วันที่ 16 พฤษภาคม 2024

กรมที่ดินปั้นภาพลักษณ์ใหม่ อบรมเจ้าพนักงาน “บริการดี ไม่มีทุจริต”

People unity news online : เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2560 ที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร อาคารสวนเจ้าเชตุ นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการอบรม “บริการดี ไม่มีทุจริต” ของสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครและสาขา ประจำปี พ.ศ.2560 ซึ่งกรมที่ดินจัดขึ้นเพื่อพัฒนาบุคลากรของสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครและสาขา จำนวน 17 สาขา ให้มีความรู้ ความเข้าใจ ในแนวทางการให้บริการประชาชนนำไปสู่การปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนา จำนวน 600 คน

โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มอบนโยบายในการบริการประชาชนให้แก่ผู้เข้ารับการอบรม ว่า ปัจจุบันกระแสสังคมได้ให้ความสนใจการทำงานของกรมที่ดินโดยเฉพาะในเรื่องความโปร่งใส เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายในที่ดินของบุคคล มีความสำคัญทั้งทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง ซึ่งที่ผ่านมาภายใต้การบริหารราชการของรัฐบาลได้ให้ความสำคัญและเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานมีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบและมีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม การจัดอบรมในครั้งนี้ จึงเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้นโยบายดังกล่าวประสบผลสำเร็จ เนื่องจากเป็นการเตรียมบุคลากรของกรมที่ดินเพื่อก้าวสู่กรมที่ดินยุคใหม่ที่มีการบริหารงานอย่างโปร่งใส ภายใต้หลัก “ธรรมาภิบาล” ดังนั้น บุคลากรของกรมที่ดินจึงต้องได้รับการฝึกอบรมให้มีความรู้ความเข้าใจทั้งด้านกฎหมาย เทคโนโลยี ความรอบคอบ รวดเร็ว สร้างทัศนคติ และสร้างค่านิยมที่ดีในเรื่องความซื่อสัตย์ สุจริต มีคุณธรรม มีความโปร่งใส ป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดในการทำงาน สามารถนำความรู้ไปใช้ปรับปรุงและพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครและสาขาถือเป็นด่านหน้าที่จะสร้างความประทับใจให้กับประชาชนที่มาติดต่อขอรับการบริการ อีกทั้งในพื้นที่ของกรุงเทพมหานครยังเป็นพื้นที่ที่ดินมีราคาสูง ผู้ถือครองที่ดินมีความคาดหวังที่จะได้รับการตอบสนองการให้บริการที่ดี

การที่กรมที่ดิน โดยสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครและสาขาได้จัดให้มีการอบรมในวันนี้จึงถือได้ว่าการเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการบริหารจัดการภาครัฐ การป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบ โดยใช้หลักธรรมาภิบาลและแปลงยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติสอดรับกับคำขวัญ 116 ปี ของกรมที่ดินที่ว่า “บริการดี ไม่มีทุจริต”

สุดท้าย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เน้นย้ำให้ชาวที่ดินกรุงเทพฯ ได้ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ ร่วมแก้ไขปัญหา และร่วมติดตามประมวลผล ประสานงาน ประสานใจ และประสานการปฏิบัติยกระดับการให้บริการประชาชนด้วยความซื่อสัตย์สุจริตมีความโปร่งใส ช่วยขจัดและลดปัญหาความทุกข์ร้อนของประชาชนอันจะส่งผลให้เกิดภาพลักษณ์และทัศนคติที่ดีต่อองค์กร เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนต่อไป

People unity news online : post 21 มีนาคม 2560 เวลา 22.44 น.

วันนี้ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง เปิดให้ประชาชนร่วมทดสอบใช้บริการแล้ว

People Unity News : 3 มิถุนายน 2566 โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ ยินดี วันนี้รถไฟฟ้าสายสีเหลือง พร้อมเริ่มให้ประชาชนร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) จากสถานีหัวหมากถึงสถานีสำโรง กำชับดูแลความพร้อม ความปลอดภัยช่วงทดสอบฯ สร้างความมั่นใจให้ประชาชน

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แจ้งรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง พร้อมเริ่มให้ประชาชนร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) เริ่มตั้งแต่วันนี้ (3 มิถุนายน 2566) จากสถานีหัวหมาก ถึงสถานีสำโรง ก่อนขยายระยะทางต่อไป โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความยินดีที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง มีการดำเนินงานเป็นไปตามแผนงาน กำชับให้ดูแลเรื่องความพร้อมการให้บริการ และดูแลความปลอดภัยในช่วงการทดสอบการเดินรถฯ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนผู้โดยสารให้มากที่สุด

