วันที่ 6 พฤษภาคม 2024

รมว.ดีอีเอสคนใหม่ เผยนโยบายเร่งด่วน ปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ Fake News เร่งขับเคลื่อน “รัฐบาลดิจิทัล”

People Unity News : 7 กันยายน 2566 รมว.ดีอีเอส เข้า​กระทรวง​วันแรก​ ย้ำเดินหน้า​ปราบปราม​การหลอก​ลวง​ทางเทคโนโลยี​ และขับเคลื่อน​รัฐบาล​ดิจิทัล

นาย​ประเสริฐ​ จันทร​รวง​ทอง​ รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​ดิจิทัลเพื่อ​เศรษฐกิจ​และ​สังคม​ (ดีอีเอส) เข้า​กระทรวง​วันแรก​ ถือฤกษ์​ 09.29​ น.​ สักการะ​พระพรหม​บริเวณ​อาคาร​รัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ จากนั้น​ให้​สัมภาษณ์​ผู้สื่อข่าว​​ว่า​ นโยบาย​เร่งด่วน​คือ​ การปราบปราม​การ​หลอกลวงทางเทคโนโลยี​ แก๊ง​คอลเซ็นเตอร์​ และข่าว​ปลอม​ (Fake​ News) ซึ่ง​สร้าง​ความ​เสียหาย​ต่อ​ประชาชน​ โดยจะวางมาตรการ​การ​ตรวจสอบ​อย่างเข้มข้น

นอกจาก​นี้​จะเร่งขับเคลื่อน​ “รัฐบาล​ดิจิทัล” โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ภายในหน่วยงานต่างๆ​ ของ​รัฐ​ เพื่อ​เพิ่มศักยภาพการทำงานขององค์กรรัฐให้รวดเร็ว ก้าวทันตามเทคโนโลยี รวมถึงยังมีระบบการเชื่อมโยงการเข้าถึงข้อมูล ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็วให้กับผู้ที่ต้องการติดต่อกับหน่วยงานภาครัฐง่ายยิ่งขึ้นและเพื่อ​ให้การบริการ​ของ​ภาค​รัฐ​เป็น​ไป​อย่าง​มีประสิทธิภาพ

Advertisement

“เศรษฐา” น้อมนำกระแสพระราชดำรัสเป็นแนวทางปฏิบัติ ลั่นจะทำงานแบบลืมความเหน็ดเหนื่อยทุกวัน ทุกนาที

People Unity News : 5 กันยายน 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล – นายกฯ นำ ครม.ถ่ายภาพหมู่หน้าตึกไทยคู่ฟ้า หลังเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ เผยพร้อมน้อมนำกระแสพระราชดำรัสมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติราชการต่อไป ยืนยันจะทำงานแบบลืมความเหน็ดเหนื่อยทุกวัน ทุกนาที

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นำคณะรัฐมนตรีถ่ายภาพหมู่ ที่บริเวณหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ โดยได้รับความสนใจจากบรรดาสื่อมวลชนจำนวนมาก ซึ่งถือว่าเป็นการเปิดตัวครั้งแรก โดยรัฐมนตรีที่มาจากพรรคร่วมฯ มีสีหน้ายิ้มแย้ม

หลังจากนั้น นายเศรษฐา แถลงว่า ได้นำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายสัตย์ปฏิญาณเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมน้อมนำกระแสพระราชดำรัสมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติราชการต่อไป ขอยืนยันว่าเป็นรัฐบาลของประชาชน ที่จะเข้ามาทำงานเพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชน โดยจะทำงานแบบลืมความเหน็ดเหนื่อยทุกวัน ทุกนาที เอาปัญหาของประชาชนเป็นที่ตั้ง โดยจะลงพื้นที่ตั้งแต่วันศุกร์นี้ (8 ก.ย.66) ลงพื้นที่ จ.ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย เพื่อรับทราบปัญหาของประชาชนในพื้นที่ และในวันจันทร์ (11 ก.ย.) จะแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภา พร้อมสร้างความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดิน ฟื้นฟูหลักนิติธรรม สร้างโอกาสความเท่าเทียม และเน้นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

นายเศรษฐา เผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ (6 ก.ย.) จะเป็นการพูดคุยกันในพรรคร่วมฯ เพื่อกำหนดนโยบายก่อนที่จะแถลงต่อที่ประชุมรัฐสภา พร้อมขอโอกาสให้รัฐมนตรีได้ทำงาน เชื่อว่ารัฐมนตรีทุกคนเข้าใจนโยบายของตนที่ให้ทำงานโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย พร้อมผลักดันนโยบายที่จำเป็น เพื่อแก้ปัญหาปากท้องให้กับประชาชน มั่นใจการทำงานของรัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาลจะไม่มีการแบ่งฝ่าย

