วันที่ 29 เมษายน 2024

รัฐบาลมุ่งสนับสนุนปลูกไม้มีค่า เพิ่มพื้นที่ป่า 26 ล้านไร่ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ

People unity news online : นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมการปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ ณ สวนป่าเกษตรห้วยแสนคำ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ มอบกล้าไม้ให้แก่เครือข่ายชุมชน เน้นย้ำการเพิ่มพื้นที่ป่า สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมความเข้มแข็งให้ชุมชน ประชาชนพึ่งตนเองได้และเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

วันนี้ (17 กันยายน 2561) เวลา 16.20 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เยี่ยมชมการปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจและการประเมินมูลค่าไม้มีค่า อาทิ ต้นสักทอง ต้นมะฮอกกานี ต้นประดู่ ต้นมะขาม ต้นประคำดีควาย เป็นต้น ณ สวนป่าเกษตรห้วยแสนคำ เลขที่ 309 หมู่ 7 ตำบลบ้านหวาย อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมีนายวรพจน์ แววศรีงาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมด้วยนายชัยศักดิ์ เกศามูล เกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพปลูกสวนป่า ระดับจังหวัดเพชรบูรณ์ ประจำปี 2556 และเกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพปลูกสร้างสวนป่า ระดับภาคเหนือ ปี พ.ศ. 2557 ให้การต้อนรับ และนำเยี่ยมชมพื้นที่ภายในบริเวณสวนป่า ชมการสาธิตการวัดเส้นรอบวงต้นไม้ การประเมินราคาไม้มีค่า และการเพาะชำกล้าไม้ พร้อมรับฟังการบรรยายภาพรวมของการขยายผลการขับเคลื่อนโครงการชุมชนไม้มีค่า และการสร้างความยั่งยืนด้วยการวิจัยและนวัตกรรม ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยกรมป่าไม้นำเสนอการคัดเลือกพันธุ์ไม้ กล้าไม้ และคัดกรองพื้นที่ในการปลูกไม้มีค่า สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) (สพภ.) นำเสนอความหลากหลายทางชีวภาพในการพัฒนาสวนป่าไม้มีค่า และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นำเสนอการประเมินมูลค่าไม้มีค่าและกลไกการใช้ไม้มีค่าเพื่อเป็นหลักประกันทางเศรษฐกิจ

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีมอบกล้าไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ อาทิ สัก ยางนา ตะเคียน และมะค่าโมง เป็นต้น ให้แก่ตัวแทนเครือข่ายชุมชนปลูกไม้สวนป่า พร้อมพบปะพูดคุยและมอบนโยบายในโครงการ “ชุมชนไม้มีค่า เพื่อเกษตรกรไทย” ตอนหนึ่งว่า โครงการชุมชนไม้มีค่าเป็นโครงการสำคัญที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน โดยรัฐบาลมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกไม้มีค่า อันจะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นการเก็บออม และสร้างอาชีพที่มั่นคง ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ดีขึ้น ชุมชนมีความเข้มแข็งและเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเองได้ รัฐบาลจึงสนับสนุนการขยายผลโครงการชุมชนไม้มีค่าโดยการผลักดันกฎหมายและมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้มีการปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้เพิ่มขึ้น มีการเร่งรัดขยายผลการดำเนินโครงการอย่างเป็นรูปธรรม สนับสนุนให้มีการเพาะพันธุ์ ขยายพันธุ์ปลูก และแปรรูป รวมทั้งการส่งเสริมการใช้งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืน

สำหรับโครงการชุมชนไม้มีค่า เป็นหนึ่งในความมุ่งมั่นของรัฐบาลเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมให้ปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจในที่ดินกรรมสิทธิ์ หรือที่ดินที่มีสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น โดยขณะนี้มีการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อสนับสนุนและผลักดันอย่างเร่งด่วน อันจะก่อให้เกิดชุมชนไม้มีค่าเพื่อเกษตรกรทั่วประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายการขยายผลโครงการเพื่อให้ประชาชนเข้าใจถึงความสำคัญและประโยชน์ของการปลูก โดยมอบหมายให้ วช. กรมป่าไม้ สพภ. และ ธ.ก.ส. เป็นหน่วยงานหลักบูรณาการการดำเนินการ โดย วช. ทำหน้าที่ขับเคลื่อนโครงการชุมชนไม้มีค่าโดยนำองค์ความรู้ด้านการวิจัยและนวัตกรรมที่มีอยู่ พร้อมทั้งให้มีการทำวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปรับปรุงพันธุ์ไม้มีค่าให้มีลักษณะเฉพาะที่สามารถตรวจสอบได้ รวมทั้งสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมเรื่องต่างๆ  กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการจัดทำ ปรับปรุง แก้ไข และบริการวิชาการเรื่องพระราชบัญญัติ กฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับเกี่ยวกับการปลูกและการตัดไม้ รวมทั้งสนับสนุนการคัดเลือก เพาะพันธุ์ไม้ และการขยายพันธุ์ไม้มีค่า สพภ. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งจัดทำเกณฑ์มาตรฐาน การประเมินมูลค่าไม้ โดยพัฒนาจากโครงการที่ดำเนินการอยู่เดิม  และ ธ.ก.ส.ดำเนินการจัดทำรายละเอียด เกณฑ์มาตรฐานการประเมินมูลค่าไม้ และเรื่องการใช้ต้นไม้เป็นหลักประกัน รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการขับเคลื่อนการดำเนินงาน และเตรียมกลไกผลักดันอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เกิดการสนองผลตามนโยบายกลไกประชารัฐและไทยนิยมยั่งยืน อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน

โดยมีเป้าหมายให้เกิดชุมชนไม้มีค่า 20,000 ชุมชน ภายใน 10 ปี มีผลต่อประชาชน 2.6 ล้านครัวเรือน ครัวเรือนละ 400 ต้น รวมจำนวน 1,040 ล้านต้น พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น 26 ล้านไร่ เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 10,400 ล้านบาทต่อปี มีกฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการผลักดันโครงการชุมชนไม้มีค่า เพื่อนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ของชาติตั้งแต่ฐานราก อันจะเป็นการสร้างอาชีพที่มั่นคง ซึ่งส่งผลให้คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้น เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน  มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ นอกจากนี้ การปลูกไม้มีค่ายังสามารถเป็นเงินออม ทรัพย์สิน หลักทรัพย์ หรือใช้เป็นหลักประกันได้ ทั้งยังช่วยให้สภาพแวดล้อมดีขึ้น ฟื้นฟูความสมดุลของระบบนิเวศในชุมชน ท้องถิ่น ให้กลับคืนสู่สภาพที่ใกล้เคียงธรรมชาติ สร้างอากาศที่ดี รวมทั้งเป็นการเพิ่มปริมาณต้นไม้และพื้นที่ป่าอันเป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญของการพัฒนาประเทศ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามแนวทางไทยนิยมของรัฐบาลที่มุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนส่วนใหญ่เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า ให้ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ในระยะยาว

People unity news online : post 17 กันยายน 2561 เวลา 20.40 น.

“พล.อ.ประวิตร” ยันจะไม่ให้มีพื้นที่ภัยแล้งในอีสานอีก

People Unity News : 24 กุมภาพันธ์ 2566 “พล.อ.ประวิตร” ลงพื้นที่อุดรฯ-หนองคาย-เลย กำชับบูรณาการบริหารจัดการน้ำ 10 มาตรการฤดูแล้งให้เข้มงวด ยันจะไม่ให้มีพื้นที่ภัยแล้งในอีสานอีก

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ พร้อมคณะ ตรวจราชการในพื้นที่ จ.อุดรธานี จ.หนองคาย และ จ.เลย เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม ในพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด

โดยช่วงเช้า พล.อ.ประวิตร และคณะ ไปที่โรงเรียนภูพานวิทยา ต.ขอนยูง อ.กุดจับ จ.อุดรธานี รับฟังการบรรยายสรุปภาพรวมการบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่ที่พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือและลุ่มน้ำชี ซึ่งรัฐบาลให้การสนับสนุนโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ โครงการปี 61-65 ประชาชนได้รับประโยชน์ 55,586 ครัวเรือน จากงบกลางปี 65 ได้รับประโยชน์ 1,045 ครัวเรือน งบบูรณาการฯ ปี 66 จะได้รับประโยชน์ 6,955 ครัวเรือน งบตามแผนปฏิบัติการปี 67 ประชาชนจะได้รับประโยชน์ 53,175 ครัวเรือน และโครงการสำคัญอีก 6 แห่ง ประชาชนจะได้รับประโยชน์ 43,500 ครัวเรือน

พล.อ.ประวิตร มอบนโยบายเร่งบูรณาการบริหารจัดการน้ำให้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะ 10 มาตรการฤดูแล้ง ให้เข้มงวดตามนโยบาย พร้อมเร่งรัดโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเชียง (ตอนบน) เพื่อช่วยยกระดับความมั่นคงด้านน้ำ ให้ชาวบ้านและเกษตรกรมีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดปีอย่างยั่งยืน

พล.อ.ประวิตร พบปะพร้อมรับฟังข้อคิดเห็นจากพี่น้องประชาชนที่มาให้การต้อนรับจำนวนมากอย่างใกล้ชิด ด้วยบรรยากาศที่เป็นกันเอง พร้อมขอถ่ายรูปเซลฟี่กับ พล.อ.ประวิตร เป็นที่ระลึก สร้างความประทับใจให้ชาวบ้านที่มาร่วมกิจกรรม ชูป้ายให้กำลังใจ พล.อ.ประวิตร และสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีของคนอีสาน ซึ่งพล.อ.ประวิตร ยืนยันกับชาวบ้านว่าจะไม่ให้มีพื้นที่ประสบภัยแล้งในอีสานอีกต่อไป

Advertisement

“ประยุทธ์” เปิดหลักสูตร วปอ.รุ่น 63 แนะนักศึกษาแลกเปลี่ยนประสบการณ์สร้างองค์ความรู้ใหม่

People Unity News : นายกฯ เปิดหลักสูตร วปอ. รุ่น 63 แนะนักศึกษาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ สร้างองค์ความรู้ใหม่ ร่วมขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

วันนี้ (5 พ.ย.2563)  นายอนุชา บูรพชัยศรี  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเปิดการศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 63  พร้อมบรรยายเรื่อง “บทบาทของภาครัฐ เอกชน และการเมืองในการรักษาความมั่งคงแห่งชาติ” ให้ผู้เข้ารับการศึกษา ประกอบด้วยข้าราชการทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน พนักงานรัฐวิสาหกิจและองค์กรอิสระ ภาคเอกชน นักธุรกิจและบุคคลทั่วไป จำนวน 285 คน ณ หอประชุมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ

