วันที่ 29 เมษายน 2024

“SPCG”หนุน “สนพ.” ดึงองค์ความรู้พลังงานหมุนเวียนต่อยอดธุรกิจ

People Unity : สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ผู้แทน SPCG ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายในโครงการ THE ENERGiST2 by EPPO ภายใต้หัวข้อ “Renewable Energy Policy or Business Driven?”ณ อาคาร True Digital Park

เมื่อวันที่ 27ตุลาคม 2562ที่ผ่านมา ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ “SPCG” มอบหมายให้ นางนรินพร มาลาศรี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบริหารบริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) เป็นตัวแทนขึ้นบรรยายในโครงการTHE ENERGiST2 by EPPO ภายใต้หัวข้อ “Renewable Energy Policy or Business Driven?”หรือ “นโยบายทางด้านพลังงานหมุนเวียน หรือธุรกิจทางด้านพลังงานหมุนเวียน อะไรคือตัวนำในการขับเคลื่อนระบบนิเวศทางด้านพลังงานของประเทศไทย” จัดขึ้นณ อาคาร True Digital Parkโดยโครงการครั้งนี้

มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ข้าราชการ ผู้ประกอบธุรกิจพลังงาน ผู้ประกอบธุรกิจเทคโนโลยี นิสิตและนักศึกษา รวมทั้งประชาชนได้มีโอกาสถ่ายทอดองค์ความรู้และร่วมกันสร้างสรรค์นโยบายเพื่อต่อยอดธุรกิจด้านพลังงานไทย และร่วมกำหนดนิยามความสัมพันธ์ระหว่างนโยบายและการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างสรรค์และต่อยอดระบบนิเวศด้านพลังงานของประเทศไทยให้พัฒนาอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

นางนรินพรได้กล่าวว่าบริษัท SPCG ในฐานะผู้บุกเบิกธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบโซลาร์ฟาร์มและโซลาร์รูฟรายแรกของประเทศไทยและประชาคมอาเซียนด้วยโครงการโซลาร์ฟาร์มทั้งในและต่างประเทศรวมกำลังการผลิตทั้งสิ้นกว่า 300 เมกะวัตต์ซึ่งธุรกิจของเรานอกจากจะเป็นธุรกิจด้านพลังงานสะอาดแล้ว ยังสามารถช่วยลดสภาวะโลกร้อนเทียบเท่ากับลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 200,000 ตัน CO2ต่อปี อีกด้วย

ในส่วนของการบรรยายนั้น นางนรินพร กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยมีเงินสนับสนุนส่วนเพิ่มพิเศษจากค่าไฟฟ้าปกติ (Adder) และ Feed in Tariff (FIT) ทำให้ภาคธุรกิจ ทางด้านพลังงานหมุนเวียน มีการเติบโต สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะธุรกิจด้านการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในช่วง 10 ปีทีผ่านมา จนถึงปัจจุบัน มีปริมาณกำลังการผลิตติดตั้งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากหลักร้อยเป็นหลักพัน โดยในปี 2564 จะมีปริมาณกำลังการผลิตไฟฟ้าถึง 3,272 เมกะวัตต์ และจากแผน PDP 2018 รัฐบาลประกาศให้มีโครงการพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์ภาคประชาชนปีละ 100 เมกะวัตต์ เป็นเวลา 10 ปี ทั้งหมด 1,000 เมกะวัตต์ โดยเริ่มดำเนินโครงการในปี 2562 เป็นต้นไป รวมถึงจะมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใหม่ในช่วงปี 2561-2580 กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 10,000 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตามภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ และนักลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน จะสามารถขับเคลื่อนธุรกิจการลงทุน ในโครงการที่รัฐบาลมีนโยบาย หรือกลไกสนับสนุนที่เหมาะสม สมเหตุสมผล จูงใจแก่นักลงทุน สนใจมาลงทุนโดยไม่ลังเลใจหรืออยู่บนพื้นฐานที่เป็นไปได้ทางธุรกิจ ซึ่งที่ผ่านมาโครงการโซลาร์ภาคประชาชน เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่ารูปแบบการสนับสนุนไม่จูงใจให้เกิดการเข้าร่วมโครงการ โดยจะเห็นได้จากผลการดำเนินโครงการช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมโครงการในจำนวนที่น้อย และผลที่ได้มีขนาดรวมไม่ถึงเมกะวัตต์ จาก 121 หลังคาเรือน ห่างไกลจากเป้าหมายที่วางไว้ 15,000หลังคาเรือนหรือ 100 เมกะวัตต์ ในปี 2562

“มนัญญา”ลุยเอง! ตามติดโรคไหม้คอรวงข้าวระบาดสุรินทร์

People Unity : “มนัญญา” ติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคไหม้คอรวงข้าวในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ พร้อมเตรียมมาตรการช่วยเหลือ และลงพื้นที่ให้กำลังใจเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ

วันที่ 28 ต.ค.2562 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคไหม้คอรวงข้าวในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ณ ศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ อ.เมือง จ.สุรินทร์ ว่า จากการรายงานสถานการณ์การระบาดศัตรูข้าวของกรมส่งเสริมการเกษตร เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา พบการระบาดของโรคไหม้คอรวงข้าวใน 7 จังหวัด ได้แก่ ลําพูน แพร่ จันทบุรี มุกดาหาร มหาสารคาม สุรินทร์ และสงขลา รวม 7,442 ไร่ และพบการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลใน 6 จังหวัด ได้แก่ ลําปาง แพร่ อุตรดิตถ์ พิจิตร อ่างทอง และสุพรรณบุรี รวม 18,141 ไร่ นอกจากนี้ กรมการข้าวยังได้รับรายงานการระบาดของโรคไหม้ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ จํานวน 77,777 ไร่ และการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในพื้นที่จังหวัดลําปางด้วยเช่นกัน กระทรวงเกษตรแชะสหกรณ์ โดยกรมการข้าวจึงมีการแจ้งเตือนภัยการระบาดของศัตรูข้าวทั้ง 2 ชนิด ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคตะวันตก

สำหรับในปีการผลิต 2562/63 จังหวัดสุรินทร์มีพื้นที่ปลูกข้าว 3.025 ล้านไร่ รายงานพบการระบาดโรคไหม้คอรวงข้าวครั้งแรก เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2562 ซึ่งในช่วงเวลาเพียง 10 วัน (ช่วงวันที่ 18 – 28 ตุลาคม 2562) มีการระบาดอย่างรวดเร็วครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 17 อำเภอ 140 ตำบล 1,331 หมู่บ้าน เกษตรกรผู้ประสบภัย 49,204 ราย รวมพื้นที่การระบาดทั้งสิ้น 283,454.75 ไร่ มีสาเหตุสำคัญเกิดจาก 1. เกษตรกรมีการใช้เมล็ดพันธุ์ในการหว่านข้าวในอัตราที่สูงเกินไป (30 – 50 กิโลกรัม/ไร่) 2. ข้าวหอมมะลิ (พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และ กข 15) เป็นพันธุ์ข้าวที่อ่อนแอต่อโรคไหม้คอรวงข้าว 3. มีการใช้ปุ๋ยเคมีในอัตราที่สูง โดยเฉพาะปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจนสูง ส่งผลให้พืชอ่อนแอต่อการเกิดโรค และ 4. สภาพอากาศเหมาะสมต่อการเกิดโรคไหม้ข้าว

