วันที่ 16 พฤษภาคม 2024

ครูเป็นหนี้ 9 แสนคน 1.4 ล้านล้านบาท ลงทะเบียนแก้หนี้แล้ว 4 หมื่นคน ชวนร่วมมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ช่วงปิดเทอม

People Unity News : 17 กันยายน 2565 รองโฆษกรัฐบาลเผยความคืบหน้าแก้หนี้ครู ลงทะเบียนกว่า 4 หมื่นคน รวมมูลหนี้ 5.8 หมื่นล้านบาท ลดดอกเบี้ยเงินกู้สหกรณ์ ชวนร่วมมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ครู

วันนี้ (17 กันยายน 2565) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปี พ.ศ. 2565 รัฐบาลตั้งเป้าให้เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลแก้ไขปัญหาหนี้ครูอย่างต่อเนื่อง สามารถแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ปัจจุบันพบว่ามีครูกว่า 9 แสนคนทั่วประเทศ หรือประมาณ 80% มีหนี้รวมกัน 1.4 ล้านล้านบาท เจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุด คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู จำนวน 8.9 แสนล้านบาท รองลงมาคือ ธนาคารออมสิน 3.49 แสนล้านบาท รวมทั้งธนาคารกรุงไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และสถาบันการเงินอื่นๆ

นางสาวรัชดา กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูว่า ภาพรวมได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูไปแล้ว ดังนี้

ลดดอกเบี้ยเงินกู้ มีสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 70 แห่ง ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ลงเฉลี่ยร้อยละ 0.3 ลูกหนี้ได้รับประโยชน์กว่า 4 แสนราย รวมภาระหนี้สินที่ลดลงกว่า 2.2 พันล้านบาท

ปรับโครงสร้างหนี้ โดยการรวมหนี้มาไว้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูฯ หรือสถาบันการเงิน ที่ให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำกว่า เพื่อให้ครูมียอดชําระต่อเดือนน้อยลง และเหลือเงินเดือนหลังหักชําระไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30

กําหนดให้สามารถหักเงินสวัสดิการ การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค) ในกลุ่มแรก (ร้อยละ 70 ของเงินเดือน) เพื่อให้สามารถใช้เงิน ช.พ.ค เป็นหลักประกันเงินกู้ได้ ซึ่งปัจจุบันมีครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 3.6 แสนราย ที่ใช้ ช.พ.ค เป็นหลักประกันเงินกู้ ส่งผลให้ครูไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อทำประกัน ช่วยลดค่าใช้จ่ายลงกว่า 2.3 พันล้านบาท

สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้ครูผ่านสถานีแก้หนี้ 588 แห่งทั่วประเทศนั้น นางสาวรัชดา กล่าวว่า ขณะนี้ มีครูลงทะเบียนแก้หนี้แล้ว 4 หมื่นกว่าคน มูลค่าหนี้รวมกว่า 5.8 หมื่นล้านบาท สามารถแก้ปัญหาหนี้ไปแล้ว 11,090 คน หรือประมาณ 1 ใน 4 ของผู้ลงทะเบียน ส่วนที่เหลือ กระทรวงศึกษาธิการร่วมกับธนาคารออมสินและสหกรณ์ออมทรัพย์ครู จะจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ “ปิดเทอม เรื่องหนี้ มีทางออก” เป็นเวทีกลางเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย นำร่องที่จังหวัดกำแพงเพชร เริ่ม 4 ตุลาคม 2565 นี้ ก่อนขยายผลจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ครูในจังหวัดต่างๆทั่วประเทศต่อไป

Advertisement

ธอส. จัดงาน GHB ALL HOME EXPO 2024 @เซ็นทรัล อีสต์วิลล์ รามอินทรา ลดสูงสุดถึง 50%

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 14 กุมภาพันธ์ 2567 ธอส. จัดงาน GHB ALL HOME EXPO 2024 @เซ็นทรัล  อีสต์วิลล์ รามอินทรา นำทรัพย์เด่น ทำเลดีกว่า 1,000 รายการ ลดสูงสุดถึง 50%

นายศักดิ์สิทธิ์ จิตตนูนท์ รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มงานปรับโครงสร้างหนี้ และรักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานบังคับคดี ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ธอส. ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐ ที่มีพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” ส่งเสริมให้คนไทยได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ง่ายขึ้น จึงเตรียมจัดงาน มหกรรมบ้านมือสอง ธอส. : GHB ALL HOME EXPO 2024 @เซ็นทรัล อีสต์วิลล์ รามอินทรา ระหว่างวันที่ 16-18 ก.พ. 2567 ณ เซ็นทรัล อีสต์วิลล์ รามอินทรา โดยนำบ้านมือสองคุณภาพดี ทำเลเด่น และราคาคุ้มค่า พร้อมส่วนลดสูงสุด 50% จากราคาในปัจจุบัน มาจำหน่ายรวม 1,160 รายการ ทั้งประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮ้าส์ และห้องชุด (คอนโดมิเนียม) แบ่งเป็น ทรัพย์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 662 รายการ และทรัพย์ในภูมิภาค 498 รายการ โดยทรัพย์ที่มีราคาต่ำสุด ได้แก่ ทรัพย์ประเภทคอนโดมิเนียม ขนาดเนื้อที่ 26.25 ตรม. ในโครงการรินทร์ทองคอนโดมิเนียม อ.เมืองสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ มีราคาเพียง 75,000 บาท เท่านั้น!! พิเศษ! ลงทะเบียนจองซื้อทรัพย์ภายในงานมีโอกาสได้รับสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำสุด นานสูงสุด 24 เดือน และผู้ที่ทำสัญญาตั้งแต่วันที่ 16 – 23 ก.พ. 2567 รับฟรีบัตรกำนัลแทนเงินสด มูลค่า 2,000 บาท จำนวน 20 รางวัล1 รายต่อ 1 รางวัล (สำหรับผู้ที่ทำสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล 10 รายแรก และที่ทำสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์ในส่วนภูมิภาค 10 รายแรก) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ G H Bank Call Center โทร. 0-2645-9000 กด 5 หรือ Facebook Fanpage บ้านมือสอง ธอส. หรือ ดูข้อมูลบ้านมือสอง ธอส. ได้ที่ www.ghbhomecenter.com, Mobile Application : GHB ALL HOME และ Line Official Account : @ghbnpa

