People Unity News : 16 พฤศจิกายน 2565 สหประชาชาติประเมินว่า ประชากรโลกจะมีจำนวนราว 8,000 ล้านคนในวันอังคารนี้ โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากประเทศกำลังพัฒนาในทวีปแอฟริกามากที่สุด

หนึ่งในประเทศเหล่านั้นคือ ไนจีเรีย ที่ซึ่งทรัพยากรต่างๆค่อนข้างจำกัดอยู่แล้ว โดยปัจจุบันประชากรมากกว่า 15 ล้านคนในกรุงลากอส เมืองหลวงของไนจีเรีย ต้องแย่งชิงกันใช้ทรัพยากรต่างๆ ตั้งแต่ไฟฟ้า น้ำประปา ไปจนถึงระบบขนส่งมวลชน ขณะที่ เด็กนักเรียนไนจีเรียจำนวนมากต้องตื่นตั้งแต่ตีห้าเพื่อให้ทันไปโรงเรียนท่ามกลางการจราจรที่ติดขัดอย่างหนักทุกวัน

สหประชาชาติคาดว่า ประชากรไนจีเรียจะเพิ่มขึ้นจาก 216 ล้านคนในปีนี้เป็น 375 ล้านคนในอีก 30 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ไนจีเรียเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากจีน อินเดีย และสหรัฐฯ

ไนจีเรีย เป็นเพียงหนึ่งใน 8 ประเทศที่ยูเอ็นระบุว่า มีอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรรวมกันมากกว่าครึ่งหนึ่งของอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกทั้งหมดระหว่างปี 2022 – 2050 โดยอีก 7 ประเทศ ได้แก่ คองโก เอธิโอเปีย แทนซาเนีย อียิปต์ ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ และอินเดียที่คาดว่าจะแซงจีนขึ้นเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกในปีหน้า

รายงานของยูเอ็นฉบับนี้ยังคาดการณ์ว่า ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 8,500 ล้านคนภายในปี 2030 และถึง 9,700 ล้านคนภายในปี 2050 ก่อนจะเพิ่มถึง 10,400 ล้านคนภายในปี 2100

รายงานของสหประชาชาติ “Day of 8 Billion” ที่เผยแพร่ในวันอังคาร สำรวจปัญหาในเชิงสัญลักษณ์มากกว่าการเจาะจงถึงปัญหาที่แท้จริงซึ่งมาพร้อมกับหลักไมล์ใหม่ของจำนวนประชากรโลก โดยชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มภัยคุกคามต่อประเทศกำลังพัฒนาที่ล้าหลัง ตั้งแต่การจัดหาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภค การศึกษา การทำงาน และความมั่นคงด้านอาหาร เพื่อรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น

รายงานชี้ว่า “จำนวนประชากรในประเทศแถบทางใต้ของทะเลทรายซาฮารา คาดว่า จะเพิ่มขึ้นสองเท่าระหว่างปี 2022 – 2050 ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อทรัพยากรที่มีจำกัด และท้าทายการวางแผนนโยบายเพื่อลดปัญหายากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศเหล่านั้น”

ดร.ศรีนาธ เรดดีย์ ประธานองค์กร Public Health Foundation of India กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของจำนวนประชากรส่งผลให้มีประชาชนมากขึ้นที่ต้องแย่งชิงทรัพยากรน้ำ และทำให้ครอบครัวจำนวนมากขึ้นที่ต้องเผชิญปัญหาขาดแคลนอาหาร เพิ่มแรงกดดันต่อสิ่งแวดล้อม และท้าทายความมั่นคงทางอาหาร

นักวิเคราะห์ชี้ว่า ภัยคุกคามสำคัญที่สุดต่อสิ่งแวดล้อม คือ การบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาแล้วที่จำนวนประชากรมิได้เพิ่มขึ้นมากนัก

อย่างไรก็ตาม แม้จำนวนประชากรในหลายประเทศกำลังเพิ่มขึ้น แต่รายงานของยูเอ็นชี้ว่า มีอย่างน้อย 61 ประเทศที่จำนวนประชากรมีอัตราลดลงราว 1%

ข้อมูลของสำนักงานสำมะโนประชากรสหรัฐฯ ระบุว่า ปัจจุบัน สหรัฐฯ มีจำนวนประชากรราว 333 ล้านคน โดยอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรเมื่อปีที่แล้วอยู่ที่ระดับเพียง 0.1% ซึ่งต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ (ที่มา: เอพี)

Advertisement