อย่างไรก็ตาม สำนักงานเกษตรจังหวัดสุรินทร์และสำนักงานเกษตรอำเภอได้เฝ้าระวัง แบ่งเป็น ก่อนเกิดการระบาด โดยมีศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนเป็นศูนย์เฝ้าระวังการระบาดศัตรูพืชในพื้นที่และรายงานข้อมูลให้หน่วยงานราชการ พร้อมประชาสัมพันธ์เตือนการระบาด และระหว่างเกิดการระบาด ได้สร้างการรับรู้การจัดการโรคไหม้คอรวงข้าวให้กับเกษตรกร 17 อำเภอ 26,124 ราย ลงพื้นที่สำรวจแปลง สนับสนุนเชื้อราไตรโครเดอร์มาเบื้องต้น เพื่อควบคุมโรค 10,341 กิโลกรัม สามารถฉีดพ่นได้ 31,023 ไร่ ทั้งนี้ จังหวัดสุรินทร์ได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย (โรคไหม้คอรวงข้าว) เพื่อเตรียมการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการ พ.ศ. 2562 ต่อไป

“อุตตม”ร่วมถก ธ.ก.ส.เร่งเสริมมาตรการช่วยเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย

People Unity : รมว.คลัง ร่วมประชุมคณะกรรมการธ.ก.ส. เร่งเสริมมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยปี2562 ทั้งขยายเวลาชำระหนี้ 2 ปี และลดดอกเบี้ยเงินกู้อีกร้อยละ 3 ติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสู่ภาคชนบท ทั้งการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว การดำเนินโครงการประกันรายได้ปาล์ม ข้าว ที่จ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกรไปแล้วกว่า 34,600 ล้านบาท พร้อมเตรียมโอนประกันรายได้ยาง งวดแรก 1 พฤศจิกายนนี้

วันที่ 28 ต.ค.2562 ที่ ธ.ก.ส.สำนักงานใหญ่ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการ ธ.ก.ส. เป็นประธานในการประชุม ติดตามการดำเนินงานของธนาคารในการช่วยเหลือเกษตรกรและกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก โดยนายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ได้สรุปมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในระยะสั้นที่ดำเนินการไปแล้ว (ข้อมูล ณ 24 ตุลาคม 2562) ประกอบด้วย โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 ในอัตราไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ วงเงิน 24,810 ล้านบาท เป้าหมายเกษตรกร 4.31 ล้านครัวเรือน ดำเนินการโอนเงินแล้ว จำนวน 3.99 ล้านครัวเรือน เป็นเงิน 23,929 ล้านบาท โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2562-2563 วงเงิน 13,000 ล้านบาทเป้าหมายเกษตรกร 263,107 ครัวเรือน ดำเนินการโอนเงิน รอบที่ 1 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ไปแล้ว 254,667 ครัวเรือน เป็นเงิน 1,351 ล้านบาท โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปี 2562/63 รอบที่ 1 วงเงิน 20,940 ล้านบาท เป้าหมายเกษตรกร 4.31 ล้านราย มีเกษตรกรที่มีคุณสมบัติถูกต้องได้รับเงินในรอบที่ 1 ทั้งสิ้น 349,300 ครัวเรือน โดย ธ.ก.ส. โอนเงินเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562 ไปแล้วกว่า 9,411 ล้านบาท รวมเงินที่โอนไปแล้วทั้ง 3 โครงการ จำนวน 34,691 ล้านบาท

สำหรับการประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส. ในครั้งนี้ นายอุตตม ได้พิจาณาเห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลการปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทย ระยะที่ 1 เพื่อเป็นการให้ช่วยเหลือแก่เกษตรกรชาวสวนยาง วงเงิน 24,278 ล้านบาท โดยเป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไป ที่เปิดกรีดแล้ว รายละไม่เกิน 25 ไร่ ปริมาณผลผลิตยาง (ยางแห้ง) 240 กิโลกรัม/ปี หรือ 20 กิโลกรัม/ไร่/เดือน กำหนดราคาประกันยางแผ่นดินคุณภาพดี 60 บาท/กิโลกรัม น้ำยางสด (DRC 100%) 57 บาท/กิโลกรัม และยางก้อนถ้วย (DRC 50 %) 23 บาท/กิโลกรัม ซึ่งแบ่งสัดส่วนการจ่ายเงินให้กับเจ้าของสวนยาง 60% และ คนกรีดยาง 40% โดยคาดว่าจะสามารถโอนเงินในงวดแรกให้เกษตรกรได้ในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้

นายอภิรมย์ กล่าวต่อไปว่า คณะกรรมการ ธ.ก.ส. ยังเตรียมพิจารณาให้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้าผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ปี 2562 จำนวน 2 โครงการ คือ โครงการขยายเวลาชำระหนี้ต้นเงินกู้เป็นเวลา 2 ปี ตั้งแต่ 1 กันยายน 2562- 31 สิงหาคม 2564 และขยายเวลาชำระดอกเบี้ยเงินกู้เป็นเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2562 – 31 สิงหาคม 2563 และโครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่เกษตรกรลูกค้า โดยคิดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตรา MRR-3 (ปัจจุบัน MRR เท่ากับ 6.875 ต่อปี) วงเงินกู้ไม่เกิน 300,000 บาทแรก เป็นเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2562 – 31 สิงหาคม 2563 และมอบหมายให้ ธ.ก.ส. เตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลเพื่อดูแลเกษตรกรตามมาตรการต่าง ๆ ที่จะทยอยออกมา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตโดยเฉพาะพืชหลักชนิดต่าง ๆ ให้สามารถแข่งขันในตลาดได้

ทั้งนี้ ในวันที่ 30 ตุลาคมนี้ กระทรวงการคลัง ธ.ก.ส. และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมจัดโครงการประชารัฐสร้างไทย พัฒนาล้านนา ซึ่งมีชุมชนจาก 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนเข้าร่วม ตามนโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังมีพิธีมอบสินเชื่อให้ลูกค้าของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ การจัดตลาดชุมชนทางน้ำ และการฝึกอบรมให้ความรู้แก่ประชาชน ณ เทศบาลตำบลสันทรายหลวง อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่

“จุรินทร์”ยกจีนเป็นต้นแบบแก้จน บุกตลาดขายสินค้าเกษตร

People Unity :  “จุรินทร์”เชื่อมจีนบุกตลาดขายสินค้าเกษตร ทำความสัมพันธ์ให้ความสำคัญ เป็นต้นแบบแก้ความยากจนในไทย

