถสร้างงาน สร้างโอกาส สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย และผู้ประกอบการที่ไม่มีสถานที่ค้าขายได้เป็นผู้ประกอบการรายใหม่ นำมาซึ่งรายได้เพื่อใช้ในการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน

โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลตลาดประชารัฐ ดำเนินการเปิดตลาดประชารัฐแล้วทั้งสิ้น 6,610 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งได้ดำเนินการจัดสรรพื้นที่จำหน่ายสินค้าให้ผู้ประกอบการแล้ว จำนวน 96,246 ราย คิดเป็นร้อยละ 91.32 มีจังหวัดที่ดำเนินการจัดสรรพื้นที่ให้ผู้ประกอบการเสร็จแล้ว 51 จังหวัด สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากทั้งประเทศ 1,219.328 ล้านบาท สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1,810 บาทต่อเดือน นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยได้บูรณาการร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ยกระดับตลาดประชารัฐให้เป็นตลาดเพื่อการท่องเที่ยวจังหวัดต่างๆ โดยได้คัดเลือกตลาดประชารัฐที่มีศักยภาพเสนอเป็นกิจกรรมในปฏิทิน “ปีท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋อย่างยั่งยืน” จำนวน 171 ตลาด ใน 70 จังหวัดทั่วประเทศ

ในด้านการส่งเสริม สนับสนุนและช่วยเหลือเกษตรกรในการนำสินค้าเกษตรมาจำหน่ายในตลาด กระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลตลาดประชารัฐ ดำเนินการสนับสนุนรับสินค้าเกษตรเพื่อเป็นแหล่งระบายสินค้าทางการเกษตรตามฤดูกาลเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภาวะสินค้าล้นตลาด อาทิ ข้าวขาว ข้าวหอมมะลิ สินค้าเกษตรอินทรีย์ ผักพื้นบ้าน/ผักสวนครัว ซึ่งได้ช่วยเหลือเกษตรกรแล้ว จำนวน 5,702 ราย สร้างรายได้ 2,433,364 บาท และได้ขยายผลตลาดประชารัฐไปยังส่วนราชการที่มีความพร้อมในการสนับสนุนพื้นที่ให้เกษตรกรที่มีศักยภาพและความพร้อมนำสินค้ามาจำหน่ายในตลาด ซึ่งมีส่วนราชการแจ้งความประสงค์ ทั้งสิ้น 9 กระทรวง จำนวน 475 แห่ง ทั่วประเทศ

โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับก้าวต่อไปของโครงการตลาดประชารัฐ กระทรวงมหาดไทย จะได้ร่วมกับหน่วยงานเจ้าของตลาด ดำเนินการขยายตลาดประชารัฐในพื้นที่ให้เป็นไปในลักษณะ “ตลาดกลางพืชผลทางการเกษตร” รวมทั้งคัดเลือกและสนับสนุนเกษตรกรในการนำสินค้ามาจำหน่ายในตลาดประชารัฐที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งตลาดประชารัฐที่ดำเนินการอยู่ และตลาดประชารัฐที่หน่วยงานต่างๆ ได้จัดพื้นที่หรือสนับสนุนพื้นที่ เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรที่มีศักยภาพและความพร้อมได้นำสินค้ามาจำหน่ายในตลาด และจะได้คัดเลือกตลาดประชารัฐที่มีการดำเนินการเป็นเลิศ (Best Practice) ของจังหวัด เช่น ด้านตลาดสะอาด ตลาดปลอดภัย ไม่ใช่โฟม ด้านการท่องเที่ยว และด้านสินค้าเกษตรปลอดภัย เพื่อเป็นต้นแบบและถอดบทเรียนผลความสำเร็จสู่การดำเนินงานของตลาดประชารัฐเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

People unity news online : post 12 กันยายน 2561 เวลา 09.20 น.

