วันที่ 26 เมษายน 2024

โฆษกรัฐบาล เผยฝรั่งเศสเตือนเพิ่มความระมัดระวังการเดินทาง-ท่องเที่ยว

People Unity News : 16 ตุลาคม 2566 โฆษกรัฐบาล เผยทางการฝรั่งเศสประกาศเตือนเพิ่มความระมัดระวังในการเดินทาง-ท่องเที่ยว ภายหลังยกระดับการเฝ้าระวังสถานการณ์การก่อการร้ายเป็นระดับสูงสุด

นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประชาสัมพันธ์ข่าวสารจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส ประกาศเตือนคนไทยในฝรั่งเศสให้เพิ่มความระมัดระวังในการเดินทาง-ท่องเที่ยว ภายหลังทางการฝรั่งเศสประกาศยกระดับการเฝ้าระวังสถานการณ์การก่อการร้ายเป็นระดับสูงสุด

จากกรณีเกิดเหตุร้ายเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งทางการฝรั่งเศสคาดว่าอาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง อีกทั้งต่อมาในวันที่ 14 ตุลาคม 2566 ทางการฝรั่งเศสได้มีการอพยพผู้คนโดยด่วนออกจากพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ และพระราชวังแวร์ซาย รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญอื่นๆ เนื่องจากทางการฝรั่งเศสได้รับแจ้งเตือนว่าอาจมีการวางระเบิดในพื้นที่ดังกล่าว

ทางสถานเอกอัครราชทูตฯ จึงได้ประกาศเตือนคนไทยและนักท่องเที่ยวชาวไทยในฝรั่งเศสให้เพิ่มความระมัดระวังในการเดินทาง หลีกเลี่ยงพื้นที่ชุมชนและสถานที่ท่องเที่ยว ตรวจสอบเส้นทางการเดินทาง และการเปิดทำการของสถานที่ต่างๆ รวมทั้งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และปฏิบัติตามคำแนะนำของทางการฝรั่งเศสอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ หากมีเหตุด่วนและฉุกเฉิน ต้องการความช่วยเหลือจากสถานเอกอัครราชทูตฯ กรุณาติดต่อหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉิน +33 6 03 59 97 05 และ +33 6 46 71 96 94

“รัฐบาลห่วงใยสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชนไทยทุกคนด้วย ขอให้ติดตามข่าวสารจากช่องทางหลักของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนการเดินทาง หรือก่อนวางแผนการเดินทางทุกครั้ง” นายสัตวแพทย์ชัย กล่าว

Advertisement

แค่ยาแก้ปวด! “พิชัย” เย้ยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่

People Unity News : “พิชัย”ห่วง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่เป็นแค่ยาแก้ปวดรักษาอาการป่วยหนักไม่ได้ แนะ 7 เรื่องต้องรีบทำเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ ลดราคาน้ำมัน ลดค่าเดินทาง บาทอ่อน เร่งเจรจาการค้า เตือน ภาคเอกชนต้องเร่งปรับตัวรับมือคลื่นการเปลี่ยนแปลงใหญ่

วันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว. พลังงาน กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยที่กำลังทรุดหนัก แต่ดูเหมือนว่ามาตรการดังกล่าวจะเป็นเพียงมาตราการระยะสั้น อีกทั้งเกรงว่าจะไม่เพียงพอที่จะฟื้นสภาวะเศรษฐกิจของไทยที่กำลังย่ำแย่ในปัจจุบัน ทั้งนี้เพราะเศรษฐกิจไทยที่ทรุดหนัก เป็นผลมาจากการบริหารเศรษฐกิจที่ผิดพลาดมาตลอด 5 ปี และยังมีแนวโน้มที่จะทรุดหนักลงไปอีก จากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่จะมาซ้ำเติม ตลอดเวลาที่ผ่านมา ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่ได้มีการรับมือเตรียมพร้อมให้ดี คิดเพียงการแจกเงิน แม้จะถูกท้วงติงว่าจะไม่เกิดประโยชน์ แต่รัฐบาลยังคงดื้อรั้น ซึ่งผลจากจีดีพีที่ตกต่ำแสดงชัดเจนถึงความล้มเหลวของการแจกเงินสะเปะสะปะโดยประเทศไม่ได้พัฒนา และเมื่อรัฐบาลแจกเงินจนหมดกระสุนแล้ว ก็ยังไม่มีแนวทางที่จะพัฒนาต่อ ขนาดประชุม ครม. เศรษฐกิจ ยังไม่มีนโยบายแก้ไขปัญหาใดๆ ออกมา แถมยังต้องไปถามข้าราชการประจำ ซึ่งแสดงว่า ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลได้หมดสภาพแล้ว การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุดดังกล่าว จึงดูเหมือนจะเป็นแนวคิดของข้าราชการประจำ เป็นเสมือนยาแก้ปวดที่บรรเทาอาการชั่วคราว แต่ไม่สามารถจะรักษาอาการป่วยหนักของประเทศได้

ดังนั้น เมื่อทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลคิดอะไรไม่ออกแล้ว จึงอยากขอเสนอแนวทางการแก้ไขเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน 7 แนวทางดังนี้