วันที่ 28 ต.ค.2562 เวลา 09.10-9.40 น. ณ ห้องบอลรูม 1 โรงแรมดิเอมเมอรัล-รัชดา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงานสัมมนา “7 ทศวรรษจีนใหม่  ก้าวต่อไปที่โลกเฝ้ามอง” โดยใช้เวลาร่วมชั่วโมงปาฐกถาพิเศษการพัฒนาจีน แบบอย่างที่โลกเรียนรู้ โดยมีผู้เข้าร่วมฟังจากทั้งสมาคม สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน ร่วมกับ อสมท. สถานทูตจีน และผู้สนใจเกี่ยวข้อง

นายจุรินทร์ กล่าวว่า นับเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งกับการที่สื่อมวลชนไทยและจีนได้ร่วมกันจัดการสัมมนานี้ขึ้นมาในวันนี้  เมื่อพูดถึงความเจริญก้าวหน้า 70 ปีที่ผ่านมา ประเทศจีนมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในทุกๆด้าน ในระดับที่สามารถเรียกได้ว่าเป็นความมหัศจรรย์ โดยความมหัศจรรย์ที่ผมอยากจะพูดถึงในวันนี้คือความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจ ที่จีนได้แสดงให้ชาวโลกเห็น ในห้วง 70 ปีที่ผ่านมา พัฒนาการทางเศรษฐกิจที่มั่นคงของจีนส่งผลให้ชาวจีนมีรายได้เฉลี่ยสูงขึ้นราว 60 เท่า โดยเมื่อ 70 ปีที่แล้ว รายได้เฉลี่ยต่อหัวของชาวจีนอยู่ที่เพียง 49.7 หยวน หรือราว 250 บาท ในขณะที่เมื่อปี 2561 มีจำนวน 28,200 หยวน หรือราว 1.41 แสนบาท และการเติบโตอย่างมั่นคงของรายได้ส่งผลให้อัตราการใช้จ่ายเติบโตขึ้นตามไปด้วย ซึ่งนั่นหมายถึงกำลังซื้ออันมหาศาล และความต้องการวัตถุดิบ ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน การค้า และการลงทุนอันมหาศาล ที่ช่วยสร้างการขยายตัวทางเศรษฐกิจไปทั่วโลก

และที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง คือการลดความยากจน ซึ่งตอนนี้ จีนมีคนจนประมาณต่ำกว่าร้อยละ 1 ของประชากรทั้งหมด นั่นหมายถึงประชากรประมาณ 700 ล้านคนของจีนได้ถูกยกออกจากความยากจน ตลอดสี่ทศวรรษที่ผ่านมา ในวันนี้ประเทศจีนคือขุมพลังทางอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าสินค้าอุตสาหกรรมทั่วโลก ซึ่งรวมถึงสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ เหล็ก ปูนซีเมนต์ ถ่านหิน ยานยนต์ เรือ รถไฟความเร็วสูง หุ่นยนต์ สะพาน อุโมงค์ ถนน เครื่องจักร คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และที่สำคัญคือจีนมีสถิติการสมัครเพื่อจดทะเบียนสิทธิบัตรมากที่สุดในโลก ซึ่งมากกว่าสหรัฐอเมริกาถึง 1.5 เท่า และปัจจุบันนี้ จีนได้กลายเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ของโลก ทั้งด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การชำระเงินออนไลน์ อินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of things) ปัญญาประดิษฐ์ และบล็อกเชน ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้จีนจะยังคงรักษาบทบาทการเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของโลกต่อไปในอนาคต

ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามใกล้ชิด คือประเทศจีนทำอย่างไรในการเปลี่ยนแปลงประเทศ จากประเทศยากจนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวเพียงหนึ่งในสามของรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประเทศในแถบทวีปแอฟริกา ให้กลายเป็นขุมพลังทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของโลก และที่สำคัญคือประเทศนี้มีประชากรถึง 1.4 พันล้านคน

1.จีนให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพทางการเมือง 2.การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก 3.เน้นการปฏิรูปจากล่างสู่บน 4.ส่งเสริมอุตสาหกรรม โครงสร้างต่างๆ ในท้องถิ่น การส่งเสริมให้แรงงานมีทักษะอยู่อาศัยและทำงานในท้องถิ่น การลงทุนด้วยเม็ดเงินมหาศาลในด้านโครงสร้างพื้นฐาน 5.ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างรัฐบาลกับเอกชน 6.ในด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ นักลงทุนจีนได้ก้าวออกไปลงทุนทั่วโลก ทั้งนี้ เห็นว่าจีนเน้นเพื่อส่งเสริมการพึ่งพาเศรษฐกิจภายในประเทศ รับมือกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพ ที่เน้นการรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งเดินหน้าเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ หวังยุติความขัดแย้งสงครามการค้า

สำหรับไทยพวกเราย่อมให้ความสำคัญเรียนรู้จากประสบการณ์ในการพัฒนาประเทศของจีน และสามารถก้าวและเติบโตไปพร้อมกับจีนได้ เราเป็นเอเชียด้วยกัน กระทรวงพาณิชย์ได้ให้ความสำคัญกับตลาดจีนเป็นอย่างมาก เพราะจีนเองก็เป็นประเทศคู่ค้าลำดับ 1 ของไทย โดยในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ระหว่างปี 2552 – 2561 มูลค่าการค้าระหว่างไทยและจีนขยายตัวสูงมาก ถึงร้อยละ 10.3 โดยเฉลี่ยต่อปี โดยจีนเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของไทย ครองสัดส่วนการค้าร้อยละ 16 ของการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของไทย และไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 14 ของจีน ครองสัดส่วนการค้าราวร้อยละ 2.1

ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับจีน มี 2-3 รูปแบบกลไกแรกคือ JC คณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน (JC เศรษฐกิจไทย-จีน, กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง (Mekong – Lancang Cooperation – MLC) , ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (Ayeyawady – Chao Phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ใน 3 กรอบความร่วมมือสำคัญเราทำงานร่วมกัน และอีกอันคือ กรอบ FTA อาเซียน-จีน ระหว่างประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจนี้ตนก็เป็นประธานรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ในระหว่างนี้ ก็ได้มีแนวทางและดำเนินการประชุมจะได้จาต่อเนื่อง

