วันที่ 24 เมษายน 2024

ธอส.ขยายเวลาช่วยเหลือลูกค้าเดิมที่ยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไปจนถึง 31 ม.ค.64

People Unity News : ธอส.เปิดให้ลูกค้าเดิมที่รายได้ยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ยื่นคำขอลงทะเบียนเข้ามาตรการระยะที่ 2 ผ่าน APP GHB ALL ระหว่าง 2 – 29 ต.ค. 63

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ประกาศให้ลูกค้าเดิมที่อยู่ระหว่างการใช้มาตรการ และยังคงได้รับผลกระทบด้านรายได้จากโควิด-19 สามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้ามาตรการระยะที่ 2 โดยขยายระยะเวลาความช่วยเหลือไปจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2564 รวม 4 มาตรการ ประกอบด้วย มาตรการที่ 1 พักชำระเงินต้น 3 เดือน จ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน สำหรับลูกค้าที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 3 ล้านบาท มาตรการที่ 3 พักชำระเงินต้น 3 เดือน จ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน โดยลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เท่ากับ 3.90% ต่อปี มาตรการที่ 8 และมาตรการที่ 8.5 พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน เปิดให้ลงทะเบียนผ่าน APP GHB ALL ในวันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 15.00น. เป็นต้นไป จนถึงวันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม 2563 เวลา 20.00 น.

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ยังคงส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าธนาคาร ทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 ได้มีมติตามที่ฝ่ายจัดการเสนออนุมัติให้ ธอส. ขยายระยะเวลาความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระยะที่ 2 เฉพาะลูกค้าเดิมที่อยู่ระหว่างการใช้มาตรการที่ 1, มาตรการที่ 3, มาตรการที่ 8 และมาตรการที่ 8.5 และรายได้ยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ทั้งนี้ ลูกค้าเดิมที่รายได้ยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สามารถแจ้งความประสงค์ขอใช้มาตรการขยายความช่วยเหลือ ระยะที่ 2 ได้ผ่านทาง Application : GHB ALL ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม 2563 เริ่มตั้งแต่เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป จนถึงวันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม 2563 เวลา 20.00 น. พร้อมแสดงหลักฐานเพื่อยืนยันว่ายังมีผลกระทบทางรายได้จริงให้ธนาคารพิจารณา อาทิ สลิปเงินเดือน หนังสือรับรองจากหน่วยงานต้นสังกัด ภาพถ่าย และ Statement เป็นต้น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธอส. ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือ ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) โทร 0-2645-9000 และ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์

Advertising

ไบโอเทค เปิดตัวข้าวเหนียวพันธุ์ใหม่ ‘หอมนาคา’ สะเทินน้ำสะเทินบก สายพันธุ์แรกของไทย

People Unity News : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พัฒนา ข้าวหอมนาคาข้าวเหนียวพันธุ์ใหม่ที่ทนทานต่อภาวะน้ำท่วมฉับพลัน ทนแล้ง และทนโรค ถือเป็น ข้าวเหนียวสะเทินน้ำสะเทินบกสายพันธุ์แรกของไทย

ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการจัดการแบบบูรณาการ ไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า ปัญหาหลักของการปลูกข้าวเหนียวที่พี่น้องชาวนาต้องเผชิญ คือ ‘ข้าวล้ม’ เพราะข้าวเหนียวพันธุ์ไทยเป็นข้าวต้นสูง เวลาลมฝนมาแรงข้าวจะล้มนอนแม้ยังออกไม่เต็มรวง ปีไหนแล้ง ‘ขาดน้ำ’ ผลผลิตจะออกน้อย หนำซ้ำยังต้องเผชิญกับ ‘โรคไหม้และโรคขอบใบแห้ง’ ทำให้การเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์ สิ่งเหล่านี้เป็นความทุกข์ของคนทำนา เพราะชะตาชีวิตต้องแขวนอยู่บนปัจจัยเสี่ยงที่ไม่อาจควบคุมได้ นักวิจัยไทยจึงพยายามพัฒนาสายพันธุ์ข้าวเหนียวเพื่อเอาชนะปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง

“จนในปีที่ผ่านมา ไบโอเทค สวทช. ร่วมกับนายศรีสวัสดิ์ ขันทอง และคณะวิจัย นำความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม มาศึกษาและพัฒนาพันธุกรรมของข้าวเหนียวไทย เพื่อชูยีนเด่น ลดยีนด้อย ผ่านการผสมและคัดเลือกพันธุ์อย่างเหมาะสม จนได้ผลงานข้าวเหนียวสายพันธุ์ใหม่ ‘หอมนาคา’ ที่สามารถจมอยู่ในน้ำได้นาน 1 – 2 สัปดาห์ และทนทานต่อการขาดน้ำในบางระยะของการปลูกข้าว สอดรับกับสภาพพื้นที่ และยังทนทานต่อโรคไหม้และขอบใบแห้ง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักทำให้ชาวนาสูญเสียผลผลิตอีกด้วย ข้าวเหนียวหอมนาคาสามารถปลูกได้ตลอดปี เพราะเป็นข้าวไม่ไวแสง ปลูกได้ทั้งนาปีและนาปรัง มีระยะเวลาในการปลูกประมาณ 130 – 140 วัน โดดเด่นด้วยลักษณะลำต้นไม่สูง เก็บเกี่ยวง่าย สามารถเก็บได้ด้วยเครื่องทุ่นแรง สอดรับกับการทำนาสมัยใหม่และแนวโน้มการทำนาในอนาคตที่เครื่องจักรจะเข้ามาแทนที่ ทั้งนี้ผลจากการทดลองปลูกพบว่า ในพื้นที่ภาคเหนือมีผลผลิต 800 – 900 กิโลกรัมต่อไร่ และภาคอีสานมีผลผลิตสูงถึง 700 – 800 กิโลกรัมต่อไร่ ต่างจากเดิมที่มักมีผลผลิตเพียง 400 – 500 กิโลกรัมต่อไร่เท่านั้น ในด้านกระแสตอบรับจากผู้บริโภค ข้าวเหนียวหอมนาคาเป็นที่ชื่นชอบ เพราะเมื่อนำมานึ่งรับประทาน ข้าวมีความหอมและนุ่ม ถูกปากคนไทย อีกทั้งเมื่อหยิบทานข้าวจะไม่ติดมือ วางตั้งทิ้งไว้ข้าวก็ไม่แข็ง และนำไปอุ่นซ้ำข้าวก็ไม่เละ ถือเป็นความโดดเด่นทางพันธุกรรม”