1. รัฐบาลต้องยอมรับความจริงว่าเศรษฐกิจย่ำแย่ และเลิกโกหกประชาชน ยิ่งรัฐบาลปฏิเสธความจริงก็จะยิ่งแก้ปัญหาไม่ได้ การยอมรับปัญหาจะช่วยให้รัฐบาลหาทางแก้ไข และควรชี้แจงกับประชาชนเรื่อยๆว่าได้แก้ไขเรื่องอะไรบ้าง เพราะปัจจุบันประชาชนไม่ทราบเลยว่าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลทำอะไรบ้าง นอกจากแจกเงินสะเปะสะปะไปวันๆแล้วไม่ได้ผลอะไรเท่านั้น การโกหกยังทำให้คนที่เชื่อรัฐบาลต้องประสบปัญหาทางเศรษฐกิจถึงขั้นล้มละลายเพราะไม่ได้เตรียมรับมือเศรษฐกิจที่ย่ำแย่

2. การเร่งการเจรจาการค้า ทั้งทวิภาคี และ พหุภาคี โดยนับเป็นเวลากว่า 5 ปีแล้วที่รัฐบาลจากการปฏิวัติไม่สามารถเจรจาเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆได้ เพราะกฏหมายของหลายประเทศบังคับไม่ให้เจรจากับประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่เมื่อเลือกตั้งแล้ว แม้รัฐบาลจะมาแบบแปลกๆ แต่ก็ควรใช้โอกาสนึ้ในการเร่งเจรจาเขตการค้าเสรี ทั้งทวิภาคี และ พหุภาคี จะไปรอเพียง RCEP อย่างเดียวไม่ได้ การเจรจาเขตการค้าเสรีจะช่วยทำให้การส่งออกและการลงทุนของไทยดีขึ้น มิเช่นนั้นปีหน้าเมื่อสหรัฐตัดจีเอสพีไทยจะเริ่มถูกนำมาใช้ การส่งออกไทยจะยิ่งลดลงอีก และ เรื่องจีเอสพีนี้ก็เช่นกัน อยากให้รัฐบาลไทยเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส เมื่อสหรัฐตัดจีเอสพีไทย แทนที่ไทยจะร้องครวญคราง หรือ แก้ตัวว่าเพราะไทยพัฒนาแล้ว ทั้งๆที่คนจะจนตายกันหมดแล้ว รัฐบาลควรถือโอกาสนี้เปิดเจรจาเขตการค้าเสรีทวิภาคี (FTA) กับสหรัฐเลย จะแลกเปลี่ยนหรือจะขออะไรก็ทำกันทีเดียว จะได้ไม่ต้องมาเป็นปัญหากันอีกเมื่อจะถูกตัดจีเอสพี การเจรจาทวิภาคีสามารถทำได้ทันทีกับประเทศคู่ค้าสำคัญทุกประเทศ และควรต้องเร่งดำเนินการ แทนที่จะปล่อยเฉยหลังจากเจรจาไม่ได้มา 5 ปีของการปฏิวัติ

3. ทำเงินบาทให้อ่อนค่าลง เพื่อให้ราคาสินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ อีกทั้งยังช่วยการท่องเที่ยวของไทยที่เริ่มเหี่ยวเฉาจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า ในขณะที่ค่าเงินของนักท่องเที่ยวอ่อนค่าลง ทำให้การมาเที่ยวไทยแพงขึ้นมากถึงสองเด้ง ซึ่งรัฐบาลต้องกำชับแบงก์ชาติให้ดำเนินการโดยด่วน หากทำไม่ได้ก็ต้องเปลี่ยนผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ หากปล่อยค่าเงินบาทให้แข็งค่า ทั้งๆที่เศรษฐกิจไทยย่ำแย่ เติบโตต่ำ ไม่สมเหตุสมผล โดยไทยสามารถอธิบายเหตุผลกับประเทศต่างๆถึงการที่บาทจะอ่อนค่าได้ ขนาดประธานาธิบดีสหรัฐยังตำหนิ ประธานธนาคารกลางของสหรัฐถึงขนาดเรียกว่าเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของสหรัฐเลย เมื่อธนาคารกลางของสหรัฐไม่ลดดอกเบี้ยและค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐแข็งค่าเกินไป ซึ่งรัฐบาลควรดูเป็นตัวอย่าง ไม่ใช่ปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็งค่าแบบยาวนานเหมือนคนไม่รู้เรื่องเช่นนี้

4. รัฐบาลต้องเร่งทุ่มเงินจำนวนมากในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆเพื่อปรับปรุงและพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของไทยที่เริ่มถดถอยมาตลอด ทั้งนี้ไม่ใช่แจกเงินสะเปะสะปะเหมือนในปัจจุบัน ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไร แม้ว่าปัจจุบันเศรษฐกิจของไทยจะย่ำแย่ การค้าขายฝืดเคือง ประชาชนลำบากกันอย่างมาก แต่ฐานะการเงินการคลังของประเทศไทยยังแข็งแกร่ง มีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศในระดับสูง และยังคงมีหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในระดับต่ำเพียง 40% กว่าเท่านั้น การทุ่มงบประมาณจำนวนมากของภาครัฐเพื่อพัฒนาประเทศในภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่เป็นเรื่องที่ควรทำและต้องทำ แต่ต้องพัฒนาความคิดให้มีการลงทุนในโครงการที่เกิดประโยชน์จริงๆ โดยจะต้องมุ่งเน้นการนำไปสู่การสร้างงาน และ การจ้างงานที่ถาวรในอนาคต เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการว่างงานอย่างมากในปีหน้า

