วันที่ 19 พฤษภาคม 2024

“มนัญญา”ลุยเอง! ตามติดโรคไหม้คอรวงข้าวระบาดสุรินทร์

People Unity : “มนัญญา” ติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคไหม้คอรวงข้าวในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ พร้อมเตรียมมาตรการช่วยเหลือ และลงพื้นที่ให้กำลังใจเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ

วันที่ 28 ต.ค.2562 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคไหม้คอรวงข้าวในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ณ ศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ อ.เมือง จ.สุรินทร์ ว่า จากการรายงานสถานการณ์การระบาดศัตรูข้าวของกรมส่งเสริมการเกษตร เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา พบการระบาดของโรคไหม้คอรวงข้าวใน 7 จังหวัด ได้แก่ ลําพูน แพร่ จันทบุรี มุกดาหาร มหาสารคาม สุรินทร์ และสงขลา รวม 7,442 ไร่ และพบการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลใน 6 จังหวัด ได้แก่ ลําปาง แพร่ อุตรดิตถ์ พิจิตร อ่างทอง และสุพรรณบุรี รวม 18,141 ไร่ นอกจากนี้ กรมการข้าวยังได้รับรายงานการระบาดของโรคไหม้ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ จํานวน 77,777 ไร่ และการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในพื้นที่จังหวัดลําปางด้วยเช่นกัน กระทรวงเกษตรแชะสหกรณ์ โดยกรมการข้าวจึงมีการแจ้งเตือนภัยการระบาดของศัตรูข้าวทั้ง 2 ชนิด ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคตะวันตก

สำหรับในปีการผลิต 2562/63 จังหวัดสุรินทร์มีพื้นที่ปลูกข้าว 3.025 ล้านไร่ รายงานพบการระบาดโรคไหม้คอรวงข้าวครั้งแรก เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2562 ซึ่งในช่วงเวลาเพียง 10 วัน (ช่วงวันที่ 18 – 28 ตุลาคม 2562) มีการระบาดอย่างรวดเร็วครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 17 อำเภอ 140 ตำบล 1,331 หมู่บ้าน เกษตรกรผู้ประสบภัย 49,204 ราย รวมพื้นที่การระบาดทั้งสิ้น 283,454.75 ไร่ มีสาเหตุสำคัญเกิดจาก 1. เกษตรกรมีการใช้เมล็ดพันธุ์ในการหว่านข้าวในอัตราที่สูงเกินไป (30 – 50 กิโลกรัม/ไร่) 2. ข้าวหอมมะลิ (พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และ กข 15) เป็นพันธุ์ข้าวที่อ่อนแอต่อโรคไหม้คอรวงข้าว 3. มีการใช้ปุ๋ยเคมีในอัตราที่สูง โดยเฉพาะปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจนสูง ส่งผลให้พืชอ่อนแอต่อการเกิดโรค และ 4. สภาพอากาศเหมาะสมต่อการเกิดโรคไหม้ข้าว

อย่างไรก็ตาม สำนักงานเกษตรจังหวัดสุรินทร์และสำนักงานเกษตรอำเภอได้เฝ้าระวัง แบ่งเป็น ก่อนเกิดการระบาด โดยมีศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนเป็นศูนย์เฝ้าระวังการระบาดศัตรูพืชในพื้นที่และรายงานข้อมูลให้หน่วยงานราชการ พร้อมประชาสัมพันธ์เตือนการระบาด และระหว่างเกิดการระบาด ได้สร้างการรับรู้การจัดการโรคไหม้คอรวงข้าวให้กับเกษตรกร 17 อำเภอ 26,124 ราย ลงพื้นที่สำรวจแปลง สนับสนุนเชื้อราไตรโครเดอร์มาเบื้องต้น เพื่อควบคุมโรค 10,341 กิโลกรัม สามารถฉีดพ่นได้ 31,023 ไร่ ทั้งนี้ จังหวัดสุรินทร์ได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย (โรคไหม้คอรวงข้าว) เพื่อเตรียมการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการ พ.ศ. 2562 ต่อไป

ชาวบัตรคนจน เฮ! ครม.ช่วยค่าน้ำค่าไฟ ค่าซื้อสินค้า ค่าเดินทาง คงเบี้ยผู้พิการ ตั้งแต่ ต.ค 64-ก.ย. 65

People Unity News : บัตรคนจน เฮ! ครม. เคาะงบกลาง 27,005.66 ล้านบาท ขยายเวลาลดค่าน้ำ/ค่าไฟ อุดหนุนค่าซื้อสินค้าอุปโภค/บริโภค และค่าเดินทาง คงเบี้ยผู้พิการ 1,000 บาท ตั้งแต่ ต.ค 64-ก.ย. 65 พร้อมเตรียมเปิดลงทะเบียน “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” รอบใหม่

21 กันยายน 2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการและขยายมาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา อนุมัติงบกลางปี 64 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นจำนวน 27,005.66 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ดังนี้

1) วงเงิน 2,018 ล้านบาท เพื่อขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาภาระค่าน้ำ/ค่าไฟ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 – กันยายน 2565 (12 เดือน) -กรณีใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วย/เดือน ติดต่อกัน 3 เดือน ให้สิทธิค่าไฟฟ้าฟรี ตามมาตรการที่มีอยู่ในปัจจุบัน กรณี ใช้ไฟฟ้าเกิน 50 หน่วย/เดือน ให้ใช้สิทธิตามมาตรการนี้ในวงเงิน 315 บาท/ครัวเรือน/เดือน กรณีใช้เกินวงเงินที่กำหนด ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นผู้รับภาระค่าไฟฟ้าทั้งหมด ครอบคลุม 1.9 ล้านครัวเรือน โดยประมาณ

-สนับสนุนค่าน้ำประปา วงเงิน 100 บาท /ครัวเรือน /เดือน ในกรณีใช้น้ำประปาเกิน 100 บาท แต่ไม่เกิน 315 บาท ยังคงได้รับการสนับสนุนในวงเงิน 100 บาท โดยส่วนเกินต้องชำระด้วยตนเอง และกรณีการใช้น้ำประปาเกิน 315 บาท ผู้มีบัตรฯ รับภาระในการชำระค่าน้ำประปาเองทั้งหมด ครอบคลุมประมาณ 186,625 ครัวเรือน

