วันที่ 21 มกราคม 2025

มหาดไทยปรับโครงสร้างบริหารจังหวัดทั่วประเทศ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 31 ธันวาคม 2567 มหาดไทยปรับโครงสร้างบริหารจังหวัดทั่วประเทศ รับนโยบาย “อนุทิน” ปี 68 บำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชนครบทุกด้าน ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม เพิ่มความสะดวกลดเหลื่อมล้ำงานบริการ

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย และ โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ปี 2568 ที่กำลังจะมาถึงเป็นอีกปีที่มีความท้าทาย การเปลี่ยนแปลง ทั้งมิติของสังคม เศรษฐกิจ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย จึงได้ให้นโยบายกับส่วนราชการ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทยต้องปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง สามารถเป็นที่พึ่งบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ประชาชนตามภารกิจของกระทรวงมหาดไทยได้ในทุกสถานการณ์

เพื่อรับกับนโยบายรองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย จัดโครงสร้างการบริหารงานราชการภูมิภาค คือ จังหวัด และอำเภอ ให้ความสำคัญกับการจัดวางภารกิจให้สามารถขับเคลื่อนการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชนครอบคลุมทุกด้าน เจ้าหน้าที่ลดการเป็นนักปกครองไปสู่การเป็นนักบริหาร เนื่องจากปัจจุบันประชาชนไม่ได้ต้องการนักปกครอง แต่ต้องการเห็นผู้บริหาร และต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในเรื่องที่มีผลกระทบ มีผลได้ มีผลเสียกับตนเอง

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า โครงสร้างการบริหารราชการส่วนภูมิภาคใหม่นี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นผู้ดูภาพรวมการบริหารงานของจังหวัด รู้ทุกเรื่องในพื้นที่จังหวัด และมีผู้ว่าราชการจังหวัดด้านต่างๆ ประกอบด้วย

1) รองผู้ว่าราชการจังหวัด ฝ่ายมันคง รับผิดชอบ งานจัดระเบียบสังคม ปราบปรามผู้มีอิทธิพล การ กระทำผิดกฎหมายที่เป็นภัยสังคม หนี้นอกระบบ และ ปราปปรามอาเสพติดโดยเฉพาะยาเสพติด เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ และมนุษยชาติ ทำลายสุขภาพ ก่อปัญหาสังคม และทำลายระบบเศรษฐกิจ

2) รองผู้ว่าราชการจังหวัด ฝ่ายเศรษฐกิจ ทำหน้าที่แก้ปัญหาความยากจน ให้ประชาชน ต้องเป็นนักบริหาร สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และ สร้างโอกาสให้แก่ประชาชน ความยากจน คือ ปัญหาที่บั่นทอนศักยภาพและการพัฒนาของประชาชน และประเทศ

3) รองผู้ว่าราชการจังหวัด ฝ่ายบริหาร รับผิดชอบงานบริการประชาชน ต้องนำเทคโนโลยี มาใช้ ลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้ประชาชนทุนทุกคนได้รับความสะดวก สบาย กับการใช้บริการ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย อย่างเท่าเทียมกัน และ 4) รองผู้ว่าราชการจังหวัด ฝ่ายสังคม รับผิดชอบการสร้างชุมชนเข้มแข็ง ปลูกจิตสำนึกคนไทย หัวใจรักชาติ สร้างความสามัคคีในชุมชน รักท้องถิ่น ปกป้องชุมชน ให้พ้นจากภัยอันตรายทั้งภัยจากการกระทำของมนุษย์ และภัยธรรมชาติ ต้องเป็นผู้นำการรวมพลังพัฒนาชุมชน ท้องถิ่น จังหวัด และประเทศ

“โครงสร้างการบริหารของจังหวัด ลักษณะนี้ จะถ่ายทอดลงไปเป็นโครงสร้างการบริหารระดับอำเภอ ในแนวทางเดียวกัน เกิดผลการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงมหาดไทย ไปสู่ทุกชุมชน ทุกหมู่บ้าน ของประเทศไทย ซึ่งนายอนุทินเชื่อว่าเวลาอีก 2 ปี เศษของรัฐบาล ถ้ากระทรวงมหาดไทย ขับเคลื่อนไปในแนวทางนี้ได้ การบำบัดทุกข์ บำรุงสุขจะเกิดขึ้นทั่วประเทศและคนไทย สังคมไทย จะมีความสุขมากขึ้น ความทุกข์ลดลง ตามพันธกิจของกระทรวงมหาดไทย” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

Advertisement

โอนเงินช่วยเหลือน้ำท่วมแล้วกว่า 1,500 ล้านบาท

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 28 ธันวาคม 2567 ความคืบหน้ายอดเงินช่วยเหลือน้ำท่วม 9,000 บาท โอนแล้วกว่า 1,500 ล้านบาท

นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ความคืบหน้ากรณีที่ ครม. มีมติเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 ให้จ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 ครัวเรือนละ 9,000 บาท โดยมอบหมายให้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย จำนวน 16 จังหวัด ล่าสุด (ณ วันที่ 27 ธันวาคม 2567 เวลา 16:30 น.) มีจำนวนผู้ลงทะเบียนยื่นคำร้องแล้ว 1,054,484 ครัวเรือน ธนาคารออมสินโอนเงินช่วยเหลือแล้ว 3 ครั้ง รวม 166,795 ครัวเรือน จำนวนเงิน 1,501,155,000 บาท และอยู่ระหว่างรอโอนครั้งที่ 4 อีก 94 ครัวเรือน

“รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายภูมิธรรม เวชยชัย ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ได้กำชับให้หน่วยงานในพื้นที่ 16 จังหวัด เร่งสำรวจและทำความเข้าใจ พร้อมตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้อง รวมทั้งประชาสัมพันธ์สื่อสารถึงประชาชนที่จะได้รับเงินเยียวยาสามารถลงทะเบียนได้ถึงวันที่ 15 มกราคม 2568 ส่วนประชาชนที่ลงทะเบียนแล้วสามารถติดตามสถานะเงินเยียวยาน้ำท่วมได้ที่เว็บไซต์ www.flood67.disaster.go.th” นางสาวศศิกานต์ กล่าว

Advertisement

 

มอบรางวัลรัฐบาลดิจิทัล ประจำปี 2567

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 27 ธันวาคม 2567 รองนายกฯ “ประเสริฐ” มอบรางวัลรัฐบาลดิจิทัล ประจำปี 2567 เชิดชูหน่วยงานภาครัฐที่มีความพร้อมในการพัฒนาด้านรัฐบาลดิจิทัล ขอให้พัฒนาองค์กรรองรับการเปลี่ยนแปลงสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล

