วันที่ 29 เมษายน 2024

“เศรษฐา” เตรียมคุยนายกฯ กัมพูชา แก้ปัญหาฝุ่น

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 3 กุมภาพันธ์ 2567 นายกฯ ย้ำจะหารือนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ช่วงเยือนไทย 7 ก.พ.นี้ แก้ปัญหาฝุ่น พร้อมสนับสนุนเครื่องมือ ชี้เป็นเพื่อนบ้านกันต้องช่วยเหลือกัน เตรียมสั่งการใน ครม. ใช้มาตรการหนัก ใครฝ่าฝืนเผาถูกลงโทษ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการหารือกับ นายฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ถึงความคืบหน้าปัญหาฝุ่น หมอกควัน ว่า เรื่องนี้คุยกันตลอด และช่วงเช้าวันนี้ได้คุยกับ ผู้ช่วยของนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ซึ่งต้องยอมรับว่า กระทรวงเกษตรและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติของกัมพูชา ไม่มีอุปกรณ์ ไม่มีปัจจัยที่เทียบเท่าเรา แต่เขาใส่ใจเหมือนกับเรา และในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่นายกรัฐมนตรีกัมพูชาจะเดินทางเยือนไทย จะมีการพูดคุยว่ามีเรื่องใดที่เราต้องช่วยเหลือ ยืนยันว่า ประเทศไทยพร้อมสนับสนุน เพราะหากเราเป็นเพื่อนบ้านกันไม่ช่วยเหลือกัน เราก็เดือดร้อนด้วย เราเป็นเพื่อนบ้านที่ดีมาโดยตลอด ก็ต้องช่วยเหลือกัน

ส่วนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่าปัญหาฝุ่นมีความรุนแรงมากขึ้นได้สั่งการอย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันอังคารที่ 6 กุมภาพันธ์ นี้ จะมีการสั่งการหลายเรื่อง โดยเฉพาะมาตรการ หากใครไม่ปฏิบัติตามก็จะถูกลงโทษ สินค้าต่างๆ หากพิสูจน์ทราบได้ว่า ผลิตผลออกมามีการเผาเกิดขึ้นก็จะไม่ได้รับมาตรการการช่วยเหลือ

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ดีใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทุกคนพยายามอย่างเต็มที่ แต่ปัญหานี้ ไม่ใช่ปัญหาจากธรรมชาติเพียงอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาจากเศรษฐกิจ บางคนมีรายจ่ายเพิ่มมากขึ้น หากไม่เผา ไม้ขีดก้านเดียวมันง่ายต่อการกำจัดซากวัชพืช แต่ให้องค์ความรู้ไปแล้วในสิ่งที่เขาทำไม่ถูก และตนได้ขอความร่วมมือไปยังกองทัพไปเยอะ ในการช่วยลำเลียงซากวัชพืชออกมา โรงงานทำไบโอดีเซล การทำถ่านอัด หรือทำปุ๋ย

Advertisement

สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย จัดกิจกรรมลอยกระทง แทนคนไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกัน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 28 พฤศจิกายน 2566 วานนี้ (27 พ.ย.66) ซึ่งเป็นวันลอยกระทง นางออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ร่วมสืบสานประเพณีไทย ด้วยการลอยกระทง ณ อุทยานเบญจสิริ ร่วมกับคณะสื่อมวลชนในประเทศไทย โดยสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลได้เตรียมกระทงรักษ์โลกที่ทำจากขนมปัง รวม 180 กระทง มีทั้งกระทงที่เป็นสีฟ้า-ขาว ซึ่งเป็นสีของธงชาติอิสราเอล จำนวน 165 กระทง และอีก 15 กระทงเป็นสีธงชาติไทย

การจัดกิจกรรมครั้งนี้ของสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย นอกจากจะเป็นการร่วมสืบสานประเพณีอันดีงามของไทยแล้ว ยังเพื่อเป็นการสร้างความตระหนักร่วมถึงความสำคัญของชีวิตคนไทย และประชาชนสัญชาติต่างๆ ที่ถูกกลุ่มฮามาสจับเป็นตัวประกัน ในเหตุการณ์การโจมตีดินแดนอิสราเอล เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ที่ผ่านมาด้วย

เอกอัครราชทูตอิสราเอลเผยว่า ปีนี้ สถานทูตตัดสินใจจัดกิจกรรมลอยกระทงเพื่อรำลึกถึงคนไทยจำนวนหนึ่งซึ่งไม่สามารถร่วมเทศกาลกับครอบครัวได้ ดังนั้นกระทงที่นำมาในวันนี้ จึงเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงตัวประกันชาวอิสราเอลและคนไทย โดยกระทงสีฟ้า-ขาว 165 กระทงแทนจำนวนตัวประกันชาวอิสราเอล ส่วนกระทงสีขาวแดงน้ำเงิน 15 กระทง แทนจำนวนคนไทย ในโอกาสนี้เอกอัครราชทูตอิสราเอลและเจ้าหน้าที่สถานทูตอิสราเอลทุกคนขอภาวนาให้ผู้ที่ถูกจับเป็นตัวประกันได้รับอิสรภาพ กลับสู่อ้อมอกของครอบครัวในเร็ววัน นอกจากนี้ ยังกล่าวว่ากระทงของสถานทูตทำจากขนมปังที่ย่อยสลายได้ ปลากินได้ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

