วันที่ 5 พฤษภาคม 2024

ไทย-สหรัฐพร้อมขยายความร่วมมือ

People Unity News : 28 พฤศจิกายน 2565 นายกฯ หารือ USABC เสนอ 3 แนวทางเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจ มุ่งส่งเสริมสร้างความเข้มแข็ง การเติบโตเศรษฐกิจอย่างสมดุลและครอบคลุม ขณะสหรัฐพร้อมขยายความร่วมมือกับไทย

คณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (U.S.-ASEAN Business Council : USABC) นำโดยนายโรเบิร์ต โกเดค (H.E. Mr.Robert Godec) เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย นาย Ted Osius ประธาน USABC และผู้แทนบริษัทสมาชิก จำนวน 43 บริษัท จากกลุ่มอุตสาหกรรมสาขาต่างๆ อาทิ พลังงาน อาหารและการเกษตร สาธารณสุข เทคโนโลยีสารสนเทศ และบริการทางการเงิน เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า USABC และภาคเอกชนสหรัฐฯ ถือเป็นมิตรและหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ และมีบทบาทสนับสนุนการเติบโตของไทยมาโดยตลอด รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับความร่วมมือ แลกเปลี่ยนความเห็นกับภาคเอกชน ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐฯ มีพลวัตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในการประชุมเอเปค ไทยได้ผลักดันผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมหลายประการ ทั้งการทบทวนการหารือเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ในบริบทหลังโควิด-19 และการส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม โดยการนำเสนอเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bangkok Goals on BCG)

“คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตระหว่างร้อยละ 2.7-3.2 ไทยพร้อมร่วมมือกับภาคเอกชนสหรัฐฯ มุ่งส่งเสริมความเข้มแข็งและการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างสมดุลและครอบคลุม และให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรม บนพื้นฐานโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อพัฒนาไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการลงทุนของภูมิภาค” นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรีได้เสนอวิสัยทัศน์และแนวทางการเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจไทยในยุค Next Normal 3 ประการ ได้แก่ 1.ด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจที่มีความสมดุล และมุ่งเข้าสู่การเป็นสังคมปลอดคาร์บอน โดยรัฐบาลได้เร่งผลักดันการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นสีเขียว และต้องการยกระดับไทยไปสู่การผลิต EV สำหรับภูมิภาค พัฒนาองค์ความรู้ และเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

“2.ด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจที่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน โดยรัฐบาลได้เร่งเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจตามข้อเสนอ Ten for Thailand เพื่อพัฒนาไทยไปสู่ศูนย์กลางของภูมิภาคสำหรับธุรกิจ การค้า และการลงทุน และ 3.ด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม ไทยมุ่งผลักดันและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เร่งพัฒนาวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น และส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัล” นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรี หวังว่าในโอกาสฉลองครบรอบ 190 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ในปี 2566 ความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนจะเพิ่มพูนและแน่นแฟ้น มีพลวัตในความสัมพันธ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ด้านนาย Ted Osius ประธาน USABC กล่าวว่า การพบกันครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้พบกันพร้อมหน้า และเป็นคณะที่ใหญ่สุดที่เดินทางมาประเทศไทยรวม 43 บริษัทแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจและความมุ่งมั่นที่จะขยายความร่วมมือกับไทย และการลงทุนในภูมิภาคนี้ ถือเป็นโอกาสเฉลิมฉลองวาระครบครบรอบ 190 ปีของความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ในปีหน้าด้วย และชื่นชมความสำเร็จที่นายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ประธานการประชุมเอเปค 2022 ได้อย่างยอดเยี่ยม

ส่วนเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ กล่าวชื่นชมความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ที่มีมาอย่างยั่งยืนยาวนาน ร่วมกันส่งเสริมความสัมพันธ์ในหลายระดับและภาคเอกชนถือว่าสำคัญเป็นอย่างยิ่ง รัฐบาลสหรัฐฯ พร้อมรับไม้ต่อในการเป็นเจ้าภาพเอเปคในปีหน้า และยืนยันจะส่งเสริมความร่วมมือกับไทยต่อไป

ด้านผู้แทนจากบริษัทภาคเอกชนสหรัฐฯ ทั้ง 43 บริษัทจาก 6 อุตสาหกรรมหลัก ได้กล่าวแนะนำตัวและหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยแสดงความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง พร้อมเน้นย้ำความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือและสนับสนุนแนวคิด BCG ของไทยผ่านการส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือด้านการใช้พลังงาน ผลิตภัณฑ์ อย่างคุ้มค่าและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งตัวแทนบริษัทส่วนใหญ่เห็นว่า ไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์การกลางลงทุนในด้านต่างๆ ที่มีศักยภาพ เช่น ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ (Auto Hub) ศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล การส่งเสริมการท่องเที่ยว ตลอดจนการส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ รวมทั้งพร้อมที่จะส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะที่พร้อมต่อการทำงาน ซึ่งจะช่วยรองรับการขยายการลงทุนของแต่ละธุรกิจในอนาคตต่อไป

Advertisement

ไทย-ซาอุดีฯ ยืนยันความตั้งใจมุ่งสานสัมพันธ์ใกล้ชิด

People Unity News : 20 ตุลาคม 2566 ซาอุดีอาระเบีย – นายกฯ เข้าเฝ้าฯ มกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบีย ไทย-ซาอุดีฯ ยืนยันความตั้งใจมุ่งสานความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิด และกระชับความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และความมั่นคง

วันนี้ (20 ต.ค. 2566) เวลา 12.45 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงริยาด ซึ่งช้ากว่าไทย 4 ชั่วโมง) ณ โรงแรม Ritz Carlton กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าเฝ้าฯ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด (His Royal Highness Prince Mohammed bin Salman bin Abdulaziz Al Saud) มกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบีย ในโอกาสการหารือทวิภาคี ระหว่างการเข้าร่วมการประชุม ASEAN – GCC Summit โดยนายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีและมกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีซาอุดีฯ ต่างยืนยันความตั้งใจร่วมกันในการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การท่องเที่ยว รวมถึงพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนไทยและซาอุดีฯ ให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในวิสัยทัศน์ของพระราชาธิบดี รวมถึงมกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีซาอุดีฯ ที่ทรงวางรากฐาน นำไปสู่การฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างทั้งสองประเทศ โดยไทยยืนยันมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือด้าน ต่าง ๆ ให้พัฒนายิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมแก่ประชาชนไทยและซาอุดีฯ