“บิ๊กตู่” หนุนใช้ “ครูพิเศษ” ยกระดับแรงงานรองรับ EEC

People unity news online : เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2561 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แนะให้กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวบรวม “ครูพิเศษ” โดยบูรณาการภารกิจผลิตกำลังคนให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ด้วยการนำร่องในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC

“ที่ผ่านมาสถานศึกษาหลายแห่งทั้งในระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา เริ่มสร้างความร่วมมือกับสถานประกอบการแล้วหลายแห่ง เพื่อผลิตบัณฑิตให้ตรงกับความต้องการแล้ว แต่ยังมีลักษณะต่างคนต่างทำ โดยจากนี้จะให้หน่วยงานรัฐบันทึกข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญในรูปแบบของ Big Data ทั้งในด้านวิชาการและทักษะฝีมือในสาขาอาชีพต่างๆ เพื่อเป็นฐานข้อมูลกลางให้สถานศึกษาทั่วประเทศสามารถเข้าถึงบุคคลเหล่านี้ในฐานะครูพิเศษได้อย่างทั่วถึง โดยตั้งเป้าหมายให้ได้ 500 คนภายในปีนี้” นายกฯ กล่าว

ดังนั้น รัฐบาลจึงขอเชิญชวนบุคลากรในภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญชำนาญใน 10 สาขา อุตสาหกรรมเป้าหมาย และสาขาวิชาชีพอื่นที่จำเป็นต่อการพัฒนาพื้นที่ EEC ร่วมกันเข้ามาเป็นครูพิเศษ เพื่อร่วมกันผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพเข้าสู่สถานประกอบการ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

นายกฯ กล่าวว่า ผู้เรียนยุคใหม่ควรคำนึงถึงการเลือกสาขาวิชาเรียนที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะสาขาที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักของประเทศ เพื่อให้มีงานทำและมีรายได้ที่มั่นคง และยังช่วยสนับสนุนการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

ด้าน พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ หัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับ ดร.สาโรจน์ วสุวนิช ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี และคณะนักอุตสาหกรรม พร้อมด้วย ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนครูพิเศษอาชีวศึกษาอุตสาหกรรม 4.0 และอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2561ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

พล.อ.สุรเชษฐ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ดำเนินการผลิตกำลังคนอาชีวศึกษาและขับเคลื่อนการจัดการศึกษาในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกมาระยะหนึ่งแล้ว โดยมีความก้าวหน้างานในหลายส่วน อาทิ การตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาในพื้นที่ EEC เป็นพื้นที่แรก ซึ่งมีความก้าวหน้ามากขึ้นโดยลำดับ, การบูรณาการข้อมูลความต้องการกำลังคนกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เป็นต้น เพื่อร่วมพิจารณาใช้ประโยชน์จากข้อมูลในการวางแผนการผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการ เป็นต้น

การประชุมหารือในครั้งนี้ ถือเป็นความก้าวหน้าการทำงานของกระทรวงศึกษาธิการอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งต่อเนื่องจากการวางแผนผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ให้ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรม 4.0 และ 10 อุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC โดย สอศ.ได้จัดประชุมหารือร่วมกันระหว่างผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการและเชิญผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอุตสาหกรรม 4.0

เริ่มต้นจากจังหวัดชลบุรี นำโดย ดร.สาโรจน์ วสุวานิช ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี และคณะกรรมการ (เจ้าของกิจการและภาคเอกชน) กว่า 20 คน มาร่วมรับทราบแนวทางการดำเนินงาน พร้อมเชิญเป็น “ครูพิเศษ” ช่วยจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนนักศึกษา ตลอดจนให้ข้อแนะนำสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน 2561 เป็นต้นมา จากนั้นจะรณรงค์เชิญชวนให้มาเป็นครูพิเศษเพิ่มเติม ตามเป้าหมายที่วางไว้จำนวน 500 คน ภายในช่วงปลายปี 2561 นี้ ที่จะช่วยขยายพื้นที่ที่มีครูพิเศษไปสอนทั่วทุกพื้นที่ EEC และในภูมิภาคอื่นๆต่อไป

ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงในการทำงาน จึงได้มาหารือร่วมกันเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมเป็นครูพิเศษ ในรูปแบบ Realtime และเชื่อมโยงกับระบบฐานข้อมูล Big Data ซึ่งจะมีการระบุชื่อ ความชำนาญและทักษะในสาขาวิชาต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลในการประสานงานระหว่างผู้เชี่ยวชาญกับสถานศึกษา ที่จะช่วยให้ผู้เรียนได้รับความรู้ และประสบการณ์ตรงจากการทำงานด้วยวิทยาการและเทคโนโลยีที่ทันสมัยตามมาตรฐานของสถานประกอบการ