นายอนุชา กล่าวว่า ตามที่ รฟม. ร่วมกับ ที่ปรึกษาบริหารโครงการและควบคุมการก่อสร้างโครงการฯ (PCYL) วิศวกรอิสระ (ICE) และ บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง ได้ลงพื้นที่สำรวจความเรียบร้อยประกอบการพิจารณาช่วงสถานีที่จะให้ประชาชนได้เข้าร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไปนั้น รฟม. ชี้แจงว่า ปัจจุบันทุกฝ่ายมีความเห็นสอดคล้องกัน โดยตั้งแต่วันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง (MRT สายสีเหลือง) จะพร้อมให้ประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจเข้าร่วม Trial Run ได้ระหว่างเวลา 09.00-20.00 น. จำนวน 13 สถานี ได้แก่ สถานีหัวหมาก สถานีกลันตัน สถานีศรีนุช สถานีศรีนครินทร์ 38 สถานีสวนหลวง ร.9 สถานีศรีอุดม สถานีศรีเอี่ยม สถานีศรีลาซาล สถานีศรีแบริ่ง สถานีศรีด่าน สถานีศรีเทพา สถานีทิพวัล และสถานีสำโรง ทั้งนี้ ในส่วนของสถานีหัวหมาก จะจำกัดให้ประชาชนใช้เฉพาะทางเข้า-ออกที่ 2 (สี่แยกพัฒนาการ) และทางเข้า-ออกที่ 3 (ซอยศรีนครินทร์ 16) ที่มีความพร้อมก่อน โดยหลังจากนี้ รฟม. และผู้รับสัมปทาน จะหารือกันอย่างต่อเนื่องเพื่อพิจารณาการขยายช่วงสถานี และขยายช่วงเวลาที่รถไฟฟ้า MRT สายสีเหลืองจะสามารถให้ประชาชนเข้าร่วม Trial Run เพิ่มเติมจนกระทั่งครบตลอดสาย 23 สถานีได้ในระยะต่อ ๆ ไป เพื่อสร้างการรับรู้และความมั่นใจด้านความปลอดภัยให้แก่ประชาชนที่จะเป็นผู้โดยสารของรถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง เมื่อเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในอนาคตอันใกล้นี้

“นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและขนส่งของประเทศ โดยกำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ โดยนายกรัฐมนตรีติดตามทุกโครงการของรถไฟฟ้ามหานคร ให้การก่อสร้างเป็นไปตามแผน พร้อมแสดงความยินดีที่ขณะนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง มีการดำเนินงานเป็นไปตามแผนงาน จะสามารถเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ในเร็ว ๆ นี้ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกำชับให้ดูแลเรื่องความพร้อมการให้บริการทุกด้าน และเน้นดูแลความปลอดภัยในช่วงการทดสอบการเดินรถเสมือนจริง เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนผู้โดยสารให้มากที่สุด” นายอนุชา กล่าว

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ถือเป็นหนึ่งในโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในความรับผิดชอบของ รฟม. ที่ได้รับการออกแบบให้เป็นระบบขนส่งมวลชนระบบรอง (Feeder Line) ที่จะใช้ขนส่งผู้โดยสารจากพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร และพื้นที่บางส่วนในจังหวัดสมุทรปราการ เข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายหลักอื่น ๆ มีระยะทางรวมประมาณ 30.4 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับตลอดสาย มีสถานีรถไฟฟ้าจำนวน 23 สถานี โดยมีอาคารจอดแล้วจรสำหรับผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัวสามารถเปลี่ยนถ่ายเข้าสู่บริการรถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง ได้บริเวณสถานีศรีเอี่ยม และสถานีลาดพร้าว

Advertisement

รัฐบาลผลักดันโครงการด้านน้ำ ขับเคลื่อนเกือบ 3,000 โครงการ

People Unity News : 11 กุมภาพันธ์ 2566 รัฐบาลโชว์ผลงานด้านน้ำ 2 พื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 4 ปี ขับเคลื่อนเกือบ 3,000 โครงการ ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศ

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า รัฐบาลโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาทรัพยากรน้ำของประเทศต่อเนื่อง ให้ความสำคัญกับบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศอย่างเป็นระบบ ให้มีน้ำเพียงพอสำหรับประชาชนในทุกมิติทั้งด้านการเกษตร อุปโภคบริโภคและการท่องเที่ยว ด้านอุตสาหกรรม การรักษาระบบนิเวศ รวมทั้งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งอย่างยั่งยืน ล่าสุดกับผลความก้าวหน้าการพัฒนาทรัพยากรน้ำในพื้นที่ 2 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งรัฐบาลได้มีการเร่งรัดผลักดันการขับเคลื่อนโครงการด้านน้ำตลอด 4 ปีที่ผ่านมา (ปี 2561-2565) รวมเกือบ 3,000 โครงการ แบ่งเป็น จังหวัดพิษณุโลก 1,881 โครงการ และจังหวัดนครสวรรค์ 1,087 โครงการ เช่น ประตูระบายน้ำท่านางงามพร้อมอาคารประกอบ โครงการก่อสร้างและเพิ่มประสิทธิภาพระบบรวบรวมน้ำเสีย เทศบาลนครพิษณุโลก แก้มลิงคลองละหานพร้อมอาคารประกอบ แก้มลิงบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนวัดไทรย์ อำเภอเมืองนครสวรรค์ เป็นต้น

“นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามแผนการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ภายใต้แผนแม่บทน้ำ 20 ปี เพื่อให้ทรัพยากรน้ำของประเทศเกิดความมั่นคง ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมทั้งให้มีการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนต่อเนื่องให้เห็นถึงความจำเป็นและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการดำเนินโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล เพื่อให้เกิดความร่วมมือจากประชาชนทุกฝ่ายในการร่วมกันขับเคลื่อนโครงการให้เกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายและให้มีน้ำเพียงพอสำหรับประชาชนทุกกลุ่ม และป้องกันไม่ให้เกิดภาวะภัยแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่ โดยเฉพาะลุ่มน้ำยม ที่รัฐบาลได้เร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งซ้ำซากให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งประตูระบายน้ำท่านางงาม อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก เป็น 1 ใน 4 โครงการที่จะบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่าง โดยเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จคาดจะทำให้สามารถเก็บกักน้ำในแม่น้ำยมได้เพิ่มขึ้น และมีปริมาณน้ำเพียงพอจัดสรรให้กับภาคการเกษตร รวมถึงช่วยเพิ่มระดับน้ำใต้ดินของพื้นที่ข้างเคียงด้วย

รวมทั้งการเร่งดำเนินการโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำน่าน ต.พลายชุมพล อ.เมือง จ.พิษณุโลก ให้เป็นไปตามแผนงาน และป้องกันไม่ให้ถูกกัดเซาะเพิ่มเติมโดยเร่งดำเนินการแก้ไขให้ครอบคลุมทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำ รวมถึงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ ให้บูรณาการการดำเนินงานกับทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การทำประมง การเกษตรกรรม การท่องเที่ยว การอนุรักษ์ เพื่อให้บึงบอระเพ็ดกลับมาเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชาชน และระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมโดยรอบดีขึ้นตามไปด้วย” นายอนุชากล่าว

Advertisement

ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. PPP ฉบับใหม่ กำหนดให้มีมาตรการ PPP Promotion แก่ภาคเอกชน

People unity news online : ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 3 เมษายน 2561 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการร่วมลงทุนฯ)

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 3 เมษายน 2561 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการร่วมลงทุนฯ) และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป โดยร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการปรับปรุงพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 เพื่อให้มีการกำหนดนโยบายของรัฐที่ชัดเจนและแน่นอนในการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ โดยมุ่งเน้นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน และมีมาตรการส่งเสริมการร่วมลงทุนให้แก่โครงการร่วมลงทุนอย่างเหมาะสมภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง และมุ่งเน้นการใช้ความเชี่ยวชาญและนวัตกรรมของเอกชนโดยคำนึงถึงความสำเร็จของโครงการร่วมลงทุน รวมทั้งมีหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการจัดทำโครงการร่วมลงทุนที่กระชับ ชัดเจน เปิดเผย และตรวจสอบได้ และสามารถสร้างแรงจูงใจให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการร่วมลงทุนฯ มีสาระสำคัญสรุปได้นี้

1.“Facilitation” การส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ให้มีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น โดยทำให้ขั้นตอนง่าย กำหนดให้มีมาตรการสนับสนุนโครงการร่วมลงทุน (PPP Promotion) และให้คณะรัฐมนตรีสามารถพิจารณาแก้ไขปัญหา อุปสรรค หรือความล่าช้าเกี่ยวกับโครงการร่วมลงทุนที่เกิดขึ้นจากกฎหมายหรือระเบียบ ยกระดับกองทุน PPP ให้สามารถสนับสนุนโครงการ PPP ได้มากขึ้น

