วันที่ 2 พฤษภาคม 2024

นายกฯ ยืนยัน เดินหน้ารัฐบาลดิจิทัล นำเทคโนโลยี AI คลาวด์ ยกระดับเศรษฐกิจ ผลักดันไทยเป็นเป้าหมายการลงทุน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 9 ธันวาคม 2566 นายกฯ ยืนยัน เดินหน้ารัฐบาลดิจิทัล นำเทคโนโลยี AI คลาวด์ ยกระดับเศรษฐกิจ ผลักดันไทยเป็นเป้าหมายการลงทุน

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปาฐกถาพิเศษในงาน “Google Digital Samart Thailand” ที่โรงแรมวอลดอร์ฟ แอสโทเรีย กรุงเทพ ถนนราชดำริ กรุงเทพฯ ระบุว่า รัฐบาลมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับ Google เพื่อช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเติบโตอย่างมีเสถียรภาพในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังเทคโนโลยีสำคัญอย่างเช่น AI ในระบบคลาวด์ โดยความร่วมมือนี้จะช่วยสนับสนุนความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐบาลที่อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่มุ่งเพิ่มโอกาสสร้างงานที่มีมูลค่าสูงและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย พร้อมทั้งยกระดับขีดความสามารถของประเทศไทยให้เป็นหนึ่งในจุดหมายหลักสำหรับการลงทุนของนักลงทุนชั้นนำจากทั่วโลก ผมต้องขอบคุณกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการส่งเสริมและผลักดันความร่วมมือกับ Google ทั้งในเรื่องของ AI คลาวด์ และความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

ทั้งนี้ หลังจากการประชุมผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC รัฐบาลก็ได้เร่งดำเนินการในด้านต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทย เรื่องแรกคือ การจัดทำนโยบาย Go Cloud First ที่เราได้ร่วมมือกับ Google ซึ่งเราตั้งเป้าที่จะนำนโยบายนี้ไปใช้โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ การนำเทคโนโลยีคลาวด์ไปใช้ในการดำเนินการของรัฐบาลจะช่วยปรับปรุงคุณภาพและความรวดเร็วในการให้บริการแก่ประชาชน เรื่องที่สอง เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากในปัจจุบัน และรัฐบาลกำลังวางแนวทางสำหรับกรอบการดำเนินการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ โดยคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ หรือ กมช. จะเป็นผู้ดำเนินการในส่วนนี้ และเรื่องที่สาม รัฐบาลจะเร่งส่งเสริมการใช้ Generative AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและปรับปรุงการให้บริการแก่ประชาชน โดย Google Cloud จะช่วยจัดฝึกอบรมและมอบเครื่องมือที่จำเป็นแก่บุคลากรของรัฐ ทั้งหมดนี้คือการดำเนินการเชิงรุกของรัฐบาลในการยกระดับเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจ AI ยุคใหม่

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังย้ำด้วยว่า รัฐบาลและ Google จะทำงานร่วมกันต่อไปโดยให้ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

Advertisement

รัฐบาล จับมือ Google ยกระดับเศรษฐกิจไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัลยุคใหม่ ไม่ทิ้งคนไทยคนไหนไว้ข้างหลัง

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 8 ธันวาคม 2566 นายกฯ เชื่อมั่น Google สามารถช่วยพัฒนาคนไทยและธุรกิจไทย พร้อมร่วมมือกันยกระดับเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลยุคใหม่ ไม่ทิ้งคนไทยคนไหนไว้ข้างหลัง Leave No Thai Behind

วันนี้ (8 ธันวาคม 2566) เวลา 14.00 น. ณ Magnolia Ballroom ชั้น 10 โรงแรม Waldorf Astoria Bangkok นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมงาน Google Digital Samart Thailand พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ Uplift Thai Economy; Empower Digital Samart Thailand โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงความร่วมมือระหว่าง Google และรัฐบาลในวันนี้ เป็นผลสำเร็จจากภาคธุรกิจและภาคประชาชนที่มีการนำเทคโนโลยีของ Google มาใช้ในการทำงานและชีวิตประจำวัน พร้อมกล่าวชื่นชม Google ซึ่งเป็นผู้นำทางด้านดิจิทัล และยังใส่ใจในความแตกต่าง หลากหลายของผู้คนในสังคม หน่วยงานในภาครัฐ และธุรกิจต่าง ๆ ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก รวมทั้งผลิตภัณฑ์ โครงการ และการลงทุนต่าง ๆ ของ Google โดยเฉพาะในด้าน AI และ Cloud ตอบโจทย์พันธกิจที่จะไม่ทิ้งคนไทยไว้ข้างหลัง (Leave No Thai Behind) ของ Google จะสามารถช่วยพัฒนาคนไทยและธุรกิจไทยได้