วันนี้ (27 ธันวาคม 2567) เวลา 10.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบหมายนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานในงานมอบนโยบายและทิศทางการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล และมอบรางวัลรัฐบาลดิจิทัล ประจำปี 2567 (DG Awards 2024)  แก่หน่วยงานภาครัฐที่มีการยกระดับองค์กรสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ซึ่งจัดโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA เพื่อเป็นผลสะท้อนการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงความสำเร็จของหน่วยงานรัฐทั่วประเทศ  โดยมี ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายฉัตริน จันทร์หอม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ นางไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการ  รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล  คณะกรรมการพิจารณารางวัลรัฐบาลดิจิทัล ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐเข้าร่วมงาน

โอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้มอบรางวัลรัฐบาลดิจิทัลหน่วยงานระดับกรมที่ให้บริการเป็นหลัก ได้แก่  สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และรางวัลผู้นำองค์กรดิจิทัลดีเด่น ได้แก่ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และรางวัลอื่น ๆ  พร้อมกล่าวชื่นชมและมอบนโยบายแก่หน่วยงานที่ได้รับรางวัลว่า ขอให้ความมุ่งมั่นตั้งใจพัฒนาองค์กรให้พร้อมเข้าสู่ยุคดิจิทัล ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน รัฐบาลต้องการให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ด้วยนโยบายรัฐบาลดิจิทัล ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญต่อการบริหารงานและการให้บริการที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างทันสถานการณ์  ในนามของรัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีความมุ่งมั่นให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ความมั่นคงด้วยรัฐบาลดิจิทัล ที่มีบทบาทสำคัญในการนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพและตอบสนองความต้องการของประชาชน ผ่านยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญ ได้แก่ 1) การขับเคลื่อนขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในการเข้าสู่ยุคดิจิทัล 2) การสร้างความมั่นใจในการใช้เทคโนโลยีว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงแล้วหน่วยงานต่าง ๆ ยังคงได้รับความมั่นคง 3) การพัฒนาบุคลากรภาคดิจิทัล

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า เป้าหมายสำคัญของรัฐบาล คือ การปรับปรุงบริการออนไลน์ภาครัฐ เพื่อให้การติดต่อกับภาครัฐเป็นเรื่องง่าย ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงข้อมูลที่สำคัญ การเข้าถึงสวัสดิการและบริการสาธารณะ หรือการสมัครใบอนุญาตต่าง ๆ พร้อมทั้งสร้างความมั่นใจต่อผู้รับบริการว่าขั้นตอนต่าง ๆ การให้บริการครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ อย่างทั่วถึง นอกจากนี้การอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ด้วยการบูรณาการข้อมูลประชาชนให้เป็นภาพเดียว หรือ Single View of Citizen เพื่อให้หน่วยงานของรัฐบาลสามารถมีความเข้าใจที่สมบูรณ์เกี่ยวกับการปฏิสัมพันธ์และธุรกรรมระหว่างประชาชนกับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งแนวคิดนี้จะส่งเสริมการให้บริการที่มีประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อน และเสริมสร้างประสบการณ์ที่ดีในการใช้บริการภาครัฐของประชาชน ภายใต้แนวคิดนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีข้อมูลที่มีคุณภาพและถูกต้อง ข้อมูลจะต้องเชื่อมโยงกันระหว่างหน่วยงาน สร้างระบบและมาตรฐานที่สามารถทำงานร่วมกันได้ รวมถึงการรักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว การป้องกันรักษาข้อมูลส่วนบุคคลและการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ตามมาตรฐานสากล

รองนายกรัฐมนตรียืนยันว่า รัฐบาลมุ่งมั่นในการปฏิรูประบบราชการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเปลี่ยนผ่านราชการไทยไปสู่ราชการทันสมัยในระบบดิจิทัล ดังนี้ 1) ส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพบุคลากรภาครัฐ  2) สร้างความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ 3) มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และ 4) กระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคประชาชน ซึ่งรัฐบาลเชื่อมั่นว่าการผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลจะช่วยเตรียมความพร้อมในการรับมือกับความท้าทายในอนาคต โดยในด้านเศรษฐกิจรัฐบาลดิจิทัลจะสนับสนุนธุรกิจและอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพและเข้าถึงตลาดโลกได้มากขึ้น รวมถึงการส่งเสริมการพัฒนาทักษะดิจิทัลของประชาชน เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะได้อย่างเท่าเทียมไม่ว่าจะอยู่ที่ใด และลดความเหลื่อมล้ำในสังคมอีกด้วย

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณทุกหน่วยงานที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาหน่วยงานของตนเองให้เป็นหน่วยงานดิจิทัล และขอให้นำผลการสำรวจและข้อเสนอแนะที่ DGA ส่งกลับไปยังหน่วยงานของตนไปปรับใช้ให้เหมาะสม ซึ่งเป็นการยกระดับและขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลทั้งในระดับหน่วยงานและระดับประเทศ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลดิจิทัลไม่เป็นเพียงแค่นโยบายเท่านั้น ทุกคนต้องร่วมกันใช้โอกาสจากความพร้อมของเทคโนโลยีในปัจจุบัน เพื่อสร้างรัฐบาลดิจิทัลที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน และนำพาประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน

Advertisement

ศปช. แจ้งผู้ประสบภัย 16 จว. เร่งยื่นรับเงินเยียวยาน้ำท่วมได้ถึง 15 ม.ค. 68

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 26 ธันวาคม 2567 ศปช. แจ้งผู้ประสบภัย 16 จว. เร่งยื่นรับเงินเยียวยาน้ำท่วมได้ถึง 15 ม.ค. 68 คาดฝนส่งท้ายปี 27-28 ธ.ค. มาเร็ว-ไปเร็ว

วันนี้ (26 ธันวาคม 2567) นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ศปช. รับทราบการเร่งรัดเยียวยาจำนวน 9,000 บาท ให้ถึงมือประชาชนโดยเร็ว กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้ง 16 จังหวัด เพื่อกำชับหน่วยงานในพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้อง รวมทั้งประชาสัมพันธ์สื่อสารถึงประชาชนที่จะได้รับเงินเยียวยาสามารถลงทะเบียนได้ถึงวันที่ 15 มกราคม 2568 เท่านั้น