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีและ มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีซาอุดีฯ หารือประเด็นความร่วมมือดังนี้

ด้านความสัมพันธ์ ทั้งสองฝ่ายหารือถึงการดำเนินความสัมพันธ์ในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะควรส่งเสริมการค้าและการลงทุนซึ่ง นายกฯ เสนอการจัดทำ Thai-GCC FTA รวมทั้งแสดงการสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพ Expo 2030 จัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2034 ของซาอุดีอาระเบีย รวมถึงแนวทางความร่วมมือและประเด็นที่คั่งค้างในด้าน 1) การเมืองและการกงสุล 2) การลงทุน 3) ความมั่นคงและการทหาร 4) วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว และ 5) เศรษฐกิจและการค้า โดยไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสภาความร่วมมือซาอุดี – ไทย (Saudi – Thai Coordination Council: STCC) ครั้งที่ 1 เพื่อทบทวนการดำเนินความสัมพันธ์ และกำหนดแนวทางความร่วมมือทั้ง 5 ด้าน

ด้านความมั่นคง ทั้งสองฝ่ายพร้อมส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งที่ผ่านมามีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูง เพื่อเข้าร่วมงานนิทรรศการด้านการป้องกันประเทศของทั้งสองฝ่ายแล้วในงาน Defense and Security ของไทย และงาน World Defense Show ของซาอุดีฯ ซึ่งทำให้ไทยและซาอุดีฯ มีโอกาสขยายความร่วมมือในด้านความมั่นคงมากยิ่งขึ้น ซึ่งไทยจะให้ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร และสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เร่งรัดความร่วมมือให้เป็นรูปธรรมต่อไป

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีขอบคุณรัฐบาลซาอุดีอาระเบียที่ดูแลคนไทยกว่า 6,000 คน ที่อยู่ในซาอุดีอาระเบีย และแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล ซึ่งมีคนไทยเสียชีวิต บาดเจ็บ และถูกลักพาตัว ซึ่งซาอุดีอาระเบียรับที่จะดำเนินการอย่างเต็มที่ในการให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ถูกจับกุมตัว

Advertisement

ยกระดับความร่วมมือไทย-จีน นำความรุ่งเรืองสู่ประเทศ

People Unity News : 19 ตุลาคม 2566 สาธารณรัฐประชาชนจีน – นายกฯ กล่าวปาฐกถาในงาน Thailand-China Investment Forum ย้ำความมุ่งมั่นการพัฒนาประเทศไทยให้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ยกระดับความร่วมมือไทย-จีน นำความรุ่งเรืองสู่ประเทศและภูมิภาค

เมื่อเวลา 09.20 น. (ตามเวลาท้องถิ่นสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเร็วกว่าไทย 1 ชั่วโมง) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนา Thailand-China Investment Forum

โดยนายกรัฐมนตรีแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่สยามพารากอน เป็นกำลังใจให้ครอบครัว และยืนยันรัฐบาลพยายามทำทุกอย่างเพื่อความสะดวกสบายใจของนักท่องเที่ยวจีนในการเดินทางมาท่องเที่ยวและเดินทางกลับบ้านได้อย่างมีความสุข ให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่ปลอดภัยเพื่อนักท่องเที่ยวทุกคน โดยยินดีและขอบคุณสำหรับการต้อนรับอย่างอบอุ่น ชื่นชมความสัมพันธ์ไทย-จีน ที่ราบรื่น ยาวนาน ทุกด้าน โดยในปี ค.ศ. 2023 นี้ จะครบรอบ 48 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต และเมื่อปี ค.ศ. 2022 ไทยและจีนเพิ่งครบรอบ 10 ปี ความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์รอบด้าน ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ลงนามและประกาศใช้แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-จีน ฉบับที่ 4 (ปี ค.ศ. 2022-2026) และแผนความร่วมมือระหว่างไทย-จีน ว่าด้วยการร่วมกันส่งเสริมเส้นทางเศรษฐกิจสายไหม และเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ

นายกรัฐมตรี กล่าวว่า สำหรับการเยือนครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อเข้าร่วมการประชุม Belt and Road Forum for International Cooperation (BRF) ครั้งที่ 3 ซึ่งข้อริเริ่ม Belt and Road Initiative (BRI) เป็นนโยบายที่ก่อให้เกิดความร่วมมือในหลากหลายมิติ รวมถึงมีส่วนสำคัญกระตุ้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของกลุ่มอาเซียน และเกิดความเกื้อหนุนระหว่างประเทศตามแนวยุทธศาสตร์ดังกล่าว ครอบคลุมพื้นที่ถึงกว่า 60 ประเทศ ประชากรประมาณ 4,400 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 63 ของประชากรโลก

โดยไทยในฐานะศูนย์กลางอาเซียนสามารถเชื่อมต่อเส้นทางภายใต้ BRI ทั้งทางบกและทางทะเล พร้อมส่งเสริมความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไทย-จีน ซึ่งปัจจุบันทางบก ไทยมีเส้นทางถนน R3A เชื่อมต่อการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังคุนหมิง ทางน้ำมีการเดินเรือในแม่น้ำโขงและการเดินเรือสมุทรระหว่างไทยกับจีน ส่วนทางอากาศมีเส้นทางบินตรงจากเมืองใหญ่หลายเมืองของจีนมายังไทย นอกจากนี้รัฐบาลมีแผนจะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อสร้างโอกาสด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว พร้อมทั้งยกระดับระบบคมนาคมและขนส่งของไทย จึงเป็นโอกาสในการยกระดับความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระหว่างกันให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งไทยมีความพร้อมทั้งระบบเศรษฐกิจ บุคลากร และความสะดวกในการดำเนินธุรกิจสำหรับการค้าและการลงทุน

