วันที่ 3 พฤษภาคม 2024

เลขาฯประกันสังคมแจงสถานะมั่นคง มีเงินพร้อมจ่ายผู้ประกันตน เผยเงิน 82% เอาไปลงทุน!!

People Unity News :  เลขาฯ สำนักงานประกันสังคม ให้ความมั่นใจกองทุนประกันสังคมมีสถานะมั่นคง พร้อมจ่าย วอนนายจ้างเร่งรับรองลูกจ้าง เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับเงินโดยเร็ว หากมีข้อสงสัยติดต่อ 1506

4 พฤษภาคม 63 เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม นางพิศมัย นิธิไพบูลย์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม และนายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักเงินสมทบ ชี้แจงมาตรการช่วยเหลืยผู้ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด 19 จากกองทุนประกันสังคม สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม รายงานการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยว่าตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค. – 2 พ.ค. 63 มีผู้ประกันตนมายื่นขอใช้สิทธิ์ทั้งสิ้น 1,177,841 ราย จากการใช้ระบบตรวจสอบข้อมูลพบว่า มีข้อมูลที่ยื่นซ้ำหรือไม่ใช่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่จะได้สิทธิทั้งสิ้น 219,537 ราย คงเหลือผู้ที่มีสิทธิ์ทั้งสิ้น 958,304 ราย จะดำเนินการจ่ายได้ตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้คือ 17 เม.ย.63 โดยเร่งดำเนินการวินิจฉัยสั่งจ่ายให้กับผู้ที่มีสิทธิ์ ทั้งสิ้นจำนวน 455,717 ราย ตั้งแต่วันที่ 20เม.ย.63 ที่ผ่านมาถึง 2 พ.ค. 63 คงเหลืออีก 207,895 ราย ทั้งนี้ การที่สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายเงินได้นั้น จะต้องมีการยื่นขอใช้สิทธิ์ 2 ทาง คือ ผู้ประกันตนที่ขอใช้สิทธิกับนายจ้างที่จะต้องรับรองสิทธิให้ลูกจ้าง ลูกจ้างจำนวน 294,692 ราย ยังรอการรับรองสิทธิจากนายจ้างประมาณ 50,000 ราย จึงขอให้นายจ้างช่วยรับรองสิทธิให้กับผู้ประกันตนด้วย ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้สั่งระดมเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานทุกกรม ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ประสานนายจ้างให้ช่วยมารับรองสิทธิ์ เพื่อสำนักงานจะได้ดำเนินการวินิจฉัย หรือนายจ้างอาจได้รับ SMS หรือ e-mail จากเว็บประกันสังคม หนังสือจากสำนักงานประกันสังคม เมื่อได้รับหนังสือแล้ว ขอนายจ้างรีบดำเนินการ ซึ่งจำนวนที่ได้สั่งจ่ายไปแล้ว 455,717 ราย คิดเป็นเงิน 2,354 ล้านบาท ยืนยันว่าสำนักงานประกันสังคมมีเงินเพียงพอ ขณะนี้มีผู้ทยอยยื่นว่างงานเฉลี่ย 30,000 คนต่อวัน หากมีข้อสงสัยหรือข้อสอบถามสามารถติดต่อสำนักงานประกันสังคมได้ที่เบอร์สายด่วน 1506

โอกาสนี้ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม ในฐานะโฆษกสำนักงานประกันสังคมกล่าวว่า การสำนักงานประกันสังคมได้ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย ให้ขยายความคุ้มครองผู้ประกันตนจากภัยอันเกิดจากโรคโควิด 19 ซึ่งผู้ประกันตนและนายจ้างสามารถตรวจสอบและยื่นเอกสารเข้ามาทางเว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคม ซึ่งมีการพัฒนาการยื่นรับรองระบบ E-service เพื่อให้ข้อมูลถูกต้องและชัดเจน สามารถนำมาประกอบการวินิจฉัยได้เร็วขึ้น กรณีนายจ้างที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนรับ USER และ Password สามารถดำเนินการได้หน้าเว็บไซต์และจะมีการออก USER และ Password ตอบกลับไปยัง Email ของท่านและสามารถยื่นรับรองในวันเดียวกัน

ผู้ตรวจราชการกรมยืนยันว่า สำนักงานประกันสังคมระดมสรรพกำลังติดตามให้นายจ้าง ซึ่งพบปัญหาบางกรณีนายจ้างยังประกอบกิจการอยู่แต่ลูกจ้างยื่นเข้ามา กรณีนี้ไม่สามารถรับเงินเยียวยาได้ เพราะยังมีการประกอบกิจการ อีกกรณีหนึ่ง นายจ้างมีการหยุดงานจริงแต่ยื่นขอใช้มาตรา 75 ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน คือ มีการจ่ายเงินให้กับลูกจ้างร้อยละ 75 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน ซึ่งสำนักงานประกันสังคมถือว่า เงินตรงนั้นเป็นค่าจ้างที่จะต้องนำส่งสำนักงานประกันสังคม ลูกจ้างก็จะไม่ได้ใช้สิทธิเยียวยาของสำนักประกันสังคม ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมจะนำข้อมูลทั้งหลายมาหักออกจากจำนวนลูกจ้างที่ให้นายจ้างยื่นรับรอง เพื่อนำไปบริหารต่อเพื่อจะได้เร่งจ่ายเงินเยียวยา

ผู้ตรวจราชการกรมยังชี้แจงกรณีที่มีการยื่นเข้ามาแล้วเงินเดือนเท่ากันแต่ไม่ได้รับเงินเท่ากันว่า กรณีการวินิจฉัยจ่ายเงินมีการรับรองยื่นว่างงานเข้ามาตั้งแต่ช่วงแรกที่มีเหตุสุดวิสัย อย่างไรก็ตาม กฎกระทรวงของประกันสังคมบังคับใช้วันที่ 17 เมษายน ดังนั้น เรื่องที่ยื่นเข้ามาก่อนได้นำมาวินิจฉัยให้ก่อน ซึ่ง ณ วันวินิจฉัยจะตัดจ่ายเงินให้ลูกจ้างรายนั้นไปก่อน ซึ่งในครั้งถัดไปจะมีการประมวลผลจ่ายเงินให้พร้อมกันในเดือนถัดไป เพราะฉะนั้นเมื่อนำมารวมกันแล้วก็จะได้รับเงินเท่ากันเดือนที่ 3 จะครบ 90 วัน ตัดจ่ายให้อีกครั้งเป็นครั้งสุดท้าย จะได้รับเงินเท่ากัน

ผู้ตรวจราชการกรมกล่าวกรณีที่การคำนวณเงินสมทบที่คำนวณเป็นรายวันว่า เนื่องจากว่าเงินสมทบที่นำมาคำนวณสิทธิประโยชน์ให้ใช้ฐานค่าจ้างสูงสุดที่ผู้ประกันตนนำส่งเข้ามา นำมารวมกัน 3 – 5 เดือน หากค่าจ้างไม่เท่ากัน จะนำมารวมกันแล้วหาร 90 วัน เป็นค่าจ้างต่อวัน ถ้าเป็นค่าจ้างเฉลี่ย 3 เดือนสูงสุดและนำไปคูณจำนวน 90 วัน ลูกจ้างที่เงินเดือน 15,000 บาท เท่ากันทุกเดือนสามารถออกมาเท่ากันได้ แต่บางคนได้รับค่าครองชีพหรือเงินอื่นๆที่ถือเป็นเงินค่าจ้างนำส่งเข้ามาด้วย จึงจะดูแต่ฐานเงินเดือนอย่างเดียวไม่ได้ ทั้งนี้ หลังจากสำนักงาน ฯ ที่ได้รับแจ้งจากหน่วยปฏิบัติจังหวัดและสำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศ รวมถึงพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะมีการนำจำนวนนายจ้างที่รับรองเหล่านั้นนำมาบริหารจัดการวินิจฉัยจ่ายเงินให้โดยเร็ว เพื่อทุกคนจะได้รับเงินครบถ้วน อาจจะมีการล่าช้าบ้าง ซึ่งการใช้มาตรา 75 อาจจะมีระยะเวลารอ เพราะต้องส่งให้สำนักงานสวัสดิการคุ้มครองแรงงานตรวจสอบ ก่อนจะมีการส่งกลับมาให้วินิจฉัยจ่ายเงินให้