2.“Alignment” ทำให้โครงการร่วมลงทุนสอดคล้องกับแผนพัฒนาโครงการของประเทศ และเป็นไปตามหลัก PPP สากล ให้มีการจัดทำแผนพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ (National Infrastructure Plan) ที่ชัดเจน มุ่งเน้นการร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ กำหนดเป้าประสงค์ของการจัดทำและดำเนินโครงการร่วมลงทุนที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน (Partnership) ซึ่งรวมถึงเรื่องการจัดสรรความเสี่ยงและผลประโยชน์ตอบแทนระหว่างรัฐและเอกชน

3.“Streamline” มีขั้นตอนกระชับ ชัดเจน รวมถึงเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ กำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการจัดทำโครงการร่วมลงทุนให้กระชับ มีการนำเอาหลักการของมาตรการ PPP Fast Track มาบัญญัติไว้ในขั้นตอนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน คณะกรรมการ PPP สามารถกำหนดกรอบระยะเวลาเร่งรัดการจัดทำและดำเนินโครงการร่วมลงทุนได้

4.“Transparency” มีการเปิดเผยข้อมูลและตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน กำหนดหลักเกณฑ์ และขั้นตอนในการจัดทำโครงการร่วมลงทุนที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) ในทุกขั้นตอน ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเปิดเผยสรุปข้อมูลโครงการร่วมลงทุนในรูปแบบที่เข้าใจง่ายต่อสาธารณชน และหน่วยงานตรวจสอบให้ทราบ

นายเอกนิติ กล่าวสรุปว่า เมื่อร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการร่วมลงทุนฯ มีผลใช้บังคับ จะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะของภาครัฐให้เพิ่มขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จากการมีโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพและทั่วถึง โดยการใช้ความรู้ ความสามารถ และนวัตกรรมของเอกชน ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะที่จำเป็นได้อย่างทั่วถึง สะดวกสบาย และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนต่อไป

People unity news online : post 7 เมษายน 2561 เวลา 14.00 น.

คสช.ออกคำสั่ง ม.44 ให้คนไม่ได้เป็นข้าราชการเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยและราชภัฎได้

People unity news online :  เมื่อวาน (28 มีนาคม 2560) ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยว่า ที่ประชุม คสช. ได้มีการพิจารณาคำสั่ง คสช. เรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา อธิการบดีของมหาวิทยาลัย และราชภัฎต่างๆ จะมีระเบียบหลักเกณฑ์ และกฎหมายของตนเองในการดำเนินการ ว่าสามารถที่จะเลือกบุคคลใดก็ได้ที่มีคุณสมบัติมาทำหน้าที่ดังกล่าว โดยไม่จำเป็นว่าต้องเป็นข้าราชการที่ยังไม่เกษียณอายุ แต่กฎระเบียบนี้ไปขัดกับกฎหมายกลางในเรื่องของระเบียบข้าราชการครู ซึ่งอธิการบดีจะต้องเป็นข้าราชการ ดังนั้น คนที่ไม่ได้เป็นข้าราชการในกฎหมายกลางฉบับดังกล่าวจึงไม่สามารถทำหน้าที่เป็นอธิการบดีได้ โดยวันนี้ ที่ประชุม คสช. ได้มีคำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 เพื่อเปิดโอกาสสำหรับคนที่ไม่ได้เป็นข้าราชการและเป็นข้าราชการสามารถที่ทำหน้าที่เป็นอธิการบดีได้ จากเดิมที่ตำแหน่งอธิการบดีต้องเป็นข้าราชการเท่านั้น การเปิดโอกาสดังกล่าวจะทำให้สามารถเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถได้มากยิ่งขึ้น

People unity news online : post 28 มีนาคม 2560 เวลา 11.03 น.