โดยนายกรัฐมนตรีแนะนำให้นักศึกษานำความรู้ ความสามารถและประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความมั่นคงมั่งคั่งและยั่งยืน พร้อมย้ำให้ทุกคนตระหนักและทบทวนทำความเข้าใจบริบทโลกในปัจจุบันให้ลึกซึ้ง ทั้งความเจริญทางเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดกระแสโลกาภิวัตน์ การเคลื่อนย้ายคนและทุนอย่างเสรี ข่าวสารและเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชน การแข่งขันทางเศรษฐกิจนำมาซึ่งศูนย์รวมอำนาจทางเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาค ส่งผลให้มีการแย่งชิงทรัพยากรและแรงงานที่อาจเป็นชนวนความขัดแย้งได้ รวมไปถึงภาวะโลกร้อนและภูมิอากาศที่ผันผวนทำให้เกิดภัยพิบัติที่มีความรุนแรงมาก และปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคม การละเมิดสิทธิมนุษยชน การค้ามนุษย์ อาชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติด รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับ Digital Disruption ก่อให้เกิด Fake news การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคต และโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่ระบาดในมนุษย์ได้แก่ covid-19 เป็นต้น เป็นความท้าทายที่อาจก่อให้เกิดปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่คือ “ความมั่นคงแบบองค์รวม” ซึ่งมีความซับซ้อนเชื่อมโยงมิติความมั่นคงกับเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมจนเป็นเนื้อเดียวกัน จึงขอให้นักศึกษา ใช้เวทีนี้ช่วยกันคิดหาแนวทางป้องกันและแก้ไข เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศด้วยแผนการปฏิบัติที่สามารถปฏิบัติได้จริง โดยยึดประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นที่ตั้ง  รวมทั้งขอให้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ประยุกต์ ในการทำงานและการดำรงชีวิตให้เหมาะสมกับศักยภาพของแต่ละบุคคล

นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงหลักคิดในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนปฏิรูปประเทศ เพื่อเป็นเข็มทิศนำทางในการขับเคลื่อนประเทศให้บรรลุตามวิสัยทัศน์ประเทศไทย ให้มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนา ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยประเทศไทยจะยังคงยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และพันธกรณีและกติกาของสังคมโลก สร้างความสมดุลระหว่างความมั่นคงทางเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยการบูรณาการพลังทางสังคมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ประชาสังคม ภาคเอกชน ภาคการเมือง ภาควิชาการสื่อสารมวลชนภายใต้แนวทาง ” รวมไทยสร้างชาติ”

Advertising

ข่าวดี! กรมที่ดินประกาศพื้นที่สำนักงานที่ดินอิเล็กทรอนิกส์ใน 15 จังหวัด

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 17 มีนาคม 2567 ทำเนียบ – โฆษกรัฐบาลเผยข่าวดี กรมที่ดินประกาศพื้นที่สำนักงานที่ดินอิเล็กทรอนิกส์ใน 15 จังหวัด ประชาชนสามารถจดทะเบียนนิติกรรมออนไลน์จังหวัดไหนก็ได้ใน 15 จังหวัดนี้ ตั้งเป้าทั่วทั้งประเทศในอนาคต

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน โดยกรมที่ดินประกาศพื้นที่สำนักงานที่ดินอิเล็กทรอนิกส์ใน 15 จังหวัด สามารถจดทะเบียนนิติกรรมออนไลน์ระหว่างกันได้สะดวก ลดเวลา ลดการเดินทาง ตอบโจทย์ E-Government

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรมที่ดินจัดทำสำนักงานที่ดินอิเล็กทรอนิกส์ สามารถรถจดทะเบียนที่ดินต่างสำนักงานแบบออนไลน์ได้แล้วใน 15 จังหวัด 102 สำนักงาน ได้แก่ ภาคเหนือ เชียงใหม่, ภาคตะวันตก เพชรบุรี, ภาคใต้ สงขลา, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หนองคาย บึงกาฬ ขอนแก่น อุบลราชธานี และภาคกลาง กรุงเทพฯ นครปฐม ปทุมธานี นครนายก นนทบุรี สิงห์บุรี สมุทรปราการ และฉะเชิงเทรา

ประชาชนสามารถยื่นคำขอจดทะเบียนนิติกรรมที่จังหวัดใดก็ได้ เสมือนไปยื่นคำขอที่สำนักงานที่ดินที่ที่ดินตั้งอยู่ เช่น หากจะซื้อที่ดินที่ตั้งอยู่จังหวัดเชียงใหม่ ผู้ซื้อกับผู้ขายสามารถยื่นคำขอซื้อขายที่ดินที่จังหวัดสงขลา กรุงเทพฯ หรือบึงกาฬ จังหวัดใดจังหวัดหนึ่งใน 15 จังหวัดก็ได้ เจ้าพนักงานที่ดินสามารถจดทะเบียนแบบออนไลน์แล้วเสร็จภายใน 1 วันทำการ

“รัฐบาลตั้งใจพัฒนาแนวทางการทำงานเพื่อเพิ่มความสะดวกแก่ประชาชน นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาปรับปรุงการทำงาน เพื่อลดเวลา ลดการเดินทางของประชาชน โดยตั้งเป้าขยายสำนักงานอิเล็กทรอนิกส์ทั่วประเทศในอนาคต ตามแนวทางพัฒนา E-Goverment ของรัฐบาล” นายชัย กล่าว

Advertisement

 

รมว.ศึกษาฯเผย 2 มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก เตรียมเปิดสอนในไทย