5. ลดค่าใช้จ่ายของประชาชน เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพ โดยการลดราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 5 บาท จากการลดการเก็บภาษึสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่เก็บอยู่ถึงลิตรละ 5.99 บาทในปัจจุบัน ที่ในอดีตไม่ได้เก็บ และลดราคาเบนซินลิตรละ 2 บาท จากการลดการเก็บภาษีสรรพสามิตเช่นกัน การลดราคาดีเซลจะช่วยทำให้ค่าขนส่งสินค้าลดลงด้วย นอกจากนี้ จากรัฐบาลควรช่วยลดค่าเดินทางของประชาชน โดยลดค่าบริการขนส่งสาธารณะลง ซึ่งผลสำรวจบอกค่าเดินทางเป็นค่าใช่จ่ายหลักของประชาชน ดังนั้นการลดค่าเดินทางจะช่วยได้มาก อีกทั้ง การให้ใช้น้ำประปาฟรี ไฟฟ้าฟรี ในปริมาณที่จำกัดเพื่อให้ประหยัดการใช้ ก็ควรถูกนำมาช่วยเหลือประชาชนอีกครั้งในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้

6. เพิ่มรายได้ประชาชน จากการเร่งสร้างธุรกิจด้านเทคโนโลยีขนาดใหญ่ระดับยูนิคอร์น โดยสนับสนุนและเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้สร้างธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมากเพื่อเพิ่มรายได้ บริษัทเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วในประเทศกลุ่มอาเซียนเกือบทุกประเทศยกเว้นไทย ซึ่งทำให้มีการจ้างงานและช่วยประชาชนให้มีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้มีการต่อยอดทางธุรกิจในอนาคตด้วย การแก้กฏหมายที่เป็นอุปสรรคต้องเร่งดำเนินการ

7. เร่งสร้างความมั่นใจของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้วยการมี Rule of Law ที่ชัดเจน อะไรที่เคยทำในสมัยเผด็จการแล้วไม่เป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก ก็ต้องเลิกทำอย่างเด็ดขาดแล้ว รัฐมนตรึคนไหนมีปัญหาภาพลักษณ์ในสายตาของประชาชนและในสายตาของนานาชาติ ก็ควรจะต้องปรับเปลี่ยนออกไป การบังคับใช้กฏหมายต้องเป็นธรรม ทั่วถึง และ โปร่งใส ทั้งนี้ต้องรวมถึงการบังคับใช้กฏหมายขององค์กรอิสระด้วย

นี่เป็นเพียง 7 เรื่องแรกที่รัฐบาลควรต้องเร่งดำเนินการเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ และแก้ไขจุดอ่อนของรัฐบาลตั้งแต่ในอดีต ซึ่งยังคงมีอีกหลายเรื่องที่ต้องทำ และหวังว่ารัฐบาลจะเข้าใจและเร่งดำเนินการ

นอกจากนี้ยังอยากขอแนะนำ ธุรกิจในภาคเอกชนว่าจะต้องรีบปรับตัวรองรับคลื่นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังจะถาโถมเข้ามา แม้ว่าธุรกิจปัจจุบันยังดีและมั่นคง แต่อาจจะถูก disrupt ได้ง่ายๆเลยจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ดังนั้นจึงอยากให้เปิดหูเปิดตาให้กว้างเพื่อปรับเปลี่ยนธุรกิจให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลก และต้องเปลี่ยนก่อนที่จำเป็น (Change before you have to) เพราะถ้าหากรอถึงคราวจำเป็นอาจจะสายไปแล้ว และหากธุรกิจใดคิดว่ากำลังจะถูก disrupt ก็ต้องเปลี่ยนตัวเองก่อนโดน disrupt โดยหากธุรกิจใดเริ่มย่ำแย่แล้วก็ควรจะเลิกกิจการเลย แล้วหาช่องทางทำธุรกิจใหม่ อย่าทู่ซี้ เพราะโลกยุคใหม่ไม่เหมือนยุคเก่าแล้ว การประคองเพื่อหวังฟื้นอาจจะเป็นไปได้ยาก การเริ่มต้นธุรกิจใหม่อาจจะมีอนาคตมากกว่า ทั้งนี้ต้องประเมินธุรกิจของตนให้ชัดเจน

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับคลื่นของการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ของโลกที่กำลังถาโถมาเข้ามาตามที่ได้เคยเตือนล่วงหน้ามานานแล้ว ประชาชนทุกฝ่ายต้องเตรียมตัวให้พร้อม โดยเฉพาะรัฐบาล หากรู้ว่าตัวเองไม่พร้อมก็ต้องเร่งปรับปรุงตัว หรือไม่ก็ต้องหาคนที่มีความพร้อมมากกว่าเข้ามาทำงานแทน เพื่อให้ประเทศไทยปรับตัวและพัฒนาต่อไปได้ ไม่ตกยุค หรือ ถูก disrupt ในระยะเวลาอันรวดเร็วนี้

“อนุทิน”ปลื้มหมอประกิตแนะ! สหรัฐฯไม่มีความชอบธรรมทางจริยธรรมที่จะกดดันรบ.ไทย

People Unity : “อนุทิน”ปลื้มหมอประกิตแนะ! สหรัฐฯไม่จริยธรรมที่จะกดดันรบ.ไทย ปมคัดค้านไทยแบน 3 สารพิษทางการเกษตร