จากนั้น ผู้อำนวยการสำนักเงินสมทบ อธิบายการลงทุนในส่วนเงินทุนประกันสังคม ในส่วนของการลงทุน 2.03 ล้านล้านบาท ร้อยละ 82 นำไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง คือ พันธบัตรรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ พันธบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทย และพันธบัตรของรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน อีกร้อยละ 18 ลงทุนในหน่วยลงทุนที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน infrastructure คือ ทองคำ และหน่วยลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น ผู้ประกันมั่นใจเสถียรภาพและความมั่นคงของกองทุนฯ มีความพร้อมและเพียงพอที่จะจ่ายสิทธิประโยชน์ทุกๆกรณี ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมนั้น มีผลการลงทุนเฉลี่ยย้อนไป 10 ปีอยู่ที่ร้อยละ 3.8 โดยเฉลี่ย ซึ่งคณะกรรมการประกันสังคมกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ประกอบด้วย ผู้แทนนายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ทรงคุณวุฒิ จากหลากหลายองค์กรของประเทศ นอกจากนั้นยังมีคณะอนุกรรมการบริหารการลงทุน ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจาก กลต. ธนาคารแห่งประเทศไทย และองค์กรสำคัญของประเทศ

ในส่วนการคืนเงินสมทบนั้น ลดอัตราเงินสมทบให้กับผู้ประกันตนจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 1 และลดอัตราเงินสมทบให้กับสถานประกอบการ จากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 4 โดยเงินเดือน 15,000 จะได้คืน 600 บาทต่อเดือน จำนวน 3 เดือน คือ 1,800 บาท กรณีสถานประกอบที่ได้หักเงินสมทบในอัตราเดิมในเดือนเมษายน จะได้คืนให้ผู้ประกันตนที่หักไว้เกิน หากยังไม่ได้ส่งเงินนายจ้างจะนำคืนลูกจ้างเลย หากนำส่งประกันสังคมแล้ว จะคืนให้กับนายจ้างดำเนินการต่อไป มาตรการลดอัตราเงินสมทบนี้ จะทำให้มีเงินกลับเข้าไประบบของผู้ประกันตนทั้งระบบ 17,000 กว่าล้านบาท

ในช่วงท้าย เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวเพิ่มเติมถึงสิทธิในการรักษาพยาบาลว่า สำนักงานประกันสังคมดูแลผู้ป่วยจากโควิด-19 เทียบเท่ากันกับกองทุนข้าราชการหรือกองทุน สปสช. อย่างเต็มที่ โดยกองทุนประกันสังคมพร้อมดูแลและดำเนินการตามระเบียบในการเยียวยารักษาผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการเจ็บป่วย ขอย้ำว่าเงินประกันสังคมเกิดจาก 3 ฝ่าย คือ นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล จ่ายตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดบัญญัติ เพราะเป็นสิทธิประโยชน์ที่จะต้องดูแลพี่น้องประกันผู้ประกันตนอย่างเต็มที่ ขอย้ำให้มั่นใจว่าสำนักงานประกันสังคมมีเงินเพียงพอและอยู่ในสถานะที่มั่นคง

โฆษณา

เงินเยียวยาถึงมือเกษตรกรแล้วกว่า 7 ล้านราย ย้ำยื่นอุทธรณ์ได้ถึงวันพรุ่งนี้ 5 มิ.ย.

People Unity News : เงินเยียวยา ถึงมือเกษตรกรแล้วกว่า 7 ล้านราย ย้ำยื่นอุทธรณ์ถึง 5 มิ.ย.นี้ พร้อมฝากถึงเกษตรกร นำเงินที่ได้ใช้เพื่อการยังชีพและลุงทุนให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นายระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์  เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่าจากที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้ สศก. ในฐานะนายทะเบียน ดำเนินการรวบรวม และจัดทำระบบคัดกรองข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อเร่งช่วยเหลือเกษตรกร โดยจ่ายเงินตรงผ่านบัญชี จำนวน 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2563 ซึ่ง สศก. ได้ส่งรายชื่อเกษตรกรกลุ่มที่ 1 และ 2 ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แล้วรวม 7.59 ล้านราย

ล่าสุด ธ.ก.ส. ได้โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรแล้วตั้งแต่วันที่ 15-31 พฤษภาคม 63 จำนวน 7,103,721 ราย รวมเงิน 35,518 ล้านบาท  ส่วนเกษตรกรที่มาขึ้นทะเบียนไว้ภายใน 15 พฤษภาคม ธ.ก.ส. จะเร่งโอนเงินให้แล้วเสร็จภายในต้นเดือนมิถุนายน สำหรับเกษตรกรที่ยังไม่เสร็จสิ้นขั้นตอนการขึ้นทะเบียน จะได้รับเงินครั้งเดียว 15,000 บาท ภายใน 15 ส.ค.63 โดยเกษตรกรที่ได้ขึ้นทะเบียนโครงการช่วยเหลือเยียวยา แต่ยังไม่ได้รับเงินเยียวยา สามารถดำเนินการอุทธรณ์ได้แล้วจนถึงวันที่ 5 มิถุนายน 2563  ส่วนเกษตรกรชุดสุดท้ายสามารถอุทธรณ์ได้จนถึง 15 ส.ค.63

จากการติดตามผ่านหน่วยงานในพื้นที่ทั้ง 8 หน่วยงาน ของ สศก. พบว่า ตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค. – 31 พ.ค. 2563 ทั้ง 8 หน่วยงานรับเรื่องอุทธรณ์เยียวยา รวมทั้งสิ้น 48,621 ราย จำนวน 49,054 เรื่อง  แบ่งเป็น กรมส่งเสริมการเกษตร 44,881 เรื่อง กรมปศุสัตว์ 2,933 เรื่อง  กรมประมง 439 เรื่อง  การยางแห่งประเทศไทย 742 เรื่อง  สำนักงานคณะกรรมการอ้อย และน้ำตาลทราย 50 เรื่อง กรมหม่อนไหม 6 เรื่อง และกรมสรรพสามิต (ทะเบียนยาสูบ) 3 เรื่อง ผลการดำเนินงาน ณ 31 พฤษภาคม 63 พบว่า ขณะนี้หน่วยงานในระดับพื้นที่ได้แก้ไขปัญหาแล้ว 6,823 เรื่อง อยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานต้นสังกัด 40,598 เรื่อง และเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาการอุทธรณ์ฯ 1,633 เรื่อง

ด้าน นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการ สศก. กล่าวว่า จากการติดตามสอบถามเกษตรกรที่ได้รับเงินเยียวยาไปแล้ว พบว่า ส่วนใหญ่จะนำเงินไปใช้จ่ายค่าครองชีพ ของกิน ของใช้ประจำวัน นำเงินไปต่อยอดทำมาหากิน เช่น จ่ายค่าเช่าที่ทำกิน ซื้อเมล็ดพันธุ์ ซื้อพันธุ์ปลา ซื้ออุปกรณ์จับปลา เครื่องมือทำมาหากิน ฯลฯ ที่เหลือจะนำไปเป็นค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของลูกหลาน ค่ารักษาดูแลสุขภาพ  และนำไปใช้อื่นๆ ตามความจำเป็น เช่น ค่ารถ ค่าไฟฟ้า ค่ามือถือ ค่าน้ำ เป็นต้นโดย วันที่ 4 มิถุนายนนี้ สศก. จะประชุมคณะกรรมการติดตามประเมินผลโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อพิจารณากรอบ แนวทาง และวิธีการติดตามประเมินผลโครงการ เพื่อให้ทราบถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ภายหลังจากเกษตรกรที่ได้รับเงินเยียวยาแล้ว  โดยจะมีการรายงานความคืบหน้าให้ทราบโดยเร็วต่อไป