สำหรับยุทธศาสตร์ของรัฐบาล นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการทำงานเชิงรุกดำเนินนโยบายเร่งด่วนมาโดยตลอด เพื่อสร้างความอยู่ดีกินดีให้พี่น้องประชาชน และท่ามกลางความท้าทายของสภาพเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน นายกรัฐมนตรีได้ออกไปเชิญชวนนักธุรกิจทั่วโลก ประกาศให้โลกรู้ว่าประเทศไทย เปิดแล้วสำหรับการทำธุรกิจ (open for business) และรัฐบาลจะทำให้ประเทศไทยกลับมาเป็นจุดหมายของการลงทุนของนักลงทุนชั้นนำ ยกระดับเศรษฐกิจไทยให้ไปสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล นำ AI และ Cloud เข้ามาพัฒนาการให้บริการประชาชน นำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจมูลค่าสูง (High Value Economy)

นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงความร่วมมือดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในหลากหลายมิติ โดยในการเดินทางไปประชุม UNGA ที่สหรัฐฯ ได้พบปะหากับคณะผู้บริหารของ Alphabet และ Google เพื่อหารือถึงความร่วมมือระหว่าง Google และรัฐบาล ในการยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศไทย ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ทำงานเชิงรุกร่วมกันอย่างแข็งขัน จนนำไปสู่การทำ MOU ความร่วมมือที่ได้ประกาศในระหว่างการประชุม APEC ที่ซานฟรานซิสโก ซึ่งครอบคลุมทั้งหมด 4 เรื่อง ได้แก่ 1) การต่อยอดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เช่น การลงทุนขยาย Data Center ในประเทศไทย 2) การส่งเสริมการใช้ Cloud และ AI อย่างมีความรับผิดชอบและปลอดภัย เพื่อยกระดับการให้บริการของภาครัฐ 3) การวางหลักเกี่ยวกับนโยบายการใช้งานระบบคลาวด์เป็นหลัก (Cloud-First Policy) และ 4) การทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงทักษะด้านดิจิทัลได้มากขึ้น

รัฐบาลได้ประกาศนโยบายการใช้งานระบบคลาวด์เป็นหลัก (Go Cloud First) ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างแข็งแรงในยุคเศรษฐกิจ AI โดยได้จัดทำนโยบายและแผนเพื่อเป็นกรอบการขยายการใช้งาน Cloud และเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเน้นการใช้งาน Public Cloud และ Private Cloud ที่มีมาตรฐานในการดูแลข้อมูลของภาครัฐ

ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นผู้เร่งขับเคลื่อนโยบายที่เน้นการบูรณาการเทคโนโลยี Cloud กับการดำเนินงานของภาครัฐให้เกิดผลในทางปฏิบัติโดยเร็ว โดยอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต่อไป ทั้งหมดนี้ นอกจากจะเร่งให้เกิดการยกระดับการให้บริการในภาครัฐแล้ว ยังจะยกระดับขีดความสามารถของไทย ให้เป็นหนึ่งในจุดหมายการลงทุนในระบบ Cloud ของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำทั่วโลกด้วย

สำหรับเรื่องความมั่นคงทางไซเบอร์ รัฐบาลกำลังวางแนวทางจัดทำแผน Cyber Security ในหน่วยงานรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้มีมาตรฐาน ลดความซ้ำซ้อน เพิ่มการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติได้เดินหน้าการทำงานไปแล้ว และต้นปีหน้าก็จะได้เห็นแผนการทำงานที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ด้านการเพิ่มทักษะด้านดิจิทัล นายกรัฐมนตรียินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นความร่วมมือระหว่าง Google กับกระทรวงและหน่วยราชการ ซึ่งจะพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรและหน่วยงานภาครัฐ ทำให้การบริการประชาชนให้ดียิ่งขึ้นด้วยการเริ่มโครงการนำร่องในการใช้ Generative AI ในภาครัฐ

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า ความร่วมมือเหล่านี้เป็นผลสำเร็จของการดำเนินงานของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่เป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมและผลักดันความร่วมมือกับ Google และกับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำอื่น ๆ ของโลก ทั้งในเรื่อง AI, Cloud, และความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พร้อมเน้นย้ำว่า การดำเนินการเชิงรุกของรัฐบาลในการยกระดับเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลยุคใหม่ที่นำโดย AI และ Cloud จะเป็นไปอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง

ซึ่งในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรียินดีที่รัฐบาลร่วมมือกับ Google เพื่อช่วยกันสร้างสภาพแวดล้อมทางนโยบาย และกฎระเบียบที่เอื้อต่อการพัฒนา AI และ Cloud ซึ่งทั้งรัฐบาลและ Google จะทำงานร่วมกันต่อไป โดยไม่ทิ้งคนไทยคนไหนไว้ข้างหลัง Leave No Thai Behind

Advertisement

ผู้ว่า กทม. เร่งหาแนวทางช่วยบรรเทาแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้ประชาชน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 4 ธันวาคม 2566 ผู้ว่า กทม. เร่งหาแนวทางช่วยบรรเทาแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้ประชาชน

