วันที่ 2 พฤษภาคม 2024

ที่ประชุมสภากลาโหมเดินหน้าปฏิรูป-พลิกโฉมกองทัพ ลดตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิลง 50%

People unity news online : 29 พฤษภาคม 2560 พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงหลังการประชุมสภากลาโหม ครั้งที่ 5/2560 ณ ศาลาว่าการกลาโหม เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2560 ว่า ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาถึงแนวทางการปฏิรูปกองทัพในระบบโครงสร้างและอัตรากำลังให้เหมาะสม เพื่อพัฒนากองทัพให้มีความคล่องตัว ทันสมัย และสามารถปฏิบัติภารกิจได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น

โดยการแก้ไขโครงสร้างการจัดและอัตราของส่วนราชการในกระทรวงกลาโหม เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งสำนักงานประสานภารกิจด้านความมั่นคง กับ กอ.รมน. ซึ่งเป็นการบริหารจัดการภายในของกระทรวงกลาโหมในด้านการปรับเกลี่ย ปรับโอนและยุบรวมอัตราตำแหน่ง ตามอนุมัติหลักการของนายกรัฐมนตรี โดยให้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่ 1 ต.ค.2560 เป็นต้นไป ทั้งนี้ยังให้ดำรงการปรับลดอัตรากำลังพลตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ผู้ทรงคุณวุฒิ และนายทหารปฏิบัติการประจำหน่วยให้เหลือร้อยละ 50 ภายใน 30 ก.ย.2572

รวมถึงได้ร่วมกันพิจารณาการแก้ไข พ.ร.ฎ.แบ่งส่วนราชการและกำหนดหน้าที่ของส่วนราชการ สำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม และสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2552 เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างใหม่ ให้มีความคล่องตัวและสอดรับกับภารกิจที่ปฏิบัติอยู่จริง โดยเพิ่มหน่วยงานและอำนาจหน้าที่กองเลขานุการและศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์กระทรวงกลาโหม ด้วยการปรับเกลี่ย ปรับเพิ่มและปรับลด เพื่อรองรับภารกิจการร้องเรียนร้องทุกข์จากประชาชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยไม่ทำให้งบประมาณและอัตรากำลังพลเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ กองทัพพร้อมเป็นผู้นำในการปฏิรูปหน่วยงานด้านความมั่นคงเพื่อเป็นหลักประกันให้กับประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการป้องกันภัยคุกคามทุกรูปแบบที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบันและในอนาคต รวมทั้งเป็นการยกระดับความมั่นใจให้กับประชาชน

People unity news online : post 29 พฤษภาคม 2560 เวลา 20.23 น.

โปรดแสดงความคิดเห็นด้วยคำสุภาพ ใช้เหตุผล ทางกองบรรณาธิการจะไม่รับผิดชอบต่อความเห็นที่ละเมิดกฎหมาย

สรุป “โครงการทำมาค้าขาย” โรงเรียนสานพลังประชารัฐ-โรงเรียนร่วมพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้

People unity : เมื่อวานนี้ (13 มีนาคม 2562) พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมโครงการสรุปแนวทางการพัฒนาการเรียนการสอนและทักษะชีวิต ภายใต้ “โครงการทำมาค้าขาย” ของโรงเรียนโครงการสานพลังประชารัฐ และโรงเรียนร่วมพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) โดยมี นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ตลอดจนผู้บริหาร ผู้อำนวยการโรงเรียน คณะครูและนักเรียน เข้าร่วมกว่า 300 คน ณ โรงแรมหาดแก้วรีสอร์ท จังหวัดสงขลา

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวว่า การพัฒนาการเรียนการสอนและทักษะชีวิต ภายใต้โครงการทำมาค้าขาย ด้วยการสนับสนุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่มีความสำคัญต่อการนำการศึกษาเรียนรู้ไปช่วยสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งเกิดจากพลังความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ตลอดจนถึงภาควิชาการ ช่วยขับเคลื่อนประเทศด้วยการศึกษา ซึ่ง “การศึกษา” เปรียบเสมือนต้นทางของการพัฒนาคน ให้มีทักษะ มีความรู้ อยู่ในสังคมอย่างมีคุณค่า สร้างความเป็นอยู่ที่ดีและความเจริญให้กับครอบครัวและชุมชน

ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการตั้งมั่นในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชน ตลอดจนประชาชนตอบโจทย์ความต้องการในแต่ละพื้นที่ และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้และภาคใต้ชายแดน กระทรวงศึกษาธิการได้น้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” รวมทั้งพระบรมราโชวาทในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (รัชกาลที่ 10) ซึ่งทรงพระราชทานเกี่ยวกับการศึกษาที่ต้องมุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้าน คือ 1) มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง ที่ยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ 2) มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรมจริยธรรม 3) มีงานทำ มีอาชีพสุจริต 4) เป็นพลเมืองดี นำมาเป็นหลักคิดในการดำเนินงาน จนเกิดเป็นความสำเร็จในการสร้างโอกาสด้านการศึกษา ที่ส่งผลต่อการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว ในหลายโครงการ อาทิ การกำหนดการบริหารงานในระดับภาค, พื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลาและนราธิวาส, โครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เป็นต้น

โครงการสรุปแนวทางการพัฒนาการเรียนการสอนและทักษะชีวิต ภายใต้โครงการทำมาค้าขาย ถือเป็นการทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม อย่างมีนัยสำคัญ ภายใต้การสนับสนุนของภาคเอกชนตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา จึงนำมาสรุปเป็นแนวทางดำเนินงาน เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเด็กและเยาวชนอย่างรอบด้าน ไม่เฉพาะการทำให้เด็กมีความรู้ เป็นคนดีและคนเก่งเท่านั้น แต่ยังเน้นให้มีทักษะชีวิตและทักษะอาชีพที่ดี จบแล้วมีอาชีพมีงานทำ และเป็นพลเมืองที่ดีของชุมชนและสังคมสอดคล้องตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติข้อที่ 3 การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เพื่อการพัฒนาคนในทุกมิติและในทุกช่วงวัย ให้เป็นคนดี เก่ง และมีคุณภาพ เพื่อให้คนไทยมีความพร้อมทั้งกาย ใจ สติปัญญา ขอขอบคุณบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่มุ่งมั่นให้การสนับสนุนการพัฒนาเด็กและเยาวชน ตลอดจนยกระดับเศรษฐกิจในระดับชุมชนอย่างดียิ่งเสมอมา

นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวเพิ่มเติมถึงการประชุมโครงการสรุปแนวทางการพัฒนาการเรียนการสอนและทักษะชีวิต ภายใต้โครงการทำมาค้าขาย ของโรงเรียนโครงการสานพลังประชารัฐและโรงเรียนร่วมพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้ในครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-13 มีนาคม 2562 เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการพัฒนาการเรียนการสอนและทักษะชีวิต กรณีศึกษาของโรงเรียนที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน ที่จะเป็นการพัฒนาต่อยอดกระบวนการและทักษะอาชีพสู่การมีงานทำ สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 350 คน ประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ผู้บริหารภาคเอกชนที่ให้การสนับสนุน ผู้อำนวยการโรงเรียนโครงการสานพลังประชารัฐ ผู้อำนวยการโรงเรียนร่วมพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้ จำนวน 35 โรงเรียน ครู และนักเรียน

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า รู้สึกยินดีและภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับรัฐบาลในโครงการสานพลังประชารัฐ ซึ่งเน้นหลักการทำงานเชื่อมโยงกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยได้ร่วมเป็นคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ (E3) เพื่อพัฒนาด้านการเกษตร การแปรรูป และการท่องเที่ยวโดยชุมชน ประสานเชื่อมโยงกับคณะทำงานการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ (E5) เพื่อให้การศึกษาเรียนรู้พร้อมทักษะอาชีพแก่เด็กเยาวชนในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมา บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) มีความมุ่งมั่นในการทำงานในโครงการต่างๆ โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ประกอบด้วย 3 ห่วง (ความพอประมาณ ความมีเหตุผล ระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี) และ 2 เงื่อนไข(คุณธรรม ความรู้) รวมทั้งพระราชปณิธาน ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (ในหลวงรัชกาลที่ 10) ที่จะสืบสาน รักษา ต่อยอด นำมาเป็นหลักในการทำงานพัฒนาคุณภาพคนและยกระดับเศรษฐกิจของชุมชนทั่วประเทศ ขับเคลื่อนโดยความร่วมมืออย่างบูรณาการของ “บวร” ได้แก่ บริษัท วิสาหกิจชุมชน รัฐ โดยให้เด็กเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ นำกลไกพี่ช่วยน้องมาช่วยสนับสนุน พร้อมๆกับเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือในโครงการกว่า 300 โครงการ ร่วมกับโรงเรียน 293 แห่ง และมหาวิทยาลัย 27 แห่งใน 47 จังหวัดทั่วประเทศ โดยเน้นสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีวินัยทางการเงิน ความเข้าใจตลาด และมีความคิดสร้างสรรค์ ทั้งด้านการทำมาค้าขาย การทำบัญชีครัวเรือน ตลอดจนแผนพัฒนาโรงเรียน นำไปสู่การทำแผนชุมชน เพื่อช่วยยกระดับการศึกษาและรายได้ของคนในชุมชน ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ คาดหวังจะเห็นเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ ได้เรียนรู้อย่างมีความสุข เติบโตเป็นกำลังสำคัญที่มีทักษะและพึ่งพาตนเองได้ มีสัมมนาชีพที่สามารถตอบแทนครอบครัว ชุมชน และอยู่ในสังคมที่มีความอบอุ่นในทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย ที่สำคัญคือต้องการเห็นทายาทของผู้ประกอบการในท้องถิ่นและชุมชนต่างๆ กลับบ้านเกิดเพื่อสืบสานกิจการ พร้อมนำอัตลักษณ์และความภาคภูมิใจมาสร้างเป็นมูลค่าเพิ่มและต่อยอดการพัฒนา เพื่อสร้างประโยชน์และยกระดับเศรษฐกิจในท้องถิ่นอย่างยั่งยืนต่อไป

โอกาสนี้ รมช.ศึกษาธิการ และคณะ ได้เยี่ยมชมนิทรรศการและผลงานนักเรียนจากการประกวด OTOP Junior ในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งมีความน่าสนใจและโดดเด่นสอดคล้องกับอัตลักษณ์ของพื้นที่ อาทิ การแปรรูปปลาดุกร้าไร้สารพิษ โรงเรียนบ้านปูโป๊ะ จ.นราธิวาส, การเพ้นท์กระเป๋ากระจูด เบเกอรี่และเครื่องดื่มจากสับปะรด โรงเรียนวัดเทพนิมิตร จ.ภูเก็ต, เครื่องแกงเผ็ด โรงเรียนบ้านตลาดลำใหม่ จ.ยะลา, ลูกตาลลอยแก้ว โรงเรียนสามบ่อวิทยา จ.สงขลา, ลูกปัดศรีวิชัย โรงเรียนวัดเขาศรีวิชัย จ.สุราษฎร์ธานี, ข้าวสังข์หยด โรงเรียนวัดทุ่งแย้ จ.นครศรีธรรมราช เป็นต้น

การปฏิรูป/ยุทธศาสตร์ชาติ : สรุป “โครงการทำมาค้าขาย” โรงเรียนสานพลังประชารัฐ-โรงเรียนร่วมพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้

People unity : post 14 มีนาคม 2562 เวลา 17.00 น.