อย่างไรก็ตาม สำหรับเกษตรกรที่ยังมีปัญหา หน่วยงานในระดับพื้นที่ที่เรื่องอุทธรณ์จะได้หาทางแก้ไข หรือ เสนอคณะกรรมการพิจารณาการอุทธรณ์ฯ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่เกษตรกรอย่างทั่วถึงทุกราย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้กำชับให้ข้าราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ได้เร่งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรที่มีรายชื่อตกหล่น หรือไม่ได้รับสิทธิ์ หรือไม่เห็นด้วยกับผลการคัดกรอง สามารถมายื่นอุทธรณ์ได้จนถึงวันที่ 5 มิถุนายนนี้ และสามารถเข้าตรวจสอบที่ www.moac.go.th  ซึ่งเป็นเว็บไซต์หลักของกระทรวง ใช้ตรวจสอบข้อมูลได้เบ็ดเสร็จในที่เดียว ทั้งผลการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ตรวจสอบสิทธิ์เงินเยียวยาเกษตรกร ตรวจสอบผลการโอนเงิน แจ้งช่องทางการรับเงินโอน ของทาง ธ.ก.ส. และตรวจสอบสถานะอุทธรณ์เงินเยียวยาเกษตรกร ทั้งนี้ อยากฝากถึงเกษตรกรทุกท่านที่ได้รับเงินเยียวยา ได้นำไปใช้เพื่อการยังชีพให้เหมาะสม หรือนำไปลงทุนให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการทำการเกษตรต่อไป

Advertising

สนง.ประกันสังคมเร่งนายจ้างส่งหนังสือรับรองการหยุดงานของลูกจ้างเพื่อลูกจ้างรับเงิน 5 พัน

{"subsource":"done_button","uid":"2A67EC0C-8EC8-4FCE-81C7-7331C4100FF9_1580973473718","source":"other","origin":"gallery","source_sid":"2A67EC0C-8EC8-4FCE-81C7-7331C4100FF9_1584793653401"}

People Unity News : ประกันสังคมขอให้นายจ้างที่สั่งไม่ให้ลูกจ้างทำงานเพราะเหตุสุดวิสัยหรือกรณีนายจ้างถูกรัฐมีคำสั่งหยุดสถานประกอบกิจการ เร่งส่งหนังสือรับรองการหยุดงานของลูกจ้างผ่าน www.sso.go.th

นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจาก เหตุสุดวิสัย กรณีผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานหรือนายจ้างไม่ให้ทำงานกักตัว 14 วัน เนื่องจากสัมผัสหรือใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด-19 และกรณีหน่วยงานภาครัฐมีคำสั่งให้นายจ้างหยุดประกอบกิจการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ทั้ง 2 กรณี สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวันให้รับตลอดระยะเวลาที่หยุดงาน ทั้งนี้ให้รับไม่เกิน 90 วัน โดยสำนักงานฯเปิดช่องทางให้บริการขอรับสิทธิประโยชน์ว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยเพื่อรองรับมาตรการดังกล่าวเป็นการเฉพาะ โดยผู้ประกันตนจะต้องยื่นขอรับสิทธิและนายจ้างมีหน้าที่รับรองการหยุดงานของลูกจ้างอันเนื่องจากเหตุสุดวิสัยผ่าน e-form บนหน้าเว็บไซต์ www.sso.go.th ผลปรากฏมีผู้ประกันตนยื่นขอรับสิทธิเป็นจำนวนมากแต่ยังขาดนายจ้างรับรองการหยุดงานดังกล่าว

สื่อมวลชนได้รับการเปิดเผยว่าปัจจุบันมีผู้ประกันตนยื่นคำขอผ่านทาง e- form จำนวนกว่า 300,000 ราย และมีนายจ้างยื่นการรับรองผ่านทาง e-form จำนวนเพียงกว่า 30,000 ราย เมื่อเร่งดำเนินการตรวจสอบข้อมูลเพื่อจะสามารถทำการจ่ายเงินได้ทันทีเมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับ แต่พบว่านายจ้างส่วนใหญ่ยังไม่ยื่นการรับรองการหยุดงานของลูกจ้างอันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัย ดังนั้นขอให้นายจ้างในกลุ่มดังกล่าว เร่งยื่นรับรองการหยุดงานของลูกจ้างอันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัยผ่านช่องทาง e-form บนหน้าเว็บไซต์ www.sso.go.th โดยเร็วเพื่อประโยชน์แก่ตัวของลูกจ้างในสถานประกอบการนั้นเอง

ทั้งนี้ ในการยื่นรับรองการหยุดงานของลูกจ้างอันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัย นายจ้างเพียงระบุ วันที่หยุดงาน และวันที่ครบกำหนด โดยยื่นแบบทาง e-Form บนหน้าเว็บไซต์ www.sso.go.th สำนักงานประกันสังคมจะตอบยืนยันการรับข้อมูลของนายจ้างผ่านทาง e-mail ที่นายจ้างได้แจ้งไว้ ขณะนี้มีผู้ประกันตนได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมากจึงขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนทำหน้าที่อย่างครบถ้วน ในส่วนของสำนักงานประกันสังคมก็ได้เร่งรัดการดำเนินการเพื่อให้สิทธิประโยชน์ถึงมือผู้ประกันตนโดยเร็ว

โฆษณา

“ประวิตร” สั่ง ก.แรงงานเร่งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้ครอบคลุมทุกด้านโดยเร็ว

People Unity News : รองนายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมกระทรวงแรงงานและมอบนโยบายแก่ผู้บริหารระดับสูง ในวันแรงงานแห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนมาตรการในการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาแรงงานผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19)

วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เวลา 10.00 น. วันแรงงานแห่งชาติ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และคณะ เดินทางเข้าตรวจเยี่ยมกระทรวงแรงงานและมอบนโยบายแก่ผู้บริหารระดับสูง เพื่อขับเคลื่อนมาตรการในการให้ ความช่วยเหลือและเยียวยาแรงงานผู้ได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) โดยมี หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน คณะผู้บริหารกระทรวงแรงงาน และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมฯ ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทูร  ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน

พลเอก ประวิตร กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 รัฐบาลได้ระดมสรรพกำลังในการดูแลช่วยเหลือและเยียวยาประชาชน ซึ่งแรงงานเป็นอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ และขอขอบคุณกระทรวงแรงงานที่ได้ร่วมกันกำหนดมาตรการในการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาแรงงานผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งแรงงานในระบบ นอกระบบ และแรงงานต่างด้าว รวมถึงขอเน้นย้ำการทำงานเพิ่มเติมในประเด็นต่างๆ ได้แก่

(1) การรักษาพยาบาลผู้ที่ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ขอให้สนับสนุนบริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคไวรัสโควิด – 19 ให้สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างรวดเร็ว

(2) มาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ว่างงาน ขอให้เร่งรัดการจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานให้แก่ผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบให้ครบถ้วน ไม่ตกหล่น รวมทั้งให้มีมาตรการช่วยเหลือในเรื่องของการฝึกอาชีพเพื่อยกระดับทักษะฝีมือและหางานให้ทำอย่างรวดเร็วที่สุด