ดร.ธีรยุทธ กล่าวว่า การดำเนินงานต่อจากนี้ คณะวิจัยตั้งเป้าเผยแพร่ความรู้เรื่องการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ เพื่อให้ชาวนาสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ได้เอง ลดการพึ่งพิงรัฐหรือนายทุน ในด้านการค้าคณะวิจัยได้เจรจากับโรงสี ถึงข้อเด่นของข้าวสายพันธุ์นี้เพื่อให้เกิดการรับซื้อไปจำหน่ายต่อ ซึ่งโรงสีค่อนข้างให้ความสนใจ นอกจากนั้นผลจากการทดสอบเรื่องการแปรรูป ข้าวเหนียวสามารถพองตัวเป็นข้าวพองได้ดี จึงอยู่ในช่วงของการเจรจาให้โรงงานได้ลองนำไปใช้เป็นวัตถุดิบทำอาหารแปรรูป ส่วนสุดท้ายคือทางด้านผลกำไรจากการขายข้าวที่ชาวนาจะได้รับ คณะวิจัยมีความเห็นว่าราคาข้าวน่าจะอยู่ในเกณฑ์ทั่วไปของตลาด เพื่อให้เกิดการซื้อง่ายขายคล่อง เพราะกำไรที่ชาวนาจะได้เพิ่มมาจากปริมาณผลผลิตที่ได้มากขึ้นจากแต่ละรอบการปลูก และปริมาณการใช้ยาและสารเคมีที่ลดลงอยู่แล้ว การพัฒนาสายพันธุ์ข้าวเหนียวครั้งนี้ ถือเป็นผลงานสำคัญของการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาช่วยกระดูกสันหลังของชาติฝ่าฟันอุปสรรคในการทำการเกษตร ท่ามกลางสถานการณ์ธรรมชาติที่แปรปรวน

โฆษณา

พาณิชย์-เกษตร จัดโครงการประกวดข้าวพันธุ์ใหม่ หวังกู้วิกฤติข้าวไทยสู่ตลาดโลก

People Unity News : พาณิชย์-เกษตรฯ เดินหน้าขับเคลื่อนประกวดข้าวพันธุ์ใหม่ หวังกู้วิกฤติข้าวไทยสู่ตลาดโลก

เมื่อวาน (5 พฤศจิกายน 2564) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการประกวดข้าวพันธุ์ใหม่เพื่อการพาณิชย์ ภายใต้ยุทธศาสตร์ข้าวไทย โดยมี นายชาตรี บุญนาค ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการข้าว นางสาวนนทิชา วรรณสว่าง รองอธิบดีกรมการข้าว คณะผู้บริหาร ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเกษตรกรจากจังหวัดชัยนาทและจังหวัดใกล้เคียง ร่วมพิธีเปิดในครั้งนี้ ณ ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท พร้อมคณะทูตพาณิชย์จาก 25 ประเทศ และพาณิชย์จังหวัดใน 27 แหล่งเพาะปลูกของประเทศ ร่วมกิจกรรมผ่านระบบออนไลน์

นายชาตรี กล่าวว่า สำหรับการประกวดข้าวในครั้งนี้ เปิดโอกาสให้นักวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าว ส่งผลงานเข้าประกวดในข้าว 3 ประเภท ได้แก่ ข้าวหอมไทย ข้าวขาวพื้นนุ่ม และข้าวขาวพื้นแข็ง ซึ่งมีพันธุ์ข้าวที่ส่งประกวดทั้งสิ้นจำนวน 48 พันธุ์ แบ่งเป็นพันธุ์ข้าวของกรมการข้าวจำนวน 31 พันธุ์ โดยไดันำพันธุ์ข้าวที่ส่งเข้าประกวด มาทดลองปลูกในแปลงปลูกของศูนย์วิจัยข้าว 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก และศูนย์วิจัยข้าวขอนแก่น ซึ่งจะดำเนินการตัดสินผลการประกวดในช่วงเดือนธันวาคม

