วันที่ 28 เมษายน 2024

“บิ๊กตู่”เปิดประชุมผู้นำธุรกิจอาเซียนครั้งที่ 5 ชูการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 3 ด้านของไทย

People Unity : นายกรัฐมนตรีเป็นประธานและกล่าวปาฐกถาในโอกาสการประชุมผู้นำธุรกิจอาเซียน ครั้งที่ 5 “The Future of Thailand and ASEAN”

วันนี้ (21 มิถุนายน 2562) เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานและกล่าวปาฐกถาในโอกาสการประชุมผู้นำธุรกิจอาเซียน ครั้งที่ 5 “The Future of Thailand and ASEAN” ณ ห้อง Magnolia ballroom ชั้น 10 โรงแรม Waldorf Astoria กรุงเทพมหานคร โดยในการประชุมครั้งนี้มี นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พร้อมด้วยผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูต ผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชนกว่า 400 คน เข้าร่วมงาน

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติได้มาร่วมงานการประชุมผู้นำธุรกิจอาเซียน ครั้งที่ 5 และกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “The Future of Thailand and ASEAN” ที่สำนักข่าว Bloomberg จัดขึ้น ในช่วงเวลานี้ที่มีความสำคัญกับประเทศไทยเพราะจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ในช่วงสุดสัปดาห์นี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงวิสัยทัศน์ของไทยว่ามีศักยภาพและความพร้อมในหลายด้านที่จะเดินหน้าไปสู่การพัฒนาพร้อมกับภูมิภาค ไทยได้ก้าวพ้นสถานการณ์ความไม่สงบ มีความปรองดอง และสามารถแก้ปัญหาคั่งค้างที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศหลายประการ ไทยได้ผ่านพ้นการเลือกตั้งทั่วไปตามกระบวนการประชาธิปไตยด้วยความเรียบร้อย เป็นไปตาม roadmap ที่กำหนด และนายกรัฐมนตรีมุ่งมั่นตั้งใจที่จะปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ เพื่อสืบสานนโยบาย และการพัฒนาประเทศให้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้ระบุถึงดัชนีทางเศรษฐกิจต่างๆที่เป็นตัวบ่งชี้ว่า สถานการณ์ในประเทศดีขึ้นมาก เศรษฐกิจขยายตัวได้ร้อยละ 4.1 การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 3.8 ซึ่งทั้งสองตัวชี้วัดนี้ถือเป็นอัตราที่สูงที่สูดในรอบ 6 ปี และมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ระดับ 2.53 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ รัฐบาลไทยก็ให้ความสำคัญในการดูแลขั้นตอนกระบวนการในการทำธุรกิจ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งประเทศไทยได้ลำดับที่ดีขึ้นในการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจในปี 2561 ของธนาคารโลก

ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 27 จากทั้งหมด 190 ประเทศ สูงขึ้นจากปีก่อนถึง 19 อันดับ และเป็นอันดับที่ 3 ในอาเซียน สำหรับภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นส่วนที่มีความสำคัญกับประเทศก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเยือนประเทศไทยถึง 38 ล้านคน ในปี 2561 เพิ่มขึ้น 2.9 ล้านคนจากปีก่อนหน้า และปีนี้คาดว่าเราจะได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวถึง 40 ล้านคน นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีนโยบายพัฒนาด้านเทคโนโลยี พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศให้เอื้อต่อการต่อยอดอุตสาหกรรมเดิม และรองรับอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการเป็นระเบียงเศรษฐกิจแห่งเอเชีย

อย่างไรก็ดี รัฐบาลส่งเสริมให้ประเทศไทยเข้มแข็งจากภายใน มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจมั่นคงกระจายลงไปถึงระดับรากหญ้า โดยให้ภาคเอกชนไทย และอาเซียนเป็นจุดแข็งที่จะลดช่องว่าง สร้างการเติบโตไปสู่รากหญ้า ทั้งนี้ ผู้มีรายได้น้อย และ SMEs และช่วยให้สามารถเชื่อมโยงเข้ากับห่วงโซ่มูลค่าของโลกได้ ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน และช่วยสร้างภูมิคุ้มกันผลกระทบจากความท้าทายภายนอก ได้แก่ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจการค้า ความขัดแย้งทางการค้า รวมทั้งความท้าทายจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งรัฐบาลไทยเชื่อว่าเป็นหลักการที่สามารถนำไปปรับใช้ในบริบทการพัฒนาของอาเซียนได้ด้วย

ในส่วนของอาเซียนซึ่งมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง เพราะตลาดขนาดใหญ่อันดับ 6 ของโลก มีประชากรกว่า 650 ล้านคน และอยู่ในตำแหน่งยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศที่สำคัญ จึงช่วยเพิ่มศักยภาพของอาเซียนในการที่จะพัฒนาไปเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นลำดับที่ 4 ของโลกภายในปี 2573 รวมถึงจะเพิ่มอำนาจการต่อรองของภูมิภาคด้วย แม้ว่า ปัจจุบันโลกเผชิญกับความท้าทาย และการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและนวัตกรรม นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยและอาเซียนมีศักยภาพสูงที่จะรับมือ และเป็นสนามการค้าการลงทุนที่มีเสถียรภาพ ตอบโจทย์นักลงทุนทั่วโลก

