วันที่ 5 พฤษภาคม 2024

ด่วน!! ตำแหน่งงานซาอุฯมาแล้ว! กระทรวงแรงงานรับสมัคร พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล ช่างฝีมือ 309 อัตรา

People Unity News : 9 มิถุนายน 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานเปิดรับสมัครคนหางานเพื่อไปทำงานซาอุดีอาระเบียกับนายจ้างบริษัท DR. SULAIMAN AL HABIB MEDICAL SERVICES GROUP CO. ซึ่งประกอบกิจการบริการทางการแพทย์ จำนวน 300 อัตรา ได้แก่ พยาบาลวิชาชีพ 100 อัตรา พยาบาลผู้ดูแล 100 อัตรา ผู้ช่วยพยาบาล 100 อัตรา และนายจ้างบริษัท AL -SHARQ POLYSTYRENE FACTORY COMPANY LTD. ซึ่งประกอบกิจการฉนวนกันความร้อนและวัสดุห่อหุ้ม จำนวน 9 อัตรา ได้แก่ ตำแหน่งช่างเชื่อม 3 อัตรา ช่างไฟฟ้าอุตสาหกรรม 3 อัตรา ผู้ควบคุมเครื่องกลึง 3 อัตรา รวมทั้งสิ้น 309 อัตรา มีระยะเวลาการจ้าง 2 ปี สามารถต่ออายุได้ โดยนายจ้างจะจ่ายค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินเที่ยวไปทำงานครั้งแรก ที่พัก และรถรับส่งระหว่างที่พักและสถานที่ทำงาน ค่ารักษาพยาบาล และค่าประกันสุขภาพ (ตามนโยบายของแต่ละบริษัท) ซึ่งผู้สนใจสามารถสมัครด้วยตนเอง ได้ตั้งแต่วันที่ 15 – 23 มิถุนายน 2565

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงานมีนโยบายส่งเสริมการมีงานทำให้กับคนไทยทุกกลุ่มทั้งการทำงานอย่างมั่นคงภายในประเทศไทย และการเพิ่มโอกาสของแรงงานไทยในต่างประเทศ ซึ่งประเทศซาอุดิอาระเบียถือเป็นตลาดใหม่อีกแห่งที่พร้อมรองรับแรงงานไทยในอนาคต” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้าน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า สำหรับคุณสมบัติของผู้สมัครงานพยาบาล เป็นเพศหญิง อายุ 20 – 40 ปี สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ โดยมีอัตราค่าจ้าง ดังนี้

1.พยาบาลวิชาชีพ (Registered Nurse) จำนวน 100 อัตรา ค่าจ้างเดือนละ 3,200 ริยาล หรือประมาณ 29,163 บาท ต้องจบวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีพยาบาลศาสตร์

2.พยาบาลผู้ดูแล (Staff Nurse) จำนวน 100 อัตรา ค่าจ้างเดือนละ 3,000 ริยาล หรือประมาณ 27,340 บาท ต้องจบวุฒิการศึกษาระดับอนุปริญญาพยาบาลศาสตร์

3.ผู้ช่วยพยาบาล (Assistant Nurse) จำนวน 100 อัตรา ค่าจ้างเดือนละ 2,900 ริยาล หรือประมาณ 26,429 บาท ต้องจบวุฒิการศึกษาระดับอนุปริญญาพยาบาลศาสตร์

ในส่วนผู้สมัครช่างฝีมือ รับเฉพาะเพศชาย อายุ 20 – 45 ปี สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ จบวุฒิการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรืออนุปริญญาขึ้นไป และมีประสบการณ์การทำงานตามตำแหน่ง 3 ปีขึ้นไป โดยมีอัตราค่าจ้าง ดังนี้

1.ช่างเชื่อม (Welder) จำนวน 3 อัตรา ค่าจ้างเดือนละ 1,800 -2,000 ริยาล หรือประมาณ 16,404 – 18,227 บาท (ต้องจบการศึกษาสาขาช่างเชื่อม)

2.ช่างไฟฟ้าอุตสาหกรรม (Industrial Electrical Technicians) จำนวน 3 อัตรา ค่าจ้างเดือนละ 2,500 – 3,000  ริยาล หรือประมาณ 22,783 – 27,340 บาท (ต้องจบการศึกษาสาขาช่างไฟฟ้าอุตสาหกรรม หรือสาขาที่เกี่ยวข้อง)

3.ผู้ควบคุมเครื่องกลึง (CNC operator) จำนวน 3 อัตรา ค่าจ้างเดือนละ 2,500 – 3,000 ริยาล หรือประมาณ 22,783 – 27,340 บาท (ต้องจบการศึกษาสาขาช่างกล หรือสาขาที่เกี่ยวข้อง) (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2565 : 1 ริยาล เท่ากับ 9.1135บาท)

ทั้งนี้ ผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนและมีความประสงค์จะสมัคร สามารถยื่นใบสมัครได้ด้วยตนเอง ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ ฝ่ายจัดส่งไปทำงานไต้หวันและประเทศอื่นๆ ชั้น 12 อาคารสำนักงานประกันสังคม กรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 ถนนมิตรไมตรี แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 15 – 23 มิถุนายน 2565 ในวันและเวลาราชการ และจะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบภายในวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 ทางเว็บไซต์ doe.go.th/overseas โดยนายจ้างจะคัดเลือกคนหางานด้วยตนเอง ผ่านการสอบสัมภาษณ์แบบออนไลน์ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694