ด้าน นางสาวนนทิชา เปิดเผยถึงหลักเกณฑ์ในการพิจารณาการตัดสิน คณะกรรมการจะเปรียบเทียบพันธุ์ข้าวที่ส่งเข้าประกวดกับข้าวพันธุ์เดิมที่โดดเด่นในแต่ละประเภท ทั้งด้านการเพาะปลูกในแปลง การขัดสี คุณภาพทางกายภาพของเมล็ด คุณภาพทางเคมี และคุณภาพการหุงต้ม ซึ่งเชื่อมั่นว่าการประกวดดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ตอกย้ำความเชื่อมั่นต่ออนาคตข้าวไทยให้กับชาวนา ผู้ประกอบการค้าข้าว ตลอดจนผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ภายหลังได้นำประธานและคณะ เยี่ยมชมแปลงนาพันธุ์ข้าวจากการประกวดในพื้นที่ของศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท ตลอดจนการนำเสนอความคืบหน้าของโครงการดังกล่าว

Advertising

จัดกิจกรรม “Unfolding Bangkok” ดึงดูดนักท่องเที่ยวไทย – ต่างชาติ เริ่ม มิ.ย. 65 – ม.ค. 66

People Unity News : 12 พฤษภาคม 2565 เตรียมพบ 4 กิจกรรม “Unfolding Bangkok” ดึงดูดนักท่องเที่ยวไทย – ต่างชาติตามนโยบายเปิดประเทศ เริ่ม มิ.ย. 65 – ม.ค. 66

รัฐบาลนำร่องกรุงเทพฯ จัดกิจกรรมนำสนอประเทศไทยและวัฒนธรรมไทยในมิติที่แตกต่าง เพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวตามนโยบายการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 65 เป็นต้นมา หวังดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วย 4 กิจกรรม ภายใต้โครงการ Unfolding Bangkok เน้นเล่าประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ และสร้างประสบการณ์ใหม่ให้นักท่องเที่ยว

คาดว่าจะสามารถดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าสู่ประเทศไทยได้วันละ 20,000 คน รวมถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สนใจการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ และกลุ่มผู้สูงอายุกำลังซื้อสูงที่มองหากิจกรรมเชิงวัฒนธรรม

Advertisement

เช็กเลยจ่ายอะไรได้บ้าง? บัตรสวัสดิการแห่งรัฐตั้งแต่เดือน พ.ค.65

People Unity News : 29 เมษายน 65 นางสาววารี แว่นแก้ว รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4 ที่ช่วยเหลือวงเงินค่าซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น (ร้านธงฟ้าฯ) และค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการจากร้านค้าหรือผู้ให้บริการที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 จำนวนไม่เกิน 200 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน (1 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน 2565) ได้สิ้นสุดแล้ว กรมบัญชีกลางจึงขอชี้แจงเกี่ยวกับการจ่ายเงินเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 ดังนี้

ทุกวันที่ 1 ของเดือน (ไม่สามารถถอนเป็นเงินสดได้ และไม่สะสมในเดือนถัดไป)

– วงเงินซื้อสินค้า 200/300 บาทต่อเดือน

– ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม 100 บาทต่อ 3 เดือน (เม.ย. – มิ.ย. 65)

– ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ประกอบด้วย

     ค่าโดยสารรถ บขส. 500 บาทต่อเดือน

     ค่าโดยสารรถไฟ 500 บาทต่อเดือน

     ค่าโดยสารรถไฟฟ้า (MRT/BTS/ARL) และ ขสมก. 500 บาทต่อเดือน (สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่อาศัยอยู่ในเขต กทม. และปริมณฑล)

ทุกวันที่ 15 ของเดือน (สามารถถอนเป็นเงินสดได้ และสะสมในเดือนถัดไปได้)

– เงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยที่ได้รับสิทธิในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ 50/100 บาทต่อเดือน (ผู้สูงอายุที่ได้รับสิทธิตั้งแต่ ต.ค. 64 – ก.ค. 65 จะได้รับเงินเข้าบัตรฯ ในเดือน เม.ย. – ก.ย. 65)

ทุกวันที่ 18 ของเดือน (สามารถถอนเป็นเงินสดได้ และสะสมในเดือนถัดไปได้)

– เงินคืนค่าไฟฟ้า ไม่เกิน 315 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน (สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 315 บาทต่อเดือน)

– เงินคืนค่าน้ำประปา ไม่เกิน 100 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน (สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ใช้น้ำประปาไม่เกิน 315 บาทต่อเดือน จะได้รับเงินคืนค่าน้ำประปาไม่เกิน 100 บาท ส่วนที่เกินจาก 100 บาท ผู้ถือบัตรฯ เป็นผู้ชำระเอง)

ทุกวันที่ 22 ของเดือน (สามารถถอนเป็นเงินสดได้ และสะสมในเดือนถัดไปได้)

– เงินเพิ่มเบี้ยความพิการ 200 บาทต่อเดือน (สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่มีบัตรประจำตัวคนพิการและได้รับเงินเบี้ยความพิการ)

“ผู้มีสิทธิสามารถติดตามข่าวสารของกรมบัญชีกลางได้จากช่องทางต่าง ๆ ของกรมบัญชีกลาง เช่น Facebook Youtube Instagram Twitter และ CGD Application หรือโทรศัพท์สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Call Center ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 0 2109 2345 และ Call Center กรมบัญชีกลาง 0 2270 6400 ในวัน เวลาราชการ” โฆษกกรมบัญชีกลาง กล่าว

