วันที่ 30 เมษายน 2024

กลาโหมเผยผลรับฟังความเห็นทุกภาคส่วนทั้งประเทศต่อการสร้างสามัคคีปรองดอง

พลตรี คงชีพ ตันตระวาณิชย์

People unity news online : เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2560 พลตรี คงชีพ ตันตระวาณิชย์ ประธานอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ เปิดเผยถึง ความคืบหน้าของกระบวนการสร้างความสามัคคีปรองดอง ว่า ข้อมูลจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จากกระบวนการสร้างความสามัคคีปรองดอง ได้ถูกรวบรวมและสังเคราะห์ตามหลักวิชาการ ร่วมกับผลการศึกษาด้านการสร้างความสามัคคีปรองดอง นำมาสู่การจัดทำ “เอกสารความเห็นร่วม” ก่อนที่จะจัดทำร่าง “สัญญาประชาคม”

สำหรับข้อมูลจาก “เอกสารความเห็นร่วม” ซึ่งรวบรวมความเห็น ความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ทั่วประเทศ จากทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ในภาพรวมสะท้อนถึงความตื่นตัวและความสนใจในประเด็นการเมืองและการปรับเปลี่ยนทางการเมืองมากที่สุด

โดยส่วนกลาง ประชาชนให้ความสนใจด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ด้านความเหลื่อมล้ำในการครอบครองที่ดินและการบริหารจัดการน้ำ  ด้านสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณสุข รวมทั้งด้านสื่อมวลชนและการป้องกันทุจริต ลดหลั่นลงมาตามลำดับ ขณะที่พรรคการเมืองส่วนใหญ่และกลุ่มการเมืองให้ความสำคัญประเด็นด้านการเมือง ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ความเท่าเทียมของพรรคการเมืองเป็นหลัก

หากจำแนกภาคส่วนต่างๆ มีท่าทีที่แตกต่างกัน โดยภาคเศรษฐกิจ ต้องการรักษาผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของตนเองเป็นสำคัญ ภาคประชาสังคมให้ความสำคัญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำในทุกๆด้าน รวมทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติ ในขณะที่องค์กรสื่อมวลชนมุ่งเน้นสิทธิเสรีภาพของตนเองและต้องการให้สื่อดูแลกันเองโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงาน

ในส่วนภูมิภาค ประชาชนมีความสนใจด้านการเมืองมากที่สุดและให้ความสำคัญด้านเศรษฐกิจ สังคมการศึกษา สาธารณสุข ด้านความเหลื่อมล้ำในการครอบครองที่ดินและการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งกระบวนการยุติธรรมตามลำดับ โดยพื้นที่ภาคกลาง มีความสนใจด้านการเมือง มากกว่าด้านอื่นๆอย่างชัดเจน ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ความสนใจด้านการเมือง การบุกรุกพื้นที่ป่าและด้านสังคม ส่วนพื้นที่ภาคเหนือให้ความสนใจด้านการเมืองและต้องการบริหารจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วม สำหรับพื้นที่ภาคใต้มีความสนใจด้านความเหลื่อมล้ำในการครอบครองที่ดินและการบริหารจัดการน้ำ

หากจำแนกลักษณะของผู้ให้ความคิดเห็นตามกลุ่มต่างๆ สามารถระบุท่าทีที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มการเมืองจะมุ่งเน้นการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและเป็นธรรม ขณะที่กลุ่มนักวิชาการ นักศึกษาและสื่อมวลชนจะเน้นถึงกติกาทางการเมือง แนวทางการนำไปสู่การลดความขัดแย้ง ปัญหาคอร์รัปชั่น และความจริงใจของภาครัฐในการแก้ปัญหาต่างๆ กลุ่มข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านมีความสนใจในการแก้ปัญหาระดับท้องถิ่น เช่น การเอารัดเอาเปรียบของกลุ่มนายทุนต่อราคาพืชผลทางการเกษตร และการเมืองระดับท้องถิ่น ในขณะที่กลุ่มผู้นำชุมชนและชาวบ้าน สนใจเพิ่มเติมในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำและที่ดินทำกินในท้องถิ่นเป็นสำคัญ