“ศปช. เน้นย้ำ 16 จังหวัด ประสานหน่วยงานที่รับผิดชอบตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบคอบ ไม่ให้มีการลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือซ้ำซ้อน โดยผู้ที่จะได้รับเงินจะต้องเข้าเงื่อนไข ดังนี้ อยู่ในพื้นที่ จ.ชัยนาท บุรีรัมย์ สมุทรสาคร และสิงห์บุรี ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในห้วงวันที่ 20 พ.ค. – 2 พ.ย. 67 และพื้นที่ 12 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จ.กระบี่ ชุมพร นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี ประจวบคีรีขันธ์ ตรัง พัทลุง ยะลา สงขลา สตูล และสุราษฎร์ธานี ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในห้วงวันที่ 3 พ.ย. 67 เป็นต้นไปเท่านั้น และได้รับผลกระทบจากอุทกภัยสองกรณี คือ 1.ที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมไม่เกิน 7 วัน และมีทรัพย์สินเสียหาย และ 2.ที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมเกิน 7 วัน ในกรณีที่ถูกน้ำท่วมหลายครั้งจะได้รับความช่วยเหลือเพียงครั้งเดียว”

รองโฆษกฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้สถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายเกือบทั้งหมด เหลือเพียง 1 จังหวัด ได้แก่ จ.นครศรีธรรมราช (อ.ปากพนัง พระพรหม เฉลิมพระเกียรติ เชียรใหญ่ และชะอวด) โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ระดมกำลังติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

ส่วนแนวโน้มฝนที่จะตกในพื้นที่ภาคใต้ วันที่ 27 – 28 ธ.ค. นี้  จะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง ในพื้นที่ จ.ชุมพร ระนอง  สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ส่วนในวันที่ 29 ธ.ค.ฝนจะตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส โดยฝนจะมาเร็วไปเร็ว ไม่เหมือนครั้งที่ผ่านมา

“ขอให้ประชาชนในภาคใต้ตอนล่างยังคงต้องเฝ้าระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม” รองโฆษกฯ ศศิกานต์ กล่าว

Advertisement

นายกฯ คิกออฟ “30 บาท รักษาทุกที่” ครอบคลุมทั่วไทย ให้บริการเต็มรูปแบบ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 25 ธันวาคม 2567 คนไทยต้องสุขภาพดีถ้วนหน้า นายกรัฐมนตรี คิกออฟ “30 บาท รักษาทุกที่” ครอบคลุมทั่วไทย ให้บริการเต็มรูปแบบ ชูทำสำเร็จตามเป้าหมาย 1 ปี เดินหน้าดูแลสุขภาพคนไทย ประกาศปฏิรูประบบสาธารณสุขไทยครั้งใหญ่ ดึง Digital Healthcare ตอบสนองการใช้ชีวิต

วันนี้ (25 ธันวาคม 2567)  เวลา 10.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “Kick off 30 บาท รักษาทุกที่ เพื่อคนไทย สุขภาพดีถ้วนหน้า ระยะที่ 4 ครอบคลุมทั่วประเทศ 1 มกราคม 2568” โดยมีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ในฐานะเลขานุการคณะกรรมพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ พร้อมด้วยนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คณะกรรมการและผู้บริหาร สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข สภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า วันนี้ 30 บาทรักษาทุกที่ได้เดินทางมาระยะที่ 4 ตั้งแต่ต้นปี 2567 ได้เริ่มระยะที่ 1 ใน 4 จังหวัดนำร่อง  ซึ่งรัฐบาลจะพยายามเปิดครบทั่วทุกจังหวัดให้ได้เร็วที่สุด เพื่อลดปัญหาภาระของประชาชน วันนี้ เปิดตัวระยะที่ 4 ประชาชนจะได้ใช้บริการ 30 บาทรักษาทุกที่อย่างเต็มรูปแบบทั่วทุกจังหวัดในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป รัฐบาลทำได้สำเร็จตามเป้าหมายใน 1 ปี เปิดครบทุกเฟส  เท่ากับใช้เวลาประมาณ 2 ทศวรรษ จากการพัฒนานโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคมาสู่นโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ ปัจจุบันเทคโนโลยีมีความทันสมัยมากขึ้น และเข้ามามีบทบาทอย่างมาก รวมทั้ง  Digital Transformation หรือการเปลี่ยนผ่านระบบสุขภาพสู่ระบบดิจิทัล จากประชาชนที่เคยต่อคิวนาน ๆ ก็สามารถจองบริการผ่านแอปพลิเคชันได้ ไม่ต้องต่อคิวโรงพยาบาลเสียเวลาเป็นวัน หรือเสียเวลาทำกิน ช่วยแบ่งเบาภาระประชาชนต่อไปในวันข้างหน้า

นายกรัฐมนตรียังกล่าวต่อว่า วันนี้ 30 บาทรักษาทุกที่ได้เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของประชาชนแล้ว 100% ประชาชนทุกคนมี Health ID ประจำตัว ได้รับบริการรักษาพยาบาลที่สะดวกรวดเร็วขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาสนับสนุนการให้บริการแก่ประชาชน กลายเป็นใบส่งตัวในรูปแบบดิจิทัล การแจ้งเตือนนัดหมอผ่านไลน์ การหาหมอผ่านออนไลน์  หรือมีการสมัครงานเป็นไรเดอร์ส่งยา เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้เสริม รวมถึงการเจาะเลือดที่บ้านสำหรับผู้ป่วยติดเตียง รวมถึงเครื่องล้างไตอัตโนมัติสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ให้ยืมใช้ที่บ้าน เป็นการสาธารณสุขเชิงรุกมากขึ้น  ประชาชนที่นอนติดเตียงได้รับการรักษาที่บ้านได้มากขึ้น รวมทั้ง “ตู้ห่วงใย” ซึ่งเป็นตู้ tele med ที่ให้บริการการแพทย์ทางไกลผ่านการปรึกษาหมอออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ง่ายขึ้นและสะดวกยิ่งขึ้นในทุกพื้นที่ การเปิดให้ร้านยาและคลินิกเอกชนเข้ามาร่วมเป็นหน่วยบริการหน่วยปฐมภูมิเพื่อดูแลประชาชนมากขึ้น เพิ่มความสะดวก ลดการเดินทาง ลดระยะรอคอยและลดความแออัดในโรงพยาบาล เพิ่มทางเลือกใหม่ให้ประชาชนในการรับบริการใกล้บ้านมากขึ้น ทั้งนี้ ประชาชนที่ไม่เคยใช้สิทธิ 30 บาทมาก่อน มาใช้ 30 บาทรักษาทุกที่ มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 80,000 คน

