วันที่ 26 เมษายน 2024

สำนักพุทธฯร่วมกับวัดทั่วประเทศตั้งโรงทานช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

People Unity News : พศ.ร่วมกับวัดทั่วประเทศ ตั้งโรงทานช่วยเหลือประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ช่วยประชาชนได้กว่า 2.7 แสนคน/วัน เผยเตรียมช่วยเหลือผ่านระบบ Drive Thru ในทุกพื้นที่ชุมชน

วันนี้ (13 พ.ค.63) เวลา 12.00 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผู้อํานวยการสํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แถลงการจัดตั้งโรงทานช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้น คณะสงฆ์ไทยได้นำพระบัญชาของสมเด็จพระสังฆราชฯ ในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบความยากลำบากจากสถานการณ์ฯ โดยมีพระบัญชาให้จัดตั้งโรงทาน โดยให้สํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ประสานงานกับวัดทั่วราชอาณาจักรที่มีศักยภาพเพียงพอในการจัดตั้งโรงทานช่วยเหลือผู้ประสบความยากลำบากจากสถานการณ์ฯ โดยกำหนดแนวทางประสานความร่วมมือที่คำนึงถึงความพร้อมเป็นปัจจัยสำคัญ ร่วมกับการสนับสนุนจากภาครัฐ เอกชน และประชาชนในชุมชนนั้นๆ และให้ปฏิบัติตามคำสั่งมาตรการ คำแนะนำของทางราชการอย่างเคร่งครัด

ปัจจุบันมีการดำเนินการจัดตั้งโรงทานไปแล้ว 77 จังหวัด รวมทั้งกรุงเทพมหานคร รวมเป็น 914 ศูนย์ ซึ่งมีพี่น้องประชาชนที่ได้รับความช่วยเหลือกว่า 274,000 คนต่อวัน สำหรับวัดขนาดเล็กที่ยังมีศักยภาพไม่มากแต่ต้องการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ให้มีการจัดตั้งโรงทานในลักษณะตู้แบ่งปันความสุข ผู้ที่ต้องการรับความช่วยเหลือต้องปฏิบัติตามข้อกำหนด ทั้งการเข้ารับการตรวจ ณ จุดคัดกรอง ใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง 1.5 – 2 เมตร ไม่ให้เกิดความแออัด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ ขณะที่ผู้ให้ความร่วมมือในการเป็นแม่ครัวจิตอาสาต้องวัดอุณหภูมิก่อนเข้าไปประกอบอาหาร สวมผ้ากันเปื้อน หมวกคลุมผม และล้างมือก่อนการประกอบอาหาร ถือเป็นมาตรการหลักที่ต้องปฏิบัติตาม ขณะเดียวกันมีโรงทานที่เปิดทำการแล้วคือ โรงทานวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นโรงทานต้นแบบ ที่ได้เปิดตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลามากกว่า 1 เดือน เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ทั้งผู้ได้รับผลกระทบที่อาศัยอยู่ในชุมชน รวมทั้งผู้ประกอบอาชีพต่างๆที่ได้รับผลกระทบด้วย สำหรับโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตคือ การช่วยเหลือผ่านระบบ Drive Thru เพื่อสามารถให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้ทุกพื้นที่ชุมชน

นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดตั้งโรงทานเคลื่อนที่สำหรับประชาชนที่ไม่ได้อยู่ใกล้บริเวณพื้นที่วัด โดยการสื่อสารผ่านผู้นำชุมชน เพื่อจัดทำอาหารที่ปรุงสดใหม่ส่งไปยังชุมชนนั้นๆ โดยผู้ที่ต้องการรับความช่วยเหลือให้รออยู่ที่บ้านเพื่อเป็นการแก้ปัญหาความแออัด ขณะเดียวกันได้มีแนวทางการต่อยอดในการใช้วัดเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ปลูกผักปลอดสารพิษ “สวนวิถีพุทธ วิถีเกษตร” ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วในบางพื้นที่ เช่น วัดทรงเสวย วัดพรหมมหาจุฬามณี วัดประดู่ วัดอินทาราม รวมถึงการเชิญชวนพี่น้องประชาชนที่ยังไม่ได้กลับไปประกอบอาชีพ ช่วยกันปลูกผักและนำมาจำหน่ายให้แก่วัดเพื่อนำมาปรุงอาหารแจกจ่ายให้กับพี่น้องประชาชนต่อไป นอกจากจะทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนแล้ว ยังสามารถช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้อีกด้วย

สำหรับโครงการจัดตั้งโรงทานได้มีการต่อยอดดำเนินการไปยังพื้นที่วัดไทยในต่างประเทศ ทั้งทวีปยุโรป สหรัฐอเมริกา รวมถึงโอเชียเนีย เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างชาติ ตัวอย่างเช่น วัดอรุณสหราชอาณาจักร นอกจากนี้ยังมีการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ยากไร้ด้วย ซึ่งในอนาคตอาจจะมีการใช้วัดเป็นศูนย์การเรียนรู้ของชุมชนอย่างแท้จริง เพื่อเป็นการเปลี่ยนแนวคิดทัศนคติของคนในประเทศในเรื่องของการช่วยเหลือเผื่อแผ่ ทำให้พี่น้องประชาชนเข้าใจคำว่าพอเพียงและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้ในสังคม ทั้งนี้ สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงทาน สํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ประสานงานไปยังพื้นที่จังหวัดต่างๆ ผ่านสํานักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด ทั้ง 76 จังหวัด เพื่อประชาสัมพันธ์จุดจัดตั้งโรงทานของแต่ละพื้นที่จังหวัดนั้นๆ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง

โฆษณา

ครม.มีมติยืดเวลานำส่งเงินสมทบตามมาตรา 47 และผู้ประกันตนตามมาตรา 39

People Unity News : ครม.ออกมาตรการเยียวยาท่องเที่ยว แรงงาน ก.พาณิชย์ยืนยันไข่ไก่เพียงพอ ไม่ต้องกักตุน