นายกฯเผยต้องปฏิรูปตำรวจให้ประชาชนยอมรับและไว้วางใจตำรวจ

People unity news online : เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2560 เวลา 14.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้พบปะหารือกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ก่อนที่จะมีการประชุมคณะกรรมการฯอย่างเป็นทางการครั้งแรกในวันพุธที่ 12 กรกฎาคม 2560 ที่กองบัญชาการกองทัพไทย โดยมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และ พลเอก บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) เข้าร่วมด้วย

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวยืนยันถึงการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ว่า การดำเนินการดังกล่าวเพื่อต้องการให้ตำรวจได้รับการยอมรับนับถือจากสังคม ประชาชน และเป็นตำรวจที่มีศักดิ์ศรี มีความสง่างาม ซึ่งวันนี้ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายจะต้องหันหน้าเข้าหากันเพื่อร่วมกันปรับปรุงองค์กรตำรวจให้ดียิ่งขึ้น โดยทำงานให้ยึดหลักสายกลางคือคำนึงถึงผลประโยชน์ของทุกฝ่ายทั้งของประชาชนและตำรวจ เพื่อให้การปฏิรูปเกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง รวมทั้งเป้าหมายของการปฏิรูปให้ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง และตำรวจเป็นที่พึ่งสำหรับประชาชนได้ในทุกโอกาส สร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ตลอดจนอัยการและศาล โดยบูรณาการหน่วยงานของรัฐ ลดภาระบางส่วน แยกภารกิจและพันธกิจให้ชัดเจน พร้อมย้ำกำหนดโรดแมปการปฏิรูปให้ชัดและเป็นไปตามห้วงเวลาที่กำหนด โดยให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และแผนพัฒนาฯฉบับอื่น ๆในอนาคต ตามยุทธศาสตร์ 20 ปี รวมถึงสอดคล้องกับบริบทของการพัฒนาพื้นที่ทั้ง 18 กลุ่มจังหวัด และ 6 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ กลาง ตะวันออกเฉียงเหนือ ใต้ ภูมิภาคในบริเวณพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC หรือระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก และในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอจังหวัดสงขลา เพื่อพัฒนาประเทศไทยไปสู่ 4.0 ตามนโยบายรัฐบาล และส่วนการกระจายอำนาจจะต้องเป็นการกระจายทั้งอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบ รวมทั้งการแก้ปัญหาเดิมจะต้องไม่สร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาอีก

ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และพลเอก บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ได้เปิดเผยถึงผลการหารือของคณะกรรมการฯสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) มีจำนวน 36 คน ประกอบด้วย ประธานกรรมการ (ที่ไม่ใช่ฝ่ายตำรวจ)  จำนวน 1 คน คือ พลเอก บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเข้าใจงานตำรวจ และงานที่เกี่ยวกับการจัดระเบียบองค์กร และความมั่นคง ส่วนกรรมการประกอบด้วย กรรมการโดยตำแหน่ง จำนวน 5 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และอัยการสูงสุด กรรมการฝ่ายตำรวจ จำนวน 15 คน กรรมการฝ่ายผู้ทรงคุณวุฒิ (พลเรือน) จำนวน 15 คน ทั้งนี้ โครงสร้างของการแต่งตั้งกรรมการดังกล่าวเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กำหนด และเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งนักวิชาการ และสื่อมวลชน เป็นต้น

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้ขอให้คณะกรรมการฯสรุปเรื่องที่คณะกรรมการหรือคณะบุคคลต่างๆได้ทำการศึกษาวิจัยการปฏิรูปตำรวจไว้แล้วนำมาประกอบการพิจารณาของที่ประชุมในครั้งต่อไป โดยนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1) ประเด็นเกี่ยวกับองค์กร โดยให้พิจารณาว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติควรจะสังกัดหน่วยใด เช่น ให้อยู่แบบเดิม หรือจะไปอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม จังหวัด ท้องถิ่น รวมถึงการตั้งเป็นกระทรวง หรือทบวง ตลอดจนพิจารณาถึงความเหมาะสมในเรื่องที่ควรจะกระจายออกไป หรือควรมารวมอยู่ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เช่น ตำรวจป่าไม้ ตำรวจรถไฟ  ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ฯลฯ 2) เรื่องกระบวนการยุติธรรม เป็นการพิจารณาอำนาจสอบสวนว่าควรจะอยู่เช่นเดิม หรือควรแยกออกไป รวมถึงการประสานงานของตำรวจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงมหาดไทย อัยการสูงสุด และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ควรจะทำงานเชื่อมโยงหรือแยกกันอย่างไร และ 3) เรื่องการบริหารงานบุคคล เช่น การแต่งตั้ง โยกย้าย การคัดบุคคลเข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลักสูตรโรงเรียนนายร้อยเหมาะสมทันสมัยหรือไม่ การเลื่อน ลด ปลด ย้าย วินัย การให้ตำรวจมีเครื่องแบบ การโอนตำรวจไปอยู่กระทรวงอื่นจะเทียบกันอย่างไร รวมถึงการจัดสรรพกำลังเสริมการทำงานของตำรวจ เป็นต้น

สำหรับการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ครั้งนี้เป็นเพียงการหารือเบื้องต้น โดยการประชุมครั้งแรกกำหนดจะจัดขึ้นในวันพุธที่ 12 กรกฎาคม 2560 ที่กองบัญชาการกองทัพไทย โดยที่ประชุมจะมีการพิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการต่างๆ รวมถึงคณะอนุกรรมการรับฟังความเห็น โดยจะเชิญอดีตอธิบดีกรมตำรวจ และอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาร่วมให้ความเห็นต่อที่ประชุมด้วย พร้อมไปรับฟังความเห็นจากข้าราชการตำรวจ  สื่อมวลชน และประชาชนกลุ่มต่างๆ จากนั้นการประชุมครั้งต่อไปจะประชุมสัปดาห์ละ 1 หรือ 2 ครั้ง โดยจะพิจารณาหมุนเวียนไปตามสถานที่ต่างๆตามความเหมาะสมต่อไป

People unity news online : post 11 กรกฎาคม 2560 เวลา 12.00 น.