ตนได้จัดคณะเดินทางไปเยือนนครหนานหนิง ระหว่างวันที่ 20-21 กันยายน 2562 และได้พบหารือกับรองนายกรัฐมนตรี หาน เจิ้ง และเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ประจำเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (นายลู่ ซิน เซ่อ) ในประเด็นความร่วมมือรอบด้าน โดยเน้นสินค้าเกษตร และมีการลงนาม MOU สินค้ามันสำปะหลังด้วย รวมถึงได้พบหารือกับผู้แทนภาครัฐ/เอกชนไทย-จีน ในกลุ่มยางพารา มันสำปะหลัง และผลไม้ และเร็วๆนี้ ผมจะพาคณะเดินทางไปยังนครเซี่ยงไฮ้ เพื่อเข้าร่วมงาน China International Import Expo 2019 หรือ CIIE 2019 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ที่ดี ประเทศไทยให้ความสำคัญกับจีน และสานต่อความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและจีน ตลอดจนขยายความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศ ที่มีมาอย่างยาวนานในอดีตให้พัฒนาต่อไปอย่างต่อเนื่องและมั่นคงในอนาคต

ในช่วงหนึ่งนั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า ในสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูปไทยเรามีเอ็มโอยูหรือข้อตกลง อยู่กับจีนในเรื่องของข้าวกับยางพาราซึ่งในเรื่องของข้าวนั้นเราได้ทำเอ็มโออยู่กับจีนที่จะจีนช่วยเราซื้อข้าวเราประมาณ 2,000,000 ตันซึ่งขณะนี้เข้าใจว่ายังขาดอยู่อีก 1,300,000 ตัน รวมทั้งยาพาราเรามีเอ็มโออยู่กับจีนอีก 2 แสนตันจีนซื้อแล้ว 16,800 ตันยังขาดอยู่ส่วนหนึ่ง ทั้งนี้เรื่องนี้ตนก็ได้ประสานงานผ่านท่านทูตจีนไปแล้วรวมทั้งได้ฝากท่านรองฯหานเจิ้งของจีนไปด้วย ตนในฐานะเซลล์แมนประเทศก็จึงขอทำหน้าที่ไปด้วย

และ ในฐานะกำกับกระทรวงพาณิชย์ ไทยเรายังให้ความสำคัญกับการใช้กลไกทูตพาณิชย์ทั่วโลกในการทำหน้าที่เซลล์แมนประเทศ หรือในการเจาะลึกรายบุคคลต้องยอมรับว่าประเทศจีนมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกระจายไปทั่วทุกมณฑลมีความต้องการใช้สินค้าเกษตรอาหารอะไรรูปและสินค้าจากประเทศไทย จึงเป็นจุดสำคัญในการที่ทูตพาณิชย์ไทยต้องทำงานหนักในการร่วมมือแต่ละมณฑลเพื่อส่งสินค้าไปจีนมากขึ้นลดการขาดดุลการค้าลงมาให้แคบลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผมรับหน้าที่สิ่งที่ผมตั้งเป็นนวัตกรรมใหม่ในทางเศรษฐกิจของกระทรวงก็คือเราจะตั้ง กรอ.พาณิชย์เพื่อเป็นเวทีสำหรับความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชนระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับผู้ส่งออกและพ่อค้าเช่นเดียวกันที่จีนทำอยู่และประสบความสำเร็จคือการให้ความสำคัญทำงานร่วมกันระหว่างรัฐกับเอกชน

อย่างไรก็ตามการทำงานนั้น ตนเพิ่งประกาศไปว่าเราต้องทำงานเชิงรุกไปทุกตลาดทั่วโลก ก็เพิ่งประกาศไป เรากับจีนต่างกันที่รูปแบบการปกครองแต่เงื่อนไขความสำเร็จคือหลักใหญ่ต้องใช้หลักการบริหารรัฐกิจที่ชัดเจนจะทำให้เดินหน้าไปได้ เช่นที่ประธานาธิบดีสีได้ทำก็เป็นแบบอย่างก็เป็นเรื่องดี

นายจุรินทร์ กล่าวด้วยว่า เวลา 70 ปี เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์อันยาวนานนับพันปีของอาณาจักรจีนที่มีเรื่องราวมากมาย  แต่ 70 ปีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนก็เป็นกรณีศึกษาของโลกยุคปัจจุบัน  และปฏิเสธไม่ได้ว่ามีอิทธิพลต่อโลกในอนาคต  ดังนั้นการสัมมนาเรื่อง “ 7 ทศวรรษจีนใหม่ ก้าวต่อไปที่โลกเฝ้ามอง” ที่ สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน ร่วมกับ อสมท. จัดในวันนี้ผมเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่านในการนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาด้านต่างๆในอนาคต

“จุรินทร์”เร่งช่วยประกันรายได้มันสำปะหลังรุดจ่ายเงินส่วนต่าง 1 ธ.ค.2562

People Unity : ได้เวลาเกษตรกรมันสำปะหลังเฮ! “จุรินทร์” เร่งช่วยประกันรายได้ รุดจ่ายเงินส่วนต่าง 1 ธันวาคม 2562

วันที่ 27 ต.ค.2562 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำประชุม 3 ฝ่ายเคาะประกันรายได้มันสำปะหลัง เดินหน้าช่วยเกษตรกรทั้งมาตรการหลักและเสริม โดยตั้งแต่เวลา 14.30-16.00 การประชุมหารือแนวทางการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสําปะหลัง ปี 2562/63 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นประธาน ณ ห้องประชุมเวสสุวรรณ ชั้น 3 อาคารเฉลิมพระเกียรติพัชรกิติยาภา สํานักงานเทศบาลนครอุดรธานี อําเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี

ภายหลังการประชุมนายจุรินทร์ กล่าวว่า วันนี้ได้ร่วมกันกำหนดรายละเอียดของนโยบายประกันรายได้เกษตรกรมันสำปะหลัง มีมติให้ความเห็นชอบร่วมกันสำหรับการนับหนึ่งนโยบายประกันรายได้ดังนี้

ประการที่หนึ่ง จะมีการประกันรายได้ที่กิโลกรัมละ 2.50 บาท ที่เชื้อแป้งที่ 15% ประการที่สอง ประกันรายได้ครัวละไม่เกิน 100 ตัน ประการที่สาม ก็คือจะใช้เกณฑ์ราคาอ้างอิงเรื่องไปเป็นตัวกำหนดรายได้ที่ปรับเรื่องกำหนดตัวเลขส่วนต่างโดยจะใช้ราคาตลาดของราคาหัวมันสดที่ลานมันแป้งเฉลี่ยย้อนหลัง 30 วันเป็นตัวเลขราคาอ้างอิง

ประการที่สี่ เกษตรกรทุกรายสามารถเข้าร่วมโครงการได้โดยไปขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยขึ้นทะเบียนตามความเป็นจริงต้องแจ้งชัดเจนว่าปลูกมันกี่ไร่ จะเก็บเกี่ยวช่วงไหนอย่างไรตามความเป็นจริง ประการที่ห้า กำหนดจ่ายเงินส่วนต่างงวดแรกในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 โดยจ่ายหกงวดในฤดูกาลผลิตปีนี้ ทุกเดือนจนหมดจำนวนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน และประการสุดท้าย วงเงินที่ใช้ร่วมกันประมาณ 9,400 ล้านบาท