Advertisement

วุฒิสภาเห็นชอบ “อำนาจ เจตน์เจริญรักษ์” เป็นอัยการสูงสุด

People Unity News : 5 กันยายน 2566 วุฒิสภามีมติเห็นชอบให้ นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อธิบดีอัยการ รักษาการในตำแหน่งรองอัยการสูงสุด ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด คนที่ 18

ที่ประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 14 ได้มีมติให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 โดยมีการเสนอชื่อนายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานวิชาการ รักษาการในตำแหน่ง รองอัยการสูงสุด ให้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 201 คน ผลการออกเสียงลงคะแนนให้ความเห็นชอบ 193 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 1 เสียง และไม่ออกเสียง 7 เสียง จึงได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมด ที่มีอยู่ของวุฒิสภาให้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด

ทั้งนี้ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจะได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งต่อไป

นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ ว่าที่อัยการสูงสุด คนที่ 18 สำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเนติบัณฑิต สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา นิติศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรระดับสูง ดังนี้

พ.ศ. 2554 หลักสูตรการบริหารงานยุติธรรมชั้นสูง (ยธส.3) สำนักงานกิจการยุติธรรม

พ.ศ. 2562 หลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง รุ่นที่ 24 (บ.ย.ส.24) สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม

พ.ศ. 2564 หลักสูตรนักบริหารงานยุติธรรมชั้นสูง รุ่นที่ 11 (นบยส.11) สำนักงานอัยการสูงสุด

พ.ศ. 2565 หลักสูตรหลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย “นธป.” รุ่นที่ 10 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ

สำหรับประวัติการทำงานของนายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์

เริ่มรับราชการปี 2528 สำนักงานคดีอาญา สำนักงานคดียาเสพติด สำนักงานคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (จังหวัดอำนาจเจริญ) สำนักงานนโยบาย ยุทธศาสตร์ และงบประมาณ

ปี 2561 รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคณะกรรมการอัยการ

ปี 2563 อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอัยการสูงสุด

ปี 2564 อธิบดีอัยการ สำนักงานวิชาการ

ปัจจุบันอธิบดีอัยการ สำนักงานวิชาการ รักษาการในตำแหน่ง รองอัยการสูงสุด

Advertisement

“เศรษฐา” บอกกับ 16 รมต.เพื่อไทย อย่าเรียกรัฐบาลเพื่อไทย ให้เรียกรัฐบาลของประชาชน

People Unity News : 4 กันยายน 2566 ที่เพื่อไทย – “นายกฯ เศรษฐา” ร่วมวงมื้อเที่ยง 16 รัฐมนตรีเพื่อไทย แสดงความยินดี-หารือแนวทางการทำงาน ลั่น เป็นรัฐบาลของประชาชน ขออย่าอ้างข้อจำกัดงบฯ-ระยะเวลาเข้ามาทำงานช้า ชี้ เทหมดหน้าตักเข็นนโยบายที่ทำได้ก่อน ต้องไม่มีคำว่าไม่ได้

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นัดหมาย 16 รัฐมนตรี ของพรรคเพื่อไทย หารือแนวทางการทำงานและรับประทานอาหารกลางวันร่วมกันที่พรรคเพื่อไทยภายหลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 กันยายน ที่ผ่านมา

นายเศรษฐา กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่พบกันอย่างเป็นทางการ เป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่ในวันพรุ่งนี้ ( 5 ก.ย.) คณะรัฐมนตรีทุกคนจะเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตน ซึ่งหลายคนคงทราบแล้วว่าขั้นตอนเป็นอย่างไร

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนเคยพูดไม่ถูกมาหนนึงว่า เราเป็นรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย จากนี้ต่อไปจะระวังคำพูด โดยจะใช้ว่าเป็นรัฐบาลของประชาชนที่มีพรรคร่วม 11 พรรค เพื่อให้เกียรติพรรคร่วม ซึ่งตนคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ อยากให้เน้นว่าเป็นรัฐบาลของประชาชน