2) วงเงิน 18,815 ล้านบาท สนับสนุน ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และการเพิ่มเบี้ยความพิการ

-ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน สำหรับค่าซื้อสินค้าอุปโภค/บริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษา และวัตถุดิบเพื่อการเกษตร จากร้านธงฟ้าประชารัฐและร้านอื่นๆ โดยผู้มีสิทธิที่มีรายได้เกินกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี ได้รับ 200 บาท/คน/เดือน ในส่วนผู้มีสิทธิที่มีรายได้ ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี ได้รับ 300 บาท/คน/เดือน และได้รับส่วนลดค่าก๊าซหุงต้ม 45 บาท/คน/3 เดือน

-ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง อาทิ ค่าโดยสาร ขสมก. ระบบ e-Ticket /รถไฟฟ้า บขส. รถไฟ อย่างละ 500 บาท/คน/เดือน

-เบี้ยความพิการ จำนวน 1,000 บาท/คน/เดือน อีกด้วย

3) วงเงิน 1,642 ล้านบาท ดำเนินโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (รอบใหม่) เพื่อรองรับกระบวนการลงทะเบียนรอบใหม่ โดยจะเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการรับลงทะเบียนของหน่วยรับลงทะเบียน และค่าใช้จ่ายในการผลิตและบริหารจัดการบัตรฯ

4) วงเงิน 4,530.66 ล้านบาท สำหรับจัดสรรสวัสดิการแบบไม่มีกำหนดระยะเวลาสำหรับผู้มีรายได้น้อย ภายใต้โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (รอบใหม่) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีบัตรฯ และเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาจทำให้ผู้สมัครรอบใหม่มีจำนวนเพิ่มขึ้น

“การช่วยเหลือลดอัตราค่าน้ำ/ค่าไฟ ตลอดจนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นส่วนหนึ่งของกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โดยมุ่งให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่รัฐบาลห่วงใยเพื่อให้สามารถเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและกระจายรายได้ รวมทั้งการยกระดับและพัฒนา คุณภาพชีวิตแก่ประชาชนให้เป็นไปอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นตามนโยบายของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี” นายธนกร กล่าว

Advertising

ผู้สูงวัยเฮ! คลังแก้ลงทะเบียน“ชิมช้อปใช้ เฟส 3”-“อุตตม”รับไม่คึก

People Unity News : ลุงป้าที่ติดปัญหาลงทะเบียน “ชิมช้อปใช้ เฟส 3” ไม่สำเร็จ ขณะนี้กระทรวงการคลังได้ประสาน ธนาคารกรุงไทย จัดเจ้าหน้าที่ประจำสาขาทั่วประเทศ ช่วยให้คำแนะนำเพื่อให้การลงทะเบียน “ชิมช้อปใช้ เฟส 3” “อุตตม”ยอมรับไม่คึกคัก ทำใจจีดีพีปีนี้วืดเป้าหมาย

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงการคลังได้เปิดให้มีการลงทะเบียน “ชิมช้อปใช้ เฟส 3” สำหรับผู้สูงอายุ (60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป) โดยมีการจำกัดสิทธิ์ที่ 500,000 คน ซึ่งได้เริ่มเปิดให้ลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ย.62 ที่ผ่านมา พบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยมีความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการลงทะเบียน ทำให้ลงทะเบียนไม่สำเร็จ ดังนั้นจึงได้ประสานไปยังธนาคารกรุงไทย เพื่อให้สั่งการไปยังสาขาต่างๆ ทั่วประเทศ จัดเจ้าหน้าที่ไว้คอยอำนวยความสะดวกและแนะนำขั้นตอนการลงทะเบียนแก่ผู้สูงอายุ ซึ่งมั่นใจว่าหลังจากนี้ปัญหาดังกล่าวจะหมดไป

การกันสิทธิ์ไว้ให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากเล็งเห็นว่าเป็นอีกหนึ่งกลุ่มผู้บริโภคที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศและกระจายเม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจฐานรากได้เป็นอย่างดี ข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ไทยได้เริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว และกำลังเข้าสู่ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2565 เม็ดเงินที่หมุนเวียนในตลาดสินค้าและบริการเพื่อผู้สูงอายุปัจจุบันน่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 900,000 ล้านบาทต่อปี ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเฉลี่ยของผู้สูงอายุราว 9,000–10,000 บาทต่อเดือน สินค้าและบริการที่รองรับกลุ่มผู้สูงวัยมีหลากหลายและเป็นส่วนหนึ่งของสินค้าด้านการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน เช่น กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ สถานบริการผู้สูงวัย ธุรกิจบริการรถเช่า ธุรกิจทัวร์ รวมถึงกลุ่ม Delivery เป็นต้น

นายชาญกฤช กล่าวว่า จากพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของผู้สูงอายุคนไทยพบว่า มีการใช้จ่ายเพื่ออาหาร การออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านในโอกาสพิเศษ ใช้เงินเพื่อการผ่อนคลาย และเพื่อการท่องเที่ยวในสัดส่วนที่สูง ทั้งนี้อยากให้ผู้สูงอายุลงทะเบียนเข้ารับสิทธิ์ในโครงการ “ชิมช้อปใช้ เฟส 3” ครบ 500,000 คน เพื่อท่องเที่ยวร่วมกันกับบุตรหลาน ซึ่งหากผู้สูงอายุใช้เงินเพื่อการท่องเที่ยว 10,000 บาทต่อคน คาดว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศและกระจายลงสู่เศรษฐกิจฐานรากราว 5,000 ล้านบาท

สำหรับตัวเลขการลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 17 พ.ย. ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น. ยังเหลือสิทธิ์ จำนวน 409,825 สิทธิ์ ทั้งนี้โครงการ “ชิมช้อปใช้ เฟส 3” จะไม่แจกเงิน 1,000 บาท ในประเป๋าที่ 1 (G-wellet 1) แต่จะเน้นให้ประชาชนใช้จ่ายเงินตัวเองผ่านกระเป๋า 2 (G-wellet 2) เพื่อรับสิทธิ์เงินคืน (Cash back) 15% เมื่อใช้จ่ายเงินไม่เกิน 30,000 บาท (เงินคืนไม่เกิน 4,500 บาท) และรับสิทธิ์เงินคืน (Cash back) 20% เมื่อใช้จ่ายเงินมากกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 50,000 บาท (เงินคืนไม่เกิน 4,000 บาท) รวมเงินคืนสูงสุดไม่เกิน 8,500 บาท โดยสามารถนำเงินไปใช้จ่ายได้ทุกจังหวัด รวมทั้งจังหวัดตามทะเบียนบ้าน จนถึง 31 ม.ค.63 พร้อมรับ 1 สิทธิ์ทุกการใช้จ่าย 1,000 บาท เพื่อลุ้นจับรางวัลทองคำทุกสัปดาห์อีกด้วย

“อุตตม”ยอมรับเฟส3 ชิมช้อปใช้ไม่คึกคัก

ขณะที่นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวยอมรับว่า มาตรการชิมช้อปใช้เฟสที่ 3 ไม่คึกคัดเท่ากับเฟส 1 และ 2 แต่เท่าที่ประเมินเสียงตอบรับก็พอใช้ได้ อย่างไรก็ดี ถือว่า เป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจ เพราะเฟส 3 เป็นมาตรการที่ต่อยอดจากเฟส 1 และ 2

“ต้องเรียนว่า เท่าที่ทราบ เสียงตอบรับก็ใช้ได้ แต่แตกต่างจากเฟสแรก ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะว่า เราวางแผนแต่ต้นว่า เฟส 3 เป็นการขยายต่อยอดเฟส 1 และ 2 การที่มาตรการนี้จะเป็นอย่างไร ก็ติดตามภาพรวม อย่าดูเป็นเฟสๆ อันนั้น ไม่ใช่ความตั้งใจ แต่ที่ตั้งใจ คือ ทำออกมาแล้วต้องส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ”

นายอุตตมกล่าวย้ำว่า ให้การดำเนินการของมาตรการชิมช้อปใช้เฟส 3 เดินหน้าต่อไป อย่าไปคิดว่า ไม่ประสบสำเร็จ ต้องให้โอกาสดำเนินการ อะไรที่สมควรปรับก็ปรับไป มองต่อเนื่อง อย่าเพิ่งไปตกใจกับแต่ละจุด เหมือนตอนที่เราเริ่มเฟส 1 ก็บอกว่า จะติด แต่เราก็มาได้

ทำใจจีดีพีปีนี้วืดเป้าหมาย

นายอุตตม กล่าวด้วยว่า การประมาณการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจปี 2562 ของ สศช. ที่ระบุว่าไตรมาส 3 ขยายตัวที่ 2.4% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส 2 ขยายตัวได้ 2.3% ถือว่าเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในระดับทรงตัว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ทำให้การส่งออกขยายตัวลดลงอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังได้ออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินการมาตั้งแต่ไตรมาส 3/2562 ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้ หากสถานการณ์เศรษฐกิจในภาพรวมยังเป็นเช่นนี้ ก็ต้องยอมรับว่าเป้าหมายจีดีพีในปีนี้จะเติบโตได้ตามระดับที่ สศช. ประเมิน ที่ 2.6% ลดลงจากเป้าหมายเดิมที่ 2.8%

“ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ติดตามภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอย่างใกล้ชิด หากมีความจำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มก็ยังมีเวลา เหลืออีก 1 เดือนครึ่ง เพื่อดำเนินการไม่ให้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่า 2.6% ตามที่ สศช. กังวลว่าหากรัฐบาลไม่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใด ๆ เพิ่มอีกจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ตามกว่าที่ประเมินไว้” นายอุตตม กล่าว

นายอุตตม กล่าวอีกว่า ล่าสุดกระทรวงการคลังได้เร่งรัดเม็ดเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปได้ตามแผน ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินลงทุนเข้ามาในไตรมาส 4/2562 เข้ามาเพิ่มอีก 1 แสนล้านบาท ตรงนี้จะเข้ามาช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น

สำหรับความกังวลของภาคอุตสาหกรรมที่มีการปิดโรงงานในช่วงที่ผ่านมานั้น ตามข้อเท็จจริงแล้วพบว่ามีการเปิดโรงงานมากกว่าการปิด ถึงแม้จะมีการลดกำลังการผลิตลง แต่เม็ดเงินลงทุนของภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับสูงถึง 4.3 แสนล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของช่วงที่ผ่านมา 36.3% ปัจจัยนี้จะเป็นอีกตัวช่วยในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า

ขณะที่การบริโภค พบว่า ยังอยู่ในระดับทรงตัว โดยหากดูจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ในประเทศยังขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนมาตรการชิมช้อปใช้ ระยะที่ 3 หลังจากเปิดให้ลงทะเบียนพบว่าไม่ได้รับความนิยมเหมือนระยะก่อนหน้า ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก เพราะมาตรการในระยะที่ 3 เป็นการขยายผล และต่อยอด จึงอยากให้มองในภาพรวมของมาตรการชิมช้อปใช้ทั้งหมดทุกระยะ ว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร ซึ่งกระทรวงการคลังกำลังติดตามและประเมินอยู่

รมว.คลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการหารือเพื่อติดตามเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด ได้มีการพูดคุยถึงกรอบการทำงานเพื่อดูแลเศรษฐกิจ โดยนโยบายเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย เป็นหน้าที่ของ ธปท. จะตัดสินใจ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า การปิดโรงงานอุตสาหกรรมในช่วงที่ผ่านมา เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์เป็นหลัก ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท จากระดับ 33 บาท มาเป็น 30 บาท หรือแข็งค่าขึ้นประมาณ 10% ซึ่งมองว่า ธปท. จำเป็นต้องดูแลเรื่องค่าเงินบาทมากกว่านี้ เพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมรถยนต์กลับมาเติบโตได้เป็นปกติเหมือนที่ผ่านมา