People unity news online : รมว.ศึกษาธิการ เผยมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก 2 แห่ง “คาร์เนกีเมลลอน” จากสหรัฐอเมริกา และ “มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน” เตรียมเปิดการเรียนการสอนในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2560 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน (Carnegie Mellon University) จากสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงติดอันดับต้นๆของโลก อาจมีขนาดไม่ใหญ่ แต่มีชื่อเสียงเป็นอันดับหนึ่งทางด้าน Robotics และอันดับสองด้าน Computer Science จะเข้ามาเปิดการเรียนการสอนในประเทศไทย ซึ่งจากการได้ไปพบปะกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยดังกล่าวเมื่อเร็วๆนี้ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนยืนยันถึงความประสงค์ดังกล่าว เนื่องจากมีความสัมพันธ์กับนักเรียนไทย ประกอบกับคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 29/2560 เรื่อง การส่งเสริมการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2560 ทำให้การบริหารจัดการมีความคล่องตัว ไม่ต้องขึ้นกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) หรือพระราชบัญญัติการอุดมศึกษาฯ

โดยจะเปิดการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2561 ซึ่งในปีแรกนี้จะเปิดรับนักศึกษาระดับปริญญาเอก จำนวน 3 คน ระดับปริญญาตรี จำนวน 10 คน และในปีต่อไปจะเปิดรับระดับปริญญาเอก 10 คน ระดับปริญญาโท 25 คน และจะค่อยเพิ่มจำนวนขึ้นต่อไป โดยนำหลักเกณฑ์การรับนักศึกษา ระบบการเรียนการสอน และการประเมินคุณภาพของมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนทั้งหมด ทั้งนี้ เมื่อเรียนจบนักศึกษาจะได้รับปริญญาจากมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ซึ่งเป็นปริญญาที่มีศักดิศรีเทียบเท่ากับที่คาร์เนกีเมลลอนมอบให้นักศึกษาของตนในสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นจะร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในการใช้สถานที่และอาจารย์ร่วมกัน โดยอาจารย์ของไทยที่จะสอนนั้นต้องไปร่วมสอนในมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งต้องได้ใบรับรองก่อนจึงจะสามารถสอนได้

ทั้งนี้ คาดว่าภายในเดือนนี้ จะนำข้อเสนอหลักเกณฑ์การจัดตั้งมหาวิทยาลัยต่างชาติที่มีศักยภาพสูงในประเทศไทย เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบต่อไป

อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยในประเทศไทยไม่ต้องกังวลว่าจะมาเปิดแข่ง เนื่องจากเป็นสาขาวิชาที่ประเทศไทยยังไม่เปิดสอน ซึ่งการเปิดการเรียนการสอนในสาขาดังกล่าว มีภาคเอกชนรายใหญ่หลายรายพร้อมสนับสนุนด้วย เนื่องจากเป็นสาขาที่เป็นนวัตกรรมชั้นสูง ตอบโจทย์การผลิตและพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยได้ นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan University : NTU) สนใจที่จะมาเปิดการเรียนการสอนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่เมืองการศึกษาอมตะนคร จ.ชลบุรี

นพ.ธีระเกียรติ กล่าวด้วยว่า มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนมีสาขาหลายประเทศทั่วโลก เช่น ที่ประเทศรวันดา โปรตุเกส กาต้าร์ เหตุที่สนใจมาเปิดที่ประเทศไทยเนื่องจากรักและชื่นชอบนักศึกษาไทย ทั้งนี้มีนักศึกษาไทยที่เคยเรียนในมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน จำนวน 342 คน ถือเป็นโอกาสในการระดมทุนจากอดีตนักศึกษามาสนับสนุนมหาวิทยาลัย ซึ่งในเดือนมกราคม 2561 จะมีการจัดการประชุมครั้งใหญ่สำหรับศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนจากทั่วโลกในประเทศไทย ถือเป็นข่าวดีสำหรับประเทศไทยที่ลูกหลานจะได้เรียนในมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพระดับโลกทั้งสองแห่ง ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องการเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้มีโอกาสเข้าศึกษาในสถานศึกษาที่มีศักยภาพสูงดังกล่าว อันเป็นเครื่องมือและกลไกสำคัญในการผลิตและพัฒนาทรัพยากรบุคคลในสาขาที่เป็นความต้องการของตลาดแรงงาน และมีความสำคัญต่อการรองรับการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน

People unity news online : post 16 ตุลาคม 2560 เวลา 10.10 น.

รัฐบาลชวนคนไทยที่ไปต่างประเทศ โหลดแอปฯ “Thai consular”

People Unity News : 2 ตุลาคม 65 รัฐบาลชวนโหลดแอปฯ “Thai consular” สำหรับคนไทยที่เดินทางไปต่างแดน เพื่อความอุ่นใจ ได้รับคุ้มครองดูแลรวดเร็ว ย้ำรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์” มุ่งปรับบริการรัฐสู่ดิจิทัล ให้เข้าถึงง่ายใช้สะดวก

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ที่วิกฤติ การแพร่ระบาดของโควิดเริ่มคลี่คลาย ทำให้ประเทศต่างๆ ผ่อนคลายมาตรการในการเข้าประเทศ ส่งผลให้ประชาชนมีการเดินทางออกนอกประเทศ เพื่อติดต่อธุรกิจ การศึกษาและการท่องเที่ยว ทั้งนี้รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนเพื่ออำนวยความสะดวกและดูแลช่วยเหลือประชาชนที่เดินทางไปในต่างแดนให้ได้รับความปลอดภัยอย่างทั่วถึง จึงขอเชิญชวนให้โหลด แอปพลิเคชัน Thai consular ก่อนหรือระหว่างเดินทางไปต่างประเทศ

