วันที่ 29 เมษายน 2024

“ประวิตร” เปิดผลงานป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ของไทย พร้อมดันไทยสู่ “เทียร์ 2” ในปี 65

People Unity News : วันนี้ (11 พฤษภาคม 2565) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดี และการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ. 2565 รวมทั้งแถลงผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของไทย ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้หน่วยงานและผู้ปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ได้รับทราบถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจังให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน และให้เจ้าหน้าที่ได้นำแผนปฏิบัติการฯ ใช้เป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติได้ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของแผนปฏิบัติการฯ และทำงานอย่างประสานสอดคล้องในทิศทางเดียวกันต่อไป โดยมี นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานอัยการสูงสุด รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และองค์การระหว่างประเทศเข้าร่วมประชุมด้วย

รองนายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่ารัฐบาลตระหนักถึงความร้ายแรงของอาชญากรรมค้ามนุษย์ โดยประกาศให้การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี 2558 และกำหนดให้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง บูรณาการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไป และสร้างเครื่องมือเพื่อกำหนดทิศทางการทำงานของทุกภาคส่วนให้ประสานสอดคล้องกัน โดยได้รับการสนับสนุนทางวิชาการในการพัฒนากลไกการส่งต่อระดับชาติ มาตรฐาน และวิธีปฏิบัติ คู่มือต่างๆ จากองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จในวันนี้ รัฐบาลจึงได้ประกาศใช้แผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดี และการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ. 2565 เพื่อกำหนดวิธีและขั้นตอนปฏิบัติที่ชัดเจนให้ผู้ปฏิบัติทำงานได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และนำไปสู่การยกระดับมาตรฐานการป้องกัน และปราบปรามการค้ามนุษย์ตามหลักสิทธิมนุษยชน และพันธกรณีระหว่างประเทศ ซึ่งมุ่งหวังและเชื่อมั่นว่าแผนปฏิบัติการฯฉบับนี้จะเป็นเครื่องมือให้ผู้ปฏิบัติงานในทุกระดับได้ใช้ปฏิบัติงานในเชิงรุกอย่างมีประสิทธิภาพ มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากลต่อไป

จากนั้น รองนายกรัฐมนตรีได้แถลงผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยย้ำถึงการดำเนินงานปี 2564 จนถึงปัจจุบันว่า รัฐบาลขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกัน และปราบปรามการค้ามนุษย์ตามข้อเสนอแนะสำคัญ 15 ข้อ ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกา โดยมีผลความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรม อาทิ จัดทำมาตรฐานการปฏิบัติงาน และคู่มือสำหรับเจ้าหน้าที่ จัดทำแนวทางกลไกการส่งต่อระดับชาติ กำหนดให้นายจ้างต้องจัดทำสัญญาจ้างเป็นภาษาไทย และภาษาที่ลูกจ้างซึ่งเป็นคนต่างด้าวเข้าใจได้ การดำเนินการกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ริเริ่มโครงการสำคัญ (Flagship Project) เพิ่มเติม เพื่อยกระดับมาตรฐานการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างยั่งยืน ได้แก่ จัดทำแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดี และการช่วยเหลือ คุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ. 2565 จัดตั้งศูนย์คัดแยกผู้เสียหายระดับชาติ จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ ออกมาตรการเชิงรุกป้องกันเด็กจากการค้ามนุษย์ ทั้งนี้ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่มีการประกาศมาตรการล็อคดาวน์ส่งผลให้อาชญากรรมต่างๆลดลงทุกประเภทในช่วงปี 2563 และ 9 เดือนแรกของปี 2564 อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการในช่วงตุลาคม – ธันวาคม 2564 สามารถสืบสวนจับกุมคดีค้ามนุษย์ได้ถึง 188 คดี สูงกว่าปี 2563 โดยเฉพาะคดีทางสื่อออนไลน์ และได้ปรับรูปแบบการทำงานเป็นแบบออนไลน์ ได้แก่ การคัดแยกผู้เสียหาย การประชุมค่าสินไหมทดแทน การพิจารณาคดีของศาล เป็นต้น

ในตอนท้าย รองนายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงานทุกหน่วยงานที่ทุ่มเททำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยหากพิจารณาจากผลการดำเนินงานที่ได้กล่าวมา แสดงให้เห็นถึงความพยายามอย่างชัดเจนของรัฐบาลในการป้องกัน และปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างยั่งยืน ดังนั้นประเทศไทยสมควรได้รับการเลื่อนระดับเข้าสู่ Tier 2 ในปีนี้