Advertisement

ด่วน!! กระทรวงการต่างประเทศ ออกแถลงการณ์วอนทุกฝ่ายยุติรุนแรง ปกป้องพลเรือน แพทย์

People Unity News : 18 ตุลาคม 2566 กระทรวงการต่างประเทศ – กต. ออกแถลงการณ์เสียใจเหตุโจมตี รพ.ในฉนวนกาซา วอนทุกฝ่ายยุติความรุนแรง โหดร้าย ปกป้องพลเรือน แพทย์ ตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

กระทรวงการต่างประเทศของไทย ออกแถลงการณ์กระทรวงการต่างประเทศ ต่อเหตุโจมตีโรงพยาบาลอัล-อาห์ลี อัล-อาราบี (Al Ahli Arab) ในเขตฉนวนกาซา เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมาว่า ประเทศไทย รู้สึกสะเทือนใจ และเสียใจอย่างสุดซึ้ง ต่อเหตุการณ์การโจมตีโรงพยาบาลอัล-อาห์ลี อัล-อาราบี ทางตอนเหนือของฉนวนกาซา ซึ่งส่งผลให้มีพลเรือนผู้บริสุทธิ์บาดเจ็บ และเสียชีวิตจำนวนมาก และขอไว้อาลัย แก่ผู้เคราะห์ร้าย และแสดงความเสียใจ กับครอบครัวผู้สูญเสีย

ประเทศไทย ขอวิงวอนให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ดำเนินความพยายาม เพื่อยุติวัฏจักรความรุนแรง และความโหดร้ายทั้งปวงโดยทันที ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศไทย เรียกร้องให้มีการเคารพ และปกป้องพลเรือน โรงพยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

Thailand is profoundly shocked and deeply saddened by the attack on Al Ahli Arab Hospital in the North of the Gaza Strip, resulting in heavy loss of life of innocent civilians and casualties. In expressing our condolences to all the victims and their bereaved families, Thailand strongly and urgently appeals to all sides concerned to work towards an immediate cessation to the vicious cycle of violence and hostilities. Moreover, Thailand calls for full respect for the protection of civilians, hospital and medical staff under international humanitarian law.

Advertisement

ไทยจับมือกัมพูชาแก้ภัยคุกคามความมั่นคง

People Unity News : 25 พฤศจิกายน 2565 “พล.อ.ประวิตร-พล.อ.เตีย บันห์” พร้อมร่วมแก้ปัญหาชายแดนที่กระทบต่อความมั่นคงไทย-กัมพูชา ทั้งอาชญากรรมข้ามแดน ยาเสพติด แก๊งคอลเซ็นเตอร์ไทยที่ใช้กัมพูชาเป็นฐานหลอกคนไทยด้วยกัน

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.เตีย บันห์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชา เป็นประธานร่วมการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (GBC) ไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 15 ก่อนการประชุม พล.อ.ประวิตร ได้หารือกับ พล.อ.เตีย บันห์ โดยทั้งสองฝ่ายได้ย้ำสัมพันธ์และความร่วมมือทางทหารที่ใกล้ชิดแน่นแฟ้นทุกระดับ และเห็นถึงความสำคัญของกลไกการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (GBC) ต่อความมั่นคงชายแดนของทั้งสองประเทศ โดยจะเพิ่มความร่วมมือกิจกรรมทางทหาร การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติมากขึ้น เช่น ยาเสพติด การค้ามนุษย์ อาชญกรรมทางไซเบอร์ โดยเฉพาะกลุ่มมิจฉาชีพหลอกลวงข้ามแดน รวมทั้งร่วมเดินหน้าขับเคลื่อนการเก็บกู้ทุ่นระเบิดตามแนวชายแดน ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศ เพื่อความปลอดภัยของประชาชนทั้งสองประเทศ โดยไม่นำเงื่อนไขของเขตแดนมาเป็นปัญหาในการปฏิบัติงาน

พล.อ.ประวิตร กล่าวขอบคุณกัมพูชาที่สนับสนุนช่วยเหลือคนไทยในกัมพูชาที่ถูกหลอกลวง และขอความร่วมมือกัมพูชาช่วยกวาดล้างจับกุมแก๊งคอลเซ็นเตอร์คนไทยที่ใช้กัมพูชาเป็นฐานหลอกลวงคนไทยด้วย ทั้งนี้ กระทรวงกลาโหมไทยพร้อมสนับสนุนที่นั่งการศึกษาทางทหารระดับต่างๆ ให้กระทรวงกลาโหมกัมพูชา เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางทหารที่แน่นแฟ้นมากขึ้น