“บิ๊กตู่” อนุมัติงบลงพัฒนา 6 ภาค-พัฒนาจังหวัด-พัฒนากลุ่มจังหวัด 1.1 แสนล้านบาท

People unity : นายกรัฐมนตรีประชุมร่วม ก.บ.ภ.- ก.น.จ. ครั้งที่ 1/62 เห็นชอบแผนพัฒนา 6 ภาค ปี 60 – 65 พร้อมเห็นชอบแผนปฏิบัติการภาคทั้ง 6 ภาค ประจำปีงบฯ 63 จำนวน 1,424 โครงการ วงเงิน 66,538.1 ลบ.

เมื่อวานนี้ (6 มี.ค. 2562) เวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมร่วมคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาค (ก.บ.ภ.) คณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.) ครั้งที่ 1/2562 โดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม โดยนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำความสำคัญของการประชุมครั้งนี้ ซึ่งจะมีการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563 ของภาค กลุ่มจังหวัดและจังหวัด ที่จะเป็นการกระจายรายได้สู่พื้นที่ โดยต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณและการบริหารจัดการรายได้ของภาครัฐ ซึ่งมีมติที่สำคัญ ดังนี้

ที่ประชุมเห็นชอบแผนพัฒนาภาค พ.ศ.2560 – 2565 ของทั้ง 6 ภาค (ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ กลาง ตะวันออก ใต้ และใต้ชายแดน) ซึ่งได้มีการทบทวนสาระสำคัญให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งเห็นชอบกรอบแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจหลักในพื้นที่ภาคเหนือ (Northern Economic Cluster: NEC) ให้เป็นพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ โดยเน้นการพัฒนาสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีคุณค่าเชิงวัฒนธรรมระดับโลก พัฒนาเศรษฐกิจฐานชีวภาพ และเร่งรัดแก้ไขปัญหาความยากจนและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่สูง และกรอบแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจหลักในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Cluster: NeEC)  ซึ่งเน้นการผลิตสินค้าอัตลักษณ์เฉพาะคุณภาพสูง พัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและฐานชีวภาพ ส่งเสริมการท่องเที่ยวพื้นที่ริมแม่น้ำโขง รวมทั้งอุตสาหกรรมการบินและอุตสาหกรรมระบบราง ทั้งนี้ แผนพัฒนาดังกล่าวจะเป็นแนวทางการดำเนินงานเพื่อสร้างโอกาสการพัฒนา ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างภาค และสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคม โดยควรมีการสร้างความเข้าใจเพื่อนำแผนไปสู่การปฏิบัติของทุกภาคส่วน  และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผน

พร้อมกับที่ประชุมเห็นชอบแผนปฏิบัติการภาค ทั้ง 6 ภาค ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ซึ่งเป็นโครงการของส่วนราชการที่มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของแต่ละภาค จำนวน 1,424 โครงการ วงเงินรวม 66,538.1 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมเห็นชอบแผนพัฒนาจังหวัดและแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด พ.ศ.2561-2565  รวมทั้งแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ของ 76 จังหวัด และ 18 กลุ่มจังหวัด รวมทั้งสิ้น 2,125 โครงการ วงเงินรวม 47,678.9 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการระดับจังหวัด จำนวน 1,884 โครงการ วงเงินรวม 35,408.7 ล้านบาท และโครงการกลุ่มจังหวัด จำนวน 241 โครงการ วงเงินรวม 12,270.2 ล้านบาท ทั้งนี้ เป็นโครงการที่อยู่ในกรอบวงเงิน จำนวน 1,500 โครงการ วงเงินรวม 27,860.4 ล้านบาท โดยไม่รวมงบบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัด 783 ล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานสำคัญตามมติคณะรัฐมนตรี และข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ในเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวริมแม่น้ำโขงใน 7 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การพัฒนาอุตสาหกรรมการบินในจังหวัดนครพนม การพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน  และการจัดทำแผนแม่บทการก่อสร้างระบบระบายน้ำถนนเลียบทางรถไฟฝั่งตะวันออก (ระยะที่ 1) เมืองพัทยา

การปฏิรูป/ยุทธศาสตร์ชาติ : “บิ๊กตู่” อนุมัติงบลงพัฒนา 6 ภาค-พัฒนาจังหวัด-พัฒนากลุ่มจังหวัด 1.1 แสนล้านบาท

People unity : post 7 มีนาคม 2562 เวลา 09.30 น.

นายกฯระบุจำเป็นต้องจ้างครูที่ไม่ได้จบครูในสาขาที่ครูไม่ชำนาญ

People unity news online :  เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 เวลา 14.00 น. ณ บริเวณห้องโถงชั้นล่าง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงกรณีการคัดค้านการสอบบรรจุครูผู้ช่วยที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูว่า ทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าเรามีการปรับปรุง การพัฒนา และปฏิรูประบบการศึกษา ซึ่งจะต้องเริ่มดูตั้งแต่ครู ว่ามีเพียงพอหรือไม่ มีคุณภาพหรือไม่ สาขาที่เป็นความต้องการของประเทศมีเพียงพอหรือไม่ ถ้าพูดถึงจำนวนคนที่จบครูออกมามีมากพอสมควร แต่บางวิชาสอนไม่ได้ เพราะไม่ได้จบด้านนั้นมา จึงต้องหาครูที่จบมาตรงกับวิชาเหล่านั้นที่ยังขาดอยู่ ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการมีความเห็นเสนอมาว่าถ้าต้องการผลิตบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของประเทศ เช่น ด้านเคมี วิทยาศาสตร์ ซึ่งคนที่จบด้านครูอาจไม่มีความชำนาญ ดังนั้น บุคคลด้านนี้จะมีจำนวนไม่มาก เฉพาะที่ขาดแคลนอยู่ ซึ่งเมื่อเข้ามาทำงานแล้วไม่ใช่ว่าบรรจุได้เลย ก็ต้องมีการทดลองงานก่อนประมาณ 2 ปี ระหว่างการทดลองงานก็ต้องมีการประเมิน จึงต้องไปสอบให้ผ่านกฎเกณฑ์ถึงจะได้รับการบรรจุให้เป็นข้าราชการ

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลจะไม่ทำอะไรให้ใครเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครู เรื่องแพทย์ คือทุกคนต้องยอมรับว่าเรากำลังขาดแคลนบางสาขาวิชาอยู่ เราต้องเตรียมคนให้พร้อม รองรับตลาดแรงงาน ไม่เช่นนั้นก็จะถูกต่างชาติแย่งงานไปหมด

People unity news online : post 30 มีนาคม 2560 เวลา 20.18 น.