ไทยนำเสนอแนวคิดหลักของการเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ คือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” และมีเป้าหมายที่จะบรรลุความสำเร็จในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 3 ด้าน ที่ไทยต้องการผลักดันให้เป็นรูปธรรมภายในปี 2562 ได้แก่ 1) การมุ่งสู่อนาคต คือ ความพร้อมในการเข้าสู่ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 2) การส่งเสริมความเชื่อมโยงทางการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน และ 3) การสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจรากหญ้าให้ประชาชนอยู่ดีกินดี

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีขอให้ภาคเอกชนมั่นใจและใช้ประโยชน์จากความพร้อมของไทย และอาเซียนทั้งทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพทางการเมืองที่นำไปสู่ความต่อเนื่องทางนโยบาย โดยนายกรัฐมนตรีได้อวยพรให้การจัดงานในวันนี้ประสบความสำเร็จตามที่หวังไว้ทุกประการ

ความสัมพันธ์ต่างประเทศ : “บิ๊กตู่” เปิดประชุมผู้นำธุรกิจอาเซียนครั้งที่ 5 ชูการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 3 ด้านของไทย

People Unity : post 21 มิถุนายน 2562 เวลา 11.40 น.

รัฐบาลยันแก้ปัญหา IUU ถูกทางแล้ว แนะ “ธนาธร” ตรวจสอบข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้อง

People Unity : รัฐบาลยืนยันแก้ไขปัญหา IUU ถูกทางแล้ว แนะ หน.พรรคอนาคตใหม่ตรวจสอบข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้อง

เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2562 พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ร่วมเสวนารับฟังปัญหาชาวประมงที่ตลาดมหาชัยมั่นคง อ.เมือง จ.สมุทรสาคร โดยมีการกล่าวโจมตีว่านโยบายการแก้ไขปัญหา IUU หรือการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ของรัฐบาล ทำให้ชาวประมงเดือดร้อนและสูญเสียรายได้ ว่า “ขอตั้งข้อสังเกตว่า จากภาพและคลิปที่เจ้าหน้าที่รวบรวมมาพบว่ากลุ่มคนที่มาให้ข้อมูลกับนายธนาธรนั้นส่วนใหญ่เข้าข่ายทำผิดกฎหมาย บางคนถูกศาลสั่งลงโทษปรับกว่า 500 ล้านบาท หลายคนถูกสั่งยึดเรือเพราะไปทำความผิดในน่านน้ำสากล ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาการค้ามนุษย์ ฟอกปลา ขโมยปลา ดังนั้นจึงเป็นการรับฟังข้อมูลด้านเดียว และดูเหมือนจะจงใจลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาล ตามที่นายธนาธรเคยพูดไว้ว่าจะทำงานนอกสภา แต่กลับฟังข้อมูลไม่ครบถ้วน”

รองโฆษกฯ กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้วและยืนยันว่า หากรัฐบาลไม่แก้ไขปัญหา IUU อย่างจริงจัง ประเทศไทยจะเจอวิกฤตด้านการประมงอย่างใหญ่หลวง ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงใครจะรับผิดชอบ ในทางตรงกันข้าม ปี 2561 เราจับปลาได้เพิ่มขึ้นถึง 2 แสนตัน ในจำนวนนี้ปลาที่ชาวประมงพื้นบ้านรายย่อยจับได้มีถึง 15,000 ตัน ส่วนเรือประมงพาณิชย์ ได้เพิ่มวันจับปลาให้กว่า 100 วัน สะท้อนว่าจำนวนสัตว์น้ำของไทยเริ่มกลับมาอุดมสมบูรณ์ ไม่มีปัญหาเรื่องเรือเถื่อน ชาวประมงมีโอกาสทางอาชีพเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ความร่วมมือของทุกภาคส่วนโดยเฉพาะพี่น้องขาวประมงที่ทำถูกกฎหมาย ทำให้อันดับการค้ามนุษย์ของไทยเลื่อนจากเทียร์ 3 มาเป็นเทียร์ 2 แล้ว ดังนั้น การออกมาคัดค้านต่อต้านของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขปัญหาหรืออยากให้แก้ไขกฎหมายเพื่อกลับไปทำผิดเหมือนเดิมนั้น เท่ากับเป็นการส่งเสริมให้เกิดปัญหาการค้ามนุษย์ขึ้นอีกหรือไม่ จึงอยากให้สังคมตรึกตรองในเรื่องนี้

ความสัมพันธ์ต่างประเทศ : รัฐบาลยันแก้ปัญหา IUU ถูกทางแล้ว แนะ “ธนาธร” ตรวจสอบข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้อง

People Unity : post 4 มิถุนายน 2562 เวลา 10.30 น.

เผยกำหนดการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีไทย-ลาว ครั้งที่ 3 13-14 ธ.ค.