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ทั้งนี้แอปพลิเคชัน Thai consular เป็นแอปพลิเคชัน ที่ให้ข้อมูลด้านการบริการต่างๆ ของกรมการกงสุล เช่น บริการด้านหนังสือเดินทาง บริการออกเอกสารตรวจลงตรา (VISA) บริการด้านสัญชาติและนิติกร การคุ้มครองคนไทยในต่างประเทศ ศูนย์ประสานการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า หากมีปัญหาต้องการความช่วยเหลือ แอปพลิเคชันดังกล่าวมีปุ่ม SOS ให้กดขอความช่วยเหลือได้ ไม่ว่าจะเป็นกรณี เจ็บป่วยร้ายแรง อุบัติเหตุร้ายแรง ภัยพิบัติ ก่อการร้าย เป็นต้น โดยสามารถแชทข้อความได้ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมข่าวสารต่างประเทศที่น่าสนใจ

สำหรับขั้นตอนการใช้ง่ายๆ เพียงโหลดแอปพลิเคชัน จาก App Store หรือ google play จากนั้นลงทะเบียนเข้าสู่ระบบก็สามารถใช้งานได้ในทันที

“ซึ่งแอปนี้ถือเป็นความห่วงใยจากรัฐบาลไทย ที่จะดูแลและเคียงข้างพี่น้องประชาชนในทุกสถานการณ์ เพื่อความอบอุ่นใจ แม้อยู่ไกลบ้าน ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าการพัฒนาแอปพลิเคชันต่างๆ รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ของรัฐบาลที่ผ่านมา ก็เพื่อสอดรับกับนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีนโยบายเปลี่ยนไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลให้เร็วขึ้น เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงง่ายและใช้สะดวก” น.ส. ทิพานัน กล่าว

Advertisement

ก.แรงงานเตรียมฝึกอาชีพคนจน สร้างเป็นช่างในชุมชน เป้าหมาย 80,000 คนทั่วประเทศ

People unity news online : “ปลัดแรงงาน” เผย กระทรวงแรงงานได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ช่วยเหลือคนจนระยะที่ 2 ฝึกอาชีพเร่งด่วน ปั้นช่างชุมชน เป้าหมาย 80,000 คนทั่วประเทศ ฝึกอาชีพเสริม หลักสูตร 18 ชม.30 ชม. และ 60 ชม. พร้อมนำตู้งานจับคู่คนกับงานบริการในพื้นที่ ตั้งเป้า 1 ล้านคน มีงานทำ มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

18 มกราคม 2561 นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมชี้แจงแนวทางการตรวจราชการของผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ประจำปีงบประมาณ 2561 แก่หัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงานส่วนภูมิภาค 26 จังหวัดภาคกลางและภาคตะวันออก ณ ห้องประชุมจอมพล ป.พิบูลสงคราม ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยกล่าวว่า รัฐบาลต้องการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งเป็นหน้าที่ของข้าราชการทุกคนและทุกกระทรวงที่จะต้องบูรณาการการทำงานร่วมกัน ในส่วนของกระทรวงแรงงานโครงการที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาคนจนระยะที่ 2 ได้แบ่งเป็น 3 โครงการ คือ 1) การส่งเสริมและฝึกอาชีพหลักสูตรฝึกอาชีพเร่งด่วนให้เป็นช่างเอนกประสงค์ หรือ ช่างชุมชน เป้าหมาย 80,000 คน ทุกชุมชนทั่วประเทศ 2) ฝึกอาชีพเสริม 3 หลักสูตร ระยะเวลาการฝึก 18 ชั่วโมง 30 ชั่วโมง และ 60 ชั่วโมง และ 3) บริการค้นหาตำแหน่งงานจับคู่คนกับงานผ่านตู้งาน (Job Box)

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า โครงการเพิ่มศักยภาพผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ ซึ่งจะสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้และมีความมั่นคงในชีวิต สนับสนุนโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐและช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและส่งเสริมระบบเศรษฐกิจฐานรากตามนโยบายประชารัฐในระดับชุมชน ผ่านกลไกการจัดฝึกอบรม ส่งเสริมทักษะอาชีพให้แก่ผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อให้มีความรู้ ทักษะฝีมือในการประกอบอาชีพมีรายได้เพิ่มขึ้น มีงานทำ มีความมั่นคงในชีวิต ได้รับความคุ้มครองทางสังคมอย่างทั่วถึง และนำสู่คุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

“พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตั้งเป้าหมายไว้ว่า โครงการฝึกอาชีพเพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่ผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐในส่วนของกระทรวงแรงงาน จะทำให้คนไทยมีงานทำอย่างน้อย 65 % โดยความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อให้ประชาชนมีอาชีพ มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าว

People unity news online : post 18 มกราคม 2561 เวลา 22.10 น.

 

บิ๊กตู่มอบวิสัยทัศน์แก่ ครม. ขับเคลื่อนประเทศสู่อนาคตด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและเศรษฐกิจ BCG

