วันที่ 14 พฤษภาคม 2024

สำนักงานสลากฯ เพิ่มช่องทางขายสลากดิจิทัล ให้ผู้ขายเดินขายสลากบนไอแพด-มือถือได้

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 12 มกราคม 2567 สำนักงานสลากฯ พร้อมปรับปรุงช่องทางการจำหน่ายสลากผ่านแผงสลากดิจิทัล และทำ Sandbox สลากแบบ N3 ภายในกลางปีนี้

วันนี้ (12 มกราคม 2567) เวลา 11.30 น. ที่ห้องประชุมอเนกประสงค์ ชั้น 3 สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลในปีที่ผ่านมา เป็นไปตามเป้าหมาย โดยสามารถนำส่งเงินเข้ารัฐเป็นรายได้แผ่นดินสูงถึง 48,550.83 ล้านบาท

สำหรับการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลหกหลัก ทั้งแบบใบ 80 ล้านฉบับ และแบบดิจิทัล 22 ล้านฉบับ รวม 102 ล้านฉบับ ได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สลากแบบดิจิทัล ที่ขายผ่านแอป “เป๋าตัง” สลากขายหมดก่อนวันออกรางวัลทุกงวด เนื่องจากผู้ซื้อสามารถเลือกซื้อเลขที่ต้องการได้ในราคา 80 บาททุกใบ และสะดวกในการรับเงินรางวัล ที่ระบบตรวจผลรางวัลให้อัตโนมัติและโอนเงินรางวัลได้ภายใน 2 ชั่วโมง ทุกรางวัลรวมทั้งรางวัลที่ 1 อย่างไรก็ตาม การพิจารณาเพิ่มปริมาณสลากแบบดิจิทัลจะยังคงเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพตลาด และไม่ให้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับผู้จำหน่ายสลากแบบใบ โดยในงวดวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 จะเพิ่มสลากฯ แบบดิจิทัล เป็น 23 ล้านฉบับ และคาดว่าในปี 2567 จะทยอยเพิ่มเป็น 25-30 ล้านใบ เพื่อให้ตรงกับความต้องการซื้อของพี่น้องประชาชน พร้อมทั้งปรับปรุงช่องทางการจำหน่ายสลาก เป็นแผงจำหน่ายสลากดิจิทัล เพื่อให้ผู้ขายได้มีโอกาสปรับตัวในการขายสลากแบบดิจิทัลได้ดียิ่งขึ้น

“หลังสำนักงานสลากฯ ได้ปรับรูปแบบการขายสลากดิจิทัล โดยผู้ขายสามารถเดินขายสลากแบบแผงสลากบนไอแพด และโทรศัพท์มือถือได้ วิธีการดังกล่าว ถือเป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสลากดิจิทัลให้มากขึ้น เพราะมีลักษณะคล้ายกับการจำหน่ายสลากแบบมีแผงจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกเลขให้กับลูกค้าประจำ หรือการลดราคาสลาก เป็นต้น โดยการปรับปรุงช่องทางการจำหน่ายจะแล้วเสร็จและเริ่มใช้ได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567” ประธานกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลกล่าว

ในส่วนของสลากกินแบ่งรัฐบาลตัวเลข 3 หลัก หรือ N3 นั้น เนื่องจากมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาหวยใต้ดิน สำนักงานสลากฯ จะทดลองดำเนินการในลักษณะของ Sandbox  เพื่อทดสอบช่องทางการจำหน่าย การกำหนดราคาขาย รวมถึงเงินรางวัลที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ซื้อให้มากที่สุด คาดว่าจะพร้อมเริ่มดำเนินการ  Sandbox ของสลากตัวแลข 3 หลัก หรือ N3 ได้ในช่วงกลางปี 2567 และโดยที่ปัจจุบันมีความท้าทายรูปแบบใหม่ คือหวยจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งเว็บขายสลากออนไลน์ที่อ้างอิงผลรางวัลจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงเว็บขายสลากออนไลน์อื่นๆ ที่ใช้ผลรางวัลของสำนักงานสลาก รวมถึงการนำสลากใบไปโหลดขาย ดังนั้น คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล จึงมอบหมายให้สำนักงานสลากฯ ไปศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อรองรับความท้าทายรูปแบบใหม่ และตอบโจทย์ผู้ซื้อต่อไป

สำหรับการจำหน่ายสลากผ่านตู้จำหน่ายต่างๆ ในลักษณะแฟรนไชส์ โดยไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ามีสลากจริงหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คือขายเกินราคา รวมทั้งการนำสลากกินแบ่งรัฐบาลไปจำหน่ายต่อตามแพลตฟอร์มต่างๆ พฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้ คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้กำชับให้สำนักงานสลากฯ เร่งดำเนินการแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หาแนวทางในการดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนผู้ซื้อสลากด้วยความบริสุทธิ์ใจต้องได้รับความเดือดร้อน ทั้งนี้ ในบางกรณีกำลังอยู่ระหว่างจัดทำหนังสือแจ้งเหตุพฤติการณ์ไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อรับเป็นคดีพิเศษต่อไป

ผู้ว่า กทม. เร่งหาแนวทางช่วยบรรเทาแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้ประชาชน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 4 ธันวาคม 2566 ผู้ว่า กทม. เร่งหาแนวทางช่วยบรรเทาแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้ประชาชน

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยหลังการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 25/2566 ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ว่า หลังจากที่มีการเปิดบริการ ให้ประชาชนลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ตามนโยบายรัฐบาล ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา มีผู้ลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือฯ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครแล้วรวม 3,043 โดยแบ่งเป็นการลงทะเบียนในระบบ Online จำนวน 2,971 ราย และลงทะเบียนด้วยตนเอง ที่ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ ณ สำนักงานเขต จำนวน72 ราย เจ้าหนี้ 1,809 ราย มูลหนี้รวมกว่า 169.7 ล้านบาท ( ข้อมูลจากวันที่ 3 ธ.ค. 66 เวลา 19.00 น. ) ซึ่งถือว่าผู้ลงทะเบียนยังมีจำนวนไม่มาก แต่กรุงเทพมหานครไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้สั่งการเพิ่มเติมไปอีก 2 ส่วน โดยให้แต่ละชุมชนทำการสำรวจ หาข้อมูลเจ้าหนี้ด้วยเพื่อประกอบกับข้อมูลลูกหนี้ให้ครอบคลุมมากขึ้น และส่วนต่อมาคือกำชับให้สถานธนานุบาล (โรงรับจำนำของกรุงเทพมหานคร) ให้เร่งหาแนวทางช่วยเหลือเพื่อที่จะสนองนโยบายของรัฐบาลให้เกิดผลสำเร็จให้ได้มากที่สุดเพิ่มเติมด้วย

นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เน้นย้ำว่า กรุงเทพมหานครไม่มีอำนาจในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบโดยตรง แต่ในเบื้องต้นกรุงเทพมหานครจะช่วยโดยการไม่ให้เกิดรายจ่ายที่เพิ่มมากขึ้นของประชาชนในทางอ้อมแทน เช่น การส่งเสริมให้สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลฟรีตามสิทธิ์ การเรียนฟรี เพื่อช่วยลดแบ่งเบาค่าใช้จ่ายไม่ให้เกิดการกู้ยืมในเรื่องดังกล่าวอีก และหลังจากนี้จะมีการประชุมมอบนโยบายให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังใน เป็นประธานผู้มอบนโยบาย ในวันที่ 8 ธันวาคมนี้ ที่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งสำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาจะต้องรอติดตามกันต่อไป

ทั้งนี้ หากประชาชนท่านใดยังได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้นอกระบบ ยังคงสามารถลงทะเบียนเพื่อขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ผ่านระบบออนไลน์ ได้ที่ Website : debt.dopa.go.th หรือลงทะเบียนด้วยตนเองที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ ณ สำนักงานเขตของกรุงเทพมหานครทุกแห่ง และสำหรับจังหวัดอื่น ๆ สามารถลงทะเบียนได้ที่ ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ ทั่วประเทศ ซึ่งข้อมูลของผู้ลงทะเบียนจะถูกรักษาไว้เป็นความลับ และหากมีข้อสงสัยสามารถขอรับคำปรึกษาและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

Advertisement

รัฐบาลปลื้มส่งออกมันสำปะหลังครึ่งปีแรก 6.7 ล้านตัน 8.2 หมื่นล้านบาท ลุ้นทั้งปีทำสถิติสูงสุดใหม่

People Unity News : วันนี้ (28 สิงหาคม 2565) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลชื่นชมผลสำเร็จ ตามที่ผลการส่งออกมันสำปะหลังไทยในช่วงครึ่งปีแรก 2565 มีจำนวนกว่า 6.7 ล้านตัน รวมมูลค่า 8.2 หมื่นล้านบาท พร้อมกำชับทุกฝ่ายร่วมพิจารณามาตรการเพิ่มการส่งออกให้บรรลุเป้าหมาย 1.3 แสนล้านบาท

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมุ่งดำเนินมาตรการประกันราคาผลผลิต และรายได้เกษตรกรมันสำปะหลังอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งแสวงหาตลาดแก่ผู้ประกอบการค้ามันสำปะหลังทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) รายงานการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ได้แก่ มันเส้น มันอัดเม็ด แป้งดิบ แป้งแปรรูป และอื่นๆ (กากมัน และสาคู) ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 นี้ มีอัตราการส่งออกแล้วกว่า 6.7 ล้านตัน รวมมูลค่ากว่า 8.2 หมื่นล้านบาท โดยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ถือว่ามีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 35.16% ทั้งนี้ เกิดจากปัจจัยด้านสงครามที่ส่งผลต่อวัตถุดิบทางการเกษตรและอาหารทั่วโลก โรงงานอาหารสัตว์ฟื้นตัวจากผลกระทบโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever : ASF) และโดยเฉพาะความต้องการมันเส้นเพื่อผลิตแอลกอฮอล์ของจีนสูง ทำให้ตลาดมันสำปะหลังไทยขยายตัว

โดยเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา กรมการค้าต่างประเทศได้ร่วมประชุมหารือ 4 สมาคมมันสำปะหลัง ได้แก่ สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย สมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย สมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย และสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยคาดว่าการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในช่วงครึ่งปีหลังจะเพิ่มขึ้นในปริมาณ 4.25 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 4.7 หมื่นล้านบาท ขณะที่ตลอดทั้งปี 2565 จะมีปริมาณการส่งออกรวม 11 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับปี 2564 ซึ่งหากยอดการส่งออกตรงตามที่คาดการณ์ไว้จริง มูลค่าการส่งออกมันสำปะหลังจะถือเป็นยอดสูงสุดในรอบ 15 ปี

“รัฐบาลโดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้การบูรณาการความร่วมมือร่วมกับภาคเกษตรกร ผู้ประกอบการ และคู่ค้ามันสำปะหลังต่างประเทศ ในการร่วมส่งเสริม และผลักดันการส่งออกสินค้าไทยอย่างมีประสิทธิภาพ โดยขอให้ทุกฝ่ายเร่งดำเนินการอย่างเต็มศักยภาพเพื่อบรรลุเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ พร้อมหาแนวทางการต่อยอดส่งออกสินค้าการเกษตรอื่น ๆ ขยายตลาดผลผลิตไทยให้เป็นที่รู้จักในต่างประเทศมากยิ่งขึ้น” นายอนุชา กล่าว

Advertisement

“คลัง” เผย “นายกฯ” สั่งเร่งรัดงบปี 67 เต็มสูบมาโดยตลอด

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 2 พฤษภาคม 2567 “คลัง” เผย “นายกฯ” สั่งเร่งรัดงบปี 67 เต็มพิกัดมาโดยตลอด กรมบัญชีกลางชู 8 มาตรการ เร่งงบค้างท่อ

วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีสื่อสารมวลชนบางรายเขียนลงในคอลัมน์เผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ โดยเห็นว่า รัฐบาลโดยท่านนายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) ไม่ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2567 นั้น กระทรวงการคลังขอเรียนว่า ข้อมูลที่ปรากฏในสื่อดังกล่าวเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในปัจจุบัน ซึ่งรัฐบาลโดยท่านนายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด โดยที่ผ่านมาได้สั่งการและมอบหมายให้กระทรวงการคลังดำเนินการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ดังนี้

1.มาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ

กระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางได้ออกแนวทางการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ โดยให้หน่วยรับงบประมาณดำเนินการ ดังนี้

    1.1 เมื่อได้รับอนุมัติเงินจัดสรรแล้ว กรณีเป็นรายการที่จะต้องดำเนินการหรือเบิกจ่ายโดยสำนักงานในส่วนภูมิภาค ให้เร่งดำเนินการส่งเงินจัดสรรต่อไปยังสำนักงานในส่วนภูมิภาคภายใน 5 วัน นับแต่วันที่ได้รับอนุมัติเงินจัดสรร เพื่อให้สำนักงานในส่วนภูมิภาคดำเนินการใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันต่อไป

    1.2 รายการปีเดียว ให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณากำหนดระยะเวลาการส่งมอบงานให้รวดเร็วขึ้น เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายได้ทันภายในเดือนกันยายน 2567

    1.3 รายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณที่เป็นรายจ่ายลงทุนรายการใหม่ ให้ดำเนินการก่อหนี้ผูกพันให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2567