People unity news online : นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการไทย – ลาว ครั้งที่ 3

พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเข้าประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ (Joint Cabinet Retreat : JCR) ไทย – ลาว ครั้งที่ 3 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ระหว่างวันที่ 13-14 ธันวาคม 2561

โดยรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เข้าร่วมการประชุมฯอาทิ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

การประชุม JCR ไทย-ลาว เป็นกลไกการหารือทวิภาคีระหว่างนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีสองฝ่าย มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้นำร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศและแสวงหาแนวทางความร่วมมือในการรับมือกับความท้าทายในอนุภูมิภาค/ภูมิภาคร่วมกัน โดยประเด็นสำคัญที่นายกรัฐมนตรีจะหยิบยกในการประชุมฯ ได้แก่ ย้ำการยกระดับความสัมพันธ์เป็น “หุ้นส่วนเพื่อความเจริญและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” เน้นการร่วมส่งเสริมพลวัตการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสองประเทศ การเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ ประกอบด้วย 3 เสาความร่วมมือ ได้แก่

1.ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง ไม่ให้ผู้ไม่หวังดีใช้ไทยและลาวเป็นฐานบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยของอีกประเทศ การป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และการยกระดับจุดผ่านแดนระหว่างสองฝ่ายให้เท่าเทียมกัน

2.ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ เสริมสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจร่วมกันผ่านการเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อตามแผนแม่บท ACMECS ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกันเพื่อรับมือความท้าทายในภูมิภาค เสริมสร้างความเชื่อมโยงทางกายภาพ (ถนน/ สะพาน) ควบคู่กับความเชื่อมโยงทางกฎระเบียบ สนับสนุนนักลงทุนไทยไปลงทุนในลาว โดยตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าเป็น 2 เท่า (11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2564

3.ความร่วมมือด้านสังคมและการพัฒนา สนับสนุนให้ลาวหลุดพ้นจากการเป็นประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ให้ลาวใช้ประโยชน์จากโครงการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในลาวมากขึ้น จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาการเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยวข้ามแดนไทย – ลาว ยืนยันการดูแลแรงงานลาวอย่างเต็มที่ตามกฎหมายไทย

โอกาสนี้นายกรัฐมนตรีจะได้พบหารือกับนายบุนยัง วอละจิด ประธานประเทศของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  โดยจะได้หารือเกี่ยวกับการฉลองครบรอบ 70 ปี ความสัมพันธ์ไทย – ลาว ในปี 2563 การส่งเสริมความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อไทย – ลาว (เปลี่ยนลาวจาก Land-locked เป็น Land-linked) และการร่วมจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาการเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยวข้ามแดนไทย – ลาว (ไม่ให้เขตแดนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา

กำหนดการที่สำคัญของนายกรัฐมนตรีมีดังนี้

วันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม 2561

16.25 น. –  นายกรัฐมนตรีและภริยา พร้อมด้วยคณะ เดินทางออกจากท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี  จังหวัด อุดรธานี โดยเครื่องบินของกองทัพอากาศ ไปยังนครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

จากนั้นนายกรัฐมนตรีจะเข้าเยี่ยมคารวะนายบุนยัง วอละจิด (H.E. Mr. Bounnhang Vorachit) ประธานประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยในช่วงค่ำนายทองลุน สีสุลิด (H.E. Mr. Thongloun Sisoulith) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนลาว และภริยา เป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงอาหารค่ำ เพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีและภริยา พร้อมด้วยคณะ

วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม 2561

09.00 น. – การหารือทวิภาคีกลุ่มเล็กระหว่างนายกรัฐมนตรีกับนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

09.45 น. – การประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ (Joint Cabinet Retreat – JCR) ไทย – ลาว ครั้งที่ 3

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมฯนายกรัฐมนตรีกับนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นสักขีพยานการลงนามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

-พิธีมอบความช่วยเหลือเหตุอุทกภัยในแขวงอัตตะปือเพิ่มเติมในระยะฟื้นฟู

-พิธีมอบโครงการพัฒนาวิทยาลัยพลศึกษานครหลวงเวียงจันทน์

11.00 น. – นายกรัฐมนตรีกับนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวแถลงข่าวร่วม

11.45 น. – นายกรัฐมนตรีกับนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวรับฟังการบรรยายสรุปและเยี่ยมชมห้องแสดงผลงานความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าครบรอบ 50 ปี

15.00 น. – นายกรัฐมนตรีและภริยา พร้อมด้วยคณะ เดินทางออกจากท่าอากาศยานนานาชาติวัดไต กลับประเทศไทย โดยจะเดินทางถึงท่าอากาศยานทหาร 2 (กองบิน 6) เวลา 16.05 น.

People unity news online : post 13 ธันวาคม 2561 เวลา 08.24 น.