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยหลังการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 25/2566 ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ว่า หลังจากที่มีการเปิดบริการ ให้ประชาชนลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ตามนโยบายรัฐบาล ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา มีผู้ลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือฯ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครแล้วรวม 3,043 โดยแบ่งเป็นการลงทะเบียนในระบบ Online จำนวน 2,971 ราย และลงทะเบียนด้วยตนเอง ที่ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ ณ สำนักงานเขต จำนวน72 ราย เจ้าหนี้ 1,809 ราย มูลหนี้รวมกว่า 169.7 ล้านบาท ( ข้อมูลจากวันที่ 3 ธ.ค. 66 เวลา 19.00 น. ) ซึ่งถือว่าผู้ลงทะเบียนยังมีจำนวนไม่มาก แต่กรุงเทพมหานครไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้สั่งการเพิ่มเติมไปอีก 2 ส่วน โดยให้แต่ละชุมชนทำการสำรวจ หาข้อมูลเจ้าหนี้ด้วยเพื่อประกอบกับข้อมูลลูกหนี้ให้ครอบคลุมมากขึ้น และส่วนต่อมาคือกำชับให้สถานธนานุบาล (โรงรับจำนำของกรุงเทพมหานคร) ให้เร่งหาแนวทางช่วยเหลือเพื่อที่จะสนองนโยบายของรัฐบาลให้เกิดผลสำเร็จให้ได้มากที่สุดเพิ่มเติมด้วย

นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เน้นย้ำว่า กรุงเทพมหานครไม่มีอำนาจในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบโดยตรง แต่ในเบื้องต้นกรุงเทพมหานครจะช่วยโดยการไม่ให้เกิดรายจ่ายที่เพิ่มมากขึ้นของประชาชนในทางอ้อมแทน เช่น การส่งเสริมให้สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลฟรีตามสิทธิ์ การเรียนฟรี เพื่อช่วยลดแบ่งเบาค่าใช้จ่ายไม่ให้เกิดการกู้ยืมในเรื่องดังกล่าวอีก และหลังจากนี้จะมีการประชุมมอบนโยบายให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังใน เป็นประธานผู้มอบนโยบาย ในวันที่ 8 ธันวาคมนี้ ที่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งสำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาจะต้องรอติดตามกันต่อไป

ทั้งนี้ หากประชาชนท่านใดยังได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้นอกระบบ ยังคงสามารถลงทะเบียนเพื่อขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ผ่านระบบออนไลน์ ได้ที่ Website : debt.dopa.go.th หรือลงทะเบียนด้วยตนเองที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ ณ สำนักงานเขตของกรุงเทพมหานครทุกแห่ง และสำหรับจังหวัดอื่น ๆ สามารถลงทะเบียนได้ที่ ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ ทั่วประเทศ ซึ่งข้อมูลของผู้ลงทะเบียนจะถูกรักษาไว้เป็นความลับ และหากมีข้อสงสัยสามารถขอรับคำปรึกษาและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

Advertisement

ททท. เนรมิตริมน้ำเจ้าพระยา ยามค่ำคืน ด้วย แสง สี พลุ ยิ่งใหญ่ ในงาน “VIJIT CHAO PHRAYA 2023” ตลอดเดือนธันวาคม

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 2 ธันวาคม 2566 ททท. ชวนชม งาน VIJIT CHAO PHRAYA 2023 ตลอดเดือนธันวาคม กระตุ้นการท่องเที่ยวส่งท้ายปี คาดสร้างรายได้กว่า 600 ล้านบาท

น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดกิจกรรม “VIJIT CHAO PHRAYA 2023” งานแสดง แสง สี ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านวัดวาอารามและย่านสำคัญริมน้ำเจ้าพระยา รวม 7 พื้นที่  ระหว่างวันที่ 1-31 ธันวาคมนี้ จัดโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับพันธมิตรภาครัฐและเอกชน เนตรมิตรสีสันเจ้าพระยาเพื่อกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวส่งท้ายปี คาดงานปีนี้จะสร้างรายได้กว่า 600 ล้านบาท

ด้าน น.ส.ฐาปนีย์  ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า งานนี้เป็นอีกหนึ่งบิ๊กอีเวนต์ภายใต้โครงการ Thailand Winter Festivals โดยปีนี้ ททท. ขยายเวลาการแสดงเป็น 1 เดือนเต็ม โดยใช้ 7 พื้นที่สำคัญที่มีชื่อเสียง ริมน้ำเจ้าพระยา มาแต่งแต้มสีสันยามค่ำคืนด้วยนวัตกรรม แสง สี และสื่อผสมสมัยใหม่ ทั้ง Projection Mapping & Lighting ควบคู่กับการผสมผสานวัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์ให้มีความทันสมัย เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับนักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสและอยากเดินทางกลับมาอีกครั้ง

Advertisement

S&P คงอันดับความน่าเชื่อถือประเทศไทยที่ BBB+ และคงมุมมอง Stable Outlook

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 29 พฤศจิกายน 2566 S&P คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook)

นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะ โฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 บริษัท S&P Global Ratings (S&P) ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) ที่ระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1) เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะฟื้นตัวและเติบโตอย่างรวดเร็วจากร้อยละ 2.5 ในปี 2566 เป็นร้อยละ 4.2 ในปี 2567 เนื่องจากการดำเนินมาตรการทางการคลังและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว อีกทั้งอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real GDP Growth) จะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 3.2 ในช่วงปี 2566 – 2569 ขณะที่สัดส่วนการขาดดุลงบประมาณต่อ GDP เฉลี่ยคาดว่าจะอยู่ต่ำกว่าร้อยละ 4 ในช่วงปี 2567 – 2569 นอกจากนี้ รัฐบาลไทยจะยังคงเน้นการลงทุนตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งรวมถึงโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) และโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งตามแผนแม่บท โดยคาดว่าการลงทุนของรัฐวิสาหกิจและความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public-Private-Partnerships) จะมีบทบาทสำคัญในขับเคลื่อนโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งการลงทุนอย่างต่อเนื่องจะช่วยฟื้นฟูความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

2) หนี้ภาครัฐบาลสุทธิ (Net General Government Debt) อยู่ในระดับปานกลาง ขณะที่ภาคการเงินต่างประเทศ (External Finance) แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะยังคงเกินดุลตั้งแต่ปี 2567 – 2569 เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว (Services Exports) เป็นสำคัญ

3) ปัจจัยที่มีผลต่อการปรับอันดับความน่าเชื่อถือ คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ระดับรายได้ต่อหัว (Per Capita Income) ความเข้มแข็งทางการคลัง และเสถียรภาพทางการเมือง

Advertisement

ก.พลังงาน ขู่ ใช้ กฏหมายเข้าควบคุมค่าการตลาดน้ำมันเบนซิน

People Unity News : 22 พฤศจิกายน 2566 กระทรวงพลังงาน ขอความร่วมมือผู้ค้าทุกรายควบคุมค่าการตลาดน้ำมันเบนซินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ใช้น้ำมัน หากไม่ได้รับความร่วมมือ จะประสานกับกระทรวงพาณิชย์ในการใช้มาตรการด้านกฎหมายในการควบคุมค่าการตลาด

นายวัฒนพงษ์  คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน  (สนพ.) กล่าวว่า หลังจากที่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับค่าการตลาดน้ำมันเบนซินของผู้ค้าที่สูงกว่าที่กระทรวงพลังงานขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ให้ปรับลดราคาขายปลีกให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม  ทางกระทรวงฯได้ขอความร่วมมือมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน และได้มีการศึกษามาแล้วว่า ถึงแม้ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจาก ค่าแรง ค่าเช่า อัตราภาษีที่ดิน ตลอดจนค่าสาธารณูปโภคที่เพิ่มขึ้น ผู้ค้ายังควรต้องรักษาระดับค่าการตลาดให้อยู่ในระดับที่มีความเหมาะสม และเป็นธรรมกับผู้บริโภค

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์การปรับขึ้น-ลงค่าการตลาดมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบางช่วงก็อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 2 บาท แต่ในบางช่วงก็อยู่ในระดับที่สูงกว่า 2 บาท พบว่า ค่าการตลาดน้ำมันเบนซิน มีค่าสูงเกินค่าที่เหมาะมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด 4.8 บาทต่อลิตร และ ก.พลังงานได้ขอให้ผู้ค้าให้ความร่วมมือไม่ให้ค่าการตลาดน้ำมันกลุ่มเบนซินในภาพรวมสูงเกินกว่า 2 บาทเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านราคาน้ำมันให้แก่ประชาชน  ซึ่งหากมีความจำเป็นกระทรวงพลังงานจะร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ใช้มาตรการด้านกฎหมายในการเข้ากำกับดูแล

อย่างไรก็ตาม ค่าการตลาดคือ ส่วนที่เป็นต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำไรของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันทั้งระบบ ตั้งแต่การจัดการคลังน้ำมัน การขนส่งน้ำมันมายังสถานีบริการ รวมถึงการให้บริการของสถานีบริการที่เติมน้ำมันแต่ละลิตรให้กับประชาชน

“ผมได้ขอให้ผู้ค้าน้ำมันทุกรายควบคุมค่าการตลาดกลุ่มเบนซินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เป็นธรรมกับทั้งผู้ค้าน้ำมันและประชาชนผู้บริโภค ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ค้าน้ำมันจะมีการปรับขึ้น-ลงค่าการตลาดน้ำมันเฉลี่ยทุกชนิด  ในช่วงนี้ ค่าการตลาดสูงเกินไป ถึงแม้ว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีความผันผวน แต่อยากให้ผู้ค้าน้ำมันคำนึงถึงประชาชนที่กำลังได้รับความเดือดร้อน ดังนั้น หากยังไม่ได้รับความร่วมมือ อาจจำเป็นต้องประสานกับกระทรวงพาณิชย์ในการใช้มาตรการด้านกฎหมายเข้ากำกับดูแล ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานจะสร้างสมดุลด้านราคา โดยเฉพาะค่าการตลาดระหว่างผู้ค้าน้ำมันกับผู้บริโภคให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและเป็นไปตามข้อกฎหมาย แต่จะคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ” นายวัฒนพงษ์ กล่าว

Advertisement

สภาพัฒน์ ปรับคาดการณ์จีดีพีปี 66 ขยายตัวร้อยละ 2.5

People Unity News : 20 พฤศจิกายน 2566 สภาพัฒน์ ปรับคาดการณ์จีดีพีปี 66 ขยายตัวร้อยละ 2.5 แรงส่งหนุนปี 67 ขยายตัวร้อยละ 3.5  แนะปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม ขยายตลาดส่งออก สำคัญกว่าการบริโภคในประเทศ ลุ้นกฤษฎีกา พิจารณากู้เงินดิจิทัลวอลเล็ต

