วันที่ 21 พฤษภาคม 2024

รัฐบาลเดินหน้าแก้ไขปัญหาหนี้เช่าซื้อรถยนต์-รถจักรยานยนต์

People Unity News : รัฐบาลเดินหน้าแก้ไขปัญหาหนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ค่างวดต่ำกว่าหนึ่งพันบาทห้ามเก็บค่าทวงหนี้

3 มกราคม 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี โดยปัจจุบันพบว่า ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะในการกำกับดูแลธุรกิจเช่าซื้อ และไม่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลธุรกรรมเช่าซื้อเป็นการเฉพาะ ทำให้เกิดการทวงหนี้ที่ไม่เป็นธรรม รัฐบาลโดยคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ จึงได้เข้าไปแก้ไขปัญหาดังกล่าว

เบื้องต้นได้มีการออกประกาศกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายในการทวงหนี้ เพื่อคุ้มครองลูกหนี้ไม่ให้ถูกเก็บเงินในการทวงถามหนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เกินความจำเป็น มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 14 กันยายนที่ผ่านมา สาระสำคัญคือ อัตราค่าทวงถามหนี้กรณีทั่วไปรวมจำนำทะเบียนให้คิดไม่เกิน 50 บาทต่อรอบการทวงถามกรณีค้างชำระ 1 งวดและคิดไม่เกิน 100 บาทต่อรอบการทวงถามกรณีค้างชำระมากกว่า 1 งวด อัตราค่าทวงถามหนี้สำหรับปฏิบัติการลงพื้นที่ติดตามถามหนี้ฯ คิดไม่เกิน 400 บาทต่อรอบการทวงถาม และเก็บต่อเมื่อลูกหนี้ค้างชำระมากกว่า 1 งวด กำหนดให้ไม่มีการเก็บค่าทวงถามหนี้ กรณีค่างวดที่ถึงกำหนดชำระต่ำกว่า 1,000 บาท เพื่อคุ้มครองประชาชนรายย่อยที่จ่ายค่างวดจำนวนน้อยๆ

ขณะเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) อยู่ระหว่างการทบทวนและปรับปรุงประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเพื่อแก้ไขหนี้เช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ เพื่อกำหนดอัตราดอกเบี้ยไม่ให้สูงกว่าความเสี่ยงที่แท้จริง พร้อมทั้งปรับปรุงเงื่อนไขการยึดและคืนรถให้เป็นธรรมมากขึ้น รวมทั้งกำหนดแนวทางการคิดยอดหนี้เช่าซื้อคงเหลือกรณีที่มีการคืนรถและกรณีที่เจ้าหนี้ยึดคืนให้ชัดเจนและเป็นธรรม คาดว่าจะสามารถประการใช้ในอีกไม่นานนี้ และทุกขั้นตอนต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

ส่วนเรื่องที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติมจากนี้ เพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมายให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน คือ การกำหนดหน่วยงานเพื่อเข้ามากำกับดูแลธุรกิจสินเชื่อหรือธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายสินเชื่อเพื่อให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์มีหน่วยงานกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ พิจารณามาตรการดูแลประชาชนที่เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ปัจจุบันไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของ สคบ. เช่น คนขับรถแท็กซี่ คนขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่เช่าซื้อรถมอเตอร์ไซต์ เกษตรกรที่เช่าซื้อรถไถมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือทำมาหากิน ซึ่งปัจจุบันคนกลุ่มนี้กำลังประสบปัญหาและไม่ได้รับความเป็นธรรม จัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาจากกรณีเช่าซื้อรถและการทวงถามหนี้ที่ไม่เป็นธรรมเพื่อให้มีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน

Advertising

รมต.คลัง ตรวจเยี่ยมด่าน ไทย-กัมพูชา ช่องสะงำ จังหวัดศรีสะเกษ หารือแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่