วันที่ 26 ต.ค.2562 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “อนุทิน ชาญวีรกูล” ความว่า สุขภาพของประชาชน ต้องอยู่เหนือผลประโยชน์ทางธุรกิจ

“เขาไม่มีความชอบธรรมทางจริยธรรมที่จะมากดดันรัฐบาลไทย ที่ได้ตัดสินใจให้ความสําคัญกับสุขภาพของประชาชน เหนือผลประโยชน์ทางธุรกิจ และที่เราทำไป ก็ไม่ได้ขัดต่อกฏกติกาการค้าระหว่างประเทศใดๆทั้งสิ้น”

นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ
26 ตุลาคม 2562

พร้อมแนบความเห็นของนพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ

คัมแบ็คนายกฯวันแรก “ประยุทธ์” ประชุมผู้ว่าฯทั่วประเทศ พรุ่งนี้ไปตรวจน้ำท่วมขอนแก่น-อุบลฯ

People Unity News : 3 ตุลาคม 2565 นายกฯ เริ่มงานวันแรกที่มหาดไทย ประชุมผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ บริหารจัดหารน้ำ เยียวยาประชาชนที่กำลังเดอืดร้อนจากน้ำท่วม ขณะที่พรุ่งนี้ จะลงพื้นที่ขอนแก่น-อุบลฯ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กลับมาปฎิบัติงานวันแรก หลังหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ โดยช่วงเช้าเป็นประธานการประชุมการบริหารจัดการสถานการณ์อุทกภัย และให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอร์เร้นท์ ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศที่กระทรวงมหาดไทย

เมื่อเดินทางถึง นายกรัฐมนตรีได้สักการะอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้การต้อนรับ และเมื่อผู้สื่อข่าวสวัสดีทักทาย นายกรัฐมนตรีได้รับไหว้ผู้สื่อข่าวและโบกมือ

สำหรับภารกิจในช่วงบ่าย นายอาร์มัน อิสเซตอฟ (H.E. Mr. Arman Issetov) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐคาซัคสถานประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี ในโอกาสเข้ารับหน้าที่  ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล จากนั้น น.ส.แอนเจลา เจน แม็กดอนัลด์ (H.E. Ms. Angela Jane Macdonald) เอกอัครราชทูตเครือรัฐออสเตรเลียประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี ในโอกาสเข้ารับหน้าที่

ส่วนในวันพรุ่งนี้ (4 ต.ค.) นายกรัฐมนตรีจะลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำ และพบปะประชาชนเพื่อให้กำลังใจขณะที่ต้องประสบความเดือดร้อนจากอุทกภัย ที่ จ.ขอนแก่น และ จ.อุบลราชธานี  โดยจะเลื่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นวันพุธที่ 5 ต.ค.65

Advertisement

“ประยุทธ์” ยืนยันดูแลประชาชนทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด

People Unity News : “ประยุทธ์” ยืนยันดูแลประชาชนทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ โดยระยะ 1 เดือน เน้นดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากประกาศฉบับที่ 25 ใน 6 จังหวัดก่อนขยายไปสู่กิจกรรมอื่นต่อไป

วันนี้ เวลา 12.45 น. (28 มิถุนายน 2564) ณ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมหารือถึงการเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19)  และมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากคำสั่งมาตรการการแพร่ระบาด covid -19 ตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25) ใน 6 จังหวัดก่อน เป็นระยะเวลา 1 เดือน  โดยรัฐบาลและกองทุนประกันสังคมได้เตรียมงบประมาณไว้แล้ว ประมาณ 7,500 ล้านบาท สำหรับกิจการใน 6 จังหวัด ได้แก่ ก่อสร้าง ที่พักแรม อำนวยการด้านอาหาร ศิลปะบันเทิง และนันทนาการ โดยรัฐบาลจะได้จ่ายเพิ่มเติมให้ลูกจ้างในระบบประกันสังคมจำนวน 2,000 บาทต่อคน ส่วนนายจ้างหรือผู้ประกอบการจะได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาท/คนของลูกจ้างที่อยู่ในสถานประกอบการหรือบริษัทสูงสุดไม่เกิน 200 คน เป็นเวลา 1 เดือน รวมถึงกระทรวงแรงงานเข้าไปดูแลในการชดเชย 50% ของค่าจ้าง  รวมทั้งการดูในเรื่องอาหารด้วย โดยเฉพาะจะพิจารณานำอาหารจากร้านผู้ประกอบการรายย่อยเข้าไปช่วยสนับสนุนจัดส่งให้กับแคมป์คนงานที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจะสามารถช่วยสร้างรายได้ผู้ประกอบการร้านอาหารได้อีกทางหนึ่ง

นายกรัฐมนตรียังยืนยันว่า  รัฐบาลดูแลประชาชนทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบในขณะนี้ และจะดำเนินการทุกอย่างอย่างเป็นระบบ รอบคอบรัดกุม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต ทั้งนี้มาตรการดูแลผลกระทบดังกล่าวจะนำเข้าหารือที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่า วันนี้ได้มีการหารือกันในส่วนภาครัฐ กระทรวงที่เกี่ยวข้อง บุคลากรทางการแพทย์เพื่อรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนก่อนออกมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบในคัตเตอร์แรงงานและ 6 จังหวัด ตามที่ได้ประกาศออกไป ซึ่งในระยะต่อไปก็จะมีการดำเนินการให้ทั่วถึง ไปยังกิจกรรมอื่นๆด้วยเหมือนเช่นที่ผ่านมา รวมทั้งจะมีการพิจารณามาตรการใหม่ๆออกมาด้วย  ส่วนโครงการคนละครึ่งก็ยังดำเนินการเป็นไปตามกำหนดที่วางไว้