จากนั้น พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.เตีย บันห์ เป็นประธานร่วมการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 15 โดยเน้นย้ำความร่วมมือด้านต่าง ๆ ระหว่างกองทัพและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับ อันจะนำมาซึ่งสันติภาพ เสถียรภาพและความมั่นคงตลอดแนวชายแดน รับทราบความก้าวหน้าของความร่วมมือด้านต่างๆ เช่น การผ่านแดนและการสัญจรข้ามแดน การเก็บกู้ทุ่นระเบิด การป้องกันและปราบปรามยาเสพติด การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานชายแดน การพัฒนาคุณภาพชีวิต การศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม การค้าชายแดน สาธารณสุขและการบรรเทาสาธารณภัย โดยเฉพาะการขับเคลื่อนกลไกการประชุมผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ไทย-กัมพูชา และการจัดตั้งกลไก RBC ประชุมร่วมระหว่างกองกำลังป้องกันชายแดนทั้งสองประเทศ เพื่อแก้ปัญหาในระดับพื้นที่ ทั้งสองฝ่ายพร้อมสนับสนุนให้หน่วยงานระดับ อำเภอ จังหวัด ร่วมแก้ปัญหายาเสพติด โดยการดำเนินงานหมู่บ้านคู่ขนานสีขาวและหมู่บ้านเข้มแข็งตามแนวชายแดน ร่วมปฏิบัติตามแผนแม่น้ำโขงปลอดภัย เพื่อควบคุมปัญหายาเสพติด ซึ่งความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมดังกล่าว สะท้อนถึงพัฒนาการความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันในการแก้ปัญหาชายแดนที่มีมากขึ้นต่อเนื่อง

Advertisement

“อนุทิน” เตรียมนำคณะร่วมถก World Bio Summit 2022

People Unity News : 23 ตุลาคม 2565 “อนุทิน” เตรียมนำคณะเข้าประชุม World Bio Summit 2022 ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ร่วมผู้แทนกว่า 18 ประเทศถกอนาคตวัคซีนสร้างความสามารถต่อสู้โรคอุบัติใหม่

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 24-27 ต.ค. 65 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข จะนำคณะซึ่งประกอบด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วยคณะแทนจากกระทรวงสาธารณสุขเข้าร่วมการประชุม World Bio Summit 2022 ซึ่งจัดขึ้น ที่กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี

สำหรับการประชุม World Bio Summit 2022 ครั้งนี้เป็นเวทีการหารือใหม่ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกโดยความร่วมมือของสาธารณรัฐเกาหลีกับองค์การอนามัยโลก ซึ่งได้มีการเชิญผู้นำประเทศต่างๆ มากกว่า 18 ประเทศทั้งในอเมริกา ยุโรป เอเชียเเละแอฟริกา รวมถึงผู้แทนบริษัทวัคซีน ผู้แทนองค์กรการกุศลเอกชน และผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ เข้าร่วม โดยจะมีการหารือในหัวข้ออนาคตของวัคซีนและชีวอนามัยจากประสบการณ์และบทเรียนที่เรียนรู้จากการระบาดของโรคโควิด19 พร้อมเสนอวิธีการเสริมสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อโรคติดเชื้อและโรคอุบัติใหม่ในอนาคต

ในโอกาสนี้ นายอนุทิน จะเป็นผู้แทนประเทศไทยในการปาฐกกาถึงบทเรียนที่ทั่วโลกได้รับโควิด 19 และย้ำถึงจุดยืนของไทยในการร่วมกับนานาประเทศในการพัฒนาด้านสาธารณสุข เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ระหว่างการเข้าร่วมประชุมที่กรุงโซลครั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีและคณะ จะเข้าร่วมในพิธี Thailand-IVI Ratification Ceremony ซึ่งประเทศไทยจะให้สัตยาบันสารในการเข้าร่วมเป็นภาคีกับสถาบันวัคซีนนานาชาติ (IVI) อันจะส่งผลให้ประเทศไทยได้รับโอกาสในการพัฒนาและขยายความร่วมมือด้านวัคซีนทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้านวัคซีนของไทย

นอกจากนี้ จะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงสาธารณสุขของไทยกับสาธารณรัฐเกาหลี ว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุข ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือหลายด้านระหว่าง 2 ประเทศ อาทิ ความมั่นคงด้านสุขภาพ การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบสุขภาพ การดูแลสุขภาพดิจิทัล และการส่งเสริมสุขภาพ

Advertisement

นายกฯ หารือ รมว.พาณิชย์สหรัฐฯ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 14 มีนาคม 2567 นายกฯ หารือคณะผู้แทน PEC ย้ำศักยภาพเศรษฐกิจไทย ฝ่ายสหรัฐฯ ชื่นชมบทบาทควาทเป็นผู้นำ วิสัยทัศน์นายกฯ สองฝ่ายเชื่อ การพบกันจะเป็นโอกาสยกระดับความร่วมมือทางเศรษกิจ

