วันที่ 16 พฤษภาคม 2024

รัสเซียยินดีผลักดันการจัดทำ FTA ไทยกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย

People Unity : ไทยและรัสเซียยินดีผลักดันการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทยกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 เวลา 15.00 น. ณ ห้องรับรองรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ชั้น 1 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายเยฟเกนี โตมีฮิน เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในโอกาสเข้ารับหน้าที่ สรุปสาระสำคัญการหารือ ดังนี้

รองนายกรัฐมนตรียินดีที่ได้พบเอกอัครราชทูตฯ ชื่นชมบทบาทของเอกอัครราชทูตฯตั้งแต่เข้ารับหน้าที่ ซึ่งได้กระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทยกับรัสเซียเป็นอย่างดี มีการเยือนระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยหวังว่าไทยจะได้มีโอกาสต้อนรับผู้แทนระดับสูงของรัสเซียในปีนี้

เอกอัครราชทูตฯชื่นชมรองนายกรัฐมนตรีที่เป็นบุคคลสำคัญในรัฐบาล รับผิดชอบต่อนโยบายของไทยในหลายด้าน และยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ความสัมพันธ์ไทย-รัสเซียมีพลวัตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ รัสเซียในฐานะที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี และมีทรัพยากรด้านพลังงาน เชื่อว่ายังมีช่องทางที่เป็นโอกาสอีกหลากหลายในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ โดยพร้อมส่งเสริมกลไกที่ให้ผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

ทั้งสองฝ่ายยินดีที่มีมูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น โดยทั้งสองฝ่ายมุ่งหวังว่าจะร่วมมือผลักดันให้การค้าขยายตัวเพิ่มมากขึ้นตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ต่อไป ฝ่ายรัสเซียยืนยันว่าพร้อมผลักดันการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทยกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย โดยฝ่ายไทยขอบคุณที่รัสเซียนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้ากลุ่มเกษตรกรรม และขอบคุณที่รัสเซียดูแลนักลงทุนไทยเป็นอย่างดี ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีขอให้ฝ่ายรัสเซียพิจารณาเพิ่มการลงทุนในไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC และสนับสนุนความร่วมมือผ่านอุตสาหกรรม S-Curves ในสาขาต่างๆที่รัสเซียเชี่ยวชาญ ทั้งนี้ ยินดีจัดการหารือระหว่างรัสเซียและฝ่ายไทยที่เกี่ยวข้องเพื่อหาช่องทางลดข้อจำกัด เพื่อเพิ่มการลงทุนระหว่างกัน

ในโอกาสนี้ ฝ่ายรัสเซียได้ชื่นชมไทยด้านการจัดการท่องเที่ยวโดยมีชาวรัสเซียที่เดินทางมาเที่ยวไทยจำนวนมาก จึงขอให้ไทยพิจารณาสนับสนุนการเงินสกุลท้องถิ่นเพื่อเป็นส่วนในการส่งเสริมการท่องเที่ยว และขอให้ไทยพิจารณาความร่วมมือระหว่างระดับจังหวัดของไทยกับภูมิภาคของรัสเซียเป็นอีกช่องทางความร่วมมือด้วย

ความสัมพันธ์ต่างประเทศ : รัสเซียยินดีผลักดันการจัดทำ FTA ไทยกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย

People Unity : post 21 สิงหาคม 2562 เวลา 11.30 น.

“ปานปรีย์” เตือนเมียนมาอย่ารุกล้ำ หลังกระสุนปืนหนักข้ามมาฝั่งไทย

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 21 เมษายน 2567 “ปานปรีย์” เตือนเมียนมาอย่ารุกล้ำ หลังกระสุนปืนหนักข้ามมาฝั่งไทย เผย คกก. ติดตามสถานการณ์พรุ่งนี้ (22 เม.ย.) ก่อนนายกฯ บินแม่สอด

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงสถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งมีผู้อพยพหนีภัยสงครามมายังแม่สอดเป็นจำนวนมากว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาข้ามมาฝั่งไทย ก่อนหน้านี้เราเคยมีกรณีผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาข้ามฝั่งมาไทย จำนวน 10,000 คน พอเหตุการณ์สงบ ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาก็ข้ามฝั่งกลับไป

นายปานปรีย์ กล่าวต่อว่า กรณีดังกล่าวก็เช่นเดียวกัน คาดว่า หากเหตุการณ์ในเมียนมาเริ่มสงบ ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาที่ข้ามมาฝั่งไทยก็จะทยอยกลับไป ซึ่งตอนนี้ได้รับรายงานว่า มีผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาข้ามมาฝั่งไทย จำนวน 3,000 คน ซึ่งในจำนวน 3,000 คนนี้ อยู่ในการดูแลของกระทรวงมหาดไทย