Advertisement

รัฐบาลดัน “น้ำบูดูสายบุรี” สู่ตลาดโลก

People Unity News : 18 ธันวาคม 2565 รองโฆษกรัฐบาล เผยนายกฯ หนุน ศอ.บต.จับมือเชฟชุมพล ดัน “น้ำบูดูสายบุรี” สู่ตลาดโลก รังสรรค์เมนูขยายตลาดกลุ่มใหม่

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ชื่นชมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการผลักดัน soft power อัตลักษณ์ท้องถิ่นจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพื่มรายได้แก่ประชาชน โดยล่าสุด ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มีโครงการเรือธง “สายบุรี บูดู สู่ตลาดโลก” ซึ่งจะร่วมมือกับเชฟชุมพล แจ้งไพร ในการพัฒนารสชาติน้ำบูดูให้ตรงกับรสนิยมผู้บริโภคต่างชาติมากขึ้น รวมถึงพัฒนาเมนูอาหารที่มีน้ำบูดูเป็นส่วนประกอบให้หลากหลาย เพื่อส่งเสริมการบริโภค สร้างความสนใจจากผู้บริโภคกลุ่มใหม่

นางสาวรัชดา กล่าวว่า น้ำบูดูเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาวมลายูมุสลิมทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้และมาเลเซีย และเป็นสินค้าเศรษฐกิจของคนในพื้นที่ ผลิตเป็นอุตสาหกรรมส่งในประเทศและส่งออกไปยังหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ทั้งนี้ พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. ได้รายงานต่อนายกรัฐมนตรีว่า ตลาดส่งออกสินค้าน้ำบูดูของไทยมีโอกาสเติบโตอีกมาก ทาง ศอ.บต.จึงกำหนดโครงการเรือธงขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมการบริโภคในประเทศและขยายตลาดสู่ตลาดฮาลาลทั่วโลกให้มากยิ่งขึ้น โดยเลือกน้ำบูดู อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เป็นพื้นที่นำร่อง เพราะเป็นแหล่งผลิตใหญ่ เป็นต้นน้ำในการพัฒนาน้ำบูดูให้เป็นที่รู้จัก ที่ผ่านมามีการแปรรูปให้ทานง่ายขึ้น เช่น ทำเป็นผงบรรจุซอง อัดแท่งใส่กล่อง เพื่อยืดอายุการรับประทาน มีหลายระดับความเค็มให้เลือก และพัฒนาให้เป็นส่วนผสมของอาหารอื่นๆ

ภายใต้โครงการ “สายบุรี บูดู สู่ตลาดโลก” ทาง ศอ.บต จะเป็นหลักในการขับเคลื่อนร่วมกับส่วนราชการต่างๆ ภาคเอกชน และประชาชน มีเชฟชุมพลฯ เป็นผู้ให้คำแนะนำเรื่องคุณภาพ รสชาติ และรังสรรค์เมนูน้ำบูดูเพื่อส่งเสริมการบริโภค เพิ่มเติมจาก ข้าวยำ บูดูทรงเครื่อง ซึ่งเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปเป็นอย่างดี ขณะที่ภาคเอกชนที่จะเข้าร่วม จะต้องมีโรงงานที่กระบวนการผลิตได้มาตรฐานสากลและฮาลาล ทั้งนี้ ยังมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในห่วงโซ่การผลิตด้วย นั่นหมายความว่า โครงการนี้จะสามารถสร้างอาชีพและรายได้แก่ประชาชนในละแวกได้เป็นจำนวนมาก ครอบคลุมกลุ่มชาวประมง เกษตรกร และกลุ่มแม่บ้าน ส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชนอย่างยั่งยืน

“เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ในงานแถลงผลงานการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกฯ ได้สั่งซื้อน้ำบูดูจากบูธที่มาร่วมแสดงผลงาน ท่านบอกว่าชอบทาน และยังกล่าวให้ความเชื่อมั่นว่า น้ำบูดู จะเป็นอีกหนึ่งสินค้า soft power ที่จะสร้างชื่อเสียง สร้างรายได้แก่คนในพื้นที่อย่างแน่นอน โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดฮาลาล เพราะสินค้าจากประเทศไทยมีชื่อเสียงดีอยู่แล้ว รัฐบาลให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและสันติสุขอันยั่งยืนของปลายด้ามขวานไทย” นางสาวรัชดา กล่าว

Advertisement

ชาวนาเฮ! รัฐบาลออกมาตรการช่วยผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2561/62 ด้านการตลาด 3 โครงการ

People unity news online : นายกรัฐมนตรีประชุม นบข. ครั้งที่ 3/61 เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2561/62 ด้านการตลาด 3 โครงการ

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2561 เวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 3/2561 โดยมี พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม ซึ่งภายหลังการประชุม นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เลขานุการ นบข. ได้แถลงผลการประชุม สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ที่ประชุมรับทราบสถานการณ์ข้าว การส่งออกข้าวของไทยจะยังคงมีทิศทางที่ดี เนื่องจากมีการทยอยส่งมอบข้าวตามสัญญาซื้อขายข้าวที่ผ่านมา และมีคำสั่งซื้อเข้ามาเพิ่มเติมจากความต้องการข้าวในตลาดโลกที่ยังมีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งภูมิภาคแอฟริกา ทำให้มีคำสั่งซื้อมารองรับผลผลิตข้าวที่จะออกในช่วงปลายปีได้เป็นอย่างดี สำหรับการส่งมอบข้าวแบบจีทูจีให้รัฐบาลจีนในงวดที่ 5 ปริมาณ 1 แสนตัน แล้วเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายน 2561 และอยู่ในระหว่างการเจรจาตกลงซื้อขายข้าวงวดที่ 6 ปริมาณ 100,000 ตัน และภาคเอกชนของไทยชนะการประมูลนำเข้าข้าวในประเทศญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์มีแผนขยายตลาด โดยจัดคณะผู้แทนไปเจรจาขยายตลาด จัดกิจกรรมส่งเสริมประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ และคุณภาพข้าวไทยในประเทศจีนและตลาดสำคัญทั่วโลก