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า สภาพัฒน์ ปรับคาดการณ์จีดีพีในปี 66 ขยายตัวร้อยละ 2.5 จากเดิมร้อยละ 2.5-3 นับว่าขยายตัวต่อเนื่องจากร้อยละ 2.6 ในปี 65 คาดอัตราเงินเฟ้อในปีนี้ร้อยละ 1.4 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 1.0 อัตราการว่างงานต่ำสุดในรอบ 15 ไตรมาส ทุนสำรองระหว่างประเทศ 2.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หนี้สาธารณะ ณ ก.ย. 66 ร้อยละ 62.1 ของจีดีพี

สภาพัฒน์ ยอมรับว่า การประเมินจีดีพีในปี 67 ยังไม่คำนวณข้อมูลจากโครงการโอนเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท เพราะต้องรอดูความชัดเจนผลการพิจารณาของกฤษฎีกา จากแผนกู้เงินผ่าน พ.ร.บ. เงินกู้ 5 แสนล้านบาท โดยมองว่า การกระตุ้นเศษฐกิจให้เติบโตยั่งยืนในช่วงนี้ ควรปรับโครงสร้างภาคการผลิตและอุตสาหกรรม การขยายตลาดส่งออก เนื่องจากไทยพึ่งพาจากทั้งสองปัจจัยเป็นหลัก เพราะมองว่าการกระตุ้นการบริโภค ด้วยการใช้เงินดิจิทัลกระตุ้นการใช้จ่าย อาจหมดแรงส่งได้ และการโอนเงินดิจิทัลวอลเล็ต ต้องมีเงินหนุนหลังในจำนวนเท่ากับจำนวนที่ใช้จ่ายออกไป จึงต้องลุ้นว่าจะมีความชัดเจนอย่างไร จึงไม่ได้รวมข้อมูลดังกล่าวในคาดการณ์จีดีพีปี 67

ด้านการท่องเที่ยว มองว่าในช่วงไตรมาส 4 ช่วงไฮซีซั่น คาดว่านักท่องเที่ยวยุโรป จะเข้ามาจำนวนมาก หลังจากมาเลเซีย เป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักเดินทางเข้าไทย แต่จะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวอาศัยและใช้เงินท่องเที่ยวในประเทศให้มากขึ้น โดยคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยในปีนี้ 3 ล้านคน จากเดิม 5 ล้านคน และเพิ่มเป็น 7 ล้านคนในปี 67 โดยมองว่านโยบายแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ตามที่นายกรัฐมนตรีเตรียมประกาศในช่วงสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ จะช่วยลดภาระหนี้ครัวเรือนยังสูงถึงร้อยละ 90.7 ของจีดีพี รวมถึงการช่วยเหลือด้านทุนหมุนเวียนให้กับเอสเอ็มอี

ทิศทางเศรษฐกิจในปี 2567 คาดการณ์จีดีพีขยายตัวร้อยละ 3.2 การส่งออกขยายตัวร้อยละ 3.8 จากเดิมลดลงร้อยละ 2.6 ในปี 66 อัตราเงินเฟ้อร้อยละ 1.7-2.7 จึงเสนอให้รัฐบาลมุ่งขยายตลาดเพื่อการส่งออกไปยังประเทศมีศักยภาพ ในวันพรุ่งนี้นายกรัฐมนตรีเรียกประชุมทูตพาณิชย์จากทั่วโลก มองว่าจะเป็นการร่วมหาตลาด เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้น รวมถึงกรณีนายกรัฐมนตรีโรดโชว์ดึงการลงทุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐ จะเป็นอีกปัจจัย ส่งเสริมให้การลงทุนจากต่างชาติเพิ่มขึ้น สำนักงบประมาณจัดเตรียมแผนให้หัวหน้าส่วนราชการ จัดเตรียมขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้าง เมื่องบประมาณผ่านสภา จะได้ทำสัญญาได้ทันที เริ่มใช้ได้ในช่วงเดือนเมษายนปี 67 จะได้เริ่มเบิกจ่ายงบลงทุน เพื่อเร่งรัดการใช้เงินด้านงบลงทุนให้ได้ตามเป้าหมายร้อยละ 90.4

การเตรียมแผนรองรับปัญหาภัยแล้งจากเอลนิญโญ่ หลังจากหลายหน่วยงานคาดการณ์ ส่งผลกระทบหนักต่อเกษตรกร รัฐบาลยังต้องเตรียมแผนหารายได้เพิ่ม สร้างความมั่นคงทางการคลัง รองรับความเสี่ยงในอนาคต ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การลดสร้างภาระให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ด้วยการแนะให้ประชาชนปรับตัวรองรับปัญหาพลังงานปรับสูงขึ้น จีดีพีของไทย หากไม่ทำอะไรเพิ่มเติมจะขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพประมาณร้อยละ 3 ดังนั้น จึงต้องเร่งปรับโครงสร้างภาคการผลิต ขยายฐานการส่งออก

สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ตัวเลขจีดีพี ไตรมาส 3 ปี 66 ขยายตัวร้อยละ 1.5 ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 2 เนื่องจากปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก เพราะการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 8.1 การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 1.5 เพราะการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวถึงร้อยละ 3.1  ขณะที่การลงทุนภาครัฐเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า จึงหดตัวร้อยละ -2.6 จากปัจจัยจากต่างประเทศ จากการส่งออกหดตัวต่อกัน 4 ไตรมาส จากไตรมาส 4 ปีก่อน จากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมในประเทศชะลอตัว การบริโภครัฐบาลน้อยหดตัวร้อยละ -4.9 ทำให้ช่วง 9 เดือนแรก จีดีพีขยายตัวเพียงร้อยละ 1.9 นับว่าเศรษฐกิจไทยยังมีแรงส่งฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

Advertisement

ธอส. จัดทำโครงการบ้าน ธอส. สุขสบาย ปี 2566 ลดดอก ช่วยคนไทยมีบ้านง่ายขึ้น

People Unity News : 14 พฤศจิกายน 2566 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ขานรับนโยบายรัฐบาล เตรียมกรอบวงเงินรวม 10,000 ล้านบาท จัดทำโครงการบ้าน ธอส. สุขสบาย ปี 2566 สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อบ้านให้มีภาระค่าใช้จ่ายในการผ่อนชำระเงินงวดลดลง สำหรับลูกค้า 2 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. ลูกค้าปัจจุบันของ ธอส. ที่มีความประสงค์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ โดยธนาคารไม่พิจารณาประวัติการผ่อนชำระหนี้ หรือสถานะในการทำข้อตกลงประนอมหนี้ อัตราดอกเบี้ย 2 ปีแรก เท่ากับ MRR-2.00% ต่อปี (4.90% ต่อปี) และ 2. ลูกค้าใหม่ (รีไฟแนนซ์จากสถาบันการเงินอื่นมายัง ธอส.) อัตราดอกเบี้ย ปีที่ 1 เท่ากับ 3.75% ต่อปี เฉลี่ย 3 ปีแรกเพียง 4% ผู้ที่สนใจสามารถยื่นกู้/ยื่นคำร้อง ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ณ สาขาธนาคารทั่วประเทศ

นายกฤษณ์ เสสะเวช กรรมการธนาคาร และรักษาการกรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ตลอด 70 ปีที่ผ่านมา ธอส. ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐ ที่มีพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” ได้สนับสนุนให้คนไทยได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองมาแล้วมากกว่า 4.4 ล้านครอบครัว และมีบทบาทในการขับเคลื่อนภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่มีผลต่อการเติบโตของภาวะเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันยังดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ในการช่วยลดค่าครองชีพของลูกค้าประชาชนในการผ่อนชำระเงินงวดในระดับที่เหมาะสม โดยจัดทำสินเชื่อที่อยู่อาศัยอัตราดอกเบี้ยต่ำมาอย่างต่อเนื่อง และเพื่อสานต่อการช่วยเหลือลูกค้าประชาชน ธอส.จึงได้จัดสรรกรอบวงเงินรวม 10,000 ล้านบาท จัดทำ “โครงการบ้าน ธอส. สุขสบาย ปี 2566” สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยคนไทยให้ได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ง่ายขึ้น ตามนโยบาย นายพชร อนันตศิลป์ ประธานกรรมการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ โดยโครงการดังกล่าวจัดทำสำหรับลูกค้า 2 กลุ่ม ประกอบด้วย

1.สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำสำหรับลูกค้าปัจจุบันของ ธอส. ที่มีความประสงค์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ กรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยในวันยื่นคำขอเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต้องไม่มีหนี้ค้างชำระและผ่อนชำระหนี้เงินกู้กับธนาคารมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี นับจากวันทำสัญญาครั้งแรก คิดอัตราดอกเบี้ย ปีที่ 1-2 เท่ากับ MRR-2.00% ต่อปี (4.90% ต่อปี) ปีที่ 3 เท่ากับ MRR-1.00% ต่อปี (5.90% ต่อปี) และปีที่ 4 เป็นต้นไป กรณีลูกค้าสวัสดิการ อัตราดอกเบี้ย MRR-1.00% ต่อปี ลูกค้ารายย่อย อัตราดอกเบี้ย MRR-0.50% ต่อปี และซื้ออุปกรณ์/ชำระหนี้ เท่ากับ MRR