วันนี้ (24 มี.ค.2563) ณ ศูนย์แถลงข่าวฯ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ นายประโยชน์ เพ็ญสุต รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าภายใน ได้ร่วมแถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 และมาตรการการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า จากนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะแถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เพียงที่เดียวเท่านั้น พร้อมกล่าวประชาสัมพันธ์การเจริญพระพุทธมนต์บทรัตนสูตร ซึ่งจะจัดขึ้นในวันพุธที่ 25 มี.ค. 63 เวลา 16.00 น. เพื่อสร้างความเป็นสิริมงคลและเสริมสร้างกำลังใจให้แก่ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 6 วัดและเมืองหลักๆ 3 วัดในแต่ละภาค ซึ่งจะไม่มีเปิดให้ประชาชนเข้าไปร่วมฟังที่พระอุโบสถ แต่จะถ่ายทอดสดทางวิทยุกระจายเสียง และทางสถานีโทรทัศน์ NBT โดยพระทุกรูปจะนั่งห่างกันเกิน 1 เมตร ล้างมือและการทำความสะอาดพระอุโบสถ ก่อนการปฏิบัติกิจสงฆ์ ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขด้วย

จากนั้น  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ ได้มีการอนุมัติหลักการให้อำนาจนายกรัฐมนตรีประกาศใช้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งจะมีการประกาศใช้ในวันมะรืนนี้คือ 26 มีนาคม เนื่องจากต้องมีระยะเวลาเตรียมการสื่อสารกับพี่น้องประชาชน ให้เข้าใจถึงหลักการและเหตุผลและความจำเป็นในขนาดนี้ รวมทั้งเตรียมการจัดโครงสร้างศูนย์อำนวยการฉุกเฉิน เมื่อประกาศใช้แล้วจะมีการประชุมศูนย์อำนวยการฉุกเฉินฯ ณ ทำเนียบรัฐบาลทุกเช้า ทั้งนี้ ขอให้รอความชัดเจนโดยนายกรัฐมนตรีจะได้ชี้แจงรายละเอียดมาตรการต่างๆต่อไป โดยจะเป็นการแถลงข่าวผ่านศูนย์แถลงข่าวโควิด-19 ทำเนียบ ช่องทางนี้เพียงที่เดียว

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังเปิดเผยมติคณะรัฐมนตรีมีเห็นชอบมาตรการเยียวยาผู้ประสบผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เสนอโดยกระทรวงการคลังเป็นมาตรการระยะที่สองเพิ่มเติมจากมาตรระยะที่หนึ่งเมื่อวันที่ 10 มีนาคม และคงจะมีมาตรการระยะอื่นๆตามมาเพื่อดูแลพี่น้องให้ครบทุกกลุ่มทุกภาคส่วนของไทย

สำหรับหน่วยงานราชการอื่นๆที่เสนอเพิ่มเติม โดยกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ ให้ยกเลิกกฎกระทรวง กำหนดจำนวนเงินหลักประกัน พ.ศ. 2555  โดยผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวจะต้องวางหลักประกันต่อนายทะเบียน ในวันที่มารับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวที่สำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์กลางหรือสาขาที่มีอำนาจหน้าที่ มีรายละเอียดของหลักประกันมี ดังนี้ 1) การประกอบธุรกิจนำเที่ยวประเภทเฉพาะพื้นที่ ต้องวางหลักประกันเป็นจำนวนเงิน 3,000 บาท  2) การประกอบธุรกิจนำเที่ยวประเภทภายในประเทศ ต้องวางหลักประกันเป็นจำนวนเงิน 15,000 บาท 3) การประกอบธุรกิจนำเที่ยวประเภทนำเที่ยวจากต่างประเทศ ต้องวางหลักประกันเป็นจำนวนเงิน 30,000 บาท และ 4) การประกอบธุรกิจนำเที่ยวประเภททั่วไป ต้องวางหลักประกันเป็นจำนวนเงิน 60,000 บาท  ซึ่งเป็นการบางเบาภาระให้กับผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์

กระทรวงแรงงานเสนอการผ่อนปรนแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าวปี 2562 – 2563 ให้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 โดยให้คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 ซึ่งนายจ้างหรือผู้ได้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงานได้ยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวกับเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงแรงงาน หรือยื่นผ่านระบบออนไลน์ ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563 และไม่สามารถดำเนินการขอตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไปเพื่อการทำงานได้ทันภายในกำหนด รวมถึงผู้ติดตามให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การยกเว้นข้อห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะสำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 เพื่อผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามที่การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุดอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวได้ต่อไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563  ในส่วนของกระทรวงแรงงาน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 เพื่อผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวที่การอนุญาตทำงานสิ้นสุดสามารถทำงานไปพลางก่อนได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563  แต่หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาการดำเนินการดังกล่าวขอให้หน่วยงานด้านความมั่นคงดำเนินการตรวจสอบปราบปราม จับกุมดำเนินคดีนายจ้าง แรงงานผิดกฎหมายที่ลักลอบทำงานและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

อีกฉบับหนึ่งที่จะรองรับมาตรการโควิด-19 คือ ร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย พ.ศ. …. ซึ่งมีการกำหนดบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563 จึงมีการแก้ไข คำนิยาม “เหตุสุดวิสัย” หมายความว่า อัคคีภัย  วาตภัย อุทกภัย  ธรณีพิบิติภัย หรือภัยอันเกิดจากโรคที่แพร่หรือระบาดในมนุษย์ซึ่งเป็นโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ตลอดจนภัยอื่นๆ ไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติหรือมีผู้ทำให้เกิดขึ้น ซึ่งมีผลกระทบต่อสาธารณชนและถึงขนาดผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้หรือนายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ  กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราเต็มจำนวนของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยดังกล่าว  ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ  แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 180 วัน  และกำหนดให้กรณีหน่วยงานภาครัฐมีคำสั่งให้นายจ้างหยุดประกอบกิจการ เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค  ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่ไม่ได้รับค่าจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 79/1 ในอัตราเต็มจำนวนของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการตามคำสั่ง ไม่เกินหกสิบวัน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการชดเชยกำลังซื้อที่ลดลงจากการไม่ได้รับค่าจ้างระหว่างการหยุดการประกอบกิจการ  และร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตน พ.ศ. ….  ให้นายจ้างที่ขึ้นทะเบียนนายจ้างและขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ได้รับการขยายกำหนดเวลายื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ดังนี้ ค่าจ้างงวดเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ให้ยื่นแบบรายการแสดงการนำส่งเงินสมทบและนำส่งเงินสมทบ ภายในวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ค่าจ้างงวดเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 ให้ยื่นแบบรายการแสดงการนำส่งเงินสมทบและนำส่งเงินสมทบ ภายในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ค่าจ้างงวดเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 ให้ยื่นแบบรายการแสดงเงินนำส่งเงินสมทบและนำส่งเงินสมทบ ภายในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2563 (2) ให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ได้รับการขยายกำหนดเวลานำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนมาตรา 39 วรรคสาม ดังนี้ เงินสมทบงวดเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ให้นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนภายในวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เงินสมทบงวดเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 ให้นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุน ภายในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2563 เงินสมทบงวดเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 ให้นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุน ภายในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2563

