วันที่ 29 เมษายน 2024

WHO เตือนประชากรโลกเผชิญ ‘มลพิษทางอากาศ’ รุนแรง โดยเฉพาะประเทศรายได้ต่ำ-ปานกลาง

People Unity News : 5 เมษายน 65 เมื่อวันจันทร์ (4 เม.ย.) องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่าประชากรโลกเกือบทั้งหมด หรือร้อยละ 99 สูดอากาศที่มีมลพิษเกินระดับที่องค์การอนามัยโลกกำหนด

แม้ปัจจุบันเมืองมากกว่า 6,000 แห่งใน 117 ประเทศจะเฝ้าติดตามคุณภาพอากาศ แต่ประชาชนในเมืองเหล่านั้นยังคงสูดดมอนุภาคขนาดเล็กและก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ในระดับอันตราย โดยประชาชนในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและปานกลางเผชิญผลกระทบดังกล่าวสูงสุด

องค์การอนามัยโลก เรียกร้องให้ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และใช้มาตรการอันเป็นรูปธรรมอื่นๆ เพื่อลดมลพิษในอากาศ โดย ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ชี้ว่าราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สูง ความมั่นคงทางพลังงาน และการเร่งรับมือความท้าทายจากมลพิษทางอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เน้นย้ำความจำเป็นเร่งด่วนในการก้าวสู่โลกที่พึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลน้อยลงเร็วขึ้น

อนึ่ง ฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยเฉพาะพีเอ็ม2.5 (PM2.5) สามารถแทรกซึมเข้าปอดและกระแสเลือด ก่อให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และโรคระบบทางเดินหายใจ ส่วนก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์มีความเกี่ยวข้องกับโรคระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคหอบหืด

องค์การอนามัยโลก คาดการณ์ว่าแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากสาเหตุด้านสิ่งแวดล้อมที่ป้องกันได้สูงเกิน 13 ล้านราย ซึ่งรวมถึงผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศจำนวน 7 ล้านราย

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก แนะนำการสร้างระบบและเครือข่ายขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยและราคาย่อมเยา ซึ่งเหมาะสมกับคนเดินเท้าและคนขี่จักรยาน การลงทุนด้านที่อยู่อาศัยและโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพทางพลังงาน การจัดการขยะของเสียที่ดีขึ้น การลดการเผาขยะทางการเกษตรและกิจกรรมวนเกษตรบางส่วนอย่างการผลิตถ่านไม้ เพื่อพัฒนาคุณภาพอากาศและสุขภาพ

Advertisement

ประยุทธ์ เข้าร่วมประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 5 พร้อมรับมอบตำแหน่งประธาน BIMSTEC

People Unity News : ประยุทธ์ พร้อมเข้าร่วมการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 5 และรับมอบตำแหน่งประธาน BIMSTEC ต่อจากศรีลังกา

วันนี้ (28 มีนาคม 2565) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมผู้นำความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (The Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation : BIMSTEC) ครั้งที่ 5 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจัดขึ้นโดยศรีลังกา และนายโคฐาภยะ ราชปักษะ ประธานาธิบดีศรีลังกา เป็นผู้กล่าวในช่วงพิธีเปิดการประชุม ในวันที่ 30 มีนาคม 2565 เวลา 09.50 น. ผ่านระบบการประชุมทางไกล ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล

นายธนกร กล่าวว่า บิมสเทค (BIMSTEC) เป็นกรอบความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจระหว่าง 7 ประเทศในอ่าวเบงกอล ได้แก่ บังคลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา และไทย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2540 ภายใต้การริเริ่มและผลักดันของไทย เพื่อสอดรับนโยบายมองตะวันตก (Look West) ของไทย เข้ากับนโยบายมองตะวันออก (Look East) ของกลุ่มประเทศเอเชียใต้ และ Act East ของอินเดีย โดย ไทย เคยเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 1 เมื่อปี 2557

การประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 5 ศรีลังกาในฐานะเจ้าภาพ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “BIMSTEC- Towards a Resilient Region, Prosperous Economies, Healthy Peoples”  หรือ “บิมสเทค มุ่งหน้าสู่อนุภูมิภาคที่ยืดหยุ่น มั่งคั่ง และประชาชนมีสุขภาพดี” ซึ่งการเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทนประเทศไทย จะร่วมพิธีรับมอบตำแหน่งประธาน BIMSTEC ให้แก่ไทย พร้อมร่วมรับชมวิดีโอเปิดตัวการเป็นประธาน โดยไทยจะเป็นประธาน BIMSTEC วาระ 2 ปี ช่วงปี 2565-2566 ต่อจากศรีลังกา โดยประเด็นที่ไทยต้องการผลักดันในช่วงการดำรงตำแหน่งประธาน อาทิ การสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 การเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับความท้าทายและวิกฤตรูปแบบต่างๆ และความสามารถในการฟื้นตัว เป็นต้น และในการประชุมครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะกล่าวถ้อยแถลงในนามผู้นำรัฐบาลไทยอีกด้วย

Advertising

Verified by ExactMetrics