นายเศรษฐา กล่าวว่า ช่วงที่จะมีการเลือกนายกรัฐมนตรี และแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้พูดเอาไว้ว่า เรามาด้วยต้นทุนที่สูง ตนจึงอยากจะขอเปลี่ยนว่า ที่จริงแล้วไม่ใช่ต้นทุนที่สูง พรรคเพื่อไทยเราเทหมดหน้าตัก การทำงานครั้งนี้เรามีผู้แทนที่ได้รับเกียรติจากประชาชนในการเข้ามาดูแลบ้านเมืองและหลายท่านอยากเข้ามาตรงนี้ แต่ก็ถูกคัดสรรมาอย่างดีแล้ว คำว่าหมดหน้าตัก คือ เรื่องที่เราต้องทุ่มเทการทำงานให้พี่น้องประชาชนเชื่อว่าทุกคนตระหนักดีว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในช่วงเวลานี้ เรื่องการทำงาน เรื่องของระยะเวลา เรื่องขีดจำกัดของงบประมาณก็เป็นเรื่องสำคัญ ตนไม่อยากให้เรื่องขีดจำกัดเรื่องงบประมาณ หรือการที่เราได้เข้ามาบริหารช้าไป ซึ่งเรื่องการใช้งบประมาณจะสามารถใช้ได้จริงคือช่วงต้นปีหน้า (2567) แต่ไม่ได้หมายความว่า งบประมาณเป็นขีดจำกัดไม่ให้เราทำงาน พร้อมเชื่อว่าเรามีควิกวิน (แผนปฏิบัติงานเร่งรัด) ที่เราสามารถทำได้เพื่อดูแลทุกข์สุขของประชาชน หรือยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนก็สามารถทำได้ เรื่องอะไรที่สามารถทำได้ก่อนก็ทำ ซึ่งเข้าใจว่าแต่ละกระทรวง ทบวง กรม มีแผนงานมากมาย บางอย่างขึ้นอยู่กับงบประมาณบางอย่างขึ้นอยู่กับขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย แต่ไม่ใช่ทุกอย่างต้องมีขีดจำกัด ระยะเวลา ถ้าอะไรที่ทำได้และทำให้ประชาชนเห็นว่าเราทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ ขอให้เข็นออกมาให้ได้ก่อน

“เวลาที่เราไปพูดคุยกับประชาชนอย่าอธิบายว่าทำไมถึงทำไม่ได้ เราถูกเลือกเข้ามาเพื่อให้ทำให้ได้ เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด รัฐบาลของประชาชนเราต้องลดช่องว่างของฝ่ายบริหารกับประชาชนให้ได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญและอยากให้ประชาชนเข้าถึงผู้บริหารได้ จึงอยากให้เป็นมิติใหม่ในการทำงานของรัฐบาลนี้ ทั้งนี้หากตนมีโอกาสได้พูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลก็จะเน้นย้ำในเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเมนูอาหารกลางวันที่ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยรับประทานในวันนี้ (4 ก.ย.) เป็นอาหารจานเดียว คือเมนูข้าวไข่เจียวปู ปลาทอดราดพริก กะหล่ำผัดน้ำปลา ต้มข่าไก่ และสลัดไก่ทอด

Advertisement

กทม.เก็บภาษีเกินเป้า เตรียมหารือรับมือฤดูฝุ่น PM2.5 ร่วมกับรัฐบาล

People Unity News : 4 กันยายน 2566 ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เผย กทม.เก็บภาษีเกินเป้า พร้อมเตรียมหารือปัญหาฝุ่น PM2.5 ร่วมกับรัฐบาล

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 19/2566 พร้อมเปิดเผยหลังการประชุมว่า ปีนี้การจัดเก็บรายได้ที่ค่อนข้างดี ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2566 ภาพรวมกรุงเทพมหานครจัดเก็บได้ 91,319,809,630.11 บาท (คิดเป็น 115.59 %) จากที่ประมาณการไว้ 79,000,000,000 บาท คาดว่าภายในสิ้นปีนี้น่าจะจัดเก็บภาษีได้ถึง 97,000 ล้านบาท หากดูรายละเอียด ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเราจัดเก็บได้ค่อนข้างดี ประมาณ 11,000 ล้านบาท จะเห็นว่าการจัดเก็บมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าปีที่แล้วเนื่องจากได้เร่งทำฐานข้อมูลมากขึ้นและส่งใบเก็บภาษีได้ถึง 1 ล้านคน ขณะนี้รายได้ที่กรุงเทพมหานครจัดเก็บเองประมาณ 19,000 ล้านบาท รายได้ที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้ จัดเก็บได้ประมาณ 72,000 ล้านบาท โดยรายได้ที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้ได้มากที่สุด คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม 37,285 ล้านบาท ซึ่งภาษีมูลค่าเพิ่มมี 2 ส่วน คือ แบ่งตามจุดซื้อขายและแบ่งตามจำนวนประชากร ปัจจุบัน จำนวนประชากรที่ลงทะเบียนในกรุงเทพมหานครก็มีจำนวนหนึ่ง แต่จำนวนประชากรแฝงมีเกือบถึง 10 ล้านคน คงต้องหารือกันว่าการให้ทะเบียนประชากรสอดคล้องกับจำนวนประชากรที่อยู่จริง เพื่อจะทำให้ได้งบประมาณที่สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น ด้านภาษีรถยนต์ เก็บได้ถึงประมาณ 17,000 ล้านบาท ยังมีผู้ที่ยังไม่ดำเนินการจ่ายอีกประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ กทม.ได้มี MOU กับขนส่งเพื่อจะเร่งเก็บภาษีในส่วนนี้เพิ่มเติม