Advertisement

ไทย-รัสเซียทำสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน

People Unity News : 15 มีนาคม 2566 รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.วานนี้อนุมัติให้ลงนามร่างสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน ไทย-รัสเซีย ต้องเป็นผู้กระทำผิดที่มีโทษจำคุกเกินกว่า 1 ปี ถึงจะส่งตัวได้

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (14 มี.ค.) ว่า ที่ประชุมอนุมัติลงนามร่างสนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหพันธรัฐรัสเซียว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนและการดำเนินการให้สนธิสัญญามีผลใช้บังคับ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสองประเทศในการปราบปรามอาชญากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยร่างสนธิสัญญาฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ เนื้อหาสาระและหลักเกณฑ์การส่งผู้ร้ายข้ามแดนคล้ายคลึงกับสนธิสัญญาลักษณะเดียวกันกับที่ประเทศไทยได้จัดทำกับประเทศต่าง ๆ และสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551

“สำหรับข้อกำหนดเงื่อนไขและขั้นตอนในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน อาทิ 1.ความผิดที่จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่กันได้ ต้องเป็นความผิดที่ลงโทษได้ตามกฎหมายของทั้งสองประเทศ (Double Criminality) และเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกเกินกว่า 1 ปี 2.ผู้ประสานงานกลางของฝ่ายไทยตามสนธิสัญญานี้ คือ อัยการสูงสุด และฝ่ายสหพันธรัฐรัสเซีย คือ สำนักงานอัยการสูงสุด 3.ภาคีที่ได้รับการร้องขอ ไม่ต้องส่งผู้ร้ายข้ามแดนบุคคลซึ่งกระทำความผิดทางการเมืองและความผิดทางทหาร ทั้งนี้ ความผิดต่อประมุขของรัฐ หรือหัวหน้ารัฐบาล หรือสมาชิกในครอบครัวของบุคคลดังกล่าว และการกระทำหรือการละเว้นการกระทำซึ่งเป็นความผิดอาญาตามพันธกรณีภายใต้สนธิสัญญาพหุภาคีที่ทั้งสองฝ่ายเป็นภาคี ไม่ถือว่าเป็นความผิดทางการเมือง” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

น.ส.รัชดา กล่าวว่า 4.ภาคีที่ได้รับการร้องขอจะต้องปฏิเสธไม่ส่งผู้ร้ายข้ามแดน เมื่อมีเหตุต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ตามกฎหมายของภาคีแต่ละฝ่าย อาทิ ความผิดที่มีลักษณะทางการเมือง หรือเป็นความผิดทางทหาร ซึ่งรวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวกับอายุความ 5.ภาคีที่ได้รับการร้องขอ สามารถปฏิเสธไม่ส่งผู้ร้ายข้ามแดน เมื่อภาคีที่ได้รับการร้องขอมีเขตอำนาจเหนือความผิดที่มีการร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน หรือการส่งบุคคลนั้นเป็นผู้ร้ายข้ามแดนจะกระทบต่ออำนาจอธิปไตย ความมั่นคง ความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ หรือภาคีที่ได้รับการร้องขอกำลังดำเนินคดีอาญากับบุคคลที่ถูกขอให้ส่งตัวในความผิดนั้นอยู่ 6.สนธิสัญญานี้ไม่กำหนดให้คู่ภาคีมีพันธกรณีใด ๆ ที่จะต้องส่งคนชาติของคนข้ามแดน อย่างไรก็ดี กรณีที่มีการปฏิเสธการส่งคนชาติข้ามแดน ภาคีที่ได้รับการร้องขอจะต้องเสนอคดีนั้น ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของตนเพื่อฟ้องคดีต่อไป เว้นแต่ว่าภาคีที่ได้รับการร้องขอไม่มีอำนาจเหนือความผิดนั้น ก็จะไม่ต้องเสนอคดีนั้นต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจเพื่อฟ้องคดี

“7.กรณีเร่งด่วน ภาคีคู่สัญญาแต่ละฝ่ายสามารถร้องขอให้มีการจับกุมตัวชั่วคราว (Provisional Arrest) บุคคลที่ต้องการ เพื่อให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนต่อไปได้ 8.ให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนโดยวิธีการแบบย่อ (Simplified procedure) ในกรณีที่บุคคลที่ถูกขอให้ส่งตัวยินยอมต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหรือศาลแห่งภาคีที่ได้รับการร้องขอ 9.กรณีที่ได้รับคำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากประเทศผู้ร้องขอตั้งแต่สองประเทศขึ้นไป ให้ภาคีที่ได้รับการร้องขอพิจารณาว่าจะส่งบุคคลนั้นข้ามแดนให้แก่ประเทศใด โดยนำเหตุผลดังต่อไปนี้มาพิจารณาทั้งหมด 1)ประเทศผู้ร้องขอมีหรือไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศไทย 2)สัญชาติของบุคคลที่ถูกขอให้ส่งตัว 3)เวลาและสถานที่กระทำความผิด 4)ความร้ายแรงของความผิด 5) ลำดับคำร้องขอที่ได้รับจากประเทศผู้ร้องขอ” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

