วันที่ 20 เมษายน 2024

“ประวิตร” เปิดผลงานป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ของไทย พร้อมดันไทยสู่ “เทียร์ 2” ในปี 65

People Unity News : วันนี้ (11 พฤษภาคม 2565) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดี และการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ. 2565 รวมทั้งแถลงผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของไทย ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้หน่วยงานและผู้ปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ได้รับทราบถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจังให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน และให้เจ้าหน้าที่ได้นำแผนปฏิบัติการฯ ใช้เป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติได้ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของแผนปฏิบัติการฯ และทำงานอย่างประสานสอดคล้องในทิศทางเดียวกันต่อไป โดยมี นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานอัยการสูงสุด รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และองค์การระหว่างประเทศเข้าร่วมประชุมด้วย

รองนายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่ารัฐบาลตระหนักถึงความร้ายแรงของอาชญากรรมค้ามนุษย์ โดยประกาศให้การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี 2558 และกำหนดให้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง บูรณาการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไป และสร้างเครื่องมือเพื่อกำหนดทิศทางการทำงานของทุกภาคส่วนให้ประสานสอดคล้องกัน โดยได้รับการสนับสนุนทางวิชาการในการพัฒนากลไกการส่งต่อระดับชาติ มาตรฐาน และวิธีปฏิบัติ คู่มือต่างๆ จากองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จในวันนี้ รัฐบาลจึงได้ประกาศใช้แผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดี และการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ. 2565 เพื่อกำหนดวิธีและขั้นตอนปฏิบัติที่ชัดเจนให้ผู้ปฏิบัติทำงานได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และนำไปสู่การยกระดับมาตรฐานการป้องกัน และปราบปรามการค้ามนุษย์ตามหลักสิทธิมนุษยชน และพันธกรณีระหว่างประเทศ ซึ่งมุ่งหวังและเชื่อมั่นว่าแผนปฏิบัติการฯฉบับนี้จะเป็นเครื่องมือให้ผู้ปฏิบัติงานในทุกระดับได้ใช้ปฏิบัติงานในเชิงรุกอย่างมีประสิทธิภาพ มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากลต่อไป

จากนั้น รองนายกรัฐมนตรีได้แถลงผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยย้ำถึงการดำเนินงานปี 2564 จนถึงปัจจุบันว่า รัฐบาลขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกัน และปราบปรามการค้ามนุษย์ตามข้อเสนอแนะสำคัญ 15 ข้อ ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกา โดยมีผลความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรม อาทิ จัดทำมาตรฐานการปฏิบัติงาน และคู่มือสำหรับเจ้าหน้าที่ จัดทำแนวทางกลไกการส่งต่อระดับชาติ กำหนดให้นายจ้างต้องจัดทำสัญญาจ้างเป็นภาษาไทย และภาษาที่ลูกจ้างซึ่งเป็นคนต่างด้าวเข้าใจได้ การดำเนินการกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ริเริ่มโครงการสำคัญ (Flagship Project) เพิ่มเติม เพื่อยกระดับมาตรฐานการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างยั่งยืน ได้แก่ จัดทำแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดี และการช่วยเหลือ คุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ. 2565 จัดตั้งศูนย์คัดแยกผู้เสียหายระดับชาติ จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ ออกมาตรการเชิงรุกป้องกันเด็กจากการค้ามนุษย์ ทั้งนี้ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่มีการประกาศมาตรการล็อคดาวน์ส่งผลให้อาชญากรรมต่างๆลดลงทุกประเภทในช่วงปี 2563 และ 9 เดือนแรกของปี 2564 อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการในช่วงตุลาคม – ธันวาคม 2564 สามารถสืบสวนจับกุมคดีค้ามนุษย์ได้ถึง 188 คดี สูงกว่าปี 2563 โดยเฉพาะคดีทางสื่อออนไลน์ และได้ปรับรูปแบบการทำงานเป็นแบบออนไลน์ ได้แก่ การคัดแยกผู้เสียหาย การประชุมค่าสินไหมทดแทน การพิจารณาคดีของศาล เป็นต้น

ในตอนท้าย รองนายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงานทุกหน่วยงานที่ทุ่มเททำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยหากพิจารณาจากผลการดำเนินงานที่ได้กล่าวมา แสดงให้เห็นถึงความพยายามอย่างชัดเจนของรัฐบาลในการป้องกัน และปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างยั่งยืน ดังนั้นประเทศไทยสมควรได้รับการเลื่อนระดับเข้าสู่ Tier 2 ในปีนี้

Advertisement

“ประยุทธ์” ยินดี 4 มหาวิทยาลัยไทย ติด Top 100

People Unity News : 4 มิถุนายน 2566 โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ยินดี 4 มหาวิทยาลัยไทย จุฬาฯ-มหิดล-มช.-มข. สุดโดดเด่นในเวทีโลก ติดอันดับ Top 100 ในการจัดอันดับโลกด้านความยั่งยืนปี 2566