People Unity News : รมต.คลัง ตรวจเยี่ยมด่าน ไทย-กัมพูชา ช่องสะงำ จังหวัดศรีสะเกษ หารือแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่

31 ธันวาคม 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตรวจติดตามหารือการดำเนินงานการขับเคลื่อนการพัฒนาการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ภายหลังมาตรการผ่อนคลายจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยตรวจเยี่ยมด่านศุลกากร และหน่วยงานชายแดนช่องสะงำ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาด้านการค้าขาย และด้านการท่องเที่ยวตามแนวชายแดน สร้างความเข้มแข็ง และความมั่นคงในพื้นที่ พร้อมทั้ง หารือมาตรการป้องกันยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตามแนวชายแดนของจังหวัดศรีสะเกษ

ในการนี้ได้มอบสนับสนุนเครื่องอุปโภคบริโภค แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานประจำด่านผ่านแดนถาวรช่องสะงำ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยมี นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงศรีสะเกษที่ 1, 2 นายอำเภอภูสิงห์ ผกก.ตร.ภูสิงห์ รกท.นายด่านศุลกากรช่องสะงำ รอง ผบ.ฉก3 สาธารณสุข ผู้แทนหัวหน้าหน่วยงานในพื้นที่ ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมด่านศุลกากรช่องสะงำ และบริเวณด่านผ่านแดนถาวรช่องสะงำ อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ

Advertising

ธปท.เผยภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนพฤศจิกายน 2564 ปรับตัวดีขึ้น หลังรัฐบาลเปิดประเทศ

People Unity News : ภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนพฤศจิกายน 2564 ปรับตัวดีขึ้น หลังรัฐบาลเปิดประเทศ

30 ธันวาคม 2564 นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2564 ปรับดีขึ้นจากเดือนตุลาคม หลังการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าและปัญหาอุปทานชะงัก หรือ supply disruption ทยอยคลี่คลายลง

ด้านการใช้จ่ายในประเทศของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น ทั้งการบริโภคและการลงทุน ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผ่านรายจ่ายเงินโอน ทั้งนี้ อุปสงค์ที่ฟื้นตัวทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมทยอยปรับดีขึ้น ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นตามราคาอาหารสดที่ได้รับผลกระทบชั่วคราวจากสถานการณ์น้ำท่วม ขณะที่ราคาในหมวดพลังงานยังอยู่ในระดับสูงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ด้านตลาดแรงงานทยอยปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่โดยรวมยังเปราะบาง ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลเล็กน้อย เนื่องจากดุลรายได้ บริการ และเงินโอนขาดดุลน้อยลง ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลมากขึ้น

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ยังกล่าวถึง การแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ประเมินเบื้องต้นอาจจะได้รับผลกระทบในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 และยังเชื่อมั่นว่านักท่องเที่ยวจะกลับเข้ามาอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี ทำให้ผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวมีไม่มากนักทั้งนี้ ในแง่ผลกระทบทางเศรษฐกิจ กนง.ได้รับประมาณการณ์เศรษฐกิจจะขยายตัวอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.4 เนื่องจากยังมีความเชื่อมั่นต่อระบบสาธารณสุขยังสามารถรองรับได้ อีกทั้งมีการฉีดวัคซีนอย่างครอบคลุม แต่ก็ยังคงต้องติดตามการระบาดอย่างใกล้ชิด ส่วนแนวโน้มการขยายตัวในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ ยังคงขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ส่วนผลกระทบจากโอมิครอนจะเริ่มเห็นผลกระทบช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2565

Advertising

สุริยะสั่งกรมโรงงานฯเข้มงวดตรวจวัดคุณภาพอากาศพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม

People Unity News : รมว.อุตสาหกรรม สั่งการกรมโรงงานฯเข้มงวดตรวจวัดคุณภาพอากาศ โดยรอบพื้นที่เขตประกอบการและพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม ต้องไม่สร้างปัญหา PM2.5 ให้ชุมชนและประชาชน