วันนี้ (14 มีนาคม 2567) เวลา 16.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หารือร่วมกับ นางจีนา เอ็ม. เรมอนโด (The Honorable Gina M. Raimondo) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยนาย Mark Ein ประธานสภาผู้ส่งออกแห่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา (The President’s Export Council: PEC) และคณะ รวม 10 ราย ซึ่งมาจากภาคเอกชนและองค์กรชั้นนำของสหรัฐฯ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและส่งเสริมโอกาสขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยภายหลังเสร็จสิ้น นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญของการหารือ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับและยินดีอย่างยิ่งที่ รมว.พาณิชย์สหรัฐฯ ได้พาคณะผู้แทน PEC เยือนไทยในครั้งนี้ ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองฝ่ายจะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ซึ่งไทยและสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกันมาอย่างยาวนาน และไทยถือเป็นฐานการผลิตและการลงทุนที่เชื่อถือได้สำหรับสหรัฐฯ โดยทราบว่า คณะผู้แทน PEC ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่ง มล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า การหารือร่วมกันของทั้งสองฝ่ายเป็นไปด้วยดี โดยมีการพูดคุยถึงประเด็นสำคัญต่าง ๆ อาทิ การส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่งและยืดหยุ่นของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาค การส่งเสริมความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในด้านเทคโนโลยี AI ความมั่นคงทางไซเบอร์ (CyberSecurity) รวมถึงการสนับสนุนไทยด้านการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล (Digital Transformation) นอกจากนี้ ฝ่ายไทยได้แสดงความมุ่งมั่นของไทยในการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาต่าง ๆ โดยการหารือเป็นไปด้วยดี สะท้อนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ที่มีมาอย่างยาวนาน และทั้งสองฝ่ายพร้อมแสวงหาโอกาสในการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันมากขึ้นอีก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ฯ ชื่นชมบทบาทความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรี การทำงานเชิงรุกในการส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลกมายังประเทศไทย และการเพิ่มความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ พร้อมย้ำถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งระหว่างไทยและสหรัฐฯ ซึ่งสหรัฐฯ เห็นพ้องเดินหน้าความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างกันใกล้ชิดยิ่งขึ้น ซึ่งวันนี้ ได้นำประธานสภา PEC และคณะร่วมเดินทางมาไทย เป็นโอกาสสำคัญในการยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกัน

โอกาสนี้ นาย Mark Ein ประธาน PEC และคณะผู้แทน ได้แนะนำตัวต่อนายกรัฐมนตรีและต่างชื่นชมในบทบาทการดำเนินงานของนายกรัฐมนตรี ซึ่งผลักดันและดึงดูดให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศมายังประเทศไทย พร้อมอำนวยความสะดวกในการลงทุน นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือร่วมกันในประเด็นที่แต่ละฝ่ายให้ความสนใจ โดยเฉพาะการส่งเสริมความร่วมมือในด้านพลังงานสะอาด การเปลี่ยนผ่านสีเขียว และเทคโนโลยีสีเขียว ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยและสหรัฐฯ ให้ความสำคัญร่วมกัน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีต้องการส่งเสริมความร่วมมือกับภาคเอกชนสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวของไทย ตลอดจนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ในอุตสาหกรรมสำคัญ รวมถึงการสนับสนุนด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และความร่วมมือด้านการศึกษา ตลอดจนเพิ่มพูนความร่วมมือในระดับภูมิภาคมากขึ้น

โดยนายกรัฐมนตรีย้ำว่า จะยังดำเนินงานเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างมากขึ้นต่อไป ไม่เพียงเฉพาะด้านเศรษฐกิจ แต่รวมถึงความร่วมมือด้านอื่นๆ ที่มีศักยภาพ

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีหวังว่าการเยือนของคณะ PEC ซึ่งเป็น fact-finding visit จะทำให้สหรัฐฯ เห็นถึงโอกาสและศักยภาพของไทย พร้อมทั้งใช้ประโยชน์จากความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันอย่างเต็มที่ ผ่านการยกระดับการค้าการลงทุน สนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถของไทยในฐานะหุ้นส่วนที่พึ่งพาได้ในห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่งและยืดหยุ่นของสหรัฐฯ พร้อมเชื่อมั่นว่า การประชุม IPEF Clean Economy Investor Forum ที่สิงคโปร์ จะเป็นอีกหนึ่งเวทีในการส่งเสริมโอกาสการขยายความร่วมมือระหว่างกัน

ทั้งนี้ สภาผู้ส่งออกแห่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา (The President’s Export Council: PEC) ประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงจากภาคเอกชนและองค์กรสหรัฐฯ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีภารกิจสำคัญในฐานะที่ปรึกษาของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในด้านนโยบายและโครงการที่เกี่ยวข้องกับการค้า โดยการเยือนของคณะ PEC ครั้งนี้เป็น fact-finding visit เพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการให้คำแนะนำแก่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ พร้อมทั้งจะมีการเผยแพร่รายงานผลการเยือนต่อสาธารณชน

Advertisement

แม่ทัพภาค 4 พบสื่อฯ 3 ประเทศ สร้างความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยว และนักธุรกิจเยือนพื้นที่ จชต.

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 1 ธันวาคม 2566 แม่ทัพภาคที่ 4 ร่วมพบปะสื่อฯ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย พร้อมสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัย ยินดีต้อนรับ นักท่องเที่ยวและนักธุรกิจเข้ามาเยือนพื้นที่ จชต.

พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 และคณะ ร่วมพบปะคณะสื่อมวลชนและผู้ประกอบการท่องเที่ยวมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่เดินทางมาเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อร่วมกิจกรรมสานสัมพันธ์สื่อมวลชนและผู้ประกอบการท่องเที่ยวคาบสมุทรมลายูครั้งที่ 1 การจัดบรรยากาศที่เป็นกันเอง ซึ่งจัดโดยสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทยและภาคีเครือข่าย เพื่อส่งเสริมประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว พร้อมหารือเรื่องการสร้างความเชื่อมั่น การดูแลความปลอดภัย ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการและสื่อมวลชนในโครงการนี้

พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4/ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 กล่าวว่า ได้ทราบจากนายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทยถึงกิจกรรม สานสัมพันธ์สื่อมวลชน และผู้ประกอบการท่องเที่ยวคาบสมุทรมลายูครั้งนี้ นับว่าเป็นกิจกรรมที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่ ในฐานะที่เป็นบ้านพี่เมืองน้อง มีความหลากหลายในการนับถือศาสนา และเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้กันในภูมิภาคอาเซียน การมาเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ เชื่อว่าสื่อมวลชนทุกท่านได้มาเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงหลังจากที่ห้วงสองสามปีที่ผ่านมาทั่วโลกได้เกิดภาวะโรคโควิด-19 ระบาด ทำให้ทุกอย่างต้องหยุดชะงักไป และปัจจุบันนี้สถานการณ์ดีขึ้นและทุกอย่างได้กลับมาดำเนินการเดินหน้าเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งปัจจุบันนี้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้รวมถึงจังหวัดสงขลามีนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจเดินทางเข้ามาทำธุรกิจ มาท่องเที่ยวในพื้นที่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพี่น้องประเทศเพื่อนบ้านมาเลเซีย อินโดนีเซีย เดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มีการพัฒนาการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลปัจจุบันให้ความสำคัญและเร่งพัฒนาเรื่องเศรษฐกิจ แม้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น 20 กว่าปี แต่ปัจจุบันเหตุการณ์ดีขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งเรื่องของความมั่นคง และเรื่องการท่องเที่ยวการพัฒนาได้มีการขับเคลื่อนควบคู่กันอย่างต่อเนื่อง ขอให้ความมั่นใจต่อนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจที่เข้ามาในพื้นที่ ขอให้ท่านมีความมั่นใจในเรื่องของความปลอดภัย ส่วนเรื่องหลากหลายไม่ใช่ปัญหา ผู้คนสามารถอยู่ร่วมกันได้เพราะทุกวัฒนธรรมทุกศาสนาสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข และในฐานะแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งรับผิดชอบดูแลพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ขอให้ทุกคนมั่นใจได้ทั้งเรื่องความปลอดภัยและการอำนวยความสะดวก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยว และนักธุรกิจที่เดินทางมาเข้ามาให้ท่านเชื่อมั่นวางใจได้ เราพร้อมที่จะดูแลช่วยเหลือในทุกด้านโดยเฉพาะเรื่องของความปลอดภัยเมื่อมาเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้

โครงการ “สานสัมพันธ์สื่อมวลชนและผู้ประกอบการท่องเที่ยวคาบสมุทรมลายูครั้งที่ 1 กำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน – 6 ธันวาคม 2566 นำโดย นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย ดำเนินกิจกรรมโดยสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทยที่นำเครือข่ายผู้ประกอบการ นักท่องเที่ยว สื่อมวลชนในกลุ่มมาเลเซีย และอินโดนีเซีย มาเที่ยวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมเข้าพบปะบุคคลสำคัญต่างๆ ในพื้นที่ ทั้งหน่วยงานรัฐ และเอกชน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ หารือความร่วมมือในด้านต่างๆ รวมถึงเป็นการประชาสัมพันธ์แลกเปลี่ยนข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบกับสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยวรู้สึกให้มั่นใจถึงความปลอดภัยเมื่อมาเยือนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักโดยเฉพาะเขตพัฒนาเศรษฐกิจ IMTGT เชื่อมสัมพันธ์และกระชับมิตรระหว่างสื่อมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสื่อไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นับเป็นกิจกรรมที่ช่วยกระชับมิตรระหว่างสื่อมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสื่อไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีความสัมพันธ์ที่ดี และร่วมกันพัฒนาขับเคลื่อนสิ่งดี ๆ ร่วมกันต่อไปในอนาคต

Advertisement

“ปานปรีย์” เตือนเมียนมาอย่ารุกล้ำ หลังกระสุนปืนหนักข้ามมาฝั่งไทย

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 21 เมษายน 2567 “ปานปรีย์” เตือนเมียนมาอย่ารุกล้ำ หลังกระสุนปืนหนักข้ามมาฝั่งไทย เผย คกก. ติดตามสถานการณ์พรุ่งนี้ (22 เม.ย.) ก่อนนายกฯ บินแม่สอด

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงสถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งมีผู้อพยพหนีภัยสงครามมายังแม่สอดเป็นจำนวนมากว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาข้ามมาฝั่งไทย ก่อนหน้านี้เราเคยมีกรณีผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาข้ามฝั่งมาไทย จำนวน 10,000 คน พอเหตุการณ์สงบ ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาก็ข้ามฝั่งกลับไป

นายปานปรีย์ กล่าวต่อว่า กรณีดังกล่าวก็เช่นเดียวกัน คาดว่า หากเหตุการณ์ในเมียนมาเริ่มสงบ ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาที่ข้ามมาฝั่งไทยก็จะทยอยกลับไป ซึ่งตอนนี้ได้รับรายงานว่า มีผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาข้ามมาฝั่งไทย จำนวน 3,000 คน ซึ่งในจำนวน 3,000 คนนี้ อยู่ในการดูแลของกระทรวงมหาดไทย