ที่ประชุมเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาโครงการข้าวตามนโยบายของรัฐบาล จำนวน 6 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2551 (2) โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2552 (3) โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 (4) โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2555 (5) โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 (6) โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57 ซึ่งอยู่ระหว่างการระบายข้าวและส่งมอบ จากเดิมสิ้นสุดเดือนกันยายน 2561 เป็นสิ้นสุดเดือนธันวาคม 2561 และมอบหมายให้ อคส. และ อ.ต.ก. เร่งระบายจ่ายข้าวออกจากคลังสินค้ากลาง และเบิกค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาข้าวสารที่ค้างจ่ายให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

ที่ประชุมรับทราบการดำเนินงานมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 60/61 ด้านการตลาด ในการดึงอุปทานข้าวเปลือกออกจากตลาดเป้าหมาย 12.5 ล้านตัน ได้แก่ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก และการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวค่าปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าว และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ซึ่งสามารถดึงอุปทานออกจากตลาดได้ 6.64 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 53.12 ของเป้าหมาย ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกทุกชนิดปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะข้าวหอมมะลิที่มีราคาถึงตันละ 15,500-18,500 บาท

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมรับทราบแผนการดำเนินโครงการเชื่อมโยงการผลิตและการตลาดข้าว กข43 และผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว ปีการผลิต 2561/62 ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี โดย

(1) สหกรณ์การเกษตรและกลุ่มวิสาหกิจเข้าร่วมโครงการ จำนวน 52 แห่ง แจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการรับซื้อข้าว กข43 จากเกษตรกรภายใต้ระบบนาแปลงใหญ่ในราคานำตลาด (ตกลงราคารับซื้อสูงกว่าข้าวเจ้าแต่ไม่เกินข้าวปทุมธานี) พื้นที่เพาะปลูกเป้าหมาย 31,183.75 ไร่ คาดการณ์ผลผลิต ประมาณ 10,000 ตันข้าวสาร

(2) ผู้ประกอบการแปรรูปข้าวเป็นผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว และผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว โดยมีผู้ประกอบการแปรรูปข้าวเพื่อผลิตน้ำนมข้าว จำนวน 5 ราย แจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะรับซื้อผลผลิตข้าวจากเกษตรกรระบบนาแปลงใหญ่ในราคานำตลาด และได้รับราคาที่สูงเพิ่มมากขึ้น

(3) ร่วมกับองค์การอาหารและยา ในการประชุมหารือเพื่อสร้างความเข้าใจการเผยแพร่ฉลากผลิตภัณฑ์ข้าว กข43 เพื่อป้องกันปัญหาการแอบอ้างสรรพคุณข้าว กข43 ที่เกินจริง

(4) ร่วมกับโมเดิร์นเทรด กำหนดจัดกิจกรรม “บอกรักแม่ด้วยกระเช้าผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว” ระหว่างวันที่ 9-16 สิงหาคม 2561 และกิจกรรม “รณรงค์บริโภคน้ำนมข้าวในช่วงเทศกาลกินเจ” ระหว่างวันที่ 8-17 ตุลาคม 2561 ในห้างโมเดิร์นเทรดทั่วประเทศ

(5) การประชาสัมพันธ์ส่งเสริมและสร้างการรับรู้คุณประโยชน์ของการบริโภค ข้าว กข43 และผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าวผ่านสถานีวิทยุ และรายการอาหารเพื่อสุขภาพที่มีชื่อเสียงระดับประเทศตลอดช่วงระยะเวลาเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2561

(6) กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงาน เดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพ รณรงค์ให้ประชาชนเลือกซื้อสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและคุณประโยชน์ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2561/62 ด้านการตลาด 3 โครงการ ดังนี้

1.โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพ

(1) โครงการสินเชื่อช่วยเหลือชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ให้สินเชื่อแก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อชะลอการจำหน่ายผลผลิตข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียว ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ในเขตพื้นที่เพาะปลูกทุกจังหวัด เป้าหมาย 2 ล้านตันข้าวเปลือก โดยให้ค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท โดยจ่ายพร้อมสินเชื่อก่อน ตันละ 1,000 บาท และภายหลัง 500 บาท

ทั้งนี้ มีโครงการสินเชื่อเพื่อสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ซึ่ง คชก. ได้อนุมัติกรอบวงเงินเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2561 จำนวน 250 ล้านบาท เป้าหมาย เกษตรกรรายคนและสถาบันเกษตรกร ที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ ประมาณ 10,000 ราย โดยกำหนดวงเงินกู้กรณีเกษตรกรรายคนไม่เกินรายละ 150,000 บาท และกรณีสถาบันเกษตรกรแห่งละไม่เกิน 3,000,000 บาท