(3) การเฝ้าระวังและการป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานต่างด้าว ขอให้ดำเนินการให้ครอบคลุมและรอบคอบ รวมทั้งขอให้ชะลอการนำเข้าแรงงานต่างด้าวทุกขั้นตอน จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยให้ประสานการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงแรงงาน สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและกระทรวงมหาดไทย นอกจากนี้ จะต้องมีแผนรองรับหลังจากที่สถานการณ์ผ่อนคลายลง

(4) แรงงานในภาคประมง ขอให้เร่งรัดการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานประมง  รวมทั้งการดูแลไม่ให้มีการละเมิดสิทธิแรงงานเกิดขึ้น โดยขอให้บูรณาการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดและติดตามข่าวสารในช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากหน่วยงานภาคประชาสังคม

(5) ในส่วนของการร่างพระราชบัญญัติธนาคารประกันสังคมและพระราชบัญญัติแรงงานนอกระบบ ขอให้เป็นไปด้วยความรอบคอบ รับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มและคำนึงถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ขอให้กำหนดมาตรการส่งเสริมการจ้างงาน การพัฒนาทักษะ และการประกอบอาชีพในรูปแบบที่เหมาะสมกับกลุ่มแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ รวมทั้งส่งเสริมการรับงานไปทำงานที่บ้าน เพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ รวมถึงบรรเทาภาระหนี้สินและค่าครองชีพของประชาชน

พลเอก ประวิตร กล่าวต่ออีกว่า ขอเป็นกำลังใจในการร่วมกันขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ ขอให้กลุ่มแรงงาน และเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงานปลอดภัยจากไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) เพื่อพัฒนาประเทศตามนโยบายของรัฐบาล “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” พลเอก ประวิตร กล่าวตอนท้าย

โฆษณา

ศบค.ทบทวนมาตรการคุมเข้ม-สอบสวนโรค ให้ครอบคลุมโรงแรมที่พัก หลังกรณีทหารอียิปต์

People Unity News : ศบค.ทบทวนมาตรการคุมเข้ม-มาตรการสอบสวนโรค ต้องครอบคลุมโรงแรมที่พักที่เป็นสถานที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อ เพื่อตรวจสอบโดยละเอียด ถึงแม้ผู้ที่พบผลตรวจจะเดินทางกลับประเทศแล้ว

13 ก.ค. 63 เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน และมาตรการในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,220 ราย เป็นผู้ที่อยู่ในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 283 ราย มีผู้หายป่วยเพิ่มขึ้น 2 ราย รวมผู้ที่หายป่วยแล้ว 3,090 ราย ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 72 ราย ไม่มีเสียชีวิตเพิ่ม ยังคงเดิมที่ 58 ราย ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.63 ถึงปัจจุบันรวม 49 วันแล้วที่ไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศ สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้ง 3 ราย เป็นผู้ที่เดินทางมาจากประเทศคูเวต 1 ราย เป็นชายไทย อายุ 48 ปี อาชีพรับจ้าง เดินทางถึงไทยเมื่อ 29 มิ.ย.เข้าพัก State Quarantine ที่กรุงเทพฯ ตรวจหาเชื้อ 11 ก.ค. ผลตรวจพบเชื้อ ไม่มีอาการ จากอียิปต์ 1 ราย เป็นหญิงไทย อายุ 22 ปี เดินทางถึงไทยเมื่อ 12 ก.ค. ผ่านการคัดกรอง ณ ด่านควบคุมโรค พบว่ามีอาการเข้าเกณฑ์ PUI มีไข้ จึงได้ส่งตรวจหาเชื้อวันที่ 12 ก.ค. ผลตรวจพบเชื้อ และจากบาร์เรน 1 ราย เป็นชายไทย สัญชาติอียิปต์ อายุ 43 ปี อาชีพทหาร เดินทางถึงไทยเมื่อ 8 ก.ค. เข้าพัก State Quarantine ที่จังหวัดระยอง ตรวจหาเชื้อวันที่ 10 ก.ค. ผลตรวจพบเชื้อ 12 ก.ค. แต่ไม่มีอาการ ส่วนอีก 30 รายเป็นลูกเรือที่เดินทางมาพร้อมกัน ยังไม่พบผลการติดเชื้อ

โฆษก ศบค. กล่าวถึง Timeline ของผู้ป่วยเพศชาย อายุ 43 ปี อาชีพทหาร (ลูกเรือเครื่องบินทหาร) จากประเทศในภูมิภาคแอฟริกา ในวันที่ 6 ก.ค. เดินทางออกจากสนามบินไคโร ประเทศอียิปต์ ไปสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 7 ก.ค. เดินทางจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ไปปากีสถาน 8 ก.ค. เดินทางถึงท่าอากาศยานอู่ตะเภา เข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดระยอง 9 ก.ค. ออกจากโรงแรม จังหวัดระยองไปท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาเพื่อบินไปทำภารกิจทางทหารที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ไป-กลับวันเดียวกัน กลับเข้าที่พักในโรงแรมจังหวัดระยอง 10 ก.ค. ได้มีทีมเจ้าหน้าที่ CDCU เข้าคัดกรองอาการของคณะเดินทางและลูกเรือ เพื่อเก็บตัวอย่างส่งตรวจ จำนวน 31 ราย และในวันที่ 11 ก.ค. คณะเดินทางออกจากประเทศไทยกลับอียิปต์  ซึ่งผลตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่ชัดเจน จึงตรวจซ้ำอีกครั้ง จนกระทั่งวันที่ 12 ก.ค. ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันพบเชื้อ ซึ่งที่ประชุม ศบค. ชุดเล็กมีการหารือว่า ถึงแม้จะเป็นคนที่เป็นลูกเรือที่มาจากต่างชาติเข้ามายังประเทศไทย ในข้อกำหนดที่เป็นลักษณะเฉพาะขึ้นมา และขณะนี้มีการเปิดสายการบินหลายสาย เดิมใช้สนามบินสุวรรณภูมิ แต่ในครั้งนี้ได้มาลงที่สนามบินอู่ตะเภา จึงทำให้มาตรการของการคุมเข้มในข้อดังกล่าวต้องมีการทบทวนและปฏิบัติกันใหม่ ซึ่งโรงแรมที่จังหวัดระยองแห่งนี้ถือเป็นสถานที่ที่สัมผัสกับผู้ที่พบเชื้อ ดังนั้น มาตรการการเข้าไปสอบสวนโรคจะต้องครอบคลุมโรงแรมนี้ทั้งหมด โดยอธิบดีกรมควบคุมโรคได้รับข้อสั่งการจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ออกมาตรการคุมเข้มเรื่องดังกล่าว เพื่อการตรวจสอบโดยละเอียด ถึงแม้ผู้ที่พบผลตรวจจะเดินทางกลับไปแล้วก็ตาม นอกจากนี้ ทีมสอบสวนโรคจะเข้าไปสอบสวนโรคในพื้นที่สัมผัสที่ทางกลุ่มลูกเรือได้เดินทางไป อีกทั้งสำนักงานเขตสุขภาพจังหวัดระยองและทีมส่วนกลางจะเข้าไปร่วมสอบสวนโรคด้วย เพื่อความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่จังหวัดระยอง