Advertisement

สำนักงานสลากฯ ชี้แจงวิธีการขึ้นเงินรางวัล ‘สลากดิจิทัล’

People Unity News : วันนี้ (วันที่ 3 มิถุนายน 2565) พันโท หนุน ศันสนาคม ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวว่า กรณีถูกรางวัล ระบบจะแจ้งเตือนไปที่แอปพลิเคชันเป๋าตัง ภายในเวลา 18.00 น. ของวันที่ออกรางวัล โดยให้เลือกรับรางวัลได้ 2 ช่องทางคือ เลือกรับโดยการโอนเงิน ซึ่งจะโอนเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทยที่ผูกไว้กับแอปพลิเคชันเป๋าตัง ซึ่งในอนาคตจะปรับเปลี่ยนให้สามารถผูกบัญชีธนาคารอื่นๆได้ เพื่อความสะดวกของผู้ซื้อ วิธีนี้จะเสียค่าธรรมเนียม 1% และ ค่าภาษีอากรแสตมป์ 0.5% ส่วนวิธีที่สอง สามารถเลือกมารับเงินรางวัลที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล สนามบินน้ำ โดยต้องกำหนด วัน เวลา ที่ต้องการเข้ามารับเงินรางวัลเพื่อที่สำนักงานสลากฯ จะจัดเตรียมสลากแบบใบตัวจริง เพื่อส่งคืนให้กับผู้ซื้อ เพื่อเข้าสู่กระบวนการขึ้นเงินรางวัล วิธีนี้จะเสียเฉพาะค่าภาษีอากรแสตมป์ 0.5% ทั้งนี้ ยืนยันว่าการกำหนดค่าธรรมเนียม และค่าอากรแสตมป์ดำเนินการเช่นเดียวกับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการนำสลากไปขึ้นเงินรางวัลที่สำนักงานสลาก หรือธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ และธนาคารกรุงไทย

ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวต่อไปว่า กรณีที่ถูกรางวัลสลากที่จำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มฯ จะต้องแจ้งในระบบว่า จะเลือกรับเงินรางวัลผ่านช่องทางใดช่องทางหนึ่งภายใน 15 วัน หากไม่แจ้งภายในกำหนด จะต้องมาขึ้นเงินรางวัลที่สำนักงานสลากภายใน 2 ปี โดยสลากที่จำหน่ายผ่านแพลตฟอร์ม หรือดิจิทัล ที่ซื้อไว้จะแสดงอยู่ในประวัติข้อมูลการซื้อ 1 ปี ทั้งนี้ หากเลือกรับเงินรางวัลผ่านการโอนเงินเข้าบัญชีที่ผูกไว้ จะได้รับเงินโอนหลังจากที่แจ้ง ภายในระยะเวลา 12 ชั่วโมง ซึ่งยืนยันว่าจากที่ทดสอบระบบ การโอนเงินรางวัลไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ขอให้ผู้ซื้อสลากทุกคนไม่ต้องกังวล

พันโท หนุน ศันสนาคม กล่าวว่า การจำหน่ายสลากผ่านแพลตฟอร์มหรือสลากดิจิทัลนั้น สลากทุกใบเป็นของตัวแทนจำหน่ายรายย่อย สำนักงานสลากฯ เป็นแต่เพียงสนับสนุน จัดหาช่องทางการจำหน่ายในราคา 80 บาท ที่ได้ประโยชน์ทั้งผู้ซื้อและส่งเสริมตัวแทนรายย่อยผู้ขาย ให้สามารถวางขายในแพลตฟอร์ม ซึ่งมีผู้เข้ามาซื้อเป็นจำนวนมาก ไม่ต้องเสียค่าใช้ในการเร่ขาย ขณะเดียวกัน ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการมอมเมา เพราะปัจจุบันประชาชนที่ซื้อสลากตามแผงจำหน่ายก็สามารถซื้อได้แบบไม่จำกัดจำนวนอยู่แล้ว และขอย้ำว่า สลากทุกใบเป็นของพ่อแม่พี่น้องตัวแทนรายย่อย ดังนั้น การจำหน่ายสลากดิจิทัล นอกจากประชาชนผู้ซื้อจะสามารถซื้อสลากได้ในราคาที่กำหนด คือ 80 บาทแล้ว ยังเป็นการช่วยส่งเสริมอาชีพ ส่งเสริมรายได้ให้กับพ่อแม่พี่น้องที่เป็นตัวแทนรายย่อยอีกด้วย

Advertisement

“เศรษฐา” เตรียมยกระดับความสามารถการแข่งขันกับซาอุฯ หวังเพิ่มการค้า-การลงทุน

People Unity News : 21 ตุลาคม 2566 ซาอุดีอาระเบีย – นายกรัฐมนตรีเดินหน้าสานต่อสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย หวังเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันการค้า-ลงทุน