นายกรัฐมนตรียังแสดงความห่วงใย กรณีที่มีแรงงานหนีกลับบ้านนั้น ได้สั่งการเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจพลเรือนปฏิบัติหน้าที่ดูแล เพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายกลับบ้าน เพื่อป้องกันระมัดระวังไม่ให้ไปแพร่เชื้อที่อื่น พร้อมยืนยันภูเก็ต sandbox จะเปิดในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้  ควบคู่กับการมีมาตรการด้านสาธารณสุขในการดูแลอย่างเหมาะสม เป็นไปตามที่กำหนดและขอให้ทุกคนช่วยกัน

ส่วนเรื่องเตียงสนาม นายกรัฐมนตรีย้ำกำลังเร่งดำเนินการโดยเฉพาะในส่วนสีแดงให้ได้มากขึ้น เพราะนอกจากมีเครื่องมือ สถานที่แล้ว  สิ่งสำคัญต้องมีบุคลากรทางการแพทย์ โดยจะพิจารณานำบุคลากรทางการแพทย์ที่กำลังจะจบเข้ามาช่วยอีกทางหนึ่ง ซึ่งการดำเนินการทุกอย่างมีการรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนรวมถึงภาคประชาชน ก่อนนำมาสู่การออกมาตรการต่างๆ

นายกรัฐมนตรียืนยันไม่หวั่นไหวกับสถานการณ์ม็อบ ที่มีการเคลื่อนไหว เพราะทำทุกอย่างด้วยเจตนารมณ์บริสุทธิ์และรักประชาชน ขณะนี้ทุกภาคส่วนและภาครัฐบาลช่วยกันทั้งหมดในการดำเนินการอย่างเต็มที่ในการดูแลประชาชน

Advertising

“อุ๊งอิ๊ง” เผย “ทักษิณ” ประสานกลับไทยไว้แล้ว

People Unity News : 7 มิถุนายน 2566 “อุ๊งอิ๊ง” เผย “ทักษิณ” ประสานปูทางกลับไทยไว้แล้ว ขอประเมินสถานการณ์และความเหมาะสมอีกครั้ง เชื่อแม้จะอยู่ในช่วงรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์” ก็ไม่เป็นปัญหา

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หรืออุ๊งอิ๊ง แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกระบวนการเดินทางกลับประเทศไทยของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบว่า นายทักษิณ ประสานอะไรไว้แล้วบ้าง  แต่ทราบว่าการวางแผนของนายทักษิณ ก็จะมีความคืบหน้าเป็นระยะ พร้อมยืนยันจะกลับมาเข้ากระบวนการตามปกติ และอาจจะต้องประสานกับหน่วยงานรัฐตามขั้นตอน

ส่วนการเตรียมการของครอบครัว ขณะนี้ได้เตรียมพร้อมไว้เบื้องต้น ทั้งเรื่องความสะดวกสบาย ความปลอดภัย ที่เตรียมการต้อนรับไว้หลายแบบ เพราะไม่รู้ต้องผ่านหรือเจออะไรบ้าง และยังต้องรอนายทักษิณให้สัญญานว่าจะให้เตรียมการอะไรเพิ่มเติมหรือไม่

สำหรับกำหนดการกลับประเทศ เบื้องต้นคิดว่ายังเป็นเดือนกรกฎาคมตามเดิม แต่ต้องดูสถานการณ์การเมือง และเหตุการณ์ประเทศประกอบด้วย เพราะการกลับมาของนายทักษิณนั้นสำคัญ อยากให้กลับมาในช่วงเวลาที่ดี ไม่มีความขัดแย้ง โดยจะเน้นดูที่ความเหมาะสมมากกว่า ทั้งนี้ไม่ทราบว่าเหตุใดจึงตัดสินใจเลือกเดือนกรกฎาคม แต่คิดว่าน่าจะตรงกับช่วงวันเกิดของคุณพ่อ

นางสาวแพทองธาร ยังมองว่า การกลับมาของนายทักษิณ ไม่ว่าจะอยู่ในรัฐบาลรักษาการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือรัฐบาลไหนก็ไม่มีปัญหา เพราะจะกลับมาเข้ากระบวนการยุติธรรมอยู่แล้ว

Advertisement

กมธ.กฎหมายสภาฯเปิดเวที มอ.ปัตตานี “ช่อ” แฉคนกรุงเทพฯไม่เห็นโอกาสศก.ฮาลาล

People Unity News : “ปิยบุตร-พรรณิการ์” นำเปิดเวทีเสวนา “กมธ.กฎหมาย พบประชาชน” – ด้านปชช.ในพื้น ร้องยกเลิกกฎหมายพิเศษ 3 จังหวัดชายแดนใต้ “ช่อ”แฉคนกรุงเทพฯไม่เห็นโอกาสศก.ฮาลาล