นอกจากนี้ไทยเห็นความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ ได้แก่ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมสีเขียว ปัญญาประดิษฐ์ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย Made in China 2025 ของจีน โดยมีการลงทุนร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนา Startup ที่มีศักยภาพให้เติบโตและแข่งขันได้ในระดับโลก ให้เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจและยกระดับศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในระดับภูมิภาค จีนและไทยได้ร่วมลงนามในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นสัญญาการค้าขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมประมาณร้อยละ 30 ของ GDP โลก ทำให้ไทยได้รับสิทธิยกเว้นอากร หรือลดอัตราอากรศุลกากร และกรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ซึ่งส่งผลให้ภาษีสินค้านำเข้าเป็นศูนย์มากกว่าร้อยละ 90 ของรายการสินค้าทั้งหมด ตั้งเป้าเปิดตลาดสินค้าเพิ่มในหมวดสินค้าอ่อนไหว เพื่อพัฒนาการเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจไปสู่การเป็นฐานการผลิตและตลาดเดียวกัน เพิ่มโอกาสทางธุรกิจที่เปิดกว้างยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ไทยมีที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ในอาเซียน โดยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและโลจิสติกส์ของภูมิภาค การเข้ามาทำธุรกิจการค้าและการลงทุนกับไทย จึงครอบคลุมไปถึงประชากรกว่า 620 ล้านคนในอาเซียน

นายกรัฐมนตรี ย้ำบทบาทเชิงรุกอย่างสร้างสรรค์ของไทย โดยกระชับความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ผ่านการค้าและการลงทุน พร้อมใช้ความร่วมมือระหว่างประเทศในการส่งเสริมความร่วมมืออย่างใกล้ชิด โดยยึดมั่นการเสริมสร้างความสัมพันธ์บนพื้นฐานการไว้วางใจ การให้เกียรติ และการเคารพซึ่งกันและกัน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยว (Visa Free) พร้อมทั้งผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาว เช่น การลงทุนจากบริษัทชั้นนำระดับโลก ซึ่งคาดว่าจะทำให้ GDP ของไทยในปี 2024 ขยายตัวได้สูงกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา

“จีนถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่และผู้ลงทุนอันดับหนึ่งของไทย นายกรัฐมนตรีจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การค้าไทย-จีน จะขยายตัวมากยิ่งขึ้น และอยากให้จีนซื้อสินค้าจากประเทศไทยมากขึ้นรวมถึงการลงทุนในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า (EV) รัฐบาลพร้อมสนับสนุนผู้ลงทุนจากจีน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ซึ่งรัฐบาลพร้อมอำนวยความสะดวกและดูแลนักลงทุนจีน” นายเศรษฐา กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมุ่งมั่นอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ พร้อมทั้งพัฒนาระบบบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยในส่วนของนักท่องเที่ยวจากจีน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวอันดับต้นของไทย รัฐบาลมีมาตรการยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวให้แก่นักท่องเที่ยวจากจีนเป็นพิเศษ ตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยหวังว่า นักท่องเที่ยวจากจีนจะเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น ทั้งในเมืองหลักและเมืองรอง พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า ประเทศไทยมีความปลอดภัย พร้อมที่จะดูแลและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวจีนอย่างเต็มที่

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวอีกว่า รัฐบาลไทยยังมีนโยบายสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ หรือ ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ของประเทศไทยสู่ระดับสากลด้วยการทูตเชิงวัฒนธรรม ยกระดับและพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย สร้าง 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ (One Family One Soft Power : OFOS) ผ่านคอนเทนต์ 11 อุตสาหกรรม ได้แก่ อาหาร กีฬา เฟสติวัล ท่องเที่ยว ดนตรี หนังสือ ภาพยนตร์ เกม ศิลปะ การออกแบบ และแฟชั่น เพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าและบริการ รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยต่อเวทีโลก

ส่วนความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็นอีกประเด็นสำคัญ ไทยมีประชากรส่วนมากอยู่ในภาคการเกษตร และเป็นผู้ส่งออกหลักในกลุ่มอาหารและสินค้าเกษตร จึงต้องการพัฒนาและนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เปลี่ยนจากเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการ จำเป็นที่ต้องมีส่วนร่วมในการลดภาวะโลกร้อนและสร้างเศรษฐกิจสีเขียว ส่งเสริมให้เกิดการเงินและการลงทุนสีเขียว เพื่อให้สามารถรับมือกับความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสามารถอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้รัฐบาลมีแผนเสริมสร้างสังคมดิจิทัล โดยนำเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์มาช่วยในการทำงาน ควบคู่ไปกับการสร้างเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีนโยบายเปิดรับแรงงานและกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อตอบสนองความต้องการทรัพยากรบุคคล และแรงงานทั้งในภาคการผลิต การบริการ และการพัฒนาเทคโนโลยี

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จีนเป็นประเทศเป้าหมายของนักศึกษาไทยจำนวนมาก หวังว่าทั้งสองประเทศจะผลักดันความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตร การพัฒนาความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและมหาวิทยาลัยของไทยและจีนให้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ไทยมีความพร้อมสำหรับการพัฒนาการค้า การลงทุนร่วมกัน พร้อมทั้งเชิญชวนนักลงทุนและบุคลากรทักษะสูงจากจีน เข้ามาดำเนินธุรกิจในไทย

ช่วงตอนท้าย นายกรัฐมนตรี หวังว่างานสัมมนาในวันนี้จะช่วยเชื่อมโยง กระตุ้นโอกาสด้านการค้าการลงทุน และสร้างพันธมิตรทางธุรกิจระหว่างไทยและจีนมากขึ้น

“เชื่อมั่นว่าไทยมุ่งมั่นที่จะพัฒนาประเทศให้มั่นคงทางเศรษฐกิจ มีความพร้อม ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมระหว่างไทยกับจีน พร้อมที่จะยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ และช่วยส่งเสริมให้ภูมิภาคเอเชียก้าวสู่ความก้าวหน้า เต็มศักยภาพ และรุ่งเรืองอย่างยั่งยืน” นายเศรษฐา กล่าว

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้แจ้งการดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์และเชิญชวนนักลงทุนจีนร่วมลงทุนในโครงการนี้ ยืนยันการสนับสนุนการลงทุนจากนักลงทุนจีน ให้ รายงานผลการศึกษาเพื่อจัดอันดับ ความยาก-ง่ายในการเข้าไปประกอบธุรกิจในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเกิดขึ้นจริง ขอร่วมเดินทางกับจีนในเส้นที่ท้าทาย และทำให้โลกของเราเจริญรุ่งเรืองต่อไป