24 ธ.ค.64 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม เข้มงวดตรวจสอบและกำกับดูแลโรงงานที่มีกระบวนการเผาไหม้ โรงงานที่มีการใช้หม้อน้ำ โรงงานหลอมเหล็กหรือโลหะ โรงงานผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ และโรงงานผลิตแอสฟัสติก ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 2,570 โรงงาน แบ่งเป็นโรงงานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 268 โรงงาน โรงงานในเขตปริมณฑล (นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร) จำนวน 2,245 โรงงาน โรงงานที่ตั้งในเขตประกอบการ จำนวน 6 เขต รวม 35 โรงงาน และโรงงานรีไซเคิล กากอุตสาหกรรมและเตาเผากากของเสีย จำนวน 32 โรงงาน ตั้งเป้าตรวจเสร็จก่อนสิ้นปี 2564 พร้อมกำชับผู้ประกอบการวางแผนการผลิต และควบคุมดูแลการประกอบกิจการ ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ย้ำต้องดูแลรักษาระบบบำบัดมลพิษอากาศให้มีประสิทธิภาพตลอดเวลา หากพบการกระทำผิด จะให้สั่งหยุดประกอบกิจการทันที

ด้าน นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือ กรอ. กล่าวว่า ในช่วงฤดูหนาว ทำให้มีฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) สะสมจำนวนมาก กรอ. จึงดำเนินการเชิงรุก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่า การประกอบกิจการโรงงานจะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ด้วยการนำรถตรวจวัดคุณภาพอากาศเคลื่อนที่ เร่งตรวจวัดคุณภาพอากาศทั่วไป โดยรอบพื้นที่เขตประกอบการและพื้นที่โรงงานหนาแน่น จำนวน 12 พื้นที่ รวม 130 จุด ซึ่งจะดำเนินการต่อเนื่องทั้งปี รวมทั้งสิ้น 516 จุด รวมถึงจะทำการตรวจวัดฝุ่นละอองจากปล่องระบายของโรงงานเพิ่มอีก 104 โรงงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้โรงงานสร้างความเดือดร้อน หรือก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน นอกจากนี้ กรอ. ได้เร่งปรับปรุงระบบตรวจสอบมลพิษระยะไกล และปรับปรุงกฎหมาย ให้โรงงานที่มีความเสี่ยงด้านมลพิษอากาศ ต้องติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดมลพิษทางอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติ หรือ CEMS ที่รายงานข้อมูลแบบเรียลไทม์มายัง กรอ. คาดว่าจะมีโรงงานทั่วประเทศเข้าข่ายต้องติดตั้งเครื่องมือเพิ่มทั้งหมด 600 โรงงาน รวม 1,300 ปล่อง จากเดิมที่มีการติดตั้งอยู่แล้วจำนวน 855 ปล่อง เพื่อให้การกำกับดูแลการระบายมลพิษจากโรงงาน มีประสิทธิภาพ และครอบคลุมปัญหาด้านฝุ่นละอองอย่างทั่วถึง

Advertising

ธอส.มอบของขวัญปีใหม่ ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนลูกหนี้ของ  ธอส.ต่อเนื่อง