นอกจากนี้ ยังช่วยยกระดับสถานศึกษาให้มีความโดดเด่นและเชี่ยวชาญในการผลิตกำลังคนเฉพาะทางด้านอุตสาหกรรม 4.0 และ 10 อุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC และเป็นการนำศักยภาพของภาคเอกชนมาช่วยเสริมการทำงานของภาครัฐ ตามกลไกประชารัฐ ที่จะทำให้ผลิตคนได้ตรงกับความต้องการพัฒนาประเทศ เพิ่มปริมาณแรงงานที่มีคุณภาพเข้าสู่สถานประกอบการ และสิ่งสำคัญคือ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศ ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตามเป้าหมายการทำงานของรัฐบาลด้วย

ดร.สาโรจน์ วสุวนิช ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี กล่าวแสดงความรู้สึกยินดีที่ได้รับเกียรติจากกระทรวงศึกษาธิการ ให้มาทำหน้าที่เป็นครูพิเศษ เพื่อถ่ายทอดความรู้แก่นักเรียนนักศึกษา เพิ่มเติมจากที่ครูสอนในห้องเรียนเท่านั้น พร้อมขอชื่นชมว่าเป็นแนวคิดการทำงานที่ดี เพราะพวกเราคือผู้ประกอบการตัวจริง ถือเป็นภาคการปฏิบัติที่แท้จริงจากการทำงาน ในขณะที่นักเรียนนักศึกษาส่วนใหญ่จะเรียนภาคทฤษฎีเป็นหลัก

ดังนั้น การเชิญผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านอุตสาหกรรม 4.0 และ 10 อุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC เป็นการช่วยเสริมสร้างความเข้าใจในสิ่งที่เรียนได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น ทำให้เด็กมองเห็นภาพการทำงานจริงผสานต่อยอดกับความรู้ภาคทฤษฎีในห้องเรียนได้ดีขึ้น ถือเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ที่ทางสภาอุตสาหกรรมพร้อมที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่ ทั้งในพื้นที่จังหวัดชลบุรีเองและในจังหวัดอื่นในพื้นที่ EEC ตลอดจนช่วยขยายผลแนวคิดเพื่อเชิญชวนภาคธุรกิจและภาคเอกชนมาร่วมมือกันให้มากขึ้น

People unity news online : post 3 กันยายน 2561 เวลา 09.50 น.

นายกฯแนะภาคการเกษตรปรับตัวรับมือปัญหาราคาผลผลิตไม่แน่นอน

People unity news online : นายกรัฐมนตรีแนะภาคการเกษตรปรับตัวรับมือปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำอย่างยั่งยืน วอนทุกฝ่ายร่วมมือ

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2561 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงราคาพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะข้าว ว่า ในช่วงนี้มีราคาดี เพราะต่างประเทศประสบภัยธรรมชาติ จึงมีความต้องการสินค้าข้าวสูง แต่หากในปีต่อไป เราปลูกข้าวมากขึ้นจนเกินความต้องการของตลาด ก็จะทำให้ราคาตกต่ำลงอีกเป็นวัฏจักร

นายกฯเน้นย้ำว่า ปัญหาหลักของภาคการเกษตร คือต้นทุนการผลิตสูง เกษตรกรมีหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบ ทำให้ต้องขายที่ดินให้นายทุน และเช่าที่เพื่อทำกิน สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน รัฐบาลจึงอยากให้ทุกฝ่ายหันมาร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า จุดอ่อนของการทำการเกษตรแบบอิสระ คือ การแบกรับภาระต้นทุนที่สูง และเมื่อต่างคนต่างทำ จึงขายไม่ได้ เพราะตลาดไม่ต้องการ แต่หากมีการรวมกลุ่มผลิตสินค้าที่สอดคล้องกับตลาดก็จะทำให้ขายได้ จึงต้องมีการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน หรือเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อลดต้นทุน เพิ่มปริมาณและคุณภาพ สร้างอำนาจต่อรองให้แก่ตนเอง รวมทั้งทำไร่นาสวนผสม ลดปริมาณพืชที่ปลูกอยู่เพียงชนิดเดียวไปปลูกพืชอื่นทดแทน และเลี้ยงสัตว์เป็นรายได้เสริม

“ผลผลิตทางการเกษตรชนิดอื่น เช่น มันสําปะหลัง อ้อย ยางพารา สับปะรด ฯลฯ ทุกอย่างใช้หลักการเดียวกัน หากประสบปัญหาราคาตกต่ำ และรัฐบาลต้องรับซื้อในราคาสูง เมื่อขายไม่ได้ก็ยิ่งขาดทุน และกระทบต่องบประมาณของประเทศ ดังนั้น ทุกคนจะต้องช่วยกันเพื่อให้เกษตรกรมีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน“ นายกรัฐมนตรีกล่าว

People unity news online : post 14 สิงหาคม 2561 เวลา 10.50 น.