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ที่หอประชุมอิหม่าม อัล-นาวาวีย์ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มอ.ปัตตานี นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะประธานกรรมมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน พร้อมด้วย นางสาวพรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่และรองประธานกรรมาธิการ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ โฆษกกรรมาธิการ นายนิรมิต สุจารี ส.ส.พรรคเพื่อไทย โฆษกกรรมาธิการ นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.พรรคประชาชาติ เลขานุการคณะกรรมาธิการ นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เป็นคณะกรรมาธิการ และนางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมเสวนาเปิดเวทีรับฟังปัญหาด้านกฎหมายรวมถึงสิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนใต้ โดยมีผศ.กุสุมา กูใหญ่ และอสมา มังกรชัย อาจารย์มอ.ปัตตานี เป็นผู้ดำเนินรายการ

ในเวทีเสวนาครั้งนี้นายปิยบุตร เริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า ตนในฐานะประธานคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ของสภาผู้แทนราษฏร วันนี้มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสเดินทางมามอ.ปัตตานี เรากลับมาสู่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา มีสภาผู้แทนราษฏรเกิดขึ้น มีการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญขึ้นมา 35 คณะ ขอบเขตอำนาจหน้าที่ 3 เรื่องใหญ่ๆของคณะกรรมาธิการนี้คือ ทำหน้าที่เกี่ยวกับกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและเรื่องของสิทธิมนุษยชน ในวาระที่ตนได้รับโอกาสเข้ามาเป็นประธานคณะกรรมาธิการก็ตั้งใจเอาไว้ว่า จะใช้กลไกลของคณะกรรมาธิการสามัญชุดนี้ขับเคลื่อนใน 3 ประเด็นดังกล่าวให้เกิดผลอย่างมากที่สุด เพราะเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การปกครองของคณะคสช. ประเทศไทยมีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับเรื่องกฎหมาย มีประกาศคำสั่งของคสช. เป็นจำนวนมาก ซึ่งมีเนื้อหาขัดต่อหลักนิติรัฐและนิติธรรม และตลอด 5 ปีของคสช. ก็มีปัญหาเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชน ประเทศไทยเคยเป็นผู้นำด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคอาเซียน แต่ในระยะหลัง เมื่อเกิดรัฐประหาร สิทธิมนุษยชนก็ลดน้อยถอยลงทุกที

“คณะกรรมาธิการที่มาในวันนี้ต่างเป็นผู้แทนของราษฏร ราษฏรเป็นผู้เลือกขึ้นมา ดังนั้นพันธกิจที่สำคัญก็คือ เป็นตัวแทน เป็นปากเป็นเสียงให้แก่ประชาชน ดังนั้นการเดินทางมาของคณะกรรมาธิการชุดนี้ จึงเป็นบทบาทที่สำคัญของสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร เราต้องการเดินทางมารับฟังปัญหาที่ประชาชนประสบพบเจอ เราใช้คำว่ากรรมาธิการพบประชาชน เพราะตั้งใจว่าคณะกรรมาธิการชุดนี้ จะเดินทางไปทุกๆภาคของประเทศไทย เพื่อจะได้เข้าถึงปัญหาของประชาชนให้ได้มากที่สุด ภายใต้บรรยากาศที่ประเทศกำลังรื้อฟื้นประชาธิปไตยกลับมา ในอดีตที่ผ่านมาประชาชนไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ที่อาจกังวลใจว่า หากแสดงออกอาจจะถูกดำเนินคดีต่างๆ แต่ในตอนนี้ระบบเริ่มกลับมาสู่ภาวะปกติ ผมคิดว่าการเปิดเวทีเสวนาแบบนี้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ อย่างน้อยก็เป็นการสื่อสารภายใต้สภาวการณ์ปกติที่ทุกท่านมีสิทธิเสรีภาพในการพูด ในการแสดงออกได้อย่างเท่าเทียม ภายใต้รัฐธรรมนูญ” ปิยบุตร กล่าว

นายปิยบุตร กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ตนเลือก มอ.ปัตตานี เป็นที่แรกในการเดินสายพบประชาชนของคณะกรรมาธิการชุดนี้ เพราะในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า มีปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน มีปัญหาเรื่องการใช้อำนาจของรัฐตามกฎหมายพิเศษ กฎหมายความมั่นคงต่างๆ ดังนั้นเราจึงเลือกที่นี่เป็นที่แห่งแรก เพราะเชื่อได้ว่าจะได้รับเสียงสะท้อนจากพี่น้องประชาชน เพื่อนำไปผลักดันในประเด็นต่างๆในชั้นสภาผู้แทนราษฏรต่อไป

ด้านน.ส.พรรณิการ์ กล่าวว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีความทับซ้อนกันเป็นอย่างมาก ปัญหาความรุนแรงที่เห็นได้ชัดเจน คือการซ้อม การทรมาน การกักคน 7 วัน ต่อเนื่องยาวนาน 30 วัน หรือแม้แต่การอุ้มหาย สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มากกว่าในพื้นที่อื่นๆ รวมถึงความไม่ไว้วางใจกันระหว่างประชาชนในพื้นที่กับเจ้าหน้าที่รัฐ นี่คือสิ่งที่เห็นได้ชัด แต่ปัญหาที่ทับไปอีกชั้นหนึ่งก็คือ การพรากสิทธิที่จะเติบโตตามศักยภาพของพื้นที่ ตนมาแต่ละครั้งไม่ได้ไปพบแต่ผู้ที่สูญเสีย ผู้ที่บาดเจ็บ หรือญาติผู้เสียชีวิตเท่านั้น แต่ยังได้ไปรับรู้ถึงความอุดมสมบูรณ์ คามสวยงามและศักยภาพในพื้นที่