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ปี 2568 นี้ รัฐบาลมีแนวทางการพัฒนาระบบสาธารณสุข 6 ด้าน ดังนี้ 1) การพัฒนาระบบบริการสุขภาพผู้สูงอายุ การดูแลผู้ป่วยติดเตียง  จัดตั้งสถานชีวาภิบาลทั่วประเทศ 2) สร้าง Care Giver หรือนักบริบาลผู้สูงอายุ 15,000 ตำแหน่งทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงานในชุมชน โดยจะเน้นกลุ่มที่เป็นนักศึกษาจบใหม่ และผู้สูงอายุหลังเกษียณเพื่อให้มีงานทำ หารายได้เพิ่มให้กับครอบครัว 3) การดูแลสุขภาพของประชาชนด้วยการคัดกรองเร็ว รู้เร็ว รักษาง่าย ปัจจุบันมีชุดตรวจคัดกรองด้วยตนเองที่ประชาชนใช้แค่บัตรประชาชนไปขอรับได้ที่ร้านยา คือ ชุดตรวจมะเร็งปากมดลูก ชุดตรวจการติดเชื้อเอชไอวี ชุดตรวจพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ในปีนี้จะเพิ่มชุดตรวจไมโครอัลบูมินในปัสสาวะ ป้องกันโรคไตเสื่อมจากเบาหวาน 4) การดูแลสุขภาพจิตของคนไทย ด้วยบริการจิตเวชครบวงจรตั้งแต่การป้องกัน รักษา และการให้คำปรึกษา บำบัด ทั้งศูนย์ให้ปรึกษาทางจิตเวช และการรับการปรึกษาทางสุขภาพจิตผ่านแอปพลิเคชัน 5)  การบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยติดสารเสพติดกลับสู่สังคม 6) ขับเคลื่อน 50 โรงพยาบาล 50 เขต เพื่อคนกรุงเทพฯ มีโรงพยาบาลใกล้บ้านเป็นที่พึ่ง พร้อมกันนี้ รัฐบาลพร้อมที่จะดูแลประชาชนทุกจังหวัดทั่วประเทศ ให้อยู่ในระบบสาธารณสุขที่สะดวก รวดเร็วให้กับคนไทยทั้งประเทศ

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวอวยพรให้ทุกคนมีสุขภาพที่แข็งแรง ทุกอย่างเริ่มต้นที่ตัวเราสุขภาพดี เราก็จะมีแรงทำงาน มีแรงพัฒนาตนเอง  และครอบครัวไปถึงบริษัทและประเทศต่อไป ขอให้ทุกคนในปีใหม่นี้แข็งแรงสดใสและมีความสุขทั้งสุขกาย สบายใจ ขอให้ปีหน้าเป็นปีแห่งโอกาส และเป็นปีที่ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จ

จากนั้น นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขร่วมเปิดกล่องของขวัญ ”30 บาทรักษาทุกที่ 77 จังหวัด” เพื่อมอบเป็นของขวัญแก่ประชาชนทั่วประเทศ โดยเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป

Advertisement

“รณรงค์ พูลพิพัฒน์“ นั่งเลขาฯ สคบ.คนใหม่

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 17 ธันวาคม 2567 ทำเนียบ – ครม.เคาะ “รณรงค์ พูลพิพัฒน์“ นั่งเลขาฯ สคบ.คนใหม่ พร้อมให้ “ภูมิธรรม” นั่งรองประธาน คกก.นโยบายตำรวจ

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี พิจารณาอนุมัติรับโอน นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ ให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการ ในคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ เพิ่มอีก 1 ตำแหน่ง

ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบแต่งตั้ง นายปารเมศ โพธารากุล เป็น ข้าราชการการเมือง ตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (น.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์)

Advertisement

 

ศาล ปค.สูงสุด ตีตกคำขอ “บิ๊กโจ๊ก” ให้สั่งชะลอคำสั่งออกราชการ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 16 ธันวาคม 2567 ศาลปกครองสูงสุด ยืนยันชัดตีตกคำขอ “บิ๊กโจ๊ก” ที่ให้สั่งชะลอคำสั่งออกจากราชการไว้ก่อน ชี้ยังไม่พบคำสั่งมีปัญหาความไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ ฟ.117/2567 ระหว่าง พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยื่นฟ้องผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ 1 คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ ที่ 2 นายกรัฐมนตรี ที่ 3 ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้ก่อน คำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องให้ข้าราชการตำรวจพ้นจากตำแหน่ง และผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งตามปกครองที่ให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้ก่อน คำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องให้ข้าราชการตำรวจพ้นจากตำแหน่ง

ศาลปกครองสูงสุด โดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามกฎ หรือคำสั่งทางปกครองจะต้องเข้าเงื่อนไขสามประการประกอบกัน สำหรับเงื่อนไขประการที่หนึ่ง ว่าคำสั่งน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ให้ผู้ฟ้องคดีมาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี มิใช่เป็นการแต่งตั้งข้าราชการซึ่งสังกัดกระทรวง ทบวง กรมหนึ่ง ไปดำรงตำแหน่งอีกกระทรวง ทบวง กรมหนึ่ง ผู้ฟ้องคดีจึงยังมีสถานะเป็นข้าราชการตำรวจและดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติตามเดิม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้ฟ้องคดี เมื่อผู้ฟ้องคดีมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามที่คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนและศาลอาญาได้ออกหมายจับผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงเป็นผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนผู้ฟ้องคดี และมีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้ก่อน และยังไม่ปรากฏปัญหาเกี่ยวกับความไม่ชอบด้วยกฎหมายในประการอื่น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคำสั่งดังกล่าวจึงไม่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อวินิจฉัยเงื่อนไขที่ว่า คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีไม่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่ครบองค์ประกอบในการที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองตามคำขอของผู้ฟ้องคดี กรณีจึงไม่จำต้องพิจารณาเงื่อนไขประการที่สอง ที่ว่าการให้คำสั่งดังกล่าวมีใช้ผลเฉพาะต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลังหรือไม่

และเงื่อนไขประการที่สาม ที่ว่าการทุเลาการบังคับตามคำสั่งดังกล่าวจะเป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐ หรือแก่บริการสาธารณะหรือไม่อีก จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ให้ผู้ฟ้องคดีออกราชการไว้ก่อน และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องให้ข้าราชการตำรวจพ้นจากตำแหน่ง ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองตามคำขอของผู้ฟ้องคดี