ชาวนาเฮ! รัฐบาลออกมาตรการช่วยผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2561/62 ด้านการตลาด 3 โครงการ

People unity news online : นายกรัฐมนตรีประชุม นบข. ครั้งที่ 3/61 เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2561/62 ด้านการตลาด 3 โครงการ

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2561 เวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 3/2561 โดยมี พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม ซึ่งภายหลังการประชุม นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เลขานุการ นบข. ได้แถลงผลการประชุม สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ที่ประชุมรับทราบสถานการณ์ข้าว การส่งออกข้าวของไทยจะยังคงมีทิศทางที่ดี เนื่องจากมีการทยอยส่งมอบข้าวตามสัญญาซื้อขายข้าวที่ผ่านมา และมีคำสั่งซื้อเข้ามาเพิ่มเติมจากความต้องการข้าวในตลาดโลกที่ยังมีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งภูมิภาคแอฟริกา ทำให้มีคำสั่งซื้อมารองรับผลผลิตข้าวที่จะออกในช่วงปลายปีได้เป็นอย่างดี สำหรับการส่งมอบข้าวแบบจีทูจีให้รัฐบาลจีนในงวดที่ 5 ปริมาณ 1 แสนตัน แล้วเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายน 2561 และอยู่ในระหว่างการเจรจาตกลงซื้อขายข้าวงวดที่ 6 ปริมาณ 100,000 ตัน และภาคเอกชนของไทยชนะการประมูลนำเข้าข้าวในประเทศญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์มีแผนขยายตลาด โดยจัดคณะผู้แทนไปเจรจาขยายตลาด จัดกิจกรรมส่งเสริมประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ และคุณภาพข้าวไทยในประเทศจีนและตลาดสำคัญทั่วโลก

ที่ประชุมเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาโครงการข้าวตามนโยบายของรัฐบาล จำนวน 6 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2551 (2) โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2552 (3) โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 (4) โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2555 (5) โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 (6) โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57 ซึ่งอยู่ระหว่างการระบายข้าวและส่งมอบ จากเดิมสิ้นสุดเดือนกันยายน 2561 เป็นสิ้นสุดเดือนธันวาคม 2561 และมอบหมายให้ อคส. และ อ.ต.ก. เร่งระบายจ่ายข้าวออกจากคลังสินค้ากลาง และเบิกค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาข้าวสารที่ค้างจ่ายให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

ที่ประชุมรับทราบการดำเนินงานมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 60/61 ด้านการตลาด ในการดึงอุปทานข้าวเปลือกออกจากตลาดเป้าหมาย 12.5 ล้านตัน ได้แก่ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก และการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวค่าปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าว และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ซึ่งสามารถดึงอุปทานออกจากตลาดได้ 6.64 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 53.12 ของเป้าหมาย ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกทุกชนิดปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะข้าวหอมมะลิที่มีราคาถึงตันละ 15,500-18,500 บาท

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมรับทราบแผนการดำเนินโครงการเชื่อมโยงการผลิตและการตลาดข้าว กข43 และผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว ปีการผลิต 2561/62 ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี โดย

(1) สหกรณ์การเกษตรและกลุ่มวิสาหกิจเข้าร่วมโครงการ จำนวน 52 แห่ง แจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการรับซื้อข้าว กข43 จากเกษตรกรภายใต้ระบบนาแปลงใหญ่ในราคานำตลาด (ตกลงราคารับซื้อสูงกว่าข้าวเจ้าแต่ไม่เกินข้าวปทุมธานี) พื้นที่เพาะปลูกเป้าหมาย 31,183.75 ไร่ คาดการณ์ผลผลิต ประมาณ 10,000 ตันข้าวสาร