ส่วนกรณีที่มีกระสุนปืนหนักตกมายังบริเวณกลางแม่น้ำเมย ใกล้กับฝั่งประเทศไทย จนส่งผลให้เกิดกลุ่มควัน และมีกระสุนปืนจากฝั่งเมียนมายิงเข้ามายังฝั่งไทย กระสุนถูกยิงทะลุหน้าต่างมุ้งลวดบ้านหลังหนึ่ง ในพื้นที่บ้านวังตะเคียนใต้ หมู่ 7 ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด ทั้งสองกรณีนี้จะมีการตักเตือนทางการเมียนมา หรือป้องกันอย่างไร นายปานปรีย์ ตอบว่า เป็นกระสุนจากฝั่งเมียนมา หลุดมาทางฝั่งไทย แต่ก็ไม่ได้สร้างความเสียหาย และไม่ได้รับรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ และเราได้ทำการเตือนทางฝั่งเมียนมาว่า ให้ระมัดระวัง เราไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์รุกล้ำข้ามเขตแดน ไม่ว่าจะทางบก หรือทางอากาศ รวมถึงการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ อย่าให้เข้ามาในประเทศไทย รวมถึงห้ามให้ประชาชนไทยได้รับอันตราย

สำหรับความคืบหน้าหลังจากนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ตั้งคณะกรรมการติดตามสถานการณ์เมียนมา มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง นายปานปรีย์ กล่าวว่า จะประชุมติดตามความคืบหน้า ในวันพรุ่งนี้ (22 เม.ย.) ก่อนที่นายกฯ จะบินไป อ.แม่สอด จ.ตาก คงจะได้คำตอบ และข้อสรุปในวันพรุ่งนี้ ว่ามีความคืบหน้าอย่างไร

เมื่อถามถึงความพร้อมในการเป็น Peace broker นายปานปรีย์ กล่าวว่า เบื้องต้นเราได้เรียกร้องผ่านทางอาเซียน กดดันให้ทางเมียนมากลับสู่ความสงบโดยเร็ว ส่วนเรื่องของการที่ไทยจะเป็นตัวกลางในการเจรจานั้น ตอนนี้กำลังเร่งทำงานกันอยู่ เพราะยังไม่ทราบว่าต้องเจรจาผ่านกลุ่มใด และการสู้รบยังเกิดขึ้นตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ก็มีการพูดคุยในระดับหนึ่ง

Advertisement

ไทย-ซาอุดีฯ ยืนยันความตั้งใจมุ่งสานสัมพันธ์ใกล้ชิด

People Unity News : 20 ตุลาคม 2566 ซาอุดีอาระเบีย – นายกฯ เข้าเฝ้าฯ มกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบีย ไทย-ซาอุดีฯ ยืนยันความตั้งใจมุ่งสานความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิด และกระชับความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และความมั่นคง

วันนี้ (20 ต.ค. 2566) เวลา 12.45 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงริยาด ซึ่งช้ากว่าไทย 4 ชั่วโมง) ณ โรงแรม Ritz Carlton กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าเฝ้าฯ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด (His Royal Highness Prince Mohammed bin Salman bin Abdulaziz Al Saud) มกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบีย ในโอกาสการหารือทวิภาคี ระหว่างการเข้าร่วมการประชุม ASEAN – GCC Summit โดยนายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีและมกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีซาอุดีฯ ต่างยืนยันความตั้งใจร่วมกันในการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การท่องเที่ยว รวมถึงพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนไทยและซาอุดีฯ ให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในวิสัยทัศน์ของพระราชาธิบดี รวมถึงมกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีซาอุดีฯ ที่ทรงวางรากฐาน นำไปสู่การฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างทั้งสองประเทศ โดยไทยยืนยันมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือด้าน ต่าง ๆ ให้พัฒนายิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมแก่ประชาชนไทยและซาอุดีฯ

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีและ มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีซาอุดีฯ หารือประเด็นความร่วมมือดังนี้

ด้านความสัมพันธ์ ทั้งสองฝ่ายหารือถึงการดำเนินความสัมพันธ์ในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะควรส่งเสริมการค้าและการลงทุนซึ่ง นายกฯ เสนอการจัดทำ Thai-GCC FTA รวมทั้งแสดงการสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพ Expo 2030 จัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2034 ของซาอุดีอาระเบีย รวมถึงแนวทางความร่วมมือและประเด็นที่คั่งค้างในด้าน 1) การเมืองและการกงสุล 2) การลงทุน 3) ความมั่นคงและการทหาร 4) วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว และ 5) เศรษฐกิจและการค้า โดยไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสภาความร่วมมือซาอุดี – ไทย (Saudi – Thai Coordination Council: STCC) ครั้งที่ 1 เพื่อทบทวนการดำเนินความสัมพันธ์ และกำหนดแนวทางความร่วมมือทั้ง 5 ด้าน

ด้านความมั่นคง ทั้งสองฝ่ายพร้อมส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งที่ผ่านมามีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูง เพื่อเข้าร่วมงานนิทรรศการด้านการป้องกันประเทศของทั้งสองฝ่ายแล้วในงาน Defense and Security ของไทย และงาน World Defense Show ของซาอุดีฯ ซึ่งทำให้ไทยและซาอุดีฯ มีโอกาสขยายความร่วมมือในด้านความมั่นคงมากยิ่งขึ้น ซึ่งไทยจะให้ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร และสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เร่งรัดความร่วมมือให้เป็นรูปธรรมต่อไป