นอกจากนี้ ยังมี Timeline ผู้ป่วยเด็กหญิงอายุ 9 ปี จากภูมิภาคแอฟริกา เดินทางมาพร้อมกับครอบครัว (คณะทูต) โดยในวันที่ 7 ก.ค. มารดานำผู้ป่วยและครอบครัว รวม 5 คน ไปตรวจหาเชื้อก่อนเดินทางที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ผลตรวจทุกคนไม่พบเชื้อ เดินทางถึงไทยวันที่ 10 ก.ค. เวลา 05.40 น. คัดกรองไม่มีอาการ เก็บตัวอย่างส่งตรวจผลพบเชื้อ แต่บิดานำส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ มีการตรวจซ้ำ ผลพบเชื้อ สมาชิกที่เหลือกักกันในที่พำนักแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ และในวันที่ 11 ก.ค. ผลตรวจพบปอดอักเสบ จึงส่งต่อผู้ป่วยมารักษาต่อที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ  ซึ่งรายดังกล่าวอยู่ในประเภทที่ 3 คือ คณะทูต คณะกงสุล องค์การระหว่างประเทศ หรือผู้แทนรัฐบาล หรือหน่วยงานของรัฐต่างประเทศที่มาปฏิบัติงานที่ประเทศไทย ซึ่งจะอยู่ในมาตรการข้อ 4 ให้เข้ารับการกักกันในที่พำนักของบุคคลดังกล่าว ภายใต้การดูแลของหน่วยงานต้นสังกัดเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน  ซึ่งรัฐต้องกำหนดมาตรการโดยละเอียดและครอบคลุมเพราะเป็นความเสี่ยง

Advertising

“อนุทิน” เรียกประชุม 3 กระทรวงจับตาสถานการณ์ “โคโรนา” ยันไทยป้องกันการแพร่ระบาดได้

People Unity News : รองนายกรัฐมนตรี นายอนุทิน เรียกประชุม 3 กระทรวง “สาธารณสุข-คมนาคม-ท่องเที่ยว” จับตาสถานการณ์ “โคโรนา” ยืนยันไทยยังป้องกัน ควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 ได้

เมื่อวานนี้ (26 ม.ค. 2563) เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร อาคาร 1 ชั้น 2 ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานประชุมเชิงปฏิบัติการการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 ในประเทศไทย ร่วมกับผู้บริหาร 3 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม และกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ก่อนจัดทำมาตรการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาในวันอังคารที่ 28 มกราคม 2563 นี้ โดยมี นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม และศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมประชุมด้วย

ภายหลังการประชุม รองนายกรัฐมนตรีได้ ขอบคุณหน่วยงานของทั้ง 3 กระทรวง ที่ร่วมบูรณาการแผนป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่ช่วยกันสกัดไม่ให้การระบาดของโรคนี้เพิ่มมากยิ่งขึ้น  ทำให้พบผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 จากต่างประเทศ ทั้งหมด 8 ราย ( ณ 26 ม ค.63) โดยกลับบ้านแล้ว 5 ราย อีก 3 รายยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่ายังไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศไทย แต่ยังคงเฝ้าระวังนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากประเทศจีนหรือประเทศที่สุ่มเสี่ยง หรือสงสัยว่าอาจจะมีอาการป่วย แต่ยังไม่ปรากฏอาการอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการตรวจคัดกรองใน 5 สนามบิน ที่บินมาจากเมืองอู่ฮั่นและกวางโจว ได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่  ภูเก็ต และกระบี่ นักท่องเที่ยวทุกคนจะได้รับแจกคำแนะนำ (health beware card) จากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง และเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรค

รองนายกรัฐมนตรีประกาศยืนยันว่า คณะผู้เชี่ยวชาญการควบคุมโรคระบาด และแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญของไทย ดำเนินการ 100% อุปกรณ์ในการตรวจสอบและแสกนก็เพียงพอต่อการรับมือสอดคล้องกรอบการดำเนินการขององค์การอนามัยโลก ทั้งยกระดับการเฝ้าระวัง คัดกรองผู้ป่วยสงสัยฯ จากพื้นที่แพร่ระบาดของโรค ครอบคลุมทั้ง สนามบิน สถานพยาบาลรัฐ/เอกชน และในชุมชน ให้โรงแรมที่พักเป็นจุดเฝ้าระวังด้วย ดังนั้น ความร่วมมือของประชาชน ผู้ประกอบการทัวร์ โรงแรม ที่พัก เป็นเรื่องสำคัญเพื่อให้การควบคุมป้องกันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ในการควบคุมป้องกันขณะนี้ มีประสิทธิภาพเพียงพอและเหมาะสมกับสถานการณ์โดยคำนึกถึงสุขภาพประชาชนในประเทศสำคัญเป็นอันดับแรก ประชาชนสามารถมั่นใจต่อการดำเนินการของกระทรวงสาธารณสุขและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้เชื่อมั่นในข่าวที่กระทรวงสาธารณสุขเผยแพร่ออกไป โดยกรมควบคุมโรคจะเป็นผู้แถลงข่าวทุกวัน อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง หากจำเป็นก็จะเพิ่มความถี่ในการแถลงข่าว เพื่อให้ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้รับรายงานการดำเนินการทุกอย่าง และมีความห่วงใยประชาชนต่อสถานการณ์นี้ และได้สั่งการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนให้มากที่สุดโดยไม่ต้องมีการปิดบังใดๆ เพื่อให้ประชาชนได้ปฏิบัติตัวได้อย่างเหมาะสมและถูกต้อง พร้อมทั้งยังทำงานร่วมกับคณะโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเผยแพร่สู่ประชาชนได้รับทราบ

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวด้วยความมั่นใจว่า สถานการณ์จะดีขึ้นด้วยความร่วมมือจากประชาชน วอนอย่าเชื่อข่าวลือ “เช็คก่อนแชร์” เพื่อไม่ให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องแพร่หลาย เกิดความตระหนก และมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โปรดติดตามข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุข หากมีข้อสงสัย สอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง  หรือเว็บไซต์ https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/intro.php และ Line@ / เพจ เฟสบุ๊ค : รู้กันทันโรค, เพจเฟสบุ๊ค : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข”

โอกาสนี้ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่า นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 ได้กำชับให้คำนึกถึงความปลอดภัยและสุขภาพประชาชนเป็นหลัก ประเด็นเศรษฐกิจเป็นเรื่องรอง สำนักโฆษกจะได้มีการประสานงานและทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในการช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง โดยเฉพาะข้อมูลในเรื่องการดูแล ป้องกันดูแลตนเองอย่างเหมาะสม เพื่อสร้างความมั่นใจและคลายความวิตกกังวลให้กับประชาชน

โฆษณา

เตรียมตั้ง “กองบัญชาการตำรวจไซเบอร์” เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้ประชาชน

People Unity News : โฆษก ตร. แจงตั้ง “ตำรวจไซเบอร์” เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้ประชาชน

23 เมษายน 2563 พลตำรวจโท ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยถึงกระแสข่าวกรณีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมีการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมา เพื่อรับผิดชอบอาชญากรรมทางเทคโนโลยีครอบคลุมทั่วประเทศ ว่า จากสภาพปัญหาการขยายตัวของอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศในโลกยุคดิจิทัล ทำให้คดีอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศมีปริมาณเพิ่มขึ้น ทั้งคดีที่ส่งผลต่อความเดือดร้อนของประชาชนโดยตรง และคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จึงได้มีนโยบายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเพื่อปกป้องประชาชน เยาวชน สังคมและประเทศชาติให้มีความปลอดภัย พลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  จึงได้มอบหมายให้ สำนักงานกำลังพล ไปทำการศึกษาและพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง กองบัญชาการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ตลอดจนมีวิธีการปฏิบัติงานเพื่อให้สามารถบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