(2) ผู้ประกอบการแปรรูปข้าวเป็นผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว และผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว โดยมีผู้ประกอบการแปรรูปข้าวเพื่อผลิตน้ำนมข้าว จำนวน 5 ราย แจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะรับซื้อผลผลิตข้าวจากเกษตรกรระบบนาแปลงใหญ่ในราคานำตลาด และได้รับราคาที่สูงเพิ่มมากขึ้น

(3) ร่วมกับองค์การอาหารและยา ในการประชุมหารือเพื่อสร้างความเข้าใจการเผยแพร่ฉลากผลิตภัณฑ์ข้าว กข43 เพื่อป้องกันปัญหาการแอบอ้างสรรพคุณข้าว กข43 ที่เกินจริง

(4) ร่วมกับโมเดิร์นเทรด กำหนดจัดกิจกรรม “บอกรักแม่ด้วยกระเช้าผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว” ระหว่างวันที่ 9-16 สิงหาคม 2561 และกิจกรรม “รณรงค์บริโภคน้ำนมข้าวในช่วงเทศกาลกินเจ” ระหว่างวันที่ 8-17 ตุลาคม 2561 ในห้างโมเดิร์นเทรดทั่วประเทศ

(5) การประชาสัมพันธ์ส่งเสริมและสร้างการรับรู้คุณประโยชน์ของการบริโภค ข้าว กข43 และผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าวผ่านสถานีวิทยุ และรายการอาหารเพื่อสุขภาพที่มีชื่อเสียงระดับประเทศตลอดช่วงระยะเวลาเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2561

(6) กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงาน เดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพ รณรงค์ให้ประชาชนเลือกซื้อสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและคุณประโยชน์ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2561/62 ด้านการตลาด 3 โครงการ ดังนี้

1.โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพ

(1) โครงการสินเชื่อช่วยเหลือชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ให้สินเชื่อแก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อชะลอการจำหน่ายผลผลิตข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียว ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ในเขตพื้นที่เพาะปลูกทุกจังหวัด เป้าหมาย 2 ล้านตันข้าวเปลือก โดยให้ค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท โดยจ่ายพร้อมสินเชื่อก่อน ตันละ 1,000 บาท และภายหลัง 500 บาท

ทั้งนี้ มีโครงการสินเชื่อเพื่อสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ซึ่ง คชก. ได้อนุมัติกรอบวงเงินเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2561 จำนวน 250 ล้านบาท เป้าหมาย เกษตรกรรายคนและสถาบันเกษตรกร ที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ ประมาณ 10,000 ราย โดยกำหนดวงเงินกู้กรณีเกษตรกรรายคนไม่เกินรายละ 150,000 บาท และกรณีสถาบันเกษตรกรแห่งละไม่เกิน 3,000,000 บาท

-การกำหนดวงเงินสินเชื่อ โดยพิจารณาจากราคาตลาดเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี ราคาที่เกษตรกรควรจะได้รับ (จากต้นทุนการผลิต+กำไรที่ควรจะได้รับ) และราคาข้าวเปลือกที่สะท้อนจากราคาส่งออกที่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งในตลาดโลก ดังนี้ ข้าวหอมมะลิ 11,800 บาท/ตัน ข้าวเปลือกเหนียว 10,200 บาท/ตัน ข้าวเปลือกเจ้า 7,500 บาท/ตัน ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 8,900 บาท/ตัน

ทั้งนี้ สถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะต้องจัดสรรค่าฝาก ตันละ 1,000 บาท ให้แก่สมาชิก (ปีที่ผ่านมาสมาชิกไม่ได้รับค่าฝากเก็บ)

-ระยะเวลาดำเนินการ 1 พ.ย.61 – 28 ก.พ.62 (ภาคใต้ ถึง 31 ก.ค.62)

(2) ค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพ ให้เฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร โดยช่วยตามพื้นที่ปลูกข้าวจริง ไร่ละ 1,500 บาท ไม่เกิน 12 ไร่ หรือไม่เกินครัวเรือนละ 18,000 บาท (จากปีที่ผ่านมาช่วยเหลือไร่ละ 1,200 บาท ไม่เกิน 10 ไร่)