Advertisement

นายกฯไทย-ผู้นำอาเซียน หารือผู้นำสหรัฐฯ ร่วมสร้างภูมิภาคที่สงบสุข ดันเศรษฐกิจควบคู่รักษาสิ่งแวดล้อม

People Unity News : วันนี้ (13 พฤษภาคม 2565) เวลา 16.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นประเทศสหรัฐอเมริกา ณ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับ นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมฯ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณประธานาธิบดีสหรัฐฯ สำหรับการต้อนรับอย่างอบอุ่นที่ทำเนียบขาวเมื่อคืนนี้ พร้อมกล่าวว่าการที่ผู้นำอาเซียนเดินทางมาสหรัฐฯ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดฯ สมัยพิเศษ นับเป็นโอกาสในความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ ที่ดำเนินมายาวนานถึง 45 ปี จึงควรใช้โอกาสนี้เฉลิมฉลองวาระพิเศษและร่วมกันกำหนดทิศทางการดำเนินความสัมพันธ์ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น โดยท่ามกลางสถานการณ์โลกที่เปราะบาง มีปัจจัยความท้าทายที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นทั้งด้านสาธารณสุข ห่วงโซ่อุปทาน ภาวะเงินเฟ้อ วิกฤตพลังงาน และความตึงเครียดระหว่างประเทศ ล้วนส่งผลกระทบต่อความพยายามในการฟื้นตัวจากโควิด-19 โดยเฉพาะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ที่ประชุมฯ ควรร่วมกัน “มองไปข้างหน้า” และเดินหน้าไปสู่ “ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” โดยเป้าหมายสำคัญที่สุด คือการพัฒนาภูมิภาคที่มีสันติภาพ ความเข้มแข็ง พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อก้าวต่อไปสู่ยุค Next Normal ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน พร้อมเสนอให้อาเซียนกับสหรัฐฯ มุ่งสร้าง “ภูมิทัศน์ใหม่” ให้ภูมิภาคและโลกใน 3 เรื่อง ดังนี้

หนึ่ง “ภูมิทัศน์ด้านความมั่นคงที่เอื้อต่อการฟื้นตัวและการเติบโตอย่างยั่งยืน” โดยสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีสถาปัตยกรรมในภูมิภาคที่เข้มแข็ง และบรรยากาศของความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน นายกรัฐมนตรียินดีที่ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ฉบับใหม่ของสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับอาเซียน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การดำเนินยุทธศาสตร์ดังกล่าว ตลอดจนข้อริเริ่มอื่นๆ อาทิ AUKUS และกลุ่มภาคี Quad จะเป็นไปในทิศทางที่สร้างสรรค์ สนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียน และมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก

นายกรัฐมนตรีหวังว่า ผู้เล่นสำคัญต่างๆ รวมถึงประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมิตรประเทศและหุ้นส่วนที่สำคัญของอาเซียนมาอย่างยาวนาน จะทำงานร่วมกันเพื่อหาทางออกต่อความท้าทายที่เปราะบางและซับซ้อนได้อย่างเหมาะสมและสร้างสรรค์ให้แก่ประชาคมโลก โดยอาเซียนพร้อมจะมีบทบาทในฐานะเวทีหลักของภูมิภาคที่จะเชื่อมโยงผู้เล่นทุกคนเข้าด้วยกันเพื่อสร้างภูมิรัฐศาสตร์ที่สงบสุข

สอง “ภูมิทัศน์ด้านเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลและห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็ง” นับตั้งแต่การระบาดของโรคโควิด-19 อาเซียนมีผู้บริโภคดิจิทัลรายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 60 ล้านคน ซึ่งบ่งชี้ว่าอาเซียนจะเติบโตสู่การเป็นตลาดดิจิทัลที่สำคัญของโลกในอีกไม่ช้า ไทยสนับสนุนการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างอาเซียน-สหรัฐฯ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในภูมิภาคผ่านกลไกของ USDFC โดยมุ่งเน้นให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ ตลอดจนร่วมกันเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลให้แก่แรงงานและผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่ม MSMEs และสตาร์ทอัพ เพื่อให้สามารถแข่งขันในเศรษฐกิจดิจิทัลได้

นอกจากนี้ โรคโควิด-19 ได้ตอกย้ำถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็ง โดยในระยะเร่งด่วน นายกรัฐมนตรีเสนอให้อาเซียนและสหรัฐฯ เร่งหารือช่องทางในการเชื่อมโยงระบบ ASEAN Single Window เข้ากับระบบนำเข้า-ส่งออกของสหรัฐฯ เพื่อให้การเคลื่อนย้ายสินค้าเป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าจำเป็น และในระยะยาว เชื่อมั่นว่าอาเซียนมีศักยภาพในการเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯได้ โดยเฉพาะสาขายานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมการแพทย์และเวชภัณฑ์ และเทคโนโลยีชีวภาพ ทั้งนี้ ไทยมีเขต EEC ซึ่งมีการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล่านี้ และโลจิสติกส์ที่ทันสมัย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างขีดความสามารถให้กับภูมิภาคด้วย

สาม “ภูมิทัศน์เพื่อการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีพลังมากขึ้น” โดยไทยเห็นว่าทุกประเทศต้องร่วมกันขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ ในส่วนของไทยใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นแนวทาง และผลักดันให้เป็นแนวคิดพื้นฐานในการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปีนี้ ภายใต้หัวข้อหลัก “OPEN.CONNECT.BALANCE.” ซึ่งสอดคล้องกับสหรัฐฯที่ให้ความสำคัญและสามารถสนับสนุนข้อริเริ่ม Build Back Better World ได้เป็นอย่างดี

สำหรับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทยได้แสดงความมุ่งมั่นที่ COP26 ว่าจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2065 หรือก่อนหน้านั้น ซึ่งหากอาเซียนกับสหรัฐฯ เพิ่มพูนความร่วมมือในการลงทุน และแบ่งปันเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ  โครงสร้างพื้นฐานสีเขียว และพลังงานสะอาด ตลอดจนการสนับสนุนทางการเงินที่ยั่งยืน ประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงไทยก็จะสามารถบรรลุเป้าหมายได้เร็วยิ่งขึ้น