    1.4 ให้หัวหน้าหน่วยรับงบประมาณรวมทั้งทุนหมุนเวียนภายใต้สังกัด กำกับดูแลเร่งรัดการดำเนินการเพื่อให้สามารถก่อหนี้ และเบิกจ่ายเงินงบประมาณให้แล้วเสร็จโดยเร็ว พร้อมทั้งรายงานผลให้กรมบัญชีกลาง ทุกวันที่ 5 ของเดือนถัดไป

    1.5 ดำเนินการเบิกหักผลักส่ง เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ชดใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อนภายในเดือนกรกฎาคม 2567

    1.6 สำหรับหน่วยงานของรัฐที่ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จากสำนักงบประมาณ และได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างจนถึงขั้นตอนได้ตัวผู้รับจ้างไว้แล้ว ให้เร่งลงนามในสัญญาหรือข้อตกลงเป็นหนังสือโดยเร็ว

2.มาตรการลดระยะเวลาการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง

      2.1 การเผยแพร่ร่างประกาศและร่างเอกสารซื้อหรือจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ กำหนดให้วงเงินเกิน 500,000 บาท แต่ไม่เกิน 10,000,000 บาท ให้อยู่ในดุลพินิจของหัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่จะให้มีการเผยแพร่ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการหรือไม่ก็ได้ จากเดิมที่กำหนดเพดานไว้ที่ 5,000,000 บาท

      2.2 การเผยแพร่ประกาศและเอกสารซื้อหรือจ้างโดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป

     (1) การซื้อหรือการจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการเผยแพร่ประกาศและเอกสารซื้อหรือจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการซื้อหรือจ้างครั้งหนึ่งซึ่งมีวงเงินเกิน 500,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000,000 บาท ไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ ทั้งนี้ สำหรับการซื้อหรือจ้างครั้งหนึ่ง ซึ่งมีวงเงินเกิน 100,000,000 บาท ไม่น้อยกว่า 20 วันทำการ ซึ่งเป็นการลดระยะเวลาจากที่กำหนดไว้ในระเบียบฯ

     (2) การจ้างที่ปรึกษา และการจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง โดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป ให้หน่วยงานของรัฐเผยแพร่ประกาศและเอกสารการจ้าง เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ โดยระยะเวลาการดำเนินการดังกล่าว ให้ใช้กับปีงบประมาณ 2567 เท่านั้น ซึ่งเป็นการลดระยะเวลาจากที่กำหนดไว้ในระเบียบฯ

ทั้งนี้ เพื่อให้การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นไปตามเป้าหมาย กระทรวงการคลังและคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ จึงได้มีมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนหลายประการ เช่น การกำหนดเป้าหมายการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของกรอบงบลงทุนเป็นตัวชี้วัดของผู้บริหารสูงสุด การกำหนดให้รัฐวิสาหกิจเร่งลงนามในสัญญาให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2567 โดยให้รัฐวิสาหกิจที่ใช้เงินงบประมาณในการลงทุน เตรียมความพร้อมเพื่อให้สามารถลงนามในสัญญาได้ทันทีเมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณ เป็นต้น

Advertisement

เริ่มขายพรุ่งนี้ (6 มี.ค.) พันธบัตรออมทรัพย์ ผ่านแอปเป๋าตัง 1 หมื่นล้านบาท

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 5 มีนาคม 2567 คลัง ขายพันธบัตรออมทรัพย์ ผ่านแอปเป๋าตัง 1 หมื่นล้านบาท  6 มี.ค. นี้  อายุ 5 ปี ดอกเบี้ย 3 % ต่อปี อายุ 10 ปี ดอกเบี้ย 3.4 %

นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กล่าวว่า วันที่ 6 มี.ค. กระทรวงการคลัง ได้เริ่มเปิดจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์  ประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 40,000 ล้านบาท งวดแรก จากเป้าหมาย  1 แสนล้านบาท เพื่อชดเชยขาดดุลงบประมาณปี 67 ส่วนที่เหลืออีก 6 หมื่นล้านบาท จะดูสภาพตลาดตามความเหมาะสม

กระทรวงการคลังได้แบ่งการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ครั้งนี้ คือ 1.การจำหน่ายให้กับประชาชน วงเงิน 35,000 ล้านบาท ผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่ วอลเล็ต สบม. (สะสมบอนด์มั่งคั่ง) บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง วงเงิน 10,000 ล้านบาท และช่องทางต่างๆ ของธนาคารตัวแทนจำหน่าย วงเงิน 25,000 ล้านบาท และ 2. การจำหน่ายให้กับนิติบุคคลไม่แสวงหากำไรตามที่กระทรวงการคลังกำหนด วงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดช่องทางการจำหน่าย ดังนี้

1.การจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านวอลเล็ต สบม. บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง พันธบัตรออมทรัพย์บนวอลเล็ต สบม. ของกระทรวงการคลัง ในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ครั้งที่ 1 วงเงิน 10,000 ล้านบาท รุ่นอายุและผลตอบแทน (จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน) 5 ปี 3.00% ต่อปี, 10 ปี 3.40% ต่อปี วันจำหน่าย 6 – 19 มีนาคม 2567 ผู้มีสิทธิ์ซื้อ บุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทย ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป วงเงินขั้นต่ำ-ขั้นสูง 100 บาท – 50,000,000 บาท (หน่วยละ 100 บาท) ช่องทางการจำหน่าย วอลเล็ต สบม. บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเป๋าตังได้ตั้งแต่วันนี้ เพื่อลงทะเบียน ยืนยันตัวตน และเติมเงินเข้าวอลเล็ต สบม. ผ่าน Mobile Banking หรือผูกบัญชีธนาคารกรุงไทย รวมถึงเติมเงินด้วย Wallet ID ที่เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา

2.การจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านธนาคารตัวแทนจำหน่าย ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) พันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลัง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 1 ช่วงที่ 1 จองซื้อได้วันที่ 11-13 มีนาคม 2567 วงเงิน 25,000 ล้านบาท ผู้มีสิทธิ์ซื้อบุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทย หรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย รุ่นอายุและผลตอบแทน (จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน) 5 ปี 3.00% ต่อปี, 10 ปี 3.40% ต่อปี วงเงินขั้นต่ำ-ขั้นสูง 1,000 บาท-ไม่จำกัดวงเงินขั้นสูง (หน่วยละ 1,000 บาท)

ช่องทางการจำหน่าย Internet Banking Mobile Banking และเคาน์เตอร์ของธนาคารตัวแทนจำหน่ายทั้ง 4 แห่ง

พันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลัง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 1 ช่วงที่ 2 จำหน่ายวันที่ 18-19 มีนาคม 2567 วงเงิน 5,000 ล้านบาท