น.ส.รัชดา กล่าวว่า 10.กำหนดหลักการว่าบุคคลที่ถูกส่งตัวไป จะไม่ถูกลงโทษในความผิดอื่น นอกเหนือจากในความผิดที่ขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน 11.กำหนดขั้นตอนการวินิจฉัยคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนและการส่งมอบตัวบุคคลในความผิดที่ขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน 12.ภาคีที่ได้รับการร้องขอจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการส่งผู้ร้ายข้ามแดนจนกระทั่งถึงเวลาส่งมอบตัว

“ร่างสนธิสัญญาฉบับนี้ ถือเป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนการลงนามและการดำเนินการให้มีผลผูกพัน แต่ไม่เข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา เนื่องจากร่างสนธิสัญญาไม่ได้มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตประเทศไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขต หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้าหรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

Advertisement

แม่ทัพภาค 4 พบสื่อฯ 3 ประเทศ สร้างความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยว และนักธุรกิจเยือนพื้นที่ จชต.

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 1 ธันวาคม 2566 แม่ทัพภาคที่ 4 ร่วมพบปะสื่อฯ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย พร้อมสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัย ยินดีต้อนรับ นักท่องเที่ยวและนักธุรกิจเข้ามาเยือนพื้นที่ จชต.

พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 และคณะ ร่วมพบปะคณะสื่อมวลชนและผู้ประกอบการท่องเที่ยวมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่เดินทางมาเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อร่วมกิจกรรมสานสัมพันธ์สื่อมวลชนและผู้ประกอบการท่องเที่ยวคาบสมุทรมลายูครั้งที่ 1 การจัดบรรยากาศที่เป็นกันเอง ซึ่งจัดโดยสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทยและภาคีเครือข่าย เพื่อส่งเสริมประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว พร้อมหารือเรื่องการสร้างความเชื่อมั่น การดูแลความปลอดภัย ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการและสื่อมวลชนในโครงการนี้

พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4/ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 กล่าวว่า ได้ทราบจากนายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทยถึงกิจกรรม สานสัมพันธ์สื่อมวลชน และผู้ประกอบการท่องเที่ยวคาบสมุทรมลายูครั้งนี้ นับว่าเป็นกิจกรรมที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่ ในฐานะที่เป็นบ้านพี่เมืองน้อง มีความหลากหลายในการนับถือศาสนา และเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้กันในภูมิภาคอาเซียน การมาเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ เชื่อว่าสื่อมวลชนทุกท่านได้มาเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงหลังจากที่ห้วงสองสามปีที่ผ่านมาทั่วโลกได้เกิดภาวะโรคโควิด-19 ระบาด ทำให้ทุกอย่างต้องหยุดชะงักไป และปัจจุบันนี้สถานการณ์ดีขึ้นและทุกอย่างได้กลับมาดำเนินการเดินหน้าเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งปัจจุบันนี้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้รวมถึงจังหวัดสงขลามีนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจเดินทางเข้ามาทำธุรกิจ มาท่องเที่ยวในพื้นที่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพี่น้องประเทศเพื่อนบ้านมาเลเซีย อินโดนีเซีย เดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มีการพัฒนาการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลปัจจุบันให้ความสำคัญและเร่งพัฒนาเรื่องเศรษฐกิจ แม้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น 20 กว่าปี แต่ปัจจุบันเหตุการณ์ดีขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งเรื่องของความมั่นคง และเรื่องการท่องเที่ยวการพัฒนาได้มีการขับเคลื่อนควบคู่กันอย่างต่อเนื่อง ขอให้ความมั่นใจต่อนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจที่เข้ามาในพื้นที่ ขอให้ท่านมีความมั่นใจในเรื่องของความปลอดภัย ส่วนเรื่องหลากหลายไม่ใช่ปัญหา ผู้คนสามารถอยู่ร่วมกันได้เพราะทุกวัฒนธรรมทุกศาสนาสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข และในฐานะแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งรับผิดชอบดูแลพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ขอให้ทุกคนมั่นใจได้ทั้งเรื่องความปลอดภัยและการอำนวยความสะดวก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยว และนักธุรกิจที่เดินทางมาเข้ามาให้ท่านเชื่อมั่นวางใจได้ เราพร้อมที่จะดูแลช่วยเหลือในทุกด้านโดยเฉพาะเรื่องของความปลอดภัยเมื่อมาเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้