2.สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำสำหรับลูกค้ากู้ใหม่ ที่ต้องการรีไฟแนนซ์บ้าน หรือห้องชุด(คอนโดมิเนียม) จากสถาบันการเงินอื่น กรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อหลักประกัน คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ตลอดระยะเวลา 3 ปี ปีที่ 1 เท่ากับ 3.75% ต่อปี ปีที่ 2 เท่ากับ 4.00% ต่อปี ปีที่ 3 เท่ากับ 4.25% ต่อปี ปีที่ 4-5 เท่ากับ MRR-2.00% ต่อปี (4.90% ต่อปี) ปีที่ 6-7 เท่ากับ MRR-1.50% ต่อปี (5.40% ต่อปี) และปีที่ 8 เป็นต้นไป กรณีลูกค้าสวัสดิการ อัตราดอกเบี้ย MRR-1.50% ต่อปี ลูกค้ารายย่อย อัตราดอกเบี้ย MRR-0.50% ต่อปี และกรณีกู้ชำระหนี้ = MRR (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR ธอส. เท่ากับ 6.90% ต่อปี) กรณีกู้ 1 ล้านบาท ผ่อนชำระเริ่มต้นเพียง 4,400 บาท/เดือนเท่านั้น พิเศษ!! ยกเว้นค่าประเมินราคาหลักประกัน และค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการจำนอง

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถยื่นกู้/ยื่นคำร้อง ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และทำนิติกรรมภายในวันที่ 28 มิถุนายน 2567 ณ สาขาธนาคารทั่วประเทศ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธอส.ทุกสาขาทั่วประเทศ G H Bank  Call Center โทร.0-2645-9000 หรือ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และติดตามข่าวสารของธนาคารได้ที่ Mobile Application : GHB  ALLGEN และ  www.ghbank.co.th

Advertisement

ออมสิน ทำโครงการ “ตลาดออมสินรวมใจ” สร้างต้นแบบตลาดเพื่อเศรษฐกิจดี ชีวิตดี สังคมยั่งยืน

People Unity News : 11 พฤศจิกายน 2566 ออมสิน ทำโครงการยกระดับตลาดแบบองค์รวม “ตลาดออมสินรวมใจ” นำร่อง 18 แห่งทั่วประเทศ สร้างต้นแบบตลาดเพื่อเศรษฐกิจดี ชีวิตดี สังคมยั่งยืน

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารได้จัดทำโครงการยกระดับตลาดแบบองค์รวม (Holistic Market Project) ภายใต้ชื่อ “ตลาดออมสินรวมใจ” ต่อยอดแนวคิดงานพัฒนาชุมชนแบบองค์รวม หรือ Holistic Area-Based Development ตั้งเป้าช่วยแก้ไขปัญหาหนี้และเป็นแหล่งเงินทุนแก่ผู้ขายในตลาดสดของชุมชน ล่าสุดได้ลงพื้นที่ตลาดเจดีย์แม่ครัว อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ 1 ใน 18 ตลาดของโครงการฯ เพื่อติดตามความคืบหน้างาน รวมถึงร่วมประชุมประเมินปัญหา-อุปสรรค และกำหนดปัจจัยความสำเร็จของตลาดแต่ละแห่งที่เข้าร่วมโครงการ ณ ห้องประชุมคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่

โครงการยกระดับตลาดแบบองค์รวม หรือ Holistic Market Project เป็นความร่วมมือของธนาคารออมสิน กับเจ้าของตลาด และหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน ที่ได้ร่วมกันคัดเลือกตลาดเอกชนและตลาดเทศบาล นำร่อง 18 แห่งทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการในตลาด ได้แก่ พ่อค้า แม่ค้า หาบเร่ แผงลอย และผู้ประกอบการรายย่อย ให้มีความเข้มแข็ง มีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันสามารถเข้าถึงแหล่งเงินในระบบด้วยเงื่อนไขที่เป็นธรรม หลุดพ้นจากการเป็นหนี้นอกระบบ ด้วยการเข้าไปช่วยเหลือให้ความรู้ ให้คำปรึกษาแก่พ่อค้าแม่ค้า หรือผู้ค้าขายในตลาดผ่านการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ครอบคลุมการพัฒนาใน 7 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ด้วยการให้ความรู้และคำปรึกษาเรื่องการแก้ไขหนี้ในระบบ/นอกระบบ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และแนวทางการป้องกันการเกิดหนี้ 2) การส่งเสริมการออม เพื่อสร้างวินัยการออม 3) การเข้าถึงแหล่งเงินทุนหรือสินเชื่อด้วยอัตราดอกเบี้ยและเงื่อนไขที่เป็นธรรม ไม่พึ่งพิงหนี้นอกระบบ 4) ให้ความรู้ทางการเงิน Financial Literacy การบริหารการเงิน และวางแผนการออม 5) สนับสนุนให้มีอาชีพที่ 2 เป็นอาชีพเสริม และเพิ่มทักษะเฉพาะด้านที่มีความจำเป็น 6) ให้ความรู้ในการเพิ่มช่องทางการขาย/การตลาด ผ่านช่องทางออนไลน์ และ 7) สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานในการค้าขาย ทั้งการ Re-Branding ตลาด ปรับปรุงสถานที่ ร้านค้า ป้ายบอกโซนค้าขาย และสภาพแวดล้อมในตลาด เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนการติดตามความคืบหน้าและประเมินผลความสำเร็จของการดำเนินโครงการฯ ทั้ง 18 ตลาด ได้แก่ ตลาดนัดจตุจักร จ.กรุงเทพฯ ตลาดน้ำดอนหวาย จ.นครปฐม ตลาดเจดีย์แม่ครัว จ.เชียงใหม่ ตลาดสดเทศบาลวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ตลาดเทศบาลเมืองสะเดา จ.สงขลา และ ตลาดสดเจ้าพระยา จ.ชลบุรี