Advertisement

วันนี้ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง เปิดให้ประชาชนร่วมทดสอบใช้บริการแล้ว

People Unity News : 3 มิถุนายน 2566 โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ ยินดี วันนี้รถไฟฟ้าสายสีเหลือง พร้อมเริ่มให้ประชาชนร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) จากสถานีหัวหมากถึงสถานีสำโรง กำชับดูแลความพร้อม ความปลอดภัยช่วงทดสอบฯ สร้างความมั่นใจให้ประชาชน

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แจ้งรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง พร้อมเริ่มให้ประชาชนร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) เริ่มตั้งแต่วันนี้ (3 มิถุนายน 2566) จากสถานีหัวหมาก ถึงสถานีสำโรง ก่อนขยายระยะทางต่อไป โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความยินดีที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง มีการดำเนินงานเป็นไปตามแผนงาน กำชับให้ดูแลเรื่องความพร้อมการให้บริการ และดูแลความปลอดภัยในช่วงการทดสอบการเดินรถฯ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนผู้โดยสารให้มากที่สุด

นายอนุชา กล่าวว่า ตามที่ รฟม. ร่วมกับ ที่ปรึกษาบริหารโครงการและควบคุมการก่อสร้างโครงการฯ (PCYL) วิศวกรอิสระ (ICE) และ บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง ได้ลงพื้นที่สำรวจความเรียบร้อยประกอบการพิจารณาช่วงสถานีที่จะให้ประชาชนได้เข้าร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไปนั้น รฟม. ชี้แจงว่า ปัจจุบันทุกฝ่ายมีความเห็นสอดคล้องกัน โดยตั้งแต่วันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง (MRT สายสีเหลือง) จะพร้อมให้ประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจเข้าร่วม Trial Run ได้ระหว่างเวลา 09.00-20.00 น. จำนวน 13 สถานี ได้แก่ สถานีหัวหมาก สถานีกลันตัน สถานีศรีนุช สถานีศรีนครินทร์ 38 สถานีสวนหลวง ร.9 สถานีศรีอุดม สถานีศรีเอี่ยม สถานีศรีลาซาล สถานีศรีแบริ่ง สถานีศรีด่าน สถานีศรีเทพา สถานีทิพวัล และสถานีสำโรง ทั้งนี้ ในส่วนของสถานีหัวหมาก จะจำกัดให้ประชาชนใช้เฉพาะทางเข้า-ออกที่ 2 (สี่แยกพัฒนาการ) และทางเข้า-ออกที่ 3 (ซอยศรีนครินทร์ 16) ที่มีความพร้อมก่อน โดยหลังจากนี้ รฟม. และผู้รับสัมปทาน จะหารือกันอย่างต่อเนื่องเพื่อพิจารณาการขยายช่วงสถานี และขยายช่วงเวลาที่รถไฟฟ้า MRT สายสีเหลืองจะสามารถให้ประชาชนเข้าร่วม Trial Run เพิ่มเติมจนกระทั่งครบตลอดสาย 23 สถานีได้ในระยะต่อ ๆ ไป เพื่อสร้างการรับรู้และความมั่นใจด้านความปลอดภัยให้แก่ประชาชนที่จะเป็นผู้โดยสารของรถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง เมื่อเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในอนาคตอันใกล้นี้

“นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและขนส่งของประเทศ โดยกำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ โดยนายกรัฐมนตรีติดตามทุกโครงการของรถไฟฟ้ามหานคร ให้การก่อสร้างเป็นไปตามแผน พร้อมแสดงความยินดีที่ขณะนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง มีการดำเนินงานเป็นไปตามแผนงาน จะสามารถเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ในเร็ว ๆ นี้ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกำชับให้ดูแลเรื่องความพร้อมการให้บริการทุกด้าน และเน้นดูแลความปลอดภัยในช่วงการทดสอบการเดินรถเสมือนจริง เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนผู้โดยสารให้มากที่สุด” นายอนุชา กล่าว