นายกรัฐมนตรีเชื่อว่า แนวทางที่ได้เสนอมาทั้งหมดนี้จะช่วยผลักดันให้ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ ก้าวไปสู่บทใหม่ และเป็นการพิสูจน์ว่าความร่วมมือของอาเซียนและสหรัฐฯ จะยังมีความสำคัญ และมีส่วนในการส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคต่อไป พร้อมยังยินดีที่จะให้การต้อนรับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการเข้าร่วมการประชุมผู้นาเขตเศรษฐกิจเอเปคที่กรุงเทพฯ ในช่วงปลายปีนี้

ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ เวลา 18.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ นายกรัฐมนตรีและคณะ เดินทางออกจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ไปยังท่าอากาศนานาชาติอินชอน กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี เพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศไทย โดยจะเดินทางถึงประเทศไทยในช่วงเช้าของวันที่ 15 พ.ค. 2565

อนึ่ง ในการประชุมสุดยอดอาเซียน สหรัฐฯ สมัยพิเศษครั้งนี้ ผู้นำอาเซียนและสหรัฐฯ ได้รับรองแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วม (Joint Vision Statement) แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันขับเคลื่อนความสัมพันธ์ และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน โดยเน้นย้ำความสำคัญของการทำงานร่วมกัน เพื่อมุ่งไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้านระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ การเสริมสร้างสภาพแวดล้อมแห่งสันติภาพในภูมิภาค และการสนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียน โดยมีแนวทางการดำเนินความร่วมมือที่สำคัญ ดังนี้

  1. การส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุข ผ่านความร่วมมือต่างๆ
  2. การส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เท่าเทียม เข้มแข็ง และยั่งยืน
  3. การส่งเสริมความร่วมมือทางทะเล
  4. การพัฒนาทุนมนุษย์ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและครอบคลุม
  5. การส่งเสริมการพัฒนาในอนุภูมิภาค
  6. การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและการส่งเสริมนวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียน
  7. การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  8. ความร่วมมือในประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศ

Advertisement

จากถูกติดธงแดง วันนี้ ICAO หนุนไทยเป็นศูนย์อบรมผู้ตรวจสอบด้านการบินของภูมิภาค

People Unity : ICAO พร้อมสนับสนุนไทยเป็นศูนย์การอบรมผู้ตรวจสอบด้านการบินของภูมิภาค

วันนี้ (26 กรกฎาคม 2562) เวลา 13.30 น. ณ ห้องโดมทอง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ดร.อลูมูยีหวา เบนาร์ด อลิว (Dr.Olumuyiwa Benard Aliu) ประธานคณะมนตรีองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) และคณะเข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในโอกาสเดินทางเยือนไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุม ICAO Global Aviation Cooperation Symposium (GACS) ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 22 – 24 กรกฎาคม 2562 ณ จังหวัดภูเก็ต

นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับประธานคณะมนตรี ICAO และคณะ พร้อมทั้งขอบคุณ ICAO ที่ให้คำแนะนำและประสานงานทำให้การบินพลเรือนของไทยยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยสู่ระดับสากล การนี้นายกรัฐมนตรียินดีที่การประชุม GACS ครั้งที่ 3 ประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการบินระหว่างกัน และพัฒนาความร่วมมือในระดับภูมิภาคเพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆในอนาคต

ประธานคณะมนตรี ICAO ขอบคุณไทยที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการจัดการประชุม GACS ครั้งที่ 3 เป็นอย่างดี พร้อมทั้งชื่นชมการดำเนินการของรัฐบาลไทยในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านการบินพลเรือนอย่างต่อเนื่องและจริงจัง เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ซึ่ง ICAO ยินดีสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าวให้สำเร็จตามเป้าหมายที่ไทยตั้งไว้ ทั้งนี้ ICAO ขอให้ไทยรักษาระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินให้ดียิ่งขึ้นไป พร้อมทั้งหวังว่าไทยจะสนับสนุนการดำเนินงานของสำนักงาน ICAO ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ที่จัดตั้ง ณ กรุงเทพฯ ด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของภูมิภาค

ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทย – ICAO มีความใกล้ชิดมากขึ้น โดยไทยถือเป็นประเทศสมาชิกแรกเริ่มของ ICAO ซึ่งไทยยืนยันว่าจะพัฒนาระบบการกำกับดูแลการบินพลเรือนให้เป็นมาตรฐานสากล อย่างไรก็ตามยังมีข้อจำกัดเกี่ยวกับการพัฒนาผู้ตรวจสอบด้านการบิน (Inspector) ที่ยังขาดแคลน จึงจะร่วมมือกับ ICAO ในการฝึกฝนบุคลากร เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์การอบรมผู้ตรวจสอบด้านการบินของภูมิภาค ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ทุกประเทศต่อไปในอนาคต

ความสัมพันธ์ต่างประเทศ : จากถูกติดธงแดง วันนี้ ICAO หนุนไทยเป็นศูนย์อบรมผู้ตรวจสอบด้านการบินของภูมิภาค

People Unity : post 26 กรกฎาคม 2562 เวลา 21.20 น.

ทูตเกาหลีเหนือเข้าพบ “อนุชา” สานต่อความสัมพันธ์ไทย-เกาหลีเหนือ

People Unity News : ไทย-เกาหลีเหนือ ยินดีต่อความสัมพันธ์ฉันท์มิตรที่มีมาอย่างยาวนาน และพร้อมสานต่อความสัมพันธ์ต่อไป

เมื่อ 9 ตุลาคม 2563 เวลา 10.00 น. ณ ห้องรับรอง 1 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายคิม เช พง (H.E. Mr. Kim Je Bong) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (เกาหลีเหนือ) ประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เนื่องในโอกาสเข้ารับหน้าที่ สรุปสาระสำคัญการหารือ ดังนี้