GBC ไทย-ลาว ม่วนซื่น ร่วมมือจัดการบุคคลเป็นภัยต่อความมั่นคงไทย-ลาว

People unity news online : GBC ไทย – ลาว ม่วนซื่น เห็นชอบเพิ่มความร่วมมือด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดร่วมกันอย่างจริงจัง โดยให้กองทัพเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2561 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นรม.และ รมว.กห. ได้ให้การต้อนรับ พล.ท.จันสะหมอน จันยาลาด รมว.กระทรวงการป้องกันประเทศ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และคณะ ในโอกาสเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ณ ศาลาว่าการกลาโหม

โดย พล.ท.จันสะหมอน ได้แสดงความขอบคุณอย่างสุดซึ้ง ที่ไทยได้ให้ความช่วยเหลือกรณีเหตุอุทกภัย จากเขื่อนแตกในลาวอย่างทันท่วงที ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ได้แสดงความขอบคุณ สปป.ลาวเช่นกัน ที่ส่งเจ้าหน้าที่กู้ภัยมาร่วมภารกิจช่วยเหลือทีมหมูป่าไทย ทั้งสองฝ่ายต่างตระหนักถึงภัยความมั่นคงที่สำคัญและหารือร่วมกันในการแก้ปัญหาภัยจากยาเสพติดและกลุ่มบุคคลที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของทั้งสองประเทศ โดยเห็นชอบร่วมกันที่จะดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจังและตรงไปตรงมาให้เกิดผลเป็นที่ประจักษ์กับสังคมโลก

ต่อจากนั้น พล.อ.ประวิตร และ พล.ท.จันสะหมอน ได้ทำหน้าที่ ประธานร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยตามชายแดนทั่วไป ไทย – ลาว ( GBC ครั้งที่ 25 ) ซึ่งฝ่ายไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ณ โรงแรมเชอราตัน กทม. ด้วยบรรยากาศแห่งไมตรีจิตและมีมิตรไมตรี โดยมีสาระสำคัญดังนี้

ทั้งสองฝ่ายได้ปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทบทวนและประเมินผลการปฏิบัติร่วมที่ผ่านมา โดยแสดงความยินดีต่อผลสำเร็จและความคืบหน้าของการปฏิบัติงานในรอบปี ทั้งการแลกเปลี่ยนข่าวสาร การเยือน การศึกษาทางทหาร รวมทั้งวัฒนธรรมและกีฬาระหว่างกันที่ผ่านมา โดยร่วมแก้ปัญหาพื้นที่ชายแดนที่เกิดขึ้นให้ยุติลงโดยเร็วและจำกัดอยู่ในระดับท้องถิ่น พร้อมทั้งเห็นพ้องกันว่า ความสัมพันธ์ ไทย – ลาว นับวันจะมีความผูกพันใกล้ชิดกันมากขึ้น

ที่ประชุมเห็นชอบ ความร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยตามชายแดนทั่วไป ไทย – ลาว โดยสนับสนุนให้ทุกกลไกที่เกี่ยวข้อง เพิ่มพูนความร่วมมือและปฏิบัติตามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคงชายแดนที่ได้ลงนามร่วมกัน, แนวทางการวางกำลังและการลาดตระเวนของกองกำลังติดอาวุธตามแนวชายแดน เพื่อมิให้เกิดการกระทบกระทั่งตามแนวชายแดน, ความร่วมมือกรณีบุคคลของแต่ละฝ่ายถูกจับกุมคุมขัง, ความร่วมมือกันจัดระเบียบชายแดน เพื่อป้องกัน สกัดกั้นและปราบปราม การลักลอบเข้าเมือง แรงงานผิดกฎหมาย การต่อต้านการค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติดและสินค้าผิดกฎหมาย, ความร่วมมือกันแก้ปัญหาบุคคลสองสัญชาติ รวมทั้งบุคคลที่เป็นภัยต่อความมั่นคงไทย – ลาว, ความร่วมมือในการรักษาเส้นเขตแดน และที่สำคัญที่สุด ที่ประชุมเห็นชอบร่วมกันที่จะเพิ่มความร่วมมือด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยจัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อให้กองทัพเข้ามามีบทบาทแก้ปัญหามากขึ้น

ต่อจากนั้น ทั้งสองฝ่าย ได้ลงนามในบันทึกการประชุมร่วมกัน ซึ่งการเดินทางเยือนไทยและเข้าร่วมประชุมของ รมว.กระทรวงการป้องกันประเทศ สปป.ลาว ครั้งนี้ แสดงถึงความเข้าใจ ความเชื่อมั่นและความไว้วางใจระหว่าง กห.และคณะกรรมการความร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยทั้งสองประเทศ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างและกระชับความร่วมมือระหว่างกันให้แน่นแฟ้นและขยายตัวยิ่งขึ้น ส่งผลให้ชายแดนทั้งสองประเทศ เป็นชายแดนแห่งสันติภาพ มิตรภาพและความร่วมมืออย่างแท้จริงตลอดไป

People unity news online : post 11 ธันวาคม 2561 เวลา 23.24 น.