ในส่วนการเก็บภาษีในแต่ละเขต มีหน่วยงานที่เก็บภาษีได้เกินเป้า 7 หน่วยงาน ได้แก่ 1. กองรายได้ 2.เขตลาดกระบัง 3. เขตลาดพร้าว 4. เขตสวนหลวง 5. เขตจตุจักร 6. เขตหนองจอก 7. เขตห้วยขวาง แต่มีบางเขตที่เก็บได้น้อย เช่น เขตดอนเมืองเก็บได้เพียง 38% เหตุผลเนื่องจากกระทรวงการคลังเปลี่ยนวิธีคำนวนการประเมินภาษีทำให้ภาษีที่ดินแปลงใหญ่จากแต่ก่อนอาจเก็บได้อัตราหนึ่ง แต่เมื่อมีการปรับวิธีการคำนวนประเมินใหม่การเก็บภาษีจึงเก็บได้ลดลง เพราะฉะนั้นรายละเอียดเหล่านี้เราให้ฝ่ายรายได้ศึกษา 2 ประเด็น คือ 1. การปรับวิธีการคำนวนราคาประเมินทำให้มีการสูญเสียรายได้ที่ควรจะเป็นเท่าใด 2. เกษตรที่ผิดวัตถุประสงค์ คือเกษตรที่ทำเพื่อหวังลดภาษีมีเท่าใด ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่ต้องมีการหารือกับรัฐบาลว่ามีข้อแนะนำอย่างไร

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า  เรื่องที่จะต้องคุยเพิ่มเติมจะเป็นเรื่อง PM2.5 เนื่องจากใกล้ถึงฤดูฝุ่นสูงแล้ว ซึ่งสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมหารือร่วมกับกรมควบคุมมลพิษในการรับมือ PM2.5 ปัจจุบันเรามีข้อมูลต่าง ๆ เช่น ฝุ่นมาจากไหน มีมาตรการอย่างไร การพยากรณ์เป็นอย่างไร รวมถึงได้มีการปรับเกณฑ์ใหม่ แถบสีต่าง ๆ ซึ่งจะมีความเข้มข้นมากขึ้น ทั้งนี้ เราได้มีการวางแผนเพื่อหารือกับทางรัฐบาล เนื่องจากหลายส่วนเราควบคุมไม่ได้และเชื่อว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญลำดับต้น ๆ ของทางรัฐบาลอยู่แล้ว

Advertisement

“บิ๊กป้อม” เปิดงานวันน้ำโลก 66 ย้ำใช้น้ำอย่างประหยัด

People Unity News : 1 กันยายน 2566 “บิ๊กป้อม” เปิดงานวันน้ำโลก 66 ย้ำต้องใช้น้ำอย่างประหยัด รัฐบาลพร้อมเดินหน้ากับนานาชาติ เพื่อเป้าหมายเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการน้ำ-สุขาภิบาลอย่างยั่งยืน

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการจัดกิจกรรมความร่วมมือและการมีส่วนร่วมบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เนื่องในวันน้ำโลกประจำปี 2566 ที่โรงแรมรามาการ์เด้น เพื่อสื่อสารกับทุกภาคส่วนให้ร่วมกันเร่งสร้างความตระหนักและความร่วมมือเชื่อมโยง แลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับทุกภาคส่วนรวมถึงเยาวชน โดยมุ่งพัฒนาน้ำดื่มน้ำใช้ที่ได้มาตรฐานและขับเคลื่อนความร่วมมือการใช้น้ำอย่างประหยัด