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีประจำประเทศไทย ยินดีที่ไทยกับเกาหลีเหนือมีความสัมพันธ์เป็นมิตรประเทศที่ดีต่อกันมาอย่างยาวนาน ยืนยันรัฐบาลไทยพร้อมทำงานร่วมกับเอกอัครราชทูตฯอย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเกาหลีเหนือในสาขาที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ทั้งนี้ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีชื่นชมเกาหลีเหนือที่ได้จัดการกับภัยธรรมชาติพายุไต้ฝุ่นในประเทศเกาหลีเหนือได้อย่างเรียบร้อย

เอกอัครราชทูตฯขอบคุณรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่สละเวลาให้เข้าพบในวันนี้ พร้อมทั้งแสดงความยินดีในโอกาสเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชื่นชมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเกาหลีเหนือที่มีความเป็นมิตรที่ดีแก่กันมาตลอดระยะเวลา 45 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ยืนยันพร้อมทำงานเพื่อขับเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยเอกอัครราชทูตฯชื่นชมรัฐบาลไทยที่ทำงานอย่างหนักเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้านรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเห็นว่าสถานการณ์โควิด-19 เป็นวิกฤตการณ์ระดับโลกที่หลายประเทศกำลังเผชิญอยู่ ประเทศไทยโชคดีที่รัฐบาลดำเนินมาตรการอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ไทยไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศมาเป็นระยะเวลานาน เป็นที่ชื่นชมจากต่างชาติ พร้อมทั้งอวยพรเกาหลีเหนือให้ควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดดูแลประชาชนให้ปลอดภัย

Advertising 

นายกฯ ปลื้มผลสำเร็จ เวทีอาเซียน – อียู

People Unity News : 15 ธันวาคม 2565 บน. 6 ดอนเมือง – “พล.อ.ประยุทธ์” ปลื้มผลสำเร็จเวทีอาเซียน-อียู ชี้หลายภูมิภาคหันมาให้ความสนใจไทยเนื้อหอม ลั่นเมื่อใดประเทศชาติยากลำบากต้องร่วมมือกันสู้ข้าศึก ไม่ใช่คนไทยมาสู้กันเอง โต้อย่าบอกรัฐบาลนี้ไม่ทำอะไร โวเจรจา FTA คืบหน้า ถ้าง่ายคงเสร็จมาหลายรัฐบาลแล้ว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังกลับจากเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรป สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 45 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-สหภาพยุโรป ที่ราชอาณาจักรเบลเยียม ว่า การไปประชุมในครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยเป็นการประชุมครั้งพิเศษ ได้พบปะกับอียู 27 ประเทศในเวลาเดียวกัน นอกจากมีการประชุมตามวาระแล้ว มีโอกาสพบภาคธุรกิจและภาคธุรกิจของอียู ซึ่งต่างพร้อมร่วมมือกับไทย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังหารือถึงปัญหาอุปสรรต่างๆ ซึ่งการเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ต้องเตรียมความพร้อมของเรา บางครั้งการเดินหน้าทางธุรกิจไปได้ยาก จึงต้องพยายามปรับเปลี่ยนพอสมควร แต่เราต้องไม่เสียเปรียบและต้องได้ประโยชน์ต่างตอบแทนเท่าๆกัน ขอให้ช่วยกันติดตามด้วย นอกจากนี้ยังหารือทวิภาคีกับผู้บริหารอียูหลายประเทศที่ต่างให้ความสนใจ ซึ่งวันนี้หลายภูมิภาคกลับมาให้ความสนใจอาเซียน เนื่องจากเราเป็นภูมิภาคที่มีความพร้อม มีความสงบสุข โลกกำลังเปิดกว้างเราต้องเตรียมการอาเซียนให้พร้อม ซึ่งในครั้งนี้ได้ย้ำนโยบายเศรษฐกิจของไทยเจริญเติบโตควบคู่กับความยั่งยืน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า วันนี้เราหวังพึ่งใครฝ่ายเดียวโดยไม่สนับสนุนไม่ร่วมมือก็ไม่สำเร็จ จึงขอให้ทุกคนมีส่วนร่วมโดยให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับความยั่งยืน โดยไม่ผลีผลามว่าจะให้เท่านั้นเท่านี้ เราต้องให้ทั้งปลาและเบ็ดตกปลา ฝากประชาชนด้วย ยืนยันรัฐบาลสนุบสนุนทุกวิถีทางให้ประชาชนอยู่ดีกินดียิ่งขึ้น ถ้าเปิดใจให้กว้างจะเห็นหลายอย่างเกิดขึ้นในประเทศไทย ถ้าเปิดตาให้กว้างจะเห็นว่าหลายอย่างเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นหลายอย่างอาจไม่ทันใจแต่เมื่อถึงเวลาไม่มีอะไรสำเร็จเริ่มได้วันเดียว ตนพยายามทำเต็มที่ให้สำเร็จลงได้

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ยังมีการหารือเกี่ยวกับเรื่องพลังงาน ที่จากการติดตามสถานการณ์ถือว่าดีขึ้น แต่ที่ผ่านมาเราได้เอาเงินส่วนหนึ่งมาชดเชยไว้เป็นจำนวนมากที่จะต้องทำอย่างไรเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนชดเชยในส่วนที่ลดลงและส่วนที่ขาดทุนเนื่องจากใช้เงินกู้มาเติมเต็มในส่วนนี้ทั้งสิ้น ส่วนราคาก๊าซวันนี้มีราคาสูงขึ้นในขณะที่ราคาน้ำมันลดลง ซึ่งมีความเกี่ยวพันกันทั้งคู่ เพราะเป็นแหล่งผลิตพลังงานซึ่งในยุโรปและหลายๆประเทศก็มีความเดือดร้อนทั้งหมดจากราคา 10 กว่าเหรียญก็ขึ้นเป็น 30 เหรียญ 50 เหรียญ 100 เหรียญ ซึ่งมีปัญหามากกว่าประเทศไทยพอสมควรจากอากาศพื้นที่อากาศหนาว แต่ประเทศไทยไม่เคยเจอสภาพนี้เราได้แต่ให้ความเห็นใจ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องก๊าซยังคงมีปัญหาอยู่เยอะเนื่องจากเป็นพลังงานที่จะนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าฉะนั้นไฟฟ้าจะราคาสูงขึ้น แต่รัฐบาลจะพยายามทำให้ค่า FT ต่ำที่สุดซึ่งก็ต้องใช้การหาเงินมาทดแทนไม่มีอะไรที่ได้มาเปล่าๆ จึงขอให้พยายามใช้จ่ายอย่างประหยัดวันนี้พยายามจะปรับเรื่องการจ่ายพลังงานให้ถูกวัตถุประสงค์ เช่น พลังงานสีเขียวจะให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อย ส่วนพลังงานที่มีต้นทุนแพงจะมีไว้สำหรับผู้ที่มีผลประกอบการสูง ถ้าเราร่วมมือกันทุกอย่างจะไปได้จะไม่ทะเลาะเบาะแว้งกันขอให้เสียสละกันบ้าง