สรุปผลการเยือนราชอาณาจักรภูฏานอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี

People unity news online : วันที่ 20 กรกฎาคม 2561 สรุปผลการเยือนราชอาณาจักรภูฏานอย่างเป็นทางการของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ ระหว่างวันที่ 19 – 20 กรกฎาคม 2561 สรุปผลสำเร็จในการปฏิบัติภารกิจ ดังนี้

1.ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น และสมเกียรติ โดยร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ ณ ป้อมปราการทาชิโช ซึ่งภูฏานจัดขบวนเกียรติยศแบบพื้นเมือง เดินนำหน้าขบวนรถยนต์ และตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ

2.ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และการเดินทางเยือนครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่ทั้งสองประเทศสามารถกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือที่มีอยู่ให้ใกล้ชิดยิ่งกว่าเดิม

3.การเดินทางเยือนภูฏานในครั้งนี้ถือว่าได้รับเกียรติอย่างสูงสุด เนื่องจากมีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีแห่งราชอาณาจักรภูฏาน แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่มีความใกล้ชิดทางพระพุทธศาสนา สังคม วัฒนธรรม และความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งประชาชนชาวไทยต่างมีความเคารพและชื่นชมในสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งภูฏานอย่างมาก

4.การพบปะกับนายกรัฐมนตรีภูฏานนั้น ทั้งสองฝ่ายต่างพอใจกับการหารือครั้งนี้ เนื่องจากไทยมีส่วนช่วยส่งเสริมการพัฒนาประเทศของภูฏาน โดยเฉพาะความร่วมมือทางวิชาการด้านการพัฒนา สาธารณสุข และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นว่าความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวเป็นสาขาที่ทั้งสองประเทศมีศักยภาพและเอื้อประโยชน์แก่กันได้ จึงเห็นควรผลักดันความร่วมมือดังกล่าวให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ไทยและภูฏานยังมุ่งมั่นที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันผ่านการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย – ภูฏาน (JTC) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะผลักดันให้ประเด็นดังกล่าวประสบความสำเร็จได้ นอกจากนี้ ในโอกาสครบรอบความสัมพันธ์ทางการทูต 30ปี ในปี 2562 รัฐบาลไทยยินดีสนับสนุนโครงการบริการทางการแพทย์เพื่อรักษา หู ตา จมูก และคอ รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ หู จมูก และคอ ในราชอาณาจักรภูฏาน เพื่อให้บริการรักษา การถ่ายทอดความรู้ เทคนิคและวิชาการ เพื่อพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์เฉพาะทาง รวมถึงความร่วมมือของคณะแพทย์ ไทย-ภูฏาน ในการรักษาผู้ป่วยด้วย

5.การประกอบพิธีจุดตะเกียงเนยที่เจดีย์อนุสรณ์สถานแห่งชาติ ซึ่งเป็นประเพณีพื้นเมืองของภูฏานที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน โดยมีความเชื่อว่า การจุดตะเกียงน้ำมันเนยเป็นการจุดประกายปัญญาด้วย เพราะแสงสว่างที่จุดจากตะเกียง เปรียบเสมือนดวงไฟแห่งปัญญาที่ส่องสว่าง จึงหวังว่าการจุดตะเกียงเนยนี้จะเป็นแสงนำทางให้ประเทศไทยพบเจอแต่สิ่งดีๆ และไม่พบเจอกับเหตุการณ์ร้ายๆ อีกต่อไป

6.เยี่ยมชมร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (One Gewog One Product : OGOP) ที่ไทยมีส่วนร่วมในการริเริ่มโครงการดังกล่าว การไปเยี่ยมชมครั้งนี้ ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของผลิตภัณฑ์ OGOP ที่สามารถส่งออกไปยังประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยด้วยได้

นายกรัฐมนตรียืนยันด้วยว่า ไทยจะสานต่อความร่วมมือนี้อย่างใกล้ชิดกับภูฏานต่อไป เนื่องจากเป็นโครงการที่สอดคล้องกับนโยบาย SEP for SDGs Partnership ในภูมิภาค อีกทั้งเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดี ทั้งในระดับรัฐบาลและประชาชนของทั้งสองประเทศด้วย

People unity news online : post 20 กรกฎาคม 2561 เวลา 11.50 น.

นายกฯระบุรัฐบาลนี้แก้ปัญหาค้ามนุษย์จริงจัง อันดับไทยจึงดีขึ้น

People unity news online : นายกฯระบุรัฐบาลแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์จริงจัง ดึงอันดับไทยดีขึ้นเมื่อเทียบกับ 10 ปีก่อน ยืนยันเดินหน้าทำงานต่อเนื่อง คุ้มครองความเป็นมนุษย์ให้เสมอภาคเท่าเทียมกัน

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2561 (TIP Report 2018) โดยประเทศไทยได้รับการจัดอันดับดีขึ้นอยู่ที่ Tier 2 จากเดิมอยู่ที่ Tier 2 Watch List เมื่อปีที่แล้ว ว่า

“ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทยมีแนวโน้มแย่ลงและถูกละเลย โดยในปี 2551 อันดับของไทยอยู่ที่ Tier 2 และตกลงมาอยู่ที่ Tier 2 Watch List ในปี 2553 จนถึงปี 2556 และตกลงอีกไปอยู่ที่ Tier 3 ในปี 2557 เมื่อรัฐบาลนี้เข้ามาจึงได้แก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยประกาศให้ปัญหาการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติที่ต้องเร่งแก้ไข ทำให้อันดับของไทยดีขึ้นเป็นลำดับ”