People Unity News : นายกรัฐมนตรีมอบวิสัยทัศน์แก่ ครม. ช่วยกันขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อนาคตด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลควบคู่เศรษฐกิจ BCG พร้อมแก้ไขกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 เวลา 13.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มอบนโนบายแก่คณะรัฐมนตรี ในการเดินหน้าประเทศไทยไปสู่อนาคต และเร่งขับเคลื่อนมาตรการทางเศรษฐกิจในปี 2564  ด้วยการเดินหน้าประเทศไทยไปสู่แนวโน้มใหม่ของโลกตามแนวทาง 4 Ds ได้แก่ Digitalization ใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยในการทำงาน Decarbonization ลดการปล่อยแก๊ส Co2 Decentralization เพิ่มการเคลื่อนที่ของคน การวิจัย บริหาร และการค้า และสร้างความปลอดภัยทางด้านอาหารและยา รวมถึงพัฒนาขับเคลื่อนอุตสาหกรรมใหม่ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจสูงสุดเพื่อต่อยอด 4 Ds ไปยังตลาดโลก อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยีทางการแพทย์และการดูแลสุขภาพ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียนที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยี 5G ได้เร็วที่สุด ซึ่งได้เริ่มเดินหน้าวางโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ EEC ไปแล้ว เพื่อให้กลุ่มต่างๆเข้ามาใช้ประโยชน์ อาทิ การให้บริการโรงพยาบาล สาธารณสุข การศึกษา ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนประเทศตามแนวทางเศรษฐกิจ BCG ด้วย ซึ่งการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันพบว่าดีขึ้นตามลำดับ เนื่องจากมาตรการทางเศรษฐกิจ การได้รับความเชื่อมั่นจากการเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังเผยถึงการจัดทำแผนงานโครงการแบบ Bottom-Up ผ่านกลไกการทำประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นจากท้องถิ่น ทั้งจังหวัด อบต. อบจ. เพื่ออนุมัติโครงการจากรัฐบาล แต่จะต้องมีรายละเอียดแผนงานโครงการที่ชัดเจนเพื่อไม่ให้มีการทุจริตและสามารถปฏิบัติได้จริง โดยในวันนี้ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  (แก้ไขเพิ่มเติมอัตราดอกเบี้ยในกฎหมาย) เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกและลดภาระประชาชน ให้ประชาชนได้สามารถใช้ประโยชน์จากกฎหมาย โดยแก้ไขเพิ่มเติมอัตราดอกเบี้ยที่มิได้กำหนดอัตราปรับจากอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี เป็นอัตราร้อยละสามต่อปี และแก้ไขเพิ่มเติมกรณีผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยเก่า ปรับจากอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี เป็นอัตราร้อยละห้าต่อปี เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสในการชำระหนี้

Advertising

“เอนก” ยกระดับทุ่งกุลาร้องไห้ ดันจุดแข็ง สร้างมูลค่าเพิ่ม ตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี

People Unity News : “เอนก” ยกระดับทุ่งกุลาร้องไห้ ดันจุดแข็ง สร้างมูลค่าเพิ่ม ตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี

23 มี.ค. 2565 เมื่อเร็วๆนี้ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และคณะ ร่วมลงพื้นที่พบปะและแลกเปลี่ยนความรู้กับประชาชนในพื้นที่ ภายใต้กิจกรรม สวทช. เสริมแกร่งภูมิภาค ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG “ขับเคลื่อนโปรแกรมการยกระดับคุณภาพชีวิต ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้” ที่ จ.ศรีสะเกษ

ดร.เอนก กล่าวว่า การลงพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ครั้งนี้ อยู่ภายใต้แผนงาน “ขับเคลื่อนโปรแกรมการยกระดับคุณภาพชีวิต ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้” ซึ่งนำโดย สวทช. และยังมีอีกหลายหน่วยงานของ อว. ทั้งสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยเข้ามาบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งคลอบคลุมถึง 5 จังหวัด ได้แก่ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร และสุรินทร์ โดยพื้นที่ทุ่งกุลาฯ ถือเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์และต่างมีภูมิปัญญาและวัฒนธรรมอันเป็นรากเหง้าที่เข้มแข็ง มีผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นออกมามากมาย แต่สิ่งที่ อว.จะมาช่วยขับเคลื่อน คือ การนําองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปต่อยอดพัฒนาฐานทุนเดิมอันเป็นจุดแข็งของทุ่งกุลาให้สามารถสร้างมูลค่า สร้างโอกาสทางการตลาด และสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้แก่ประชาชนในพื้นที่ สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี ที่มุ่งให้ประชาชนอยู่ดี กินดี มีรายได้ พ้นความยากจน

ดร.เอนก กล่าวต่อว่า การขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ทุ่งกุลาฯ ของ อว. จะทำงานร่วมกับทางจังหวัด หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ โดยมุ่งขับเน้นให้ผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการของทุ่งกุลาฯ มีอัตลักษณ์โดดเด่นยิ่งขึ้น เช่น การยกระดับผ้าทอโดยใช้เอนไซม์เอนอีซ “ENZease” สารจากธรรมชาติที่ช่วยทำความสะอาดและลอกแป้งออกจากเส้นใยในขั้นตอนเดียว ทำให้ย้อมสีธรรมชาติได้ดีขึ้น สีสวย สม่ำเสมอ ช่วยลดต้นทุน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี มาเพิ่มสมบัติพิเศษต่างๆ ทั้งความนุ่มลื่น การป้องกันรังสียูวี การยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย รวมถึงการเติมกลิ่นหอม โดยนำ ‘กลิ่นดอกลำดวน’ ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดศรีสะเกษมาเติมลงในผ้าทอเบญจศรี เพื่อสร้างเสน่ห์และอัตลักษณ์ให้กับผ้าทอของจังหวัดศรีสะเกษ ขณะเดียวกันในส่วนของการอนุรักษ์ภูมิปัญญา

นอกจากนี้ สวทช. ยังได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาสายพันธุ์ถั่วเขียวที่ให้ผลผลิตสูง มีความต้านทานต่อโรคราแป้งและใบจุด และถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีให้กับเกษตรกรทั้งกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ และเกษตรกรผู้ผลิตถั่วเขียวเข้าโรงงานอุตสาหกรรม มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จำนวน 100 คน พื้นที่ปลูก 500 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 120 -150 กิโลกรัมต่อไร่ สร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรเฉลี่ย 2,600 – 3,300 บาทต่อไร่ และยังเชื่อมโยงกับภาคเอกชนให้เข้ามารับซื้อ ได้แก่ บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) มีปริมาณการรับซื้อ 1,000 ตันต่อปี และบริษัท กิตติทัต จำกัด มีปริมาณการรับซื้อ 3,500 ตันต่อปี เพื่อให้มีผลผลิตถั่วเขียวที่เพียงพอ ต่อความต้องการของตลาดต้องการพื้นที่ปลูก จำนวน 30,000 ไร่ ได้ผลผลิตเฉลี่ย 150 กิโลกรัมต่อไร่