“สนธิรัตน์”เผยปี 63 เริ่มคิกออฟลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชน

People Unity News : “สนธิรัตน์”เผยนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนได้รับความสนใจจากผู้ประกอบและท้องถิ่นทั่วประเทศอย่างคึกคัก เตรียมออกประกาศหลักเกณฑ์ลงทุนและเริ่มคิกออฟ ปี ’63 ตั้งเป้าหมาย 1,000 MW ดันเศรษฐกิจไทยเงินสะพัดกว่า 1 แสนล้านบาท

วันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากว่า ขณะนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบคือ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ยกร่างหลักเกณฑ์และแนวทางการร่วมลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนเสร็จแล้ว โดยจัดทำรายละเอียดที่ครบสมบูรณ์และได้นำข้อเสนอแนะต่างๆ ที่ได้รับจากเวทีรับฟังความความคิดเห็นมาปรับปรุงให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชนและประชาชน

หลังจากนี้ พพ.เตรียมนำเสนอร่างหลักเกณฑ์ฯ นี้ ต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการสนับสนุนการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก จากนั้นจะเข้าสู่ที่ประชุม คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ต่อไป คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2563

“โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เป็นนโยบายที่ตอบโจทย์ประชาชนทุกพื้นที่ทั่วประเทศสามารถเป็นเจ้าของพลังงานได้ โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์ ยกระดับชุมชนสู่การเป็นผู้ผลิต ผู้ใช้ และผู้จำหน่ายไฟฟ้า ขณะนี้จึงได้รับความสนใจอย่างมากมาย มีองค์กรท้องถิ่นและผู้ประกอบการที่มีศักยภาพลงทุน สอบถามเข้ามายังกระทรวงพลังงานอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ร่างหลักเกณฑ์ฯ ที่กำลังจะออกมานี้จึงถือเป็นการสร้างความชัดเจนให้ทุกฝ่ายได้ดำเนินงานขั้นต่อไป”

นายสนธิรัตน์ เชื่อมั่นว่า โรงไฟฟ้าชุมชนถือเป็นการพลิกมิติด้านพลังงานครั้งสำคัญ จากที่เคยถูกมองว่าอยู่ในกลุ่มทุนใหญ่ มาสู่มือของประชาชนคนเล็ก คนน้อยสามารถมีสิทธิ์ มีเสียง มีส่วนร่วมกับชุมชนของตนเองได้ โดยอาศัยวัตถุดิบทางการเกษตร พืชผลพลังงานตามบริบทของท้องถิ่น และทรัพยากรหมุนเวียนตามธรรมชาติ เช่น แสงแดด นับว่าสอดคล้องกับทิศทางด้านพลังงานสะอาดและกระแสอนุรักษ์ที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกกำลังก้าวไปอีกด้วย

สำหรับขนาดของโรงไฟฟ้าชุมชนแต่ละแห่งนั้น จะเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (vspp) ซึ่งมีขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์/โรง มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท/เมกะวัตต์ ซึ่งนโยบายของกระทรวงพลังงาน มีเป้าหมายจะส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชนรวมทั้งสิ้น 1,000 เมกะวัตต์ (MW) ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากคิดเป็นเม็ดเงินลงทุนในภาพรวมไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท โดยจะเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนประเภทนี้และเข้าระบบได้ในปี 2565 ที่สำคัญ โครงการประเภท Quick Win จะสามารถส่งไฟฟ้าเข้าระบบได้ภายใน 6 เดือนหลังจากการได้ผลการคัดเลือก

ในส่วนรูปแบบการขายไฟฟ้าคืนกลับมายังภาครัฐนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ได้มอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เตรียมข้อมูลปริมาณความต้องการไฟฟ้าในแต่ละภูมิภาคไว้แล้วว่าในแต่ละพื้นที่มีมากน้อยอย่างไร พร้อมวางระบบสายส่งที่มีศักยภาพ ส่วนการเปิดการรับซื้อไฟฟ้าจะเป็นหน้าที่ของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งปัจจุบัน กกพ.เตรียมความพร้อมเบื้องต้นไว้ระดับหนึ่งเช่นเดียวกัน จึงมั่นใจว่าโครงการนี้จะมีความพร้อมดำเนินการ สร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างเป็นระบบ

นายกฯพอใจบริษัทจัดอับดับเรตติ้งญี่ปุ่น (JCR) มีมุมมองเศรษฐกิจไทย “มีเสถียรภาพ”

People Unity News : นายกฯ พอใจบริษัทการจัดอับดับเรตติ้งของญี่ปุ่น (JCR) มุมมองภาพรวมเศรษฐกิจไทย “มีเสถียรภาพ” แนวโน้มการลงทุนต่างชาติเพิ่ม ยืนยันไทยมีแผนบริหารจัดการหนี้สาธารณะที่รัดกุม

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับทราบผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดยบริษัท Japan Credit Rating Agency, Ltd. (JCR) ยืนยันมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ (Stable outlook) และความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้รัฐบาลระยะยาวสกุลเงินตราต่างประเทศที่ระดับ A- และสกุลเงินบาทที่ระดับ A เนื่องจากประเทศไทยมีมาตรการรับมือกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างมีประสิทธิภาพ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล และทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง

ในส่วนของการลงทุนจากต่างประเทศ ก็มีข้อมูลที่น่ายินดี เมื่อบีโอไอได้เปิดเผยยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 6 เดือนของปี 2563 (มกราคม-มิถุนายน) รวม 754 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7  มูลค่าเงินลงทุน 158,890 ล้านบาท และเป็นนักลงทุนหน้าใหม่ที่ยื่นขอรับการส่งเสริมในโครงการใหม่ถึง 366 โครงการ หรือร้อยละ 49 โดยมียอดเงินลงทุนรวม 42,520 ล้านบาท ขณะที่เป็นการลงทุนในพื้นที่อีอีซีถึง 225 โครงการมูลค่าเงินลงทุนรวม 85,480 ล้านบาท  ซึ่งนายกรัฐมนตรีย้ำว่ารัฐบาลทำงานแบบ “New Normal” เดินหน้าสู่อนาคต โดยมีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการเฝ้าระวังโควิด-19 แต่ยังคงยึดวินัยการเงินการคลัง รักษาระดับหนี้สาธารณะ ซึ่งนายกฯมอบแนวทางให้สำนักบริการหนี้สาธารณะที่ดูแลเรื่องการกลั่นกรองแผนความต้องการกู้เงินระยะปานกลาง 5 ปี (พ.ศ.2564-2568) และแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2564 ยึดเหตุผลความจำเป็นและความต้องการเงินกู้อย่างรอบคอบโดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้แก่กฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐและกฎหมายการบริหารหนี้สาธารณะทั้งนี้เพื่อให้การลงทุน การดำเนินโครงการ/แผนงาน นำไปสู่การกระตุ้นและพัฒนาเศรษฐกิจและรองรับสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังย้ำว่า การจัดเรทติ้งของญี่ปุ่นเป็นสัญญาณที่ดีสร้างความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทย แม้ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ยากลำบาก แต่รัฐบาลพร้อมขับเคลื่อนโครงการการลงทุนขนาดใหญ่ และการใช้เงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก เน้นการจ้างงาน สร้างรายได้ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งได้ทำมาแล้วหลายโครงการมากและยังคงจัดสรรงบประมาณให้เดินหน้าต่อ

Advertising

ออมสินดีเดย์ 11.11 ! ลดดอกเบี้ยเงินกู้ 0.125% ทันที พยุงดอกเบี้ยเงินฝากถึงต้นปีหน้า

People Unity News : ธนาคารออมสิน สนองนโยบายรัฐบาล และกระตุ้นระบบเศรษฐกิจ ลดดอกเบี้ยเงินกู้ทันที 0.125% ทั้ง MRR, MOR และ MLR ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ย MRR และ MOR = 6.745% ต่อปี ส่วน MLR = 6.375% มีผลวันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 ขณะที่ยังคงความเป็นสถาบันการออม ชะลอการปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากถึงต้นปีหน้า ชวนประชาชน-ลูกค้าฝากเงินประจำระยะยาว ปีหน้าปรับดอกเบี้ยเงินฝากประจำลง 0.125% มีผล 1 ม.ค.63

วันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยภารกิจหลักสำคัญของธนาคารออมสินคือการมุ่งส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ ภายใต้การให้บริการสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจการเงิน และตอบสนองทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงให้ความสำคัญต่อประชาชน ลูกค้าเงินกู้ โดยเฉพาะธนาคารออมสินมีลูกค้ารายย่อยจนถึงระดับ SMEs เป็นจำนวนมาก ธนาคารฯ จึงได้ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราเท่ากัน 0.125% ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี หรือ MRR (Minimum Retail Rate) และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำประเภทเงินเบิกเกินบัญชี หรือ MOR (Minimum Overdraft Rate) ลดลงจาก 6.87% เหลือ 6.745% ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำประเภทเงินกู้ที่มีระยะเวลา หรือ MLR (Minimum Lending Rate) ปรับลดลงจาก 6.50% เหลือ 6.375% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป

สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ธนาคารฯ ยังคงภารกิจหลักมุ่งมั่นส่งเสริมการออม จึงชะลอการปรับลดดอกเบี้ยเงินฝาก โดยยังคงให้ผู้ฝากเงินฝากทุกประเภทได้รับผลตอบแทนในอัตราเท่าเดิมจนถึงสิ้นปี 2562 หลังจากนั้นจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 0.125% มีผลวันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป

“ในวันนี้ลูกค้าผู้ฝากของธนาคารออมสิน ยังคงได้รับดอกเบี้ยในอัตราเดิมต่อไปอีกเกือบ 2 เดือน โดยธนาคารฯ มีนโยบายที่จะลดดอกเบี้ยเงินฝากให้ช้าที่สุด เพื่อส่งเสริมการออมอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้ลูกค้าและประชาชนเร่งมาฝากเงินก่อนที่ธนาคารฯ จะลดดอกเบี้ยเงินฝากในวันขึ้นปีใหม่ 2563 โดยขอแนะนำว่าให้ฝากเงินระยะยาวเพื่อจะได้รับดอกเบี้ยที่คุ้มค่ามากกว่าเมื่อมีการปรับลดในวันที่ 1 มกราคม 2563”ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวในที่สุด

“อุตตม สาวนายน”ยันความเชื่อมั่นช่วยพ้นสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ได้

People Unity News : “อุตตม สาวนายน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยันความเชื่อมั่นช่วยพ้นสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ได้

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่ผมได้กล่าวถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในไตรมาสสุดท้ายของปีไปแล้ว ซึ่งได้แก่ มาตรการ “ชิมช้อปใช้” ที่กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย การท่องเที่ยวในพื้นที่ชุมชน และมาตรการประกันรายได้เกษตรกร รวมทั้งมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้โครงการ”บ้านในฝัน รับปีใหม่” สำหรับที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท

สำหรับความคืบหน้าของ มาตรการ “ชิมช้อปใช้” ซึ่งขณะนี้อยู่ในเฟส 3 มียอดการจ่ายใช้รวมทั้งหมด 13,922.7 ล้านบาท โดยเป็นยอดการใช้จ่ายผ่านกระเป๋า 1 จำนวน 11,580.2 ล้านบาท และผ่านกระเป๋า 2 ที่จะได้รับเงิน Cash Back คืน เป็นจำนวน 2,342.2 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นโดยลำดับ โดย “ชิมช้อปใช้” มียอดการใช้จ่ายผ่านร้านค้า ได้แก่ ร้านชิม จำนวน 1,832.5 ล้านบาท ร้านช้อป จำนวน 8,648.5 ล้านบาท ร้านใช้ จำนวน 160.9 ล้านบาท ร้านค้าทั่วไป 3,258.3 ล้านบาท และโรงแรม ที่พัก จำนวน 21.3 ล้านบาท