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่ Times Higher Education (THE) ซึ่งเป็นผู้จัดอันดับสถาบันอุดมศึกษาที่ดีที่สุดโลกที่เป็นที่ยอมรับแห่งหนึ่ง ได้ประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) หรือ THE Impact Rankings ประจำปี 2566 โดยมีสถาบันอุดมศึกษาทั่วโลก เข้าร่วมการจัดอันดับทั้งสิ้น 1,591 แห่ง จาก 112 ประเทศ และสถาบันอุดมศึกษาไทยเข้ารับการจัดอันดับทั้งสิ้น 65 แห่ง เพิ่มขึ้นจากเดิมในปี 2022 ซึ่งมีจำนวน 52 แห่ง โดยสถาบันอุดมศึกษาไทยในปีนี้ที่ติดอันดับ Top 100 แบบคะแนนรวม มีจำนวน 4 สถาบัน เพิ่มจากปีที่แล้วที่ติดอันดับ Top 100 มีจำนวน 2 สถาบัน ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ติดอันดับที่ 17 มหาวิทยาลัยมหิดล ติดอันดับที่ 38 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ติดอันดับที่ 74 และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ติดอันดับที่ 97

นอกจากนี้ ยังมีสถาบันอุดมศึกษาของไทย ที่ได้รับการจัดอันดับ Top 10 ของโลกในด้านต่าง ๆ อีก 6 ประเด็น ดังนี้

-มหาวิทยาลัยมหิดล อันดับที่ 3 ใน SDG3 เรื่องสร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกวัย รวมทั้งอันดับ 5 ใน SDG7 เรื่องสร้างหลักประกันให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ที่ยั่งยืนในราคาที่ย่อมเยาว์ และยังได้อันดับ 5 ใน SDG17 เรื่องเสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

-มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้อันดับที่ 4 ใน SDG1 เรื่องขจัดความยากจนทุกรูปแบบในทุกพื้นที่

-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันดับที่ 7 ใน SDG5 เรื่องบรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศ และเสริมอำนาจให้แก่สตรีและเด็กหญิง และ

-มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้อันดับที่ 9 ใน SDG2 เรื่องยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการและส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน

“นายกฯ ยินดีและชื่นชมสถาบันอุดมศึกษาของไทย ที่มีความโดดเด่นไม่แพ้ชาติใด ทุกสถาบันต่างมีความแตกต่างและความเป็นเลิศที่เฉพาะตัว โดยเฉพาะการมุ่งสู่ความยั่งยืนในทุก ๆ ด้าน รวมทั้งสถาบันอุดมศึกษาของไทยมีการพัฒนาต่อเนื่องอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อให้มีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล ทั้งนี้ ประเทศไทยมีสถาบันอุดมศึกษาที่มีพื้นฐานที่ดี ในการทำงานที่ตอบโจทย์ของประเทศรวมทั้งความยั่งยืนที่กำหนดโดยสหประชาชาติ ซึ่งรัฐบาล และ กระทรวง อว. พร้อมสนับสนุนอย่างเต็มกำลังเพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาไทยก้าวสู่ความสำเร็จและเป็นกลไกสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เพื่อเป้าหมายการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืนต่อไป” นายอนุชา กล่าว

Advertisement

รองโฆษกรัฐบาล แนะคัดทะเบียนราษฎรออนไลน์ ผ่านแอปฯ ThaiD

People Unity News : 3 มิถุนายน 2566 รองโฆษกรัฐบาล แนะประชาชนคัดทะเบียนราษฎรออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชัน ThaiD ประหยัดเวลา ไม่เสียค่าธรรมเนียม แถมคัดทะเบียนราษฎรเวลาไหนก็ทำได้

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดการปฏิบัติงานการทะเบียนราษฎรด้วยระบบดิจิทัล ยกเว้นค่าธรรมเนียมการให้บริการทะเบียนราษฎรด้วยระบบดิจิทัล สำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง แจ้งความคืบหน้าว่าสามารถทำการ คัดทะเบียนราษฎร แบบระบบออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชัน ThaiD ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยได้แล้ว โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

นางสาวรัชดา กล่าวต่อไปว่า ประชาชนสามารถคัดทะเบียนราษฎร เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงการตรวจสอบข้อมูล ชื่อ-นามสกุล, เลขบัตรประจำตัวประชาชน, อายุ, สถานภาพ, ที่อยู่ และรายละเอียดอื่น ๆ ได้ผ่านแอปพลิเคชัน ThaiD สำหรับการคัดรับรองเอกสารทะเบียนราษฎร สามารถเช็กการ คัดรับรองรายการบุคคล (ท.ร.14/1) และการคัดรับรองรายการประวัติบุคคล (ท.ร.12/2) ได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังทำการค้นหาตัวเลขอ้างอิง (ค้นจากตัวเลข Reference) เพื่อทำการตรวจสอบเอกสารจากทางอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักทะเบียนกลาง โดยเอกสารมีอายุการใช้งานได้ไม่เกิน 90 วัน นับจากวันที่ออกหนังสือรับรอง