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ถือเป็นหนึ่งในโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในความรับผิดชอบของ รฟม. ที่ได้รับการออกแบบให้เป็นระบบขนส่งมวลชนระบบรอง (Feeder Line) ที่จะใช้ขนส่งผู้โดยสารจากพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร และพื้นที่บางส่วนในจังหวัดสมุทรปราการ เข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายหลักอื่น ๆ มีระยะทางรวมประมาณ 30.4 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับตลอดสาย มีสถานีรถไฟฟ้าจำนวน 23 สถานี โดยมีอาคารจอดแล้วจรสำหรับผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัวสามารถเปลี่ยนถ่ายเข้าสู่บริการรถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง ได้บริเวณสถานีศรีเอี่ยม และสถานีลาดพร้าว

Advertisement

คสช.ออกคำสั่ง ม.44 ให้คนไม่ได้เป็นข้าราชการเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยและราชภัฎได้

People unity news online :  เมื่อวาน (28 มีนาคม 2560) ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยว่า ที่ประชุม คสช. ได้มีการพิจารณาคำสั่ง คสช. เรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา อธิการบดีของมหาวิทยาลัย และราชภัฎต่างๆ จะมีระเบียบหลักเกณฑ์ และกฎหมายของตนเองในการดำเนินการ ว่าสามารถที่จะเลือกบุคคลใดก็ได้ที่มีคุณสมบัติมาทำหน้าที่ดังกล่าว โดยไม่จำเป็นว่าต้องเป็นข้าราชการที่ยังไม่เกษียณอายุ แต่กฎระเบียบนี้ไปขัดกับกฎหมายกลางในเรื่องของระเบียบข้าราชการครู ซึ่งอธิการบดีจะต้องเป็นข้าราชการ ดังนั้น คนที่ไม่ได้เป็นข้าราชการในกฎหมายกลางฉบับดังกล่าวจึงไม่สามารถทำหน้าที่เป็นอธิการบดีได้ โดยวันนี้ ที่ประชุม คสช. ได้มีคำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 เพื่อเปิดโอกาสสำหรับคนที่ไม่ได้เป็นข้าราชการและเป็นข้าราชการสามารถที่ทำหน้าที่เป็นอธิการบดีได้ จากเดิมที่ตำแหน่งอธิการบดีต้องเป็นข้าราชการเท่านั้น การเปิดโอกาสดังกล่าวจะทำให้สามารถเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถได้มากยิ่งขึ้น

People unity news online : post 28 มีนาคม 2560 เวลา 11.03 น.

กรมที่ดินปั้นภาพลักษณ์ใหม่ อบรมเจ้าพนักงาน “บริการดี ไม่มีทุจริต”

People unity news online : เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2560 ที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร อาคารสวนเจ้าเชตุ นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการอบรม “บริการดี ไม่มีทุจริต” ของสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครและสาขา ประจำปี พ.ศ.2560 ซึ่งกรมที่ดินจัดขึ้นเพื่อพัฒนาบุคลากรของสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครและสาขา จำนวน 17 สาขา ให้มีความรู้ ความเข้าใจ ในแนวทางการให้บริการประชาชนนำไปสู่การปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนา จำนวน 600 คน

โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มอบนโยบายในการบริการประชาชนให้แก่ผู้เข้ารับการอบรม ว่า ปัจจุบันกระแสสังคมได้ให้ความสนใจการทำงานของกรมที่ดินโดยเฉพาะในเรื่องความโปร่งใส เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายในที่ดินของบุคคล มีความสำคัญทั้งทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง ซึ่งที่ผ่านมาภายใต้การบริหารราชการของรัฐบาลได้ให้ความสำคัญและเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานมีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบและมีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม การจัดอบรมในครั้งนี้ จึงเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้นโยบายดังกล่าวประสบผลสำเร็จ เนื่องจากเป็นการเตรียมบุคลากรของกรมที่ดินเพื่อก้าวสู่กรมที่ดินยุคใหม่ที่มีการบริหารงานอย่างโปร่งใส ภายใต้หลัก “ธรรมาภิบาล” ดังนั้น บุคลากรของกรมที่ดินจึงต้องได้รับการฝึกอบรมให้มีความรู้ความเข้าใจทั้งด้านกฎหมาย เทคโนโลยี ความรอบคอบ รวดเร็ว สร้างทัศนคติ และสร้างค่านิยมที่ดีในเรื่องความซื่อสัตย์ สุจริต มีคุณธรรม มีความโปร่งใส ป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดในการทำงาน สามารถนำความรู้ไปใช้ปรับปรุงและพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครและสาขาถือเป็นด่านหน้าที่จะสร้างความประทับใจให้กับประชาชนที่มาติดต่อขอรับการบริการ อีกทั้งในพื้นที่ของกรุงเทพมหานครยังเป็นพื้นที่ที่ดินมีราคาสูง ผู้ถือครองที่ดินมีความคาดหวังที่จะได้รับการตอบสนองการให้บริการที่ดี