People Unity News : 23 ธ.ค.64 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ประกาศมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน เพื่อช่วยเหลือลูกค้าของ ธอส. ที่ยังได้รับผลกระทบด้านรายได้จาก COVID-19 และความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ได้ตามสัญญายังไม่กลับมาเหมือนเดิม ประกอบด้วย การขยายความช่วยเหลือให้ลูกค้าเดิมที่อยู่ระหว่างการใช้ 9 มาตรการปัจจุบันของธนาคาร ซึ่งจะสิ้นสุดความช่วยเหลือในวันที่ 31 ธันวาคม 2565 สามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เพื่อขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ผ่านมาตรการที่ 18 [M18]  : สำหรับลูกค้ารายย่อยที่มีสถานะบัญชีปกติ สามารถเลือกแบ่งจ่ายเงินงวดผ่อนชำระ [ตัดต้น และดอกเบี้ย] และลดอัตราดอกเบี้ย 0.25-0.50% ต่อปี และมาตรการที่ 19 [M19] : สำหรับลูกค้าผู้ประกอบการสินเชื่อแฟลต สามารถเลือกแบ่งจ่ายเงินงวดผ่อนชำระ [ตัดต้น และดอกเบี้ย] และลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ผ่าน Application : GHB ALL หรือ GHB Buddy บน Application Line หรือ www.ghbank.co.th หรือ สาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2564 เวลา 9.00 น. เป็นต้นไป ขณะที่ลูกค้ารายย่อยสถานะ NPL และลูกค้ารายย่อย NPL ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ และไม่ได้อยู่ในมาตรการ สามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้ามาตรการที่ 17[M17] : ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เดือนที่ 1-3 เหลือ 0% ต่อปี เดือนที่ 4-6 เท่ากับ 1.99% ต่อปี และเดือนที่ 7-12 เท่ากับ 3.90% ต่อปี ช่วยเหลือนานสูงสุด 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ตามที่ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จาก COVID-19 ตามนโยบายรัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบันผ่านมาตรการต่าง ๆ รวม 20 มาตรการ ภายใต้ “โครงการ ธอส. ช่วยคนไทย ร่วมสร้างชาติ” และ “โครงการ ธอส. รวมไทย สร้างชาติ” โดย ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 มีจำนวนลูกค้าได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการของธนาคารรวมสูงสุดถึง 972,978 บัญชี เงินต้นคงเหลือ 846,911 ล้านบาท ซึ่งลูกค้าที่เข้ามาตรการส่วนใหญ่สามารถปรับตัวและกลับมาผ่อนชำระได้ตามปกติ ยังคงเหลือลูกค้าที่ยังอยู่ระหว่างการได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการ รวมจำนวน 109,094 บัญชี เงินต้นคงเหลือ 113,281 ล้านบาท ประกอบด้วย มาตรการที่ 2 [M2], มาตรการที่ 9[M9], มาตรการที่ 10[M10], มาตรการที่ 11[M11], มาตรการที่ 12[M12],มาตรการที่ 13[M13], มาตรการที่ 14[M14], มาตรการที่ 15[M15] และ มาตรการที่ 16 [M16] ซึ่งกำลังจะสิ้นสุดความช่วยเหลือในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้าที่ยังคงได้รับผลกระทบด้านรายได้จาก COVID-19 และดำเนินการตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรื่องแนวทางการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย (มาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน) ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคาร เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 จึงได้มีมติให้ ธอส. จัดทำ “มาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน” เพื่อขยายความช่วยเหลือให้กับลูกค้าเดิมที่ยังอยู่ระหว่างการใช้มาตรการความช่วยเหลือของ ธอส. จำนวน 9 มาตรการ(M2, M9, M10, M11, M12, M13, M14, M15 และ M16) ที่ความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ยังไม่กลับมาเป็นปกติได้ตามสัญญา ซึ่งถือเป็นกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จาก COVID-19 มาอย่างต่อเนื่อง และยาวนาน จึงจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือลดภาระค่าใช้จ่ายในระยะยาว โดยจะได้รับความช่วยเหลือในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ดังนี้

มาตรการที่ 18 [M18]  : สำหรับลูกค้ารายย่อยที่มีสถานะบัญชีปกติ รองรับลูกค้าเดิมใน  M2, M9, M 11, M13 และ M15 เลือกแบ่งจ่ายเงินงวดผ่อนชำระ (ตัดเงินต้น ตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 75% ของเงินงวดผ่อนชำระปกติ และลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่ใช้อยู่ลงอีก 0.25-0.50% ต่อปี ระยะเวลาความช่วยเหลือตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2565 โดยสามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการผ่าน Application : GHB ALL หรือ GHB Buddy บน Application Line หรือ www.ghbank.co.th หรือ สาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2564 เวลา 9.00 น. เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 25 มกราคม 2565