พล.อ.ประวิตร กล่าวบนเวทีว่า น้ำเป็นทรัพยากรที่สำคัญและมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตและการพัฒนาในทุกมิติ องค์การสหประชาชาติจึงกระตุ้นให้ประชาคมโลกได้ร่วมกันรณรงค์ให้เกิดการฟื้นฟูให้เกิดการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างยั่งยืน โครงการเร่งรัดการเปลี่ยนแปลงด้วยการลงมือปฏิบัติ เพื่อลดวิกฤติด้านน้ำและด้านสุขาภิบาล

ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบพลวัต โดยความร่วมมือของคณะกรรมการลุ่มน้ำ ซึ่งเป็นข้อกลางเชื่อมโยงและมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทุกภาคส่วน

การเสริมความเข้มแข็งและการร่วมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตั้งแต่ระดับชุมชนพร้อมกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ผนวกกับภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มได้เข้าถึงการใช้น้ำอย่างมีคุณภาพอย่างเพียงพอและเท่าเทียม ลดความเสียหายจากภัยพิบัติ เกิดความสมดุลและยั่งยืนอย่างเป็นระบบ ในวาระครึ่งทศวรรษ ศตวรรษ ในการร่วมมือปฏิบัติของทุกประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านน้ำ ในปีนี้ตนขอเน้นย้ำถึงเจตนาของรัฐบาลว่าประเทศไทยพร้อมเดินหน้ากับประเทศสมาชิกในการประกาศคำมั่นโดยสมัครใจ เพื่อยืนหยัด ยืนยันความร่วมมือเร่งการจัดการด้านน้ำ ตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการบริหารทรัพยากรน้ำอย่างมีส่วนร่วมให้ประสบความสำเร็จตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2530

และประเทศไทยพร้อมรับข้อเสนอ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับหน่วยงานและองค์กรด้านน้ำของประเทศสมาชิก เพื่อเพิ่มอัตราเร่งของการพัฒนาการบริหารทรัพยากรน้ำของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

สุดท้ายนี้ ขอให้การจัดกิจกรรมในวันน้ำโลก ประจำปี 2566 ประสบความสำเร็จในการขยายภาคีเครือข่ายความร่วมมือปฏิบัติที่เข้มแข็ง และเดินหน้าการเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการในเรื่องสุขาภิบาลของประเทศ ตามเป้าหมายในการพัฒนาที่ยั่งยืน

Advertisement

ครม.ทุ่มงบฯ จ่ายเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด

People Unity News : 29 สิงหาคม 2566 ครม.อนุมัติงบกลาง 998.44 ล้านบาท จ่ายเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดต่อเนื่องเดือน ก.ย.66 ดูแลเด็กแรก-6 ปี กว่า 2.25 ล้านคน

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2566 ว่า ครม.อนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นในการจ่ายเงินงบอุดหนุนเฉพาะกิจ โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 998.442 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อให้การจ่ายเงินอุดหนุนสำหรับการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด จำนวน 2,254,534 คน ในเดือนกันยายน 2566 เป็นไปอย่างต่อเนื่อง สำหรับความจำเป็นที่ขออนุมัติงบกลางฯ ในครั้งนี้ เนื่องจากผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565-สิงหาคม 2566 มีจำนวนเกินกว่าที่ประมาณการณ์ไว้ ทำให้งบประมาณปี 2566 ที่ได้รับจัดสรรไม่เพียงพอต่อการเบิกจ่ายให้กับกลุ่มเป้าหมายที่มีสิทธิ์ในเดือนกันยายน 2566 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงจำเป็นต้องขออนุมัติงบกลางดังกล่าว ทั้งนี้ ขั้นตอนต่อไปสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะส่งให้สำนักงาน กกต. พิจารณาต่อไป

นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เป็นนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งจัดสวัสดิการพื้นฐานแก่เด็กแรกเกิดให้ได้รับการเลี้ยงดูที่มีคุณภาพ รวมทั้งส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการเหมาะสมตามวัย โดยรัฐบาลมอบเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กต่อเนื่องตั้งแต่แรกเกิด – 6 ปี ที่อยู่ในครัวเรือนยากจนซึ่งมีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี ในอัตราเดือนละ 600 บาทต่อคน