โครงการ “สานสัมพันธ์สื่อมวลชนและผู้ประกอบการท่องเที่ยวคาบสมุทรมลายูครั้งที่ 1 กำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน – 6 ธันวาคม 2566 นำโดย นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย ดำเนินกิจกรรมโดยสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทยที่นำเครือข่ายผู้ประกอบการ นักท่องเที่ยว สื่อมวลชนในกลุ่มมาเลเซีย และอินโดนีเซีย มาเที่ยวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมเข้าพบปะบุคคลสำคัญต่างๆ ในพื้นที่ ทั้งหน่วยงานรัฐ และเอกชน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ หารือความร่วมมือในด้านต่างๆ รวมถึงเป็นการประชาสัมพันธ์แลกเปลี่ยนข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบกับสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยวรู้สึกให้มั่นใจถึงความปลอดภัยเมื่อมาเยือนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักโดยเฉพาะเขตพัฒนาเศรษฐกิจ IMTGT เชื่อมสัมพันธ์และกระชับมิตรระหว่างสื่อมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสื่อไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นับเป็นกิจกรรมที่ช่วยกระชับมิตรระหว่างสื่อมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสื่อไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีความสัมพันธ์ที่ดี และร่วมกันพัฒนาขับเคลื่อนสิ่งดี ๆ ร่วมกันต่อไปในอนาคต

Advertisement

ประยุทธ์ หารือทางโทรศัพท์กับ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนใหม่

People Unity News : ประยุทธ์ หารือทางโทรศัพท์กับ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนใหม่

วันนี้ 22 พ.ย.64 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้หารือทางโทรศัพท์กับ นายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ณ ทำเนียบรัฐบาล

รัฐบาลไทยพร้อมร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไทย – ญี่ปุ่นรอบด้าน พร้อมเชิญ นายคิชิดะ เดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อขับเคลื่อนความสัมพันธ์ไทย – ญี่ปุ่นต่อไป

นายคิชิดะ ชื่นชมและเชื่อมั่นวิสัยทัศน์ในการดำเนินนโยบายของนายกรัฐมนตรี และยินดีในความสัมพันธ์ไทย – ญี่ปุ่นที่เป็นไปอย่างแนบแน่น ราบรื่น พร้อมชื่นชมบทบาทไทยในการเป็นประเทศผู้ประสานงานอาเซียน – ญี่ปุ่น

โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือในประเด็นต่างๆ เพื่อโอกาสในการกระชับความสัมพันธ์ เช่น การควบคุมโรคโควิด-19 การค้าการลงทุน เป็นต้น

Advertising

เผยกำหนดการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีไทย-ลาว ครั้งที่ 3 13-14 ธ.ค.

People unity news online : นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการไทย – ลาว ครั้งที่ 3

พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเข้าประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ (Joint Cabinet Retreat : JCR) ไทย – ลาว ครั้งที่ 3 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ระหว่างวันที่ 13-14 ธันวาคม 2561

โดยรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เข้าร่วมการประชุมฯอาทิ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

การประชุม JCR ไทย-ลาว เป็นกลไกการหารือทวิภาคีระหว่างนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีสองฝ่าย มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้นำร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศและแสวงหาแนวทางความร่วมมือในการรับมือกับความท้าทายในอนุภูมิภาค/ภูมิภาคร่วมกัน โดยประเด็นสำคัญที่นายกรัฐมนตรีจะหยิบยกในการประชุมฯ ได้แก่ ย้ำการยกระดับความสัมพันธ์เป็น “หุ้นส่วนเพื่อความเจริญและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” เน้นการร่วมส่งเสริมพลวัตการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสองประเทศ การเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ ประกอบด้วย 3 เสาความร่วมมือ ได้แก่

1.ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง ไม่ให้ผู้ไม่หวังดีใช้ไทยและลาวเป็นฐานบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยของอีกประเทศ การป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และการยกระดับจุดผ่านแดนระหว่างสองฝ่ายให้เท่าเทียมกัน

2.ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ เสริมสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจร่วมกันผ่านการเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อตามแผนแม่บท ACMECS ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกันเพื่อรับมือความท้าทายในภูมิภาค เสริมสร้างความเชื่อมโยงทางกายภาพ (ถนน/ สะพาน) ควบคู่กับความเชื่อมโยงทางกฎระเบียบ สนับสนุนนักลงทุนไทยไปลงทุนในลาว โดยตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าเป็น 2 เท่า (11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2564

3.ความร่วมมือด้านสังคมและการพัฒนา สนับสนุนให้ลาวหลุดพ้นจากการเป็นประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ให้ลาวใช้ประโยชน์จากโครงการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในลาวมากขึ้น จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาการเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยวข้ามแดนไทย – ลาว ยืนยันการดูแลแรงงานลาวอย่างเต็มที่ตามกฎหมายไทย

โอกาสนี้นายกรัฐมนตรีจะได้พบหารือกับนายบุนยัง วอละจิด ประธานประเทศของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  โดยจะได้หารือเกี่ยวกับการฉลองครบรอบ 70 ปี ความสัมพันธ์ไทย – ลาว ในปี 2563 การส่งเสริมความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อไทย – ลาว (เปลี่ยนลาวจาก Land-locked เป็น Land-linked) และการร่วมจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาการเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยวข้ามแดนไทย – ลาว (ไม่ให้เขตแดนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา

กำหนดการที่สำคัญของนายกรัฐมนตรีมีดังนี้

วันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม 2561

16.25 น. –  นายกรัฐมนตรีและภริยา พร้อมด้วยคณะ เดินทางออกจากท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี  จังหวัด อุดรธานี โดยเครื่องบินของกองทัพอากาศ ไปยังนครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