ทั้งนี้ จะช่วยเหลือเฉพาะเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเพาะปลูกข้าวนาปี 2561/62 กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เท่านั้น จึงขอให้เกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวในปีนี้แล้ว แจ้งการขึ้นทะเบียนต่อสำนักงานเกษตรในพื้นที่ เพื่อสามารถเข้าร่วมโครงการฯ ช่วยเหลือเกษตรกรของรัฐบาลต่อไป

2.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้สินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ได้แก่ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่ายหรือแปรรูป เป้าหมาย 2 ล้านตัน โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 และสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ยร้อยละ 1 ระยะเวลา 1 ต.ค.61 – 31 ธ.ค.62

3.โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 ทั้งนี้ โรงสีต้องรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรในช่วง 1 พ.ย.61- 31 มี.ค.62 ภาคใต้ 1 ม.ค. – 30 มิ.ย.62

ทั้งนี้ ให้ ธ.ก.ส. และกระทรวงพาณิชย์ จัดทำรายละเอียดงบประมาณเพื่อนำเสนอกระทรวงการคลังพิจารณาตาม พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 ตามระเบียบ ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

ที่ประชุมยังรับทราบการระบายข้าวในสต็อกของรัฐ โดยเมื่อเดือนมิถุนายน 2561 รัฐบาลได้นำข้าวในสต็อกออกมาระบายเข้าสู่อุตสาหกรรม ซึ่งได้รับการอนุมัติจำหน่าย รวมทั้งสิ้น 1.96 ล้านตัน มูลค่า 10,198 ล้านบาท โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทำสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ชนะการประมูลกับองค์การคลังสินค้า (อคส.) และ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) แบ่งเป็น

-การจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคน (กลุ่มที่ 2) ครั้งที่ 1/2561 ปริมาณ 1.44 ล้านตัน มูลค่า 8,410 ล้านบาท

-การจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคนและสัตว์ (กลุ่มที่ 3) ครั้งที่ 1/2561 ปริมาณ 0.52 ล้านตัน มูลค่า 1,788 ล้านบาท

ปริมาณข้าวคงเหลือข้าวที่จะนำออกมาระบายเข้าสู่อุตสาหกรรมภายในเดือนกันยายน 2561 ปริมาณรวม 0.069 ล้านตัน แบ่งเป็น ข้าวกลุ่มที่ 2 ปริมาณ 0.047 ล้านตัน และกลุ่มที่ 3 ปริมาณ 0.022 ล้านตัน

ชาวนาเฮ! รัฐบาลออกมาตรการช่วยผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2561/62 ด้านการตลาด 3 โครงการ

People unity news online : post 12 กรกฎาคม 2561 เวลา 10.10 น.

พาณิชย์คาดภาวะเศรษฐกิจการค้าไทยครึ่งหลังปี 61 ขยายตัวต่อเนื่อง

People unity news online : 4 กรกฎาคม 2561 ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ได้แถลงแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจการค้าไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 ว่า มีแนวโน้มที่ดี โดยมีสัญญานของเศรษฐกิจจากเครื่องชี้วัดต่างๆในช่วงครึ่งปีแรกที่สอดคล้องกัน ทั้งด้านอุปทาน อุปสงค์ และเสถียรภาพของราคา

ในด้านอุปทาน มีสัญญานที่ดีจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิด โดยเฉพาะ ข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่มีการปรับตัวดีขึ้นของราคาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับผลผลิตสินค้าเกษตรยังขยายตัวได้ ส่งผลให้รายได้เกษตรกรโดยเฉลี่ยขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกัน 3 เดือน แม้ว่าสินค้าเกษตรบางชนิดจะยังมีราคาลดลงก็ตาม ในขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม ก็มีสัญญาณที่ดีจากกำลังการผลิต (Cap U) ที่ยังอยู่ในระดับที่ดี สอดคล้องกับการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในขณะที่อัตราการว่างจ้างงานก็ยังอยู่ในระดับต่ำที่มีเสถียรภาพ

นอกจากนั้น ราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปีคาดว่าจะมีแรงกดดันต่อต้นทุนและราคาสินค้าลดลง ทั้งจากมาตรการดูแลของภาครัฐ และแนวโน้มราคาพลังงานโลก ที่แม้จะยังมีโอกาสผันผวน แต่คาดว่าน่าเคลื่อนไหวอยู่ในระดับใกล้เคียงปัจจุบัน (60-70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล)