Advertisement

“ทักษิณ” โต้คนบอกยกประเทศให้เพื่อน คงมีแต่ควาย ยันไม่มีใครขายชาติ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 13 ธันวาคม 2567 หัวหิน – “ทักษิณ” แจง MOU44 ตามสัญญา บอก เป็นเพียงกรอบคุยเรื่องที่ยังตกลงกันไม่ได้ หากยังคุยกันไม่ได้อีก 20 ปีข้างหน้า โลกเรียกใช้พลังงานสีเขียว ทำสูญทรัพย์สิน 4 ล้านล้านบาท โต้คนบอกยกประเทศให้เพื่อน คงมีแต่ควาย ลั่น ไม่มีใครขายชาติ เหน็บขายได้แต่คนเฮงซวยได้ แต่ไม่มีใครเอา ก่อนย้อนอดีต ยกเครื่องบิน-คอมมานโด ขนคนไทยกลับประเทศ เหตุเผาสถานทูตไทยในกัมพูชา หากไม่ใช่เพื่อนกัน คงโกรธกันไปแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงหนึ่งในงานสัมมนาโครงการเสริมศักยภาพ สส. และบุคลากรทางการเมืองพรรคเพื่อไทย นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร ได้ขอให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อธิบายรายละเอียดเรื่องสนธิสัญญา MOU44 หลังพรรคเพื่อไทยถูกนำเรื่องนี้มาโจมตีรัฐบาล

โดยนายทักษิณ กล่าวว่า เกือบลืมไป เพราะตอนแรกตั้งใจจะพูดเรื่องนี้ จึงอยากจะบอกให้ทุกคนทราบว่า ปี 2544 สมัยที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรี บันทึกข้อตกลงดังกล่าวคือ เราจะตกลง และเราจะคุยกัน ในข้อที่เรายังไม่ได้ตกลงกัน และไม่ได้หมายความว่า เราตกลงกันแล้ว แต่เป็นกรอบที่เราจะพูดคุยในเรื่องที่เรายังตกลงกันไม่ได้ จึงเกิดสนธิสัญญา MOU44 ซึ่งที่เราคุยกันก็คือการลากเส้นเขตแดนทางทะเลที่ไม่ตรงกัน โดยต้องอ้างกฎหมายระหว่างประเทศ และอ้างสนธิสัญญา

ส่วนเรื่องเกาะกูด ที่มีการพูดโจมตี และคนพูดไม่ได้ดูเนื้อหาสาระ ฟังไม่ได้ศัพท์ จับไปกระเดียดจริง ๆ แล้วมันไม่มี เกาะกูดเป็นของไทยมานานแล้ว และอยู่ในสนธิสัญญาระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส ในสมัยที่ยึดครองประเทศกัมพูชาในสมัยนั้น ที่ระบุว่าเกาะกูดเป็นของไทย เกาะกงเป็นของกัมพูชา แต่วิธีลากเส้นของกัมพูชาไม่ถูก ซึ่งผิดหลักกฏหมายสากลอยู่แล้ว แต่ของเรามั่นใจว่า วิธีลากเส้นของเราถูกกว่า แต่ผลสุดท้าย เราก็ต้องมาพูดคุยกันในเรื่องที่เราไม่ได้ตกลงกัน แต่ตอนนี้เรายังไม่ได้คุยกัน เพียงแค่บอกว่าจะคุย แต่ก็เกิดการโวยวายกันใหญ่

นายทักษิณ กล่าวอีกว่า เรื่องนี้ปัญหาคือ ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันที่อยู่ในพื้นที่ตรงนั้น อีกประมาณ 20 ปีจะไม่สามารถใช้ได้ เพราะคนกำลังเรียกหาพลังงานสีเขียว เลิกใช้พลังงานที่เกิดจากฟอสซิล เพราะฉะนั้นอีก 20 ปี เราจะทิ้งทรัพย์สินตรงนี้ประมาณ 4 ล้านล้านบาท ซึ่งหากใช้ไม่ได้ก็จะหายไป แต่หากเราตกลงกันได้ ในข้อตกลง 2 อย่างคือ 1.ผลประโยชน์ทางทะเล 2.คือเส้น เขตแดน ซึ่งเขตแดนบนบกไม่มีปัญหา แต่มีปัญหาที่ทางทะเล ทำให้เรื่องนี้ยังไม่จบ และรู้หรือไม่ว่าหลายชาติก็มีปัญหาเรื่องเขตแดน ซึ่งเราก็มีปัญหากับประเทศมาเลเซีย เมียนมาก็มี ลาวก็มี รวมไปถึงว้าแดง ที่เขาใช้ชนกลุ่มน้อยมาเป็นแนวกันชน ซึ่งตอนหลังก็ต้องมาดูกันว่าตรงนั้นเป็นของใคร เพราะต่างคนต่างอ้างสิทธิเส้นเขตแดน ซึ่งก็ต้องมาคุยกันตามหลักสากล

นายทักษิณ ยังยกตัวอย่าง แม้แต่หมู่เกาะทะเลจีนใต้ที่มีปัญหากันหลายประเทศ เพราะจีนก็บอกอีกเขตหนึ่ง อีกประเทศก็ยึดอีกเส้นเขตแดนหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่แต่ละประเทศชาติก็มีปัญหา

ช่วงหนึ่งนายทักษิณพูดผิดเป็นมาตรา 44 ก่อนบอกว่า เพราะ ม.44 โดนมาเยอะ โดนมาหลายดอก เลยยังพูดมาตรา 44 อยู่ แต่จะบอกว่าเรื่องของ MOU 44 เป็นเรื่องที่เราจะพูดคุยกัน ในเรื่องที่เรายังไม่ตกลงกัน เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งไปโวยวาย

“ไม่มีใครเขาไปขายชาติหรอก ถ้าขายคนเฮงซวยพอขายได้ แต่ไม่มีใครเอา อยู่แล้ว กลัวเป็นภาระเขา” นายทักษิณ กล่าว

ส่วนเรื่องของ OCA ปัจจุบันยังไม่มีการตกลงใด ๆ ทั้งสิ้น และไม่เคยบอกว่า จะเป็นของใคร เพราะทุกอย่างมันชัดอยู่แล้ว เรื่องบนบกมันจบไปนานแล้ว เหลือแต่เรื่องเส้นทางทะเล ที่จะต้องแบ่งกันว่า ผลประโยชน์ตรงนี้ควรจะเป็นของใคร แต่สิ่งที่เถียงกันแทบตาย คนที่ได้ประโยชน์สูงสุดคือใครรู้หรือไม่ คือ บริษัทที่ได้รับสัมปทานเดิม เพราะสัญญายังคงอยู่ ซึ่งประเทศจะได้ประโยนช์ ได้น้ำมัน ได้นำก๊าซธรรมชาติมาใช้ หากการขนส่งใกล้หน่อยก็จะมีต้นทุนที่ราคาถูก ซึ่งวันนี้ต้องมีคนอธิบาย กระทรวงการต่างประเทศต้องอธิบายให้ชัดเจน จริง ๆ แล้วประเทศไทยเรา ต้องคณะกรรมการมาจากทุกฝ่าย ทั้งของกระทรวงต่างประเทศ และฝ่ายความมั่นคง ไม่มีอะไรทำง่าย ๆ เพราะบางทีบางคนก็นำไปว่า ไปด่าว่าตนมีความสัมพันธ์กับสมเด็จอัคคมหาเสนาบดี เดโช ฮุน เซน