“ตั้งใจจะเอาเรื่องมาหารือวันที่ 11 พย.ก่อนเข้าประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 ตอนที่คณะรัฐมนตรีไปประชุมสัญจรที่จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบก็จะสามารถจ่ายเงินส่วนต่างแรกในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 ” นายจุรินทร์ กล่าว

นอกจากนั้นนายจุรินทร์ กล่าวว่า ยังมีมาตรการเสริมสำคัญอีกหลายประเด็นก็คือส่งเสริมให้มีการใช้มันสำปะหลังในประเทศมากขึ้นทั้งทำพลาสติกชีวภาพ ซึ่งประเทศของเราจะเดินไปในแนวทางนี้มากขึ้นเพื่อรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมรวมทั้งนำไปใช้ทำพลังงานในรูปแบบต่างๆ เช่น เอทานอล เป็นต้น จะมีการเร่งรัดส่งผลิตภัณฑ์เอกชนเพื่อเร่งรัดส่งเสริมการส่งออกมันสำปะหลังของไทยไปในตลาดต่างประเทศ เช่น ที่ตนได้นำคณะเอกชนไปขายมันสำปะหลังที่จีน เมื่อไม่นานมานี้แล้วประสบความสำเร็จพอสมควรเพราะปีที่แล้วจีนนำเข้ามันจากประเทศไทย 3,000,000 ตัน แต่ที่ไปสามารถขายได้ 2,600,000 ตัน มูลค่าประมาณ 18,000 ล้านบาท

นอกจากตลาดจีนแล้วไปตลาดอินเดียเนื่องจากอินเดียเริ่มที่จะไม่ใช้พลาสติกจริง เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยต่อไปนี้จะต้องใช้วัตถุดิบทางชีวภาพโดยเฉพาะมันสำปะหลังมาทำถุงพลาสติก และทำหีบห่อ โดยอินเดียมีประชากร 1,300 ล้านคน โดยต้องใช้สิ่งเหล่านี้ทดแทนพลาสติกมหาศาลถือเป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่งสำหรับผู้ส่งออกมันสำปะหลังไทยแล้วจะไปบุกตลาดตุรกีและนิวซีแลนด์ เนื่องจากสองประเทศนี้มีความต้องการใช้อาหารสัตว์จำนวนมากแต่ยังไม่รู้ที่ใช้มันสำปะหลังไปทำเป็นอาหารสัตว์ โดยจะเชิญผู้ผลิตอาหารสัตว์ของตุรกีและนิวซีแลนด์มาดูงานการทำด้วยมันสำปะหลังของไทย รวมทั้งตลาดเกาหลีและตลาดอื่นๆเป็นต้น

และจะเร่งรัดเรื่องการนำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้มันสำปะหลังราคาตกโดยไม่จำเป็น ต้องมีมาตรการภายในดำเนินการต่อไปให้มีผลอย่างเป็นรูปธรรม กับรอติดตามภาวะมันสำปะหลังในประเทศที่จะออกมาตรการเสริม เช่น ชะลอการขุด หรือชดเชยการขุด มาตรการอื่นๆที่จะช่วยส่งเสริมการผลิตต่อไปเป็นต้น ต่อมาคือสถานการณ์มันสำปะหลังทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศจำเป็นที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด จึงเป็นที่มาถึงได้ทำตามความเห็นของภาคเอกชนที่จะจัดตั้งวอร์รูมมันสำปะหลังเพื่อติดตามอย่างใกล้ชิดและเสนอทางออกเพื่อประโยชน์ของเกษตรกรมันสำปะหลังไทยต่อไปด้วย

วันนี้ตนได้มอบให้กรมการค้าภายใน เป็นเจ้าภาพเชิญภาคเอกชน เกษตรกร กระทรวงเกษตร ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดมาร่วมกันหามาตรการในการหาเครื่องมือเพื่อทำให้การขายหัวมันสดของเกษตรกรและการรับซื้อหัวมันสดของภาคเอกชนมีการกำหนดราคาที่เป็นธรรมของทั้งสองฝ่ายโดยลดการใช้ดุลยพินิจเพื่อกำหนดราคาตามความประสงค์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้น้อยที่สุดโดยให้กรมการค้าภายในไปหารือร่วมกันและสรุปมาว่าจะมีกลไกอะไรที่ทำให้เป็นธรรม

สุดท้ายคือเรื่องโรคใบด่างในมันสำปะหลังซึ่งทุกฝ่ายกังวลจะมีผลกระทบต่อปริมาณการผลิตมันสำปะหลัง โดย ครม.มีมติอนุมัติเงิน 248 ล้านบาทให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเร่งรัดทำเรื่องการกำจัดโรคใบด่าง วันนี้ได้ไปเร่งรัดให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและให้มารายงานให้คณะกรรมการทราบในวันที่ 11 พฤศจิกายน เช่นเดียวกัน เพื่อให้ผลผลิตเพียงพอสำหรับการใช้ในปีนี้และปีหน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับคณะของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ในวันนี้ ร่วมกับ นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับคณะจากกระทรวงเกษตร กระทรวงพาณิชย์ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ตัวแทนเกษตรกร และภาคเอกชน

“จุรินทร์”รุกสร้าง”สนามบินพังงา”รองรับท่องเที่ยวฝั่งอันดามัน

People Unity : “จุรินทร์”รุกสร้าง”สนามบินพังงา” ระดมทุกฝ่ายเร่งงานรองรับท่องเที่ยวฝั่งอันดามัน

วันที่ 25 ต.ค.2562 เวลา 14.30 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เดินทางตรวจราชการ ราชการจังหวัดภูเก็ตและพังงา ได้ในพื้นที่เขตตรวจราชการที่ 6 ของรองนายกรัฐมนตรี ภาคใต้ฝั่งอันดามันซึ่งเป็นเขตตรวจราชการในอำนาจรับผิดชอบ ประกอบด้วย ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล เวลา 14.30 น.นายจุรินทร์ เป็นประธานการประชุมกำกับติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค ที่ท่าอากาศยานภูเก็ต ในวาระการก่อสร้างสนามบินพังงงา โดยภายหลังการประชุม

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากท่านนายกรัฐมนตรีให้ทำหน้าที่เป็นประธานรับผิดชอบ วันนี้ได้เดินทางมากับ นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีและคณะ ประเด็นสำคัญก็คือ การติดตามการคืบหน้าการก่อสร้างสนามบินพังงา ซึ่งสถานการณ์ผู้โดยสารและการท่องเที่ยวในเขตอันดามัน ปัจจุบันนี้สนามบินหลัก ที่ต้องรองรับผู้โดยสารจำนวนมากที่สุดก็คือสนามบินภูเก็ต ปรากฏว่าในสถานการณ์ปัจจุบันหลังจากที่ได้มีการขยายทุกอย่างแล้วนาทีนี้ ศักยภาพของสนามบินภูเก็ตสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 12 ล้านคน แต่ข้อเท็จจริงขณะนี้มีผู้โดยสารรวมกันแล้ว 18 ล้านคนซึ่งเกินศักยภาพที่จะรองรับได้ไป 5.5 ล้านคน