ส่วนกรณีที่มีกระสุนปืนหนักตกมายังบริเวณกลางแม่น้ำเมย ใกล้กับฝั่งประเทศไทย จนส่งผลให้เกิดกลุ่มควัน และมีกระสุนปืนจากฝั่งเมียนมายิงเข้ามายังฝั่งไทย กระสุนถูกยิงทะลุหน้าต่างมุ้งลวดบ้านหลังหนึ่ง ในพื้นที่บ้านวังตะเคียนใต้ หมู่ 7 ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด ทั้งสองกรณีนี้จะมีการตักเตือนทางการเมียนมา หรือป้องกันอย่างไร นายปานปรีย์ ตอบว่า เป็นกระสุนจากฝั่งเมียนมา หลุดมาทางฝั่งไทย แต่ก็ไม่ได้สร้างความเสียหาย และไม่ได้รับรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ และเราได้ทำการเตือนทางฝั่งเมียนมาว่า ให้ระมัดระวัง เราไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์รุกล้ำข้ามเขตแดน ไม่ว่าจะทางบก หรือทางอากาศ รวมถึงการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ อย่าให้เข้ามาในประเทศไทย รวมถึงห้ามให้ประชาชนไทยได้รับอันตราย

สำหรับความคืบหน้าหลังจากนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ตั้งคณะกรรมการติดตามสถานการณ์เมียนมา มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง นายปานปรีย์ กล่าวว่า จะประชุมติดตามความคืบหน้า ในวันพรุ่งนี้ (22 เม.ย.) ก่อนที่นายกฯ จะบินไป อ.แม่สอด จ.ตาก คงจะได้คำตอบ และข้อสรุปในวันพรุ่งนี้ ว่ามีความคืบหน้าอย่างไร

เมื่อถามถึงความพร้อมในการเป็น Peace broker นายปานปรีย์ กล่าวว่า เบื้องต้นเราได้เรียกร้องผ่านทางอาเซียน กดดันให้ทางเมียนมากลับสู่ความสงบโดยเร็ว ส่วนเรื่องของการที่ไทยจะเป็นตัวกลางในการเจรจานั้น ตอนนี้กำลังเร่งทำงานกันอยู่ เพราะยังไม่ทราบว่าต้องเจรจาผ่านกลุ่มใด และการสู้รบยังเกิดขึ้นตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ก็มีการพูดคุยในระดับหนึ่ง

Advertisement

เอฟเอโอ ชื่นชมความก้าวหน้าการปฏิรูปภาคเกษตรของไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

People Unity News : เอฟเอโอ ชื่นชมความก้าวหน้าการปฏิรูปภาคเกษตรของไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ยืนยันพร้อมสนับสนุนไทยด้านเกษตรปลอดภัยอาหารปลอดภัยรับมือโควิด19

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมาย นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางอุมาพร พิมลบุตร นายพิศาล พงศาพิชณ์ ตัวแทนหน่วยราชการในกระทรวง ให้การต้อนรับ นายจอง จิน คิม (Mr. Jong-Jin Kim) ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และคณะ เข้าเยี่ยมคารวะในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีการหารือครอบคลุมประเด็นความร่วมมืออย่างใกล้ชิด (Hand in Hand initiative) และความร่วมมือแบบหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (South-South Cooperative Programmed) การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ และการสนับสนุนโครงการในการพัฒนาด้านการเกษตร ระหว่าง FAO กับประเทศไทยในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก รวมทั้งโครงการความร่วมมือด้านการเกษตรภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 (FAO/RAP) ในการประเมินผลกระทบของโรคที่มีต่อภาคการเกษตร (the COVID-19 country assessment of impact and response option on food system, food security and nutrition and livelihoods) โดย FAO มีโครงการสนับสนุนไทยในการแก้ไขปัญหาหลัง COVID และสนับสนุนโครงการความร่วมมือที่มีอยู่เดิมได้แก่ การลดการสูญเสียอาหาร (National Food loss baseline) การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยดินแห่งภูมิภาคเอเชีย (Center of Excellence on Soil Research in Asia : CESRA) และการขึ้นทะเบียนพื้นที่มรดกการเกษตรโลกที่จังหวัดพัทลุงและเพชรบุรี โดย FAO ชื่นชมความก้าวหน้าของการปฏิรูปภาคเกษตรของไทยและยืนยันว่า FAO ยินดีสนับสนุนพร้อมทั้งขยายความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับประเทศไทย

ทั้งนี้ นายอลงกรณ์ ได้เน้นย้ำถึงนโยบายปฏิรูปภาคเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนเพื่อการผลิตอาหารปลอดภัย (Food Safety) การจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านเกษตร (Excellence center) ทั่วทั้งประเทศเป็นเครื่องยนต์ตัวใหม่ในการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสอดคล้องกับแนวทางของ FAO เพื่อรับมือโจทย์สำคัญในด้านความมั่นคงทางอาหาร และความปลอดภัยทางอาหารและพร้อมขยายความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯกับ FAO ตามข้อเสนอที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้ตกลงร่วมกัน

สำหรับการพบหารือของผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ FAO เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเดินทางเข้าร่วมประชุมความร่วมมือกับทาง FAO ที่สำนักงานใหญ่ที่กรุงโรมของที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯเมื่อปลายปีที่แล้ว ตามมาด้วยการเดินทางมาเยือนไทยของผู้อำนวยการใหญ่ FAO (นายฉู ตงหยู) เมื่อวันที่ 17 -18 กุมภาพันธ์ 2563 โดยหารือความร่วมมือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

Advertising

ข่าวดี ซาอุดีอาระเบียยกเลิกข้อห้ามคนซาอุดีฯเดินทางเข้าไทย และอนุญาตคนไทยเข้าซาอุดีฯได้

People Unity News : ประยุทธ์ ปลื้มข่าวดี ซาอุดีอาระเบียยกเลิกข้อห้ามคนซาอุดีฯเดินทางเข้าไทย และอนุญาตคนไทยเข้าซาอุดีฯได้

วันนี้ (16 มีนาคม 2565) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบข่าวที่น่ายินดีว่า รัฐบาลซาอุดีอาระเบียประกาศยกเลิกการห้ามบุคคลสัญชาติซาอุดีฯ เดินทางเข้าไทย ซึ่งเป็นข้อห้ามที่มีมายาวนานกว่า 30 ปี รวมทั้งอนุญาตให้บุคคลสัญชาติไทยเดินทางเข้าซาอุดีฯได้

โฆษกรัฐบาล เชื่อมั่นว่า ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์ มีเอกลักษณ์สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวซาอุดีฯได้แน่นอน โดย ททท. ตั้งเป้าดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวซาอุฯ ให้มาเที่ยวไทย 200,000 คน โดยเน้นกลุ่มครอบครัว คนรุ่นใหม่ วัยทำงาน กลุ่มคนรักสุขภาพ และกลุ่มคู่รักฮันนีมูน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ เป็นกลุ่มที่ค่าใช้จ่ายต่อหัวสูงกว่าหลายๆชาติ และเป็นกลุ่มที่ยังไม่เคยเดินทางมาไทย

นอกจากนี้ อีกหนึ่งข่าวที่น่ายินดี ทางการซาอุดีฯ พิจารณายกเลิกห้ามนำเข้าสินค้าสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกจากประเทศไทย ซึ่งไทยถูกระงับและห้ามการนำเข้ามาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 โดยมีสถานประกอบการส่งออกของไทยที่ได้รับอนุญาตขึ้นทะเบียนกว่า 11 แห่ง ถือเป็นข่าวดีด้านการส่งออกปศุสัตว์ไทย โดยเฉพาะในการเสริมสร้างบทบาทของไทยในฐานะครัวโลก เพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารของซาอุดีอาระเบีย เนื่องจากซาอุดีฯ ถือเป็นประเทศผู้นำเข้าเนื้อสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์แปรรูปรายใหญ่ของโลก ปัจจุบัน ซาอุดีอาระเบีย มีการนำเข้าไก่ปีละ 5.9 แสนตัน ถือเป็นตลาดใหญ่ที่น่าสนใจ สามารถสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ

ข่าวที่น่ายินดีทั้งสองข่าวดังกล่าว เป็นผลมาจากการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ที่เป็นไปตามลำดับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ภายหลังนายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นการเยือนในระดับผู้นำรัฐบาลระหว่างสองประเทศเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี

นายธนกรกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าผลจากการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบีย จะก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อประชาชน และประเทศทั้งสองมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะต่างเป็นสองประเทศที่มีศักยภาพ สามารถผูกสัมพันธ์ เชื่อมโยงเป็นผลทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญระหว่างกัน โดยนายกฯยังได้เน้นย้ำ และสั่งการให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องดำเนินงาน และนำเอาความสำเร็จจากการสานสัมพันธ์ในครั้งนี้ แปลงไปสู่นโยบายและการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมให้ได้โดยเร็ว

Advertising

ด่วน! “ประยุทธ์” ถึงฟิลิปปินส์แล้ว ขึ้นกล่าวในที่ประชุมสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน

People unity news online : เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2560 เวลา 17.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ภายหลังจากเดินทางถึงกรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 30 และการประชุมสุดยอดอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 28 – 30 เมษายน 2560 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมและกล่าวในการประชุม Prosperity for All ซึ่งจัดโดยสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN Business Advisory Council: ABAC) ณ ห้อง Grand Ballroom, City of Dreams

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เป็นเกียรติที่ได้รับเชิญจากสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญของประชาคมอาเซียน ที่ให้เข้าร่วมเสนอแนวคิดเรื่องการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมและรายย่อย หรือ MSMEs (Micro, Small and Medium Enterprises) ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจอาเซียน เนื่องจากมีจำนวนรวมกันถึงมากกว่าร้อยละ 95 ของธุรกิจทั้งหมดในแต่ละประเทศสมาชิก หากธุรกิจเหล่านี้มีความเข้มแข็ง ก็เชื่อได้ว่า เศรษฐกิจของอาเซียนและประชาคมอาเซียนจะมีความแข็งแกร่ง และก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ภาคเอกชนของอาเซียน โดยเฉพาะสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน ให้ความสนใจกับการส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย เพราะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต้องอาศัยภาคเอกชนทั้งรายใหญ่และวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยเป็นผู้เล่นหลัก ส่วนภาครัฐเป็นเพียงผู้สนับสนุน

สำหรับประเทศไทยได้ดำเนินการต่างๆที่สอดคล้องกับแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปี ค.ศ. 2025 (ASEAN Economic Community Blueprint 2025) และแผนปฏิบัติการในการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมปี ค.ศ. 2016 – 2025 โดยเมื่อต้นปีนี้ ไทยได้ได้จัดตั้งกองทุนเพื่อ SMEs ในแนวทางประชารัฐ เพื่อพัฒนาช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย ทุกกลุ่มจังหวัดในระบบเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบการศึกษา ให้สามารถกลับไปตั้งต้นเป็นวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมและรายย่อยในภูมิลำเนาได้ และในอนาคตจะเน้นช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย ภาคการเกษตร การท่องเที่ยว และภาคบริการที่กาลังเติบโตมากขึ้น

“การดำเนินตามแนวทางที่วางไว้ ในการรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียน ในเรื่องการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย เกิดขึ้นได้จริง ความสำเร็จที่เราจะมีต่อไป เป็นสิ่งที่ประเทศไทยพร้อมจะร่วมมือและแบ่งปันโมเดลประเทศไทย เพื่อให้ภูมิภาคมีความเจริญเติบโตอย่างมั่นคงตามโครงสร้างเศรษฐกิจที่พวกเรามี”

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ในประชาคมอาเซียนมีจุดเด่น 3 ประการ คือ เป็นแหล่งอาหารของโลก มีศิลปวัฒนธรรมที่หลากหลาย และมีความโดดเด่นด้านภาคบริการ โดยเฉพาะบริการที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว ประชากรในอาเซียนซึ่งมีอาชีพเกี่ยวข้องกับธุรกิจการเกษตร การค้า และการให้บริการมีจำนวนหลายร้อยล้านคน ในส่วนของไทยก็ได้พยายามพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เรียกว่า Young and Smart Farmers ให้เป็นผู้ประกอบธุรกิจด้านการเกษตรที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาช่วยให้สามารถผลิตสินค้าหรือบริการที่มีมูลค่าสูงขึ้น รัฐบาลไทยตระหนักดีว่าวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย มีบทบาทสำคัญ ไม่เพียงแค่มิติเศรษฐกิจ แต่ยังครอบคลุมถึงมิติด้านสังคม เพราะมีจำนวนมาก และกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค หากสามารถดูแลให้ธุรกิจเหล่านี้ มีความมั่นคงแข็งแกร่งได้ ก็เท่ากับช่วยให้ประชาชนที่เป็นเจ้าของและลูกจ้างมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำ อันเป็นความท้าทายของประเทศไทยและอาเซียนในภาพรวม

อนึ่ง การประชุม Prosperity for all Summit เป็นกิจกรรมที่สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN Business Advisory Council: ABAC) ได้ริเริ่มขึ้นในปีนี้ภายใต้หัวข้อ “Driving growth through micro and small entrepreneurs in Trade, Services and Agriculture” ซึ่งในด้านสารัตถะมีความสอดคล้องกับหัวข้อหลักของการเป็นประธานอาเซียนของสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ คือ “Partnering for Change, Engaging the World” และมีจุดประสงค์เพื่อสร้างการเจริญเติบโตที่ครอบคลุมและความมั่งคั่งให้แก่ประชาชนในอาเซียนโดยเน้นการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดย่อมและรายย่อยในภาคการค้าสินค้า ภาคบริการและภาคการเกษตร ซึ่งจัดคู่ขนานกับการประชุมสุดยอดอาเซียน

People unity news online : post 29 เมษายน 2560 เวลา 00.03 น.