ผู้มีสิทธิ์ซื้อ สภากาชาดไทย มูลนิธิ สมาคม สหกรณ์ วัด สถานศึกษาของรัฐ โรงพยาบาลของรัฐ นิติบุคคลอาคารชุด นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร และนิติบุคคลอื่นที่ไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไร รุ่นอายุและผลตอบแทน (จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน) 10 ปี 3.00% ต่อปี วงเงินขั้นต่ำ-ขั้นสูง 1,000 บาท – ไม่จำกัดวงเงินขั้นสูง (หน่วยละ 1,000 บาท) ช่องทางการจำหน่าย เคาน์เตอร์ของธนาคารตัวแทนจำหน่ายทั้ง 4 แห่ง

การจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ให้กับประชาชนในช่วงที่ 1 (วันที่ 11 – 13 มีนาคม 2567) จะใช้วิธีการจัดสรรพันธบัตรแบบ Small Lot First (ทยอยจัดสรรพันธบัตรเป็นรอบๆ เวียนจนครบผู้ซื้อทุกราย) โดยทวีคูณรอบละ 1,000 บาท ซึ่งลำดับในการจองซื้อก่อน-หลัง ไม่มีผลต่อการจัดสรร

ในกรณีที่วงเงินพันธบัตรที่จะจัดสรรในรอบสุดท้ายไม่เพียงพอที่จะจัดสรรให้ผู้ซื้อทุกราย ระบบคอมพิวเตอร์จะจัดสรรพันธบัตรในรอบสุดท้ายด้วยวิธีการสุ่ม (Random) จนครบวงเงินจำหน่าย ทั้งนี้ ผู้จองซื้อจะทราบผลการจัดสรรพันธบัตรและได้รับเงินคืน กรณีที่ไม่ได้รับจัดสรรพันธบัตร หรือได้รับจัดสรรไม่ครบตามวงเงินจองซื้อ ในวันที่ 14 มีนาคม 2567 (รายละเอียดและเงื่อนไขการจำหน่ายเป็นไปตามเอกสารการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลัง) วงเงินที่จำหน่ายบนวอลเล็ต สบม. และผ่านธนาคารตัวแทนจำหน่ายจะแยกจากกัน โดยผู้ลงทุนสามารถลงทุนได้ทั้ง 2 ช่องทาง โดยประชาชนที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ในหนังสือชี้ชวนและเอกสารสรุปเงื่อนไขการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ หรือสอบถามได้กับธนาคารตัวแทนจำหน่ายทั้ง 4 แห่ง สบน. หวังว่าการจำหน่ายพันธบัตรในครั้งนี้จะได้รับการตอบรับที่ดี ในการลงทุนกับพันธบัตรออมทรัพย์ของรัฐบาล

Advertisement

ธนาคารออมสิน สร้างประวัติศาสตร์ กวาด 8 รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ปี 2566

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 2 กุมภาพันธ์ 2567 ออมสิน คว้ารางวัล “รัฐวิสาหกิจยอดเยี่ยม” และ “ผู้นำองค์กรดีเด่น” สร้างประวัติศาสตร์ กวาด 8 รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ปี 2566

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง มอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น (SOE Award) ประจำปี 2566 ให้แก่ นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน คณะกรรมการธนาคารออมสิน และผู้บริหาร รวมทั้งสิ้น 8 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลรัฐวิสาหกิจยอดเยี่ยมประจำปี รางวัลคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจดีเด่น รางวัลผู้นำองค์กรดีเด่น รางวัลเกียรติยศด้านการบริหารจัดการองค์กรดีเด่น รางวัลความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมดีเด่น รางวัลความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาดีเด่น รางวัลบริการดีเด่น และ รางวัลการดำเนินงานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมดีเด่น สำหรับงานนี้ จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า “รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น” ถือเป็นรางวัลเกียรติยศและเป็นความภาคภูมิใจของธนาคารออมสิน โดยปีนี้ได้รับ 8 รางวัลด้วยกัน มากที่สุดในประวัติศาสตร์ธนาคาร สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจในบทบาทสถาบันการเงินของรัฐ ที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนสนับสนุนนโยบายรัฐบาล ภายใต้ภารกิจธนาคารเพื่อสังคม ในการสร้างผลกระทบเชิงบวกอย่างเป็นรูปธรรม มีเป้าหมายชัดเจนในการลดความเหลื่อมล้ำทางการเงิน ทำให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุนที่เป็นธรรมอย่างยั่งยืน จากการร่วมมือร่วมใจผลักดันของผู้ปฏิบัติงานทั้งหมด นำมาซึ่งความภาคภูมิใจกับรางวัลทรงคุณค่าที่ได้รับนี้เป็นอย่างยิ่ง

สำหรับรางวัลที่ธนาคารออมสินได้รับในปีนี้ ได้แก่ รางวัลรัฐวิสาหกิจยอดเยี่ยม มอบให้รัฐวิสาหกิจที่มีความโดดเด่น และมีมาตรฐานในการดำเนินงานทุกๆ ด้าน สามารถสนองตอบความต้องการและความคาดหวังของประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้เป็นอย่างดี รวมถึงคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจและผู้บริหารสูงสุดมีการปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันอย่างเหมาะสม รางวัลคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจดีเด่น มอบให้คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนของผู้ถือหุ้นภาครัฐ ในการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจและส่งเสริมการบริหารงานของฝ่ายจัดการให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส สอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี รางวัลผู้นำองค์กรดีเด่น มอบให้ผู้บริหารสูงสุดที่สามารถนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้อย่างยั่งยืนโดยมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และสามารถผลักดันองค์กรให้บรรลุถึงวิสัยทัศน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รางวัลเกียรติยศด้านการบริหารจัดการองค์กรดีเด่น ได้รับต่อเนื่องติดต่อกันเป็นปีที่ 5 มอบให้รัฐวิสาหกิจที่มีการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ มีศักยภาพในการแข่งขัน สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่รัฐวิสาหกิจและมีการเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืนในทุกด้าน

พร้อมกันนี้ ยังได้รับ รางวัลความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมดีเด่น ธนาคารได้รับรางวัลด้านนวัตกรรม จากโครงการ GSB New business models : ธุรกิจจำนำทะเบียนรถ นำเสนอนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ที่ธนาคารใช้เป็นกลไกในการแทรกแซงและกดดันอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่สูงเกินจริงให้กลับมาอยู่ในระดับที่เหมาะสมและเป็นธรรม รางวัลความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาดีเด่น (ประเภทเชิดชูเกียรติ) โดยร่วมกับสำนักงานธนานุเคราะห์ฯ ภายใต้โครงการยกระดับการให้บริการทางการเงินและคุณภาพชีวิตแก่ลูกค้า ช่วยให้ลูกค้ากลุ่มที่ไม่สามารถขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ได้เข้าถึงบริการทางการเงินที่ดีขึ้นด้วยดอกเบี้ยที่เป็นธรรม รางวัลบริการดีเด่น ได้รับต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยปีนี้ได้รับจากโครงการ Social Mission integration for Better Service เป็นการปรับแนวคิดการทำงานโดยนำเอาปัจจัยด้านการช่วยเหลือสังคมผนวกเข้ากับบริการที่สำคัญของธนาคารในทุกด้าน ทั้งด้านความคุ้มค่าทางธุรกิจควบคู่ผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม และสุดท้าย รางวัลชมเชย รางวัลการดำเนินงานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมดีเด่น จากโครงการออมสิน..พัฒนาชุมชนแบบองค์รวม สร้างบุคลากรของธนาคารให้เป็นนักพัฒนาชุมชนที่เข้าใจความต้องการของคนในท้องถิ่น ภายใต้หน่วยพัฒนาสังคมและชุมชน 18 ภาคทั่วประเทศ