Advertisement

“พล.อ.ประยุทธ์” โพสต์โชว์ผลงาน 9 ปี หวังได้รับการต่อยอด

People Unity News : 26 สิงหาคม 2566 นายกฯ “ประยุทธ์” ระบุ 9 ปีของการทำงาน ขอบคุณทุกฝ่ายที่ให้ความร่วมมือ หวังประเทศกลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กระบุตลอดระยะเวลา 9 ปี ของการปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย เป็นช่วงเวลาที่มีความหมายมากที่สุดของชีวิต เป็น 9 ปีที่ได้ทำงานเพื่อปกป้องแผ่นดินไทย ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของตนและของเราทุกคน เป็น 9 ปีที่ได้ใช้สติปัญญา ทุ่มเททุกศักยภาพและกำลังความสามารถ สานพลังจากทุกภาคส่วน เพื่อสร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน รวมทั้งเชิดชูสถาบันอันเป็นที่รักของปวงชนชาวไทย และเป็น 9 ปีของประเทศไทยที่ได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด มีความเจริญก้าวหน้าในหลายด้านทัดเทียมนานาอารยประเทศ และพร้อมยกระดับไปสู่ประเทศชั้นนำของโลก ในอนาคตอันใกล้นี้ ด้วยเหตุผลสำคัญได้แก่

1.เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมี “ยุทธศาสตร์ชาติ” ระยะยาว 20 ปี เพื่อเป็นเข็มทิศนำทางและกรอบแนวคิดในการพัฒนาประเทศในทุกมิติ ให้เกิดความต่อเนื่อง เป็นเป้าหมายให้ทุกภาคส่วนได้ทำงานร่วมกัน ขับเคลื่อนประเทศตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกระดับ

2.มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมครั้งยิ่งใหญ่ ในทุกระบบ ทั้งทางถนน ทางราง ทางทะเล และทางอากาศ รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคต ยกบทบาทของประเทศจากความโดดเด่นทางภูมิรัฐศาสตร์ ให้เป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ ด้านการบิน ด้านการขนส่งสินค้า ด้านการท่องเที่ยว

3.มีความพร้อมเรื่อง “เศรษฐกิจดิจิทัล” และ “เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม” โดยมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล และ 5G ที่โดดเด่นในภูมิภาค เป็นที่ดึงดูดการลงทุนบริษัทชั้นนำของโลกหลายราย ซึ่งจะส่งเสริมบทบาทให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้าน 5G – Data center – Cloud services ที่สำคัญในภูมิภาค มีการใช้ประโยชน์ของประชาชนในชีวิตประจำวัน การศึกษาหาความรู้ การประกอบอาชีพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของตนและสร้างรายได้ที่สูงขึ้นของคนทุกกลุ่ม ทุกสาขาอาชีพ

4.มีการกำหนด 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งล้วนเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต รวมทั้งมีเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตส่งเสริมเศรษฐกิจเพื่อกิจการพิเศษ ทั้งด้านการแพทย์ ด้านนวัตกรรม ด้านดิจิทัล เป็นต้น ที่เป็นแหล่งบ่มเพาะแรงงานทักษะสูง-แรงงานแห่งอนาคต รวมถึงเกษตรอัจฉริยะ เพื่อตอบสนองตลาดแรงงานในอนาคต และการพัฒนาประเทศในศตวรรษที่ 21

5.สร้างกลไกในการบริการจัดการทรัพยากรที่สำคัญของชาติ (1) “น้ำ” ออกกฎหมายน้ำฉบับแรกของประเทศ มีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) บูรณาการหน่วยงานน้ำในทุกระดับ (2) “ดิน” ตั้งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และจัดทำแผนที่ One Map เพื่อแก้ปัญหาที่ดินทับซ้อนมาหลายสิบปี รวมทั้งจัดสรรที่ดินทำกินให้กับผู้ยากไร้-เกษตรกร (3) “ป่า” เช่น ออกกฎหมายป่าชุมชน ไม้มีค่า และตลาดคาร์บอนเครดิต เพื่อส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศ

6.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เช่น (1) ส่งเสริมสวัสดิการกลุ่มเปราะบางทั้งเด็ก-ผู้สูงอายุ-ผู้พิการ (2) ส่งเสริมบทบาทกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กองทุนยุติธรรม และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อสร้างสังคมที่เท่าเทียม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (3) การยกระดับศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ด้วยการศึกษา รองรับความท้าทายใหม่ๆ ของโลกในอนาคต

7.ปฏิรูปกฎหมายไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ ส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน อำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ และดึงดูดการลงทุนเพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ รวมทั้งแก้ไขและบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล สามารถแก้ไขวิกฤตชาติได้ในหลายเรื่อง เช่น ปลดธงแดง ICAO และแก้ปัญหาการประมงผิดกฎหมาย IUU สร้างความเชื่อมั่นประเทศไทยในเวทีโลก