ประยุทธ์ ประกาศการเป็นเจ้าภาพเอเปคปี 65 จะเป็นการขับเคลื่อนฟื้นประเทศจากโควิดไปสู่อนาคต

People Unity News : ประยุทธ์ ประกาศการเป็นเจ้าภาพเอเปคปี 65 สร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง พลิกฟื้นประเทศสู่อนาคต

13 พ.ย.64 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวถ้อยแถลงการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี 2565 ภายหลังการรับมอบตำแหน่งจากนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ว่า

“โอกาสที่ไทยได้รับตำแหน่งเจ้าภาพเอเปค ในปี 2565 จะเป็นการขับเคลื่อนการฟื้นประเทศจากโควิดไปสู่อนาคต พลิกวิกฤตเป็นโอกาสในการเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกยุคหลังโควิดที่ยั่งยืน สมดุล และทุกคนมีส่วนร่วม ผ่านแนวคิดเศรษฐกิจ BCG”

ทั้งนี้ หัวข้อหลักของการประชุมเอเปค ปี 2565 คือ “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” ซึ่งมี 3 ประเด็นสำคัญ คือ 1.การส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม 2.การอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน 3.การฟื้นฟูความเชื่อมโยง โดยเฉพาะการเดินทาง และท่องเที่ยว เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด

จึงขอเชิญชวนให้คนไทยทุกคนร่วมเป็นเจ้าภาพ และรัฐบาลจะทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถ เพื่อให้การเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ประสบความสำเร็จ สร้างประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องประชาชนและลูกหลานในอนาคตต่อไป

Advertising

ชูพัฒนาภาคใต้เป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก-ศูนย์กลางผลิตภัณฑ์ยางและปาล์มน้ำมัน

People unity news online : นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย และกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน

วันนี้ (21 สิงหาคม 2561) เวลา 09.10 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 4 อาคารวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี สงขลา) และกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง สตูล) ร่วมกับคณะรัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนภาคเอกชน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้แทนเกษตรกร ทั้งนี้ เพื่อให้การพัฒนาสอดคล้องกับเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ในการเป็นเมืองท่องเที่ยวพักผ่อนตากอากาศระดับโลก และเป็นศูนย์กลางผลิตภัณฑ์ยางพาราและปาล์มน้ำมันของประเทศ รวมถึงเป็นเมืองเศรษฐกิจเชื่อมโยงการค้า การลงทุนกับภูมิภาคอื่นของโลก โดยที่ประชุมเห็นชอบตามข้อเสนอการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ ดังนี้

1.ด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ สนับสนุนด้านอุตสาหกรรม การค้า การลงทุน และการค้าชายแดน ที่ประชุมเห็นชอบสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศที่สำคัญเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยง รวมถึงเพื่อพัฒนาโครงข่ายเส้นทางเพื่อเชื่อมต่อในเชิงพื้นที่แนวตะวันตก – ตะวันออก และแนวเหนือใต้ โดยนายกรัฐมนตรีสั่งการให้จัดแผนงานโครงการให้ชัดเจน คำนึงถึงความคุ้มค่าการใช้จ่ายงบประมาณ และผลประโยชน์ที่จะได้รับเป็นหลัก รวมถึงให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาของรัฐบาล

2.ด้านการท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวของภาคใต้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพชั้นนำของโลก โดยกำหนดให้มีการยกระดับคุณภาพบริการ และส่งเสริมธุรกิจต่อเนื่องในแหล่งท่องเที่ยว คำนึงถึงความสามารถในการรองรับของพื้นที่อย่างยั่งยืน ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการพัฒนา ได้แก่

2.1 การพัฒนาศักยภาพการรักษาความปลอดภัยในเมืองท่องเที่ยวหลัก โดยใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมทั้งทางบกและทางน้ำ 2.2 การพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยว โครงการยกระดับพัฒนาแหล่งสปาวารีบำบัดน้ำพุร้อน พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวสุขภาพให้มีคุณภาพมาตรฐาน และเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวสุขภาพในภาคใต้ฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย 2.3 วางแผนศึกษาพัฒนาเส้นทางเพื่อการท่องเที่ยว เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวทะเลสาบสงขลา นครศรีธรรมราช – พัทลุง – สงขลา และปรับปรุงภูมิทัศน์ในส่วนที่ไม่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้บูรณาการทำงานขับเคลื่อนไม่ว่าจะเป็นการรักษาความปลอดภัย กำหนดจุดให้ชัดเจน มีแผนเตรียมการรองรับสถานการณ์ พร้อมกับให้ช่วยกันดูแลเรื่องความสะอาดของสถานที่ท่องเที่ยว โดยเฉพาะเรื่องขยะต้องมีการบริหารจัดการให้ดี

3.ด้านการยกระดับการผลิตสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้เป็นฐานเศรษฐกิจที่สร้างรายได้อย่างยั่งยืน พัฒนาเขตอุตสาหกรรมโอเลโอเคมีจากปาล์มน้ำมันแบบครบวงจร เพื่อให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของภาค ประกอบกับศักยภาพทางด้านการเกษตรที่ค่อนข้างสูงในพื้นที่กลุ่มจังหวัด ที่ประชุมเห็นชอบตามที่เสนอ ดังนี้