“การทำอะไรก็ตามไม่ได้ง่ายมากนัก แต่ถ้าเราร่วมมือกัน ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกันก็ไปได้ หลายคนชื่นชมประเทศไทยแล้วเราภูมิใจกันบ้างหรือไม่ หลายอย่างดีขึ้น โรงแรมเต็ม หากินดีขึ้น แต่เรายังไม่พอใจ ตนจำเป็นต้องเล่าให้ฟังว่าไปต่างประเทศมามันเป็นอย่างไร หลายประเทศไม่มีคนเดินถนนเพราะอากาศหนาว แต่ประเทศไทยไปไหนได้ทั้งวันทั้งคืน ขอให้เข้าใจเมื่อไหร่ที่ประเทศชาติมีความยากลำบากเราต้องร่วมมือกัน เหมือนสมัยโบราณมีข้าศึกมาตีเราต้องร่วมมือต้องสู้กัน ไม่ใช่มาสู้กันเอง ขณะเดียวกันวันนี้โลกใหม่แล้วใม่อย่ามัวขัดแย้งเรื่องไม่เป็นเรื่องคิดเรื่องใหม่ๆ มาร่วมแก้ปัญหาไปด้วยกัน ผมจะโทษใครไม่ได้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกัน เรามุ่งเน้นไปสู่การเจรจาเพื่อนำไปสู่ FTA ซึ่งหลายคนก็พูดว่ารัฐบาลนี้ไม่ให้ความสนใจ FTA เราเจรจามากว่า 10 ปีแล้วที่ไม่มีความก้าวหน้า ซึ่งตนก็ถามว่าทำไมไม่ก้าวหน้าก็เพราะกติกาละเอียดมากจนเราปฏิบัติไม่ได้ แต่วันนี้ได้ไปพูดคุยกันว่าบางอย่างลดระดับลงได้หรือไม่ มันต้องเจรจาแบบนี้ไม่ใช่ว่ารัฐบาลนี้ไม่เคยไปเดินหน้า FTA เลย ตั้งแต่มาเจรจาไป 5 รอบแล้ว ทั้งนี้รอบที่ 6 และมีแนวโน้มที่จะดีขึ้นจนวันนี้สามารถลงนาม PCA เพื่อเดินหน้าไปสู่ FTA ต่อไปในอนาคต ไม่ใช่ใครจะไปพูดอะไรก็ได้ทุกอย่างที่ไปคุยเป็นมติคณะรัฐมนตรีจำไว้ ไม่เช่นนั้นใครพูดกันคนละทางสองทางก็หาทางลงไม่เจอ เราใช้เวลาเดือนหน้าแค่เฉพาะ PCA ใช้เวลาเดินหน้ามาถึง 18 ปี แต่เพิ่งสำเร็จเมื่อเช้านี้ ดังนั้นอย่าพูดว่ารัฐบาลไม่ทำอะไรเลย 18 ปี ไม่เคยเจรจา FTA ถ้ามันง่ายนะคงสำเร็จมาหลายรัฐบาลแล้ว

Advertisement

“อนุชา” เผยเฟ้นสุดยอดเชฟอาหารไทย เสิร์ฟผู้นำ-ผู้เข้าร่วมประชุมเอเปค

People Unity News : 21 ตุลาคม 65 “อนุชา” เผยเตรียมเชฟพร้อมเฟ้นสุดยอดอาหารไทย เสิร์ฟผู้นำและผู้เข้าร่วมประชุมเอเปค ผลักดันอาหารไทย หวังสร้างความประทับใจ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค เปิดเผยว่า การที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิค ครั้งที่ 29 หรือ เอเปค 2565 ถือเป็นโอกาสดีที่ไทยจะได้แสดงศักยภาพให้ทั่วโลกได้เห็นว่าไทยมีความสามารถแข่งขันในเวทีโลก อาหารไทย ถือเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถต่อยอดทางธุรกิจและพัฒนาให้มีความเป็นสากลได้ ทั่วโลกยกย่องอาหารไทย โดยสังเกตได้จากร้านอาหารไทยที่กระจายอยู่หลายประเทศ และไทยมีความสมบูรณ์ทางทรัพยากรอาหาร

“สิ่งนี้ถือเป็น Soft Power ซึ่งหากเชฟชาวไทยมีโอกาส ได้พัฒนาทักษะ จะเป็นหนทางสร้างรายได้ ต่อยอดทางธุรกิจการทำอาหาร ผมมอบหมายให้กรมประชาสัมพันธ์ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์ จัดทำโครงการ Future Food for Sustainability ส่งเมนูอาหารอนาคต เทรนด์อาหารยุคใหม่ที่กำลังได้รับความนิยม ผสมผสานกับความเป็นไทย เพื่อเตรียมนำไว้ให้คณะผู้นำเอเปค และชาวต่างชาติได้สัมผัส ในช่วงสัปดาห์การประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค ระหว่างวันที่ 14-19 พฤศจิกายนนี้” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

นายอนุชา กล่าวว่า โครงการ Future Food for Sustainability เป็นโครงการประกวดทำอาหาร ที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่มีใจรักการทำอาหารได้เข้าร่วมและนำเสนอแนวคิดเมนูอาหารแห่งอนาคตที่ถูกรังสรรค์ด้วยวัตถุดิบไทย โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 2,000 ทีม มีการคัดเลือกผู้เข้าแข่งขันแต่ละรอบ อาทิ รอบการคัดกรองแนวคิด รอบการเข้าแคมป์พัฒนาศักยภาพ และรอบกิจกรรมแข่งทำอาหาร จนกระทั่งได้ทีมชนะเลิศในที่สุด ทั้งนี้ ไทยมีชื่อเสียงระดับนานาชาติว่าเป็นครัวของโลก อาหารไทยจึงเป็น Soft Power ที่จะพาคนไทยให้ทั่วโลกได้รู้จักและต่อยอดการพัฒนาด้านอื่น