ในด้านอุปสงค์ มีสัญญาณการปรับตัวที่ดีในเกือบทุกด้าน ทั้งการบริโภค การลงทุน การใช้จ่ายภาครัฐและการค้าระหว่างประเทศ โดยการบริโภค มีสัญญาณการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากตัวเลขการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม การบริโภคภาคเอกชน (ทั้งจากดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน และการบริโภคใน GDP) สอดคล้องกับปริมาณเงินในระบบ (ทั้ง M1 และ M2) ที่ยังอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคและเพิ่มขึ้นในลักษณะที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ นอกจากนั้น ยังมีสัญญาณเชิงบวกจากรายได้เกษตรกรเฉลี่ยที่ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (มาจากราคาและปริมาณสินค้าเกษตรสำคัญที่เพิ่มขึ้น) เช่นเดียวกับอัตราค่าจ้างเฉลี่ยที่ขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกัน 7 เดือน รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ผ่านเครื่อง EDC) จะช่วยลดค่าครองชีพประชาชนในกลุ่มนี้ได้อีกประมาณ 7% ในขณะที่การลงทุนขยายตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งการลงทุนภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐ การจำหน่ายปูนซีเมนต์ การจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม และความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อแนวโน้มการลงทุนในช่วงที่เหลือของปี

สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐ ยังขยายตัวได้ดีจากการดำเนินนโยบายแบบขยายตัวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยจะเห็นว่าการใช้จ่ายของรัฐขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จาก 0.2% ใน Q4/60 เป็น 1.9% ในไตรมาสล่าสุด (Q1/61) ในขณะที่การส่งออกก็ยังขยายตัวในระดับสูงถึง 11.6% (รวม 5 เดือน) สอดคล้องกับความสามารถในการแข่งขันของไทยและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และคาดว่าทั้งปีน่าจะมีโอกาสสูงที่จะขยายตัวเกินเป้าหมายร้อยละ 8 โดยมีสินค้าสำคัญที่เป็นตัวขับเคลื่อน อาทิ รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ขยายตัวได้ดี รวมทั้งสินค้าเกษตรสำคัญก็มีแนวโน้มปรับตัวที่ดีตามลำดับ ทั้งจากความต้องการและราคาที่ยังขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการผ่อนคลายของแรงกดดันจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการปรับลด TIP Report ลงมาเป็น Tier 2 ในขณะที่การนำเข้ายังขยายตัวและเอื้อต่อการผลิตและสนับสนุนการบริโภคในประเทศ โดย 5 เดือนขยายตัว 16.6% โดยรวมแล้วการค้าระหว่างประเทศยังเกินดุลในระดับที่ดี

Price Stability พบว่าเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นตามลำดับแบบค่อยเป็นค่อยไป (ล่าสุด มิ.ย. 1.38%, 6M 0.97%) โดยมีปัจจัยสำคัญจากการปรับขึ้นของราคาพลังงานและอุปสงค์ที่ยังอยู่ในระดับที่ดี (สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดต่างๆด้านอุปสงค์) ในขณะที่ต้นทุนสินค้าและบริการยังอยู่ในระดับปกติซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆแล้วเงินเฟ้อของไทยถือว่าเพิ่มขึ้นในอัตราที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ ชี้ว่า การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อของไทยในช่วงที่ผ่านมามีลักษณะที่สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ (ทั้งไทยและโลก) และอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

สำหรับอัตราแลกเปลี่ยน แม้ที่ผ่านมายังแข็งค่าโดยเฉลี่ยเมื่อเทียบกับปีก่อน ( 6 เดือนแข็งค่าร้อยละ 8.6) แต่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงตามลำดับ ซึ่งเชื่อว่าทั้งปีก็น่าจะยังเคลื่อนไหวในกรอบที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ (32-34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ)

เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในครึ่งแรกของปีจะยังคงมี Momentum ต่อเนื่อง ทั้งในด้านอุปทาน อุปสงค์ และเสถียรภาพราคา ซึ่งจะส่งผ่านให้เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังยังขยายตัวต่อเนื่อง และทำให้เศรษฐกิจไทยทั้งปีขยายตัวได้ตามการคาดการณ์

People unity news online : post 4 กรกฎาคม 2561 เวลา 12.40 น.

Verified by ExactMetrics