นายจุรินทร์ กล่าวว่า จึงเป็นที่มาที่จำเป็นต้องมีสนามบินอีกแห่งในเขตอันดามันที่มารองรับนักท่องเที่ยวและผู้โดยสารที่ล้นจากสนามบินภูเก็ต โครงการสนามบินจังหวัดพังงาซึ่งเกิดขึ้น ซึ่งได้มีการศึกษาเบื้องต้นเตรียมการที่จะก่อสร้างสนามบิน จะรองรับผู้โดยสารเที่ยวรวมกันที่ 25 ล้านคนซึ่งผลจากการหารือร่วมกันกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้ข้อสรุปว่า 1.มีความจำเป็นในการสร้างสนามบินเพื่อร่วมกันทำงานเพื่อรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นทุกวันในฝั่งอันดามันรวมทั้งนักท่องเที่ยว 2.ที่ประชุมมีมติรัฐมนตรีช่วยคมนาคมประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการหาข้อสรุปว่าจากดำเนินการเพื่อให้สนามบินพังงามีความคืบหน้าต่อไปภายใต้การดำเนินการของหน่วยงานในส่วนของกระทรวงคมนาคมหน่วยใดระหว่างกรมการท่าอากาศยาน กับ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) 3.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงาติดตามเรื่องนี้โดยใกล้ชิดต่อไป และ 4.ให้ผู้ตรวจสำนักนายกรัฐมนตรีติดตาม รายงานการตรวจราชการ นี้

ภารกิจตรวจราชการในครั้งนี้ นายจุรินทร์เดินทาง ภายหลังเสร็จจากภารกิจช่วงเช้า คือ การประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ครั้งที่ 2/2562 นายจุรินทร์ และคณะประกอบด้วย นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี นายไชยยศ จิรเมธากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายเรวัต อารีรอบ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อดีตส.ส.ภูเก็ต นายเจือ ราชสีห์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายจุฤทธิ์ ลักษณวิศิษฏ์ รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ นางอัญชลี วานิช เทพบุตร อดีตส.ส.ภูเก็ต นางกันตวรรณ ตันเถียร ส.ส.พังงา ร่วมกับ นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าฯภูเก็ต นายจำเริญ ทิพยพงศ์ธาดา ผู้ว่าฯพังงา เรืออากาศตรี ธานี ช่วงชู ผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต นางชัชชิดา อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกลนุทธ์องค์กร และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ประชุม หารือ และลงพื้นที่เป้าหมายเพื่อตรวจสอบพิกัดพื้นที่การสร้างสนามบินพังงา สำหรับรองรับประชาชนชาวพังงา และการท่องเที่ยงฝั่งทะเลอันดามัน โดยการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่นั้น มีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ในการก่อสร้างสนามบินประมาณกว่า 7,300 ไร่ จากการสำรวจพบว่าพื้นที่ภายในจังหวัดภูเก็ตไม่มีพื้นที่ว่างเพียงพอและไม่มีสภาพภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมจึงพิจารณาหาพื้นที่จับหวัดพังงา

“สหรัฐฯ”จี้ไทยแจงแบน 3 สารพิษ! “มนัญญา”หนักใจ-“วราวุธ”ไม่ตื่นแค่รองปธ.หอการค้า

People Unity : “มนัญญา”หนักใจในฐานะผู้บริหาร “สหรัฐฯ”จี้ไทยแจงแบน 3 สารพิษการเกษตร ลั่นพร้อมแจงเชื่อทุกประเทศมีเหตุผลของตัวเอง เปิดช่องเจรจาเซลล์ขายยา ขณะ “วราวุธ”เผยหนังสือจากสหรัฐฯ เป็นเพียงของรองประธานหอการค้า ไม่ใช่หน่วยงานรัฐบาลที่จะแทรกแซงได้

วันที่ 25 ต.ค.2562 น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์กรณีสถานทูตสหรัฐอเมริกา ส่งหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ยังไม่ได้กำชับอะไร ส่วนเจตนาของสหรัฐฯ ตนไม่ทราบว่าเขามีเหตุผลอะไร แต่จริงๆแล้วเรื่องสุขภาพ สารพิษตกค้างในผัก และผลไม้ เราก็ต้องดูแลไม่ให้คนไทยใช้บริโภคสิ่งเหล่านั้นอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องปกติ บางครั้งก็ต้องขอให้แยกส่วนกัน ยืนยัน หากสหรัฐฯถามมาเราก็พร้อมชี้แจง เพราะนานาประเทศที่แบนสารเหล่านี้ก็มีเหตุผลของแต่ละประเทศอยู่แล้ว ส่วนหนักใจหรือไม่เพราะว่าถูกกดดันทั้งภายใน และภายนอกประเทศ น.ส.มนัญญา ย้ำว่า การทำอะไรก็แล้วแต่ไม่มีอะไรที่ทำไปแล้ว เราจะไม่คิดไม่หนักใจเลย การที่เราเป็นผู้บริหารที่ต้องดูแลทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งเกษตรกร และภาคเอกชน ไม่มีคำว่าแพ้หรือชนะ แต่เราจะต้องเดินไปด้วยกัน ด้วยการพูดคุย และสร้างความเข้าใจกัน

“การขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ใช่การขัดแย้งกับผู้บริโภค น่าจะเหมือนขัดแย้งกับเซลล์ขายยาแล้วในตอนนี้ แต่ก็ไม่รู้จะไปไกล่เกลี่ยหรือเจรจากับใคร เพราะได้ทำในเส้นทางของตัวเองอยู่แล้ว แต่ถ้าใคนต้องการที่จะพูดคุยด้วย ก็พร้อมเปิดห้องเจรจากัน” น.ส.มนัญญา กล่าว

ขณะที่ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยอมรับว่า ได้เห็นสำเนาหนังสือที่ของทางสหรัฐอเมริกาที่ส่งตรงมาถึงนายกฯแล้ว ซึ่งเป็นในส่วนของหอการค้าสหรัฐฯ ที่เนื้อหาในหนังสือ ระบุถึงข้อห่วงใจต่อการนำเข้าสินค้าเกษตรที่อาจปนเปื้อนสารพิษ โดยหนังสือดังกล่าวมีผู้ลงนามเป็นรองประธานหอการค้าประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ซึ่งกรณีดังกล่าวตนมองว่าไม่ใช่เป็นหน่วยงานระดับรัฐบาลที่จะเข้ามาแทรกแซง ตามที่มีประเด็นข่าวนำเสนอไปก่อนหน้านั้น ส่วนกังวลหรือไม่ว่าจะกลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศ นายวราวุธ ย้ำว่า ไม่กังวลเพราะมีปัญหาอีกหลายอย่าง และเชื่อว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นใหญ่