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีขอบคุณรัฐบาลซาอุดีอาระเบียที่ดูแลคนไทยกว่า 6,000 คน ที่อยู่ในซาอุดีอาระเบีย และแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล ซึ่งมีคนไทยเสียชีวิต บาดเจ็บ และถูกลักพาตัว ซึ่งซาอุดีอาระเบียรับที่จะดำเนินการอย่างเต็มที่ในการให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ถูกจับกุมตัว

Advertisement

ยกระดับความร่วมมือไทย-จีน นำความรุ่งเรืองสู่ประเทศ

People Unity News : 19 ตุลาคม 2566 สาธารณรัฐประชาชนจีน – นายกฯ กล่าวปาฐกถาในงาน Thailand-China Investment Forum ย้ำความมุ่งมั่นการพัฒนาประเทศไทยให้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ยกระดับความร่วมมือไทย-จีน นำความรุ่งเรืองสู่ประเทศและภูมิภาค

เมื่อเวลา 09.20 น. (ตามเวลาท้องถิ่นสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเร็วกว่าไทย 1 ชั่วโมง) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนา Thailand-China Investment Forum

โดยนายกรัฐมนตรีแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่สยามพารากอน เป็นกำลังใจให้ครอบครัว และยืนยันรัฐบาลพยายามทำทุกอย่างเพื่อความสะดวกสบายใจของนักท่องเที่ยวจีนในการเดินทางมาท่องเที่ยวและเดินทางกลับบ้านได้อย่างมีความสุข ให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่ปลอดภัยเพื่อนักท่องเที่ยวทุกคน โดยยินดีและขอบคุณสำหรับการต้อนรับอย่างอบอุ่น ชื่นชมความสัมพันธ์ไทย-จีน ที่ราบรื่น ยาวนาน ทุกด้าน โดยในปี ค.ศ. 2023 นี้ จะครบรอบ 48 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต และเมื่อปี ค.ศ. 2022 ไทยและจีนเพิ่งครบรอบ 10 ปี ความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์รอบด้าน ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ลงนามและประกาศใช้แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-จีน ฉบับที่ 4 (ปี ค.ศ. 2022-2026) และแผนความร่วมมือระหว่างไทย-จีน ว่าด้วยการร่วมกันส่งเสริมเส้นทางเศรษฐกิจสายไหม และเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ

นายกรัฐมตรี กล่าวว่า สำหรับการเยือนครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อเข้าร่วมการประชุม Belt and Road Forum for International Cooperation (BRF) ครั้งที่ 3 ซึ่งข้อริเริ่ม Belt and Road Initiative (BRI) เป็นนโยบายที่ก่อให้เกิดความร่วมมือในหลากหลายมิติ รวมถึงมีส่วนสำคัญกระตุ้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของกลุ่มอาเซียน และเกิดความเกื้อหนุนระหว่างประเทศตามแนวยุทธศาสตร์ดังกล่าว ครอบคลุมพื้นที่ถึงกว่า 60 ประเทศ ประชากรประมาณ 4,400 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 63 ของประชากรโลก

โดยไทยในฐานะศูนย์กลางอาเซียนสามารถเชื่อมต่อเส้นทางภายใต้ BRI ทั้งทางบกและทางทะเล พร้อมส่งเสริมความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไทย-จีน ซึ่งปัจจุบันทางบก ไทยมีเส้นทางถนน R3A เชื่อมต่อการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังคุนหมิง ทางน้ำมีการเดินเรือในแม่น้ำโขงและการเดินเรือสมุทรระหว่างไทยกับจีน ส่วนทางอากาศมีเส้นทางบินตรงจากเมืองใหญ่หลายเมืองของจีนมายังไทย นอกจากนี้รัฐบาลมีแผนจะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อสร้างโอกาสด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว พร้อมทั้งยกระดับระบบคมนาคมและขนส่งของไทย จึงเป็นโอกาสในการยกระดับความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระหว่างกันให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งไทยมีความพร้อมทั้งระบบเศรษฐกิจ บุคลากร และความสะดวกในการดำเนินธุรกิจสำหรับการค้าและการลงทุน

นอกจากนี้ไทยเห็นความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ ได้แก่ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมสีเขียว ปัญญาประดิษฐ์ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย Made in China 2025 ของจีน โดยมีการลงทุนร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนา Startup ที่มีศักยภาพให้เติบโตและแข่งขันได้ในระดับโลก ให้เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจและยกระดับศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในระดับภูมิภาค จีนและไทยได้ร่วมลงนามในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นสัญญาการค้าขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมประมาณร้อยละ 30 ของ GDP โลก ทำให้ไทยได้รับสิทธิยกเว้นอากร หรือลดอัตราอากรศุลกากร และกรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ซึ่งส่งผลให้ภาษีสินค้านำเข้าเป็นศูนย์มากกว่าร้อยละ 90 ของรายการสินค้าทั้งหมด ตั้งเป้าเปิดตลาดสินค้าเพิ่มในหมวดสินค้าอ่อนไหว เพื่อพัฒนาการเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจไปสู่การเป็นฐานการผลิตและตลาดเดียวกัน เพิ่มโอกาสทางธุรกิจที่เปิดกว้างยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ไทยมีที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ในอาเซียน โดยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและโลจิสติกส์ของภูมิภาค การเข้ามาทำธุรกิจการค้าและการลงทุนกับไทย จึงครอบคลุมไปถึงประชากรกว่า 620 ล้านคนในอาเซียน