ที่ประชุม ครม.ปรับแก้ (ร่าง) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เปลี่ยนระยะเวลาเป็นปี 2561-2580

People unity news online : คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แถลงข่าวความคืบหน้าของการขับเคลื่อน (ร่าง) ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี พ.ศ. (2561-2580) หลังเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. เพื่อนำประเทศชาติและประชาชนสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 เวลา 15.30 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมชาติ ได้แถลงข่าวผลการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยสรุปความคืบหน้าของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี สาระสำคัญ ดังนี้

การประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ (22 พ.ค.61) ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยที่ประชุมต่างได้แสดงความคิดเห็นที่หลากหลายพร้อมให้นำไปปรับ (ร่าง) ยุทธศาสตร์ชาติฯ ให้แล้วเสร็จ พร้อมนำกลับมาให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง ในวันอังคารที่ 5 มิถุนายน 2561

ทั้งนี้ ความคิดเห็นของคณะรัฐมนตรีที่สมควรให้ปรับปรุงร่างยุทธศาสตร์ชาติฯ โดยสรุป คือ

1.เห็นควรปรับปรุงในรายละเอียดของยุทธศาสตร์ชาติให้มีระดับของเนื้อหาสาระเป้าหมายและตัวชี้วัดที่มีความสอดคล้องกัน

2.เห็นควรปรับปรุงความทับซ้อนกันระหว่างยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้าน ประกอบด้วย การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การส่งเสริมความเสมอภาค การจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยการพัฒนาด้านการเกษตร การพัฒนาด้านพลังงาน การพัฒนาจังหวัดและเมืองรอง ตลอดจนการบริการของภาครัฐ รวมทั้งการจัดทำฐานข้อมูลหรือฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อให้ (ร่าง) ยุทธศาสตร์ชาติมีความกระชับและชัดเจนมากยิ่งขึ้น

3.เห็นควรมีการแก้ไขความไม่สอดคล้องกันของประเด็นการพัฒนาระหว่างยุทธศาสตร์ให้เป็นไปอย่างมีระบบ

4.เห็นควรปรับปรุงแนวทางการพัฒนาที่เป็นลักษณะตัวชี้วัด พร้อมมีการระบุตัวอย่างในรายละเอียดให้มีความเหมาะสมกับกรอบระยะเวลาดำเนินการ 20 ปี โดยมีการนำประเด็นที่สอดคล้องไปไว้ในการจัดทำแผนแม่บท

5.เห็นควรปรับปรุงแก้ไขการใช้คำศัพท์ที่มีความแตกต่างกันให้เป็นไปในแนวทางที่เหมาะสมเพื่อความชัดเจนและความเข้าใจที่ถูกต้อง

และ 6.เห็นควรเปลี่ยนกำหนดช่วงระยะเวลาการบังคับใช้ยุทธศาสตร์ชาติ เป็น พ.ศ.2561-2580 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

เมื่อ (ร่าง) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในวันที่ 5 มิถุนายน 2561 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ก็จะนำขึ้นกราบบังคมทูล ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษาต่อไป

อนึ่ง (ร่าง) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาประเทศชาติ มีความมั่นคง ประชาชนมีความสุข มีการยกระดับศักยภาพในหลากหลายมิติ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการพัฒนาคนในทุกมิติและในทุกช่วงวัยให้เป็นคนดี คนเก่ง และมีคุณภาพ ตลอดจนมีการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมและมีการสร้างการเติบโต บนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นภาครัฐของประชาชนเพื่อประชาชนและยึดถือประโยชน์ส่วนรวม

ทั้งนี้ (ร่าง) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ประกอบด้วย แกนหลักสำคัญของยุทธศาสตร์ 6 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านความมั่นคง 2.ด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน 3.ด้านการพัฒนาคนและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 4.ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 5.ด้านการสร้างความเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 6.ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

People unity news online : post 23 พฤษภาคม 2561 เวลา 10.00 น.

ชูพัฒนาภาคใต้เป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก-ศูนย์กลางผลิตภัณฑ์ยางและปาล์มน้ำมัน

People unity news online : นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย และกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน

วันนี้ (21 สิงหาคม 2561) เวลา 09.10 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 4 อาคารวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี สงขลา) และกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง สตูล) ร่วมกับคณะรัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนภาคเอกชน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้แทนเกษตรกร ทั้งนี้ เพื่อให้การพัฒนาสอดคล้องกับเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ในการเป็นเมืองท่องเที่ยวพักผ่อนตากอากาศระดับโลก และเป็นศูนย์กลางผลิตภัณฑ์ยางพาราและปาล์มน้ำมันของประเทศ รวมถึงเป็นเมืองเศรษฐกิจเชื่อมโยงการค้า การลงทุนกับภูมิภาคอื่นของโลก โดยที่ประชุมเห็นชอบตามข้อเสนอการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ ดังนี้

1.ด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ สนับสนุนด้านอุตสาหกรรม การค้า การลงทุน และการค้าชายแดน ที่ประชุมเห็นชอบสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศที่สำคัญเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยง รวมถึงเพื่อพัฒนาโครงข่ายเส้นทางเพื่อเชื่อมต่อในเชิงพื้นที่แนวตะวันตก – ตะวันออก และแนวเหนือใต้ โดยนายกรัฐมนตรีสั่งการให้จัดแผนงานโครงการให้ชัดเจน คำนึงถึงความคุ้มค่าการใช้จ่ายงบประมาณ และผลประโยชน์ที่จะได้รับเป็นหลัก รวมถึงให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาของรัฐบาล

2.ด้านการท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวของภาคใต้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพชั้นนำของโลก โดยกำหนดให้มีการยกระดับคุณภาพบริการ และส่งเสริมธุรกิจต่อเนื่องในแหล่งท่องเที่ยว คำนึงถึงความสามารถในการรองรับของพื้นที่อย่างยั่งยืน ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการพัฒนา ได้แก่

2.1 การพัฒนาศักยภาพการรักษาความปลอดภัยในเมืองท่องเที่ยวหลัก โดยใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมทั้งทางบกและทางน้ำ 2.2 การพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยว โครงการยกระดับพัฒนาแหล่งสปาวารีบำบัดน้ำพุร้อน พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวสุขภาพให้มีคุณภาพมาตรฐาน และเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวสุขภาพในภาคใต้ฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย 2.3 วางแผนศึกษาพัฒนาเส้นทางเพื่อการท่องเที่ยว เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวทะเลสาบสงขลา นครศรีธรรมราช – พัทลุง – สงขลา และปรับปรุงภูมิทัศน์ในส่วนที่ไม่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้บูรณาการทำงานขับเคลื่อนไม่ว่าจะเป็นการรักษาความปลอดภัย กำหนดจุดให้ชัดเจน มีแผนเตรียมการรองรับสถานการณ์ พร้อมกับให้ช่วยกันดูแลเรื่องความสะอาดของสถานที่ท่องเที่ยว โดยเฉพาะเรื่องขยะต้องมีการบริหารจัดการให้ดี

3.ด้านการยกระดับการผลิตสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้เป็นฐานเศรษฐกิจที่สร้างรายได้อย่างยั่งยืน พัฒนาเขตอุตสาหกรรมโอเลโอเคมีจากปาล์มน้ำมันแบบครบวงจร เพื่อให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของภาค ประกอบกับศักยภาพทางด้านการเกษตรที่ค่อนข้างสูงในพื้นที่กลุ่มจังหวัด ที่ประชุมเห็นชอบตามที่เสนอ ดังนี้

3.1 จัดตั้ง Oil Palm City (สุราษฎร์ธานี) 3.2 สนับสนุนการทำเกษตรแบบผสมผสานหรือ “วนเกษตร” ในส่วนยางพาราและส่วนปาล์มน้ำมัน 3.3 พัฒนาฟาร์มต้นแบบที่มีความแม่นยำสูง เพื่อส่งเสริมศักยภาพการผลิตทางการเกษตร 3.4 ส่งเสริมให้เป็นเมืองนวัตกรรมและการออกแบบไม้ยางพาราเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและการจัดทำมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และรองรับ Industry 4.0 3.5 ส่งเสริมและการพัฒนางานวิจัยทางด้านยาง ปาล์ม พืชผักสมุนไพร ปศุสัตว์ และประมง เพื่อรองรับ Agro – Bio – Economy รวมทั้งสนับสนุนการผลิตอาหารปลอดภัยเพื่อการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพระดับโลก 3.6 การจัดตั้งโรงงานต้นแบบสินค้าการเกษตร 4.0 แบบครบวงจร เพื่อยกระดับเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ คลัสเตอร์อุตสาหกรรมเกษตร 3.7 การส่งเสริมการทำระบบแก๊สชีวภาพและชีวมวลจากกระบวนการผลิตปาล์มและยางพารา เพื่อเป็นพลังงานทดแทนในระบบอุตสาหกรรมและตามแนวประชารัฐ 3.8 การจัดตั้งศูนย์ยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนตามแนวประชารัฐและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนทางการเกษตร และ 3.9  การพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลด้านการเกษตร สินค้าและบริการภาคใต้ โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ขับเคลื่อนให้ได้โดยเร็ว สร้างกลไกทางการเกษตร กำหนดพื้นที่เพาะปลูก มีการปลูกพืชเสริมพืชหลัก รวมถึงการรวมกลุ่มทำเกษตรแปลงใหญ่ นำข้อมูลบิ๊กดาต้ามาใช้ประโยชน์ ใช้ข้อมูลแต่ละหน่วยงานมาวิเคราะห์ รวบรวมเป็นข้อมูลนำมาตัดสินใจ เพื่อจะได้ส่งเสริมการทำเกษตรให้ตรงจุด

4.ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่ประชุมเห็นชอบสนับสนุนส่งเสริมให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ โดยเร่งรัดก่อสร้างโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เร่งรัดการพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีระดับภาคใต้ตอนบน และเร่งรัดการเพิ่มประสิทธิภาพด้านเครื่องมือการรักษาพยาบาลและคุณภาพด้านการบริหารของโรงพยาบาลมหาราช นครศรีธรรมราช รวมทั้งส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนในพื้นที่กลุ่มจังหวัด โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขรับไปพิจารณาเรื่องงบประมาณ

5.ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ประชุมได้กำหนดแนวทางการพัฒนา ดังนี้

5.1 การขุดลอกร่องน้ำชายฝั่งทะเลเพื่อเพิ่มศักยภาพ 5.2 การบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัย ประกอบด้วย ขอรับการสนับสนุนศึกษาและออกแบบแนวทางการป้องกันปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งภาคใต้แบบครบวงจร รวมถึงการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรในเขตพื้นที่จังหวัดพังงา และจังหวัดระนอง โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินตามแผนงาน และให้พิจารณาดำเนินการตามความเร่งด่วน ตรงความต้องการของประชาชน