พลตำรวจโท ปิยะ กล่าวว่า ปัจจุบันคดีอาชญากรรมจำนวนมากกระทำผ่านเครือข่ายทางอินเตอร์เน็ต เช่น การฉ้อโกงหลอกขายสินค้าออนไลน์ , การหลอกให้โอนเงิน ,  Fake News , Roman Scam , การเข้าถึง โจมตีหรือทำลายข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อเรียกค่าไถ่ เป็นต้น  ซึ่งคดีเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีความซับซ้อน การสืบสวนสอบสวนจำเป็นต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน การเก็บพยานหลักฐาน การตรวจพิสูจน์ การวิเคราะห์แนวโน้มอาชญากรรม รวมถึงการพัฒนาระบบและบริหารจัดการองค์ความรู้ จำเป็นจะต้องมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มีอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตลอดจนสามารถร่วมปฏิบัติหรือสนับสนุนการปฏิบัติของหน่วยงานอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ บก.ปอท. ในปัจจุบัน มีขีดจำกัดในด้านกำลังพล ไม่สามารถรองรับคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มจำนวนคดีที่เกิดขึ้นสูงขึ้นในอนาคตได้

“ปัจจุบันสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และหน่วยงานต่างๆ ที่มีภารกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ศึกษาและวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง กองบัญชาการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยจะพิจารณาถึงขีดความสามารถในการอำนวยความยุติธรรมและการให้บริการประชาชนเป็นหลัก ขอยืนยันกับพี่น้องประชาชนอีกครั้งว่า ไม่ได้ดำเนินการเพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นของประชาชนแต่อย่างใด แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมุ่งมั่นทุ่มเทและพัฒนาขีดความสามารถ เพื่อพิทักษ์ปกป้อง ประชาชน เยาวชน สังคม และประเทศชาติ ให้ปลอดภัยจากอาชญากรรมทางไซเบอร์ รวมถึงเป็นหลักประกันความยุติธรรมในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่มีมาตรฐานสากล” พลตำรวจโท ปิยะ กล่าว

โฆษณา

โฆษก ศบค. เผยทหารสหรัฐที่เข้าฝึกในไทย 110 นาย ทุกนายผ่านการตรวจและเข้ากักตัว

People Unity News : โฆษก ศบค. เผย ทหารต่างชาติที่เข้าฝึกในไทย 110 นาย ทุกนายผ่านการตรวจตามมาตรการของ ศบค. และเข้ากักตัวใน ASQ

3 ส.ค. 63 เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน และมาตรการในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของโลก มีผู้ป่วยติดเชื้อรวม 18.2 ล้านกว่าคน เฉลี่ยวันละประมาณ 2 แสนถึง 2.8 แสนคน ช่วงเวลา 3-4 วันมีผู้ป่วย 1 ล้านคน ถือว่าเป็นตัวเลขที่ยังเป็นวิกฤตของโลก ซึ่งก่อนหน้านี้ต้องใช้เวลาเป็นสิบวันกว่าจะมีผู้ป่วย 1 ล้านคน ขณะนี้จำนวนผู้เสียชีวิตรวมของโลกเพิ่มขึ้นอีก 4,000 กว่าคน รวมจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งโลก 6.9 แสนกว่าคน คาดพรุ่งนี้จะถึง 7 แสนคน โดยสหรัฐอเมริกาเป็น อันดับ 1 รองลงมาคือบราซิล อินเดีย รัสเซีย และแอฟริกาใต้ ส่วนประเทศไทยอยู่อันดับที่ 110 เท่ากับวานนี้ ด้านตัวเลขผู้ป่วยใหม่ของประเทศในเอเชีย ได้แก่ อินโดนีเซีย 1,519 ราย ฟิลิปปินส์ 4,900 ราย คูเวต 463 ราย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 239 ราย สิงคโปร์ 313 ราย บาห์เรน 346 ราย เวียดนาม มีผู้ป่วยใหม่ 31 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 6 ราย

โฆษก ศบค. รายงานว่า จำนวนคนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศวันนี้ มีผู้เดินทางกลับรวม 207 คน วันพรุ่งนี้ 201 คน และรายงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับเที่ยวบินที่นำทหารสหรัฐอเมริกาเข้ามาฝึกในไทย วันนี้จะเดินทางจากกวม 71 นาย และจากโยโกตา 32 นาย และพรุ่งนี้จะเดินทางเข้ามาอีก 7 นาย โดยทหารทุกนายผ่านการตรวจตามมาตรการของ ศบค. และเข้ากักตัวในสถานกักตัวทางเลือก หรือ ASQ

Advertising

สธ.เตือนฝุ่น PM 2.5 เริ่มกลับมา แนะปรับการใช้ชีวิตประจำวัน ลดกิจกรรมกลางแจ้ง ใส่หน้ากาก

Smog city from PM 2.5 dust. Cityscape with bad air pollution. PM 2.5 concept

People Unity News : สธ.แนะประชาชนติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ปรับกิจกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ลดกิจกรรมกลางแจ้ง ใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นขนาดเล็กได้

22 พฤศจิกายน 2563 นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้สภาพอากาศพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบมีปริมาณค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน ในบางช่วงเวลาและบางวัน ขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เนื่องจากค่าฝุ่นละอองในแต่ละวันไม่เท่ากัน ควรปรับกิจกรรมการดำเนินชีวิตประจำวัน เน้นความปลอดภัยของตนเอง โดยติดตามได้ที่แอปพลิเคชัน Air4Thai (แอร์ ฟอร์ ไทย) ของกรมควบคุมมลพิษ หรือเพจ “คนรักอนามัย ใส่ใจอากาศ PM2.5” หากอยู่ในพื้นที่สีเหลือง สีส้ม สีแดง ควรหลีกเลี่ยงหรือลดกิจกรรมกลางแจ้ง แต่หากจำเป็นต้องออกนอกบ้าน เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว และประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงค่าฝุ่นสูง ควรใส่หน้ากาก N95 และไม่ควรอยู่เป็นเวลานาน สำหรับประชาชนทั่วไป สามารถใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กได้

นอกจากนี้ ควรลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่นในบ้าน เช่น กวาด/เผาขยะ จุดธูป ควรปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด ดูแลทำความสะอาดบ้านให้ปลอดฝุ่น โดยใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำเช็ดทำความสะอาดแทนการกวาด ป้องกันการฟุ้งกระจาย และขอความร่วมมือประชาชนลดการเผาป่า/เผาไร่นา ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการเกิดฝุ่นควันได้อีกทางหนึ่งด้วย

ทั้งนี้ ประชาชนควรหมั่นสังเกตอาการที่อาจเกิดขึ้น หากมีโรคประจำตัวต้องระมัดระวังเป็นพิเศษควรพักผ่อนให้เพียงพอ ลดการทำกิจกรรมและออกกำลังกายกลางแจ้ง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว หากมีอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หรือวิงเวียนศีรษะ ให้รีบไปพบแพทย์ และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

Advertising

รัฐบาลสั่งธนาคารเตรียมเงินสดให้เพียงพอรองรับความต้องการของประชาชนในช่วงโควิด-19

People Unity News : รัฐบาลสั่งธนาคารเตรียมเงินสดเพียงพอ รองรับความต้องการของประชาชนในสถานการณ์โควิด-19