“พื้นที่ทุ่งกุลาฯ มีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นพื้นที่นวัตกรรมเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ควบคู่ไปกับการรักษาเอกลักษณ์เดิมไม่ให้เลือนหาย โดยเฉพาะ จ.ศรีสะเกษ ที่มีศักยภาพโดดเด่นในด้านนี้มาก และมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษจะต้องเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน เอาความรู้ออกมาสู่ชุมชน และควรจะมีการจัดทำหลักสูตรแซนด์บอกส์ที่เน้นการปฏิบัติ เพื่อพัฒนาคนให้เหมาะสมกับการพัฒนาพื้นที่ เพราะต่อไปนี้ผลผลิตจาก อว. จะต้องสามารถรับใช้ประเทศชาติ สังคม และประชาชนได้” ดร.เอนก กล่าว

Advertising

ครู ‘สอนดี’ ต้องจบศึกษาศาสตร์หรือไม่ : ข้อคิดเห็นจากนักวิชาการ TDRI

People unity news online : จากการที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศการสอบแข่งขันบรรจุข้าราชการครูปี 2560 โดยเปิดรับสมัครผู้จบการศึกษาจากสาขาอื่นที่ไม่ใช่ศึกษาศาสตร์ ได้เกิดข้อถกเถียงว่านโยบายนี้เป็นทางเลือกที่ดีกว่าการเปิดรับสมัครเฉพาะผู้จบสาขาศึกษาศาสตร์หรือไม่

ผู้เขียนเห็นว่าระบบการศึกษาควรมีการเปิดรับทั้งสองวิธีการควบคู่กัน โดยการเปิดรับสมัครผู้จบสาขาศึกษาศาสตร์เป็นวิธีการหลัก ส่วนการเปิดรับสมัครบุคคลทั่วไปเป็นวิธีเสริมสำหรับพื้นที่ที่มีความขาดแคลนครูในสาขาขาดแคลนและการสรรหาครูอาชีวศึกษาซึ่งต้องการการบริหารที่แตกต่างจากครูสายสามัญ หากไม่มีความขาดแคลนครู การเปิดรับสมัครบุคคลทั่วไปจะเป็นการสิ้นเปลือง เพราะต้องเพิ่มงบประมาณในการคัดเลือกและการฝึกอบรมเพิ่มเติม

ทั้งนี้ การวัดความขาดแคลนครูควรพิจารณาจากจำนวนผู้สอบผ่านรายสาขาเปรียบเทียบกับความต้องการในแต่ละเขตพื้นที่ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการควรเปิดเผยต่อสาธารณะ

ผู้เขียนยังเห็นว่าการเปิดรับสมัครบุคคลทั่วไปอาจช่วยเพิ่มโอกาสในการคัดเลือกคนเก่งและลดความขาดแคลนครูบางสาขา แต่ไม่สามารถรับประกันว่าจะได้ครูสอนดี ซึ่งหมายถึงครูที่มีความรู้ความสามารถด้านการสอนทั่วไปและการสอนในวิชาเฉพาะ เช่น ครูคณิตศาสตร์ควรสามารถวิเคราะห์สาเหตุได้ว่า ทำไมนักเรียนเข้าใจผิดว่า “0.2 x 6 มากกว่า 6/0.2” หรือหาตัวอย่างในชีวิตประจำวันที่ช่วยให้นักเรียนใจความหมายของ “1¼ หารด้วย ½” ได้

การสอบแข่งขันบรรจุข้าราชการในปัจจุบันยังเป็นการคัดเลือกคนเก่งเนื้อหาวิชามากกว่าครูสอนดี เพราะข้อสอบวัดเฉพาะเนื้อหาความรู้วิชาเอก ความรู้รอบตัวและความรู้เรื่องกฎหมายการศึกษา  ไม่มีการทดสอบความสามารถด้านการสอนในวิชาเอก นอกจากนี้ ผู้สอบผ่านบางคนจะได้สอนนักเรียน ทั้งที่ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการสอน

โดยปัจจุบัน คุรุสภาอนุญาตให้ผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเข้าสอนได้ชั่วคราวเป็นเวลา 2 ปี และกำหนดเพียงว่าผู้นั้นต้องพัฒนาตนเองจนได้รับใบอนุญาตฯภายในระยะเวลาดังกล่าว

หากกระทรวงศึกษาธิการต้องการที่จะเปิดรับสมัครบุคคลทั่วไป  ก็ควรเร่งปรับปรุงการคัดเลือก โดยเพิ่มการทดสอบความสามารถด้านการสอนด้วย และควรต้องจัดหลักสูตรเตรียมความพร้อมด้านการสอนอย่างเข้มข้น ดังกรณีตัวอย่างโครงการ ‘Boston Teacher Residency’ ที่เขตพื้นที่บอสตันเปิดโครงการรับสมัครบุคคลทั่วไปเพื่อลดความขาดแคลนครูสาขาคณิตศาสตร์ โดยให้ทุนการศึกษาซึ่งช่วยดึงดูดคนเก่ง และมีการคัดเลือกผู้สมัครผ่านการทดลองสอนและการทำกิจกรรม ผู้สอบผ่านต้องเข้ารับการเตรียมความพร้อมด้านทฤษฎีก่อนเปิดภาคเรียนและต้องฝึกฝนกับครูพี่เลี้ยงในช่วงเปิดเทอม โดยการสังเกตการสอนของครูพี่เลี้ยง ผลปรากฏว่านักเรียนที่เรียนกับครูในโครงการนี้มีพัฒนาการของผลการเรียนดีกว่านักเรียนกลุ่มอื่น นอกจากนี้  ร้อยละ 86 ของครูในโครงการนี้คงทำงานสอนต่อเนื่องไปนานกว่า 3 ปี ในขณะที่ครูทั่วไปเพียงร้อยละ 53 เท่านั้นที่สอนนานกว่า 3 ปี