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวมอบนโยบายตอนหนึ่งว่า การลงพื้นที่ประชุม ครม. ครั้งนี้ไม่ใช่มาเพื่อแจกเงินหรือแจกงบประมาณ แต่มาเพื่อทำให้เกิดความเชื่อมโยงในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว ท่าเรือ และสนามบินให้เกิดห่วงโซ่มูลค่า สร้างรายได้ในพื้นที่ต่างๆมากขึ้น รวมถึงเพื่อมารับฟังข้อเสนอแนะและปรับแผนการทำงานให้ตรงกัน โดยเน้นการทำงานแบบบูรณาการ ซึ่งการใช้งบประมาณต้องคุ้มค่า ลดความซ้ำซ้อน ตรงตามความต้องการของประชาชนมากที่สุด พร้อมกับสั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่ลงทะเบียนแหล่งที่มาของพืชการเกษตรหลัก เพื่อบ่งบอกถึงแหล่งการเพาะปลูกพืชการเกษตร เพราะต่างชาติให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว หากไม่พบแหล่งที่มาของพืชการเกษตรหรือปลูกในพื้นที่ผิดกฎหมาย จะไม่มีการซื้อสินค้าเกษตรดังกล่าว พร้อมกับสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสร้างความเข้าใจให้ประชาชนในจังหวัดรับรู้ข้อมูลที่มีความถูกต้อง ผ่านช่องทางต่างๆอย่างบูรณาการ พร้อมกับสร้างการเรียนรู้ให้กับประชาชน และทำประชาธิปไตยไม่ให้เป็นประชานิยม จะต้องเป็นประชาธิปไตยที่มาจากความยินยอมของประชาชน โดยการประชุมในวันนี้ที่ต้องใช้เวลามากกว่าปกติเพราะต้องการทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วน เพื่อให้มีความเข้าใจที่ตรงกัน นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ

People unity news online : post 21 สิงหาคม 2561 เวลา 13.10 น.

คสช.ออกคำสั่ง ม.44 ให้คนไม่ได้เป็นข้าราชการเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยและราชภัฎได้

People unity news online :  เมื่อวาน (28 มีนาคม 2560) ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยว่า ที่ประชุม คสช. ได้มีการพิจารณาคำสั่ง คสช. เรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา อธิการบดีของมหาวิทยาลัย และราชภัฎต่างๆ จะมีระเบียบหลักเกณฑ์ และกฎหมายของตนเองในการดำเนินการ ว่าสามารถที่จะเลือกบุคคลใดก็ได้ที่มีคุณสมบัติมาทำหน้าที่ดังกล่าว โดยไม่จำเป็นว่าต้องเป็นข้าราชการที่ยังไม่เกษียณอายุ แต่กฎระเบียบนี้ไปขัดกับกฎหมายกลางในเรื่องของระเบียบข้าราชการครู ซึ่งอธิการบดีจะต้องเป็นข้าราชการ ดังนั้น คนที่ไม่ได้เป็นข้าราชการในกฎหมายกลางฉบับดังกล่าวจึงไม่สามารถทำหน้าที่เป็นอธิการบดีได้ โดยวันนี้ ที่ประชุม คสช. ได้มีคำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 เพื่อเปิดโอกาสสำหรับคนที่ไม่ได้เป็นข้าราชการและเป็นข้าราชการสามารถที่ทำหน้าที่เป็นอธิการบดีได้ จากเดิมที่ตำแหน่งอธิการบดีต้องเป็นข้าราชการเท่านั้น การเปิดโอกาสดังกล่าวจะทำให้สามารถเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถได้มากยิ่งขึ้น

People unity news online : post 28 มีนาคม 2560 เวลา 11.03 น.

รมว.ศึกษาฯเผย 2 มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก เตรียมเปิดสอนในไทย

People unity news online : รมว.ศึกษาธิการ เผยมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก 2 แห่ง “คาร์เนกีเมลลอน” จากสหรัฐอเมริกา และ “มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน” เตรียมเปิดการเรียนการสอนในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2560 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน (Carnegie Mellon University) จากสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงติดอันดับต้นๆของโลก อาจมีขนาดไม่ใหญ่ แต่มีชื่อเสียงเป็นอันดับหนึ่งทางด้าน Robotics และอันดับสองด้าน Computer Science จะเข้ามาเปิดการเรียนการสอนในประเทศไทย ซึ่งจากการได้ไปพบปะกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยดังกล่าวเมื่อเร็วๆนี้ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนยืนยันถึงความประสงค์ดังกล่าว เนื่องจากมีความสัมพันธ์กับนักเรียนไทย ประกอบกับคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 29/2560 เรื่อง การส่งเสริมการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2560 ทำให้การบริหารจัดการมีความคล่องตัว ไม่ต้องขึ้นกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) หรือพระราชบัญญัติการอุดมศึกษาฯ

โดยจะเปิดการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2561 ซึ่งในปีแรกนี้จะเปิดรับนักศึกษาระดับปริญญาเอก จำนวน 3 คน ระดับปริญญาตรี จำนวน 10 คน และในปีต่อไปจะเปิดรับระดับปริญญาเอก 10 คน ระดับปริญญาโท 25 คน และจะค่อยเพิ่มจำนวนขึ้นต่อไป โดยนำหลักเกณฑ์การรับนักศึกษา ระบบการเรียนการสอน และการประเมินคุณภาพของมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนทั้งหมด ทั้งนี้ เมื่อเรียนจบนักศึกษาจะได้รับปริญญาจากมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ซึ่งเป็นปริญญาที่มีศักดิศรีเทียบเท่ากับที่คาร์เนกีเมลลอนมอบให้นักศึกษาของตนในสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นจะร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในการใช้สถานที่และอาจารย์ร่วมกัน โดยอาจารย์ของไทยที่จะสอนนั้นต้องไปร่วมสอนในมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งต้องได้ใบรับรองก่อนจึงจะสามารถสอนได้

ทั้งนี้ คาดว่าภายในเดือนนี้ จะนำข้อเสนอหลักเกณฑ์การจัดตั้งมหาวิทยาลัยต่างชาติที่มีศักยภาพสูงในประเทศไทย เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบต่อไป

อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยในประเทศไทยไม่ต้องกังวลว่าจะมาเปิดแข่ง เนื่องจากเป็นสาขาวิชาที่ประเทศไทยยังไม่เปิดสอน ซึ่งการเปิดการเรียนการสอนในสาขาดังกล่าว มีภาคเอกชนรายใหญ่หลายรายพร้อมสนับสนุนด้วย เนื่องจากเป็นสาขาที่เป็นนวัตกรรมชั้นสูง ตอบโจทย์การผลิตและพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยได้ นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan University : NTU) สนใจที่จะมาเปิดการเรียนการสอนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่เมืองการศึกษาอมตะนคร จ.ชลบุรี