3.1 จัดตั้ง Oil Palm City (สุราษฎร์ธานี) 3.2 สนับสนุนการทำเกษตรแบบผสมผสานหรือ “วนเกษตร” ในส่วนยางพาราและส่วนปาล์มน้ำมัน 3.3 พัฒนาฟาร์มต้นแบบที่มีความแม่นยำสูง เพื่อส่งเสริมศักยภาพการผลิตทางการเกษตร 3.4 ส่งเสริมให้เป็นเมืองนวัตกรรมและการออกแบบไม้ยางพาราเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและการจัดทำมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และรองรับ Industry 4.0 3.5 ส่งเสริมและการพัฒนางานวิจัยทางด้านยาง ปาล์ม พืชผักสมุนไพร ปศุสัตว์ และประมง เพื่อรองรับ Agro – Bio – Economy รวมทั้งสนับสนุนการผลิตอาหารปลอดภัยเพื่อการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพระดับโลก 3.6 การจัดตั้งโรงงานต้นแบบสินค้าการเกษตร 4.0 แบบครบวงจร เพื่อยกระดับเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ คลัสเตอร์อุตสาหกรรมเกษตร 3.7 การส่งเสริมการทำระบบแก๊สชีวภาพและชีวมวลจากกระบวนการผลิตปาล์มและยางพารา เพื่อเป็นพลังงานทดแทนในระบบอุตสาหกรรมและตามแนวประชารัฐ 3.8 การจัดตั้งศูนย์ยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนตามแนวประชารัฐและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนทางการเกษตร และ 3.9  การพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลด้านการเกษตร สินค้าและบริการภาคใต้ โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ขับเคลื่อนให้ได้โดยเร็ว สร้างกลไกทางการเกษตร กำหนดพื้นที่เพาะปลูก มีการปลูกพืชเสริมพืชหลัก รวมถึงการรวมกลุ่มทำเกษตรแปลงใหญ่ นำข้อมูลบิ๊กดาต้ามาใช้ประโยชน์ ใช้ข้อมูลแต่ละหน่วยงานมาวิเคราะห์ รวบรวมเป็นข้อมูลนำมาตัดสินใจ เพื่อจะได้ส่งเสริมการทำเกษตรให้ตรงจุด

4.ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่ประชุมเห็นชอบสนับสนุนส่งเสริมให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ โดยเร่งรัดก่อสร้างโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เร่งรัดการพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีระดับภาคใต้ตอนบน และเร่งรัดการเพิ่มประสิทธิภาพด้านเครื่องมือการรักษาพยาบาลและคุณภาพด้านการบริหารของโรงพยาบาลมหาราช นครศรีธรรมราช รวมทั้งส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนในพื้นที่กลุ่มจังหวัด โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขรับไปพิจารณาเรื่องงบประมาณ

5.ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ประชุมได้กำหนดแนวทางการพัฒนา ดังนี้

5.1 การขุดลอกร่องน้ำชายฝั่งทะเลเพื่อเพิ่มศักยภาพ 5.2 การบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัย ประกอบด้วย ขอรับการสนับสนุนศึกษาและออกแบบแนวทางการป้องกันปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งภาคใต้แบบครบวงจร รวมถึงการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรในเขตพื้นที่จังหวัดพังงา และจังหวัดระนอง โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินตามแผนงาน และให้พิจารณาดำเนินการตามความเร่งด่วน ตรงความต้องการของประชาชน

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวมอบนโยบายตอนหนึ่งว่า การลงพื้นที่ประชุม ครม. ครั้งนี้ไม่ใช่มาเพื่อแจกเงินหรือแจกงบประมาณ แต่มาเพื่อทำให้เกิดความเชื่อมโยงในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว ท่าเรือ และสนามบินให้เกิดห่วงโซ่มูลค่า สร้างรายได้ในพื้นที่ต่างๆมากขึ้น รวมถึงเพื่อมารับฟังข้อเสนอแนะและปรับแผนการทำงานให้ตรงกัน โดยเน้นการทำงานแบบบูรณาการ ซึ่งการใช้งบประมาณต้องคุ้มค่า ลดความซ้ำซ้อน ตรงตามความต้องการของประชาชนมากที่สุด พร้อมกับสั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่ลงทะเบียนแหล่งที่มาของพืชการเกษตรหลัก เพื่อบ่งบอกถึงแหล่งการเพาะปลูกพืชการเกษตร เพราะต่างชาติให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว หากไม่พบแหล่งที่มาของพืชการเกษตรหรือปลูกในพื้นที่ผิดกฎหมาย จะไม่มีการซื้อสินค้าเกษตรดังกล่าว พร้อมกับสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสร้างความเข้าใจให้ประชาชนในจังหวัดรับรู้ข้อมูลที่มีความถูกต้อง ผ่านช่องทางต่างๆอย่างบูรณาการ พร้อมกับสร้างการเรียนรู้ให้กับประชาชน และทำประชาธิปไตยไม่ให้เป็นประชานิยม จะต้องเป็นประชาธิปไตยที่มาจากความยินยอมของประชาชน โดยการประชุมในวันนี้ที่ต้องใช้เวลามากกว่าปกติเพราะต้องการทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วน เพื่อให้มีความเข้าใจที่ตรงกัน นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ

People unity news online : post 21 สิงหาคม 2561 เวลา 13.10 น.

รัฐบาลชวนคนไทยที่ไปต่างประเทศ โหลดแอปฯ “Thai consular”

People Unity News : 2 ตุลาคม 65 รัฐบาลชวนโหลดแอปฯ “Thai consular” สำหรับคนไทยที่เดินทางไปต่างแดน เพื่อความอุ่นใจ ได้รับคุ้มครองดูแลรวดเร็ว ย้ำรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์” มุ่งปรับบริการรัฐสู่ดิจิทัล ให้เข้าถึงง่ายใช้สะดวก

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ที่วิกฤติ การแพร่ระบาดของโควิดเริ่มคลี่คลาย ทำให้ประเทศต่างๆ ผ่อนคลายมาตรการในการเข้าประเทศ ส่งผลให้ประชาชนมีการเดินทางออกนอกประเทศ เพื่อติดต่อธุรกิจ การศึกษาและการท่องเที่ยว ทั้งนี้รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนเพื่ออำนวยความสะดวกและดูแลช่วยเหลือประชาชนที่เดินทางไปในต่างแดนให้ได้รับความปลอดภัยอย่างทั่วถึง จึงขอเชิญชวนให้โหลด แอปพลิเคชัน Thai consular ก่อนหรือระหว่างเดินทางไปต่างประเทศ

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ทั้งนี้แอปพลิเคชัน Thai consular เป็นแอปพลิเคชัน ที่ให้ข้อมูลด้านการบริการต่างๆ ของกรมการกงสุล เช่น บริการด้านหนังสือเดินทาง บริการออกเอกสารตรวจลงตรา (VISA) บริการด้านสัญชาติและนิติกร การคุ้มครองคนไทยในต่างประเทศ ศูนย์ประสานการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า หากมีปัญหาต้องการความช่วยเหลือ แอปพลิเคชันดังกล่าวมีปุ่ม SOS ให้กดขอความช่วยเหลือได้ ไม่ว่าจะเป็นกรณี เจ็บป่วยร้ายแรง อุบัติเหตุร้ายแรง ภัยพิบัติ ก่อการร้าย เป็นต้น โดยสามารถแชทข้อความได้ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมข่าวสารต่างประเทศที่น่าสนใจ

สำหรับขั้นตอนการใช้ง่ายๆ เพียงโหลดแอปพลิเคชัน จาก App Store หรือ google play จากนั้นลงทะเบียนเข้าสู่ระบบก็สามารถใช้งานได้ในทันที

“ซึ่งแอปนี้ถือเป็นความห่วงใยจากรัฐบาลไทย ที่จะดูแลและเคียงข้างพี่น้องประชาชนในทุกสถานการณ์ เพื่อความอบอุ่นใจ แม้อยู่ไกลบ้าน ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าการพัฒนาแอปพลิเคชันต่างๆ รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ของรัฐบาลที่ผ่านมา ก็เพื่อสอดรับกับนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีนโยบายเปลี่ยนไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลให้เร็วขึ้น เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงง่ายและใช้สะดวก” น.ส. ทิพานัน กล่าว

Advertisement

รัฐบาลเดินหน้าจัดหาที่ทำกินให้ ปชช.