ในช่วงท้าย นายประโยชน์ เพ็ญสุต รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าภายใน ได้กล่าวถึงการมาตรการรองรับสินค้าอุปโภค บริโภค โดยเฉพาะไข่ไก่ที่ว่า สถานการณ์ในการผลิตสินค้าของประเทศไทยขณะนี้นั้น มีวัตถุดิบและกำลังการผลิตอย่างเพียงพอ แต่เมื่อประชาชนเริ่มซื้อสินค้าสำรองเนื่องจากการปิดห้างสรรพสินค้า อาจทำให้สินค้าบางชนิดขาดหายจากการวางตลาดไป โดยทางกรมการค้าภายในสั่งให้ผู้ตรวจราชการลงพื้นที่โรงงานเพื่อตรวจสอบว่ายังมีสินค้าอยู่เพียงพอ ขอยืนยันว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าด้านอุปโภคและบริโภคของประเทศไทย ทั้งยังขอความร่วมมือกับบริษัทผู้ค้าที่บริการส่งสินค้าด้วยตนเองหรือบริษัทขนส่งสินค้าให้เตรียมความพร้อม หากประชาชนไม่สะดวกไปซื้อด้วยตนเอง หรือจำเป็นจะต้องเฝ้าสังเกตอาการเป็นเวลา 14 วัน สำหรับไข่ไก่  มีปริมาณการผลิตไข่ไก่ในปีนี้ยังคงเพียงพอ แต่ด้วยความต้องการซื้อที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อสำรองไว้ อาจทำขาดตลาดได้บางเวลา จึงอยากขอความร่วมมือของประชาชนอย่ากักตุนไข่ สำหรับราคาไข่ไก่นั้น ทางกรมการค้าภายในนั้นยืนยันว่าหากผู้ใดที่จำหน่ายไข่ไก่เกินราคา จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

โฆษณา

“ประยุทธ์” ระบุสนามกีฬา สนามมวย ผับต่างๆ เมื่อถึงเวลาจำเป็นก็อาจต้องปิดทั้งหมด

People Unity News : ประยุทธ์ ย้ำรัฐบาลเตรียมมาตรการรับมือโควิด -19 ระบุยังไม่ถึงขั้นต้องไปกักตุนสินค้า เผยหากสถานการณ์เข้าสู่ระยะที่ 3 จะมีการจัดตั้งโรงพยาบาล เป็นศูนย์เฉพาะกิจในการรักษาพยาบาล ส่วนสนามกีฬา สนามมวย ผับต่างๆ เมื่อถึงเวลาจำเป็นก็อาจต้องปิดทั้งหมด เผยข้อเสนอให้ประชาชนตรวจหาเชื้อฟรี เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด มีการเสนอเข้ามาแล้ว โดยจะใช้กฎหมายกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ หรือยูเซ็ป (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP)

เมื่อวานนี้ (15 มีนาคม 2563) เวลา 09.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) เยี่ยมชมและให้กำลังใจเจ้าหน้าผู้ปฏิบัติงานประจำศูนย์ฯ โดยเดินทักทายพร้อมกล่าวให้กำลังใจ ขอให้เจ้าหน้าที่ทุกคนดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ร่วมมือกันก้าวผ่านเหตุการณ์นี้ไปให้ได้ จากนั้น นายกรัฐมนตรีรับฟังการบรรยายสรุปความคืบหน้าการทำงานของส่วนราชการต่างๆ เพื่อรับฟังข้อเสนอหารือแนวทางปฏิบัติร่วมกันอย่างเหมาะสมต่อไป

ภายหลังการรับฟังบรรยายสรุป และมอบนโยบายการทำงาน นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนว่า ที่เดินทางมาประชุมในวันนี้เพราะมีความห่วงใย ต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน วันนี้จึงมานั่งหารือสอบถามหน่วยงานตามมาตรการที่ได้ประกาศออกไปแล้ว ว่า เดินหน้าแค่ไหนอย่างไรและปัญหาอยู่ที่ไหน รวมทั้งทบทวนถึงการทำงานต่างๆ รวมถึงหน้ากากอนามัยได้สั่งการให้รวบรวมข้อมูลจำนวนหน้ากากอนามัยส่วนหนึ่งที่นำเข้าว่ามาจากประเทศใด และให้ตรวจสอบปริมาณที่นำเข้ามา เพื่อดูว่าปริมาณที่นำเข้ามากับปริมาณที่ผลิตในประเทศรวมแล้วมีจำนวนเท่าไหร่ พอเพียงหรือไม่ ขณะเดียวกันก็สั่งเพิ่มมาตรการเกี่ยวกับการผลิตตามสายผลิตของโรงงานต่างๆให้มากขึ้นผ่านมาตรการส่งเสริมต่างๆ โดยรัฐบาลพร้อมสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นการหารือกับประเทศผู้ผลิตวัตถุดิบ โดยเฉพาะการประสานกับประเทศจีนเนื่องจากวัตถุดิบส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศจีน ส่วนที่สอง คือ กำลังเร่งพัฒนาหน้ากากอนามัยทางเลือกซึ่งสามารถใช้กับบุคคลทั่วไปโดยเฉพาะบุคคลที่ไม่ได้ใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยง หรือในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งต้องร่วมมือกันรณรงค์สร้างความเข้าใจ สร้างจิตสำนึกให้ทุกคนมีความรับผิดชอบ

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการหารือถึงการเตรียมมาตรการรองรับหากสถานการณ์ที่เข้าสู่ระยะสาม โดยได้มีการพูดคุยว่ากระทรวงการต่างประเทศจะต้องดำเนินการอะไร เตรียมการส่วนใดบ้าง ฝ่ายความมั่นคงต้องพิจารณาดูว่าจะต้องใช้กฎหมายใดเพิ่มเติมเป็นพิเศษ ทั้งนี้ การประกาศบังคับใช้ไม่ยาก สิ่งสำคัญคือ ต้องดูผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ต้องเตรียมทำอย่างไร ทั้งประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ และสุขภาพ ล้วนเป็นสิ่งสำคัญทั้งสิ้น