ออสเตรเลียปรับท่าที ส่ง รมว.กลาโหมจูบปากไทย

People unity news online : 23 สิงหาคม 2560 พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษก กห. เปิดเผยว่า วันนี้ 23 ส.ค.60 เวลา 10.00 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นรม. และ รมว.กห. ให้การต้อนรับ นางสาว Marise Payne รมว.กห.เครือรัฐออสเตรเลีย และคณะ ณ ศาลาว่าการกลาโหม ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของ กห. ระหว่าง 22 – 24 ส.ค.60

นางสาว Marise ได้กล่าวแสดงความอาลัยอย่างสุดซึ้ง ต่อการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมทั้งได้แสดงความยินดีกับประชาชนไทย ในการเสด็จขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียและไทย ที่มีพัฒนาการอย่างแน่นแฟ้น โดยเฉพาะ กห.ของทั้งสองประเทศ ที่คงความต่อเนื่องในการสานต่อความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนความร่วมมือทางทหารระหว่างกันอย่างใกล้ชิด ทั้งด้านการฝึก ศึกษา การรักษาสันติภาพ การลาดตระเวนทางทะเล และการแลกเปลี่ยนข่าวสาร พร้อมทั้งเสนอให้มีการฝึกการลาดตระเวนทางทะเลร่วมกันในต้นปี 61 เพื่อพัฒนาศักยภาพความร่วมมือทางทะเล  ขณะเดียวกัน ก็ขอขอบคุณไทยที่ให้การสนับสนุนออสเตรเลียในเวทีการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ( ADMM Plus )  เพื่อร่วมกันรักษาความมั่นคงของภูมิภาค

พล.อ.ประวิตร ได้กล่าวขอบคุณ นางสาว Marise ที่แสดงความอาลัยต่อการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ 9 พร้อมทั้งขอบคุณออสเตรเลียที่ให้การสนับสนุนความร่วมมือทางทหารกับไทยมาโดยตลอด โดยเฉพาะได้ส่งเรือรบเข้าร่วมพิธีสวนสนามทางเรือที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในโอกาสครบรอบ 50 ปีอาเซียนในเดือน พ.ย.60  และกล่าวว่า การเดินทางเยือนไทยของ รมว.กระทรวงต่างประเทศ และ รมว.กระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย ในระยะเวลาที่ใกล้กันที่ผ่านมา สะท้อนถึงความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศที่แน่นแฟ้นมาโดยตลอด ทั้งนี้ ความร่วมมือทางทหารที่ใกล้ชิดและแน่นแฟ้นระหว่างกัน จะเป็นส่วนสำคัญให้เราสามารถรับมือกับความท้าทายของภูมิภาคและของโลกร่วมกัน

People unity news online : post 23 สิงหาคม 2560 เวลา 21.20 น.

แม่ทัพภาค 4 พบสื่อฯ 3 ประเทศ สร้างความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยว และนักธุรกิจเยือนพื้นที่ จชต.

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 1 ธันวาคม 2566 แม่ทัพภาคที่ 4 ร่วมพบปะสื่อฯ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย พร้อมสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัย ยินดีต้อนรับ นักท่องเที่ยวและนักธุรกิจเข้ามาเยือนพื้นที่ จชต.

พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 และคณะ ร่วมพบปะคณะสื่อมวลชนและผู้ประกอบการท่องเที่ยวมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่เดินทางมาเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อร่วมกิจกรรมสานสัมพันธ์สื่อมวลชนและผู้ประกอบการท่องเที่ยวคาบสมุทรมลายูครั้งที่ 1 การจัดบรรยากาศที่เป็นกันเอง ซึ่งจัดโดยสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทยและภาคีเครือข่าย เพื่อส่งเสริมประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว พร้อมหารือเรื่องการสร้างความเชื่อมั่น การดูแลความปลอดภัย ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการและสื่อมวลชนในโครงการนี้

พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4/ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 กล่าวว่า ได้ทราบจากนายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทยถึงกิจกรรม สานสัมพันธ์สื่อมวลชน และผู้ประกอบการท่องเที่ยวคาบสมุทรมลายูครั้งนี้ นับว่าเป็นกิจกรรมที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่ ในฐานะที่เป็นบ้านพี่เมืองน้อง มีความหลากหลายในการนับถือศาสนา และเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้กันในภูมิภาคอาเซียน การมาเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ เชื่อว่าสื่อมวลชนทุกท่านได้มาเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงหลังจากที่ห้วงสองสามปีที่ผ่านมาทั่วโลกได้เกิดภาวะโรคโควิด-19 ระบาด ทำให้ทุกอย่างต้องหยุดชะงักไป และปัจจุบันนี้สถานการณ์ดีขึ้นและทุกอย่างได้กลับมาดำเนินการเดินหน้าเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งปัจจุบันนี้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้รวมถึงจังหวัดสงขลามีนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจเดินทางเข้ามาทำธุรกิจ มาท่องเที่ยวในพื้นที่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพี่น้องประเทศเพื่อนบ้านมาเลเซีย อินโดนีเซีย เดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มีการพัฒนาการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลปัจจุบันให้ความสำคัญและเร่งพัฒนาเรื่องเศรษฐกิจ แม้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น 20 กว่าปี แต่ปัจจุบันเหตุการณ์ดีขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งเรื่องของความมั่นคง และเรื่องการท่องเที่ยวการพัฒนาได้มีการขับเคลื่อนควบคู่กันอย่างต่อเนื่อง ขอให้ความมั่นใจต่อนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจที่เข้ามาในพื้นที่ ขอให้ท่านมีความมั่นใจในเรื่องของความปลอดภัย ส่วนเรื่องหลากหลายไม่ใช่ปัญหา ผู้คนสามารถอยู่ร่วมกันได้เพราะทุกวัฒนธรรมทุกศาสนาสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข และในฐานะแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งรับผิดชอบดูแลพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ขอให้ทุกคนมั่นใจได้ทั้งเรื่องความปลอดภัยและการอำนวยความสะดวก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยว และนักธุรกิจที่เดินทางมาเข้ามาให้ท่านเชื่อมั่นวางใจได้ เราพร้อมที่จะดูแลช่วยเหลือในทุกด้านโดยเฉพาะเรื่องของความปลอดภัยเมื่อมาเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้

โครงการ “สานสัมพันธ์สื่อมวลชนและผู้ประกอบการท่องเที่ยวคาบสมุทรมลายูครั้งที่ 1 กำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน – 6 ธันวาคม 2566 นำโดย นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย ดำเนินกิจกรรมโดยสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทยที่นำเครือข่ายผู้ประกอบการ นักท่องเที่ยว สื่อมวลชนในกลุ่มมาเลเซีย และอินโดนีเซีย มาเที่ยวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมเข้าพบปะบุคคลสำคัญต่างๆ ในพื้นที่ ทั้งหน่วยงานรัฐ และเอกชน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ หารือความร่วมมือในด้านต่างๆ รวมถึงเป็นการประชาสัมพันธ์แลกเปลี่ยนข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบกับสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยวรู้สึกให้มั่นใจถึงความปลอดภัยเมื่อมาเยือนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักโดยเฉพาะเขตพัฒนาเศรษฐกิจ IMTGT เชื่อมสัมพันธ์และกระชับมิตรระหว่างสื่อมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสื่อไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นับเป็นกิจกรรมที่ช่วยกระชับมิตรระหว่างสื่อมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสื่อไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีความสัมพันธ์ที่ดี และร่วมกันพัฒนาขับเคลื่อนสิ่งดี ๆ ร่วมกันต่อไปในอนาคต

Advertisement

เผยรายละเอียดการประชุม BRICS ไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศนอกกลุ่มที่จีนเชิญ

People unity news online : พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะมีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมระหว่างผู้นำกลุ่มประเทศ BRICS กับประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา ณ เมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 4 – 5 กันยายน 2560

พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกำหนดการและวัตถุประสงค์การเข้าร่วมประชุม ดังนี้

สาธารณรัฐประชาชนจีน ในฐานะประธานกลุ่ม BRICS ประจำปี 2560 ได้จัดการประชุมระหว่างผู้นำกลุ่มประเทศ BRICS กับประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา (Emerging Markets and Developing Countries Dialogue หรือ EMDCD) โดยจีนได้เชิญประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาที่มีความสำคัญ มีเอกลักษณ์ และมีความสัมพันธ์ฉันมิตรที่ดีกับจีน จำนวน 5 ประเทศ ในฐานะแขกของประเทศเจ้าภาพ ได้แก่ (1) ไทย ในฐานะประเทศกำลังพัฒนาที่มีบทบาทสำคัญและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน (2) สหรัฐเม็กซิโก ในฐานะประเทศสมาชิกกลุ่ม 20 และตัวแทนจากภูมิภาคลาตินอเมริกา (3) สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ ในฐานะประเทศจากภูมิภาคตะวันออกกลาง (4) สาธารณรัฐทาจิกิสถาน ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านของจีน และ (5) สาธารณรัฐกินี ในฐานะประธานสหภาพแอฟริกา (African Union หรือ AU)