“คนไทยที่มีใจรักการทำอาหาร และคนรุ่นใหม่เริ่มหันมาสนใจการทำอาหารมากขึ้น ขณะที่เทรนด์การรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อความยั่งยืนกำลังมาแรง เวทีการประกวดทำอาหาร Future Food for Sustainability จึงเป็นโอกาสที่ผู้เข้าแข่งขันกว่า 2,000 ทีม จะได้แสดงฝีมือและฝึกฝนจากคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการทำอาหารไทย ซึ่งการประกวดปัจจุบันกำลังเข้มข้น ท้ายที่สุดจะเหลือเพียง 21 ทีมที่ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ เพื่อจะได้เฟ้นหาสุดยอดอาหารแห่งอนาคตของไทย เตรียมรับคณะผู้นำและผู้เข้าร่วมการประชุมเอเปค 2565 หวังให้ผู้นำและผู้เข้าร่วมประชุมฯ ประทับใจในรสชาติอาหารไทย สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย หวังเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

Advertisement

นายกฯ เผย เลขาฯ ยูเอ็น ยันไม่ปิดสำนักงานยูเอ็นในไทย

People Unity News : 22 กันยายน 2566 นายกฯ ปลื้มหารือกับเลขาฯ ยูเอ็น ที่ให้ความสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน ย้ำไม่ปิดสำนักงานยูเอ็นในไทย พร้อมแสดงฝีมือการทำงาน

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงเรื่องการพบกับเลขาธิการสหประชาชาติ ว่า ได้มีการพูดคุยอยู่ประมาณ 15 นาที ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าเลขาธิการสหประชาชาตินั้นมีภารกิจมาก แต่ก็เปิดช่วงเวลาให้เข้าพบได้ ทำให้เข้าใจว่าสหประชาชาติให้ความสำคัญ จึงพูดคุยกันนาน เพราะเป็นชาวโปรตุกีสที่เคยมาอาศัยอยู่ในประเทศไทย จึงมีความผูกพัน และมีความสนใจส่วนตัวในเรื่องของสิทธิมนุษยชน ที่เป็นเรื่องที่สำคัญ พร้อมกันนี้ ได้ขอร้องท่านเลขาธิการสหประชาชาติว่าประเทศไทยอยากให้ตั้งสำนักงานฯ อยู่ในประเทศไทยต่อไป ซึ่งทางด้านเลขาธิการสหประชาชาติ ยืนยันว่ายังไม่มีความคิดที่จะปิดสำนักงานฯ โดยตนถือว่าเป็นหน่วยงานที่สำคัญ และเป็นหน้าเป็นตาให้กับประเทศไทย และมีชาวไทยเป็นเจ้าหน้าที่ในองค์การของสหประชาชาติเป็นจำนวนมาก จึงขอให้ไทยได้มีโอกาสแสดงฝีมือตรงนี้บ้าง และเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ได้รับการตอบรับที่ดี

Advertisement

ไทยริเริ่มจัดการประชุมลดขยะในทะเลกลุ่มประเทศอาเซียน

People unity news online : เมื่อวันที่ 22-23 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับอาเซียน เรื่องการลดปริมาณขยะทะเลในกลุ่มประเทศอาเซียน “ASEAN Conference on Reducing Marine Debris in ASEAN Region” เพื่อหาแนวทางและมาตรการร่วมกันในการลดปริมาณขยะลงทะเลในกลุ่มประเทศอาเซียน และเกิดการขับเคลื่อนร่วมกันในกลุ่มประเทศอาเซียน

พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ขยะทะเลกลายเป็นประเด็นสำคัญระดับโลกที่องค์การสหประชาชาติกำลังให้ความสำคัญ เพราะได้กำหนดให้การจัดการทรัพยากรทางทะเลเป็น 1 ใน 17 เป้าหมายของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ เนื่องจากทะเลทั่วโลกที่เปรียบเสมือนขุมทรัพย์ ที่ต่างคนต่างตักตวงใช้โดยไม่คำนึงผลที่เกิดขึ้นในระยะยาว กำลังเผชิญกับขยะที่ล่องลอยจากแผ่นดินออกสู่ทะเล และจากฝั่งออกสู่ท้องทะเล โดยเฉพาะขยะพลาสติกได้สร้างปัญหามากมาย ขยะพลาสติกขนาดใหญ่ เช่น แห อวน หรือซากสิ่งของ เป็นสาเหตุที่ทำให้สัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ บาดเจ็บหรือเสียชีวิต สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศโดยทำให้แนวปะการังและพื้นท้องทะเลเสื่อมโทรม ทำลายทัศนียภาพของชายหาดส่งผลต่อการประมง และการท่องเที่ยวของหลายประเทศ

พลเอก สุรศักดิ์ กล่าวว่า การที่ประเทศไทยริเริ่มจัดการประชุมเรื่องการลดปริมาณขยะทะเลในกลุ่มประเทศอาเซียน ก็เพื่อให้ประเทศอาเซียนได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และร่วมกันกำหนดแนวทางในการจัดการปัญหาขยะทะเล เพื่อเป็นกรอบในการจัดการแก้ไขปัญหาร่วมกันในภูมิภาคอาเซียน  เพราะขณะนี้หลายๆประเทศได้ให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาขยะทะเล อาทิ จีน เพิ่งจัดการประชุมการจัดการขยะทะเลในเขตเมืองชายฝั่งในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก ไปเมื่อช่วงต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่อินโดนีเชีย กำลังจัดการประชุมเกี่ยวกับเรื่องขยะทะเล สำหรับประเทศไทย จากการศึกษาเกี่ยวกับปัญหาขยะทะเลพบว่า ร้อยละ 80 ของขยะทะเลมาจากบนบก ส่วนขยะจากกิจกรรมทางทะเล มีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น ดังนั้น การจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง

ไทยริเริ่มจัดการประชุมลดขยะในทะเลกลุ่มประเทศอาเซียน

People unity news online : post 27 พฤศจิกายน 2560 เวลา 11.20 น.

Verified by ExactMetrics