Advertisement

น้ำตาลทรายจ่อปรับขึ้น หลังทบทวนหลายสาเหตุ พบกระทบต้นทุนจริง

People Unity News : 11 พฤศจิกายน 2566 คณะทำงานแก้ปัญหาชาวไร่อ้อย ได้ข้อสรุปแก้ไขปัญหาต้นทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เตรียมเสนอให้ ครม.เคาะราคาน้ำตาลทรายขึ้นสัปดาห์หน้า แต่ยังไม่ยกเลิกให้น้ำตาลทรายอยู่ในบัญชีสินค้าควบคุม หวั่นกักตุนเอาเปรียบผู้บริโภค

นายยรรยง พวงราช ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะทำงานบริหารความสมดุลในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล เปิดเผยว่าที่ประชุมได้ข้อสรุปร่วมกันในการแก้ปัญหาน้ำตาลทราย โดยจะมีการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงาน และราคาจำหน่ายปลีกซึ่งเป็นราคาที่เป็นธรรมและทุกฝ่ายยอมรับได้ โดยจะยังคงน้ำตาลทรายอยู่ในบัญชีสินค้าควบคุมตามเดิม

ส่วนจะปรับขึ้นราคาเท่าไหร่ยังไม่สามารถเปิดเผยตัวเลขได้ เนื่องจากจะต้องผ่านการพิจารณาอีกหลายขั้นตอน โดยจะต้องนำเสนอผลสรุปให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์พิจารณา และนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติในวันที่ 14 พ.ย.2566

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายครั้งนี้ เชื่อว่าไม่น่าจะเป็นเหตุผลให้ผู้ผลิตสินค้ายื่นขอปรับขึ้นราคา ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์พยายามดูแลปัญหาเงินเฟ้อ ไม่ให้การปรับราคาน้ำตาลทรายกระทบต่อราคาสินค้า เนื่องจากเป็นต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตสินค้าหลายรายการ เช่น อาหาร และยารักษาโรค

นอกจากนี้ ในระหว่างที่ยังไม่มีการปรับขึ้นราคาจำหน่ายน้ำตาลทราย คณะทำงานฯ ได้มีข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลว่ากรมการค้าภายใน และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย หรือ สอน.จะต้องช่วยกับดูแลไม่ให้เกิดปัญหาการกักตุนน้ำตาลทรายก่อนการปรับขึ้นราคา รวมทั้งให้มีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้นหากจะมีการปรับเปลี่ยนราคาน้ำตาลทรายเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา เนื่องจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกไม่คงที่มีความผัวผวนต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นเกี่ยวกับข้อเสนอการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทราย 2 บาท เพื่อเก็บเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อนำไปจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ปลูกอ้อยที่ตัดอ้อยสดส่งเข้าโรงงานน้ำตาลตามนโยบายลดฝุ่น PM 2.5 นั้น ขอให้รัฐบาลไปพิจารณางบประมาณในส่วนอื่นเพื่อบริหารจัดการเรื่องมลพิษ ไม่ควรผลักภาระมาให้กับผู้บริโภค

แหล่งข่าวคณะทำงานบริหารความสมดุลในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเปิดเผยว่าที่ประชุมได้ข้อสรุปร่วมกันให้มีการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงาน กิโลกรัมละ2 บาท โดยน้ำตาลทรายขาว ปรับขึ้นเป็นเป็น ก.ก.ละ 21 บาท และน้ำทรายขาวบริสุทธิ์ ปรับขึ้นเป็น ก.ก.ละ 22บาท โดยคาดว่าราคาใหม่จะมีผลบังคับทันทีภายหลังผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

นายกำธร กิตติโชติทรัพย์ นายกสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยเขต 7 เปิดเผยว่า ราคาที่ชาวไร่อ้อยพอใจคือ กิโลกรัมละ 4-5 บาท แต่ก็ต้องคุยในรายละเอียดในที่ประชุมอีกครั้ง เพราะที่ประชุมวันนี้ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องตัวเลข แต่ถ้าได้ราคาที่ 2 บาท ชาวไร่อ้อยยังไม่มีคำตอบเพราะถ้าถามว่าอยากได้ราคาเท่าไร่ชาวไร่อ้อยถึงจะพอใจ คือ 4-5 บาท อย่าเอาราคาน้ำตาลโลกมาเป็นตัวชี้วัดของชาวไร่อ้อยในการขอขึ้นราคาเพราะไม่ใช่ประเด็นแต่ที่ชาวไร่อ้อยอยู่ไม่ได้คือ ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทุกปี ต้องบอกว่าทุกวันนี้คนไทยบริโภคน้ำตาลถูกที่สุดในโลก ถ้าพวกเราชาวไร่อ้อยเลิกทำ เชื่อว่าคนไทยจะกินน้ำตาลทรายกิโลกรัมละ 100 บาทแน่นอน การประชุมวันนี้ยังไม่ได้คำตอบ100% ว่าจะปรับราคาได้มากน้อยแค่ไหน

Advertisement

Verified by ExactMetrics