การที่กรมที่ดิน โดยสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครและสาขาได้จัดให้มีการอบรมในวันนี้จึงถือได้ว่าการเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการบริหารจัดการภาครัฐ การป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบ โดยใช้หลักธรรมาภิบาลและแปลงยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติสอดรับกับคำขวัญ 116 ปี ของกรมที่ดินที่ว่า “บริการดี ไม่มีทุจริต”

สุดท้าย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เน้นย้ำให้ชาวที่ดินกรุงเทพฯ ได้ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ ร่วมแก้ไขปัญหา และร่วมติดตามประมวลผล ประสานงาน ประสานใจ และประสานการปฏิบัติยกระดับการให้บริการประชาชนด้วยความซื่อสัตย์สุจริตมีความโปร่งใส ช่วยขจัดและลดปัญหาความทุกข์ร้อนของประชาชนอันจะส่งผลให้เกิดภาพลักษณ์และทัศนคติที่ดีต่อองค์กร เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนต่อไป

People unity news online : post 21 มีนาคม 2560 เวลา 22.44 น.

ตั้งแต่ 10 ม.ค. 66 หน่วยงานรัฐ ต้องรับ-จ่ายเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

People Unity News : 8 มกราคม 2566 รัฐบาลย้ำเตือน หน่วยงานของรัฐทั้งส่วนราชการและท้องถิ่น ต้องรับเอกสารหรือหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ทุกรูปแบบในการรับ-จ่ายเงิน ตั้งแต่ 10 ม.ค. 66 หากไม่ดำเนินการ อาจต้องรับผิดว่าจงใจฝ่าฝืนกฎหมายการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้

วันที่ 8 มกราคม 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 65 และมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ยกเว้นบางมาตราที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป นั้น กองพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีข้ออธิบายถึงการใช้เอกสารหลักฐานในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ในการเบิกจ่ายเงิน ว่า เนื่องจากมาตรา 15 ของกฎหมายการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ รับรองการใช้เอกสารหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักฐานเบิกจ่ายของส่วนราชการและท้องถิ่น ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. 66 เป็นต้นไป หน่วยงานของรัฐทั้งส่วนราชการและท้องถิ่น ต้องรับเอกสารหรือหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นไฟล์ PDF หรือภาพทางดิจิทัลในการรับจ่ายเงิน ถ้าไม่รับอาจต้องรับผิดว่าจงใจฝ่าฝืนกฎหมายได้

นายอนุชา กล่าวว่า สำหรับมาตรา 15 วรรคหนึ่ง ตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 มีบทบัญญัติว่า ในการติดต่อหรือส่งเรื่องถึงกันในระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกัน ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับหน่วยงานของรัฐ หรือระหว่างประชาชนกับหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ถ้าได้กระทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ให้ถือว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและใช้เป็นหลักฐานได้ตามกฎหมาย หากหน่วยงานของรัฐหน่วยงานใดไม่สามารถรองรับวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ จะตราพระราชกฤษฎีกายกเว้นให้เป็นกรณี ๆ ไปก็ได้ โดยต้องระบุเหตุผล ความจำเป็น และระยะเวลาที่จะยกเว้นให้