พล.ต.คงชีพ กล่าวเพิ่มเติมว่า การสะท้อนความคิดเห็นผ่านผู้แทนองค์กรภาคส่วนต่างๆ จากเวทีการรับฟังความเห็นของประชาชนทั่วประเทศในกระบวนการสร้างความสามัคคีปรองดองที่ผ่านมา  ถือเป็นข้อมูลที่บริสุทธิ์ซึ่งผ่านการสังเคราะห์ทางวิชาการครั้งใหญ่ ที่แสดงถึงความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชน ปัญหาที่มีในแต่ละพื้นที่และความต้องการของประชาชนทุกภาคส่วน รวมทั้งการมองอนาคตที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบ สันติสุข  ซึ่งเป็นโอกาสครั้งสำคัญยิ่งของสังคมที่ประชาชนทุกคนจะได้ร่วมเรียนรู้และทำความเข้าใจไปด้วยกัน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนคลี่คลายปัญหาของสังคมครั้งใหญ่ สู่เป้าหมายร่วมคือ “การปฏิรูปประเทศ”

People unity news online : post 5 มิถุนายน 2560 เวลา 12.26 น.

“ลุงตู่” ระบาย “วันนี้ไม่ใช่ทำงาน 100% เเต่ทำงาน 200%”

People unity news online : 16 พฤษภาคม 2560 เวลา 13.30 น. ณ บริเวณห้องโถง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงการทำงานในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่า วันนี้ตนไม่ใช่ทำงาน 100 เปอร์เซนต์ เเต่ทำงานเต็ม 200 เปอร์เซนต์ เพราะต้องกำกับดูเเล ติดตามนโยบายทั้งหมด ตามรูปแบบของตน ขอถามคนที่จะเข้ามาทำงานในวันข้างหน้าว่าจะทำอย่างไร จะปรับสิ่งที่ผิดพลาดจากครั้งที่เเล้วอย่างไร

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “เอาคำถามที่จะถามว่าผมยังทำไม่เสร็จ ไม่มีผลงานบ้างล่ะ ไปถามเขาสิว่าที่ผ่านมาเขามีผลงานอะไร ผลงานนั้นถูกต้องเท่าเทียมจริงหรือเปล่า ทำไมยังเหลือให้ผมทำอีกเยอะเเยะ เเล้วมาบอกว่าทำไม่เสร็จ เเล้วที่ทำมา 30 ปี กี่สิบปีกันมากี่รัฐบาล ก็เลยต้องมียุทธศาสตร์ชาติไงล่ะ ต้องทำต่อไป 20-30 ปี นโยบายรัฐบาลที่ทำดีเเล้วก็ทำต่อ ผมไม่ได้ไปล้มทั้งหมด เเต่ต่อไปจะล้มหรือเปล่าไม่รู้ ทำให้มันดีขึ้น เเกะมันออกมา เเต่จะดีขึ้นทันใจไม่ได้ ต้องใช้การทำงาน การมีส่วนร่วม หลายอย่างต้องไปดู อะไรที่ไม่ก้าวหน้าก็บอกมา ผมจะไปตามให้ มีรัฐบาลไหนฟังเเบบนี้บ้าง”

ส่วนผลการดำเนินงานของรัฐบาลในช่วงครบรอบ 3 ปี นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ส่วนตัวไม่พอใจเพราะทำงานให้เสร็จตามเวลาไม่ได้ แต่ได้ทำทุกอย่างให้ดีที่สุดตราบเท่าที่มีงบประมาณและเวลาให้ทำ ส่วนใครจะทำต่อก็เป็นเรื่องของวันข้างหน้า และต้องการให้ทุกอย่างต่อเนื่องในวันข้างหน้า ซึ่งหลายคนไม่เข้าใจ และไม่พอใจกล่าวหาว่ารัฐบาลจะสืบทอดอำนาจ แต่ผมจะสืบทอดปัญหาที่แก้ไขไม่เสร็จให้รัฐบาลชุดต่อไปทำงานแก้ไขปัญหาเพื่อประเทศชาติ

People unity news online : post 16 พฤษภาคม 2560 เวลา 22.43 น.