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เข้าใจวันนี้ประชาชนเดือดร้อน อย่างไรก็ตามอยากขอร้องว่า ยังไม่ถึงขั้นตอนที่จะต้องไปกับตุนสินค้า ไม่ต้องกลัว รัฐบาลมีมาตรการเพิ่มเติม เช่น การติดตามตัว การใช้แอพพลิเคชั่นต่างๆ และกำลังพิจารณาดูว่าจะบังคับใช้กับทุกคนได้หรือไม่ เพราะมีประเด็นสิทธิส่วนบุคคล จะต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าตัวเสียก่อน วันนี้ต้องแยกการปฏิบัติในส่วนของคนไทย และชาวต่างประเทศ ทั้งหมดเป็นมาตรการที่เสนอมาโดยคณะแพทย์  นายกรัฐมนตรีเป็นผู้บริหาร ก็ฟังหมอเป็นหลัก วันนี้ที่มาร่วมประชุมไม่เพียงเฉพาะแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข แต่มีทั้งแพทย์จากภายนอก แพทย์อาวุโส ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้ ประเทศไทยเผชิญกับโรคระบาดเกิดขึ้นหลายโรคแล้ว วันนี้ทุกฝ่ายได้เข้ามาช่วยกันทั้งหมดแล้ว

นายกรัฐมนตรีกล่าวขอความร่วมมือจากทุกคนต้องฟังเหตุฟังผล รัฐบาลให้ความสำคัญกับทุกคน คนไทยที่กลับจากต่างประเทศก็มีมาตรการดูแล เช่น นักศึกษาทุนเอเอฟเอส เพราะทุกคนต้องการกลับบ้าน มีมาตรการการคัดกรอง สถานที่ เช่น ศูนย์สัตหีบ ก็ยังมีการใช้งาน ยามจำเป็นต้องเข้าไปใช้ก็ต้องใช้

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงแนวทางการเตรียมโรงพยาบาลรองรับว่า หากสถานการณ์เข้าสู่ระยะที่ 3 จะมีการจัดตั้งโรงพยาบาล เป็นศูนย์เฉพาะกิจในการรักษาพยาบาลโรคไวรัสโคโรนา ขณะนี้มีสถานที่แล้วเป็นโรงพยาบาลที่สร้างใหม่แต่ยังไม่ได้เปิดใช้งาน มีจำนวนเตียงประมาณ 100 เตียง จะใช้เป็นโรงพยาบาลศูนย์เฉพาะกิจสำหรับโรคโควิด 19 โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นมาตรการรองรับในอนาคต สำหรับอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆรัฐบาลพร้อมสนับสนุนทุกเรื่องที่เป็นความต้องการของหน่วยงานภาครัฐตามมติของคณะกรรมการโรคระบาดแห่งชาติ

ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อเสนอให้มีการปิดผับและสถานบันเทิงในพื้นที่เสี่ยง โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวตอบว่า สำหรับสถานบันเทิงได้มีการหารือแล้ว หากขอความร่วมมือได้ก็จะขอความร่วมมือ กรณีที่มีปัญหาก็ต้องดูว่าพร้อมที่จะปิดตัวเองหรือไม่ เมื่อถึงเวลาจำเป็นก็อาจต้องปิดทั้งหมด แต่เป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง ทุกมาตรการต้องคำนึงถึงหลายหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นสนามกีฬา สนามมวย ผับต่างๆ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังไปหารือกันว่าควรมีมาตรการอย่างไรต้องฟังจากหมอว่าจะควบคุมอย่างไร

นายกรัฐมนตรียังตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงข้อเสนอให้ประชาชนสามารถตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด 19 ฟรี เพื่อเป็นอีกวิธีในการป้องกันการแพร่ระบาดได้ว่า มีการเสนอแล้วโดยจะมีการใช้กฎหมายกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ หรือยูเซ็ป (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) ที่เริ่มประกาศใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2560 โดยให้ผู้ป่วยในทุกสิทธิ์การรักษาที่เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต สามารถเข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุดในที่จุดเกิดเหตุได้ รวมถึงโรงพยาบาลเอกชน ในช่วงเวลา 72 ชั่วโมงแรก ขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้นายกรัฐมนตรีบูรณาการภาพรวมทั้งหมดตั้งแต่ต่างประเทศ สนามบิน พื้นที่ควบคุม ภาคปฏิบัติมีการบูรณาการกันแล้ว พร้อมยอมรับว่าสถานการณ์ไม่เคยเกิดขึ้นมานานแล้ว ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นมาย่อมมีความยุ่งยาก สับสนพอสมควร เนื่องจากต้องดูแลคนจำนวนมากทั้งในและต่างประเทศ มีการเข้าและการออก ยืนยันว่าการบริหารจัดการรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่ได้ล่าช้า หลายอย่างต้องอาศัยความเข้าใจเนื่องจากมีคนจำนวนมากในการทำงานร่วมกัน ทุกวันนี้มีคนเข้าประเทศลดลงมากสถิติก็มีอยู่แล้ว เที่ยวบินก็ลดลงจำนวนคนที่เคยเข้ามาวันละ 60,000- 70,000 คน เหลือเพียง 6,000 คน ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาที่ตามมาในอนาคต ต้องมาคิดดูว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป อย่างไรก็ตาม วันนี้สุขภาพถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

โฆษณา

ด่วน! แรงงานไทยในลิเบียขอกลับไทย หวั่นโควิดระบาดหนักในลิเบีย สุชาติสั่งสอบไปได้ไง

People Unity News : สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน สั่งตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีบริษัทจัดหางานลักลอบส่งแรงงานไทยไปทำงานในลิเบีย หากผิดจริงให้ลงโทษตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด

รมว.แรงงาน เผย ได้รับรายงานจากสำนักงานแรงงานไทยในประเทศซาอุดิอาระเบีย (กรุงริยาด) ว่ามีแรงงานไทยในลิเบีย ร้องขอความช่วยเหลือในการเดินทางกลับประเทศไทยจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโรม จึงสั่งการ กกจ. ตรวจสอบข้อเท็จจริง และให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน ได้รับรายงาน จากสำนักงานแรงงานไทยในประเทศซาอุดิอาระเบีย (กรุงริยาด) ว่ามีแรงงานไทยจำนวน 19 คน ที่ทำงานอยู่ในประเทศลิเบียกับนายจ้างบริษัท Mellitah Oil & Gas B.V. Libyan Branch ตั้งอยู่ที่เมือง Awijilah (จาลู) ใกล้ชายแดนอียิปต์ ห่างจากกรุงตริโปลี ประมาณ 1,000 กิโลเมตร ซึ่งเป็นบริษัทร่วมค้า (Joint Venture) กันระหว่างบริษัท Eni North Africa ของประเทศอิตาลี กับ National Oil Cooperation Noc ลิเบีย ซึ่งแรงงานไทยแจ้งว่าเดินทางไปทำงานโดยการจัดส่งของบริษัทจัดหางาน  เวิลด์พาวเวอร์ เซอร์วิส จำกัด ได้ร้องขอความช่วยเหลือจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโรม ว่าต้องการเดินทางกลับประเทศไทย เนื่องจากกลัวจะติดเชื้อโควิด – 19 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศลิเบีย จึงได้สั่งการให้กรมการจัดหางานตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าบริษัทจัดหางานดังกล่าวเป็นผู้จัดส่งจริงหรือไม่ หากพบว่ากระทำผิดจริงจะลงโทษตามกฎหมาย และจะเร่งประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศในการให้ความช่วยเหลือเรื่องการเดินทางกลับประเทศไทยต่อไป

ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ได้สั่งการให้กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน ตรวจสอบข้อเท็จจริง และข้อมูลการเดินทางไปทำงานของแรงงานไทยจำนวน 19 คนดังกล่าว พบว่าทั้งหมดไม่ได้แจ้งการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ ตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เนื่องจาก กรมการจัดหางานไม่อนุญาตให้ดำเนินการจัดส่งคนหางานไปทำงานในประเทศลิเบีย เพราะเป็นประเทศที่เกิดภัยสงครามกลางเมือง จึงระงับการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในประเทศลิเบียทุกกรณี ตั้งแต่ปี 2557 ทั้งนี้ ในวันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม 2563 กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน ได้เชิญบริษัทจัดหางาน เวิลด์พาวเวอร์ เซอร์วิส จำกัด ซึ่งแรงงานไทยแจ้งว่าเป็นผู้จัดส่งไปทำงานในประเทศลิเบีย มาชี้แจงข้อเท็จจริง หากพบว่าบริษัทจัดหางานดังกล่าวเป็นผู้จัดส่งจริง จะต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาดต่อไป

“ขอย้ำเตือนว่า คนหางานที่ประสงค์จะไปทำงานในต่างประเทศ ก่อนตัดสินใจไปทำงาน ควรตรวจสอบข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ให้ชัดเจน ว่าตำแหน่งงาน และประเทศที่จะไปนั้น มีอยู่จริงหรือไม่ มีสัญญาจ้าง เงินเดือน หรือสวัสดิการ ตามกฎหมายหรือไม่ เพื่อเป็นการป้องกันการถูกหลอกลวง” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ผู้ที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

Advertising

ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ให้ความมั่นใจกระบวนการผลิตวัคซีนโควิด 19 ของไทยคืบหน้า

People Unity News : ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ให้ความมั่นใจกระบวนการผลิตวัคซีนโควิด 19 ของประเทศไทยคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ผนึกกำลังหลายหน่วยงานได้ผลก้าวหน้าทัดเทียมกับนานาชาติ เชื่อว่าหากการทดสอบในแต่ละขั้นตอนประสบผลสำเร็จจะได้วัคซีนที่มีคุณภาพให้คนไทยได้ใช้ในกรอบระยะเวลา 12-18 เดือน เผยต้องคิดค้นวิจัยเองเพื่อให้คนไทยมีใช้รวดเร็ว หากรอซื้อจากต่างประเทศอาจไม่ได้ใช้ทันเวลา ส่วนภาคการผลิตพร้อมขยายกำลังการผลิตจำนวนมาก รอแค่ผลวิจัยวัคซีนตัวไหนดีที่สุด

24 พฤษภาคม 2563 ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ได้มีการแถลงความก้าวหน้าวัคซีนโควิด-19 โดย นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวถึงความคืบหน้าการพัฒนาวิจัยวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 ว่า ประเทศไทยภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม, สถาบันการศึกษาอีกหลายแห่ง รวมทั้งไบโอเทค สวทช. และบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ขณะนี้มีความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ผลการวิจัยในรูปแบบวัคซีน mRNA ประสบความสำเร็จในการทดลองในหนูและเริ่มทดลองในลิง ขณะที่นานาชาติมีการวิจัยวัคซีนอีก 114 ชนิด ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการทดลองในสัตว์ทดลอง และมีวัคซีนอีก 10 ชนิด ที่มีการทดลองในคน ประเทศที่มีความก้าวหน้าอย่างมากในเวลานี้ ได้แก่ จีน สหรัฐฯ อังกฤษ เยอรมัน และออสเตรเลียทั้งนี้ การจะผลิตวัคซีนป้องกันโควิด 19 ให้คนไทยเข้าถึง ต้องนำศักยภาพของแต่ละหน่วยงานมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศรวมทั้งการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานวิจัยและผู้ผลิตทั้งในและนอกประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์ร่วมด้วย ถ้าได้ผลการวิจัยออกมาดีและเป็นไปตามแผน คาดว่าจะได้วัคซีนที่ดีและเหมาะสมกับคนไทยและผลิตในเชิงอุตสาหกรรมได้ ภายในเวลา 12-18 เดือน