มาตรการที่ 19 [M19] : สำหรับลูกค้าผู้ประกอบการสินเชื่อแฟลต รองรับลูกค้าเดิมใน M12 เลือกแบ่งจ่ายเงินงวดผ่อนชำระ (ตัดเงินต้น ตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 70% ของเงินงวดผ่อนชำระปกติ และลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่ใช้อยู่ลงอีก 0.25% ต่อปี ระยะเวลาความช่วยเหลือตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2565 โดยสามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการได้ที่สำนักงานใหญ่และสาขาทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2564 เวลา 9.00 น. เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 25 มกราคม 2565

มาตรการที่ 17 [M17] : สำหรับลูกค้ารายย่อยสถานะ NPL และลูกค้ารายย่อย NPL ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้และไม่ได้อยู่ในมาตรการ หรือรองรับลูกค้าเดิมใน M10, M14 และ M16 จะได้ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0% ต่อปี ในเดือนที่ 1-3 เดือนที่ 4-6 เท่ากับ 1.99% ต่อปี และเดือนที่ 7-12 เท่ากับ 3.90% ต่อปี ระยะเวลาความช่วยเหลือสูงสุดนาน 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้น โดยสามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการผ่าน Application : GHB ALL หรือ GHB Buddy บน Application Line หรือ www.ghbank.co.th ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม  2565 เวลา 9.00 น. เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565

ทั้งนี้ ลูกค้าตามมาตรการข้างต้นที่ต้องการขยายระยะเวลาความช่วยเหลือจะต้อง Upload แสดงหลักฐานยืนยันว่าได้รับผลกระทบทางรายได้ให้ธนาคารพิจารณาผ่าน Application : GHB ALL หรือ GHB Buddy บน Application Line ส่วนกรณีที่ลูกค้าไม่มีสมาร์ทโฟนสามารถกรอกข้อมูลเพื่อแจ้งความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือตามมาตรการได้ที่ www.ghbank.co.th สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือติดตามข้อมูลข่าวสารของธนาคารได้ที่ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) โทร 0-2645-9000 หรือ www.ghbank.co.th, Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และ  Application : GHB ALL

Advertising

ประยุทธ์ สั่งเร่งผลักดันท่องเที่ยว “Wellness Tourism – Medical Tourism” รองรับท่องเที่ยวยุคโควิด

People Unity News : ประยุทธ์ สั่งเร่งผลักดันการท่องเที่ยว “Wellness Tourism – Medical Tourism” รองรับการท่องเที่ยวยุคโควิด-19

30 พ.ย.64 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย นโยบายของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น

มุ่งเน้นการส่งเสริมภาคการท่องเที่ยว และต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการปรับกลยุทธ์ของภาคการท่องเที่ยวที่สอดรับกับมาตรการสาธารณสุข

จากข้อสั่งการดังกล่าว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้เตรียมแนวทางส่งเสริมและการขยายการท่องเที่ยวในรูปแบบ Medical Tourism (การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์) และ Wellness Tourism (การท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ)

จากเดิมที่ให้ความสำคัญกับปริมาณนักท่องเที่ยวเป็นหลัก ปรับเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวที่สร้างมูลค่าสูง หรือมีค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวที่สูงแทน (ค่าใช้จ่ายต่อหัว 80,000 – 120,000 บาท) เพื่อรองรับการท่องเที่ยวในปี 2565