-การกำหนดวงเงินสินเชื่อ โดยพิจารณาจากราคาตลาดเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี ราคาที่เกษตรกรควรจะได้รับ (จากต้นทุนการผลิต+กำไรที่ควรจะได้รับ) และราคาข้าวเปลือกที่สะท้อนจากราคาส่งออกที่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งในตลาดโลก ดังนี้ ข้าวหอมมะลิ 11,800 บาท/ตัน ข้าวเปลือกเหนียว 10,200 บาท/ตัน ข้าวเปลือกเจ้า 7,500 บาท/ตัน ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 8,900 บาท/ตัน

ทั้งนี้ สถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะต้องจัดสรรค่าฝาก ตันละ 1,000 บาท ให้แก่สมาชิก (ปีที่ผ่านมาสมาชิกไม่ได้รับค่าฝากเก็บ)

-ระยะเวลาดำเนินการ 1 พ.ย.61 – 28 ก.พ.62 (ภาคใต้ ถึง 31 ก.ค.62)

(2) ค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพ ให้เฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร โดยช่วยตามพื้นที่ปลูกข้าวจริง ไร่ละ 1,500 บาท ไม่เกิน 12 ไร่ หรือไม่เกินครัวเรือนละ 18,000 บาท (จากปีที่ผ่านมาช่วยเหลือไร่ละ 1,200 บาท ไม่เกิน 10 ไร่)

ทั้งนี้ จะช่วยเหลือเฉพาะเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเพาะปลูกข้าวนาปี 2561/62 กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เท่านั้น จึงขอให้เกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวในปีนี้แล้ว แจ้งการขึ้นทะเบียนต่อสำนักงานเกษตรในพื้นที่ เพื่อสามารถเข้าร่วมโครงการฯ ช่วยเหลือเกษตรกรของรัฐบาลต่อไป

2.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้สินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ได้แก่ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่ายหรือแปรรูป เป้าหมาย 2 ล้านตัน โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 และสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ยร้อยละ 1 ระยะเวลา 1 ต.ค.61 – 31 ธ.ค.62

3.โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 ทั้งนี้ โรงสีต้องรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรในช่วง 1 พ.ย.61- 31 มี.ค.62 ภาคใต้ 1 ม.ค. – 30 มิ.ย.62

ทั้งนี้ ให้ ธ.ก.ส. และกระทรวงพาณิชย์ จัดทำรายละเอียดงบประมาณเพื่อนำเสนอกระทรวงการคลังพิจารณาตาม พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 ตามระเบียบ ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

ที่ประชุมยังรับทราบการระบายข้าวในสต็อกของรัฐ โดยเมื่อเดือนมิถุนายน 2561 รัฐบาลได้นำข้าวในสต็อกออกมาระบายเข้าสู่อุตสาหกรรม ซึ่งได้รับการอนุมัติจำหน่าย รวมทั้งสิ้น 1.96 ล้านตัน มูลค่า 10,198 ล้านบาท โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทำสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ชนะการประมูลกับองค์การคลังสินค้า (อคส.) และ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) แบ่งเป็น

-การจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคน (กลุ่มที่ 2) ครั้งที่ 1/2561 ปริมาณ 1.44 ล้านตัน มูลค่า 8,410 ล้านบาท

-การจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคนและสัตว์ (กลุ่มที่ 3) ครั้งที่ 1/2561 ปริมาณ 0.52 ล้านตัน มูลค่า 1,788 ล้านบาท

ปริมาณข้าวคงเหลือข้าวที่จะนำออกมาระบายเข้าสู่อุตสาหกรรมภายในเดือนกันยายน 2561 ปริมาณรวม 0.069 ล้านตัน แบ่งเป็น ข้าวกลุ่มที่ 2 ปริมาณ 0.047 ล้านตัน และกลุ่มที่ 3 ปริมาณ 0.022 ล้านตัน

ชาวนาเฮ! รัฐบาลออกมาตรการช่วยผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2561/62 ด้านการตลาด 3 โครงการ

People unity news online : post 12 กรกฎาคม 2561 เวลา 10.10 น.

“พุทธิพงษ์” ถกบิ๊กเอกชน-รัฐวิสาหกิจด้านไอที หาแนวทางความร่วมมือสร้างงานให้คนไทยทำ

People Unity News : 9 พฤษภาคม 2563 ที่อาคารดีป้า ลาดพร้าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมหารือภาคเอกชน-รัฐวิสาหกิจหาแนวทางความร่วมมือในการบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยเหลือผู้ว่างงานนัดแรก หวังช่วยให้ประชาชนไทยมีงานทำ หลังสิ้นสุดวิกฤต COVID-19 พร้อมรองรับยุคเศรษฐกิจ-สังคมดิจิทัล และสภาวะ New Normal

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พร้อมด้วย ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ประชุมหารือแนวทางความร่วมมือในการบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยเหลือผู้ว่างงานจากผลกระทบสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ครั้งที่ 1ร่วมกับคณะผู้บริหารจากบริษัทเอกชนขนาดใหญ่และรัฐวิสาหกิจ รวม 19 บริษัทวานนี้ ประกอบด้วย บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด บริษัท เดลล์ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เด็นโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ฮิตาชิ เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน)บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AIS) บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)(DTAC) บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (CAT) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (TOT) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป

โดย นายพุทธิพงษ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้มีการหารือใน 3 ประเด็นหลักคือ ความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน 3 กลุ่ม ประกอบด้วย ผู้ว่างงาน พนักงานที่ถูกลดค่าตอบแทน และนักศึกษาจบใหม่ที่กำลังหางานหรือเริ่มประกอบธุรกิจ อีกทั้งการพัฒนา National Digital Workplace Platform ซึ่งดีป้าจะเป็นตัวแทนของรัฐบาลในการพัฒนาระบบ พร้อมร่วมมือกับบริษัทด้านดิจิทัลในการจับคู่งาน (Matching) กับผู้ที่ต้องการงาน ทั้งในรูปแบบ Digital Supporter (Non-technical) ไปจนถึง Programmer และ Data Scientist ซึ่งรัฐบาลได้ขอความร่วมมือจากภาคเอกชนในการนำส่งข้อมูลตำแหน่งงานว่างด้านดิจิทัล และนอกเหนือจากดิจิทัล เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยบริษัทจะมีสิทธิ์ในการเป็นผู้พิจารณาคุณสมบัติและคัดเลือกผู้สมัครด้วยตนเอง

ประเด็นถัดมาคือ การช่วยเหลือประชาชนที่ต้องการพัฒนาทักษะและความสามารถด้านต่างๆ เพิ่มเติม Reskill และ Upskill เพื่อให้ตรงตามความต้องการของตลาด รองรับการก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล รวมถึงสภาวะ New Normal โดยดีป้าจะดำเนินการช่วยเหลือและประสานงานกับบริษัทด้านดิจิทัลในการพัฒนาหลักสูตร และมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประเด็นสุดท้ายคือข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบการและข้อเรียกร้องที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ โดยคณะผู้บริหารจะนำผลการประชุมครั้งนี้กลับไปหารือและนำข้อสรุปกลับมาประชุมร่วมกันอีกครั้งหลังจากนี้

ด้าน ดร.ณัฐพลกล่าวว่า ดีป้าคาดหวังว่า การประชุมนัดแรกในวันนี้จะส่งผลให้คน IT คน Non IT รวมถึงผู้ที่ต้องการยกระดับทักษะเพื่อประกอบอาชีพใหม่มีช่องทางการหางานผ่านแพลตฟอร์มที่รัฐและเอกชนบูรณาการการทำงาน โดยมี ดีป้า เป็นผู้ดำเนินการ ทั้งในเรื่องของการสร้างสังคมดิจิทัลเพื่อให้ประชาชนไทยสามารถปรับตัวรับยุค New Normal และสามารถสืบค้นงานที่ตรงตามความเชี่ยวชาญและทักษะที่เปลี่ยนไปได้

โฆษณา

“ลุงตู่” ห่วงผู้ค้าฟุตบาท สั่ง รมช.พาณิชย์ ลงมาช่วยเหลือ-บูรณาการร่วมกับ กทม.

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

People unity news online : “มือเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาล” สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รับบัญชาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้ลงมาดูแลช่วยเหลือผู้ค้ารายเล็กรายน้อยบนทางเท้า (ฟุตบาท) ในพื้นที่ กทม. ให้สามารถทำมาหากินเลี้ยงชีพได้ ภายหลังจากที่ กทม. จัดระเบียบทางเท้าใน กทม. และห้ามผู้ค้ารายเล็กรายน้อยใช้พื้นที่ทางเท้าขายของ

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา ที่ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และคณะ ได้เดินทางมาประชุมกับ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะผู้บริหาร กทม. เพื่อหาทางให้ความช่วยเหลือและพัฒนาผู้ค้าบนทางเท้าในพื้นที่กรุงเทพมหานครภายหลังจากที่ กทม. จัดระเบียบทางเท้าใน กทม. และห้ามผู้ค้ารายเล็กรายน้อยใช้พื้นที่ทางเท้าขายของ ซึ่งสร้างความยากลำบากในการหาเลี้ยงชีพของผู้ค้ารายเล็กรายน้อย

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยกับ People unity news online ว่า กระทรวงพาณิชย์จะลงมาแก้ไขปัญหานี้ร่วมกับ กทม. โดยจะช่วยเหลือให้ผู้ค้ารายเล็กรายน้อยบนทางเท้าได้มีที่ขายเป็นหลักแหล่งและอยู่ในทำเลที่สามารถขายของได้ อีกทั้งจะช่วยพัฒนาผู้ค้ารายย่อยซึ่งถือเป็นเส้นเลือดฝอยทางเศรษฐกิจของ กทม. หลังจากที่ กทม.ได้ดำเนินการจัดระเบียบผู้ค้าบนทางเท้าไปแล้ว ทั้งนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่กระทรวงพาณิชย์จะเข้ามายกระดับการค้ารายย่อยบนทางเท้าให้เข้าสู่รูปแบบมาตรฐานสากล โดยกระทรวงพาณิชย์จะช่วยสนับสนุนด้านแหล่งเงินทุนให้กับผู้ค้า และการเข้าถึงแหล่งผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐาน เพื่อพัฒนาผู้ค้ารายย่อยทั้งรายเดิมและรายใหม่ให้มีมาตรฐาน เป็นการยกระดับผู้ค้ารายย่อยให้มีความเข้มแข็ง สามารถเติบโต และยืนได้ด้วยตนเอง