เมื่อเวลา 10.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 4 ชั่วโมง กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงผลสำเร็จในการเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ว่าเมื่อค่ำวันที่ 20 ต.ค. เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงริยาด ได้เลี้ยงรับรองอาหารค่ำตนกับคณะ โดยได้พบกับทีมไทยแลนด์ และเจ้าหน้าที่ทางพาณิชย์การค้า การลงทุน ซึ่งได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน

ทั้งนี้ ทางเอกอัครราชทูตไทยได้ให้ข้อคิดว่า ความจริงแล้วศักยภาพการค้า การลงทุน ที่ซาอุดีอาระเบียยังสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขยายการค้า ด้านการเกษตร เชิงพาณิชย์ และการลงทุน ซึ่งบีโอไอได้แจ้งว่าต้องการเจ้าหน้าที่ประจำซาอุดีอาระเบีย หลังจากพูดคุยกันแล้วตนมีความเข้าใจถึงความต้องการตรงนี้ และอยากให้เอกอัครราชทูตเขียนมาว่าเหตุผลที่ต้องการคืออะไร เพราะถือว่าเป็นประเทศหลักที่รัฐบาลเพิ่งเปิดความสัมพันธ์ใหม่อีกครั้ง หลังจากปิดไปนาน ถือว่าเป็นประเทศที่ไทยอยากมีความสัมพันธ์กันเพิ่มขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน การค้า การลงทุนขึ้นไปอีก

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ตนได้ไปเยี่ยมชมเมืองโบราณของซาอุดีอาระเบีย ประมาณ 300-400 ปี ถือเป็นเมืองแรกในซาอุดีอาระเบีย ซึ่งถูกทำลายไปและสร้างขึ้นมาใหม่ โดยมีการลงทุนไปเยอะมากในการสร้างเมืองนี้แห่งการท่องเที่ยว มีการสร้างพื้นที่อย่างมโหฬหาร และได้ขึ้นเป็นทะเบียนมรดกโลกด้วย รวมถึงยังได้เยี่ยมชมนิทรรศการเมืองแห่งอนาคต มีการลงทุนกว่า 5 แสนล้านล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อไปดูก็ตกใจในความอลังการยิ่งใหญ่ โดยซาอุดีอาระเบียมีความมั่งคั่งสูงจากการค้าขายปิโตรเคมีคอลและน้ำมัน เพราะฉะนั้นจึงมีเงินทุนสูงมาก แต่เขาเองก็ทราบดีว่าโลกเปลี่ยนไป การส่งเสริมการลงทุนและสร้างเมืองใหม่เป็นเรื่องสำคัญ ตนได้ดูนิทรรศการและวิธีการที่เขาเสนอ ซึ่งการลงทุนน่าจะนำไปใช้ได้ในการต้องทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วนในแง่เมกะโปรเจกต์ที่เราจะทำที่เมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าหรือแลนด์บริดจ์

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ได้คุยกับภาคเอกชน 4 บริษัท บริษัทแรกคือ SALIC เป็นบริษัทที่ครบวงจรด้านการเกษตรและปศุสัตว์ มีการลงทุนไปทั่วโลก เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร เรารู้สึกแปลกใจอย่างมาก ขนาดประเทศเขามีแต่ทะเลทราย แต่มีบริษัทใหญ่ระดับโลกในการค้าขายสินค้าเกษตรและปศุสัตว์ ที่อเมริกาใต้ ยุโรป และในเอเชีย วันนี้มีการพูดคุยกันหลายเรื่อง ทางด้านการเกษตร ด้านปศุสัตว์ เรื่องของวัว ซึ่งเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลนี้ว่าจะสามารถผลักดันไปด้วยกันหรือไม่

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถ้าเป็นไปได้จะให้รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำภาคเอกชนมาพูดคุยกับทางบริษัท SALIC ซึ่งเขาก็ยินดีและตื่นเต้นที่เราจะมีการทำอะไรร่วมกันในมิติใหม่ๆ และมิติใหญ่ๆ รวมถึงได้เจอกับกลุ่มกองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะ ซึ่งเป็นกองทุนที่มีขนาดใหญ่มาก ลงทุนทั้งในซาอุดีอาระเบียและต่างประเทศ เช่น สหรัฐ และจีน แต่ยังไม่มีการลงทุนที่เมืองไทย แต่ต้องการลงทุนด้านเมกะโปรเจกต์ เพราะฉะนั้นไทยเองมีโครงการขนาดใหญ่เยอะ จึงจะมีการพูดคุยกันต่อ