โดยหัวข้อหลักของการประชุม EMDCD คือ การเสริมสร้างความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมเพื่อการพัฒนาร่วมกัน ซึ่งประเด็นหลักที่จีนให้ความสำคัญ ได้แก่ การส่งเสริมการปฏิบัติการเพื่อการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 และการเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนา โดยเฉพาะความร่วมมือใต้–ใต้

ในโอกาสนี้ ไทยจะเน้นย้ำถึงบทบาทของประเทศกำลังพัฒนาที่มีบทบาทสำคัญที่ได้รับการยอมรับในเวทีโลก ต่อยอดจากการเป็นประธานกลุ่ม 77 และเป็นแขกรับเชิญพิเศษของจีนเมื่อจีนเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำกลุ่ม 20 ในปี 2559 รวมถึงบทบาทนำในการเป็นประเทศผู้ให้ภายใต้กรอบความร่วมมือใต้-ใต้

กำหนดการเข้าร่วมการประชุม มีดังนี้

วันจันทร์ที่ 4 กันยายน 2560

08.00 น.         -นายกรัฐมนตรีและภริยา พร้อมด้วยคณะ เดินทางออกจากท่าอากาศยานทหาร 2 (กองบิน 6) ไปยังเมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน สาธารณรัฐประชาชนจีน

12.20 น.         -เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติเซี่ยเหมินเกาฉี (เวลาที่เมืองเซี่ยเหมินเร็วกว่าเวลาที่กรุงเทพฯ 1 ชั่วโมง)

-การบรรยายสรุปการเข้าร่วมการประชุมผู้นำกลุ่มประเทศ BRICS กับประเทศตลาดเกิดใหม่ และประเทศกำลังพัฒนา

16.15 น.         -นายกรัฐมนตรีพบหารือทวิภาคีกับประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

16.40 น.         -นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นสักขีพยานการลงนามความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

วันอังคารที่ 5 กันยายน 2560

10.15 น.           -นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมระหว่างผู้นำกลุ่มประเทศ BRICS กับประเทศตลาดเกิดใหม่ และประเทศกำลังพัฒนา

12.30 น.           -นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวันที่เอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง เป็นเจ้าภาพเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีและคณะ

15.30 น.          -นายกรัฐมนตรีและภริยา พร้อมด้วยคณะ เดินทางออกจากท่าอากาศยานนานาชาติเซี่ยเหมินเกาฉี กลับประเทศไทย

17.50 น.          -เดินทางถึงท่าอากาศยานทหาร 2 (กองบิน 6) กรุงเทพฯ

People unity news online : post 1 กันยายน 2560 เวลา 14.00 น.

 

ไทยโชว์เทคโนโลยีดิจิทัลประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว-สินค้าไทยในงาน World Expo 2020 Dubai

People Unity News : ไทยโชว์ศักยภาพเทคโนโลยีดิจิทัล ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวและสินค้าไทย ในงาน World Expo 2020 Dubai

3 ตุลาคม 2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชื่นชมผลสำเร็จจากการเปิดต้อนรับผู้เข้าชมทั่วโลกอย่างเป็นทางการของอาคารแสดงประเทศไทย (Thailand Pavilion) ที่สร้างขึ้นภายใต้แนวคิด “การขับเคลื่อนสู่อนาคต” (Mobility for the Future) ในงาน World Expo 2020 Dubai ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2564 – 31 มีนาคม 2565