ทำให้นายทักษิณ จึงเล่าความสัมพันธ์กับสมเด็จฯ ฮุนเซน โดยระบุว่า ใครจำได้เหตุการณ์ตอนที่เผาสถานทูตไทย ในประเทศกัมพูชา วันนั้นตนก็เป็นเพื่อนกับสมเด็จฯ ฮุนเซน ซึ่งตนก็ต่อสายโทรศัพท์ไปหา แล้วบอกว่า ตนไม่ยอม ที่มาเผาสถานทูตไทย คุณจะต้องรับผิดชอบ แล้วปัญหาก็คือ มีคนไทยอยู่ที่นั่น คุณจะเอาอย่างไร ดูแลได้หรือไม่ หากดูแลไม่ได้ พรุ่งนี้ตนจะส่งเครื่องบินไปรับ ซึ่งเวลาพูดคุยกัน ก็คุยรุนแรงเช่นนี้ แต่เราเข้าใจกัน ซึ่งการเป็นเพื่อน ก็ดีกว่าการเป็นศัตรู แต่งานของประเทศต้องมาก่อน ไม่ใช่เป็นเพื่อนแล้วมาบอกว่า ยกประเทศให้เพื่อน นั่นมันควายแล้ว และขณะนั้นประเทศกัมพูชายังไม่มีเงินเท่าไหร่ แต่ต้องมาใช้หนี้ที่เผาสถานทูตไทย หากจำไม่ผิดประมาณ 3 ล้านเหรียญ และวันนั้นตนก็ส่งเครื่องบิน ส่งหน่วย คอมมานโดไปเอาคนไทยกลับมา ไม่เห็นจะโกรธกันเลย ถ้าไม่ใช่เพื่อนกันคงโกรธกันแล้ว ทำแบบนี้ ซึ่งจริง ๆ ตนยังอยากทำแบบนี้กับอีกหลายเรื่อง พอดีเกรงใจนายกฯ แพทองธาร กลัวโดนลูกหลง

Advertisement

นายกฯ ย้ำ แคมเปญ “โอกาสไทย ทำได้จริง” หลังทำงานครบ 90 วัน วอนทุกภาคส่วนร่วมทีมทำงาน เพื่อโอกาสประเทศไทย

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 12 ธันวาคม 2567 นายกฯ แพทองธาร ย้ำแคมเปญ “โอกาสไทย ทำได้จริง” หลังทำงานครบ 90 วัน ประกาศปี 68 รัฐบาลเดินหน้า 5 นโยบายหลัก “ล้างหนี้ประชาชน-บ้านเพื่อคนไทย-ทุนการศึกษา-รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย-ดิจิทัลวอลเล็ต” ขอทุกภาคส่วนร่วมทีมทำงาน เพื่อโอกาสประเทศไทย

วันนี้ (12 ธ.ค. 2567) เวลา 10.00 น. ณ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงผลงานครบรอบ 90 วันที่รัฐบาลได้ปฏิบัติหน้าที่ พร้อมมอบนโยบายแก่ข้าราชการระดับสูง ได้แก่ หัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง กรม และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ภายใต้แคมเปญ  “2568 โอกาสไทย ทำได้จริง : 2025 Empowering Thais: A Real Possibility ” พร้อมมอบนโยบายให้แก่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ผู้รับผิดชอบในแต่ละนโยบายด้วย

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า  นายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายรวมทั้งสิ้น 11 นโยบาย แบ่งเป็นนโยบายระยะยาว ที่ต้องทำในเชิงโครงสร้าง 6 นโยบาย คือ การจัดการน้ำท่วม-น้ำแล้ง   การแก้ปัญหาหมอกควัน PM 2.5 ปัญหายาเสพติด  การทลายการผูกขาด   การแก้ปัญหาธุรกิจนอกระบบ และนโยบายการลงทุนครั้งใหญ่ในอนาคต  และเป็นนโยบายที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า จำนวน 5 นโยบาย คือ โครงการ SML หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน ดิจิทัลวอลเล็ต การแก้หนี้ครัวเรือน และบ้านเพื่อคนไทย

นายกรัฐมนตรี กล่าวเริ่มต้นงานว่า ผลงานของรัฐบาลแพทองธาร เป็นผลงานที่ต่อเนื่องมาจากการบริหารงานของอดีตนายกรัฐมนตรีนายเศรษฐา   วันนี้รัฐบาลแพทองธารได้ทำงานผ่านความร่วมมือของคณะรัฐมนตรีและพี่น้องข้าราชการ เพื่อพี่น้องประชาชนมาแล้ว 90 วันเต็ม ทำให้วันนี้  “ทุกคนคือทีมเดียวกัน”  และจะร่วมกันเดินไปข้างหน้าอย่างเต็มที่ วางรากฐานของประเทศไทยในทศวรรษหน้า ให้คนไทยมีกิน-มีใช้-มีเกียรติ-มีศักดิ์ศรี ประเทศไทยในปี 2568 จะเป็นปีแห่ง “โอกาส” รัฐบาลจะสร้างผลงานที่เป็นรูปธรรม เพื่อสร้างอนาคตที่เป็นจริง

นโยบายแรก คือ การแก้ไขปัญหา “น้ำท่วม-น้ำแล้ง”  น้ำต้องเพียงพอสำหรับการอุปโภค บริโภค เกษตร และอุตสาหกรรม ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการทั้งระยะสั้น-กลาง-ระยะยาว   รวมทั้งการศึกษาแนวทางที่จะอนุญาตให้ประชาชนขุดลอกคูคลองแล้วนำดินไปใช้หรือขายได้ และให้มีการศึกษาโครงการ Floodway และโครงสร้างขนาดใหญ่ที่จะแก้ปัญหาน้ำท่วมได้อย่างยั่งยืนด้วย