นายอนุชา กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายหลังจากที่พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ได้จัดการประชุมชี้แจงส่วนราชการ จังหวัด องค์การมหาชน รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา และหน่วยงานอื่นของรัฐ เพื่อสร้างความเข้าใจในการดำเนินการตามกฎหมายฉบับนี้ เตรียมความพร้อมหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยในการดำเนินการ ทั้งในส่วนของการปฏิบัติงานและการให้บริการประชาชนให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติที่กำหนด เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 65 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธาน ซึ่งมีผู้แทนหน่วยงานเข้าร่วมรับฟังกว่า 8,500 คน ทั้งนี้ สคก. ได้ชี้แจงตอนหนึ่งว่า พระราชบัญญัติฯ เกิดขึ้นเพื่อให้การปฏิบัติงานและการให้บริการประชาชนของภาครัฐเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่มุ่งหวังให้ประชาชนทุกคนได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว โดยมีแนวปฏิบัติที่สำคัญในการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการปฏิบัติราชการและการให้บริการ เช่น การติดต่อระหว่างหน่วยงานกับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือประชาชนทางอิเล็กทรอนิกส์สามารถใช้เป็นหลักฐานตามกฎหมายได้ การสั่งการและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีกฎหมายกำหนดให้เป็นหนังสือ สามารถใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ เอกสารหลักฐานในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ สามารถใช้เป็นหลักฐานเบิกจ่ายได้ โดยการตรากฎหมายฉบับนี้จะเป็นการขจัดอุปสรรคทางข้อกฎหมายของการดำเนินงานภาครัฐด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มประสิทธิภาพ ความรวดเร็ว ความประหยัด และความโปร่งใสตรวจสอบได้ในการปฏิบัติราชการ โดยหัวใจของการดำเนินการตามกฎหมายฉบับนี้ จะมุ่งเน้นให้ประชาชนเกิดความสะดวกเป็นหลัก

“รัฐบาลได้เร่งขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลดิจิทัล และเตรียมความพร้อมหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วย ให้พร้อมเข้าสู่การดำเนินการตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 พร้อมทั้งพัฒนาระบบให้บริการออนไลน์หรือ e-service เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงบริการของรัฐได้ทันทีทุกที่ทุกเวลา ลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน โดยหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยจะร่วมขับเคลื่อนให้การปฏิบัติราชการจากระบบเดิมไปสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้เต็มรูปแบบตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติฯ อันจะเพิ่มความสะดวกในการให้บริการประชาชน และยกระดับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานต่อไป” นายอนุชา กล่าว

Advertisement

นายกฯระบุการปฏิรูปต้องอาศัยเวลา โดยดำเนินการตามความจำเป็นเร่งด่วน

People unity news online : นายกรัฐมนตรียืนยันแผนงานปฏิรูปประเทศจะถูกขับเคลื่อนไปในทิศทางที่แก้ปัญหาได้ มุ่งมั่นทำให้ประเทศเดินหน้า ดำเนินการตามความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ทุกภาคส่วนมีบทบาทสำคัญในการปฏิบัติ เน้นย้ำการเปลี่ยนแปลงต้องอาศัยระยะเวลา

เมื่อวานนี้ (15 พฤษภาคม 2561) เวลา 12.50 น. ณ บริเวณห้องโถง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงกรณีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโน ประธานปฏิรูปกฎหมายระบุว่าการปฏิรูปจะสำเร็จยากเพราะให้ส่วนราชการเป็นผู้ปฏิบัติแต่ไม่มีแผนงานว่า อยากให้ทุกคนทบทวนในส่วนของข้าราชการควรมีบทบาทอย่างไรในฐานะผู้ปฏิบัติ เพราะข้าราชการเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อน ทั้งนี้ ต้องพิจารณาการปฏิรูปในภาพรวมที่มีรายละเอียดอยู่ในแผนปฏิรูป และยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเป็นระดับนโยบาย ส่วนในระดับปฏิบัติเป็นเรื่องของหน่วยงานต่างๆ รวมถึงภาคเอกชน และประชาชนทุกคนต้องร่วมมือกันปฏิรูปประเทศ โดยรัฐบาลได้พยายามดำเนินการปฏิรูปในด้านต่างๆ มีผลงานปรากฎในหลายๆด้าน ซึ่งที่ผ่านมาทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ช่วยกันแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ปัญหาการอำนวยความสะดวก ปัญหาการลงทุน หรือด้านสิทธิประโยชน์ต่างๆ  เป็นต้น ส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็นำนโยบายต่างๆเหล่านี้ไปสู่การปฏิบัติ โดยมีข้าราชการเป็นผู้ขับเคลื่อนให้เป็นไปตามกฎระเบียบ กฎหมายต่างๆ ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า รัฐบาลได้ดำเนินการปฏิรูปด้านต่างๆ อาทิ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม การเดินทาง การขนส่ง และอื่นๆ เช่น การแก้ไขปัญหาประปาหมู่บ้าน ได้ดำเนินการแล้วกว่า 7,000 หมู่บ้าน และจะดำเนินการให้เรียบร้อยทั่วประเทศในเร็วๆนี้ ซึ่งการแก้ไขปัญหาหรือปฏิรูปในด้านต่างๆนั้น ได้ดำเนินการตามความจำเป็นเร่งด่วน และเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน สิ่งสำคัญคือต้องไม่ให้ปัญหาต่างๆนำมาซึ่งความวุ่นวายมากขึ้นกว่าเดิม ต้องเปลี่ยนแปลงให้ได้โดยอาศัยระยะเวลาและสร้างการรับรู้ ทำความเข้าใจกับประชาชนโดยสื่อมวลชนเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ ยืนยันว่าคณะทำงานของรัฐบาลทุกคณะนำนโยบายลงสู่การขับเคลื่อนเพื่อการปฏิบัติในทิศทางที่สามารถแก้ปัญหาได้ และลดผลกระทบที่จะเกิดจากความขัดแย้ง