Advertisement

“เศรษฐา” ขอให้เชื่อมั่นในตัวนายกฯ เข้าใจธุรกิจ พร้อมนำประเทศแก้วิกฤติ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 29 มีนาคม 2567 โรงแรมแบงค็อก แมริออท เดอะ สุรวงศ์ – “เศรษฐา” ขอให้เชื่อมั่นในตัวนายกฯ เข้าใจธุรกิจ พร้อมนำประเทศแก้วิกฤติ เหน็บบางคนนั่งบนหอคอย ลงมามือเปื้อนดิน ตีนเปื้อนโคลนบ้าง น้อยใจ รมว.คลัง ไม่มีอำนาจลดดอกเบี้ย

นายเศรษฐา ทวีสิน  นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “นักธุรกิจรุ่นใหม่กับโอกาสในการสร้างธุรกิจและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ” โดยกล่าวว่า ถ้าย้อนหลังไป 10 กว่าปีที่ผ่านมา ตนถือเป็นหนึ่งในผู้บริหารอสังหาริมทรัพย์ แต่วันนี้มาเป็นนักการเมืองเต็มตัวแล้ว และหลายๆ ท่านได้ติดตามเรื่องวิสัยทัศน์  ซึ่งวันนี้พยายามที่จะสรุปให้ได้ใจความและโดยที่ไม่เป็นการเปิดเผยความลับของประเทศ การทำธุรกิจของทุกประเทศไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์อย่างเดียว ก่อนที่จะเป็นนายกฯ คนก็บอกว่าทำเถอะ ไม่มีทางสู้ตนได้ เพราะตนทำงาน 7 วัน 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ต้องมาช่วยสังคมกันบ้าง แต่เรื่องสำคัญคือทำให้วงการอุตสาหกรรมดีด้วยการแข่งขัน  พวกเรามีคู่แข่งที่ดีมีคุณภาพ ทำให้พัฒนาไปในอนาคต มีลูกค้าเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่แข่งขันแล้วเจ๊ง

“หากจะทำอสังหาริมทรัพย์ต้องเป็นงานจริงๆ โดยเฉพาะสถานการณ์ที่เปราะบางในปัจจุบันนี้ ดอกเบี้ยแพงโคตรขนาดนี้ ควรจะลดตั้งนานแล้ว แต่ก็ไม่ลด พวกเราก็เดือดร้อนพอสมควร ผมเองก็เป็นคนอสังหาริมทรัพย์มาก่อน  จะเรียกร้องให้หนักกว่านี้ ผมก็มีความลำบากใจ เดี๋ยวจะหาว่าไปทำเพื่อตัวเองอีก แต่เรื่องดอกเบี้ยเป็นเรื่องสำคัญที่กำหนดกำลังซื้อ วันนี้ขอถามตรงๆ อสังหาริมทรัพย์มีใครพูดเรื่องเก็งกำไรหรือไม่ ก็ไม่มี ไม่มีใครโง่ไปเก็งกำไรหรอก  อย่ามีทิฐิเลยดีกว่า บังเอิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไม่มีอำนาจตรงนี้เลยไม่สามารถทำได้” นายเศรษฐา กล่าว

นายเศรษฐา ยังกล่าวว่าเรื่องสำคัญการเข้าถึงที่อยู่อาศัย  ถือเป็นการออมอย่างหนึ่ง ในเรื่องของการเก็งกำไร เลิกไปได้แล้ว วันนี้อย่าพูดเรื่องของวิกฤตหรือไม่วิกฤติ เป็นวาทกรรมเท่าไหร่ก็ไม่จบ จริงๆ แล้วเศรษฐกิจไทยต้องการการกระตุ้นใช่หรือไม่ ตนว่า 99% เห็นว่าจะต้องมีการกระตุ้น แต่ท่านมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากภาคอสังหาฯ ทำอะไรก็ต้องระวังตัว  ดูให้ดี และเหมาะสม ต้องใช้เวลาในการที่จะทำอะไรหลายอย่าง เพราะเป็นที่เพ่งเล็งของสังคม ฉะนั้นการจะทำอะไรก็ต้องรอบคอบ ระมัดระวัง ประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติเป็นหลัก

“มีอีกหลายอย่าง ซึ่งผมเคยพลาดแล้วโดนทัวร์ลงไปแล้ว อย่างเรื่องการครอบครองที่ดิน 1 ไร่ ที่ให้ชาวต่างชาติมาครอบครองได้ เขาบอกว่าทำให้คนไทยเข้าถึงที่อยู่ได้ลำบากขึ้น ที่ 1 ไร่ที่เราขายได้ หรือว่าคอนโดบ้านที่อยู่อาศัยขายคนต่างชาติได้มันราคาเท่าไหร่ ในตลาดที่ซื้อ โครงการต่างๆ ราคา 50 ล้าน 100 ล้านบาท มันเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถก้าวข้ามเรื่องขายชาติได้  อะไรก็ขายชาติ มันขายไม่ได้หรอก เพราะชาติ คือจิตวิญญาณของพวกเรา มันคือชาติ  ศาสนา พระมหากษัตริย์และประชาชน เรื่องที่ดินเอากลับไปไม่ได้ ขายไม่ได้ แต่รัฐบาลที่แล้ว โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ  มีเจ้าหน้าที่หลายคนระดับสูงเข้ามาปรึกษาผมว่าทำอย่างไรจะกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำอย่างไรให้ต่างชาติเข้ามาถือที่ดินได้ ผมบอกว่าต่อให้มี 749 เสียงกับ 750 เสียงในสภา ก็ไม่มีทางให้ต่างชาติมาถือที่ดิน เพราะอย่างไรก็ไม่ผ่าน และจิตใจคนไทยสังคมไทยรับไม่ได้ให้ต่างชาติมาถือที่ดิน อย่าพูดด้วยเหตุผล  เป็นความรู้สึกมากกว่า ที่เขายอมไม่ได้ ยังไงก็ยอมไม่ได้ ฉะนั้นตรงนี้ลำบากจริงๆ“ นายเศรษฐา กล่าว