ส่วนนโยบายด้านสาธารณสุขนั้น จะดำเนินการตาม “ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) พ.ศ. 2560 – 2569” โดยสนับสนุนการใช้สมุนไพรไทย เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมสุขภาพให้กับนักท่องเที่ยว แนวนโยบายของรัฐบาลดังกล่าว จะช่วยบรรเทาผลกระทบของประชาชนที่ทำงานในภาคการท่องเที่ยว ยืนยัน รัฐบาลพร้อมแก้ไขปัญหาและวางแผนเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆที่อาจเกิดขึ้นอย่างเต็มที่

Advertising

กรมชลประทานจ้างแรงงาน 75,000 คนปี 65 สร้างรายได้ทดแทนให้แก่เกษตรกรและประชาชน

People Unity News : กรมชลประทานเดินหน้าจ้างแรงงานปี 65 หวังสร้างรายได้ทดแทนให้แก่เกษตรกรและประชาชน สอบถามเพิ่มเติม สายด่วน 1460

28 พ.ย.64 กรมชลประทานเปิดรับสมัครแรงงานทั่วประเทศ ตามโครงการจ้างแรงงานชลประทาน ปี 65 ในตำแหน่งงานซ่อมแซม บำรุงรักษา ขุดลอก ปรับปรุงงานชลประทาน ก่อสร้างแหล่งน้ำ ระบบส่งน้ำ แก้มลิง โครงการป้องกันและบรรเทาภัยจากน้ำ ฯลฯ เพื่อให้เกษตรกร มีรายได้ทดแทนจากการว่างเว้นการทำการเกษตร โดยได้รับค่าจ้างประมาณเดือนละ 7,800 บาท ระยะเวลาการจ้างงาน 1 – 10 เดือน

ขณะนี้ ทั่วประเทศมีผู้สนใจเข้าร่วมจ้างแรงงานแล้ว 2,155 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 2.87 ของแผน ยังสามารถจ้างแรงงานได้อีกประมาณ 72,845 คน ให้ครบตามเป้าที่กำหนดไว้ 75,000 คน

สำหรับคุณสมบัติของผู้ร่วมโครงการที่จะได้รับการจ้างแรงงาน มีดังนี้

✅ เกษตรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรหรือเกษตรกรในพื้นที่

✅ สมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำของกรมชลประทานในพื้นที่

✅ ประชาชน และผู้ใช้แรงงานทั่วไป

✅ หากแรงงานที่ต้องการในพื้นที่เป้าหมายมีไม่เพียงพอ จะพิจารณาจ้างแรงงานในพื้นที่ใกล้เคียงจากหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และลุ่มน้ำ ตามลำดับ

เกษตรกรหรือประชาชนที่สนใจ สามารถติดต่อสอบถามหรือสมัครได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือสายด่วนกรมชลประทาน โทร.1460

Advertising

ชัยวุฒิ เผย Thailand pass พร้อมใช้งาน 100% แล้ว รับนักท่องเที่ยวลงทะเบียนผ่านดิจิทัล

People Unity News : ชัยวุฒิ เผย Thailand pass พร้อมใช้งาน 100% แล้ว รับนักท่องเที่ยวลงทะเบียนผ่านดิจิทัล

18 พฤศจิกายน 2564 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว. ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ยืนยัน Thailand pass หรือระบบลงทะเบียนล่วงหน้า เพื่อขอรับเอกสารรับรองก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย ขณะนี้พร้อมใช้งานอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยระบบดิจิทัล 100% ต้อนรับการเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ

เรื่องนี้เป็นไปตามข้อห่วงใยของนายกรัฐมนตรี ต่อการดูแลนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าประเทศ เพื่อประสิทธิภาพและความชัดเจนของข้อมูล และลดปัญหาการรอคอย ไม่เป็นภาระของนักท่องเที่ยว