“รัฐบาลขับเคลื่อนเดินหน้ามุ่งสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล นำเทคโนโลยีระบบดิจิทัลมาใช้ในการปฏิบัติงานในส่วนราชการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ ลดพื้นที่และประหยัดงบประมาณในการจัดเก็บเอกสาร ที่สำคัญเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน การให้บริการทะเบียนราษฎรด้วยระบบดิจิทัลถือเป็นอีกหนึ่งนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนเข้าถึงการบริการภาครัฐได้ง่ายขึ้น ผ่านแอปพลิเคชัน ThaiD ช่วยให้ประชาชนลดภาระค่าใช้จ่ายในการขอรับบริการทะเบียนราษฎร ทั้งค่าใช้จ่ายการเดินทาง และค่าธรรมเนียม ไม่ต้องเสียเวลาไปต่อคิว ประชาชนสามารถจะคัดทะเบียนราษฎรเวลาไหนก็ทำได้” นางสาวรัชดา กล่าว

Advertisement

ก.ศึกษาฯเตรียมมอบของขวัญปีใหม่ “Hi-Speed Internet” เร็วแรงส่งตรงถึงโรงเรียนทั่วไทย

People unity news online : เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ พร้อมด้วย รศ.นพ.โศภณ นภาธร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ได้พบปะพูดคุยและรับฟังปัญหาการใช้งานอินเทอร์เน็ตของโรงเรียนและสถานศึกษาสังกัด ศธ. ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายสำคัญที่จะเริ่มต้นปรับปรุงระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อให้ทุกโรงเรียนและสถานศึกษาทั่วประเทศ สามารถใช้ Hi-speed Internet ในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยบริหารจัดการเพื่อลดความซ้ำซ้อนของการใช้บริการอินเทอร์เน็ต ทั้งจากภาครัฐ (UniNet, เน็ตประชารัฐ) ภาครัฐวิสาหกิจ (TOT, CAT) และภาคเอกชน (TRUE, SAMART, TELECOM, AIS, 3BB) พร้อมจะยกเลิก MOENet ซึ่งไม่ถือเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service provider) แต่เป็นผู้ซื้อสัญญาณจากเอกชนส่งไปยังสถานศึกษาต่างๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้โรงเรียนต้องเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น แถมยังใช้งานได้ไม่คุ้มค่าและไม่เต็มศักยภาพด้วย

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การลงพื้นที่จังหวัดสุโขทัยครั้งนี้ จึงต้องการมาพบปะพูดคุยและรับฟังปัญหาการใช้งานอินเทอร์เน็ตจากผู้บริหารและครูในพื้นที่เอง มาดูให้เห็นถึงสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงของโรงเรียนและสถานศึกษา หลังจากที่ไปดูโรงเรียนบ้านประชาสุขสันต์เป็นจุดแรก และถือเป็นโรงเรียนตัวอย่างขนาดเล็กที่ดี ซึ่งผู้อำนวยการโรงเรียนให้ความสำคัญและมีข้อมูลในการบริหารงาน รู้สภาพปัญหาอินเทอร์เน็ตของโรงเรียนอย่างแท้จริง พร้อมหาแนวทางแก้ไข และเลือกสิ่งที่ดีทีสุดต่อการเรียนการสอนของโรงเรียน

ดังนั้น ตั้งแต่ปีใหม่ปี 2561 เป็นต้นไป จะเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของโครงการ “Hi speed Inernet” ด้วยการบริหารจัดการอินเทอร์เน็ตในโรงเรียนทั่วประเทศอย่างถูกต้องก่อน คือการให้ผู้อำนวยการโรงเรียน/สถานศึกษา ซึ่งเป็นผู้รู้ข้อมูลในพื้นที่มากที่สุด มีอำนาจตัดสินใจเลือกเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ดีที่สุดต่อนักเรียนและโรงเรียน และช่วยให้สามารถบริหารจัดการได้ดีขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเติมเต็มความรู้แก่บุคลากรเกี่ยวกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเบื้องต้น เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ปัญหาได้ดีขึ้น, การจัดหาอุปกรณ์รับและกระจายสัญญาณ เช่น Router Access point เพื่อแปลงสัญญาณให้มีความแรงและเร็วมากขึ้น ตลอดจนหาผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมาช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆอย่างทันท่วงที โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและศึกษาธิการจังหวัดเป็นผู้กำกับช่วยเหลือ พร้อมกำหนดให้เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดหนึ่งของการทำงาน ที่จะต้องรู้ข้อมูลด้านอินเทอร์เน็ตในพื้นที่รับผิดชอบ ทั้งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ของตนเอง, โรงเรียนใช้บริการอะไรอยู่บ้าง, โรงเรียนสามารถใช้ของผู้ให้บริการรายใดได้บ้าง เป็นต้น