นายกฯสั่งเตรียมแถลงผลงานรัฐบาลครบ 3 ปี พร้อมทั้งแจงการใช้งบประมาณที่ผ่านมาใช้อะไรไปบ้าง?

People unity news online : เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2560 เวลา 13.00 น. ณ บริเวณห้องโถงตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงการทำงานของรัฐบาลที่ใกล้จะครบ 3 ปีในเดือนหน้าว่า ได้ชี้แจง และมอบหมายให้ทุกหน่วยงานสรุปผลงานความคืบหน้าต่างๆ ทั้งในเรื่องของงานฟังก์ชั่น และงานบูรณาการให้มีความชัดเจนมากขึ้น ในการใช้จ่ายงบประมาณที่ผ่านมาว่า ได้มีการดำเนินการ และใช้อะไรไปบ้าง อีกทั้งการวางพื้นฐานในอนาคตต่างๆที่ยังทำไม่เสร็จก็ต้องวางแผนไว้ให้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลหน้าจะตัดสินใจอย่างไร สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งนี้ ในเรื่องของการต่างประเทศเรามีความสัมพันธ์ที่ดี มีการเพิ่มมูลค่าการค้าขาย การท่องเที่ยวระหว่างกัน ซึ่งรัฐบาลพยายามแก้ไขในเชิงรุกทุกๆมิติ

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการดำเนินงานในด้านของกระบวนการยุติธรรมที่ผ่านมาว่า เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องช่วยกันติดตามและมองในสิ่งที่เป็นประโยชน์ อย่าไปมองแต่สิ่งเล็กๆ จนเกิดความรู้สึกว่าไว้ใจ บางเรื่องบางคดีเป็นเรื่องของคนเพียงกลุ่มเดียว ซึ่งถ้าผิดก็ต้องถูกดำเนินคดี แต่ไม่ได้หมายความว่าคนทั้งหมด 70 ล้านคนในประเทศไทยจะต้องถูกดำเนินคดีไปด้วย อย่าลืมว่าแต่ละวันมีคดีเกิดขึ้นจำนวนมาก ทั้งที่รู้และไม่รู้ แต่ปัจจุบันสื่อโซเชียลมีเดียมีการเผยแพร่ขยายข่าวไปต่างๆนานา แล้วแต่ใครจะคิดอย่างไร ซึ่งกระบวนการยุติธรรมมีขั้นตอน มีหลักฐาน และรัฐบาลพยายามสร้างความชัดเจนให้เกิดขึ้น อย่างเช่น คดีการหลอกลวง ที่ผ่านมาจับไม่ได้ และไม่เป็นข่าว แต่รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญและใส่ใจจึงทำให้เป็นข่าวขึ้นมา แต่ทุกสังคมย่อมมีทั้งคนดี และไม่ดี เราต้องแยกแยะให้ออก และชั่งน้ำหนักให้ได้ การจะให้ไม่มีเรื่องเลยเป็นไปไม่ได้ วันนี้คนไทยจำเป็นต้องผนึกกำลังให้ได้ ขอให้ยืนอยู่ตรงกลางอย่าโอนเอียงไปซ้ายทีขวาที ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหา

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า วันนี้การเมืองกำลังเดินหน้าไปสู่การเป็นประชาธิปไตย ขอร้องว่าอย่าให้เป็นประเด็นการเมืองทุกเรื่อง ไม่เช่นนั้นจะทำงานกันไม่ได้ ถ้าทำงานไม่ได้ เท่ากับ 3 ปีที่รัฐบาลทำมาก็ล้มเหลว กลายเป็นว่าทำไม่ดีสักเรื่อง ทั้งหมดขอให้ติดตาม และดูกันต่อไป พร้อมขอให้รับฟังรัฐบาลบ้าง

People unity news online : post 3 พฤษภาคม 2560 เวลา 22.03 น.