จากนั้นนายกรัฐมนตรีจะเข้าเยี่ยมคารวะนายบุนยัง วอละจิด (H.E. Mr. Bounnhang Vorachit) ประธานประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยในช่วงค่ำนายทองลุน สีสุลิด (H.E. Mr. Thongloun Sisoulith) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนลาว และภริยา เป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงอาหารค่ำ เพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีและภริยา พร้อมด้วยคณะ

วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม 2561

09.00 น. – การหารือทวิภาคีกลุ่มเล็กระหว่างนายกรัฐมนตรีกับนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

09.45 น. – การประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ (Joint Cabinet Retreat – JCR) ไทย – ลาว ครั้งที่ 3

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมฯนายกรัฐมนตรีกับนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นสักขีพยานการลงนามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

-พิธีมอบความช่วยเหลือเหตุอุทกภัยในแขวงอัตตะปือเพิ่มเติมในระยะฟื้นฟู

-พิธีมอบโครงการพัฒนาวิทยาลัยพลศึกษานครหลวงเวียงจันทน์

11.00 น. – นายกรัฐมนตรีกับนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวแถลงข่าวร่วม

11.45 น. – นายกรัฐมนตรีกับนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวรับฟังการบรรยายสรุปและเยี่ยมชมห้องแสดงผลงานความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าครบรอบ 50 ปี

15.00 น. – นายกรัฐมนตรีและภริยา พร้อมด้วยคณะ เดินทางออกจากท่าอากาศยานนานาชาติวัดไต กลับประเทศไทย โดยจะเดินทางถึงท่าอากาศยานทหาร 2 (กองบิน 6) เวลา 16.05 น.

People unity news online : post 13 ธันวาคม 2561 เวลา 08.24 น.

ผู้แทนซาอุเผยต้องการแรงงานช่างเชื่อม เชื่อมใต้น้ำ เคาะพ่นสี Medical Staff พ่อครัว พนักงานโรงแรม

People Unity News : ผู้แทนซาอุฯ เผยต้องการแรงงานสาขาช่างเชื่อม ช่างเชื่อมใต้น้ำ ช่างเคาะพ่นสี Medical Staff พ่อครัว พนักงานโรงแรม

15 มี.ค. 2565 กระทรวงแรงงาน เผย ผู้แทนซาอุฯ พอใจ ผลการอบรม – ทดสอบฝีมือแรงงานไทย ขอให้ประชาชนที่สนใจไปทำงาน ลงทะเบียนที่ http://toea.doe.go.th

เป็นอีกหนึ่งข่าวดี คณะผู้แทนทางวิชาการของประเทศซาอุดีอาระเบีย ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทย ระหว่างวันที่ 12 – 16 มี.ค. 65 เพื่อเข้าร่วมการประชุมเชิงวิชาการเกี่ยวกับการจัดส่งแรงงานระหว่างกระทรวงแรงงานไทย กับกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคมซาอุดีอาระเบีย

ล่าสุด คณะผู้แทนฯ ได้ไปเยี่ยมชมการฝึกอบรมและทดสอบฝีมือแรงงาน ซึ่งเป็นการนำเสนอการฝึกอบรมในภาคบริการ ณ โรงแรม The Bazzar Hotel Bangkok

เบื้องต้นพบว่าคณะผู้แทนฯ มีความพอใจในความพร้อมของการฝึกอบรมและทดสอบฝีมือแรงงาน พร้อมเสนอว่าทางประเทศซาอุดีฯ ยังต้องการแรงงานในสาขาช่างเชื่อม โดยเฉพาะช่างเชื่อมใต้น้ำ ช่างเคาะพ่นสี Medical Staff รวมทั้งพ่อครัว พนักงานโรงแรมอีกด้วย

ทั้งนี้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้เตรียมการรองรับการส่งแรงงานไทย พร้อมอำนวยความสะดวกของการฝึกอบรมและทดสอบฝีมือแรงงานในสาขาอาชีพที่กำลังเป็นที่ต้องการ

ประชาชนผู้สนใจไปทำงานในประเทศซาอุดีอาระเบีย สามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ http://toea.doe.go.th เลือก “ลงทะเบียน” > “คนหางาน” หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือโทร. สายด่วน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

Advertising

พรุ่งนี้ “บิ๊กตู่” ไปประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 2 ที่กัมพูชา

People unity news online : นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 2

วันนี้ (9 มกราคม 2561) พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยภารกิจด้านต่างประเทศของนายกรัฐมนตรีว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดเข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 2 (2nd Mekong-Lancang Leaders’ Meeting) ในวันที่ 10 มกราคม 2561 ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 2 (2nd Mekong-Lancang Leaders’ Meeting) จะจัดขึ้นในวันที่ 10 มกราคม 2561 ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยฝ่ายกัมพูชาจะเป็นประธานร่วมกับจีน ภายใต้หัวข้อ แม่น้ำแห่งสันติภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืนของเรา (Our River of Peace and Sustainable Development) ซึ่งการประชุมครั้งนี้จะทบทวนการดำเนินงานของประเทศสมาชิกจากการประชุมผู้นำฯ ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนมีนาคม 2559 พร้อมทั้งจะกำหนดทิศทางและกิจกรรมของกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ในอนาคต โดยสมาชิกทั้งหมด 6 ประเทศ ประกอบด้วย จีน กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม จะหารือร่วมกันเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงบนพื้นฐานของความเท่าเทียม ภายใต้หลักการการมีส่วนร่วม ความสมัครใจ และหลักฉันทามติ