ขณะที่ศาสตราจารย์ นายแพทย์เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการโครงการวิจัยวัคซีนโควิด 19 ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเตรียมวัคซีนให้กับประชากรโลกนั้น หากมีประเทศใดที่ผลิตได้สำเร็จ แน่นอนว่าต้องให้ประชากรของประเทศตัวเองก่อน ตอนนี้มีจีนและสหรัฐฯที่มี่ความก้าวหน้าไปมาก 2 ประเทศนี้ประชากรรวมกันประมาณ 1.8 พันล้านคน แค่ผลิตเพียงครึ่งเดียวอาจมากถึง 800-900 ล้านโด๊ส กว่าจะส่งให้ประเทศอื่นจึงต้องรอเวลา สำหรับประเทศไทยมีนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ที่มีความสามารถสูง มีความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเพลซิวาเนียที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีล่าสุด และการได้เห็นตัวอย่างของเทคโนโลยีการวิจัยจากประเทศต่างๆที่ประสบความสำเร็จ จึงมั่นใจว่าเราจะวิจัยและพัฒนาวัคซีนได้ไม่ช้าไปกว่าประเทศอื่นๆมากนัก และอยู่ในกรอบเวลาที่ประมาณ 1 ปี หรือ 1 ปีครึ่ง ขณะนี้จึงได้ประสานโรงงานขนาดเล็กเพื่อผลิตวัคซีนที่ได้มาตรฐานสำหรับการวิจัยในคนเอาไว้แล้ว พร้อมกับการเจรจาเพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัทวัคซีนในประเทศไทยหากผลการทดสอบวัคซีนในแต่ละขั้นตอนประสบความสำเร็จ

ส่วนนายวิฑูรย์ วงศ์หาญกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด กล่าวว่า เทคโนโลยีการผลิตวัคซีนของบริษัทฯ มีประสบการณ์ มีนักวิจัยที่มีความสามารถและมีความพร้อมที่จะรองรับการผลิตวัคซีนโควิด 19 ในระดับอุตสาหกรรมได้หลากหลายรูปแบบตามผลสำเร็จของการวิจัย และพร้อมทำความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศเพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผลการวิจัยว่าจะได้วัคซีนตัวไหนที่ดีและเหมาะสมที่สุด ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าขณะนี้บริษัทสามารถดำเนินการการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ขึ้นมาได้เองได้อย่างรวดเร็วกว่าวัคซีนปกติทั่วไป และเริ่มทำการทดสอบในหนูไปแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างการรอผล อีกทั้งยังมีความร่วมมือกับหลายหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนเพื่อวางแผนความร่วมมือกันถือว่าระบบการผลิตเรามีความพร้อมที่จะสามารถขยายกำลังการผลิตได้เพิ่มขึ้นสำหรับวัคซีนที่ผ่านการทดสอบแล้วว่าสามารถป้องกันโรคได้ให้เพียงพอต่อความต้องการของประเทศไทยได้เมื่อถึงเวลานั้น

Advertising

Advertising

กรมการขนส่งทางบกแนะวิธีเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะลดเสี่ยงติดโควิด-19

People Unity News : กรมการขนส่งทางบก แนะ!!! ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเลี่ยงโควิด-19 เดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะ สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้งตลอดการเดินทางทั้งผู้โดยสารและผู้ขับรถ

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ) ได้กำชับให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม มีมาตรการการป้องกันและควบคุมไม่ให้มีการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในระบบขนส่งสาธารณะ โดยกรมการขนส่งทางบกได้กำชับไปยังผู้ประกอบการขนส่ง ผู้ให้บริการขนส่งด้วยรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท รวมถึงผู้ให้บริการสถานีขนส่งผู้โดยสารทุกแห่ง ดำเนินการตามนโยบายและมาตรการต่างๆของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมอย่างเคร่งครัด ประชาสัมพันธ์แนะนำประชาชนที่เดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท เช่น รถโดยสารประจำทาง รถแท็กซี่ รถสองแถว หรือรถจักรยานยนต์รับจ้าง ให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้ง งดพูดคุยโทรศัพท์ในระหว่างการโดยสารรถสาธารณะ และควรล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ชนิดเจลหรือน้ำทุกครั้งที่มีการสัมผัสพื้นผิวต่างๆในที่สาธารณะ กรณีโดยสารรถแท็กซี่ควรนั่งตอนหลังของรถเพื่อเว้นระยะห่างระหว่างผู้ขับรถและผู้โดยสาร ลดความเสี่ยงการติดต่อ

ในส่วนของผู้ขับรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท แนะนำให้สังเกตอาการตนเองอยู่เสมอ หากป่วย มีอาการไข้ ไอ จาม ห้ามขับรถเด็ดขาด ควรกักตัวที่บ้านเพื่อสังเกตอาการ และขณะให้บริการหมั่นล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ชนิดเจลหรือน้ำบ่อยๆ และสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดระยะเวลาให้บริการ หากในระหว่างขับรถมีผู้โดยสารไอ จาม ให้ปิดแอร์แล้วเปิดหน้าต่างระบายอากาศ เพื่อไม่ให้เชื้อไวรัสสะสมอยู่ในรถ ลดโอกาสการติดเชื้อของผู้ขับรถและผู้โดยสารท่านอื่น

ด้านการดูแลความสะอาดภายในรถโดยสารสาธารณะ ควรจัดให้มีแอลกอฮอล์ชนิดเจลหรือน้ำประจำรถ หมั่นเปิดหน้าต่างให้อากาศภายนอกหมุนเวียน หรือเปิดหน้าต่างระหว่างให้บริการ ต้องทำความสะอาดรถทุกครั้งทั้งก่อนและหลังการให้บริการ โดยเช็ดทำความสะอาดบริเวณที่มีผู้โดยสารสัมผัสบ่อยๆ กรณีให้บริการผู้โดยสารที่มีการไอ จาม หรือ ไม่สบาย ระหว่างเดินทาง ควรใช้แอลกอฮอล์ 70% ในการทำความสะอาดภายในรถ นอกจากนั้น เมื่อมีเวลาพัก ควรเปิดประตูและหน้าต่างรถหรือเปิดช่องระบายอากาศ เพื่อระบายอากาศภายในรถ

อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ การให้บริการของรถโดยสารสาธารณะและการให้บริการที่สถานีขนส่งผู้โดยสาร จะดำเนินการตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมหรือมาตรการ Social Distancing เว้นระยะนั่ง หรือยืนห่างกัน อย่างน้อย 1-2 เมตร เช่น เว้นเบาะที่นั่งในรถตู้โดยสารและรถโดยสารประจำทาง กำหนดพื้นที่ยืนบนรถเมล์ ส่วนที่สถานีขนส่งผู้โดยสารทุกแห่งจะมีมาตรการคัดกรองผู้โดยสารทุกคนก่อนการเดินทาง รวมถึงตรวจคัดกรองพนักงานขับรถและผู้ประจำรถ หากพบผู้ที่มีอุณหภูมิร่างกายสูงเกินกว่า 37.5 องศาเซลเซียส หรือไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ผู้ให้บริการมีสิทธิปฏิเสธการให้บริการได้ ในขณะเดียวกัน หากประชาชนพบรถโดยสารไม่ปฏิบัติตามมาตรการ Social Distancing หรือมาตรการอื่นๆที่ภาครัฐกำหนดเพื่อป้องกันและควบคุมไม่ให้มีการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง

โฆษณา

กระทรวงการคลังเตือนประชาชนระวังข่าวปลอมเกี่ยวกับโครงการเราชนะ โครงการคนละครึ่ง

People Unity News : โฆษกกระทรวงการคลัง ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารของโครงการให้ความช่วยเหลือประชาชนภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงการคลัง จากช่องทางการสื่อสารที่เป็นทางการของทางราชการ

31 พ.ค.64 นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ขอเตือนให้ประชาชนได้ระมัดระวังข่าวปลอมที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับโครงการให้ความช่วยเหลือประชาชนของรัฐบาลที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงการคลัง เช่น โครงการเราชนะ โครงการคนละครึ่ง เป็นต้น ในลักษณะข้อความสั้น (SMS) หรือข้อมูลที่มีการส่งต่อผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ที่อาจคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง หรืออาจสร้างความสับสนแก่ประชาชน โดยโฆษกกระทรวงการคลังขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารของโครงการให้ความช่วยเหลือประชาชนภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงการคลัง จากช่องทางการสื่อสารที่เป็นทางการของกระทรวงการคลัง ได้แก่ www.เราชนะ .com www.mof.go.th www.fpo.go.th Facebook Fanpage “สถานีข่าวกระทรวงการคลัง” และ Facebook Fanpage  “สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง: Fiscal Policy Office”

นอกจากนี้ โฆษกกระทรวงการคลังได้แถลงเพิ่มเติมถึงความคืบหน้าของโครงการเราชนะ ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ดังนี้

1) ประชาชนกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 13.7 ล้านคน ได้มีการใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา จำนวน 96,377 ล้านบาท

2) ประชาชนกลุ่มที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลของแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ในโครงการเราเที่ยวด้วยกันและคนละครึ่ง และกลุ่มประชาชนทั่วไปที่ลงทะเบียนทางเว็บไซต์ www.เราชนะ .com ที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติแล้ว จำนวน 17.0 ล้านคน และมีการใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์สะสมตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา จำนวน 139,974 ล้านบาท

3) ประชาชนกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติแล้ว จำนวน 2.4  ล้านคน มียอดใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์สะสมตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2564 เป็นต้นมา จำนวน 19,165 ล้านบาท

ทำให้มีมูลค่าการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยแล้วกว่า 255,516 ล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้จ่ายผ่านผู้ประกอบการร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นที่มีแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ร้านค้าคนละครึ่งที่ตกลงยินยอมเข้าร่วมโครงการฯ รวมถึงผู้ประกอบการร้านค้าและผู้ให้บริการที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ จำนวนทั้งสิ้นมากกว่า 1.3 ล้านกิจการ

Advertising

กทม.ปิดพื้นที่เพิ่มเติม ห้องประชุม/ห้องจัดเลี้ยงโรงแรม สถานที่จัดเลี้ยงทั้งในหรือนอกโรงแรม 

People Unity News : โฆษก กทม.แจง ประกาศปิดพื้นที่เพิ่มเติม และอนุโลมให้เปิดบริการไปรษณีย์ให้ห้าง โรงอาหารในสถานพยาบาล และขายดอกไม้สด เพิ่มเติม

วันนี้ (27 มี.ค. 2563) เวลา 14.00 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ “COVID-19” โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร แถลงรายละเอียดมาตรการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวถึง คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครได้พิจารณาประกาศปิดสถานที่เพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องกับประกาศกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน ได้แก่ 1. สนามแข่งขัน เช่น สนามแข่งขันนกพิราบ ทุกสนามที่มีการแข่งขันทั้งคนและสัตว์ 2. สนามเด็กเล่น ในสวนสาธารณะและหมู่บ้าน 3. สถานที่แสดงมหรสพหรือมีการแสดง เช่น ลานแสดงดนตรีในพื้นที่สาธารณะ 4. พิพิธภัณฑ์สถาน และ 5. ห้องสมุด โดยขยายคำสั่งจากเดิมประกาศถึงวันที่ 12 เม.ย. 63 เป็น 30 เม.ย. 63 ต่อมาคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครได้พิจารณาปิดและอนุโลมเปิดสถานที่เพิ่มเติมโดยกรุงเทพมหานคร ดังนี้ สถานที่ประกาศปิด 1. ห้องประชุม/ห้องจัดเลี้ยงภายในโรงแรม สถานที่จัดเลี้ยงไม่ว่าจะในหรือนอกโรงแรม  2. โต๊ะสนุกเกอร์และบิลเลียด 3. สถานรับเลี้ยงเด็กของรัฐและเอกชน ยกเว้นสถานรับเลี้ยงเด็กในโรงพยาบาล และ 4. คลินิกเวชกรรมส่วนที่เสริมความงาม  สำหรับสถานที่ที่อนุโลมให้เปิด 1. โรงอาหารในสถานพยาบาล โดยให้จัดเว้นระยะห่างและรักษาความสะอาดอย่างเคร่งครัด 2. ตลาดสดหรือตลาดนัดที่อนุญาตให้ขายดอกไม้เพิ่มได้  3. หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจในห้างสรรพสินค้า เช่น ไปรษณีย์ สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว (Passport) ประกาศฯ มีผลในกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. 63 ยกเว้นสถานรับเลี้ยงเด็ก ให้มีผลวันที่ 31 มี.ค.63 มีผลถึง 30 เม.ย. 63 ทั้งนี้ โฆษกกรุงเทพมหานคร เข้าใจถึงความจำเป็นและความเดือดร้อนที่พี่น้องประชาชน แต่ต้องขอให้ร่วมมือกันเพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ให้ได้โดยเร็ว

โฆษณา

ศธ.เตรียมจ้างผู้ช่วยครูปฐมวัย 6 เดือน กว่า 1 หมื่นคน

People Unity News : รมว.ศธ. เผย ศธ.เตรียมช่วยเหลือครูตกงาน จ้างเป็นครูปฐมวัยชั่วคราว 6 เดือน รับเงินเดือน 9,000 บาท