“ท่านนายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยผู้ค้ารายย่อยรายเล็กรายน้อยใน กทม. ซึ่งที่ผ่านมาต้องใช้ทางเท้าเป็นที่ขายของหาเลี้ยงชีพและครอบครัว จึงบัญชาให้กระทรวงพาณิชย์ลงมาบูรณาการแก้ไขปัญหาร่วมกับทาง กทม.เป็นการด่วน เพื่อจัดหาพื้นที่ให้ขายเป็นหลักแหล่ง จะได้ไม่ต้องเคลื่อนย้ายไปมา มีความยากลำบากในการทำมาหากิน ท่านนายกรัฐมนตรีเห็นว่าผู้ค้ารายย่อยหรือรายเล็กรายน้อยคือเส้นเลือดฝอยของเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งจะต้องส่งเสริมให้มีความเข้มแข็ง หากเกิดการค้าการขายและการบริโภคในระบบเศรษฐกิจฐานรากมากเท่าใด ก็จะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมีความคึกคักและเติบโตโดยอัตโนมัติ”

ด้าน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังการประชุมว่า กทม. และกระทรวงพาณิชย์ได้หารือกันหลายเรื่อง คือ แนวทางการเพิ่มคุณภาพผู้ค้าผู้ประกอบการ การยกระดับสินค้าที่จำหน่ายให้มีมาตรฐาน การหาสถานที่ให้ผู้ค้าที่ กทม.จัดระเบียบแล้ว และการช่วยเหลือด้านการเงิน ทั้งนี้ในเบื้องต้นจะมีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่าง กทม. และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อทำหน้าที่จัดหาสถานที่จำหน่ายสินค้าที่เหมาะสม กำหนดรูปแบบการตั้งวางสินค้า หลักเกณฑ์การจำหน่ายสินค้า โดยเน้นความเป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม สะอาด และได้มาตรฐาน การให้ความช่วยเหลือผู้ค้าในด้านเงินทุนและการเข้าถึงแหล่งผลิตเพื่อลดต้นทุน รวมทั้งการประชาสัมพันธ์โครงการให้ประชาชนรับทราบ

พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสถานที่จำหน่ายสินค้าที่คณะทำงานจะจัดหาใหม่ จะไม่ใช่ทางเท้าที่ กทม.จัดระเบียบแล้วอย่างแน่นอน แต่อาจเป็นสถานที่ของหน่วยงานราชการหรือพื้นที่ของเอกชนก็ได้ ซึ่งสำนักเทศกิจและสำนักงานเขตจะช่วยกันพิจารณาหาพื้นที่ที่เหมาะสมต่อไป

People unity news online : post 3 กรกฎาคม 2560 เวลา 18.00 น.

ททท.ชวนท่องเที่ยวเสมือนจริงผ่านเทคโนโลยี “Virtual Tours” ช่วงกักตัวอยู่บ้าน

People Unity News : ททท. ชวนสัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยวเสมือนจริงผ่านเทคโนโลยี “Virtual Tours” 10 ที่ 9 จังหวัดทั่วไทยในช่วงระหว่างกักตัวอยู่บ้านเพื่อหยุดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

กองสารสนเทศการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ นำเทคโนโลยีเสมือนจริงมาผนวกกับการเดินทางท่องเที่ยว (Virtual Tours) พาชมสถานที่ท่องเที่ยว 10 แห่งใน 9 จังหวัดทั่วประเทศ ผ่านทางเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียของ ททท. ในช่วงระหว่างกักตัว อยู่บ้านเพื่อหยุดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 (โควิด-19)

นายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านดิจิทัล วิจัย และพัฒนา ททท. กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลกและของไทย ทำให้ประชาชนต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด คือ อยู่บ้านเพื่อหยุดเชื้อ ไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวตามปกติได้ ททท. จึงได้นำเทคโนโลยี ทัวร์เสมือนจริง (Virtual Tours) ที่สามารถนำเสนอประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยว โดยพานักท่องเที่ยวสัมผัสบรรยากาศและกลิ่นอายประสบการณ์เสมือนจริงที่ได้เข้าไปเดินท่องเที่ยวอยู่ในสถานที่ท่องเที่ยวนั้นๆ ด้วย Virtual Tours to 10 places in 9 provinces นำเสนอแหล่งท่องเที่ยว 10 แห่งใน 9 จังหวัดทั่วประเทศไทย ประกอบด้วย ภาคเหนือ ได้แก่ วัดศรีชุม จ.สุโขทัย คุ้มเจ้าหลวง จ.แพร่ วัดนันตาราม จ.พะเยา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ปราสาทสด๊กก๊อกธม จ.สระแก้ว ปราสาทหินพิมาย จ. นครราชสีมา ภาคตะวันออก ได้แก่ อ่าวคุ้งกระเบน จ.จันทบุรี ภาคกลาง ได้แก่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ และพระนารายณ์ราชนิเวศน์ จ.ลพบุรี วัดบางกุ้ง จ.สมุทรสงคราม และ ภาคใต้ ได้แก่ วังเจ้าเมืองพัทลุง จ.พัทลุง บ้านท่านขุน วัดมหาธาตุ และบ้านหนังตะลุง จ.นครศรีธรรมราช

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชม Virtual Tours to 10 places in 9 provinces ได้ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2563 เป็นต้นไป ผ่าน 3 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์ www.tourismthailand.org  Facebook page : Amazing Thailand และ Twitter @ThailandFanClub และ @go2Thailand  อีกทั้ง สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กองสารสนเทศการตลาด ททท. โทร. 02-250-5500 ต่อ 2842

โฆษณา

Verified by ExactMetrics