“คนกรุงเทพฯส่วนใหญ่มอง 3 จังหวัดชายแดนใต้โดยคิดถึงแต่ปัญหาเพียงอย่างเดียว ไม่ได้คิดถึงศักยภาพและโอกาสทางเศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติ สถานที่ท่องเที่ยว ชายหาดหรืออุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ว่าสิ่งเหล่านี้สามารถเติบโตได้แค่ไหนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ นี่คือสิ่งที่ถูกกดทับภายใต้ปัญหาความรุนแรง นี่คือความสูญเสียที่ไม่ใช่แค่ในพื้นที่ชายแดนใต้ แต่เป็นการสูญเสียของประเทศ เรามีความจำเป็นต้องสื่อสารออกไปให้คนทั้งประเทศเห็น วันนี้ตนมีความเชื่อส่วนตัวว่า ส่วนหนึ่งของปัญหาชายแดนใต้ที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ทั้งที่เวลาล่วงเลยมากว่า 15 ปี เป็นเพราะว่าคนในประเทศไทยไม่ได้มองว่าปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็น ‘ปัญหาของเรา’ แต่มองว่าเป็น ‘ปัญหาของคุณ’ ตราบใดที่ไม่สามารถทำให้คนไทยทั้งประเทศเห็นว่า จังหวัดชายแดนใต้คือพื้นที่ที่มีศักยภาพ มีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม มีวัฒนธรรมที่ดี มีอาหารที่อร่อย มีคนที่น่ารัก ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาในพื้นที่ได้ เราต้องทำให้คนทั้งประเทศเห็นว่า คุณกำลังสูญเสียอะไรบ้างในปัญหาชายแดนภาคใต้ และเราทุกคนจำเป็นต้องแก้ปัญหาร่วมกัน”น.ส.พรรณิการ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างการเสวนา ได้มีการเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมถาม-ตอบ ถึงปัญหาด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชน โดยผู้เข้าร่วมรับฟังเสวนาท่านหนึ่งได้สะท้อนปัญหาว่า การมีกฎหมายพิเศษในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นตัวปัญหาทำให้ประชาชนเดือดร้อน ขอเรียกร้องและขอความอนุเคราะห์ผ่านคณะกรรมาธิการกฎหมายฯ ไปยังผู้มีอำนาจ ขอให้ยกเลิกกฎหมายพิเศษในพื้นที่ เนื่องจากหากคนใดคนหนึ่งในครอบครัวถูกตัดสินจากกฎหมายพิเศษ คนครอบครัวนั้นก็เดือดร้อนตามไปด้วย ดังนั้นการถูกตัดสินจากกฎหมายพิเศษ คือการตัดสินชะตาชีวิตของครอบครัวนั้นๆไปด้วย

นอกจากนี้ ในเวทียังมีการยื่นข้อร้องเรียนต่างๆอีกหลายปัญหาเช่นการเวนคืนพื้นที่ทำกินชาวบ้านเพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำพญา จ.ยะลา การร้องเรียนเรื่องการที่กอ.รมน. ขอให้ประชาชนในสามจังหวัดลงทะเบียนซิมการ์ดแบบสองแชะ มิฉะนั้นจะถูกตัดสัญญาณหลังวันที่ 31 ตุลาคม รวมถึงการร้องเรียนเรื่องการเก็บดีเอ็นเอของประชาชนในพื้นที่ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และการร้องเรียนสภาพความเป็นอยู่ที่แออัดในเรือนจำกลางปัตตานี

 

ครม.เห็นชอบแผนที่ “One Map” ใน 11 จังหวัด ใช้มาตราส่วน 1 : 4000 แก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อน

People Unity News : ครม. เคาะแผนที่ “One Map” ใน 11 จังหวัด ใช้มาตราส่วน 1 : 4000 แก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อน

10 ก.พ. 65 ที่ประชุม ครม. (8 ก.พ. 65) เห็นชอบผลดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) และรับรองเส้นแนวเขตที่ดินของรัฐ กลุ่มจังหวัดที่ 1 จำนวน 11 จังหวัด ประกอบด้วย นนทบุรี นครปฐม อ่างทอง สิงห์บุรี สมุทรสงคราม กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรสาคร และสุพรรณบุรี

การปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินฯดังกล่าว เป็นการแก้ไขปัญหาที่ดินทับซ้อนของหน่วยงานรัฐ 9 หน่วยงาน คือ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมพัฒนาที่ดิน กรมธนารักษ์ กรมที่ดิน กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กรมส่งเสริมสหกรณ์ และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

เนื่องจากแต่ละหน่วยงานมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ และใช้มาตราส่วนในแผนที่แนบท้ายกฎหมายแตกต่างกัน ส่งผลให้มีพื้นที่ทับซ้อนกว่า 542.35 ล้านไร่ ซึ่งมีมากกว่าพื้นที่ประเทศไทยที่มีประมาณ 320.7 ไร่

ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะใช้แผนที่ One Map ที่ ครม. ให้ความเห็นชอบแทนแผนที่แนบท้ายกฎหมาย และดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 360 วัน

Advertising

รัฐบาลยุค “พล.อ.ประยุทธ์” ผลักดันรถไฟฟ้าเปิดบริการแล้ว 8 เส้นทาง

People Unity News : 9 กรกฎาคม 2566 “ไตรศุลี” เผยรัฐบาลยุค “พล.อ.ประยุทธ์” ผลักดันโครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล เปิดให้บริการแล้ว 8 เส้นทาง ส่งโครงการระหว่างก่อสร้างทั้งรถไฟฟ้าในเมือง 5 เส้นทาง ไฮสปีด และทางคู่ให้รัฐบาลหน้าสานต่อ