ในส่วนกระทรวงศึกษาธิการ จะเร่งวางรากฐานก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยจะเสนอโครงการขยายรากฐานเครือข่าย UNINet  ไปยังโรงเรียนอีก 20,000 แห่ง งบประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท  เพิ่มเติมจากที่ UNINet  ได้วางรากฐานไปยังโรงเรียน สพฐ. กว่า 10,000 แห่ง และในสถานศึกษาอาชีวศึกษาทั้ง 426 แห่งแล้ว เพื่อให้เป็น High way internet ที่มีความเร็วและแรงเพียงพอต่อการเรียนรู้ของเด็กไทยทุกคน ให้ได้มีโอกาสเข้าถึงสื่อดีทันสมัย องค์ความรู้ใหม่ๆ ที่ช่วยลดช่องว่างและสร้างโอกาสในชีวิต ให้ไทยก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างมั่นคง สำหรับประชาชน ศธ.มีแนวคิดที่จะเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของ UNINet เพื่อร่วมใช้หนังสือและสื่อ e-Book ตลอดจนแหล่งเรียนรู้ เพื่อพัฒนาอาชีพและความเป็นอยู่ด้วยระบบดิจิทัลมากขึ้น เช่น Smart farmer, การค้าขายออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งจะได้มีการหารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป

และขอยืนยันว่า การยกเลิก MOENet  ไม่เพียงจะช่วยประหยัดงบประมาณถึงกว่า 1,000 ล้านบาท แต่จะช่วยให้ ศธ. บริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ ให้เกิดคุณค่าสูงที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ ซึ่งการประหยัดงบประมาณไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริง เมื่อเทียบกับโอกาสที่เด็กไทยทุกคนจะได้รับ ที่คาดว่าจะมีค่ามากกว่าเป็นหมื่นเป็นแสนล้านบาท

สำหรับผลการดำเนินงานของโรงเรียนและสถานศึกษาตลอดจนหน่วยงานในสังกัด ศธ.ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย ทั้ง 452 แห่ง แบ่งเป็น โรงเรียน สพฐ. 328 แห่ง สถานศึกษา สอศ. 16 แห่ง และหน่วยงาน สถานศึกษา และแหล่งเรียนรู้ของสำนักงาน กศน. 108 แห่ง พบว่าส่วนใหญ่ใช้บริการจากอินเทอร์เน็ตจากทั้งของภาครัฐ (UNINET, MOENET) ดาวเทียม ภาครัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน เช่น TOT Triple CAT 3BB เป็นต้น โดยปัญหา/อุปสรรคส่วนใหญ่เกิดจากความเร็วของอินเทอร์เน็ต ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องใช้บริการจากผู้ให้บริการหลายราย, บุคลากรขาดความรู้ความชำนาญในการบริหารงานเครือข่าย และขาดความรู้ความเข้าใจในการเลือกเช่าสัญญาณจากผู้ให้บริการ (ISP) ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพที่สุดในพื้นที่ให้บริการ, ขาดช่องทางการสื่อสารกับผู้รับผิดชอบในการดูและรักษาระบบ, เสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากเพื่อแก้ไขปัญหาการใช้งาน เป็นต้น

People unity news online : post 25 ธันวาคม 2560 เวลา 14.10 น.

รมช.ศึกษาฯเดินหน้าจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา ควบรวมกระทรวงวิทย์ฯ

People unity news online : รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็นเรื่อง “การจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา : โครงสร้าง อำนาจหน้าที่ และทิศทางอุดมศึกษาไทยในอนาคต” ครั้งที่ 2

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็นเรื่อง “การจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา : โครงสร้าง อำนาจหน้าที่ และทิศทางอุดมศึกษาไทยในอนาคต” ครั้งที่ 2 เมื่อวันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม 2561 ณ โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ โดยมี นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา รวมทั้งผู้บริหารและบุคลากรสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เข้าร่วมประชุมกว่า 300 คน

นพ.อุดม กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อทำความเข้าใจ ชี้แจง และระดมความเห็นเกี่ยวกับการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาให้กับข้าราชการและบุคลากรของ สกอ. ซึ่งจะเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันอุดมศึกษาและกระทรวงการอุดมศึกษาในอนาคตอันใกล้

โดยเน้นย้ำให้ทุกคนมองเห็นภาพใหญ่ของการอุดมศึกษาทั้งประเทศ และทิศทางการอุดมศึกษาโลก อาทิ การอุดมศึกษาของสิงคโปร์ ที่ปรับเปลี่ยนให้ตอบโจทย์การเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัยและการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นต้น พร้อมทั้งพัฒนาคนทั้งประเทศให้มีความทันสมัย ทันโลก ทันการเปลี่ยนแปลง มุ่งเน้นการเรียนไปพร้อมๆกับการทำงาน ตลอดจนสามารถปรับเปลี่ยนการทำงานได้หลายรูปแบบและหลายอาชีพ รวมทั้งรองรับอาชีพที่จะเกิดขึ้นใหม่ในวันข้างหน้า

สำหรับแนวทางการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษานั้น ได้ออกแบบให้เป็นกระทรวงที่มีขนาดเล็ก แต่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ผลิตกำลังคน 4.0 ที่มีคุณภาพสูง และสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่มีนวัตกรรม โดยมีภารกิจสนับสนุนส่งเสริมงานของสถาบันอุดมศึกษา ไม่เน้นการควบคุม แต่จะช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหา สถาบันอุดมศึกษาจึงมีอิสระในการบริหารจัดการเช่นเดิม อีกทั้งส่งเสริมงานวิจัยที่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม เน้นการสร้างสินค้าเชิงพาณิชย์ ที่จะช่วยพัฒนาท้องถิ่นในพื้นที่และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมๆกับการประสานการจัดสรรงบประมาณให้สถาบันอุดมศึกษาในสังกัด ที่จัดหลักสูตรตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านความสามารถในการแข่งขัน ด้านการพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพคน และการสร้างความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อวางแผนผลิตและพัฒนากำลังคนให้ตรงกับความต้องการของประเทศ โดยมุ่งหวังให้กระทรวงการอุดมศึกษาเป็นกระทรวงที่เชื่อมโยงยุทธศาสตร์ชาติ และเชื่อมโยงกับกระทรวงอื่นๆ ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาสังคม ให้สามารถทำงานร่วมกันได้

ส่วนการรวมกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไว้ในกระทรวงอุดมศึกษานั้น เกิดจากแนวคิดการบริหารจัดการงานวิจัยให้ตอบโจทย์ประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้ได้มอบให้ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ พิจารณา

แม้ที่ผ่านมาการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาไม่ได้นำเรื่องการวิจัยหรือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมารวมเข้าด้วยกัน เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านเวลาที่ต้องเร่งดำเนินการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาให้แล้วเสร็จ แต่หากมองถึงสถานการณ์ปัจจุบันจะเห็นว่า หากสามารถบูรณาการร่วมกันได้จริงๆ ก็จะทำให้เกิดพลังขึ้นอย่างมาก ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้อย่างจริงจัง

อย่างไรก็ตาม ควรผลักดันให้กระทรวงการอุดมศึกษาเกิดขึ้นก่อน เพราะได้ร่างกฎหมายต่างๆไว้เรียบร้อยแล้ว และเชื่อมั่นว่า “กระทรวงการอุดมศึกษา” จะเป็นจุดเริ่มต้นในการปฏิรูปการศึกษาที่สำคัญของประเทศด้วย

นโยบายการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา

“เป็นกระทรวงที่มีขนาดเล็ก

แต่สำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม

ผลิตกำลังคน 4.0 ที่มีคุณภาพสูง

และสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่มีนวัตกรรม ย้ำให้ทุกคนมองเห็นภาพใหญ่ของการอุดมศึกษาทั้งประเทศ และทิศทางการอุดมศึกษาโลก ที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัย

พัฒนาคนให้ทันสมัย ทันโลก ทันการเปลี่ยนแปลง

เน้นการเรียนไปพร้อมกับการทำงาน

ปรับเปลี่ยนการทำงานได้หลายรูปแบบ

และหลากหลายอาชีพที่จะเกิดขึ้นใหม่”

ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร

รมช.ศึกษาธิการ

People unity news online : post 21 พฤษภาคม 2561 เวลา 09.40 น.

รัฐบาล เผยผลความสำเร็จโครงการวิจัยและพัฒนารถไฟต้นแบบ “รถไฟไทยทำ”

People Unity News : 30 กรกฎาคม 2566 รัฐบาล เผยผลความสำเร็จโครงการวิจัยและพัฒนารถไฟต้นแบบ “รถไฟไทยทำ” พลิกโฉมอุตสาหกรรมระบบราง ผลักดันเศรษฐกิจเติบโตก้าวกระโดด

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผลักดันนโยบาย Thai First ของรัฐบาลในการสนับสนุนและส่งเสริมให้ใช้ผลิตภัณฑ์สินค้าที่ผลิตในประเทศ โดยเฉพาะโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบรางของประเทศ ที่ต้องการให้มีตัวรถไฟที่จะมีการซื้อ-ขาย ในอนาคต โดยมีเป้าหมายให้ต้องมีส่วนประกอบหรือชิ้นส่วนผลิตในประเทศ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 จากเดิมที่มีการนำเข้าสินค้าประเภทตัวรถไฟและส่วนประกอบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ถึง 2561 มีมูลค่าสูงถึงร้อยละ 80 เมื่อเทียบกับมูลค่ารวมของสินค้าทุกประเภทในระบบราง คาดการณ์ว่าอีก 20 ปี จะมีความต้องการตู้รถไฟโดยสารไม่น้อยกว่า 2,425 ตู้ จากการเพิ่มขึ้นของทางรถไฟที่รัฐได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่ารถไฟต่อตู้ เฉลี่ยตู้ละ 50 ล้านบาท รวมมูลค่าสำหรับตลาดการผลิตตู้รถไฟโดยสารประมาณ 100,000 ล้านบาท ความสำเร็จครั้งนี้ เป็นการสนับสนุนภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปยังหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ภายใต้การกำกับของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ที่มีภารกิจสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ โดยผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ทำให้งานวิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์ ยกระดับการเดินทางที่มีความสะดวกสบาย ทันสมัยและปลอดภัยในระดับสากล รองรับการแข่งขันและการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