ขณะที่กรณีดังกล่าวจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายหรือไม่นั้น นายวราวุธ กล่าวว่า ต้องรอการพิจารณาของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายอีกครั้ง แต่ในส่วนของหน่วยงานภายใต้กำกับของกระทรวงทรัพยากรฯ คือกรมควบคุมมลพิษ ยังยืนยัน ต่อการแบนสารพิษ เพราะต้องดูผลประโยชน์ของเกษตรกรเป็นอันดับแรก เมื่อเกิดสารตกค้างสะสมกับเกษตรกรไทย เราจึงแสดงความไม่เห็นด้วย ซึ่งเชื่อว่าวิธีการใช้ของแต่ละประเทศก็แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ไม่รู้สึกหนักใจที่การกดดันทั้งภายใน และภายนอกประเทศ เพราะกระทรวงทรัพยากรฯ ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม ส่วนเรื่องสารเคมีภาคการเกษตร ก็ต้องให้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ชี้แจง แต่ส่วนตัวเชื่อว่าน่าจะมีสารทดแทนอยู่แล้ว

“จุรินทร์”เตรียมนำทัพเอกชนลุย 10 ตลาดส่งออกทั่วโลก

People Unity : “จุรินทร์”เตรียมนำทัพเอกชนลุย 10 ตลาดส่งออกทั่วโลก ติวเข้มกระทรวงพาณิชย์หน่วยงานภาคราชการที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชน

วันที่ 25 ต.ค.2562 ตั้งแต่เวลา 8.30-10.30 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ครั้งที่ 2/2562 วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม 2562 ณ สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดย

นายจุรินทร์ กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุม กรอ.พาณิชย์อีกครั้งหนึ่ง ได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างกระทรวงพาณิชย์หน่วยงานภาคราชการที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสมาคมผู้ส่งออกสินค้าและอื่นๆวันนี้ประเด็นสำคัญก็คือ การเพิ่มตัวเลขการส่งออก ภายใต้สถานการณ์ที่ได้รับผลกระทบสงครามการค้า Brexit และ เรื่องค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับยุทธศาสตร์เดิมที่กำหนดไว้คือการมุ่งเน้นรักษาตลาดเดิม และขยายเพิ่มเติมตลาดใหม่รวมทั้งฟื้นตลาดเก่าที่เคยมีอยู่แต่สูญเสียไปได้เน้นย้ำเพิ่มเติมลึกลงไปในรายละเอียดของยุทธศาสตร์ในทางปฏิบัติที่จะมุ่งเน้น 5-6 ประเด็นใหญ่

ประเด็นแรกจะคงเดินหน้าการสร้างไทยแบรนด์เพื่อให้มีความเข้มแข็งในตลาดโลกต่อไป อันที่สอง คือ มุ่งเน้นการส่งเสริมภาคบริการใหม่นอกจากที่เคยทำมา เช่น ค้าปลีก โลจิสติกส์และเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ กีฬา การก่อสร้างตกแต่ง โรงแรมอีคอมเมิร์ซเพิ่มเติม เป็นต้น อันที่สาม คือมุ่งเน้นกระชับการสร้างพันธมิตรเครือข่ายกับสภาธุรกิจเอกชนระหว่างประเทศในภูมิภาคต่างๆถือว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นและส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกเป็นรูปธรรมได้ชัดเจนโดยเร็วขึ้น และสี่ คือ การเน้นสนับสนุนให้เอสเอ็มอีสามารถที่จะส่งออกได้มากขึ้นผ่านช่องทางต่างๆ อันที่ห้า มุ่งเน้น ให้ทูตพาณิชย์หาลู่ทางเจาะเป็นตลาดในประเทศใหญ่ๆ รายมณฑลเพิ่มตัวเลขการส่งออกแผนการเจาะตลาดประเทศ

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ได้ข้อสรุปร่วมกันว่าอย่างน้อยในช่วงระยะเวลาถ้าจากนี้ไปจะบุกตลาดไปด้วยกันทั้งภาครัฐและเอกชนใน 10 ตลาดใหญ่ที่เห็นว่ามีศักยภาพ ประกอบด้วยตลาด จีน อินเดีย ตุรกี เยอรมัน ศรีลังกา บังคลาเทศ ตะวันออกกลาง แอฟริกาใต้ อังกฤษ ยุโรป เป็นต้น และสิ่งที่ที่ประชุมนี้มีความเห็นให้ฝ่ายเลขาฯไปทำการบ้านเพิ่มเติมเพื่อการประชุมเที่ยวหน้าคือหนึ่งการทำให้ภูมิภาคอาเซียนการค้าชายแดนของไทยสามารถใช้โลโก้ข้าวอินทรีย์ได้มากขึ้น และจัดทำแผนสนับสนุนเอสเอ็มอีกับสตาร์ทอัพให้เพิ่มตัวเลขการส่งออกในตลาดสำคัญสำคัญต่างๆทั่วโลกได้มากขึ้นกับสามให้ทูตพาณิชย์ไปศึกษากฎเกณฑ์กติกาต่างๆของประเทศสำคัญสำคัญที่ช่วยให้การส่งออกของไทย สามารถได้รับสิทธิพิเศษหรืออัตราภาษีต่ำตามกฎเกณฑ์ที่มีอยู่แล้วเพื่อให้ส่งออกไปในราคาที่แข่งขันกับคู่แข่งได้

“ประภัตร”เปิดด่านการค้าโค-กระบือ ที่ชายแดนไทย-เมียนมา อ.แม่สอด​ จ.ตาก

People Unity : “ประภัตร”เปิดด่านการค้าโค-กระบือ ที่ชายแดนไทย-เมียนมา อ.แม่สอด​ จ.ตาก พร้อมลงนามความร่วมมือระหว่างกลุ่มผู้ประกอบการในพื้นที่กับหน่วยงานภาครัฐ

วันที่ 24 ต.ค.2562 นายประภัตร โพธสุธน  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดด่านการค้าโค-กระบือ  ที่บริเวณท่า 23 (ท่าลุงคำ) ริมแม่น้ำเมย บ้านวังแก้ว(ห้วยกะโหลก หมู่ 4 ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก โดยมี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก​ นายชัยวุฒิ บรรณวัตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตาก เขต 2 พรรคประชาธิปัตย์  นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตาก เขต 3  พรรคพลังประชารัฐ​ นายชัยพฤกติ์ เชียรธานรักษ์ นายอำเภอแม่สอด​ ดร.เทอดเกียรติ​ ชินสรนันท์ นายกเทศมนตรีนครแม่สอด​ ​และเกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือ จำนวนกว่า 300 คน ให้การต้อนรับ