นพ.ธีระเกียรติ กล่าวด้วยว่า มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนมีสาขาหลายประเทศทั่วโลก เช่น ที่ประเทศรวันดา โปรตุเกส กาต้าร์ เหตุที่สนใจมาเปิดที่ประเทศไทยเนื่องจากรักและชื่นชอบนักศึกษาไทย ทั้งนี้มีนักศึกษาไทยที่เคยเรียนในมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน จำนวน 342 คน ถือเป็นโอกาสในการระดมทุนจากอดีตนักศึกษามาสนับสนุนมหาวิทยาลัย ซึ่งในเดือนมกราคม 2561 จะมีการจัดการประชุมครั้งใหญ่สำหรับศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนจากทั่วโลกในประเทศไทย ถือเป็นข่าวดีสำหรับประเทศไทยที่ลูกหลานจะได้เรียนในมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพระดับโลกทั้งสองแห่ง ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องการเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้มีโอกาสเข้าศึกษาในสถานศึกษาที่มีศักยภาพสูงดังกล่าว อันเป็นเครื่องมือและกลไกสำคัญในการผลิตและพัฒนาทรัพยากรบุคคลในสาขาที่เป็นความต้องการของตลาดแรงงาน และมีความสำคัญต่อการรองรับการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน

People unity news online : post 16 ตุลาคม 2560 เวลา 10.10 น.

นายกฯ ชู ป.ย.ป. จะทำให้ประเทศก้าวหน้าเหมือนจีน

People unity news online : วันนี้ (21 เมษายน 2560) เวลา 09.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ครั้งที่ 1/2560 เพื่อติดตามความก้าวหน้าแผนการดำเนินงานของคณะกรรมการภายใต้ ป.ย.ป. ทั้ง 4 คณะ คือคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการเตรียมการเพื่อความสามัคคีปรองดอง  โดยที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าแผนการดำเนินงานของคณะกรรมการภายใต้ ป.ย.ป ทั้ง 4 คณะ

คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) เป็นกลไกสำคัญของรัฐบาล มีเป้าหมายเพื่อการเร่งรัดผลักดันการปฏิรูปให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมก่อนการเลือกตั้ง และเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อให้กระบวนการปฏิรูป การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดองที่ดำเนินงานอยู่โดยรัฐบาลปัจจุบัน เพื่อส่งต่อภารกิจไปสู่รัฐบาลหลังการเลือกตั้งได้อย่างราบรื่นและเกิดความต่อเนื่องของการดำเนินงาน เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นำไปสู่การพัฒนาให้คนไทยมีความสุข และตอบสนองต่อการบรรลุซึ่งผลประโยชน์แห่งชาติในการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างรายได้ระดับสูงเป็นประเทศพัฒนาแล้ว และสร้างความสุขของคนไทย สร้างสังคมให้มีความมั่นคง เสมอภาคและเป็นธรรม ประเทศสามารถแข่งขันได้ในระบบเศรษฐกิจ

โดยนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวมอบนโยบายตอนหนึ่งว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมขนาดใหญ่ เพราะประเทศจะเดินหน้าได้ด้วยงานของรัฐบาลที่ทำอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาและเดินหน้าประเทศระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว รวมถึงร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติที่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระแรกเมื่อวานนี้ ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก สนช. สปท. โดยส่วนตัวเห็นว่าข้อเสนอหลายอย่างนั้นมีประโยชน์ แต่อาจจะต้องหารืออีกครั้ง เพื่อให้มีความมั่นใจว่ากฎหมายดังกล่าวจะสามารถบังคับใช้ได้ในอนาคต ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการปิดกั้นการทำงานของฝ่ายใดแต่เพื่อวางกรอบการทำงาน ซึ่งยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีอาจจะดูยาวนานแต่ในทางปฏิบัติอาจจะไม่นานนัก เพราะถือว่าเป็นระยะแรกในการวางรากฐานและปฏิรูปประเทศเหมือนกับประเทศจีน ซึ่งต้องใช้เวลากว่า 10 ปีในการยกระดับรายได้ของประเทศ จนสามารถยกระดับจนรายได้เป็นอันดับสองของโลก ในส่วนของประเทศไทยนั้นคงจะต้องใช้เวลานานกว่านั้น แต่เชื่อว่าใน 5 ปีแรกนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการวางรากฐานของประเทศ ซึ่งต้องอาศัยความรู้จากทั้งฝ่ายการเมือง ข้าราชการ ภาคประชาชนในรูปแบบของประชารัฐ ขณะเดียวกัน หากใครที่มีความคิดเห็นหรือข้อเสนอทางรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งพร้อมที่จะรับฟังแนวความคิดที่เป็นประโยชน์ของทุกคน

“ขอให้คณะกรรมการภายใต้ ป.ย.ป.ทั้ง 4 คณะให้ทำงานประสานสอดคล้องกันแบบบูรณาการอย่างเต็มที่ให้เกิดเป็นรูปธรรม สร้างความชัดเจนให้กับประชาชน และจัดคณะกรรมการลงพื้นที่สร้างความเข้าใจต่อประชาชน พร้อมทั้งขอให้กำหนดความสำคัญของแผนการดำเนินงาน กำหนดระยะเวลาการดำเนินงานให้ชัดเจน นำไปขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติในพื้นที่และในสังคมให้รับรู้สร้างแนวคิดใหม่ๆขึ้นมา เกิดวิสัยทัศน์ในการทำงานอย่างถูกต้อง พร้อมขอความร่วมมือภาคเอกชนช่วยกันสร้างความเข้าใจต่อนักลงทุนให้เกิดการลงทุนในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยมีแนวโน้มในทางที่ดีทั้งเรื่องความเชื่อมั่น และมูลค่าการส่งออก”

People unity news online : post 21 เมษายน 2560 เวลา 16.03 น.

Verified by ExactMetrics