Advertisement

มท.ขยายผลวิทยากรประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 23 มีนาคม 2567 มหาดไทยเดินหน้าขยายผลวิทยากรประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น ประสานทุกจังหวัดต่อยอดองค์ความรู้จาก “ครู ก” ถ่ายทอดสู่ “ครู ข” ระดับอำเภอ เพื่อบ่มเพาะหนุนเสริมจิตสำนึกความเป็นไทย สร้างพลเมืองดีของสังคม เพื่อธำรงไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติอย่างยั่งยืน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินโครงการอบรมวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่นระดับจังหวัด (ครู ก) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 18 รุ่น จำนวน 2,190 คน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง นโยบายกระทรวงมหาดไทย และบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มุ่งหวังผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ สร้างจิตสำนึกความเป็นไทย หนุนเสริมความมั่นคงของประเทศให้มีความเจริญรุ่งเรือง เพราะการที่พี่น้องประชาชนทุกช่วงวัยเข้าใจในรากฐานวัฒนธรรมไทย และเกิดความรัก ความผูกพัน ความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ชาติไทย มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ

นายสุทธิพงษ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้แจ้งไปยังจังหวัดทุกจังหวัดประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง คัดเลือกบุคลากรในสังกัดอย่างน้อยแห่งละ 1 คน โดยหากเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีสถานศึกษาในสังกัด ประเภทโรงเรียนและวิทยาลัย ให้ผู้บริหารสถานศึกษาพิจารณาคัดเลือกครูผู้สอนอย่างน้อยแห่งละ 1 คน เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่นระดับอำเภอ (ครู ข) หรือผู้เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของ ครู ก ในการขยายผลให้ครอบคลุมทุกพื้นที่

“เพื่อให้การขับเคลื่อนตามประกาศเจตนารมณ์ในการผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ สร้างจิตสำนึกความเป็นไทย ขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่องเกิดผลเป็นรูปธรรม และมีการนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ ขยายผล และต่อยอดการพัฒนาเชิงพื้นที่ ตามแนวนโยบายยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง และนโยบายสำคัญของกระทรวงมหาดไทยที่มุ่งเน้นพัฒนาเสริมสร้างความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ ปลูกจิตสำนึกให้คนในชาติมีความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ชาติไทย รู้รัก สามัคคี รู้จักหน้าที่ของตนเอง และดำเนินชีวิตโดยยึดมั่นในคุณธรรม

กระทรวงมหาดไทยจึงได้แจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดให้จัดการอบรมขยายผลวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่นระดับอำเภอ (ครู ข) และรับสมัครกลุ่มเป้าหมายผู้เข้ารับการอบรมจากทุกอำเภอ โดยเชิญครูผู้สอนตามโครงการฝึกอบรมวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น ทำหน้าที่เป็นครูผู้สอน และเชิญผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่นระดับจังหวัด (ครู ก) ซึ่งผ่านการอบรมฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ทั้ง 18 รุ่น ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยครูผู้สอน โดยสำนักงานจังหวัดร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดบูรณาการภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องดำเนินการ รวมทั้งพิจารณาบรรจุโครงการในลักษณะนี้ไว้ในแผนพัฒนาจังหวัดหรือแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง อันเป็นการเสริมสร้างรากฐานความมั่นคงของชาติผ่านกระบวนการทางการเรียนรู้และบ่มเพาะต่อยอดประวัติศาสตร์ชาติไทย”

“ขอให้นำโครงการอบรมวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่นระดับจังหวัด “ครู ก” ไปขยายผลถ่ายทอดให้กับเด็กและเยาวชน ทำให้เกิด “ครู ข” เพื่อไปเพิ่มพูนเผยแพร่ประวัติศาสตร์ชาติไทยและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประวัติของบ้านเมืองที่บรรพบุรุษที่เสียสละเลือดเนื้อ หวงแหน ปกป้องบ้านเมืองให้มีแผ่นดินที่แสนจะมีความสุขเป็นที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ต้องประชาสัมพันธ์การบรรยายถ่ายทอดของ “ครู ก” ไปเผยแพร่ให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยมีการประชุมติดตามทั้งการประชุมของจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ซึ่งจะเป็นเวทีที่จะขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ชาติไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อบ้านเมือง และความเป็นเอกราชของชาติไทย ช่วยกันสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” อย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย

Advertisement

รัฐบาลผลักดันโครงการด้านน้ำ ขับเคลื่อนเกือบ 3,000 โครงการ

People Unity News : 11 กุมภาพันธ์ 2566 รัฐบาลโชว์ผลงานด้านน้ำ 2 พื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 4 ปี ขับเคลื่อนเกือบ 3,000 โครงการ ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศ

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า รัฐบาลโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาทรัพยากรน้ำของประเทศต่อเนื่อง ให้ความสำคัญกับบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศอย่างเป็นระบบ ให้มีน้ำเพียงพอสำหรับประชาชนในทุกมิติทั้งด้านการเกษตร อุปโภคบริโภคและการท่องเที่ยว ด้านอุตสาหกรรม การรักษาระบบนิเวศ รวมทั้งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งอย่างยั่งยืน ล่าสุดกับผลความก้าวหน้าการพัฒนาทรัพยากรน้ำในพื้นที่ 2 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งรัฐบาลได้มีการเร่งรัดผลักดันการขับเคลื่อนโครงการด้านน้ำตลอด 4 ปีที่ผ่านมา (ปี 2561-2565) รวมเกือบ 3,000 โครงการ แบ่งเป็น จังหวัดพิษณุโลก 1,881 โครงการ และจังหวัดนครสวรรค์ 1,087 โครงการ เช่น ประตูระบายน้ำท่านางงามพร้อมอาคารประกอบ โครงการก่อสร้างและเพิ่มประสิทธิภาพระบบรวบรวมน้ำเสีย เทศบาลนครพิษณุโลก แก้มลิงคลองละหานพร้อมอาคารประกอบ แก้มลิงบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนวัดไทรย์ อำเภอเมืองนครสวรรค์ เป็นต้น

“นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามแผนการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ภายใต้แผนแม่บทน้ำ 20 ปี เพื่อให้ทรัพยากรน้ำของประเทศเกิดความมั่นคง ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมทั้งให้มีการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนต่อเนื่องให้เห็นถึงความจำเป็นและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการดำเนินโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล เพื่อให้เกิดความร่วมมือจากประชาชนทุกฝ่ายในการร่วมกันขับเคลื่อนโครงการให้เกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายและให้มีน้ำเพียงพอสำหรับประชาชนทุกกลุ่ม และป้องกันไม่ให้เกิดภาวะภัยแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่ โดยเฉพาะลุ่มน้ำยม ที่รัฐบาลได้เร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งซ้ำซากให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งประตูระบายน้ำท่านางงาม อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก เป็น 1 ใน 4 โครงการที่จะบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่าง โดยเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จคาดจะทำให้สามารถเก็บกักน้ำในแม่น้ำยมได้เพิ่มขึ้น และมีปริมาณน้ำเพียงพอจัดสรรให้กับภาคการเกษตร รวมถึงช่วยเพิ่มระดับน้ำใต้ดินของพื้นที่ข้างเคียงด้วย

รวมทั้งการเร่งดำเนินการโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำน่าน ต.พลายชุมพล อ.เมือง จ.พิษณุโลก ให้เป็นไปตามแผนงาน และป้องกันไม่ให้ถูกกัดเซาะเพิ่มเติมโดยเร่งดำเนินการแก้ไขให้ครอบคลุมทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำ รวมถึงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ ให้บูรณาการการดำเนินงานกับทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การทำประมง การเกษตรกรรม การท่องเที่ยว การอนุรักษ์ เพื่อให้บึงบอระเพ็ดกลับมาเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชาชน และระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมโดยรอบดีขึ้นตามไปด้วย” นายอนุชากล่าว

Advertisement

“พล.อ.ประวิตร” ยันจะไม่ให้มีพื้นที่ภัยแล้งในอีสานอีก

People Unity News : 24 กุมภาพันธ์ 2566 “พล.อ.ประวิตร” ลงพื้นที่อุดรฯ-หนองคาย-เลย กำชับบูรณาการบริหารจัดการน้ำ 10 มาตรการฤดูแล้งให้เข้มงวด ยันจะไม่ให้มีพื้นที่ภัยแล้งในอีสานอีก

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ พร้อมคณะ ตรวจราชการในพื้นที่ จ.อุดรธานี จ.หนองคาย และ จ.เลย เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม ในพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด

โดยช่วงเช้า พล.อ.ประวิตร และคณะ ไปที่โรงเรียนภูพานวิทยา ต.ขอนยูง อ.กุดจับ จ.อุดรธานี รับฟังการบรรยายสรุปภาพรวมการบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่ที่พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือและลุ่มน้ำชี ซึ่งรัฐบาลให้การสนับสนุนโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ โครงการปี 61-65 ประชาชนได้รับประโยชน์ 55,586 ครัวเรือน จากงบกลางปี 65 ได้รับประโยชน์ 1,045 ครัวเรือน งบบูรณาการฯ ปี 66 จะได้รับประโยชน์ 6,955 ครัวเรือน งบตามแผนปฏิบัติการปี 67 ประชาชนจะได้รับประโยชน์ 53,175 ครัวเรือน และโครงการสำคัญอีก 6 แห่ง ประชาชนจะได้รับประโยชน์ 43,500 ครัวเรือน