ในการประชุมครั้งนี้ ไทยมุ่งมั่นที่จะ (1) พัฒนากรอบความร่วมมือดังกล่าวให้ทันสมัยมากขึ้น (2) ส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกรอบแม่โขง – ล้านช้างกับแนวคิดหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (Belt Road Initiative – BRI) เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของอนุภูมิภาค (3) ไทยยังสนับสนุนให้กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง เป็นกลไกสำคัญในการผลักดันให้อนุภูมิภาคเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแบบยั่งยืนผ่านการใช้เครื่องมือที่ทันสมัย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและโครงการสำคัญของประเทศไทย อาทิ นโยบายประเทศไทย 4.0 ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และนโยบายประเทศไทย+1 (4) การยกระดับความร่วมมือด้านน้ำระหว่างประเทศสมาชิก ให้ได้รับประโยชน์ร่วมกัน บนพื้นฐานของความรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งจะช่วยให้ภาคการเกษตรของแต่ละประเทศมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไป

เอกสารผลลัพธ์การประชุม 2 ฉบับ ได้แก่ (1) แผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี แม่โขง – ล้านช้าง พ.ศ. 2561 – 2565  (5 – Year Plan of Action 2018 – 2022) เป็นเอกสารที่จะกำหนดแนวทางการดำเนินงานของกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ในระยะ 5 ปีข้างหน้า และ (2) ปฏิญญาพนมเปญ (Phnom Penh Declaration) เป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของผู้นำจะมุ่งสนับสนุนกรอบความร่วมมือดังกล่าวให้บรรลุเป้าประสงค์ของการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประชาชนในประเทศลุ่มน้ำโขงขอเพิ่มค่า โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีมีกำหนดจะพบหารือทวิภาคีกับสมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และนายหลี่ เค่อ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีนด้วย

People unity news online : post 9 มกราคม 2561 เวลา 13.50 น.

นายกฯ ปลื้มผลสำเร็จ เวทีอาเซียน – อียู

People Unity News : 15 ธันวาคม 2565 บน. 6 ดอนเมือง – “พล.อ.ประยุทธ์” ปลื้มผลสำเร็จเวทีอาเซียน-อียู ชี้หลายภูมิภาคหันมาให้ความสนใจไทยเนื้อหอม ลั่นเมื่อใดประเทศชาติยากลำบากต้องร่วมมือกันสู้ข้าศึก ไม่ใช่คนไทยมาสู้กันเอง โต้อย่าบอกรัฐบาลนี้ไม่ทำอะไร โวเจรจา FTA คืบหน้า ถ้าง่ายคงเสร็จมาหลายรัฐบาลแล้ว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังกลับจากเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรป สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 45 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-สหภาพยุโรป ที่ราชอาณาจักรเบลเยียม ว่า การไปประชุมในครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยเป็นการประชุมครั้งพิเศษ ได้พบปะกับอียู 27 ประเทศในเวลาเดียวกัน นอกจากมีการประชุมตามวาระแล้ว มีโอกาสพบภาคธุรกิจและภาคธุรกิจของอียู ซึ่งต่างพร้อมร่วมมือกับไทย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังหารือถึงปัญหาอุปสรรต่างๆ ซึ่งการเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ต้องเตรียมความพร้อมของเรา บางครั้งการเดินหน้าทางธุรกิจไปได้ยาก จึงต้องพยายามปรับเปลี่ยนพอสมควร แต่เราต้องไม่เสียเปรียบและต้องได้ประโยชน์ต่างตอบแทนเท่าๆกัน ขอให้ช่วยกันติดตามด้วย นอกจากนี้ยังหารือทวิภาคีกับผู้บริหารอียูหลายประเทศที่ต่างให้ความสนใจ ซึ่งวันนี้หลายภูมิภาคกลับมาให้ความสนใจอาเซียน เนื่องจากเราเป็นภูมิภาคที่มีความพร้อม มีความสงบสุข โลกกำลังเปิดกว้างเราต้องเตรียมการอาเซียนให้พร้อม ซึ่งในครั้งนี้ได้ย้ำนโยบายเศรษฐกิจของไทยเจริญเติบโตควบคู่กับความยั่งยืน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า วันนี้เราหวังพึ่งใครฝ่ายเดียวโดยไม่สนับสนุนไม่ร่วมมือก็ไม่สำเร็จ จึงขอให้ทุกคนมีส่วนร่วมโดยให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับความยั่งยืน โดยไม่ผลีผลามว่าจะให้เท่านั้นเท่านี้ เราต้องให้ทั้งปลาและเบ็ดตกปลา ฝากประชาชนด้วย ยืนยันรัฐบาลสนุบสนุนทุกวิถีทางให้ประชาชนอยู่ดีกินดียิ่งขึ้น ถ้าเปิดใจให้กว้างจะเห็นหลายอย่างเกิดขึ้นในประเทศไทย ถ้าเปิดตาให้กว้างจะเห็นว่าหลายอย่างเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นหลายอย่างอาจไม่ทันใจแต่เมื่อถึงเวลาไม่มีอะไรสำเร็จเริ่มได้วันเดียว ตนพยายามทำเต็มที่ให้สำเร็จลงได้