ซึ่งวันนี้สามารถเชื่อมโยงระบบต่างๆ โดยไม่ต้องถือกระดาษ เอกสารใดๆมา เพียงแค่ผู้เดินทางกรอกข้อมูลใน Thailand pass ที่ต้นทาง เมื่อมาถึงเมืองไทย เพียงสแกนคิวอาร์โค้ด หรือให้หมายเลขหนังสือเดินทาง การตรวจสอบก็จะรวดเร็วมากขึ้น มั่นใจว่าจะสามารถรองรับนักท่องเที่ยว ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาคาดการณ์ในเดือนมีนาคม ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน

Advertising

ไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ “3 เมกะอีเว้นท์” หนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รองรับนักท่องเที่ยวทั่วโลก

People Unity News : ครม.เห็นชอบ ไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ “3 เมกะอีเว้นท์” หนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รองรับนักท่องเที่ยวทั่วโลก

17 พฤศจิกายน 2564 ที่ประชุม ครม. เมื่อวาน (16 พ.ย.) เห็นชอบในหลักการให้ประเทศไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานเมกะอีเว้นท์ 3 รายการ ได้แก่ งาน Expo 2028 Phuket – Thailand ปี 2571, มหกรรมพืชสวนโลกอุดรธานี ปี 2569 และพืชสวนโลกนครราชสีมา (ระดับ A1) ปี 2572

ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการเป็นเจ้าภาพจัดงานเมกะอีเวนท์ดังกล่าว คือ การพัฒนาและต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่างๆ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เกิดการจ้างงานที่จะส่งผลให้จีดีพีเติบโตขึ้น รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ประเมินว่าจะทำให้มีเงินสะพัดในประเทศไทยรวม 100,173 ล้านบาท จีดีพีเติบโตขึ้นราว 68,520 ล้านบาท สร้างรายรับภาษีให้ภาครัฐ 20,641ล้านบาท และเกิดการจ้างงาน 230,442 คน

Advertising

“ประยุทธ์” สั่งดูแลค่าครองชีพ ให้ ก.พาณิชย์คุยผู้ประกอบการศูนย์อาหาร ลดต้นทุนอาหารจานด่วน

People Unity News : “ประยุทธ์” สั่งดูแลค่าครองชีพประชาชน ให้ ก.พาณิชย์เร่งพูดคุยผู้ประกอบการศูนย์อาหาร ช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายอาหารจานด่วน เพิ่มรายการอาหารทางเลือกใหม่ๆ

15 พฤศจิกายน 2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามสถานการณ์ประจำวัน ทราบถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ขณะนี้ร้านอาหารตามสั่ง/อาหารจานด่วน มีการปรับราคาขึ้นหลายรายการ เนื่องจากช่วงนี้ วัตถุดิบที่ใช้ประกอบอาหารมีราคาสูง อาทิ น้ำมันปาล์ม ไข่ไก่ ผักสด จึงสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปตรวจสอบดูแลในเรื่องดังกล่าว ซึ่งกรมการค้าภายในแจ้งว่า จะมีการหารือกับห้างสรรพสินค้าที่ให้บริหารศูนย์อาหาร Food court เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการในแง่ต้นทุนการผลิต ค่าเช่า ส่วนแบ่งการขาย รวมถึงหารือกับผู้ประกอบการตลาดสด เร่งติดตามราคาสินค้า อาหารสด เครื่องปรุงต่างๆ ช่วยลดภาระต้นทุนให้กับผู้ประกอบการที่ขายอาหารจานด่วนไม่ให้ขาดทุน และยังสามารถจัดจำหน่ายรายการอาหารทางเลือกอื่นๆในราคาที่เหมาะสม ลดภาระค่าครองชีพของประชาชนผู้บริโภคในขณะนี้

“ทั้งนี้ รัฐบาลยังมีโครงการคนละครึ่ง และร้านอาหารธงฟ้าราคาประหยัด ที่จะสามารถช่วยลดค่าครองชีพให้กับประชาชนในการซื้อของอุปโภคบริโภคในราคาที่ถูกลง และยังได้วางแผนการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนให้ทั่วถึง” นายธนกร กล่าว

Advertising

Verified by ExactMetrics