นโยบายต่อมาคือเรื่องปัญหา “หมอกควัน”  นายกรัฐมนตรีประกาศ KPI ว่า PM 2.5 จะต้องลดน้อยลง ทั้งในแง่ปริมาณฝุ่นและตัวเลขประชาชนที่ป่วยจากฝุ่น ต้องลดลงทุกปี โดยปัจจุบันรัฐบาลควบคุมการเผาในประเทศ การเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านให้ลดการเผา และการออกกฎหมาย พ.ร.บ. อากาศสะอาด เช่นเดียวกับเรื่องยาเสพติด ที่จะต้องมีมาตรการที่เข้มงวดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “การผูกขาดทุกชนิด เป็นการเพิ่มต้นทุนให้ประชาชน และทำให้พี่น้องประชาชนยากจนลง” รัฐบาลจะเร่งดำเนินการปลดล็อคการผูกขาด โดยเฉพาะ เรื่องข้าว ที่ตั้งเป้าให้เกษตรกรทุกคนสามารถส่งออกข้าวไปทั่วโลกได้เอง หรือการปลดล็อคการผูกขาดราคาพลังงานด้วยเงื่อนไขทางกฎหมาย เพื่อปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า ค่าพลังงานให้ถูกลงให้ได้

ประเด็นต่อมา รัฐบาลจะนำธุรกิจใต้ดินขึ้นมาอยู่บนดินและกำกับให้ถูกกฎหมาย คาดว่าธุรกิจใต้ดินมีมูลค่ากว่า 49% ของ GDP ไทย การแก้ปัญหานี้จะทำให้รัฐบาลปกป้องประชาชนได้และยังเป็นรายได้ของรัฐบาลด้วย

ในเรื่องเทคโนโลยี และ AI รัฐบาลไทยตั้งเป้าจะเป็น AI Hub ของภูมิภาค เนื่องจากในปัจจุบัน มีบริษัทใหญ่มาลงทุนทำศูนย์ข้อมูล (Data center) เป็นเงินลงทุนมากกว่าล้านล้านบาทแล้ว

ในส่วนของนโยบายใหม่ที่จะเกิดขึ้นในปี 2568 นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงการนำนโยบาย “หนึ่งอำเภอ หนึ่งทุน” หรือ ODOS กลับมาอีกครั้ง โดยใช้งบประมาณจากการขายสลากกินแบ่งรัฐบาล รวมทั้งมีโครงการที่เปิดโอกาสให้เด็กไทยได้ไปฝึกภาษาที่ต่างประเทศเป็นเวลาสั้นๆ ในโครงการ “1 อำเภอ 1 ซัมเมอร์แคมป์” และโครงการอัพเกรดโรงเรียนประจำอำเภอ ทำให้เป็นโรงเรียนต้นแบบ เติมครู เติมเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาทักษะทางภาษา และ AI ให้เด็ก ๆ ในทุกอำเภอ

และให้โอกาสคนทุกตำบลหมู่บ้านในการคิดและลงมือแก้ไขปัญหาในพื้นที่ผ่านโครงการ SML ของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่จะกระจายโอกาสและเงินลงไปในทุกหมู่บ้าน พร้อมกับกองทุนเพื่อฟื้นฟู SME ซึ่งเป็นฐานรากของเศรษฐกิจไทยอีกกว่า 5,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมี โครงการ “บ้านเพื่อคนไทย” (Public Housing) คอนโดคุณภาพดีพร้อมเฟอร์นิเจอร์พร้อมอยู่ เริ่มต้นประมาณ 30 ตารางเมตร ผ่อนเดือนละประมาณ 4,000 บาท เป็นเวลาประมาณ 30  ปี และให้สิทธิอยู่อาศัย 99 ปี ที่จะเป็นความหวังของคนไทยที่อยากมีบ้าน

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีประกาศว่า จะดำเนินโครงการเงินหมื่นฟื้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 โดยเงินสดจะถึงมือผู้สูงอายุประมาณ 4 ล้านราย  ไม่เกินตรุษจีน นี้  หลังจากนั้น จะดำเนินการระยะที่ 3 สำหรับบุคคลทั่วไป เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องพร้อมกับยกระดับประเทศไทยให้ก้าวสู่ยุคดิจิทัล

นโยบายสุดท้ายที่แถลง คือ การแก้หนี้ครัวเรือน โดยเน้นที่หนี้  “รถยนต์”  และ “บ้าน” โดยธนาคารแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคาร ตกลงที่จะลดการส่งเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูลง 0.23% ซึ่งเป็นเงินกว่า 39,000 ล้านต่อปี และธนาคารพาณิชย์จะเติมให้อีก 39,000 รวมกันเป็น 78,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อพักดอกเบี้ย 3 ปี ให้ลูกหนี้จ่ายคืนเงินต้นได้เต็มจำนวน โดยจะเริ่มดำเนินการในต้นปี 2568 พร้อมมาตรการประนอมหนี้แบบพิเศษที่จะล้างหนี้ให้ทั้งหมด สำหรับลูกหนี้มูลหนี้ต่ำกว่า 5,000 บาท

สุดท้ายนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวกับรองนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีและข้าราชการว่า นักการเมืองและข้าราชการ ต่างมาจากภาษีของประชาชน เราต่างมีหัวใจเดียวกันคือ การทำงานเพื่อรับใช้พี่น้องประชาชน การทำให้ประไทยดีขึ้น วันนี้อยากให้เพื่อนข้าราชการทุกท่านยึดคติในใจว่า หลังจากนี้ จะเป็นปีแห่งการสร้าง “People Empowerment” เพิ่มอำนาจประชาชน ลดอำนาจเรา หรือการลดและเพิ่มประสิทธิภาพของภาครัฐ

Advertisement

นายกฯ ประชุมวิดีโอคอล 12 ผู้ว่าฯ จว.ใต้ สั่งพร้อมรับมือฝนระลอกสองถล่มภาคใต้

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 10 ธันวาคม 2567 พร้อมรับมือ ฝนระลอกสองภาคใต้ สัปดาห์นี้ นายกฯ “แพทองธาร” ประชุมวิดีโอคอล 12 ผู้ว่าฯ จว.ใต้ สั่งพร้อมรับมือฝนระลอกสองภาคใต้ 12 ธันวาคมนี้ พร้อมขอบคุณส่วนราชการพื้นที่ลดขั้นตอนพื้นที่ไม่ต้องรอเงินเยียวยานานหลัง มท1 รายงานจ่ายแล้วเกือบ 90 เปอร์เซนต์

วานนี้ (9 ธันวาคม 2567) เวลา 15.00 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้เพื่อรับรายงานความเสียหาย และการเตรียมการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบภัย (ผ่านระบบ Video Conference กับผู้ว่าราชการจังหวัดภาคใต้) โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และนายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เข้าร่วม