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลและทุกภาคส่วนทำงานกันอย่างหนักแม้จะเป็นเรื่องที่ยาก เพราะมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง จนทำให้สหรัฐฯเห็นถึงความจริงจัง ความพยายาม และความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา ทั้งในด้านการบังคับใช้กฎหมายและการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด การคุ้มครองดูแลผู้เสียหาย และการป้องกันการตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ พร้อมทั้งยืนยันว่าไทยพร้อมประสานความร่วมมือทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างใกล้ชิดต่อไป เพื่อผลักดันให้การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์เกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นในอนาคต

“แม้ไทยมีอันดับดีขึ้นแต่รัฐบาลจะยังคงมุ่งมั่นทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อปกป้องคุ้มครองคนไทยและชาวต่างชาติในไทย ให้เสมอกันด้วยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักมนุษยธรรมที่เรายึดถือตลอดมา” นายกรัฐมนตรี กล่าว

People unity news online : post 2 กรกฎาคม 2561 เวลา 12.50 น.

“เตีย บันห์” หวานใส่ “บิ๊กตู่” ระบุสัมพันธ์ไทย-กัมพูชายุคนี้ใกล้ชิดกันมากที่สุด

People unity news online : วันนี้ (21 มีนาคม 2561) เวลา 13.30 น. ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล สมเด็จพิชัยเสนา เตีย บันห์ (Somdech Pichey Sena Tea Banh ) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชา เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในโอกาสเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (General Border Committee – GBC) ไทย – กัมพูชา ครั้งที่ 13 ระหว่างวันที่ 19 – 21 มีนาคม 2561 โดยสรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีโอกาสได้พบกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชาอีกครั้ง หลังจากที่เยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการและเข้าร่วมการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ (JCR) ไทย – กัมพูชา ครั้งที่ 3 และกล่าวว่ารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชานับเป็นเพื่อนคนสำคัญและรู้จักกันมาอย่างยาวนาน พร้อมชื่นชมกับบทบาทของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชาที่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและกัมพูชา ส่งผลให้ความสัมพันธ์ทวิภาคีและความร่วมมือระหว่างกันมีความใกล้ชิดแน่นแฟ้น

ในโอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชากล่าวอวยพรวันเกิดนายกรัฐมนตรี ขอให้นายกรัฐมนตรีมีสุขภาพแข็งแรงและประสบความสำเร็จในภารกิจทุกประการ สำหรับการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย – กัมพูชา ครั้งที่ 13 เป็นไปด้วยความราบรื่นและประสบผลสำเร็จ ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศนับว่าเป็นช่วงที่ไทยและกัมพูชาใกล้ชิดกันมากที่สุด ความร่วมมือระหว่างกันมีประสิทธิภาพและสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกัน

นอกจากนี้ ได้มีการหารือถึงความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้พะยูง ซึ่งปัจจุบันสถิติการลักลอบตัดไม้พะยูงบริเวณชายแดนไทย – กัมพูชาลดน้อยลง แต่ยังคงพบว่ามีการลักลอบตัดไม้พะยูงบริเวณชายแดนไทย – กัมพูชาอยู่ ทั้งสองประเทศจึงควรร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการสกัดกั้นการลักลอบกระทำผิด นอกจากนั้น ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นร่วมกันที่จะติดตามบุคคลที่กระทำกฎหมายและหลบหนีคดีเข้าไปอยู่ในทั้งสองประเทศ เพื่อไม่ให้กลุ่มบุคคลใดใช้ประเทศไทยและกัมพูชาเป็นฐานในการก่อความไม่สงบและทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกัน

ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องกันว่า แม้ไทยและกัมพูชายังมีพื้นที่บริเวณชายแดนที่ทับซ้อนและยังหาข้อสรุปไม่ได้ ทั้งสองประเทศควรร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสค้าขายระหว่างกันอย่างสะดวก ตลอดจนพัฒนาพื้นที่ชายแดนให้มีความสงบสุขและมั่นคง นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายหวังว่าความเชื่อมโยงด้วยเส้นทางรถไฟในอนาคต จะทำให้ทั้งสองประเทศมีการติดต่ออย่างสะดวกและเพิ่มมูลค่าการค้าขายระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้น

ทั้งสองฝ่ายยังแสดงความพร้อมที่จะสนับสนุนความร่วมมือระหว่างกันในทุกมิติ ทั้งทางด้านความมั่นคง การค้าและการลงทุน รวมถึงยินดีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่องสินค้าเกษตรระหว่างกัน ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องว่า ไทยและกัมพูชาควรจะดำรงความสัมพันธ์อันดี เพื่อมุ่งสร้างผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศในทุกระดับ ทั้งระดับรัฐบาลและประชาชน

People unity news online : post 21 มีนาคม 2561 เวลา 19.20 น.