People Unity News : 10 กุมภาพันธ์ 2566 “พล.อ.ประวิตร” พอใจ สคทช.จัดที่ดินทำกินให้ประชาชนเป็นรูปธรรมกว่า 7 หมื่นรายใน 70 จังหวัด ย้ำรัฐบาลมุ่งหน้ากระจายการถือครอง เข้าถึงประโยชน์ที่ดิน เพื่อความยั่งยืน

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการสัมมนา “สานพลังยกระดับการขับเคลื่อนการบริหารจัดการที่ดิน”  ในโอกาสครบรอบ 2 ปี วันสถาปนา สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ณ ห้องแกรนด์ไดมอนด์บอลรูม อิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี โดย พล.อ. ประวิตร กล่าวว่า สคทช. เป็นองค์กรที่มีภารกิจสำคัญด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ที่จะบูรณาการทุกภาคส่วน ทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชน และชุมชน เพื่อให้การบริหารจัดการที่ดิน และทรัพยากรดินของประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัด มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด สมดุลย์ เป็นธรรม และยั่งยืน

“ที่สำคัญรัฐบาลเน้นแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน และลดความเหลื่อมล้ำในสังคมให้กับประชาชนได้มีสิทธิ์ทำกิน และอยู่อาศัยในที่ดินของรัฐอย่างถูกต้องตามกฏหมาย เน้นกระจายการถือครองและการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐ ผ่านการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ในลักษณะแปลงรวม ให้ความมั่นใจในการประกอบอาชีพ สร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิต ภายใต้การดำเนินการของ สคทช.” พล.อ.ประวิตร กล่าว

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า พอใจการขับเคลื่อนแก้ปัญหาจัดการที่ดิน และขอบคุณ สคทช.ที่ขับเคลื่อนแก้ปัญหาที่ดินให้มีความก้าวหน้า เป็นรูปธรรมมาเป็นลำดับ ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน เข้าถึงพื้นที่เป้าหมายไปแล้ว จำนวน 1,491 พื้นที่ เนื้อที่ประมาณ 5.7 ล้านไร่ ครอบคลุม 70 จังหวัด และจัดคนเข้าใช้ประโยชน์ ให้ได้มีที่อยู่อาศัย มีที่ดินทำกิน เลี้ยงชีพได้แล้ว จำนวน 78,109 ราย

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ขอให้เร่งยกระดับการขับเคลื่อนแก้ปัญหาในเรื่องสำคัญ ทั้งการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 หรือ One Map การขับเคลื่อนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย การแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐหรือการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทเรื่องแนวเขตที่ดินระหว่างหน่วยงานของรัฐกับประชาชน  การเข้าถึงแหล่งทุนสำหรับการประกอบอาชีพ เพื่อยกระดับรายได้ สามารถพึ่งพาตนเอง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าว จำเป็นต้องสานพลังความร่วมมือกันด้วยความเข้าใจและการมีส่วนร่วมเป็นสำคัญ

“รัฐบาลจะทำต่อไป จะกระจายการแก้ปัญหาที่ดินอย่างสมดุล เป็นกลางด้วยการบูรณาการร่วมกัน ที่เน้นสานความยั่งยืนบนฐานข้อมูลเดียวกันให้ครอบคลุมทุก จว. เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในการแก้ปัญหาที่ดินทำกินให้กับผู้ไม่มีที่ดินทำกินไปพร้อมกัน” พล.อ.ประวิตร กล่าว

Advertisement

ลดขั้นตอนขออนุญาตจากราชการ

People Unity News : 29 พฤศจิกายน 2565 โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯกำชับหน่วยราชการเตรียมพร้อมรองรับก้าวเข้าสู่บริการภาครัฐแบบดิจิตอล หวังลดขั้นตอนการขออนุญาต อำนวยความสะดวก ปชช.ไม่ต้องไปถึงสถานที่ราชการ

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ขอให้ส่วนราชการหาแนวทางลดขั้นตอน การขออนุมัติและขออนุญาต ที่ควรจะใช้ระยะเวลาที่สั้นลง โดยหาแนวทางลดขั้นตอนต่างๆ ให้สอดคล้องกับการก้าวเข้าสู่การบริการภาครัฐแบบดิจิตอล ซึ่งพระราชบัญญัติปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์

“เรื่องดังกล่าวประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วและจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 ม.ค.66 ซึ่งในอนาคตการติดต่อราชการทุกแห่งสามารถทำได้ในระบบออนไลน์ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปทำธุรกรรมด้วยตนเอง แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ยังต้องไปทำด้วยตัวเอง ทั้งนี้ รัฐบาลยังคงต้องอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และสามารถขอรับบริการเอกสารได้ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ จึงขอให้หน่วยงานราชการดำเนินการและปรับตัว เพื่อเตรียมรองรับในเรื่องดังกล่าวในอนาคตด้วย” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

Advertisement

Verified by ExactMetrics