8.ประยุกต์เทคโนโลยีที่ทันสมัยในระบบราชการไทย เพื่อยกระดับการให้บริการแก่ประชาชนและเอกชน ที่เข้าถึงง่าย – สะดวก – โปร่งใส เช่น (1) บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ช่วยให้การจ่ายเงินช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางตรงเป้าหมาย เต็มเม็ดเต็มหน่วย ตรวจสอบได้ (2) UCEP สายด่วน 1669 บริการการแพทย์ฉุกเฉิน ฟรีทุกสิทธิ์ ทุกโรงพยาบาล

9.สร้างความสัมพันธ์ทั่วโลก ทั้งในรูปแบบทวิภาคี-พหุภาคี และเขตการค้าเสรี (FTA) รวมทั้งรื้อฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย เพื่อขยายความร่วมมือ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และตลาดการค้าระหว่างกัน

ทั้งนี้ การเดินทางของประเทศไทยในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้ราบรื่นหรือง่ายดาย ยังคงมีวิกฤตโควิด วิกฤตความขัดแย้งในโลก ที่ส่งผลกระทบด้านราคาพลังงาน ค่าครองชีพ และเงินเฟ้อจนถึงในปัจจุบัน แต่ด้วยความร่วมมือร่วมใจ เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนไทย ช่วยให้เราฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ และฟื้นตัวมาได้ ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่ยังคงผันผวน

“ผมขอขอบคุณพี่น้องประชาชนชาวไทยทุกคน เพื่อนข้าราชการ และทุกภาคส่วน ที่ได้เสียสละและอดทนในทุกสถานการณ์ที่ผ่านมา เพื่อให้ส่วนรวม สังคม และประเทศชาติ กลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง ซึ่งผมมั่นใจอย่างยิ่งว่าประเทศไทยนับจากวันนี้เป็นต้นไป จะไม่ได้เริ่มนับที่ 1 อีกต่อไป หากทุกอย่างที่เราสร้างกันมานั้นได้รับการต่อยอด ก็จะทำให้เราเดินทางเข้าสู่เส้นชัยได้เร็ววันขึ้น” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ

Advertisement

 

“เศรษฐา” ระบุ “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นผู้ใหญ่น่าเคารพ แนะให้ใจเย็น อดทน ยึดมั่นชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ขอให้สานต่องาน

People Unity News : 24 สิงหาคม 2566 ประวัติศาสตร์การเมืองไทย 2 นายกฯ พบกันก่อนส่งต่องาน “เศรษฐา” ระบุ “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นผู้ใหญ่น่าเคารพ แนะให้ใจเย็น อดทน ยึดมั่นชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ขอให้สานต่องาน ก่อนพาชมห้องทำงานบนตึกไทย เล่า “พล.อ.ประยุทธ์” บอกเป็นประวัติศาสตร์ 2 นายกฯ พบคุยกันก่อนส่งมอบงาน

ภายหลังเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนใหม่เข้าที่ทำการพรรคเพื่อไทย พร้อมเปิดเผยถึงการเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า เป็นการไปเยี่ยมเยียน ไปเคารพตามมารยาท ตนในฐานะเป็นผู้น้อยและเพิ่งได้รับการแต่งตั้ง จึงไปพบเพื่อปรึกษาหารือว่ามีเรื่องอะไรที่จะฝากฝังบ้านเมืองหรือไม่ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ฝากความเป็นห่วงบ้านเมือง

เมื่อถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ ฝากฝังอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่าตนมาจากภาคเศรษฐกิจ ซึ่งการบริหารบ้านเมืองอาจจะแตกต่างกัน ต้องคำนึงถึง เพราะมีหลายภาคส่วนที่แตกต่างกัน ขอให้ระวัง รวมถึงขอให้ใจเย็น อดทน ยึดมั่นในชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และนโยบายอะไรที่ดีที่เคยทำไว้ก็ขอให้สานต่อ ในโอกาสนี้ยังได้พบปะบุคคลที่ทำงานให้ พล.อ.ประยุทธ์ ด้วย ซึ่งจะนัดพูดคุยอย่างต่อเนื่องว่ามีอะไรที่ต้องการฝากฝังหรือไม่

“ท่านเป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพ ก็คุยกันดี ท่านพาชมทำเนียบรัฐบาล ชมห้องทำงานที่เปิดโอกาสให้เด็กได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีในวันเด็กแห่งชาติ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ทำงานในห้องดังกล่าว แต่ไปนั่งห้องเล็กอีกห้องหนึ่ง และผมไม่ได้ลองนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี” นายเศรษฐา กล่าว