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ยังมีการหารือเกี่ยวกับเรื่องพลังงาน ที่จากการติดตามสถานการณ์ถือว่าดีขึ้น แต่ที่ผ่านมาเราได้เอาเงินส่วนหนึ่งมาชดเชยไว้เป็นจำนวนมากที่จะต้องทำอย่างไรเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนชดเชยในส่วนที่ลดลงและส่วนที่ขาดทุนเนื่องจากใช้เงินกู้มาเติมเต็มในส่วนนี้ทั้งสิ้น ส่วนราคาก๊าซวันนี้มีราคาสูงขึ้นในขณะที่ราคาน้ำมันลดลง ซึ่งมีความเกี่ยวพันกันทั้งคู่ เพราะเป็นแหล่งผลิตพลังงานซึ่งในยุโรปและหลายๆประเทศก็มีความเดือดร้อนทั้งหมดจากราคา 10 กว่าเหรียญก็ขึ้นเป็น 30 เหรียญ 50 เหรียญ 100 เหรียญ ซึ่งมีปัญหามากกว่าประเทศไทยพอสมควรจากอากาศพื้นที่อากาศหนาว แต่ประเทศไทยไม่เคยเจอสภาพนี้เราได้แต่ให้ความเห็นใจ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องก๊าซยังคงมีปัญหาอยู่เยอะเนื่องจากเป็นพลังงานที่จะนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าฉะนั้นไฟฟ้าจะราคาสูงขึ้น แต่รัฐบาลจะพยายามทำให้ค่า FT ต่ำที่สุดซึ่งก็ต้องใช้การหาเงินมาทดแทนไม่มีอะไรที่ได้มาเปล่าๆ จึงขอให้พยายามใช้จ่ายอย่างประหยัดวันนี้พยายามจะปรับเรื่องการจ่ายพลังงานให้ถูกวัตถุประสงค์ เช่น พลังงานสีเขียวจะให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อย ส่วนพลังงานที่มีต้นทุนแพงจะมีไว้สำหรับผู้ที่มีผลประกอบการสูง ถ้าเราร่วมมือกันทุกอย่างจะไปได้จะไม่ทะเลาะเบาะแว้งกันขอให้เสียสละกันบ้าง

“การทำอะไรก็ตามไม่ได้ง่ายมากนัก แต่ถ้าเราร่วมมือกัน ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกันก็ไปได้ หลายคนชื่นชมประเทศไทยแล้วเราภูมิใจกันบ้างหรือไม่ หลายอย่างดีขึ้น โรงแรมเต็ม หากินดีขึ้น แต่เรายังไม่พอใจ ตนจำเป็นต้องเล่าให้ฟังว่าไปต่างประเทศมามันเป็นอย่างไร หลายประเทศไม่มีคนเดินถนนเพราะอากาศหนาว แต่ประเทศไทยไปไหนได้ทั้งวันทั้งคืน ขอให้เข้าใจเมื่อไหร่ที่ประเทศชาติมีความยากลำบากเราต้องร่วมมือกัน เหมือนสมัยโบราณมีข้าศึกมาตีเราต้องร่วมมือต้องสู้กัน ไม่ใช่มาสู้กันเอง ขณะเดียวกันวันนี้โลกใหม่แล้วใม่อย่ามัวขัดแย้งเรื่องไม่เป็นเรื่องคิดเรื่องใหม่ๆ มาร่วมแก้ปัญหาไปด้วยกัน ผมจะโทษใครไม่ได้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกัน เรามุ่งเน้นไปสู่การเจรจาเพื่อนำไปสู่ FTA ซึ่งหลายคนก็พูดว่ารัฐบาลนี้ไม่ให้ความสนใจ FTA เราเจรจามากว่า 10 ปีแล้วที่ไม่มีความก้าวหน้า ซึ่งตนก็ถามว่าทำไมไม่ก้าวหน้าก็เพราะกติกาละเอียดมากจนเราปฏิบัติไม่ได้ แต่วันนี้ได้ไปพูดคุยกันว่าบางอย่างลดระดับลงได้หรือไม่ มันต้องเจรจาแบบนี้ไม่ใช่ว่ารัฐบาลนี้ไม่เคยไปเดินหน้า FTA เลย ตั้งแต่มาเจรจาไป 5 รอบแล้ว ทั้งนี้รอบที่ 6 และมีแนวโน้มที่จะดีขึ้นจนวันนี้สามารถลงนาม PCA เพื่อเดินหน้าไปสู่ FTA ต่อไปในอนาคต ไม่ใช่ใครจะไปพูดอะไรก็ได้ทุกอย่างที่ไปคุยเป็นมติคณะรัฐมนตรีจำไว้ ไม่เช่นนั้นใครพูดกันคนละทางสองทางก็หาทางลงไม่เจอ เราใช้เวลาเดือนหน้าแค่เฉพาะ PCA ใช้เวลาเดินหน้ามาถึง 18 ปี แต่เพิ่งสำเร็จเมื่อเช้านี้ ดังนั้นอย่าพูดว่ารัฐบาลไม่ทำอะไรเลย 18 ปี ไม่เคยเจรจา FTA ถ้ามันง่ายนะคงสำเร็จมาหลายรัฐบาลแล้ว