มหาดไทยแจงทุกเม็ด “โครงการตำบลละ 5 ล้าน” โต้ถูกเว็บไซต์วิจารณ์

People unity news online : วันนี้ (27 มีนาคม 2560) นายชยพล ธิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า จากกรณีที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูล & ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง ได้มีการเผยแพร่ข้อความและบทวิจารณ์ถึงการใช้งบประมาณตามโครงการมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล หรือ “โครงการตำบลละ 5 ล้านบาท” ว่ายังมีช่องโหว่ของการดำเนินโครงการ และมีลักษณะเป็นโครงการประชานิยม เช่น โครงการส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการซ่อมแซมหรือบูรณะทรัพย์สินที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะถึง 84.03% (101,500 โครงการ) หรือโครงการที่เป็นการพัฒนามีไม่มาก เช่น ด้านเศรษฐกิจสังคม 10.49% (12,670 โครงการ) การส่งเสริมการพัฒนาชุมชนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง 5.48% (6,621 โครงการ) หรือกรณีที่ว่าหลายโครงการมีความไม่ชอบมาพากลนั้น

จากกรณีดังกล่าวกระทรวงมหาดไทยในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินโครงการฯ ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้รับทราบ ดังนี้

ประเด็นที่ 1 ลักษณะการดำเนินโครงการ “มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล” หรือที่เราเรียกกันสั้นๆว่า “โครงการตำบลละ 5 ล้านบาท” นั้น เป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ได้ออกมาเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง เป็นมาตรการหนึ่งในหลายมาตรการของรัฐบาลที่ต้องการนำมาช่วยเหลือฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจในระดับฐานราก โดยคณะรัฐมนตรีได้ประชุมกันเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558 เห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินโครงการฯ โดยจัดสรรงบประมาณลงในระดับตำบล ตำบลละ 5 ล้านบาท จำนวน 7,255 ตำบล คิดเป็นเงิน 36,275 ล้านบาท ซึ่งได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอน ตามระเบียบ หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขต่างๆ และมีลักษณะโครงการ คือ 1.โครงการส่งเสริมการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง 2.โครงการซ่อมแซมหรือบูรณะทรัพย์สินที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ 3.โครงการด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเน้นการ “กระจายเม็ดเงินลงไปสู่พื้นที่หมู่บ้าน ตำบลทุกจังหวัดทั่วประเทศ”

กระทรวงมหาดไทยขอเรียนว่า “หัวใจสำคัญ” ของการดำเนินโครงการนี้ คือ การมีส่วนร่วมของประชาชน ในพื้นที่ในรูปแบบประชารัฐ ภายใต้เงื่อนไข “ทุกโครงการจะต้องมาจากความต้องการของพี่น้องประชาชนโดยตรง” ต้องผ่านการทำประชาคมโครงการมาจากในพื้นที่ และได้รับความเห็นชอบหรือถูกเสนอโดยคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ซึ่งเป็นกลไกภาคประชาชน เพื่อกำหนดว่าในตำบล ในหมู่บ้านของตน มีปัญหาเร่งด่วน หรือเดือดร้อนเรื่องอะไรแล้วจัดลำดับความสำคัญของปัญหา โดยประชาชนเป็นผู้เสนอความต้องการ จึงขอย้ำว่า โครงการตำบลละ 5 ล้านได้นำไปใช้ซ่อมสิ่งชำรุดบกพร่อง และสร้างสิ่งสาธารณะประโยชน์ที่ขาดแคลน โดยคำนึงถึงประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นลำดับแรก เช่น การก่อสร้างสิ่งสาธารณะประโยชน์ ประปาหมู่บ้าน ถนนหนทาง ระบบชลประทาน แหล่งเก็บน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร เป็นต้น ซึ่งสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพของประชาชน

จากนั้นจึงจะเสนอโครงการมายังคณะกรรมการกลั่นกรองถึง 3 ชั้น คือ 1.ระดับอำเภอ 2.ระดับจังหวัด ซึ่งจะมีผู้แทนจากส่วนราชการต่างๆ ร่วมกันพิจารณาตามระเบียบกฎหมายและหลักเกณฑ์การพิจาณาอนุมัติ และสุดท้ายจึงจะจัดส่งโครงการให้สำนักจัดทำงบประมาณเขตพื้นที่ทั้ง 18 เขตเพื่อพิจารณาอนุมัติตามขั้นตอน