People unity news online : post 16 พฤษภาคม 2561 เวลา 11.10 น.

นายกฯ ติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางปะอิน – นครราชสีมา

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 5 ธันวาคม 2566 นายกฯ ติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางปะอิน – นครราชสีมา พร้อมเปิดใช้ฟรี ช่วงปากช่อง – เมืองนครราชสีมา ตั้งแต่ 28 ธันวาคม 2566 เป็นต้นไป

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตรวจติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางปะอิน – นครราชสีมา และความพร้อมที่จะเปิดให้บริการช่วงสีคิ้ว – นครราชสีมา ณ จังหวัดนครราชสีมา โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเข้าร่วม นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

ภายหลังตรวจติดตามฯ และรับฟังบรรยายสรุปข้อมูลโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางปะอิน – นครนครราชสีมา นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2566 เป็นต้นไป จะเปิดใช้ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 (M6) ฟรีตลอดจนกว่าการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 (M6) จะแล้วเสร็จสมบูรณ์ พร้อมสั่งการให้กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวง เปิดใช้ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 ตอน 24 ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ถึง ตอน 40 อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา แบบไปกลับ 4 ช่องจราจร ระยะทาง 77.493 กิโลเมตร เฉพาะรถยนต์ 4 ล้อเท่านั้น ตลอด 24 ชั่วโมง และให้มีจุดบริการห้องน้ำ 1 จุด ช่วง อำเภอปากช่อง – อำเภอสีคิ้ว ที่ กม.147 ทั้งขาเข้าและขาออก

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กรมทางหลวง กำชับสำนักงานทางหลวง และแขวงทางหลวง ที่ดูแลเส้นทางต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนที่ใช้เส้นทาง ปรับปรุงเส้นทางให้เกิดทัศนวิสัยในการมองเห็นชัดเจน มีการจัดตั้งศูนย์บริการประชาชน เพื่ออำนวยความสะดวก โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานราชการ และเอกชนในพื้นที่ ติดตั้งไฟฟ้าส่องแสงสว่างตลอดเส้นทาง รวมถึงติดตั้งป้ายเตือน ป้ายแนะนำ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน โดยเฉพาะติดตั้งป้ายระหว่างการก่อสร้าง ในช่วงที่ยังมีการก่อสร้าง ต้องมีป้ายเตือน ไฟเตือนให้เป็นไปตามระเบียบ และให้เพิ่มให้มากขึ้นในช่วงที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ

สำหรับความคืบหน้าโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2566 แผนงานความก้าวหน้าร้อยละ 92.588 ผลงานความก้าวหน้าร้อยละ 93.054 เร็วกว่าแผนร้อยละ 0.466 คาดว่าจะเปิดทดลองให้บริการช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ตั้งแต่ปากช่อง – ทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา ระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร ทั้งนี้ งานโยธาจะก่อสร้างเสร็จแล้วปลายปี 2568 โดยจะทดลองวิ่งจริงและเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ ทั้ง 196 กิโลเมตรแบบเก็บค่าผ่านทาง ส่วนโครงการก่อสร้างกำแพงบังสายตาพร้อมวัสดุปิดคลุมแบบสมบูรณ์ 700 เมตร และกำแพงบังตารวม 1,000 เมตร ช่วง กม.140+040.000 ถึง กม.140+345.000 และช่วง กม.141+045.000 ถึง 141+740.000 ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว

Advertisement

“เอนก” ยกระดับทุ่งกุลาร้องไห้ ดันจุดแข็ง สร้างมูลค่าเพิ่ม ตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี

People Unity News : “เอนก” ยกระดับทุ่งกุลาร้องไห้ ดันจุดแข็ง สร้างมูลค่าเพิ่ม ตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี

23 มี.ค. 2565 เมื่อเร็วๆนี้ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และคณะ ร่วมลงพื้นที่พบปะและแลกเปลี่ยนความรู้กับประชาชนในพื้นที่ ภายใต้กิจกรรม สวทช. เสริมแกร่งภูมิภาค ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG “ขับเคลื่อนโปรแกรมการยกระดับคุณภาพชีวิต ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้” ที่ จ.ศรีสะเกษ

ดร.เอนก กล่าวว่า การลงพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ครั้งนี้ อยู่ภายใต้แผนงาน “ขับเคลื่อนโปรแกรมการยกระดับคุณภาพชีวิต ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้” ซึ่งนำโดย สวทช. และยังมีอีกหลายหน่วยงานของ อว. ทั้งสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยเข้ามาบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งคลอบคลุมถึง 5 จังหวัด ได้แก่ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร และสุรินทร์ โดยพื้นที่ทุ่งกุลาฯ ถือเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์และต่างมีภูมิปัญญาและวัฒนธรรมอันเป็นรากเหง้าที่เข้มแข็ง มีผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นออกมามากมาย แต่สิ่งที่ อว.จะมาช่วยขับเคลื่อน คือ การนําองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปต่อยอดพัฒนาฐานทุนเดิมอันเป็นจุดแข็งของทุ่งกุลาให้สามารถสร้างมูลค่า สร้างโอกาสทางการตลาด และสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้แก่ประชาชนในพื้นที่ สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี ที่มุ่งให้ประชาชนอยู่ดี กินดี มีรายได้ พ้นความยากจน

ดร.เอนก กล่าวต่อว่า การขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ทุ่งกุลาฯ ของ อว. จะทำงานร่วมกับทางจังหวัด หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ โดยมุ่งขับเน้นให้ผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการของทุ่งกุลาฯ มีอัตลักษณ์โดดเด่นยิ่งขึ้น เช่น การยกระดับผ้าทอโดยใช้เอนไซม์เอนอีซ “ENZease” สารจากธรรมชาติที่ช่วยทำความสะอาดและลอกแป้งออกจากเส้นใยในขั้นตอนเดียว ทำให้ย้อมสีธรรมชาติได้ดีขึ้น สีสวย สม่ำเสมอ ช่วยลดต้นทุน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี มาเพิ่มสมบัติพิเศษต่างๆ ทั้งความนุ่มลื่น การป้องกันรังสียูวี การยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย รวมถึงการเติมกลิ่นหอม โดยนำ ‘กลิ่นดอกลำดวน’ ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดศรีสะเกษมาเติมลงในผ้าทอเบญจศรี เพื่อสร้างเสน่ห์และอัตลักษณ์ให้กับผ้าทอของจังหวัดศรีสะเกษ ขณะเดียวกันในส่วนของการอนุรักษ์ภูมิปัญญา

นอกจากนี้ สวทช. ยังได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาสายพันธุ์ถั่วเขียวที่ให้ผลผลิตสูง มีความต้านทานต่อโรคราแป้งและใบจุด และถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีให้กับเกษตรกรทั้งกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ และเกษตรกรผู้ผลิตถั่วเขียวเข้าโรงงานอุตสาหกรรม มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จำนวน 100 คน พื้นที่ปลูก 500 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 120 -150 กิโลกรัมต่อไร่ สร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรเฉลี่ย 2,600 – 3,300 บาทต่อไร่ และยังเชื่อมโยงกับภาคเอกชนให้เข้ามารับซื้อ ได้แก่ บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) มีปริมาณการรับซื้อ 1,000 ตันต่อปี และบริษัท กิตติทัต จำกัด มีปริมาณการรับซื้อ 3,500 ตันต่อปี เพื่อให้มีผลผลิตถั่วเขียวที่เพียงพอ ต่อความต้องการของตลาดต้องการพื้นที่ปลูก จำนวน 30,000 ไร่ ได้ผลผลิตเฉลี่ย 150 กิโลกรัมต่อไร่