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่านายกรัฐมนตรีได้ติดตามสถานการณ์อุทกภัยภาคใต้ 12 จังหวัด และได้ประชุมกับผู้ว่าราชการทั้ง 12 จังหวัด โดยแจ้งว่าได้ปรับหลักเกณฑ์การอนุมัติเงินฉุกเฉินระดับจังหวัด จาก 20 ล้านบาท เป็น 70 ล้านบาท และก่อนหน้านี้ ครม. ได้อนุมัติงบประมาณ 5 พันล้านบาทในการช่วยเหลือ รายละ 9,000 บาทไปแล้ว โดยได้จ่ายเยียวยาเบื้องต้นไปแล้วกว่า 2,700 ล้านบาท ซึ่งขอบคุณจังหวัดที่สามารถทยอยมอบให้ ประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ไม่เหมือนในอดีตที่ต้องรอนานหลายเดือนกว่าจะได้รับ

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังได้กำชับให้ ศปช.ส่วนหน้าให้เตรียมพร้อมตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปเนื่องจากสัปดาห์นี้ในวันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคมนี้ ศปช.ได้แจ้งเตือนแล้วว่าจะมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องอาจทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมได้ ขอให้ส่วนหน้าเตรียมพร้อมรับมือให้ทันสถานการณ์ตลอด 24 ชม.

ด้าน นายอนุทิน กล่าวว่า ในฐานะประธานคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้ทำงานร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานคณะทำงาน ได้มีการสั่งการคนที่ดูแลพื้นที่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ทันท่วงที ที่ผ่านมานายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ลงพื้นที่ไปแล้ว โดยได้รายงานพื้นที่ประสบอุทกภัยกลับมา รัฐบาลยินดีพร้อมที่จะดูแลประชาชน ขณะเดียวกันได้รับเสียงสะท้อนจากหลายจังหวัดว่าระดับน้ำลดลง ตนเองรู้สึกอุ่นใจขึ้น แต่สถานการณ์น้ำในพื้นที่ใดยังมีจำนวนมาก หากยังไม่ได้รับความช่วยเหลือขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ ส่วนสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ถนน น้ำประปา ที่ติดปัญหาก็ขอให้แจ้งให้ชัดเจน เพื่อจะได้ส่งความช่วยเหลือให้ถูกต้อง เพราะต้องการให้ประชาชนกลับมามีชีวิตที่ปกติได้รวดเร็ว

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ล่าสุดตนเองได้กลับไปดูพื้นที่น้ำท่วมจังหวัดเชียงราย ภาพรวมกลับมาเป็นปกติแล้ว แต่ยังต้องบำรุงรักษาให้เกิดความสวยงามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจังหวัดพร้อมเปิดการท่องเที่ยวแล้ว ดังนั้น ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ถือว่ามีบทเรียน และมีกรณีตัวอย่างจากทางภาคเหนือและอีสานแล้ว จึงสามารถที่จะลงช่วยเหลือพื้นที่ภาคใต้ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งสถานการณ์น้ำท่วมก็ถือว่ามีข้อดีอยู่บ้าง นั่นคือ การช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว

ภายหลังรับฟังรายงานความเสียหาย และการเตรียมการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบภัย (ผ่านระบบ Video Conference กับผู้ว่าราชการจังหวัดภาคใต้) นายกรัฐมนตรีกล่าวขอขอบคุณผู้ว่าราชการภาคใต้ 12 จังหวัด ที่ได้ทำงานอย่างทุ่มเทเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนในพื้นที่ พร้อมกับสั่งการให้ดำเนินการ ดังนี้

1.ด้านชีวิตความเป็นอยู่ ให้ทุกหน่วยงานเร่งเข้าให้การช่วยเหลือ ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ประสบภัย ทั้งด้านที่อยู่อาศัย ดูแลด้านการดำรงชีพเบื้องต้นให้เพียงพอ และให้พิจารณาถึงความต้องการพิเศษโดยเฉพาะผู้ประสบภัยกลุ่มเปราะบาง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนการฟื้นฟูในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการประกอบอาชีพ เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ

2.ด้านสาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐาน เร่งฟื้นฟูระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน เส้นทางคมนาคม โดยเฉพาะระบบไฟฟ้า และระบบน้ำประปา ในพื้นที่ประสบภัยที่ได้รับความเสียหายให้กลับมาให้บริการประชาชนได้ตามปกติโดยเร็ว  ออกมาตรการลดผลกระทบเรื่องค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน ไฟฟ้า ประปา ระบบโทรคมนาคม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนโดยเร็ว

3.การเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบภัย ให้กระทรวงมหาดไทย เร่งรัดจังหวัดดำเนินการ ดังนี้ เร่งรัดการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตามคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 ซึ่งได้เห็นชอบใช้จ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 ครัวเรือนละ 9,000 บาท โดยให้สามารถเบิกจ่ายถึงมือประชาชนได้โดยเร็ว

4.การเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ในห้วงต่อไป ให้หน่วยงานในพื้นที่เฝ้าระวัง ประเมินสถานการณ์ และแจ้งเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัย ทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งแจ้งแนวทางการปฏิบัติตนให้เกิดความปลอดภัย โดยให้อพยพประชาชนไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราว/พื้นที่ปลอดภัยที่หน่วยงานภาครัฐจัดไว้ให้ ก่อนเกิดสถานการณ์ในพื้นที่ ให้เตรียมความพร้อมทรัพยากรทุกด้าน ทั้งด้านเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัย กำลังเจ้าหน้าที่ ไว้ประจำในพื้นที่เสี่ยง ให้พร้อมปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชนได้ทันทีเมื่อเกิดภัย

“คาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 12 – 16 ธันวาคม 2567 จะเกิดฝนตกต่อเนื่องในปริมาณที่หนักถึงหนักมากในพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัด ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ระนอง ตรัง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ขอเน้นย้ำเรื่องการแจ้งเตือนภัยให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบอย่างทั่วถึง และเตรียมตัวอพยพไปอยู่ในที่ปลอดภัย ส่วนเรื่องการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบภัย ขอให้เร่งสำรวจความเสียหายภายหลังสถานการณ์คลี่คลาย ยืนยันรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้กำชับทุกภาคส่วนให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน รวมถึงมาตรการเยียวยาต่าง ๆ ได้ใช้แนวทางการช่วยเหลือเหตุการณ์ในภาคเหนือ ซึ่งจะทำให้สามารถช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น” นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำ

Advertisement

Verified by ExactMetrics