ด้านมาตรการประกันรายได้เกษตรกร จากข้อมูลของ ธ.ก.ส. ณ วันที่ 21 พ.ย.62 มีการจ่ายเงินให้กับเกษตรกร ในโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปี 2562/63 รอบที่ 1 แล้ว 542,853 ราย เป็นจำนวนเงิน 13,050 ล้านบาท

โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2562-63 จำนวน 286,003 ราย เป็นเงิน 2,595 ล้านบาท

และโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 จ่ายไปแล้ว จำนวน 590,322 ราย เป็นเงิน 3,348 ล้านบาท

ในส่วนของโครงการ”บ้านในฝัน รับปีใหม่” ที่ต้องการให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงการมีบ้านในราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ในวงเงินสินเชื่อ ธอส.ประชารัฐ 5 หมื่นล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ย 2.5% ต่อปี ซึ่งเปิดให้มีการยื่นขอสินเชื่อตั้งแต่ 24 ต.ค. 62 ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ยื่นขอกู้แล้วรวม 5,441 ราย วงเงิน 11,110 ล้านบาท และ ธอส.ได้อนุมัติเงินกู้ไปแล้ว 2,140 ราย วงเงิน 3,931 ล้านบาท โดยคาดว่าวงเงินรวมทั้งหมดจะมีผู้ยื่นกู้เต็มในช่วงเดือน ก.พ. 63

ด้าน ธ.ออมสิน ยังได้เตรียมออกมาตรการสินเชื่อเคหะตัวใหม่ ให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) โดยเบื้องต้นได้เตรียมวงเงินปล่อยสินเชื่อไว้ประมาณ 25,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยราว 2.7-2.9% ต่อปี และตั้งเป้าจะเริ่มโครงการได้ในเดือน ธ.ค.62 โดยปรับให้มีเงื่อนไขพิเศษ อาทิ การผ่อนชำระ 10 บาทต่อเดือนในระยะแรก รวมถึงไม่จำกัดเพดานราคาบ้าน เพื่อเปิดกว้างให้ประชาชนสามารถซื้อบ้านได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีโครงการ “สินเชื่อประชาชน 555” ที่จะเปิดโอกาสให้กับผู้มีรายได้น้อยในระดับเศรษฐกิจฐานรากกู้ยืมเพื่อการประกอบอาชีพ โดยคิดดอกเบี้ย 0.5% ต่อเดือน ผ่อนชำระ 5 ปี ในวงเงินไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย

ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังก็ได้ติดตามสถานการณ์การส่งออกอย่างใกล้ชิด โดยข้อมูลการส่งออกและนำเข้า 10 เดือนของปี 2562 พบว่ามีการส่งออกรวม 2.07 แสนล้านดอลลาร์ ลดลงจากปีก่อน 2.4% การนำเข้าอยู่ที่ 1.99 แสนล้านดอลลาร์ลดลง 4.1%

โดยพบว่าการส่งออกสินค้าในเดือนต.ค. มีสัญญาณที่ดีขึ้นจากการที่สินค้าบางรายการที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน เช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบ สามารถกลับมาขยายตัวได้เป็นบวกในรอบ 13 เดือน

ในส่วนการส่งออกสินค้าไปยังตลาดหลักของไทยที่ในภาพรวมหดตัวเพียง 0.6% แต่ในตลาดหลักอย่าง สหรัฐฯ ยังขยายตัวได้ 4.8% ญี่ปุ่นขยายตัวได้ 0.5% และตลาดตะวันออกกลาง การส่งออกขยายตัวได้ 3.7% ส่วนตลาดการส่งออกสำคัญที่หดตัวได้แก่ อินเดียที่หดตัว 17.2% จากนโยบายการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศลดลง ตลาด CLMV หดตัว 9.9%ตลาดจีนหดตัว 4.2% เป็นต้น

สำหรับแนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ก.พาณิชย์ คาดว่าในเดือน พ.ย.การส่งออกจะยังคงหดตัวต่อไปอีก 1 เดือน และจะขยายตัวได้อีกครั้งในเดือน ธ.ค.โดยการส่งออกทั้งปี 62 คาดว่าจะติดลบประมาณ 1.5 – 2%

นอกจากนี้ ในสัปดาห์หน้าผมมีนัดหารือกับ ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (Fetco) ถึงแนวทางการจัดตั้งกองทุนรวมรูปแบบใหม่ที่จะมาทดแทนกองทุนรวมLTF โดยจะต้องคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับให้มากที่สุด

ขณะเดียวกันกระทรวงการคลัง ได้เตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมไว้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเดือนสุดท้ายของปีเพื่อดูแลเศรษฐกิจในประเทศให้เข้มแข็ง และจับตาสถานการณ์การส่งออกอย่างใกล้ชิด ขณะนี้เศรษฐกิจไทยต้องการ “ความเชื่อมั่น” เป็นสิ่งสำคัญ ผมเชื่อว่า หากทุกฝ่ายร่วมมือกัน เราจะสามารถผ่านพ้นสถานการณ์ในขณะนี้ไปได้

“ประวิตร” เห็นชอบแผนพัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve ปี 2564 – 2565

People Unity News : “ประวิตร” เห็นชอบแผนพัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve ปี พ.ศ.2564 – 2565

วันนี้ (1 ตุลาคม 2563) เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม 109 ชั้น 1 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) ครั้งที่ 1/2563 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ที่ประชุมรับทราบการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการที่อยู่ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช) ช่วงที่ผ่านมา ประกอบไปด้วย 1) การดำเนินงานของสถาบันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ (Automotive Human Resource Development Academy: AHRDA) ภายใต้วิสัยทัศน์ “พัฒนากำลังแรงงานด้านยานยนต์ไทยให้มีมาตรฐานสมรรถนะในระดับสากล” 2) การดำเนินงานของสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (Manufacturing Automation and Robotics Academy: MARA) เพื่อสอดรับนโยบายของรัฐบาลใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) 3) การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการบูรณาการระบบข้อมูลด้านแรงงานเพื่อรองรับการพัฒนากำลังคนในระดับชาติ ในการรวบรวมข้อมูลและจัดทำระบบเชื่อมโยงข้อมูลความต้องการกำลังแรงงาน แผนพัฒนากำลังแรงงาน และการฝึกอาชีพ ระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน และ 4) การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพจังหวัด (กพร.ปจ.) เพื่อพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานในภาพรวมของจังหวัด เพิ่มโอกาสในการทำงานในพื้นที่