พล.อ.ประวิตร มอบนโยบายเร่งบูรณาการบริหารจัดการน้ำให้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะ 10 มาตรการฤดูแล้ง ให้เข้มงวดตามนโยบาย พร้อมเร่งรัดโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเชียง (ตอนบน) เพื่อช่วยยกระดับความมั่นคงด้านน้ำ ให้ชาวบ้านและเกษตรกรมีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดปีอย่างยั่งยืน

พล.อ.ประวิตร พบปะพร้อมรับฟังข้อคิดเห็นจากพี่น้องประชาชนที่มาให้การต้อนรับจำนวนมากอย่างใกล้ชิด ด้วยบรรยากาศที่เป็นกันเอง พร้อมขอถ่ายรูปเซลฟี่กับ พล.อ.ประวิตร เป็นที่ระลึก สร้างความประทับใจให้ชาวบ้านที่มาร่วมกิจกรรม ชูป้ายให้กำลังใจ พล.อ.ประวิตร และสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีของคนอีสาน ซึ่งพล.อ.ประวิตร ยืนยันกับชาวบ้านว่าจะไม่ให้มีพื้นที่ประสบภัยแล้งในอีสานอีกต่อไป

Advertisement

ที่ประชุม ครม.ปรับแก้ (ร่าง) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เปลี่ยนระยะเวลาเป็นปี 2561-2580

People unity news online : คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แถลงข่าวความคืบหน้าของการขับเคลื่อน (ร่าง) ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี พ.ศ. (2561-2580) หลังเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. เพื่อนำประเทศชาติและประชาชนสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 เวลา 15.30 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมชาติ ได้แถลงข่าวผลการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยสรุปความคืบหน้าของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี สาระสำคัญ ดังนี้

การประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ (22 พ.ค.61) ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยที่ประชุมต่างได้แสดงความคิดเห็นที่หลากหลายพร้อมให้นำไปปรับ (ร่าง) ยุทธศาสตร์ชาติฯ ให้แล้วเสร็จ พร้อมนำกลับมาให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง ในวันอังคารที่ 5 มิถุนายน 2561

ทั้งนี้ ความคิดเห็นของคณะรัฐมนตรีที่สมควรให้ปรับปรุงร่างยุทธศาสตร์ชาติฯ โดยสรุป คือ

1.เห็นควรปรับปรุงในรายละเอียดของยุทธศาสตร์ชาติให้มีระดับของเนื้อหาสาระเป้าหมายและตัวชี้วัดที่มีความสอดคล้องกัน

2.เห็นควรปรับปรุงความทับซ้อนกันระหว่างยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้าน ประกอบด้วย การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การส่งเสริมความเสมอภาค การจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยการพัฒนาด้านการเกษตร การพัฒนาด้านพลังงาน การพัฒนาจังหวัดและเมืองรอง ตลอดจนการบริการของภาครัฐ รวมทั้งการจัดทำฐานข้อมูลหรือฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อให้ (ร่าง) ยุทธศาสตร์ชาติมีความกระชับและชัดเจนมากยิ่งขึ้น

3.เห็นควรมีการแก้ไขความไม่สอดคล้องกันของประเด็นการพัฒนาระหว่างยุทธศาสตร์ให้เป็นไปอย่างมีระบบ

4.เห็นควรปรับปรุงแนวทางการพัฒนาที่เป็นลักษณะตัวชี้วัด พร้อมมีการระบุตัวอย่างในรายละเอียดให้มีความเหมาะสมกับกรอบระยะเวลาดำเนินการ 20 ปี โดยมีการนำประเด็นที่สอดคล้องไปไว้ในการจัดทำแผนแม่บท

5.เห็นควรปรับปรุงแก้ไขการใช้คำศัพท์ที่มีความแตกต่างกันให้เป็นไปในแนวทางที่เหมาะสมเพื่อความชัดเจนและความเข้าใจที่ถูกต้อง

และ 6.เห็นควรเปลี่ยนกำหนดช่วงระยะเวลาการบังคับใช้ยุทธศาสตร์ชาติ เป็น พ.ศ.2561-2580 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

เมื่อ (ร่าง) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในวันที่ 5 มิถุนายน 2561 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ก็จะนำขึ้นกราบบังคมทูล ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษาต่อไป

อนึ่ง (ร่าง) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาประเทศชาติ มีความมั่นคง ประชาชนมีความสุข มีการยกระดับศักยภาพในหลากหลายมิติ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการพัฒนาคนในทุกมิติและในทุกช่วงวัยให้เป็นคนดี คนเก่ง และมีคุณภาพ ตลอดจนมีการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมและมีการสร้างการเติบโต บนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นภาครัฐของประชาชนเพื่อประชาชนและยึดถือประโยชน์ส่วนรวม

ทั้งนี้ (ร่าง) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ประกอบด้วย แกนหลักสำคัญของยุทธศาสตร์ 6 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านความมั่นคง 2.ด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน 3.ด้านการพัฒนาคนและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 4.ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 5.ด้านการสร้างความเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 6.ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

People unity news online : post 23 พฤษภาคม 2561 เวลา 10.00 น.

Verified by ExactMetrics