ทั้งนี้ ทางบริษัทดังกล่าวยังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทปิโตรเคมีและน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งมีการค้าขายกับเราเยอะอยู่แล้ว และพยายามหาโอกาสร่วมมือทำธุรกิจกับไทยในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการหาโรงกลั่น ซึ่งเขาเข้าใจว่าโรงกลั่นเรามีสภาพที่เก่าและต้องการอัพเกรด ซึ่งต้องการเงินลงทุนหลายแสนล้านบาท จึงมีการพูดคุย และตนจะส่งเจ้าหน้าที่มาประสานงานต่อ และรายสุดท้ายคือ บริษัท SABIC ซึ่งเป็นผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ของซาอุดีอาระเบีย หนึ่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีผู้ถือหุ้นคนเดียวกัน นั่นคือ PIF ซึ่งมีการลงทุนเยอะมากอยู่แล้ว และเรื่องของปุ๋ย ที่ส่งให้เราเป็นรายใหญ่ที่สุด เอกชนไทยที่ทำเกษตรกรรมก็ซื้อจากบริษัทนี้เยอะมาก รวมถึงหัวเชื้อปุ๋ย ที่เรามีอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็จะมีการพูดคุยเพื่อหาความร่วมมือกัน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า และสิ่งที่น่ายินดีอย่างหนึ่งที่ตนถามเขาว่าบริษัท SABIC มีความสัมพันธ์ที่ดีกับ ปตท. และหลายบริษัทเอกชน ทางเขาติดขัดอะไรหรือไม่เกี่ยวกับการลงทุน การทำธุรกิจกับไทย ซึ่งเขาบอกไม่มีเลย ทุกอย่างได้รับการสนับสนุนที่ดีมาก และอยากให้การสัมพันธ์เดินต่อไป ตนต้องขอบคุณหน่วยงานต่างๆ ที่ร่วมงานกับทางบริษัท SABIC ที่ทำให้เขาชื่นชมเราได้ตรงนี้ หวังว่าการลงทุนจะพัฒนาต่อไปในทุกมิติ

Advertisement

ปลัดแรงงานระบุ ขึ้นค่าแรง 400 บาท ต้องรอลุ้นผลประชุม 14 พ.ค.

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 9 พฤษภาคม 2567 ปลัดกระทรวงแรงงาน เผยความคืบหน้าค่าแรง 400 บาท ยังต้องรอลุ้นผลประชุมวันที่ 14 พ.ค.นี้ ยืนยันพยายามให้ทุกฝ่ายได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความกังวลใจของหลายฝ่ายต่อการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 400 บาทนั้นว่า ขั้นตอนของการปรับค่าจ้างขณะนี้อยู่ในระหว่างการสำรวจและศึกษาข้อมูล ซึ่งผมได้สั่งการให้แรงงานจังหวัดในแต่ละพื้นที่ประชุมหารือกับผู้ประกอบการเพื่อนำข้อมูลมาพิจารณาความเหมาะสมในแต่ละจังหวัด ซึ่งทั้งหมดจะอยู่ในหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดอย่างมีหลักวิชาการและเป็นมาตรฐาน ภายใต้อำนาจของไตรภาคี คือ ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และผู้แทนฝ่ายรัฐบาล

นายไพโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้แรงงานได้รับความเดือดร้อน ประกอบกับนโยบายรัฐบาลที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนและทำให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ซึ่งกระทรวงแรงงานได้นำนโยบายรัฐบาลมาศึกษาและขยายผลในการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ผ่านกลไกระบบไตรภาคี โดยจะพิจารณาการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อนายจ้างและลูกจ้าง ในส่วนของความกังวลใจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนั้น กระทรวงแรงงานจะมีการรับฟังปัญหาของผู้ประกอบการว่ากิจการประเภทไหนได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งชี้แจงถึงความจำเป็นในการปรับขึ้นค่าจ้าง 400 บาท เนื่องจากแรงงานได้รับความเดือดร้อนจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น รวมทั้งจะรับฟังข้อเสนอมาตรการความช่วยเหลือจากภาคเอกชน เพื่อนำข้อเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อออกเป็นมาตรการช่วยเหลือดังกล่าวต่อไป อย่างไรก็ดี จะพยายามให้ทุกฝ่ายได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปี 2567 ครั้งที่ 1 มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2567 ต่อมา คณะกรรมการค่าจ้างได้มีมติกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท นำร่องพื้นที่ 10 จังหวัด ในกิจการประเภทโรงแรม ระดับ 4 ดาว และมีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2567 โดยจังหวัดภูเก็ตขึ้นทั้งจังหวัด ส่วนอีก 9 จังหวัดขึ้นบางพื้นที่ คือ 1.กรุงเทพมหานคร เฉพาะเขตปทุมวัน และเขตวัฒนา 2.จังหวัดกระบี่ เขตองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง 3.จังหวัดชลบุรี เขตเมืองพัทยา 4.จังหวัดเชียงใหม่ เขตเทศบาลนครเชียงใหม่ 5.จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เขตเทศบาลหัวหิน 6.จังหวัดพังงา เขตเทศบาลตำบลคึกคัก 7.จังหวัดระยอง เขตตำบลบ้านเพ 8.จังหวัดสงขลา เขตเทศบาลนครหาดใหญ่ และ 9.จังหวัดสุราษฎร์ธานี เขตอำเภอเกาะสมุย

Advertisement

“เศรษฐา” กำชับ ทุกหน่วยงานดูแลการเพาะปลูก-พัฒนาทุเรียน เพิ่มการส่งออก

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 27 เมษายน 2567 จันทบุรี – “เศรษฐา” กำชับ ทุกหน่วยงานดูแลการเพาะปลูกพัฒนาทุเรียน เพิ่มการส่งออก เชื่อเติบโตได้อีกมาก พร้อมสั่งเยียวยาเหตุไฟไหม้ โรงงาน จ.ระยอง