เมื่อถามว่าได้พูดคุยถึงเรื่องตำแหน่งของกระทรวงกลาโหมหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ไม่มี เป็นการพูดคุยกันธรรมดา เรื่องการจะทำให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้า และวันนี้ต้องก้าวข้ามความขัดแย้ง

เมื่อถามว่าการนัดพบ พล.อ.ประยุทธ์ ครั้งนี้ เป็นความตั้งใจของนายเศรษฐาหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ใช่ และ พล.อ.ประยุทธ์ ก็บอกว่าเป็นครั้งแรก เป็นประวัติศาสตร์ที่นายกรัฐมนตรี 2 ท่านมาพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนไอเดีย และฝากฝังบ้านเมือง ซึ่งส่วนตัวถือว่าเป็นเรื่องที่ดี

ส่วนการพบกันครั้งนี้จะลบภาพความขัดแย้งในอดีตได้เลยหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า คิดว่าคงลำบาก เรื่องความขัดแย้งมีอยู่ในหลายภาคส่วน คิดว่าไม่ใช่แค่การพบปะกันครั้งเดียวจะจบกันไป ต้องให้เวลา ให้การกระทำเป็นตัวพิสูจน์ แต่อย่างน้อยก็ทราบเจตนารมณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าท่านอยากจะก้าวข้ามความขัดแย้ง และความเป็นห่วงเป็นใยบ้านเมืองด้วยความจริงใจ จึงต้องพยายามทำงานด้วยกันต่อไป

เมื่อถามย้ำว่า การพบกันครั้งนี้ฝ่ายนายเศรษฐาเป็นคนนัดใช่หรือไม่ นายเศรษฐา หลุดปากว่า “ก็เรา เป็น” ก่อนจะตอบว่า “ผมก็มีการพูดคุยกัน”

Advertisement

ครม.เห็นชอบร่างเอกสาร รมต.อาเซียนด้านพลังงาน

People Unity News : 23 สิงหาคม 2566 ทำเนียบ – ครม.เห็นชอบต่อร่างเอกสารสำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน สร้างความเชื่อมโยงเครือข่ายไฟฟ้า-ท่อก๊าซ เป็นกลางคาร์บอน

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบร่างเอกสารสำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 41 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 22-25 สิงหาคม 2566 ณ เมืองบาหลี อินโดนีเซีย ประกอบด้วย ถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ในการเสริมสร้างความเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid: APG) การเชื่อมโยงโครงข่ายท่อก๊าซอาเซียน (Trans-ASEAN Gas Pipeline: TAGP) และโครงสร้างพื้นฐานด้านก๊าซธรรมชาติเหลว รวมถึงข้อริเริ่มด้านยุทธศาสตร์ความเป็นกลางทางคาร์บอนของอาเซียน เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ และการแข่งขันด้านการค้าและการลงทุนของภูมิภาค

ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ว่าด้วยความมั่นคงทางพลังงานที่ยั่งยืน เพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน การสร้างเสถียรภาพของโครงข่ายไฟฟ้าและห่วงโซ่อุปทานพลังงาน ร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 20 ด้วยการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน โดยใช้เทคโนโลยีพลังงานของแต่ละประเทศและภูมิภาค การใช้ประโยชน์จากทางเลือกนวัตกรรมและเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน และลดการปล่อยคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรมและภาคการขนส่ง

ร่างถ้อยแถลงร่วมของโครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าระหว่าง สปป. ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ฉบับที่ 4 : มีสาระสำคัญ คือ ต่อยอดความสำเร็จในการเริ่มต้นโครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าระหว่าง สปป. ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งได้ริเริ่มการซื้อขายไฟฟ้าข้ามพรมแดนแบบพหุภาคีจาก สปป. ลาว ไปยังสิงคโปร์ ผ่านไทยและมาเลเซีย รวมถึงหารือถึงศักยภาพและแผนของโครงการฯ ในอนาคต และมุ่งมั่นพัฒนาการซื้อขายไฟฟ้าข้ามพรมแดนแบบพหุภาคีในอาเซียน

การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 41 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียน จัดประชุมเพื่อหารือกรอบความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งการประชุมหารือกับประเทศคู่เจรจา และองค์กรระหว่างประเทศด้านพลังงาน ผลักดันความร่วมมือเพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมายของแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านพลังงานของอาเซียน ระยะที่ 2 พ.ศ. 2564-2568 (ค.ศ. 2021-2025) มีเป้าหมายเปลี่ยนผ่านพลังงานของอาเซียนไปสู่พลังงานที่ยั่งยืนในอนาคต

Advertisement

Verified by ExactMetrics