นอกจากนี้ที่ประชุมได้พิจารณาวาระสำคัญ ได้แก่ แนวทางการจัดทำแผนพัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve ปี พ.ศ.2564 – 2565 ของหน่วยงานที่มีภารกิจด้านการจัดการศึกษาและการฝึกอบรมของส่วนราชการ โดยอาศัยความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนให้สามารถผลิตและพัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพและตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงพิจารณาแนวทางการพัฒนาอาชีพคนพิการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2556 และกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และการปรับปรุงองค์ประกอบและหน้าที่ของคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.)

โอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวความห่วงใยต่อสถานการณ์การว่างงานของภาคอุตสาหกรรม จากผลกระทบของ covid-19 และจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ได้กำชับให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เร่งขับเคลื่อนมาตรการพัฒนากำลังคนทุกระดับของประเทศ โดยจะต้องบูรณาการร่วมกันอย่างแน่นแฟ้น โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลิตแรงงานไทย รวมถึงส่งเสริมอาชีพคนพิการอย่างเป็นระบบให้สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิต เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมไทยในภาวะวิถีชีวิตใหม่ หรือ New Normal ต่อไป

Advertising

“อุตตม”ร่วมถก ธ.ก.ส.เร่งเสริมมาตรการช่วยเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย

People Unity : รมว.คลัง ร่วมประชุมคณะกรรมการธ.ก.ส. เร่งเสริมมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยปี2562 ทั้งขยายเวลาชำระหนี้ 2 ปี และลดดอกเบี้ยเงินกู้อีกร้อยละ 3 ติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสู่ภาคชนบท ทั้งการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว การดำเนินโครงการประกันรายได้ปาล์ม ข้าว ที่จ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกรไปแล้วกว่า 34,600 ล้านบาท พร้อมเตรียมโอนประกันรายได้ยาง งวดแรก 1 พฤศจิกายนนี้

วันที่ 28 ต.ค.2562 ที่ ธ.ก.ส.สำนักงานใหญ่ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการ ธ.ก.ส. เป็นประธานในการประชุม ติดตามการดำเนินงานของธนาคารในการช่วยเหลือเกษตรกรและกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก โดยนายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ได้สรุปมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในระยะสั้นที่ดำเนินการไปแล้ว (ข้อมูล ณ 24 ตุลาคม 2562) ประกอบด้วย โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 ในอัตราไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ วงเงิน 24,810 ล้านบาท เป้าหมายเกษตรกร 4.31 ล้านครัวเรือน ดำเนินการโอนเงินแล้ว จำนวน 3.99 ล้านครัวเรือน เป็นเงิน 23,929 ล้านบาท โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2562-2563 วงเงิน 13,000 ล้านบาทเป้าหมายเกษตรกร 263,107 ครัวเรือน ดำเนินการโอนเงิน รอบที่ 1 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ไปแล้ว 254,667 ครัวเรือน เป็นเงิน 1,351 ล้านบาท โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปี 2562/63 รอบที่ 1 วงเงิน 20,940 ล้านบาท เป้าหมายเกษตรกร 4.31 ล้านราย มีเกษตรกรที่มีคุณสมบัติถูกต้องได้รับเงินในรอบที่ 1 ทั้งสิ้น 349,300 ครัวเรือน โดย ธ.ก.ส. โอนเงินเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562 ไปแล้วกว่า 9,411 ล้านบาท รวมเงินที่โอนไปแล้วทั้ง 3 โครงการ จำนวน 34,691 ล้านบาท

สำหรับการประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส. ในครั้งนี้ นายอุตตม ได้พิจาณาเห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลการปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทย ระยะที่ 1 เพื่อเป็นการให้ช่วยเหลือแก่เกษตรกรชาวสวนยาง วงเงิน 24,278 ล้านบาท โดยเป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไป ที่เปิดกรีดแล้ว รายละไม่เกิน 25 ไร่ ปริมาณผลผลิตยาง (ยางแห้ง) 240 กิโลกรัม/ปี หรือ 20 กิโลกรัม/ไร่/เดือน กำหนดราคาประกันยางแผ่นดินคุณภาพดี 60 บาท/กิโลกรัม น้ำยางสด (DRC 100%) 57 บาท/กิโลกรัม และยางก้อนถ้วย (DRC 50 %) 23 บาท/กิโลกรัม ซึ่งแบ่งสัดส่วนการจ่ายเงินให้กับเจ้าของสวนยาง 60% และ คนกรีดยาง 40% โดยคาดว่าจะสามารถโอนเงินในงวดแรกให้เกษตรกรได้ในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้

นายอภิรมย์ กล่าวต่อไปว่า คณะกรรมการ ธ.ก.ส. ยังเตรียมพิจารณาให้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้าผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ปี 2562 จำนวน 2 โครงการ คือ โครงการขยายเวลาชำระหนี้ต้นเงินกู้เป็นเวลา 2 ปี ตั้งแต่ 1 กันยายน 2562- 31 สิงหาคม 2564 และขยายเวลาชำระดอกเบี้ยเงินกู้เป็นเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2562 – 31 สิงหาคม 2563 และโครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่เกษตรกรลูกค้า โดยคิดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตรา MRR-3 (ปัจจุบัน MRR เท่ากับ 6.875 ต่อปี) วงเงินกู้ไม่เกิน 300,000 บาทแรก เป็นเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2562 – 31 สิงหาคม 2563 และมอบหมายให้ ธ.ก.ส. เตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลเพื่อดูแลเกษตรกรตามมาตรการต่าง ๆ ที่จะทยอยออกมา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตโดยเฉพาะพืชหลักชนิดต่าง ๆ ให้สามารถแข่งขันในตลาดได้