ในอีกด้านหนึ่ง ผู้เขียนเห็นว่าผู้จบหลักสูตรศึกษาศาสตร์ไม่จำเป็นต้องเป็นครูสอนดีทุกคน จากข้อมูลของ ‘โครงการทดสอบความรู้นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ปีสุดท้าย วิชาเอกคณิตศาสตร์ ในปี 2551 (The Teacher Education and Development Study in. Mathematics: TEDS-M 2008)’ ซึ่งมีประเทศเข้าร่วมทั้ง 17 ประเทศ นักศึกษาของคณะศึกษาศาสตร์ไทยกลุ่มเก่งที่สุด 20% แรก (TOP 20) มีผลการสอบวิชาการสอนคณิตศาสตร์เทียบเท่ากับคะแนนเฉลี่ยของนักศึกษาสิงคโปร์ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 2 ของการทดสอบ ขณะที่กลุ่มอ่อนที่สุดมีผลการสอบใกล้เคียงกับคะแนนเฉลี่ยของนักศึกษาชิลีซึ่งอยู่ในอันดับสุดท้าย

นอกจากนี้ โครงการทดสอบนานาชาติ TIMSS 2011 (Trends in International Mathematics and Science Study) ยังพบด้วยว่า ในปี 2554 ร้อยละ 55 ของนักเรียน ม.2 ของไทย ซึ่งเรียนกับครูรุ่นใหม่ (ประสบการณ์การสอนน้อยกว่า 5 ปี) ถูกสอนให้จําสูตรและวิธีการทําโจทย์เป็นหลักทุกคาบเรียนมากกว่าได้รับการสอนให้เข้าใจเนื้อหาจริงๆ

คณะศึกษาศาสตร์ในประเทศไทยควรปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานของตนด้วยเช่นกัน ตั้งแต่การรับนักศึกษา

คณะศึกษาศาสตร์ที่บางแห่งรับนักศึกษามากเกินความสามารถในการดูแล หลักสูตรที่คุรุสภากำหนดยังไม่มีกลุ่มวิชาการสอนในวิชาเฉพาะ ทั้งที่ประเทศที่มีระบบการศึกษาคุณภาพสูงให้ความสำคัญมาก เช่น มหาวิทยาลัยเฮลซิงกิในประเทศฟินแลนด์มีกลุ่มวิชานี้ประมาณร้อยละ 21 ของหน่วยกิตทั้งหมด และการฝึกประสบการณ์วิชาชีพยังขาดการบริหารจัดการที่ดี โดยโครงการ TEDS-M 2008 ได้สำรวจพบว่ามากกว่าครึ่งของนักศึกษาไม่ได้รับการดูแลจากครูพี่เลี้ยง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะโรงเรียนและครูพี่เลี้ยงไม่มีความพร้อมและมีภาระงานหนักอยู่แล้ว ปัญหาเหล่านี้น่าจะแก้ไขได้โดยการปรับปรุงหลักสูตรและการตั้งโรงเรียนเพื่อทำหน้าที่ฝึกประสบการณ์วิชาชีพโดยเฉพาะ

นอกจากนี้ คุรุสภาควรเพิ่มความเข้มแข็งในการกำกับดูแลคุณภาพผู้จบการศึกษาและคณะศึกษาศาสตร์ โดยการสอบเพื่อออกใบอนุญาตฯที่จะเริ่มในปี 2561 ควรมีการทดสอบความสามารถด้านการสอนในวิชาเฉพาะด้วย นอกจากความรู้ด้านเนื้อหาวิชาและการสอนทั่วไป และการประเมินหลักสูตรของคณะศึกษาศาสตร์ควรพิจารณาผลการสอบเพื่อออกใบอนุญาตและผลการสอบแข่งขันบรรจุข้าราชการครูร่วมกับตัวชี้วัดอื่นด้วย ซึ่งในกรณีผลประเมินต่ำ ควรให้คณะศึกษาศาสตร์นั้นลดจำนวนการรับนักศึกษาในปีต่อๆไป

ความร่วมมือระหว่างฝ่ายกระทรวงศึกษาธิการซึ่งเป็นผู้กำกับโรงเรียน และคณะศึกษาศาสตร์และกลุ่มครู เป็นปัจจัยสำคัญต่อการปฏิรูประบบการบริหารบุคลากรทั้งกระบวนการ การปฏิรูปการฝึกหัดและการคัดเลือกครูเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน แต่ควรพิจารณาข้อมูลต่างๆ ประกอบอย่างรอบด้าน เพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยยึดผลประโยชน์ของนักเรียนเป็นสำคัญ

ครู สอนดีต้องจบศึกษาศาสตร์หรือไม่ : ข้อคิดเห็นจากนักวิชาการ TDRI

โดย ศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

People unity news online : post 3 เมษายน 2560 เวลา 09.58 น.

Verified by ExactMetrics