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมอำนวยความสะดวกกับประชาชน เป็นพื้นฐานสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ทั้งนี้ เฉพาะรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่ปัจจุบันเปิดให้บริการรวมแล้วทั้งสิ้น 12 เส้นทาง ระยะทางรวม 242.34 กิโลเมตรนั้น เป็นโครงการที่ได้รับการผลักดันการก่อสร้างและเปิดให้บริการในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้นำรัฐบาล ทั้งหมด 8 เส้นทาง ระยะทางรวม 142.54 กม. ประกอบด้วย

1) สายสีม่วง บางใหญ่-เตาปูน ระยะทาง 23 กม. เปิดให้บริการ 6 ส.ค. 59

2) สายสีเขียว หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 18.70 กม. ทยอยเปิดบริการรวม 4 ช่วง ในปี 62-63

3) สายสีน้ำเงิน ช่วง หัวลำโพง-บางแค(หลักสอง) ระยะทาง 14 กม. เปิดบริการ 29 ก.ย. 62

4) สายสีน้ำเงิน บางซื่อ-ท่าพระ ระยะทาง 13 กม. เปิดให้บริการ 30 มี.ค. 63

5) สายสีทอง กรุงธนุบรี-คลองสาน ระยะทาง 1.88 กม. เปิดให้บริการ ธ.ค. 63

6) รถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดง(เหนือ) บางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26.30 กม. เปิดให้บริการ 29 พ.ย. 64

7) รถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดง(ตะวันตก) บางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15.26 กม. เปิดให้บริการ 29 พ.ย. 64

8) สายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.40 กม. เปิดให้ประชาชนทดลองนั่งฟรี 3 มิ.ย. 66 และเริ่มเก็บค่าโดยสารเมื่อ 3 ก.ค. 66 ที่ผ่านมา

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ในส่วนสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ สถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน ซึ่งเริ่มต้นก่อสร้างในปี 56 รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็เล็งเห็นความสำคัญและผลักดันการก่อสร้างจนแล้วเสร็จในปี 64 เปิดให้บริการในปี 65 และให้บริการเต็มรูปแบบเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร รองรับทั้งรถไฟฟ้าชานเมืองและรถไฟทางไกลสายเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และสายใต้ เพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทางให้ประชาชนตั้งแต่ต้นปี 66 เป็นต้นมา

สำหรับโครการรถไฟฟ้าที่ได้รับการอนุมัติในรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ และขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้าง โดยจะส่งต่อให้รัฐบาลต่อไปผลักดันจนเปิดให้บริการแก่ประชาชนในอนาคตประกอบด้วย โครงการรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล 5 โครงการ ระยะทางรวม 101.4 กม. ประกอบด้วย

1) สายสีชมพูเส้นทางแคลาย-มีนบุรี ระยะทาง 30.50 กม. ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะลงพื้นที่ตรวจความพร้อมก่อนเริ่มทดสอบการเดินรถในวันที่ 10 ก.ค. นี้

2) สายสีชมพู ส่วนต่อขยายช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ระยะทาง 3 กม.

3) สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี ระยะทาง 22.50 กม. 4)สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ(วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 23.60 กม.

4) แอร์พอร์ตลิงก์ ช่วงพญาไท-ดอนเมือง ระยะทาง 21.80 กม.

นอกจากนี้ มีโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ -หนองคาย ระยะที่1 ระยะทางรวม 250.77 กิโลเมตร รวมถึงโครงการรถไฟทางคู่ทั่วประเทศอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีกหลายเส้นทาง

Advertisement

แต่งตั้ง ”อนุชา บูรพชัยศรี” หวนนั่ง โฆษกรัฐบาล

People Unity News : 18 สิงหาคม 2565 นายกฯ เซ็นคำสั่งแต่งตั้ง “อนุชา บูรพชัยศรี” นั่งเก้าอี้โฆษกรัฐบาลอีกรอบ หวังให้งานประชาสัมพันธ์ผลงานรัฐบาลต่อเนื่อง เหมาะสม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีนายธนกร วังบุญคงชนะ ได้เลื่อนขึ้นเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และได้ลาออกจากตำแหน่ง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ช่วงเย็นวานนี้ (17 ส.ค.) นั้น ในวันนี้ (18 ส.ค. 65)  พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 205/2565 เรื่อง มอบหมายให้ข้าราชการการเมืองปฏิบัติหน้าที่ อีกหน้าที่หนึ่ง เพื่อให้การปฏิบัติงานด้านการประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ต่อเนื่องเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ.2536 และมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบกับคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 197/2562 เรื่อง หน้าที่ของโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐนตรี

นายกรัฐมนตรี จึงมีคำสั่งมอบหมายให้ นายอนุชา บูรพชัยศรี ข้าราชการการเมือง ตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อีกหน้าที่หนึ่ง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 18 ส.ค. 2565 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  นายอนุชา บูรพชัยศรี เคยดำรงตำแหน่ง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 18 ส.ค. 2563 – 24 ส.ค. 2564 ก่อนจะเข้ารับตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง

Advertisement

Verified by ExactMetrics