เมื่อวานนี้ (23 มี.ค.2563) เวลา 13.00 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล COVID-19 ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ นายสมคิด จันทมฤก  โฆษกกระทรวงมหาดไทย ร.ต.อ. พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร และนางภานิณี มโนสันติ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานกิจการนโยบายสินเชื่อและภาครัฐ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้ขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้พำนักอยู่ที่บ้าน งดการเดินทางไปต่างจังหวัด  อย่างไรก็ตาม การประกาศปิดถานที่ต่างๆเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม – 12 เมษายน 2563 ส่งผลให้พี่น้องประชาชนหรือแรงงานต่างด้าวที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการปิดสถานบันเทิง สถานที่ต่างๆ เดินทางกลับยังภูมิลำเนาของตนเอง  ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถห้ามประชาชนเดินทางกลับได้ แต่ได้มีมาตรการการรองรับคือคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ให้จัดทำแผนปฏิบัติการค้นหาเฝ้าระวัง ป้องกันโรคระดับจังหวัด อำเภอและหมู่บ้าน คัดกรองผู้ที่เดินทางจากพื้นที่เสี่ยง เช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้คัดแยกตัวและสังเกตการณ์ 14 วันตามหลักของกระทรวงสาธารณสุข พร้อมกันนี้ ขอความร่วมมือประชาชนที่ยังไม่เดินทางกลับยังภูมิลำเนาให้อยู่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลไปก่อน เพราะอาจไม่รู้ว่าตนเองติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือไม่ หากกลับไปภูมิลำเนาอาจนำเชื้อกลับไปยังครอบครัวของตนเอง ในส่วนของการเยียวยานั้น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่ากระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการต่างๆในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ เพื่อเยียวยาดูแลพี่น้องประชาชน สำหรับนายจ้างและลูกจ้าง ผู้ประกันตน สำนักงานประกันสังคมมีมติลดอัตราสมทบของนายจ้างและผู้ประกันตนเหลือ 4% เป็นระยะเวลา 6 เดือน ขยายระยะเวลาส่งเงินสมทบงวดเดือนมีนาคม – พฤษภาคม ไปอีก 3 เดือน และเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน สำนักงานประกันสังคมจ่ายอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง เป็นระยะเวลาไม่เกิน 80 วัน

โอกาสนี้ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณรัฐบาลจีนได้มีการบริจาคเวชภัณฑ์ให้กับทางรัฐบาลไทยมีการบริจาคชุดตรวจเชื้อ จำนวน 20,000 ชุด หน้ากากอนามัย จำนวน 100,000 ชิ้น หน้ากากอนามัย ประเภท N 95 จำนวน 20,000 ชิ้น ชุดอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัย (PPE : Personal Protective Equipment) จำนวน 20,000 ชุด

จากนั้น ร.ต.อ. พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เรากำลังเข้าสู่ช่วงเวลาสุดท้ายหรือช่วงเวลาทองคำ (golden period) ซึ่งจะชี้ชะตาว่าจะควบคุมสถานการณ์ได้หรือไม่ ดังนั้น กรุงเทพมหานครจึงเร่งออกมาตรการสกัดการเคลื่อนย้ายหรือห้ามคนไม่ให้ออกมาทำกิจกรรม โดยปิดสถานที่ รวมทั้งหมด 4 คำสั่ง โดยคำสั่งที่ 1 สั่งปิด 8 สถานที่ เช่น สนามมวย สถานบริการ และเพิ่มเติมปิดสถานที่ตามคำสั่งที่ 2 รวมทั้งหมด 26 สถานที่ คำสั่งที่ 3 เป็นการขยายความคำสั่งที่ 2  และคำสั่งที่ 4 เป็นมาตรการที่ต้องดำเนินการต่อไป โดยขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน โฆษกกรุงเทพมหานครยังอธิบายเพิ่มเติมถึง ประเด็น “ห้างสรรพสินค้า” เป็นภาษากฎหมายครอบคลุมถึง ห้างทุกประเภท ศูนย์การค้า และคอมมูนิตี้มอลล์  ส่วนธนาคารในหรือนอกห้างเปิดบริการตามปกติ ประเด็นร้านอาหาร ทุกๆที่สามารถเปิดบริการได้เหมือนเดิมเพียงแต่ต้องซื้อกลับไปทานที่บ้านเท่านั้น ยกเว้นสนามบินเนื่องจากต้องรองรับผู้โดยสาร แต่ให้ใช้มาตรการเว้นระยะห่าง กรณีภาพคนแออัดที่สถานีขนส่งหมอชิตหลังคำสั่งปิดสถานที่ต่างๆ เพื่อเดินทางกลับภูมิลำเนานั้น พบว่าร้อยละ 90 เป็นชาวลาว พม่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดด่าน อีกร้อยละ 10 เป็นชาวไทยผู้ที่เดินทางกลับต่างจังหวัด พบว่าเพิ่มเพียงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ที่ใช้บริการสถานีขนส่งหมอชิตในแต่ละวันแล้ว โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวขอบคุณพี่น้องประชาชนทุกท่านที่ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการไม่ออกจากบ้าน

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ที่ปรึกษากรมการแพทย์และกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดครั้งนี้รุนแรงและแพร่กระจายไปทั่วโลก คาดว่า ยังคงระบาดเป็นเวลาระยะยาว ดังนั้น ต้องช่วยกันบรรเทาสถานการณ์ อยากเห็นความร่วมมือร่วมใจของพี่น้องประชาชน ปฏิบัติตามมาตรการต่างๆที่ทางการแพทย์ได้กลั่นกรอง สำหรับการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ทางอากาศระยะไกลในรูปแบบละอองฝอย โอกาสเกิดขึ้นได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ กลุ่มผู้ป่วย เช่น ไอรุนแรง โรคหอบ ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลมีการใส่เครื่องช่วยหายใจ แพทย์จะแนะนำให้ใส่หน้ากากอนามัยแบบ N95  ขณะที่คนส่วนมากมีการแพร่กระจายเชื้อโรคทางอากาศจะเป็นแบบละอองใหญ่ อยู่ในระยะ 1 – 2 เมตร จึงได้รณรงค์เว้นระยะห่างทางสังคม ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้แนะนำผู้ที่เดินทางกลับภูมิลำเนา ขอให้ทยอยกลับ อย่ากลับเป็นกลุ่มก้อน เพราะจะเกิดความแออัด ง่ายต่อการแพร่กระจายเชื้อ เมื่อถึงบ้านขอให้ล้างมือเป็นอันดับแรก จากนั้นอาบน้ำเปลี่ยนชุดใหม่แล้ว ใส่หน้ากากอนามัย จึงค่อยทักทายญาติผู้ใหญ่ในบ้าน พร้อมระวังตนเอง เฝ้าสังเกตอาการกักตัว 14 วัน หากมีอาการให้รีบพบแพทย์ทันที

โอกาสนี้ นายสมคิด จันทมฤก  โฆษกกระทรวงมหาดไทย ยังได้แถลงแผนรองรับประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงนี้ว่า กระทรวงมหาดไทยประสานงานร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ แต่งตั้งคณะทำงานประกอบไปด้วย กำนัน แพทย์ประจำตำบล คณะกรรมการหมู่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านและนายอำเภอ ซึ่งจะกระจายไปทุกหมู่บ้าน ทุกชมชน โดยมีแนวทางทำงานขั้นตอนแรก จัดทำข้อมูลเพื่อเป็นฐานข้อมูลว่าประชาชนเดินทางมาจากส่วนไหนของกรุงเทพมหานครและภูมิลำเนาอยู่ที่ใด ขั้นตอนถัดมาจะ ให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ผู้ที่เดินทางกลับมา เว้นระยะห่างทางสังคม งดใช้สิ่งของร่วมกัน หมั่นล้างมือ สวมใส่หน้ากากอนามัย เฝ้าสังเกตอาการ 14 วัน รวมถึงคนในพื้นที่ชุมชนช่วยกันดูแล หากสงสัยว่าผู้ที่อยู่ในช่วงเฝ้าสังเกต มีอาการป่วยให้รีบแจ้งคณะทำงาน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อให้เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณะสุขรีบเข้าไปดำเนินการทันที นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยยังมอบหมายให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ดูแลกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งมีการจัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันเชื้อ อุปกรณ์วัดไข้ให้กับเจ้าหน้าที่ด้วย สำหรับบุคคลที่ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในการเฝ้าสังเกตอาการ ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย และจะถูกดำเนินคดี