นายกรัฐมนตรี ย้ำบทบาทเชิงรุกอย่างสร้างสรรค์ของไทย โดยกระชับความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ผ่านการค้าและการลงทุน พร้อมใช้ความร่วมมือระหว่างประเทศในการส่งเสริมความร่วมมืออย่างใกล้ชิด โดยยึดมั่นการเสริมสร้างความสัมพันธ์บนพื้นฐานการไว้วางใจ การให้เกียรติ และการเคารพซึ่งกันและกัน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยว (Visa Free) พร้อมทั้งผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาว เช่น การลงทุนจากบริษัทชั้นนำระดับโลก ซึ่งคาดว่าจะทำให้ GDP ของไทยในปี 2024 ขยายตัวได้สูงกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา

“จีนถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่และผู้ลงทุนอันดับหนึ่งของไทย นายกรัฐมนตรีจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การค้าไทย-จีน จะขยายตัวมากยิ่งขึ้น และอยากให้จีนซื้อสินค้าจากประเทศไทยมากขึ้นรวมถึงการลงทุนในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า (EV) รัฐบาลพร้อมสนับสนุนผู้ลงทุนจากจีน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ซึ่งรัฐบาลพร้อมอำนวยความสะดวกและดูแลนักลงทุนจีน” นายเศรษฐา กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมุ่งมั่นอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ พร้อมทั้งพัฒนาระบบบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยในส่วนของนักท่องเที่ยวจากจีน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวอันดับต้นของไทย รัฐบาลมีมาตรการยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวให้แก่นักท่องเที่ยวจากจีนเป็นพิเศษ ตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยหวังว่า นักท่องเที่ยวจากจีนจะเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น ทั้งในเมืองหลักและเมืองรอง พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า ประเทศไทยมีความปลอดภัย พร้อมที่จะดูแลและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวจีนอย่างเต็มที่

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวอีกว่า รัฐบาลไทยยังมีนโยบายสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ หรือ ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ของประเทศไทยสู่ระดับสากลด้วยการทูตเชิงวัฒนธรรม ยกระดับและพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย สร้าง 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ (One Family One Soft Power : OFOS) ผ่านคอนเทนต์ 11 อุตสาหกรรม ได้แก่ อาหาร กีฬา เฟสติวัล ท่องเที่ยว ดนตรี หนังสือ ภาพยนตร์ เกม ศิลปะ การออกแบบ และแฟชั่น เพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าและบริการ รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยต่อเวทีโลก

ส่วนความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็นอีกประเด็นสำคัญ ไทยมีประชากรส่วนมากอยู่ในภาคการเกษตร และเป็นผู้ส่งออกหลักในกลุ่มอาหารและสินค้าเกษตร จึงต้องการพัฒนาและนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เปลี่ยนจากเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการ จำเป็นที่ต้องมีส่วนร่วมในการลดภาวะโลกร้อนและสร้างเศรษฐกิจสีเขียว ส่งเสริมให้เกิดการเงินและการลงทุนสีเขียว เพื่อให้สามารถรับมือกับความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสามารถอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้รัฐบาลมีแผนเสริมสร้างสังคมดิจิทัล โดยนำเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์มาช่วยในการทำงาน ควบคู่ไปกับการสร้างเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีนโยบายเปิดรับแรงงานและกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อตอบสนองความต้องการทรัพยากรบุคคล และแรงงานทั้งในภาคการผลิต การบริการ และการพัฒนาเทคโนโลยี

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จีนเป็นประเทศเป้าหมายของนักศึกษาไทยจำนวนมาก หวังว่าทั้งสองประเทศจะผลักดันความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตร การพัฒนาความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและมหาวิทยาลัยของไทยและจีนให้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ไทยมีความพร้อมสำหรับการพัฒนาการค้า การลงทุนร่วมกัน พร้อมทั้งเชิญชวนนักลงทุนและบุคลากรทักษะสูงจากจีน เข้ามาดำเนินธุรกิจในไทย

ช่วงตอนท้าย นายกรัฐมนตรี หวังว่างานสัมมนาในวันนี้จะช่วยเชื่อมโยง กระตุ้นโอกาสด้านการค้าการลงทุน และสร้างพันธมิตรทางธุรกิจระหว่างไทยและจีนมากขึ้น

“เชื่อมั่นว่าไทยมุ่งมั่นที่จะพัฒนาประเทศให้มั่นคงทางเศรษฐกิจ มีความพร้อม ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมระหว่างไทยกับจีน พร้อมที่จะยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ และช่วยส่งเสริมให้ภูมิภาคเอเชียก้าวสู่ความก้าวหน้า เต็มศักยภาพ และรุ่งเรืองอย่างยั่งยืน” นายเศรษฐา กล่าว

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้แจ้งการดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์และเชิญชวนนักลงทุนจีนร่วมลงทุนในโครงการนี้ ยืนยันการสนับสนุนการลงทุนจากนักลงทุนจีน ให้ รายงานผลการศึกษาเพื่อจัดอันดับ ความยาก-ง่ายในการเข้าไปประกอบธุรกิจในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเกิดขึ้นจริง ขอร่วมเดินทางกับจีนในเส้นที่ท้าทาย และทำให้โลกของเราเจริญรุ่งเรืองต่อไป

Advertisement

Verified by ExactMetrics