ในโอาสนี้ นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก  กล่าวรายงานสรุปเกี่ยวกับสถานการณ์การค้าโค-กระบือ จากนั้นรมช.เกษตรได้ตรวจเยี่ยมคอกสัตว์ และพบปะเกษตรกรผู้เลี้ยง กลุ่มผู้ค้าขาย โค-กระบือ และผู้เลี้ยงโคขุน หลังจากนั้นได้มีการประชุมเจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติงาน ที่ด่านกักกันสัตว์ตาก(แม่สอด) คอกกักบ้านวังแก้ว
นายประภัตร กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ จีนเข้ามาตีตลาด โค กระบืออย่างหนัก และยังกดราคา  ทำให้เมื่อ 2-3 เดือน​ เราจำเป็นต้องปิดด่าน เพื่อให้ตลาดขาดและมีความต้องการมากขึ้น

วันนึ้จึงมาทำให้เปิดด่านการค้าโค-กระบือ ที่ชายแดนไทย-เมียนมา และเพิ่มราคาระหว่าง กก.ละ   99 -​100  บาท และกลับส่งไปขายจีน กก.ละ 105-110 บาท​ (ซึ่งคิดนน.ตัวโค ระหว่าง 320-400 กก.) ส่วนขนาด นน.ตัวที่เล็กก็ราคาลดน้อยลง กก.ละ  95 บาท เพื่อนำไปขุนต่อ  โดยมีตลาดกลางซื้อขาย และมีการประกันราคาด้วย  ทั้งนี้แต่ละครอบครัวจะได้รับโค- กระบือรายละ 5 ตัวต่อครอบครัวและสามารถนำมาเป็นหลักประกัน ในการกู้ได้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรได้อีกด้วย นอกจากนี้ภายในงานกลุ่มผู้ประกอบการในพื้นที่ได้ลงนาม MOU ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการดำเนินโครงการฯ เป็นอย่างดี

“จุรินทร์”โชว์ศก.ไทยสร้างสรรค์ เวทีPIMผู้แทนจากม.ชั้นนำทั่วโลก

People Unity : “จุรินทร์” เป็นประธานเปิดงานสัมนา PIM Annual Conference 2019 on Creative Economy เชื่อมั่นเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะขยายตัวต่อเนื่องในตลาดโลก พร้อมการแข่งขันที่รุนแรงและไทยคือผู้เล่นสำคัญ

วันที่ 24 ตุลาคม 2562 เวลา 9.00 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงานสัมนา PIM Annual Conference 2019 on Creative Economy โดยหัวข้อสัมมนาเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์นี้มีผู้เข้าร่วมงานสัมมนาจากมหาวิทยาลัยชั้นนําจากทั่วโลก ตั้งแต่วันที่ 23 ถึง 25 ตุลาคม 2562 โดยนายจุรินทร์กล่าวเปิดในเวลา 9.00 น. วันนี้ ที่โรงแรมเพนนินซูล่า

นายจุรินทร์ กล่าวว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นสาขาเศรษฐกิจที่มีส่วนในการสร้างเสริมการพัฒนาและความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจในระยะยาว หลอมรวมความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และเทคโนโลยี เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้นของสินค้าและบริการ ยกระดับค่าจ้าง พัฒนาทักษะแรงงาน เพิ่มเวลาว่างสำหรับพักผ่อน และที่สำคัญที่สุดคือ การขยายตัวและความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ เนื่องจากจินตนาการและนวัตกรรมเป็นสิ่งเสริมสร้างเอกลักษณ์และความแปลกใหม่ให้กับสินค้าและบริการ

ในขณะที่เทคโนโลยีช่วยส่งเสริมการเข้าถึงองค์ความรู้ การมีส่วนร่วมทางสังคม และวัฒนธรรม นอกจากนี้ เนื่องจากคนส่วนใหญ่ในเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม การส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์จึงมีส่วนช่วยในการสร้างโอกาสทางธุรกิจอย่างมากมายให้กับ SMEs ได้อย่างอัตโนมัติ แนวโน้มนี้เป็นที่รับรู้กันทั่วโลก ดังจะเห็นได้จากการที่ประเทศสำคัญหลายประเทศได้ประกาศตนเองว่าจะเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของโลก

และจากรายงานล่าสุดของ UNCTAD ขนาดตลาดสินค้าเชิงสร้างสรรค์ของโลกขยายตัวขึ้นกว่าเท่าตัว จาก 2.08 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในปี ค.ศ. 2002 เป็น 5.09 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2015 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่สูงกว่าร้อยละ 7 ถึงแม้ว่าโลกจะประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจหลายครั้งในช่วงเวลาดังกล่าว

นอกจากนี้ ในขณะที่ทวีปยุโรปเป็นผู้ส่งออกสินค้าเชิงสร้างสรรค์ที่ใหญ่ที่สุด แต่กลุ่มประเทศในเอเชียกำลังมีส่วนแบ่งการตลาดที่เพิ่มขึ้นโดยแค่จีนประเทศเดียวก็มีอัตราการขยายตัวของการส่งออกสินค้าและบริการเชิงสร้างสรรค์สูงถึงร้อยละ 14 ระหว่างปี พ.ศ. 2002 ถึง 2015 ปรากฏการณ์นี้เครื่องบ่งชี้ที่ชัดเจนว่ากลจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของโลกตั้งอยู่ที่เอเชีย

นายจุรินทร์ กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่โดดเด่นในตลาดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของโลก ด้วยมูลค่าถึง 6.1 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณเกือบสองแสนล้านบาท มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ของไทยสูงเป็นอันดับที่ 8 ของโลก เมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน และเป็นอันดับที่ 17 เมื่อเทียบกับทุกประเทศในโลก และได้ขยายตัวด้วยอัตราที่ก้าวกระโดดที่ร้อยละ 6.6 ต่อปี ระหว่างปี 2005 และ 2014 และเศรษฐกิจสร้างสรรค์มีสัดส่วนถึงร้อยละ 10-12 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของไทย ที่สำคัญไปกว่านั้น ประเทศไทยของเราเป็นที่รู้จักดีในเวทีโลกถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม

ดังนั้น เศรษฐกิจสร้างสรรค์จึงถือเป็นสาขาเศรษฐกิจที่มีศักยภาพสำหรับประเทศเป็นอย่างยิ่ง และในการส่งเสริมการขยายตัวของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ประเทศไทยจึงใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาและมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ อาทิ อาหารไทย และหัตถกรรมไทย รวมทั้ง งานศิลปะ สื่อสร้างสรรค์ และงานออกแบบ ที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วในประเทศ โดยสำหรับไทย สินค้าส่งออกเชิงสร้างสรรค์ที่สำคัญ ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ตกแต่งภายใน และสินค้าแฟชั่น เป็นต้น

“ผมมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องในตลาดโลกที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง ที่การทำให้สินค้าและบริการมีความแปลกใหม่และโดดเด่น ได้กลายเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการอยู่รอดและขยายตัวของธุรกิจ” นายจุรินทร์ กล่าว

Verified by ExactMetrics