Advertisement

ครม. มีมติเห็นชอบร่างคำมั่นของประเทศไทยสำหรับการประชุมเวทีผู้ลี้ภัยโลก

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 18 ธันวาคม 2566 ครม. มีมติเห็นชอบร่างคำมั่นของประเทศไทยสำหรับการประชุมเวทีผู้ลี้ภัยโลก ครั้งที่ 2

นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (12 ธ.ค.2566) มีมติเห็นชอบต่อร่างคำมั่นของประเทศไทยสำหรับการประชุมเวทีผู้ลี้ภัยโลก ครั้งที่ 2 ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ

ซึ่งการประกาศคำมั่นโดยสมัครใจในเวทีการประชุมผู้ลี้ภัยโลก ครั้งที่ 2 จะช่วยกำหนดเป้าหมายในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับผู้หนีภัยและกลุ่มคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่อยู่ในประเทศไทย

ซึ่งนอกจากจะช่วยส่งเสริมความมั่นคงของประเทศและสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในมิติด้านมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้จัดทำร่างคำมั่นสำหรับการประชุมเวทีผู้ลี้ภัยโลก ครั้งที่ 2 โดยพัฒนามาจากประเด็นที่ไทยเคยให้คำมั่นไว้ในการประชุมเวทีผู้ลี้ภัยโลก ครั้งที่ 1 หรือในกรอบอื่นที่เกี่ยวข้อง

โดยเสนอคำมั่น 8 ข้อต่อที่ประชุมเวทีผู้ลี้ภัยโลก ครั้งที่ 2 ดังนี้ เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบคัดกรอง แก้ปัญหา คนไร้รัฐไร้สัญชาติ ทบทวนและปรับปรุงการใช้มาตรการทางเลือกแทนการกักตัวเด็กและครอบครัวในห้องกักตรวจคนเข้าเมือง ส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาและการพัฒนาทักษะตามช่วงวัยของเด็กผู้หนีภัยกลุ่ม ต่าง ๆ พัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพที่สามารถตอบสนองความต้องการของคนต่างด้าวกลุ่มต่าง ๆ ในไทย

รวมถึงผู้หนีภัย คนไร้รัฐไร้สัญชาติ ผู้ได้รับความคุ้มครองตามระเบียบคัดกรองฯ ขยายความร่วมมือกับประเทศที่สามในการหาทางออกที่ยั่งยืนให้แก่ผู้หนีภัยกลุ่มต่าง ๆ ในประเทศไทย ให้ความช่วยเหลือ ชาวโรฮีนจาผ่านการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวโรฮีนจาในบังคลาเทศอย่างต่อเนื่องตลอด 4 ปีข้างหน้า รวมถึงการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาแก่เมียนมา และการดำเนินการถอนข้อสงวนต่อข้อ 22 (เรื่องการคุ้มครองเด็กผู้ลี้ภัยและเด็นแสวงหาที่พักพิง) ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

Advertisement

นายกฯสุดปลื้ม เที่ยวบินใหม่ “กทม.-เจดดาห์” ตอกย้ำสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ เที่ยวแรก 19 ส.ค.นี้

People Unity News : 1 สิงหาคม 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยินดีที่การบินไทยเปิดเส้นทางใหม่ “กรุงเทพฯ – เจดดาห์” โดยจะเริ่มให้บริการเที่ยวบินแรกในวันที่ 19 ส.ค. 65 เป็นการตอกย้ำสัมพันธภาพที่ดียิ่งระหว่างสองประเทศภายหลังการเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือน ม.ค. 65 ที่ผ่านมา คาดว่าเส้นทางบินใหม่นี้จะทำให้มีนักท่องเที่ยวชาวซาอุดีอาระเบียเดินทางมาไทยเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า และยังช่วยให้ชาวไทยมุสลิมเดินทางไปแสวงบุญที่นครเมกกะได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น

รัฐบาลจะร่วมกับการบินไทยโปรโมตอัตลักษณ์ของพื้นที่ จ.ชายแดนใต้ ผ่านเส้นทางการบินใหม่นี้ เช่น คัดสินค้าท้องถิ่นเข้าวางขายในร้านไทยช็อป ซึ่งมีลูกค้าจากทั่วโลกสั่งซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ นำวัตถุดิบท้องถิ่นมาต่อยอดให้บริการบนเครื่องบิน เช่น เกลือหวานจากปัตตานี ลูกหยีนราธิวาส กล้วยหินยะลา และพาผู้สื่อข่าวจากซาอุดีอาระเบียมาทัศนศึกษาประเทศไทย โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งมีความโดดเด่นเรื่องสังคมพหุวัฒนธรรม

Advertisement

Verified by ExactMetrics