จากนั้น นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย ยืนยันมีเงินสดมีเพียงพอให้บริการแก่ประชาชนในสภาวะฉุกเฉิน โดยร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ให้บริการในหลายช่องทาง อาทิ ระบบตู้เอทีเอ็ม ธนาคารพาณิชย์ ประมาณ 54,000 ตู้ ทั่วประเทศมีปริมาณเพียงพอสำหรับประชาชนที่จะมาทำการ เบิก-ถอน หรือทำธุรกรรมต่างๆ โดยจะเติมเงินอย่างสม่ำเสมอ สาขาธนาคารเปิดให้บริการตามปกติทั้งในห้างสรรพสินค้าและนอกห้างสรรพสินค้า โดยเน้นเฝ้าระวัง กำหนดระยะห่างเข้าแถวที่ชัดเจน เนื่องจากบางสาขาสถานที่ไม่กว้างขวาง  นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ Internet Mobile Banking ในการทำธุรกรรมต่างๆ ซึ่งมีประชาชนหันมาใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เนื่องจากสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ไม่มีค่าบริการ รวมทั้งสามารถป้องกันเชื้อไวรัสได้อีกด้วย  นอกจากนี้ ยังพิจารณาสถานะทางการเงินของลูกค้าที่ถดถอย จากสภาวะ การค้าขายมีหยุดชะงัก ให้เจ้าหน้าที่ของธนาคารมีการเจรจากับลูกค้าถึงมาตรการต่างๆ เช่น กรณีพักชำระเงินต้นนั้น เพิ่มสภาพคล่อง ฟื้นฟูธุรกิจ นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือระหว่างธนาคารพาณิชย์กับภาครัฐ โดยภาครัฐจัดสินเชื่อ Soft Loan ผ่านทางธนาคารออมสินสำหรับธนาคารพาณิชย์กู้เพื่อนำไปปล่อยสินเชื้อให้ประชาชน ในวงเงิน 1.5 แสนล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี หากประชาชนมีข้อสงสัย หรือต้องการความช่วยเหลือ เช่น เพิ่มวงเงินบัตรเครดิตชั่วคราว รับมาตรการด้านสินเชื่อ สามารถติดต่อ  Call Center ของธนาคารพาณิชย์ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ นางภานิณี มโนสันติ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานกิจการนโยบายสินเชื่อและภาครัฐ ธนาคารอาคาสงเคราะห์ กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือลูกค้าธนาคารอาคารสงเคราะห์ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณโควิด-19 ว่า  ธนาคารฯได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ให้สามารถผ่อนชำระหนี้กับธนาคารต่อไปได้ โดยลูกหนี้รายย่อยในส่วนของการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบมาก่อนนั้น ได้ออกมาตรการผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ย ในอัตราดอกเบี้ย 1% ระยะเวลา 4 เดือน เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มท่องเที่ยวให้ผ่อนชำระต่อไปได้และสามารถมีเงินเหลือในการดำรงชีวิต โดยจะต้องแสดงหลักฐานในการถูกลดค่าจ้างหรือวันทำงานให้ธนาคารฯสามารถพิสูจน์  สามารถยื่นความประสงค์ได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563  สำหรับกรณีได้รับผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เช่น กรณีกรุงเทพมหานครออกประกาศปิดห้างสรรพสินค้า ฯลฯ ทำให้มีผู้ค้าบางส่วนหรือลูกจ้างของผู้ค้าบางส่วน ถูกลดวันทำงานหรือการจ้างลง หากลูกค้าอยู่ในช่วงของการใช้อัตราดอกเบี้ยโปรโมชั่นคือดอกเบี้ยพิเศษของธนาคารฯ สามารถผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ยได้ 6 เดือน แต่ถ้าอยู่ในช่วงปรับอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ธนาคารก็จะมีอัตราดอกเบี้ยพิเศษให้ โดยระยะเวลาในการผ่อนชำระอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 6 เดือนเช่นกัน สามารถยื่นความประสงค์เข้าร่วมมาตรการได้ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563  ทั้งนี้ สองมาตรการมีกรอบวงเงินอยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ยังเพิ่มความสะดวกในการผ่อนชำระหนี้เงินกู้ ที่เป็นลูกหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ผ่านบริการ GHB ALL Mobile Application Banking เพื่อชำระหนี้ผ่านโทรศัพท์มือถือแทนการชำระหนี้ที่ธนาคารหรือชำระหนี้ตามร้านค้าสะดวกซื้อต่างๆ เพื่อลดความแออัดไม่ให้คนไปรวมกันจำนวนมากเมื่อชำระหนี้แล้วสามารถดูการชำระตัดต้นตัดดอกจากใบเสร็จบนมือถือได้ทันที

ปัจจุบันธนาคารฯมีลูกค้าประมาณ 1 ล้านราย ส่วนมากลูกค้าปล่อยกู้เป็นระดับล่างถึงปานกลาง วงเงินกู้สูงสุดส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 10 – 20 ล้านบาท และระดับทั่วไปอยู่ที่ประมาณ 3 – 5 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ต้องใช้เงินจากมาตรการดังกล่าวประมาณ 20% – 30% และลูกค้าส่วนใหญ่เป็นในลักษณะการกู้ร่วม ซึ่งผู้กู้ร่วมบางรายยังมีอาชีพหรือมีรายได้ที่เพียงพอสามารถผ่อนชำระได้ จึงอาจไม่ได้ใช้มาตรการนี้ทั้งหมด

ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่านายกรัฐมนตรีติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่าห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการยกระดับมาตรการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน สอดคล้องกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ โดยให้ยาเบาจนกระทั่งเป็นยาแรง หากมีความจำเป็นก็จะใช้ยาแรงมากกว่านี้  โดยนายกรัฐมนตรีพร้อมตัดสินใจใช้มาตรการที่เข้มข้นสูงสุด โดยจะรับข้อมูลรอบด้านเพื่อพิจารณาประกอบการตัดสินใจ

นอกจากนี้  นายกรัฐมนตรียังย้ำถึงมาตรการเยียวยาช่วยเหลือทางการเงินแก่ประชาชน โดยธนาคารรัฐและธนาคารเอกชนร่วมกันแก้ปัญหาด้านสินเชื่อ พักชำระหนี้ ขยายระยะเวลาการพักชำระหนี้ ลดดอกเบี้ยต่างๆ เพื่อเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยกระทรวงการคลังจะมีมาตรการลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย จาก 3% เหลือ 1.5% เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการและบุคคลธรรมดาตั้งแต่เดือน เม.ย.-ก.ย.นี้ หลังจากนั้นผู้ประกอบการที่ใช้ระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax) จะจ่ายภาษีหัก ณ ที่จ่าย ส่วนมาตรการลดค่าครองชีพ ค่าน้ำ ค่าไฟ วันพุธนี้จะมีการลงทะเบียนขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าและน้ำประปา อีกทั้ง กระทรวงที่เกี่ยวข้องนายกรัฐมนตรีสั่งการให้ลงไปดูแลลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสถานที่ต่างๆ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาคณะกรรมการประกันสังคมได้ประชุมหารือกันมีแนวทางช่วยเหลือลูกจ้างผู้ประกันตนจาก COVID-19 การดูแลรักษาพยาบาลตามสิทธิ์  ไม่เสียค่าใช้จ่าย การจ่ายเงินชดเชยในช่วงที่ไม่มีการจ้างงาน สิทธิในการลางาน วันพรุ่งนี้จะมีมาตรการเยียวยาส่วนลูกจ้างที่ไม่ใช่ผู้ประกันตน ซึ่งกระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการเหล่านี้เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ เพื่อจะดูแลลูกจ้างที่เรียกว่า หาเช้ากินค่ำหากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถโทรสายด่วนประกันสังคม 1506

โฆษณา

Verified by ExactMetrics