ประเด็นที่ 2 เรื่องของการจัดทำระบบการตรวจสอบ ติดตาม รายงานผล และการป้องกันการทุจริต เพื่อให้ทุกโครงการเกิดความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และสัมฤทธิ์ผลนั้น นอกจากจะดำเนินการตามหลักเกณฑ์และระเบียบต่างๆของทางราชการที่กำหนดขึ้นอย่างเคร่งครัดแล้ว กระทรวงมหาดไทยยังได้กำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอไปกำกับดูแลการดำเนินโครงการทุกขั้นตอนอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างเด็ดขาด อีกทั้งในขั้นตอนการตรวจรับงานตามสัญญายังได้กำหนดให้มีประชาชนในพื้นที่ 2 คน เข้ามามีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจรับเพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังได้มีการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินโครงการในทุกช่องทาง เช่น ในพื้นที่ได้กำหนดให้ทุกตำบลติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์รายละเอียดของโครงการที่ดำเนินการในพื้นที่ในแหล่งชุมชน วัด มัสยิด เพื่อแสดงรายละเอียดของโครงการ การดำเนินการ งบประมาณ และการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบอย่างทั่วถึง และสามารถติดตามตรวจสอบการดำเนินโครงการ รวมถึงการเผยแพร่ข้อมูลผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆด้วย

อีกหนึ่งมาตรการสำคัญที่กระทรวงมหาดไทยได้นำมาใช้กับโครงการนี้ คือ การขอความร่วมมือไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนักงานคณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อเข้าร่วมตรวจสอบการดำเนินโครงการฯ ตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยได้ขอความร่วมมือสำนักงานสถิติแห่งชาติในการตรวจติดตามประเมินผลโครงการมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ตำบลละ 5 ล้านบาท) ซึ่งผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 180,415 ราย มีผลออกมาว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการฯร้อยละ 98.9 มีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการร้อยละ 81.1 โครงการที่เกิดขึ้นตรงกับความต้องการร้อยละ 98.8 มีความโปร่งใส/สามารถตรวจสอบได้ร้อยละ 95.3 โครงการมีประโยชน์ร้อยละ 98.9 โครงการที่เกิดขึ้นมีความยั่งยืนร้อยละ 98.4 ช่วยให้เกิดความร่วมมือหรือความสามัคคีของคนในหมู่บ้าน/ชุมชนร้อยละ 98.1 เกิดความร่วมมือหรือความสามัคคีระหว่างประชาชนกับหน่วยงานภาครัฐร้อยละ 97.3 สร้างอาชีพ/รายได้หรือกระตุ้นเศรษฐกิจ/สามารถพึ่งพาตนเองได้ร้อยละ 88.7 และมีความพึงพอใจร้อยละ 99.3 ซึ่งจากการติดตามและรับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนถือว่าประชาชนส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อการดำเนินโครงการ

จากมาตรการทั้งหมดที่กล่าวมานี้ กระทรวงมหาดไทยขอย้ำว่า ที่ผ่านมาได้ดำเนินโครงการตำบลละ 5 ล้านบาทด้วยความโปร่งใสทุกขั้นตอนด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ และพยายามอย่างเต็มกำลังความสามารถเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยให้ผ่านพ้นในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวหรือที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ซึ่งผลสำเร็จของโครงการได้ช่วยพยุงระบบเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังเป็นโครงการ “ประชารัฐ” ที่ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วม ตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาและความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง อย่างไรก็ดี กระทรวงมหาดไทยพร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน และจะได้นำมาปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป

People unity news online : post 27 มีนาคม 2560 เวลา 21.33 น.