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึง การเดินทางลงพื้นที่ จ.จันทบุรี ว่า วันนี้ที่มาจันทบุรี เพราะเป็นช่วงต้นฤดูของทุเรียน และปฏิเสธไม่ได้ว่าทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดพันธุ์หนึ่งของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันเราได้ส่งออกทุเรียนไปประเทศจีน คนจีนกินทุเรียนต่อคนต่อปี ประมาณ 0.7 กิโลกรัม คนไทยกิน 5 กิโลกรัม คนมาเลเซีย กิน 11 กิโลกรัม ต่อปี เพราะฉะนั้น ศักยภาพการเติบโตของตลาดยังไปได้อีกไกลมาก ในปัจจุบันนี้มีการพัฒนาการปลูกทุเรียนไปเยอะมาก รวมถึงการจัดเก็บ เป็นมืออาชีพมาก แต่ปัญหาก็มีอยู่บ้าง เรื่องการเก็บทุเรียนอ่อน ซึ่งวันนี้ทาง ปตท. มีนวัตกรรม มาเพื่อวัดให้รู้ว่า เป็นทุเรียนอ่อนหรือแก่ แล้วได้จดลิขสิทธิ์ทางปัญญา ไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งทุเรียนอ่อนเป็นสิ่งหนึ่งที่เราต้องระมัดระวัง ต้องทำให้ดี เพราะอาจจะทำให้เสียชื่อเสียงของประเทศ ทุกวันนี้เราเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ให้กับจีน คู่แข่งของเราคือเวียดนาม รวมถึงพบปัญหาการลักลอบ นำเข้ามาจากต่างประเทศ จึงได้สั่งการไปยังอธิบดีกรมศุลกากร ว่าต้องอย่าให้มีการทำเรื่องนี้เกิดขึ้น

ส่วนเรื่องแหล่งน้ำของทุเรียน เพราะทุเรียนปีแรกต้องมีแหล่งน้ำ มีการสั่งงานให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้จัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอ นอกเหนือจากนั้นจะมีเรื่องการขนส่ง พบว่ารถตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งไม่พอ ต้องมีการหมุนเวียนกันมา ปัจจุบันทุเรียนมีเยอะตู้ขนจึงไม่เพียงพอ ซึ่งพบรายได้ของประชาชนก็ดี คนที่มาช่วยตัดเก็บทุเรียน ในโรงงานมีการแกะและแช่แข็ง คนที่มาแกะและรับจ้างแกะ มีรายได้ต่อวัน วันละ 1,500 บาท ก็ถือเป็นแรงงานที่สำคัญ และผู้ประกอบการก็ให้ความเป็นธรรมแก่แรงงาน

ทั้งนี้เรื่องการพัฒนาพันธุ์ทุเรียน เริ่มต้นแล้ว จังหวัด จันทบุรี ถือเป็นหัวมังกร ก็สามารถส่งก่อนจำหน่ายได้ก่อน และต้องไล่ไปที่ภาคใต้ ค่อยตามมา ซึ่งจากการลงพื้นที่ภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ทราบปัญหาว่าปัญหาเดียวกันคือเรื่องแหล่งน้ำ และการขนส่ง เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาตรงนี้ จึงต้องแก้ปัญหาที่ จันทบุรีก่อน เป็นจุดเริ่มต้น เป็นจังหวัดที่ใหญ่ที่สุด ถือเหมือนเป็นเมืองหลวงของผลไม้ฤดูร้อนของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นมังคุด เงาะ ซึ่งภาคใต้ก็มีเหมือนกัน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ก็มาดูเรื่องราคาว่าต้องห้ามตกต่ำ ซึ่งเรามีแนวทางแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนแล้ว ก็นำไปพัฒนาต่อในจังหวัดภาคใต้ เพราะตอนนี้ยังไม่ถึงฤดูผลไม้ของภาคใต้

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การลงพื้นที่ไปดูโรงงานเก็บสารเคมี อ.บ้านค่าย จ.ระยองในช่วงบ่ายนี้ โดยชาวบ้านอยากให้ดู พื้นที่โดยรอบโรงงานด้วย ว่าได้รับผลกระทบทำการเกษตรไม่ได้เลย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ไปดูปัญหาเรื่องสภาพดินและสภาพน้ำ ซึ่งก็ต้องมาให้องค์ความรู้แก่เกษตรกรด้วย ยืนยันดูแลเยียวยาให้กับประชาชนในพื้นที่ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

Advertisement

ผู้ว่า กทม. เร่งหาแนวทางช่วยบรรเทาแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้ประชาชน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 4 ธันวาคม 2566 ผู้ว่า กทม. เร่งหาแนวทางช่วยบรรเทาแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้ประชาชน

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยหลังการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 25/2566 ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ว่า หลังจากที่มีการเปิดบริการ ให้ประชาชนลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ตามนโยบายรัฐบาล ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา มีผู้ลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือฯ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครแล้วรวม 3,043 โดยแบ่งเป็นการลงทะเบียนในระบบ Online จำนวน 2,971 ราย และลงทะเบียนด้วยตนเอง ที่ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ ณ สำนักงานเขต จำนวน72 ราย เจ้าหนี้ 1,809 ราย มูลหนี้รวมกว่า 169.7 ล้านบาท ( ข้อมูลจากวันที่ 3 ธ.ค. 66 เวลา 19.00 น. ) ซึ่งถือว่าผู้ลงทะเบียนยังมีจำนวนไม่มาก แต่กรุงเทพมหานครไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้สั่งการเพิ่มเติมไปอีก 2 ส่วน โดยให้แต่ละชุมชนทำการสำรวจ หาข้อมูลเจ้าหนี้ด้วยเพื่อประกอบกับข้อมูลลูกหนี้ให้ครอบคลุมมากขึ้น และส่วนต่อมาคือกำชับให้สถานธนานุบาล (โรงรับจำนำของกรุงเทพมหานคร) ให้เร่งหาแนวทางช่วยเหลือเพื่อที่จะสนองนโยบายของรัฐบาลให้เกิดผลสำเร็จให้ได้มากที่สุดเพิ่มเติมด้วย

นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เน้นย้ำว่า กรุงเทพมหานครไม่มีอำนาจในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบโดยตรง แต่ในเบื้องต้นกรุงเทพมหานครจะช่วยโดยการไม่ให้เกิดรายจ่ายที่เพิ่มมากขึ้นของประชาชนในทางอ้อมแทน เช่น การส่งเสริมให้สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลฟรีตามสิทธิ์ การเรียนฟรี เพื่อช่วยลดแบ่งเบาค่าใช้จ่ายไม่ให้เกิดการกู้ยืมในเรื่องดังกล่าวอีก และหลังจากนี้จะมีการประชุมมอบนโยบายให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังใน เป็นประธานผู้มอบนโยบาย ในวันที่ 8 ธันวาคมนี้ ที่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งสำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาจะต้องรอติดตามกันต่อไป

ทั้งนี้ หากประชาชนท่านใดยังได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้นอกระบบ ยังคงสามารถลงทะเบียนเพื่อขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ผ่านระบบออนไลน์ ได้ที่ Website : debt.dopa.go.th หรือลงทะเบียนด้วยตนเองที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ ณ สำนักงานเขตของกรุงเทพมหานครทุกแห่ง และสำหรับจังหวัดอื่น ๆ สามารถลงทะเบียนได้ที่ ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ ทั่วประเทศ ซึ่งข้อมูลของผู้ลงทะเบียนจะถูกรักษาไว้เป็นความลับ และหากมีข้อสงสัยสามารถขอรับคำปรึกษาและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

Advertisement

รัฐบาลปลื้มส่งออกมันสำปะหลังครึ่งปีแรก 6.7 ล้านตัน 8.2 หมื่นล้านบาท ลุ้นทั้งปีทำสถิติสูงสุดใหม่

People Unity News : วันนี้ (28 สิงหาคม 2565) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลชื่นชมผลสำเร็จ ตามที่ผลการส่งออกมันสำปะหลังไทยในช่วงครึ่งปีแรก 2565 มีจำนวนกว่า 6.7 ล้านตัน รวมมูลค่า 8.2 หมื่นล้านบาท พร้อมกำชับทุกฝ่ายร่วมพิจารณามาตรการเพิ่มการส่งออกให้บรรลุเป้าหมาย 1.3 แสนล้านบาท

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมุ่งดำเนินมาตรการประกันราคาผลผลิต และรายได้เกษตรกรมันสำปะหลังอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งแสวงหาตลาดแก่ผู้ประกอบการค้ามันสำปะหลังทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) รายงานการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ได้แก่ มันเส้น มันอัดเม็ด แป้งดิบ แป้งแปรรูป และอื่นๆ (กากมัน และสาคู) ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 นี้ มีอัตราการส่งออกแล้วกว่า 6.7 ล้านตัน รวมมูลค่ากว่า 8.2 หมื่นล้านบาท โดยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ถือว่ามีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 35.16% ทั้งนี้ เกิดจากปัจจัยด้านสงครามที่ส่งผลต่อวัตถุดิบทางการเกษตรและอาหารทั่วโลก โรงงานอาหารสัตว์ฟื้นตัวจากผลกระทบโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever : ASF) และโดยเฉพาะความต้องการมันเส้นเพื่อผลิตแอลกอฮอล์ของจีนสูง ทำให้ตลาดมันสำปะหลังไทยขยายตัว

โดยเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา กรมการค้าต่างประเทศได้ร่วมประชุมหารือ 4 สมาคมมันสำปะหลัง ได้แก่ สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย สมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย สมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย และสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยคาดว่าการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในช่วงครึ่งปีหลังจะเพิ่มขึ้นในปริมาณ 4.25 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 4.7 หมื่นล้านบาท ขณะที่ตลอดทั้งปี 2565 จะมีปริมาณการส่งออกรวม 11 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับปี 2564 ซึ่งหากยอดการส่งออกตรงตามที่คาดการณ์ไว้จริง มูลค่าการส่งออกมันสำปะหลังจะถือเป็นยอดสูงสุดในรอบ 15 ปี

“รัฐบาลโดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้การบูรณาการความร่วมมือร่วมกับภาคเกษตรกร ผู้ประกอบการ และคู่ค้ามันสำปะหลังต่างประเทศ ในการร่วมส่งเสริม และผลักดันการส่งออกสินค้าไทยอย่างมีประสิทธิภาพ โดยขอให้ทุกฝ่ายเร่งดำเนินการอย่างเต็มศักยภาพเพื่อบรรลุเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ พร้อมหาแนวทางการต่อยอดส่งออกสินค้าการเกษตรอื่น ๆ ขยายตลาดผลผลิตไทยให้เป็นที่รู้จักในต่างประเทศมากยิ่งขึ้น” นายอนุชา กล่าว

Advertisement

“คลัง” เผย “นายกฯ” สั่งเร่งรัดงบปี 67 เต็มสูบมาโดยตลอด

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 2 พฤษภาคม 2567 “คลัง” เผย “นายกฯ” สั่งเร่งรัดงบปี 67 เต็มพิกัดมาโดยตลอด กรมบัญชีกลางชู 8 มาตรการ เร่งงบค้างท่อ

วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีสื่อสารมวลชนบางรายเขียนลงในคอลัมน์เผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ โดยเห็นว่า รัฐบาลโดยท่านนายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) ไม่ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2567 นั้น กระทรวงการคลังขอเรียนว่า ข้อมูลที่ปรากฏในสื่อดังกล่าวเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในปัจจุบัน ซึ่งรัฐบาลโดยท่านนายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด โดยที่ผ่านมาได้สั่งการและมอบหมายให้กระทรวงการคลังดำเนินการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ดังนี้

1.มาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ

กระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางได้ออกแนวทางการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ โดยให้หน่วยรับงบประมาณดำเนินการ ดังนี้

    1.1 เมื่อได้รับอนุมัติเงินจัดสรรแล้ว กรณีเป็นรายการที่จะต้องดำเนินการหรือเบิกจ่ายโดยสำนักงานในส่วนภูมิภาค ให้เร่งดำเนินการส่งเงินจัดสรรต่อไปยังสำนักงานในส่วนภูมิภาคภายใน 5 วัน นับแต่วันที่ได้รับอนุมัติเงินจัดสรร เพื่อให้สำนักงานในส่วนภูมิภาคดำเนินการใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันต่อไป

    1.2 รายการปีเดียว ให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณากำหนดระยะเวลาการส่งมอบงานให้รวดเร็วขึ้น เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายได้ทันภายในเดือนกันยายน 2567

    1.3 รายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณที่เป็นรายจ่ายลงทุนรายการใหม่ ให้ดำเนินการก่อหนี้ผูกพันให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2567

    1.4 ให้หัวหน้าหน่วยรับงบประมาณรวมทั้งทุนหมุนเวียนภายใต้สังกัด กำกับดูแลเร่งรัดการดำเนินการเพื่อให้สามารถก่อหนี้ และเบิกจ่ายเงินงบประมาณให้แล้วเสร็จโดยเร็ว พร้อมทั้งรายงานผลให้กรมบัญชีกลาง ทุกวันที่ 5 ของเดือนถัดไป

    1.5 ดำเนินการเบิกหักผลักส่ง เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ชดใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อนภายในเดือนกรกฎาคม 2567

    1.6 สำหรับหน่วยงานของรัฐที่ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จากสำนักงบประมาณ และได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างจนถึงขั้นตอนได้ตัวผู้รับจ้างไว้แล้ว ให้เร่งลงนามในสัญญาหรือข้อตกลงเป็นหนังสือโดยเร็ว

2.มาตรการลดระยะเวลาการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง

      2.1 การเผยแพร่ร่างประกาศและร่างเอกสารซื้อหรือจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ กำหนดให้วงเงินเกิน 500,000 บาท แต่ไม่เกิน 10,000,000 บาท ให้อยู่ในดุลพินิจของหัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่จะให้มีการเผยแพร่ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการหรือไม่ก็ได้ จากเดิมที่กำหนดเพดานไว้ที่ 5,000,000 บาท

      2.2 การเผยแพร่ประกาศและเอกสารซื้อหรือจ้างโดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป

     (1) การซื้อหรือการจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการเผยแพร่ประกาศและเอกสารซื้อหรือจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการซื้อหรือจ้างครั้งหนึ่งซึ่งมีวงเงินเกิน 500,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000,000 บาท ไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ ทั้งนี้ สำหรับการซื้อหรือจ้างครั้งหนึ่ง ซึ่งมีวงเงินเกิน 100,000,000 บาท ไม่น้อยกว่า 20 วันทำการ ซึ่งเป็นการลดระยะเวลาจากที่กำหนดไว้ในระเบียบฯ

     (2) การจ้างที่ปรึกษา และการจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง โดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป ให้หน่วยงานของรัฐเผยแพร่ประกาศและเอกสารการจ้าง เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ โดยระยะเวลาการดำเนินการดังกล่าว ให้ใช้กับปีงบประมาณ 2567 เท่านั้น ซึ่งเป็นการลดระยะเวลาจากที่กำหนดไว้ในระเบียบฯ

ทั้งนี้ เพื่อให้การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นไปตามเป้าหมาย กระทรวงการคลังและคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ จึงได้มีมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนหลายประการ เช่น การกำหนดเป้าหมายการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของกรอบงบลงทุนเป็นตัวชี้วัดของผู้บริหารสูงสุด การกำหนดให้รัฐวิสาหกิจเร่งลงนามในสัญญาให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2567 โดยให้รัฐวิสาหกิจที่ใช้เงินงบประมาณในการลงทุน เตรียมความพร้อมเพื่อให้สามารถลงนามในสัญญาได้ทันทีเมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณ เป็นต้น

Advertisement

เริ่มขายพรุ่งนี้ (6 มี.ค.) พันธบัตรออมทรัพย์ ผ่านแอปเป๋าตัง 1 หมื่นล้านบาท

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 5 มีนาคม 2567 คลัง ขายพันธบัตรออมทรัพย์ ผ่านแอปเป๋าตัง 1 หมื่นล้านบาท  6 มี.ค. นี้  อายุ 5 ปี ดอกเบี้ย 3 % ต่อปี อายุ 10 ปี ดอกเบี้ย 3.4 %

นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กล่าวว่า วันที่ 6 มี.ค. กระทรวงการคลัง ได้เริ่มเปิดจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์  ประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 40,000 ล้านบาท งวดแรก จากเป้าหมาย  1 แสนล้านบาท เพื่อชดเชยขาดดุลงบประมาณปี 67 ส่วนที่เหลืออีก 6 หมื่นล้านบาท จะดูสภาพตลาดตามความเหมาะสม