ทั้งนี้ ในวันที่ 30 ตุลาคมนี้ กระทรวงการคลัง ธ.ก.ส. และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมจัดโครงการประชารัฐสร้างไทย พัฒนาล้านนา ซึ่งมีชุมชนจาก 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนเข้าร่วม ตามนโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังมีพิธีมอบสินเชื่อให้ลูกค้าของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ การจัดตลาดชุมชนทางน้ำ และการฝึกอบรมให้ความรู้แก่ประชาชน ณ เทศบาลตำบลสันทรายหลวง อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่

“จุรินทร์”ยันพาณิชย์หนุน SME ให้ทันสมัยเป็นรากฐานสังคม

People Unity : “จุรินทร์” สั่งจัดรับฟังความเห็นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบบัญชีเพื่อขยายอำนาจทีเอ ย้ำบริษัท CSR ที่ถูกต้องทำเพื่อสังคมมากกว่าบริษัทอื่น เน้นก.พาณิชย์ส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจ SME ให้ทันสมัยเป็นรากฐานสังคม

เมื่อเวลา 10.00 น.-11.00 น. วันที่ 20 ตุลาคม 2562 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงานการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2562 ของสมาคมผู้สอบบัญชีภาษีอากรแห่งประเทศไทย ณ รร.ริชมอนด์ ถนนรัตนาธิเบศ จ.นนทบุรี

นายจุรินทร์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญในการพัฒนาและผลักดันเศรษฐกิจการค้าของประเทศ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจ SME ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้มีความแข็งแกร่งโดยปรับเปลี่ยนจากผู้ประกอบการ SME ดั้งเดิม (Tradition SME)ไปสู่ผู้ประกอบการที่เน้นนวัตกรรมในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น (Smart Enterprise ) ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจเกิดความตระหนัก และมีจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจในการจัดทำบัญชี และการเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง รวมถึงลดต้นทุนการประกอบการ และเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันผมจึงมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพธุรกิจ SME ของประเทศไทยให้สอดรับกับยุคดิจิตอลเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่ง

การประกอบธุรกิจเพื่อสังคม CSR นั้นต้องแตกต่างจากธุรกิจ ปกติ แต่ต้องทำเพื่อสังคมเข้มข้นเป็นรูปธรรมกว่า เพราะได้รับสิทธิพิเศษมากกว่านิติบุคคลธรรมดาทั่วไป ดังนั้นต้องนำสิทธิพิเศษนั้นไปแลกกับการทำเพื่อสังคม ตอนนี้มีประกาศที่ลงนามไปทั้งหมด 4 ฉบับประกาศในราช 1.ประกาศเรื่องกำกับดูแลกิจการที่ดีลงนามเองเมื่อ 14 กย.2562 2.ประกาศคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม เรื่องกำหนดรายการอื่นเพื่อสังคม 3.ประกาศเรื่องระยะเวลาดำเนินการแระกอบธุรกิจเพื้อสังคม 24 กย2562 4.ประกาศเรื่องเงื่อนไขการนำกำไรไปใช้เพื่อสังคมต้องเป็นไปตามเงื่อนไข พรบ.วิสาหกิจเพื่อสังคม มาตรา 5

นายจุรินทร์ กล่าวว่า เรื่องการจดทะเบียนออนไลน์ สามารถดำเนินการได้แล้ว เรื่องต่อมากรณีบริษัทจำกัดคนเดียวเป็นเรื่องตรากฎหมายอยู่ระหว่างกฤษฎีการอกลับมาครมและเข้่สภาฯต่อไป เช่นกันกับบริษัท 2 คนจำกัดและ 3 คนจำกัด อย่างไรก็ตามประเทศไทยก็ไปทีละขยัก ส่วนเรื่องการขอหนังสือรับรองหรือนำส่งงบการเงินด้วยระบบอิเลคทรอนิคสามารถดำเนินการได้แล้ว 10 ธนาคาร และนำส่งงบการเงินประจำปีทาวอิเลคทรอนิคได้ โดยเมื่อปี 2561 สามารคใช้ได้ถึง ร้อยละ 91 และขณะนี้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กำลังพัฒนาเรื่องการยืนยันตัวตนผ่านทางออนไลน์

” ส่วนเรื่องขอเพิ่มอำนาจทีเอ ( Tax Auditor) หรือผู้ตรวจสอบบัญชี ให้สามารถตรวจสอบรับรองบัญชีมากกว่าเดิมนั้นเป็นเรื่องที่ไม่มีนโยบายขณะนี้เพราะมีทั้งบวกและลบแต่สิ่งที่มีนโยบาย คือ ต้องให้ทุกฝ่ายต้องมีความเห็นสอดคล้องกันเสียก่อน ดังนั้นจึงควรจัดเวทีรับฟังความเห็นทุกสมาคม ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ตกผลึกว่าสุดท้ายควรเป็นอย่างไร เมื่อสรุปความเห็นแล้วจึงค่อยดำเนินการ ” นายจุรินทร์ กล่าว

ด้าน ดร.สมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย นายกสมาคมผู้สอบบัญชีภาษีอากรแห่งประเทศไทยว่า การประชุมใหญ่สามัญสมาชิกในวันนี้ถือเป็นการครบรอบ 12 ปี ของการก่อตั้งสมาคมซึ่งมีสมาชิกจำนวนมากกว่า 1600 ท่าน ประกอบด้วยผู้สอบบัญชีภาษีอากร นักบัญชีผู้ประกอบการ และกลุ่มเครือข่ายพันธมิตรจาก 4 สมาคมซึ่งถือเป็นการรวมตัวกันเพื่อวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมและยกระดับวิชาชีพด้านบัญชี ซึ่งมีทั้งผู้ทำบัญชี ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต และผู้สอบบัญชีภาษีอากร เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญที่ร่วมช่วยกันส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจ SME

Verified by ExactMetrics