ฉะนั้นกฎหมายเหล่านี้จะต้องมาแก้ไขให้ถูกต้องให้เหมาะสม เพื่อให้การทำธุรกรรมผ่านไปได้ ในฐานะที่เคยทำธุรกิจมาก่อน จะพยายามทำกฎข้อบังคับเหล่านี้ เพื่อให้กฎหมายลูกที่มารองรับสามารถทำงานได้ง่าย และสะดวกสบายขึ้น  หากพูดถึงประเทศ ถ้าจีดีพีดี อัตราการเจริญเติบโตภาคอสังหาริมทรัพย์จะไปได้ดี

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต ว่า ประเทศไทย 10 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจโต 1.8% ภาคอสังหาฯ ไม่มีอะไรดี หยอดน้ำข้าวต้มไปเรื่อยๆ แต่การทำดิจิทัลวอลเล็ต ยืนยันไม่มีการทุจริต เป็นการส่งตรงจากภาครัฐ ผ่านเทคโนโลยีเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูล ที่สามารถตรวจสอบได้ เหมือนสมัยก่อนที่ให้เอาเงินใส่กระเป๋า แต่ถามว่าได้หมดทุกคนหรือไม่ อยู่ที่ฐานเงินเดือนที่กำหนดไว้ 70,000 บาท และที่ช้ามานานขนาดนี้ เพราะบอกไม่ให้คนรวย แต่ไม่ได้บอกว่าคือใคร ซึ่งตนก็ขอให้กำหนดมาเลยดีกว่าคนรวยคืออะไร ตนก็คอยอยู่เดือนกว่า ก็ไม่บอกมาคนรวยคืออะไร ไม่มีใครกล้าบอกว่าใครคือคนรวย เงินเดือน 70,000 บาท ยังบอกอยู่เลยว่ายังเป็นหนี้ แต่ไม่ใช่คนรวย

“เมื่อมีองค์กรเสนอแนะมา เราก็พยายามที่จะรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนให้เหมาะสม ผมพยายามฟังจากทุกคน  ทั้งสถาบันการเงิน ฝ่ายปกครอง  ฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายดิจิทัล เราพยายามทำให้เหมาะสมที่สุดแล้ว ว่าทำไมถึงต้องเป็นดิจิทัลวอลเล็ต ทำไมถึงต้อง 10,000 บาท  และทำไมถึงต้อง 5 แสนล้านบาท ได้อธิบายไปแล้ว และเชื่อว่าจะมีการจ้างงานมีการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ 5 แสนล้านบาท ประมาณ 17% ของงบประจำปี ยืนยันไม่มีการทุจริต” นายเศรษฐา กล่าว

นายเศรษฐา ยังกล่าวถึงการเดินทางไปต่างประเทศว่า ไปเมืองนอกมา 10 กว่าครั้ง ไปประกาศให้ชาวโลกรู้ ว่าประเทศไทยเปิดแล้ว เพื่อรองรับการลงทุน คนที่ไม่ใช่แฟนคลับบอกไปตั้งหลายหนอะไรก็ไม่เกิด ขอถามหน่อยว่า 7 เดือน มีใครตกลงได้ การลงทุนเป็นแสนล้าน คุณจะทำคอนโดหมู่บ้านจัดสรรใช้เวลาตัดสินใจเท่าไหร่ กว่าจะตรวจเสาเข็ม ผลงานยังไม่ออก ให้คอยไปก่อน

“วันนี้ขี้เกียจไปตอบ ผู้ที่นั่งทางในอยู่บนหอคอยทั้งหลาย  ลงมามือเปื้อนดิน ตีนเปื้อนโคลนบ้าง การเดินทางไปเมืองนอกไม่สนุก ถามว่าผมเป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่เคยไปเมืองนอกหรือเปล่า สนุกกว่าสบายกว่า แต่เป็นหน้าที่ที่จะต้องทำ และประเทศไทยปิดมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ตารางงานผมแน่น วันหนึ่งไป 19 วงไม่สนุก ไม่เห็นเดือน เห็นตะวัน แต่ต้องไป เพื่อให้เกิดการกระตุ้นการลงทุน เพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมทุกภาคส่วนของประเทศไทย ทำให้เรามีกินมีใช้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นี่ผ่านไปแค่ 7 เดือน จริงๆ 6 เดือนกว่า  ฉะนั้นงบประมาณยังไม่ได้ใช้สักบาท เพิ่งผ่านไปสภาเมื่ออาทิตย์ที่แล้วใช้แต่นโยบายอย่างเดียวที่ประกาศไป” นายเศรษฐา กล่าว

นายกฯ ยังกล่าวถึงปัญหาในภาคใต้ ว่าเป็นนายกฯ คนแรกที่ลงในพื้นที่ภาคใต้ 2 คืน 3 วันยอมรับมีความเสี่ยง  ตนบอกไม่ให้มีใครใส่เสื้อเกาะ หรือทหารนำรถถังตามมา เพราะตนมั่นใจว่าไปด้วยเจตนารมณ์ที่ดี  ไปด้วยความตั้งใจจริง  และขอหาเสียงด้วย เพราะพรรคเพื่อไทยไม่มี สส.ในพื้นที่ อย่าไปเชื่อวาทกรรมที่ผู้นำบางคนพูด ว่าเพื่อไทยไม่เคยให้ความสำคัญกับภาคใต้   สนามบินจังหวัดภูเก็ต พรรคเพื่อไทยไม่มี สส. แต่ลงทุนไปหลายหมื่นล้านบาท การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ถ้าไม่มีสนามบินสุวรรณภูมิวันนี้เราอยู่ตรงไหนของโลก

“แต่มีวาทกรรมบอกว่า  นายกฯ เลียรองเท้าบูทบ้าง อะไรบ้าง ผมไม่ได้เลีย แต่เราพูดคุยด้วยภาษาที่เหมาะสม ไม่ได้ไปบอกว่าทหารมีพื้นที่เยอะไป ยึดพื้นที่มา ไม่ใช่ ผมไม่ได้ไปยึด หรือไปขอ ไปพูดคุยและไม่ได้บอกว่าจะไปยึดคืนทุกที่ แต่ไปขอร้อง ไปอธิบายให้ฟัง หากท่านคืนสนามกอล์ฟตรงนี้มาประโยชน์กับประเทศไทยจะไปขนาดไหน ท่านต้องการอะไรเป็นผลตอบแทน เขาบอกว่าสนามกอล์ฟปีละ 5 ล้านบาท  ไม่เป็นอะไร ผมให้เอาสนามกอล์ฟออกไป ตรงนั้นจะเป็น Part 1 ของสนามบินดอนเมือง อาจจะเป็นศูนย์ซ่อมเครื่องบินของโบอิ้งหรือแอร์บัส หรือเป็นไพรเวทเจ็ท ซึ่งเรื่องนี้สำคัญและต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง”  นายเศรษฐา กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงจุดยืนของประเทศไทย ว่าเรามีความเป็นกลาง วันนี้ความเป็นกลางของเรา จะนำให้ประเทศพ้นจากวิกฤตทางด้านเศรษฐกิจ  เป็นความต้องการอย่างสูงจากทุกประเทศที่อยากมาพูดคุย มาลงทุนใช้ประเทศไทยเป็นเวทีกลางในการเจรจา โดยไม่ต้องสงสัยทำไมไทยมีทุกๆ ประเทศมาลงทุน เพราะความเป็นกลางทางด้านการเมืองของเรา  หากเราฝักใฝ่กับชาติใดชาติหนึ่ง ไม่เป็นกลาง ทั่วโลกจะไม่มั่นใจลงทุนกับเรา