นายกฯยืนยันไม่ได้กลั่นแกล้งใคร กรณีเรียกเก็บภาษี-ตรวจสอบทรัพย์สินนักการเมือง

People unity news online : วันนี้ (21 มีนาคม 2560) เวลา 14.30 น. ณ บริเวณห้องโถง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงกรณีการเผยแพร่คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องเดิม แตกต่างจากเรื่องใหม่ ซึ่งเป็นคนละกรณี ขออย่านำมาเกี่ยวข้องกัน ส่วนจะถูกหรือผิด จะสามารถดำเนินการได้หรือไม่นั้นต้องเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ยืนยันการดำเนินการต้องเป็นธรรม และขอให้นึกถึงการปฏิบัติของรัฐบาลด้วย ซึ่งบางอย่างไม่ชัดเจน ยังคลุมเครือรัฐบาลต้องดำเนินการให้เกิดความชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะสุ่มเสี่ยงเป็นความผิดตามมาตรา 157 ละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือทุจริต โดยรัฐบาลมีความระมัดระวังอย่างเต็มที่ในการทำงาน และไม่ต้องการจะรังแกใคร

ส่วนการตรวจสอบทรัพย์สินของนักการเมืองในอดีตนั้น เป็นไปตามกฎหมายที่ระบุไว้อยู่แล้วว่าต้องมีการตรวจสอบทรัพย์สินของนักการเมืองก่อนรับตำแหน่ง และหลังสิ้นสุดตำแหน่ง ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ส่วนการตรวจสอบทรัพย์สินฯเป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งจะเลือกตรวจสอบนักการเมืองที่มีรายได้เพิ่มขึ้น ยืนยันไม่ได้กลั่นแกล้งใคร และจะต้องดำเนินการเรียกเก็บภาษีให้ได้ภายใน 5 ปี หลังจากพ้นตำแหน่ง เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถเรียกเก็บภาษีได้

People unity news online : post 21 มีนาคม 2560 เวลา 23.48 น.

โฆษก ทบ. โต้ “วีระ” มั่วบ่อนกาสิโนอยู่ฝั่งไทย

People unity news online : พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก ทบ. ชี้แจงกรณี นายวีระ สมความคิด ได้โพสต์เฟซบุ๊ก นำเสนอข้อมูลว่า การที่ตนถูกออกหมายจับ ในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพราะเชื่อว่าถูกปิดปาก ไม่ให้มาเปิดโปงเรื่องการเปิดบ่อนกาสิโนบนพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เขตอุทยานแห่งชาติตาพระยา บริเวณ อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ รวมถึงกล่าวถึงว่ารัฐบาลไทย โดย พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ยินยอมให้กัมพูชาเข้ามาก่อสร้างบ่อนกาสิโนบนพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนนี้  จึงอาจเข้าข่ายมีความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 157

ต่อประเด็นดังกล่าวขอเรียนชี้แจงว่า กรณีการออกหมายจับนายวีระ เป็นผลของพฤติกรรมส่วนบุคคลที่ไปเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ตามระบบของการรักษากฎหมายบ้านเมืองปกติทั่วไป คงไม่ใช่เพื่อต้องการจะปิดปากของนายวีระแต่อย่างใด เชื่อว่าความคิดดังกล่าวเป็นเพียงมุมความคิดเฉพาะตัวนายวีระ ที่มักจะทำให้สถานการณ์ต่างๆดูออกไปในแนวทางที่เป็นลบสำหรับที่มีอ้างถึงเกี่ยวกับบ่อนกาสิโนในประเทศกัมพูชานั้น จากหลักฐานก็พบว่าไม่ได้ตั้งอยู่ในเขตฝั่งประเทศไทย เมื่ออ้างอิงจากแนวที่ทั้งสองประเทศยึดถือ เชื่อว่าอาจเป็นลักษณะที่คาดเดาไปเอง เพราะนายวีระไม่ได้เอกสารหรือหลักฐานที่เป็นของทางการ รวมถึงไม่เคยได้รับข้อมูลว่ามีนายทหารคนใดไปยุ่งเกี่ยวกับการลงทุนกาสิโนของประเทศกัมพูชา การให้ข้อมูลใดๆ อยากให้ใช้ความระมัดระวัง เพราะการมีข้อมูลไม่สมบูรณ์แล้วไปนำเสนอ อาจทำให้สังคมสับสนได้

ภาพ : มติชน

People unity news online : post 21 มีนาคม 2560 เวลา 22.03 น.

Verified by ExactMetrics