พรุ่งนี้ “บิ๊กตู่” ไปประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 2 ที่กัมพูชา

People unity news online : นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 2

วันนี้ (9 มกราคม 2561) พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยภารกิจด้านต่างประเทศของนายกรัฐมนตรีว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดเข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 2 (2nd Mekong-Lancang Leaders’ Meeting) ในวันที่ 10 มกราคม 2561 ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 2 (2nd Mekong-Lancang Leaders’ Meeting) จะจัดขึ้นในวันที่ 10 มกราคม 2561 ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยฝ่ายกัมพูชาจะเป็นประธานร่วมกับจีน ภายใต้หัวข้อ แม่น้ำแห่งสันติภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืนของเรา (Our River of Peace and Sustainable Development) ซึ่งการประชุมครั้งนี้จะทบทวนการดำเนินงานของประเทศสมาชิกจากการประชุมผู้นำฯ ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนมีนาคม 2559 พร้อมทั้งจะกำหนดทิศทางและกิจกรรมของกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ในอนาคต โดยสมาชิกทั้งหมด 6 ประเทศ ประกอบด้วย จีน กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม จะหารือร่วมกันเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงบนพื้นฐานของความเท่าเทียม ภายใต้หลักการการมีส่วนร่วม ความสมัครใจ และหลักฉันทามติ

ในการประชุมครั้งนี้ ไทยมุ่งมั่นที่จะ (1) พัฒนากรอบความร่วมมือดังกล่าวให้ทันสมัยมากขึ้น (2) ส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกรอบแม่โขง – ล้านช้างกับแนวคิดหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (Belt Road Initiative – BRI) เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของอนุภูมิภาค (3) ไทยยังสนับสนุนให้กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง เป็นกลไกสำคัญในการผลักดันให้อนุภูมิภาคเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแบบยั่งยืนผ่านการใช้เครื่องมือที่ทันสมัย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและโครงการสำคัญของประเทศไทย อาทิ นโยบายประเทศไทย 4.0 ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และนโยบายประเทศไทย+1 (4) การยกระดับความร่วมมือด้านน้ำระหว่างประเทศสมาชิก ให้ได้รับประโยชน์ร่วมกัน บนพื้นฐานของความรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งจะช่วยให้ภาคการเกษตรของแต่ละประเทศมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไป

เอกสารผลลัพธ์การประชุม 2 ฉบับ ได้แก่ (1) แผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี แม่โขง – ล้านช้าง พ.ศ. 2561 – 2565  (5 – Year Plan of Action 2018 – 2022) เป็นเอกสารที่จะกำหนดแนวทางการดำเนินงานของกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ในระยะ 5 ปีข้างหน้า และ (2) ปฏิญญาพนมเปญ (Phnom Penh Declaration) เป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของผู้นำจะมุ่งสนับสนุนกรอบความร่วมมือดังกล่าวให้บรรลุเป้าประสงค์ของการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประชาชนในประเทศลุ่มน้ำโขงขอเพิ่มค่า โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีมีกำหนดจะพบหารือทวิภาคีกับสมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และนายหลี่ เค่อ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีนด้วย

People unity news online : post 9 มกราคม 2561 เวลา 13.50 น.

ไทยริเริ่มจัดการประชุมลดขยะในทะเลกลุ่มประเทศอาเซียน

People unity news online : เมื่อวันที่ 22-23 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับอาเซียน เรื่องการลดปริมาณขยะทะเลในกลุ่มประเทศอาเซียน “ASEAN Conference on Reducing Marine Debris in ASEAN Region” เพื่อหาแนวทางและมาตรการร่วมกันในการลดปริมาณขยะลงทะเลในกลุ่มประเทศอาเซียน และเกิดการขับเคลื่อนร่วมกันในกลุ่มประเทศอาเซียน

พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ขยะทะเลกลายเป็นประเด็นสำคัญระดับโลกที่องค์การสหประชาชาติกำลังให้ความสำคัญ เพราะได้กำหนดให้การจัดการทรัพยากรทางทะเลเป็น 1 ใน 17 เป้าหมายของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ เนื่องจากทะเลทั่วโลกที่เปรียบเสมือนขุมทรัพย์ ที่ต่างคนต่างตักตวงใช้โดยไม่คำนึงผลที่เกิดขึ้นในระยะยาว กำลังเผชิญกับขยะที่ล่องลอยจากแผ่นดินออกสู่ทะเล และจากฝั่งออกสู่ท้องทะเล โดยเฉพาะขยะพลาสติกได้สร้างปัญหามากมาย ขยะพลาสติกขนาดใหญ่ เช่น แห อวน หรือซากสิ่งของ เป็นสาเหตุที่ทำให้สัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ บาดเจ็บหรือเสียชีวิต สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศโดยทำให้แนวปะการังและพื้นท้องทะเลเสื่อมโทรม ทำลายทัศนียภาพของชายหาดส่งผลต่อการประมง และการท่องเที่ยวของหลายประเทศ