“พื้นที่ทุ่งกุลาฯ มีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นพื้นที่นวัตกรรมเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ควบคู่ไปกับการรักษาเอกลักษณ์เดิมไม่ให้เลือนหาย โดยเฉพาะ จ.ศรีสะเกษ ที่มีศักยภาพโดดเด่นในด้านนี้มาก และมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษจะต้องเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน เอาความรู้ออกมาสู่ชุมชน และควรจะมีการจัดทำหลักสูตรแซนด์บอกส์ที่เน้นการปฏิบัติ เพื่อพัฒนาคนให้เหมาะสมกับการพัฒนาพื้นที่ เพราะต่อไปนี้ผลผลิตจาก อว. จะต้องสามารถรับใช้ประเทศชาติ สังคม และประชาชนได้” ดร.เอนก กล่าว

Advertising

นายกฯระบุจำเป็นต้องจ้างครูที่ไม่ได้จบครูในสาขาที่ครูไม่ชำนาญ

People unity news online :  เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 เวลา 14.00 น. ณ บริเวณห้องโถงชั้นล่าง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงกรณีการคัดค้านการสอบบรรจุครูผู้ช่วยที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูว่า ทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าเรามีการปรับปรุง การพัฒนา และปฏิรูประบบการศึกษา ซึ่งจะต้องเริ่มดูตั้งแต่ครู ว่ามีเพียงพอหรือไม่ มีคุณภาพหรือไม่ สาขาที่เป็นความต้องการของประเทศมีเพียงพอหรือไม่ ถ้าพูดถึงจำนวนคนที่จบครูออกมามีมากพอสมควร แต่บางวิชาสอนไม่ได้ เพราะไม่ได้จบด้านนั้นมา จึงต้องหาครูที่จบมาตรงกับวิชาเหล่านั้นที่ยังขาดอยู่ ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการมีความเห็นเสนอมาว่าถ้าต้องการผลิตบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของประเทศ เช่น ด้านเคมี วิทยาศาสตร์ ซึ่งคนที่จบด้านครูอาจไม่มีความชำนาญ ดังนั้น บุคคลด้านนี้จะมีจำนวนไม่มาก เฉพาะที่ขาดแคลนอยู่ ซึ่งเมื่อเข้ามาทำงานแล้วไม่ใช่ว่าบรรจุได้เลย ก็ต้องมีการทดลองงานก่อนประมาณ 2 ปี ระหว่างการทดลองงานก็ต้องมีการประเมิน จึงต้องไปสอบให้ผ่านกฎเกณฑ์ถึงจะได้รับการบรรจุให้เป็นข้าราชการ

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลจะไม่ทำอะไรให้ใครเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครู เรื่องแพทย์ คือทุกคนต้องยอมรับว่าเรากำลังขาดแคลนบางสาขาวิชาอยู่ เราต้องเตรียมคนให้พร้อม รองรับตลาดแรงงาน ไม่เช่นนั้นก็จะถูกต่างชาติแย่งงานไปหมด

People unity news online : post 30 มีนาคม 2560 เวลา 20.18 น.

ลดขั้นตอนขออนุญาตจากราชการ

People Unity News : 29 พฤศจิกายน 2565 โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯกำชับหน่วยราชการเตรียมพร้อมรองรับก้าวเข้าสู่บริการภาครัฐแบบดิจิตอล หวังลดขั้นตอนการขออนุญาต อำนวยความสะดวก ปชช.ไม่ต้องไปถึงสถานที่ราชการ

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ขอให้ส่วนราชการหาแนวทางลดขั้นตอน การขออนุมัติและขออนุญาต ที่ควรจะใช้ระยะเวลาที่สั้นลง โดยหาแนวทางลดขั้นตอนต่างๆ ให้สอดคล้องกับการก้าวเข้าสู่การบริการภาครัฐแบบดิจิตอล ซึ่งพระราชบัญญัติปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์

“เรื่องดังกล่าวประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วและจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 ม.ค.66 ซึ่งในอนาคตการติดต่อราชการทุกแห่งสามารถทำได้ในระบบออนไลน์ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปทำธุรกรรมด้วยตนเอง แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ยังต้องไปทำด้วยตัวเอง ทั้งนี้ รัฐบาลยังคงต้องอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และสามารถขอรับบริการเอกสารได้ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ จึงขอให้หน่วยงานราชการดำเนินการและปรับตัว เพื่อเตรียมรองรับในเรื่องดังกล่าวในอนาคตด้วย” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

Advertisement

Verified by ExactMetrics