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นโอกาสดีที่ไทยจะได้สร้างความเชื่อมั่นผ่านศักยภาพและความพร้อมด้านเทคโนโลยีดิจิทัล การขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรมผ่านนโยบาย Digital Thailand 4.0 รวมถึงวิสัยทัศน์ในการมุ่งเป็น “ศูนย์กลางดิจิทัลในภูมิภาค” ควบคู่กับการเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การค้า การลงทุน การเดินทาง การขนส่งและจุดหมายการเดินทางของประชาชนทั่วโลก ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะเป็นโอกาสต่อยอดตามนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทย โอกาสนี้นายกรัฐมนตรียังได้ชื่นชมโครงการที่เปิดโอกาสให้ตัวแทนเยาวชนอาสาสมัครไทยมีส่วนร่วมและเป็นตัวแทนประเทศประจำอาคารแสดงประเทศไทย เพื่อให้เยาวชนมีส่วนร่วมกับรัฐบาล “พลิกโฉมประเทศไทย” ให้มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เพื่อวันนี้และวันข้างหน้าสำหรับคนไทยทุกคน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรี มั่นใจว่าการแสดงศักยภาพของไทยในงาน World Expo 2020 Dubai จะสามารถดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติได้ ตลอดจนจะช่วยส่งเสริมและประชาสัมพันธ์แผนการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทย ทั้งที่เริ่มดำเนินการแล้วและกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ได้แก่ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ โครงการสมุยพลัส โครงการส่วนขยายของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ 7+7 และแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่กักตัวระยะที่ 2 ที่จะเริ่มในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ใน 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี เชียงใหม่ เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งคาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ พยุงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง กระจายรายได้สู่ชุมชน และรักษาการจ้างงาน ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศจากสถานการณ์โควิด-19

สำหรับ งาน World Expo ถือเป็น 1 ใน 3 ของงานยิ่งใหญ่ระดับโลก จัดขึ้นทุกๆ 5 ปี ภายใต้การกำกับดูแลขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยงานมหกรรมโลก โดยอาคารแสดงประเทศไทย ประกอบด้วย 3 พื้นที่หลัก ได้แก่ นิทรรศการ บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ แนวทางการพัฒนาประเทศในอนาคต พื้นที่เชิงพาณิชย์ ที่ประกอบไปด้วย ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก และ Showcase Thailand 4.0 การประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวไทย และเวทีการแสดงวัฒนธรรมประเพณีไทย

Advertising

ประยุทธ์ แถลงข่าวร่วมนายกฯมาเลเซีย การหารือประเด็นสำคัญร่วมกัน 4 ด้าน

People Unity News : ประยุทธ์ แถลงข่าวร่วมนายกฯมาเลเซีย พร้อมขับเคลื่อนความร่วมมือรอบด้าน ยึดประโยชน์ประชาชนของทั้งสองประเทศ

25 ก.พ. 65 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวถ้อยแถลงในการแถลงข่าวร่วมกับ ดาโตะ ซรี อิซมาอิล ซาบรี ยาคบ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล โดยนายกฯ มาเลเซีย ถือเป็นผู้นำรัฐบาลต่างประเทศคนแรกที่เยือนประเทศไทย หลังสถานการณ์โรคโควิด-19 สะท้อนความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างสองประเทศ

นายกฯ ไทย ชื่นชมความมุ่งมั่นและวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของนายกฯ มาเลเซีย ในการขับเคลื่อนประเทศท่ามกลางความท้าทายต่างๆ พร้อมยืนยันความตั้งใจเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและมั่งคั่งแก่ประชาชนทั้งสองประเทศ บนพื้นฐานความไว้เนื้อเชื่อใจ เสมือน “ครอบครัวเดียวกัน”

ทั้งสองฝ่ายได้หารือประเด็นสำคัญร่วมกันใน 4 ประเด็น ดังนี้

1.การฟื้นฟูความเชื่อมโยงในทุกมิติ การเดินทางระหว่างประชาชนของสองประเทศ โดยเฉพาะการเดินทางของผู้ที่ฉีดวัคซีนครบแล้วโดยไม่ต้องกักกันโรค ทั้ง Vaccinated Travel Lane (VTL) ของมาเลเซีย และระบบ Test and Go ของไทย รวมถึงการเดินทางผ่านพรมแดนทางบกเพิ่มเติม

2.การกระตุ้นเศรษฐกิจและแสวงหาความร่วมมือสาขาใหม่ๆ ซึ่งที่ผ่านมามีปริมาณการค้าชายแดนและผ่านแดนเพิ่มสูงขึ้น และคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อีก โดยตั้งเป้ามูลค่าการค้าระหว่างกันที่ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2568 รวมถึงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล และการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG

3.การพัฒนาพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้และความมั่นคงชายแดน โดยนายกฯ เชิญชวนให้มาเลเซียร่วมลงทุนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงอุตสาหกรรมยางพาราและฮาลาล พร้อมชี้แจงสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งฝ่ายมาเลเซียสนับสนุนท่าทีของไทยในการแสวงหาทางออกด้วยสันติวิธี

4.การรื้อฟื้นกลไกหารือทวิภาคี ที่ครั้งนี้จะเป็นการปูทางสู่การแลกเปลี่ยนการเยือนและการประชุมหารือฯระหว่างกันต่อไป โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย – มาเลเซีย ครั้งที่ 14 ในเดือน มี.ค. นี้

Advertising

Verified by ExactMetrics