กระทรวงการคลังได้แบ่งการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ครั้งนี้ คือ 1.การจำหน่ายให้กับประชาชน วงเงิน 35,000 ล้านบาท ผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่ วอลเล็ต สบม. (สะสมบอนด์มั่งคั่ง) บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง วงเงิน 10,000 ล้านบาท และช่องทางต่างๆ ของธนาคารตัวแทนจำหน่าย วงเงิน 25,000 ล้านบาท และ 2. การจำหน่ายให้กับนิติบุคคลไม่แสวงหากำไรตามที่กระทรวงการคลังกำหนด วงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดช่องทางการจำหน่าย ดังนี้

1.การจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านวอลเล็ต สบม. บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง พันธบัตรออมทรัพย์บนวอลเล็ต สบม. ของกระทรวงการคลัง ในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ครั้งที่ 1 วงเงิน 10,000 ล้านบาท รุ่นอายุและผลตอบแทน (จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน) 5 ปี 3.00% ต่อปี, 10 ปี 3.40% ต่อปี วันจำหน่าย 6 – 19 มีนาคม 2567 ผู้มีสิทธิ์ซื้อ บุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทย ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป วงเงินขั้นต่ำ-ขั้นสูง 100 บาท – 50,000,000 บาท (หน่วยละ 100 บาท) ช่องทางการจำหน่าย วอลเล็ต สบม. บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเป๋าตังได้ตั้งแต่วันนี้ เพื่อลงทะเบียน ยืนยันตัวตน และเติมเงินเข้าวอลเล็ต สบม. ผ่าน Mobile Banking หรือผูกบัญชีธนาคารกรุงไทย รวมถึงเติมเงินด้วย Wallet ID ที่เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา

2.การจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านธนาคารตัวแทนจำหน่าย ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) พันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลัง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 1 ช่วงที่ 1 จองซื้อได้วันที่ 11-13 มีนาคม 2567 วงเงิน 25,000 ล้านบาท ผู้มีสิทธิ์ซื้อบุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทย หรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย รุ่นอายุและผลตอบแทน (จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน) 5 ปี 3.00% ต่อปี, 10 ปี 3.40% ต่อปี วงเงินขั้นต่ำ-ขั้นสูง 1,000 บาท-ไม่จำกัดวงเงินขั้นสูง (หน่วยละ 1,000 บาท)

ช่องทางการจำหน่าย Internet Banking Mobile Banking และเคาน์เตอร์ของธนาคารตัวแทนจำหน่ายทั้ง 4 แห่ง

พันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลัง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 1 ช่วงที่ 2 จำหน่ายวันที่ 18-19 มีนาคม 2567 วงเงิน 5,000 ล้านบาท

ผู้มีสิทธิ์ซื้อ สภากาชาดไทย มูลนิธิ สมาคม สหกรณ์ วัด สถานศึกษาของรัฐ โรงพยาบาลของรัฐ นิติบุคคลอาคารชุด นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร และนิติบุคคลอื่นที่ไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไร รุ่นอายุและผลตอบแทน (จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน) 10 ปี 3.00% ต่อปี วงเงินขั้นต่ำ-ขั้นสูง 1,000 บาท – ไม่จำกัดวงเงินขั้นสูง (หน่วยละ 1,000 บาท) ช่องทางการจำหน่าย เคาน์เตอร์ของธนาคารตัวแทนจำหน่ายทั้ง 4 แห่ง

การจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ให้กับประชาชนในช่วงที่ 1 (วันที่ 11 – 13 มีนาคม 2567) จะใช้วิธีการจัดสรรพันธบัตรแบบ Small Lot First (ทยอยจัดสรรพันธบัตรเป็นรอบๆ เวียนจนครบผู้ซื้อทุกราย) โดยทวีคูณรอบละ 1,000 บาท ซึ่งลำดับในการจองซื้อก่อน-หลัง ไม่มีผลต่อการจัดสรร

ในกรณีที่วงเงินพันธบัตรที่จะจัดสรรในรอบสุดท้ายไม่เพียงพอที่จะจัดสรรให้ผู้ซื้อทุกราย ระบบคอมพิวเตอร์จะจัดสรรพันธบัตรในรอบสุดท้ายด้วยวิธีการสุ่ม (Random) จนครบวงเงินจำหน่าย ทั้งนี้ ผู้จองซื้อจะทราบผลการจัดสรรพันธบัตรและได้รับเงินคืน กรณีที่ไม่ได้รับจัดสรรพันธบัตร หรือได้รับจัดสรรไม่ครบตามวงเงินจองซื้อ ในวันที่ 14 มีนาคม 2567 (รายละเอียดและเงื่อนไขการจำหน่ายเป็นไปตามเอกสารการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลัง) วงเงินที่จำหน่ายบนวอลเล็ต สบม. และผ่านธนาคารตัวแทนจำหน่ายจะแยกจากกัน โดยผู้ลงทุนสามารถลงทุนได้ทั้ง 2 ช่องทาง โดยประชาชนที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ในหนังสือชี้ชวนและเอกสารสรุปเงื่อนไขการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ หรือสอบถามได้กับธนาคารตัวแทนจำหน่ายทั้ง 4 แห่ง สบน. หวังว่าการจำหน่ายพันธบัตรในครั้งนี้จะได้รับการตอบรับที่ดี ในการลงทุนกับพันธบัตรออมทรัพย์ของรัฐบาล

Advertisement

Verified by ExactMetrics