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ คือ การจัดสรรงบประมาณทุกกระทรวงเพื่อช่วยเหลือผู้ไม่มีงานทำ

รมว.ศธ. กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้แต่ละกระทรวงจัดสรรงบประมาณตามความต้องการ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ยังไม่มีงานทำ ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้รับเสียงสะท้อนจากผู้ปกครองถึงความต้องการให้บุตรหลานในระดับปฐมวัย ได้กลับมาเรียนที่โรงเรียน หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโนา (โควิค-19) ดีขึ้น ซึ่งหากมีการรับนักเรียนในระดับชั้นดังกล่าวกลับมาเรียนที่โรงเรียนในสภาวการณ์ขณะนี้ มีความจำเป็นต้องเพิ่มสัดส่วนครูต่อนักเรียนมากขึ้น จากเดิม นักเรียน 20 คน ต่อครู 1 คน เป็นสัดส่วนนักเรียน 7 คน ต่อครู 1 คน หรือนักเรียน 20 คน ต่อ ครู 3 คน

ดังนั้น ศธ. จะต้องจัดหาผู้ช่วยครูในการดูแลนักเรียน โดยอาจคัดเลือกจากครูระดับปฐมวัยที่สอบบรรจุในตำแหน่งครูผู้ช่วย และได้ขึ้นบัญชีไว้แล้วเพื่อรอการบรรจุแต่งตั้ง

ทั้งนี้ ศธ.จะรวบรวมข้อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป เช่น การจ้างเป็นผู้ช่วยครู เป็นระยะเวลา 6 เดือน ได้รับอัตราเงินเดือนๆละ 9,000 บาท  ซึ่ง ศธ.มีงบประมาณดำเนินการไว้แล้วกว่า 500 ล้านบาท สามารถจ้างครูช่วยสอนได้ประมาณ 10,000 คน

โฆษณา

โฆษก ศบค. เผยคลินิกเสริมความงาม ผับ บาร์ ยังคงปิดบริการต่อไป

People Unity News : โฆษก ศบค. เผยคลินิกเสริมความงาม ผับ บาร์ ยังคงปิดบริการ เนื่องจากใช้เวลาทำกิจกรรมในสถานที่ดังกล่าวนาน วอนประชาชนยังคงเน้นการควบคุมโรคเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย

4 พ.ค. 63 เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ตอบคำถามสื่อมวลชนผ่านโซเซียลมีเดียช่วงการแถลงข่าวของศูนย์ข่าวโควิด-19 ดังนี้

โฆษก ศบค. ย้ำการให้บริการของสถานเสริมความงาม แม้บางแห่งได้มีการจดทะเบียนเวชรกรรมถูกต้อง ตามราชกิจจานุเบกษา ข้อกำหนดฉบับที่ 5 (6) ซึ่งประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 63 ว่า คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม เป็นหนึ่งในกิจการที่ต้องมีคำสั่งปิดสถานที่เพราะมีโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากอธิบดีกรมควบคุมโรคมีความเห็นว่า กิจการ/กิจกรรมที่ทำในคลินิกเวชกรรมเสริมความงามนั้นใช้เวลานาน และถือว่ามีความจำเป็นน้อย จึงถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกับ โรงมหรสพ สถานบริการ ผับ บาร์ เป็นต้น ยืนยันว่ายังไม่สามารถให้กลับมาให้บริการได้

โฆษก ศบค. ยังชี้แจงถึงข้อมูลและความแม่นยำผลการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 และผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 18 รายที่จังหวัดสงขลาว่า หลักการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น หากมีการตรวจในคนหมู่มาก ย่อมมีโอกาสพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงเพิ่มศักยภาพในการตรวจมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้กับทุกคนจะเป็นการใช้ทรัพยากรจำนวนมาก เช่น กรณีจังหวัดยะลาที่ตรวจไป 3,000 กว่าคน แต่บางอำเภอไม่พบผู้ป่วยเลย โฆษก ศบค. ยืนยันการใช้ชุดข้อมูล สถิติ เพื่อระบุกลุ่มเสี่ยงในการตรวจเป็นวิธีที่ยอมรับระดับประเทศและนานาชาติ ซึ่งกรมควบคุมโรคได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อดำเนินการในส่วนนี้

โฆษก ศบค. ยังแสดงความห่วงใยต่อพี่น้องประชาชนที่ได้เดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ที่มีความแออัด ขอให้เข้าใจว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตประจำวัน จะต้องสร้างความปลอดภัยได้ เช่นเดียวกับการปฏิบัติตนตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา  หากร่วมมือกัน ยึดหลักมาตรการป้องกันโรคตามประกาศ ทั้งการเช็ดทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัส สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ล้างมือด้วยสบู่ แอลกอฮอล์ เจลหรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค การเว้นระยะห่าง และลดความแออัด มาตรการดังกล่าวเหล่านี้จะทำให้ประสบสำเร็จได้  ซึ่งยังต้องอาศัยความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนให้ได้ร้อยละ 100 เพื่อทำให้จำนวนตัวเลขของผู้ติดเชื้อกลายเป็นศูนย์ ติดต่อกันอย่างน้อย 14 วัน จึงจะมั่นใจว่าจะไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศ เพื่อเราจะเข้าสู่ระยะต่อไปได้และมีอิสระในการดำเนินชีวิตมากยิ่งขึ้น

โฆษก ศบค. ยังตอบหากพบว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น จะมีมาตรการเข้มงวดขึ้นหรือไม่นั้น โดยชี้แจงว่า ศบค. มีการจัดเก็บชุดข้อมูลในรูปแบบของสถิติ ข้อมูลชุดพฤติกรรมที่มีการผ่อนปรนจะสอดคล้องกับชุดข้อมูลยืนยันผู้ติดเชื้อจากห้องปฏิบัติการ เมื่อปฏิบัติตามมาตรการผ่อนปรนแล้ว หากพบจำนวนตัวเลขของผู้ติดเชื้อลดลง ก็สามารถขยับมาตรการผ่อนปรนต่อไปได้ แต่หากจำนวนตัวเลขของผู้ติดเชื้อมีเพิ่มขึ้น จะต้องทบทวนมาตรการต่างๆอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งผู้ประกอบการ ผู้รับบริการและผู้กำกับติดตามของภาครัฐ ช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกัน จะสร้างความปลอดภัยให้แก่เราได้

โฆษณา

Verified by ExactMetrics