พลเอก สุรศักดิ์ กล่าวว่า การที่ประเทศไทยริเริ่มจัดการประชุมเรื่องการลดปริมาณขยะทะเลในกลุ่มประเทศอาเซียน ก็เพื่อให้ประเทศอาเซียนได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และร่วมกันกำหนดแนวทางในการจัดการปัญหาขยะทะเล เพื่อเป็นกรอบในการจัดการแก้ไขปัญหาร่วมกันในภูมิภาคอาเซียน  เพราะขณะนี้หลายๆประเทศได้ให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาขยะทะเล อาทิ จีน เพิ่งจัดการประชุมการจัดการขยะทะเลในเขตเมืองชายฝั่งในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก ไปเมื่อช่วงต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่อินโดนีเชีย กำลังจัดการประชุมเกี่ยวกับเรื่องขยะทะเล สำหรับประเทศไทย จากการศึกษาเกี่ยวกับปัญหาขยะทะเลพบว่า ร้อยละ 80 ของขยะทะเลมาจากบนบก ส่วนขยะจากกิจกรรมทางทะเล มีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น ดังนั้น การจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง

ไทยริเริ่มจัดการประชุมลดขยะในทะเลกลุ่มประเทศอาเซียน

People unity news online : post 27 พฤศจิกายน 2560 เวลา 11.20 น.

เผยรายละเอียดการประชุม BRICS ไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศนอกกลุ่มที่จีนเชิญ

People unity news online : พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะมีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมระหว่างผู้นำกลุ่มประเทศ BRICS กับประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา ณ เมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 4 – 5 กันยายน 2560

พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกำหนดการและวัตถุประสงค์การเข้าร่วมประชุม ดังนี้

สาธารณรัฐประชาชนจีน ในฐานะประธานกลุ่ม BRICS ประจำปี 2560 ได้จัดการประชุมระหว่างผู้นำกลุ่มประเทศ BRICS กับประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา (Emerging Markets and Developing Countries Dialogue หรือ EMDCD) โดยจีนได้เชิญประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาที่มีความสำคัญ มีเอกลักษณ์ และมีความสัมพันธ์ฉันมิตรที่ดีกับจีน จำนวน 5 ประเทศ ในฐานะแขกของประเทศเจ้าภาพ ได้แก่ (1) ไทย ในฐานะประเทศกำลังพัฒนาที่มีบทบาทสำคัญและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน (2) สหรัฐเม็กซิโก ในฐานะประเทศสมาชิกกลุ่ม 20 และตัวแทนจากภูมิภาคลาตินอเมริกา (3) สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ ในฐานะประเทศจากภูมิภาคตะวันออกกลาง (4) สาธารณรัฐทาจิกิสถาน ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านของจีน และ (5) สาธารณรัฐกินี ในฐานะประธานสหภาพแอฟริกา (African Union หรือ AU)

โดยหัวข้อหลักของการประชุม EMDCD คือ การเสริมสร้างความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมเพื่อการพัฒนาร่วมกัน ซึ่งประเด็นหลักที่จีนให้ความสำคัญ ได้แก่ การส่งเสริมการปฏิบัติการเพื่อการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 และการเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนา โดยเฉพาะความร่วมมือใต้–ใต้

ในโอกาสนี้ ไทยจะเน้นย้ำถึงบทบาทของประเทศกำลังพัฒนาที่มีบทบาทสำคัญที่ได้รับการยอมรับในเวทีโลก ต่อยอดจากการเป็นประธานกลุ่ม 77 และเป็นแขกรับเชิญพิเศษของจีนเมื่อจีนเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำกลุ่ม 20 ในปี 2559 รวมถึงบทบาทนำในการเป็นประเทศผู้ให้ภายใต้กรอบความร่วมมือใต้-ใต้

กำหนดการเข้าร่วมการประชุม มีดังนี้

วันจันทร์ที่ 4 กันยายน 2560

08.00 น.         -นายกรัฐมนตรีและภริยา พร้อมด้วยคณะ เดินทางออกจากท่าอากาศยานทหาร 2 (กองบิน 6) ไปยังเมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน สาธารณรัฐประชาชนจีน

12.20 น.         -เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติเซี่ยเหมินเกาฉี (เวลาที่เมืองเซี่ยเหมินเร็วกว่าเวลาที่กรุงเทพฯ 1 ชั่วโมง)

-การบรรยายสรุปการเข้าร่วมการประชุมผู้นำกลุ่มประเทศ BRICS กับประเทศตลาดเกิดใหม่ และประเทศกำลังพัฒนา

16.15 น.         -นายกรัฐมนตรีพบหารือทวิภาคีกับประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

16.40 น.         -นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นสักขีพยานการลงนามความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

วันอังคารที่ 5 กันยายน 2560

10.15 น.           -นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมระหว่างผู้นำกลุ่มประเทศ BRICS กับประเทศตลาดเกิดใหม่ และประเทศกำลังพัฒนา

12.30 น.           -นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวันที่เอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง เป็นเจ้าภาพเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีและคณะ

15.30 น.          -นายกรัฐมนตรีและภริยา พร้อมด้วยคณะ เดินทางออกจากท่าอากาศยานนานาชาติเซี่ยเหมินเกาฉี กลับประเทศไทย

17.50 น.          -เดินทางถึงท่าอากาศยานทหาร 2 (กองบิน 6) กรุงเทพฯ

People unity news online : post 1 กันยายน 2560 เวลา 14.00 น.

 

Verified by ExactMetrics