“สิ่งสำคัญเราต้องยอมรับว่ากำลังมีปัญหา ทางความมั่นคงเราดีขึ้นมาก เสถียรภาพทางด้านการเมืองดีขึ้นมาก เศรษฐกิจเรามีปัญหา การกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นความจำเป็น ตนไม่ได้หมายถึงเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตอย่างเดียว แต่อีกหลายเรื่องที่จะต้องทำ ซึ่งเราจะทำต่อไป แต่ผลที่จะเกิดขึ้น คงต้องอีกพอสมควร คิดว่าประมาณ 18 เดือน แต่อย่าลืมตลาดอสังหาริมทรัพย์ ตลาดหุ้นมีความไวต่อสัญญาณที่ดี หาก 6 เดือนหรือ 12 เดือนตลาดจะเด้งแรงมาก ข่าวดีอันนึง หมดปีงบประมาณไปแล้ว 6 เดือน ยังไม่ได้ใช้งบประมาณสักบาท ในวันที่ 1 พ.ค.ใช้ได้เหลืออีกแค่ 5 เดือน งบประมาณตัวนี้บวกกับงบประมาณหน้า 24 เดือน  ก็ใช้ไปแค่ 16 เดือน ฉะนั้นจะมีการลงทุนเยอะมาก อันนี้เป็นเรื่องของข่าวดี และข่าวดีอีกเรื่องคือ ประเทศไทยมีนายกฯที่เข้าใจ และมีความตั้งใจจริง ที่จะทำให้ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการผลิต การลงทุน การจัดซื้อจัดจ้าง เราจะดูทั้งหมด เพราะเราทราบดี เคยทำมาก่อน ก็จะพยายามทำให้ดีที่สุด  และขอให้เป็นกำลังใจและขอให้มีความอดทนต่อไป” นายเศรษฐา กล่าว

Advertisement

ธ.ก.ส. ยกระดับ SME สู่แกนกลางเกษตรไทย เติมความรู้ฟื้นฟูเกษตรกรรายย่อย การตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 9 กุมภาพันธ์ 2567 ธ.ก.ส. พร้อมมุ่งสู่แกนกลางการเกษตร ยกระดับ SME และเกษตรกรหัวขบวน โดยเติมองค์ความรู้ด้านการผลิตสู่เกษตรมูลค่าสูง และการบริหารจัดการที่เป็นมาตรฐาน พร้อมเชื่อมโยงการเข้าไปสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ ภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ในการฟื้นฟูการประกอบอาชีพ พัฒนาศักยภาพการผลิตและเชื่อมโยงการตลาด อันนำไปสู่การสร้างรายได้และช่วยให้เกษตรกรสามารถหลุดพ้นกับดักหนี้อย่างยั่งยืน

นายณรงค์ ขันติวิริยะกุล รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นประธานในการเปิดงานเสวนาโครงการ “การยกระดับ SME เกษตรหัวขบวน สู่แกนกลางเกษตรไทย เพื่อการฟื้นฟูเกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้” ภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” โดยนำเกษตรกรหัวขบวน และผู้ประกอบการ SME เกษตรในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ มาร่วมสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ ให้สามารถฟื้นฟูการประกอบอาชีพ มีศักยภาพในการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและมีรายได้เพิ่มขึ้น อันนำไปสู่การหลุดพ้นกับดักหนี้อย่างยั่งยืน โดยมีคณะผู้บริหาร เกษตรกรหัวขบวน ผู้ประกอบการ SME เกษตรและพนักงาน ธ.ก.ส. เข้าร่วมกิจกรรม ณ อาคารทาวเวอร์ ธ.ก.ส. สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ

นายณรงค์ ขันติวิริยะกุล รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ดำเนินมาตรการพักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรรายย่อยในช่วงปี 2567 – 2569 พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์ให้เกษตรกรที่เข้าร่วมมาตรการจะต้องเข้าร่วมการเสริมความรู้ฟื้นฟูทักษะในการประกอบอาชีพภายใต้แนวทาง “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ใหม่” เป้าหมายเกษตรกร จำนวน 900,000 ราย เพื่อขยายการลงทุนในการประกอบอาชีพ การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้ดียิ่งขึ้น และเพิ่มสภาพคล่องให้เกษตรกรรายย่อยให้สามารถมีรายได้เหลือเพียงพอต่อรายจ่ายที่จำเป็นในครัวเรือน อันนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้นและเป็นการเพิ่มกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งในส่วนของ ธ.ก.ส. ได้จับมือกับเครือข่าย ทั้งภาครัฐ เอกชนและสถาบันการศึกษาในการเสริมสร้างองค์ความรู้ในการพัฒนาอาชีพ การเพิ่มศักยภาพในการผลิต การแปรรูปสู่เกษตรมูลค่าสูง ทั้งการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการแปรรูปและพัฒนาผลผลิต ให้กับเกษตรกรหัวขบวนและผู้ประกอบการ SME เพื่อนำไปถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ โดยเริ่มจากการปรับวิธีคิด เช่น ก่อนลงมือผลิต ตั้งคำถาม ขายอะไร? ขายใคร? ขายเมื่อไหร่? ขายที่ไหน? ขายปริมาณ? ขายราคา? รวมถึงสามารถเชื่อมโยงตลาด ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ระหว่างผู้ประกอบการและเกษตรกรรายย่อย เช่น การรับซื้อผลผลิต การจ้างแรงงานในพื้นที่ หรือการเป็นพี่เลี้ยงให้กับเกษตรกรรายย่อยในการพัฒนาศักยภาพในการผลิต เป็นต้น พร้อมจัดเสวนา “การยกระดับ SME เกษตรหัวขบวน สู่แกนกลางเกษตรไทย เพื่อการฟื้นฟูเกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้” โดยนำเครือข่ายส่วนราชการ ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เครือข่ายผู้ประกอบการ SME และเกษตรกร  หัวขบวน กลุ่ม New Gen และ Young Smart Farmer ที่อยู่ในโครงการ Design & Manage by Area (D&MBA) ของ ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ จำนวน 10 ราย มาร่วมระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนมุมมองในการเข้าไปสนับสนุนเกษตรกรในการประกอบอาชีพ สู่การสร้างงานสร้างรายได้และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรอย่างตรงจุดและยั่งยืน

นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังพร้อมสนับสนุนเงินทุนอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนให้กับเกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้รายย่อยผ่านผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่เหมาะสมในการฟื้นฟูการประกอบอาชีพ วงเงินสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท เพื่อใช้ในการจัดหาปัจจัยการผลิตและเทคโนโลยีการผลิต ช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพในการผลิตอันนำไปสู่การสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

Advertisement

ก.คลัง แจง ทำไมต้องแจกเงิน 10,000 บาท เป็นสกุลเงินดิจิทัล Token ยันบริษัทไม่ได้ประโยชน์

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 8 เมษายน 2567 คลังเตือนอย่าเชื่อ อย่าแชร์ ข่าว Digital wallet

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะ application “LINE” ว่ารัฐบาลจะดำเนินการโครงการเติมเงิน 10000 บาท ผ่าน Digital wallet ให้ประชาชนด้วยเงินดิจิทัล สกุลเงิน Token  โดยตนขอให้ข้อมูลข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังนี้

ประเด็นที่ 1  ทำไมไม่โอนเงินเข้าบัญชีของทุกคนโดยตรงเลย ? เพื่อให้ง่าย และไม่โดนกล่าวหาว่ามีวาระซ้อนเร้น

ข้อเท็จจริง  : วัตถุประสงค์หลักของโครงการคือการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้น แม้การแจกเงินสดจะสะดวก และง่ายต่อการดำเนินการ แต่ก็มีข้อเสียที่ไม่อาจมองข้ามได้ คือ การแจกเป็นเงินสดจะสุ่มเสี่ยงที่จะมีประชาชนบางส่วนนำไปเก็บออม โดยไม่ได้เอาไปจับจ่ายใช้สอย ซึ่งไม่ทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ และผิดวัตถุประสงค์ของโครงการ

ประเด็นที่ 2  หากมีการแจกจ่ายผ่านสกุลเงินดิจิทัล Token ใครเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์

ข้อเท็จจริง  : โครงการดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ ซึ่งเป็นการดำเนินงานจัดทำโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทที่มีการจัดทำ Token แต่อย่างใด

ประเด็นที่ 3  มีการตั้งคำถามว่า เหตุใดต้องแจกเงินในโครงการเติมเงิน 10000 บาทผ่าน Digital wallet ด้วยเงินดิจิทัล

ข้อเท็จจริง  : ประเด็นดังกล่าวน่าจะเกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากการเติมเงินในโครงการดังกล่าวไม่สามารถอยู่ในรูปเงินดิจิทัลตามที่อ้างได้ เพราะขัดต่อกฏหมายว่าด้วยเงินตรา

“ขณะนี้ ประเด็นข้อทักทวงดังกล่าวตามที่อ้าง คณะกรรมการนโยบายเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital wallet รับทราบและได้นำประเด็นต่าง ๆ มาพิจารณาแล้ว โดยจะมีการประชุมเพื่อสรุปรูปแบบของโครงการ ในวันพุธที่ 10 เมษายน 2567 ต่อไป ดังนั้นจึงอยากเตือนประชาชนอย่าได้หลงเชื่อ หรือ แชร์  ซึ่งทางกระทรวงการคลังจะได้เร่งเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในโครงการดังกล่าวทันทีที่ได้ข้อสรุป เพื่อป้องกันความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อประชาชนได้”

Advertisement

ปลัดแรงงานระบุ ขึ้นค่าแรง 400 บาท ต้องรอลุ้นผลประชุม 14 พ.ค.

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 9 พฤษภาคม 2567 ปลัดกระทรวงแรงงาน เผยความคืบหน้าค่าแรง 400 บาท ยังต้องรอลุ้นผลประชุมวันที่ 14 พ.ค.นี้ ยืนยันพยายามให้ทุกฝ่ายได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความกังวลใจของหลายฝ่ายต่อการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 400 บาทนั้นว่า ขั้นตอนของการปรับค่าจ้างขณะนี้อยู่ในระหว่างการสำรวจและศึกษาข้อมูล ซึ่งผมได้สั่งการให้แรงงานจังหวัดในแต่ละพื้นที่ประชุมหารือกับผู้ประกอบการเพื่อนำข้อมูลมาพิจารณาความเหมาะสมในแต่ละจังหวัด ซึ่งทั้งหมดจะอยู่ในหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดอย่างมีหลักวิชาการและเป็นมาตรฐาน ภายใต้อำนาจของไตรภาคี คือ ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และผู้แทนฝ่ายรัฐบาล

นายไพโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้แรงงานได้รับความเดือดร้อน ประกอบกับนโยบายรัฐบาลที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนและทำให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ซึ่งกระทรวงแรงงานได้นำนโยบายรัฐบาลมาศึกษาและขยายผลในการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ผ่านกลไกระบบไตรภาคี โดยจะพิจารณาการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อนายจ้างและลูกจ้าง ในส่วนของความกังวลใจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนั้น กระทรวงแรงงานจะมีการรับฟังปัญหาของผู้ประกอบการว่ากิจการประเภทไหนได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งชี้แจงถึงความจำเป็นในการปรับขึ้นค่าจ้าง 400 บาท เนื่องจากแรงงานได้รับความเดือดร้อนจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น รวมทั้งจะรับฟังข้อเสนอมาตรการความช่วยเหลือจากภาคเอกชน เพื่อนำข้อเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อออกเป็นมาตรการช่วยเหลือดังกล่าวต่อไป อย่างไรก็ดี จะพยายามให้ทุกฝ่ายได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปี 2567 ครั้งที่ 1 มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2567 ต่อมา คณะกรรมการค่าจ้างได้มีมติกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท นำร่องพื้นที่ 10 จังหวัด ในกิจการประเภทโรงแรม ระดับ 4 ดาว และมีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2567 โดยจังหวัดภูเก็ตขึ้นทั้งจังหวัด ส่วนอีก 9 จังหวัดขึ้นบางพื้นที่ คือ 1.กรุงเทพมหานคร เฉพาะเขตปทุมวัน และเขตวัฒนา 2.จังหวัดกระบี่ เขตองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง 3.จังหวัดชลบุรี เขตเมืองพัทยา 4.จังหวัดเชียงใหม่ เขตเทศบาลนครเชียงใหม่ 5.จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เขตเทศบาลหัวหิน 6.จังหวัดพังงา เขตเทศบาลตำบลคึกคัก 7.จังหวัดระยอง เขตตำบลบ้านเพ 8.จังหวัดสงขลา เขตเทศบาลนครหาดใหญ่ และ 9.จังหวัดสุราษฎร์ธานี เขตอำเภอเกาะสมุย

Advertisement

Verified by ExactMetrics